ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทางเดิน

๓o มิ.ย. ๒๕๕๖

 

ทางเดิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๔๓. เรื่อง “สอบถามครับ”

วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เป็นรูปในขันธ์ ๕ ได้หรือเปล่าครับ

ตอบ : วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เป็นองค์ของฌาน องค์ของฌานมันต้ององค์ของฌาน ถ้าบอกว่าฌานกับสมาธิ ถ้าพูดถึงโดยหลักมันแตกต่างกัน แต่โดยหลักของฌาน วิตก วิจาร หลักของฌาน ถ้าให้เคลมว่าเป็นสมาธิ

ถ้า “วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เป็นรูปในขันธ์ ๕ ได้หรือเปล่าครับ”

ถ้าในขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เป็นองค์ของฌาน เป็นองค์ของฌาน เป็นองค์ของสมาธิ ถ้าองค์ของสมาธิ แล้วอยู่ปกตินี้เป็นสมาธิไหม เราอยู่เฉยๆ เป็นสมาธิหรือเปล่า เราอยู่เฉยๆ มันก็เป็นสมาธิได้แล้ว มันว่างหมดแล้ว เป็นสมาธิไหม? ไม่เป็น ไม่เป็น เป็นสมาธิของปุถุชน คือคนมีสติ มีสมาธิด้วยสามัญสำนึก

แต่สมาธิโดยที่ว่าเราจะทำสมาธิในหลักของอริยสัจ ในหลักของอริยสัจคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิ สมาธิ จิตต้องสงบร่มเย็นมากกว่านี้ เพราะจิตสงบร่มเย็น ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิที่ไม่มีสมุทัยเจือปนมา

ถ้าสมาธิยังมีสมุทัยเจือปน สมุทัยคืออะไร? สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก คือความต้องการปรารถนา นั้นมันปนในสมาธิ นั้นมีสมุทัยปนมา เป็นมิจฉาสมาธิ

ถ้าเป็นสัมมาสมาธินะ สมาธินี้สะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ แล้วเวลายกขึ้นวิปัสสนามันใช้ปัญญาไป อันนั้นมันเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นหลักของอริยสัจ

แต่ถ้าว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เป็นรูปในขันธ์ ๕ ได้ไหม

ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันคนละเรื่องเดียวกันหมดเลย มันคนละเรื่องเดียวกันหมดแหละ ฉะนั้น วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นองค์ของสมาธิ ถ้าองค์ของสมาธิ เป็นรูปไหมล่ะ เป็นรูปไหม รูปในขันธ์ ๕ ไง ถ้าเป็นรูป

มันอยู่ที่ว่ามันคนละวาระกันไง มันคนละวาระกัน วาระของสมาธิ ของปัญญา ของสมาธินะ ของสมถะ ของวิปัสสนา ถ้ามันเป็นของสมถะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นเรื่องสมถะ มันเป็นเรื่องของสมาธิ ถ้าเรื่องสมาธิมันเป็นรูปไหมล่ะ ถ้าเป็นรูป นี่ไง เวลาเราปฏิบัติกันมันก้ำกึ่งไง มันก้ำกึ่งลูกผีลูกคนไง จับจดไง สมาธิก็ไม่ใช่ ปัญญาก็ไม่ใช่ ปัญญาก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วมันเอาอย่างไรกันล่ะ มันจับต้นชนปลายไม่ถูกไง พอจับต้นชนปลายไม่ถูกมันก็สับสน พอสับสนขึ้นไป เวลาทำไปมันก็ล้มลุกคลุกคลาน

ทีนี้ล้มลุกคลุกคลาน ทีนี้การปฏิบัติมันก็จะมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง คนเราปฏิบัติใหม่เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เป็นอย่างนี้ แบบว่าจับต้นชนปลายไม่ถูก แล้วเราพยายามทำของเรา

เวลาว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเป็นเรื่องของสมถะ เหมือนกับว่า เวลาเขาสอน เขาสอนว่าให้ระลึกเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เขาให้นึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราก็ระลึกถึง มีคนนะ มีพระสอนให้ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วเขาบอกผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้ใช้ปัญญา มันเป็นปัญญาไหม

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันก็เป็นวิตกขึ้น วิตก วิจาร วิตกขึ้น ระลึกถึงมัน พุทโธๆๆ เราก็ระลึกขึ้น ระลึก วิตกขึ้น ระลึกขึ้นมา วิตกว่าพุท วิจารว่าพุทโธๆ ถ้ามันพุทโธจนมันเกิดปีติ มันก็ขนพองสยองเกล้า พอปีติแล้ว ความรับรู้ปีติก็เป็นความสุข ความสุข ถ้ามีความสุข ความสงบระงับ ถ้ามีสติปัญญาพอ มันก็เป็นเอกัคคตารมณ์ นี่เป็นองค์ของฌาน คือว่ามันเป็นการพัฒนา จิตมันพัฒนาขึ้นมา มันเป็นสมาธิ แล้วสมาธิเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไหม เป็นไหม

ถ้าเป็นนะ มันเป็นรูป เป็นขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ มันก็ฟุ้งซ่าน สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งมันก็ทำให้เราฟุ้งซ่าน เราพุทโธๆ ก็เพื่อจะให้รอบรู้ในกองสังขาร กองสังขารคือปัญญารอบรู้ในความคิด ความคิดคือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไง ยิ่งคิดยิ่งปรุงยิ่งแต่งขึ้นมา มันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากกระทุ้งไปไง

แต่ถ้ามีปัญญา ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา ปัญญาคิดอย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ แล้วมันให้ผลอะไรกับเรา ให้ผลกับความงงๆ นี่ไง คิดแล้วก็งงๆ คิดแล้วก็หันหน้าหันหลังไม่ถูก

ฉะนั้น เรามีสติปัญญารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในกองความคิด ความคิดที่มันคิดแล้วงงๆ ปัญญามันก็งงๆ เพราะไม่รู้ งงๆ เพราะคิดซ้ำคิดซาก งงๆ ก็คิดด้วยคนตาบอด งงๆ ก็คิดขึ้นมาด้วยไม่มีเหตุมีผล

ถ้ามีปัญญา งงๆ พิจารณาแล้วไม่มีความเข้าใจ ถ้ามีปัญญาขึ้นมา ก็สิ่งนี้มันก็เกิดดับ แล้วเราคิดทำไม ถ้าคิดทำไม มันรอบรู้ รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิด นี่ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็วาง มันก็วาง วางแล้วเหลืออะไร นี่ถ้าทำถูกต้องมันเจอตรงนี้ ใครเป็นคนวาง วางแล้วได้รับผลอย่างไร วางแล้วรู้รสชาติของมันอย่างไร นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสมาธิขึ้นมา

ถ้ามันบอกว่าเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือเปล่า

มันเป็นขั้นของสมถะกับขั้นของวิปัสสนานะ ในขั้นของสมถะ เราก็ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามา ถ้าเป็นสมถะแล้วเมื่อไหร่จะใช้ปัญญาเสียทีหนึ่ง พระป่าต้องทำความสงบของใจ ต้องพุทโธกี่ร้อยกี่ชาติขึ้นมามันถึงได้วิปัสสนา ถ้าทำอย่างนี้ปั๊บ เริ่มต้นมันงงๆ หมายความว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า

นี่มันก็งงๆ แต่ถ้าเราทำของเราไปนะ ถ้ามันสงบแล้ว มันรู้สึกตัวของมัน มันจับต้องของมัน มันพลิกซ้ายพลิกขวา คนนอนแล้วก็เมื่อย เมื่อยปวดหลังปวดเอวก็ลุกขึ้นนั่ง นั่งแล้วมันก็ลุกขึ้นยืน ยืนแล้วก็ไปนอน นอนแล้วก็ลุกขึ้นนั่ง นั่งแล้วก็ไปเดิน เดินแล้วก็ไปออกกำลังกาย ออกกำลังกายเสร็จแล้วก็มานอน ถ้ามันนอนจน เออ! ถ้านอนแล้วมีความเป็นอย่างนี้ ถ้าออกกำลังกายมันเหนื่อยมันยาก แต่ร่างกายมันแข็งแรงอย่างนี้ ถ้านั่งนานๆ มันก็เมื่อย อิริยาบถ ๔ มันจะรู้เลยว่าเราจะทำอย่างใด

จิตมันมาภาวนา วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ แล้วมันเป็นรูปหรือเปล่า มันเป็นสังขารหรือเปล่า มันก็งงๆ เห็นไหม คนนอนแล้วก็ลุกขึ้นนั่ง นั่งแล้วก็ลุกขึ้นเดิน เดินแล้วก็ลุกออกกำลังกาย ไปวิ่ง ไปเดินเร็วๆ ออกกำลังกาย กลับมา มาพักผ่อนแล้วก็มานอน ถ้านอน เราก็เห็นร่างกายของเรา เราจะบริหารอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติไปเราจะรู้เราจะเห็น เราจะจับ เราจะแยกแยะมัน ถ้าเราพุทโธๆๆ ถ้าจิตสงบเข้ามาก็เป็นสมถะ ถ้าจิตสงบแล้วเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา

คนจะนอน ถ้าไม่ได้กินข้าว ไม่ได้พักผ่อน จะมานอนได้ไหม เวลาหิว มันร้อง ท้องมันร้องจ๊อกๆ บอกนอนๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนจะนอนต้องกินอิ่มนอนอุ่นมาแล้วก็จะมานอนไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันใช้ปัญญาของมันขึ้นไปแล้วมันก็เห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของมัน นี่ปัญญา ปัญญาคืออาหารของใจ ใจมันมีปัญญาอบรม อบรมแล้ว ถ้าเราฟุ้งเราซ่าน เราทุกข์เรายาก มันก็ทุกข์ยากอย่างนี้ ถ้าพุทโธๆ จิตสงบมันก็เป็นแบบนี้ นี่มันก็มีปัญญา มีปัญญามันเห็นโทษเห็นคุณ เห็นโทษเห็นคุณมันก็ทำของมันขึ้นไป นี่ทางเดินของใจ เวลาปฏิบัติขึ้นไป

ฉะนั้น คำถามว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า

เพราะว่าจับขันธ์ ๕ ได้ ถ้าจิตสงบแล้วจิตเห็นจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นขันธ์ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันต้องมีความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้น แล้วปัญญามันจะเห็นว่าภาวนามยปัญญากับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันอย่างใด

เวลาโลกียปัญญา คิดร้อยแปดพันเก้า นี่โลกียปัญญา ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้แจ้งเห็นจริงอะไรไปหมดเลย มันก็รู้แบบยืมมา ยืมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เป็นสัญญา เป็นความจำมา

แต่เวลาจิตสงบแล้ว เวลายกขึ้นภาวนามยปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญา โลกุตตระ ปัญญาที่จะละโลก ปัญญาที่จะละ ชำระล้างสะสาง นี่ปัญญามันเป็นชั้นเป็นตอน ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เกิดโลกุตตรปัญญา ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะยกขึ้นอีกระดับหนึ่งไง

“วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า”

ถ้าบอกว่าเป็นนะ มันก็ยุ่งเลย แต่ถ้าบอกว่าไม่เป็นนะ ไม่เป็น ทำไมคนมันจับได้ อย่างที่ว่า “แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาเสียที เมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาเสียที” ถ้ามันไม่ฝึกหัด ที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านติดสมาธิ พอติดสมาธิก็คิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน ฉะนั้น สมาธิเป็นนิพพานไปไม่ได้ ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา มีสมาธิแล้วเกิดปัญญาเองนะ ครูบาอาจารย์เราจะไม่มีใครติดสมาธิเลย พอสมาธิมันถึงเต็มที่มันก็เหมือนกับน้ำท่วม เวลาน้ำสูงขึ้นมามันก็ยกพวกวัตถุ พวกสวะขึ้นมาบนเหนือน้ำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสมาธิมันเต็มที่ เราก็ยกปัญญาขึ้นมา ปัญญาก็จะก้าวเดินไป มันก็จะเป็นพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย แต่นี้ติดสมาธิหมดเลย เห็นไหม สมาธิเป็นปัญญาไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าเป็นสมาธิแล้ว จิตมันสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ๆ ถ้าฝึกหัดใช้ มันก็เป็นปัญญาที่เราฝึกหัดฝึกฝน คนฝึกหัดทำงานอย่างหนึ่ง คนมีความชำนาญการ คนชำนาญแล้วก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าคนทำงานเสร็จสิ้นแล้ว เป็นพระอริยบุคคลแล้ว เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา รู้แจ้งเห็นจริงไปหมดเลย มันก็จะไม่ติดขัดอย่างนี้

สิ่งที่ว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ละชั่วทำดี แล้วดีของใคร ดีมากดีน้อยขนาดไหนมันก็มีปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ ถ้ามันดี ดีก็เป็นทางเดิน คนที่เคยผ่านความดีมา แล้ววางความดีไว้ วางความดีไว้เสร็จสิ้นแล้ว สิ้นกระบวนการที่ว่าเป็นอนัตตาๆ อนัตตาเป็นบันได เป็นเครื่องดำเนินขึ้นไปถึงบ้านแล้ว บันไดไม่เกี่ยว บันไดอยู่ข้างล่างนู่น เราขึ้นมาอยู่บนบ้าน บนที่เป้าหมายของเราเรียบร้อยหมดแล้ว นี้คือการประพฤติปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นว่า วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตารมณ์เป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่า

วิตก วิจาร ปีติ สุข เป็นขั้นของสมาธิ มันเป็นวงของสมาธิ แล้วเวลาว่าวิตก วิจาร ปีติ สุข เราก็แยกแยะออกมาเป็นแขนง แต่เวลาเราเป็นนะ เราระลึกพุทโธระลึกอย่างไร มันเร็ว แล้วพุทโธๆ ถ้าเกิดขึ้นมา คือว่ามันเป็นอันเดียวกันไปหมด มันเกี่ยวเนื่องกันไป เราแยกแยะไม่ถูกหรอก แต่ถ้าเวลาเราชำนาญแล้วเราถึงจะมาแยกแยะเองเป็นได้ ทำได้ มันก็จะรู้ได้ของมัน ถ้ารู้ได้ของมัน นี่เป็นพื้นฐาน

นี่เขาถามมาไง ถามว่ามันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า

ถ้าโดยวิทยาศาสตร์เป็นข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ใช่ แต่เวลาปฏิบัติมันเอามาใช้แทนกันได้ เวลาปฏิบัติ อุบายวิธีการมันพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง ใช้ได้ บอกว่า ฉันเป็นทหารเรือต้องอยู่ในเรือตลอด โอ๋ย! ตายเลยนะ แล้วเดินทางก็ต้องนั่งรถ ไปไม่ได้แล้ว เพราะฉันเป็นทหารเรือ

อ้าว! ทหารเรือเขาก็มีหน่วยนาวิกโยธิน เขาก็มีรถยนต์เหมือนกัน เออ! ทหารบกก็บอกว่าทหารบกต้องอยู่บนบกตลอดเลย เวลาเขาจะรบต้องไปทะเล ฉันไปไม่ได้ ฉันเป็นทหารบก ฉันต้องอยู่บนบก ลงทะเลไม่ได้ อ้าว! นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขารบนะ เขารบด้วยการประสาน ด้วยยุทธปัจจัย เขารบของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นสมาธิแล้วมันจะเป็นปัญญาอย่างไร มันเกี่ยวเนื่องกัน มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะใช้อุบายของเราอย่างไร แต่เวลาแยกแล้ว ทหารบกก็เป็นทหารบก ทหารเรือก็เป็นทหารเรือ ทหารอากาศก็เป็นทหารอากาศ มันคนละแผนกทั้งนั้นน่ะ แต่เวลารบแล้วเขาประสานกัน เขารบกันเป็นกองทัพ เขารบต่อเนื่องกัน เขาเกี่ยวเนื่องกัน มันก็เป็นไป

นี่ก็เหมือนกัน เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ยิ่งการรบมันไปไกลนะ ต่อไปนี้จะไม่ใช้คนรบแล้ว เขาใช้โดรน แอบไปยิงเขาเลย นั่งกดทีเดียว ยิง ยิง ตายหมด การรบเขาพัฒนาการไปเยอะ

แต่อริยสัจในสมัยพุทธกาลก็เป็นแบบนี้ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้าก็จะเป็นแบบนี้ อันเดียวกัน อริยสัจ สัจจะความจริง การชำระกิเลสมีหนึ่งเดียว กาลเวลาไม่เกี่ยว กาลเวลาไม่เกี่ยว สัจธรรมอันนี้เป็นสัจธรรมไปตลอด ฉะนั้น ปฏิบัติไป

ทีนี้ถามมา เขาบอกว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์กับขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า

ถ้าปัญญาแยกแยะ เราจะใช้ประโยชน์กับเรานะ ตอนนี้เราเป็นทหารบก เขาจะขนส่ง เราข้ามน้ำข้ามทะเล เราจะไปไม่ไป ถ้าเราไม่ไป เราก็เป็นทหารบกอยู่บนบกนั่นล่ะ ไม่ต้องไปไหน แล้วปฏิบัติไปมันจะเป็นอย่างไร

“แล้วมันไม่เป็นอันเดียวกันแล้วมันจะใช้กันได้อย่างไร”

อ้าว! ถึงเวลาเราทำงานนะ หน้างานมันเป็นอย่างไร เราต้องทำงานของเราให้เสร็จ แล้วเสร็จแล้ว ทีนี้ชื่อเรียก แผนกต่างๆ มันไม่เหมือนกัน แต่เวลารบ เขารบร่วมกัน เขาทำร่วมกัน มันเป็นไปได้ นี้พูดถึงทางเดิน

ถาม : ข้อ ๑๓๔๔. เรื่อง “หนังสือล่าสุดของอาจารย์เมื่อมิถุนายน ๒๕๕๖”

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ เห็นหนังสือเล่มล่าสุดของท่านอาจารย์ เรื่อง “ปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ” มีเหตุผลประการใดที่สื่อหนังสือแสดงกาลเวลาด้านปัญญาวิมุตติ แสดงสัญลักษณ์เป็นกลางคืน มีดวงดาวและพระจันทร์ยิ้ม ส่วนเจโตวิมุตติแสดงสัญลักษณ์กาลเวลาเป็นรูปพระอาทิตย์ขึ้น (จากภาพ เข้าใจอย่างนั้นมากกว่าความเข้าใจว่าเป็นพระอาทิตย์ตก) หรือทั้ง ๒ ภาพ ครูบาอาจารย์ต้องการสื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์หรือสิ่งสมมุติเท่านั้น กรุณาชี้แนะขยายความด้วยครับกระผม

เคยฟังครูบาอาจารย์เทศน์เมื่อหลายปีก่อนที่ศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต ที่ได้กล่าวถึงปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ จิตสงบและน้ำตาไหลเวลาฟังท่านอาจารย์เทศน์วันนั้น อาจารย์กล่าวว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นเจโตวิมุตติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อริยสัจมีหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเดินมาทางใด สุดท้ายก็จะบรรจบเป็นทางสายเดียวกัน ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ ทุกวันนี้ได้หมั่นฝึกภาวนาท่องพุทโธแบบถี่และแบบตามลมหายใจ แล้วแต่โอกาสและสภาพจิตอำนวย ตามที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสอนมา

ผมเคยจิตสงบเวลาเดินออกกำลังกายทุกเช้า ซึ่งผมจะกำหนดจิตพุทโธอยู่ตลอด เพื่อให้สติกับคำบริกรรมติดแนบอยู่ตลอดเวลา วันนั้นจิตสงบมาก เห็นร่างกายอยู่ด้านหลัง ขณะเดินรู้สึกตกใจมาก พอได้รู้สึกจิตกลับมาสู่ร่างกายอีกครั้ง ที่เห็นมาครั้งเดียวเอง ถือว่าส้มหล่น ทุกวันนี้พยายามกำหนดพุทโธตลอดเวลา หากมีโอกาสอำนวย ไม่อยากเกิดมาเวียนว่ายตายเกิดครับ ผมยังไม่ได้อ่านหนังสืออาจารย์ในรายละเอียดทุกหน้า กราบครูบาอาจารย์ด้วยครับ

ตอบ : พูดถึงหนังสือ “ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ” ปัญญาวิมุตติก็สอนถึงปัญญา เพราะว่าตอนที่เทศน์เรื่องปัญญาวิมุตติมันเป็นเรื่องที่ว่าเขากำลังตื่นเต้นเรื่องปัญญาวิมุตติกันมาก ว่าปัญญาวิมุติต้องใช้ดูจิต ต้องเป็นปัญญาอย่างนั้นๆ เราถึงเทศนาเรื่องปัญญาวิมุตติเหมือนกัน แต่ปัญญาวิมุตติของเรา ปัญญาวิมุตติตั้งแต่ปัญญาต้นน้ำ ตั้งแต่ปากน้ำ กลางน้ำ ต้นน้ำ

ถ้าปากน้ำ ปากน้ำคือสามัญสำนึกของมนุษย์เรา ปากน้ำคือสามัญสำนึกเรา ใช้ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาที่ปากน้ำ ปากน้ำ หมายถึงว่า แม่น้ำทั้งสายไหลออกทะเล นั่นคือปากแม่น้ำ ปากแม่น้ำออกทะเล แล้วแม่น้ำเกิดมาจากไหน แม่น้ำเกิดมาจากตาน้ำ แล้วแม่น้ำทั้งสายที่มันไหลมา มันผ่านมาขนาดไหน แล้วเราบอกว่าเราใช้ปัญญาๆ กันอยู่นั่น คือปัญญาโลกียปัญญาอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ เราถึงเทศน์เรื่องปัญญาวิมุตติ

ยกถึงปัญญาวิมุตติให้เห็นว่า การชำระล้างกิเลสมันต้องตั้งแต่ปากน้ำ คือสามัญสำนึกของเรา แล้วเราจะต้องทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วเราพิจารณาของเราขึ้นมาตั้งแต่ปากน้ำ ไปกลางน้ำ กลางน้ำคือเหล่าแม่น้ำทั้งสาย แล้วเราจะหาอวิชชา หาต้นตอของการเกิดและการตาย มันต้องสู่ที่ตาน้ำนั้น ตาน้ำ น้ำที่ผุดขึ้นมา ตาเล็กๆ แม่น้ำปิง ดูสิ ตาน้ำ มันเล็กๆ

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิสนธิจิต จิตเดิมแท้ที่ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส ความผ่องใสอยู่กลางหัวอก ไม่มีใครเคยเห็นมัน ไม่มีใครเคยเห็นมันไง แต่เขาบอกว่าปัญญาวิมุตติๆ เราก็ถึงเทศน์เรื่องปัญญาวิมุตติไว้เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน

แล้วเวลาเราเทศน์ต่อมามันก็เทศน์ถึงเจโตวิมุตติ เพราะเห็นว่าโลกนี้ ในการประพฤติปฏิบัติมันก็มีปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติที่เป็นทางสายเอก แล้วก็ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติก็เทศน์ไว้

ถ้าเทศน์ไว้ เทศน์ไว้เป็นการขายขี้เท่อ เทศน์ไว้เป็นการบอกว่าคนเทศน์โง่เง่าเต่าตุ่น เทศน์ออกมา คนเทศน์กับความเป็นจริงในโลกมันไม่เหมือนกัน เอ๊ะ! คนเทศน์มันเทศน์มาจากไหน มันไปเพ้อเจ้อ ไปเอาความเห็นแก่ตัว ความเห็นของตัวเองมาพูดเพื่ออะไร

นี่ก็พูดไว้ พูดถึงว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ นี่เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

ทีนี้บอกว่าสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ ที่ว่าเป็นสัญลักษณ์ เพราะปัญญาวิมุตติมันเกิดจากปัญญา มันไม่มีฤทธิ์มีเดช มันไม่รุนแรง ก็เลยเปรียบเหมือนพระจันทร์ แล้วพระจันทร์โดยปกติมันก็มีอยู่แล้ว แต่นานๆ จะเกิดพระจันทร์ยิ้มสักทีหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นพระจันทร์ยิ้มไง

พระจันทร์ยิ้มจะบอกว่า ถ้าปัญญาวิมุตติ ภาพมันเป็นมันจะเป็นแบบร่มเย็น ถ้าพูดประสาเราว่า ก็สุกขวิปัสสโก ว่าอย่างนั้นเถอะ นี่คือปัญญาวิมุตติ

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติต้องทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นโดยจิต โดยกำลังของจิต กำลังของจิตมันจะมีกำลังของมัน ถ้ามีกำลังมันรุนแรงไง มันก็เปรียบเหมือนพระอาทิตย์

พระอาทิตย์ ดูสิ พระอาทิตย์ให้แสงสว่าง พระอาทิตย์ให้แสง ให้พลังงาน ให้ต่างๆ กับจักรวาลนี้ นี่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันเป็นแบบนั้น ถึงเป็นสัญลักษณ์ไง เป็นสัญลักษณ์

นี่พูดถึงถ้าปกนะ แต่ถ้าไปข้างในนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงหนังสือ “เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ”

สิ่งนี้โลกเขาตื่นเต้นกัน ก็เอาสิ่งนี้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ไง ฉะนั้น สิ่งที่พูดถึงหนังสือนะ แต่เขาบอกว่า ถ้าเจโตวิมุตติ ที่ว่าเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ ที่เป็นอริยสัจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงที่สุดแล้วอยู่ที่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติได้ ผู้ที่ปฏิบัติจริง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ก็เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน เห็นอย่างใด ถ้าเห็นอย่างไร ความเห็นกับความเห็นมันจะตรงกัน ถ้าตรงกัน อันนั้นจะเหมือนกัน

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ที่ว่า เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ให้หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่ขาว ให้หลวงตาคุยกันๆ แล้วคุยกันถึงที่สุดแล้วมันอันเดียวกัน คือไม่มีใครขัดแย้ง ไม่มีใครเห็นแตกต่างกัน แต่วิธีการมาแตกต่างกัน แต่ผลเป็นอันเดียวกัน นี้พูดถึงว่าครูบาอาจารย์เราท่านตรวจสอบกันมาอย่างนั้น ด้วยวุฒิภาวะของครูบาอาจารย์ของเรา แต่อย่างพวกเรา พวกที่ยังต้องพยายามประพฤติปฏิบัติอยู่ เราก็พยายามขวนขวายของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

นี้พูดถึง นั้นเป็นธรรม ธรรมเป็นธรรม แล้วถ้าเรามีธรรมในหัวใจ เราจะเข้าใจธรรมนั้น อย่างเช่นคนเคยไปสถานที่ใดก็แล้วแต่ พอไปเห็นสถานที่นั้นก็เข้าใจได้ ถ้าใครเห็นมาก็เหมือนกันหมด

หลวงตาท่านบอกว่า แม่น้ำทุกสายจะไหลลงสู่ทะเล เวลาไปถึงทะเลแล้วมันไม่มีชื่อ ไม่มีที่มาที่ไป มันรวมลงอยู่ในทะเล อยู่ในมหาสมุทรเดียวกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใครไปรู้ไปเห็นเหมือนกัน มันก็จะเหมือนกัน แล้วมันจะไม่ขัดแย้งกัน

แต่ถ้าใครไปรู้ไปเห็นนะ “โอ้! แม่น้ำของฉันมันไหลขึ้นไปบนภูเขา มันไปกักอยู่บนเขื่อน อยู่บนเขื่อนภูมิพล” อันนั้นมันเป็นเขื่อน นั่นเขากักน้ำไว้ มันไม่ใช่ทะเล ไม่ใช่มหาสมุทร มันไม่ใช่ แต่คนถ้าอย่างนั้นปั๊บ เขาก็ต้องมาคุยกัน ถ้าคนพูดอย่างนั้น

คนพูดได้ถ้าเขาเคยอยู่ที่เขื่อนภูมิพล เขาเห็นแต่แม่น้ำไหลลงเขื่อน เขาไม่เคยเห็นแม่น้ำไหลลงทะเล เขาก็พูดแค่นั้น แต่ถ้าโดยธรรมชาติ โดยในโลกนี้โดยที่ว่าดาวเทียมมันส่องมา มันเข้าใจหมด มันเห็นหมด สภาพโลกนี้ ใครเถียงไม่ได้หรอก ใครเถียงภาพถ่ายทางอากาศไม่ได้

แต่ถ้าเราอยู่ในเฉพาะสถานที่ เราเถียงของเรา เพราะเรารู้เราเห็นแค่นี้ เวลาแสดงธรรมออกมา สิ่งที่แค่นี้เขาก็รู้แล้วว่าคนคนนี้อยู่ที่จังหวัดตาก อยู่ที่เขื่อนภูมิพล เขาไม่ได้อยู่ที่ริมแม่น้ำ เขาไม่ได้อยู่ มันบอกเอง เขาพูดออกมา พูดมาอย่างไรมันบอกเอง มันบอกว่าคนคนนี้อยู่ที่ไหน คนคนนี้มีวุฒิภาวะแค่ไหน ขณะเทศน์ออกมา เขาจะบอกถึงวุฒิภาวะของใจเขาเลย เขาจะบอก เพราะเขาเคยชินพื้นที่ เขาจะบอกถึงพื้นที่นั้น ถ้าเราเคยเห็นพื้นที่นั้น เราจะรู้เลยว่าคนคนนี้อยู่พื้นที่ไหน อยู่ตรงไหน เขามีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ใด

แต่ถ้าคน ภาพถ่ายทางอากาศเขาเห็นโลกทั้งหมดเลย เขาบอกโลกเป็นแบบนี้ เออ! คนคนนี้ใช่ คนคนนี้เห็นรอบ ถ้าเห็นรอบ รู้ตามความเป็นจริง นี่พูดถึงว่าผลของการเทศนาว่าการ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ปัจจุบันนี้ผมกำหนดพุทโธๆ”

ถ้ากำหนดพุทโธแล้วถ้าเจอสภาวะแบบนั้น ใครมีอำนาจวาสนาแค่ไหน เราก็ปฏิบัติของเราเนาะ ถ้าจิตสงบก็จิตสงบ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา อยู่ที่เราเก็บหอมรอมริบ เก็บเล็กผสมน้อย อย่าประมาท อย่าประมาทกับชีวิต เราก็คิดว่าชีวิตนี้เรามาด้วยกัน อยู่ด้วยกัน พอ ๒-๓ วัน เขาโทรมาแล้ว “พี่ๆ พี่จำคนนั้นได้ไหม ที่เราไปด้วยกัน เขาตายเสียแล้ว” โอ๋ย! สะดุ้งเลย

อย่าประมาทกับชีวิต ชีวิตของเรา ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตเราจะถึงขนาดไหน ถ้าชีวิตเราสิ้นแล้วเราจะรู้ ฉะนั้น เราไม่ประมาทกับชีวิต เราพยายามทำของเรา ปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

ถาม : ข้อ ๑๓๔๕. เรื่อง “สมาธิคือการสะสมพลังจิต”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมขอโอกาสถามปัญหา ได้ยินคำสอนที่ว่า การทำสมาธิเป็นการสะสมพลังจิต ถ้าเราตั้งใจทำสมาธิทุกวัน หรือเรามีสตินึกได้ เราก็บริกรรมพุทโธ ทุกครั้งที่บริกรรมพุทโธจะได้พลังจิต เป็นบุญทุกครั้ง เป็นการสะสมพลังจิต จนถึงจุดพลังอำนาจได้สัมผัสกายทิพย์คือกายละเอียด เราจะใช้เพื่อเป็นฌาน จะนำไปใช้ในการภาวนาให้เกิดปัญญาต่อไปก็ได้

การฝึกมีกำหนดเวลาชัดเจนในการทำสมาธิแต่ละครั้ง หากนานเกินไปจะไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นตกภวังค์หรือเป็นฌานไป ไม่ได้พลังจิต

หรือการทำสมาธิเหมือนการสร้างตึก สร้างอาคาร เราจะทำสมาธิด้วยความต่อเนื่อง ให้สติหนาขึ้นเป็นมหาสติ ทำสมาธิจนจิตละเอียดลงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จนมีสติรู้อยู่ตลอดเวลา อาศัยความต่อเนื่อง อดทน เช่น ปฏิบัติตลอดวันหรือตลอดคืน คำบริกรรมทุกขณะจิตที่มีสติรู้ตัว พอจิตเป็นสมาธิแบบอุปจารสมาธิ แล้วเจริญปัญญาเป็นวิปัสสนาต่อไปครับ

การทำสมาธิควรจะหาที่เงียบ หรือทำสมาธิไปพร้อมกับฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ หรือทำสมาธิประกอบเสียงเพลงได้ไหมครับ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : การทำสมาธิเพื่อสะสมพลังจิต การสะสมพลังจิต เขาว่าพลังจิตของเขาก็เป็นพลังจิตของเขา แต่การทำสมาธิของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ของครูบาอาจารย์ของเรา ท่านไม่ใช่สะสมพลังจิต ไม่ใช่

ทำสมาธิเพื่อจิตสงบ สมาธิเพื่อความสงบระงับ เพื่อความสงบร่มเย็นของใจ

การสะสมพลัง พลังคือสิ่งใด

ถ้าสะสมพลัง กำลังของจิต ถ้ากำลังของจิต จิตมีสมาธิ ถ้ามีสมาธิ มีกำลังออกใช้วิปัสสนา มันก็จะเป็นวิปัสสนา มีกำลังของมัน ถ้าวิปัสสนาขนาดไหนแล้ว มันวิปัสสนาก็จะฟั่นเฝือ ฟั่นเฝือ เราก็ต้องกลับมาทำสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นบาทเป็นฐานเพื่อให้เกิดวิปัสสนา ให้เกิดปัญญา

การที่ทำสมาธิแล้วถ้ามันไม่เกิดปัญญา เพราะคนที่มีอำนาจวาสนาแค่นั้น ทำความสงบของใจได้ก็ว่าสมาธินี้เป็นนิพพาน ก็ติดในสมาธินั้น

แต่ถ้าสมาธิเป็นพลังจิตๆ พลังจิตจนสัมผัสกายทิพย์ จนมีอำนาจ นี่ส่งออกแล้วล่ะ การส่งออกแบบนี้มันก็ฤๅษีชีไพร ฤๅษีชีไพรเขาก็มีอำนาจของเขา เขาเหาะเหินเดินฟ้า กาฬเทวิลระลึกชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ อดีตได้ ๔๐ ชาติ ไปนอนอยู่บนพรหม นี่ประวัติพระพุทธเจ้า ไปอ่าน กาฬเทวิลอยู่บนพรหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดนะ โลกธาตุนี้หวั่นไหว อยู่บนพรหมนี่สั่นไปหมดเลย “เอ๊ะ! โลกเป็นอะไร มีสิ่งใดเกิดขึ้น”

นี่ไง ที่ว่าเราดูหนังอินเดีย ดูหนังอินเดียเรื่องพวกพราหมณ์ เวลาพวกพรหมเขารบกัน เวลาโลกธาตุหวั่นไหว เวลาพระอินทร์อาสน์ร้อนเลย สั่นไหวเลย ดูหนังอินเดียสิ นี่หนังอินเดีย เพราะว่าเขาเชื่อเรื่องพราหมณ์ เขาเชื่อเรื่องอย่างนั้น เขารู้ได้แค่นั้นเพราะว่าสิ่งที่ศาสนาเขาสอนอย่างนั้น แต่เวลากาฬเทวิลเขาก็ทำของเขาอย่างนั้น เพราะเขาอยู่ในสังคมอย่างนั้น

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่ลุมพินีวัน โลกธาตุนี้ไหวเลย กาฬเทวิลอยู่บนพรหม

ทีนี้โลกธาตุเป็นอย่างไร เพราะว่าเขาเป็นพราหมณ์ใช่ไหม เขาเป็นพราหมณ์ เขาเข้าใจเรื่องอย่างนี้ เพราะเขาเป็นพราหมณ์ เขาทำพลังจิต เขาทำกำลังของเขา เขามีกำลังของเขา เขารู้ไปหมด รู้อดีต ๔๐ ชาติ รู้อนาคต ๔๐ ชาติ เขาระลึกได้หมด แล้วเขามีฤทธิ์มีเดชไปนอนอยู่บนพรหมด้วย นี่ไง พลังจิตๆ ไง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด โลกธาตุไหวหมดเลย ลงมาจากพรหมนะ มาขอพระเจ้าสุทโธทนะ ขอดูเจ้าชายสิทธัตถะ พอเข็นออกมาเท่านั้นแหละ พอกาฬเทวิลเห็น โอ๋ย! ทั้งดีใจนะ เพราะอะไร เพราะพุทธลักษณะ พราหมณ์เขาท่องไว้แล้ว ลักษณะของพุทธลักษณะ เขาเห็นถูกต้องหมดเลย อู๋ย! เขาดีใจมากเลยว่าพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว พระพุทธเจ้าจะมีแล้ว แล้วต่อไปพระพุทธเจ้าถ้าตรัสรู้แล้วจะมีปัญญามาสอนเรา แล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้มาก แล้วก็เอาเจ้าชายเข้าไปเก็บในราชวัง

แล้วพระเจ้าสุทโธทนะเป็นเพื่อนกันก็ถาม ถามว่า ดีใจทำไม

นี่พระพุทธเจ้าแน่นอน พระพุทธเจ้าเกิดแล้วล่ะ

แล้วร้องไห้ล่ะ

ร้องไห้เพราะว่าเขารู้ เขารู้อดีตชาติ ๔๐ ชาติ อนาคต ๔๐ ชาติ เขารู้ว่าเขาต้องตายก่อน อายุเขาไม่ถึงที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เขาร้องไห้ เขาร้องไห้ นี่พลังจิต พลังจิตมันมีปัญญาไหมล่ะ เขามีฤทธิ์มีเดชทั้งนั้นน่ะ สะสมพลังจิต พลังจิตคืออะไร

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้ทำสมาธิ ทำความสงบของใจ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้

เวลาเขาบอกว่า “สะสมพลังจิตจนจิตมันมีพลังอำนาจ มันได้สัมผัสกายทิพย์ เห็นกายอันละเอียด”

อ้าว! มาแล้ว

“เห็นกายอันละเอียดเพื่อจะใช้เป็นฌาน เพื่อให้เกิดปัญญาต่อไป”

ปัญญาอะไร ปัญญาอะไร เห็นกายละเอียด เห็นกายละเอียด กายอะไรคือกายละเอียด กายละเอียด กายหยาบ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ เป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ ให้ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วย้อนมาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม กายหยาบ กายละเอียด กายอย่างไร เห็นกายละเอียด เห็นกายหยาบ

คำพูดมันเป็นคำพูดแบบคนที่ไม่เคย เหมือนคนที่อยู่ที่เขื่อนภูมิพล ทะเลก็เวิ้งว้าง เขื่อนภูมิพลไง กายละเอียด กายอะไรกายละเอียด ถ้าบอกกายหยาบ กายละเอียด...กายหยาบ กายละเอียด มันก็เป็นตำราไง อ้าว! กายหยาบก็มนุษย์ กายละเอียดก็ผีไง เทวดาไง กายละเอียดอย่างนั้นหรือ แล้วกายจริงๆ เป็นอย่างไร อ้าว! กายละเอียดก็กายทิพย์หรือ อ้าว! กายทิพย์ แล้วกายหยาบล่ะ กายหยาบก็มนุษย์ใช่ไหม ถ้ามันกายละเอียดก็เป็นกายทิพย์ อ้าว! แล้วเห็นกายเห็นอย่างไร

พูดถึงการสะสมพลัง สะสมพลังอย่างไร นี่มันก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่าหัวหน้าโคนำฝูงชักนำกันไปอย่างนั้น

แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบ ใจมันสงบได้ มันก็เสื่อมได้ ใจฟุ้งซ่านได้ก็สงบได้ พอใจสงบได้ มันก็ออกมาฟุ้งซ่านได้ ความฟุ้งซ่านได้ มันชำนาญในวสี ชำนาญในการควบคุม ถ้าในการควบคุม คนชำนาญในการขับรถ พอเขากดติดเครื่อง เขาไป เขาคล่องมากเลย ไอ้คนที่ไม่เป็นจะขยับรถยังขยับไม่เป็นเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราชำนาญในการขับรถ รถเราจอดที่ไหน รถเราจะมีอุปสรรคอย่างไร เราสามารถเคลื่อนรถของเราไปถึงจุดหมายเป้าหมายได้

จิตของเรา เราชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าในการออก ชำนาญนะ ชำนาญ ถ้าชำนาญแล้วมันจะมีสติควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราต่างหากที่มันไปเกาะเกี่ยวในรูป รส กลิ่น เสียง นั่นคือกิเลส ถ้าเราควบคุมตรงนี้ได้ มันชำนาญในวสี ถ้าชำนาญในวสี สมาธิก็อยู่กับเราไง สมาธิผลักมันก็ไม่ไปไง

ถ้าสะสมพลัง พลังเป็นพลังใช่ไหม ไม่ต้องไปดูแลมันเนาะ พลังมันก็คือจำนวนตัวเลขเนาะ มีเงินในบัญชีเท่าไร มันจะเกิดดอกเบี้ยเท่าไร มันจะอยู่ของมันอย่างนั้นเนาะ แล้วเวลาเงินมันเฟ้อล่ะ ค่าของเงินเฟ้อ เราได้ตัดค่าเงินเฟ้อไหม เราได้เสียภาษีไหม แล้วพลังจิตอยู่ตลอดไปไหม

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เขาไม่คิดว่าสะสมอย่างไร เขาชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษา ชำนาญในการดูแล แล้วการดูแล ถ้าเราจะยกขึ้นวิปัสสนา เราจะมีปัญญาอย่างไรยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเห็นกาย เห็นกายอย่างไร ถ้าเห็นกาย มันจะเป็นวิปัสสนาอย่างไร มันจะเป็นวิปัสสนาหรือไม่เป็นวิปัสสนา ถ้ามันเป็นวิปัสสนา

วิปัสสนากับสมถะ รสชาติมันแตกต่างกัน รสของสมาธิ สมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม รสชาติมันแตกต่างกัน ธรรมโอสถ ยาคนละอย่าง แก้โรคแก้ภัยคนละอย่าง รสชาติแตกต่างกัน ยาก็ไม่เหมือนกัน ผลของการรักษาก็ไม่เหมือนกัน แล้วถ้ารักษาขึ้นมาแล้วมันจะเป็นอย่างไร มันจะรู้ของมันไง ทางเดินของจิต ทางเดินของจิตมันต้องมีหนทางของมัน

ไอ้นี่มันเป็นแสตมป์เอา มันเป็นตำราไง พระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้ เราก็ว่าอย่างนั้น แล้วเราก็ว่ากันไป มันมีจริงหรือเปล่า ถ้ามันมีจริงนะ

นี่พูดถึงว่า ถ้าเขาบอกว่าสะสมพลังจิต

ไอ้ที่พูด พูดให้เตือนสติเฉยๆ แต่ถ้าใครทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบได้ก็สงบ ใครทำได้มากได้น้อยแค่ไหนมันก็อำนาจวาสนาของคน ถ้าอำนาจวาสนาของคนมันมีอำนาจวาสนานะ มันก็เลือกทางที่ถูก เลือกทางที่ว่าเราไปแล้วมันจะไปต่อยอดขึ้นไปจนถึงที่สุดได้

ถ้าเลือกทางที่ความพอใจของเรา บางทีมันก็ไปเจอทางตัน ทางตัน ทางที่ไปไม่ได้ เข้าถ้ำไปแล้วถ้ำมันตัน เข้าไปมีแต่ภูเขา จะเอาหัวทะลุภูเขาขึ้นไปมันก็ไม่ใช่ตัวตุ่น ตุ่นมันก็เจาะดินนะ ไอ้นี่ภูเขามันเจาะไม่ได้นะ โอ๋ย! มันก็ไปตันอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่ถ้าพูดถึง อยู่ที่ทางเลือกไง อยู่ที่ทางเลือก อยู่ที่วาสนา เราจะทำสิ่งใด

แต่ถ้าเราฝึกของเรา เขาบอกว่าเขาทำสมาธิชัดเจน “ฝึกหัดกำหนดอย่างชัดเจนในการทำสมาธิแต่ละครั้ง หากนานเกินไปก็ไม่เป็นประโยชน์ กลายเป็นตกภวังค์ไปหรือเป็นฌานไป ไม่ได้เป็นพลังจิต”

อ้าว! แล้วพลังจิตกับความสงบแตกต่างกันอย่างไร มันไม่ใช่เป็นพลังจิต

“แล้วถ้าทำสมาธิเหมือนกับการสร้างตึก ถ้าทำสมาธิด้วยความต่อเนื่อง สติมันจะหนาขึ้น”

มันจะหนาขึ้น มันก็เหมือนกับหนาขึ้นแบบภูเขา หนาขึ้นแบบว่ามันมีความตันมากขึ้น จะหนาขึ้น โอ้! สติมันหนาขึ้นเนาะ แล้วมันก็เป็นมหาสติ...อืม! ก็เพิ่งได้ยินนี่แหละ

สติมันก็คือสติ สติมันก็คือสติ สติเป็นสตินะ ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค เป็นสกิทาคามิมรรค นี่เป็นสติ มหาสติมันจะเกิดเป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคเพราะจิตมันเร็วขึ้น

ในเมื่อมันได้ตัดสิ่งที่ว่าจิตมันออกไปหาเหยื่อ อย่างขันธ์อย่างหยาบ กายอย่างหยาบๆ มันเข้าไปมันก็เป็นเรื่องปกติของสติ มันก็ต่อสู้กันได้ พอมันต่อสู้กันไป มันเป็นมรรคญาณ มันมีมรรคมาตัดออกเป็นชั้นเข้าไป พอเป็นชั้นเข้าไป มันละเอียดจนสติมันรับภาวะอย่างนั้นไม่ได้ ถึงรื้อค้นหากิเลสไม่เจอ ต้องฝึกฝนๆ ฝึกฝนจนเป็นมหาสติ ถ้าเป็นมหาสติ มันก็จะไปเห็นอสุภะ

ระหว่างเห็นกายกับเห็นอสุภะ ถ้าคนไม่ภาวนาแล้วมันก็กายเหมือนกัน แต่ถ้าคนภาวนานะ เห็นกายคือเห็นสามัญสำนึก เห็นความยึดติดร่างกายเรานี่แหละ แต่พอมันปล่อยกายไปแล้วนะ พิจารณาเข้าไป ปล่อยธาตุ ๔ มันสู่ธาตุเดิมของมัน ทีนี้พอปล่อยธาตุ ๔ ไปแล้ว มันปล่อยไปแล้ว กายมันปล่อยไปแล้วมันก็เหลือแต่จิตล้วนๆ ใช่ไหม ถ้าจิตล้วนๆ มันจะไปเห็นจิตล้วนๆ ที่มันติดข้องในเรื่องของกาม มันมีกามราคะอยู่ในใจ

ถ้ากามราคะอยู่ในใจ กามนี้มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใดล่ะ

กามมันเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมันมีขั้วบวกและขั้วลบ มันมีเพศตรงข้ามมันถึงเกิดกาม มันถึงเกิดความพอใจ แล้วความพอใจนี้มันเกิดที่ไหนล่ะ? มันก็เกิดที่นามธรรม เกิดที่ความรู้สึก ถ้าเกิดที่ความรู้สึก มันเป็นกายไหม มันเป็นกายไหม

แต่ถ้าเกิดที่ความรู้สึก ถ้ามันเป็นมหาสติมันเข้าไปจับกายอย่างนี้ได้ ถ้าจับกายอย่างนี้ได้ จับกายอย่างนี้ กายอย่างนี้มันเป็นกามราคะ มันเป็นขั้วบวกขั้วลบ มันเป็นเพศตรงข้ามที่มันสะสม แต่มันมีข้อมูลมาจากจิต มีข้อมูลจากจิต ถ้ามันไม่มีมหาสติ นี่มหาสติมันเกิดตรงนี้

ไม่ใช่ทำสมาธิไป พลังจิตไปแล้วสติมันจะหนา หนาขึ้นเรื่อยๆ หนาขึ้นจนแบบว่าเขาพูดก็ไม่เจ็บ เขาเอาปฏักตี เอาปฏักเจาะก็ไม่เข้าหนัง เพราะหนังมันหนา มันหนาขึ้นมามันหนาด้วยหนัง หนังมันหนาขึ้นเรื่อยๆ หนาขึ้นเรื่อยๆ จนมันไม่รู้ดีรู้ชั่ว หนาจนสติมันหนาไง...มันไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ถ้ามันไม่ใช่อย่างนั้น นี่พูดถึงว่า “สมาธิหรือการสะสมพลังจิต” เนาะ

สมาธิก็คือสมาธิ ถ้าเป็นมหาสติ-มหาปัญญา มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าคนไม่เป็นมันก็พูดไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคนเป็นนะ คนเป็น คำพูดมันจะฟ้อง

วัฒนธรรมใด เราเกิดในชุมชนใด เกิดในวัฒนธรรมใด ความรู้สึก ความฝังใจจะฝังใจเรื่องวัฒนธรรมนั้น เวลาคุยกัน เวลาการแสดงออกของใจ เราจะแสดงออกมาจากวัฒนธรรมนั้น เราจะรู้เลยว่าบุคคลคนนี้อยู่ในชุมชนใดมา อยู่ในวัฒนธรรมใดมา

ฉะนั้น เวลาการภาวนา จิตมันภาวนาได้มากน้อยแค่ไหน เวลามันแสดงออกมาก็แสดงออกมาจากความรู้สึกอันนั้น

วัฒนธรรมประเพณี โดยเรื่องของประชาธิปไตย เขาถือเรื่องนี้มาก เรื่องวัฒนธรรม เราอย่าดูถูกดูแคลนเรื่องวัฒนธรรมกัน เพราะมันเท่ากับดูถูกดูแคลนชีวิตของเขานะ ชีวิตความรู้สึกของเขา เขาเติบโตมาในวัฒนธรรมนั้น เขาก็ต้องรัก เขาก็ต้องหวงแหนวัฒนธรรมของเขาเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น เราคุยกันทุกๆ เรื่องได้ แต่เรื่องวัฒนธรรม เรื่องความเห็นในใจเขา เราต้องยกไว้ เราต้องเคารพสิทธิของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรื่องวัฒนธรรมมันเรื่องวัฒนธรรม

ทีนี้เรื่องของการภาวนาๆ เราเปรียบเทียบเฉยๆ เราเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้ามันอยู่ในวัฒนธรรมใดมา เขาก็คุ้นเคยกับวัฒนธรรมนั้น

การปฏิบัติมา ถ้าใครปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหน จิตใจของมันได้ฝึกหัดมา มันจะได้มาก ลึกซึ้งเข้าไปถึงสัจธรรม มันแสดงออกมา มันแสดงออกมาด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันชัดเจน มันเป็นสากล มันเป็นสัจธรรม

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป เราเป็นวัฒนธรรมของเรา เป็นกลุ่มชนของเรา ความเห็นของเรา จะขัดแย้งกับใครก็ไม่รู้ แต่ฉันก็อ้างอิงว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับพระพุทธเจ้า ค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก แต่เวลาทำไปแล้วมันฟ้อง มันฟ้อง

นี่ไง หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าใครแสดงธรรมๆ เท่ากับเปิดหัวอก เปิดหัวอกว่าหัวอกฉันมีเท่านี้ ไส้พุงฉันมีเท่านี้ เวลาพูดออกไปผิดถูกมันชัดเจนมาก แต่มันน่าเสียดาย มันน่าเสียดายว่าผู้รู้จริงมันมีน้อย ผู้รู้จริงกับผู้รู้จริงเขาคุยกัน เขามีจรรยาบรรณ

เขามีแบบว่าจรรยาบรรณแพทย์ จรรยาบรรณแพทย์เขาไม่พูดถึงอาการไข้ของคนไข้นะ เพราะมันเป็นจรรยาบรรณของเขา อาการไข้ของคนไข้ ไข้จะมากน้อยแค่ไหน แพทย์เขาไม่บอกใคร เขาเก็บไว้เป็นจรรยาบรรณของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติได้จริง มันเป็นจรรยาบรรณของท่าน ท่านเห็นแล้วท่านสังเวช ปลงธรรมสังเวช ท่านสังเวชในใจของท่านนะ ฉะนั้น สังเวชในใจของท่าน แต่ท่านไม่ออกมาพูด ไม่มีใครรู้หรอก แต่ถ้าในวงของผู้รู้ มี ถ้าวงของผู้รู้ มี เวลาพูดออกมามันบอกหมดนะ “ถ้าสะสมพลังของมันไปเรื่อยๆ สติมันจะหนาขึ้นจนเป็นมหาสติ”

โอ้โฮ! คำนี้เพิ่งได้ยิน เพิ่งได้ยินว่ามันหนาขึ้นมาขนาดนี้ แล้วเป็นมหาสติ เออ! มหาสติเป็นแบบนี้เนาะ เออ! มันก็มีว่ะ

แต่ความจริง มหาสติ เราอธิบายไปแล้ว สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันจะมาอย่างไร มันจะมาอย่างไร ถึงคราวที่มันจะมา มันจะมาอย่างไร แล้วจะดำเนินการอย่างไร จากปัญญาที่สู้กันมา ถ้าเป็นมรรคขึ้นมา แล้วถ้ามันเจริญเติบโตขึ้นไป ถ้ามันจะเป็นมหาปัญญา ทำไมมันถึงเป็นมหาปัญญา ถ้าไม่ถึงระดับนั้นมันเป็นมหาปัญญาไปไม่ได้ มหาปัญญามันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันถึงเป็นมหาปัญญา

มหาปัญญา ถ้าเริ่มจากมหาปัญญา มันเป็นปัญญาญาณ ปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่ซึมซับเข้าไปทำชำระล้าง ไอ้สิ่งที่ละเอียดมันเป็นอย่างไร มันมีชั้นมีตอนของมันเข้าไป นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านมาอย่างนี้ แล้ววางธรรมอย่างนี้

ฉะนั้น ทำสมาธิ สมาธิเพื่อฝึกหัดใช้ปัญญา ไอ้พลังจิตๆ ไอ้นั่น เห็นกายทิพย์ สัมผัสกายละเอียดต่างๆ มันเป็นเรื่องฤๅษี มันเป็นเรื่องอภิญญา มันเป็นเรื่องฌานโลกีย์ไปแล้ว มันไม่เกี่ยวกับอริยสัจเลย ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ไม่เกี่ยว

ฉะนั้น “การทำสมาธิควรหาที่เงียบไหม การทำสมาธิพร้อมกับฟังเทศนาครูบาอาจารย์ หรือการทำสมาธิประกอบเสียงเพลงได้ไหมครับ”

เพราะพื้นฐานมันเป็นอย่างนี้ เวลาคำถามขึ้นมา ถามมาตลอดรอดฝั่งจนเป็นมหาสติ สติหนาๆ เลยล่ะ แต่เวลาถาม “ต้องทำสมาธิประกอบเสียงเพลงได้ไหม”

เออ! เห็นไหม มันบอกหมด คำถามมันจะบอกหมดว่าวุฒิภาวะของใจสูงต่ำแค่ไหน แต่อย่างว่า ครูบาอาจารย์ท่านมีจรรยาบรรณของท่าน ธรรมสังเวช โลกเป็นแบบนี้ ความรู้สึกนึกคิดของโลกเป็นแบบนี้ ท่านก็พยายามพูดโดยหลัก โดยแง่บวกเพื่อให้คนพัฒนาขึ้นมา จิตใจพัฒนาขึ้นมา ธรรมะจะเกิดในใจดวงนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เวลาทำสมาธิพร้อมกับฟังเทศนาได้ไหม

ได้ ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราก็พุทโธของเรา เวลาเราทำสมาธิ เราก็กำหนดเสียงที่ฟังเทศน์นั้น กำหนดเสียงนั้น เพราะเสียงเทศน์ครูบาอาจารย์ท่านจะมีข้อมูลของท่าน มีหลักมีเกณฑ์ของท่าน เราจับเหตุผลนั้นน่ะ ถ้ามันจับเหตุผล มันสะเทือนหัวใจมาก นี่การฟังเทศน์

หลวงตาบอกว่า “ภาคปฏิบัติ การฟังเทศน์สำคัญที่สุด”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ มีพระสำเร็จถึงเป็นร้อยเป็นพัน นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ขึ้นมา เราฟัง เราจะได้ประโยชน์มหาศาลเลย

แต่ถ้าทำสมาธิประกอบเสียงเพลง ทีนี้ประกอบเสียงเพลง มันก็เกิดในมหายาน มหายานเขาใช้เสียงเพลงนำ เขาใช้ร้องเพลงนำ

เสียงเพลง มหรสพสมโภช ศีล ๘ ยังไม่ให้ฟังเลย มันมีในพระไตรปิฎกนะ พวกวณิพกไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า เขาขับกล่อมดนตรีให้กับประชาชนฟังมีความสุข เขาได้บุญอย่างไร

พระพุทธเจ้าบอก อย่าให้เราตอบเลย

เขาก็ถามครั้งที่ ๒ อีก บอกว่า เขาทำขับกล่อมดนตรีให้คนมีความสุขมากเลย เขาควรได้บุญอะไร

พระพุทธเจ้าบอก อย่าให้ตอบเลย

เขาก็ถามอีกครั้งที่ ๓

พระพุทธเจ้า ถ้าถามถึง ๓ หน ท่านจะตอบ พอถามครั้งที่ ๓ ว่าข้าพเจ้าขับกล่อมดนตรีให้ประชาชนเขาได้มีความสุข ความสงบ ข้าพเจ้าควรได้บุญมากมายมหาศาล

พระพุทธเจ้าบอกว่า ตกนรก

คำว่า “ตกนรก” เหตุผลคือทำให้คนประมาทเลินเล่อ คนที่มีสติมีปัญญา เขาจะไม่ทำให้ชีวิตของเขาตกไปในทางต่ำ

แต่ถ้าคนมีสติมีปัญญา แต่เขาฟังเพลง เขามาฟังดนตรีขับกล่อม มันประมาทไหม มันซาบซึ้ง อินกับเสียงเพลงจนน้ำตาไหลเลย มีไหม นี่มันประมาทไง นี่พระพุทธเจ้าบอก แต่ทีนี้ทางโลกเขาว่าสิ่งนี้เป็นคุณๆ ไง

นี่ก็เหมือนกัน เราบอกว่าเราทำสมาธิประกอบเสียงเพลง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติศีลไว้เลย ศีล ๘ ห้ามฟังเสียงดนตรีฟ้อนรำ ไม่ให้นอนในที่สูง เพราะการปฏิบัติไม่ให้ประมาท

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพานนะ “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความประมาทเลินเล่อ พระพุทธเจ้าห่วงมากที่สุดเลย แล้วมาฟังเพลง มาทำเสียงขับกล่อมดนตรี มาเพลิดเพลิน ประมาทไหม? มันเป็นทางแห่งความประมาท มันเป็นทางให้คนประมาทเลินเล่อ ศีล ๕ ศีลมันบัญญัติไว้แล้ว

ฉะนั้น ทำสมาธิประกอบเพลง แต่ทีนี้ในมหายาน เดี๋ยวนี้เขามา เราก็ดูข่าวอยู่ โอ้โฮ! ภิกษุณีร้องเสียง อู้ฮู! ซาบซึ้ง ถ้าเสียงผู้หญิงมาร้องอย่างนั้นนะ ภิกษุก็หัวใจไหวหมดเลย เพราะเสียงมันทิ่มเข้าหูไง เสียงหญิง เสียงชาย เสียงชายเข้าไปทิ่มในหัวใจของผู้หญิง เสียงของหญิงเข้าไปทิ่มในหัวใจของผู้ชาย แล้วเขามาขับกล่อมเสียงเพลง ภิกษุหัวใจไหวหมดเลย เป็นการปฏิบัติไหม

แต่ในเมื่อลัทธิความเชื่อ พูดไว้เมื่อกี้เนาะ วัฒนธรรมของใคร เขาเกิดจากวัฒนธรรมอย่างนั้น เขาก็ว่าวัฒนธรรมของเขาถูกต้อง เราเกิดจากหินยาน เราเกิดจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เราเกิดจากครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านได้ชี้นำมา ครูบาอาจารย์ของเราได้ทำข้อวัตรปฏิบัติมาให้พวกเราก้าวเดิน

แล้วข้อวัตรปฏิบัตินี้ หลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกท่านเป็นมหามานะ ท่านก็เชื่อหลวงปู่มั่นมากเลย แต่หลวงปู่มั่นพูดสิ่งใด หลวงตาท่านเป็นมหามา ท่านก็เอาคำสอนหลวงปู่มั่นไปเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ท่านบอกเปี๊ยะ เปี๊ยะ เปี๊ยะเลย เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยคุณธรรมของท่านมา แล้วท่านวางข้อวัตรของท่านมาให้พวกเรานี้ก้าวเดินมา นี้เป็นข้อวัตรปฏิบัติของพระป่า พระป่า พระประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น สิ่งนี้ในปัจจุบันนี้มี ตอนนี้ในสังคม เพราะเราเห็นอยู่ เขาเอาภิกษุณีมาแล้วก็มาร้องเสียงเพลง อู้ฮู! ดีกว่าโอเปร่า เสียงนี่แหม! ไพเราะจับใจ ซาบซึ้งน้ำตาไหล

แต่ในศีล ๘ ก็ห้ามแล้ว พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความประมาทก็สอนแล้ว ทุกอย่างก็สอนหมดแล้ว แล้วเราจะเชื่อใครล่ะ

เห็นไหม วัฒนธรรมคนละวัฒนธรรมกัน ฉะนั้น คนละวัฒนธรรมกัน ใครเห็นว่าสิ่งใดสะดวก สิ่งใดปฏิบัติแล้วเขาจะได้ผล มันเรื่องของเขา เพราะในวงการปฏิบัติ ไม่มีเหมือนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เหมือนครูบาอาจารย์ของเราที่นิพพานไปแล้วกระดูกของท่านเป็นพระธาตุ อันอื่นไม่เคยเห็น ไม่เคยเห็น ไม่เคยมี แต่ถ้าเราเชื่อกัน เราก็เชื่อกันด้วยคุณธรรม เชื่อกันด้วยคุณธรรม เวลาท่านแสดงธรรม เอาตรงนั้น แต่ของเรา อัฐิของหลวงปู่มั่นชัดเจน

แต่ในปัจจุบันนี้นะ บอกว่ามีพระธาตุๆ ขึ้นมา ในท้องตลาดเขาก็พยายามจะหาพระธาตุเทียมๆ ขึ้นมาหาอยู่หากินกันนะ

พระธาตุ ดูสิ เอาพลาสติกมา เอาอะไรมาแจกกันว่าเป็นพระธาตุ ใครก็เป็นพระธาตุ

หลวงตาบอกว่าไก่ก็เป็นพระธาตุ หมูก็เป็นพระธาตุ หมาก็เป็นพระธาตุ เดี๋ยวนี้พระธาตุหมู พระธาตุหมาเยอะแยะเลย แต่พระธาตุของพระอรหันต์ก็มี พระธาตุหมู พระธาตุหมาก็มี ต้องมีสติมีปัญญา อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น เอวัง

;'; d