เทศน์บนศาลา

มรรคจิต

๑o ก.ย. ๒๕๔๖

 

มรรคจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอ้า ภาวนา ตั้งใจฟังธรรมนะ ธรรมะนี้เป็นของที่หายากมาก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว วางธรรมไว้แล้ว พระไตรปิฎกมีเป็นตู้เลย เราก็ค้นคว้าอ่านพระไตรปิฎกกัน แต่เราก็เอากิเลสของเราอ่านด้วย เราถึงไม่เข้าใจตามธรรม

เราไม่เข้าใจตามธรรมหรอก ถ้าเราเข้าใจตามธรรม เราสวดมนต์ “ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม” ธรรมะต้องคุ้มครอง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควร ธรรมะคุ้มครอง แล้วใจเราปฏิบัติธรรม ธรรมะต้องคุ้มครองใจเรา แต่ทำไมใจเราเศร้าหมอง ใจเราทุกข์ยากล่ะ ชีวิตเรานี่โศกสลดกันมาทุกชีวิต ทุกภพทุกชาตินะ

ถ้าเราเกิดตาย เกิดตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว น้ำตาตั้งแต่ภพชาติต่างๆ ไม่มีที่เก็บไว้นะ จะหลั่งไหล น้ำตาไหลทุกภพทุกชาติ เศร้าโศกมาตลอด แล้วชาติปัจจุบันนี้ตื่นเนื้อตื่นตัวกันไหม ถ้าชาติปัจจุบันนี้เราตื่นเนื้อตื่นตัวกัน เราฟังธรรมให้ธรรมสะเทือนหัวใจ ให้สะเทือนกิเลสด้วย ให้กิเลสมันยุบยอบลงบ้าง ถ้ากิเลสมันยุบยอบลงบ้าง เราจะมีความสุขขึ้นมาสมควรแก่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

เราคิด เรานึกของเราขึ้นมา เราอ่านพระไตรปิฎก ธรรมมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ เป็นทางอันประเสริฐ มรรคอริยสัจจัง ถ้ามีมรรค ศาสนาไหนมีมรรค ศาสนานั้นมีผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับสุภัททะ “เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลหรอก ถ้าศาสนาไหนมีมรรค ศาสนานั้นจะมีผล”

มรรคคือเหตุ เราสร้างเหตุของเรา เหตุที่จะเกิดขึ้น มรรคอริยสัจจังจะเข้าไปชำระกิเลส แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราอ่านของเรา เราบอกว่าเราทำมรรคแล้ว ในมุตโตทัยหลวงปู่มั่นบอกไว้ “เวลาดื่ม เวลากิน เวลาเคลื่อนไหว จะเหยียด จะคู้ ต้องมีสติตลอด” เราต้องมีสติสัมปชัญญะตลอดไป แล้วสิ่งนี้จะเป็นความสงบร่มเย็นของใจ แต่เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นมรรค

การประกอบสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ การทำความเพียรชอบ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นมรรค มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน เป็นความสำคัญมาก ถ้าบอกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นมรรค แล้วเราประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นจากตรงไหน สิ่งนี้เป็นมรรค แต่เป็นของปุถุชน สิ่งนี้เป็นโลกียะ สิ่งนี้เป็นความคิดของโลก แต่เริ่มต้นเป็นสุตมยปัญญา

การศึกษาธรรมของเรานี้เป็นสุตมยปัญญา คือการศึกษาเล่าเรียน จำมาทั้งหมด ก๊อบปี้มาทั้งหมด สิ่งที่ก๊อบปี้มา กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ เพราะกิเลสมันเอาสิ่งนี้ตั้งไว้ แล้วมันก็หลอกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ หลอกว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม เราสมควรแก่ธรรม เราทำแล้วจะได้ขั้นนั้นๆ ความคิดของเราจะเป็นไป

กิเลสเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้ง แล้วก็หลอกลวงเราว่า เราทำแล้วสมควรแก่ธรรมเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันเป็นสภาวะแบบนั้น เราถึงไม่เคยสร้างมรรคผลของเราขึ้นมาโดยสมบูรณ์แบบ ถ้าเราสร้างมรรคผลของเราขึ้นมาสมบูรณ์แบบ มันจะเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา

เราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นสุตมยปัญญา เราก้าวเดินไปก่อน ปัญญาใคร่ครวญขนาดไหน ใคร่ครวญไป ใคร่ครวญในความคิดเรา ความคิดของเราเหมือนกับคนอยู่ในป่า เราไปอยู่ในป่า ชาวป่าชาวเขา เขาไม่มีถนนหนทางหรอก เขาจะไปไหนเขาต้องใช้ก้าวเดิน ใช้เท้าของเขาเดินไป มันไม่มีถนน ไม่มีรถ ไม่มีถนนให้รถนั้นวิ่งไปได้ แต่เวลาเราเข้าไปเที่ยวในเมือง ในเมืองมีถนนหนทาง รถลาจะวิ่งไปในเมืองได้เพราะอะไร นั้นเป็นมรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราศึกษามาในสุตมยปัญญา มรรคอริยสัจจัง ความสงบของใจ เราทำความสงบของใจ เราวิปัสสนาไป เราใคร่ครวญไป ในกาย เวทนา ในจิต ในธรรม เราก็คิดของเรา เพราะเราพิจารณากายของเรา เราพิจารณากายนอก เวลาเราพิจารณาของคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราก็มีความสลดใจ สิ่งที่สลดใจ สลดสังเวชเข้ามา มันจะย้อนกลับเข้ามา นี่มันเป็นความสงบของใจทั้งหมด มันเป็นการใคร่ครวญไปทั้งหมด

เราไปเห็นถนนหนทางในเมือง เราก็ว่าเป็นของเรา เราอยู่ในป่าในเขา เราเกิดขึ้นมา คนเราเกิดมาชีวิตนี้มืดบอด ถ้าไม่มีศาสนาชีวิตนี้มืดบอด เกิดมาตายเปล่านะ เกิดมาเพราะเป็นมนุษย์สมบัติ คนเกิดมาถ้าไม่พบพุทธศาสนา เกิดมาแล้วก็ไม่มีถนนหนทางจะออกไป ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะสร้างบุญบารมีมามาก แต่ก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นผู้เปิดทางให้ อันนี้ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมขึ้นมา

ธรรมนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดแล้ว แล้ววางไว้ให้

เหมือนกับเราไปเที่ยวในเมือง เราไปเห็นถนนหนทาง ถนนหนทางนั้นเป็นของสาธารณะ มันไม่ใช่เป็นของๆ เราหรอก มันถึงว่าไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่มรรคที่เกิดจากใจของเรา เราเป็นชาวป่าชาวเขา เราศรัทธาขึ้นมา เราก็พยายามก้าวเดินออกไป

การก้าวเดินออกไป พยายามสร้างถนนหนทางขึ้นมา พยายามสร้างมรรคอริยสัจจังของเราขึ้นมา ถ้าเราสร้างมรรคอริยสัจจังขึ้นมา เราจะทำถนนหนทางขึ้นมาได้ ถ้าเรามีถนนหนทาง เราจะก้าวเดินของเราไปได้ นั้นคือมรรคของเรา ถ้ามรรคของเราไม่เกิด มรรคของเรายังไม่มี เราอยู่ในป่า เราจะเริ่มสร้างถนน เราต้องทำอะไรก่อน เราต้องปรับพื้นที่ก่อน นี้ก็เหมือนกัน

ในเมื่อมีความคิดของเราเกิดขึ้นมา เราพยายามหักห้ามความคิดของเรา เราใช้ปัญญาของเรา ใช้ความคิดของเราย้อนให้ทันกับสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งของเรา เราพยายามถากถางที่ไง เราพยายามปรับที่ของเราไง แม้แต่เรากำหนดพุทโธก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธ พุทโธ เป็นคำบริกรรม

สิ่งที่เป็นคำบริกรรม ต้องเอาความสงบของใจ ถ้าใจเรามันสงบขึ้นมา มันจะปรับพื้นที่ของเราเข้ามา ถ้าใจของเราไม่สงบนะ เราจะคิดขนาดไหน มันก็เป็นว่าเราไปเห็นถนนหนทางในเมือง เห็นหนทางของสาธารณะ เห็นหนทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสุตมยปัญญาไง สุตมยปัญญามันต้องศึกษาก่อน ต้องมีการศึกษา ต้องปริยัติ มีปฏิบัติ มีปฏิเวธ ปริยัติมีอยู่แล้ว เราศึกษามา ธรรมเราศึกษาเป็นปริยัติ

ผู้ที่บวชก็เหมือนกัน อุปัชฌาย์บอกตั้งแต่ทีแรกเลย “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” เป็นงาน เป็นกรรมฐาน เป็นสิ่งที่ว่าพระต้องตีตรงนี้ให้แตก พระต้องทำตรงนี้ให้ได้ ปริยัติเราเรียนมาแล้ว เราศึกษามาแล้ว เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นการต่อสู้ตามความเป็นจริงของเรา เราจะต่อสู้ของเราเข้ามา ชีวิตของเรามีคุณค่ามาก จะมีคุณค่าเริ่มต้นตั้งแต่ เราเห็นหัวใจของเรา เราเข้าใจเรื่องธรรม แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติธรรม ให้หัวใจเข้าถึงธรรม

ถ้าคนเขาไม่สนใจ เวลาเกิดมาไม่พบพุทธศาสนา เสียเปล่า.. คนเกิดมาพบพุทธศาสนาแล้วเขาไม่ขวนขวายของเขา ก็เสียเปล่าเหมือนกัน ตามธรรมบอกไว้ว่า เกิดมาเหยียบแผ่นดินผิด พบพุทธศาสนาแล้วไม่สนใจเรื่องของพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจ ไม่ค้นคว้า ไม่ศึกษาของเราเข้ามา มันจะไม่เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

แต่ของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราเข้ามา เราต้องมีกำลังใจของเราขึ้นมา เราจะมีกำลังใจ เราจะมีความองอาจกล้าหาญ หัวใจจะเข้มแข็งขึ้นมา เพราะเราสร้างกำลังใจของเราขึ้นมา ถ้าเรามีกำลังใจ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วเรามีความสนใจ เรามีความจงใจ จะมีความบกพร่อง เรื่องของโลกบกพร่องเป็นนิจ ความเป็นอยู่ของเราก็บกพร่อง สิ่งที่บกพร่องมันต้องหาเจือจานในชีวิตทั้งหมด

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ออกบวชเป็นพระ เป็นเณร พยายามประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนกัน มันบกพร่องเหมือนกัน บกพร่องเพราะมันไม่พอใจ ไม่มีสิ่งต่างๆ สมความปรารถนา สิ่งนี้บกพร่องขึ้นมาเพราะกิเลสมันพาบกพร่อง กิเลสในหัวใจมันไม่เคยพอ สิ่งที่ไม่เคยพอ แล้วมันอยู่ในหัวใจของเรา จะก้าวเดินไปตรงไหน สิ่งนี้มันขัดขวางไป ป่ารกชัฏของใจ สิ่งนี้รกชัฏขวางหัวใจอยู่ตลอดเวลา เราถึงต้องถาก ต้องถาง ต้องปรับของเรา มันถึงต้องย้อนกลับเข้ามา กระแสของใจจะทวนกระแสกลับเข้ามา

สิ่งต่างๆ เป็นการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติเท่านั้น ผู้ที่มีสติ แล้วประพฤติปฏิบัติอยู่ วันหนึ่งมีคุณค่ากับผู้ที่ไม่สนใจ เป็นปี เป็นทั้งชีวิตของเขา ชีวิตของเขาทั้งชีวิตนะ เขาไม่สนใจเลย เหมือนกับเขาไม่ค้นคว้า เขาไม่หาสิ่งใดๆ เลย แต่ของเรา เราสนใจของเรา เราก็มีโอกาส แม้แต่วันเดียวก็ยังดี แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เราพยายามจงใจของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมนะ ตามอำนาจวาสนา ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แล้วเราก็บอกว่า เราไม่มีอำนาจวาสนา เราประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผลของเรา เพราะเราไม่ได้สร้างบุญของเรามา มันก็ค้านกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าข้อนี้สิ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ท่านไม่ได้บอกว่ามีวาสนาหรือไม่มีวาสนา

อำนาจวาสนานั้นเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งนั้นเป็นความจริง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวสำเร็จก็มี ดูอย่างพระสารีบุตรสิ ฟังพระอัสสชิพูด พระพุทธเจ้าสอนว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าย้อนไปหาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ให้ดับเหตุนั้น” พระสารีบุตรฟังเท่านี้เป็นพระโสดาบัน เพราะอะไร เพราะจิตใจของเขาพยายามค้นคว้า พยายามศึกษาอยู่

อยู่กับสัญชัยมา สัญชัยสอนว่า “สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มี”

“สิ่งที่ไม่มีคืออะไร?”

“สิ่งที่ไม่มีก็คือไม่มี สิ่งที่ว่าไม่มี ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งต่างๆ ไม่ใช่ทั้งหมด”

ปฏิเสธทุกอย่างเลย แล้วมันก็ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย สิ่งที่เกิดขึ้นมา มันต้องมีเหตุทุกอย่าง ไม่เกิดขึ้นมาลอยๆ มีเหตุเกิด แล้วจะดับผลที่ว่าเป็นความทุกข์นี้ ต้องไปดับที่เหตุนั้น ย้อนกลับไปสิ เหตุมันอยู่ที่ไหนล่ะ เหตุนั้นก็อยู่ที่ใจ ใจมันหมายไปทั้งหมด มันยึดไปทั้งหมด ถ้าใจขึ้นไปมันก็ทุกข์ ร่างกายไม่ทุกข์หรอก

ร่างกายนะ เวลานั่งนานมันจะเจ็บปวด มันเป็นเพราะหัวใจไปรับรู้เท่านั้น ร่างกายก็เป็นแต่ว่าร่างกาย ดูเด็กๆ เห็นไหม เวลาเขาวิ่งเล่นกัน เขากระโดด มันน่าจะเจ็บปวดนะ เขาไม่เคยเจ็บปวดเลย เพราะอะไร เพราะร่างกายของเขามันเป็นเด็ก กำลังเจริญเติบโตของเขา มันจะวิ่งหกล้มขนาดไหน ยิ่งหกล้มมันยิ่งเจริญวัยของเขา นั่นล่ะทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ แต่ของเรา เรามันคนที่มีอายุ เวลาประพฤติปฏิบัติ อายุยิ่งมากขึ้นมา ร่างกายมันเสื่อมไป เสื่อมไป แต่เพราะหัวใจมันยึดสิ่งนั้น เพราะใจทั้งหมดสาวไปหาเหตุ เหตุมันอยู่ที่ใจ พอคนสะกิด หัวใจที่พร้อมอยู่แล้ว บรรลุธรรมเลย

พระสารีบุตรมีดวงตาเห็นธรรม ไปบอกพระโมคคัลลานะ ก็คำเดียวกัน มีดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน เพราะเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา.. ถูกต้อง เขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา เพราะว่าเขาเจตนาเป็นอัครสาวก สร้างบุญมามาก แต่ของเรา ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราจะพบพุทธศาสนาไหม เราจะเชื่อในธรรมไหม เราจะประพฤติปฏิบัติไหม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราตั้งใจ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราต้องก้าวเดินตามนั้น แล้วพยายามทำให้ได้ถึงที่สุด

เล่นกีฬา เวลาเขาเริ่มต้นเล่นกีฬา เขาเริ่มต้นปั๊บ เราเล่นกีฬาไป เขายังไม่จบเวลาเลย เราเบื่อหน่าย เราแวะ เราพักก่อน แล้วเราจะจบเกมนั้นได้อย่างไร ไม่จบเกมนั้นก็คาไว้อย่างนั้น นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เป็นเวลาเหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีนี้ต้องถึงธรรม ต้องเข้าถึงธรรม”

ถ้าเข้าถึงธรรม เราก็ต้องมีอำนาจวาสนาสิ เพราะเราเป็นผู้ที่เริ่มต้น นับหนึ่งตั้งแต่เดี๋ยวนี้ แล้วเรานับหนึ่งมาตั้งแต่เราประพฤติปฏิบัติมาขนาดไหน เราต้องไปได้ เราต้องทำของเราได้เพราะเรามีหัวใจ ภาชนะที่จะใส่ธรรมนี้คือหัวใจของสัตว์โลกเท่านั้น

พระไตรปิฎกทั้งตู้เลยเห็นไหม หนังสือทั้งตู้เลย เวลาปลวกมันกัดมันกินเข้าไป มันกินเข้าไปเลยนะ มันไม่ได้อ่านเหมือนเราหรอก เราอ่านเอาหัวใจศึกษา เราศึกษาเข้ามา ภาชนะคือหัวใจศึกษา ศึกษายังตื่นเต้นนะ อ่านธรรมเข้าไปมันจะตื่นเต้นมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนทุกอย่างนะ นักกฎหมายก็ว่าสอนเรื่องกฎหมาย นักรบก็ว่าสอนเรื่องของนักรบ นี่มีทุกอย่างในพระไตรปิฎกนั้น พระไตรปิฎกบอกทุกอย่างเลย แต่หัวใจของเขา หัวใจในพระไตรปิฎกนั้นคือเรื่องของอริยสัจไง

เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค อันนี้คือหัวใจ สิ่งต่างๆ นั้นเป็นการแตกแขนงออกไป แล้วแต่จริตนิสัย สอนพระสารีบุตรก็สอนไปอย่างหนึ่ง สอนพระโมคคัลลานะก็สอนไปอย่างหนึ่ง อยู่ที่จริต อยู่ที่นิสัย อันนั้นเป็นว่าเราศึกษาธรรมไปแล้ว ส่วนใหญ่ศึกษาเป็นคติ ถ้าสิ่งใดเป็นที่พอใจเรา เราเอามาเป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติ อันนั้นเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราลังเลสงสัย เราไม่ต้องสงสัย อันนั้นวางไว้ เพราะหัวใจของศาสนา หัวใจของพระไตรปิฎก มรรคอริยสัจจัง ทางอันเอกอันนี้เราต้องแสวงหาของเราเข้ามา เราต้องย้อนกลับเข้ามาสร้างมรรคของเราขึ้นมาด้วย ถ้ามรรคของเราไม่เกิด ผลของเราจะไม่เกิด

เวลาพระสารีบุตรฟังพระอัสสชิพูด ทำไมมีดวงตาเห็นธรรม เพราะประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ เพราะหัวใจพร้อมอยู่ ความคิดของเราเป็นความคิดของโลกทั้งหมด ในพระไตรปิฎก อ่านจบพระไตรปิฎก เข้าใจตามนั้นหมด ก็ไม่สามารถชำระกิเลสได้ เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่จะชำระกิเลสของเราได้ ต้องเกิดมรรคของเรา เป็นสมบัติส่วนตน สมบัติของบุคคลคนนั้น เวลาทุกข์ออกมาจากใจดวงนั้น เวลาจะมีความสุขขึ้นมา ต้องมีเหตุการณ์กดกิเลสไว้ คือทำสัมมาสมาธิ การสร้างเหตุขึ้นมานั้นจะเป็นถนนหนทางของเราขึ้นมา

สิ่งที่เป็นทางของเรา มรรคจิตจะเกิดขึ้นมา ด้วยการที่เราสร้างสมขึ้นมา จากโลกียะ เราสร้างสมของเราขึ้นไป เรามีความศรัทธา เราเชื่อ ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้ามา ใคร่ครวญความคิดของเรา มันคิดไปไหน สิ่งที่มันดีดดิ้นอยู่นี่ มันเพราะเหตุใด เพราะกิเลสมันพาคิดทั้งหมด สิ่งที่กิเลสพาคิดทั้งหมดต้องใช้ธรรมเข้าไปทำให้สิ่งนี้สงบตัวลงได้ สิ่งนี้สงบตัวลงได้ต้องมีสติ ถ้าสติของเราพร้อม งานนี้จะเป็นงานชอบ ถ้าสติของเราไม่พร้อม กิเลสทำให้เราคิดไป กิเลสเสริมไปแล้วมีความพอใจไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง จริตนิสัยของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน คนขี้โลภก็มี คนขี้โกรธก็มี สิ่งใดกระทบขึ้นมาจะมีความโกรธ มีความไม่พอใจ

ดูสิ่งนั้น สิ่งที่เขาพูดมันเป็นเรื่องภายนอก เขาพูดแล้วก็แล้วของเขาไป เขาพูดมานี่ เขาไม่รู้ว่ามันสะเทือนใจเราหรือไม่สะเทือนใจเรา เรามีหน้าที่ดูใจของเรา ถ้าใจเราสะเทือนใจของเรา เวลาเราปฏิบัติธรรม ทำไมมันไม่ซาบซึ้ง ไม่สะเทือนใจล่ะ แต่เวลาคำพูดของคนอื่นทำไมสะเทือนใจล่ะ เพราะมันมีกิเลส กิเลสกับกิเลสมันเข้ากันได้ เรื่องของโลก นินทากาเลนี้เป็นเรื่องของโลก มันเป็นอยู่โดยปกติของเขา

โลกธรรม ๘ มีมาโดยดั้งเดิม กิเลสเป็นอย่างนั้น มันก็เข้ากัน เพราะกิเลสในหัวใจของเราเข้ากัน ถ้าสติของเรายับยั้งขึ้นมาตั้งสติได้ สติยับยั้ง ถ้าเราไม่มีปัญญาใคร่ครวญทัน เราเอาสติยับยั้ง แล้วเอาธรรมะมาเทียบเคียง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ เปรียบเหมือนบุรุษ ๒ คนเดินไปอยู่ บุรุษคนหนึ่งโดนยิงด้วยลูกศร คนที่โง่อยู่ บุรุษที่โง่อยู่ เขาไม่ถอนลูกศรของบุรุษเพื่อนเขา เขาจะวิ่งไปก่อนว่า “ศรนั้นยิงมาจากใคร? ลูกศรนั้นทำด้วยอะไร? ทำด้วยไม้อะไร? ทำมาจากไหน? ใครเป็นคนยิงมา?” จะไปแสวงหาสิ่งนั้นก่อน บุรุษที่มาด้วยกันคนหนึ่งจะต้องโดนพิษบาดแผลเจ็บปวดถึงกับตายไปได้

แต่ถ้าเขาไม่สนใจ เวลาบุรุษอีกคนหนึ่งโดนยิง เราจะไม่ไปหาเลยว่า ธนูนั้นทำจากอะไร ยิงมาจากไหน หน้าที่ของเราต้องชักธนูจากเพื่อนของเราออกมาให้ได้ก่อน แล้วรักษาบาดแผลนั้น เวลาเขาพูดก็เหมือนกัน คำติฉินนินทา โลกธรรม ๘ มันเป็นอยู่อย่างนั้น เวลาเขายิงมากระทบหัวใจของเรา เหมือนกับหัวใจของเราโดนยิงแล้ว บุรุษอีกคนหนึ่งคือสติปัญญา เราใคร่ครวญทันไหม ถ้าเราใคร่ครวญทัน เราต้องถอนธนูของเราออกมาได้ ถอนคันศรที่มันปักในหัวใจออกมา ถ้าเราถอนออกมาแล้วรักษาแผลของเรา นี่ดูใจของเรา

ถ้าเราดูใจของเรา เราปรับพื้นที่ เราเป็นชาวป่าชาวเขา เรายังไม่มีถนนหนทางเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะนี้มีอยู่แล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว คือวางมรรค วางทางเอาไว้แล้ว

ธรรมะนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม เพราะหัวใจเรามีอยู่โดยดั้งเดิม ถ้าเราถากถางขึ้นมา เราถากถางความคิด ความปรุง ความแต่งของใจ มันสงบตัวลง นั้นทางของเราก็เกิดขึ้นมา ทางของเราคือจิตมันสงบขึ้นมา เราจะมีถนนหนทาง เราจะสามารถเดินไปบนถนนได้ เราจะสามารถใช้ปัญญาของเราได้ เราสามารถหาพาหนะของเราก้าวเดินเข้าไปได้

ขั้นของปัญญาคือการก้าวเดินไปเข้าไป พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งนี้มันติดข้องอยู่ในเรื่องของใจ แต่จะไม่เห็นสิ่งนั้นเลย เราเห็นกาย ก็เป็นกายภายนอก เราเห็นต่างๆ นี่เห็นเป็นเรื่องของโลกทั้งหมด จิตนี้มันยิ่งเห็นมันยิ่งยึดยิ่งมั่น สิ่งที่ยึดมั่นมันจะไม่ให้เราย้อนกลับเข้ามา ไม่ให้ทวนกระแสกลับเข้ามา เราจะไม่สามารถเห็นมรรค มรรคจิตไม่เกิด ถ้ามรรคจิตไม่เกิด มันยังเป็นไปไม่ได้

การจราจรของใจ ใจนี้มันต้องย้อนกลับเข้าภายใน ถ้าการจราจรของใจเกิดขึ้นมา รถมันวิ่งไป มันวิ่งไปถึงไหนก็แล้วแต่ มันมีกฎจราจรของเขา ผิดกฎของเขาแล้วรถนั้นจะประสบอุบัติเหตุ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมรรคยังไม่เกิด มรรคจิตมันไม่เกิด การคิดของเราไป กิเลสมันมีอำนาจมากกว่า ก็ต้องคิดไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสพาไป พาไปล้มลุกคลุกคลาน จะเป็นอย่างนั้นไป

แล้วเราว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม สติเราไม่ดี สติเราไม่มี ความเพียรของเราไม่ชอบ ถ้าความเพียรของเราชอบ มันจะต้องมีความสงบตัวลงแน่นอน จิตนี้สงบตัวลง สงบตัวลง เราพยายามตั้งสติของเราไว้ มันต้องเป็นไปอย่างนั้นแน่นอน มืดคู่กับสว่าง ทุกข์คู่กับสุข ในเมื่อมันฟุ้งซ่านได้ มันก็สงบได้ มันสงบของมันโดยธรรมชาติของมัน

คนเรานี่ทุกข์ยากมาก เวลาคนสบายใจก็มี เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของใจที่ทุกดวงใจรับรู้อยู่ เวลาเราทุกข์ เราก็ทุกข์ของเราอยู่ บางโอกาสเราก็โล่ง เราก็สบายเห็นไหม มันเกิดดับในหัวใจ มันสงบได้ มันเป็นไปธรรมชาติของมัน มันเกิดดับโดยธรรมชาติของมันมีอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็ตั้งสติของเรา กำหนดพุทโธ พุทโธไว้ เพื่อเสริมขึ้นมาไง เพื่อเสริมความสงบของใจนั้น ให้มันลึกเข้าไป ลึกเข้าไป เวลาตั้งสติขึ้นมา กำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยวางเข้ามา เราก็มีสติ มีความเพียรของเรา พยายามทำเข้าไป สิ่งนี้ถากถางให้ได้ ถากถางเรื่องของใจของเราให้ได้

เราก้าวเดินอยู่ในป่า ใช้เท้าของเราก้าวเดิน ถ้าเราทำทางของเราได้ การสัญจรของเราจะสะดวกสบายขึ้น มันมีความสงบมากขึ้น สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาสงบขนาดไหนก็แล้วแต่ เราทำใจของเราเข้าไป แล้วพยายามหมั่นเพียรตลอดไป ไม่ติดในความสงบนั้น พอจิตมันสงบนั้น คนเรานะ ไม่เคยพบสิ่งใดเลย คนเราไม่เคยมีสมบัติเลย เห็นแก้วแหวนเงินทอง มันจะตื่นเต้นมาก จิตไม่เคยสงบเลย พอสงบแล้วมันก็จะตื่นเต้นกับความสงบนั้น แล้วก็อยากสงบอีก พอมีความอยากสงบขึ้นมา กิเลสตัวนั้น ตัณหาความทะยานอยาก

เพราะอยากสงบ เราไม่ได้อยากสร้างเหตุ เราต้องสาวไปหาเหตุทุกอย่าง ถ้าเราทำเหตุนั้นดี จิตนี้มันจะสงบโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้ามีความต้องการขนาดไหน นั้นคือตัวปรุงแต่ง มันทำให้จิตนี้ฟุ้งซ่านมาก เราถึงต้องทำโดยที่ว่าเราไม่ปรารถนาสิ่งใด การสละ การปล่อย การวาง นั้นคือผลของการประพฤติปฏิบัติ

โลกของเขา เขาต้องการหาสิ่งใดมา เขาถึงได้ผลประโยชน์ของเขา เขาหาสิ่งใดมาเขาได้สิ่งนั้นมา นั้นคือสมประโยชน์ของเขา นั้นเป็นการได้มา แต่การประพฤติปฏิบัติ ต้องสละออก ยิ่งสละออกได้เท่าไหร่ ใจมันยิ่งจะปลอดโปร่ง มันจะยิ่งโล่งออกไป พิจารณาบ่อยครั้งเข้า ทำบ่อยครั้งเข้าจะเห็นการฟุ้งซ่านของมัน จิตนี้ฟุ้งซ่านเพราะเราควบคุมไม่ได้ มันตามอำนาจของกิเลส กิเลสมีอำนาจเหนือกว่า เขาจะต้องออกไปยึดในรูป ในเวทนา ในอายตนะต่างๆ กระทบเห็นไหม

ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันจะยึดสิ่งต่างๆ ไปทั้งหมด ยึดเพราะว่ามันเคยใช้เป็นทางเดินปกติของเขา แต่เวลาเราทวนกระแสเข้ามา สติเรายับยั้งไว้บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จนมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา จนเห็นสิ่งนี้นะ มันจะตัดสิ่งนี้ขาดโดยธรรมชาติของมัน เห็นโทษของมันไง เห็นโทษของรูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นเหยื่อ เป็นที่ให้จิตนี้ข้องตลอดไป จิตนี้จะกินเหยื่อตลอดไป แล้วผลของมันคือความฟุ้งซ่าน ผลของมันคือความทุกข์ของใจ

ถ้าเราเห็นโทษของมัน ความฟุ้งซ่านคือสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราปรารถนาความสงบของใจ ถ้าเราปรารถนาความสงบของใจ เราจะมีฐานไง ถ้าเรามีฐาน งานของเราจะเกิดขึ้นมา ถ้างานของเราเกิดขึ้นมา เราจะทวนกระแสเข้าไปได้ กระแสของจิต เราสร้างถนนหนทางขึ้นมา แล้วเราพยายามใคร่ครวญดู พยายามดูกาย ดูจิต กายกับจิตมันเกิดขึ้นมาตลอดเวลา แต่เราไม่สนใจ ถ้าเราไม่สนใจหรือเราหาสิ่งนั้นขึ้นมาไม่ได้ เราจะวิปัสสนาไม่ได้

รถจะวิ่งไปบนถนน เราต้องแสวงหารถนั้นมาก่อน นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เห็นกายกับจิต เราจะวิปัสสนาอะไร ปัญญามันจะใคร่ครวญไปในสิ่งใด ปัญญามันจะใคร่ครวญกายกับจิตนี้ กายกับจิตนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นสมบัติของเรานี่แหละ เราเกิดมา จิตปฏิสนธิขึ้นมาพร้อมกับกายนี้ คลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา เจริญเติบโตขึ้นมา อยู่มาด้วยกัน มันเป็นคุณประโยชน์กับเราแน่นอน เพราะเป็นมนุษย์สมบัติ

สิ่งที่เป็นมนุษย์สมบัติ มีร่างกายขึ้นมา เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องรักษา รักษาขึ้นมาเพื่อดำรงชีวิตไว้ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะเห็นกาย เห็นจิตของเรา นั่นล่ะมรรคจิตเกิด เกิดตรงนี้ไง โสดาปัตติมรรค สิ่งที่เป็นโสดาปัตติมรรคเพราะเห็นกายเห็นจิต ถ้าเห็นกายเห็นจิต ปัญญามันเริ่มใคร่ครวญ ใคร่ครวญสิ่งนี้ แยกแยะสิ่งนี้ออกไป

นี่การจราจรเกิดขึ้น ความคับคั่งของการจราจรเห็นไหม เวลาเราคับคั่งของจราจร รถมันจะติดหรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นไปไม่ได้ ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะว่าเราวิปัสสนา เราแยกกาย เราใช้ปัญญาพิจารณาจิต ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ถ้าอายตนะกระทบขึ้นมาเป็นทางผ่าน อายตนะทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียงนั้นเป็นเรื่องของปุถุชน

ปุถุชนคือออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ นั้นยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น เราทำความสงบของใจเข้ามา จนถึงที่สุดมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นโดยความเป็นจริง จิตมันก็สงบเข้ามา ยกขึ้นมาเห็นกาย เห็นจิต ก็กลายเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ โดยความเป็นจริง แต่เราไม่เคยเห็น เราจับต้องสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าจับต้องสิ่งนี้ได้ เราเริ่มใช้ปัญญาไป การจราจรที่รถวิ่งไป วิ่งไปบนนี้ไง รูป รส กลิ่น เสียง เราปล่อยวางเข้ามา อันนั้นส่วนหนึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ การจราจรใคร่ครวญสิ่งนี้ แยกแยะสิ่งนี้เข้าไป

ปัญญามันแยกแยะได้ ถ้ากำลังมันพอ กำลังมันพอมันก็เข้าถึง รถเราไปตามกฎของจราจร มันจะไปตามความเป็นจริง ถึงเป้าหมายได้ พอถึงเป้าหมายมันเหมือนกับจิตพิจารณากายไป เห็นตามความเป็นจริง มันก็ปล่อย พิจารณาขันธ์ก็เหมือนกัน มันจะปล่อย ถ้าปล่อยหมายถึงเราไปตามกฎของจราจร ขันธ์ก็คือขันธ์ตามความเป็นจริง กายก็เป็นกายตามความเป็นจริง จิตก็เป็นจิตตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราผิดกฎของจราจร เพราะเราผิดเห็นไหม ความผิดนั้นคือกิเลสไง

กิเลสต้องการที่จะไปถึงเป้าหมาย ไปถึงที่หมายโดยเอาเปรียบเขา โดยลักไป โดยเอารัดเปรียบเขา ผิดกฎจราจรไปตามความเห็นของกิเลส กิเลสไม่ไปตามกฎ กิเลสไม่เห็นตามความเป็นจริง มันก็เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่เกิดอุบัติเหตุ มันเป็นไปไม่ได้ วิปัสสนาไปไม่ได้ มันก้าวเดินไปไม่ได้ เราก็ถึงเป้าหมายไม่ได้ เราก็ปล่อยวางไม่ได้ เราต้องหยุด กลับมาทำความสงบของใจ แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้ตลอดไป

ใคร่ครวญ พิจารณาไป กายเป็นกาย กายนี้มันเกิดขึ้นมาอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วมันต้องเสื่อมสภาพไปโดยธรรมชาติของมัน เราจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยธรรมชาติอย่างนั้น แล้วเราเกิด แก่ เจ็บ ตายไปภพชาติหนึ่งตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเรามาพิจารณาเห็นอย่างนี้ เราตายก่อนไง กิเลสมันต้องตายไปจากใจก่อน ถ้ากิเลสตายไปจากใจ ใจมันจะปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา เห็นตามความเป็นจริงว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต แล้วมันจะปล่อยวางกัน

จากโสดาปัตติมรรค มันต้องเป็นโสดาปัตติผล จะเป็นโสดาปัตติผลเพราะเราใช้ปัญญาใคร่ครวญในกาย ในจิต สิ่งที่เป็นกาย กายนี้ตั้งสภาพไว้ มันแปลกประหลาด มันจะมหัศจรรย์มาก สิ่งที่มหัศจรรย์เพราะมันเป็นไปตามกระแส ตามความเป็นจริงของเขา เขาจะตั้งให้เราเห็น ถ้าเราเห็นกาย กายจะแปรสภาพไป แปรสภาพไป พรึ่บ! จะเร็วสุดๆเลย เพราะสติเราทัน

มิติเห็นไหม สิ่งที่เป็นมิติ กาลเวลามันต้องใช้เวลามาก มันถึงจะเสียหาย อย่างเช่นวัตถุ อย่างเช่นพืชผักต่างๆ เราเก็บไว้ มันจะเสีย มันจะเน่า มันต้องใช้เวลาของมันตลอดไป แต่อันนี้เราเห็นด้วยพลังงานของใจ ใจมันจะเร็วมาก เห็นกายมันแปรสภาพไป สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของเขา เราไม่มีอำนาจสิ่งใดๆ เลย มันเป็นความจริงอันหนึ่ง แต่เพราะจิตใต้สำนึกมันไปเกาะเกี่ยวต่างหากว่า “นี้เป็นเรา กายเป็นเรา ใจเป็นเรา สิ่งต่างๆเป็นเรา” พอเป็นเรามันก็ยึด ยึดมันก็ผิดกฎ

สิ่งที่เป็นกฎ ถ้ากฎจราจรนี้เป็นสากล เราจะไปที่ไหนก็แล้วแต่ กฎจราจรต้องเป็นกฎจราจร จะไปเมืองไหนก็แล้วแต่ มันต้องเป็นกฎจราจรอย่างนั้น ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้าปัญญาใคร่ครวญโดยความเป็นจริงแล้ว เห็นตามเป็นจริง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันปล่อย พอมันปล่อย มันจะไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปติด ปล่อยตามความเป็นจริง ผลเกิดขึ้นมา จิตรับรู้สิ่งนี้ไง

พิจารณาขันธ์ก็เหมือนกัน ขันธ์ก็เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าจิตมันทันนะ มันปล่อยได้ ความรู้สึกอารมณ์นี้ปล่อยได้ แล้วมันแยกได้ด้วยนะ เหมือนรถไปถึงไฟแดง เราจะเบรกได้ รถนี้เบรก ถึงไฟแดงเราไปไม่ได้ เราจะหยุด นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนาไป เวลาจิตมันหมุนไป แต่เดิมเวลามันเกาะเกี่ยวไป ปัญญาเราไม่ทันนะ ฟุ้งซ่านไปขนาดไหน มันก็ฟุ้งซ่านไปตามแต่กิเลสมันจะพาไป แต่เวลาเรากำหนดเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นความสงบ นั้นคือถนนหนทางไง

สิ่งที่เป็นถนนหนทาง คือจิตมันสงบเข้ามา แต่เวลาเราพิจารณาเข้าไป มันจะปล่อยวางได้ สิ่งที่มันปล่อยวาง มันหยุดได้ หยุดได้เพราะอะไร เพราะว่าแต่เดิมอารมณ์เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาเวลาขันธ์มันรับรู้ นี่สัญญารับรู้ สังขารปรุงแต่ง สิ่งที่ปรุงแต่งมันหมุนออกไป พอปรุงแต่ง เวทนา พอใจ-ไม่พอใจ วิญญาณรับรู้ รูปของจิต รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พร้อมกันแล้ว รวมตัวกันมันก็เป็นความคิดไป

ความคิดนี้มันเกิดขึ้นมา เราแยกได้ สิ่งที่เป็นความคิดนี้เราแยกได้ สติ ถ้าเราวิปัสสนา สติทัน มันจะสอดเข้าไปตรงไหนก็ได้ จะจี้เข้าไปที่สังขาร สังขารก็หยุด ถ้าจี้เข้าไปที่สัญญา สัญญาก็เกิดไม่ได้ สิ่งต่างๆ เกิดไม่ได้แล้วความคิดมันมาจากไหน ความคิดจะไม่มีในใจเลย ความคิดมันไม่มี มันเป็นธรรมชาติของมัน จิตนี้เป็นจิต มันจะปล่อยเห็นไหม มันปล่อยวาง

สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเพราะเราไม่รู้ เราฝ่าฝืนกฎจราจร เราฝ่าฝืนความเป็นจริงทุกอย่าง สิ่งที่เป็นความจริง มันเป็นของมัน ธรรมชาติของมัน แต่เราฝ่าฝืนเพราะเราไม่เห็นตามความเป็นจริง แล้วเราก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง แล้วกิเลสมันก็พาให้ฝ่าฝืนตามกฎนั้นไป ถ้ามันไปตามกฎ ไฟแดงเราต้องหยุดก่อน ไฟแดงเราไปไม่ได้ ถึงไฟเขียวเราต้องไปของเรา ทางเปิดของเรา เราก็ไปของเรา ปัญญามันจะเห็นสภาวะแบบนั้น ปล่อยหมด ปล่อยหมด

สิ่งที่ว่าเป็นไฟแดงมันหยุดหมด ปัญญาเราพิจารณาไป มันจะปล่อยขันธ์ ขันธ์ปล่อยออกไป จิตมันก็หลุดออกไปเป็นอิสระ ปล่อยวางชั่วคราว ต้องหมั่นทำ หมั่นคราดหมั่นไถสิ่งนี้ตลอดไป

ถ้าเราไม่หมั่นคราดหมั่นไถ มันปล่อยวางเห็นไหม รถเราไปถึงเป้าหมายส่วนหนึ่ง ปัญญาเรายังไม่ชำนาญ มันก็เกิดขึ้นได้อีก สิ่งนี้เกิดเห็นไหม มันเกิดขึ้นมาเราก็พิจารณาซ้ำเข้าไป จนถึงที่สุด “ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์” แยกออกจากกัน โสดาปัตติผลเหมือนกัน ถ้าเกิดโสดาปัตติผล นี่มรรคส่วนหนึ่ง

แล้วเวลามรรคเกิดขึ้นมาแล้ว มันปล่อยวางหมดเลย ผลเข้ามา เป็นอกุปปธรรม จิตดวงนี้จะไม่ไปตามกระแสของกิเลสทั้งหมด จิตดวงนี้มีหลักเกณฑ์ มีหลักเกณฑ์เพราะเราประพฤติปฏิบัติมา สิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติมา เราทำของเราได้ เราไปไหนเราก็ไปได้เพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเข้าใจตามความเป็นจริงทั้งหมด สิ่งต่างๆ นี้จะเป็นความเป็นจริงทั้งหมด แล้วจะไม่สามารถมาหลอกจิตตัวนี้ได้ จิตตัวนี้จะรู้ตามความเป็นจริง ตามอำนาจของธรรม

ธรรมในหัวใจส่วนหนึ่งเข้าใจสิ่งนี้แล้ว สิ่งนี้จะหลอกใจดวงนั้นไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เหนือกว่าล่ะ สิ่งที่เหนือกว่าก็หลอกใจดวงนั้น การจราจรของใจในเรื่องทางบก แต่การจราจรทางน้ำล่ะ ทางน้ำเขาก็เป็นจราจรส่วนหนึ่ง นี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราจะเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติต่อไป เราต้องยกขึ้น สิ่งที่เรายกขึ้น ทำความสงบของใจให้สงบเข้ามา แล้วยกขึ้นมาดูกาย ดูจิตเหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นกายกับจิตที่ละเอียดเข้าไป

ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ถ้าเราไปเจอขันธ์อย่างกลาง เราจะไปทางน้ำได้ เราต้องมีเรือ เราจะหาเรือมาจากไหน ถ้าเราจะหาเรือมาได้ เราก็ต้องพยายามต่อเรือขึ้นมา พยายามสร้างสมของเรามา ธรรมะมีอยู่แล้ว คือแบบแปลนของการประกอบมีอยู่แล้ว เราหาวัสดุมาประกอบเป็นเรือขึ้นมาได้ไหม นี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเราสงบเข้ามา มันสงบเข้ามา แล้วเหตุที่จะวิปัสสนาอยู่ที่ไหน เหตุวิปัสสนาคือกายกับจิต การขุดคุ้ย การค้นคว้า การหาหลักเกณฑ์ในการยกขึ้นวิปัสสนา นี้เป็นงานอันประเสริฐมาก

เวลาจิตมันปล่อยวางต่างๆ เข้ามา มันก็ปล่อยวาง จิตมันสงบเข้ามาได้ ขั้นของสมถะมันเป็นความสงบเป็นพื้นฐาน ต้องมีพื้นฐาน มันก็เป็นน้ำไง ให้เรือไปในน้ำได้ ถ้าเรือมันจะไปในน้ำได้ มันต้องไป เวลาเขาขนส่งสินค้ากัน เขาทำธุรกิจขนส่งสินค้ากัน เขาไปได้ทั่วโลกเลย แล้วเขาได้ผลประโยชน์จากการทำธุรกิจนั้นมหาศาล นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไปถึงขันธ์อย่างกลาง

ขันธ์นี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราจับสิ่งนี้ได้ เราจะเกิดการจราจรทางน้ำ ใจมันจะค้นคว้าออกไปได้ ปัญญามันจะก้าวเดินออกไป ถ้าปัญญาของเราไม่ก้าวเดินออกไป กิเลสมันอยู่ในนั้น กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา มันก็ต้องเบี่ยงเบนความเห็นในการประพฤติปฏิบัติ เราก็วนอยู่ในอ่างเห็นไหม วนอยู่ในวังวนนั้น เรือของเราจะออกไปจากอ่าวไม่ได้เลย มันจะวนอยู่ในอ่าวนั้น เพราะมันออกทะเลไม่เป็น

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญญามันไม่ก้าวเดินออกไป มันจะออกทะเลไม่เป็น ก่อนจะออกทะเลต้องหาเรือ คือพยายามค้นคว้าขึ้นมา จับกายนี้จับจิตนี้ได้ พอจับกายจับจิตนี้ได้ เราจะเริ่มวิปัสสนาไป ความพลิกแพลงของกิเลส มันจะหลอกลวงไป หลอกลวงว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งที่เป็นผลมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากกิเลสหลอก สิ่งที่กิเลสหลอก เราเชื่อไป เราจะเนิ่นช้า อย่างต่ำคือเนิ่นช้า อย่างมากคือผิดหนทางไป ผิดหนทางไปเราก็ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ย้อนกลับมาเพราะเนิ่นช้าไป มันฟุ้งซ่าน มันไม่มีผลงานของใจ ใจไม่มีผลงาน ใจประพฤติปฏิบัติไป ล้มลุกคลุกคลานไปมันจะรู้เอง

เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันหลง มันจะเข้าใจเลย เพราะมันไม่เป็นผล ถ้าความถูกต้องของมัน มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางแล้วมีความสุขมากกว่าทำสัมมาสมาธิ ถ้าทำสัมมาสมาธิจิตมันสงบ กิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันสงบออกมา เวลาเสื่อมออกมา มันฟุ้งซ่าน มันติดไปหมด เหมือนปุถุชนนี่แหละ

ปุถุชน เวลาเราทำความสงบของใจ มันจะมีความสุขมาก นึกว่ากิเลสมันตายแล้ว แต่เวลามันออกมา กิเลสในหัวใจของเรา มันก็ไปเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ มันเหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นเพราะกิเลสมันมีในหัวใจ เราต้องพยายามทวนกระแสกลับเข้ามา ทวนกระแสมาจนจับสิ่งนี้ได้ แล้ววิปัสสนาเข้าไป แล้วไม่ให้มันหลอก มันหลอกขนาดไหน มันเกิดอาการแบบนั้น เกิดอาการแบบที่ว่ามันรู้สึก มันกระทบกระเทือนสิ่งต่างๆ มันจะไม่พอใจมัน

สิ่งที่ไม่พอใจมันเพราะมันขัดกับใจไง มันเศร้าหมอง มันขัดกับใจของตัวเอง เราต้องย้อนกลับเลยว่า นี่เราเดินมาผิดทางแล้ว สิ่งที่ผิดทาง เราย้อนกลับ เราไม่เสียเวลา แล้วพยายามใคร่ครวญไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต เวลาถึงที่สุดแล้ว มันวิปัสสนาไปมันจะเริ่มปล่อย ปล่อย ถ้ามันปล่อย มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุข สิ่งที่เป็นความสุข สุขเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ มันจะมีความสุขมาก แล้วก็ทำให้เราเพลิน ทำให้เราเพลินเราก็ผิดพลาดไป ผิดพลาดเพราะเราเพลิน กิเลสมันอาศัยสิ่งนั้นให้เราเพลินไป เราต้องพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการใคร่ครวญ การใช้ปัญญาไป เราต้องเดินเรือของเรา เดินเรือของเราบ่อยครั้ง ส่งสินค้าของเรา ทำอะไรของเรา นั้นเป็นการจราจรทางน้ำ นี่สกิทาคามรรค สิ่งที่เป็นสกิทาคามรรคมันเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา เราส่งเสริมขึ้นมา จนถึงจุดหนึ่ง มันจะรวมตัวไง สิ่งที่รวมตัวมันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา สิ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือเราส่งสินค้านั้นถึงเป้าหมาย แล้วเราคืนทั้งหมด มันจะปล่อยวางทั้งหมด กายกับจิตจะแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย สิ่งที่เป็นธรรมชาติเวิ้งว้าง น้ำกับบกจะแยกออกจากกัน

กายกับใจจะแยกออกจากกัน จะเป็นความสุขอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นความสุขอย่างยิ่งจิตนี้จะปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งนั้นไปโดยอกุปปะ กามราคะปฏิฆะอ่อนลง เวิ้งว้างอยู่อย่างนั้น มีความสุขมาก จนสามารถทำให้ติดสิ่งนี้ได้ ใจเวลาติด ติดความสุขของเราเอง คิดว่าความสุขอันนี้มันเป็นนิพพาน เป็นเป้าหมายไง แต่มันไม่ใช่หรอก

มรรค ๔ ผล ๔ เวลาเราเทียบเคียงเข้ามา มรรค ๔ ผล ๔ คือการประพฤติปฏิบัติของเรา สิ่งที่เป็นมรรคข้างหน้ายังมีอีก แต่กิเลสมันฉลาด มันหลบมันซ่อนตัวอยู่ มันจะทำให้เราติดไง พญามารปกคลุมเราไว้ ไม่ให้เราก้าวเดินต่อไปว่า สิ่งนี้คือเป้าหมายของเราแล้ว สิ่งนี้คือผลงานของเราแล้ว เราก็จะนอนใจ คิดว่าเป็นเป้าหมาย แล้วมันก็เวิ้งว้างอย่างนั้นจริงๆ

สภาวะของทางบกกับทางน้ำแยกออกจากกัน มันจะเป็นความเวิ้งว้าง แล้วเรารักษาอยู่อย่างนั้น จะรักษาอยู่อย่างนั้น ถ้าครูบาอาจารย์เห็น ครูบาอาจารย์จะชี้ออกเลย ว่าสิ่งที่ว่ามันไม่มีสิ่งใด มันมีอะไรอยู่ โลกเดี๋ยวนี้มันเจริญมากนะ เขามีการจราจรทางอากาศ ทางอากาศเขาก็ไปของเขาได้ การจราจรทางอาการมันจะไปได้เร็วมาก มันจะไปส่งสินค้าได้เร็วกว่าทางเรืออีก แต่มันอยู่ที่ไหนล่ะ นี่เหมือนกัน ถ้าใจมันย้อนกลับเข้ามา เริ่มสงสัย พอเริ่มสงสัย ทำความสงบของใจเข้าไป

อนาคามรรค ถ้าไปเกิดอนาคามรรค จะสามารถเข้าไปจับได้ ถ้าจับสิ่งนี้ได้ สิ่งที่ว่าเป็นความสกปรกโสมมของใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นราคะ สิ่งที่เป็นราคะตัณหา มันจะซ่อนอยู่ตรงนี้ สิ่งที่ซ่อนอยู่ตรงนี้จะทำให้เราไปไม่ได้เลย ดูสิเวลาน้ำกับบกมันแยกออกจากกัน มันว่างหมดเลย กิเลสมันถึงเป็นความลึกลับมา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าลึก ลึกขนาดนี้ ไม่ใช่สิ่งตื้นๆ ที่เราจะสื่อกันด้วยสุตมยปัญญาหรอก เราศึกษามาเป็นปริยัติเท่านั้น แล้วเกิดการปฏิบัติ มันก้าวเดินเข้าไปในความลึกของใจ

ในความลึกของใจ ใจนี้จะลึกลับมาก สิ่งที่ลึกลับขนาดไหน แต่มันไม่พ้นจากแสงสว่างของปัญญา มีปัญญาญาณเข้าไปมันจะสว่างหมด มันจะรู้แจ้งแทงตลอดเข้าไป จนปัญญาก้าวเดินผ่านพ้นเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันปล่อยวางมา จนเข้ามาถึงจับกามราคะได้ ถ้าจับกามราคะได้ มันจะเป็นผลงานให้เราดีอกดีใจมาก สิ่งที่ดีอกดีใจมากเพราะอะไร เพราะเราสามารถสร้างเครื่องบินของเราเองได้ นั้นคือมรรคจิตมันเกิดไง

อนาคามรรค มรรคจิตเกิดแล้ว มรรคจิตเกิดขึ้นมา เราสามารถจะยกขึ้นวิปัสสนา เครื่องบิน บินไปในอากาศ กฎจราจรทางอากาศมันจะต้องระวังตัวขนาดไหน ถ้าเราเห็นในกามราคะก็เหมือนกัน ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดเร็วมาก สิ่งที่เกิดเร็วมาก แล้วมันเกิดการพลาดพลั้ง ถ้าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป มันจะเกิดอุบัติเหตุ ถ้าเครื่องบินตก ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมดเลย นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนา เราวิปัสสนาของเราไม่สมความเป็นจริง มันจะหลอกสภาวะแบบนั้น นั่นล่ะมันผิดกฎจราจร

เครื่องบินสามารถชนกันได้ ถ้าชนกันเราก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย นี่ความเห็นของใจเป็นอย่างนั้น เรื่องของกิเลสนะ เรื่องของกามราคะนี้ เป็นเรื่องของความลึกลับของใจมาก เวลามันต่อต้าน มันต้องต่อต้านเราด้วยกลวิธีการของมัน แล้วมันอยู่บนอากาศ สิ่งที่อยู่บนอากาศ เราขึ้นมาอย่างไร เครื่องบินขึ้นไปบนอากาศ แล้วจะควบคุมแบบไหน

เวลามรรคมันละเอียดเข้าไป มันละเอียดอย่างนั้น ละเอียดมาก ละเอียดสำหรับผู้ที่พยายามจะบึกบึนไปไง ผู้ที่จะก้าวเดินไป มันจะเป็นความที่ละเอียด เราต้องพยายามสะสม ต้องใช้สติ เป็นมหาสติ มหาปัญญา จากสติปัญญาเริ่มต้นขึ้นมา มรรคหยาบๆ เป็นสติปัญญาเท่านั้น มรรคที่ละเอียดขึ้นไป จะเป็นมหาสติ มหาปัญญา

สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญา เพราะเราสะสมของเรา เราก็สร้างสมของเราขึ้นมา เราเกิดมรรคจิต จิตนี้เป็นมรรค เวลาเกิดเป็นมรรคเห็นไหม ความเพียรชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงชีวิตด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณการชำระกิเลส ให้ชีวิตนี้ผุดผ่องไง ให้ชีวิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจของกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ เวลาพิจารณาจิต มันจะไม่เป็นกามราคะ มันเป็นความกามฉันทะ ความพอใจเห็นไหม ถ้าจิตนี้พอใจ จิตนี้มักหมมอยู่ในหัวใจ นั้นเป็นกามราคะ

ถ้าเราพิจารณากาย มันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะคือความสกปรกโสมมของมัน สิ่งนี้เป็นความสกปรกโสมมโดยธรรมชาติของมัน แต่โดนสมมุติปิดไว้ไง หนังปิดร่างกายของเราไว้ เราก็ว่าร่างกายเรานี้สวยงาม แต่ถ้าเราเพิกหนังนี้ออก หนังนี้เห็นไหม จะเป็นเรื่องของเนื้อนะ จะมีเลือดแดงๆ ออกมา มันจะไม่มีความสวยความงามเลย นั้นเป็นเรื่องเราตั้งปัญญาขึ้นมาเปรียบเทียบ

แต่ขณะที่เห็นเป็นอสุภะจากภายใน มันจะเห็นเป็นสภาวะอสุภะจากภายใน เห็นเป็นความเน่าหนองของมัน นั่นล่ะเห็นสภาวะแบบนั้น เห็นเป็นความเน่า เป็นความอย่างนั้น แล้วมันก็จะปล่อย

มันปล่อยจนถึงว่าเวิ้งว้างได้ สิ่งที่มันเวิ้งว้าง เหมือนเครื่องบินบินไป แล้วลงสนาม มันก็ผ่านมา ผ่านจากต้นทางไปปลายทาง นี้ก็เหมือนกัน มันปล่อย ปล่อยอย่างนั้น แต่มันไม่ถึงที่สุด สิ่งที่ถึงที่สุดมันต้องทำลายกันทั้งหมด ทำลายอสุภะออกไปจากใจ สิ่งที่เป็นอสุภะมันปล่อยวาง เราถึงต้องพิจารณาซ้ำอีก ซ้ำอีก ซ้ำขึ้นมาจนถึงที่สุด

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นจิตคือเป็นความพอใจของมัน ถ้ามันพอใจสิ่งนี้ มันก็อ้อยอิ่งกับสิ่งนี้ อ้อยอิ่งกับขันธ์อันละเอียดในหัวใจ ขันธ์อันละเอียดในหัวใจ เราก็พิจารณาของเราไป เราใคร่ครวญของเราไป นั้นคือปัญญาก้าวเดินออกไป พอก้าวเดินออกไป มันเห็นสภาวะแบบนั้น มันเทียบเคียงขึ้นมาไง ปัญญามันต้องใช้มาก ปัญญามันใช้เพราะสิ่งนี้มันติดมาก ใจของเราติดเรื่องของกามราคะนี้ส่วนใหญ่

กามราคะนี้ทำให้สัตว์ตายเกิด ตายเกิดโดยธรรมชาติของมัน แล้วในการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อสู้ การทำลาย เรื่องของกามนี้เป็นเรื่องที่ว่าต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาก จะรุนแรงขนาดไหน แต่ความละเอียดอ่อนของใจ ละเอียดอ่อนในความรุนแรงของมัน มันรุนแรงเพราะมันเป็นคลื่นอยู่ในหัวใจ มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน จะทำให้เราไม่เป็นไป เพราะแก่นของกิเลส กิเลสนี้เหนียวแน่นมาก เพราะกิเลสนี้อยู่กับใจ กิเลสนี้เป็นความสกปรกของใจ แล้วทำให้ใจนี้ผิดพลาด

ปัญญาพลิกแพลงออกไปด้วยเราเดินมรรคอยู่นะ มรรคจิตเกิดขึ้นมาแล้วเราเดินมรรคอยู่ แต่ขณะที่เดินมรรค เพราะกิเลสมันก็อยู่ในหัวใจของเรา สิ่งนี้มันเป็นไป มันถึงไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันถึงไม่สัมปยุตรวมตัวกัน ถ้ามันมัชฌิมาปฏิปทา สัมปยุตรวมตัวขึ้นมา มันจะทำลายสิ่งนี้ออก มันจะขาดออกไป อสุภะมันต้องขาดออกไป กลืนตัวเข้ามาเป็นที่จิต จิตนั้นจะออก ปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา ทำลายขันธ์ก็เหมือนกัน ทำลายขันธ์จะปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา

การจราจรทางอากาศถูกต้อง ถึงเป้าหมายโดยถูกต้อง เป็นผลของมันขึ้นมาถึงจิต สิ่งนี้เป็นจิต ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา แล้วเราก็ฝึกซ้อมเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เพราะว่าอนาคา ๕ ชั้น เราฝึกฝนใจเข้ามา พิจารณาขันธ์ พิจารณาอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะพิจารณาซ้ำได้อีก ซ้ำเข้าไป มันจะปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา ปล่อยเข้ามาถึงที่สุด “เศษส่วน” เราทำลายสิ่งนั้นเข้าไปแล้ว แต่เรายังไม่สมบูรณ์ขึ้นมา จนมันสมบูรณ์ขึ้นมา สมบูรณ์ขึ้นไปจนจิตมันปล่อยวางเวิ้งว้างหมด จนว่าเป็นผู้ไม่มีเรือนไง

จิตนี้ไม่มีเรือน ไม่มีสิ่งต่างๆ จะเข้าไปจับใจนี้ได้เลย ใจนี้ปล่อยวางเข้าไปทั้งหมด เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะขนาดที่ว่าเราฝึกซ้อมในหัวใจอยู่ เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอรหัตตมรรค มันไม่ใช่หรอก... เพราะว่าสิ่งที่เป็นอรหัตตมรรค มันจะอยู่ข้างบนอีก เพราะใจมันปล่อยวางเข้ามาทั้งหมดแล้ว มันว่ามันว่างไง นี่อัตตานุทิฏฐิ ทิฏฐิสิ่งนี้โลกว่าง สิ่งต่างๆ ว่างหมด แต่ตัวมันเองไปบอกว่าเขาว่างไง ถ้าถึงที่สุดแล้วนะ ความว่าง ความสิ่งต่างๆ เรื่องของสมมุติ เรื่องของการกระเพื่อมของใจจะไม่มีกับใจดวงนั้น

ถ้าใจดวงนั้นยังหมายสิ่งใดได้ นั้นคือตัวอวิชชา สิ่งที่อยู่ในอวิชชา อยู่ในหัวใจของเรา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าจะค้นคว้าหาได้อย่างไร ถ้าธรรมของเราไม่ถึง เราจะค้นหาสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วกิเลสมันจะบอกให้เรานอนใจอยู่กับสิ่งนี้ ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วมันก็ทำให้เรามีความสุขนะ สุขเพราะอะไร เพราะเป็นอกุปปธรรมขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน จะไม่มีความเสื่อมสภาพอีก ใจดวงนั้นจะมีความสุขมาก สุขขนาดไหน สุขเพราะมันเปรียบเทียบมาจากโลกเขา

โลกเห็นไหม ความเศร้าหมอง เศร้ามาตลอด ชีวิตนี้เราต้องต่อสู้มาตลอดเลย แล้วเราต่อสู้กับชีวิตมา ต่อสู้กับชีวิตเป็นงานของโลก แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราเลี้ยงชีวิตชอบ เราสร้างมรรคจิตขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ถึงที่สุดแล้วอวิชชามันก็หลอกให้เราจมอยู่ตรงนั้น จนกว่าขณะที่ว่าเราสังเกตของเราเองก็ได้ สิ่งนี้มันจะเศร้าหมอง มันจะผ่องใส สิ่งที่เศร้าหมองผ่องใส มันสว่างหมดนะ ว่างไปหมดเลย สิ่งที่ว่างถ้ามันเป็นความว่าง ใครรู้สึกล่ะ ความรู้สึกว่าว่าง ความรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เข้ามา ใครเป็นผู้รู้สึกอันนั้น

ถ้ามันรู้สึกอย่างนั้น มันจะเริ่มสงสัย “เอ้...ทำไมบอกว่านิพพานมันมีความสุขมาก แต่ทำไมมันเศร้าล่ะ ทำไมมันมีความอาลัยอาวรณ์ล่ะ”

สิ่งที่อาลัยอาวรณ์ มันเป็นทุกข์อันละเอียดไง ทุกข์นี้ละเอียดมาก เหมือนกับไม่ใช่ความทุกข์เลยนะ เพราะว่าความทุกข์มันสะเทือนใจมันถึงจะเป็นความทุกข์ แต่อันนี้มันเป็นความอาลัยอาวรณ์ มันอ้อยอิ่งอยู่ในใจเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราสังเกตเราจับสิ่งนี้ได้ เราย้อนกลับมาจับสิ่งนี้ได้ นั่นล่ะผลงานอันมหาศาล

สิ่งที่ว่า “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” เราคิดว่ามันเป็นโทษ สิ่งที่เป็นความผิดพลาด มันจะต้องให้เราเห็นด้วยการที่ว่าเราเขาไปเผชิญได้ เราจะจับต้องสิ่งนี้ได้เพราะเราศึกษาธรรมะมา

“อวิชชา ปัจจยา สังขารา” มันเป็นเจ้าพญามาร พญามารปกครองวัฏฏะอยู่ ปกครองใจดวงนั้น ใจดวงนั้นนั้นหมุนเกิดตาย เกิดตาย อยู่ในวัฏฏะนั้น นี่ปกครองวัฏฏะอยู่ มันต้องเห็นซึ่งๆ หน้า แต่เวลาถึงที่สุดแล้วมันจะไม่เห็นสิ่งนั้นเลย เพราะสิ่งนั้นคือเราไง อวิชชาคือเรา อะไรก็คือเรา “มานะ ๙” อยู่ตรงนั้นเลย เป็นเราทั้งหมด แต่พอจับได้ขึ้นมา นี้คือผลงานของสิ่งที่เป็นตัวของจิต

ข้อมูลข่าวสาร การจราจรของข้อมูลข่าวสาร ถ้าเราไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ เราจะไม่รู้ถึงว่าข้อมูลข่าวสารเขาว่าสิ่งใดเลย เราก็ว่าข้อมูลข่าวสาร เพราะเราศึกษาธรรมขึ้นมา “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” ข้อมูลข่าวสารอยู่ที่นั่น ทุกอย่างสะสมอยู่ตรงนี้ เวลาจิตมันเกิดถึงเห็นไง เห็นว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

วิญญาณในขันธ์ ๕ เวทนา รับรู้กันต่างๆ วิญญาณอย่างนั้น กระทบขึ้นมาตารับรู้รูปเกิดขึ้น เป็นวิญญาณรับรู้ นี่วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณต่างๆ นี้ เราเกิดขึ้นมาแล้ว แต่“อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง” วิญญาณอันละเอียด วิญญาณปฏิสนธิ ถ้าจับตรงนี้ไม่ได้จะเกิดเป็นพรหม สิ่งนี้ต้องเกิดเป็นพรหม เกิดในธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าเราไปจับสิ่งนั้น

เราต้องค้นคว้านะ การจราจรต่างๆ เราต้องไปตามกฎจราจรนั้น ปัญญาก้าวเดินไปตามกฎจราจรนั้น เราถึงเป้าหมายได้ แต่นี้ข้อมูลข่าวสาร เราติดต่อ เราดึงเขามา แต่เราต้องมีเครื่อง เราต้องมีโปรแกรมของเราขึ้นมา เราต้องมีคอมพิวเตอร์ของเรา มันถึงจะสื่อข้อมูลข่าวสารได้ ถ้าเราจับตรงนี้ได้ นี่ตอของจิต อยู่กับที่นั้น ข้อมูลข่าวสารไหลเข้ามาตลอด สิ่งที่ไหลเข้ามาทับถมกับใจอยู่ตรงนั้น ใจดวงนั้นทับถมตลอดไป แล้วก็เศร้าหมองอยู่ที่ตรงนั้น เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นเป็นเรื่องของอวิชชา ปัจจยา สังขารา เพราะมันไม่รู้สิ่งต่างๆ เลย

แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป เป็นปัญญาญาณ ปัญญานี้ใคร่ครวญ พยายามใคร่ครวญ ปัญญาสิ่งนี้ มันจะใช้ปัญญาอย่างหยาบๆไม่ได้ ปัญญาของขันธ์เห็นไหม สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นขันธ์มันจะแสดงตัว มรรคจิตเวลาเกิดมันจะเห็นสภาวะแบบนั้น นี่มรรคเกิด เกิดเพราะเราสร้างสม เกิดเพราะเราก้าวเดินเข้ามา อรหัตตมรรคมันละเอียดอ่อนมาก มันไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นปัจจยาการ

ปัจจยาการ “อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง” นี้ก็เหมือนกัน เวลามันไหลกลับเข้าไป ปัญญาอรหัตตมรรคไหลเข้าไป ปัญญาญาณอันนั้นจะไหลกลับเข้าไป พลิกสิ่งนี้คว่ำหมดเลยนะ มรรค ๔ ผล ๔ นี่ อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่มรรค ๔ ผล ๔ แล้วผลของมันคือนิพพาน ๑ ต่างหาก อรหัตตผลนั้นเป็นอาการของมัน อาการของใจที่มันพลิกกลับเข้าไป พ้นออกจากนั้นไปเป็นนิพพาน ๑

มรรคะเกิดขึ้นมา “โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค ” ส่วนใหญ่เราเข้าใจกัน เวลามรรคมันเกิดขึ้นมาแล้ว มรรคมันต้องเป็นมรรคสิ มรรคนี้ใช้ขึ้นไป มันก็ต้องขึ้นไป แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ มันไม่เป็นแบบนั้น

การจราจรทางบก การจราจรทางน้ำ การจราจรทางอากาศ แล้วการจราจรในข้อมูลข่าวสาร นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติเห็นไหม “โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค” มรรคเหมือนกัน ความดำริชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ สิ่งที่เป็นความชอบ มรรค ๘ ต้องชอบทั้งหมด แต่มรรค ๘ มันอยู่ที่ความลึก-ความตื้นต่างกัน

โสดาปัตติมรรคอยู่ในผลของการตื้นๆ ตื้นๆ คือเราพิจารณากาย ตามธรรมชาติไป เวลามรรครวมตัว สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออกมา สิ่งนั้นคลายออกมา ผลของมันก็ออกไปแล้ว เราก็ต้องสร้างมรรคใหม่ขึ้นไป ก็เป็นสกิทาคามรรค

สิ่งที่เป็นสกิทาคามรรค เราสร้างขึ้นมาก็พิจารณากายกับจิต พิจารณาไปจนมันปล่อยๆ ปล่อยถึงที่สุด สัมปยุตเข้าไปรวมตัว นี่มัชฌิมาปฏิปทา

อนาคามรรคก็เหมือนกัน หมุนเข้าไปที่ละเอียดเข้าไป เป็นมรรค เป็นการจราจรทางอากาศ การจราจรทางอากาศมันยิ่งกว้างขวาง ยิ่งไปได้ไกลขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องทำลายทั้งหมดโดยสมุจเฉทปหานของมัน

มรรค ๔ ผล ๔ ตามความเห็นของโลก คิดว่ามรรคแล้ว ทำไมมันต้องมีมรรคขั้นที่ ๑ มรรคขั้นที่ ๒ มรรคขั้นที่ ๓ มรรคขั้นที่ ๔ เพราะมรรคแต่ละส่วนมันต่างกัน มันลึกลับต่างกัน ผลก็ต่างกัน การประพฤติปฏิบัติ การสร้างเหตุก็ต้องต่างกัน มันเป็นมรรคของจิต

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คิดว่าสิ่งนี้เป็นมรรค มรรคนี้มันเป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะ การเคลื่อนไหว การเหยียดคู้ของเรา เราต้องมีสติตลอด สิ่งที่มีสติตลอดมันปล่อยวางสิ่งนั้นมา นั้นมันเป็นมรรคที่ว่าเป็นเรื่องของโลกียะทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นโลกียะ เราไปเห็นสภาวะแบบนั้น เราถึงไม่เห็นโลกุตระ

มรรคที่เป็นโลกุตระมันจะเกิดขึ้นจากภายใน มรรคโลกุตระมันจะย้อนกลับเข้าไป มันถึงจะเกิดเป็นวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมาได้ ใจนี้ต้องก้าวเดินเข้าไป ปัญญาถึงกลายเป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่ว่าเป็นสุตมยปัญญา ปัญญาที่ว่าธรรมะนี้มีอยู่แล้ว เราเกิดมา เรามีอำนาจวาสนามาก เพราะเราเจอธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระไตรปิฎกวางไว้แล้ว เหมือนพิมพ์เขียว ถ้าเราทำผิด เราไปประพฤติปฏิบัติของเรา มรรคจิตของเราขึ้นมา ถ้ากิเลสมันพาคิด มันจะมีความผิด สิ่งที่มันเป็นความผิดมันก็จะไม่เกิดผลขึ้นมา มันจะทำให้เราผิดพลาดไป แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระไตรปิฎก เราเทียบเคียงได้ เทียบเคียงกับสาธารณะ มรรคที่เป็นสาธารณะคือมรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมนี้เป็นสาธารณะ ใครประพฤติปฏิบัติ ใครสร้างขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติส่วนตน ธรรมของผู้ที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสมบัติส่วนตน นั้นคือมรรคจิตที่เกิดขึ้นกับใจดวงนั้น ถ้ามรรคจิตเกิดขึ้นจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะชำระกิเลสออกไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นั้นเป็นมรรคจิตเห็นไหม

มรรคจิตเกิดขึ้นมาเป็นสมบัติส่วนตน เกิดขึ้นมาจากเรา เราถึงต้องทุกข์ไง เราถึงต้องการประพฤติปฏิบัติไง เราถึงต้องพยายามถากถาง ถากถางจากโลก จากโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะเป็นความคิดของโลกทั้งนั้น สิ่งที่เป็นความคิดของโลกเป็นสุตมยปัญญา นี่สุตมยปัญญามันเป็นปริยัติเอง มันยังไม่ได้ปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติ มันเริ่มถากถาง ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ปฏิเวธะเกิดขึ้นมา

ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ศาสนานี้ลึกซึ้งมาก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจนแทบจะสอนใครไม่ได้เลย แล้วจะสอนใคร ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เราจะสอนใครได้” จนถึงกับว่าถอนใจนะ จนว่าจะไม่สอนใคร ต้องให้พรหมมาอาราธนาหนึ่ง แล้วว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมขึ้นมาก็เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เป็นธรรมชาติจะต้องสอน แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นความละเอียดของมัน เห็นความลึกลับซับซ้อนของธรรม

ดูสิร่างกายของเราก็มี หัวใจของเราก็มี อยู่กับเรานี้ กว้างคืบหนาศอก อยู่ตรงนี้ แต่เวลามันลึก มันลึกขนาดไหน แม่น้ำมหาสมุทรขนาดไหน เขาคำนวณได้ เขาสามารถวัดความลึกของมันได้ แต่หัวใจของมนุษย์ เราคำนวณไม่ได้ คนลึก ลึกมาก ลึกจนเราคิดไม่ถึงว่าจะเป็นความลึกขนาดนั้น นี่ความคิดของโลกนะ

แต่เวลาคนลึกขนาดนั้นถ้าเขาประพฤติปฏิบัติ เขาก็ต้องให้ลึกกว่านั้นอีก เพราะกิเลสมันอยู่ในความลึกนั้น ถ้าเราไม่สามารถลงถึงความลึกนั้น สัมมาสมาธิของเราไม่เกิดขึ้นมา ความลึกของเราไม่มีถึงกับจะชำระกิเลสได้

ถ้าเรามีสัมมาสมาธิขึ้นมา ความลึกของเราจะลงไปชำระกิเลสได้ ความสว่างไสว สว่างหมด สิ่งที่ลึกขนาดไหน ดึงขึ้นมาให้ตื้นได้ ตื้นขึ้นมาด้วยมรรคจิตของเรา สิ่งที่มรรคจิตของเราเกิดขึ้นมา เราถึงต้องย้อนกลับขึ้นมา มรรค ๔ ผล ๔ เหมือนกัน แต่ความลึกความตื้นต่างกัน สิ่งที่ลึกตื้นต่างกัน ให้ผลต่างกัน

โสดาปัตติผล สกิทาคาผล อนาคาผล อรหัตตผล ให้ผลต่างกัน แล้วใจดวงนี้เวลาได้ผลขึ้นมาแล้ว เป็นโสดาปัตติผล อย่างมากอีก ๗ ชาติ ต้องเกิดอีก ๗ ชาติ หรือว่าประพฤติปฏิบัติไป สกิทาคาผลอีก ๓ ชาติ ถ้าเป็นพระอนาคาขึ้นมาจะไม่เกิดในกามภพอีกเด็ดขาดเลย จะต้องไปเกิดบนพรหม แต่ถ้าทำถึงอรหัตตผลล่ะ จะจบสิ้นเลย จะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แล้วจะไม่ต้องเกิดอีกเลย จะไม่มีส่วนใดเกิดอีก เพราะเป็นนิพพาน ๑

สิ่งที่เป็นนิพพาน ๑ พ้นออกไปจากการจราจรทั้งหมด การจราจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและทางข้อมูลข่าวสาร คือเรื่องของใจที่มันก้าวเดินไป ถึงที่สุดการจราจรต่างๆ ก็ต้องสำคัญอยู่ด้วยข้อมูล ด้วยข่าวสาร ข่าวสารคือสั่งการให้สิ่งนั้นไปตามความต้องการของใจดวงนั้น ใจดวงนั้น “อวิชชา ปัจจยา สังขารา” ปกครองใจดวงนั้นไว้ มันก็ยึดใจดวงนั้นไว้ อวิชชาลึกไว้ ข้อมูลข่าวสารมันเป็นความผิดหมดเลย มันจะให้ผล อวิชชามันเป็นความผิด แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดมันเป็นวิชชา เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นความจริงที่ถูกต้อง ธรรมเป็นธรรม ธรรมถึงที่สุดแล้ว “เอโก ธัมโม” จิตนี้ปล่อยจากข้อมูลทั้งหมด

เวลาจิตปล่อยข้อมูลทั้งหมด ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต “ภารา หะเว ปัญจักขันธา ” ขันธ์นั้นสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ใช่ขันธมาร ปุถุชนของเราเป็นขันธมาร ข้อมูลนั้นผิดเลย แล้วขันธมาร ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นสื่อ สื่อของข้อมูลนั้นก็เป็นมารทั้งหมด สิ่งที่เป็นมารถึงยึดกับความทุกข์ ยึดกับเรื่องของความโศกเศร้า ยึดเรื่องของโลก จะมีความโศกเศร้า มีความทุกข์ของใจตลอดไป

แต่ถ้าข้อมูลมันถูก ถูกต้องหมด แล้วขันธ์ก็สะอาดอีกต่างหาก เพราะว่า “ภารา หะเว ปัญจักขันธา” ขันธ์นี้ไม่ใช่ขันธมาร เป็นภาระเห็นไหม เวลาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เวลา ๔๕ ปีที่สั่งสอนโลกนี้ ก็ใช้ขันธ์นี้ ใช้สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่แต่งด้วยความบริสุทธิ์ แต่งด้วยข้อมูลที่สะอาด เป็นธรรมทั้งหมด แล้วสั่งสอนโลกมา สื่อกับโลกไปด้วยความถูกต้อง ตามความเป็นธรรม แล้วจะไม่มีทุกข์กับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเอโก ธัมโม หนึ่งไม่มีสอง

ใจของเราดีและชั่ว สุขหรือทุกข์ อยู่สองตลอดไป ถ้าไม่ใช่นิพพาน ๑ “ อรหัตตมรรค อรหัตตผล ” ก็เป็นหนึ่งและเป็นสองเหมือนกัน เป็นเหตุและผล แต่เหตุและผลนั้นพ้นออกไปจนเป็น เอโก ธัมโม เป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวนั้น เป็นสภาวธรรมที่ลึกลับในหัวใจ ที่สัตว์โลกจะเข้าถึงแทบไม่ได้เลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรม เทวดาตั้งแต่พรหมลงมา จะต้องมาฟังธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเหตุใด เพราะสิ่งนี้มันไม่มีไง สิ่งนี้ในโลกไม่มี สภาวธรรมที่เอโก ธัมโม สิ่งหนึ่งนี้มันไม่เคยมีสภาวะของใจดวงใดเข้าถึงเลย ถ้าสภาวะของใจดวงใดเข้าไม่ถึงตรงนั้น จะต้องมีเกิดความลังเลสงสัย เกิดความคาด ความหมาย สิ่งที่คาดที่หมาย มานะ ๙ เกิดมานะ ๙ ขึ้นมา เราสูงกว่าเขา สำคัญตนว่าสูงกว่าเขา ความสำคัญอันนั้นเกิดขึ้นมาเกิดมานะ ๙ เกิดมานะ ๙ นั้นคืออวิชชาข้อมูลผิด สื่อความผิดออกไป

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เทวดา อินทร์ พรหม ฟังธรรมแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์มหาศาลเลย มหาศาลเพราะธรรมดวงนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเจอธรรม ธรรมนี้มีอยู่แล้ว เราเกิดมาพบพุทธศาสนา สิ่งนี้มีอยู่แล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ แล้วเราสร้างสมของเราขึ้นมา จะต้องไม่ไปลังเลสงสัย สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องถึงที่สุดได้ แล้วเราก้าวเดินออกไปด้วยความถูกต้องของเรา

ในเมื่อมีกิเลสอยู่ กิเลสมันจะทำให้เราผิดพลาด ถ้ามีครูมีอาจารย์ เรารายงานผลได้ ผลที่เกิดขึ้นมา “ธรรมสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง” เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นมงคล ๓๘ ประการ ที่ว่าเราเกิดมาพบพุทธศาสนาด้วย ธรรมในมงคล ๓๘ ประการก็เป็นการศึกษา เป็นธรรมสากัจฉาด้วย แล้วเรามีคนที่ว่าสามารถดึงเราได้ด้วย เพราะเราเกิดมาพบครูบาอาจารย์

ในธรรมบอกว่า “กึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกครั้งหนึ่ง” เราเกิดในกึ่งพุทธกาล ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เราประพฤติปฏิบัติด้วยความถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติของเราด้วยสัปปายะไง สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่ถูกต้อง ให้เป็นความถูกต้อง เราไม่ประพฤติปฏิบัติตามโลก ในการเจริญของศาสนา ในการประพฤติปฏิบัตินี้มีการเจริญ ก็ประพฤติปฏิบัติเป็นพิธีการ ประพฤติปฏิบัติกันโดนที่ว่าเราได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว ให้กิเลสมันบิดเบือนไปไง

เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราได้ทำ ทำโดยกิเลสสั่ง ทำไปแล้วว่าสิ่งที่สุดแล้ว ได้ขนาดนี้แล้วแต่อำนาจวาสนา นี่ทำโดยกิเลสบัญชาการ เราไม่ทำแบบนั้น เราถึงต้องพยายามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าสมควรแก่ธรรม ผลจะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา แล้วเราจะทำการจราจรของเราเป็นชั้นเป็นตอน มรรคจิตจะเกิดจากใจดวงนั้น ถ้ามรรคจิตเกิดจากใจดวงนั้น ผลงานของใจนั้นจะเกิดขึ้น จะเป็นมรรค ๔ ผล ๔ จะไม่เป็นมรรคของเราโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเวลาสื่อกับโลก โลกถึงเป็นแบบนั้น

โลกสื่ออย่างเดียว โลกสื่อชั้นเดียว ความคิดอย่างนั้น ความคิดเวลาพูด พูดได้ชั้นเดียว แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ฟังออกตลอด ถ้าพูดขั้นหนึ่ง มันจะปล่อยขั้นหนึ่ง แล้วขั้น ๒ ต่อไปมีไหม ขั้น ๓ ต่อไปมีไหม ขั้น ๔ ต่อไปมีไหม ถ้ามีขั้น ๔ ต่อไป นั้นคือสมบูรณ์ แต่ในสมบูรณ์นั้นมันก็มีเคล็ดของมัน เวลาพิจารณาออกมาแล้ว พระอนาคา ๕ ชั้น เคล็ดของมันก็ยังมีอีกนะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติฝึกซ้อมออกไป เราก็เข้าใจว่าเป็น มรรค ๔ ผล ๔ แล้วจะติดตรงนั้น ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์จะติดตรงนั้น

ในอภิธรรมบอกไว้ว่า “กึ่งพุทธกาลแล้ว พระอรหันต์ไม่มี” ใน ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วจะมีพระอนาคา พอน้อยไปก็จะไม่มีต่อไป มันจะไม่มี กาลเวลาไม่สามารถจะเข้ามาเป็นอุปสรรคได้ แต่มันจะไม่มีเพราะไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำต่างหากล่ะ

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ไม่มีครูบาอาจารย์บอก มันก็เป็นความเข้าใจของเรา ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นผล เราก็จะติดตรงนี้ตลอดไป แต่ถ้าครูบาอาจารย์มาชี้นำตรงผล มันจะไม่มีไปไหน

ถ้ากาลเวลามันเป็นการที่ว่าปิดกั้นสิ่งที่เรียกว่ามรรคผลได้ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อะไร? พระอรหันต์ต่อไปจะมาตรัสรู้อะไร? พระพุทธเจ้าองค์ต่อๆไปจะมาตรัสรู้สิ่งใด?

กาลเวลาไม่สามารถจะทำให้การประพฤติปฏิบัตินี้ผิดพลาดไปได้.. เว้นไว้แต่อำนาจวาสนาของเรา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีสิ่งที่จะชี้นำต่อไป เราติดสิ่งนั้น เราก็จะติดอยู่ตรงนั้น ถ้าเราไม่ติดอยู่ตรงนั้น มรรคจิตจะเกิดจากใจ แล้วจะละเอียดอ่อนขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอน จนถึงที่สุดเป็น “เอโก ธัมโม” นี้คือการประพฤติปฏิบัติ เอวัง