ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เรื่องเก่า

๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๖

 

เรื่องเก่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๓๗. เรื่อง “พระที่นับถือท่านสึกไป”

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพ เนื่องจากได้มีพระผู้ใหญ่ที่เพื่อนหนูรักและเคารพมากๆ ท่านได้สึกอย่างกะทันหัน คำสอนของท่านเผยแพร่กว้างขวางไปทั่ว ทำให้ลูกศิษย์และเพื่อนๆ มีความตกใจและสะเทือนใจเป็นอย่างมาก อยากทราบว่าเราควรจะทำความเข้าใจอย่างไร วางใจอย่างไร

บางคนหรือแม้แต่ตัวหนูเองพยายามหาเหตุผล แต่คิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร บางทีคิดว่าอาจจะยึดติดตัวบุคคลมากเกินไป พอท่านสึกไป (ซึ่งท่านอาจจะไปทำอย่างอื่นที่ดีต่อสังคม หรือเหตุผลอื่นใด) ในใจมันมีความเคลือบแคลงสงสัย เลยรู้สึกเสียใจ หรือรู้สึกแปลกๆ บอกไม่ถูกค่ะ และกลัวว่าเพื่อนบางคนอาจจะถอดใจไม่เข้าวัดอีกค่ะ จึงอยากให้ท่านเทศน์แนะนำสั่งสอน เพราะเวลาหลวงพ่อตอบคำถาม มักจะมีคำตอบที่ตรงมาที่ใจหนูเสมอ เพื่อนๆ เคยมาวัดหลวงพ่อค่ะ แต่จะพยายามชวนเขามาบ่อยๆ กราบขอบพระคุณมากค่ะ

ตอบ : ชวนเขามาบ่อยๆ เดี๋ยวเราสึกอีกคนหนึ่งยุ่งใหญ่เลย (หัวเราะ) พอเห็นเขาสึกๆ ชวนมาบ่อยๆ แล้วเราหายไปอีกคนหนึ่งยุ่งตายเลย

อันนี้พูดถึงนะ เราพูดถึงสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาล เวลาพระบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา บวช-สึก บวช-สึก ๗ หนกว่าจะสำเร็จได้ก็มี บวชแล้วสึกไปก็มี แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ในสมัยปัจจุบันนี้นะ ในสังคมไทยเราเท่านั้นที่พระบวชแล้วสึกได้ ในลังกาเขาบวชแล้วไม่สึกนะ ในเมืองจีนก็บวชแล้วห้ามสึก แม้แต่ในพม่าเขาบวชแล้วเขาไม่ค่อยสึกกัน เขาบวชเลย ฉะนั้น วัฒนธรรมประเพณีเรายังไม่เข้าใจ

มันมีอยู่ทีหนึ่งนะ ที่พอเมืองจีนเปิดประเทศใหม่ๆ เราไปเผยแผ่กัน เมื่อก่อนจะมีพระมีเณรจากเมืองจีนมาบิณฑบาตเมืองไทยเยอะแยะมากเลย เพราะเราเห็นว่าประเทศเขาแบบเพิ่งเปิดประเทศ มีแต่ความทุกข์ เราก็ไปเอาเขามา พอเอาเด็กของเขาบวชเณรมา แล้วมาสึก กลับไป เขาอยู่บ้านเขาไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะประเพณีเขาไม่มีอย่างนั้น แต่ประเพณีของเรา ประเพณีมันคนละประเพณี เราไม่เข้าใจตามประเพณีนั้น

ฉะนั้น เวลาประเพณีนะ ประเพณี หมายถึงว่า ประเพณีท้องถิ่น พื้นถิ่นเขามีความเชื่ออย่างนั้น แต่ในพระไตรปิฎกมีอยู่แล้ว บวชแล้วสึกก็มี เวลาบวชแล้วสึกก็มี บวช-สึก บวช-สึก จนในสุตตันตปิฎก เวลาจะมาบวชอีก “แหม! จะเอาหัวเป็นที่รองมีดโกนหรือไง”

เขาบอกไม่ต้อง บวชนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว บวชเลย เวลาบวชแล้วสึกไปนะ คำว่า “บวชแล้วสึก” ถ้านี้มันเป็นเรื่องของเก่า มันเป็นของเก่าของแก่ มันมีของมันอยู่อย่างนี้ เพียงแต่เราเองต่างหาก เห็นไหม “พระผู้ใหญ่ท่านสึกออกไป ท่านเผยแพร่ธรรมไปกว้างขวางมาก”

กว้างขวางมาก เรามีวุฒิภาวะอะไรเราถึงไปเชื่อว่าธรรมอันนั้นมันมีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริงนะ คำว่า “มีอยู่จริง” มันทำอย่างนี้ไม่ได้ มันไม่สึกไปหรอก แต่ถ้าสึกออกไป มันมีอยู่จริงหรือเปล่าล่ะ เพราะมันไม่มีอยู่จริงไง

ของมันมีอยู่จริงมันยืนยันกับเราเองไง มันยืนยันกับเราเองว่าตั้งแต่เราทำมา เราเซ่อขนาดไหนไง เราเซ่อขนาดไหน หมายความว่า เราเอาหัวใจของเราไปไว้กับเขาไง ทำไมไม่เอาหัวใจไว้กับตัวของเราล่ะ

เราไปวัดไปวา เราไปศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาในใจของเรา เรามีธรรมขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แต่ขณะนี้มีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราเองเป็นคนที่อ่อนด้อยใช่ไหม เราก็พยายามฝึกปรือจะปฏิบัติธรรมกัน พอปฏิบัติธรรมกัน แต่เราไม่มีความเข้าใจ ในเมื่อหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา แล้วในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น แล้วผู้มีการศึกษาในเรื่องบาลีต่างๆ เขาจะพูดอย่างนี้หมดแหละ บอกว่า “เรามีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่าเอาบุคคลเป็นที่พึ่งเลย อย่าเอาบุคคลเป็นที่พึ่งเลย”

หลวงตาท่านก็ศึกษามา ท่านก็จบมหามาเหมือนกัน ท่านบอกว่าจบมหามา เวลาศึกษามันไม่สงสัยหรอก มันก็มีมรรคผลนิพพานทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาตัวท่านเองจะปฏิบัติเองมันก็สงสัยขึ้นมา ทั้งๆ ที่ท่านก็เรียนมา นิพพานเรียนมาจบหมดแล้วแหละ ท่านเป็นมหา ท่านศึกษามาหมดแล้วแหละ แต่ใจลึกๆ มันว่า “นิพพานมีอยู่หรือเปล่า นิพพานมีหรือเปล่า”

นี่ศึกษามามันก็เข้าใจทั้งนั้นน่ะ นิพพานก็มีอยู่ ธรรมะมีทั้งนั้นน่ะ แต่ถึงเอาจริงๆ เข้า มันก็มีความสงสัย มันก็มีความลังเลในหัวใจลึกๆ ถ้ามีบุคคลคนหนึ่งชี้ทางให้เราได้ ชี้ทางให้เราเข้าใจได้ เราจะฝากชีวิตของเราไว้กับบุคคลคนนั้น อธิษฐานเลยนะ ขอให้มีคนบอกเราให้ได้ ขอให้มีคนชี้ทางสว่างให้ได้ ขอให้มีคนเปิดทางเราให้ได้ พอเปิดทางให้ได้ นี่ท่านอธิษฐานตั้งแต่ออกปฏิบัติ

แล้วเวลาไปเจอหลวงปู่มั่น “นิพพานอยู่ที่ไหน นิพพานอยู่ที่ไหน นิพพานอยู่บนอากาศหรือ อยู่บนภูเขาเลากา ไม่มีเลย นิพพานอยู่ที่กลางหัวใจ” ทำให้ท่านเปิดท่านออกมา

เราจะบอกว่า เขาบอกว่า เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย แต่ทีนี้ถ้าครูบาอาจารย์ของเราอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านบอกแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้า สาธุนะ ท่านสาธุก่อน สาธุ จะพูดเป็นคติเป็นตัวอย่างให้พระที่อยู่กับท่านมั่นใจในตัวท่านไง ไม่ใช่อวดนะ ถ้าพูดอย่างนี้ไป ถ้าคนไม่มีหลักเขาก็ว่า “อวดอีกแล้วน่ะ ตีตนเสมอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตีตนใหญ่กว่า” พูดกันไปไง

แต่เวลาท่านจะยืนยันว่าธรรมะถ้าใครตรัสรู้แล้วมันก็เหมือนกัน ท่านบอกว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถามเลย เพื่อให้คนมั่นใจว่าถ้าถามเรา เราจะตอบได้ไง นี่ไง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

แต่ถ้าธรรมในหัวใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ธรรมในหัวใจของครูบาอาจารย์เราท่านเป็นพระอรหันต์ นั่นคือธรรมแท้ๆ นั่นคือธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์ นั่นคือธรรมที่ไม่มีมลทินเลย แล้วอย่างนั้นเป็นที่พึ่งเราได้ไหม ถ้าอย่างนั้นเป็นที่พึ่งเราได้

แต่นี่พระที่นับถือท่านสึกไป มันก็เป็นการยืนยันแล้วแหละว่ามันพึ่งได้ไหม ถ้าพึ่งไม่ได้นะ เราก็ต้องกลับมาพึ่งตัวเราเอง เรามาพึ่งเรา ของมันของเก่าแก่ มันมีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เราไม่ต้องมาวิตกกังวลหรอก เพียงแต่ว่ามันเป็นการบอกเราว่า เราเองเราไม่มีวุฒิภาวะต่างหาก

ถ้าเรามีวุฒิภาวะ เราศึกษานะ ใครปฏิบัติมาแล้ว มีผู้ที่ปฏิบัติมาก อย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะอยู่กับสัญชัย “สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่” แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วถึงไปถามครูบาอาจารย์ ไปถามสัญชัย สัญชัยบอกว่าจบแค่นี้ ทีนี้พอจบแค่นี้ปั๊บ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะท่านบอกว่ามันยังไม่ชำระล้างกิเลส นี่เวลาปฏิบัติไปมันวัดอาจารย์ได้เลยล่ะ มันวัดได้เลยว่าสัญชัยไม่มี ไม่มีปั๊บ ก็คุยด้วยกัน ๒ คน บอกว่า เราอยู่กับสัญชัย สัญชัยสอนจนหมดไส้หมดพุงแล้ว แล้วมันแก้กิเลสเราไม่ได้

๒ คนนะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะท่านปรึกษากัน เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ของสัญชัย แล้วท่านมาปรึกษากันว่า เราศึกษากับอาจารย์เรามาเต็มที่แล้ว แล้วอาจารย์ก็บอกว่าหมดไส้หมดพุงแล้ว แล้วอะไรจะสอนได้

แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะบอกว่าเราปฏิบัติจนเต็มที่แล้ว แต่เราก็ยังสงสัยกันอยู่ นี่สัญญากันไว้ สัญญาระหว่าง ๒ คน ถ้าเราไปเจออาจารย์ที่ถูก “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย” แต่มันไม่มีที่พึ่งแล้วแหละ มันไม่มีที่พึ่งนะ ถ้าใครไปเจอสิ่งใดนะ ใครไปเจอครูบาอาจารย์ ห้ามปิดนะ ให้บอกกัน สัญญากันไว้ให้บอกกัน

พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิบิณฑบาต มันดูจากข้างนอก “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย” แต่เวลาไปเจอพระอัสสชิ ทำไมท่านเดินของท่านสงบเสงี่ยมขนาดนั้น ทำไมเดินด้วยสติปัญญาอย่างนั้น ท่านเหยียบย่างไป ท่านมีความรู้พร้อมขนาดนั้น มันซาบซึ้งใจ เพราะคนมีปัญญา คนมีปัญญามันมองคนออกนะ ไม่ใช่คนเซ่อๆ

เพราะว่ามองคนออก ตามพระอัสสชิไป พอพระอัสสชิท่านฉันอาหารเสร็จแล้วถึงได้ไปถามพระอัสสชิ พระอัสสชิท่านเป็นพระอรหันต์ท่านก็ยังถ่อมตน “เราเป็นผู้บวชใหม่” นี่พระอรหันต์นะ เป็นผู้บวชใหม่

ของมีจริงเขาอ่อนน้อมถ่อมตน เขาเก็บไว้ในใจ ใครมีทรัพย์สมบัติ เขาซ่อนไว้ เขาไม่มาอวดมาโชว์กันหรอก ไอ้ที่อวดที่โชว์นั่นน่ะไอ้เศรษฐีเงินกู้ ทั้งกู้หนี้ยืมสิน ไอ้ไฮซ้อมันพยายามจะเอาแต่เพชรนิลจินดามาคล้องคอมัน ไอ้ของจริงๆ เขาซ่อนไว้ เขาไม่มาใส่หรอก เขาใส่ของเก๊กันเป็นของจริง คนมีฐานะเขามีแต่ของปลอม เขาใส่มา ทุกคนบอกของจริงทั้งนั้นน่ะ แต่ไอ้พวกที่ไม่มีมันไปเอาของจริงมาใส่ มันไปโกงเขามา

นี่ก็เหมือนกัน ท่านอ่อนน้อมถ่อมตน พระอัสสชิท่านอ่อนน้อมถ่อมตนมาก ฉะนั้น พระสารีบุตรท่านก็มีปัญญานะ “ขอให้แสดงธรรมมาเถอะ เรื่องที่จะแทงทะลุตามธรรมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง เป็นหน้าที่ของคนฟังเอง”

พอหน้าที่ของพระสารีบุตรนะ พระอัสสชิถึงได้แสดงธรรมไง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ชำระที่เหตุนั้น เย ธมฺมาฯ”

พอเข้าใจนะ พอฟังเทศน์นะ ปัญญามีอยู่แล้วไง มันไม่มีใครเปิดไง ไม่มีใครเปิด พอมีธรรม พอเปิด พระสารีบุตรแทงทะลุเลย เป็นพระโสดาบันเลย มีดวงตาเห็นธรรมขณะที่ฟังธรรมแล้วปัญญามันหมุนน่ะ มันไม่ใช่ฟังแล้วเป็นพระโสดาบันอะไรหรอก มันเป็นเพราะมรรคมันเดิน เป็นเพราะว่าตัวเองมันอัดอั้นตันใจอยู่แล้ว มันอยากจะออก โคมันจะออกจากคอก แล้วไม่มีใครเปิดประตูให้ พอพระอัสสชิแย้มเท่านั้นน่ะ โอ้โฮ! พระสารีบุตรแทงทะลุเลย เป็นพระโสดาบันขึ้นมานะ เป็นพระโสดาบัน ไปเล่าให้พระโมคคัลลานะฟัง เป็นพระโสดาบันด้วยกัน

ฉะนั้น ๒ องค์ด้วยกันก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะศึกษากับสัญชัยมามันเต็มที่ ไม่เห็นได้อะไรเลย พอจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คนกตัญญูกตเวที คนที่ซึ้งบุญซึ้งคุณ ทั้งๆ ที่หลอกเรานะ ทั้งๆ ที่สอนมาให้ผิดๆ นั่นแหละ แต่เวลาจะไปขึ้นมาก็ยังไปหาสัญชัยนะ “เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน สัญชัยไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด เพราะท่านไม่ใช่พระอรหันต์”

สัญชัยบอกกับพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเลย “ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

ก็บอก “ในโลกนี้มีคนโง่มาก” นี่พระสารีบุตรก็ตอบ

“อย่างนั้นเราจะอยู่กับคนโง่ เธอจงไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด เพราะลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีแต่ผู้ฉลาด เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา คนส่วนน้อย คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าแทงทะลุถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เราจะอยู่กับคนโง่ว่ะ คนโง่มันหลอกได้ง่ายๆ”

สัญชัยไม่ไป แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่ไง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” คืออย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลยไง อย่ามีพระที่จะสึกที่จะอะไรเป็นที่พึ่งเลย พอสึกแล้วมันก็เจ็บช้ำ สึกแล้วก็เจ็บปวด

แต่นั้นมันก็เป็นเวรเป็นกรรมของคน ในเมื่อจิตใจของท่านเป็นได้แค่นั้น มันก็แค่นั้น เราไม่ได้ซ้ำเติมนะ เราไม่เคยซ้ำเติมใคร เราก็สังเวช เราก็สังเวชมาก ทุกคนก็อยากจะหาทางออกทั้งนั้นน่ะ แต่ในเมื่อท่านได้แค่นั้น ท่านสุดอำนาจวาสนาได้แค่นั้น ก็จบแค่นั้น ก็ดีของท่าน ท่านยังเป็นสุภาพบุรุษ ยังทำให้เห็นได้จริงๆ ยังทำให้เห็น

ฉะนั้น ของเราก็รักษาใจของเรา “เราจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” ฉะนั้น อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย เราก็ดูแลใจของเรา

ฉะนั้น อย่างที่ว่า ถ้ากลัวเขาถอดใจ เขาจะไม่เข้าวัด เขาจะไม่เข้าวัดอีก กลัวเพื่อนจะไม่เข้าวัด

เวลาหลวงตาท่านเขียนป้ายไว้ที่หน้าวัดของท่านนะ ท่านบอกว่า “ที่นี่เป็นสำนักประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ที่เที่ยวเล่น บุคคลที่ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ควรเข้ามาที่นี่” นี่เวลาหลวงตาท่านเขียนไว้ที่หน้าวัดท่านเลย “ที่นี่เป็นที่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ที่เที่ยวเล่น ถ้าใครจะมาเที่ยวเล่น ไม่สมควรเข้ามาที่วัดป่าบ้านตาด”

นี่เหมือนกัน เราบอกเรากลัวเขาไม่เข้าวัด กลัวเขาไม่เข้าวัด เข้าวัดอะไร จะเข้าวัดหรือเข้าตลาด ถ้าไปตลาดสิ เดี๋ยวนี้เขาเอาธรรมะไปศูนย์การค้ากันหมดแล้ว ไปตากแอร์กัน ไปอยู่ที่นั่นมันยิ่งสุขสบายไง

คำว่า “ไปวัดๆ” เราบอกเราห่วงว่าคนจะถอดใจไม่เข้าวัด ถ้าวัดที่เขามีคุณธรรม วัดที่เขาจะประพฤติปฏิบัติ เขาต้องการความสงบ ต้องการความสงัด ต้องเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าอย่างนั้นเราไป เราไปวัดใจเรา หลวงปู่ฝั้นท่านสอน ไปวัดคือวัดใจ ไปแล้วมันอึดอัดขัดข้องไหม ไปแล้วในวัดนั้นมันมีอะไรไหม

นี่พอไปวัดแล้วต้อง แหม! มีการต้อนรับขับสู้ โอ๋ย! ไปโอเรียนเต็ลสิ โอเรียนเต็ลมันเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศไทยเลย ไปเลย ที่นั่นเขาต้อนรับอย่างดี ไปอยู่ปีหนึ่งเดี๋ยวเป็นพระอรหันต์กันขึ้นมา

เขาไปวัดเขาก็ไปเพื่อขัดเกลากิเลส คำว่า “ขัดเกลา” มันคืออะไร คำว่า “ขัดเกลา” ธุดงควัตรคือเครื่องขัดเกลากิเลส ธุดงควัตร ธุดงค์ ๑๓ มันเป็นเครื่องมือ มันเป็นการชำระล้างกิเลส แล้วอยู่ในที่ว่าง อยู่ในเรือนว่าง มันเป็นธุดงควัตรไหม อยู่ในเรือนว่าง ร้าน อยู่ในเรือนว่าง เปิดแล้วโล่งไปหมดเลย อยู่ในอัพโภกาสิกังคะ วัดมันเป็นอย่างนี้ วัดมันเป็นที่ขัดเกลากิเลส

ถ้าเขาไปวัดอย่างนั้น ถ้าเขาเต็มใจไปเขาก็ไป ถ้าเขาจะไปตลาด เขาไปตลาดแล้วเขาบอกที่นั่นเป็นวัด ก็ไม่ควรไป

หลวงตาท่านเขียนไว้แล้ว “วัดป่าบ้านตาดเป็นวัดสำนักปฏิบัติ ไม่ใช่ที่เที่ยวเล่นของบุคคล ถ้ามาแล้วกระทบกระเทือนกัน ไม่ควรมา ไม่ควร”

นี่ก็เหมือนกัน เราห่วงเพื่อนจะไม่เข้าวัด วัดอะไรล่ะ ถ้าวัดทั่วไป วัดทั่วไปเราก็ไปสิ เราไปแล้วมันก็ตลาดทั้งนั้นน่ะ ถ้าเราไปตลาด แล้วเวลาเราเจ็บช้ำน้ำใจขึ้นมาเราก็มาคิด แต่เวลาเราจะเอาจริงขึ้นมา เราเลือกไม่ได้ไง ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ไง เรารู้ไม่ได้ว่าอะไรเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ ถ้าอะไรเป็นพิษเป็นภัย ของแสลงเราก็ไม่เอามากินทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราทำกัน ทำเพื่อความแสลง เพื่อของแสลง เพื่ออะไร แล้วบอกว่าจะปฏิบัติ ถ้าห่วงอย่างนั้นนะ มันไม่จำเป็น มันไม่จำเป็นที่จะต้องว่าเพื่อนจะเข้าวัดหรือไม่เข้าวัด

คำว่า “เข้าวัด” วัดก็คือวัด วัดก็คือวัดนะ ทีนี้ในสมัยปัจจุบันนี้หลวงตาท่านพูดอยู่ มันสำคัญที่หัวหน้า ถ้าหัวหน้าที่ดี เขาก็จะรักษาข้อวัตรคือกติกา รักษากติกาอันนั้นไว้ให้ผู้ที่เข้ามาอยู่วัดอยู่วา เขาจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์อะไร

แม้แต่เราเองเราก็ไม่รู้นะ ตอนไปอยู่กับหลวงตาไม่รู้หรอก เวลาท่านบอกท่านทำอย่างนั้นๆ มันมองว่าเป็นของเล็กน้อย เป็นของเล็กน้อย แต่เวลาออกจากท่านมาแล้ว โอ๋ย! มันซาบซึ้งมาก ทำไมพระต้องรู้จัก ทำไมเข้าเวรแล้วจะต้องรู้ไปหมดทุกอย่างเลย

แต่พอมันแยกออกจากกันไปแล้วมันย้อนกลับไป อ๋อ! มันทำให้คุ้นเคยกัน มันเป็นประโยชน์หมดเลย ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ แต่เวลาครูสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์จะบอกว่าไม่รู้ว่ามันจะเป็นประโยชน์อะไร แต่พอเวลาโตขึ้นมาแล้วมันซาบซึ้งทั้งนั้นน่ะ ถ้าซาบซึ้งอย่างนั้น วัดอย่างนั้น จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่า ดึงขึ้นมา

แต่จิตใจที่มันเสมอกันมันก็เหมือนกับไปสัมมนากัน ไปออกค่าย เดี๋ยวนี้เขาธุดงค์กัน ธุดงค์เป็นเหมือนกับลูกเสือชาวบ้านเลย จุดกองไฟ กลางคืนมันจะเล่นกองไฟกัน ธุดงค์อย่างนั้นหรือ กลางคืนนะ มันจะเล่นรอบกองไฟกันแล้วเดี๋ยวนี้พระธุดงค์ แล้วมันไปธุดงค์อย่างนั้นใช่ไหม

เวลาธุดงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไปแบบนอแรด อันดับหนึ่ง ไปองค์เดียว อันดับสอง ๒-๓ องค์ ต่ำมาเรื่อยๆ ถ้าไปองค์เดียวนั่นแหละไปอย่างนอแรด ไปองค์เดียวมันแหยงไปหมด กลัวผีกลัวสาง กลัวทุกอย่าง ไปอยู่ป่าก็กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวม้า แต่ไป ๒ องค์อุ่นใจเนาะ มีเพื่อน มีเพื่อน เห็นไหม มันต่ำลงเรื่อยๆ ทีนี้ต่อสู้กับกิเลส มันมีวิธีการของมัน

ฉะนั้น ที่ว่า กลัวว่าเพื่อนจะไม่เข้าวัด

นี่มันเรื่องของเขานะ ถ้าเรื่องของเขา แบบว่า ถ้าการเวียนตายเวียนเกิดเราเจ็บช้ำน้ำใจมามากกว่านี้ ฉะนั้น สิ่งที่มาเจอ มันเจอเพราะสังคมเราสังคมพุทธไง มันเป็นของเก่า การบวชการสึกมันเป็นของเก่า ของที่มีมาดั้งเดิม ถ้าเป็นของเก่ามันมีอยู่แล้ว มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลย มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นสำหรับเรา แต่เวลาพรรคพวกของเรา เพื่อนฝูงของเราจากเราไป เราเสียใจไหม? เสียใจ เพื่อนรักของเรา คนที่เรารู้จักจากกันไป เสียใจไหม? เสียใจ

ธรรมดาคนรู้จักกัน พลัดพรากจากกัน มันก็มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดาแล้ว ถ้าเรามีสติปัญญา เรามอง เราใช้ปัญญา ปัญญาเราแยกแยะขึ้นไป มันก็วางสิ่งนั้นได้ เห็นไหม ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด สรรพสิ่งนี้มีการพลัดพรากจากกัน แล้วเราจะนอนใจได้อย่างไร ดูสิ ท่านอยู่อย่างนั้นท่านยังต้องพลัดพรากออกมา แล้วเราจะแสวงหาของเรา เราจะทำของเราอย่างใด

ถ้าทำอย่างใด เราย้อนกลับมาที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ไปย้อนที่ตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลทำดี เราก็ต้องการสิ่งนั้น แต่ถ้าตัวบุคคลเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นเวรกรรมของสัตว์ แล้วเราพิจารณาของเราไป มันของเก่า มันเรื่องของเก่าแก่ มันเป็นธรรม มันเป็นคติเตือนใจ คติเตือนใจว่าอย่าประมาท ถ้าประมาทไป ประมาทไป ถึงเวลาแล้วมันก็เสียหายไปเป็นเรื่องธรรมดา นี่พูดถึงว่าของเก่าเนาะ จบ

ถาม : ข้อ ๑๓๔๐. เรื่อง “อ่านและฟังอย่างมีสมาธิ ได้บุญหรือไม่”

ขอรบกวนกราบเรียนถามพระอาจารย์เจ้าค่ะ หากเรามีสมาธิในการอ่านหนังสือธรรมะ หรือฟังซีดีธรรมะ ซึ่งในขณะนั้นจิตใจจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือหรือคำสอน อีกทั้งยังว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง การอ่านและฟังนั้นถือว่าเป็นกุศลกรรมหรือไม่เจ้าคะ ได้บุญหรือไม่อย่างไรคะ ถ้าเราจะใช้การอ่านและการฟังเป็นการเจริญสมาธิได้ไหมเจ้าคะ เพราะอ่านและฟังได้นานกว่านั่งสมาธิเฉยๆ เจ้าค่ะ

ตอบ : มันได้ ได้อยู่แล้ว การเคารพธรรม การเคารพธรรมคือจิตใจมันเคารพธรรม

เวลาหลวงตานะ เวลาท่านบอกว่าท่านธุดงค์อยู่ในป่า ท่านไม่มีพระพุทธรูป ไม่มีสิ่งใดเลย เวลาท่านจะกราบพระ กราบพระอย่างใด ก็สมมุติขึ้นมา สมมุติว่าเรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบบนอากาศนี่แหละ แต่เราว่าสิ่งนี้คือตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำวัตรไง อยู่ป่าอยู่เขา เราก็ทำวัตรของเรา เราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิของเรา มันก็เป็นบุญกุศลขึ้นมา เพราะจิตใจเราระลึกถึง เรานึกพุทโธๆ เราก็ระลึกถึง

ฉะนั้น อ่านและฟังธรรมะเป็นบุญไหม

เป็นบุญแน่นอน เป็นบุญกุศลอยู่แล้ว พุทโธๆ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราสวดมนต์ๆ สวดมนต์คือเจริญสัมโมทนียกถา คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ การสวดมนต์คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราสวดมนต์ของเราอยู่ มันได้บุญทั้งนั้นน่ะ

ยิ่งฟังธรรมะ เห็นไหม ฟังธรรมจะได้บุญไหม

เวลาหลวงตาท่านบอกนะ ถ้าเวลาไปอยู่กับท่านนะ ท่านเทศน์สดๆ เวลาท่านบอกว่าธาตุขันธ์ท่านไม่ไหว ให้ฟังเทศน์เอาๆ สิ่งที่ท่านได้เทศน์ไว้อยู่ในเทปก็เปิดฟังสิ ถ้าเปิดฟังสิ่งนั้น แล้วถ้าสะดุดใจสิ่งใดเราก็จับสิ่งนั้น นี่ฟังเทศน์

จิตใจของเรานะ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เรากำหนดพุทโธ เรามีคำบริกรรมระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติ เวลาเราฟังธรรมๆ ธรรมนี้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครเป็นผู้แสดง แต่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เกาะสิ่งนั้นไป คือฟังเสียงนั้นไง ฟังเสียงนั้นแล้วเอาใจเกาะกับเสียงนั้น ถ้าเอาใจเกาะกับเสียงนั้นนะ นี่ฟังเทศน์ เวลาฟังเทศน์ เราฟังเทศน์ของเรา เราฟังเทศน์คราวนี้เราฟังแล้วแจ่มแจ้งมากเลย เรามีความซาบซึ้งมากเลย แล้วเราก็ฟังซ้ำ พอฟังซ้ำเข้าไป เอ๊ะ! ทำไมตรงนี้เราได้ยินได้ฟัง ทำไมครั้งที่แล้วเราไม่ได้ยินไม่ได้ฟัง

จิตใจของคนเรามันละเอียดเข้าไป มันจะจับ จับประเด็นไง พอจับประเด็น แบบว่าเหตุผล ธรรมะคือเหตุและผล เวลาท่านแสดงธรรม ท่านแสดงเหตุและผล กิเลสมันจะแสดงตัวอย่างนั้น เวลาธรรมะ ธรรมะมันแสดงตัวอย่างนั้น เวลาเรามาเทียบเคียงกับความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเราก็เป็นอย่างนั้น เราก็เป็นอย่างนั้น พอเป็นอย่างนั้นมันทันกัน มันก็ปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา ทำไมฟังเทศน์แล้วมันมีความเข้าใจต่างๆ นี่มันก็ฟังธรรม เพราะเทศน์นั้นก็เทศน์ของครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ พอเป็นธรรมขึ้นมา เราฟังแล้วเราก็เข้าใจของเรา มันก็เป็นประโยชน์กับการฟังธรรม มันเป็นประโยชน์หมด มันได้บุญทั้งนั้นน่ะ

สวดมนต์ก็เหมือนกัน สวดมนต์ พุทโธๆ นี่ก็สวดมนต์เหมือนกัน พุทธะๆ พุทโธๆ เราระลึกถึงพุทโธนี่ก็สวดมนต์ แต่สวดมนต์มันไม่ต่อเนื่อง มันเหมือนกับว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ท่านบอกว่า เวลาเราอ่านนิยาย มันเป็นเรื่องที่ว่าเศร้าโศกเสียใจ มันเป็นสัญญาอารมณ์ไปกับโลก แต่เราอ่านธรรมะๆ ธรรมะมันเป็นน้ำอมตะธรรม น้ำอมตะธรรมคือบอกให้เห็นโทษ ให้เห็นโทษนะ มันไม่หลงไปกับสัญญาอารมณ์ ไม่หลงไปกับอารมณ์โลก

นี่ก็เหมือนกัน เราสวดมนต์ของเรา เราสวดมนต์ของเรา เราสวดมนต์ จิตใจมันก็เกาะ มันเกาะกับธรรมะ มันเกาะกับธรรมะ มันก็ไม่ออกไปสู่อารมณ์โลก อารมณ์โลก เวลาเราคิดสิ คิดถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดถึงความเสียใจ เวลาคิดถึงความเสียใจมันจะมีอารมณ์ แล้วจิตใจเราก็หวั่นไหว จิตใจเราก็มีความเศร้าหมอง แต่เวลาเราสวดมนต์ๆ มันก็เป็นระลึกเหมือนกัน แต่มันเป็นฝ่ายบวกไง ฝ่ายบวกคือเป็นธรรม พอเป็นธรรม เวลาเราสวดมนต์ไป จิตใจมันก็ไม่เร่ร่อน จิตใจมันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน จิตใจมันก็อยู่กับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้ากำหนดพุทโธๆๆ พุทโธมันก็มีคำบริกรรม มีที่เกาะ จิตมันก็เกาะพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พอเกาะไปเรื่อยๆ มันเกาะจนมันชำนาญขึ้นมามันก็ปล่อยพุทโธ มันก็เป็นตัวของมัน มันก็เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญามันก็เป็นต่อเนื่องไป นี่พูดถึงนะ

ฉะนั้น บอกว่า “การฟังเทศน์และการสวดมนต์จะได้บุญหรือไม่”

ได้บุญ

แล้วถ้ามันได้บุญแล้ว เขาบอกว่าบางทีมันละกิเลสได้ด้วย มันปล่อยวาง มันปล่อยวางคือว่าวางมือจากความคิดทางโลกมาอยู่ทางธรรม มันเป็นประโยชน์ เป็นกุศลกรรม แล้วมันจะได้บุญอย่างไรคะ

มันได้บุญ เหมือนกับว่า คนเราเวลากินพริก เรากินพริกมันร้อนไหม ปากนี่ร้อนไปหมดเลย แล้วถ้าเราได้กินน้ำมาถอนความเผ็ดอันนั้น มันจะได้บุญไหม มันพอใจไหม

นี่ก็เหมือนกัน เขาถามว่ามันได้บุญอย่างไร มันได้บุญอย่างไร

เพราะเวลาเรากินพริกมันก็เผ็ด เวลาเราไปกินน้ำ กินน้ำก็เย็น นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราคิดแต่สัญญาอารมณ์ เวลาเราคิด เรากินแต่พริก กินแต่เรื่องความเศร้าหมอง มันเสวยอารมณ์อยู่อย่างนั้น เห็นไหม เวลาเราสวดมนต์มันจะกินธรรม เราก็กินสิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับร่างกาย กินต่างๆ บุญมันเกิดตรงนี้ไง

เขาถามว่า บุญมันเกิดได้อย่างไร สวดมนต์กับฟังธรรม บุญมันเกิดได้อย่างไร

บุญมันเกิดได้ มันเป็นการฝึกหัด อย่างเช่นเด็กๆ เวลาจะฝึกเดิน เขาก็ต้องมีสิ่งใดเกาะหัดเดินไปก่อน จิตใจเวลาเราจะเข้าไปหาตัวมันเอง จิตใจจะเป็นสมาธิเข้ามา เป็นตัวของตัวเองขึ้นมา มันต้องมีหลักเกาะขึ้นมา ทั้งๆ ที่เป็นเรานี่นะ ทั้งๆ ที่เป็นใจของเราเองนี่แหละ จะทำสมาธิเพื่อตัวเองนี่แหละ ทำไมจะต้องหาสิ่งใดเกาะเข้าไปหาตัวเอง

ถ้ามันมีพุทโธๆๆ ถ้ามันเกาะเข้ามา ถ้าคนทำเป็นมันจะซาบซึ้งมาก

เวลาครูบาอาจารย์ เราฟังตลอด ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านยืนยันว่ากำหนดพุทโธ มีคำบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ เราบอก เออ! ครูบาอาจารย์องค์นี้ใช่ ครูบาอาจารย์องค์นี้แสดงว่าทำเป็น คือทำเป็นมันต้องมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป

แต่ถ้าครูบาอาจารย์นะ “ว่างๆ ทำไปเลย” เออ! แสดงว่าครูบาอาจารย์องค์นี้ทำอะไรไม่เป็น ไม่เคยรู้เคยเห็นอะไร พูดไปสักแต่ว่าพูด ผีมันเจาะปากมาให้พูด พูดไปแบบผีเจาะปาก มันไม่มีข้อเท็จจริง

แต่ถ้าครูบาอาจารย์องค์ไหนท่านมีข้อเท็จจริง เพราะท่านทำของท่านมา มีความจริงขึ้นมา ท่านจะเน้นย้ำ เน้นย้ำ เน้นย้ำเลยนะ มันต้องทำอย่างนี้ๆๆ ใครจะทำอย่างไรก็เรื่องของเขา ถ้าใครทำอย่างนี้ๆๆ มันจะมีเหตุมีผลของมัน แล้วถ้าจิตมันปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามาๆ มันจะเข้ามาสงบของมัน แล้วสงบได้จริงๆ แล้วคนที่สงบได้จริงๆ มันจะเห็นจริง เห็นจริงมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ทำอย่างนี้มันถึงจะเป็นข้อเท็จจริง นี่พูดถึงถ้าทำนะ

ทีนี้เพียงแต่ว่าผู้ถามถามว่าการฟังธรรมกับการสวดมนต์มันจะได้บุญอย่างใด แล้วมันจะได้ผลอย่างใด

ได้ผล เห็นไหม ขณะในคำถามก็บอกอยู่แล้ว บางทีมันว่างจากกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง แม้แต่มีที่เกาะที่ยึด มีที่พักอาศัย มันยังวางความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เราเข้าใจ ที่เราเห็นได้เลย

แต่ในภาคปฏิบัตินะ ไอ้ที่วางอย่างนี้มันก็เหมือนเราทำสมาธิ เราทำความสงบ มันปล่อยวางได้ชั่วคราว มันยังแก้ไข มันละความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ได้เด็ดขาด มันเพียงแต่ละความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะไม่ไปหยิบฉวย ถ้าไปหยิบฉวยความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงกับใจ แต่ใจ พอมันรู้เท่า มันก็วางไว้ มันไม่ไปหยิบฉวยเฉยๆ พอไม่หยิบฉวย เรายังมหัศจรรย์ขนาดนี้เลย

แต่ถ้าเราสวดมนต์ เรากำหนดพุทโธๆ มันเป็นสมาธิขึ้นมา มันไม่ใช่หยิบฉวย ตัวมันเองเห็นโทษ ตัวมันเองยืนเป็นตัวของมันเองได้ เป็นฐีติจิต เป็นสมาธิได้ แล้วเวลามันออกมาใช้ปัญญา มันไม่ใช่ไปหยิบฉวยมาใช้ มันรู้ถูกรู้ผิด รู้ดีรู้ชั่ว แล้วเป็นภาวนามยปัญญา จับต้องแล้วแยกแยะไป

คำว่า “หยิบฉวยแล้ววาง” มันยังไม่รู้เหตุรู้ผล จริงไหม แต่ถ้าเราใช้ปัญญาไป มันมีเหตุมีผล รู้ถูกรู้ผิด นี้คือเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา มันจะเห็นชัดเจนขึ้นไปกว่านี้

ฉะนั้น การอ่านก็ดี การฟังก็ดี การสวดมนต์ก็ดี เป็นบาทฐาน เป็นพื้นฐานของการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วพอปฏิบัติขึ้นมาดีขึ้นๆ ไป เราจะมีเหตุมีผล เราจะแยกแยะของเราได้ ความถูก ความผิด แล้วจะรู้ขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมาจากหัวใจของเรา แล้วจะไม่ถามหลวงพ่ออีกเลย เอวัง