เทศน์บนศาลา

ใกล้หรือไกลธรรม

๒๓ พ.ย. ๒๕๔๖

 

ใกล้หรือไกลธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ฟังธรรมนะ เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝากศาสนาไว้ให้บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุเป็นเจ้าของศาสนา อยู่กับศาสนานะ เราอยากเป็นญาติกับศาสนา ทุกคนอยากเข้าถึงธรรม เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า วิมุตติสุขนี้สุขมาก โลกนี้เกิดขึ้นมานะ ในเรื่องของหลักธรรมนี้เป็นเรื่องของอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี้ เป็นอริยสัจ เป็นความจริง โลกนี้เป็นความทุกข์ทั้งหมดเลย ทุกข์นะ ทุกข์เท่านั้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป แต่เพราะเราไม่เข้าใจ

ถ้าไม่มีหลักของศาสนา ทุกคนเกิดมาแล้วปรารถนาความสุข เพราะเราเกิดมาเราปรารถนาความสุข แล้วเราพยายามหาความสุขให้เราเอง แล้วเราก็คิดไป แล้วเราเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ” แต่ก็ไม่ฟัง ทุกคนอยากมีความสุข ปรารถนาหาความสุขใส่ตัวเอง พยายามแสวงหาความสุข แล้วก็ไม่เคยพบความจริงเลย เจอแต่สิ่งที่หลอกลวง สิ่งที่หลอกลวงคือให้เราอยู่ในกระแสโลกนี้ไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น สิ่งที่วันหนึ่งๆ แล้วพอใจ เราพอใจ เรามีความพอใจในกระแสโลก เราก็ว่าอันนั้นเป็นความสุข

เพราะเราเป็นชาวพุทธแต่เปลือก เราเป็นชาวพุทธแต่ทะเบียนบ้าน แม้แต่นักบวช เห็นไหม บวชมาแล้วในพระพุทธศาสนา ก็ดูพระส่วนใหญ่สิ เขาสนใจในการประพฤติปฏิบัติขนาดไหน เขาก็แสวงหาความสุขของเขาเหมือนกัน เขาว่าเขาบวชมา เห็นในศาสนานี้มันมีความร่มเย็นเป็นสุข ก็บวชมาเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข จะศึกษาเล่าเรียนขนาดไหนก็เกิดความลังเลสงสัยในหัวใจตลอดไป

นี่มันเป็นวันคืนล่วงไปๆ แล้วเราว่าเป็นญาติกับศาสนา ทั้งๆ ที่ว่าเราบวชนะ “ศากยบุตร” บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยบุตรพุทธชิโนรสเป็นสมมุติสงฆ์ เราบวชเข้ามาเป็นสมมุติสงฆ์ ถ้าเราเป็นสมมุติสงฆ์ เราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้เป็นสงฆ์ขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าใจนี้เป็นสงฆ์นะ นางวิสาขาไม่ใช่นักบวชด้วย แต่เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เพราะเขาได้สร้างบุญญาธิการมามาก เขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา แล้วเขาได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงเป็นพระโสดาบันไง

นี่เขาไม่ใช่นักบวช เขายังทำของเขาได้ แล้วเราเป็นนักบวช เราต้องแสวงหาธรรมขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าเรามีธรรมขึ้นมาในหัวใจ “ศากยบุตร” บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้เลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าถึงธรรม ถ้าเราเข้าถึงธรรม เห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าเราศึกษาในสุตมยปัญญา ในปริยัติ ถ้าในปริยัติเราศึกษา ศึกษาแบบนั้นน่ะเราว่าเราเป็นชาวพุทธๆ พุทธแต่การศึกษา การจำมาเป็นนกแก้วนกขุนทองนะ นกแก้วนกขุนทองนี่พูดได้ แต่มันไม่รู้ความหมายหรอก มันเรียก เห็นไหม เรียกพ่อเรียกแม่ เราสอนให้มันเรียก มันก็เรียกอย่างนั้น แต่มันจะเข้าใจคำว่าพ่อว่าแม่ไหม? มันไม่เข้าใจหรอก มันเห็นว่าเวลามันเรียกพ่อเรียกแม่แล้วเจ้าของให้อาหารมัน ว่าอันนี้ได้เป็นรางวัล แต่ความเข้าใจว่าเป็นพ่อเป็นแม่ มันจะไม่เข้าใจหรอก เพราะมันเป็นสัตว์

การศึกษาก็เหมือนกัน ถ้าปริยัติมีเฉพาะแบบนั้น แล้วก็ความคิดของเรา เราคิดว่าเราเป็นชาวพุทธ เราต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน ปริยัติก่อนแล้วค่อยปฏิบัติ แล้วถึงจะเป็นปฏิเวธ ศาสนานี้มี ๓ หลักการนี้โดยสมบูรณ์ แล้วเราก็ศึกษากัน แล้วก็สงสัย ถ้าเรายังสงสัยอยู่ เราก็ต้องศึกษาให้หายสงสัย เราก็จะค้นคว้าศึกษาอยู่แบบนั้นไป แล้วมันจะหายสงสัยไปไหนล่ะ ในเรื่องของปริยัติ เพราะเราเอากิเลสของเรา เราเอาความลังเลสงสัยของเราเข้าไปจับธรรมไง

ปริยัติ ในวงปฏิบัติเรา หลวงปู่ฝั้นบอกเลย เวลาเราบวชกับอุปัชฌาย์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ปริยัติ อุปัชฌาย์ให้มาแล้ว ในครั้งพุทธกาลนะ ในการบวชมันไม่มีในตำรา เวลาเราจะต่อสวดมนต์ ต่อธรรมกันก็ต้องต่อปากเปล่า ฉะนั้นว่า เราจะต่อปากเปล่า ฉะนั้น อุปัชฌาย์จะบวชลูกศิษย์ลูกหา ถ้าไม่บอก กรรมฐาน ๕ นี้ ไม่ใช่พระไง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ปริยัติ เราศึกษาปริยัติแล้ว แล้วเราเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง ถ้าเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง แล้วพยายามศึกษา พยายามปฏิบัติให้เข้าถึงนะ ปฏิเวธมันเกิดอยู่แล้ว...นี่ แค่นี้ ในภาคปริยัติของเรา เรามีแค่นี้ เราสามารถทำได้แล้ว

แต่ด้วยความว่า “โลกนี้เจริญ การศึกษาเจริญ ศาสนาพุทธเจริญมาก เพราะมีการศึกษามั่นคง” เขาว่ากันอย่างนั้นนะ แล้วเราก็ศึกษากัน ศึกษาแล้วมันก็หลักลอยไง นี่ศาสนาลอยๆ ความคิดของเราลอยๆ เพราะเราคิดของเราลอยๆ มันคิดว่าเราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธสอนให้ปล่อยวาง เราก็เข้าใจกันก็ปล่อยวาง เราว่า “เราปล่อยวางแล้ว เราเป็นชาวพุทธ ห้ามยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าสอน การยึดมั่นถือมั่นเป็นความทุกข์ เราจะปล่อยวาง”...ปล่อยวางแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ชาวพุทธเป็นแบบนั้นไปหมดเลย

ในสมัยพุทธกาลนะ พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากจะเป็นญาติกับศาสนามาก ศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ถึงคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นญาติกับพระพุทธเจ้าได้ ไปขอชาวศากยะว่าขอสตรีมาเป็นภรรยา

ชาวศากยะเขาถือ เขาถือตัวถือตนของเขามาก เขาว่าเขาเป็นชาติที่เจริญ จะให้เขาก็ไม่ให้ เขาให้ลูกทาสมา สุดท้ายแล้วได้มา ได้หญิงมาเป็นภรรยา แล้วได้บุตร เห็นไหม พระเจ้าวิฑูฑภะ เกิดจากพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะความคิดของโลกไง อยากจะเป็นญาติกับศาสนา มันก็สมว่าเป็นญาติกับศาสนา มีความพอใจว่าเราได้ชาวศากยบุตรมาเป็นภรรยา

แต่เวลาเกิดได้บุตรขึ้นมา บุตรไปเยี่ยมชาวศากยะ แล้วเขาว่า “นี่ ลูกทาสกลับมา” ด้วยความว่ามหาดเล็กไปได้ยินอย่างนั้นมา มาบอกพระเจ้าวิฑูฑภะ นี่ผูกใจเจ็บไว้ไง สิ่งที่ผูกใจเจ็บไว้ “ถ้าเราได้ขึ้นครองราชย์เมื่อไหร่ เราจะกลับมาทำลายพวกนี้ทั้งหมดเลย” สุดท้ายแล้วเขาก็ไปทำลายหมดเลย

เห็นไหม ด้วยความอยากเป็นญาติ อยากเข้าถึงศาสนา นี้เราบวชเข้ามา ความเป็นญาติกับศาสนาของเรามันอยู่ที่หัวใจของเรา เราเป็นชาวพุทธโดยสายเลือด เราเกิดมานี้เราก็เป็นชาวพุทธโดยสายเลือด เราต้องย้อนกลับมา ถ้าเราเรียนปริยัติ เห็นในพระไตรปิฎกเป็นอย่างนั้น เราก็ศึกษาอย่างนั้น เราจะเข้าใจอย่างนั้นไหม

โลก อยากจะเป็นญาติกับศาสนา อยากจะเป็นญาติในสายเลือด พระเทวทัตก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นก็เป็นญาติกับศาสนา เวลาบวชเข้ามา พระนันทะ พระอนุรุทธะ นี่เวลาเป็นญาติกับศาสนา ถึงธรรมด้วย ปฏิบัติด้วย เป็นสหชาติด้วย สร้างบุญกุศลมาด้วยกัน นี่เห็นดวงตาเห็นธรรมนะ แต่พระเทวทัตบวชเป็นพระด้วย ประพฤติปฏิบัติด้วย แต่ทำไมความเห็นพลิกแพลงออกไปล่ะ นี่กิเลสมันน่ากลัวขนาดนั้น

แล้วเราเรียนปริยัติ เราพยายามศึกษาศาสนา แล้วเราก็จำศาสนา จำหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราได้เรียนจบชั้นนั้นๆ มีความเข้าใจชั้นนั้น แล้วกิเลสมันเข้าใจกับเราไหม

พระเทวทัตเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติจนได้ฌานโลกีย์ เหาะได้ แปลงตัวได้ ไปสอนอชาตศัตรู นี่ทำได้ขนาดนั้น แล้วกิเลสมันยุบยอบลงไหม? แค่เห็นนะ แค่ด้วยลาภสักการะเท่านั้นนะ “ทำไม เราก็เป็นพระเหมือนกัน นางวิสาขา หรืออุบาสกอุบาสิกาเขามา ทำไมเขาถามหาแต่คนอื่น เราทำไมไม่มีใครอุปัฏฐาก ไม่มีคนดูแล” นี่กิเลสตัวนี้ กิเลสของใจตัวทั้งนั้นน่ะ ความคิดเปลี่ยนแปลงเลย อยากจะปกครองสงฆ์ อยากจะได้ลาภสักการะ ลาภสักการะจะได้มาด้วยอะไร? ด้วยเราแสดงความเป็นผู้วิเศษให้ผู้อื่นเห็น นี่ถึงต้องมองไปที่พระเจ้าอชาตศัตรู

ขนาดประพฤติปฏิบัติจนเหาะเหินเดินฟ้าได้ แปลงกายได้ แต่กิเลสมันสะเทือนที่ไหน? กิเลสมันไม่สะเทือนเลย มันถึงต้องย้อนกลับมาที่กิเลสของเรา เราจะเป็นญาติกับศาสนา ถ้าเราเป็นญาติกับศาสนาเราต้องประพฤติปฏิบัติ เราเป็นบริษัท ๔ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะค้นคว้า เราจะประพฤติปฏิบัติเข้าถึงหลักความจริงได้ขนาดไหน เราถึงมีอำนาจวาสนา

ความคิดของโลกเขา เห็นไหม อยากเป็นญาติกับศาสนา พระเจ้าอโศก เวลาประพฤติปฏิบัติ สร้างวัดมหาศาลเลย ไปถามพระเหมือนกัน

ไปถามอาจารย์ว่า “เป็นญาติศาสนาหรือยัง?”

“ยัง”

“ถ้ายัง ทำอย่างไรถึงจะเป็นญาติกับศาสนา”

“ให้ลูกมาบวช”

อันนี้เป็นบุญกุศล ไม่ออกมาเป็นโทษไง

ให้ลูกมาบวช เห็นไหม พระมหินท์ กลับมาเผยแผ่ศาสนา สุดท้ายแล้วลูกปฏิบัติถึงพระอรหันต์ นี่ในตำราบอกไว้ พระเจ้าอโศกทำบุญกุศลไว้มาก แล้วเวลาตายไป ตายไปสภาวะแบบนั้น เวลาพระมหินท์คิดถึงไง “ความสุขอันนี้ วิมุตติสุขอันนี้มันสุขมาก เราได้มาเพราะเหตุใด? ได้มาเพราะพ่อ พ่อขอให้บวช บวชแล้วประพฤติปฏิบัติ แล้วนี่พ่อไปไหน” นี่ในตำราว่าไว้อย่างนั้นนะ คิดย้อนไปดู เกิดไง ด้วยความที่ว่าสร้างบุญกุศลมาก ด้วยความอยากจะทำบุญกุศลมาก ใจเป็นบุญกุศล แต่เวลาถึงสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต ในตำราว่าไว้อย่างนั้น อำมาตย์ไม่ให้ทำบุญ อยากทำบุญ อำมาตย์เห็นว่าช่วงใกล้ตายแล้ว...ด้วยความโกรธ เวลาตายไป ไปเกิดเป็นงู

พระมหินท์ถึงไปโปรดไง ในตำราว่าไว้นะ ไปโปรด ไปพูดกับสัตว์เลย พูดกับงูว่า “ทำไมมาทำบาปกรรมอย่างนั้น จับสัตว์เขากินน่ะ เพราะอะไรทำไมไม่ถือศีล ๕” ถือศีล ๕ จนถึงที่สุดนะ ตายไปแล้วเกิดมาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดเหมือนกัน ถึงที่สุดเพราะคุณงามความดีไง อินทรีย์แก่กล้า แก่กล้าแบบนี้ไง เพราะสร้างสมมา สร้างสมบุญกุศลขึ้นมา แม้แต่เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติมามันก็เป็นหลักหัวใจของเราขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเราเกิดทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะได้ทันฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชี้เข้ามาที่เรา แล้วมีศรัทธามีความเชื่อ จริตนิสัยของเราจะประพฤติปฏิบัติขนาดไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม พุทธกิจ ๕ ก่อนรุ่งอรุณเล็งญาณสัตวโลก สัตว์ตัวใด สัตว์ผู้ใดที่มีโอกาสที่จะดวงตาเห็นธรรม จะไปโปรดสัตว์ตรงนั้นก่อน เพื่อจะให้มีดวงตาเห็นธรรม อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่ถึงเวลา เราเกิดในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องรอเวลาอันนี้เหมือนกัน เวลาคือว่าความคิดความเห็นของใจไง

เราย้อนกลับมาดูเราสิ ก่อนที่เราจะศรัทธา เราจะมีความเชื่อ เราจะประพฤติปฏิบัติ ก่อนหน้าที่เราเกิดมา เราคิดอยู่นี่ เรามีความคิดอย่างนี้ไหม ความคิดของเราจะเป็นอย่างนี้มาตลอดไหม ความคิดของเรามันพลิกแพลงตลอดไป พญามารนี้ร้ายมาก เพราะเราเกิดมา บุญกุศลพาเกิดก็จริงอยู่ พระเทวทัตเกิดมาพบพระพุทธศาสนา บวชในพระพุทธศาสนา ยังออกไป เพราะมารมันคิดขนาดนั้นนะ มารยังผจญให้ไขว้เขวออกไป ออกไปจนต้องทำบาปอกุศลขนาดนั้น เพราะกิเลสมันมีอำนาจมาก

แต่นี้ของเรา เราเกิดเป็นชาวพุทธด้วย แล้วเราพบครูบาอาจารย์ด้วย แล้วเราอยากประพฤติปฏิบัติด้วย นี่ประพฤติปฏิบัติถึงต้องควบคุมไง พยายามควบคุมไว้นะ ควบคุมกิเลสของเราไว้ เราต้องฝืนมันตลอดไป พยายามจะฝืนของมันตลอด ศรัทธาความเชื่อ เชื่อเกิดขึ้นมา ความเชื่อความอยากประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นมา จนถึงกับออกบวช ออกบวชแล้วนี่เราเป็นนักรบแล้ว เราพร้อมที่จะสู้กับกิเลสของเรา

ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย ถึงเวลาแล้วเราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราบิณฑบาตมาฉันเพื่อดำรงชีวิต ดำรงธาตุขันธ์นี้ไว้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าโลกเขามองข้าม ทุกคนมองข้ามสิ่งนี้ไปหมดเลย มองข้ามว่า สมบัติคือข้าวของเงินทอง สมบัติคือชื่อเสียงเกียรติยศ นี่คือสมบัติของเรา แต่สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของสมมุติ สิ่งนั้นนะ สมบัติของโลกนี้นะ พระรัฐบาลบอกกับพ่อแม่ไว้ไง โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีสิ่งใดเต็มหรอก จะเจริญขนาดไหน มันก็ต้องเสื่อมไปจุดหนึ่ง มันไม่มีสิ่งใดคงที่ โลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เห็นไหม โลกนี้ถึงเป็นทุกข์โดยธรรมชาติ อันนี้เป็นความทุกข์

แต่คนเรามีตัณหาความทะยานอยาก มีความพอใจ ว่าสิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนา นี่กิเลสมันหลอกอย่างนี้ หลอกว่า ถ้าเราแสวงหาสิ่งที่สมควรแก่ตัณหาความทะยานอยากแล้วจะเป็นความสุข มันผลักไปให้เราหวังอนาคต หวังไปลมๆ แล้งๆ แล้วก็พยายามวิ่งเต้นของเราไป โทษเป็นอย่างนั้นตลอดไป โทษของกิเลสมันทำให้เราเป็นสภาวะแบบนั้น

มันถึงว่า ไม่มีสิ่งใดจะเป็นความสุขหรอก อำนาจก็ไม่เป็นความสุข สิ่งใดๆ ก็ไม่เป็นความสุข สิ่งที่จะเป็นความสุขได้ นี่ย้อนกลับมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากหัวใจต่างหาก หัวใจที่แสวงหาสิ่งต่างๆ มันผลักไสออกมาจากใจให้เห็นสภาวะภายนอก เรื่องของโลกเขาเป็นอย่างนั้น มันคิดได้ขนาดนั้น ถ้ากิเลสหยาบๆ มันก็คิดได้อย่างนั้น แล้วหัวใจของเรา เราศรัทธา เรามีความเชื่อ แต่กิเลสของเรา มันปิดบัง มันบังไว้ให้เราส่งออก เราคิดออกไปข้างนอก ดูอย่างที่ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล เห็นไหม ศรัทธามาก เคารพมาก แต่ก็ได้สร้างบุญกุศล แล้วก็ได้เสริมสร้างบารมีของตัวเอง นี่มันเป็นสภาวะแบบนั้น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตต่างหาก ธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องดับกิเลส

สมาธิธรรม เราต้องแสวงหาสิ่งที่เป็นความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามาๆ นี่ถ้าสงบ เห็นไหม ในสมัยพุทธกาล คนที่เขาประพฤติปฏิบัติเขาต้องการอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะเขาแสวงหากันอยู่ จิตใจเขามีพื้นฐาน

ดูอย่างพระปัญจวัคคีย์สิ อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาตลอดไป เขาประพฤติปฏิบัติอยู่ หลักของใจเขามีอยู่แล้ว สมาธิมีอยู่แล้ว อาฬารดาบส เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับเขาก็เหมือนกัน เขามีอยู่แล้ว ดูสิ ดูอย่างพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเป็นลูกศิษย์ของสัญชัย นี่เขาแสวงหาอยู่ทางนั้น ในเมื่อเขาแสวงหา มันไม่มีทางออก แต่เรามีบุญกุศล

เพราะเราเกิดมาท่ามกลาง เราไม่พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราพบธรรมวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้แล้ว “ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา” ธรรมและวินัย เราถึงศึกษาปริยัติกันไง ศึกษาปริยัติ เราศึกษา จะศึกษาขนาดไหน มันก็ย้อนกลับมาที่ใจเท่านั้น ถ้าเราศึกษาอย่างนั้น เราศึกษาในธรรมวินัยอันนั้นเป็นเครื่องประกอบ เวลาเราเทียบเคียงไง มันจะเป็นประโยชน์มาก

ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติไป ถ้าเราลองก้าวเดินไปนะ เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะมีความลังเลสงสัย สิ่งที่ลังเลสงสัย เราค้นคว้าสิ่งนั้นมาเทียบได้ แต่ในเมื่อมันยังไม่มีความลังเลสงสัย เพราะเราไม่มีไง เหมือนหมอเวลาเขารักษาโรค เขาต้องวิเคราะห์ก่อนว่าโรคนั้นเป็นอะไร เขาถึงจะให้ยา ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ทำไมจิตมันไม่สงบ ทำไมมันสงบแล้ว ทำไมมันไม่วิปัสสนา วิปัสสนาแล้วทำไมปัญญามันไม่เข้าหลักของมัชฌิมาปฏิปทา สิ่งนี้เวลามันปฏิบัติไป ก้าวเดินเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป นี่เราเทียบได้ เวลาลังเลสงสัย เราเทียบเข้ามาในสูตรใดก็ได้ในพระไตรปิฎก

เห็นไหม ถ้าเทียบเข้าไป มันจะว่า ถ้าสิ่งใดเทียบเข้าไปแล้วมันไม่ตรง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดประทานไว้อย่างหนึ่งเพื่อย้อนกลับทวนกระแสเข้ามา แต่เราเทียบออกไป ดูอย่างนักวิชาการเขาวิเคราะห์กัน ต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้น เขาเถียงกัน เอาแผนที่มากางแล้วก็เถียงกัน แต่เรานักปฏิบัติ เราลงพื้นที่เลย แผนที่เราไม่รู้หรอกว่าเขาขีดไว้ขนาดไหน แต่จริตนิสัยของใจ เราเห็นทั้งหมด เราเข้าพื้นที่ทั้งหมด

เวลาเข้าพื้นที่ ทำไมแผนที่เขาชี้ไว้แล้ว เข้าพื้นที่ พื้นที่เป็นอย่างนั้น พอเทียบไปแผนที่ อ๋อ! พิกัดขนาดนั้นก็จริงอยู่ แต่ความเป็นจริงของมันเราจะเห็นชัดเจนขนาดนั้น แต่ที่มันผิดพลาดไป เราก็เทียบเคียงเข้ามา มันจะเป็นประโยชน์

ธรรมและวินัยจะเป็นประโยชน์มาก เวลาเราประพฤติปฏิบัติแล้วเราเทียบเคียงออกไปเพื่อเทียบเคียงในความถูกต้อง แต่ธรรมและวินัยนี่เราเอาตั้งไว้ก่อน แล้วเราศึกษา เราวิเคราะห์ธรรมวินัย เราไม่ได้วิเคราะห์ใจของเรา เราไปวิเคราะห์ธรรมวินัย เราก็วิเคราะห์แผนที่ แล้วเราก็วิเคราะห์กันอยู่อย่างนั้น

ปริยัติ เห็นไหม ถึงว่าการปฏิบัตินี้สำคัญมาก การประพฤติปฏิบัติคือการที่เราแสวงหาว่าเราเป็นโรคอะไร แล้วเราจะใช้ยาอะไร เห็นไหม ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แม้แต่ในการทำความสงบของใจ เราใช้คำบริกรรมพุทโธๆ นี่สัทธาจริต ถ้าสัทธาจริตนะ เรามีความเชื่อ เรามีความมั่นใจของเรา

เรากำหนดพุทโธๆ มันจะเข้ามา จิตนี้ ความรู้สึกมันจะเกาะอยู่กับพุทโธ มันเปลี่ยนไง หัวใจของสัตว์โลกมันเหมือนกับทะเลหลวง มันต้องการ ฝนตก แม่น้ำทุกสายไหลลงไปในทะเล ทะเลไม่เคยเต็ม ความคิดของใจ ความเกาะเกี่ยวรูป รส กลิ่น เสียง ของใจก็เป็นสภาวะแบบนั้น มันติดไปหมด ติดสิ่งต่างๆ ไปหมด มันคิดไปหมด

เรากำหนดพุทโธๆ ต้องการให้กระแสนี้มาเกาะที่พุทโธไว้ก่อน ให้มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยวางสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ให้มาเกาะไว้กับพุทโธ เห็นไหม คำบริกรรมนี้เป็นธรรมอันหนึ่ง ธรรมและวินัย นี่เราเกาะธรรมเลย แล้วเราพิสูจน์กันด้วยการประพฤติปฏิบัติ กำหนดพุทโธๆ จะขนาดไหน จะต้องตั้งสติ เหมือนโลกนี้ไม่มี เวลาประพฤติปฏิบัติ โลกนี้ไม่มี สิ่งใดไม่มี ความกระทบสิ่งใดนี่ไม่สนใจ กำหนดพุทโธๆ พุทโธอย่างเดียว แล้วตั้งสติไว้ พอเผลอ กำหนดใหม่ เผลอ กำหนดใหม่ ทำสภาวะแบบนี้อยู่ ทำไปโดยธรรมชาติ มันต้องเกิดผลแน่นอน

เวลาพระอาทิตย์ขึ้น มันต้องตก เราก็รู้ๆ กันอยู่ เวลาดวงตะวันขึ้นมาแล้วมันจะไปไหน มันคล้อยมันก็ต้องตกไปโดยธรรมชาติของมัน แล้วเรากำหนดพุทโธๆ อยู่ ให้จิตนี้มาเกาะพุทโธอยู่ มันจะไม่สงบ เป็นไปได้อย่างไร

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะไม่สงบ แต่เราทำแล้วมันก็ไม่สงบ เพราะอะไร เพราะว่าเราทำไม่จริงไง ความจริงของเราอยู่ที่ไหน ถ้าความจริงของเราอยู่กับเราขึ้นมา เราต้องตั้งสติขึ้นมาแล้วกำหนดไป ครูบาอาจารย์ผ่านพ้นไปแล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดคำใดคำนั้น ไม่มีผิดพลาดเลย ไม่เคยหลอกลวงสัตว์โลก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกรรมฐานไว้ ๔o ห้อง ให้เราได้ก้าวเดิน แล้วเราทำเป็นไปไม่ได้ มันก็ขัดกันน่ะสิ มันขัดกับหลักความจริง ว่าพระองค์พูดปดกับเราได้อย่างไร

แต่ไม่ใช่ กิเลสของเรามันปดเราต่างหาก เราไม่จริงจังกับเราต่างหาก ในเมื่อเราไม่จริง ธรรมะเป็นความจริงสุดส่วน แต่เราไม่จริง มันจะเข้ากับความจริงได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อสติของเรา สติเกิดขึ้นมาจากจิต สติไม่ใช่จิต เพราะสติ ถ้าเป็นจิต มันจะต้องมีสติพร้อมไป...เดี๋ยวเราก็เผลอ นี่สติเกิดขึ้นมาจากจิต เราระลึกขึ้นมา พุทโธชัดเจนมากเลย แล้วกำหนดไปๆ ก็จางไปๆ หายไป แล้วก็เข้าใจผิดก็มีนะ เข้าใจผิด ครูบาอาจารย์บอกว่า “ถ้าพุทโธนี่มันต้องจางไปๆ แล้วจิตมันเป็นสมาธิ” นี่กิเลสมันก็สวมแล้ว

ถ้าคำว่า “พุทโธ” มันจางไปๆ แล้วมันจะมีความสงบ เราก็พุทโธๆ แล้วเราก็จางลงๆ สติคลายลงๆ ทุกอย่างคลายลงหมดเลย แล้วมันจะเป็นสัมมาสมาธิได้อย่างไร มันก็เป็นมิจฉาสิ แล้วตกภวังค์อีกต่างหาก หายเงียบไปเลย โดยที่เราไม่มีสติเลย

กิเลสมันอยู่ในการปฏิบัติ กิเลสมันอยู่กับใจ เวลาเราประพฤติปฏิบัติมันก็พลิกแพลงให้เราเดินออกนอกลู่นอกทาง แล้วเราก็เข้าใจว่าเราปฏิบัติ นี่เราเข้าใจว่าเราปฏิบัติ แล้วเราก็ไม่ได้ผล เราพยายามทำให้มันสงบขึ้นมา ทำไมไม่สงบขึ้นมา จำเป็นด้วยหรือต้องให้มันสงบ? จำเป็น ถ้าไม่มีความจำเป็นนะ มันจะบอกว่าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญาหรอก

ศีล สมาธิ...ทาน ศีล ภาวนา ต้องมีสมาธิมันถึงเกิดโลกุตรธรรม ธรรมที่เหนือโลก ธรรมที่จะทำให้เราพ้นจากกิเลส แต่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเราเข้ามามันเป็นโลกียธรรม โลกียธรรมอันนี้มันจะเกิดเป็นประโยชน์ต่อเมื่อพุทธจริต คนที่จริตโดยใช้ปัญญา คนที่มีปัญญามากจะกำหนดพุทโธๆ มันทำไม่ได้ มันไม่มีเหตุมีผล เราไม่ค่อยเชื่อสิ่งใด เราจะต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญ ใช้ความคิด เราถึงใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรามา มันจะเป็นโลกียะ มันก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอาธรรมที่ว่าหลุดพ้นไปเลยที่ไหน เราต้องหาใจของเราก่อน

เห็นไหม จะพิจารณาธรรม เอาอะไรพิจารณา จะประพฤติปฏิบัติธรรม เอาอะไรประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อ เราถึงพาร่างกายของเรามาบวชเป็นพระเป็นเณร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ เพราะศรัทธาความเชื่อนั้นคือหัวใจ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาเข้ามาถึง จิตสงบขึ้นมา ตัวจิตนี้สงบเป็นเอกัคคตารมณ์ เอาตัวใจนี้ยกขึ้นวิปัสสนา

วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ต้องเอาตัวใจนี้วิปัสสนา ถ้าไม่สงบ ความคิดของเรามันมีตัวตนของเรา กิเลสมันคิดไปพร้อมกับเรา กิเลสมันก็ใคร่ครวญไปกับเรา เราว่าเราพิจารณามาหมดแล้ว กายนี้เราเห็นกายมาหมดแล้ว ถ้าเราเห็นกาย เราสู้หมอไม่ได้หรอก หมอเขาผ่าตัด เขาผ่าตัดทุกวัน ยิ่งหมอนิติเขาผ่าศพทุกวัน เขาเห็นของเขาทุกวัน ทำไมเขาไม่สามารถชำระกิเลสได้ล่ะ

หมอบางคนยิ่งเห็นสภาวะแบบนั้น เขายิ่งเกิดกิเลสตัณหาของเขา ยิ่งมักใหญ่ใฝ่สูงของเขา ยิ่งเกิดเล่ห์เหลี่ยมของเขา เห็นไหม กิเลสมันยิ่งพอกพูนเข้าไปว่าเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วเป็นการชำระกิเลส ทำไมมันไม่เป็นไป เพราะจิตของเขาไม่สงบ จิตของเขามีความยึดมั่นถือมั่น จิตของเขามีความเห็นวิชาชีพของเขา ยึดมั่นถือมั่นอันนั้นว่าเป็นผลของเขา

เขา-เรา นี่มันเป็นตัวตน สิ่งที่ตัวตน ถ้ามันเป็นเรื่องของกิเลส มันจะยึดมั่นถือมั่น แล้วมันจะเหยียบย่ำหัวใจนะ ถ้ามันพลิกออกไปว่า “นี้คือฉันเป็นคนมีธรรม ฉันเป็นคนมีศักยภาพ ฉันเป็นคนมีความรู้ ฉันเป็นคนเข้าใจสภาวะทั้งหมด” มันยิ่งร้ายกาจ มันพลิกแพลงให้เราบิดเบือนออก

ในการประพฤติปฏิบัติว่า ในภาคปริยัติเวลาศึกษาเข้าไป กิเลสมันจะสวมเขา สวมบังเงากับความคิดเราไปตลอด ในการประพฤติปฏิบัติถ้าเราไม่เทียบธรรมวินัย เราก็จะโดนกิเลสหลอกเวลาเราเทียบธรรมวินัย เราถึงบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เราใช้ความสงบของเราเข้ามา เราพิจารณากาย เห็นกาย เห็นสภาวะต่างๆ แล้วสลดสังเวชเข้ามา มันแค่สงบเข้ามา แล้วปัญญาอะไรมันเกิดขึ้นล่ะ แล้วมันมีสิ่งใดที่เราชำระกิเลสไปบ้างล่ะ? มันไม่มีสิ่งใดเลย

ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย เราก็เข้าข้างตัวเอง เราก็เข้าข้างกิเลส กิเลสมันก็เหยียบย่ำหัวใจของเรา เห็นไหม เวลาเทียบธรรมวินัย เราเทียบตรงนี้ไง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาปัญญามันออกทำงานของมัน มันยังมหัศจรรย์มหาศาลเลยนะ เราจะต้องพยายามใคร่ครวญของเราให้เข้าถึงใจของเรา

เวลาคนเดินทาง ในวัฏฏะนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย ชีวิตนี้เกิดตายๆ มาตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วในบุพเพนิวาสานุสติญาณ สาวไปในอดีตชาติไม่มีวันที่จบสิ้น จิตดวงนี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย เวียนไปตายเกิดตลอดไป ความคิดของเราเกิดดับ จะมีความคิดมหัศจรรย์ขนาดไหน จะมีความพลิกแพลงขนาดไหน มันเกิดดับ เกิดดับสภาวะแบบนั้นตลอดไป

แต่ในเมื่อเราทำความสงบของใจเข้ามา นั่นน่ะ ตรงนั้นน่ะ ตรงจุดเป้าหมาย ตรงจุดเป้าหมายคือกิเลสมันอยู่ที่ใจ ถ้าเราจับใจวิปัสสนา คือความใคร่ครวญให้ใจมันเข้ามา นั้นคือเป้าหมาย มันมีที่สิ้นสุด มันถึงตรงนั้นแล้ว มันชำระกิเลสได้ไง มันพลิกแพลงหัวใจเข้ามา ใคร่ครวญออกมา ว่าเราติดในสิ่งใด ถ้าความคิดความเห็นของโลกทั่วไปก็คือเราติดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก เพราะว่าใจมันส่งออกไปจากเรา พื้นฐาน ภวาสวะ ใจอยู่ที่นี่ แล้วมันก็อาศัยเรา เห็นไหม เราจะเกิดจะตายแล้วแต่ โลกนี้เขามีอยู่อย่างนี้ตลอดไป พอเราเกิดขึ้นมานี่เรารู้ไปหมดเลย

รู้ไปหมด สมบัติอยู่ที่ไหน สมบัติการค้าขายระหว่างชาติ ระหว่างประเทศ เราคิด เรารู้ไปหมด สิ่งที่รู้นี่มันส่งออกไปจากใจ สิ่งที่ส่งออกไปจากใจ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง ใจมันหมายไปหมดเลย เรากำหนดพุทโธๆ เข้ามาด้วยคำบริกรรม อันนี้เป็นสัทธาจริต มันจะสงบเข้ามา แล้วมันสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า จนมันปล่อย ปล่อยรูป รส กลิ่น เสียง เป็นอิสรภาพของมัน อิสรภาพของมันนี้ถึงยกขึ้นวิปัสสนา

เราใช้โลกียะ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ใคร่ครวญสิ่งนี้เข้ามาตลอด พิจารณากาย พิจารณาร่างกายของมนุษย์ต่างๆ กายนอกพิจารณาเข้ามานี่ พิจารณาคนเจ็บคนป่วยต่างๆ พิจารณาใช้โลกียะ ใช้ปัญญาใคร่ครวญกายนอกขึ้นมา มันจะปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา สิ่งที่มันปล่อยเข้ามานี่มันถึง เป้าหมายมันอยู่ตรงนี้ไง

สิ่งที่เราเคยคิด เราเคยรู้นั้นมันเป็นเรื่องของโลก ความคิดของโลกในสภาวะแบบนั้น สิ่งที่เป็นสภาวะ ให้ผลคือความร้อน ให้ผลคือความทุกข์...ให้ผลเป็นความสุข เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของไฟ แต่ถ้าเป็นความร่มเย็น ความร่มเย็นตรงเป้าหมายนี้ เราย้อนกลับเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามา

ใจมันสงบเข้ามา เห็นไหม จากปุถุชน ปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส สิ่งที่กิเลสหนา เราพอกหนานี้มันก็ขับเคลื่อนออกไปตามที่ว่าเราไม่มีกำลังพอ แต่พอเวลาเราพิจารณาเข้ามา เราปล่อยวางเข้ามาบ่อยครั้งเข้า แล้วพิจารณาเหตุผลของมัน มันจะตัดขาด ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ขาดออกไปจากใจ เห็นโดยสัจจะเลยนะ พอมันขาดออกไป จิตนี้เป็นอิสระเลย แล้วเราควบคุมใจได้ง่าย ตัวใจตัวนี้เราถึงยกขึ้นวิปัสสนาไง นี่กัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชน ปุถุชนเหมือนกัน แต่เป็นปุถุชนคนที่จะเดินอริยมรรคไง ถ้าเดินอริยมรรค ยกขึ้นมา ย้อนกลับเข้ามาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่โสดาปัตติมรรค เป็นบุคคลที่ ๑ ถ้าเป็นบุคคลที่ ๑ จับสิ่งนี้ได้แล้วค่อยวิปัสสนาไป เราเป็นบุคคล ๘ จำพวก บุคคล ๘ จำพวกที่เราจะยกขึ้นไป มรรค ๔ ผล ๔ นี่ ๘ จำพวก

ถ้าเราก้าวเดินออกไปถึงนิพพาน ๑ พ้นออกไป ออกไปจากวังวนอันนี้ไง ถ้าเราพ้นออกไปจากวังวนอันนี้ได้ นี่มันติดตรงนี้ แต่เราเข้าใจว่าเราไปติดข้างนอก แล้วเราก็ว่าสิ่งข้างนอกนี่เป็นอนิจจัง แต่ไม่ได้ดูเลยว่าใจตัวนี้ก็เป็นอนิจจัง ใจตัวนี้โดนกิเลสครอบคลุมอยู่แล้ว มันก็เกิดดับเป็นอนิจจัง มันเป็นอนิจจัง มันถึงไปยึดเขา สิ่งที่ยึดเขาเพราะมันต้องอาศัย

อำนาจของจิตนี้แปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก ถ้าเราควบคุมมันไม่ได้ เราไม่เห็นมัน มันจะออกไปยึดสิ่งต่างๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใจกับเรา กายกับใจนี้มันคนละอันกันส่วนใด ทำไมมันมีทุกข์ของกาย ทุกข์ของจิตล่ะ ทุกข์ของกาย เจ็บไข้ได้ป่วย เวลากายมันทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยโดยธรรมชาติของมันนี่ทุกข์มาก แล้วหัวใจก็ทุกข์ไปด้วย เห็นไหม เวลาเราอยู่เฉยๆ ร่างกายแข็งแรง แต่เรามีสิ่งที่กระทบกระเทือนใจ ไม่มีใครทำให้ร่างกายเราเคลื่อนไหวเลย ทำไมเราเจ็บปวดหัวใจมาก โทมนัสไง หัวใจมันเจ็บปวดมาก นี่ความเห็นกายกับใจ สภาวะกายกับใจ เวลามันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียงเข้ามา มันเป็นอิสรภาพของมัน ปล่อยบ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดแล้วเราพยายามค้นคว้าไง

ถ้าจิตสงบโดยคำบริกรรม มันจะยกขึ้นเห็นกาย เห็นกายก็ได้ เห็นจิตก็ได้ ถ้าเห็นกายมันจะเป็นสภาวะ เป็นกระดูก เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นสิ่งใดก็ได้ แล้วจับให้พิจารณาไป สิ่งที่พิจารณาเพราะมันติดตรงนี้ มันถึงไปติดอย่างอื่นทั้งหมดเลย เพราะมันติดตัวมันเองก่อน ถ้าหัวใจไม่มีกิเลสมันจะเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร ถ้าจิตนี้บริสุทธิ์ มันเป็นสิ่งที่ว่ารู้เท่าทันหมด มันจะไปเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ ไม่ได้

แต่เพราะจิตมีตัณหาความทะยานอยากอยู่ในหัวใจของมัน ถึงเป็นภพ มันถึงเป็นอาสวะไง อนุสัย ๓ สิ่งนี้ละเอียดมาก เรายังไม่เห็นมัน พอไม่เห็นมัน มันก็ยึดเราก่อน เพราะมีเรา เพราะมีตัวตน มีเรามีตัวตนมันถึงยึดออกไปข้างนอก ยึดออกไปข้างนอกมันก็ติดอยู่ข้างนอกหมด ทีนี้เราจะย้อนกลับเข้ามา เราต้องมาทำลายตรงนี้ ถ้าเราทำลายตรงนี้ เราเอาสิ่งนี้ย้อนกลับ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแตกต่างกับศาสนาอื่นๆ ก็ตรงนี้ ตรงที่ปัญญาไง ปัญญา การชำระกิเลสต้องชำระด้วยปัญญาเท่านั้น แต่ปัญญาที่จะชำระกิเลสต้องมีสัมมาสมาธิยกขึ้นมาให้พ้นจากตัวตนของเรา ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิพ้นจากตัวตนของเรา มันเป็นความคิดของกิเลสมีส่วน ถ้าความคิดของกิเลสมีส่วน มันจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาไปไม่ได้ เพราะตัวตนของเรามันเอียง

ความเห็นแก่ตัว เพราะกิเลสตัวนี้มันเห็นแก่ตัว มันคิดคาดหมาย ความคิดต่างๆ มันถึงปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม สิ่งที่ไม่สมควรเพราะเราทั้งนั้น ต้องโทษเรานะ โทษกิเลสของเราทั้งนั้นเลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพยายามค้นคว้าของท่านมา มันเป็นสุดส่วน ถูกต้อง ไม่มีสิ่งใดเข้าไปคัดค้านได้เลย ตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น

แต่เพราะธรรมอันนั้นมันไม่บริสุทธิ์กับใจของเราต่างหาก ใจของเรามีกิเลสอยู่ ใจของเราใคร่ครวญแล้วมันคาดหมายไป มันถึงไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่มัชฌิมาปฏิปทา เราถึงว่า พอมันปล่อย มันเจอสภาวะแบบใด มันมีเหตุมีผล ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล พอมันปล่อยแล้วเราต้องซ้ำ การประพฤติปฏิบัติมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญาแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ แล้วย้อนกลับเข้าไปอวิชชา อาสวักขยญาณ ทีเดียวขาดหมด แต่ผู้ที่ขาดด้วยขิปปาภิญญา แต่ก็วางศาสนาไว้เป็นมรรค ๔ ผล ๔ แล้วเราเป็นเวไนยสัตว์ สิ่งที่เวไนยสัตว์เป็นผู้ที่ก้าวเดินไป ต้องค้นคว้าของเรา มันปล่อยวางอย่างไร เราก็เทียบธรรมและวินัย เทียบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเราปล่อย ปล่อยแบบนี้ปล่อยแบบฤๅษีชีไพร ปล่อยด้วยไม่มีเหตุมีผล ทั้งๆ ที่ว่าเดินโสดาปัตติมรรค ใช้ปัญญาอยู่นี่ถูกต้อง เราใช้ปัญญาอยู่ แต่มันไม่ถึงที่สุดไง แล้วกิเลสมันบิดเบือน เราถึงย้อนกลับ เราถึงปล่อย แล้วเราถึงชะล่าใจ

ถ้าเสื่อมไปนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พระเทวทัตเหาะเหินเดินฟ้า แต่ชำระกิเลสตรงนี้ไม่ขาด ยังเสื่อมสภาวะไปได้ แต่เรานี่ เราไม่เป็นแบบนั้น เพราะเราไม่ใช้ฌานโลกีย์ เราเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิแล้วเรายกขึ้นวิปัสสนา เห็นกาย วิปัสสนากายไป จับกายตั้ง สมาธิพิจารณาไป พิจารณาสิ่งนั้นให้มันแปรสภาพไง โน้มไปไง ใจเรานี่โน้มไปว่า เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ โน้มแปรสภาพนั้นไป ให้ไฟเผาสิ่งนั้นไป มันจะเกิดรวดเร็วมาก มันจะพลิกแพลงให้เราเห็นโดยความมหัศจรรย์มาก ผู้ที่เห็นกาย พิจารณากาย มันจะเห็นความมหัศจรรย์ของมัน

สิ่งที่มหัศจรรย์มันสอนใจนะ ไม่มีใครเคยเห็นสิ่งนี้ ไม่มีใครเคยพิจารณาสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้เป็นมรรคอริยสัจจัง มรรคญาณ ธรรมจักร จักรของใจมันหมุน นี่โสดาปัตติมรรคคือจักร จักรมันเกิดขึ้นจากใจดวงนั้น มันหมุนออกไป สิ่งที่หมุนออกไปเกิดขึ้นมาจากเราเป็นศากยบุตร เราเป็นบริษัท ๔ เราเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานฝากศาสนาไว้ แล้วตอนนี้เรากำลังค้นคว้าให้เป็นสมบัติของเรา พยายามค้นคว้าให้เกิดขึ้นมา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าเราเห็นสภาวะที่ว่ามันแปรสภาพอยู่ นี่ธรรมฝ่ายเหตุ สิ่งนี้เป็นธรรมฝ่ายเหตุ จักรมันเดิน จักรมันเคลื่อนไป

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงที่สุดแล้วมันจะต้องขาดออกไป กายกับใจ เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์...ขาด พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมเหมือนกันทั้งหมด แต่วิธีการต่างกันเท่านั้นเอง ต่างกันเพราะว่า ถ้าพิจารณากาย เราใช้การเพ่งดู เพ่งดูให้เกิดสภาวะ เพราะมันเป็นภาพให้เราเห็น แล้วเพ่งดูไป แล้วมันจะแปรสภาพให้เราเห็น แปรสภาพหนหนึ่งมันก็ปล่อยหนหนึ่ง ปล่อย ความปล่อย ปล่อยมันก็ว่าง ใจมันจะว่างมาก พอว่างมาก เดี๋ยวเราพยายามกำหนดให้ขึ้นมาอีก มันก็เป็นภาพกาย เป็นภาพใหม่ขึ้นมา เป็นสภาวะใหม่ขึ้นมา แล้วซ้ำอยู่อย่างนั้น หลายครั้งหลายหน ถึงจุดมันก็ปล่อย ปล่อยจนถึงที่สุดมันขาด

พอมันขาด สักกายทิฏฐิ ๒o ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันจะแยกออก ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ทุกอย่างมันจะเป็นอิสระหมดเลย สิ่งนี้จะเป็นอิสระ เห็นไหม มันขาดหมด

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน แยกออกมาจับความรู้สึกนั้นตั้ง ความรู้สึกนั้นขันธ์ ๕ สมบูรณ์มาก แต่มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม มันถึงต้องใช้การใคร่ครวญอย่างละเอียด พยายามค้นคว้าเข้าไป แยกมันออก ความรู้สึกเกิดขึ้นมา ขันธ์ ๕ มันพร้อมอยู่แล้ว แต่เราไม่เห็นมัน เราก็จับมันไม่ได้ แต่ในเมื่อจิตมันเป็นสัมมาสมาธิเข้ามา มันสงบเข้ามาเราปล่อย เราใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้ามาต่างๆ ใช้ปัญญานี้ใคร่ครวญความรู้สึก ความคิดเข้ามา มันปล่อยเรื่องโลก ปล่อย เห็นไหม ขันธ์ สังขารคิดปรุงแต่ง สังขารคิดถึงโลก มันคิดเหตุนั้นขึ้นมาเป็นอารมณ์ของมัน

เวลามันเป็นอารมณ์ของมัน เราคิดพิจารณาเข้าไปมันปล่อยอารมณ์นั้นไง พอปล่อยอารมณ์นั้นมันก็สงบตัวเข้ามา สงบตัวเข้ามา พอมันสงบตัวเข้ามา เราพิจารณาจิต เราจะเห็นสภาวะของมัน ถ้าสภาวะของมัน ขันธ์ปล่อยจากอารมณ์โลก มันก็เป็นขันธ์โดยธรรมชาติของมัน เพราะฉะนั้นเราจับขันธ์ธรรมชาติของมัน เราก็แยกสิ สิ่งใดที่เป็นความคิดความปรุง อันนั้นมันเป็นสังขาร สิ่งที่เป็นสังขาร ความรู้สึกนั้นมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับสิ่งนี้แล้ว นี่ปัญญามันแยกเข้าไป เห็นไหม จับตัวนี้ตั้ง จับความรู้สึกนี้ตั้งไว้ อะไรเกิดก่อน สังขารเกิดก่อนหรือสัญญาเกิดก่อน สัญญากับสังขาร อันไหนมันละเอียดกว่ากัน นี่แยกแยะมัน

แยกแยะมันออกไป แล้วสิ่งใดเป็นความรู้สึกสิ่งใด แยกมันออก มันจะละเอียดขนาดไหนเราก็แยกมันไปเรื่อย มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วเราก็ไม่เชื่อ เพราะมันไม่มีเหตุไม่มีผลบอกเราให้เราเชื่อได้ นี่เรากับเทียบธรรมวินัย ประโยชน์ของธรรมวินัยจะเกิดตรงนี้ เพราะปัญญาเราก้าวเดิน เวลาปัญญาเราก้าวเดิน เราจะไปถามใคร ถามใคร ใครก็ไม่รู้กับเราหรอก เพราะเขาไม่มีปัญญาอย่างนี้...ปัญญาอย่างเขา เห็นไหม ไปถามปริยัติสิ หนังสือเล่มนี้เขาว่าอย่างไร บทนั้น บทนั้นเขาว่าอย่างไร เขาก็จะตอบเรา ถ้าเขาตอบเราไม่ได้ เขาก็ไปเปิดหนังสือมาตอบเราได้

แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันจากใจ จากหัวใจที่ก้าวเดินอยู่ แล้วเราจะไปถามใครล่ะ เราก็ต้องพยายาม ถ้ามาเทียบเคียงเรา...ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็เป็นบุญกุศลของเรา ไม่มีครูบาอาจารย์เราก็เปิดพระไตรปิฎกเทียบเคียงพระไตรปิฎก ว่า ปัญญามันก้าวเดินไปแล้ว ปัญญามันจะรวมตัวอย่างไร ในพระไตรปิฎก มรรคสามัคคี มันจะสามัคคีอย่างไร มันสามมัคคีเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามัชฌิมาปฏิปทามันจะรวมตัวเข้ามา เพราะเราใคร่ครวญ เราแยกมันบ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดแล้วมันจะรวมตัวแล้วขาดออกไปจากใจ

อย่าคาดอย่าหมาย การคาดการหมายว่า ทำอย่างนี้แล้วจะเป็นมัชฌิมา ทำอย่างนี้แล้วมันจะสามัคคี อันนั้นเป็นการคาดการหมาย ยิ่งคาดหมายมากขนาดไหน การรื้อถอน การค้นคว้าของเรามันก็ต้องเพิ่มแรงงานไปขนาดนั้น เราถึงต้องสงสารตัวเราเอง ถึงว่า ต้องย้อนกลับมาตั้งสติไว้ เราจะไม่คาด เราจะไม่หมาย เพราะการคาดหมายนี้ เราทำให้จิตของเรานี้ลึกลงไป แล้วเราก็ต้องทำปฏิบัติลงไปตามจิตสภาวะแบบนั้น แล้วมันเป็นคุณกับเราไหมล่ะ

ถ้ามันไม่เป็นคุณกับเรา เหมือนหมอเลย หมอเขารู้ว่ายาบางอย่างมันจะมีผลข้างเคียง เขาจะไม่ใช้อย่างนั้น นี่เหมือนกัน เราปฏิบัติอยู่ ผลข้างเคียงของมันคือกิเลสมันหมายไปก่อน แล้วมันก็มีผลข้างเคียงขึ้นมา พอผลข้างเคียงมันก็ไม่เป็นผลด้วย มันถึงที่สุด เห็นไหม ต้องสะอาด ต้องบริสุทธิ์ ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดๆ เข้าไปเจือปน มันถึงจะเป็นมรรคสามัคคีโดยธรรมชาติของมัน พอมันขาดออกไป นี่มีดวงตาเห็นธรรม

พอมีดวงตาเห็นธรรม เราปฏิบัติ นี่ศากยบุตร เป็นเชื้อไขของธรรม เรามีสัญชาติธรรม กระแส เราเข้ากระแส ถ้าเราเข้ากระแส เราต้องประพฤติปฏิบัติ เราจะไม่เหมือนพระเทวทัตแล้ว พระเทวทัตมีเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่ไม่ยกขึ้นวิปัสสนา ถึงว่า เวลาจิต กิเลสมารมันมีอำนาจเหนือกว่า แค่ลาภสักการะก็ติดแล้วก็หมุนออกไป หาโทษหาภัยมาให้กับตนเอง เพราะสติสัมปชัญญะไม่พอ

แต่เวลาเราพิจารณาของเราถึงเข้ากระแสแล้ว นี่สีลัพพตปรามาส เราจะไม่ลูบคลำในศีล เราจะผิดศีลอีกไม่ได้เลยในเจตนา แต่ความพลั้งเผลอ เพราะสติเราไม่สมบูรณ์ เป็นไปได้ เพราะว่าสิ่งที่พลั้งเผลอ แต่ถ้าเราจะผิดศีลเพราะอะไร เพราะเราเข้ากระแส พอเข้ากระแส เหมือนกับคนทำธุรกิจ ธุรกิจกำลังเป็นขาขึ้น กำลังมีความเจริญรุ่งเรือง เราต้องรีบทำของเราเพื่อประโยชน์ของเรา พอเข้ากระแสไป นี่ปิดอบายภูมิ ไม่เกิดอีก แต่ยังต้องเกิดในภพมนุษย์

นางวิสาขาสร้างอำนาจวาสนามาขนาดนั้น ประพฤติปฏิบัติมาขนาดนั้น แล้วก็ตายไป พระโสดาบันก็ต้องมาเกิดอีก สิ่งที่เกิด เกิดในมนุษย์ เกิดได้เพราะเกิดเป็นกามภพ เราเข้ากระแสแล้ว เราถึงต้องย้อนวิปัสสนายกขึ้น ทำความสงบของใจขึ้นไป ความผิดพลาดที่ทำให้เราตกต่ำ ไม่มี แต่ความผิดพลาดจะทำให้เราติดในการประพฤติปฏิบัติ มี มีเพราะอะไร เพราะกิเลสอย่างหยาบมันขาดไป กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดสุด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ข้างหน้า รอเราอยู่นะ

ถ้าเราเข้าไปเจอตัวมัน เราเข้าไปทำลายมันได้ นี้คืออำนาจวาสนา ถ้าเราเข้าไปไม่ถึงตรงนี้ เราปฏิบัติไปมันก็ปฏิบัติด้วยทุ่มกำลังของเราเข้าไป แต่มันเข้าไปไม่ถึงเพราะกิเลสมันบิดเบือนไง นี่เราก็เทียบธรรมวินัยอีกแล้ว

ถ้าธรรมวินัย เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ ในเมื่อมรรคขั้นที่ ๑ มันเห็นชัดเจน เราพยายามทำโสดาปัตติมรรค เราใคร่ครวญในสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย มันเห็นๆ อยู่แล้ว แล้วเราวิปัสสนาไปมันปล่อย...คนที่มีดวงตาเห็นธรรม ไม่มีความลังเลสงสัยในธรรม มันชัดเจนมาก แต่ความพิจารณาขึ้นไปข้างบนที่กิเลสอย่างละเอียดมันก็บิดเบือนไป เราถึงต้องพยายามทำความสงบของใจ

ถ้าทำความสงบของใจ ใจนี้จะมีสติ เห็นไหม สติปัญญา สติปัญญานี่ตัวก้าวเดิน ความเพียรชอบ การงานชอบ งานในการใคร่ครวญกิเลสเข้ามา กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ เราถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา เพื่อย้อนกลับเข้ามา นี่ใช้กำลังของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติใช้กำลัง ใช้ความพากเพียรของเรา พากเพียรเข้ามา งานอย่างอื่น งานในการกระทำเขาต้องอาศัยนะ ทำธุรกิจเขาต้องอาศัยลูกค้า อาศัยต่างๆ อาศัยสิ่งต่างๆ เป็นผลตอบสนองกัน

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ใจของเรา กายของเรา อยู่ในป่าในเขา พระเราออกธุดงค์ในป่าในเขา พยายามทำสิ่งนี้ พยายามค้นคว้าสิ่งนี้ เพราะสิ่งที่เป็นชัยภูมิในป่าในเขา มันจะมีสิ่งที่ว่าให้หัวใจ ให้เรามีโอกาสในการประพฤติปฏิบัติมาก เราไม่คลุกคลีในหมู่คณะ คลุกคลีต่างๆ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไง ในวงปฏิบัติของเราถึงต้องมีสัปปายะ หาที่สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ

ยิ่งครูบาอาจารย์ที่เคยประพฤติปฏิบัติมานี่จะสงวนจะรักษาสิ่งนี้นะ เพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมา มันเห็นคุณไง คุณของการที่เราได้มาจากตรงไหน เราปฏิบัติมาอย่างไร แล้วมันจะรักษาสิ่งนั้น เหมือนกับนักกีฬาเลย ถ้านักกีฬาของเราไม่ขยันฝึกซ้อม แล้วเราจะเอากำลังมาจากไหน เราจะพัฒนาทักษะของเราได้อย่างไร นี่ออกธุดงค์เพราะเหตุนี้ไง

ออกธุดงค์เพราะเรา ออกธุดงค์ไปเพื่อการค้นคว้า เพื่อหาเรา เพื่อหาใจ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เราต้องค้นคว้าหาใจ แต่ผู้ที่อยู่ทางโลกเขาสบประมาทไงว่า “พระเราทำไมต้องออกป่า ทำไมต้องออกไปอย่างนั้น” ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเขาไม่เข้าใจหรอก เขาก็คิดของเขาเข้าไป “ถ้าเราสามารถทำได้ อยู่ที่ไหนก็ต้องทำได้สิ อยู่ในเมืองก็ต้องทำได้ อยู่ที่ไหนต้องทำได้” เขาไม่เข้าใจเรื่องของกิเลสเลย เขาไม่เข้าใจเรื่องของอำนาจวาสนาเลย จริตนิสัยของคนเขาก็ไม่เข้าใจ เขาไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลย แล้วเขาก็คิดของเขาว่า การทำสภาวะแบบนี้อยู่ในเมือง การค้นคว้าถึงจะเป็นไป

มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้แต่การประพฤติปฏิบัติเข้าป่าเข้าเขา การค้นคว้าหาตัวเอง ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาอย่างนี้ เวลากิเลสมันบิดเบือนอย่างนี้ แล้วเราจะไปหากายที่ไหนล่ะ เราจะไปหาจิตที่ไหนล่ะ เราจะไปหาธรรมที่ไหนล่ะ แล้วเราจะวิปัสสนาอย่างไรล่ะ เห็นไหม เราถึงจะต้องค้นคว้าของเราเข้ามา

ผู้ใดค้นคว้า ผู้ใดเข้ามาเห็นสติปัฏฐาน ๔ นั้นคืองานต่อไป ถ้างานต่อไปจับต้องสิ่งนี้ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นการชำระกิเลสของตัว มันเห็นเทคนิคของกิเลส แล้วมันจะสยดสยองไง ทุกคนเวลาคิด คิดแต่ว่าศัตรูของเรา ผู้ที่ว่ามีอำนาจ มีการเบียดเบียนกันในโลก นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ไม่มีใครเคยเห็นเลยว่ากิเลสในหัวใจของเราน่ากลัวที่สุด

จะน่ากลัวมาก ขนาดว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมเข้ากระแสแล้วนะ มันยังบิดเบือนเพื่อจะให้เราเกิดตายในอำนาจของมัน ไม่ให้พ้นไปจากกระแสของมันได้ แล้วเราจะนอนใจได้ไหม ถ้าเรานอนใจไม่ได้ เราต้องพลิกขึ้นมา พยายามค้นคว้าเข้าไปๆ ทำความสงบของใจเข้าไป...จะต้องเห็นกาย กายอย่างไร ถ้าจับต้องจิตก็เหมือนกัน จะเห็นสภาวะเหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม สภาวะแบบใดก็ได้ ถ้าเราจับต้องสิ่งนี้ได้ วิปัสสนาไปด้วยการใคร่ครวญ มันจะเป็นงานไง แต่เดิมเราไม่เคย เราคิดเป็นเรื่องโลก เราจะคิดเป็นโลกๆ ไปหมดเลย

แต่สิ่งที่เวลาประพฤติปฏิบัติผ่านขั้นตอนมา มันจะเป็นความเคย จิตนี้ทำงานเป็น เหมือนคนทำงานเป็น ทำงานเป็นแต่งานมันคนละแง่มุม มันต้องใช้เทคนิคอย่างใหม่ แต่มันก็มีพื้นฐานไง มันถึงจับต้องสิ่งนี้ แล้วเราพยายามซ้ำเข้าไปๆ สภาวะซ้ำอันนี้มันถึงเป็นการฝึกใจ

มันรู้ตั้งแต่ขั้นต้นมาแล้วว่า เวลาพิจารณาไปแล้วมันไม่มีเหตุมีผล มันจะเสื่อมอย่างไร แล้วถ้ามันมีเหตุมีผล มันขาดอย่างไร สิ่งนี้มันจะย้ำเตือนกับใจตลอด แล้วเวลาพิจารณาไป ถ้ามีการคาดหมายอย่างละเอียด มันจะบอกว่า “เหมือนกับอันนั้นไง มันปล่อยอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนั้น” นี่มันก็จะมีตลอดไป เพราะอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชาที่ใจนี่ เราไม่ต้องการให้เป็นสภาวะของกิเลสแสดงตัวหรอก เราต้องการชำระกิเลส เราต้องการฆ่ามัน

แต่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะฆ่ามัน คำว่า “มัน” ก็คือเราไง คำว่า สรรพสิ่ง ความรู้สึกทั้งหมดก็คือเกิดจากกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสกับใจอันนี้ ปฏิสนธิจิตนี้อันเดียวกัน จิตปฏิสนธินี้พร้อมกับพญามารนี่มันมาจากอันเดียวกัน ถ้าเรามีกำลังขึ้นมา สิ่งนี้จะเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมคือความสงบของใจเป็นพื้นฐาน แล้วปัญญาจะใคร่ครวญออกไป สิ่งนี้เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม เราจะใคร่ครวญว่า “ใกล้ธรรมหรือไกลธรรม” เราจะเป็นญาติกับศาสนาเพื่อความใกล้เคียง เห็นไหม เขาต้องการเป็นญาติกับศาสนาเพื่อจะใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนา แต่เราใกล้เคียงกับธรรมเข้ามา

ความห่างไกล ถ้ากิเลสมันขับไสนี่เราหลุดออกไปเลยนะ เวลาปัญญามันใคร่ครวญ มันจะหลุดออกไป นี้ว่าเราใกล้ธรรม เราอยู่กับธรรม แต่ทำไมมันบิดเบือนออกมาเป็นเรื่องของกิเลส แล้วก็เสื่อม...มันเสื่อมจากการประพฤติปฏิบัติ มันเสื่อมจากพลังงานอันนั้น แต่มันไม่เสื่อมจากธรรมที่เราได้มา เสื่อมจากอันนี้ เสื่อมจากการที่ว่าเจริญแล้วเสื่อมขณะที่ก้าวเดินอยู่ แต่ผลที่รองรับอยู่อันนี้ไม่เสื่อมเด็ดขาด เพราะเราเข้ากระแสมาแล้ว เห็นไหม ขนาดเข้ากระแส งานของเรายังต้องต่อสู้ขนาดนี้เลย เราพลิกแพลงออกไปด้วยปัญญาญาณตลอดไป ต่อสู้ไป เพราะสิ่งที่เป็นพื้นฐานมา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถึงที่สุด เวลาพิจารณากาย สภาวะนั้นจะคืนไป น้ำจะระเหยไปก่อน ไฟจะออกไป แล้วดินออกเป็นดิน น้ำออกไปเป็นน้ำ ดินเป็นดิน ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ คืนตัวออกไป มันเห็นสภาวะสิ่งต่างๆ มันไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นความจริงนี่ ความจริงที่ว่าจิตนี้อาศัยสิ่งนี้อยู่ แล้วอาศัยสิ่งนี้เป็นพื้นฐานออกไปเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ มันเห็นน่ะ สิ่งนี้ก็ไม่จริง

สิ่งที่ไม่จริง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไตรลักษณะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา มันเป็นปัจจุบันธรรมที่ว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ปัจจุบันธรรม อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้ สิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรมที่มันเกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้นน่ะ มันเห็นสภาวธรรมแบบนั้น แล้วมันปล่อยวางขาดไปเดี๋ยวนั้น เห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะอ่อนตัวลง กายกับจิตแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย เก้อๆ เขินๆ มีความเวิ้งว้าง มีความสุขมาก นี่บุคคลที่ ๒

บุคคลที่ ๓ บุคคลที่ ๔ ปล่อยวางตามความเป็นจริงของเขา มีความสุขมาก ถ้าเราไม่มีธรรมวินัยเป็นเครื่องตรวจสอบ เราว่าสิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนี้เป็นความสุขมาก เราจะติดอยู่กับสิ่งนี้ มันความสุขนะ กิเลสร้ายกาจมาก เอาความสุขมาหลอกเรา หลอกว่า “นี่มีความสุข ตรงนี้ใช่แล้ว สิ่งนี้เป็นมรรคผลนิพพาน” แล้วเราก็อยู่สิ่งนี้ไป ถ้าไม่มีธรรมวินัยมาเปรียบเทียบ ถ้าถึงที่สุดตายลงจะรู้ทันทีเลย เพราะจิตมันต้องเกิด มันยังเกิดอยู่ในกามราคะ สิ่งที่เกิดในกามราคะ มันจะเป็นนิพพานไปที่ไหนล่ะ

เพราะว่า นิพพานคือการดับกิเลสหมด สิ่งที่กิเลสดับหมด มันจะต้องไม่เกิดอีก

ถ้าไม่เกิดอีก เห็นไหม ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายสำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรม

ถ้ายังเข้าไม่ถึงธรรม เข้าถึงกระแสของธรรม มีธรรมเป็นพื้นฐาน มันยังเกิดตายๆ ยังเกิดได้อยู่ เพราะมันยังเกิดอยู่ในกามภพอยู่ แล้วกิเลสก็ว่านี่เป็นผลๆ ถ้าเรามีธรรมในหัวใจ แล้วเรามีธรรมมีวินัยเป็นครูเป็นอาจารย์ องค์ศาสดาเทียบอยู่แล้ว เราเทียบเคียงมรรค ๔ ผล ๔...มรรค ๔ ผล ๔ สิ่งนี้เราไม่มี เราทำแล้วมันยังไม่ถึงมรรค ๔ ผล ๔ เราก็ต้อง อ้อ! ถ้ามีครูมีอาจารย์เวลาธมฺมสากจฺฉา หาครูหาอาจารย์ ครูอาจารย์จะสนทนาธรรม ถ้าเราตอบปัญหาถูกต้อง ๒ ปัญหา แล้วปัญหาที่ ๓ เราตอบไม่ได้ล่ะ เห็นไหม ครูบาอาจารย์บอก “อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องออกมาค้นคว้าหากายใหม่”

ถ้าเราค้นคว้าหากายใหม่ ถ้าเราเชื่อเราก็จะทำ ถ้าเราไม่เชื่อ เราก็ว่าของเราถูก ของครูบาอาจารย์ผิด นี่กิเลสมันว่าอย่างนั้นนะ ว่ากับเรา เพราะกิเลสกับเรามันเป็นเพื่อนกัน มันอยู่ด้วยกัน มันคบ มันสนิทชิดเชื้อกันมาแต่นาน มันถึงฟังกันไง มันไม่ฟังธรรม มันฟังกิเลส ถ้ามันฟังกิเลส มันก็ติดอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าคนมีวาสนา ครูบาอาจารย์พูดเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เพราะคำพูดของท่าน ท่านพูดเพื่อเรา...ของท่าน ท่านผ่านไปแล้ว ท่านจะมีประโยชน์สิ่งใด ท่านพูดแล้วท่านไม่ได้บวกได้ลบกับเรา เราต่างหากมีบวกมีลบ ฉะนั้นเราถึงต้องย้อนกลับไง ถ้าเราย้อนกลับขึ้นมา เราจะเริ่มออกแสวงหา ถ้าแสวงหาไปนี่ออกแสวงหา สิ่งที่แสวงหาไป ค่อยทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจ แสวงหาต่างๆ ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีสติ เราจะเอาอะไรไปแสวงหา ถ้าเราก้าวเดินไม่มีเท้า แล้วเราจะเอาอะไรก้าวเดินไป

เห็นไหม สติปัญญาเราสะสมมา เราทำตั้งแต่สติของปุถุชนนะ ฝึกของมนุษย์ มนุษย์ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิ ถึงเป็นมนุษย์ ถ้าขาดจากสติ ขาดจากสมาธิ ก็เป็นคนเสียจริตไป แล้วพยายามสะสม พยายามทำขึ้นมา จนมันรวมตัว มรรคสามัคคี มันมีสติด้วย มีสมาธิด้วย แล้วเราสร้างสมขึ้นไป เราจะเข้าไปจับกายอันละเอียดนี้ มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา

สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญา เพราะมันใกล้เคียงกับจิต สิ่งที่ใกล้เคียงกับจิต จิตกับขันธ์อันละเอียด มันจะอยู่ด้วยกัน ถ้าเราย้อนกลับขึ้นมา สิ่งนี้ก้าวเดินไปจับตรงนี้ ตรงนี้จะเป็นกามราคะ เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในเรื่องของกายจะเห็นเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภัง สิ่งที่เห็นกามราคะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทุกคนส่วนใหญ่จะบอกเลย ให้พิจารณากายนี้เป็นอสุภะ อสุภะมันจะเกิดตรงนี้ ถ้าเกิดจับเห็นสภาวะของกาย มันจะเป็นเรื่องของความเยิ้มไปของเนื้อหนังมังสาที่มันเน่ามันเหม็นของมัน เห็นสภาวะแบบนั้นนะ

ถ้าสภาวะแบบนั้น จะเห็นอย่างนี้ได้ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีสมาธิ ภาพนี้มันไม่อยู่กับเราหรอก มันจะไหว มันจะเคลื่อนไปได้เร็วมาก เราถึงต้องปล่อยเลย ถ้าคนไม่เข้าใจ มันจะเข้าไปต่อสู้ เข้าไปพยายามดึงสิ่งนี้มา ถ้ายิ่งดึงสิ่งนี้มานี่มันส่งออกไป สิ่งที่ส่งออกไปนี่กระแสมันส่งออกไป เราถึงปล่อย แล้วกลับมากำหนดพุทโธๆ แล้วมันกำหนดพุทโธไม่ได้ด้วย เพราะอะไร

เพราะกระแสของมันไง กระแสของงาน มันอยากได้งานมาก มันพุ่งออกไป เพราะตัดกิเลสด้วยปัญญา ไม่ใช่ตัดกิเลสด้วยสมาธิ เราก็คิดว่าปัญญาอันนี้จะก้าวเดินออกไป ความที่ว่าเรายังไม่รอบในขั้นตอนที่กิเลสอันละเอียดที่มันพลิกแพลง เราจะไม่รอบสิ่งนี้หรอก ถ้าไม่รอบเราก็ต้องคิดของเรา เห็นไหม นี่คาดหมาย

การคาดหมายกับธรรมวินัย พระพุทธเจ้าสอนไว้ในพระไตรปิฎกถูกต้อง แต่การประพฤติปฏิบัติของเรากิเลสมันมีส่วน กิเลสมันถึงบิดเบือนไง บิดเบือนให้เราพยายามใช้ปัญญา ปัญญาจะการฟาดฟันกับกิเลส ปัญญาเท่านั้นจะชำระกิเลส ไม่ใช่สมาธิ มันถึงจะย้อนกลับมาทำความสงบไม่ค่อยได้ ถึงต้องฝืน

แต่เดิมเราทำสมาธิไม่ได้เลย เพราะกิเลสมันเต็มหัวใจ แล้วเราพิจารณาเข้ามาจนถึงจุดนี้ เวลามันจะทำสมาธิมันก็เป็นปัญญา แต่ปัญญามันมีธรรมรองรับ มันถึงสูงไง เราถึงต้องพยายามย้อนกลับมา พยายามทำความสงบของใจเพื่อสร้างพลังงานอันนี้แล้วออกไปพิจารณา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนอสุภะนี่มันปล่อยวาง ปล่อยวาง เห็นไหม จนถึงที่สุด อสุภะมันจะเข้ามาจนถึงเนื้อจิต มันจะปล่อยกัน

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน ขันธ์กับจิตอันนี้มันละเอียดมาก มันอยู่ด้วยกัน “กามราคะ” กามราคะคือตัวใจ ถ้าเราพิจารณาอสุภะ เพราะอะไร เพราะตัวใจมันเป็นกามราคะ ตัวใจเป็นโทษ ตัวใจมันเป็นตัวกิเลส แล้วมันเห็นพิจารณาอสุภะ อสุภะอยู่ที่ไหนล่ะ? อสุภะอยู่ที่...ใจเป็นคนเห็นอสุ ถ้าใจเป็นคนเห็นอสุภะ อสุภะมันอยู่ข้างนอกไง นี่มันพิจารณาสิ่งนั้นเข้ามา สิ่งนั้นเข้ามา มันถึงย้อนกลับเข้ามา

อสุภะมันเป็นเรื่องของกาย กายมันเป็นกิเลส มันเป็นกามได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อมันเป็นวัตถุน่ะ มันเป็นเรื่องของธาตุ มันเป็นกามไหม มันจะเป็นกามได้อย่างไรในเมื่อมันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่ตัวสิ่งที่มีชีวิต ตัวสิ่งที่มีความรู้สึก ตัวสิ่งที่เป็นกามราคะคือตัวของใจ มันถึงย้อนพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันถึงจะเข้ามาถึงใจ แล้วมันชำระกันที่ใจ นี่พิจารณากาม พิจารณาจิตก็เหมือนกัน แต่พิจารณาจิตนี้มันเป็นสิ่งที่ละเอียด มันเป็นกามราคะ ตัวมันเป็นเรื่องของกาม มันจะเสพในตัวมันเอง สิ่งที่มันเสพตัวมันเองเพราะมันเป็นขันธ์กับจิตนี้มันอยู่ด้วยกัน นี่ปัญญามันถึงต้องใคร่ครวญ ต้องใช้ความละเอียดอ่อน สิ่งที่ละเอียดอ่อน เห็นไหม มหาสติ มหาปัญญา

คำว่า “มหาปัญญา” ไม่ใช่ปัญญาธรรมดานะ มหาปัญญาที่เราสร้างสมขึ้นมา ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนักรบ รบกับหัวใจของตัว รบกับภพชาติ รบกับกิเลสในหัวใจที่มันพาให้จิตดวงนี้ตายเกิด ตายเกิดมา สิ่งที่จะเกิดนี่เกิดในกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ ถ้าเราชำระไม่ได้ มันจะต้องไปเกิดในเทวดานี้แน่นอน สิ่งนี้เกิด เกิดเด็ดขาด นี่ถ้าเราทำลายสิ่งนี้มันถึงพิจารณาเข้ามา ความละเอียดของปัญญาจะใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะว่างนะ

๑. ว่าง ปล่อยวางแล้วจะว่าง แล้วจะมีกิเลสว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ จะติดสภาวะแบบนี้ กิเลสมันจะพลิกแพลงอย่างนี้ แล้วให้ติดอย่างนี้ไปตลอด แล้วมันจะล้มลุกคลุกคลาน จะต้องต่อสู้กันรุนแรง ในขั้นของกามราคะนี้มันจะรุนแรงมาก ในการต่อสู้กับกิเลส สิ่งนี้มันจะละเอียดอ่อน แล้วรุนแรงมหาศาล

สิ่งที่มหาศาล เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติ ทีแรกว่า จากเห็นอสุภะๆ...ไม่ต้อง เวลาเจอมันแล้วนี่สู้มันให้ได้เถอะ สิ่งที่สู้ให้ได้ ถ้าเป็นธรรมจักรเคลื่อน สิ่งที่เป็นธรรมจักร ปัญญาญาณเคลื่อนออกไปนี่สู้ได้ พอสู้ได้มันก็อ่อนตัวลง ปล่อยวาง ปล่อยวาง เริ่มต้นมันจะเข้มแข็งมาก สิ่งที่เข้มแข็งเพราะมันมีกำลังมาก เราต่อสู้มัน พิจารณาเข้าไปด้วยปัญญาฟาดฟันมันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะเริ่มปล่อยวาง ปล่อยวาง

ปล่อยวางนี่ ความหลงผิดก็ว่าเป็นธรรม แต่ถ้ามันพอเทียบเคียงกับความรู้สึก ออกมานี่เรายังมีความรู้สึกอยู่ สิ่งนี้ยังเป็นกิเลสอยู่ สิ่งนี้ยังทำให้ใจเคลื่อนไหวอยู่ นี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ซ้ำ ปล่อยวางก็เป็นสภาวะแบบนั้น ปล่อยวาง ปล่อยวาง ถึงที่สุด ตัวของมันเองต่างหาก ตัวของความรู้สึก ตัวของจิตนั้น ตัวกามฉันทะความพอใจของมัน ตัวมันเองต่างหากต้องทำลายตัวมันเอง ปล่อยวาง ขาดออกไปจากใจ ครืน! ออกไปจากใจ

ขันธ์อันละเอียด สิ่งที่ขันธ์กับจิตถึงไม่ใช่อันเดียวกัน มันจะปล่อยวางสิ่งนี้ขาดโดยธรรมชาติของมันเลย นี่ธรรมชาติของจิตเลยนะ ธรรมชาติของธรรมจักรจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วก็ฝึกซ้อมไง การฝึกซ้อม เศษส่วนของจิตมันจะมีตรงนี้ เรื่องของกามราคะนี้มันมีแง่มุมของมัน แง่มุมนี้ถึงต้องซ้อม ต้องซ้อม ซ้อมมันจะปล่อย

สิ่งที่ปล่อยเราก็เข้าใจผิด ถ้าเราเทียบเคียงกับธรรมวินัย ก็จะว่ามรรค ๔ ผล ๔ ขณะที่ฝึกซ้อมนี่มันจะปล่อยอีก...ว่าง ว่างมาก ว่างจากกันแล้วยังมีเหตุผลว่างซ้ำ เราก็ติดสิ เพราะอะไร เพราะเรามีเหตุมีผลมาจากข้างหน้า มีเหตุมีผลมันจะบอก กามราคะมันขาด มันสะเทือนออกไปจากใจ ไปแล้ว ฝึกซ้อมมันก็รวมใหญ่ ว่างอีก เห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” มันจะว่างเข้าไปหาตัวจิตของมันเลย สิ่งนี้เป็นตัวจิตของมัน นี่คือตัวอวิชชา

ถ้าเข้าไปถึงอวิชชา ความใกล้ธรรม ความใกล้ธรรมหรือไกลธรรม เป็นญาติกับธรรม เห็นไหม ทวนกระแส พอได้สัญชาติ ตั้งแต่มีชาติของธรรมขึ้นมา ธรรมสภาวะเกิดขึ้นมากับใจ ได้สัญชาติก็ต่อสู้กับกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอน จนถึงตัวมันไง ถึงตัวอวิชชา จะเข้าไปจมอยู่นั้น เพราะเราเทียบกับธรรม กิเลสมันหลอก หลอกว่ามรรค ๔ ผล ๔

ขณะที่ฝึกซ้อมกับกามราคะ นี่เราก็เป็นมรรคตอนขั้นหนึ่ง เราก็ติดตรงนั้น ติดไปเลย ติดสิ่งนั้น วนเวียนกับสิ่งนั้น จนมีครูบาอาจารย์มาชี้นำ หรือกิเลสมันเสี้ยม บอกว่ามรรค ๔ ผล ๔ เพราะเทียบกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ศาสดานี่เราเทียบแล้ว มันเป็นมรรค ๔ ผล ๔ มันหมดแล้ว มันมีเหตุมีผล เหตุผลของกิเลส มันจะไม่ใช่เหตุผลของธรรมนี่

ถ้ามันเป็นเหตุผลของธรรมมันจะย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับ ครูบาอาจารย์ย้อนกลับ เทียบว่า ถ้ามันเป็นความจริง มันจะต้องเห็น เห็นว่า ความเกิดขึ้น จุดของมันที่มันเป็นตัวเกิด สิ่งที่ตัวเกิด กามราคะมันปล่อยมา มันก็มีปล่อยสิ่งนั้นมา ปล่อยมาแล้วมันไปไหนล่ะ มันเป็นขั้นของความว่าง สิ่งที่เป็นความว่าง แล้วอะไรมันรู้ความว่างล่ะ ในเมื่อจิตดวงนั้นมันยังบอกว่าว่างได้ ในเมื่อจิตดวงนั้นมันมีความรู้สึกได้ เห็นไหม

ความสุขหรือความทุกข์อันละเอียดไง สิ่งนี้ละเอียดมาก มันว่าเป็นความสุขล้วนๆ แต่มันไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคือความอาลัยอาวรณ์ไง มันอาลัยอาวรณ์ มันอ้อยอิ่งในตัวมันเอง มันจะหลอก หลอกให้เราตายจากตรงนั้น นี่อวิชชาร้ายกาจ ถ้าเราตายตรงนั้นเกิดบนพรหม แล้วก็สุกไปข้างหน้า แต่ถ้าเราจับย้อนกลับเข้ามาเป็นในภพชาตินี้ เราไม่ต้องอาศัยกาลเวลาให้มันยาวออกไป เราทำอย่างนี้ ถึงว่าหาครูหาอาจารย์นี้สำคัญมาก ครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้แจ้งจะเห็นสภาวะแบบนี้ ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ บอกให้ย้อนกลับ ถ้าจิตมันย้อนกลับ ความย้อนกลับจะเข้าไปจับได้ สิ่งที่จับได้นั้นคือตัวอวิชชา

การขุดคุ้ย การค้นคว้า เราเข้าใจว่า การวิปัสสนามันเป็นงานวิปัสสนาเท่านั้น แต่ถ้าผู้ปฏิบัติจะรู้เลยว่า ถ้าเราไม่ได้งาน เราไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เราจะไม่ได้งาน ถ้าเราเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเป็นปากทางที่เราจะเริ่มเป็นงานขึ้นไป นี่เหมือนกัน ถ้าเราจับอวิชชาไม่ได้ เราจะไม่เห็นงาน เราจะเริ่มต้นไม่ได้ ถ้าเริ่มต้นไม่ได้เราก็จะติดตรงนั้นไป

ถ้าเราย้อนกลับขึ้นมา ใช้ความละเอียดอ่อนของปัญญาญาณอันละเอียดมาก ย้อนกลับเข้าไปจับตัวอวิชชา เห็นตัวอวิชชานะ สิ่งที่เป็นอวิชชา ครูบาอาจารย์บอกแล้ว นี่ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาที่เราใคร่ครวญขึ้นมามันเป็นปัญญาของสังขาร สิ่งที่เป็นสังขาร เป็นขันธ์ ขันธ์กับจิต ปัญญามันถึงมีการต่อเนื่องกัน

แต่ถ้าเป็นอวิชชา ไม่ใช่ขันธ์ สิ่งที่ไม่ใช่ขันธ์ เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ความละเอียดอ่อนของมัน ปัจจยาการ มันจะรับรู้ในตัวมันเอง รู้ตัวมันเอง วนอยู่ในตัวมันเองหมด แล้วสิ่งที่จะเข้าไปทำลายมันก็ต้องเป็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นวิชชา เป็นวิชชาก็ย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับนั่นคือความเป็นไปของมัน สิ่งที่เป็นไปของมัน ชำระสิ่งนี้ออกหมด เห็นไหม สภาวธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม

จากว่า “ใกล้ธรรมหรือไกลธรรม” เป็นญาติกับศาสนา อยากจะใกล้ธรรมมาก ใกล้ธรรมแบบโลกๆ ก็หาเป็นญาติกับศากยวงศ์ เป็นญาติกับศาสนาด้วยการให้ลูกไปบวช แต่เรานี่ เราศึกษาในพระไตรปิฎกมา เราจะเป็นญาติกับศาสนาต่อเมื่อเราประพฤติปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม เข้ากับกระแสของธรรม เป็นญาติกับธรรม ถ้าเราเป็นญาติกับธรรม แล้วเราทวนกระแสเข้าไป นี่ใกล้เข้าไปเรื่อย ใกล้ธรรมของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก “ผู้ที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จับชายจีวรอยู่ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกับอยู่ไกลเรา” ไกลมากๆ แต่ผู้ที่อยู่ชนบทประเทศ อยู่ไกลแสนไกล เพราะชมพูทวีปสมัยพุทธกาลนี่กว้างมาก พระกัจจายนะไปสอนพระโสณะอยู่ที่ชนบทประเทศ อยู่ไกลเราขนาดไหน ประพฤติปฏิบัติธรรมตามธรรมและวินัย มรรคอริยสัจจัง ตามข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนิน

ถ้ามีปฏิปทาเครื่องดำเนินอยู่ นั้นคือถนนหนทางที่เราจะก้าวเดินไปได้ นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนินนี้ พระกัจจายนะสอนพระโสณะ นี่อยู่ไกลมาก อยู่ไกลขนาดไหนเท่ากับอยู่ใกล้ธรรม เพราะธรรมนี้อยู่ในหัวใจพระกัจจายนะ ธรรมนี้อยู่ในหัวใจของพระโสณะ พระโสณะอยู่ไกลแสนไกล แต่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามเราเหมือนกับอยู่ใกล้เรา...ผู้ที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกาะชายจีวรอยู่เลย แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมตามวินัย นี่ถึงอยู่ไกลเรา

อยู่ใกล้ธรรมหรืออยู่ไกลธรรม จนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนหัวใจของเราเป็นธรรม ถ้าหัวใจของเราเป็นธรรม นี่ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเต็มองค์ เราบวชมาเป็นพระ เป็นสมมุติสงฆ์ อุปัชฌาย์สอนมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วสงฆ์ญัตติขึ้นมาด้วยจตุตถกรรมเป็นสมมุติสงฆ์ เป็นศากยบุตรโดยสมมุติ

เราเป็นพระ เป็นนักรบ เราต้องรบกับกิเลสของเรา งานอื่นนั้นเป็นหน้าที่ของโลกเขา โลกเขาเป็นผู้ที่ส่งเสริม โลกเขาพอใจที่จะส่งเสริมสิ่งนี้อยู่แล้ว เราเป็นนักรบ เราต้องรบกับกิเลสของเรา ไม่ใช่นักรบไปรบกับคนอื่น เรื่องของโลกเขา กองทัพเขาต่อสู้กัน เขารบกันข้างนอก แต่นักรบ เห็นไหม ศากยบุตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ให้เรารบกับกิเลสของเรา ถ้าเรารบกับกิเลสของเราได้ นี่จากไกลๆ ก็มาใกล้ ใกล้ธรรมแล้วก็เข้ากระแสของธรรม แล้วก็เข้าถึงธรรม ใจดวงนั้นเป็นธรรม เป็นศากยบุตรแท้ เอวัง