ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สังคมอ่อนแอ

๑ มิ.ย. ๒๕๕๖

 

สังคมอ่อนแอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ครั้งที่แล้วมันตอบแล้วไม่ได้ตอบไง

ถาม : ข้อ ๑๓๒๒. เรื่อง “การสวดปาฏิโมกข์ ๑๕๐ ข้อ และการอยู่ปริวาส”

ตอบ : เขาถามปัญหามาเยอะมาก ถามมายาวมากเลย ว่าเหตุผลของการสวดปาฏิโมกข์ มีข้อที่ ๑ ว่าการสวดปาฏิโมกข์ผิดอย่างใด เขาเขียนมา วันนี้เขาพูดหมด ยาวมากนะ ถ้ามันอ่านแล้วมันเหมือนกับว่าเราไปโจมตีเขา ว่ามีพระองค์หนึ่งเขาแนะนำอย่างนั้น แล้วพยายามจะทำให้สังคมเป็นแบบนั้น แล้วเขาไม่เห็นด้วย ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒

ถาม : ข้อที่ ๑. กระผมคิดว่าพระที่เขาสวดนั้นเขาทำไม่ถูกต้อง

๒. สังฆาทิเสสข้อที่ ๑๒ เขาว่าภิกษุว่ายากสอนยาก

๓. พระวัดนี้สวด ๑๕๐ พระทั่วไปสวด ๒๒๗

๔. การที่พระสงฆ์บางกลุ่มจัดพิธีอยู่ปริวาสโดยกำหนดเป็นช่วงเวลา ๑๔ วัน แล้วออกจากปริวาส (นี้เขาว่านะ) แล้วยกเข้าหมู่

ตอบ : นี่การอยู่ปริวาส ทีนี้คำถามมันเลยเป็น ๒ ข้อชัดๆ แล้วก็พูดถึงการอยู่ปริวาส การอยู่ถูกอยู่ผิด เขียนมาหมดนะ

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นปัญหาของสังคม ถ้าเป็นปัญหาสังคม เราจะพูดถึงปัญหาสังคมก่อน เรื่องที่ว่าพระเวลาลงอุโบสถ ถ้าพระลงอุโบสถ ความเห็นการลงอุโบสถเพื่ออุโบสถสังฆกรรม เพื่อความมั่นคงของศาสนา ถ้าความมั่นคงของศาสนา สิ่งที่มีการกระทำ พระด้วยกันสวด ๒๒๗

ดูสิ ดูพระกรรมฐานเรา พระกรรมฐานเราก็สวด ๒๒๗ สวด ๒๒๗ มาประจำ แล้วพอสวด ๒๒๗ แล้วสวดทุกปักษ์ด้วย แต่โดยทั่วๆ ไป บางทีวัดทั่วไปบางฝ่ายเขาสวดเฉพาะวัน ๑๕ ค่ำในพรรษา นอกพรรษาเขาไม่ได้สวด เขาต่างๆ อันนี้คือความเห็นของเขา ความเห็นของเขาคือปัญหาสังคมไง

ถ้าสังคมเข้มแข็ง สังคมที่มีการตรวจสอบกัน สังคมที่มีสติปัญญา ใครทำถูกทำผิด สังคมจะเข้าใจได้ ถ้าสังคมเข้าใจได้ สิ่งที่มีการทำผิด สังคมจะแยกแยะได้เองว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เหมือนในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าใครทำกรรมไว้ กรรมจะลงโทษ กรรมจะมีการกระทำอย่างนั้น อันนี้พูดถึงเรื่องของธรรม

แต่ทีนี้เพื่อความมั่นคงของศาสนา เพื่อความมั่นคงของโลก เขาก็มีฝ่ายการปกครอง ทีนี้ฝ่ายการปกครอง การปกครองเขาก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.สงฆ์นี้เป็นกฎหมายปกครอง แต่เวลาธรรมวินัยนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราถือ เราก็ถือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าถือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็จะไม่มีความขัดแย้ง

แต่ถ้ามีความขัดแย้งนะ แต่นี้เราถือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มีความเห็นไง มีความเห็น มีความรู้สึกแตกต่างกัน เขาบอกสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิเสรีภาพในความเชื่อ นี่เขาอ้างกันตรงนั้นไง พออ้างตรงนั้นปั๊บ มันก็มี พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ร.บ.สงฆ์เป็นกฎหมายปกครอง ถ้ากฎหมายปกครอง ผู้ปกครองถ้ามีความผิดพลาดในสังคม เขาก็ต้องจัดการ การปกครองเขาต้องทำให้สงบร่มเย็นในปริมณฑลของสงฆ์ ถ้าสงฆ์มันมีความเห็นอย่างนั้น กฎหมายปกครองมันก็มีความเห็นของเขา

ฉะนั้น ถ้าสังคมเข้มแข็งโดยสติปัญญา เพราะมีการศึกษา มีความเข้าใจ พระทำผิดทำถูก เขาแยกแยะได้เป็นว่าทำผิดทำถูก นี่เป็นผลที่ว่ากรรมให้ผล แต่ถ้าเป็นกฎหมายปกครอง กฎหมายปกครอง ผู้ที่ปกครองเป็นผู้ที่ต้องมีสติมีปัญญา

ทีนี้มีสติปัญญา ถ้าปกครองในธรรมนะ มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ฝ่ายปกครองต้องจัดการ ถ้าจัดการแล้วเพื่อความสงบร่มเย็นของสงฆ์ ทีนี้ฝ่ายปกครองจะจัดการขึ้นมามันก็มีอีก อย่างเช่นกรรมฐานเรา กรรมฐานเรา เราสวดทุกปักษ์นะ สวด ๒๒๗ สวด ๒๒๗ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านมา หลวงปู่มั่นท่านพยายามรื้อฟื้น

รื้อฟื้น หมายความว่า เมื่อก่อนนะ ในเรื่องเสขิยวัตร เรื่องต่างๆ มันไม่มีอยู่แล้วแหละ ไม่มี หมายความว่า พระไม่เข้าใจ เรื่องผ้านิสีทนะ เรื่องไม้สีฟัน เรื่องต่างๆ พระกรรมฐานเราเป็นคนรื้อฟื้นมา เรื่อง กปฺปิยํ กโรหิ กปฺปิย ภนฺเต พืชคาม ภูตคาม หลวงปู่มั่นท่านก็เป็นผู้ที่วางรากฐานมา แต่วางรากฐานแล้วมันยังเป็นสังคมส่วนน้อย สังคมส่วนน้อยคือว่าผู้ที่ปฏิบัติ ปฏิบัติส่วนน้อย แต่เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านมาฟื้นฟู ท่านเข้าไปหาสมเด็จมหาวีรวงศ์เลย ท่านจัดการมาจนเป็นหลักเป็นเกณฑ์มา เป็นหลักเป็นเกณฑ์ว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องล่ะ สิ่งนี้มันถูกต้อง ถ้าถูกต้องนะ ถ้าสังคมเข้มแข็งขึ้นมา เขาจะรู้เห็นว่าทำเพราะเหตุใด ทำมาอย่างใด

ถ้าทำถูกต้องแล้ว สิ่งที่มันเป็นไปอย่างนี้ ที่เขาว่า ๑๕๐ ๒๒๗ นี่เวลาสังคมอ่อนแอ อ่อนแอมันก็เอาแง่เอามุมต่างๆ มาเป็นประเด็น ถ้าสังคมเข้มแข็ง เขาแยกแยะเอง เขาแยกแยะได้เลยว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด นี่พูดถึงปัญหาสังคมนะ สังคมอ่อนแอมันถึงมีปัญหาขึ้นมา ถ้าสังคมเข้มแข็ง ปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นมาไม่ได้หรอก สังคมเข้มแข็งเขารู้ของเขา

เวลาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเหมือนกับทะเล สิ่งใดอยู่ทะเลก็ได้ คลื่นจะซัดสิ่งนั้นเข้าสู่ฝั่ง นี่ก็เหมือนกัน ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาทำพิเรนทร์ ทำแผลงๆ อยู่ในศาสนา เดี๋ยวมันซัด ซัดเข้าสู่ฝั่งหมดแหละ ซัดเข้าสู่ฝั่ง ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่ว่าเขาจะมาพิจารณา มาทำอะไรของเขา มาฝืนสัจจะความจริง มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ นี่มันเป็นไปไม่ได้เรื่องของเขา

แต่ถ้าเรื่องของธรรมๆ เรื่องของธรรม ถ้าสังคมอ่อนแอมันก็ทำให้มีปัญหา สังคมอ่อนแอคือสังคมไม่มีปัญญา สังคมไม่มีจุดยืน ถ้าสังคมไม่มีจุดยืน ทำไมถึงไม่มีจุดยืนล่ะ? ก็เชื่อตามๆ กันมา แต่เวลาเป็นกรรมฐาน บุคคลอุโบสถ แม้แต่บุคคลคนเดียวยังทำอุโบสถ คณอุโบสถ สังฆอุโบสถ ถ้าบุคคลอุโบสถ อยู่คนเดียวยังทำอุโบสถ บุคคลอุโบสถ บอกอุโบสถด้วยตัวเอง ถ้าเป็น ๓ องค์ขึ้นไปเขาเรียกคณอุโบสถ คณอุโบสถเขาก็ทำของเขา แล้วถ้าเป็นสังฆะขึ้นมา บอกบริสุทธิ์ บอกบริสุทธิ์นี้เป็นบุคคล ถ้าเป็นคณอุโบสถ แล้วเป็นสังฆอุโบสถ ถ้าสังฆอุโบสถ “ภิกษุเป็นวรรคทำกรรมไม่ได้”

เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านจะเป็นแบบอย่าง ท่านทำอย่างนี้ไว้ชัดเจนมาก ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา มันได้ฝึกหัดใช้ปัญญามา มันมีปัญญาขึ้นมาแล้วยังมีสติปัญญา ยังอยู่ในหลักเกณฑ์ ในเมื่อสังคมมีปัญญา แล้วพระของเราจะประพฤติปฏิบัติต้องมีปัญญา

แล้วเวลาเราเรียนกัน ต้องเรียนปริยัติ พอปริยัติขึ้นมาแล้วต้องปฏิบัติ ปฏิเวธ พอเรียนปริยัติขึ้นมาก็เอาปริยัติ ต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเห็น แล้วก็ว่ากันไป แต่เวลาสังคมปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติเข้าไปแล้วมันรู้มันเห็นตามความเป็นจริง มันมีความละอายกับใจ เขาเรียกลงใจไง ถ้าลงใจ ลงครูบาอาจารย์แล้ว ปัญหาจะไม่เกิดเลย แต่ถ้ามันไม่ลงครูบาอาจารย์ ลงให้ใครล่ะ? มันก็ลงให้กิเลสไง ลงให้ทิฏฐิมานะ ลงให้ความเห็นของตัว ความเห็นของตัวมันก็มีอะไรพิจารณาของมันไป พิจารณาไปมันก็เป็นแบบนั้น นี่เราบอกว่ามันเป็นเรื่องสังคมที่อ่อนแอ

ถ้าสังคมที่เข้มแข็งนะ สังคมที่เข้มแข็ง หนึ่ง คือสังคมที่มีปัญญา สังคมที่มีปัญญา ทะเลมันจะพัดซากศพเข้าสู่ฝั่ง มันไม่เอาไว้ในทะเลหรอก ธรรมและวินัย ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้จะไม่เอาซากศพทิ้งไว้ในธรรมวินัยนี้ มันจะซัดเข้าสู่ฝั่งหมดแหละ ถ้ามันซัดเข้าสู่ฝั่งมันเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงถ้าสังคมเข้มแข็ง

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในกรรมฐานเรามันมีความละอายใจมากกว่านี้ เวลาปฏิบัติขึ้นมา เพราะอะไร สิ่งนี้มันเป็นแค่ทฤษฎีเอง ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันลึกซึ้งกว่านี้ ถ้าลึกซึ้งกว่านี้ นี่พูดถึงการสวดปาฏิโมกข์ว่าเขาสวดอย่างนี้ นี่สวดอย่างนั้น นี่ว่ากันไปนะ

ทีนี้ข้อที่ ๔ แต่มีสงฆ์บางกลุ่มจัดอยู่ปริวาส แล้วเขาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยู่ปริวาส ดูสิ สังฆาทิเสสมันอยู่ปริวาส อยู่ปริวาสเขาอยู่กันอย่างไรล่ะ อยู่ปริวาสเพื่ออะไรล่ะ ถ้าอยู่ปริวาสแล้วเขาบอกจัดอยู่ปริวาส แล้วอยู่ปริวาส เขาเขียนมาอีก ๒-๓ หน้า ว่าเขาอยู่ปริวาสกัน แล้วเขาอยู่แล้วก็อัพภานกัน ยกเข้าหมู่กัน มันทำโดยความไม่ถูกต้อง

กรรมฐานนะ เวลากรรมฐาน เวลาปฏิบัติ ใครทำสมาธิได้ ทำสมาธิไม่ได้ ทำไมถึงทำสมาธิไม่ได้ เวลาทำสมาธิแล้วทำไมมันทรมานทรกรรมนัก อดนอนผ่อนอาหารเอย พยายามทำให้มันดีขึ้นเอย ถ้ามันดีขึ้นแล้วมันจะดีขึ้น ถ้ามันดีขึ้นมันก็ทำสมาธิได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาอยู่ปริวาสไง ถ้าอยู่ปริวาส เราเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเราไม่เป็นจริง เราไปอยู่ปริวาส มันก็มุสาแล้วล่ะ แล้วพอมุสาแล้ว ครูบาอาจารย์เราบอกว่าถ้าไม่รู้จักกิเลส ออกจากกิเลสไม่ได้ นี่อยู่ปริวาส อยู่ทำไม เวลาอยู่ปริวาสมันก็เหมือนสังคมไง สังคมว่าพระกรรมฐาน พระปฏิบัติขึ้นมาเขาภาวนากัน ภาวนากัน เขาไปเที่ยวป่าช้าต่างๆ ไอ้นี่เขาไม่ได้อยู่กรรม เขาภาวนาของเขา เขาต่อสู้กับกิเลสของเขา

ทีนี้เราอยู่ปริวาสกรรม ปริวาสกรรมก็คิดว่าไปอยู่ในที่วิเวก ไปอยู่ในที่ต่างๆ มันเป็นปริวาสกรรม มันเป็นอาบัติไง บอกเขาสิ บอกว่าการอยู่ปริวาสนี้มันอยู่เพราะว่าคนคนนั้นเป็นอาบัติสังฆาทิเสส สังฆาทิเสสแล้วเขาต้องออกจากอาบัตินั้น แล้วคนที่มาอยู่ปริวาสเป็นอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหมดเลย แล้วพอทำอย่างนี้แล้วมันจะเป็นการหาผลประโยชน์ได้ไหม

แต่เขาไม่พูดกันอย่างนั้นนี่ เขาบอกว่าผู้ที่มาอยู่นี้ก็เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ พระที่อยู่ปริวาสนี้สะอาดบริสุทธิ์ เขาคิดกันไปอย่างนั้นอีกแหละ นี่สังคมอ่อนแอไง ถ้าสังคมอ่อนแอก็คิดว่าพระมาอยู่ปริวาสคือพระที่เขามาแผดเผา มาทำตบะธรรมเพื่อแผดเผากิเลส เพื่อแผดเผากิเลสไง

ดูสิ พระปฏิบัติกัน ปฏิบัติขึ้นมาเที่ยวป่าช้าต่างๆ นี้เป็นการปฏิบัติเพื่อจรรโลงศาสนา เพื่อให้ธรรมเกิดขึ้น เขาไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่เขาบอกมันเป็นการเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่ออะไรของเขามันก็ว่ากันไป แล้วว่ากันไปแล้วก็ทำผิดทำถูกไง คือมันอยู่ที่เจตนาไง มันก็เหมือนกับสังคม ถ้าสังคมเขารู้ เขารู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกนะ เขาไม่เห็นด้วยหรอก แต่นี้เพราะสังคมครึ่งๆ กลางๆ สังคมมันอ่อนแอไง ไม่เข้าใจ ว่าผู้ที่อยู่ปริวาสเขาเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์

สะอาดบริสุทธิ์มันก็เหมือนพระบวชใหม่ พระบวชใหม่ออกจากโบสถ์มา เขาสะอาดบริสุทธิ์ สังคมไทยเชื่อนะ เวลาพระออกจากโบสถ์มา เขาทำบุญกุศล พยายามทำบุญกับพระบวชใหม่เพราะมันสะอาดบริสุทธิ์ เพราะไว้ใจพระไม่ได้ พระบวชออกมาแล้วมันจะไว้ใจได้ไม่ได้ก็ว่าไป

นี่อยู่ปริวาสก็เหมือนกัน ว่า แหม! ทำสะอาดบริสุทธิ์...นั่นน่ะเขาเป็นอาบัติ เขาถึงต้องอยู่ปริวาส อยู่ปริวาสเสร็จต้องอัพภาน อัพภานเสร็จแล้วถึงปกตัตตะภิกษุ ถึงยกเข้ามาในหมู่ภิกษุ

ถ้าเขารู้กัน ถ้าเขารู้ว่ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงขึ้นมา เขาก็หากินกันอย่างนี้ไม่ได้ ทีนี้หากินกันไม่ได้มันก็ว่า “สังคมมีปัญญา สังคมมีปัญญา จะมาทำให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ๆ” เขาไม่ทำกันหรอก แต่เพราะนี้สังคมอ่อนแอ สังคมว่าทำอย่างนั้นเป็นความถูกต้อง

แต่เวลาพระเรานะ เวลาอยู่ปริวาส หรืออยู่มานัตก็แล้วแต่ เวลามีภิกษุองค์ใดมาต้องบอกอาบัติของตัว ต้องประจาน ต้องประจานความผิดพลาดของตัว ประจานความชั่วของตัว

นี่อยู่กันนะ พอที่ไหนมีจัดปริวาสใช่ไหม ต้องมีน้ำปานะ โอ๋ย! ต้องไปเชิดชูกัน ไปยกย่องไปสรรเสริญกัน จะเอายกขึ้นไปไว้บนยอดมณฑปนู่นน่ะ แต่ความจริงเขาเป็นสังฆาทิเสส เขากำลังอยู่กรรมกัน เขากำลังจะตาย เพราะอาบัติหนัก ต้องสงฆ์ ๒๐ องค์ยกเข้าหมู่ได้ ถ้าเขารู้เห็นอย่างนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม สังคมมีปัญญาหรือสังคมอ่อนแอ เพราะสังคมอ่อนแอ การกระทำต่างๆ มันเลยแสวงหาผลประโยชน์ในสังคมนี้ ถ้าสังคมมันเข้มแข็ง สังคมมันมีปัญญาขึ้นมา การกระทำอย่างนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้

เขาเขียนมาบอก โอ๋ย! มันน่าสลด มันน่าสังเวชต่างๆ

น่าสลดสังเวชมันเป็นการพิสูจน์กันว่า สังคมไทย สังคมพุทธ เวลาสังคมไทย สังคมพุทธ พระพุทธศาสนาเจริญที่สุดในประเทศไทย เจริญที่สุด ทำไมสังคมอ่อนแอกันอย่างนี้ ทำไมให้คนมาทำให้ดู เล่นละครให้ดูกันอย่างนี้ แล้วถ้าคนมาเล่นละครให้ดูกันอย่างนี้ แล้วเราก็ชื่นชมกันอย่างนี้ มันเป็นความจริงไหม

แต่ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริงนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขา หลวงปู่มั่นท่านอยู่หนองผือ ใครจะทำบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่อยากทำบุญนะ อยากจะไปหาหลวงปู่มั่น ผู้ที่เดินได้เดินไหวก็เดินไป เลาะไปตามคันนาเขา เลาะไปตามชายเขา เพราะมันยังไม่มีถนน

สมัยนั้นยังไม่มีถนน ถ้าผู้ใดอยากจะเข้าไปทำบุญกับหลวงปู่มั่น เวลาผ่านไปที่นาใครเขาต้องนั่งเกวียนไป ต้องซื้อทาง ซื้อทาง หมายความว่า ล้อเกวียนมันจะไปบดข้าวเขา จะไปทำพืชไร่เขาเสียหาย ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขา เขาจะไปหาหลวงปู่มั่น ไปทำบุญ เขาต้องจ่ายค่าทาง เขาต้องเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ต้องไปค้างคืน ๒ คืน ๓ คืน ถึงจะได้ไปทำบุญ นี่ของจริงเขาอยู่ในป่าในเขา เขาไม่อวดตนอวดตัว เขาไม่สนใจใครทั้งสิ้น

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดด้วย พูดกับหลวงตา ว่าท่านไม่มีเวลาว่างเลย ไม่มีเวลาว่างเลย กลางวันท่านก็พักผ่อนของท่าน ท่านก็สั่งสอนพระของท่าน สั่งสอนประชาชนของท่าน กลางคืนท่านก็เทศน์ให้เทวดา เทศน์ให้ทั้งอินทร์ ทั้งพรหมฟัง อินทร์ พรหมก็มาหาท่านเป็นคณะๆ ทุกคืนเลย นี่ท่านอยู่ป่าอยู่เขาท่านทำประโยชน์ทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องมาแอคชั่นสวดปาฏิโมกข์กี่ข้อๆ มาอวดกัน มาทำปริวาสโชว์โยมกัน จัดคณะปริวาส ทำเพื่อความบริสุทธิ์...ลิเก! มันหาผลประโยชน์กันทั้งนั้นแหละ สังคมอ่อนแอมันเป็นแบบนั้น

สังคมเข้มแข็งเขาทำของเขา ทำเพื่อประโยชน์ของเรา ถ้าสังคมเข้มแข็งนะ สังคมเข้มแข็ง เข้มแข็งด้วยสติปัญญา มีสติมีปัญญา ไม่ได้เข้มแข็งด้วยอะไร ถ้ามีสติมีปัญญา เราจะรู้สิ่งใดว่าควรไม่ควร ถ้าสิ่งที่ไม่ควร เราก็ไม่ควรไปยุ่งกับเขา มันไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเรา สิ่งที่ควร ที่ควรไม่ต้องมีใครมาบอกเรา เราจะทำของเราเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในป่าในเขา เวลาตรัสรู้ขึ้นมาอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่องค์เดียว แม้แต่ปัญจวัคคีย์ก็ยังทิ้งไป ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากมาอยู่ ๖ ปี ถึงเวลาแล้วทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่โคนต้นโพธิ์องค์เดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับโคนต้นโพธิ์เท่านั้น

แล้วพวกเรา เราปฏิบัติ มันจะต้องให้สังคมเขามาเชิดชู สังคมเขามาช่วยเหลืออะไรกัน บิณฑบาตได้มา ดูสิ พระที่เขาจะภาวนาของเขา บิณฑบาตมา พะรุงพะรังมา ๒ บาตร ๓ บาตรล้นมา หิ้วกันมาไม่หวาดไม่ไหว แล้วมาฉันแล้วก็ฉันแค่อิ่มเดียว แล้วอิ่มแล้วที่เหลือจะทำอย่างไร

เพราะคนที่เขามีสติมีปัญญา ของที่เขาได้มา เขาได้มาด้วยลำแข้งของเขา เขาหามาด้วยความลำบากลำบนของเขา เขาจะทำประโยชน์ของเขา ต้องให้สัตว์ ให้อะไร ให้เป็นประโยชน์ คือไม่ทิ้งเสียหายไง ถึงไม่ได้เขาก็ไปหมักเป็นปุ๋ยเป็นอะไรเพื่อประโยชน์กับสิ่งที่มีชีวิต นี่มันยิ่งเป็นภาระหน้าที่ไปหมดเลย ถ้าคนที่มีสติปัญญา คนที่เป็นคนดีเขามีเงิน เขารับผิดชอบ ไม่ใช่คนไม่เอาไหน คนไม่เอาไหน สิ่งใดก็ไม่เอาไหน อะไรก็ทิ้งๆ ขว้างๆ อะไรก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย เขาหามาก็หาด้วยความลำบากของเขา เอามาแล้วก็ไม่ใช้ประโยชน์ของเขาให้เต็มที่ นี่มันส่อถึงหัวใจไง

ถ้าหัวใจคนที่ปฏิบัตินะ หัวใจที่คนเป็นคนดี ทุกอย่างจะเป็นความดีไปหมดเลย ถ้าหัวใจคนไม่ดีนะ สังคมดีเขาก็ทำไว้ดีๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำไว้ของท่านเป็นกองทัพธรรม เป็นนักปฏิบัติขึ้นมา วางรากฐานไว้ให้กับสังคมของเรา เรายังมาวิตกวิจารณ์ มาขัดมาแย้ง มาสร้างสถานะ มาสร้างสิ่งใดขัดขวางเขาไป นี่ไง สังคมมันอ่อนแอ อ่อนแอก็ทำให้ทุกอย่างเสียหายไปหมดเลย ถ้าสังคมเข้มแข็ง เข้มแข็งด้วยสติปัญญา

กรณีนี้มันมี มีที่ว่ามีคนศรัทธาใหญ่มาก เขาศรัทธาแล้วเขาไปหาหลวงตา เขาบอกว่า “อู๋ย! ดิฉันศรัทธามากเลยนะคะ พระสายปฏิบัติ ยิ่งสายหลวงปู่มั่น ดิฉันศรัทธามากเลยค่ะ”

หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าเอาไว้ เกิดถ้าเขามีประสบการณ์สิ่งใด เขาจะเสียใจภายหลัง ถ้าเขาศรัทธารุนแรงอย่างนี้ ท่านเลยบอกว่า “เรามั่นใจว่าในสายปฏิบัติของหลวงปู่มั่น เพราะพระปฏิบัติในสายหลวงปู่มั่นมีมาก ฉะนั้น พระในสายปฏิบัติของหลวงปู่มั่นมีทั้งดีและทั้งที่ไม่ดีปนกัน มีทั้งที่ดี ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มี ผู้ที่ปฏิบัติไม่ดีก็มี”

พูดไว้ไง พูดไว้ให้เขาได้สติ เวลาถ้าเขาไปเจออะไรขึ้นมา เขาจะได้ อ๋อ! ในสังคมทุกสังคมมีของดีและของไม่ดีปนกัน ไม่มีสังคมใดดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสังคมใดเลว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลวปะปนกันอยู่

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาบอกว่าเขาต้องทำอย่างนั้นๆ ในสังคมปฏิบัติมันก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันอยู่ ถ้าสังคมที่ฉลาด สังคมที่ไม่อ่อนแอ สังคมที่มีสติปัญญา เขาคัดเลือกของเขาเอง เขาดูของเขาเอง ถ้าเขาดูของเขาเอง เพราะกรณีอย่างนี้มันเป็นกฎหมายปกครอง

กฎหมาย ธรรมวินัยมันเป็นความเชื่อ เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติให้หลุดพ้นจากกิเลส แต่ในเมื่อสังคมอยู่ด้วยกันก็ต้องมีกฎหมายคุ้มครองดูแล ในเมื่อกฎหมายคุ้มครองดูแล มันก็ พ.ร.บ.สงฆ์ กฎหมายคุ้มครอง กฎหมายปกครอง ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การปกครองเขาก็ต้องจัดการเพื่อให้สังคมนั้นสงบร่มเย็น ไม่ให้สังคมนั้นแตกแขนง ไม่ให้สังคมนั้นมีสิ่งใดกระทบกระเทือนกัน ผู้ปกครองก็ต้องจัดการ

ฉะนั้น คำถามถามมา เราเป็นพระ เป็นพระในตัวเราเอง เราคนเดียวรับประกันว่าเราเป็นพระ ถ้าคนอื่นจะยอมรับเราเป็นพระหรือเปล่าไม่รู้ ฉะนั้น เราเป็นพระ เราไม่มีหน้าที่ปกครอง เรามีหน้าที่ปกครองหัวใจเรา เรามีหน้าที่ปกครองในวัดเรา เรามีหน้าที่ปกครองสังคมที่เขาศึกษามา เราจะปฏิบัติอย่างนั้น เราจะแก้ไขอย่างนั้น ฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ จบ

ถาม : ข้อ ๑๓๒๕. เรื่อง “ทำบุญทิ้งเหว”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมมีเรื่องอยากเรียนถามเกี่ยวกับการทำบุญครับ ในสังคมไทย บ่อยครั้งที่มีการถกเถียงกันว่า การบริจาคเงินให้ขอทานโดยไม่คำนึงถึงว่าเขาเป็นขอทานจริงหรือไม่ เป็นการทำบุญหรือเปล่า โดยเรื่องที่ถกเถียงกันนี้เกิดจากหญิงขอทานรายหนึ่งที่พาลูกที่อ้างว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวไปเร่ขอทาน แต่เมื่อมีมูลนิธิไปสอบถาม ชาวบ้านละแวกนั้นเล่าว่าแม่ลูกคู่นี้ขอทานแบบนี้มา ๒-๓ ปีแล้ว และพอได้เงินจำนวนหนึ่งในแต่ละวันก็จะมีมอเตอร์ไซค์มารับกลับบ้าน อีกทั้งคนลูกก็กลับดูแข็งแรงดี และเมื่อได้ไปพบเจอเข้า ทางมูลนิธิเขาจะช่วยเหลือ แต่หญิงดังกล่าวกลับปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ลูกเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ชาวพุทธฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดว่า ทำบุญทิ้งเหว ขอเพียงทำแล้วสบายใจก็พอ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดว่าเป็นการส่งเสริมกระบวนการค้ามนุษย์ เพราะไม่แน่ว่าเด็กอาจจะถูกลักพาตัวมาเพื่อให้เป็นขอทานด้วย ทั้งนี้เคยมีผู้เล่าว่าเคยเห็นเด็กผู้หญิงคนดังกล่าวร้องไห้พูดว่า “ช่วยหนูด้วยหนูอยากกลับบ้าน” ผู้เป็นแม่ก็รีบเอาผ้าปิดปากไว้ไม่ให้เด็กพูดต่อ

ทำให้กระผมคิดถึงว่า การทำบุญตักบาตรหรือถวายปัจจัยแก่พระรูปใดๆ ก็ตาม หากเราทำบุญทิ้งเหวโดยไม่ตรวจสอบว่าพระเหล่านั้นเป็นพระจริงหรือพระปลอม เราจะได้บุญหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นพระปลอม หรือซ้ำร้ายเป็นพระจริง แต่เข้ามาอาศัยศาสนาหากิน หลอกขายมรรคผลนิพพาน แล้วเราไปทำบุญของพระแบบนี้ ก็ไม่ยิ่งเท่ากับว่าเราสนับสนุนการทำลายพระพุทธศาสนา น่าจะเป็นบาปมากกว่าหรือไม่ครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ หากเป็นไปได้ เมื่อพระอาจารย์ตอบคำถามแล้ว ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อเฉพาะกัณฑ์ที่ท่านเทศน์ตอบ หากท่านไม่อนุญาตก็จะไม่นำไปเผยแพร่ครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : ไม่อนุญาต เพราะไม่อนุญาตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สิ่งที่เขาเอาไปทำกัน เขาเอาไปทำโดยที่เราไม่รู้เรื่อง ไม่อนุญาต เพราะการอนุญาตมันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่ง ถ้าอนุญาตไป เราเห็นแต่ผลประโยชน์ไง เห็นว่าถ้าตอบดีแล้ว ตอบดีแล้วก็จะเอาไปลงอินเทอร์เน็ต ออกไปแล้วก็จะเอาไปเผยแพร่ต่อ ถ้าเผยแพร่ต่อมันก็เหมือน ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มี มีบอกว่า มนุษย์เกิดมามีขวานมาคนละเล่มคือปาก เที่ยวถากถางเขาไปทั่ว

นี่ก็เหมือนกัน พอเราตอบปัญหาเสร็จแล้ว ปัญหาที่ถูกใจก็เอาปัญหาเราไปถากถางคนอื่นต่อ ไอ้คนที่เขามีปัญหาอยู่มันก็โดนธรรมะเรา โดนปากของเราถากถางไป มันก็เจ็บปวดกับพระสงบ พระสงบขวางโลก เขาจะหากินกันก็ชอบมาขวางโลก มาเอาเราไปเป็นศัตรูเขาทั่วไปหมดเลย ฉะนั้น ไม่อนุญาต

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก มนุษย์เกิดมาถือขวานกันมาคนละเล่มคือปาก พระพุทธเจ้าเปรียบปากคนเหมือนขวาน ขวานเขาเอาไว้ถากต้นไม้ไง แต่อันนี้ไว้ถากถางคนอื่นไง แล้วไอ้ปากมันก็ถากถางเขาไปทั่ว แล้วก็จะเอาไปลงในอินเทอร์เน็ต ไปถากถางเขาต่อ ไม่อนุญาต

แต่ถ้าคนเขาเข้ามาฟัง เขาสนใจของเขา มีดเขาเอาไว้ใช้ในครัว เวลาใครจะทำครัว เวลาใครจะใช้ประโยชน์ เขาจะมีมีดของเขา เขาใช้ประโยชน์ของเขา แต่ถ้าเขาไม่ใช้ประโยชน์ของเขา เขาไม่ต้องใช้ประโยชน์ของเขา ก็ไม่ต้องให้ใครมาใช้ เราทำประโยชน์แค่นี้พอ

ฉะนั้น เรื่องอนุญาตไหม? ไม่อนุญาต ไม่อนุญาต ฉะนั้น พอไม่อนุญาตจะตอบปัญหาแล้ว ปัญหาที่ว่า มีคนที่ว่า ในสังคมไทยว่าทำบุญทิ้งเหวๆ แล้วก็บอกว่าการทำบุญกับขอทานทำแล้วได้สบายใจ

ทำบุญทิ้งเหวมันตีความกันไม่ถูกไง คำว่า “ทำบุญทิ้งเหว” เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกว่าทำบุญทิ้งเหว ท่านสอนใคร ท่านสอนคนที่ทำบุญแล้วยังพะวักพะวงกับบุญของตัว

คนทำบุญแล้วนะ บุญนี้จะเป็นอย่างนั้น ยังติดตามไปอยู่ พระรับบิณฑบาตมา บิณฑบาตมา ๓ บาตร พระต้องฉันหมดเลย พระให้ใครไม่ได้เลย พระบิณฑบาตมา ยิ่งปีใหม่ ใส่สิบล้อมาด้วย พระต้องฉันให้หมดสิบล้อเลย ถ้าไม่ฉันหมดสิบล้อ เขาต้องตามมาเฝ้า ตามมาน้อยใจว่าทำบุญแล้วไม่ได้บุญ

ทำบุญทิ้งเหวคิดในทางบวก ทำบุญทิ้งเหวคิดในทางบวก ทำแล้วไม่ติด ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะที่ให้ แล้วให้แล้ว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ให้ด้วยความบริสุทธิ์นี่อยากได้ ทำแล้วยังติดตาม ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะให้ ให้แล้ว พอให้แล้วก็กลับบ้านนะ

คนถามปัญหามาก็ปัญหานี้แหละ “หลวงพ่อ ทำบุญเสร็จแล้วต้องกรวดน้ำไหม ทำบุญแล้วต้องได้” นี่ทำบุญเสร็จไปแล้วนะ ยังวิตกวิจารณ์ต่อ ไม่ทิ้งเหว มันยังติดพันไปนะ ทำบุญตั้งแต่ชาติที่แล้ว ชาตินี้ว่ายังไม่ได้กรวดน้ำ มันจะมากรวดน้ำชาตินี้ไง ทั้งชาติเลยนะ มันไม่ทิ้งเหว มันติดสายความผูกพันมาจนเป็นชาติๆ เลย

ทำบุญทิ้งเหว เขาบอกว่า สิ่งใด พระพุทธเจ้าสอนนะ สิ่งใดที่เราทำแล้วเราเสียใจภายหลัง ร้องไห้เสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งใดทำแล้วเสียใจร้องไห้ภายหลัง ฉะนั้น ไม่ควรทำ ถ้าไม่ควรทำก็ต้องมีสติ ถ้ามีสติยับยั้งมันก็ไม่ทำสิ่งนั้นให้เสียใจช้ำใจ สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย ไม่ควรทำ

การทำบุญกุศล ทำแล้ว สิ่งใดทำแล้ววิตกกังวล ยังคิดเล็กคิดน้อย ทำบุญแล้วมันมีความระแวงแคลงใจ อย่างนี้เขาให้ทำบุญทิ้งเหว ทำบุญทิ้งเหวต่อเมื่อทำบุญแล้ว ทำบุญทิ้งเหวคือทำบุญแล้วไม่ให้เอาการทำบุญนั้นมาเป็นประเด็นให้เราขุ่นข้องหมองใจ

แต่ในการก่อนจะทำบุญ ก่อนจะทำบุญ นี่ปฏิคาหก ปฏิคาหก ของที่ได้มาได้มาแสนทุกข์แสนยาก โยมทำงานมาลำบากไหม หาเงินหาทองมาทุกข์ยากไหม แล้วขณะที่เราจะใช้ไป เราจะจ่ายไป เราจะสละไป ทำไมไม่มีปัญญา นี่เขาไม่ให้ทิ้งเหวหรอก เขาให้ใช้ปัญญาไตร่ตรอง ปฏิคาหก ผู้รับบริสุทธิ์ไหม ถ้าผู้รับไม่บริสุทธิ์ อย่าไปให้มัน ไปให้ที่อื่น ให้ที่เราบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าใครก็จะให้ ใครก็จะให้ มันไม่ใช่ เพราะว่าเราจะให้เอง เราประมาทเลินเล่อ เราไม่มีสติปัญญาเอง เราให้เอง พอเราให้เสร็จแล้วเราก็ไปโทษธรรมะพระพุทธเจ้า ธรรมะพระพุทธเจ้าบอกว่าทิ้งเหวๆ

ทิ้งเหว เขาให้เอ็งคิดทิ้งเหวทั้งชาติเลยหรือ ทิ้งเหว เขาให้คิดเวลาเอ็งวิตกกังวล เวลาเอ็งมีความทุกข์ใจ เขาถึงให้ทำบุญทิ้งเหว แต่ขณะที่เอ็งไม่ทำบุญ ไม่ต้องทิ้งเหวหรอก เพราะเงินอยู่ในกระเป๋า ไปทิ้งทำไม เงินอยู่ในกระเป๋าเขาไม่ทิ้งเหวหรอก เขาเก็บไว้

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะแยะไป ผู้ที่ได้หาเงินมาแล้ว หาเงินมาแล้ว ๑ บาท ให้เก็บไว้ใช้จ่าย ๑ สลึง ให้ดูแลพ่อแม่ ๑ สลึง ให้เก็บไว้เจ็บไข้ได้ป่วย ๑ สลึง เหลืออีก ๑ สลึงนั้นฝังดินไว้ เขาไม่ได้บอกให้ทิ้งเหว หาเงิน ๑ บาท ทุ่มไปเลย ๑ บาท ๑ บาททุ่มไปแล้วยังไปกู้มาอีก ๑ บาทมาทำต่อ ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แม้แต่หามาแล้วยังต้องรู้จักเก็บรักษา รู้จักมัธยัสถ์ เก็บรักษาไว้ใช้ประโยชน์กับชีวิตนี้ ใช้อยู่ ใช้กิน ใช้เพื่อทำทุน ใช้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ที่เหลือแล้วถึงทำบุญ ที่เหลือแล้วถึงทำบุญ แล้วทำบุญก็ไม่ใช่ทำบุญทิ้งเหว พระที่ไม่ไว้วางใจ เธอไม่ควรทำ ไม่ควรทำเพราะอะไร พระพุทธเจ้าบอกไว้ เวลาจะทำบุญให้มีสติให้มีปัญญา ให้มีสติมีปัญญา ไม่ได้บอกทิ้งเหวหรอก

คำว่า “ทิ้งเหว” เราเหมารวมไง ธรรมะเหมาเข่ง เวลาปฏิบัติ “ธรรมะเป็นธรรมชาติ นิพพานมีอยู่แล้ว” เหมาเข่งเลย “คนเกิดมามีนิพพานอยู่ในหัวใจแล้ว” เหมาเข่งเลย

คนเกิดมามีจิตวิญญาณ มีกิเลสครอบงำหัวใจ ธรรมะกว่าจะสร้างขึ้นมาต้องมีสติมีปัญญามหาศาลเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะทำบุญทิ้งเหว ทำบุญทิ้งเหว พูดถึงคนที่ทำ คนที่มีศรัทธา คนที่มีความเชื่อ ทำแล้ววิตกกังวล คนที่ทำบุญใหม่ๆ เป็นอย่างนั้นหมด คนทำบุญใหม่ๆ ไม่กล้าทำอะไรเลย แต่พอทำไปแล้วจิตใจเป็นบุญกุศล ทำจนชินแล้วไม่ทำ มันก็มีความขัดใจ พอทำไปแล้ว ทำไป บางคนถ้ามันมีกิเลสมาก ทำแล้วก็ยังติดตามไป ยังตามไป นี่ให้ทำบุญทิ้งเหว

แต่ขณะที่ว่าขอทาน คำว่า “ขอทาน” เราจะช่วยเหลือเขา เราต้องมีปัญญา ถ้าขอทานนะ ถ้าเราช่วยเหลือคนทุกข์คนเข็ญใจ ทานคืออะไร ทานนะ เวลาเทวดามาถามพระพุทธเจ้า ในมงคลชีวิต แม้แต่เราล้างถ้วยล้างจาน เศษอาหารที่มันติดในถ้วยในจาน น้ำที่มีอาหารนั้นสาดไป สัตว์มันได้กินเศษอาหารนั้น นั้นก็เป็นทาน นั่นเป็นบุญแล้วนะ เราทำสิ่งใดโดยรู้ไม่รู้ สิ่งที่ได้เป็นประโยชน์ นั่นเป็นบุญแล้ว

แต่ถ้าเวลาเราทำบุญกุศลจะเอาผลประโยชน์กันล่ะ ผลประโยชน์ พระพุทธเจ้าสอนถึงเนื้อนาบุญแล้ว ให้เลือกไหม ถ้าเธอจะเอาผลประโยชน์ นี่เหมือนกัน เราจะทำผลประโยชน์ นี่เหมือนกัน เราเห็นคนทุกข์คนจน เราเห็นคนลำบาก เราช่วยเหลือไหม? เราช่วย เราอยากช่วยกัน เราช่วยนี่เป็นบุญไหม? เป็น แต่ถ้าเราช่วยไป เพราะอย่างนี้ไงคนทำบุญเขาถึงไม่กล้าประกาศตัวกันไง อย่าประกาศตัวว่าเป็นคนบุญนะ เดี๋ยวหน้าบ้านจะไม่ว่าง รถจอดเต็มเลยนะ ใครๆ ก็จะมาขอความช่วยเหลือ

เขาช่วยเหลือกัน เขาช่วยเหลือกันไม่ให้คนรู้ว่าเราช่วยเหลือใคร เขาช่วยเหลือกัน ไอ้คนที่ช่วยเหลือแล้วต้องการชื่อเสียงเกียรติศัพท์เกียรติคุณนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องการชิงดีชิงเด่นทางกิเลสทั้งนั้นแหละ

คนที่เขาเป็นธรรมจริงๆ เขาทำกันใต้ดิน เขาทำกันไม่ให้ใครรู้ เขาทำกัน เขาทำอย่างนั้น เขาทำ นี่เหมือนกับทิ้งเหวไง ทิ้งชื่อเสียงเกียรติศัพท์เกียรติคุณไง เขาจะเอาความจริงของเขาไง แต่นี้เราไปอย่างนั้น เราก็เอาคำว่า “ทำบุญทิ้งเหว” เอามาอ้างกันว่าทำบุญต้องทิ้งเหว

ทำบุญทิ้งเหว เรามาพูดเองแหละ เราพูดเองเพราะเรารำคาญ ใครมาใส่บาตรแล้วก็ต้อง “ฉันนะ ฉันนะ” อู๋ย! ตั้งอยู่นี่เต็มไปหมดเลย จนปวดหัว ไม่หวาดไม่ไหว

รับเป็นบุญก็รับแล้ว เวลาไปหาหลวงตา น้ำใจ รับเป็นน้ำใจเนาะ รับแล้ว ใครมาก็รับเป็นน้ำใจ มันก็ได้บุญแล้วแหละ แต่ว่าจะต้องให้ใช้ทุกเม็ดทุกอย่าง แล้วคนอื่นไม่ต้องใช้ใช่ไหม ในวัดนี้พระก็เต็มวัด พระองค์อื่นใช้ไม่ได้เลยหรือ ของที่เอามาให้เจ้าอาวาสใช้องค์เดียวเนาะ พระองค์อื่นใช้ไม่ได้ เพราะอย่างนี้ก็ต้องทิ้งเหวสิ ทิ้งเหว รับแล้วรับเป็นน้ำใจ แต่ถ้าเรามีปัญญาเราต้องคิด

ฉะนั้น คำว่า “ทิ้งเหว” อย่างเช่นขอทาน ขอทานนะ คนที่ทุกข์จนเข็ญใจ คนเรานะ พระโพธิสัตว์ เวลาพระโพธิสัตว์นะ เวลาเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นอะไร เขาเป็นพระโพธิสัตว์ คนเราเวลาเกิดมา มันเกิดแต่ละภพแต่ละชาติ มันสูงๆ ต่ำๆ เราไม่ดูถูกดูแคลนกันหรอก เราไม่ดูถูกดูแคลนสิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สิ่งที่เป็นแง่บวก แต่สิ่งที่ว่าเป็นเทวทัต สิ่งที่เกิดมาทำลาย เขาบอกว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปส่งเสริมอย่างนั้นเท่ากับเราส่งเสริมเรื่องของการค้ามนุษย์

ถ้าคนเขาคิดค้ามนุษย์ เขาเอาคนมาทำให้พิการเพื่อมาขอทาน เราส่งเสริมเขาได้อย่างไร เราส่งเสริมเขาไม่ได้หรอก เราก็ต้องมีปัญญา เรามีปัญญา คนที่มีปัญญา เขาช่วยการค้ามนุษย์ เขาช่วยคนที่โดนหลอกโดนลวงมาเยอะแยะ ถ้าโดนหลอกลวง เราเห็นสภาพว่ามันไม่เป็นความจริง เราแจ้งตำรวจเลย ให้ตำรวจเขาไปตรวจสอบ ถ้าตำรวจตรวจสอบแล้วมันเป็นการค้ามนุษย์ไหม เราทำอย่างนั้น ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็จบ

ฉะนั้น เราไม่ใช่ว่าเราจะต้องส่งเสริม ไม่มีการตรวจสอบเลย คนอย่างนี้ไม่ใช่ชาวพุทธ ชาวพุทธ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา อย่างนี้ใช้ปัญญาแล้วหรือ อย่างนี้ไม่ได้ใช้ปัญญา แล้วก็เอาทำบุญทิ้งเหวนี้มาอ้างด้วย เอาทำบุญทิ้งเหวมาบังหน้าไว้ นี่ไง เอาธรรมะมาบังหน้าไว้ ฉันเป็นโจรจะปล้นกัน ฉันจะเป็นคนฉกชิงวิ่งราวกัน เอาธรรมะมาบังหน้าไว้

นี่ก็เหมือนกัน ทำบุญทิ้งเหวมาบังหน้าไว้ แล้วจะทำอะไรก็ได้ ก็บอกเป็นการทำบุญทิ้งเหว...ไม่ใช่ ไม่ใช่ ทำบุญต้องมีปัญญา ถ้าเราเห็นสภาพว่าน่าสงสาร มันเป็นสิ่งที่เร้าใจ อยากทำก็ทำไป ถ้าทำครั้งแรก ครั้งที่ ๒ เอ๊ะ! ทำไมมันเป็นอย่างนี้อีก ครั้งที่ ๓ มันต้องคิดแล้ว ทำบุญ ๒-๓ ที

ถ้าครั้งแรก เออ! เราก็ให้อภัยตัวเองได้ โง่ เห็นแล้วสงสารเขา อ้าว! ก็ทำไป พอครั้งที่ ๒ เอ๊ะ! มันน่าแปลกใจเนาะ อ้าว! ก็คิดสิ ยิ่งครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๓ ต้องเรียกตำรวจแล้ว มันก็ต้องคิดสิ ถ้ามันคิดอย่างนี้มันก็ไม่ทิ้งเหวไง

ทีนี้ว่าการค้ามนุษย์ ทีนี้เราจะบอกว่าในเรื่องของเวรของกรรม คนเกิดมาสูงๆ ต่ำๆ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด ถ้าคนที่เขาเป็นคนนะ ดูสิ ผู้ดีตกยากมีไหม ผู้ดีตกยากในสังคมไทยเรามันก็มีใช่ไหม แล้วถ้าผู้ดีตกยาก เราน่าเห็นใจไหม คนเรานะ ถึงสูงๆ มันก็ต่ำได้ มันก็ต่ำต้อยได้ ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นว่าเขาจะต่ำต้อยแล้วจะดูถูกดูแคลนไปเสียหมด แต่ถ้าเขาเป็นการหลอกลวงกัน เป็นการหลอกลวง เป็นการฉ้อโกง อันนั้นเราก็ให้อภัยเขาไม่ได้ ดูสิ เด็กดีๆ เอามาทำให้มันพิการเสีย คนทั้งคน เอ็งทำลายเขาได้อย่างไร เห็นแก่ประโยชน์ของคนคนเดียว ไปทำลายคนอีกคนหนึ่ง มันทำได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนี้แล้วเราไม่ทิ้งเหวหรอก

นี่พูดถึงคำว่า “ทำบุญทิ้งเหว” นะ มันถามมาเรื่อย ดูสิว่าเขาเป็นเม็ดเลือดขาว ก็ว่ากันไป มูลนิธิจะไปช่วย อันนั้นมันเป็นปัญหาของเขา ทีนี้ปัญหาว่า “ซ้ำร้ายกว่านั้น ถ้าหากทำบุญทิ้งเหวโดยที่ไม่ตรวจสอบ พระเหล่านั้นเป็นพระจริงก็ได้ พระปลอมก็ได้ แล้วทำบุญจะได้บุญไหมล่ะ”

พระปลอมเดี๋ยวนี้เยอะ ถ้าทำบุญได้บุญไหมล่ะ ทำบุญ ถ้าทำบุญนะ เราว่าเสียสละมันก็จบ ถ้าเราไม่เสียสละนะ ไม่ได้บุญหรอก เพราะคำว่า “พระปลอม” พระปลอมเขาปลอมมาบวช เขาปลอมมา ในสมัยก่อนหน้านั้น ที่ว่าเวลาพระมาบวช ในพระไตรปิฎก จับสึกๆ ถามเลย “อริยสัจ ๔ คืออะไร” ตอบไม่ถูก จับสึกหมด เพราะเวลาลาภสักการะมันเกิดขึ้นมา พระปลอมมาบวชในสมัยพุทธกาลก็มี ฉะนั้น พระจริงพระปลอมใช่ไหม นั่นพระจริงพระปลอม

“ซ้ำร้ายกว่านั้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระปลอม ซ้ำร้ายเป็นพระจริง แต่เข้ามาอาศัยศาสนาหลอกขายมรรคผลนิพพาน แล้วพากันไปทำบุญกับพระแบบนั้น ไม่ยิ่งเท่ากับว่าสนับสนุนทำลายพระพุทธศาสนาหรือ”

นี่ชักคิดเป็นแล้วนะ ถามไปถามมาชักถามถูก ชักถามเป็นแล้ว เวลาขอทาน เราก็มองไปอย่างหนึ่ง เวลาพระ ถ้าเราสนับสนุนในการทำลายศาสนาไหม

ในพระไตรปิฎกมีเยอะ เวลาพระดีๆ นะ เวลาออกบิณฑบาต พอบิณฑบาตอาหารของโยมมา บิณฑบาตปัจจัย ๔ ของโยมมา แล้วได้ฉันปัจจัย ๔ นั้น ได้ฉันอาหารนั้นเพื่อดำรงชีวิตนั้น แล้วเช็ดบาตร ล้างบาตรเสร็จ เขานั่งสมาธิอยู่โคนต้นไม้นั้น จิตเขาเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เข้าอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าสมาบัติไง เข้าความสงบของใจ เข้าฌานสมาบัติ เขาสงบในใจของเขา เขาได้ความสุขของเขา

ผู้ที่ทำบุญตักบาตรกับพระองค์นั้นมา เราฉัน บิณฑบาตของเขาแล้ว เราได้นั่งเข้าคู้ที่โคนต้นไม้นั้น ได้กำหนดลมหายใจเข้าออก ได้กำหนดพุทโธ จิตใจลงสู่สมาบัติ ๘ จิตใจนั้นได้ยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตใจนั้นยกขึ้นวิปัสสนา เขาได้ใช้ปัญญาของเขา ได้ดำเนินอริยมรรค ได้ชำระล้างกิเลสนั้น

เห็นไหม ได้ฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วกำหนดของท่าน บุญในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วเข้าประพฤติปฏิบัตินั่งคืนนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอยู่ ๔๕ ปี วันที่นิพพานได้ฉันอาหารของนายจุนทะเป็นมื้อสุดท้าย แล้วเป็นมื้อสุดท้ายแล้ว ถ้าคนไม่เข้าใจ ก็เพราะฉันอาหารของนายจุนทะแล้วจะทำให้ญาติโยมเขาไปเพ่งโทษจุนทะ เพราะฉันอาหารของจุนทะ อาหารของจุนทะเป็นพิษ อาหารเป็นพิษทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน เขาจะไปติเตียนนายจุนทะนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอนาคตังสญาณ รู้อนาคตกาลข้างหน้า บอกกับพระอานนท์ไว้ “อานนท์ เธอบอกเขานะ ถ้ามีใครจะมาติเตียนนายจุนทะว่าเพราะเราฉันอาหารของนายจุนทะแล้วเราถึงซึ่งขันธนิพพาน แต่โลกไม่เข้าใจว่าอาหารนั้นเป็นพิษทำให้เราตาย เขาจะไปโทษนายจุนทะนั้น เพราะฉันอาหารของนายจุนทะ นายจุนทะนั้นจะเป็นที่เพ่งโทษของสังคม”

“อานนท์ เธอบอกเขา เราฉันอาหารอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งเราฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราทำวิชชา ๓ ขึ้นมา จนเราทำลายกิเลส สำรอกคายกิเลสออกจากใจของเรา ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คราวหนึ่งเราฉันอาหารของนายจุนทะ ฉันอาหารของนายจุนทะแล้วเราพิจารณาของเรา เราพิจารณา เราจะวางธาตุขันธ์ของเรา เราจะวางธาตุขันธ์ เราจะปล่อยวางธาตุปล่อยวางขันธ์ เราจะทิ้งธาตุทิ้งขันธ์ ทิ้งเศษส่วนของชีวิตนี้ไว้กับโลกนี้ เธอบอกเขา เธอบอกเขาว่าบุญ ๒ คราว คราวหนึ่งเราได้บิณฑบาตจากนางสุชาดามา อีกคราวหนึ่งเราได้ฉันอาหารของนายจุนทะมา นี่ ๒ คราว บุญยิ่งใหญ่ ๒ คราว”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำบุญตักบาตรกับพระที่เป็นพระจริง แล้วพระจริงฉันอาหารของเรา แล้วภาวนาของท่าน ถ้าภาวนาของท่าน จิตของท่านเป็นสมาธิ จิตของท่านเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นบุญกุศลของผู้ที่ทำบุญกุศล ผู้ที่ใส่บาตรนั้นไป ถ้าเป็นพระจริง พระจริงมันเป็นแบบนี้ไง

บอกว่า เราทำบุญ ซ้ำร้าย เราทำบุญไม่เท่ากับทำลายพระพุทธศาสนาหรือ

ถ้าเราไปสนับสนุนคนทำชั่ว เราสนับสนุนคนอาศัยศาสนาหากิน เราก็คิดสิ เราก็ดูสิ พฤติกรรมมันดูได้ พระที่ปฏิบัติเขาปฏิบัติแล้วเขาต้องมีความสงบสงัดของเขา เขาอยู่ในที่วิเวกของเขา เขาไม่คลุกคลี เพราะการคลุกคลีนั้นมันเป็นเรื่องทางออกของกิเลส

ถ้าพระปฏิบัติเขาฉันของเขาแล้วเขาจะเงียบของเขา เขาจะเข้าไปสู่กุฏิของเขา เขาไปสู่โคนไม้ของเขา เขาไม่คลุกคลี คนที่ปฏิบัติไม่คลุกคลี เพราะการคลุกคลีคือทางออกของกิเลส การนินทากาเล การพูดคุย การต่างๆ เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้นแหละ คนที่ปฏิบัติเขาไม่ทำอย่างนั้น มองก็ออก คนปฏิบัติมองคนปฏิบัติออก คนปฏิบัติเขาฉันเสร็จแล้วเขารีบเช็ดบาตรของเขา ผึ่งบาตรของเขา ผึ่งผ้าของเขา พับผ้าของเขา เก็บผ้าของเขาเสร็จ เขาเข้าที่แล้ว เขาเข้าทางจงกรม เขานั่งสมาธิภาวนาของเขาต่อไปเลย นี่เราทำบุญตักบาตรกับพระอย่างนั้น บุญกุศลมันเกิดอย่างนี้ไง

นี่ไง บอกว่าการใส่บาตรไป เราบอกว่าทำบุญได้บุญ ใส่บาตรได้บุญๆ เพราะใส่บาตรก็ให้ชีวิต ให้ชีวิตเขาไปภาวนา แล้วเกิดปัญญา จิตมันวิปัสสนา มันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเป็นบุญไหมหรือไม่เป็นบุญ

ไม่ใช่เป็นบุญธรรมดานะ เราให้ชีวิตต่อกันมันก็เป็นบุญอยู่แล้ว นี่ให้ชีวิตไปแล้ว เพราะอาศัยอาหารอันนั้น อาศัยปัจจัย ๔ ที่โยมเขาทำบุญนั้นมา อาศัยสิ่งนั้นเป็นฐาน แล้วจิตมันสงบขึ้นมา มันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ได้บุญไหม ได้บุญไหม

แล้วมันทำลายศาสนา ถ้าพระปลอมมันก็เป็นจริงๆ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระที่เป็นอลัชชีเขาแสวงหามา เขากินอาหารของโยมมา พอกินอาหารของโยมมา เขาบิณฑบาตมา เขากินอาหารของโยมมา กินอาหารของโยมมาเสร็จแล้วก็นั่งวางแผนจะทำลายใครก่อน จะทำลายใครก่อน

เพราะในพระไตรปิฎก พระทัพพมัลลบุตรที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แล้วขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แจกภัต เป็นผู้ที่จัดกิจนิมนต์ แล้วฉัพพัคคีย์ไม่ได้ดั่งใจ พอตกคิว ฉัพพัคคีย์ได้แต่คนจนๆ ก็คิดว่าพระองค์นี้เป็นคนกลั่นแกล้ง ก็เลยพยายามใส่ไคล้ไง พยายามใส่ไคล้เขาว่าพระองค์นี้มีเพศสัมพันธ์ ไปอ้างชื่อ ไปเห็นแพะ แพะผสมพันธุ์กัน มันก็ตั้งชื่อแพะนั้นเป็นชื่อตรงกับพระ แล้วก็บอกว่าเห็นพระองค์นั้นมีเพศสัมพันธ์กัน แล้วก็ตั้งชื่อ แล้วก็สร้างเรื่องขึ้นมา ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอเห็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ”

“จริง เห็นจริงๆ”

“เห็นเพราะอะไร”

เพราะเห็นแพะ แพะชื่อนั้น เห็นแพะมีเพศสัมพันธ์กัน เขาก็ตั้งชื่อให้ตรงกับชื่อพระนั้น แล้วก็บอกว่าเขาเห็นว่าพระองค์นั้นมีเพศสัมพันธ์กัน ชื่อนั้นมีเพศสัมพันธ์กัน แต่มันเป็นแพะไง นี่อยู่ในพระไตรปิฎก นี่อลัชชี ถ้าเขาทำลายอย่างนั้น เข้าไปฉันบ้านใคร ฉันบ้านเขาเสร็จแล้วเขาก็ตั้งใจที่จะมาทำลายศาสนา นี่อลัชชี คนที่ส่งเสริมมันก็ได้บาปไป เพราะเขาอาศัยอาหารนั้นเพื่อดำรงชีวิต แล้วเขาเอาชีวิตนี้ของเขาไปทำร้ายผู้ที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเวลาเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชุมสงฆ์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า นั้นเขาเป็นสติวินัยนะ

สติวินัยคือพระอรหันต์ นั้นเขาเป็นสติวินัย เธอกล่าวร้ายอย่างนั้นได้อย่างใด เธอกล่าวร้ายเขาอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะเขาเป็นสติวินัย แต่ฉัพพัคคีย์กล่าวร้ายเขา การกล่าวร้ายเขา นี่ไง ถ้าอย่างนี้ ถ้าเขาทำผิด เขาเป็นพระที่เขามาหลอกในศาสนา เขามาหากินในศาสนา เขาทำลายศาสนาไหม ถ้าเราไปส่งเสริมพระอย่างนั้นน่ะ เขาทำลายศาสนาแน่นอน แล้วเราก็มีบาปกรรมร่วมไปกับเขาเป็นสายบุญสายกรรม

ฉะนั้น เวลาทำบุญ พระพุทธศาสนาบอกศาสนาแห่งปัญญา ถึงบอกว่า “ยุ่งมากนัก ศาสนาพุทธนี้ลำบาก ทำอย่างนู้น ทำดีก็ แหม! ดีแล้วจะเลิศเลย พอทำดีของเราเข้าใจว่าดี แต่มันไม่ดี ก็บาปเสียเลิศเลย”

มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่มีใครบัญญัติสิ่งนี้ขึ้นมา มันเป็นอยู่อย่างนี้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริงๆ มันเป็นเรื่องจริงที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา รู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วเอาความเป็นจริงนี้มาบอกเราจริงๆ มันเป็นอยู่อย่างนี้

แล้วเราเป็นคน เราอยากเป็นคนดี เราอยากจะเอาตัวเราให้รอดพ้นไปจากสิ่งที่มันเป็นอกุศล เราก็ต้องพยายามดูแลใจของเรา รักษาใจของเราให้มันถูกต้องดีงามไป เราเองต่างหากที่ต้องอุปัฏฐากใจของเรา ดูแลใจของเรา ดูแลพุทธะของเรา เพื่อให้เราเป็นคนดี อยู่ในสังคมที่ดี อยู่ในธรรมที่ดีในหัวใจของเรา ให้รอดพ้นจากพญามาร ให้รอดพ้นจากสิ่งล่อในหัวใจ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้น ทำบุญทิ้งเหวมันเป็นแง่บวก แง่บวกว่าคนทำแล้วไปติดไปข้องไปต่างๆ ให้ทำบุญทิ้งเหวเสีย แต่ไม่ใช่ว่าทำบุญทิ้งเหวว่า ปิดหูปิดตาจะทิ้งเหวหมดเลย มันไม่ใช่

ฉะนั้น ใครจะดีจะชั่วก็ทิ้งเหวๆ มันไม่มีหรอก ทิ้งเหว มันก็ต้องทิ้งเหวในแง่บวกไง ถ้าทิ้งเหว ถ้าเราเอง เรามีความผูกพัน มีความวิตกกังวล ทำบุญทิ้งเหวเสีย แต่ถ้ามันจะมีสติปัญญา มันก็เข้าอันเดียวกับว่าสังคมอ่อนแอ ถ้ามีสติมีปัญญาไม่คิดอย่างนี้นะ นี่พูดถึงคนถามเคยถามมา แล้วถามถึงเรื่องปฏิบัติมา แต่คราวนี้พอพูดถึงทัศนคติ อืม! คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ทิ้งเหว เพราะเคยถามเรื่องภาวนามา เคยถามเรื่องภาวนามา ถามเรื่องจิตรวมอะไรมา เอ๊ะ! ทำไมมาลงทำบุญทิ้งเหว ทำไมแยกแยะอย่างนี้ไม่ได้

เราจะปฏิบัติกันนะ เราจะต้องมีสติปัญญาเท่าทันกับความรู้สึกนึกคิดของเรา คนที่จะปฏิบัติได้ต้องตามความคิดตัวเองทัน แล้วควบคุมความคิดของตัวจนความคิดสงบตัวลงเป็นสมาธิ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญานั้นจะเป็นวิปัสสนา ปัญญาภาวนามันจะฉลาดมาก คนภาวนาจะฉลาดมาก ไม่พูดนะ ปิดหูปิดตา แต่ฉลาดมาก ฉลาดในใจของตัว ฉลาดเท่าทันกิเลสของตัว

แต่นี่ก็ภาวนาอยู่ แล้วทำไมมาทำบุญทิ้งเหว

ทำบุญทิ้งเหว จะบอกว่า ทำบุญทิ้งเหวคิดในแง่บวก แต่ถ้าเวลาเราเจอสังคมที่ตามความเป็นจริง ต้องใช้สติปัญญา ไม่ใช่ทิ้งเหว คำว่า “ทำบุญทิ้งเหว” เป็นการอ้างของกิเลส กิเลสมันอ้างว่าทำบุญทิ้งเหว แล้วไม่ใช้สติปัญญาเลย ไอ้นี่มันเอาสีข้างเข้าถูแล้ว จะทำอะไรจะไม่ใช้สติปัญญาเลย ไม่ใช้สติปัญญาไตร่ตรองอะไรเลยหรือ มันต้องมีสติปัญญาไตร่ตรองสิ ไตร่ตรอง ถ้ามันผิดพลาดไปแล้ว เออ! ทิ้งเหวมันเสีย หรือทำบุญกุศลกับพระที่ดีๆ พระที่ดีๆ ทำแล้วอย่าไปติด อย่าไปติด อย่าไปเจ้ากี้เจ้าการ อย่าจะต้องไปบังคับบัญชาให้พระทำตามใจตัว นั่นล่ะทิ้งเหว

ทำบุญให้พระเสร็จแล้วก็จะถือไม้เลย คอยควบคุมเลย ต้องทำอย่างนี้ โอ๋ย! จะสั่งพระเข้าแถวเลยนะ ซ้ายหัน ขวาหัน

ทิ้งเหวเสีย อย่ามาสั่งพระ ให้พระทำของท่าน ถ้าทำบุญทิ้งเหว อย่างนี้ถึงจะทิ้งเหว ถ้าทิ้งเหวแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้าใจนั้นเนาะ เอวัง

pt;