ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ดูจิตมีถูกมีผิด

๑๘ พ.ค. ๒๕๕๖

 

ดูจิตมีถูกมีผิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาเอาหนังสือมาถามไง เขาเอาหนังสือของเราเองมาถามเมื่อ ๒ วันนี้ เขาเอาหนังสือมาถาม หนังสือ “สมมุติว่าจิต” เขาเอามาถามว่าในหนังสือนี้มันขัดแย้งกันเอง มันขัดแย้งกันเอง หน้า ๒๒ คำตอบนะ

ถาม : ไม่เข้าใจเวลาหลวงพ่อตอบว่า ไม่เข้าใจเวลาจิตมันสงบ นี่เห็นด้วย ความสงบนี้มันอยู่ในวงของสมถะทั้งหมด อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ หลวงปู่บ้านตาด การดูจิตนี้ก็คือปัญญาอบรมสมาธิ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสมาธิเท่านั้น

ตอบ : “การดูจิตนี้คือปัญญาอบรมสมาธิ สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสมาธิเท่านั้น” นี่พูดถึงในหน้า ๒๒ “สมมุติว่าจิต” แล้วเขาก็บอกว่ามันค้านกันเอง มันค้านกันเองในหน้า ๑๑๐ หนังสือ “สมมุติว่าจิต”

ถาม : คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี้ไม่ใช่ดูจิต ดูจิตนี้มันเหมือนกับการเพ่ง ดูจิตนี้เป็นกสิณ เห็นไหม เราเพ่งกสิณ กสิณเขียว กสิณแดง กสิณคือเพ่ง การดูจิตเขาก็ดูกันอย่างนี้ แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เขาไม่ได้ดูอย่างนี้ แต่จะใคร่ครวญว่าอันนี้ประกอบไปด้วยอะไร อันนี้มันคืออะไร (นี่หน้า ๑๑๐)

ตอบ : ฉะนั้น เขาเอาหนังสือไปอ่านแล้วเขางงไง งงว่า

หน้า ๒๒ บอกว่า “การดูจิตนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิเท่านั้น” หน้า ๒๒ หนังสือ “สมมุติว่าจิต”

หน้า ๑๑๐ บอกว่า “คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี้ไม่ใช่ดูจิต ดูจิตนี้มันเหมือนกับการเพ่ง ดูจิตนี้เป็นกสิณ เห็นไหม การเพ่งกสิณ กสิณเขียว กสิณแดง กสิณคือเพ่ง ถ้าดูจิต เขาก็ดูกันอย่างนี้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เขาไม่ได้ดูอย่างนี้ เขาจะมีการใคร่ครวญ อันนี้มันมีอะไร”

นี่พูดถึงที่เขาว่ามันผิดนะ

ฉะนั้น เขาบอกที่ว่า เอาที่ว่ามันถูกก่อน มันถูกคือว่าหนังสือ “สมมุติว่าจิต” เรื่องแรกเป็น “สนทนาธรรมกับแม่ชีที่หัวหิน” ฉะนั้น เวลาสนทนาธรรมกับแม่ชีที่หัวหิน เขามาถามเรื่องการปฏิบัติ เขาสงสัยในเรื่องการปฏิบัติ เขาก็มาคุยปัญหาเรื่องการปฏิบัติ เขาก็ยกประเด็นต่างๆ ว่าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติตามแนวทางใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ย้อนเข้ามาถึงการดูจิต ถ้าการดูจิต เพราะตอนนั้นเขามาถามนั้นมันเป็น พ.ศ. ๒๕๔๕ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๕ ตอนนั้นเวลาไปหัวหินแล้วเขามาถามปัญหาที่หัวหิน เขาถามถึงปัญหาในการปฏิบัติต่างๆ

ทีนี้แนวทางต่างๆ มันก็การปฏิบัติ ปัญหาแนวทางใด แนวทางใด ก็พูดถึงแนวทางการดูจิต ถ้าแนวทางการดูจิต เขาถึงถามปัญหาการดูจิต เพราะตอนนั้นการดูจิต ถ้าพูดถึงการดูจิต เราก็พูดถึงหลวงปู่ดูลย์ เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นผู้แนะนำในการดูจิต ฉะนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต เพราะแนวความคิดของหลวงปู่ดูลย์ท่านทำของท่าน

ฉะนั้น ในการดูจิตมันมีถูกและมีผิด ถ้ามีถูกนะ ถ้าเราดูจิตของท่าน ท่านใช้คำว่า “ดูจิต” แต่เวลาเราตอบปัญหาเขา เราตอบปัญหาว่าเป็น หลวงตาท่านบอกปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็ปัญญาอบรมสมาธิ

อบรมสมาธิ สมาธิอยู่ที่ไหน? สมาธิอยู่ที่จิต ถ้าใช้ปัญญาอบรม ปัญญาอบรมจิต ปัญญาอบรมจิต เราพิจารณาไปเรื่อยๆ เราใช้ปัญญาแยกแยะไปด้วย แยกแยะความเห็นต่างๆ ในจิตนั้น พอแยกแยะความเห็นต่างๆ ในจิตนั้น พอจิตมันวางความคิดทั้งหมดมันก็เป็นสมาธิ ทีนี้ถ้าเป็นสมาธิ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าการดูจิต เพราะการดูจิตตอนนั้นเรายังไม่ได้ออกมาพูดเรื่องการดูจิตโดยภาพรวม ทีนี้เราพิจารณาการดูจิตโดยเฉพาะผู้นำ ผู้นำคือว่าหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์เราเห็นด้วย เราเห็นด้วย แล้วหลวงตาท่านก็รู้ของท่าน

ทีนี้เวลาหลวงตาท่านสอนถึงปัญญาอบรมสมาธิ แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน ท่านสอนถึงการดูจิต แต่การดูจิตของหลวงปู่ดูลย์ “ความคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดนั้นก็ต้องใช้ความคิด”

การว่าต้องใช้ความคิด หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้ใช้ความคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดใช่ไหม แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด นี่ความคิดไง ถ้าความคิดเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง แต่ท่านใช้ของท่านกระชับของท่านว่าเป็นการดูจิต

ฉะนั้น บอกว่า “ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ หน้า ๒๒ ทำไมบอกว่า การดูจิตนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ”

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะตอนนั้นเขาถามปัญหาเรื่องแนวทางปฏิบัติ ถ้าแนวทางปฏิบัติ มันเป็นที่คำถาม คำถามถ้าถามถึงปัญหาแนวทางการดูจิต ถ้าถามถึงแนวทางการดูจิต การดูจิต หลวงปู่ดูลย์ท่านดูจิต ท่านดูด้วยความถูกต้อง ฉะนั้น การดูจิตที่ถูก การดูจิตที่ถูกมันก็ใช้ปัญญา ใช้สติใช้ปัญญานี่แหละเข้าไปดูจิต เข้าไปพิจารณาแยกแยะจิต

ถ้าแยกแยะขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบแล้ว นี่ในโศลกของหลวงปู่ดูลย์ท่านบอก “จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ ดูจิตๆ จิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิตนั้นเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นจิตอันนั้นคือนิโรธ”

นี่ท่านพูดของท่านถูกต้อง ท่านพูดถูกต้องเพราะท่านทำของท่านถูกต้อง ท่านทำถูกต้อง ท่านพูดถูกต้อง การพูดถูกต้อง ถ้าการพูดแล้วมันมีเหตุมีผล มันมีเหตุมีปัจจัยของมัน ถ้ามีเหตุมีปัจจัยของมัน มันเป็นความถูกต้องนะ ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง สัจจะก็คือสัจจะ มันจะมีอะไรล่ะ สัจจะความจริงก็เป็นสัจจะ

ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าการดูจิตของหลวงปู่ดูลย์มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิแล้ว ถ้ามันเป็นวิปัสสนาขึ้นไป จิตเห็นจิต จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย จิตส่งออกๆ ต้องหยุดหมด การคิดนี่จิตส่งออกทั้งหมด ความคิดทั้งหมดเป็นจิตส่งออก เป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ ผลของมันคือทุกข์ ดูจิตๆ จนจิตเห็นอาการของจิต นี้เป็นมรรค นี่มันมีสมาธิ มีสมถะ แล้วมันก็มีวิปัสสนา ถ้ามันสมถะ วิปัสสนา นี่พูดถึงมันมีสมถะ มีวิปัสสนา คือมีสมาธิ แล้วมีการฝึกหัดใช้ปัญญา มันเป็นปัญญาอีกคนละขั้นไง

ถ้าดูจิตๆ ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นโลกียปัญญา นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ถ้ามันเป็นมรรคนะ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เป็นอีกเรื่องหนึ่งคือจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตไง ถ้าจิตเห็นจิต จิตเห็นจิตอย่างไร ถ้าจิตเห็นจิต มันก็บอก ในนี้พูดถึง อธิบายถึงส้ม ในหนังสือเล่มนี้อธิบายถึงผลส้มมันจะกระทบกันอย่างไร อันนี้ถ้าถูกมันถูกอย่างนี้ ถูกเพราะว่าปัญญาอบรมสมาธิ ดูจิตนี้คือปัญญาอบรมสมาธิ สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิเท่านั้น ดูจิต เห็นไหม แต่ถ้าจิตเห็นจิตแล้ว อาการของจิตมันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ทำไมมันถูก ทำไมถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่พูดถึงว่าหน้า ๒๒ เนาะ

ฉะนั้น หนังสือเราเองนะ เราเป็นคนตอบปัญหาเอง เราเป็นคนตอบปัญหาไปเอง แล้วปัญหานี้ ปัญหาที่เราตอบมันก็กลับมาให้เราตอบอีกทีหนึ่ง เขาเรียกว่าขว้างงูไม่พ้นคอ ก็ปัญหาเราเป็นคนตอบไปเอง แล้วเขาก็ไปพิมพ์เป็นหนังสือ แล้วเขาก็เอาหนังสือมาถามเองว่านี่หนังสือมันขัดแย้งกัน มันขัดแย้งกัน

เวลาถาม-ตอบปัญหาธรรมนะ มันมีคนถามร้อยแปดพันเก้า แล้ววุฒิภาวะของคนมันแตกต่างกัน ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาบอกพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น

เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับใครล่ะ ถ้าพระพุทธเจ้าพูดกับฆราวาสนะ พูดกับพวกคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าก็เทศน์เรื่องระดับของทาน แต่ถ้าพระพุทธเจ้าพูดกับพระ พระที่ปฏิบัติไม่เป็นก็อีกเรื่องหนึ่งนะ เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรนี้เป็นเสนาบดีธรรมนะ เป็นผู้ที่มีปัญญา ฉะนั้น เวลาถ้าพระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร เวลาพูดแก้ปัญหาของพระที่ปฏิบัติ พระที่ปฏิบัติมีปัญหามากน้อยขนาดไหน ถ้าเริ่มปฏิบัติไม่เป็นก็ปัญหาพื้นๆ แต่ถ้าใครปฏิบัติเป็น อย่างเช่นพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เวลาไปฟังพระอัสสชิ เพราะฟังพระอัสสชิแล้วเป็นพระโสดาบัน นี่เป็นพระโสดาบันแล้ว เวลามาบวช บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนต่อไป

นี่โปฐิละๆ เวลาไปศึกษากับสามเณรน้อย สามเณรน้อยเวลาเทศนาว่าการสอนขึ้นมา ตั้งแต่เอาร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก เปรียบเหมือนจอมปลวกแล้วปิดรูทั้ง ๕ รูไว้ เหลือไว้รูหนึ่ง แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้น พอจับเหี้ยตัวนั้นได้ก็เกิดวิปัสสนา วิปัสสนาไป พอจะถึงที่สุดนะ จิตละเอียดขึ้น จิตมีวุฒิภาวะมากขึ้น สามเณรน้อยพาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการถึงขั้นสุดท้าย เป็นพระอรหันต์เลย

นี่เวลาพูดถึงธรรมะพระพุทธเจ้าพูดกับใคร พูดกับคนที่ปฏิบัติ คนที่มีวุฒิภาวะมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าพูดโดยทั่วไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นเวลาที่เขาถามปัญหาในเรื่องที่ว่าการดูจิตนั้นเป็นแบบใด

ทีนี้การดูจิต โดยพื้นฐานหลวงปู่ดูลย์ท่านดูจิตมา ท่านสอนมา แล้วถูกต้องด้วย ฉะนั้น บอกว่า การดูจิตมันก็เหมือนกับปัญญาอบรมสมาธิ เวลาปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมาแล้ว พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว ฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างไรต่อเนื่องไป

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่ดูลย์อยู่นะ เวลาหลวงปู่ดูลย์อยู่ ในการดูจิตจะราบเรียบมาก จะไม่มีสิ่งใดเป็นเสี้ยนเป็นหนาม เพราะอะไร เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นเจ้าของทฤษฎี ท่านเป็นผู้ที่รื้อค้น ท่านเป็นคนที่วางแนวทางนี้ไว้ ฉะนั้น ใครปฏิบัติจะเอาแนวทางของท่านเพื่อไปสืบต่อ เจ้าของทฤษฎี เจ้าของแนวทางนั้นอยู่ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติสมัยหลวงปู่ดูลย์ยังอยู่นะ ใครไปหาท่านบอกว่า “ไม่ใช่ ไม่ใช่”

“อย่างนี้ถูกไหม”

“ไม่ถูกๆ ไม่ใช่ๆ” หลวงปู่ดูลย์น่ะ “อย่างนี้ไม่ใช่ๆ” ประจำ การดูจิตนะ ถ้าให้ถูกต้องมันต้องมีสติปัญญามาก แต่ถ้าเกิดพุทโธๆ ไปเลย มันอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่ดูลย์อยู่นะ เรื่องที่เป็นปัญหานี้ไม่เป็นหรอก เพราะว่าตัวท่านอยู่ ใครไปก็ไม่กล้าแซงหน้าแซงหลัง แต่พอท่านไม่อยู่แล้วสิ พอท่านไม่อยู่แล้วมันก็ออกไปแนวทางต่างๆ เยอะแยะไปหมด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี้ไม่ใช่การดูจิต การดูจิตคือการเพ่ง การเพ่งกสิณ การเพ่งต่างๆ ของท่าน เพราะอะไร เพราะพวกที่คำสอนลูกศิษย์ๆ เขามา เขาจะมีอยู่คำหนึ่งเป็นหลักของเขาเลยคือ “ห้ามคิด ห้ามคิด” พอห้ามคิด มันไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว ห้ามคิดมันก็เป็นกสิณไง เป็นการเพ่งไง พอห้ามคิด พอห้ามคิดขึ้นมา ถ้าการห้ามคิดมันกดไว้เฉยๆ ถ้ามันตกภวังค์ไปมันก็ตกภวังค์ไป แล้วมันก็คาอยู่อย่างนั้นแหละ มันเข้าสมาธิไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นมิติของโลก ถ้าเป็นสมาธินะ มันเป็นสมาธิ

ดูสิ เวลาปาราชิก ๔ ถ้าใครตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แม้แต่ฌานสมาบัติเอามาอวดนี่ก็อุตริแล้ว อุตริเพราะอะไร อุตริเพราะธรรมมันเหนือมนุษย์ไง ธรรมเหนือมนุษย์นะ แต่ถ้าเราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราดูจิต เราเพ่งอยู่อย่างนี้มันก็เป็นมิติของมนุษย์ มันไม่เข้าสู่สัมมาสมาธิเลย

ฉะนั้น พอไม่เข้าสู่สัมมาสมาธิ เพราะถ้าคำว่า “ห้ามคิดๆ” มันเป็นการเพ่งเฉยๆ การกดไว้เฉยๆ พอการกดเฉยๆ พอกดเฉยๆ แล้วนะ พอการกดไว้นี่การเพ่งไว้ ดูไว้เฉยๆ พอดูไว้เฉยๆ ปั๊บ เสร็จแล้วพอดูเฉยๆ นะ มันเข้าไปเห็นนิพพาน พอแว็บเข้าไปเห็นนิพพานเป็นพระโสดาบัน นี่เพ่งๆๆ เพ่งจนไปเห็นนิพพาน พอเห็นนิพพานก็เป็นโสดาบัน เห็นนิพพานครั้งที่ ๒ เป็นสกิทาคามี เห็นนิพพาน เห็น เห็นคืออะไร...อุปาทานทั้งนั้น เราเพ่งเอง เราคิดเอง เราจินตนาการเอง เพราะมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย พอไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะบอกว่าห้ามคิดๆ ให้ดูเฉยๆ ห้ามคิดทั้งหมดเลย

หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่ แต่ แต่ก็ต้องใช้ความคิด”

ท่านใช้คำว่า “แต่” เลย ท่านไม่ใช้ความคิดเดิมเลย

“คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด” นี่มันเป็นโลกียะ มันเป็นเรื่องโลก “แต่” นี่มันลึกลงไปแล้ว “แต่” นี่มันเป็นคนละมิติเลย “แต่ก็ต้องใช้ความคิด” แต่ความคิดมันเกิดอย่างไรล่ะ ความคิดนั้นมันเกิดขึ้นมาจากรากฐานอะไรล่ะ

นี่มันไม่ได้เกิดขึ้นจากรากฐานปกตินี้ ถ้ามันเป็นสมาธิแล้วมันถึงเกิดปัญญาอันนั้น ถ้าเกิดปัญญาอันนั้น นี่เกิดปัญญาถึงเป็นวิปัสสนา มันคนละขั้นตอนกัน ถ้ามันคนละขั้นตอนกัน มันจะมีขั้นตอนของมันไป

ดูจิตเข้าไปจนสงบแล้ว ถ้ามันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต มันมีการกระทำของมันขึ้นไป มันก็เป็นขึ้นไป มันเหมือนเราที่ว่า อย่างเช่นเรามีมะม่วงหรือมีไข่ก็แล้วแต่ เราจะทอดไข่ เราต้องตอกไข่ไหม เวลาเราจะปอกมะม่วง เราต้องปอกมะม่วงไหม การปอกมะม่วงเป็นการเคลื่อนไหวไหม แล้วการเพ่งอยู่เฉยๆ โดยเพ่งอยู่ให้ไข่มันแตกเอง เป็นไปได้ไหม เพ่งอยู่โดยการปอกมะม่วงมันเป็นไปได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้ ดูจิตๆ ให้มะม่วงมันปอกเปลือกเอง ดูจิตๆ ให้ไข่มันแตกเอง แตกเองแล้วก็มีกระทะเข้ามา มีน้ำมันมาพร้อม มาทอดไข่เอง มันเป็นไปได้อย่างไรล่ะ มันเป็นไปไม่ได้ไง พอมันเป็นไปไม่ได้ เราถึงบอก คำว่าปัญญาอบรมสมาธิไม่ใช่การดูจิต

เพราะเวลาที่เขามาถามปัญหานี้เขาถามถึงครูบาอาจารย์ของเขา เพราะคำว่า “ครูบาอาจารย์ของเขา” เขาอ้างว่าครูบาอาจารย์ว่าห้ามคิดๆ แล้วเขาถามปัญหานี้ขึ้นมา เขาให้เรายืนยันไง “สมมุติว่าจิต” หรือ “ยืนยันว่าผิด” นี่เรายืนยัน เรายืนยันว่าผิดเลย ยืนยันว่าผิดเพราะอะไร เพราะความเห็นผิด สัมมาทิฏฐิ-มิจฉาทิฏฐิ ถ้าสัมมาทิฏฐิ ถ้าปัญญาถูกต้องดีงามขึ้นมาจากเริ่มต้น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ทำสมาธิก็สมาธิถูกต้อง ปัญญาก็ปัญญาถูกต้อง

มิจฉาทิฏฐิ พอมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ ปัญญาก็เป็นมิจฉาปัญญา เพราะมันบอกห้ามคิด ถ้าห้ามคิดก็เพ่งดูให้เปลือกมะม่วงมันหลุดออกไปเอง แล้วให้มะม่วงลอยมาเข้าปากเอง แล้วก็ได้ลิ้มรสมะม่วงด้วยความหอมหวานเอง มันไม่มีในโลกนี้ มันเป็นไปไม่ได้ โดยเอาแบบทางลัดๆ อย่างมะม่วง เราไม่อยากปอก เราผ่าซีกได้ไหม ผ่าซีกมันก็ต้องมีการผ่าซีก มันไม่มีการเพ่งให้ผ่าซีก มันไม่มีหรอก ถ้ามันพูดถึงดูจิตๆ แล้วให้มันเป็นไปเอง มันจะเป็นไปเอง มันไม่มี ความจริงมันไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เราถึงบอกว่าผิดไง

“ปัญญาอบรมสมาธินี้ไม่ใช่การดูจิต ดูจิตนี้มันเหมือนกับการเพ่ง” กับหน้า ๒๒ บอกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิมันก็เหมือนการดูจิต เพราะมันมีการแยกแยะ” ไปดูหน้า ๒๒

แล้วพอหน้า ๑๑๐ เพราะเริ่มต้นจากคำถามว่า “ถ้าการปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่”

นี่เรายืนยันไง ยืนยันว่าไม่ถูกต้อง ยืนยันว่าผิด พอยืนยันว่าผิด ยืนยันว่าผิดมันก็มีเหตุผลรองรับ ยืนยันว่าผิดเพราะว่า บอกว่าห้ามคิด ห้ามคิดเพราะเราเข้าใจผิดเอง เราเข้าใจผิดว่าดูจิตๆ ห้ามคิด

“คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด” ทีนี้คำว่า “หยุดคิด” เราก็ไปห้ามมันเลย ไปหยุดมันเลย แต่ถ้าใช้ปัญญาแยกแยะ ถ้าดูจิตมีสติปัญญาตามนะ มันหยุดของมันได้ ถ้ามันหยุดของมันได้ แต่เขาต้องใช้ปัญญาต่อไป ปัญญาต่อไป “แต่ก็ต้องใช้ความคิด” เพราะความคิดมันก็เป็นภาวนามยปัญญา มันก็เป็นมรรค ถ้ามรรคมันไม่มีปัญญา มันไม่ใช้ปัญญา มันจะเป็นมรรคไปได้อย่างไร

เวลาการปฏิบัติบางสำนักเขาบอกว่า “ไม่ต้องใช้สมาธิ ใช้ปัญญาไปเลย”

ใช้ปัญญาไปเลยมันก็มรรค ๗ มรรค ๗ หน่วยกิตมันมรรค ๘ ถ้าหน่วยกิตมันไม่ครบ มันมรรคสามัคคีไม่ได้ มันจะเป็นภาวนามยปัญญาไปไม่ได้ ฉะนั้น พอมาการดูจิต ดูจิตก็บอกว่าห้ามคิดๆ ไอ้นั่นก็บอกว่าห้ามใช้สมาธิ ไอ้นี่ก็บอกว่าห้ามคิด นี่แนวทางปฏิบัติมันหลากหลายแตกต่างกันไปมากเลย

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านจะเน้นลักษณะเด่น ลักษณะเด่น แต่ลักษณะเด่นอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างเช่นกำหนดมรณานุสติ เช่น ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้าใช้อานาปานสติ สิ่งนี้มันทำความสงบทั้งนั้นแหละ แต่เวลาถ้ามันสมบูรณ์ของมันขึ้นมาแล้ว มรรคมันจะรวมตัวของมัน มันจะสร้างฐานของมันขึ้นมา จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นมรรค ๘ มรรค ๘ มรรคสามัคคี มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา คนปฏิบัติมันจะรู้ มันถึงเป็นปัจจัตตัง มันถึงเป็นสันทิฏฐิโก ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันก็เป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมา มันจะรู้ตามความเป็นจริงอันนั้น

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าหนังสือเล่มนี้มันขัดกัน มันไม่ใช่ขัดกันเพราะคำว่าดูจิตหรือปัญญาอบรมสมาธิ มันขัดกันที่ต้นเหตุ ที่เหตุ เหตุหนึ่ง การดูจิตที่ว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะมันถูกต้องดีงามมาจากครูบาอาจารย์ จากหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกดูจิตๆ เราไม่เคยค้านเลยนะ เพราะเราเห็นเรื่องโศลกของหลวงปู่ดูลย์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราเห็นคำที่หลวงปู่ดูลย์ท่านพูด มันต่อเนื่องจากสมถะ แล้วเป็นวิปัสสนา แล้วมันเป็นวิมุตติ มันเป็นผลของมันได้ มันมีเหตุมีผลในตัวมันเอง มันมีเหตุมีผลรองรับกัน

จากที่ว่า ดูจิต จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ดูจิตๆ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตมันเป็นมรรค ผลจากการที่จิตเห็นจิต จิตเห็นจิต เพราะจิตมันสงบแล้วจิตมันเห็นจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม จิตเห็นจิต ผลของมัน ผลของการที่จิตเห็นจิตแล้ว มันเป็นนิโรธ ผลของมันเป็นนิโรธ มันมีเหตุมีผลไง มันมีเหตุที่มา เหตุที่มาเป็นสมถะ เป็นสมาธิขึ้นมา แล้วมันเกิดใช้ปัญญาขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาขึ้นมา มันมีผลของมัน

แต่เริ่มต้นเขาบอกห้ามคิดเลย แล้วก็เพ่งกันไปเลย พอเพ่งกันไปเลยนะ มันไม่มีผลแล้ว ไม่มีผลเพราะอะไร เพราะมรรคมันไม่ครบองค์ประกอบของมัน มรรคไม่มีหรอก พอมรรคไม่มีขึ้นมา พอมรรคไม่มีแล้ว ผลที่เขาพูดขึ้นมา เห็นนิพพานเป็นแว็บๆ แล้วมันก็ได้ผลของมัน เห็นนิพพานแว็บๆ

เห็นนิพพานมันเป็นปัญญาหรือ ปัญญามันต้องเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นธรรม สัจธรรม นิพพานมันเป็นผลนะ นิพพานนี้มันเป็นผลนะ ผลทั้งหลายมาแต่เหตุ แล้วเหตุไม่มี มันจะเห็นนิพพานได้อย่างไร เห็นนิพพานมันก็จิตสงบแล้วเห็นแสงสว่าง อย่างนั้นเป็นนิพพานหรือ มันไม่มีของมันไง มันไม่มี นี่ถึงบอกว่าผิด ผิดเพราะว่าเริ่มต้นว่าปัญญาอบรมสมาธิ เพราะพูดถึงหลวงปู่ดูลย์ เราพูดถึงเจ้าของทฤษฎีการดูจิตมา เออ! ถ้าดูจิตอย่างนั้นมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ หลวงตาท่านก็สอนเหมือนกัน แต่ท่านใช้คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ให้มันชัดเจนไป ถ้าการดูจิตๆ ใครมันจะตีขลุมเอาอย่างไรก็ได้ คำว่า “ดูจิต” ทุกคนก็ใช้คำว่า “ดูจิต” แล้วตีขลุมเอาตามแต่ความชอบของตัว เอาแต่ความพอใจของตัว นี่คือการดูจิต แต่หลวงตาท่านยืนยันเลยว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ทีนี้พอบอกว่า ดูจิตเพื่อเป็นการลัดสั้น ทีนี้พอการลัดสั้นมันเป็นอันตรายต่อผู้ที่เอาไปขยายความ พอขยายความก็ขยายความเอาแต่ความเห็นของตัว แล้วพอขยายความโดยที่ตัวเองไม่มีวุฒิภาวะ

ถ้าคนที่มีวุฒิภาวะ เวลาท่านดูจิตของท่านโดยที่ว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด” มันชัดเจน ชัดเจนเอามากๆ ถ้าชัดเจนเอามากๆ คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าวุฒิภาวะของเรายังไม่ถึง เรายังไม่ตีขลุมเอา เราพยายามแยกแยะเอา เราทำความจริงเอา เราก็จะเข้าไปสู่จุดที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นคนวางรากฐานไว้ แล้วท่านเป็นผู้ที่ได้ผลตามความเป็นจริง เราพยายามของเรา มันก็พิสูจน์กันได้ พิสูจน์กันได้

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เวลาพระบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสาธุ รู้เหมือนกัน รู้เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นอย่างไรเราก็จะเป็นเหมือนท่าน แล้วเป็นเหมือนท่านแล้วจะไม่มีปัญหาที่เขาบอกว่าห้ามคิดๆ นี้เลย

มันเป็นไปไม่ได้หรอก คำว่า “ห้ามคิดๆ” เวลาท่านบอกดูจิตขึ้นมา วางรากฐานไว้ แล้วลูกศิษย์รุ่นหลังตีความกันเอาเอง พอตีความกันเอาเอง เพราะดูจิตๆ ห้ามคิด กดไว้เลย ทำไว้เลย นี่มันผิดๆ ไง ยืนยันว่าผิด อย่างไรก็ยืนยันว่าผิด มันผิด มันมีเหตุมีปัจจัยมาจากหนังสือ “สมมุติว่าจิต” แล้วเขาบอกหนังสือนี้มันจะขัดแย้งกันเอง เขาบอกหนังสือนี้ไปอ่านแล้วหลวงพ่อตอบปัญหาเอง แล้วหลวงพ่อก็พูดให้ปัญหามันขัดแย้งกันเอง ผู้อ่านก็เลยตีความไม่ถูกไง

เออ! ตอบปัญหาไปแล้วทีหนึ่ง แล้วก็ต้องมาแก้ไขปัญหาของตัวเองอีกทีหนึ่ง อ้าว! จบ

ถาม : ข้อ ๑๓๑๕. กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพค่ะ หนูสงสัยเรื่องการภาวนาพุทโธ เดิมเคยนั่งสมาธิโดยการกำหนดลมหายใจเข้าหนอ หายใจออกหนอ ก็รู้สึกว่าสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง จนมีความสงสัยว่าเราปฏิบัตินั้นถูกต้องหรือไม่ เรามาถูกทางหรือเปล่า จนมีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งเอาหนังสือของหลวงพ่อมาให้อ่าน และแนะนำให้เข้ามาอ่านในเว็บไซต์ของหลวงพ่อ

พอหนูได้อ่านและลองปฏิบัติพุทโธอย่างเดียวตามที่หลวงพ่อเคยกล่าวไว้ สิ่งที่สงสัยระหว่างภาวนาพุทโธคือ ถ้าเรากำหนดพุทโธไปอย่างเดียว ตั้งจิตไว้อยู่ที่พุทโธ แล้วเราต้องตามลมหายใจเข้าภาวนาพุท หายใจออกภาวนาโธหรือไม่คะ หรือว่าไม่ต้องจับลมหายใจ แต่ให้จับภาวนาพุทโธอย่างเดียว เพราะเวลาที่ภาวนาพุทโธไป เราก็ต้องหายใจอยู่ ยังรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา แบบไหนคือทางที่ถูกต้องกันแน่คะ หนูสงสัยและสับสนจนไม่กล้าภาวนาต่อเพราะกลัวทำผิด

มีอยู่คืนหนึ่ง หลังจากสวดมนต์และลองนั่งสมาธิภาวนาพุทโธอย่างเดียว พอปฏิบัติเสร็จก็นอนหลับพักผ่อนตามปกติ แต่คืนนั้นก็ฝันว่าไปเดินห้างช็อปปิ้งกับเพื่อนค่ะ ในร้านแบรนด์เนมราคาแพง ในฝันเห็นเพื่อนซื้อของ ตัวเองข่มใจไม่ซื้อเพราะแพงมาก แต่ก็รู้สึกมีความสุขมากในฝันที่ได้ตามใจกิเลส ที่ได้มาเดินช็อปปิ้ง เดิมเป็นคนชอบช็อปมาก พอตื่นขึ้นมาก็คิดว่าเราฝันแบบนี้คงเป็นเพราะว่าเมื่อคืนนั่งสมาธิภาวนาพุทโธเพื่อตัดกิเลส แต่เจ้ากิเลสนี้ร้ายนัก มาตามยั่วยุในความฝัน อันนี้ไม่รู้ตัวเองคิดเองหรือเปล่า แต่มีข้อสงสัยอยากรู้ตามที่เล่ามาค่ะ สุดท้ายนี้ให้หลวงพ่อช่วยตอบด้วย

ตอบ : เดิม เวลาเราภาวนามาแต่เดิมใช่ไหม หายใจเข้าหนอ หายใจออกหนอ ความหายใจเข้าหนอออกหนอมันเป็นความเคยชิน เป็นความเคยชินเพราะเราอยู่กับความรู้เท่า แต่ถ้าเป็นอานาปานสติ เขากำหนดลมเข้าลมออก เขามีสติอยู่กับลม นี่ถ้าหายใจเข้าออกหนอ หายใจออกหนอ หายใจเข้าหนอ หายใจเข้าหนอออกหนอ มันก็อยู่ตรงนั้นแหละ จิตใจเราไปเกี่ยวพัน ไปวิตกกังวลกับการเข้าการออก การเข้าออกมันมีสติอยู่อย่างนั้น แล้วสติอยู่ตรงนั้นแหละ

แต่ถ้าเรากำหนดลมหายใจเฉยๆ นะ เวลาอานาปานสติกำหนดลมเข้าลมออก ลมอย่างหยาบ ลมอย่างกลาง ลมอย่างละเอียด

เขาบอกว่า “ลมเข้าก็รู้ว่าลมเข้า ลมออกก็รู้ว่าลมออก”

ไม่ต้อง กำหนดลมไว้เฉยๆ อานาปานสติคือกำหนดรู้ลมหายใจ

ทีนี้คำว่า “เข้าหนอออกหนอ” ผู้ที่สอนก็คิดว่าให้มันชัดเจนขึ้นๆ แต่มันชัดเจนเข้าหนอออกหนอ มันก็อยู่กับหนออยู่นั่นแหละ มันไม่เข้า ไม่เข้าไปสู่ตัวใจสักทีหนึ่ง

แต่ถ้าเรากำหนดลมหายใจนะ เวลาอยู่กับลมหายใจ จะลมหายใจหยาบ เราก็รู้ว่าหยาบ ลมหายใจละเอียดก็รู้ว่าละเอียด พอรู้ว่าละเอียด พอละเอียดจนลมไม่มี ลมไม่มี มันเหลืออะไร? เหลือตัวใจล้วนๆ ไง ตัวใจนี้มันไปเกาะลมๆ ไว้ใช่ไหม แต่ถ้าเรารู้ว่าหนอๆ มันส่งไปอยู่กับหนอ หนอไปหนอมาอยู่อย่างนั้น มันก็อยู่กับหนอนั่นแหละ มันก็หนอของมันไปเรื่อย

ฉะนั้น เวลามากำหนดพุทโธๆ ถ้าเราพุทโธนี่พุทธานุสติ กับอานาปานสติ ถ้าพุทโธ พุทธานุสติ พุทโธๆๆ พุทโธเราบวกไปกับอานาปานสติ กำหนดลมด้วย ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ

ถ้าลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ มันก็กำหนดพุทโธเหมือนกัน แล้วเวลาลมหายใจเข้าหนอ ลมหายใจออกหนอ ทำไมมันไม่ได้ล่ะ

ลมหายใจเข้าหนอ ลมหายใจออกหนอ ออกหนอเข้าหนอมันเป็นความกังวลว่าอยู่หนอ มันเป็นคนละส่วนกัน แต่เวลาพุทโธ เราบริกรรมพุทโธๆ เฉยๆ พุทโธนี้เป็นพุทธานุสติ แต่อานาปานสติ กำหนดอานาปานสติ อานาปานสติ ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าหนอ ลมหายใจออกหนอ แล้วอยู่อย่างไรล่ะ ก็อยู่กับหนอนั่นไง เพราะเราต้องมีสติชัดเจนอยู่กับหนอนั้นน่ะ แล้วจิตอยู่ไหนล่ะ? จิตมันก็ออกมาอยู่กับหนอนั้น

แต่ถ้าเรากำหนดลมหายใจ ลมหายใจมันหยาบ เราก็เห็นลมชัดๆ พอลมหายใจมันละเอียด ละเอียดจนใส ใสขนาดไหนเราก็รู้อยู่ว่าใสๆ นั่นน่ะ แต่ถ้าลมมันละเอียด ละเอียดจนลมไม่มี ลมไม่มี จิตมันหดเข้ามาเป็นตัวมันเอง ทึ่งมากเลย พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย

แต่ที่ว่าหายใจเข้าหนอ หายใจออกหนอ จนไม่หนอเลยนี่ไม่มี ไม่เคยมีนะว่าหนอจนไม่มีหนอ มันไม่มีหรอก ก็หนออยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าหนอจนไม่มี ก็ตัวมันเองไง แต่นี่ก็อยู่กับหนอนี่ไง ถ้าอยู่กับหนอมันก็คือหนอตลอดไป มันก็อยู่แค่นั้นเอง นี่พูดถึงในแนวทางปฏิบัติเหมือนกัน

แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธกับลมหายใจมันเริ่มต้นจากการปฏิบัติ ถ้ามันเคยชินอย่างนั้น เพราะคำถามถามว่า “ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ ถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันก็มีลมหายใจอยู่”

ถ้าพุทโธเฉยๆ มันก็ยังมีลมหายใจอยู่ พุทโธเฉยๆ หมายความว่า เริ่มต้น คนที่ปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติไม่เป็นเลย ลมหายใจ เรื่องของใจนี้เป็นนามธรรม จะทำอะไรก็จับต้นชนปลายสิ่งใดไม่ถูกเลย แม้แต่งานยังทำผิดพลั้งพลาดอยู่ งานภายนอกยังทำล้มลุกคลุกคลานอยู่เลย แล้วจะมาทำงานที่เป็นสิ่งที่เรื่องละเอียด ก็ต้องแบบว่าให้เป็นรูปธรรม ลมหายใจเข้าให้นึกพุท ลมหายใจออกให้นึกโธ ภาวนาไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันละเอียดขึ้นมาแล้ว มันก็แบบว่ามันรับรู้มาก มันก็จะตกภวังค์ ตกภวังค์ เราก็วาง ถ้าวางพุทโธก็อยู่กับลมหายใจชัดๆ

“แล้วเริ่มต้นทำไมไม่หาลมชัดๆ เลยล่ะ”

เริ่มต้นถ้าลมหายใจชัดๆ เลย มันก็ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันละเอียด มันทำอะไรไม่เป็น ก็ทำเป็นรูปธรรมก่อน ทำอย่างหยาบก่อน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้ามันละเอียดเข้ามา มันเป็นไปได้ก็ใช้ได้ แต่ถ้ามันมีอุปสรรคขึ้นมา พอลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ แล้วมันก็หายไปเลย คือมันตกภวังค์ ก็ทิ้งอันใดอันหนึ่งให้มันชัดๆ ไว้ ถ้ากำหนดลมก็ลมชัดๆ เลย เพื่อไม่ให้มันตกภวังค์

การตกภวังค์ หมายความว่า ถ้าจิตจะเข้าสมาธิแล้วมันเข้าสมาธิไม่ได้ มันขาดสติ มันตกสู่ภวังค์นั้น ถ้ามีสติกำหนดพุทโธชัดๆ เข้าไป มันจะผ่านไอ้คอสะพานเข้าไปสู่ตัวจิต ถ้าผ่านคอสะพานเข้าไปสู่ตัวจิต มันจะเป็นอีกอารมณ์หนึ่งเลย มันจะละเอียด มันจะสักแต่ว่ารู้ แต่มีสติพร้อม นั้นเป็นสัมมาสมาธิ

ฉะนั้น บอกว่า “ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธได้ไหม”

ก็ได้ ทำได้ เพราะเขาบอกว่าเขาพุทโธเฉยๆ มันยังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดลมไป แต่ถ้าอย่างนี้มันอยู่ที่อุบาย อยู่ที่อุบาย อย่างเช่นเราไปกินอาหารในร้านอาหาร จะมีบริกรเขาเสิร์ฟตลอดเวลา ถ้าเรากินอาหารที่บ้าน เราก็ต้องหุงหาอาหารนั้นเอง ถ้าเราไปกินอาหารในป่า เราไปปิกนิก เรากินอาหารในป่า เราก็ต้องหาอาหารเราไปเอง นี่เวลากินอาหารแต่ละที่ๆ ความสะดวกสบายมันแตกต่างกัน

ในการปฏิบัติ ถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว ถ้ามันดีขึ้นอย่างไร เราต้องมีอุบายเข้าไป ไม่ใช่เถรตรงใช่ไหม เราไปกินอาหารที่ร้านอาหาร เขามีคนเสิร์ฟ เขามีคนยกให้พร้อม บอกไม่ต้องเสิร์ฟๆ ฉันจะเสิร์ฟตัวเอง เวลาไปกินอาหารที่บ้านก็บอกว่าไม่มีใครมาเสิร์ฟเลย ไม่มีใครมาเสิร์ฟเลย แล้วไปกินอาหารในป่าจะให้คนไปส่ง มันก็ไม่ใช่

จะบอกว่า การปฏิบัติมันก็อยู่ที่กาลเทศะ อยู่ที่ความพอดีไง อยู่ที่ความพอดี ถ้ามีความพอดีขึ้นมาอย่างใด เราก็ทำตามนั้น ถ้าทำตามนั้นมันก็ถูกต้อง

นี่พูดถึงว่า “ถ้ากำหนดพุทโธพร้อมลมหายใจได้ไหม หรือจะกำหนดลมหายใจอย่างเดียว”

เวลาโดยพื้นฐานเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงเป็นอย่างนี้นะ โยมที่ถามมา กำหนดลมหายใจเข้าหนอ ลมหายใจออกหนอมาเท่าไรก็ไม่รู้ แต่นี้พอมากำหนดพุทโธๆ คืนเดียว พอสวดมนต์แล้วก็นอนหลับไป ฝันไปเลย พอฝันแล้วตื่นขึ้นมา เจ้ากิเลสนี้ร้ายนัก จิตถ้ามันภาวนาไป มันจะมีผลตอบรับ จิตนี้มันร้ายนัก เราไม่เห็นหน้ามัน เราไม่เห็นหน้ามันนะ เวลาปฏิบัติ แต่เวลาเรานอนหลับฝันไปมันยังแสดงตัวมาให้เราเห็นได้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม ถ้าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม ในฝัน ในฝันเขามาแสดงให้เราดู

ฉะนั้น เวลาในชีวิตจริง ในชีวิตจริงถ้าเรามีสติปัญญา เรารักษาสิ่งนี้ไว้ รักษาถึงความประหยัดมัธยัสถ์ ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นธรรมทั้งนั้นแหละ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การที่ไม่เห็นประโยชน์ของเงินทอง ถ้าไปเรียนนักธรรมตรี ครอบครัวใดที่จะมั่นคงแข็งแรง เขาจะรู้จักบำรุงรักษาข้าวของของเขา การใช้จ่ายเขาจะไม่ฟุ่มเฟือยของเขา นี่มันอยู่ในธรรมทั้งนั้นเลย ไอ้นั่นมันอยู่ในธรรมในตำราใช่ไหม แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันมาสอนเลย สอนเราจริงๆ เลย ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา มันจะรู้จะเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นของมัน สิ่งนี้เราทำของเราใหม่ เราทำของเราใหม่

ในการปฏิบัติ ถ้าเราจะปฏิบัตินะ ในการนั่งสมาธิ พุทโธเฉยๆ ก็ได้ ถ้าเราพุทโธเฉยๆ พุทโธๆๆ เร็วๆ มันก็เป็นประโยชน์กับการที่ว่าเราเร่งได้ เราผ่อนได้ เราทำได้หลากหลาย แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออก เพราะลมหายใจมันเป็นตัวถ่วงอยู่ว่าเราจะเร่งพุทโธเร็วไม่ได้ เราถึงวาง

ถ้าเราพุทโธๆ พุทโธอยู่ ถ้าจิตมันละเอียดขึ้นมาแล้ว เราแยกพุทโธจากลมหายใจเลย ลมหายใจนี่ทิ้งไปเลย แล้วพุทโธชัดๆ ไปเลย แต่ถ้าพุทโธแล้ว ปฏิบัติไปแล้วมันกีดขวาง มันไม่มีสิ่งใดที่จะสงบได้ วางอันใดอันหนึ่ง มันต้องมีสติปัญญาตอนนั้น มีสติปัญญาตอนนั้น นี่การปฏิบัติของเรานะ มันก็จะไปขัดแย้งกันว่า “หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า การปฏิบัติอย่าจับจด ถ้าทิ้งอันนู้นจับอันนี้ ทิ้งอันนี้จับอันนั้น มันก็เป็นการจับจด โอ๋ย! หลวงพ่อนี่สอนมั่วเลย”

ไอ้เวลาจับจดคือคนไม่เอาไหนไง คนจะทำอะไรไม่เอาไหนมันก็จับจด ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ นี่จับจด ก็เอาจริงเอาจังเสีย แต่เวลามันจะเข้าด้ายเข้าเข็ม คนเรานี่นะ อย่างเช่นทำอาหารกำลังจะสุก จะปล่อยให้มันไหม้ไหม อาหารในกระทะมันกำลังจะสุกแล้ว เราจะเอาใส่จานหรือจะปล่อยให้มันไหม้ หรือถ้าเราทำอาหาร เราไม่ได้จุดไฟ แล้วเราก็มานั่งทำอาหาร มันไม่มีไฟมันจะเป็นอาหารไปได้ไหม มันก็ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเปลี่ยนบ่อยๆ...เปลี่ยนบ่อยมันเปลี่ยนให้ดีขึ้น ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย เวลาเราขึ้นบ้านนะ บ้านนี้เขาปลูกบ้านหลังสูงเขาต้องมีบันได เราจะขึ้นบันได เราจะขึ้นบันได บันไดกี่ขั้นล่ะ ๓ ขั้น ๕ ขั้น ๘ ขั้น ถ้าเราจะขึ้นบ้าน เราต้องมีบันได แล้วเราจะขึ้นบันได เราไม่ปีนบันไดเลยหรือ เราจะเข้าบ้าน แต่เราไม่ปีนบันได มันจะเป็นไปได้อย่างไร ขณะที่ปีนบันได มันกำลังจะเข้าบ้าน บันไดมันก็ส่วนเล็กน้อยในบ้าน เป็นส่วนประกอบของบ้านใช่ไหม แต่เข้าไปแล้วบ้านมันหลังใหญ่โต

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ ไอ้นี่พุทโธ หรืออานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก มันเป็นช่องทาง ช่องทางที่เราจะเข้าไปสู่ใจของเรา ถ้าช่องทางสู่ใจของเรา เราจะเข้าบ้านของเรา เราก็พยายามมีสติมีปัญญาหาทางเข้าของเราให้ได้สิ พอเข้าไปได้แล้วนะ ได้มันก็จบไง ถ้าจบขึ้นมามันก็ไม่เกี่ยวกับว่า นี่มันย้ายบันไดบ่อย บันไดเดี๋ยวก็ไว้หน้าบ้าน เดี๋ยวไว้หลังบ้าน เข้าบ้านไม่ถูกสักที มันก็เป็นการต่อรอง มันเป็นการต่อรองของกิเลส มันจะต่อรองให้เราล้มลุกคลุกคลาน

ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาภาวนาอยู่นาน จนมีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งเอาหนังสือหลวงพ่อมาให้อ่าน แล้วแนะนำให้เข้าไปดูในเว็บไซต์ หนูก็ไปอ่าน แล้วลองภาวนาแล้ว หนูเข้าไปอ่าน ฉะนั้น เข้าไปอ่านแล้ว วันนี้ถามปัญหามา เราก็ตอบปัญหาแล้ว พอตอบปัญหาแล้ว เราจะเข้าใจว่าเวลาตอบปัญหาไป อ่านครั้งแรกนี่ โอ้โฮ! หลวงพ่อตอบดีมากเลย เอาไปใช้ประโยชน์ได้วันสองวัน แล้วก็มาดูซ้ำ หลวงพ่อตอบไม่ดีแล้ว มันชักจืดแล้ว

ฉะนั้น ถ้าตอบดีมากเลย เราก็ใช้ แล้วถ้าโยมติดขัดนะ เข้าไปดูในเว็บไซต์ ดูอันไหนที่มันถูกใจ อ่านอันไหน ปัญหาใดที่มันถูกใจ แล้วก็จบแค่นั้นแล้วภาวนาต่อ แล้วพอมันติดขัดขึ้นมาก็มาเปิดดู เปิดดูว่าอันไหน อ่านอันไหน เพราะในตู้ยาตู้หนึ่งมันมียาหลายขนานนัก แล้วเราเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร เราจะเอายาขนานนั้นมากินให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยเราหาย เข้าไปในเว็บไซต์ก็เหมือนกัน ไปดูสิ่งใดมาเป็นแนวทางปฏิบัติ แล้วถ้าเราปฏิบัติได้ มันก็จะเป็นยา เป็นประโยชน์กับเราในปัจจุบันนั้น นี่พูดถึงว่าในแนวทางการปฏิบัตินะ

ถาม : ข้อ ๑๓๑๖. เรื่อง “ศีล ๘ ที่ถูกต้องควรปฏิบัติอย่างไรคะ”

๑. บางคนบอกว่าดูหนังได้ ถ้าไม่ลุ่มหลง ใช้สติพิจารณา แต่มันผิดศีลข้อว่าห้ามดูสิ่งบันเทิงใช่ไหมคะ

๒. จำเป็นต้องใส่ชุดขาวไหมคะ ถ้าอยู่ทางโลกแล้วถือศีล ๘ กลัวคนจะหมั่นไส้ค่ะ ถ้าใส่ชุดขาว คนจะรู้

ตอบ : นี่คำถาม ๒ ข้อ

“ข้อ ๑. บางคนบอกว่าดูหนังได้ ถ้าไม่ลุ่มหลง ใช้สติพิจารณา แต่มันผิดศีล”

มันผิดอยู่แล้วแหละ ห้ามดู ถ้าเราถือศีล ๘ นะ ดูหนังดูละครมันเป็นความผิดศีลอยู่แล้วแหละ ถ้าเราผิดศีล เราไม่ดูมันก็ได้ เราไม่ดูเสียถ้าเราจะถือศีล ๘ ให้บริสุทธิ์นะ ทีนี้บางคนบอกว่าดูหนังก็ได้ ถ้าไม่ลุ่มหลง ใช้สติ

นี่มันเป็นธรรม เป็นธรรมเขาบอกว่าดูข่าวสารต่างๆ เพื่อความรู้เท่าโลก เราไม่ได้ดูด้วยความบันเทิง แต่ไอ้พวกดูหนังดูละครมันเป็นสิ่งยั่วยุทำให้ลุ่มหลงในโลก ทำให้ขาดสติ ฉะนั้น ศีล ๘ ถึงห้าม ศีล ๘ นี่ห้ามเลย ถ้าห้ามดูสิ่งนั้น เราก็ไม่ดูสิ่งนั้นมันก็จบ ถ้าเราไม่ดูนะ

ฉะนั้น บางคนว่าดูได้ ดูได้ถ้ามีสติ...อันนั้นเขาพูดถึงเปรียบเทียบกันไป โลกมันกว้างขวางกันไป แล้วก็อยู่ที่พระ อยู่ที่ผู้ที่เป็นผู้นำเขาก็คิดของเขา วางรากฐานของเขา นั่นเป็นความเห็นของเขา แต่ถ้าจะถือศีล ๘ ศีล ๘ ก็ต้องบอกว่าศีล ๘ ผิดอย่างไร สรุปตรงที่ศีล ๘ ศีล ๘ บอกว่าห้ามดูก็คือห้ามดู ห้ามก็คือห้าม เพราะอะไร เพราะว่าคนที่ถือศีล ๘ อย่างพวกเรามันยังมีกิเลสอยู่นี่ห้าม ศีล ๘ คือการห้ามดูหนังดูละคร ห้ามหมด

ทีนี้การว่าห้ามดูหนังดูละคร ห้ามจริงๆ หรือ...ห้าม แต่ถ้าเราไปดูเพื่อเป็นของเรา แต่ถ้าเราไปบนถนนหนทาง มันมีของมันอยู่ข้างทาง เราไม่ได้ตั้งใจไปดู มันมี มันผ่านมา อย่างนั้นมันเรื่องสุดวิสัย เราไม่ใช่ตั้งใจไปดู มันผ่านไปแล้วมันเห็นอยู่ข้างทางต่างๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

“ข้อ ๒. จำเป็นต้องใส่ชุดขาวไหมคะ เพราะอยู่ทางโลกถือศีล ๘ แล้วกลัวคนหมั่นไส้ว่าใส่ชุดขาว”

ไอ้นี่ศีล ๘ มันอยู่ในใจ มันไม่ได้อยู่ที่ชุดขาวชุดไม่ขาว ศีล ๘ ก็คือศีล ๘ ถ้าเราถือศีล ๘ แล้วเราใส่ชุดอะไรก็ได้ เราไม่ต้องใส่ชุดขาวก็ได้ เราใส่ชุดอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราใส่ชุดขาวนั้น คนเขาจะหมั่นไส้มันก็เรื่องของเขา เพราะสังคมเขาถือว่าการใส่ชุดขาวนั้นมันเป็นเครื่องหมาย มันเป็นสัญลักษณ์ว่านี่ผู้ที่ถือศีล ๘

นี่เราถือศีล ๘ ในใจ ถ้าเราถือศีล ๘ ในใจ เราไม่ต้องใส่ชุดขาวก็ได้ เราไม่ต้องประกาศให้ใครรู้ก็ได้ ถ้าไม่ประกาศให้ใครรู้ เราก็รักษาตัวเราเอง ถ้าเราไปประกาศให้ใครรู้นะ คนที่เขารู้เขาก็บอกว่าจะจริงหรือไม่จริง มันก็มีประเด็นให้มีการได้โต้เถียงกัน แต่ถ้าเราบอกเลยว่า ของเรา เราถืออย่างนี้ อย่างเช่นคนที่แบบว่าเขาไม่ฉันเนื้อสัตว์ เขาไม่ต่างๆ บอกว่า “ทำไมไม่ฉันเนื้อสัตว์”

“หมอเขาห้าม กินแล้วมันแสลงกับโรค” ถ้าพูดอย่างนี้ไปปั๊บมันก็ไม่มีใครจะมาโต้แย้งอะไร

แต่ถ้าบอกว่า “เราไม่กินเนื้อสัตว์ เพราะว่ากินเนื้อสัตว์แล้วมันเป็นโทษ” เขามีเหตุผลโต้แย้งกันหมดแหละ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถือศีล ๘ เราก็ไม่ต้องบอกใครเลย แต่ถ้าเราถือศีล ๘ ไป เราประพฤติปฏิบัติไป คุณงามความดีของเรา เขาเห็นเองนะ เขายอมรับ แล้วเขายอมรับนะ เขาจะชื่นชมทีหลัง ถ้าเราทำคุณงามความดี เขาเห็นความดีของเรา เขายอมรับความดีของเรา อันนั้นคือความดี กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมหอมทวนลม

แต่พอเราบอกเราจะถือศีล ๘ พอถือศีล ๘ นะ จะให้คนบริการ ไม่มีใครเขาเห็นด้วยหรอก แต่ถ้าเราถือของเรา เรารักษาของเรา พอคนเขาเห็นเราทำจริงขึ้นมานะ เขาชื่นชม ทุกคนเขาต้องการคนดีทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “จำเป็นต้องใส่ชุดขาวไหม”

มันก็ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น แล้วศีล ๘ อย่างที่ว่า ศีล ๘ ก็ดูตามตัวอักษรนั้นเลย ทำตามนั้น ทำตามนั้นไปถ้าเราทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้ สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา ศีลทำให้จิตใจสงบร่มเย็น ถ้าไม่ถือศีล ๘ นะ มันยังเร่าร้อนอยู่ มันยังจะเอาไอ้นู่นจะเอาไอ้นี่ พอถือศีล ๘ เราเป็นคนถือศีลนะ เราเป็นคนมีศีลนะ มันก็จบแล้ว พอมันจบขึ้นมา ศีลเป็นรั้ว ขอบรั้วขอบกั้นใจเราให้อยู่ในศีลในธรรม เรามีศีลเป็นรั้วกั้น แล้วถ้าเราจะใส่ชุดขาวไม่ใส่ชุดขาว เราปฏิบัติของเราไป

ทำความดี เราเห็นด้วย เป็นความดี แต่ว่าโลกจะติเตียนไหม โลกจะอะไรไหม อันนี้มันโลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่มีมาโดยดั้งเดิม เราไม่ต้องวิตกกังวล ถ้าจะทำความดีแล้วทำเลย ใครจะว่าอย่างไร เรื่องของเขา เพียงแต่ว่าเรามีจุดยืนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเรามีจุดยืนของเรามั่นคง เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวเขามาชื่นชมเราเอง ถ้าเราทำได้จริงนะ โลกเขาต้องการความจริง โลกเขาหาของจริง ถ้าเราทำจริง เป็นความจริงขึ้นมา

ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมันตาย ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่ตายหรอก เราทำความจริงของเรา ทำจริงๆ นะ แล้วไม่ต้องพูด ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมันตาย เพราะพูดแล้วเขาอยากลองของ ไม่ต้องพูด เราทำของเราไป แล้วถึงเวลาแล้วเขาชื่นชมเราเอง

นี่พูดถึงว่า “ศีล ๘ ที่ถูกต้อง” ศีล ๘ ที่ถูกต้องก็ตามศีล ๘ นั่นแหละ แล้วเราทำของเรา ทำเพื่อเรา ไม่ต้องทำเพื่อใคร นี่คือการประพฤติปฏิบัติของเรา เอวัง