ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ได้นิสัย

๕ พ.ค. ๒๕๕๖

 

ได้นิสัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๓๑๑. ไม่มีนะ

ถาม : ๑๓๑๒. เรื่อง “สงสัย”

กระผมมีความสงสัยเรื่องพระวินัยครับ ถ้าเราบิณฑบาตได้มะม่วงมาจะต้องกัปปิ ไหมครับ (ไม่มีโยม) เพราะพระบางรูปว่าไม่ต้องกัปปิ เพราะเป็นอาหารบิณฑบาต ขอโอกาสไขข้อสงสัยด้วยครับ

ตอบ : นี่แสดงว่าพระ กระผมมีความสงสัยเรื่องพระวินัยว่า เราบิณฑบาตได้มะม่วงมาต้องกัปปิไหม เพราะไม่มีโยม พระบางรูปว่าไม่ต้องกัปปิ เพราะเป็นอาหารบิณฑบาต ขอโอกาสด้วย

ถ้าบอกว่า กัปปิ ไม่กัปปิ นี่มันต้องทำความเข้าใจ เพราะเรื่อง “กัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยะ ภันเต” การกระทำนี้ ถ้าพูดถึง ทำโดยที่ว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านรื้อฟื้นมานะ

อย่างเช่น ผ้านิสีท การกัปปิ ต่างๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านฟื้นฟูมา การฟื้นฟูมาแสดงว่ามันมีอยู่ในปาฏิโมกข์ การสวดปาฏิโมกข์ เห็นไหม มันมีพืชคาม ภูตคาม “พืชคาม” ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภูตคามมาคู่กัน “พืชคาม ภูตคาม” มาด้วยกัน พอมาด้วยกัน มันมีที่มาที่ไปก่อน

ถ้ามีที่มาที่ไปนะ เหตุที่ว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติก่อน บัญญัติว่า “ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์” พอภิกษุพรากของเขียว ทำของเขียวให้หลุดจากขั้ว นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วมีพระที่บิณฑบาตมา พระฉันอาหารแล้วไปถ่าย ถ่ายเสร็จแล้ว...

ในอรรถกถาว่า พระภิกษุไปถ่าย พอถ่ายแล้ว เพราะไปฉันถั่วเขียวต้มน้ำตาลไง ฉันถั่วเขียวต้ม พอไปถ่ายแล้ว บางเม็ดมันยังงอกได้ มันเกิดได้ ก็เกิดความสังเวช พอเกิดความสังเวช ด้วยอารมณ์เกิดความสังเวชว่า ของนี่เรากินเข้าไปแล้ว ไปถ่ายแล้วมันยังงอกได้อีก พอมันงอกได้อีกก็มีความสังเวช ก็มีความรังเกียจ

พอรังเกียจ วันรุ่งขึ้นไปบิณฑบาตมา เขาก็ใส่ถั่วเขียวต้มน้ำตาลให้มาอีก ทีนี้ท่านไม่ยอมฉัน พอท่านไม่ยอมฉันโยมคนนั้นก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า ใส่บาตรไปแล้วพระไม่ยอมฉันของเขา เพราะความเห็นของเขา แต่ไม่ได้พูดคุยกัน ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็นิมนต์พระ และเรียกพระองค์นั้นมาเทศนาว่าการ เทศน์ว่า “เธอทำไมไม่ฉลองศรัทธาญาติโยมเขา เมื่อได้สิ่งนั้นมา”

ท่านบอกว่า “ท่านฉันไม่ได้ เพราะว่าท่านเคยฉันแล้ว ฉันแล้วท่านไปถ่าย ถ่ายแล้วมันยังงอกได้ มันเกิดได้ ถ้ามันเกิดได้ มันเกิดความรังเกียจ พอเกิดความรังเกียจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติ “ภูตคาม” ถ้าเรารังเกียจใช่ไหม ให้บอกว่า กัปปิยัง กะโรหิ ของนี้สมควรไหม แบบว่าเราประเคนของ แล้วเราให้ของไปแล้ว เรามาให้แล้วก็จบ เพราะถือว่า ภิกษุฉันอาหารล่วงทวารปากทุกคำกลืน ถ้าไม่ได้รับประเคน ถ้าของประเคนไม่ขึ้น ภิกษุฉันล่วงทวารปากไปนี้ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน ฉะนั้นเขาก็ประเคน ประเคนแล้วก็คือให้โดยสมบูรณ์แล้วล่ะ แต่สิ่งที่เป็นภูตคาม ให้โดยสมบูรณ์ก็แล้ว แต่มันยังเกิดได้ เกิดได้พระเกิดความรังเกียจ เกิดความรังเกียจปั๊บ พระพุทธเจ้าถึงทำให้เป็นวินัยกรรม

วินัยกรรมหมายความว่า เวลาเราถวายของสิ่งนั้นแล้ว อย่างว่าบิณฑบาตมาแล้วหรือสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนี้เราได้มา มันไม่มีวินัยกรรม เราไม่ได้ถามเขา เพราะเรารังเกียจใช่ไหม เราเป็นคนรังเกียจ “กัปปิยัง กะโรหิ” ของนี้สมควรแก่เราเหรอ ตามธรรมดาของที่ประเคนมันก็จบล่ะ แต่นี้พอประเคนแล้ว ของนี้สมควรไหม “กัปปิยัง กะโรหิ” ของนี้เก็บเป็นกัปปิยภัณฑ์หรือเปล่า เป็นสมควรแก่พระฉันไหม ถ้าโยมบอกว่า “กัปปิยะ ภันเต” ของนี้สมควรมาก เพราะของนี้เขาหาของเขามา มันถูกต้องชอบธรรม แล้วเขาทำวินัยกรรม ย้ำไปอีกๆ เห็นไหม สิ่งนี้เขาเรียกว่า ทำกัปปิยะ นี่มันมีที่มาที่ไปก่อนไง ถ้ามีที่มาที่ไป มันต้องเป็นวินัยกรรมใช่ไหม ถ้าเป็นวินัยกรรม ทีนี้เขาบอกว่า เขาบิณฑบาตมา พระบางรูปบอกว่า ไม่ต้องกัปปิ

คำว่า “พระบางรูป” นี่แสดงว่าเป็นพระบวชใหม่ ถ้าพระบวชใหม่นะ เวลาศึกษาธรรมวินัย ศึกษามา เหมือนนักกฎหมายศึกษามาก็ยังงง นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็ยังสงสัย แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ ขอนิสัยครูบาอาจารย์มา การขอนิสัย ได้นิสัย อย่างนี้

การขอนิสัย ดูสิ ไปขอนิสัยอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ใดก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์ท่านดำรงชีพของท่าน เห็นไหม มันเป็นวินัยก็เป็นวินัย วินัยกรรมก็เป็นวินัยกรรม อุโบสถสังฆกรรมก็เป็นอุโบสถสังฆกรรม ทำอย่างไร ทำถูกหรือทำไม่ถูก เราก็เคยทำถูก เราก็ทำกันไปอย่างนั้นล่ะ พอถึงเวลาเราก็ทำอุโบสถสังฆกรรมกัน แล้วเวลาเกิดนานาสังวาส เกิดภิกษุป่วยไข้ เกิดภิกษุต่างๆ วินัยกรรมมันยังมีเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ ภิกษุที่มาไม่ได้ต้องให้ฉันทะมา ภิกษุในอาวาสนั้นเป็นวรรค ทำกรรม เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทั้งหมดเลย

เป็นวรรค หมายถึงว่า มาไม่พร้อมกัน เป็นวรรคเป็นตอนคือ แบ่งแยก เวลาทำอุโบสถสังฆกรรมต้องมาหมดเลย ขาดแม้แต่องค์เดียวก็ไม่ได้ เพราะถ้าขาดองค์เดียว นี่ศาสนาถ้าเข้มแข็ง ไม่เข้มแข็ง นี่คารวะ ๖ หมั่นประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมให้พร้อมกัน หมั่นลงประชุมด้วยกัน ประชุมเสร็จแล้วจะเลิก เลิกพร้อมกัน ให้สามัคคีกัน นี่พูดถึงการทำสามีจิกรรม

แต่ถ้าเวลาอุโบสถนี่บังคับเลย บังคับว่า ต้องทั้งหมดแล้วถ้าภิกษุมาไม่ได้ อย่างเช่น พระองค์หนึ่งป่วยจนลุกไม่ได้ ต้องให้ฉันทะ คือให้มาบอกกล่าว เวลาลงอุโบสถปั๊บ เขาจะให้ฉันทะมา ก็ต้องประกาศกลางสงฆ์ว่า ภิกษุองค์นั้นได้รับรู้แล้วว่า นี่เป็นเวลาลงอุโบสถ แล้วท่านมาไม่ได้ ท่านให้ฉันทะมา คือท่านให้มาบอกกล่าวในสังฆะนี้ สังฆะนี้ลงอุโบสถเสร็จแล้ว จะต้อง ๔ องค์ไปให้พระองค์นั้นบอกบริสุทธิ์ นี่มันเป็นวินัยกรรม เป็นสามีจิกรรม เป็นสังฆกรรม

ทีนี้สังฆกรรม อย่างที่ว่า พระถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะทำให้ดู ทั้งๆ ที่เราศึกษามาแล้วนะ นี่เขาบอกว่า ขอนิสัย ถ้าได้นิสัยจากครูบาอาจารย์มานะ ฉะนั้น ๑. ได้นิสัยจากครูบาอาจารย์มา ๒. ครูบาอาจารย์บางองค์เข้มข้นทางใด นิสัยของครูบาอาจารย์หนักไปทางใด ถ้าหนักไปทางใดเราจะได้นิสัยจากครูบาอาจารย์แบบนั้นมา

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านมีหลักนะ อย่างเช่น หลวงตาท่านจบมหา แล้วท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่ท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นเพราะท่านสงสัยเหมือนกันว่า นิพพานจะมีหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ศึกษามาเป็นมหานะ นิพพานก็ศึกษามาหมดล่ะ แล้วก็ไปปฏิบัติด้วย มันจะมีหรือเปล่า พอไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านเล่าให้ฟังเอง บอกว่า เคารพหลวงปู่มั่นมาก เพราะมีอะไรสงสัยในใจ หลวงปู่มั่นเคลียร์ให้หมดเลย ชี้นำได้หมดเลย

แต่เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นทำสิ่งใดนะ ท่านก็เชื่อว่าถูกแล้วแหละ แต่ปัญญาชนใช่ไหม ก็ต้องเปิดพระไตรปิฎกตรวจสอบ ท่านทำอย่างนั้นจริงๆ นะ ท่านเล่าให้ฟัง แล้วท่านก็ไปเปิดพระไตรปิฎก คือเราไปเปิดกฎหมายไง เวลาเขาทำกันแล้วก็ไปเปิดอีกว่าถูกไหม หลวงตาท่านบอกว่า เพี๊ยะๆ ๆ ไม่มีผิดเลย มันยิ่งทำให้ ยิ่งเคารพมากขึ้นไปๆ ท่านทำแล้วถูกต้อง นี่พูดถึงว่าถ้าเข้มข้น เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นหลัก ใช่ไหม เริ่มต้นท่านเป็นหลัก เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นการฟื้นฟูมา แล้วพอลูกศิษย์มาแต่ละองค์ๆ มันก็จะเข้มข้น เข้มข้นเจือจาง แตกต่างกันไป นี่เพราะว่ามันเป็นบุคคลไง นี่ขอนิสัยกับครูบาอาจารย์ ถ้าขอนิสัยครูบาอาจารย์มามันจะได้ประโยชน์ตรงนี้

ฉะนั้นที่บอกว่า พระบางรูปบอก มันไม่ได้หรอก พระบางรูปบอกว่าไม่ต้องกัปปิ กัปปิไม่กัปปิมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ว่าของชิ้นนั้นเกิดหรือไม่เกิด เช่น ถ้ามันเป็นเม็ดพริก ที่เป็นพริกอ่อน มันจะปลูกเกิดไหม? ไม่เกิดหรอก อย่างนี้ไม่ต้องกัปปิ ถ้าไปกัปปินะ ครูบาอาจารย์ท่านเอ็ดเอาด้วย แบบว่าทำเกินไป เพราะมันไม่เกิดไง อย่างเช่นเมล็ดพันธุ์ที่มันอ่อน คือมันยังไม่แก่ แต่ถ้าเม็ดมันแก่ มันเกิดได้ สิ่งนี้มันถึงต้องกัปปิ

๑. ต้องกัปปิ

๒. สิ่งที่เกิดจากข้อ อย่างที่เป็นข้อ อย่างเช่น ผักบุ้ง ผักอะไรนี่ ผักนี่มันเกิดไหม? มันเกิด ถ้ามันเกิด เราจะฉัน นี่มันเป็นภูตคาม เพราะมันมีสิทธิเกิด ทั้งที่เราประเคนแล้วนี่แหละ ถึงต้องทำกัปปิ แล้วทำกัปปิ ตอนนี้นะพอทำกัปปิ...

เมื่อก่อนกัปปิยัง กะโรหิ เขาไม่ค่อยได้ทำกัน แต่เวลาพระป่านะ เวลาเราทำ เราทำเพื่อวินัยนะ ทำเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ แต่บางที่เขาทำเพื่อศักยภาพ ทำเพื่อเป็นการอวด ทำให้เห็นว่า ทำความต่าง คือทำเท่ห์ ทำเท่ห์มันไม่เกี่ยวกับวินัย พอทำอย่างนั้นปั๊บ คำว่า “วินัยกรรม” คือ เราต้องเป็นผู้ทำขึ้นใช่ไหม วินัยกรรมมันพ้นได้เพราะเราเปล่งวาจา พระเป็นผู้ถามใช่ไหม เพราะพระนี่เป็นผู้รังเกียจเอง โยมบอก กัปปิยะ ภันเต คือโยมบอกว่า สมควร มันเป็นวินัยกรรม

ถ้าวินัยกรรมปั๊บ ทีนี้พอพอโยมเห็นกันอย่างนั้นปั๊บ เพราะพระทำกันไปแล้ว ทำโดยที่ว่า ถ้าแบบนี้เขาเรียกว่า ไม่ครบองค์ประกอบ มันไม่สมบูรณ์หรอก ทำลับหลังไง ทำลับหลังเพราะเดี๋ยวนี้เราบิณฑบาตไป เราเจอบ่อย เวลาบิณฑบาตไป โยมก็จะทำให้เสร็จเลย อย่างส้ม เขาก็ทำให้เหมือนเป็นดอกไม้เลย เห็นไหม ผ่าเปลือก แล้วก็แบะออกเลย แล้วก็ใส่บาตรมา เขาบอก นี่เหมือนกับทำกัปปิยะแล้ว แต่เวลาเรารับมาแล้ว เราไปวัด เราก็ให้โยมทำใหม่ถ้าเราจะฉัน ให้โยมทำใหม่เพราะทำลับหลังไง

คำว่า “ทำลับหลัง” วินัยกรรม ทำลับหลังเรารู้ไหมว่ามันถูกหรือไม่ถูก เขาทำก็ว่าทำของเขา เจตนาของเขาแต่เจตนาของเรา เราไม่เห็น เราไม่รู้ ทีนี้มันต้องทำต่อหน้า คำว่า “ทำต่อหน้า” เห็นไหม เวลามามันต้องทำต่อหน้า ทีนี้เวลาทำต่อหน้าขึ้นมา

เพราะวินัยกรรม วินัยกรรมการกระทำอันนั้นมันจบที่การกระทำอันนั้น ถ้ามันไม่มีการกระทำอันนั้น หรือทำลับหลัง ใครไว้ใจได้ มันไว้ใจกันไม่ได้ มันไม่รู้หรอก ฉะนั้นพระที่บอกว่า พระบอกไม่ต้องทำ เพราะเป็นการบิณฑบาตมา การบิณฑบาตมามันคุ้มครองไม่ได้ การบิณฑบาตมาคืออาหารที่บริสุทธิ์ เราหาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เห็นไหม สัมมาอาชีวะ ภิกขาจาร สะอาดบริสุทธิ์มากเลย สะอาดบริสุทธิ์มาก เราก็ฉันอาหารที่มันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์

แต่ถ้าเป็นภูตคาม มันเป็นในตัวมันเอง เพราะของมันงอกได้ ของมันงอกได้ ของมันเกิดได้นี่ การบิณฑบาตนั้นไม่ครบองค์ประกอบที่จะคุ้มครองได้ ไม่ได้หรอก ทีนี้คำว่า “ไม่ได้” มันอยู่ที่ว่าขอนิสัยมา อย่างเราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะ เวลาออกธุดงค์ไปกับครูบาอาจารย์นี่ เวลาไปบิณฑบาตมาได้สิ่งนี้มา ครูบาอาจารย์ทำอย่างไร ถ้าได้มานะ ได้มาก็ไว้ข้างบาตรนั้น ไม่ต้องฉันๆ ฉันสิ่งที่เราดำรงชีวิตเท่านั้น

กรณีนี้ เหมือนกับกรณีที่หลวงตาท่านเล่าให้ฟังบ่อย เห็นไหม ท่านบอกว่า ท่านไปบิณฑบาตมา ไปอยู่บ้านน้อย แล้วบิณฑบาตมาได้ข้าวเปล่ามา มาถึงบ้านสุดท้าย เขาก็ถามว่า ขอดูบาตรสิ ได้อะไรมาบ้างเปล่า ได้แต่ข้าวเปล่าๆ มา พอได้ข้าวเปล่าๆ มา โห! อย่างนี้จะไปฉันอะไร ก็ให้ลูกสาวไปตำปลาร้า พอตำปลาร้า ท่านก็บอกว่า ท่านยืนดูอยู่ เขาก็ไปตักมาจากไห เสร็จแล้วก็ตำใหญ่เลย เพราะว่าประชาชนเขากินกันอย่างนั้นน่ะ พอตำเสร็จแล้วก็ตำพริก ตำอะไรใส่แล้วก็ห่อ ใส่บาตรหลวงตามา หลวงตาท่านก็ยืนดูอยู่ เพราะตักมาจากไห มันก็ปลาร้าดิบ

พอท่านเข้าไปถึงในป่าเสร็จ ท่านเข้าไปถึงลานหิน ท่านก็เอาออกวางไว้ แล้วท่านก็ฉันข้าวเปล่านั้นน่ะ ท่านบอกว่า “เอาหัวใจคน” คือเอาเจตนาดีของเขา เขามีเจตนามากเลย บอกว่าพระได้แต่ข้าวเปล่ามา ไม่มีกับข้าว ฉะนั้นให้ลูกสาวไปตำปลาร้าให้ แต่มันก็เป็นปลาร้าดิบ ภิกษุฉันเนื้อดิบไม่ได้ ปลาร้านั้นต้องมาผิงไฟให้สุกก่อน เพราะภิกษุต้องกินเนื้อที่สุก กินเนื้อดิบไม่ได้

เว้นไว้อีกนะ เว้นไว้ภิกษุผีเข้า ภิกษุป่วยหนัก ถ้าภิกษุผีเข้า ยกเว้น เวลาภิกษุปฏิบัติไปแล้วหลุดอย่างนี้ พวกนั้นวินัยไม่บังคับ แต่ถ้าหายแล้ว ไม่ได้ ภิกษุเวลาผีเข้าฉันเนื้อดิบได้ เพราะในพระไตรปิฎก ภิกษุผีเข้าแล้วไปตลาด ไปขอเนื้อดิบๆ จากแม่ค้าแล้วฉันเดี๋ยวนั้นเลย แล้วเขาก็ติเตียนกันไป ติเตียนถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าภิกษุผีเข้า เขาควบคุมตัวเขาไม่ได้ ภิกษุผีเข้า ภิกษุป่วย อันนี้กฎหมายถึงไม่บังคับ

ฉะนั้น ภิกษุฉันเนื้อดิบไม่ได้ เวลาหลวงตาบอก เอาน้ำใจเขา เขาอุตส่าห์ทำของเขาแล้วใส่บาตรมา ใส่บาตรมาก็รับมา แต่ไม่ฉัน เห็นไหม วางไว้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราบิณฑบาตมาแล้ว สิ่งที่เราบิณฑบาตมา เราไม่ฉัน

แล้วอย่างเช่นโดยปกติ เวลาผักหญ้า เวลาใครถวายมา ถ้าเราไม่กัปปิ เราก็ไม่ต้องฉัน เราวางไว้ วางไว้ข้างๆ บาตร เราไม่ต้องฉัน ถ้าเราไม่ฉัน มันก็ไม่เป็นอาบัติ เอาน้ำใจเขา แต่ถ้าบอกไม่ฉันนะๆ โยมก็ไม่เข้าใจใช่ไหม โอ้! ไม่ฉันแสดงว่าอยากฉันของดีๆ ใช่ไหม ไม่ฉันเพราะจะเอาอย่างนั้นๆ ใช่ไหม อันนี้ทำไมไม่ฉัน ถ้าโยมไม่เข้าใจนะ มันก็มองคนละมุมล่ะ ก็มองว่าพระองค์นี้เห็นผัก เห็นหญ้า บอกว่า ของไม่ดี จะเอาแต่ของดีๆ แต่ความจริงมันฉันไม่ได้ มันฉันไปแล้วมันเป็นอาบัติ พอฉันไปแล้วเป็นอาบัติ จะฉันไหม? ถ้าฉันก็บอก กัปปิยัง กะโรหิ โยมก็บอกว่า จะเอากะปิ กะปิมันต้องไปซื้อที่ตลาด กะปิมันยังไม่ได้ตำเลย กัปปิเขาก็นึกว่ากะปิ น้ำปลา ไปโน่น เพราะเขาไม่ได้ศึกษา

แต่ถ้าคนเป็นนะ บอก กัปปิ เขาจะรู้เลยว่า กัปปิคือ กัปปิยัง กะโรหิ ความไม่เข้าใจกัน นี่มันจะต้องคุยกัน แต่ถ้าความเข้าใจกัน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ แล้วเราขอนิสัยครูบาอาจารย์นะ เราจะเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะ... จะเข้มเกินไปก็ไม่ได้ จะอ่อนเกินไปก็ไม่ได้

ฉะนั้น ถึงบอก ถ้าบิณฑบาตมะม่วงมา ต้องทำกัปปิไหม ความจริงมะม่วงมันเป็นผลไม้ที่ ถ้าผลแก่แล้วนี่ ยังไงๆ เราก็ไม่ได้กินเม็ดมันหรอก ถ้าจะบอกว่า มะม่วงไม่ต้องกัปปิได้ไหม? ได้ แต่เวลาเราปอกมะม่วงแล้ว เราฉันแต่เนื้อมะม่วง เม็ดมันเราต้องแยกไว้ แต่ถ้าเราทำให้เม็ดมันแตก หรือทำให้เม็ดมันเสื่อมสภาพจากการเกิด นี่อาบัติเกิดตรงนั้นน่ะ

อย่างเช่นเราบิณฑบาตมานะ นี่ประสบการณ์ซึ่งๆ หน้าเลย สมมุติถ้าเราบิณฑบาตมา เราได้องุ่นมา ทีนี้ในองุ่นมันมีเม็ด ถ้าองุ่นมันมีเม็ดถ้าเราจะฉันนะ เราก็พยายามฉัน ต้องตั้งสติให้ดีเลยนะ อย่าไปขบโดนเม็ดมันแตกนะ ถ้าอยากกินมาก วันนี้อยากกินองุ่นมาก เพราะอดอยากมานาน วันนี้บิณฑบาตได้องุ่นมานี่ แหม! อยากฉันมากเลย ก็จะฉันองุ่นไม่มีใครกัปปิให้ พอไม่มีใครกัปปิให้ เราก็ฉันแต่เนื้อองุ่น อย่าไปขบโดนเม็ด นี่ประสบการณ์ของพระนะ นี่เขาเรียกว่า ชี้โพรงให้กระรอก เดี๋ยวจะบอกว่า ไหนว่าต้องกัปปิ แล้วทำไมอันโน้นไม่ต้องกัปปิ ต้องกัปปิ

กัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยะ ภันเต นี่สมควรมากเลย ของนี้เป็นของกัปปิยภัณฑ์ กัปปิยัง กะโรหิ ของนี้ควรแก่ภิกษุไหม เราจะบอกว่า ของนี้เป็นกัปปิยภัณฑ์ สมควรแก่ภิกษุครับ แล้วเราก็ฉันได้ปกติเลย เพราะมันสมควร เราจะขบ เราจะอะไร มันก็ไม่มีอาบัติ

แต่ถ้าเราไม่มีใครกัปปิให้ แต่อยากฉัน ชีวิตพระนะ เวลามันอด มันถึงอยาก เวลาทุกข์ มันถึงยาก ถ้าไม่อด มันก็ไม่อยาก เวลาถ้ามันอยากขึ้นมานี่ แต่วินัยบังคับไว้ว่าเป็นอาบัติ แล้วจะทำอย่างไร เราก็พยายามฉันแต่เนื้อ อย่าไปขบโดนเม็ด พยายามตั้งสติไว้ ถ้าไม่ขบโดนเม็ดก็ไม่มีอาบัติ แต่ถ้าบังเอิญไปขบโดนเม็ดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่อิ่มท้อง แต่มีอาบัติ จะต้องไปปลงอาบัติ นี่พวกพืชคาม เห็นไหม

ฉะนั้น สิ่งนี้ถ้าขอนิสัยมาอยู่กับครูบาอาจารย์ นี่ชีวิตพระ ที่มีธรรมวินัยเป็นศาสดา จะทำสิ่งใดต้องมีสติ ต้องระวัง แล้วการศึกษามาว่าควร ไม่ควร ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นมะม่วง มะม่วงแก่ถ้าเราปอกแล้วมีแต่เนื้อ เม็ดเราไม่โดนมัน ไม่เป็นอาบัติ

กัปปิ หมายถึงว่า สิ่งที่เราทำแล้ว เรามีสิทธิทำได้หมด อย่างเช่น เงาะ เม็ดมันทำได้ยากมาก เพราะเราเคยธุดงค์กันไป เวลาไปเจอเงาะ พระใหม่ๆ ไม่ฉันเลย วางไว้ต่างหาก เพราะมันไม่มีใครกัปปิให้ เพราะบิณฑบาตมาแล้วก็แล้วกัน ไม่มีใครตามมา คือบิณฑบาตมาแล้วก็ให้กับสัตว์มันไป เราบิณฑบาตมา เขาก็ได้ทำบุญกุศลของเขา เราก็ได้ทำกิจวัตรของเรา แล้วสิ่งที่ได้มาก็ให้ประโยชน์ต่อไป

สิ่งที่ประโยชน์ต่อไปนะ นั้นว่าสงสัยไง คำว่า สงสัย เพราะว่า ๑.เพราะไม่มีโยม ไม่มีโยมเราก็ต้องแก้ไขของเรา ถ้ามีโยมนะถ้าโยมไม่เป็นนะก็ยังทะเลาะกัน คำว่า ทะเลาะกัน อย่างเช่น เวลาเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถ้าคนเยอะมาก สิ่งใดต้องกัปปิ โยมบางคนก็อยากทำให้ แต่ถ้าเขาทำให้ เขาทำเป็นนะ เราก็ กัปปิยัง กะโรหิ เขาจะทำให้ทันที แล้วก็ประเคนเลย

แต่ถ้าเขาต้องอธิบาย ไม่ต้อง ถ้าต้องอธิบายเราจะเอาผลไม้ถาดนั้น หรือจานนั้น เอามาวางไว้ส่วนข้างๆ ก่อน แล้วสิ่งนั้นเราประเคนไปเรื่อยๆ จบแล้ว ถึงเรียกให้บุคคลที่เป็นเข้ามาทำ นี่เวลาอยู่บ้านตาดจะเป็นอย่างนี้ เวลาส้มมานะ กองไว้เนี่ยเป็นชั้นๆ เลย ให้ประเคนอย่างอื่นหมดก่อน เสร็จแล้วนะให้คนนั้นเข้ามา สิ่งนั้นก็กัปปิไล่ไปเลย กัปปิไล่เสร็จแล้วค่อยๆ แจกมา เพราะวินัยกรรม “ใช่” วินัยกรรมทำต่อหน้าภิกษุองค์นี้ ภิกษุองค์นี้เป็นผู้กัปปิเอง พอกัปปิเอง เราก็ฉันจากผู้ที่ไม่ได้กัปปิ พระที่ไม่ได้กัปปิก็ฉันสิทธิจากพระที่กัปปิแล้ว เพราะพระนี้เขาได้กัปปิแล้ว

อย่างเช่น ของประเคนที่ประเคนกับพระองค์นี้ ก็ฉันร่วมกันได้หมดเลย นี่ก็เหมือนกันถ้ากัปปิกับพระองค์นี้ กัปปิต่อหน้า เขาบอกว่าวินัยกรรม ทำต่อหน้าแล้วกัปปิกับพระองค์นี้ แล้วพระองค์อื่นละ มีพระพูดเหมือนกันนะ พระที่เขาแบบว่า เห็นไหม นิสัยคนแตกต่างกัน

เราเคยไปกัปปิทีหนึ่ง มันเป็นผักบุ้งทั้งถาดเลย ผักบุ้งเป็นถาดเลย เราก็ กัปปิยัง กะโรหิ จากผักบุ้งอันเดียว ผักบุ้งเส้นเดียวใช่ไหม แต่ผักบุ้งเส้นนั้นต้องวางทาบกันกับผักบุ้งทั้งหมด มันเนื่องด้วย คือมันเกี่ยวกันมันติดกัน ก็กัปปิเฉพาะผักบุ้งเส้นนั้น พระที่เขานั่งอยู่ด้วยนะ พอฉันเสร็จแล้วเขาไปต่อว่า นี่เล่นละคร ถ้ากัปปิต้องกัปปิทั้งหมดสิ ทำไมกัปปิผักบุ้งเส้นเดียว คนมันเถรตรง เห็นไหม

ถ้าผักบุ้ง ๑๐๐ เส้นก็ต้องกัปปิร้อยหนสิ ผักบุ้ง ๑๐๐ เส้น กัปปิเส้นเดียวแล้วอีก ๙๙ เส้นนั้นไม่ได้กัปปิ มันจะกัปปิได้ไหม นี่พูดถึงว่า เวลาภิกษุมันเถรตรงนะ มันก็บอกว่า อย่างนี้ทำไม่สมบูรณ์ ทำไม่ถูกต้อง

แต่ในวินัยนะ ภิกษุรับประเคนของจากผู้ชาย รับจากมือได้ เพราะผู้ชายด้วยกัน ผู้หญิงเรารับจากมือเขาไม่ได้ เราใช้ผ้าวาง ใช้ผ้าวางเขาเรียกว่า เนื่องด้วยกาย รับด้วยกาย กับรับของที่เนื่องด้วยกาย รับด้วยกาย เห็นไหม มือจับมา เขาประเคนมานี่รับด้วยมือ รับด้วยกาย แต่เวลาผู้หญิงมานี่รับด้วยกายไม่ได้ เขาเป็นผู้หญิงใช่ไหม รับด้วยของเนื่องด้วยกาย ของเนื่องด้วย เห็นไหม มันติดมือไป ของเนื่องด้วยกาย ถ้าของเนื่องด้วยกาย รับประเคนอย่างนี้รับประเคนขึ้น แต่ถ้ารับด้วยกาย รับด้วยมือ การรับของด้วยมือ นี่มันเนื่องด้วย

ผักบุ้งในถาดนี้ มันเนื่องกันไหม มันติดกันไหม มันซ้อนกันไหม มันอยู่ในถาดเดียวกันหรือเปล่า มันเนื่องด้วยกาย อย่างนี้กัปปิยะ มันก็สมบูรณ์หมด แต่พระที่เขาไม่เห็นด้วย เขาเถียงไง นี่ก็เหมือนกัน เวลาของเนื่องด้วย ถ้าสิ่งที่เป็นนม เรารับนม เนี่ยของเนื่องด้วยกาย แล้วเวลาเรานั่งอยู่ในศาลานี่ เวลาเอานมมานี่ มาตั้งไว้ที่บันได เรารับไหม ประเคนหรือยัง เราประเคนได้ไหม ของอย่างนี้ วินัยนะ ถ้าใครศึกษาธรรมวินัยมันจะละเอียดมาก แล้วมันจะไปเลย เขาบอก ของที่เคลื่อนที่ได้

อย่างเช่น ของที่เคลื่อนที่ได้นะ อย่างศาลามันเป็นอันใหญ่ใช่ไหม อย่างเสื่อ ของที่มันเคลื่อนที่ได้ เวลามันเคลื่อนไปแล้ว นี่ของที่เคลื่อนที่ได้ วางไว้อย่างนี้มันรับประเคนไม่ได้ รับประเคนปั๊บ ของมันเคลื่อนที่ไง ฉะนั้น เวลาเราจะประเคนของ ภิกษุถ้าของยังไม่ประเคน จับให้มันเคลื่อนที่ไป เป็นอุคคหิต ประเคนไม่ขึ้น แต่ถ้าเขารับมา แล้วเราวาง ของที่เคลื่อนที่กับของที่ไม่เคลื่อนที่ เวลาองค์ประกอบขององค์ประเคนไง มันจะมีนะ องค์ประเคน แล้วมันจะต้องอยู่ในหัตถบาส ต้องอยู่ในสิ่งต่างๆ นี้พูดถึงว่า ถ้าการกัปปิ

คำว่า “ขอนิสัย” ถ้าเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านมีข้อวัตรนะ ท่านจะทำให้เราดู พอทำให้เราดู เราเห็นสิ่งนี้มา เราจะเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ปั๊บ นี่เราเองเราก็สงสัย พอสงสัย เราเองนี่เป็นคนสงสัย พอสงสัยเราเปิดตำราดู เราก็วิเคราะห์วิจัยด้วยทัศนคติของเรา โลกทัศน์ของเรา ถ้าโลกทัศน์ของเรา เราคิดอย่างไร เราก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง

แต่เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เขาเรียก เข้าหมู่ พอเข้าหมู่ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านมา ท่านทำกันมาแล้ว ผิดถูกมันจะถกกัน เวลาเราลงอุโบสถสังฆกรรม มีสิ่งใดที่มันขัดแย้ง สิ่งใดที่มันมีความสงสัย ท่านจะประชุมกัน ท่านจะวิเคราะห์กันว่า สิ่งใดสมควร สิ่งใดไม่สมควร มันจะจบลงที่นั่น ถ้ามันจบลงที่นั่นมันก็จบ

ถ้ามันไม่จบลงที่นั่น เราคิดของเราเอง อย่างเช่นเราศึกษาเอง เราบอกว่า ต้องมีการศึกษา ต้องมีต่างๆ ศึกษาถ้ามันมีทิฐิมานะ มันก็มีความเห็นของมันนะ นี่พูดถึงว่า ของที่กัปปิกับของที่ไม่กัปปิ ต้องกัปปิไหม? ของที่กัปปิเราก็ดูว่า มันแก่ไหม แต่ถ้าเป็นยอดผักอ่อน ไม่ต้องกัปปิหรอก เพราะยอดผักอ่อน ยอดผักมันไม่เกิดอยู่แล้ว ยอดผักที่เราเอามาฉันกันนี่ ถ้ามันอ่อนไม่ต้องกัปปิ

แต่ถ้ามันแก่ ที่มันที่สิทธิ์ที่งอกได้ เกิดได้ สิ่งนั้นต้องกัปปิ ผลไม้ที่ว่า เราไม่ได้ขบเม็ดแน่นอน ถ้าจะไม่กัปปิก็ได้ แต่อย่างมะม่วงอ่อน เรากินมะม่วงมันมีสิทธิ์นะ ถ้ามะม่วงแก่เราไม่ต้องกัปปิก็ได้ แล้วไม่ต้องกัปปิเราจะทำอย่างไรที่ไม่ให้โดน ไม่ให้เม็ดมันเสียหาย

ของที่กัปปิ ของที่ไม่กัปปิ มันก็ต้องดูต้องเข้าใจ ของที่กัปปิไม่กัปปิ แล้วคำว่า กัปปิ มันก็มีที่มาที่ไปไง ฉะนั้นถ้าโยมไม่มี คำว่า โยมมีหรือไม่มี นี่มันมายกเว้นความผิดเราไม่ได้ ถ้าไม่มีโยมเราบิณฑบาตมาแล้ว เราก็ถือว่าบิณฑบาต

อย่างเช่น เช้าๆ ออกบิณฑบาตนะ เมื่อก่อนเราเคยอยู่ที่วัดอุดมสมพร เขาจะบิณฑบาตกลับมาเสร็จแล้วจะวางไว้ แล้วให้พระประเคนทั้งบาตร เพราะเขาจะพิสูจน์กันว่า เราบิณฑบาตมันจะสะอาดหรือไม่สะอาด แต่ถ้าอยู่บ้านตาด ปกติจะมีเด็กมาประเคนบาตรเลย ประเคนก่อนออกบิณฑบาต แต่ถ้าไม่มีเด็ก ไม่มีโยม ไม่มีใคร ให้เอาน้ำนี่นะใส่บาตร แล้วเราใช้น้ำนี่ผ่านพวกผง พวกสิ่งต่างๆ แล้วเทออก เทออกอย่าเช็ดนะ ถ้าเช็ดแล้วมันมีฝุ่น มีผงในบาตรนั้นน่ะ อันนั้นทำให้นั่น... จะเอาน้ำใส่ แล้วเราจะเอาน้ำนั้นผ่าน ผ่านน้ำแล้วเทออก เทน้ำนั้นทิ้ง พระเราทำกันแบบนั้น มันต้องมีประเคนก่อนประเคนหลัง

อยู่ที่สายหลวงปู่ฝั้นจะประเคนเมื่อกลับมาแล้ว แต่ถ้าอยู่สายหลวงตา จะประเคนก่อนบิณฑบาต นี่อยู่กับครูบาอาจารย์มาแต่ละองค์ มันจะทำก่อนหน้าหรือหลัง มันไม่เหมือนกัน มันคงอยู่ที่สถานที่ อยู่ที่บุคคล อยู่ที่ต่างๆ นะ อันนี้พูดถึงถ้ามีครูบาอาจารย์ เขาว่าขอนิสัยๆ แล้ว คิดว่า ขอนิสัยแล้วมันจะถูกต้องไปหมด ขอนิสัยเพราะอาจารย์ใครอาจารย์มัน ก็จะเถียงกัน อาจารย์ใครถูก

ฉะนั้น เราจะคุยเรื่องวินัยนะ ถ้าจะคุยเรื่องวินัย เราต้องเอาครูบาอาจารย์ไปตั้งไว้ก่อนคือ เอาครูบาอาจารย์ออกไปจากการโต้เถียง เราจะไม่เอาครูบาอาจารย์มาอยู่ตรงกลาง แล้วก็โต้เถียงกัน มันก็จะไปกระเทือนครูบาอาจารย์เราใช่ไหม เอาครูบาอาจารย์ไปตั้งไว้ข้างๆ ก่อน นี่ความเห็นครูบาอาจารย์นะ แล้วนี่ความเห็นเอ็งกับข้านี่สองคน ถกกันแค่นี้ก่อน เอาครูบาอาจารย์ออกไปไว้ข้างนอกก่อน ไม่อย่างนั้นมันจะกระเทือนครูบาอาจารย์

ฉะนั้นเวลาขอนิสัย ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดีเราจะได้ประโยชน์มา ได้ประสบการณ์มา ประสบการณ์ของคนๆ หนึ่งนะ ทำมาทั้งชีวิต แล้วคนๆ หนึ่ง... เวลาพูดไป บางคนจะคิดว่า เอ๊ะ! พระสงบนี่พูดอะไรแบบว่า มันพ้นยุคพ้นสมัย “ใช่” เราจะพูดบ่อย เพราะเราป้องกันตัวไว้ไง ออกตัวเลยป้องกันว่า

หลวงปู่มั่นเสียตั้งแต่ปี ๙๒ เรายังไม่เกิดเลย เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นนะ เราเกิด ๙๔ หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว ๒ ปี เราถึงเกิด แล้วพูดแต่หลวงปู่มั่นๆ นี้มันส่งต่อกันมา ส่งต่อกันมาคือว่า หลวงตาท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วหลวงตาท่านเทศน์ ท่านเน้นย้ำว่า หลวงปู่มั่นทำอย่างนั้นๆ มันซึ้งใจ เวลาหลวงตาท่านพูดสิ่งใด ท่านจะพูดว่า หลวงปู่มั่นพาทำ

เวลาอยู่บ้านตาดใหม่ๆ ท่านจะบอกว่า วัดป่าบ้านตาดทำไม่เหมือนที่อื่นเขาสักเท่าไร แต่เราก็ไม่ค่อยหวั่นไหว เพราะเราไม่ได้คิดเองทำเอง นี่หลวงตาท่านพูดนะ เราไม่ได้คิดเองทำเอง เราทำตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านได้ทำมาก่อน แล้วหลวงตาท่านทำตามหลวงปู่มั่น แต่ทีนี้วัดอื่นๆ เขาไม่ค่อยได้ทำกัน คือว่าเขาศึกษามากับหลวงปู่มั่นด้วยกัน แต่เขาไม่ได้เอาสิ่งนั้นมาประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทาง

ทีนี้พอหลวงตามาทำขึ้นมา มันก็เหมือนกับวัดวัดหนึ่งทำผิดแปลกเขา แต่ท่านบอกว่า เราไม่หวั่นไหว เพราะเราทำตามหลวงปู่มั่น เห็นไหม พอทำตามหลวงปู่มั่น แล้วเราไปศึกษาจากท่านมา แล้วเราไปอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมา นี่เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่น แต่เราฟังมาจากหลวงตา จากหลวงปู่เจี๊ยะ จากครูบาอาจารย์ที่ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านทำสิ่งใดมา แล้วสิ่งนี้เราสามารถสอบทานได้ เพราะลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเยอะมาก เราก็ไปถามองค์นั้นไปถามองค์นี้ไปถามองค์นั้น ถามด้วยความใคร่ศึกษานะ ไม่ได้ถามมาเพื่อเอามาชนกัน ไม่ได้ถามมาเพื่อเอามาเป็นประเด็น เราถามมาเพื่อสิ่งใด

เพราะบางที บางองค์ ด้วยดุลยพินิจของท่าน ท่านมองของท่านในรูปแบบนั้น แต่ออกมาแล้วความจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นแบบนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ศึกษาจากองค์อื่นมาเปรียบเทียบ แล้วก็หาเหตุหาผลอันที่สมควร เราเอาตรงนั้นเป็นประเด็น

ฉะนั้น เวลาสุดท้ายแล้วเราก็ดู บุพสิขา วินัยมุก อรรถกถา พระไตรปิฎก เราก็เปิดดูเหมือนกัน อย่างเช่น ที่ว่านิยามของวินัยแต่ละข้อ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติวินัยข้อนี้ บัญญัติวินัยข้อนี้เพื่อเหตุ เหตุมันเกิดอย่างนี้ แล้วบัญญัติมาเพื่อเหตุนี้

ก่อนที่จะเข้าสู่วินัยทุกข้อเลยมันจะมีนิยามก่อนว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติวินัยข้อนี้ ใครเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยข้อนี้ แล้วอนุบัญญัติ พอผู้บัญญัติ แล้วมีผู้กระทำผิดต่อเนื่องไป บอกพระพุทธเจ้าบัญญัติแค่นี้ ทำอย่างนี้ไม่ผิด พระพุทธเจ้าก็บัญญัติเป็นอนุบัญญัติ บัญญัติซ้ำๆ ต่อมา ในวินัยมีหมดล่ะ ฉะนั้น ถ้าศึกษาแล้วย้อนกลับไปดู

เราไม่ใช่ว่า คำหนึ่งก็หลวงปู่มั่น สองคำก็หลวงปู่มั่น แล้วพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าก็อยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในธรรมวินัยนี่ไง พระพุทธเจ้าก็อยู่นั่นนะ เราก็ศึกษาว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติอย่างไร บัญญัติอนุบัญญัติอย่างไร ทำไมถึงบัญญัติ เราก็ไปดูที่นั่น

แต่ดูแล้ว เราศึกษาแล้ว เราก็ยังเอามาใช้ไม่เป็น ศึกษากฎหมายมา จบกฎหมายมา แต่ว่าความไม่เป็น ต้องมาฝึกการว่าความ ฝึกการควบคุม ฝึกการตีประเด็นกฎหมายให้มันชัดเจน การฝึกมานี่ ฝึกมาตีประเด็นกฎหมายก็ฝึกมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านจบมา ท่านศึกษามาแล้ว ท่านก็เอาอันนี้เป็นประเด็นให้เราทำ

แล้วหลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ เห็นไหม ประเด็นทางกฎหมาย สำนักกฎหมายเขาจะมีการฝึกงานต่อเนื่องกันมา เราศึกษาอย่างนั้นมา ถ้าศึกษามา การขอนิสัย การได้นิสัยจากครูบาอาจารย์มา มันก็เป็นประโยชน์แบบนี้ไง ถ้าเป็นประโยชน์แบบนี้ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

ทีนี้ คำถาม กระผมสงสัยเรื่องพระวินัย ถ้าเราบิณฑบาตได้มะม่วงมา ต้องกับปิหรือไม่เพราะไม่มีโยม พระบางรูป.. มันหลายประเด็นไง

ประเด็น ๑.การบิณฑบาต ๒.เรื่องของมะม่วง กัปปิหรือไม่กัปปิ มีโยมหรือไม่มีโยม แล้วพระบางรูป

ประเด็นมันมีหลายประเด็น เพราะว่าเราไม่มีหลัก ถ้าเรามีหลักแล้ว สิ่งใดก็แล้วแต่ เพราะ มีประเด็น เอาประเด็นใดเป็นตัวตั้ง มันจะไปลบล้างประเด็นอื่นหมดเลย อย่างเช่นบิณฑบาตมาแล้วก็จบแล้ว เขาบอก บิณฑบาตมาแล้วไม่ต้องกัปปิใช่ไหม จบเลย ไม่เกี่ยวกับเรื่องเกิดแล้ว เรื่องภูตคาม เรื่องเกิดตามข้อ เรื่องเกิดเพราะเม็ด เกิดเพราะข้อ เกิดเพราะวินัยกรรมจบเลย เพราะบิณฑบาตมา นี่เรื่องบิณฑบาตอันหนึ่ง

บิณฑบาตมามันก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง การบิณฑบาต สัมมาอาชีวะอันนี้ก็ถูกต้องถูกต้องเฉพาะเรื่องของบิณฑบาต สิ่งที่ได้มาคือมะม่วงก็ส่วนของมะม่วง กัปปิก็เรื่องของกัปปิ มีโยมไม่มีโยมก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วยิ่งถ้าพระบางรูปบอก ยิ่งไม่ต้องฟังเลย พระบางรูปบอกไม่ต้องกัปปิ เพราะเขาคงไม่เคยกัปปิเลยไง ถ้ากัปปิก็เป็นกะปิน้ำพริกปลาทูของเขาแล้ว ถ้ากัปปิก็น้ำพริกปลาทู เขาจะเอา แต่ถ้าไม่ต้องกัปปิ ก็คือไม่ต้องทำ

เพราะถ้าพูดอย่างนี้มันแบบว่า มันไม่ครอบคลุม ฉะนั้น มันไม่ต้องกัปปิ เพราะเป็นอาหารบิณฑบาตมา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มันเป็นแบบนี้ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เราขอนิสัย เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์มา แต่ถ้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เขาไม่เอาเลย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเอาเลย ไม่ค่อยเอาเลยคือว่า ก้าวล่วงหมด ถ้าก้าวล่วงหมดนี่ก็เหมือนกับย้อนกลับมาที่หลวงตาพูด มันสะเทือนใจ

เวลาหลวงตาพูด เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป แล้วแสดงธรรม ถ้าก้าวล่วงมันก็เหยียบธรรมวินัยนี้ไป เพราะกฎหมายคือกฎหมาย ไม่ได้ยกเลิก ไม่ได้ยกเว้น พระไตรปิฎกอยู่อย่างนี้ก็อยู่อย่างนี้ เพียงแต่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ กฎหมายก็คือกฎหมาย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าของมันมีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ทำมันก็จบ แต่ถ้าเราทำนะ เราทำมันก็เป็นไปได้นะ นี่พูดถึงว่า เรื่องกัปปิ ไม่กัปปิ เนาะ มีโยมไม่มีโยม นี่พูดให้ฟัง พูดให้ฟัง มันอยู่ที่ประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์อย่างนี้ปั๊บ ถ้าพูดอย่างนี้ก็บอกว่า อ้าว ก็ใช่สิ ก็พระป่าเขาทำกัปปิยะกัน เขาทำเพื่ออวดญาติโยมกัน เขาก็เอาประเด็นนั้นเป็นประเด็นตั้ง เห็นไหม ถ้าเขาถามานะ แล้วพระที่อื่นเขาบอกว่า นี่มันประเด็นเล็กน้อย ของบิณฑบาตมาก็ควรจะฉันแล้วเราก็ฉันเลย อย่าเอาของเล็กน้อยมาเป็นประเด็นขึ้นมา เขาก็คิดของเขาได้อย่างนั้น

ฉะนั้นเวลามาถามพระปฏิบัติ เพราะเราทำกันอยู่อย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์เป็นอย่างนี้ อย่างนี้เพราะเราขึ้นไปธุดงค์ใหม่ๆ นะ ไปอยู่ภาคอีสาน เราศึกษาเรื่องนี้มาก ศึกษาเรื่องสิ่งที่ว่าได้มานี่ อย่างเช่น กัปปิ นี่หลวงปู่ฝั้นบอกกับสมเด็จมหาวีรวงศ์ เพราะกัปปิ แม้แต่พระผู้ใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย แต่เวลาหลวงปู่ฝั้นเวลาท่านพูด ท่านเปิดถึงพระไตรปิฎกเลยบอกว่า การกัปปินี่ ถึงที่สุดแล้วต้องกัปปิแม้แต่เม็ดพริกไทย เพราะเม็ดพริกไทย อยู่ในพระไตรปิฎกนะมันยังเกิดได้ แต่เม็ดพริกไทยนี่มันแข็ง มันทำให้แตกไม่ได้ ให้ใช้มีดปลายแหลมจิก นี่ในพระไตรปิฎกบอกไว้เลย

สมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ทำ สังคมยังแคบอยู่ สังคมอื่นยังบอกว่า เหมือนกับต้องการทำให้ลักษณะเด่น แต่ความจริงท่านไม่รู้หรอก พวกนี้ใจสะอาดบริสุทธิ์ จะทำตามวินัย แต่ในเมื่อสังคมยังไม่ยอมรับ

ฉะนั้นสิ่งที่มายอมรับจริงๆ คือสมัยหลวงปู่ฝั้นมาพูดให้ที่วัดป่าสาละวัน อยู่ที่วัดป่าสาละวัน สมเด็จมหาวีรวงศ์ หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นคนพูด เหมือนกับเช่น ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าถึงหลวงปู่ลี วัดอโศการาม หลวงปู่ลี วัดอโศการาม ก็เหมือนกัน นี่เวลาสมเด็จฯ เพ่งไฟใส่เลย จนเป็นไข้ พอเป็นไข้แล้วหลวงปู่ลีก็บอกว่า ต้องพุทโธแล้วมันจะหาย เพราะครูบาอาจารย์สมัยนั้นท่านยังต่อต้านกรรมฐาน ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ใจท่านยังบอกว่า พระไม่มีการศึกษามันจะรู้อะไร พระอย่างน้อยก็ต้องมีการศึกษา มันถึงจะรู้จริง นี่ครูบาอาจารย์ที่มีพาวเวอร์นะ จิตใจของท่านเป็นธรรมนะ

หลวงปู่ฝั้นนี่มีฤทธิ์ หลวงปู่ลี วัดอโศการาม ก็มีฤทธิ์ เพราะท่านสำเร็จของท่าน ท่านมีคุณธรรมของท่าน ท่านถึงพยายามปรับสมดุล ปรับทัศนคติของสงฆ์ให้การกระทำว่าสิ่งนี้ทำแล้วสงฆ์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะสังคมใหญ่ สังคมใหญ่มันต้องปรับดุลอันนี้มา ไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ท่านปกครองอยู่ ท่านก็มีความเห็นอันหนึ่ง แล้วเราจะไปถึงก็ “กัปปิยะๆ” เหมือนเด็กๆ แล้วไปทำอวดผู้ใหญ่ น่าเกลียดมาก

แต่ถ้าผู้ใหญ่ท่านเห็นด้วย เด็กทำแล้วเด็กเป็นผู้อุปัฏฐากใช่ไหม เราเป็นผู้อุปัฏฐาก เราเป็นคนรับประเคน เราเป็นคนประเคนให้ครูบาอาจารย์ เราทำให้ท่าน ท่านก็ชื่นบาน ท่านก็แจ่มใส เราทำก็ด้วยความชื่นบาน โอ๊ย มันมีความสุขนะ

กรณีอย่างนี้ เราเห็นมาตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำ มันแบบว่า ทุกคนยังไม่ไว้วางใจ แต่เพราะท่านทำจนเป็นกองทัพธรรม กองทัพธรรมตั้งแต่หลวงปู่สิงห์ ครูบาอาจารย์จนมาถึงโคราชนี่ แล้ววัดป่าสาละวันได้ตั้งขึ้นมา หลวงปู่ฝั้นท่านได้มาอยู่ที่นั่น หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นผู้เริ่ม กัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยะ ภันเต เรื่องแม้แต่เม็ดพริกไทย ใช้เหล็กแหลมจี้ให้สมเด็จมหาวีรวงศ์ดู เปิดพระไตรปิฎกให้ดูกันเลย ฉะนั้นกระดูกของท่าน เวลาท่านเสียแล้วนี่ เขาเอาไว้ที่ถ้ำขาม ไปดูที่ถ้ำขามสิ ที่ถ้ำขามจะมีหน้าผา กระดูกของสมเด็จมหาวีรวงศ์อยู่ที่นั่น

เวลาครูบาอาจารย์จิตใจท่านเปิด แล้วท่านฟังนะ ท่านเคารพนับถือกันนะ เช่น หลวงปู่ลี วัดอโศการาม ฉะนั้นหลวงปู่มั่นท่านถึงบอก ลูกศิษย์ของท่านองค์ไหนมีกำลัง องค์ไหนจะเป็นประโยชน์ท่านส่งเสริม แล้วท่านติดปัญญา ติดอาวุธปัญญาไว้ให้กับลูกศิษย์ลูกหาไว้ ให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพวกเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “กัปปิยัง กะโรหิ กัปปิยะ ภันเต” สิ่งที่ว่าต้องกัปปิ ไม่ต้องกัปปิ กว่าจะเอาวินัยข้อนี้ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานให้ใช้กับสังคม ทั้งๆ ที่มันมีอยู่นี่แหละ แต่สังคมเลือนรางไป แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะฟื้นฟูมานี่ มันทุกข์ยากขนาดนี้ กว่าจะได้มาแต่ละชิ้นแต่ละอัน

จนมาสมัยปัจจุบันนี้ กรรมฐานมันขึ้นหม้อ ตอนนี้กรรมฐานขึ้นหม้อ พระป่าขึ้นหม้อ แล้วทำกันหรือเปล่า ยังดูแลรักษาสิ่งที่ครูบาอาจารย์แสวงหามากันบ้างไหม สิ่งที่กว่าจะได้มา ทั้งๆ ที่พระไตรปิฎกก็มีอยู่แล้วมันเลือนรางไป ครูบาอาจารย์ของเราพยายามฟื้นฟูมาจนสังคมกว่าจะยอมรับมันทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วเราทำกันเพื่ออะไร ไม่ได้ทำกันเพื่อแอคนะ กัปปิยัง กะโรหิ ทำเท่ห์ๆ มันไม่ใช่ มันเป็นข้อบังคับ มันเป็นพืชคาม ภูตคาม อยู่ในปาฏิโมกข์ มันอยู่ในปาฏิโมกข์มาตั้งแต่ต้น แต่ไม่มีใครทำ แล้วเราทำขึ้นมา ถูกต้องก็คือถูกต้อง

ฉะนั้นสิ่งที่ศึกษามา ศึกษามาเพื่อเรานะ นี่พูดถึงธรรมวินัย แล้วถ้าเราศึกษามาเพื่อประโยชน์เนาะ ก็เห็นว่าคนถามถามมาเพื่อประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะถามมาให้หลวงพ่อด่าทำไมเนาะ อุตส่าห์เขียนมาหาหลวงพ่อ แหม! หลวงพ่อใส่ใหญ่เลย มันเป็นประโยชน์ไง ของเล็กๆ นี่แหละ แต่ถ้าช่วยกันดูแล ของเล็กๆ นี่กว่าจะได้มา กว่าครูบาอาจารย์จะได้มา

หมายถึงว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านทำมาตั้งแต่ต้นนั้นแหละ แต่ทำไปแล้วมันไปขัดหูขัดตาคนเยอะมาก แล้วเวลาหลวงปู่ฝั้นไปพูดกับสมเด็จฯ สมเด็จฯ ท่านมีคำสั่งของท่าน ท่านไปสั่งเข้ามณฑล มันก็จบหมดเลย มันก็สงบระงับ มันก็เป็นเรื่องคุณงามความดีของศาสนาเรา นี่ครูบาอาจารย์ของเราแสวงหามาอย่างนี้ ทำมาอย่างนี้เพื่อประโยชน์กับเราชาวพุทธ เอวัง