ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำแล้วสงสัย

๒๙ มิ.ย. ๒๕๕๖

 

ทำแล้วสงสัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๔๑. เรื่อง “จิตเป็นสมาธิหรือไม่”

เนื่องจากครั้งก่อนได้เรียนถามปัญหา และท่านอาจารย์ได้เมตตาตอบ ทำให้ผมมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ผมก็ยังมีข้อสงสัยอีกเล็กน้อยในการภาวนา ขอเรียนถามท่านอาจารย์ครับ คือว่าเมื่อผมนั่งสมาธิจะมีอาการคือ

๑. นั่งแล้ววูบ แล้วรู้สึกเบลอๆ ซึ่งเป็นอาการจิตตกภวังค์ตามที่เรียนถามครั้งแรก

๒. นั่งแล้ววูบลง แต่ต่อมาก็รู้สึกโพลงขึ้น หรือสะดุ้งขึ้น เหมือนคนตื่นจากฝัน คือว่ามีความรู้สึกตัวเป็นปกติดีทุกอย่าง แต่ก็ยังรู้ตัวว่ากำลังนั่งสมาธิอยู่ ซึ่งผมคิดว่าจิตของผมกำลังอยู่ในสมาธิในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสำหรับการยกหัวข้อธรรมขึ้นมาพิจารณา

เหตุที่ผมเชื่อว่าจิตของผมกำลังเข้าสู่สมาธิ เพราะว่าถึงแม้ว่าผมจะรู้ตัวเป็นปกติทุกอย่าง แต่สติของผมสามารถรับรู้อารมณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบได้อย่างชัดเจนมาก แต่จิตของผมกลับไม่เกิดอารมณ์หวั่นไหวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ เพียงแต่รับรู้ว่ามีสิ่งใดเข้ามากระทบเท่านั้น แต่ผมก็ยังสงสัยอีกว่า ถ้าหากว่าจิตของผมกำลังเข้าสมาธิจริง สมาธิขั้นนี้ก็น่าจะอยู่ต่ำมาก เพราะมันเหมือนเรานั่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่มีสติแจ่มแจ้งชัดเจนเท่านั้น ผมจึงอยากรู้ว่า ในขั้นนี้ จิตของผมเข้าสมาธิอยู่หรือเปล่าครับ

๓. เมื่อมาถึงตอนนี้ จิตของผมจะทรงตัวอยู่สักพัก จากนั้นผมก็จะเริ่มกำหนดดูลมหายใจใหม่ จนรู้สึกสงบลงใหม่อีกครั้ง และตอนนี้เองที่ภาพอสุภะจะปรากฏขึ้น ซึ่งมีความชัดเจนมาก แต่มีลักษณะไม่อยู่นิ่ง มีอาการไหลไปเรื่อย ผมพยายามบังคับให้หยุดอยู่กับที่เพื่อจะพิจารณาให้ชัดเจนเป็นจุดๆ ก็ทำไม่ได้ ลักษณะภาพอสุภะที่เห็นในขั้นนี้จะมีลักษณะเป็นธรรมชาติของมันจริงๆ คือเนื้อเป็นเนื้อ กระดูกเป็นกระดูก เลือดเป็นเลือด จนบางครั้งผมรู้สึกกลัวที่จะดู จนอยากจะถอนจิตหนีออกมา ผมจึงขอเรียนถามว่า ในขั้นนี้ ผมอยู่ในขั้นที่เรียกว่าเห็นกายด้วยจิตหรือยังครับ และผมควรจะทำอย่างไรต่อไป

๔. มีอยู่ครั้งหนึ่ง จิตของผมมีอาการสว่างจ้าขึ้นมาเฉยๆ ขณะนั่งสมาธิ อาการคือเมื่อกำหนดลมหายใจอยู่ดีๆ จิตก็จะรู้สึกสว่างพรึบขึ้นมา เหมือนเราไปแตะโดนสวิตช์ไฟ หรือเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในที่มืด จู่ๆ ฟ้าก็สว่างขึ้นมาเสียอย่างนั้น มันสว่างมากจริงๆ และสติก็ชัดเจนตามไปด้วย ซึ่งอาการนี้ต่างจากที่ผมเคยนั่งสมาธิมาทั้งหมด ผมอยากรู้ว่าอาการดังกล่าวคืออะไรครับ

ตอบ : นี่คำถาม ๑ ๒ ๓ ๔ ก็เพิ่งตอบไป ก็เพิ่งตอบไปชัดเจน ตอบไปชัดเจนมาก ชัดเจนเพราะอะไร ชัดเจนเพราะว่าเรารู้อยู่ เราให้กำลังใจไง

เวลาหลวงตาท่านตอบปัญหานะ ท่านบอกคนที่ปฏิบัติ เราจะปฏิเสธเขาไปทั้งหมดไม่ได้ ถ้าเราจะปฏิเสธเขาไปทั้งหมด เขาไม่มีเครื่องดำเนินต่อเนื่องกันไป ฉะนั้น สิ่งใดที่มันไม่ใช่ ท่านก็จะให้อุบายอีกวิธีการหนึ่งเพื่อให้จิตดวงนั้นได้จับวิธีการอุบายนั้นพิจารณาไป ให้เห็นความแตกต่างกับสิ่งที่เราทำอยู่ กับสิ่งที่จะประสบขึ้นมา ให้เป็นปัจจัตตัง ให้รู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง จะทำให้จิตดวงนั้นมีที่เกาะ มีเครื่องดำเนินต่อเนื่องกันไป

แต่เวลาเขาปฏิบัติแล้ว เราปฏิเสธเขาบอกว่าไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ปฏิเสธหมดเลย จิตมันเร่ร่อน มันไม่มีที่เกาะ ฉะนั้น ที่ตอบไปครั้งที่แล้วตอบไปด้วยการถนอมน้ำใจ ที่บอกว่า “ท่านอาจารย์ได้ตอบมาแล้ว ผมก็เข้าใจมากขึ้น แต่ผมก็ยังสงสัย”

ตอบครั้งที่แล้วไป ตอบด้วยแบบว่า ในวงกรรมฐานเวลาเขาตอบปัญหา เขาจะตอบปัญหาเหมือนทางโลกที่บอกว่า ตีหมา อย่าตีให้หมาจนตรอก หมามันจะกัดเอา ตีหมาต้องมีทางให้หมามันวิ่งออกไปได้

จิตเวลาภาวนา เวลาติดปัญหาขึ้นมา ถ้าเราจะบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด เหมือนคนจนตรอก เหมือนจิตที่มันพลิกแพลงไม่ได้ ฉะนั้น เราแก้ปัญหาไปให้จิตมันมีเครื่องออก มีที่ดำเนินของมันต่อไป ฉะนั้น การตอบครั้งที่แล้วคือตอบแบบถนอมน้ำใจ แต่ในเมื่อยังสงสัยอยู่ ยังสงสัยอยู่ ถ้ายังสงสัยอยู่ วันนี้จะตอบแบบธรรม ตอบแบบข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงตามความเป็นจริง

ถ้าตอบแบบข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงนะ สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในวงกรรมฐานนะ ในการปฏิบัติมันปฏิบัติ การปฏิบัติคือการรื้อภพรื้อชาติ ถ้าการรื้อภพรื้อชาติ เวลาจิตเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้าจิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนะ นี่ธรรมชาติ ที่ว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” การเวียนตายเวียนเกิดนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งของวัฏฏะ นี่มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

ฉะนั้น เราศึกษาธรรมมา ศึกษาธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็ศึกษาการเวียนว่ายตายเกิดโดยธรรมชาติ เราก็รู้ๆ อยู่ เวียนว่ายตายเกิดมันก็รู้ๆ ของมันอย่างนั้น นี่ปฏิบัติอย่างนี้ปฏิบัติโดยโลกๆ ถ้าปฏิบัติโดยโลกๆ เราก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเราทำกันอยู่อย่างนี้เพราะอะไร เพราะขาดครูบาอาจารย์ที่รู้จริง

ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ อาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่จวน ผู้รู้จริงเขาสอนจริงๆ แล้วเขาสอนเข้มข้น เขาไม่สอนแบบจับจด เขาไม่สอนแบบทะนุถนอม เขาไม่สอนแบบเอาอกเอาใจ

การเอาอกเอาใจเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่เป็นเรื่องกิเลส แล้วในปัจจุบันนี้เวลาเราไปปฏิบัติที่ไหนเราก็ต้องการให้คนเอาอกเอาใจ เราต้องการให้คนชี้ทางเรา ใจหนึ่งก็อยากจะพ้นทุกข์ อีกใจหนึ่งก็อยากสะดวกอยากสบาย อยากจะให้คนดูแลรักษา ปฏิบัติแบบนี้มันปฏิบัติแบบโลกๆ ถ้าการปฏิบัติแบบโลกๆ นะ แล้วมันขาดคนที่รู้จริง ไม่มีคนรู้จริง ชี้ตรงนี้ไม่ได้

ในวงการปฏิบัติ หลวงตาท่านพูดบ่อย ตอนท้ายๆ ของชีวิตหลวงตาบอกว่า อย่าว่าแต่ธรรมะเลย แม้แต่สมาธิมันยังไม่รู้จักกันเลย ถ้าสมาธิไม่รู้จัก มันจะเริ่มต้น ศีล สมาธิ แล้วเกิดภาวนามยปัญญาได้อย่างใด เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่นี้เวลาที่เราใช้ปัญญาๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาแบบโลก ปัญญาแบบโลก เอาปัญญานี้ตรึกในธรรม มันก็ได้ผลแบบโลกๆ นี่ไง ถ้ามันได้ผลแบบโลกๆ คนที่ไม่เคยปฏิบัติเขาก็จะไม่แยกแยะได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ถ้าสิ่งใดผิด สิ่งใดผิดนะ เวลาปฏิบัติ อย่างที่เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติที่เราปฏิบัติกันอยู่นี่ มันไม่มีใครชี้แนะให้ได้ ถ้าไม่มีใครชี้แนะให้ได้ แล้วเราปฏิบัติไป มันก็เข้าข้างตัวเอง โดยในการปฏิบัติ คนเป็นอย่างนี้มาทั้งนั้นน่ะ โดยพื้นฐานของการปฏิบัตินะ

หลวงตาท่านจะบอกว่า ในภาคปฏิบัติมันจะยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คราวหนึ่งคือเราฝึกหัดการทำงาน ตรงนี้ยากมาก พอทำงานไปแล้ว คราวเริ่มต้นนี่ยาก แต่พอทำงานเป็นไปแล้ว โสดาบันได้แล้ว เป็นแล้ว สกิทาคามี อนาคามี ทำไปได้ อีกคราวหนึ่งคราวสุดท้าย

การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว ไปฟังเทศน์หลวงตาได้ ท่านบอกในการปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คือเริ่มต้นจากการทำงานให้เป็น แล้วทำงานเป็นแล้วมันก็ติดในงานนั้น แล้วพอจะวางงานนั้น วางไม่ได้อีก ถึงที่สุดไง ยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคือคราวจะชำระล้าง จะฆ่าอวิชชา ยากอยู่ ๒ คราว

ทีนี้พอยากอยู่ ๒ คราว มันก็เริ่มต้นตรงที่ว่ายาก เริ่มต้นว่า “๑. นั่งแล้ววูบ แล้วรู้สึกเบลอๆ มันเป็นอาการของจิตตามที่เรียนมาครั้งแรก”

ตกภวังค์แน่นอน ครั้งที่แล้วเราจะพูดอย่างนี้ บอกว่าตกภวังค์ล้านเปอร์เซ็นต์ แต่พูดด้วยการถนอมน้ำใจไง ครั้งที่แล้วตีหมาให้หมามันมีช่องทางออก เพื่อไม่ให้มันหมดกำลังใจ การตอบภาคปฏิบัติเขาจะตอบแล้วให้ผู้ปฏิบัติมันยังมีหัวใจ มีกำลังใจ มีโอกาสได้กระทำไง

ถ้าบอกว่าตกภวังค์ล้านเปอร์เซ็นต์ ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างนั้นมันก็หมดกำลังใจ

“โอ้โฮ! ทำมาเกือบเป็นเกือบตาย หลวงพ่อ แล้วผิดหมดเลยหรือ ผิดหมดเลย”

ผิดล้านเปอร์เซ็นต์ ตกภวังค์ทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดเลย ตกภวังค์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งที่แล้วตอบแบบทะนุถนอม ตอบแบบให้มีกำลังใจไว้ปฏิบัติต่อไป

มันวูบ มันวูบลงไป มันไป ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วถ้ามันวูบ ถ้าคนที่เป็นนะ คนที่เป็นครูบาอาจารย์ ถ้าจิตมันมหัศจรรย์ จิตคึกจิตคะนอง เวลามันจะลงสู่สมาธิเหมือนตกจากที่สูง มันวูบลงขนาดไหน มันมีสติพร้อมกับความวูบนั้น

อาการวูบโดยมีสติเป็นสัมมาสมาธิ โดยจริตที่จิตมันเป็นนะ เวลาวูบมันเสียวสันหลัง ทีแรกเสียวสันหลัง วูบ ไม่กล้าดึงขึ้น พอดึงขึ้นก็หยาบอีก พอจะลงอย่างไร ไม่กล้าไปๆ จนกว่าจะละล้าละลังๆ จนตัดสินใจแล้ว ถ้ามันวูบนะ มันวูบก็พร้อมตั้งสติ เหมือนเขาดิ่งตัวลงมาจากที่สูง เขามีเครื่องป้องกันของเขามาพร้อม เขาจะดิ่งตัวของเขาไปถึงเป้าหมายของเขาได้ แต่ถ้าเขาจะดิ่งตัวลงมา เขาต้องมีเชือกของเขา เขาต้องมีอุปกรณ์ป้องกันความอันตรายของเขา สิ่งที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันคือสติคือปัญญาไง

วูบครั้งแรกมันก็กลัว วูบครั้งแรกมันก็ไม่กล้าไป วูบครั้งแรก เพราะอุปกรณ์การป้องกันตัวมันยังไม่พร้อม แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราคัดเลือกของเรา เราป้องกันตัวด้วยสติด้วยปัญญาของเรา ถ้ามันวูบๆๆ ขนาดไหนนะ มันมีสติพร้อม

จะบอกว่ามันไม่มีอาการวูบเลย วูบนี้ผิดทั้งหมด มันก็ไม่ใช่ ถ้าคนไม่มีจริตนิสัยอย่างนี้มันก็ไม่วูบ ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ มันก็เป็นสมาธิของมันโดยข้อเท็จจริงของมัน แต่ก็ต้องรู้ รู้ชัดๆ สมาธิรู้ชัดๆ ถ้าไม่รู้ชัดๆ ขาดสติแล้ว ตกภวังค์ไปแล้ว ภวังค์มันก็มีอ่อนมีแก่ ถ้าภวังค์อย่างนี้นะ ทีนี้อาการที่วูบแล้วเบลอๆ นี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเทียบถึงอาการวูบที่จิตมันตกจากที่สูงแล้วลงสู่อัปปนาสมาธิ มี เป็นไปได้ มีคนเป็นเยอะ

ถ้ามีคนเป็นเยอะ เวลาวูบครั้งแรกจะกลัวมาก วูบครั้งแรกจะไม่กล้าไป วูบครั้งแรกจะมีปัญหา เพราะโลกียปัญญา เพราะเป็นปุถุชนและกัลยาณปุถุชน คนปุถุชนคือคนหนา คนหนามันไม่รู้จักสิ่งใดทั้งสิ้น มีอาการอะไรมันกลัวเป็นกลัวตาย กลัวทุกอย่างเลย คนเรามันวิตกจริต กลัวจะเป็นกลัวจะตาย กลัวเขาหลอก แต่ก็ให้หลอก ก็หลอกทุกคน กลัวมากนะ กลัวออกไป คนนู้นจะหลอก คนนี้จะหลอก แต่ก็โดนหลอก โดนหลอกแน่นอน

นี่ก็เหมือนกัน มันวิตกจริต มันจะเป็นอะไร มันกลัวไปหมดทุกๆ อย่าง แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญาพิสูจน์แล้ว พิสูจน์ต่างๆ เวลามีสติพร้อมนะ มีการเพิ่มการป้องกัน มันจะวูบขนาดไหน มันจะวูบไป เวลาวูบนะ มันวูบไปในจักรวาล มันลึกซึ้ง อู๋ย! จินตนาการนะ โดยความรู้สึกมันไปไกลมาก มันไปสุดโต่ง สุดขอบฟ้าเลย แต่จริงๆ แล้วอยู่แค่นี้ ไม่ไปไหนหรอก อาการของใจ ใจมันจะวูบตลอดนะ ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญาพอ มันจะวูบทีหนึ่งครึ่งวันค่อนวันอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ลงสมาธิหรอก ไม่ลง

แต่ถ้ามันพร้อม มีสติพร้อมนะ มันมีสติปัญญา มันจะวูบ ให้มันวูบไปพร้อมกับสติปัญญา มันวูบถึงที่สุดนะ มันลงถึงฐาน กึก! หยุดเลย มีสติพร้อม ไอ้วูบอย่างนี้วูบเข้าสู่สมาธิ ถ้าวูบเข้าสู่สมาธิโดยสติปัญญาพร้อม ถูกต้อง

แต่ถ้าวูบไปแล้วมันเบลอๆ วูบไปแล้วมันหายไปเลย ตกภวังค์ล้านเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ แล้ววิธีแก้ มันตกแล้วมันมีวิธีแก้ เรียนผูก เรียนแก้ ผูกมาอย่างไรมันต้องมีวิธีแก้ทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้วแหละ เรียนผูก เรียนแก้

ถ้ามันวูบหายไป แสดงว่าสติเราไม่พอ เหมือนกับที่เราตกจากที่สูง เราก็ต้องมีสติมีปัญญา มีสติพร้อม ใหม่ๆ ถ้ามันจะวูบลง เพราะเราตามวูบไป แล้วแว็บหายเลย ไม่ทันหรอก วูบขนาดไหน ปุ๊บ หายเลย ปุ๊บ หายเลย เพราะอะไร เพราะมันเคยเป็น มันเคยเป็นอย่างนั้น เราถึงต้องตั้งสติๆ ถึงเวลา ขืนกันเลยนะ จะวูบให้ช้าๆ ไว้ ให้มีความพร้อม มีความพร้อม ถ้าเอาไม่อยู่ อดอาหาร ถ้าเอาไม่อยู่ วิธีแก้ วงการกรรมฐานเขาแก้กันมาทั้งนั้นน่ะ ใครภาวนาแล้วจิตที่ไม่มีความผิดไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมาล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น

ฉะนั้น ในวงปฏิบัติที่การปฏิบัติกันอยู่เดี๋ยวนี้หลอกทั้งนั้น สมาธิก็ไม่รู้ วิธีการเข้าสมาธิก็ไม่เป็น หลอกทั้งนั้น เวลาหลอกกันแล้ว เวลามีอาการต่างๆ ก็ว่ากันไปไง ก็ว่ากันไป อาการ มันเป็นอย่างนี้โดยล้านเปอร์เซ็นต์ นี่เราพูดถึงวิธีการเลย

การปฏิบัติมันยาก ขั้นแรกยาก ยากเพราะว่าจากปุถุชนคนหนา ปุถุชนคนหนาคือว่าเรากิเลสหนาปัญญาหยาบ แล้วเราพยายามจะฝึกฝนของเราเป็นกัลยาณชน กัลยาณชนคือควบคุมจิตของเรา ดูแลจิตของเราจนจิตของเรามั่นคงได้ แล้วเข้าสู่สมาธิได้ นี้คือกัลยาณชน

จากปุถุชนคนหนา ปุถุชนคนหนาแล้วเราพยายามเปลี่ยนแปลงดัดแปลงของเรา โคถึก โคถึกมันดื้อมาก โคถึกมันไปตามกำลังของมัน แล้วเราพยายามเอาโคถึกมาหัดทำงาน เข้าแอก เข้าไถ เพื่อให้โคถึกเป็นประโยชน์กับเรา โคถึกนะ แล้วจิตใจของเรามันเป็นปุถุชน มันหนาทั้งนั้นน่ะ นี่เริ่มต้นมันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น บอกว่า ถ้ายังสงสัยอยู่ วันนี้จะพูดให้เคลียร์ ครั้งที่แล้วพูดนะ เราพูดในแบบวงกรรมฐาน พูดแบบครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะพูดสิ่งใดก็แล้วแต่ จะให้กำลังใจลูกศิษย์ไปตลอด ให้กำลังใจ ชี้แนะ บอกวิธีการ บอกการควบคุมใจ ตั้งสติ ครูบาอาจารย์ท่านจะเมตตามาก ท่านจะสอนเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเรารู้ตัวนะ เราจะต่อต้าน กิเลสมันต่อต้าน กิเลสไม่ไว้หน้าใคร กิเลสมันไม่เคยมองเห็นใครมีคุณค่า

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านฉลาด ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านจะสอนเราโดยเหมือนไม่ได้สอน ไม่ให้เรารู้ตัว แต่นั้นคือการสอน หลวงปู่มั่นท่านสอนแบบนี้ หลวงตาท่านสอนแบบนี้ ท่านลงแส้ ลงปฏักกับพระ ให้พระเป็นพระที่มีสติมีปัญญาขึ้นมา ฉะนั้น ความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น ว่าเบลอๆ...พูดชัดๆ เลย วันนี้พูดชัดๆ เพราะว่า “เพราะหลวงพ่อตอบมาครั้งที่แล้วดีมากเลย แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่” ถ้าสงสัย นี่ข้อที่ ๑ นะ

“๒. นั่งแล้ววูบลง แต่ต่อมาก็รู้สึกโพลงขึ้น แล้วสะดุ้งตื่น”

ไอ้ตรงสะดุ้งตื่นนี่ล้านเปอร์เซ็นต์ รู้สึกตัวนะ คนตกภวังค์มันจะตกภวังค์ไปเลย แล้วรู้สึกตัวขึ้นมา เหมือนคนตื่นจากหลับ แล้วเวลามันไป นี่ยังน้อยนะ ถ้ามันมากกว่านี้นะ เวลามันพุทโธๆ ไป มันหายไปเลย แล้วก็ภูมิใจนะว่าเรานี่เป็นยอดนักปฏิบัติ เรานี่เป็นยอดคน เรานี่เก่งมาก เพราะมันไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวแล้วไม่มีใครเทียบเคียงว่าเราถูกหรือเราผิด โดยธรรมชาติของกิเลสเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น ไอ้สะดุ้งตื่น การบอกอาการนี่ล้านเปอร์เซ็นต์

คนเราเวลารู้สึกตัวขึ้นมาโดยที่เรียบง่ายก็มี โดยการสะดุ้งตื่นก็มี การปฏิบัติไปมันจะมีอุปสรรคแบบนี้ แล้วการที่เป็นอุปสรรคแบบนี้ ข้อเท็จจริงจิตเป็นแบบนี้ ถ้าจิตเป็นแบบนี้ แต่คนไม่รู้ ไม่รู้ถึงการเป็นไป ถ้าผู้ถามไปถามกับครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็น เขาจะให้คนถามเป็นอาจารย์เลย เพราะอะไร เพราะอาการแบบนี้เขาไม่มี อาการแบบนี้ไม่มีคือจิตเขาไม่เคยเป็น พอจิตเขาไม่เคยเป็น ใครเป็นมามันก็ต้องดีกว่าคนที่ไม่เคยเป็น

อย่างเรานี่ไม่มีอะไรเลย ใครจะใส่ทองปลอมมา ใส่แก้วแหวนเงินทองปลอมมา เราเห็นเราก็ตาโตนะ เพราะเราไม่มี แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจริงหรือปลอม เพราะเขาใส่ของปลอมมา แต่ถ้าเราเป็น เรามีแก้วแหวนเงินทอง เราเคยมีของเราของจริงหมดเลย ใครใส่ปลอมเข้ามาเราก็รู้ว่าปลอม ใครใส่จริงเข้ามาเราก็รู้ว่าจริง

การปฏิบัติ อาการของใจมันเหมือนกัน วิธีการที่มันมีประสบการณ์ นั่นล่ะคือเครื่องประดับ เครื่องประดับจริงหรือปลอม จริงหรือปลอม คนไม่เคยมีเครื่องประดับจะไม่รู้ว่าเครื่องประดับจริงหรือปลอม ฉะนั้น ผู้ถามไปถามครูบาอาจารย์ที่ไม่มีเครื่องประดับ แล้วไม่เคยเห็นเครื่องประดับ พอถามอย่างนี้นะ ตอบไม่ได้ ถ้าใครตั้งปัญหาอย่างนี้ขึ้นมานะ ครูบาอาจารย์ที่จะเป็นคนตอบนะ พูดให้ฟัง เป็นอย่างไร อ้าปากเลย เพราะไม่เคยเห็น แต่ถ้าคนเห็น เบสิก เรื่องพื้นฐานของการปฏิบัติเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านจะคอยบอก

“มันสะดุ้งตื่น พอตื่นขึ้นมา เหมือนคนตื่นจากฝัน คือมีความรู้สึกตัวโดยปกติทุกอย่าง แต่ก็ยังรู้ตัวว่ากำลังนั่งสมาธิอยู่”

นี้คือความแหลมคมของกิเลส ความแหลมคมของกิเลสนะ มันจะบอกว่า “ก็เรานั่งสมาธิไง ตื่นขึ้นมาเรายังนั่งสมาธิอยู่เลย จิตนี้ก็โพลงดี๊ดี” ความแหลมคมของกิเลสมันไพล่ไปเอาความผิดมาเสริมกิเลสของเรา เอามาเสริมกิเลสของเรา

นี่การแก้จิต ที่หลวงปู่มั่นบอกแก้จิตแก้ยากมากนะ เพราะตรงนี้ไง เพราะอะไร เพราะคนที่ปฏิบัติเขารู้เองเห็นเองใช่ไหม จิตของเขานั่งลงไป เขาโพลงขึ้นมาใช่ไหม เขาสัมผัสเองทั้งหมดใช่ไหม แล้วคนนอกมาบอกว่าสิ่งที่เขาสัมผัสทั้งหมดนั้นไม่ถูก เขาจะเชื่อไหม

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่จะแก้จิต ท่านต้องหาวิธีการของท่าน ท่านต้องเปรียบเทียบของท่าน หาอุบายของท่านให้จิตดวงที่มันสว่างโพลงขึ้นมา มันสะดุ้งตื่น แล้วมันโพลงขึ้นมาหมดเลย แล้วมันนั่งสมาธิอยู่นี่ ให้มันยอมรับว่ามิจฉาสมาธิ ให้มันยอมรับว่าการกระทำของเราผิดมาตลอด มันยอมรับไหม มีที่ไหนยอมรับ คนทำเป็นอย่างนี้แล้วใครยอมรับ

แต่ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านปฏิบัติผ่านมาแล้ว ถ้าท่านติดอยู่ตรงนี้ ท่านจะขึ้นมาเป็นครูบาอาจารย์เราไม่ได้ ถ้าใครติดอยู่ตรงนี้ จิตมันจะลงสงบเป็นสมาธิไม่ได้ จิตมันก็กึ่งๆ คือตกภวังค์

ภวังค์นี้เป็นสมาธิหรือเปล่า? เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิด

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง ที่มันมีกำลัง ที่มันเป็นประโยชน์ขึ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า “พอมันรู้สึกตัว มันเหมือนฝัน แล้วพอตื่นขึ้นมาสว่างโพลง ผมมั่นใจว่าเพราะผมก็ยังรู้สึกตัวอยู่ว่านั่งสมาธิอยู่นะ ซึ่งผมก็คิดว่าถ้าจิตของผมเป็นสมาธิในระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งก็น่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับการยกหัวข้อขึ้นพิจารณา”

เห็นไหม กิเลสมันลากไปแล้ว เวลาสว่างโพลงขึ้นมา เรานั่งสมาธิอยู่ มันก็ควรจะพิจารณาได้

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทำความสงบของใจให้ใจมีกำลังแล้วออกพิจารณาๆ ออกพิจารณามันไม่มีสมุทัย มันไม่มีความสงสัย มันไม่มีสิ่งใดเป็นขวากหนามให้เราใช้ปัญญาของเราไป

ไอ้นี่มันขวากหนามหมดเลย ขวากหนามตรงไหน ขวากหนามตรงที่ว่าตัวเองยังงงๆ อยู่เลย แล้วเขาบอกว่า “มันก็สมควรยกหัวข้อธรรมขึ้นพิจารณาได้แล้ว มันสมควรแล้ว”

แล้วยกหัวข้อธรรมขึ้นมา กิเลสมันก็ป้อนให้เลยนะ หัวข้อธรรมก็เป็นแบบนี้ ก็มันเข้าใจอยู่แล้ว ก็เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหมดแล้ว เราก็เข้าใจหัวข้อธรรมอยู่แล้ว แล้วกิเลสมันก็ยกหัวข้อธรรมขึ้นมา แล้วเราก็ใช้ปัญญาไตร่ตรอง มันก็ปล่อยวางหมด “แหม! อย่างนี้มันน่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วนะนี่ มันน่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วล่ะ เพราะ แหม! มันทะลุปรุโปร่งหมดเลย มันไตร่ตรองแล้วมันปล่อยวางได้หมดทั้งสิ้นทั้งปวงเลย มันไม่มีอะไรในหัวใจเลย” นี่กิเลสมันแหลมคมอย่างนี้ ถ้าขาดครูบาอาจารย์ใช่ไหม เราก็คิดของเราไปแบบนี้ ถ้าคิดไปแบบนี้แล้วมันจะเป็นจริงขึ้นมาไหมล่ะ

“เหตุที่ผมเชื่อว่าจิตของผมกำลังเข้าสมาธิ เพราะว่าถึงแม้ว่าผมจะรู้สึกตัว รู้ตัวเป็นปกติทุกอย่าง แต่สติของผมก็สามารถรับรู้อารมณ์จากภายนอกที่เข้ามากระทบได้อย่างชัดเจน แต่จิตของผมกลับไม่เกิดอารมณ์หวั่นไหวที่จะกระทบจากผลกระทบนั้น เพียงแต่รับรู้สิ่งต่างๆ”

เวลาเราทำดีนะ เวลาทำดี ทำดี เราทำดี กิเลสมันเห็นว่าเรามีศรัทธาแก่กล้า กิเลสมันไม่สามารถจะล้มล้างการปฏิบัติของเราได้ มันก็ทำอย่างนี้ “ผมก็คิดว่าผมก็เป็นสมาธิอยู่ เกิดการกระทบแล้วผมก็รู้เท่าทันหมดเลย ผมก็ปล่อยวางทุกอย่างได้หมดเลย” นี่กิเลสมันเออออไปด้วยไง

แต่ถ้าอันไหนมันขัดใจแรงๆ นะ โอ๋ย! มันพองขึ้นมานะ เดี๋ยวมันก็เห็นชัดเจน นี่เขาเรียกกิเลสบังเงา กิเลสมันต่อต้านก็มี กิเลสมันแบบว่าเป็นแนวร่วมของเราไปก็มี กิเลสมันสร้างภาพให้เราก็มี กิเลสนี้มันพลิกแพลงของมันได้ตลอด

ฉะนั้น บอกว่า “ผมเข้าใจว่ามันเป็นสมาธิ เพราะว่ามันออกมาแล้วมันรู้สิ่งใดชัดเจน”

เรานั่งปฏิบัติกันอยู่นี่ คนเราถ้าขาดสติ มันก็ทำอะไรพลั้งเผลอของมันไป คนถ้ามีสติสมบูรณ์ เขาก็ทำงานของเขาชัดเจนของเขา นี่ก็เหมือนกัน นี่เราภาวนานะ เราหัดภาวนากันใช่ไหม เรากำหนดพุทโธของเราใช่ไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม จิตมันมีการทำงาน เหมือนน้ำเสียมีการรีไซเคิล น้ำนั้นมันก็สะอาดขึ้นมา จิตของเรามันหมักหมม จิตของเรามันมีอะไรในหัวใจ มันฝืดเคืองไปทั้งหมดเลย เราก็ตรึกในธรรม เราก็กำหนดพุทโธ มันก็ปล่อยวางเข้ามา จากน้ำเสียมันก็เป็นน้ำดี น้ำดีมันก็เป็นประโยชน์ไง ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมามันก็ไม่กระทบเลย มันก็ไม่เป็นอะไรไป มันก็แค่น้ำดี น้ำดีปล่อยก็ระเหยหมดเหมือนกัน น้ำดีปล่อยไว้มันไปไหนหมดล่ะ มันก็ระเหยเป็นไอไปหมด แล้วน้ำดีมาจากไหน น้ำดีก็คือน้ำดี แล้วเป็นอย่างไรต่อล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน “ผมก็เข้าใจของผมว่ามันก็น่าจะเป็นสมาธิ”

คำว่า “เป็นสมาธิ ไม่เป็นสมาธิ” มันเป็นสมบัติของเรา อย่างเช่นเงินในกระเป๋าเรา เงินในกระเป๋าเรามี ๑๐๐ บาท มี ๑,๐๐๐ บาท มันก็เป็นเงิน ๑๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาทของมันคงที่ แต่ถ้าเรามี ๑๐๐ บาท เราใช้ไม่เป็น เราทำอะไรไม่เป็น ๑๐๐ บาทมันมีสิ่งใดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่าเราเป็นสมาธิ ไม่เป็นสมาธิ มันเป็นภาคปฏิบัติ มันให้ผลทั้งนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีคือดี ทำชั่วคือชั่ว นี่เราปฏิบัติขึ้นมา ผลของความดีมันก็มีของมันขึ้นมา เราก็ปลอดโปร่ง เราก็ดีงามของเราขึ้นมา มันก็ขึ้นมา

นี่ไง เขาบอกว่า พื้นฐานในการปฏิบัติเริ่มต้น เราต้องเก็บหอมรอมริบ อย่างเช่นเราจะวิปัสสนาของเรา เราก็ต้องมีเหตุมีผลของเรา จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เป็นการภาวนา เหมือนกับว่าคนเขาทำอาหาร ทำอาหาร เรานึกว่าทำอาหาร แล้วเราก็นั่งนึกเอาอยู่ว่าเราทำอาหารๆ แล้วอาหารก็เสร็จมาเป็นถ้วยเป็นจาน ไม่มี

เราทำอาหารปั๊บ เราก็ต้องหานะ หาวัตถุดิบใช่ไหม หาปู หาปลา หาอะไรมา หาเครื่องแกงมา แล้วเราทำมา นี่ก็เหมือนกัน มีสติก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง มีสมาธิก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง มีความเพียรชอบก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง มีงานชอบ มีสติชอบ ระลึกชอบ มันก็มีมรรค ๘ มันก็ต้องเก็บหอมรอมริบมา พอเก็บหอมรอมริบมามันก็เกิดมรรคญาณ มันรวมตัวไป เราก็จะเริ่มทำอาหาร มันก็เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา

ไอ้นี่เราคิดของเราเอง คำว่า “เราทำอยู่นี้” เราก็ว่า “มันพร้อมหมดแล้ว สติก็มีพร้อม ทุกอย่างก็มีพร้อม” ไอ้นี่มันแบบว่าลิขสิทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เลย ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ทำไป ประเดี๋ยวเขาฟ้องขึ้นมาต้องเสียค่าปรับ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ๓ เท่า ๔ เท่า

แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมา สติคือสติของเรา สมาธิคือสมาธิของเรา ความเพียรก็ความเพียรของเรา เกิดขึ้นมาจากการค้นคว้าวิจัยของเรา ลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของ เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นเอง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก สิ่งสิ่งนั้นเป็นของของเราขึ้นมา เราไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้ใคร ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์จะมาเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากการปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติจริงนะ นี่ความจริงเป็นแบบนี้ ถ้าครูบาอาจารย์เป็นจริงท่านจะสอนเป็นจริงอย่างนี้

ฉะนั้น บอกว่า “มันมีผลกระทบชัดเจน จิตของผมกลับไม่เกิดอารมณ์สิ่งใดเลย ไม่เคยหวั่นไหวกับสิ่งใดเลย”

ไม่หวั่นไหวมันก็ไม่หวั่นไหว ขอนไม้มันก็ไม่หวั่นไหว ภูเขาทั้งลูกเลย คนขึ้นไปขับไปถ่าย เขาไปสร้างรีสอร์ทบนภูเขานะ ภูเขาไม่เห็นหวั่นไหวอะไรเลย แล้วภูเขามันได้อะไร ไปดูสิ ภูเก็ต โรงแรมเต็มชายเขาไปหมดเลย ภูเขามันหวั่นไหวไหม โรงแรมหนักนะ ตึกหลังใหญ่ๆ แล้วคนขึ้นไปขับไปถ่าย ภูเขามันไม่เดือดร้อนเลย ไม่หวั่นไหวแบบนั้นเป็นประโยชน์อะไร ไม่หวั่นไหวแบบภูเขา โรงแรมกี่โรงแรมตั้งอยู่บนภูเขา ประชาชนขึ้นไปอาศัยอยู่ขนาดไหน ภูเขามันเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากใครบ้าง เว้นไว้แต่เจ้าของโรงแรมเก็บสตางค์เท่านั้นน่ะ ภูเขาไม่ได้อะไรเลย

“ผมไม่หวั่นไหว”

ไม่หวั่นไหวแล้วได้อะไร

แต่ถ้าพูดทางธรรมนะ ทางธรรมบอกว่า จากที่หวั่นไหวมันทุกข์ยากนัก แล้วพอมาปฏิบัติธรรมแล้วไม่หวั่นไหว...มันก็ใช่ แต่มันก็แค่นั้น เบสิกไง พื้นฐาน พื้นฐาน ก็ปฏิบัติไปสิ ปฏิบัติไป แล้วก็บอกว่า “ได้สมาธิ ได้ปัญญาขึ้นมา” แล้วสมาธิ ปัญญาอะไรล่ะ

เรามีครูบาอาจารย์นะ ใจที่สูงกว่าจะดึงเราให้ขึ้นมานี่ไง

“แต่ผมก็ยังสงสัยว่าถ้าจิตของผมกำลังเข้าสมาธิจริง สมาธิขั้นนี้ก็อยู่ขั้นต่ำมาก (อยู่ขั้นต่ำมาก) เพราะมันเหมือนกับเรานั่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่มีสติแจ่มชัด ชัดเจนเท่านั้น ผมจึงอยากรู้ว่า ในขั้นนี้ จิตของผมเป็นสมาธิอยู่หรือเปล่า”

“ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นสมาธิขั้นต่ำมาก” คำว่า “ต่ำมาก” คือเราสงสัยตัวเราเอง ถ้าเป็นสมาธิทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ ถ้าเป็นสมาธิ พระพุทธเจ้าบอกจิตสงบมันต้องมีความสุข ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิมันมีระดับของมัน

อ้าว! แล้วอย่างไรมันเป็นขณิกะล่ะ? ก็ชั่วครั้งชั่วคราว

อย่างไรเป็นอุปจาระล่ะ? ถ้าอุปจาระเข้าไป มันสงบของมัน แต่ยังได้ยินเสียงอยู่

ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ มันดับหมด สักแต่ว่า ดับหมด ไม่ใช่ว่าไม่มี ถ้าดับหมดไม่มี แสดงว่าคนทำไม่เป็น นี่ถ้าคนไม่มีหลักพูดไม่ได้หรอก ถ้าพูดแล้ว เวลาตอบไปแล้ว เวลาเขาถามแล้วตอบไม่ถูก

ถ้าคนมีหลักนะ ถามมา อัปปนาสมาธิเป็นแบบใด สักแต่ว่า ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่มี มี สักแต่ว่าเลย แล้วเวลามันคลายตัวออกมาเป็นอุปจาระ นี่ไง ใช้วิปัสสนากันนี่ไง ของมันมี นี่สมาธิเป็นแบบนี้ ไอ้นี่มันก็เป็นการพักใจ เป็นการพักใจ บอกไม่เป็นสมาธิ

มันเป็นสมาธินะ ถ้าไม่เป็นสมาธิ คนบ้าอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา พวกนั้นขาดสมาธิ มีจิตเหมือนกัน แต่ขาดสมาธิ เขาบอกสมาธิกับจิต สมาธิไม่ใช่จิต ถ้าสมาธิเป็นจิตนะ จิตกับสมาธิเป็นอันเดียวกัน โรงพยาบาลศรีธัญญาจะไม่มี เพราะเขามีจิต คนเรามันมีชีวิตอยู่ มีจิตวิญญาณอยู่ใช่ไหม ถ้าสติกับจิตเป็นอันเดียวกัน มันจะบ้าได้ไหม? มันควรบ้าไม่ได้ แต่นี่ทำไมเขาบ้าล่ะ บ้าเพราะว่าเขาขาดสติ แต่จิตเขามีไหม? มี ฉะนั้น สมาธิกับจิตมันถึงไม่ใช่อันเดียวกันไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงว่า ถ้ามันเป็นสมาธิ สมาธิกับจิตเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า เราเข้าอัปปนาสมาธิมันเป็นแบบใด จะบอกว่ามันไม่เป็นสมาธิ

สมาธิของปุถุชนกับสมาธิของกัลยาณปุถุชน พอสมาธิของกัลยาณปุถุชน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันถึงจะยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค บุคคล ๔ คู่แล้ว ขึ้นสู่บุคคล ๔ คู่ บุคคล ๘ จะเป็นบุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล แล้วบอกมาสิว่าสมาธิของโสดาปัตติมรรคเป็นแบบใด สมาธิของสกิทาคามิมรรคเป็นแบบใด สมาธิของอนาคามิมรรคเป็นอย่างไร สมาธิของอรหัตตมรรค มันเป็นอย่างไร เพราะ ๔ คู่ ๔ แบบ ว่ามา ถ้าเป็น ว่ามา

พูดกันปากเปียกปากแฉะ แต่พูดไม่เป็น

หลวงตาบอกว่า เดี๋ยวนี้สมาธิมันยังไม่รู้กันเลย แต่มันจะสอนมรรคผลนิพพานกัน มันจะสอนมรรคผลนิพพานกัน สมาธิมันยังไม่รู้ ถ้าสมาธิมันรู้ มันจะพาจิตนี้เข้าสู่สมาธิอย่างไร จะพาผู้ปฏิบัติให้จิตเข้ามาสู่สมาธิ เข้ามาสู่ความสงบระงับ เข้ามาสู่บาทฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน รื้อค้นกิเลส รื้อค้นเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส ทำกันอย่างไร ทำกันอย่างไร หลอกลวงทั้งนั้น

“๓. เมื่อมาถึงตอนนี้ จิตของผมทรงตัวอยู่สักพัก จากนั้นผมจะเริ่มกำหนดดูลมหายใจใหม่ จนรู้สึกสงบลงใหม่อีกครั้ง และตอนนี้เอง ภาพที่เป็นอสุภะก็เกิดขึ้น”

อสุภะ พูดถึงโดยจินตนาการ มันมีของมันทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันมีของมันใช่ไหม แต่ถ้ามีของมัน นี่พูดถึงคนจินตนาการนะ แต่ถ้าจิตเราสงบ ถ้าเรามีอำนาจวาสนา มันเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น บอกว่า “อสุภะก็ปรากฏขึ้น ซึ่งมีความชัดเจนมาก แต่มีลักษณะไม่นิ่งอยู่ มีอาการไหลเรื่อยๆ ผมจะบังคับให้หยุดอยู่กับที่เพื่อจะพิจารณาให้เป็นจุดๆ ก็ทำไม่ได้”

มันจะทำได้อะไร ในเมื่อสมาธิยังตกภวังค์อยู่เลย การตกภวังค์อยู่ มันวูบ มันโพลงของมันอยู่อย่างนี้ แล้วมันวูบ มันโพลงอย่างนี้มันก็เห็นได้ เหมือนเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้านะ อย่างนี้ลองเข้าไปสิ ในเซเว่น ในเซเว่นของเต็มไปหมดเลย แล้วเอ็งเดินออกมาตัวเปล่า เอ็งได้อะไรออกมา อ้าว! ก็มันไหลไง เข้าไปในเซเว่นใช่ไหม เอ็งอยากได้อาหารก็มี เครื่องใช้ไม้สอยก็มี ทุกอย่างมีหมดเลย ในห้างสรรพสินค้ามีทุกอย่างเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบเห็นเป็นอสุภะ แต่มันไหล มันไหล ไม่อยู่หรอก เอ็งไม่มีสิทธิ์ เพราะเอ็งไม่มีเงินซื้อ ถ้าเอ็งจะเอาสินค้านั้นเป็นของเอ็ง เอ็งต้องเอาสินค้านั้นแล้วไปที่เคาน์เตอร์จ่ายสตางค์ ถ้าไม่ไปที่เคาน์เตอร์ เอ็งลักขโมย นี่ก็เหมือนกัน จิตมันไหล อสุภะ เพราะเขาบอกว่าจิตของเขาควรจะยกขึ้นวิจัยในธรรมะ

ถ้าจะวิจัยในธรรมะ เราทำสมาธิหาสตางค์ๆ หาสตางค์แล้วนะ พอเราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เราจะหยิบอะไรก็ได้ แล้วเรามีสตางค์จ่าย เพราะเรามีสมาธิ เรามีพื้นฐานที่จะใช้ ที่จะเป็นจริง แต่ถ้าเราไม่มีสตางค์ เข้าไปหยิบซ่อนออกมา จะซุกออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ นั่นคือการฉ้อโกง ถ้าเขาจับไม่ได้ ถ้าเขาจับได้ เราออกมาไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน อสุภะๆ ที่มันไหล มันไหล มันเป็นที่อำนาจวาสนา บางคนนะ จิตมันเป็นนิมิตได้ มันเห็นของมันได้ แต่ไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงเพราะว่าจิตมันยังตกภวังค์ จิตของมันยังตั้งตัวไม่ได้ จิตของมันยังตั้งตัวไม่ได้ มันจะไปเห็นอสุภะได้อย่างใด คนไม่มีสตางค์บอกขี่โรลส์-รอยซ์ มันเป็นไปได้อย่างไร อ้าว! เอ็งไม่มีสตางค์ เอ็งขี่โรลส์-รอยซ์ได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน จิตตกภวังค์มาตั้งแต่ข้างหน้า แต่เวลาเจออสุภะมันจะเป็นไปได้อย่างไร ไม่เป็นหรอก แต่มันเป็นเพราะอะไร เพราะหลวงตา หลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนี้ จิตนี้มหัศจรรย์นัก เป็นได้ทั้งดี เป็นได้ทั้งร้าย เป็นได้หลากหลายทุกแนวทาง เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราก็คิดคาดการณ์กัน การปฏิบัติมันต้องเห็นอสุภะ จิตนี้เป็นได้หลากหลาย เป็นได้ทั้งดี เป็นได้ทั้งร้าย

เป็นได้ทั้งดี นักภาวนาจะเห็นอสุภะ เป็นได้ทั้งดี มันเป็นได้ เป็นได้อย่างนี้เป็นได้เพราะอะไร เป็นได้เพราะจิตมันเป็น จิตมันมีพื้นฐาน จิตมันมีสัญญา จิตมันมีข้อมูลของมัน มันก็มีภาพนั้นออกมาจากจิตนั้น

จิตเป็นได้ร้ายนัก ร้ายนัก ปฏิบัติไปแล้ว “ถ้าเราปฏิบัติไป เราจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เราต้องฆ่าตัวตาย ถ้าฆ่าตัวตายเมื่อไหร่ก็เป็นพระอรหันต์เมื่อนั้น” นี่ร้ายนัก มันก็ชักนำให้เราทำร้ายตัวเอง มันก็ชักนำนะ “ถ้าจะภาวนานะ ที่นี่มันก็เกือบจะสำเร็จอยู่แล้ว ถ้าได้เผากุฏิหลังนี้เลยนะ เราจะสำเร็จพร้อมไปเลยนะ” มันก็จุดไฟเผาไปเลย เชื่อจิตไง เชื่อความเห็นของจิตไง

หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้นะ คนภาวนาไปยังไม่รู้ คนไม่เคยภาวนายังไม่รู้ คนภาวนาไปแล้วเข้าไปเผชิญหน้ากับมันแล้วจะรู้ จิตนี้เป็นได้ทั้งดีและเป็นได้ทั้งร้าย ดี ดีอย่างเลอเลิศ ร้าย ร้ายแบบสุดๆ ร้ายแบบทำลายตัวเองก็ได้ จิตนี้เป็นได้ทั้งดีทั้งร้าย

แล้วถ้าคนไม่มีครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติไปนะ เห็นอสุภะ เห็นร้อยแปดพันเก้า เห็นอะไรก็แล้วแต่ ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ ครูบาอาจารย์สำคัญมาก ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นครูบาอาจารย์จริง ท่านไม่ผ่านประสบการณ์แบบนี้ ประสบการณ์แบบนี้ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ทุกองค์ถ้าเป็นธรรมจริงจะต้องผ่านแบบนี้มา จะต้องได้ฆ่ากิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนมา คนไม่ได้ฆ่ากิเลสเป็นชั้นเป็นตอน จะให้กิเลสสิ้นไปจากใจ ไม่มี ไม่มีในโลกนี้ แต่ถ้าคนจะเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านต้องผ่านประสบการณ์ของท่าน ท่านได้ชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

ฉะนั้น เหตุการณ์แบบนี้มันเหตุการณ์พื้นฐานเบสิกทั้งนั้นน่ะ นี่กิเลสหยาบๆ แล้วหลอกหยาบๆ

แต่ครั้งที่แล้วตอบไปแบบเอาอกเอาใจ แบบให้มีกำลังใจ แต่ยังสงสัยอยู่ วันนี้เคลียร์ปัญหา วันนี้เคลียร์ปัญหาเลย

“ลักษณะภาพอสุภะที่เห็นในขั้นนี้จะมีลักษณะเป็นธรรมชาติของมันจริงๆ คือเนื้อก็เป็นเนื้อ กระดูกก็เป็นกระดูก เลือดก็เป็นเลือด จนบางครั้งผมรู้สึกกลัวจนอยากจะถอนจิตหนีออกมา ผมจึงขอเรียนถามว่า ผมอยู่ในขั้นที่ว่าเห็นกายด้วยจิตหรือยังครับ”

เพราะมันเห็น เพราะโดยขั้นตอนโดยวิทยาศาสตร์ เราก็เข้าใจได้ว่าเนื้อหนังมังสาของคน เราก็รู้ได้ แล้วเวลาเราไปเจออุบัติเหตุ เวลาเจออุบัติเหตุ เราเจอซากศพต่างๆ ใครไปเห็นมากๆ เข้า มันจะเกิดความขย้อน มันจะกินอาหารไม่ได้หลายวันเลย เพราะมันเปรียบเทียบแล้วรู้สึกว่ามันตีขึ้นมาจากภายใน

ฉะนั้น เราก็คิด “เห็นเนื้อเป็นเนื้อ เห็นกระดูกเป็นกระดูก เห็นเลือดเป็นเลือด” อย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ถ้าเป็นเรื่องโลกนะ มันก็เป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น การเห็นแบบนี้มันก็เห็นใช่ไหม ทีนี้พอการเห็นแบบนี้ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่มันเป็นข้อเท็จจริงที่บอกว่าชัดเจนมากคือ “บางครั้งจนผมรู้สึกกลัว อยากจะถอนจิตหนี”

มันบอกชัดๆ ก็เหมือนกลัวผี คนเข้าป่าช้าไป กลัวผีก็อยากวิ่งหนีผี

แต่ถ้าจิตมันสงบนะ จิตสงบ ถ้าผีสางเข้ามา หลวงปู่จวนท่านอยู่ที่ภูสิงห์น้อย ท่านนั่งสงบไปแล้วกลิ่นจะมาก่อน แล้วเปรต ๒ พี่น้องจะเข้ามาหาท่าน ท่านกำหนดดูแล้วเห็นเป็นเปรตใช่ไหม ท่านก็ถาม ถามในสมาธิของท่าน “ทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ”

“เพราะสาวไหม”

นี่ ๒ พี่น้อง หลวงปู่จวนท่านแผ่เมตตาให้ เพราะหลวงปู่จวนท่านมีคุณธรรมในหัวใจของท่าน แล้วพอวันรุ่งขึ้น คืนต่อไปท่านก็นั่งภาวนาของท่าน พอจิตท่านสงบลงนะ เห็นลอยมาจากอากาศ เป็นเทพธิดา ๒ คนเข้ามากราบท่าน กราบหลวงปู่จวน กราบหลวงปู่จวน ถามหลวงปู่จวนว่า “หลวงปู่จำหนูได้ไหมคะ หลวงปู่จำเปรต ๒ ตัวได้ไหมคะ เดี๋ยวนี้เปรต ๒ ตัวนั้นกลายเป็นเทพธิดา ๒ องค์นี้ค่ะ”

นี่หลวงปู่จวน ประวัติหลวงปู่จวน ไปเปิดดูได้ นั่น ทำไมท่านไม่กลัวล่ะ ทำไมท่านไม่กลัว

อยู่ในป่าในเขา ถ้าจิตเป็นธรรม เวลาภูตผีปีศาจ พวกสัตว์ร้ายเข้ามา พวกต่างๆ เขามาขอส่วนบุญ ทำไมเขาไม่กลัว

ถ้าจิตมีหลัก เรื่องอย่างนี้ไม่กลัว เพราะมีปัญญา ไอ้ผีตัวนั้นกับไอ้ผีตัวนี้ก็มีค่าเท่ากัน ไอ้เปรตตัวนั้นกับไอ้เปรตตัวนี้ก็มีค่าเท่ากัน ไอ้จิตข้างนอกกับจิตในนี้ก็มีค่าเท่ากัน จิตดวงนี้มันได้พิจารณาของมัน ได้สร้างบุญกุศลของมันขึ้นมา จนจิตดวงนี้มันได้ชำระวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันได้ชำระล้างสิ่งที่มันเป็นในหัวใจของมัน มันเห็นใจไง เห็นใจดวงนี้กับเห็นใจดวงที่เป็นเปรตเป็นผี เป็นต่างๆ มันเห็นใจเหมือนใจ แต่ใจอันนั้นมันมีเวรมีกรรมแบกหามมา ใจอันนี้ได้ชำระล้างมา มันไปกลัวอะไร

ถ้าจิตมันเข้าไปหาอสุภะนะ มันพิจารณาของมัน มันยิ่งสนุกครึกครื้น มันยิ่งได้ต่อสู้ นี่คนเรากำลังชำระล้าง

สิ่งที่ว่ากลัว เห็นจนจะหนี มันบอกชัดๆ ว่ากิเลสไง เห็นโดยอุปาทานไง ถ้ารู้สึกว่ากลัว คนที่เห็นครั้งแรก เห็นต่างๆ มันสะเทือนใจ มันไม่ใช่กลัว อย่างที่เห็นกายครั้งแรกมันสยดสยอง โดยธรรมชาติของคนปฏิบัตินะ ทุกคนจะบอกว่า “หลวงพ่อ ไม่พิจารณากายได้ไหม เพราะหนูกลัวผี” ใครๆ ก็ไม่อยากพิจารณากายเพราะกลัวผี

เราบอกว่า ผีคือจิตวิญญาณ ผีมันเป็นภูตผีปีศาจ เขามีจิตวิญญาณของเขา การเห็นกาย การเห็นกายมันไม่ใช่ภูตผีปีศาจ มันเป็นอริยสัจ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นสัจจะ สัจจะเพราะว่าในจิตใต้สำนึกเรา เราเกิดเป็นมนุษย์ เราก็มีกายกับใจ ความผูกพันระหว่างกายกับใจมันเห็น กายมันก็คือธาตุ กายก็คือธาตุ ๔ ไง กายก็คือสสารไง มันไม่มีชีวิต มันไม่มีจิตวิญญาณ ฉะนั้น เห็นกายโดยอริยสัจมันไม่ใช่การเห็นผี

เห็นผีส่วนเห็นผี เห็นภูตผีปีศาจเป็นเรื่องหนึ่งนะ เห็นนรกสวรรค์ เห็นวัฏฏะเป็นเรื่องหนึ่ง เห็นอริยสัจมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่โดยธรรมชาติมนุษย์ผูกเป็นเรื่องเดียวกันไง ผูกว่ากายกับผีเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้น “หนูไม่พิจารณากายได้ไหม เพราะหนูกลัวผี”

ไอ้คนภาวนามันอยากเห็นกายใจจะขาด ไอ้นี่มันบอกว่ามันไม่อยากเห็นกาย นี่เบสิก มันผิดแปลกแตกต่างอย่างนี้ไง เพราะคนไม่เป็นไง

แต่ถ้าคนเป็นจะเข้าใจนะ เห็นภูตผีปีศาจคือเห็นจิตวิญญาณ เห็นกายคือเห็นอริยสัจ เห็นสัจจะความจริง เพราะจิตใต้สำนึกเรา ปัจจุบันนี้เราเป็นมนุษย์ เรามีกายกับใจ ถ้ามีกายกับใจ มันติดอะไร มันติดที่เป็นของเราๆ อยู่นี่ ถ้าเราพิจารณาตรงนี้ขึ้นไป มันจะเริ่มคลายตรงนี้ออกไง พอคลายตรงนี้ออกแล้วมันจะไปกลัวอะไร

ความกลัวมันบอกอยู่แล้ว เพราะความกลัวมันแบ่งภาค แบ่งภาคว่าจิตนี้คือจิต อสุภะเป็นอสุภะ ทีนี้มากระทบกันมันก็กลัว แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันเป็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตมันเห็นตัวมันเอง มันเป็นภาคเดียวกัน มันเป็นภาคเดียวกัน มันเป็นการทำงานที่ต่อเนื่องกัน แต่มันคนละภาค แล้วมันกระทบกัน มันก็มีปัญหาอย่างนี้ คือเรื่องของโลกไง นี่พูดถึงว่าการเห็นอสุภะ

จะบอกว่า “แล้วอย่างนี้ การเห็นกายของผมนี้ด้วยจิตหรือยัง”

ยัง ยัง แล้วเราทำของเราต่อขึ้นไป นี่พูดถึงนะ

“๔. มีอยู่ครั้งหนึ่งจิตของผมมีอาการสว่างจ้าขึ้นมาเฉยๆ ขณะนั่งสมาธิ อาการคือเมื่อกำหนดลมหายใจอยู่ดีๆ จิตก็รู้สึกว่าสว่างพรึบขึ้นมา เหมือนเราไปแตะโดนสวิตช์ไฟเข้า หรือเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในที่มืด จู่ๆ สว่างจ้าขึ้น ฟ้าสว่างขึ้นมาเสียอย่างนั้น มันสว่างมากๆ และสติก็ชัดเจนตามไปด้วย ซึ่งอาการนี้ต่างจากที่ผมเคยนั่งสมาธิทั้งหมด ผมอยากรู้ว่าอาการอย่างนี้มันเป็นอย่างใด”

อาการแบบนี้ เวลาจิตมันเป็นนะ เวลามันเห็นสว่างจ้าขึ้นมามันก็เท่านั้นน่ะ เวลาคนภาวนาแล้วนี่เรื่องปกติ ขณะที่สว่างจ้านะ จิตมันลงนะ ถ้าจิตของเรา บางคนจิตลงแล้วจิตมันสว่างหมด แล้วทีนี้พอคนภาวนานะ ถ้าวันไหนไม่สว่างคือคืนนั้นจิตไม่เป็นสมาธิ

มันคนละเรื่องกันน่ะ สมาธิคือจิตเป็นสมาธิ สว่างคือออกรู้ออกเห็น มันคนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวกันเลย ถ้าอย่างนั้นนะ คนที่ไม่สร้างอำนาจวาสนามาคือจิตเขาสงบเฉยๆ ที่ไม่สว่างจ้า แสดงว่าอันนั้นมิจฉาสมาธิสิ อันนั้นผิดน่ะสิ

เวลาจิตเขาสงบเฉยๆ ส่วนใหญ่ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ จิตสงบเฉยๆ ไม่มีอะไรหรอก ขอให้สงบเถอะ สงบเข้ามามันก็เป็นสมถะ มันก็มีความสุขแล้วล่ะ สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี สงบเฉยๆ มันก็รู้ตัวทั่วพร้อม มันสงบเข้ามาชัดเจนมาก นี่คือจิตสงบ

แต่ถ้ามันจิตสงบแล้วมันสว่างจ้าขึ้นมา สว่างจ้าก็คือสว่างจ้า สว่างจ้าถ้ามันขาดสติ สว่างจ้าก็ตกใจด้วย สว่างจ้าก็พวกส่งออก สว่างจ้า เขาสว่างจ้ามันก็สักแต่ว่าสว่าง จิตก็จิต สว่างก็สว่าง มันคนละอัน ไม่เกี่ยวกันเลย ไม่เกี่ยวกันเลย ไม่มีผลอะไรกับจิตเลย ไม่มีผลอะไรกับสมาธิเลย

จิตเวลามันสว่าง อย่างที่ว่าดวงแก้วๆ เวลากำหนดแล้วดวงแก้ว กลางของกลาง กลางของกลาง มันสู่ดวงสว่างนั้น

ดวงสว่างนั้นมันก็นึกภาพขึ้นมา แล้วนึกภาพมันก็เป็นการเพ่งกสิณ นึกภาพ ดูสิ กสิณเขียว กสิณแดง กสิณต่างๆ ให้เห็นกสิณ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นวิธีการ มันไม่ใช่จิตสงบหรอก ถ้าจิตสงบก็คือจิตสงบ สว่างก็คือสว่าง โธ่! สว่างขนาดไหนก็สว่าง

แล้วถ้าคนเขาเห็นนะ เขาว่าเห็นนิมิตๆ...โธ่! เห็นร้อยแปด จิตมันต้องเห็นนิมิตมาก่อน ถ้าใครไม่เห็นโทษก็ตามนิมิตนั้นไป ใครเห็นโทษก็วางนิมิตนั้นไว้ แล้วทำจิตของเราให้สงบเข้ามามากขึ้น

แล้วจิตถ้ามันชำระล้างกิเลสแล้ว ถ้าจิตมันพ้นจากกิเลสแล้วนะ อำนาจวาสนาที่เห็นๆ อยู่นั่นน่ะเอามาใช้ นี่ไง อภิญญาๆ รู้หมดเลย รู้โดยที่หัวใจไม่สั่นไหว รู้โดยหัวใจที่มั่นคง เพราะใจเป็นธรรมแล้วมันรู้เห็นสิ่งใด มันก็ไม่มีสิ่งใดมายุแหย่ให้จิตนี้มันฟู ให้จิตนี้มันแฟบ

แต่ถ้าจิตยังไม่มีคุณธรรม เวลามันรู้ขึ้นไป เพราะมันมีอำนาจวาสนา แล้วมันก็ไปตามนั้น พอไปตามนั้น ถึงเวลาหมดบุญหมดกรรมนะ ทีนี้กลับเข้าสมาธิก็ไม่ได้ เสื่อมหมด พอเสื่อมหมดแล้วทำอย่างไรรู้ไหม ขี่หลังเสือ เอาอาการที่เคยรู้เคยเห็นมาหลอกชาวบ้าน แต่สิ่งที่เป็นไปมันหายไปแล้ว เพราะสิ่งใดก็แล้วแต่ ไม่มีการคงที่ วันเวลาเคลื่อนที่ตลอดเวลา นิสัยใจคอของคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จิตของคนมันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน แต่การปฏิบัติของเรา เรามีสติปัญญารักษาใจของเรา เราจะสร้างสมขึ้นมาให้มันดีขึ้นทุกวันๆ อันนี้เราสร้างสมปัญญาของเราขึ้นมา

ที่ว่ามันเหมือนเปิดสวิตช์ มันเหมือนอะไรนะ ไอ้นี่มันแป๊บเดียว กำหนดให้สว่าง แสงสว่างตกที่ไหน เสียงต่างๆ ได้ยินทั้งหมด ทำได้หมดแหละ ทำได้ทั้งนั้น แล้วทำได้แล้วมันเป็นประโยชน์อะไรล่ะ มันไม่ใช่อริยสัจไง มันไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ สว่างก็คือสว่าง เอาไว้คุยโม้กันไง เอาไว้คุยกันว่าฉันสว่างกว่าเธอ เธอสว่างกว่าฉัน ฉันสว่างได้สูงกว่า ฉันได้แสงสว่างกว่า อย่างนั้นฉันก็ติดดวงอาทิตย์ ฉันสว่างกว่า...เออ! เอาไว้คุยโม้กัน มันไม่เป็นประโยชน์กับอริยสัจ เราต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ วางไว้ เราเอาแต่เป็นประโยชน์ ทำประโยชน์นั้นก่อน อันนี้มันก็เป็นแค่นั้นน่ะ

ฉะนั้น อย่างครั้งที่แล้ว คำถามนี้คือคำถามเก่าหมดเลย แล้วก็ตอบไปหมดแล้ว ฉะนั้น ปัญหาที่ตอบไปแล้วเอาไปเทียบเคียงกันดู แล้วอะไรเป็นอะไร ฉะนั้น ตอบให้ชัดเจน เพราะชัดเจน หมายความว่า เราจะอธิบายให้ฟัง เพราะในการปฏิบัติเริ่มต้น เบสิก ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ท่านจะวางพื้นฐานให้เรามั่นคง

แต่เพราะเราขาดครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง การปฏิบัติมันถึงถูลู่ถูกัง ใครมีความรู้ความเห็นอย่างใดก็เอามาสั่งมาสอนกัน แล้วก็ไหลตามกันไป ร้อยแปดพันเก้าที่ให้ล้มลุกคลุกคลานอยู่ วันนี้ถึงอยากพูด วันนี้พูดชัดๆ ว่าพื้นฐานมันเป็นอย่างใด ศีล สมาธิ ปัญญาเจริญขึ้นมาอย่างไร แล้วปฏิบัติต่อเนื่องกันไป

ขออีกปัญหาหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๑๓๔๒. เรื่อง “ทำอย่างไรดีคะ”

กราบนมัสการท่านอาจารย์ค่ะ คือว่าสามีเสียชีวิต ๕ เดือนแล้วอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจค่ะ อายุแค่ ๕๘ ปี ดิฉันมีความคิดถึงเขาอยู่เสมอ และคิดว่าถ้าเขายังอยู่ก็จะดี ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าความคิดเป็นการยึดติดหรือไม่คะ อย่างไรคะ ดิฉันได้อ่าน ได้ฟังเรื่องกฎพระไตรลักษณ์มาแล้ว แต่เมื่อมาเจอเหตุการณ์กับตัวเอง กลับช่วยตัวเองไม่ได้ค่ะ จึงขอความเมตตาจากอาจารย์ด้วยค่ะ

ตอบ : ทีนี้ขอความเมตตาจากอาจารย์นะ อาจารย์จะบอกว่าในเมื่อสามีเราเสียไปแล้ว เราอยู่กับสามีมา เราเป็นชีวิตคู่กันมา ฉะนั้น ชีวิตคู่กันมา มันก็มีความผูกพันกันมาเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น สามีเสียไปแล้ว เราก็คิดถึงคุณงามความดีของเขาเก็บไว้ในใจ เก็บไว้ในใจของเรานะ เพราะสามีเราเสียไปแล้ว

สามี จิตของเขามี จิตวิญญาณเขามี เขาก็ห่วงเรา เขาก็มองเราอยู่เหมือนกัน ถ้าเราคิดถึงกัน เวลาทำบุญกุศล อุทิศส่วนกุศลให้กัน จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง จิตใจจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ในวัฏฏะนี้ มันคิดถึงกันได้ มันคิดถึงกัน มีความสัมพันธ์กันได้ ถ้ามีความสัมพันธ์กันได้นะ เราคิดถึง มันไม่เสียหายอะไร แต่มันอยู่คนละมิติ มันอยู่คนละโลก เพราะเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว ฉะนั้น เราคิดของเราได้

ฉะนั้น บอกว่าเราคิดถึงสามี มันก็ไม่ผิด เราคิดถึงพ่อถึงแม่ ถึงญาติเราได้ไหม เราก็คิดถึงได้ ฉะนั้น พ่อแม่เราเสียไปแล้วเราก็คิดถึงได้ เราคิดถึง ก็มันจะไปลบความที่มีอยู่ในใจเราไม่ได้ ฉะนั้น เราคิดถึงในแง่ดีไง คิดถึงว่าเวลาเรามีเท่านี้ ให้คิดถึงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเชื่อในธรรม ตอนที่เรามีชีวิตกันอยู่ เราทำคุณงามความดี เราพยายามทำคุณงามความดีต่อกัน เราก็คิดถึงกัน ถ้ามันสิ้นชีวิตไปแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าก็เตือนไว้แล้วว่าการเกิดการตายมันไม่มีเวลาหายใจเข้าและหายใจออก

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ไง “เธอคิดถึงความตายวันละกี่หน”

พระอานนท์บอกคิดถึงกี่หนก็แล้วแต่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่ได้ ต้องคิดถึงทุกลมหายใจเข้าออก”

พระพุทธเจ้าก็เตือนมาตลอด ฉะนั้น เราเตือนแล้ว เขาเสียไปแล้ว เขาทำคุณงามความดีมากเท่าไรก็เป็นของเขา เราก็ทำคุณงามความดีของเราต่อเนื่องของเราไป

คิดถึงก็คิดถึงสิ แต่คิดถึงด้วยธรรม คิดถึงด้วยสติปัญญา คิดถึงแล้วก็มีสติปัญญา คิดถึงแล้วเตือนตัวเอง ทำให้ตัวเองมันแอ็กทิฟขึ้นมา ทำให้ตัวเองอยากทำคุณงามความดีขึ้นมา เราคิดถึงเอาไว้หล่อเลี้ยงหัวใจ มันไม่เห็นผิดนี่ มันผิดตรงไหนล่ะ

เราคิดถึงไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็คือสิ่งที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ก็ดับไป แต่ความรู้สึกของเรา ถ้าเราคิดโดยมีสติปัญญา มันก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน คิดโดยธรรมมันก็พอใจ มันก็วางได้ ก็เท่านั้น มันไม่เห็นเสียหายอะไร

ฉะนั้น บอกว่า กฎไตรลักษณ์ก็อ่านมาแล้ว ทุกอย่างก็อ่านมาแล้ว

อ่านมาแล้วก็ทฤษฎีไง นี่ไง ลิขสิทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เรายังไม่ได้ปฏิบัติของเราขึ้นมาไง ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นมา เป็นความจริงของเราขึ้นมา เราจะรู้จริงของเราขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเพื่อศาสนาเจริญ ทุกคนได้มีพื้นฐานในการศึกษาศาสนา เราจะเข้าใจว่าคำสอนสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่เราก็ทำไม่เป็น มันก็ไม่มีผลตกผลึกในใจของเรา

แต่ถ้าเราพยายามฝึกหัดของเรา ปฏิบัติของเราขึ้นมา มันมีผลเป็นความจริงของเราขึ้นมา สิ่งที่กระทบแล้วมันทำให้เราสัตว์อาชาไนย จะเข้าสงครามที่ไหนก็ได้ จะเกิดแรงกระทบอย่างไรมันก็รักษาใจได้ แต่นี้เราเป็นสัตว์พื้นฐาน สัตว์ธรรมดา เราไม่ได้ฝึกไม่ได้ฝนขึ้นมาจนเป็นสัตว์อาชาไนย พอเรามีอะไรกระทบก็เสียใจ พอเสียใจแล้ว ไตรลักษณ์ก็รู้แล้ว ธรรมะพระพุทธเจ้าก็เข้าใจหมดแล้ว แต่ก็ยังคิดถึง คิดถึง ก็ไม่ทำ ก็ไม่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมาก็ไปรู้จริงไง

ข้างหน้าเขาถามขึ้นมาด้วยการปฏิบัติ เขาปฏิบัติแล้วมันก็เป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ว่าจะเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม สิ่งที่ปัญหานี้ คนที่สามีเสียไป แต่เราไม่ได้ปฏิบัติขึ้นมา เราไม่มีกำลังของเราขึ้นมา จิตใจเราก็อ่อนแอ

ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ธรรมโอสถจะเข้ามาชโลมหัวใจของเรา ธรรมโอสถจะเข้ามาสมานบาดแผลในใจที่มันเจ็บปวดเจ็บช้ำ ใจต้องการธรรมะ ไม่ต้องการข้าวของเงินทอง ยิ่งเห็นสมบัติของสามีที่หาไว้ให้ ถ้ายิ่งรักยิ่งเจ็บ ยิ่งเห็นสมบัติเขาไง ยิ่งคิดถึงตัวเขามากขึ้น ยิ่งเห็นของเขาวางอยู่ในบ้าน แก้วแหวนเงินทองนี้เขาก็ให้มา มันคิดๆๆๆ ตลอดเลย

แต่ถ้าเรามีคุณธรรมในหัวใจของเรา เรารักษาใจของเรา เรารักษาใจของเรา สิ่งนี้ธรรมะมารักษาหัวใจ ถ้าธรรมะมารักษาหัวใจ คิดก็คือคิด เพราะมันมีอยู่จริง ก็ต้องคิดได้ แต่คิดให้เป็นธรรม ถ้าคิดให้เป็นธรรมแล้ว สิ่งที่แสวงหามา เราเป็นคู่ครองกันมา สามีภรรยากันมา หามาด้วยกัน แล้วเขาก็หมดอายุขัยไปแล้ว สิ่งนี้ยังเหลือกับเราอยู่ เราจะดูแลรักษาอย่างใด รักษาใจของเรา ทำใจของเราให้มั่นคง ธรรมโอสถจะรักษาหัวใจ เอวัง