เทศน์บนศาลา

กับดักกิเลส

๒๔ ต.ค. ๒๕๔๖

 

กับดักกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม ธรรมออกมาจากใจ สภาวธรรมตามความเป็นจริงอยู่ที่หัวใจ หัวใจรับรู้สิ่งที่ว่าเป็นความสุขความทุกข์ เวลาทุกข์เกิดขึ้นมาจากใจ ทุกข์มาก ความทุกข์นี้ไม่ต้องใครบอก ทุกคนรู้อยู่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกภายใน เกิดขึ้นมาแล้วก็สุมขอนนะ ความทุกข์นี่สุมขอนอยู่ในหัวใจ หัวใจนี้เวียนตายเวียนเกิดในสภาวะนั้นตลอดมา แล้วไม่มีสิ่งใดไง ไม่มีธรรมเข้าไปรักษา

ถ้าไม่มีธรรมเข้าไปรักษา คนเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้วไม่สนใจ เกิดมาแล้วไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ แล้วจะเอาสิ่งใดมาเยียวยาใจ นี่มันน่าสลดสังเวชนะ สลดสังเวชว่าคนเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี้กังวานนะ กังวานอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เทวดา แม้แต่อินทร์ แม้แต่พรหม อยากจะประพฤติปฏิบัติก็ไม่เข้าใจสภาวะสิ่งนั้น ต้องมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ของเรา ผู้ที่รู้สภาวะตามความเป็นจริง แต่ครูบาอาจารย์ของเราฝ่ายปริยัติก็มี

พูดถึงเทวดานะ ฟังธรรมครูบาอาจารย์ฝ่ายที่ปฏิบัติ เพราะว่าสื่อความหมายออกมาจากใจ ใจนี้มีทุกข์มาก แต่เวลาจะสื่อความหมาย ความหมายแก้ที่หัวใจนั้นน่ะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ หัวใจประพฤติปฏิบัติ แต่ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมา แม้แต่ผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก็ยังลังเลสงสัยว่า เทวดามีหรือเปล่า นรกสวรรค์มีหรือเปล่า สิ่งที่ว่าสิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ตัวเองก็ศึกษาอยู่ก็ยังลังเลสงสัย สงสัยว่าสิ่งนั้นจะมีความจริงหรือเปล่า

จนถึงว่า ถ้าลังเลสงสัย แล้วเทวดาจะมาฟังธรรมได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อตัวเองก็ยังสงสัยในตัวเองอยู่ ถ้าตัวเองสงสัยในตัวเองอยู่นี่จะไปสอนใคร? สอนใครไม่ได้เลย เพราะเราสงสัยในความเป็นจริง ความเป็นจริงคือความทุกข์ในหัวใจ จิตนี้เกิดตายๆ มาตลอดเวลา สิ่งที่เกิดตายๆ สะสมสิ่งนี้มา สะสมจริตนิสัย จริตนิสัยของแต่ละบุคคลนี้ไม่เหมือนกัน ถึงว่า ต้องวางไว้ตามความเป็นจริงอันนั้นไง

กิเลสดิบๆ นะ สิ่งที่เป็นกิเลสดิบๆ นี้คือความรู้สึกของเราทั้งหมดเลย นี่เป็นกิเลสดิบๆ เลย แล้วก็อยู่ในหัวใจของเรา ความรู้สึกของเรา เวลามันคิดออกไปนะ ความคิดของเรา การศึกษามาในตำรับตำรามานี่ เราว่าเรารู้ธรรม กิเลสสิ่งนี้มันก็รู้ด้วย นี่มันเป็นกิเลสดิบๆ ไง สิ่งที่ดิบๆ คือความรู้สึกของเราทั้งหมด ถ้าความรู้สึกของเราทั้งหมดเป็นความรู้สึกของเรา เราว่าสิ่งนี้เป็นธรรม นี่กิเลสมันปกคลุมไว้หมดเลย มันคิดของมันตามอำนาจของมัน แล้วมันก็ว่าเราเข้าใจตามสภาวะตามความเป็นจริง

สภาวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันยังห่างไกล เพราะอะไร เพราะว่าความคิดอย่างนี้มันเป็นความคิดของกิเลสปกคลุมใช่ไหม นี่กิเลสอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าคิดสภาวะแบบนี้มันก็คิดของมันโดยธรรมชาติของมัน มันคิดของมันไป แล้วมันก็เทียบเคียงของมันไป เทียบเคียงของมันไปตลอดเวลา มันก็เป็นไฟสุมขอนไง สุมขอนเพราะความรู้สึกของใจ ใจอันนี้มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง มันสุมขอนของมัน มันเร่าร้อนอยู่ของมันตลอดไป มันเร่าร้อนนะ สภาวธรรมที่ประพฤติปฏิบัติแล้วมันต้องร่มเย็น

แต่ทำไมใจของเราเร่าร้อนล่ะ? เพราะใจของเรามันดิบไง สิ่งที่เป็นดิบ ดูอย่างไม้สิ ไม้ดิบ ไม้สด...ไม้สดเวลาทำอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเอาไปทำอะไรนี้มันก็จะหดจะแห้งของมันไป แล้วถ้าเกิดถ้าเราจะติดไฟ มันก็จุดไฟไม่ได้ ถ้าเราจะจุดไฟได้ ไม้นั้นมันต้องทำให้แห้งก่อน ตากให้แห้งก่อน นี้ก็เหมือนกัน ถ้าตากให้แห้งก่อนมันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ว่าจุดไฟก็ติด ทำสิ่งใดแล้วมันก็ไม่หดไม่เป็นสิ่งที่ว่าบกพร่องไป แต่ถ้าเป็นไม้ดิบ มันไม่เป็นประโยชน์ ใจของเรามันก็ดิบ ถ้าใจของเรามันดิบ นี่ต้องทำให้มันสุกก่อน สุกคือว่าทำให้มันแห้งไง

ถ้าทำให้มันแห้งใช่ไหม เราต้องทำสัมมาสมาธิ ไม้ถ้ามันแห้งแล้วมันก็แห้งของมันเลย แต่หัวใจของเรานี่เวลามันเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เวลาทำความสงบของใจ ใจมันสงบขึ้นมา มันก็คือไม้ที่มันแห้งนั่นน่ะ มันควรแก่การงาน แล้วสุดท้ายแล้วมันก็กลับเสื่อมลง ความที่ว่ามันแห้งก็ได้ มันกลับมาเป็นไม้ดิบก็ได้ เพราะใจของเรามันเป็นนามธรรม มันไม่เหมือนกับไม้ ไม้ ถ้าไม้ดิบเราโค่นมาจากต้นนี่ มันยังสดอยู่ ถ้าเราตากไว้มันก็ต้องแห้ง เก็บไว้มันต้องแห้ง มันแห้งโดยธรรมชาติของมัน แห้งแล้วมันแห้งเลย นั้นมันเป็นวัตถุไง

แต่หัวใจของเรา เดี๋ยวมันก็เจริญขึ้นมา เดี๋ยวมันก็เป็นสมาธิขึ้นมา เดี๋ยวมันก็ปล่อยวางขึ้นมา ถ้าปล่อยไว้ แล้วมันก็กลับขึ้นมาดิบอีกได้ กลับขึ้นมาสดอีกได้ เพราะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม นี่เราควบคุมมันไม่ได้ไง เพราะเราควบคุมมันไม่ได้ สิ่งนี้ถึงพาเราเกิดพาเราตาย พาเราทุกข์ร้อนมาตลอด สิ่งนี้ทุกข์ร้อนมาก หัวใจจะทุกข์ร้อนไปกับอำนาจของกิเลส สิ่งที่ว่าเป็นกิเลสในหัวใจนี้ เราไม่เคยเห็น แล้วเราก็ค้นคว้าสิ่งนี้ไม่ได้ เราค้นคว้าสิ่งนี้ไม่ได้เพราะกิเลสเป็นเรา

เรากับกิเลส เรากับความรู้สึกของเราเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่เป็นอันเดียวกันก็เลยอยู่ด้วยกัน แล้วก็ขับเคลื่อนไป เห็นไหม คิดอะไร ทำอะไรต่อไป กิเลสมันก็พาคิดพาทำของมันไปธรรมชาติของมัน สิ่งที่กิเลสพาคิดพาทำนี่เราทั้งนั้นเลย เราทำ แล้วเราก็หาไง เหมือนกับเราทานอาหารนะ เราทานอาหาร สิ่งที่เป็นพิษของแสลงเข้าไป โรคมันต้องรุนแรงขึ้นมาแน่นอน

หัวใจของเราก็เหมือนกัน เราเป็นคนประมาท ดูสิ หลวงปู่มั่นจะทำอะไร เก็บหอมรอมริบ สิ่งใดต่างๆ นี้เป็นธรรมเป็นวินัย จะเก็บหอมรอมริบตลอดเวลา เก็บหอมรอมริบสะสมมานะ คนที่มีบารมี คนที่มีปัญญา เขายังเก็บหอมรอมริบขนาดนั้น สิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นธรรมขึ้นมาเพื่อให้มีหลักของใจ แต่เราเป็นคนประมาท เราจะทำความเพียรของเรา เราต้องรอเวลาเราเข้าทางจงกรม เรานั่งภาวนาถึงจะเป็นความเพียรไง เราประมาท เราปล่อยใจของเราขับเคลื่อนไปตามอำนาจของกิเลสตลอดไป

มันถึงว่าเดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม ถ้ามันเสื่อมขึ้นมา เราจะมีความทุกข์ร้อน ความทุกข์ร้อนเพราะอะไร เพราะว่าพอมันเสื่อมขึ้นมา แล้วกินของแสลงเข้าไปอีก มันยิ่งให้ผล ให้ผลกับความคิดของเรานะ ให้ผลว่าเราคิดสภาวะแบบโลก มันออกไปตามโลกทั้งหมดเลย นี่สิ่งที่มันคิดออกไปมันก็เอาผลของมัน คือความเร่าร้อนมาให้กับใจของเรา ถ้าเราคิดอย่างนี้ไม่ได้ มันคิดขึ้นมาอย่างนี้ เราต้องกำหนดพุทโธ พยายามกำหนดพุทโธ ตั้งสติไว้ ตั้งสติแล้วยับยั้งมันให้ได้ ยับยั้งให้ได้นะ

เราเป็นคนมีอำนาจวาสนา ดูอย่างโลกเขา เวลาของเขานะ เวลาของเขาไม่ค่อยมี เขาต้องประกอบสัมมาอาชีวะของเขาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง นี่เป็นเรื่องของความทุกข์มาก เราสละออกมาเป็นนักบวช เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมง แต่ทำไมเราประมาทกับความประพฤติของเราล่ะ เราประมาทกับเราเองนะ วันเวลาล่วงไปๆ นี่ออกพรรษาแล้ว เดี๋ยวก็จะออกธุดงค์ออกเที่ยวกันแล้ว สิ่งที่ออกเที่ยวไปนี่เราเที่ยวไปเพื่อหาสิ่งใด เราเที่ยวไปขนาดไหนเราก็ต้องหาหัวใจของเรา หัวใจของเราอยู่กับตัวของเรา แต่เราค้นคว้าไม่ได้ เราหาไม่ได้

เราออกธุดงค์ เห็นไหม ออกธุดงค์ไปก็ส่งให้ค้นคว้าออกมา ออกค้นคว้าขนาดไหน เอาสิ่งนั้นไง สัปปายะ ที่อยู่ที่อาศัย เอาสิ่งนั้นเพื่อจะให้ใจพยายามทำความเพียรกลับมาจากภายใน เปลี่ยนที่ไป เปลี่ยนสถานะไปเพื่อค้นคว้าตัวของเราให้ได้ ถ้าธุดงค์ออกไปอย่างนั้นถึงจะเป็นประโยชน์ ถ้าธุดงค์ไปประสาของเรา เราก็ธุดงค์ของเราไป เห็นสภาวะใดก็คิดไป คิดทางโลกไป นี่ติรัจฉานวิชา ในพระไตรปิฎกว่าไว้นะ แม้แต่เราผ่านไปในบ้านเมืองใด เขาประกอบการค้าสิ่งใด เขาทำสิ่งใด เรื่องนั้นน่ะเราไปเห็นขึ้นมา เราไปคิด มันก็เป็นเรื่องการส่งออก

เราธุดงค์ไปสิ่งต่างๆ นั้น เอาเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา แต่จริงๆ ขึ้นมา เราก็ต้องค้นคว้าหาใจของเราเหมือนกัน จะไปหรือจะอยู่ ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เราต้องเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าอยู่เป็นประโยชน์ เราจะอยู่เป็นประโยชน์ เอาใจของเราให้สงบได้ ความเพียรมันเกิดจากที่นี่ไง ความเพียรเกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าหัวใจมีความสงบเข้ามา มันจะเกิดเป็นมรรคขึ้นมา สิ่งที่เป็นมรรค สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับใจ

ถ้ามันเป็นความเพียรขึ้นมา ความเพียรสักแต่ว่า เราทำของเรา สติเราประมาทเราไม่มีความพร้อมในหัวใจ ทำขนาดไหนมันก็เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันไม่ตั้งมั่นไง ถ้ามันจะตั้งมั่นขึ้นมา เราว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา ถ้าเรานะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติยังทำความสงบของใจไม่ได้ ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ของใจ แล้วเราจะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องอยู่ ถ้าจิตนี้มันสงบขึ้นมา นี่พออยู่พอกินนะ คนเราจะพออยู่พอกินได้เพราะจิตมันเริ่มสงบตัวเข้ามา ถ้ามันสงบตัวเข้ามา มันมีความร่มเย็นของใจ ถ้ามีความร่มเย็นของใจ มันจะเป็นสิ่งที่ว่าเริ่มต้นจากการก้าวเดินไป ถ้าเราก้าวเดินขึ้นไป ขึ้นไปข้างบน มันจะเป็นประโยชน์กับเรามาก ถ้าเราไม่ก้าวเดินขึ้นไป มันก็เป็นกิเลสดิบๆ อยู่อย่างนี้

กิเลสดิบๆ มันครอบคลุม มันครอบคลุมใจแล้วมันไม่ทำให้เราเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนนี่คนหนาไปด้วยกิเลส สิ่งที่คนหนาไปด้วยกิเลส ธรรมชาติของใจมันเกาะเกี่ยวไปทุกๆ อย่าง รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม เสียงที่เพราะ เสียงที่พอใจ มันต้องการเสียงนั้น เสียงที่ติฉินนินทา เราไม่ชอบสิ่งนี้เลย สิ่งนี้ให้เป็นโทษกับใจ ถ้าเขามาพูดให้เราฟังว่า คนนั้นเคยติฉินนินทาเราไว้ขนาดไหน มันจะแทงใจของเรามากเลย สิ่งนี้มันไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย แต่ถ้าคนที่มีปัญญานะ ดูใจของตัวเอง ถ้านี้กระทบขึ้นมา ใจของตัวเองมันเกิดสภาวะสิ่งใด ถ้าเราดูใจของตัวเอง มันแสดงตัวออกมา เราจับสิ่งนี้แล้วพิจารณาเข้ามา ถ้าเราดูใจของเราเองมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นบ่วงของมาร ใจนี้ติดมันไปตลอด เราต้องใช้ความคิดของเรา พยายามใช้ปัญญาของเรา หรือกำหนดพุทโธๆ ของเราขึ้นมา จากดิบๆ ต้องให้มันแห้ง ถ้ามันแห้งขึ้นมานี่มันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันจะมีสติตลอดไป จิตมันสงบเข้ามาขนาดไหน มันจะปล่อยวางเข้ามาขนาดไหน ถ้ามันกำหนดพุทโธได้ เราต้องกำหนดพุทโธตลอดไป เพื่อให้จิตมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป

มันเจริญแล้วเสื่อม มันไม่ตั้งมั่น สิ่งที่ไม่ตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ จิตนี้มันยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าวิปัสสนานี่มันก้าวเดินไป ออกไปอีกส่วนหนึ่ง ถ้าไม่วิปัสสนา มันก็จะอยู่สภาวะแบบนี้ แล้วมันก็จะไม่มีที่พึ่งไง เร่าร้อนมาก ใจของเราเร่าร้อนขนาดไหน มันไม่มีใครรับรู้ไปกับเรา เราเท่านั้น เราเท่านั้น เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า พรหมจรรย์นี้ประพฤติปฏิบัติเพื่อเรา ถ้าประพฤติปฏิบัติเพื่อเรา ย้อนกลับมาที่เรา นักปฏิบัติต้องย้อนกลับมาหาตัวเองให้ได้ นักปฏิบัติเป็นผู้ที่พยายามจับความผิดพลาดของตัวเอง ถ้าเราเห็นความบกพร่องของเรา คนอื่นเขาก็เห็นความบกพร่อง เห็นความบกพร่องอันนี้แน่นอน ถ้าเราเห็นความบกพร่องของเรา เราแก้ไขของเราแล้ว ถ้าเราจับ เราพยายามค้นคว้าหาความบกพร่องของเราไม่ได้ ใครจะติฉินนินทาเราได้ ถ้าเรายังมีความบกพร่องของเรา เราต้องย้อนกลับมาตรงนั้นน่ะ สิ่งใดบกพร่อง นั่นคือขาดสติ

ถ้าขาดสติ ความผิดพลาดมันต้องเกิดขึ้นตลอดไป เรามีความผิดพลาด ล้มลุกคลุกคลานนะ คนเราตกร่องตกเหวนี่ยังขาหักได้ แต่ใจของเราล้มลุกคลุกคลานมาตลอด มันทุกข์ยากมาก ความที่มันทุกข์ยากเพราะมันไม่เคยทำ เรื่องของธรรมะ ธรรมะนี้เป็นของที่ละเอียดมาก ลึกซึ้งอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราไม่เข้าใจสภาวะแบบนั้นเลย เราศึกษาธรรม เราฟังครูบาอาจารย์เทศน์มาขนาดไหนก็แล้วแต่ ความคาดความหมายของกิเลส เพราะมันยังดิบอยู่ มันต้องคาดความหมาย...ไม่เป็นความอย่างที่เราคาดเราหมายหรอก เพราะเราคาดเราหมายนี่เรายังไม่เห็นตามความเป็นจริง

เราเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา เราจะกราบพระพุทธเจ้าด้วยความเต็มใจมาก ด้วยความเคารพนบนอบในหัวใจนะ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา ท่านรู้ได้อย่างไร แล้วเอามาสั่งสอนไว้ขนาดไหน ทั้งๆ ที่ของมีอยู่นี่ เรายังทำของเราไม่ได้ ทั้งๆ ที่ของมีอยู่ เราพยายามทำของเราขึ้นมา สิ่งที่เราทำของเราขึ้นมา เราพยายามกำหนดขึ้นมาให้ได้

สัจจะมี ถ้าเรามีสัจจะ ความเพียรของเราจะเกิดขึ้นมา สัจจะของเราตั้งให้มั่น เราจะนั่งสมาธิ เราจะเดินจงกรม เราจะทำขนาดไหน เราต้องมีสัจจะ สัจจะตั้งขึ้นไปแล้วทำให้ได้แบบที่ตั้งสัจจะไว้ ให้มันมากขึ้นไปเรื่อยๆ

เรานั่งสมาธิ เราไม่ใช่เอาเข็มนาฬิกา เราไม่ใช่ว่าต้องการเอาเวลา ครบเวลาแล้วเราจะเลิก สิ่งนี้ไม่จำเป็น เรานั่งขึ้นมา สัจจะตั้งไว้แล้วเรานั่งไป ผลจะเกิดไม่เกิดนั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเรา หน้าที่ของเราคือมีความเพียรอย่างเดียว ความเพียรเกิดขึ้นมากับเรา ความเพียรอันนี้จะชำระกิเลส

เราไม่มีความเพียร แต่เราอยากได้ผลไง เราอยากได้ผล เรามีความจินตนาการ เราต้องการผลอันนั้น ผลอันนั้นจะไม่เกิดกับเราเลย นี่กิเลสดิบๆ มันคิดอย่างนี้ คิดแต่ผล แล้วเหตุมันก็ไม่เกิดขึ้นมากับเรา ถ้าเหตุเกิดขึ้นมากับเรา มันก็เป็นเหตุของเรา เราสร้างของเราขึ้นมา แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานนะ ล้มลุกคลุกคลานเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะฟังธรรมแล้วไม่ได้ผล

มันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลเพราะตัณหาความทะยานอยากเราซ้อนเข้าไป เราซ้อนของเราขึ้นมา ซ้อนว่า “เราเห็นสภาวะแบบนั้นจะต้องทำได้” ดูสิ เวลาเราฟังธรรม เราจับ เรามีประเด็นขึ้นมาเลย เวลาเรานั่งของเรา ทำไมมันไม่เกิดขึ้นมา? นี่จากใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์ผ่านสภาวะสิ่งนั้นไป ของที่ว่าเรามองเห็น มองข้ามไป ไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย ครูบาอาจารย์จะจับสิ่งนั้นน่ะ

“ใจคึกใจคะนอง” การแสดงออกมาจากกิริยานั้นมันแสดงออกมาจากใจ ถ้าใจไม่คึกไม่คะนอง มันจะคิดออกมาได้อย่างไร มันจะแสดงออกมาเป็นคำพูด มันแสดงออกมาเป็นกิริยาท่าทาง มันออกมาจากไหน? ความไม่มีสติความพลั้งเผลอของเรา เราทำไปนี่มันแสดงออกมาถึงใจ ใจตัวนั้นมันไม่มีสติ ใจตัวนั้นมันมีความคึกคะนองของมัน มันถึงแสดงออกมาอย่างนั้น

นี่เราจับผิด เราดูใจของเราเข้ามาสภาวะแบบนั้น เราพยายามสร้างของเราขึ้นมา ทำของเราขึ้นมาได้ มันจะคึกมันจะคะนองขนาดไหน เราต้องเริ่มตั้งแต่อดนอน ผ่อนอาหาร เราต้องตั้งกติกากับตัวเราเอง ถ้าเราตั้งกติกากับตัวเราเอง เราเริ่มต่อสู้กับกิเลสของเรา สิ่งที่มันเป็นความดิบๆ เราจะเริ่มต่อสู้ให้มันแห้งไปได้ ให้มันจางไปจากใจของเรา ถ้ามันเริ่มจางไปจากใจของเรา เราพยายามต่อสู้เข้าไปขนาดไหน ต่อสู้เข้าไป สติสัมปชัญญะตั้งเข้าไป มันจะจางไป จางไป จนกว่าความชำนาญของเราไง

ถ้าเรามีความชำนาญ “ชำนาญในวสี” กำหนดคำบริกรรมขึ้นมา หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาที่ใจ ดูสภาวะของใจ เพราะธรรมนี้อยู่ที่ใจเท่านั้น เวลาใจทุกข์ ทุกข์มาก ทุกข์ประสาที่ว่ามันแบกรับสิ่งต่างๆ ไว้หนักภาระมาก สิ่งนี้หนักใจมากเลย แล้วคำบริกรรมขึ้นมามันเริ่มเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนกิริยาของมันออกไป อาการของใจ สิ่งที่เกิดขึ้นมา เรากำหนดพุทโธขนาดไหนก็แล้วแต่ มันจะเกิดเป็นภาพนิมิต เกิดเป็นความเห็นต่างๆ มันเป็นอาการของใจ

อาการของใจ สิ่งที่ว่า รับรู้สิ่งสภาวะแบบนั้น เราไล่ต้อนอาการนั้นเข้ามา อาการนั้นมันปล่อยวางอาการเข้ามา มันก็ต้องเป็นตัวมันเอง ปล่อยอาการเข้ามาคือปล่อยรูป ปล่อยรส ปล่อยกลิ่น ปล่อยเสียง ปล่อยสิ่งที่มันไปยึดเกาะ เกาะยึดนั้นน่ะ เพราะมันไม่เข้าใจ มันปล่อยเข้ามา ถ้ามันปล่อยเข้า ปล่อยเข้ามา เราก็ตั้งสติของเราไว้ ปล่อยสภาวะแบบนั้น ปล่อย ปล่อยแล้วดูเหตุ เหตุมันปล่อยเพราะเหตุใด เหตุมันปล่อยเพราะเรามีสติ เราเห็นโทษของมัน ถ้ายึดสิ่งใด คิดสิ่งใด จำสภาวะสิ่งนั้น มันไม่เคยเป็นผลดีกับใจดวงนี้เลย เกาะสิ่งใด คิดสิ่งใดสภาวะแบบนั้น มันมีแต่ความเร่าร้อน

เราไม่ต้องใช้ว่า เราจะต้องรู้สิ่งนี้ทั้งหมดมันถึงจะปล่อยวางได้ ถ้าเรามีสติ กำลังเราไม่พอ เรากำหนดพุทโธๆ มันก็ปล่อยวางได้ นี่หัดปล่อยอย่างนี้ให้เห็นโทษของมัน ถ้าเราเห็นโทษของมัน มันจะปล่อยขาดนะ ปล่อยขาดจากรูป รส กลิ่น เสียง ถ้ามันปล่อยขาดจากรูป รส กลิ่น เสียง นี่เป็นกัลยาณปุถุชน

ถ้ากัลยาณปุถุชน เริ่มยกขึ้นไง ยกขึ้นค้นคว้าหา หากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม มันจะเกิดสภาวะของปัญญา ขั้นของปัญญา ความคิดต่างๆ ของเราที่เราคิด กิเลสดิบๆ มันคิดประสาโลก คิดธรรมะมันก็เป็นเรื่องของโลก เพราะมันเป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะ คิดขนาดไหนมันจะออกไปเรื่องของโลกทั้งหมดเลย คิดเทียบออกมาไง เห็นไหม สวรรค์มันก็อยู่ในพระไตรปิฎกซะ นรกมันก็เป็นชื่อของนรกซะ นี่มันไม่เห็นตามความเป็นจริงไง มันคิดเทียบคิดเคียงไป

แต่พอจิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา จิตมันจะรู้สภาวะตามความเป็นจริงของมัน เวลาจิตสงบขึ้นมา มันสามารถเห็นสิ่งนั้นก็ได้ถ้าคนมีอำนาจวาสนา ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนา สงบเข้ามานี่มันเป็นความรู้ของใจไง มันไม่ใช่นรกสวรรค์ในตำรา มันจะเป็นนรกสวรรค์ในหัวใจของเรา หัวใจเราสงบขึ้นมา มันมีความสุขขึ้นมา เวลามันทุกข์ร้อน มันตกนรกทั้งเป็นเหมือนสภาวะแบบนั้น นี้เป็นการยืนยันกับใจ แล้วถ้ายกขึ้นวิปัสสนาขึ้นมาได้ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งนี้ถ้าเราวิปัสสนานะ เราต้องแยกแยะใคร่ครวญออกไป มันจับต้องสิ่งนี้ได้ ขณะจับต้องสิ่งนี้ได้จะมีความตื่นเต้นกับใจมาก

ถ้าใจเห็นสภาวะแบบนี้ ขั้นของปัญญามันจะเกิด สิ่งที่เกิดปัญญาขึ้นมาเพราะเราเห็นสภาวะสิ่งนี้เป็นจริง สิ่งที่เป็นสภาวะจริงขึ้นมา เราพิจารณาไป ถ้าเราพิจารณาสิ่งนี้ มันปล่อยวางเข้ามา ถ้ามันปล่อยวาง มันจะเกิดกับดักของกิเลสไง กิเลสมันจะดักสิ่งนี้ไว้ ดักสร้างสภาวะไง ถ้าเราพิจารณาจนปล่อยวาง ถ้ามันปล่อยวางแล้วมันไม่มีเหตุมีผล เวลามันเสื่อม มันจะเสื่อม พอมันปล่อยวางเราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เราเข้าไปติดกับดัก กิเลสมันดักไว้

นี่เวลากิเลสมันดิบๆ เราต้องต่อสู้ กับมัน ต่อสู้เพื่อให้มีโอกาส ให้เรามีโอกาสได้จิตนี้สงบ ได้ผ่อนคลายความทุกข์ร้อนของใจ เราก็มีความสุขขึ้นมาแล้ว เราเข้าใจสภาวะสิ่งนั้น ถ้าติดสิ่งนี้ มันก็ติด มันก็วนเวียนอยู่ในกิเลสดิบๆ สภาวะนั้น นี่สภาวะที่เจริญแล้วเสื่อมไง เดี๋ยวไม้มันก็สด เดี๋ยวไม้มันก็แห้ง สภาวะอย่างนี้มันจะทรงสถานะของมันอยู่สภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเราใช้ขั้นของปัญญาวิปัสสนาขึ้นไป เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมก็เหมือนกัน มันพิจารณาเข้าไปแล้ว มันจะปล่อยวางสิ่งนี้

ถ้าปล่อยวางสิ่งนี้ มันติดกับดักเพราะมันเวิ้งว้าง เราไม่เคยเห็นสภาวะแบบนั้น เราว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง เราตกไปในกับดักของกิเลส มันดักเราไว้นะ แล้วมันก็เริ่มเสื่อมไป เสื่อมไป จนล้มลุกคลุกคลานนะ ล้มลุกคลุกคลานว่า “ทำไมเราพิจารณาของเราแล้ว มันตามความเป็นจริงแล้ว มันปล่อยวางแล้ว ทำไมมันเสื่อมไป” จนน้อยเนื้อต่ำใจ จนจะทำอีก จนเริ่มประพฤติปฏิบัติใหม่ มันก็พยายามก้าวเดินของมันไป ล้มลุกคลุกคลานสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราวิปัสสนา วิปัสสนาโดยถูกทางมันก็ปล่อยวางเหมือนกัน พอมันปล่อยวางเหมือนกัน มันตกเข้าไปในกับดัก ถูกก็เข้ากับดัก ผิดก็เข้ากับดัก กับดักของกิเลส เพราะมันไม่สมุจเฉทปหาน ถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันจะพ้นออกไปจากกับดักของกิเลส

มันทำกับดัก ดักกับอันนี้ ทำลายกับอันนี้ออกไปนะ มันจะพ้นออกไป แต่ถ้ามันเข้าไปตกในกับ มันปล่อยวางแล้วมันก็เทียบเคียง สร้างความเห็น ความเป็นไปของใจ ใจจะเข้าสภาวธรรม เพราะสภาวธรรมมันเป็นความว่าง ความปล่อยวางมีความสุข อันนี้มันก็เป็นความสุขนะ เป็นความสุขมันเป็นอาการของใจ ใจเกิดสภาวะแบบนั้น

แต่มันก็ลังเลสงสัย มันจะสงสัยในตัวมันเอง สงสัยว่าสิ่งนี้มันคืออะไร นี่มันไม่มีคำตอบ มันไม่สมบูรณ์หรอก แต่มันก็เข้าใจไง เพราะมันตกเข้าไปในกับดัก กิเลส ธรรมในกิเลสไง กิเลสนี้เป็นคนสร้างสถานะของธรรมขึ้นมา สถานะของความว่าง ความว่างในอำนาจของกิเลส ธรรมอยู่ใต้อำนาจของกิเลสมันก็มีความลังเลสงสัย แต่เพราะเราไม่เข้าใจ แล้วเราตกไปในกับอันนั้น เราก็ว่าไป

จากว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี คาดหมาย ใจนี่คาดหมายไปเรื่อยๆ คาดหมายว่าอันนั้นเป็นผล นี้เป็นกับดักของกิเลสนะ กิเลสมันดักสิ่งนี้ไว้ แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ เราว่านี้เป็นตามความเป็นจริง เราเห็นของเราขึ้นมาตามความเป็นจริง...มันเป็นธรรม ธรรมใต้อำนาจของกิเลส ไม่ใช่ธรรมตาม “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะเห็นสภาวะไม่เป็นแบบนั้น มันพิจารณากายซ้ำไง พอมันว่างขนาดไหนเราก็พิจารณาตรงนี้ แล้วเราไม่ก้าวเดิน ไม่ก้าวเดินว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี อารมณ์อย่างนี้เป็นโสดาบัน อารมณ์อย่างนี้เป็นอนาคามี นี่มันเป็นการสร้างภาพ กิเลสมันร้ายมาก

กิเลสในใจของเรา เราคิดว่าการประพฤติปฏิบัตินี้เพื่อจะเป็นการต่อสู้กับกิเลส จะเป็นการทำลายกิเลสให้กิเลสออกไปจากใจ กิเลสนี้มันกลับพลิกแพลงไง มันเอาธรรม สร้างสถานะของธรรมว่าอันนี้เป็นธรรม หลอกเราอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็ก้าวเดินสิ่งนั้นไป...นี่จะไม่สมความปรารถนา มันจะเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม แต่เราต้องรักษาสถานะแบบนั้น มันยังไม่ถึงที่สุด ถ้ามันถึงที่สุดนะ มันจะเสื่อมของมันออกไปทั้งหมดเลย เราจะไม่มีสิ่งใดเหลือไว้ในหัวใจเลย มันจะกลับ มันจะผ่อน เสื่อมออกมาหมด ถึงเวลาแล้วมันเสื่อมออกมา

ครูบาอาจารย์ถึงได้พยายามชี้นำไง พยายามรื้อสถานะของใจ อาการของใจอย่างนี้ เราจะนอนใจไม่ได้ เราจะต้องยกขึ้นวิปัสสนา ต้องใช้ความรอบคอบ ความรอบคอบของการประพฤติปฏิบัติ เราต้องหมั่นแยกหมั่นแยะ แล้วอย่าส่งไปอนาคต มันจะเป็นการส่งไปอนาคต เห็นไหม ต้องการความมักง่าย ต้องการความสะดวกสบาย ตั้งแต่ว่าขั้น ๑ ขั้น ๒ ขั้น ๓ ขั้น ๔ มันจะสร้างสถานะเป็นสภาวะแบบนั้น

มันไม่ต้องก้าวเดินส่งไปในอดีต ไม่ต้องก้าวส่งไปในอนาคต มันให้อยู่ในปัจจุบันนี้ พิจารณากายแล้ว ซ้ำแล้วก็พิจารณากายซ้ำอีก เพราะสิ่งที่กิเลสมันมีอยู่นี่ กับดักของมัน มันดักของเราไว้ แล้วมันก็สร้างกลไกของมัน สร้างอาการของใจของมันขึ้นมาให้เราเข้าใจตามสภาวะแบบนั้น

สิ่งนี้มันเป็นความจริง ทำไมเราสงสัยล่ะ มันจะมีความสงสัยเพราะมันไม่สมุจเฉท ถ้าไม่สมุจเฉท เห็นไหม วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่สังโยชน์ ๓ ตัวมันจะขาดไป ความวิจิกิจฉาสิ่งนั้นจะไม่มี มันจะเป็นตามความเป็นจริง เหมือนกับเราเปิดประตูเข้าบ้านไป เราเข้าไปในบ้านของเรา เราจะไปสงสัยสิ่งใดในบ้านของเรา เพราะเราเปิดประตูของเราเข้าไปเอง แต่ขณะที่เราไม่ได้เปิดประตู เราเดินรอบบ้านของเรา เราใคร่ครวญว่าในบ้านของเรา เครื่องยนต์กลไกสิ่งต่างๆ จะวางไว้ตรงไหน มันก็คิดของมัน จินตนาการของมันสภาวะแบบนั้น มันจะจินตนาการคาดหมายไปตลอดไป แล้วก็ว่าเป็นของเราๆ นะ มันก็เดินวนอยู่ในบ้านนั้นน่ะ นี่กิเลสมันดักไว้อย่างนี้

สิ่งที่เป็นนามธรรม เวลาจิตมันอยู่สภาวะมันเกาะเกี่ยวกันอย่างนั้น มันจะไปไหนไม่ได้ มันจะวนเวียนอยู่ในหลักของใจ วนอยู่ตรงนั้นน่ะ เราถึงต้องพลิกแพลง เราต้องใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ความยากง่ายมันยากตรงนี้ ยากตรงเริ่มต้น เริ่มต้นมันเข้าถูกทางไม่ได้ มันยังเข้าไม่ถูกทาง ถ้ามันเข้าถูกทาง เห็นไหม เข้ากระแส ถ้าเข้ากระแส เราประพฤติปฏิบัติไป กระแสจะส่งขึ้นไป สูงขึ้นไปๆ แล้วจะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าไม่เข้ากระแส มันก็พาวนๆ พาวนแล้วถึงเวลาแล้วมันก็จะเสื่อม จิตนี้ต้องเสื่อมแน่นอนเพราะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมทั้งหลายต้องเสื่อมตลอดไป มันจะต้องเป็นอนัตตา ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น

สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันขณะที่ว่ามันเจริญอยู่นี้ เราถึงจะต้องมีความรอบคอบ ต้องจับตรงนี้ จับกาย เวทนา จิต ธรรม แล้ววิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตรงนี้ อย่าก้าวเดินไป ก้าวเดินไปข้างหน้าว่าสิ่งนี้ผ่าน ผ่านขึ้นมาแล้ว ผ่านขั้นตอนของเราขึ้นไป แล้วก็ไปอนาคต สภาวะแบบนั้นจะไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย เป็นการกิเลสมันชักนำไป เป็นธรรมของกิเลส กิเลสสร้างสถานะของธรรมขึ้นมาให้เราเชื่อ แล้วเราอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้มาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่มีต้นไม่มีปลาย เราก็ต้องตามสภาวะแบบนั้น สภาวะของกิเลสนี่ครอบงำเราไป

ถ้ากิเลสครอบงำเราไป เราก็จะต้องล้มลุกคลุกคลาน สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลานเพราะเราไม่ยืนอยู่บนปัจจุบัน ถ้าเรายืนอยู่บนปัจจุบันนะ สิ่งใดจะเกิดขึ้นให้มันเกิดไป เราเป็นคนดูต่างหาก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอาการของใจทั้งหมด ใจนี้มันพลิกแพลงตลอดไป แล้วมันซุกซ่อนนะ กิเลสมันบังสิ่งนี้อยู่ แล้วมันซุกซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ มันก็เล่ห์เหลี่ยมของมัน ให้เราเห็นสภาวะว่าปล่อยวาง ปล่อยวาง มันวางเพราะมันหลบไง มันหลบอยู่ในหัวใจ มันหลบแล้วมันก็สร้างสถานะของมันขึ้นมา นี่มันรักษาพื้นที่ รักษาหัวใจนี้เป็นที่อยู่ของมัน มันก็อยู่สภาวะแบบนั้นตลอดไป

ถ้าเราพลาดนะ เราพลาดเราจะเสียเวลา อย่างน้อยเสียเวลา อย่างมากทำให้เราหมดกำลังใจ เวลามันเสื่อมขึ้นไปนี่เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ เราประพฤติปฏิบัติ คนทำคุณงามความดีทำไมไม่ได้ความดีตอบแทน เราทำดีขนาดนี้ ความดีของเราทำไมมันถึงเสื่อมอย่างนี้ เวลามันเสื่อม มันเสื่อมสภาวะแบบนั้น แต่ทุกคนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะมีอุปสรรคสภาวะแบบนี้เกิดมาตลอด สิ่งนี้เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเพราะเราไม่เข้าใจ เกิดขึ้นมาเพราะว่ากิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่า ความผิดพลาดนี่จะเป็นครู ครูของเรา ความผิดพลาด เราจะไม่ทำสิ่งนั้น มันก็มีความตั้งใจขึ้นมา มันเข็ดไง เวลาพลาดขึ้นมาแล้วมันเข็ดมากนะ

ทุ่มนะ เวลางานของโลก เวลาเขาแบกหามขึ้นมา จะทำงานขนาดไหน มันก็ใช้กำลังของร่างกาย กำลังของผู้บริหารก็ใช้ความคิดบ้าง แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันใช้ทั้งหมดนะ แรงงานสมอง โลกเขาว่าแรงงานสมอง ผู้ที่บริหารนี้ใช้สมอง ใคร่ครวญต่างๆ ของเรานี่แรงงานใจ ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมา ใจมันจะยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร

เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เวลาภาวนามยปัญญามันเกิด เราจะเห็นตามความเป็นจริงว่าแรงงานใจ ใจทำงานมันทุกข์ยากมาก แล้วมันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันยิ่งล้มลุกคลุกคลานใหญ่ เราถึงต้องมีศีล เราถึงต้องมีขอบเขตบังคับไว้ แล้วเวลาเราเดินปัญญา ธรรมมันก้าวเดินไป เดินไปในหนทางนั้น หนทางของธรรมที่มันจะก้าวเดินไป เจริญแล้วเสื่อมขนาดไหนเราก็เริ่มต้นได้ เราก็ทำของเราได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมา ถึงว่า เป็นพุทธภูมิ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ความทุกข์อันที่วิกฤตอุกฤษฏ์ขนาดไหน ไม่มีใครทำได้เท่ากับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเจริญแล้วเสื่อมของเรา มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นแค่ขี้เล็บขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ถ้าเราสร้างกำลังใจของเราอย่างนี้ เราจะเริ่มก้าวเดินนะ เสื่อมให้มันเสื่อมไป ความผิดพลาดขนาดไหนให้มันเป็นไป แล้วเราก็ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาทำความสงบของใจให้ได้ สร้างพลังงานของเราขึ้นมา

“อาหาร” ถ้าเราหาสิ่งที่ประกอบอาหารมา เราประกอบไม่เป็น บางอย่างมันก็เน่าเสียไป บางอย่างมันก็ใช้เวลาหน่อย อย่างเช่น น้ำตาล อย่างเช่น น้ำปลา มันจะเน่าเสียไปได้ช้า แต่ถ้าเป็นผักสดมันจะเน่าเสียได้เร็ว นี้ก็เหมือนกัน ในการที่ว่าเราประกอบความเพียรของเรา มันไม่สมควร มันไม่สุกขึ้นมา ถ้าสิ่งใดเราประกอบเป็นอาหารขึ้นมา อาหารนั้นเราเก็บไว้ มันสุกแล้วเราจะเก็บไว้ได้นานต่อไป แล้วถ้าเกิดเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราทำให้สุกขึ้นมา มันจะไม่เน่าเสียเลย มันจะเป็นอกุปปธรรมไง สิ่งที่ไม่เสื่อม มันจะไม่เสื่อมเพราะมันมีเหตุมีผล มันจะไม่มีเหตุมีผลเพราะว่ามันไม่มรรคคะ มันไม่ตามความเป็นจริง นี่ขั้นของปัญญา

ถึงต้องย้อนกลับมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามทำของเราย้อนกลับเข้ามา พิจารณากายของเรา หรือพิจารณาจิตของเรา จิตของเรายังมีความทุกข์อยู่ จิตของเรายังเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้อยู่ สิ่งที่มันเกาะเกี่ยวคือความลังเลสงสัย ถ้ามันมีความลังเลสงสัย สงสัยในเรื่องของธรรม ถ้ามันยังสงสัยในเรื่องของธรรม มันไม่เป็นความเป็นจริง ถ้ามันวิปัสสนาจนมันปล่อยนะ มันปล่อย ปล่อยจนมันขาด สิ่งที่กิเลสมันขาดออกไปจากใจ มันไม่ใช่ความลังเลสงสัย มันเป็นความเห็นซึ่งๆ หน้า มันเป็นความกระทบของใจ มันเห็นกิเลสขาดออกไปจากใจ

เห็นไหม ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ทุกข์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ทุกข์ มันจะปล่อยวางตามความเป็นจริง เห็นสภาวะหลุดออกไปตามความเป็นจริง สังโยชน์นี้ขาดออกไปเลย นี่สิ่งนี้ต่างหากถึงเป็นผลงานของใจ ถ้าใจวิปัสสนาถึงสิ่งนี้ กับดักอันนี้เราทำลายกับดัก ถ้าเราไม่ทำลายกับดักสิ่งนี้นะ กิเลสมันสร้างกับดักไว้

การประพฤติปฏิบัติ เราอย่าเข้าใจว่า เราประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะเป็นคุณงามความดีตลอดไป การประพฤติปฏิบัติ เพราะธรรม คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนี้เป็นสภาวะความเป็นจริง เป็นกลาง สิ่งที่เป็นกลาง “สภาวะธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้คือธรรมทั้งหมด” นั้นมันเป็นกฎทฤษฎีที่ตามความเป็นจริง ธรรมชาตินี้เคลื่อนตัวไปตลอด สภาวะใจของเราก็เคลื่อนตัวไปตลอด แล้วกิเลสมันอาศัยสิ่งที่มีชีวิตไง สภาวะของธรรมชาติ เห็นไหม ธาตุทั้ง ๔ เขาไม่มีชีวิต เขาเป็นไปตามโลก โลกแปรสภาพไปอย่างไรเขาก็แปรสภาพไปอย่างนั้นตามแต่โลกเขา โลกเจริญแล้วเสื่อม สภาวะแบบนี้ตลอดไป

ธาตุ ๔ ของเราก็เหมือนกัน ร่างกายของเรามี ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกับธรรมชาติอันนั้น แต่หัวใจล่ะ หัวใจเป็นธาตุรู้นี้สำคัญกว่า ธาตุรู้อันนี้ถ้าโดนกิเลสปกครองอยู่ มันก็เป็นเรื่องของโลกตลอดไป แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้ามาจนมันปล่อยวาง จนมันขาดออกไป สภาวธรรมอันนี้มันถึงเป็นธรรมของใจดวงนั้น มันไม่ใช่เป็นธรรมชาติสิ่งที่เป็นภายนอก มันเป็นธรรมชาติของใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นรู้สภาวะตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาจนปล่อยวาง ขาดออกไปตามความเป็นจริง นั่นน่ะ ใจดวงนั้นต่างหากถึงจะไม่เสื่อม

สิ่งที่ไม่เสื่อมนี้เป็นอกุปปธรรม รู้ตามความเป็นจริง นี้คือสภาวะตามความเป็นจริง แล้วพยายามก้าวเดินต่อไป สิ่งที่ก้าวเดินต่อไป มันเริ่มต้นเข้าไป กับดักอันนี้ไม่ค่อยรุนแรง มันจะมีกับดักไปทุกชั้นนะ กับดักคือว่าถ้าสังโยชน์มันขาด นี่คือกับที่มันดักใจไว้ สิ่งนี้มันมัดใจกับกิเลส กิเลสมีอยู่ในหัวใจ แล้วมันเป็นสภาวะของกิเลสนี้มันคือตัวสังโยชน์ มันเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วมันอยู่สิ่งนี้อยู่ที่ใจ อยู่ที่ใจ เห็นไหม

จิตสำนึก จิตใต้สำนึก จิตก่อนสำนึก สิ่งนี้มันลึกลับมหัศจรรย์อยู่ในใจนั้นมาก ในใจของเรามันมีความลึกลับมหัศจรรย์ งานของเราถึงเป็นงานผู้ที่ประเสริฐ งานของโลกเขาทำขนาดไหนมันก็เป็นไปสภาวะแบบนั้น ผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีวะประสบความสำเร็จก็มี ล้มลุกคลุกคลานตามกระแสโลกก็มี ทำขนาดไหนเขาก็ดำรงชีวิตได้ เพราะว่าเกิดขึ้นมาดำรงชีวิตไปจะมีความสุขความทุกข์ ถึงที่สุดก็ต้องตายไป

แต่เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเรา เราสละสิ่งนั้นออกมา แล้วเราค้นคว้าสิ่งที่ว่าคนเขามองไม่เห็น ดูอย่างเทวดาจะมาฟังธรรม จะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ แล้วสภาวธรรมอย่างนี้ เรารู้ขึ้นมาจากใจของเรา มันเป็นความละเอียดในหัวใจ สิ่งที่หัวใจละเอียด งานอันนี้ต่างหากเป็นงานอันประเสริฐ

เวลาทุกข์ร้อนขนาดไหน มันก็เป็นความทุกข์ร้อนของใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้พิจารณาเข้ามา สิ่งนี้มันขาดออกไป เห็นนะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา มันจะไม่ทุกข์ร้อนไปกับเขา มันวางไว้ไง เห็นสิ่งใดก็อยู่อย่างนั้น รับรู้แล้วไม่ไปตามเขา ขณะที่ว่าเป็นกัลยาณปุถุชนมันยังปล่อยวาง รูป รส กลิ่น เสียง ไว้ตามความเป็นจริงแล้ว กำหนดหัวใจ กำหนดใจขึ้นมา กำหนดได้ง่าย ทำสมาธิได้ง่าย เพราะเรารักษาสมาธินี้ ยกขึ้นวิปัสสนาจนเห็นความเป็นจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

“ดับ” เห็นไหม ขันธ์มันเกิดจากใจ สัญญาเกิดจากใจ สังขารเกิดจากใจ เกิดจากใจทั้งหมด แล้วมันดับ ใจนี้เข้าไปรู้เรื่องกาย เห็นสภาวะกาย พิจารณากายจนมันปล่อย จนมันขาด สิ่งที่ขาด แล้วเราก็ก้าวเดินขึ้นมาภายใน สิ่งที่เป็นภายใน เห็นไหม ทำความสงบของใจ ใจนี้ต้องมีความสงบเป็นพื้นฐาน แล้วยกขึ้นวิปัสสนา สภาวะของจิตที่มันข้องเกี่ยวอยู่ อุปาทานของใจจะข้องเกี่ยวอยู่กับสภาวะแบบนี้ สภาวะของร่างกาย ความเป็นอยู่ นี่เวลาเราเหนื่อย เวลาเราทุกข์ยาก จิตมันก็เกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ แล้วมันก็เอาสิ่งนี้มาเป็นอารมณ์ของมันอีกชั้นหนึ่ง

สิ่งใดที่ไม่พอใจ สิ่งใดที่ขัดใจ แล้วเราก็เอาสิ่งที่อารมณ์ที่ขัดใจนี้เป็นตัวตั้ง แล้วเราก็คิดเรื่องของขัดใจเป็นดาบ ๒ ดาบ ๓ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟาดฟันจิตของเราให้มันมีแต่ความทุกข์ร้อนไง เราถึงต้องทำความสงบของใจเพื่อจะไม่ให้มีดาบ ๒ ดาบ ๓ ซ้ำเข้ามาให้หัวใจเราทุกข์ร้อนไป เราไม่ทุกข์ร้อน ให้ใจมันสงบขึ้นมา ไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งนั้น แล้วเราจะจับตัวที่ว่ามันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นให้มาเป็นต้นทุน ต้นทุนในการวิปัสสนา ให้สภาวะของใจ ให้เห็นว่าธาตุนี้ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามความเป็นจริงของเขา

เขาเป็นความจริงอย่างนั้นแน่นอน ร่างกายของเรามันประกอบด้วยธาตุ ๔ แต่มันมีชีวิตนี้ ไออุ่นนี้รักษาไว้ มันถึงยังเป็นเราอยู่ตลอดไป สิ่งที่เป็นเรา เราเอามาใคร่ครวญสิ่งนี้ให้ใจรู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริง ถ้าใจรู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริง รู้ เห็นสภาวะตามความเป็นจริง แล้วมันก็จะปล่อยวางสิ่งนี้ไว้ตามความเป็นจริง สิ่งนี้ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่สิ่งนี้ อาศัยกันอยู่เพราะมีกรรม กรรมเป็นกรรมดี กรรมดีเพราะเรายกขึ้นวิปัสสนา กรรมดีเพราะเราใช้สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน เป็นงานไง เอากายกับใจนี้เป็นงาน

งานของโลกเขาเป็นงานแสวงหาเรื่องของโลก งานของเรา งานของเราคือว่าทำคุณงามความดี สร้างสิ่งถาวรในศาสนา ว่าสิ่งนั้นเป็นงานๆ นั้นก็เป็นงานบุญ เป็นงานกุศล เป็นงานจากภายนอก แต่งานของเรา งานในหัวใจกับงานในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ใจกับธาตุ สิ่งที่อาศัยกันอยู่นี้ เราเอาสิ่งนี้เป็นเนื้องาน

สิ่งที่เป็นเนื้องาน เห็นไหม จับสิ่งนี้ให้ได้ ทำความสงบของใจแล้วดูความเป็นไปของมัน เราตั้งนะ ถ้าพิจารณากาย มันจะคืนสภาวะของมัน น้ำจะเป็นน้ำ ดินจะเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันคลายตัวออกไป เราเห็นสภาวะแบบนั้นหลายครั้งเข้า หลายครั้งเข้า ถ้าเราเห็นสภาวะ นี่งานเกิดขึ้นมาปัญญามันก็เกิด ถ้างานของเราไม่เกิด ปัญญาของเรามันก็ล้มลุกคลุกคลาน

สิ่งที่ล้มลุกคลุกคลาน นี่เข้าไปในกับดัก กับดักอันนี้ไม่รุนแรง มันจะเดินไปตามสภาวะของมัน เพราะกับดักอันแรกมันเป็นการฝึกฝน กับดักอันแรกทำให้เราเข้าใจสภาวะแบบนั้น ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน เราผ่านจากกับดักอันแรกขึ้นมาได้ เราจะพ้น เราเอาอันนั้นเป็นพื้นฐาน แล้วเอาสิ่งนี้มาใคร่ครวญกับสภาวะตามความเป็นจริง ถ้ามันเกิดเป็นกับดัก คือว่ามันปล่อยวางขนาดไหน เราจะเชื่อ เราก็ไม่เชื่อ เราทำของเราตลอดไป

จนถึงที่สุดมันจะปล่อยวางกันนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต จะแยกออกจากกัน กายกับจิตจะแยกออกจากกันโดยสภาวะตามความเป็นจริงของเขา ธรรมะเป็นเรื่องจริงอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมจากใจของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นสภาวะแบบนี้เป็นความจริง จริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันเป็นความจริงแน่นอน แต่เพราะเราศึกษาธรรมแล้วเราประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันอยู่ในใจของเรา เราก็ว่าเรารู้ธรรม

เรารู้ธรรม เรารู้โดยกิเลสมันพารู้ด้วย มันรู้โดยสังโยชน์นี้มันยังผูกมัดอยู่ด้วย เพราะสังโยชน์มันไม่ได้ขาดออกไปจากใจ มันไม่ขาดออกไปจากใจ เราจะเห็นธรรมสภาวะแบบนั้นได้อย่างไรในเมื่อกิเลสมันบังตาไว้ สังโยชน์มันบังตาไว้ เราก็ต้องเห็นในสิ่งที่กิเลสมันบังตาไว้ มันบังตาเราขนาดไหนเราก็รู้ไปขนาดนั้น มันถึงไม่เป็นสภาวธรรมของใจดวงนั้น มันไม่เป็นสภาวธรรมของใจดวงนั้นเพราะมันไม่เกิดการใคร่ครวญ มันไม่เกิดปัญญาญาณ

สิ่งที่เป็นปัญญาญาณมันใคร่ครวญสิ่งนี้ มันพิจารณาบ่อยครั้งๆ จนซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็เป็นสภาวะความจริงอย่างนี้ แล้วเห็นสภาวะความเป็นจริงอย่างนี้ จนใจนั้นยอมรับความจริงอย่างนี้ มันถึงจะปล่อยวางขาดออกไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต เวิ้งว้างมาก...ติดตรงนี้ก็ได้ ถ้าติดตรงนี้มันก็จะไม่ก้าวเดินต่อไป ถ้าไม่ติดตรงนี้ เห็นไหม ไม่ติด มันก็จะยกขึ้นไปได้ กับดักอันนี้มันจะเป็นกับดักที่รุนแรงมาก สิ่งที่รุนแรงเพราะมันจะไม่ยกขึ้นวิปัสสนา จะติดความสุขอันนี้ ว่างอยู่อย่างนั้นตลอดไป สิ่งนี้ว่าง รักษาใจอยู่ นั้นน่ะ กิเลสมันพารักษา

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะไม่รู้เลยว่านี้กิเลสรักษา เพราะมันเป็นความสุข มันเป็นความว่างอย่างยิ่ง ความว่างอย่างยิ่งเพราะใจนี้มันปล่อยวางกายมาแล้ว แล้วมันก็ไปอยู่ในตัวของมันเอง นี้คือตัวจิต สิ่งที่ตัวจิตนี้ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราพยายามยกขึ้นนะ เราศึกษาธรรมมา มรรค ๔ ผล ๔ สิ่งนี้มันจะเตือนใจเรา ถ้าเตือนใจว่างานของเรายังมีอยู่ สิ่งที่ยังมีอยู่ เราจะต้องทำความสงบของใจให้ลึกเข้าไป

จิตนี้ว่าง ว่างเพราะมันปล่อยวางกิเลสเข้ามา แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ คือพลังงานมันจะเกิดไง ถ้าเรามีพลังงานตัวนี้ขึ้นมา แล้วเราใช้พลังงานนี้ใคร่ครวญ ถ้าใคร่ครวญ ข่ายของปัญญากางออกไป ถ้าข่ายของปัญญาเรากางออกไป เราพยายามค้นคว้าของเราขึ้นมา ค้นคว้าของเราให้ได้ ถ้าค้นคว้าของเราได้ เวลาเรดาร์ เวลาเขาจับสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในคลื่นของเรดาร์ มันจะเห็นสิ่งนั้น เป้าหมายสิ่งนั้น

นี้ก็เหมือนกัน ข่ายของปัญญาเหมือนกับเรดาร์ เราค้นคว้า เราค้นหาสิ่งที่ว่ามันเป็นกิเลสในหัวใจของเรา มันเป็นนามธรรม มันละเอียดลึกซึ้ง แล้วมันซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา งานของเราคืองานค้นคว้าใจของเราเอง ถ้าเราค้นคว้าใจของเราเองขึ้นมา เราจะเข้าไปจับต้องกามราคะได้ สิ่งที่เป็นกามราคะนี้ ถ้าพิจารณาจิตนี้ มันเป็นขันธ์อันละเอียดอยู่กับจิตนั้น

ถ้าพิจารณากายนะ สิ่งนี้เป็นอสุภะ สิ่งที่ว่าเป็นอสุภะข้างนอก อสุภะที่เริ่มต้นเข้ามา เราเห็นมันเป็นความเปลี่ยนแปลง ความเสื่อมสภาพของกายเท่านั้น แต่ถ้าเห็นอสุภะจากภายใน มันจะเห็นจากจิต จากภายในอันนั้น นี่มันจะเป็นอสุภะนะ มันเป็นความเสื่อมสภาพ มันเป็นความเปื่อยเน่าของร่างกายนั้น ร่างกายนั้นจะเปื่อยเน่า ถ้ามีสติ ถ้ามีสัมมาสมาธิจับสิ่งนี้ได้ มันจะตั้งสภาวะสิ่งนี้แล้วใคร่ครวญแยกแยะออกไป ถ้ามันไม่มีสติ มันจับไม่ได้ มันจะล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้น มันก็ต้องตั้งสติเข้ามา แล้วทำความสงบของใจให้เป็นพื้นฐาน

พลังงาน สิ่งที่เป็นพลังงาน เดี๋ยวนี้โลกเจริญขึ้นมา เรื่องของพลังงานนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรื่องพลังงานจะเป็นเรื่องที่ว่า เริ่มต้นจะทำอะไรก็ต้องใช้พลังงานเป็นพื้นฐาน จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีกำลังของสัมมาสมาธิ มันเป็นการคาดการหมาย แล้วกับดักอันนี้มันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์มาก มันจะสร้างสถานะให้เห็นสภาวะ สภาวะหลงทางไปกับกับดักอันนี้

ถ้าเราหลงไปในกับดักอันนี้ “มันเจอธรรมะว่าง ว่าง สิ่งนี้ว่างหมด พิจารณาแล้วว่าง” เป็นความว่างของอะไร? เป็นความว่างให้เราก้มหัวอยู่ในอำนาจของกิเลสอันนั้น ถ้าเราก้มหัวอยู่ในอำนาจของกิเลสอันนั้น เวลามันเสื่อม มันคลายตัวออกมา มันก็เหมือนเก่า มันเหมือนเก่าเพราะมันไม่สามารถตัดปฏิฆะ กามราคะออกไปจากใจได้ ถ้ามันไม่ตัดปฏิฆะ จิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตมันสงบขึ้นมานะ อะไรมันไปกระเทือน มันจะมีความสะกิดใจมาก

สิ่งที่สะกิดใจไง เวลาใจที่มันสงบ มันจะรับรู้สิ่งใดได้ไวมาก สิ่งที่เป็นความรู้กระทบกระเทือนใจ ใจจะออกรับรู้สิ่งนั้น แล้วมันจะมีอาการไม่พอใจต่างๆ ไม่พอใจนั้นก็เป็นความทุกข์ ไม่พอใจในการประพฤติปฏิบัติของเรา ไม่พอใจในผลงานของเรา มันก็เป็นความไม่พอใจ นี่มันขัดอกขัดใจอยู่สภาวะแบบนั้นเข้ากับกับดักของกิเลส กิเลสมันดักไว้ เปิดข่ายไว้อย่างมหาศาลเลย แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่สภาวะแบบนี้ นี่อำนาจของกิเลส

อำนาจของกามราคะเป็นสิ่งที่ว่ารุนแรงมาก เราเกิดมาโดยสัญชาตญาณ โดยสัญชาตญาณนี่มันติดมาโดยธรรมชาติเลย ฝ่ายตรงข้าม ระหว่างตรงข้ามกัน ของคู่นี้เกิดมาโดยธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นคู่กันมา โลกสร้างมาแบบนั้น จิตอาศัยสิ่งนี้เกิดไง เขาว่า “สร้างโลก สร้างโลก”

เวลาทำลายโลก ทำลายโลกคือทำลายกามราคะ เรื่องของโลกจะเกิดขึ้นมาจากใจดวงนี้ไม่ได้เลย สิ่งนี้มันเป็นเรื่องออกไป พรหมจรรย์เป็นหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวคือทำลายของที่เป็นของคู่ ระหว่างหญิงกับชาย ถ้าหญิงกับชายเจอกันสภาวะแบบไหน มันเป็นเรื่องของคู่กันไปโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราทำลายแล้วนี่เป็นพรหมจรรย์

สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ ใจจะปล่อยสิ่งนี้เข้ามาเป็นธรรมชาติของมัน มันจะไม่เข้าไปกับสิ่งนี้เลย แรงขั้วบวกกับขั้วลบในหัวใจ สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ความเป็นปฏิฆะ ถ้ามันไม่ได้ความพอใจของมัน ถ้าใจดวงนี้ กับดักของมันสร้างความเห็นของเราขึ้นมา ถ้าไม่พอใจของมัน มันก็จะเกิดความขัดใจ นี่กับดักมันสร้างขึ้นมา สร้างความพอใจของมันขึ้นมา สร้างความเห็นของมันขึ้นมา แล้วมันก็จะให้สมความพอใจของมัน แล้วมันก็จะอุ่นกินอยู่สภาวะแบบนั้น เราก็ตกหลุมไป ตกไปในกับดัก ตกไปในธรรมของกิเลสที่มันสร้างขึ้นมา เราก็คิดว่า เป็นธรรม เป็นธรรมนะ

สิ่งที่ว่าเป็นธรรม คือว่าเป็นสภาวะตามความเป็นจริง แต่มันไม่เป็นตามความเป็นจริง เพราะสิ่งนี้มันมีเชื้อ สิ่งนี้มันมีความผูกพันของมัน ใจมันผูกพัน มันสร้างสถานะอย่างนั้นขึ้นไป มันถึงไม่มรรคสามัคคีไง มรรคนี้ถึงไม่รวมตัว ถ้ามรรคมันรวมตัวนะ มันจะวิปัสสนาของมัน มันจะแยกมันออกไป มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันจะปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวาง กิเลสมันเริ่มจะอ่อนตัวลงเท่านั้น ถ้ากิเลสมันเริ่มอ่อนตัวลง มันก็จะเริ่มสร้างสถานะให้เรา

ระหว่างการก้าวเดิน สิ่งที่ก้าวเดินไปเราจะมีสัจจะ เราจะมีความพยายามของเราขนาดไหน สิ่งนี้เป็นความเพียรของเรา ถ้าสิ่งนี้เป็นความเพียรของเรา ถูกมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแต่กิเลสมันไม่ตาย สิ่งที่ไม่ตายเราก็ต้องทำซ้ำใช่ไหม เวลาเรารักษาโรค เรากินยาหนหนึ่ง กินยาแล้วโรคมันไม่หาย เราไม่กินยาซ้ำอีกหรือ ถ้าเราไม่กินยาซ้ำ โรคนั้นมันจะดื้อยาขึ้นมาได้

ใจก็เหมือนกัน เราจะเชื่อ เราจะมีความเห็นว่ามันปล่อยวางแล้ว เราก็มีความพอใจ เราก็รักษาสถานะนั้นไว้ เดี๋ยวเรื่องของกามราคะมันรวมตัวขึ้นมา มันก็ทำให้เราล้มไป สิ่งที่ล้มไปเพราะใจของเรา ใจของเรามันมีกิเลสอยู่ สิ่งที่เป็นกิเลส กิเลสมันเข้ากัน เวลาธรรมะของเราที่จะเกิดขึ้นนะ เวลาธรรมะเราต้องสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเป็นสภาวธรรม ขั้นของปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นก็มีสัมมาสมาธิ ถ้าปัญญาไม่มีสัมมาสมาธิ สิ่งนั้นเป็นสัญญา สิ่งนั้นเป็นสัญญานี่กิเลสมันก็พาใช้ กิเลสมันพาใช้มันก็เข้ากับดักของมัน แล้วใช้ไปตามอำนาจของมัน มันก็เวียนไปตามอำนาจของมัน นี่ขั้นของปัญญา

ธรรมมันจะเกิดเพราะเราสร้างสม แต่กิเลสมันเกิดโดยธรรมชาติของมัน กิเลสมันมีอยู่แล้วโดยสถานะของเขา เขามีอยู่โดยดั้งเดิมในหัวใจ จะคิดสิ่งใด จะพลิกแพลงอย่างใด จะตกเข้าไปในกับดักของเขาทั้งหมด สิ่งที่เขาตกเข้าไปกับดักของเขา ถึงจะเป็นความถูกมันก็เข้ากับดัก เพราะมันไม่ถึงสภาวะที่สุด ถึงสภาวะที่ว่ามันสมุจเฉทปหาน เราถึงต้องพยายามก้าวเดิน เห็นไหม เราต้องก้าวเดิน เราจะไม่นอนใจ ถ้าการประพฤติปฏิบัติเรานอนใจ เรานอนใจเพราะเราเชื่อกิเลส เราเชื่อเรา ถ้าเราเชื่อเรา มันไม่เป็นประโยชน์

เราต้องเชื่อธรรม เราต้องเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรวจสอบ ตรวจสอบว่า ความปล่อยวางของใจ มันจะเป็นบ้านร้าง ถ้าบ้านร้างนี้ บ้านนั้นมันจะไม่มีคนอยู่ แต่อันนี้มันไม่ใช่บ้านร้าง เพราะสิ่งใดมันก็เกาะเกี่ยวไปกับใจ มันสะเทือนถึงความรู้สึกของเราทั้งหมด แล้วถ้ามันเสื่อมลงมา มันจะเหมือนปกติเลย ใจนี้มันมีความพอใจของมัน กามฉันทะจะเป็นเรื่องของใจสภาวะแบบนั้น ใจจะเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ตลอดไป สิ่งนี้มันก็หมุนขับเคลื่อนออกไป ขับเคลื่อนออกไป อาการนี้มันก็กระเทือนใจ กระเทือนใจมาก ถ้าเวลามันเสื่อม แต่ถ้ามันปล่อยวาง มันไม่สะเทือนใจ มันจะเป็นความว่าง มีความสุข ความสุขแล้วมันจะทำให้เราเผลอไง ให้เรานอนใจ พอเผลอ พลังงานอันนั้นมันอ่อนตัวลง มันก็เสื่อม

ถ้าเราทำความสงบของใจ เราตั้งฐานไว้ เรามีสติตลอดไป พลังงานนั้นไม่เสื่อม ถ้าพลังงานไม่เสื่อม เราจับต้องอาการตรงไหนที่เป็นแง่มุมของกิเลส เราต้องแยกแยะตรงนั้น ตรงที่มันเกิด จับต้องสิ่งนั้นได้ เราต้องแยกแยะสิ่งนั้นได้ ใคร่ครวญสิ่งนี้ สิ่งนี้คืออะไร? ถ้ามันเป็นสังขาร เป็นความคิด ความปรุงความแต่ง คิดปรุงแต่งในสิ่งใด? มันก็ต้องคิดปรุงแต่งในเรื่องของกามราคะ ในเรื่องความเห็นของมัน ในเรื่องของความพอใจของมัน เพราะสิ่งนี้มันเป็นการเผชิญหน้าอยู่แล้ว เป็นการเผชิญหน้า จับต้องสิ่งใดมันจะเป็นกามไปทั้งหมด

สิ่งที่เป็นกาม ตัวมันเป็นกามอยู่แล้ว มันจะต้องเป็นกาม แล้วพอมันเป็นกามขึ้นมา มันคิดออกไป มันจะเทียบเคียงออกไปโดยธรรมชาติของมัน...เทียบเคียงออกไปนั้นคือการเสพส่วนของมัน ถ้ามันเสพสุขของมันแล้วมันพอใจ มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางคือว่ากิเลสมันทำงานแล้วรอบหนึ่ง เราไม่รู้ตัวเลยว่ากิเลสมันทำงานของมันรอบหนึ่ง มันพอใจของมันแล้ว มันถึงบอกให้เราปล่อยวาง มันให้เราปล่อยวาง เพราะเราเดินตามมันไป เดินตามมันไปถึงความพอใจของเขา เขาหลอกเราให้เราทำงานรอบหนึ่ง เรายังไม่รู้ตัวเลย นี่กับดักของมัน

มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ถ้าเราเผลอนะ เราเผลอของเรา เราหลงของเรา นี่จิตมันหลง หลงเพราะความไม่รู้เท่า สิ่งที่ไม่รู้เท่ามันถึงหลง ถ้าคนหลงคือความไม่รู้สิ่งใดๆ เลย ถ้ารู้มันจะหลงได้อย่างไรล่ะ ถ้ารู้มันต้องไม่หลงสิ เพราะนี่มันไม่รู้ ไม่รู้สภาวธรรม มันถึงหลงไปในอำนาจของกิเลสไง หลงไปในอารมณ์ หลงไปในความรู้สึก จิตนี้มันรู้สึกมันก็ไปตามอำนาจของมัน นี่มันเป็นธรรมใต้กิเลสไง กิเลสสร้างสภาวะแบบนี้ สร้างสภาวธรรม

ถ้าสภาวะการเข้าใจความปล่อยวาง เราว่ามันปล่อยวางแล้วเราพอใจ กิเลสมันสภาวะแบบนี้ตลอดไป นี้คือการทำงานของเขา นี้คือการดำรงชีวิตของเขา เขาดำรงชีวิตบนหัวใจของเรานะ กิเลสนี้มันตายออกไปจากใจ ถ้าเราสมุจเฉทปหาน กามราคะนี้ขาดออกไปจากใจ เขาต้องตายออกไปจากใจ

แต่ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขายังมีอำนาจอยู่ นี้เขาจะปกคลุมใจสภาวะแบบนั้น ปกคลุมจนมืดบอด ถ้ากิเลสมันปกคลุมใจ เราจะมืดบอด เราจะไม่เห็นสภาวะแบบนั้นเลย เราจะทำอย่างไร เราจะประพฤติปฏิบัติขนาดไหน เราใช้ปัญญาขนาดไหน คือปัญญาในใต้อำนาจของมัน ปัญญาในใต้อำนาจของกิเลสนี้ กิเลสก็บัญชางานของมันตลอดไป บัญชางานเราทำงานขนาดไหน เราว่าเราเป็นงาน เราว่า เห็นไหม นี้คือเรา

แต่สภาวธรรมของเรานี้เวลาเกิดขึ้นมันเป็นเราไหม? มันเป็นตามความเป็นจริง เรามีหน้าที่สร้างเหตุ สร้างเหตุถึงจุดของมันแล้ว มันจะกลืนเข้ามาที่หัวใจ แล้วทำลายออกนะ เวลากามราคะมันขาดออกไปจากใจ ขาด สะเทือนเลื่อนลั่นไปในหัวใจ ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ บ้าน เรือนว่าง มันจะเป็นบ้านร้าง ความที่ว่าเป็นบ้านร่าง ขันธ์ ความที่เป็นบ้าน เป็นขันธ์อันละเอียดนั้น มันโดนทำลายออกหมดเลย สิ่งนี้มันปล่อยใจออกไป ใจปล่อยขันธ์เข้ามา มันเป็นอิสระของมันเข้ามา แล้วมันก็พยายามใคร่ครวญของมันเข้าไป ใคร่ครวญในบ้านร้างนั้น ปล่อยว่างในบ้านร้างนั้นเข้ามา

บ้านร้าง เห็นไหม ทำลายบ้านร้างนั้นแล้ว ยังพยายามใคร่ครวญเศษส่วนที่จิต ฝึกซ้อมใจของเราเข้ามา มันจะฝึกซ้อมใจนะ ใจจะฝึกซ้อมสิ่งนี้เข้ามาตลอดไป ถ้ามันฝึกซ้อม ฝึกซ้อมเข้ามา ฝึกซ้อมในความที่มันมีเศษส่วน สิ่งที่เศษส่วนคือเราเคยทำอะไรอยู่ เราเคยไปเที่ยว เราเคยไปที่ไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่เราไปเห็น ขณะที่เราไปอยู่สถานที่นั้น เราจะไปเห็นสถานที่นั้นตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเรากลับมา เราจากสถานที่นั้นมา เราคิดถึงสถานที่นั้น เราจะเห็นสถานที่นั้น เรานึกภาพได้ไหม เหมือนกัน เราทำลายบ้านร้างคือตัวของบ้าน ทำลายหมดเลย แต่ความเห็นในตัวบ้านร้างนั้นน่ะ เศษส่วนอันนี้เราพยายามฝึกซ้อม ฝึกซ้อมเข้ามา มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ การปล่อยวางนี้เราคิดว่าเป็นงานไง เราคิดว่าเราทำลายบ้านร้างแล้ว แล้วเราก็ฝึกซ้อมเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา เพราะเราจับเข้าไปมันจะสะเทือนถึงสิ่งนั้น มันปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา เราเข้าใจว่าอันนี้มันเป็นผลไง นี่กับดักของกิเลส มันดักให้เราติดอยู่สิ่งนี้ แล้วเราจะไม่เห็นกับดักอันสุดท้ายเลย

กับดักอันสุดท้ายมันจะละเอียดมาก เราทำลายบ้านร้าง แล้วเราฝึกซ้อมบ้านร้างเข้ามา นี้มันเป็นขั้นตอนต่างหาก มันเป็นสิ่งที่ว่าขั้นตอนการประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมชาติ ตามธรรม ตามสภาวธรรมเป็นแบบนั้น แต่ถ้าตามตามกิเลส กับดักของกิเลส มันจะบอกว่า นี่มรรค ๔ ผล ๔ เพราะเราทำลายบ้านร้างแล้ว แล้วเราก็ฝึกซ้อม เราทำลายเศษส่วนของบ้านนี้ นี้คือผลงานไง

ผลงานสิ เพราะตัวจิตมันเป็นตัวธรรม ตัวจิตนี้มันเป็นพื้นฐาน เป็นตัวพลังงาน แล้วตัวใคร่ครวญเขา ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้วปล่อยวางเข้ามา ปล่อยเศษส่วนเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาจนตัวมันเองไม่เห็นตัวมันเองไง ถ้าตัวมันเองไม่เห็นตัวมันเอง นั้นคือตัวว่ามันเข้าใจสิ่งต่างๆ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา แล้วเราก็ไม่เห็นกับดักอันนี้ มันเป็นกิเลส มันเป็นตัวอวิชชา เราจะไม่รู้เลยว่าอันนี้เป็นกับดัก เพราะเรายังไม่เห็นตัวมัน จะไม่เห็นกับดักมันเลย เราจะโดนมันใช้ตลอดไป เราจะโดนว่า มันจะให้เราอยู่สภาวะความว่างอย่างนี้ นี่ความว่างของใจ

สัมมาสมาธิ จากที่ว่าเป็นกิเลสดิบๆ เรายังต้องทำให้เป็นไม้แห้ง เราถึงทำให้เป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา เราถึงจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ยกย้อนกลับขึ้นไป เราจะไม่เห็นตัวอวิชชาเลย สิ่งที่เป็นตัวอวิชชา เห็นไหม อรหัตตมรรค สิ่งที่จะเป็นอรหัตตมรรค มันต้องย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับเข้าไป กับดักอันสุดท้ายมันจะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก มันจะละเอียดอ่อนอยู่ในหัวใจของเรา เพราะตัวใจนั้นคือตัวมัน

สิ่งที่เป็นตัวมัน แต่เดิมใจกับขันธ์ ใจกับกาย มันจับสิ่งนี้เพราะตัวใจเป็นตัวทำงาน ตัวใจไปจับสิ่งต่างๆ ทำงาน แล้วมันก็จะปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา ตัวใจจะรับรู้ปล่อยวางเข้ามา ทำลายกับดักของกิเลสทั้งหมดเข้ามา จนเป็นธรรมตามความเป็นจริง ธรรมตามความเป็นจริงคือมันสมุจเฉทปหาน ขาด ขาดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนถึงที่สุดแล้ว ตัวมันเอง มันจะเป็นสิ่งที่ว่ามีอำนาจมาก เป็นเจ้าวัฏจักร สิ่งที่เป็นเจ้าวัฏจักร คือตัวพลังงานที่ปล่อยขันธ์เข้ามาทั้งหมดเลย ปล่อยวางแล้วตัวพลังงานนี้มันก็เป็นนามธรรม มันก็เลยเป็นความว่างไง ว่างหมดเลย นี่สิ่งนี้ติดมาก ความติดของใจ ใจจะติดตัวมันเอง

การประพฤติปฏิบัติที่ว่า มันเป็นความละเอียดอ่อน มันก็ละเอียดอ่อนมาก ละเอียดอ่อนเป็นขันธ์ เป็นธาตุขันธ์ ความคิดการทำมันจะละเอียดอ่อนมาก แต่มันก็ยังปล่อยวางเข้ามา เราเห็นเป็นสภาวะเป็นชั้นๆ เข้าไป แต่สิ่งนี้มันยิ่งละเอียดยิ่งลึกซึ้งเข้าไปใหญ่ เพราะอะไร เพราะมันเห็นตามความรู้สึก ขันธ์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วอันนี้มันเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นตัวจิต เห็นไหม

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นปัจจยาการที่สืบต่อกัน สืบต่อเนื่องกันไปตลอดไป ถ้าจิตเราย้อนกลับขึ้นมาตรงนี้ มันจะเห็นสภาวะอันละเอียดอันนี้ แล้วจับตรงนี้ได้ ถ้าจับตรงนี้ได้ เห็นไหม ย้อนกลับ เราพยายามใคร่ครวญ พยายามสังเกตสิ่งที่ว่าถ้ามันยังเป็นความเศร้าหมอง มันยังเป็นความผ่องใส ถ้ามันยังเป็นความที่ว่าเราต้องรักษาสถานะนั้นไว้ สิ่งที่เป็นความว่าง ความว่างอันนี้ต้องรักษา ถ้าเราไม่รักษามันก็มีความแปลกประหลาด มีความเฉา มีความเศร้าหมอง ความเศร้าหมอง ความผ่องใสอันนี้ มันเป็นความทุกข์อันละเอียดไง

ความทุกข์อันละเอียด ความทุกข์ที่ว่ามันเป็นความอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในหัวใจ มันไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นอนุสัย กิเลสานุสัย อวิชชานุสัย สิ่งนี้มันเป็นกระแส เป็นการเคลื่อนไปของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นสังเกตสิ่งนี้ ถ้าเห็นสภาวะสิ่งนี้ แล้วพยายามย้อนกลับ ถ้าจิตนี้เป็นพลังงาน จิตนี้ต้องย้อนกลับจับตัวเองได้ ถ้าจิตนี้ย้อนกลับ กลับเข้าไปจับตัวเองได้ นี่เริ่มเป็นงานไง

พอจับตัวนี้ได้จะเห็นกับดักอันสุดท้าย นี่มันเป็นกับดักของกิเลส ดักมาตั้งแต่เริ่มต้น ดักมาตลอด จนถึงตัวอวิชชา ตัวของเขานั้นแหละคือตัวกับดัก ตัวของเขานั้นคือตัวเจ้าวัฏจักร สิ่งนี้ถ้าเราเห็นเจ้าวัฏจักรแล้ว เราต้องพยายามใคร่ครวญ ความใคร่ครวญเป็นปัญญาญาณ ปัญญาอันละเอียดสิ่งนี้มันพยายามย้อนกลับ แล้วเฝ้าดูนะ มันจะเริ่มละเอียด ละเอียดสิ่งที่ภายใน มันจะเริ่มทำงานกันในสถานที่ของใจนั้น นี่มันจะทำงานรวมตัว ทำงานย้อนกลับเข้าไป ถึงที่สุดแล้วมันจะพลิกใจตัวนี้ไง สิ่งนี้มันพลิกออกไป จากตัวอวิชชาจะเป็นตัววิชชา จะเป็นตัวธรรม

สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม ธรรมถ้าใต้กับดักนี้จะเป็นธรรมที่อวิชชา ธรรมที่ว่ากิเลสมันเป็นกับดัก แล้วมันสร้างสถานการณ์ สร้างอาการของใจให้เราติดอาการอย่างนั้น ติดอารมณ์ ติดความรู้สึกอันนั้นว่าเป็นธรรม นี้ธรรมใต้กิเลส แต่สภาวธรรมที่ว่าเวลาพลิกแล้ว เพราะตัวของจิตนั้นมันก็เป็นตัวธรรม สิ่งที่ทำลายบ้านร้างเข้ามา บุคคลที่ทำลายบ้านร้างเข้ามานั้นเป็นบุคคลสุดท้าย เป็นพลังงานอันสุดท้ายที่เผาไหม้คนอื่นทั้งหมด แล้วตัวพลังงานนั้นมันพลิกออก สิ่งที่พลิกออกทำให้พลังงานนั้นเป็นพลังงานที่สะอาด สิ่งที่เป็นพลังงานสะอาด ทำลายตัวที่มันเป็นกับดักมาตลอด ตัวอวิชชาที่เป็นกับดัก ทำลายสิ่งนี้ออกไป ถ้าสิ่งนี้โดนทำลายแล้ว สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมา ธรรมโดยสมบูรณ์จะไม่มีกิเลสธรรมใต้กิเลสนี้ไม่มี เพราะตัวกิเลสโดนทำลายออกไป

กิเลสนี้อยู่กับใจ คนเกิดนี้เกิดมาจากกิเลสทั้งหมด เพราะว่ากิเลสอยู่ที่ใจ การคิด การคาดหมาย การกระทำต่างๆ อยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งหมด แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ ตัณหาความทะยานอยาก อยากนี้อยากใต้อำนาจกิเลส แล้วมรรคล่ะ มรรคนี้ก็เป็นความพอใจ ความอยาก อยากพ้นทุกข์ อยากประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นความอยาก

แต่ความอยากในธรรม ความอยากในธรรมคือความอยากในการเราสร้างความเพียร เราสร้างความเพียร เราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิ เราภาวนา เราพยายามถือศีล เราพยายามดัดแปลงตน สิ่งที่ดัดแปลงตน เราก็อยากพ้นทุกข์ อยากประพฤติปฏิบัติ อยากได้ผลของมัน อยากอันนี้เป็นธรรม แต่ธรรมนี้มันก็ยังอยู่ใต้กิเลส เห็นไหม อยู่ใต้กิเลสอยู่ แต่เราก็พยายามส่งเสริม พยายามสะสม สิ่งที่สะสมขึ้นมาให้เป็นพลังงานสิ่งขึ้นมา ถ้าตัวพลังงานสิ่งนี้เกิดมีขึ้นมา นี่ตัวธรรมเกิดขึ้น สภาวธรรมเกิดขึ้น

จริงอยู่ จะอยู่ใต้กิเลสก็อยู่ใต้กิเลส แต่เราสร้างขึ้นมาจนถึงจุดหนึ่ง ถ้าจุดหนึ่ง เราสร้างแต่เหตุ สิ่งที่เหตุ ผลมันจะเกิดไม่เกิด ไม่เป็นสิ่งที่เราต้องไปคาดหมาย ถ้าเราเป็นการคาดหมาย นี่กับดัก เราคาดเราหมาย ฟังครูบาอาจารย์เทศน์ จะเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเราว่าทำไมเรายังไม่เป็นอย่างนั้น? มันไม่เป็น ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เพราะจริตนิสัยคนต่างกัน

แต่ถ้าเวลามันขาด เวลาสร้างเหตุขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันต้องเป็นของมันเอง จะเป็น ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนี้จะสมควร มีน้ำหนัก มีมัชฌิมาปฏิปทา มีความเป็นไป เป็นกลาง เป็นสมดุล มันจะสมดุลของมันเอง ถ้าเราคาดหมายการสมดุล เราไปคาดหมายว่ามันจะเป็นมัชฌิมา มันจะเป็นความสมดุล ความคาดหมายของเรานั้นคือกิเลส คือกิเลส เห็นไหม นี่ธรรมใต้กิเลสไง

ถ้าธรรมใต้กิเลส คือกิเลสมันคาดหมายไปตลอด แล้วเราจะได้ธรรมคาดหมายไปตลอดเลย เราสร้างเหตุ ถึงว่า เป็นธรรมใต้กิเลส เราก็สร้างของเราขึ้นไป แล้วหน้าที่ของเราคือสร้างและประพฤติปฏิบัติ จนถึงที่สุดมันจะต้องเป็นของมันเอง มันจะเป็นของมันเอง นั่นล่ะ มันจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริง มันถึงละเอียดอ่อนมาก ความละเอียดลึกซึ้งของธรรมอันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นผู้ที่ค้นคว้าขึ้นมาได้

สาวกะเรามีธรรมอยู่นะ เรามีตำรา เรามีทฤษฎีอยู่ เรามีมรรคอริยสัจจังตามความเป็นจริงอยู่ แล้วเราก็ยังคาดยังหมายในหัวใจของเรา เรายังคาดเรายังหมาย ทั้งๆ ที่ว่าของมีอยู่ นี่กิเลสมันถึงมีอำนาจ มันถึงเป็นว่าธรรมใต้กิเลสไง ธรรมใต้กิเลส อาการแบบนั้น อาการแบบของเรามันมีความสงสัยนะ ถ้าธรรมความเป็นจริงมันจะไม่มีความสงสัย มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ แล้วขาด มีเหตุมีผล

โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ทำไมพระโสดาบันถึงต้องเป็นโสดาปัตติมรรคล่ะ ทำไมเป็นโสดาปัตติผลล่ะ ทำไมสิ่งนี้พระโสดาบันไม่เป็นอันเดียวกันล่ะ เห็นไหม จนเป็นสกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค...ถ้าเป็นอรหัตตมรรค มันยังไม่เป็นอรหัตตผล ถ้าเป็นอรหัตตมรรค กิเลสมันยังมีอำนาจ มันมีกำลังต่อรองได้อยู่ กำลังของมันทำให้เราผิดพลาดได้อยู่ ถ้าเราเดินถูกทาง เราเดินถูกทางโดยอรหัตตมรรค มันก็จะเป็นอรหัตตผล

พอเป็นนิพพาน ๑ สิ่งที่เป็นนิพพาน ๑ นี้ มันเป็นธรรมที่ว่าไม่มีฝ่ายเหตุ มันเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่ของคู่ นี่ธรรมแท้ๆ ธรรมโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ธรรมใต้กิเลส ถ้าธรรมใต้กิเลส มันยังคลาดเคลื่อน มันยังเป็นไปตามอำนาจอันนั้น มันถึงว่ามันไม่สมดุล หน้าที่ของเราถึงต้องประพฤติปฏิบัติ หน้าที่ของเราคือสร้างเหตุอย่างเดียว เราต้องสร้างเหตุประพฤติปฏิบัติไป แล้วผลจะเป็นไปเอง ถ้าเราคาดหมายผล นั้นคือธรรมใต้กิเลส ถ้าเราไม่คาดหมายผล เราทำไปถึงที่สุดมันจะเป็นไป มันเป็นปัจจัตตังนะ

ไม่ใช่ว่าเราปล่อยให้มันเป็นไปเอง แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นไปเอง แล้วมันจะถึงที่หมายได้เมื่อไหร่ล่ะ มันสมดุลแล้วมันสมุจเฉทปหาน เราจะรู้โดยความเป็นจริง เป็นปัจจัตตัง เหตุผลพร้อมในหัวใจนั้น ขาดออกไป นี่ขณะจิตที่เป็นไปไง ขณะจิตที่พลิก ขณะจิตที่มันขาด มันจะรู้ของมันหมดเลย รู้ตามความเป็นจริง

ถึงว่า ผู้รู้แล้วไม่ถามใคร ถ้าเราประพฤติปฏิบัติยังต้องถาม ยังต้องการผู้รับรอง อันนั้นไม่ใช่ ถ้าเราเป็นความเป็นจริงของเราขึ้นมา นี้ถึงจะเป็นความจริง ความจริงในใจดวงนั้น ธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องมีสติ ต้องมีความใคร่ครวญ ต้องมีความรอบคอบ อย่าทำแต่ว่าทำแล้วจะให้ได้ผลๆ ผลอย่าได้ต้องไปหมายมัน เราไม่ต้องการไปหวังผล เราคิดแต่ผล เราคาดหมายแต่ผล แล้วเราก็พยายามของเรารีบเร่งจะเดินให้ถึง มันจะเป็นความหยาบ ใจนี้จะหยาบ แล้วจะคาดหมายไป แล้วจะไม่เป็นความจริง เราอย่าไปคาดหมายเรื่องผล หน้าที่ของเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นไป

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ มันจะเจริญแล้วเสื่อม เวลาเสื่อมขึ้นไปแล้วมันจะทุกข์ร้อนในหัวใจ ทุกข์ร้อนมาก เวลาความทุกข์ เศรษฐีแล้วหมดเงินไป จะรู้ว่ามีความทุกข์ร้อนขนาดไหนแต่เราไม่ใช่เศรษฐี เราไม่มีเงินทองขนาดนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อน นี่เหมือนกัน ปฏิบัติขึ้นมาเหมือนเศรษฐี แล้วเวลามันเสื่อมไป เราจะสร้างสถานะ เราจะสร้างขึ้นมาให้เป็นเศรษฐี เศรษฐีถึงจะต้องเป็นผู้ที่มีกำลังใจประพฤติปฏิบัติไง เพราะมีความพร้อมถึงจะประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าเราไม่มีความพร้อม เป็นคนทุกข์คนยาก เห็นไหม เราจะทำของเราไม่ได้ พลังงานของเราไม่พอ เราถึงต้องพยายามอย่าประมาท ตั้งใจทำ แล้วประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เอวัง