เทศน์บนศาลา

ตามรอยศาสดา

๖ ม.ค. ๒๕๔๗

 

ตามรอยศาสดา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๗
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ภาวนานะ นั่งภาวนา ฟังธรรม ตั้งใจทำให้ได้ผล ในการประพฤติปฏิบัติการฟังธรรมนี้เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าในสมัยพุทธกาลไม่มีตำรา ไม่มีสิ่งใดๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วเผยแผ่สั่งสอนจากพระโอษฐ์ทั้งหมด จากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเกิดลูกศิษย์ลูกหา พระอัครสาวกต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ธรรมอันนี้ กว่าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ได้ เริ่มต้นตามรอยศาสดาให้ได้นะ รอยศาสดาเห็นไหม เริ่มต้นตั้งแต่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเป็นถึงกษัตริย์ จะได้สถาปนาเป็นกษัตริย์อยู่แล้ว แล้วก็ออกไง เห็นยมทูต เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งนี้มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ถ้าเราเป็นกษัตริย์ เราปกครองบ้านเมืองอยู่ เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นไปแบบเขา จะใช้ชีวิตไปแบบนั้น เห็นไหม

ใช้ชีวิตเป็นผู้นำของเขา ทางโลกจะยกย่องมาก ทุกคนจะยอมรับอำนาจของกษัตริย์ สิ่งที่เป็นกษัตริย์ปกครองเขา จะมีอำนาจเหนือทุกๆ คน นี่ความสุขของโลกเขา แต่ก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย สิ่งนี้มันยอกใจไง ยอกใจให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออก เพราะคิดว่า ถ้ามีเกิดก็ต้องมีไม่เกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีฝั่งตรงข้ามตลอดไป ถึงต้องออกไง สละออกจากการเป็นกษัตริย์นะ แล้วออกบวช ยังไม่มีศาสนา

ผู้ที่มีความสุขในราชวัง แล้วออกไปเป็นนักบวช โดยที่ยังไม่มีศาสนา คิดถึงชีวิตสิว่าจะมีความลำบากขนาดไหน ชีวิตที่เคยมีความสุขความสบาย ถ้าประพฤติปฏิบัติโดยความสุขความสบายอย่างนั้น มันจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไร ในเมื่อมันชุ่มไปด้วยกามไง มีทุกอย่างพร้อมไปตลอด แต่ก็สละสิ่งนี้ออกไป ออกหาพรหมจรรย์ไง ออกไปประพฤติปฏิบัติในป่าในเขา

ออกแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่ไหนเขามีครูบาอาจารย์ที่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส มีความสุขในหัวใจของครูบาอาจารย์นั้น ก็เข้าไปศึกษากับเขา ทรมานตนขนาดไหน นอนบนตะปู นั่งบนตะปู เห็นไหม ประพฤติวัตรแบบคนที่เขาประพฤติปฏิบัติ อัตตกิลมถานุโยคเป็นสภาวะแบบนั้น คนที่ยังไม่มีศาสนา ยังไม่มีผู้ชี้นำ เหมือนกับโลกนี้มันมืดบอด สิ่งที่มืดบอดทุกคนก็ต้องแสวงหาไปด้วยความคิด ไปด้วยอวิชชาของตัว

สิ่งที่เป็นอวิชชา สมัยนั้นยังไม่มี สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ไม่รู้ว่าอะไรคืออวิชชา อะไรคือวิชชา ก็เข้าใจว่าสรรพสิ่งที่เป็นการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องเป็นธรรมทั้งหมด เพราะทุกคนประพฤติปฏิบัติก็ต้องการแสวงหาธรรมใช่ไหม เราคิดใฝ่ดี เราหาความดีก็ต้องเป็นความดี สิ่งที่เป็นความดีก็ไปแสวงหาความดีอย่างนั้น ความดีในความคิดของตัว ความคิดของกิเลสพาคิดนี้ แสวงหาขนาดไหน ทุกข์ยากขนาดไหนก็ทำ

จนอดอาหารถึง ๔๙ วัน แล้วเทวดามาดีดพิณ ๓ สาย เห็นไหม พิณที่ตึงไปก็ขาด พิณที่หย่อนไปเสียงก็ไม่ดัง ต้องพิณสายที่เป็นกลางเสียงถึงจะดังกังวาน พิณ ๓ สายนี้เป็นอุปมาอุปไมยไง เป็นบุคคลาธิษฐานให้ได้คิดไง สิ่งที่ทำให้ได้คิดจากภายนอกนี้เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนิมิตขึ้นมา เห็นต่างๆ เห็นอย่างนั้นขึ้นมา จิตของคนพอสงบแล้ว จะเห็นภาพภายในได้มากมายมหาศาล

เพราะจิตแต่ละดวงสร้างสมมาไม่เหมือนกัน พิณ ๓ สาย อย่างนั้นก็เป็นคติเฉยๆ ยังไม่เป็นความจริงหรอก สิ่งที่เป็นความเห็น นิมิตต่างๆ ความเห็นต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเทียบเคียงขึ้นมา จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ก็แล้วแต่เราจะเทียบเคียงของเรา ถ้าตีความหมายนั้นออก เราก็ได้ประโยชน์ พิณ ๓ สายก็ต้องทางสายกลาง ก็ทางสายกลางมันยังไม่เกิด สิ่งที่ยังไม่เกิด แล้วจะเอาอะไรเป็นทางสายกลางล่ะ ก็คิดไง คิดทางสายกลาง จึงวางไง แล้วออกมาฉันอาหาร

ปัญจวัคคีย์ที่ประพฤติปฏิบัติกันมา อุปัฏฐากกันมา ทิ้งเลยนะ ถ้ากลับมามักมากในโลก จะเป็นผู้ที่พ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร แต่ในเมื่อทรมานตนขนาดนั้น ทรมานขนาดไหนก็พยายามจะค้นคว้าเข้ามาไงว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่ที่ลมหายใจก็กลั้นลมหายใจ จนสลบถึง ๓ หน คนเรานี่สลบ ๓ หนแล้วฟื้นนะ ความเป็นอยู่ก็อยู่แบบโลกเขา ทนเอา ขนาดไหนก็ทนเอา ทนเพื่อจะให้เห็นธรรม แต่มันเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อกดไว้เห็นไหม

แล้วย้อนกลับมาฉันอาหาร เพื่อจะให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมา การฉันอาหารของนางสุชาดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมนะ อาหารที่มีบุญมากที่สุด ๒ คราวในพุทธศาสนา คราวหนึ่งฉันอาหารของนางสุชาดา แล้วได้ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน กับอีกคราวหนึ่งฉันอาหารของนายจุนทะ แล้วถึงซึ่งขันธนิพพาน ๒ คราวนี้เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติได้ขนาดนั้น เพราะเป็นบุญกุศลที่ทำกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

ก่อนตรัสรู้ธรรม ฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วนั่งไง “ถ้าไม่ได้ธรรมจะไม่ยอมลุกจากที่นี่อีกเลย” จะตายก็ให้ตายไป ทางสายกลาง กลางคือย้อนกลับมาที่ใจ สิ่งที่ย้อนกลับมาที่ใจนี้ กิเลสมันอยู่ที่ใจเห็นไหม ต้องชำระกันที่ใจ ทางสายกลางมันจะเกิดตรงนี้ไง ตรงที่ว่ากิเลสมันอยู่ที่ใจ ถึงต้องย้อนกลับมาที่ใจ

ถ้าย้อนกลับมาที่ใจได้ ใจเท่านั้นที่สะสมกิเลส เพราะใจดวงนั้นเป็นตัวไปเกิด พอย้อนกลับเข้าไป เริ่มต้นจากปฐมยาม เห็นจิตจากการเกิดการตายต่างๆ บุพเพนิวาสานุสติญาณ อันนั้นก็เป็นอดีตที่ล่วงมาแล้ว แล้วเวลาย้อนกลับเข้ามาอีก เกิดจุตูปปาตญาณ เห็นอนาคต เห็นไหม การเกิดดับ สิ่งที่เห็นย้อนไปเห็นอดีตอนาคต สิ่งนี้ยังไม่ใช่การแก้กิเลส

ปัจจุบันธรรมย้อนกลับมาที่ตัวอวิชชา เห็นไหม อาสวักขยญาณเกิดขึ้นจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยมรรคญาณไง สิ่งที่เป็นมรรคญาณ มรรคนี้สมุจเฉทรวมตัวปหานกิเลสขาดออกไป ญาณทัสสนะถึงจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา” อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดดับจากข้างนอก แต่นี่มันลึกเข้าไปถึงที่สุด อาสวักขยญาณ ญาณที่จิตรู้การเกิดดับทั้งหมด แล้วทำลายความเกิดดับนั้นทั้งหมดเลย นั่นล่ะธรรมเกิดขึ้น ทางสายกลางเกิดจากตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางทางสายกลางไว้ให้เราเดิน สิ่งที่เราเดิน เราถึงต้องตามรอยองค์ศาสดา องค์ศาสดานี้เป็นครูเป็นอาจารย์ วางธรรมไว้ให้เราก้าวเดิน

ศาสนาได้ดำเนินมา ๒,๐๐๐ กว่าปี สิ่งที่สะสมมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเราเข้าไปในวัดในวา เราก็จะเห็นสิ่งปลูกสร้าง เห็นสิ่งต่างๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากคนที่เขาหวังบุญกุศล เขาก็สร้างบุญกุศลของเขาด้วยทาน สิ่งที่เขาสละทานไว้ในศาสนา เขาก็ได้บุญกุศล ใจนั้นถ้าจะได้ไปเกิด ถ้าดับอยู่ในบุญกุศลนั้นก็จะไปเกิดดี แต่สิ่งที่สร้างไว้ก็อยู่ในศาสนา แล้วเราเกิดตายๆ มาพบพุทธศาสนา แล้วเราก็มาศึกษาศาสนา

ตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือวงปฏิบัติของเราไง หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติเห็นไหม มีธรรมวินัยอยู่เหมือนกัน แต่จะศึกษากับใครล่ะ ในเมื่อศึกษาเข้าไปขนาดไหน กิเลสมันก็พารู้ตามสิ่งนั้นไป สิ่งนี้มันรู้ตามไปกับเรา เหมือนกับเราเข้าไปในร้านขายเพชรขายทอง เราไปเห็นเพชรเห็นทอง ถ้าตามสมมุติของโลกเขา เราไปซื้อเพชรซื้อทองก็จะเป็นของเรา แต่ในทางธรรม ถึงเราจะมีเงินทองขนาดไหน เราก็ซื้อมรรคผลนิพพานไม่ได้หรอก สิ่งที่จะเป็นผลที่เกิดขึ้นมานี้ เราต้องแสวงหาเอง ถ้าเราจะแสวงหาสิ่งนั้น เราก็ต้องเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา

ศาสนธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้พระไตรปิฎกเห็นไหม เราก็ค้นคว้า นี้คือตู้ทองคำ สิ่งที่เป็นเพชรนิลจินดามันอยู่ในนี้ทั้งหมดเลย แล้วมีน้ำงดงามขนาดไหน มีหยาบ มีละเอียดต่างๆ กันไป แล้วเราก็ศึกษาเห็นไหม เราเข้าไปเห็นเพชรเห็นทอง เราก็ว่าเป็นของเราๆ ก็กล่าวตู่เอาทั้งนั้น

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ของเราหรอก เราเข้าไปเห็น แล้วเราเข้าไปยึดสิ่งนั้น ถ้าเราเข้าไปยึดสิ่งนั้น เราก็ว่าเราทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเราทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้ มันเป็นการคาดหมาย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมของเรา เราศึกษาเห็นไหม ในภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันต้องศึกษาปริยัติแน่นอน มันเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราเข้าไปเห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าตามธรรมอันนั้น มันก็เป็นปริยัติ เราศึกษามาก็มีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจ ชาวพุทธเราถ้าไม่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ เราเป็นชาวพุทธ พุทธเกิดจากสายเลือด พุทธเกิดจากพ่อแม่ถือ แล้วเราก็ถือตามๆ กันมา แล้วเราอยู่ในสังคมของพุทธ ใกล้เกลือกินด่าง ใกล้เกลือใกล้กับศาสนา แต่ไม่ค้นคว้าศาสนา เพราะศาสนาสอนลงมาที่ใจ

สิ่งต่างๆ นี้เป็นประเพณีวัฒนธรรม แล้วเราก็ไปติดกันที่ประเพณีวัฒนธรรม แล้วก็ว่าประเพณีวัฒนธรรมสอนเท่านี้เองหรือ ศาสนาพุทธสอนเท่านี้เองหรือ ศาสนาพุทธสอนเท่านั้น ให้มีศีล ๕ แล้วก็ให้ทาน ก็คิดกันว่าศาสนาพุทธสอนแค่นั้นไง มันเพียงแต่เริ่มต้นจากทาน แล้วก็ต้องมีศีล แล้วก็ต้องมีการภาวนา ถ้าเราเข้าใจตัวของเราเอง เราจะไม่ใกล้เกลือกินด่าง เราต้องหงายภาชนะของเรา หงายหัวใจของเราขึ้นมา

ถ้าเราหงายหัวใจของเราขึ้นมา เราจะยอมรับว่าในศาสนาพุทธสอนลงถึงที่สุดนะ มรรคผลนิพพาน แก้วแหวนเงินทองในตู้พระไตรปิฎกนี้มีมากมาย แล้วแต่ว่าคนจะต้องการสิ่งใด ถ้าต้องการสิ่งที่ว่าเป็นเรื่องของทานก็ได้ขนาดนั้น เรื่องของอำนาจวาสนา เรื่องของการไม่เชื่อ เรื่องของกิเลสนี่ กิเลสมันปิดตา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ศาสนาไม่มีก็ยังพยายามค้นคว้าสิ่งนี้มา

แต่เรานี้มีศาสนาเต็มตู้พระไตรปิฎกนะ เก็บไว้กราบไว้ไหว้ไง เราไม่ได้ศึกษา พอศึกษาด้วยปริยัติ เราก็ไปติดไง แก้วแหวนเงินทองนั้นเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก้วแหวนเงินทองที่เราศึกษามานี้ มันเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราก็ต้องหาแก้วแหวนเงินทองของเราสิ ถ้าเราจะหาเพชรของเราเห็นไหม สิ่งที่เขาหากันในเหมือง เพชรนิลจินดาในเหมือง อยู่บนแถวพื้นดินก็เกลื่อนไป สมัยที่อุดมสมบูรณ์เห็นไหม เพชรที่ว่าอยู่ในเหมืองนี้เขาอยู่บนดิน อยู่ตามสายธาร ลำน้ำนี่เขาก็มีทองเหมือนกัน ถ้าคนหาได้ตื้น คนที่จะเข้าถึงได้ ก็เข้าถึงได้

สมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ถึง ๖ ปี ทุกข์ทรมานก็พยายาม สิ่งใดที่เขาสอนลึกซึ้งขนาดไหน ก็ศึกษามากับเขาหมดเลย แล้วเวลามาสอนปัญจวัคคีย์เห็นไหม เทศน์ธรรมจักร ทเวเม ภิกฺขเว สิ่งที่ภิกษุไม่ควรเสพทาง ๒ส่วน อัตตกิลมถานุโยค คือการประพฤติปฏิบัติโดยทรมานกาย ทรมานสิ่งต่างๆ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค จะไม่ได้ประโยชน์เลย กามสุขัลลิกานุโยค ความสุขความสบายไง เราก็คิดว่าทางสายกลางของเรา ก็ต้องมีความพอใจของเรา อย่างใดที่ดำเนินชีวิตเป็นไปตามประสาเรา นั้นเป็นทางสายกลางของเรา แต่มันเป็นทางสายกลางของกิเลสต่างหาก

กามสุขัลลิกานุโยค ทาง ๒ ส่วนนี้ไม่ควรเสพ ถึงว่าให้เสพมัชฌิมาปฏิปทา มรรคะ ทางอันเอกเห็นไหม เทศน์ธรรมจักร จักรอันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว พระพุทธเจ้าวางไว้ แล้วทำไมเราไม่ศึกษาภาคปฏิบัติให้มาเป็นสมบัติของเราล่ะ ถ้าจะเป็นสมบัติของเรา เป็นแก้วแหวนเงินทองของเรา เราต้องค้นหาจากหัวใจของเรา ค้นหาจากในร่างกายของเรา ไม่ใช่ไปจำมาจากตู้พระไตรปิฎก

ถ้าเราไปจำมาจากตู้พระไตรปิฎกนี้ มันเป็นการคาดหมาย สิ่งที่คาดหมายนั้น กิเลสมันก็คาดหมายตามไปด้วย ถ้ามันคาดหมายตามไปขนาดไหน มันก็คาดหมายไปตามสภาวะแบบนั้น คนที่ไม่ได้ปฏิบัติแล้วศึกษาธรรม อย่างชาวยุโรปเขา เขายังศรัทธา เขายังมีความเชื่อ เขายังมีความเลื่อมใสออกประพฤติปฏิบัติ ออกมาบวชเป็นพระเป็นเณร มาบวชมากมายเพราะอ่านพระไตรปิฎก เห็นไหม

แต่เราเป็นชาวพุทธอยู่กับพระไตรปิฎก ทำไมมันไม่มีครูบาอาจารย์สอนล่ะ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีกิเลสไง สิ่งที่มีกิเลสมันไม่บริสุทธิ์แบบทองคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันสะเทือนใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ธรรมอันนั้นมา แล้วก็วางธรรมอันนี้ไว้เห็นไหม พระยสะได้ฟังแค่ ๒ คราว คราวหนึ่ง ที่อยู่ในปราสาท ๓ หลังเห็นไหม มีปราสาท ๓ หลัง มีฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวเหมือนกัน “ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” มีความอึดอัดในความเป็นอยู่ของตัว แล้วเดินออกปาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเดินจงกรมอยู่ “ยสะมานี่ ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย” เห็นไหม เทศน์เรื่องทานให้ยสะฟัง ทาน ศีล ภาวนา แล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน พ่อแม่ตามหาลูกอยู่ว่าลูกหายไปไหน ท่านก็บังไว้ด้วยฤทธิ์นะ พอเทศน์สอนพ่อแม่ พระยสะก็ได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ฟังเทศน์ ๒ คราว แต่ได้ถึงพระอรหันต์เพราะอะไร เพราะมีธรรมวางไว้ไง

แต่ของเรานี้ เรามีธรรมวางไว้ แล้วเราศึกษาธรรมของเรา แล้วทำไมเราไม่ได้ผลของเราขึ้นมาล่ะ เราไม่ได้ผลของเราขึ้นมาเพราะเราจำของเรา เราเอาตามกิเลสไง เราศึกษาแล้วเราต้องวางไว้สิ วางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ธรรมของเราเกิดขึ้นมาหรือยัง เราทำความสงบของใจเราขึ้นมาได้ไหม ถ้าเรายังทำความสงบของใจเราขึ้นมาไม่ได้ เราก็ต้องทำความสงบของใจนะ

สมัยพุทธกาลปัญจวัคคีย์ เขาศึกษาอยู่ ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเหาะเหินเดินฟ้าได้ รู้วาระจิต ระลึกอดีตชาติได้หมด สิ่งที่เป็นอภิญญา ๖ หูทิพย์ ตาทิพย์ สิ่งนี้มีอยู่แต่มันแก้กิเลสไม่ได้ สิ่งที่แก้กิเลสไม่ได้นี้ มันไม่ใช่ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ ๔ เรากำหนดอริยสัจ ๔ อยู่ตรงไหน อยู่ในสติปัฏฐาน ๔ มันจะย้อนกลับมาที่กายที่ใจไง ถ้าย้อนกลับมาที่กายที่ใจ กายใจนี้มันมีอะไรอยู่ มันมีกิเลสอยู่ แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา หรือสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขายังไม่มีธรรมอยู่ แต่เขาทำอย่างนั้นได้ เพราะอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ในเมื่ออำนาจวาสนาไม่เหมือนกัน มันถึงต้องขุดเข้ามา มันถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามา

เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร เวลาก่อนจะออกบวชท่านเป็นคฤหบดี มีความสุขกับทางโลกเขา เพลิดเพลินอยู่กับทางโลกเขา สุดท้ายแล้วก็ย้อนกลับมา มันอยู่ที่บุญกุศลของผู้สร้างไง ได้อธิษฐานสร้างไว้ว่าจะเป็นอัครสาวก ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ สุดท้ายแล้วโลกเขาก็เป็นอย่างนั้น จนเบื่อหน่าย ก็ออกประพฤติปฏิบัติกับสัญชัยไง

สัญชัยสอนว่า “สิ่งนี้ไม่มี สิ่งใดก็ต้องไม่มี สิ่งที่ไม่มีก็คือไม่มี” ปฏิเสธสิ่งที่ไม่มีเห็นไหม ความเป็นไปของสิ่งที่อยู่ในหัวใจนี้จะปฏิเสธทุกอย่างว่าไม่มี แล้วมันก็อยู่แค่สภาวะแบบนั้น แต่เพราะเป็นคนมีปัญญาไง ก็สัญญากันเอง สัญญากัน ๒ คนว่านี่ไม่ใช่ทาง เหมือนกับเจ้าชายสิทธัตถะที่ไปศึกษากับพวกลัทธิต่างๆ ว่าไม่ใช่ทาง แม้แต่ได้สมาบัตินะ จะมีความว่างขนาดไหน ก็ว่างของสมาบัติ เวลาว่างออกไปแล้ว ทบทวนจิตออกมา

เจ้าชายสิทธัตถะเรียนกับอาฬารดาบส ว่างมาก สมาบัติเห็นไหม อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันเป็นอรูปฌาน สิ่งที่เป็นอรูปฌานนี้ถึงจะว่างขนาดไหน แต่เวลามันถอยออกมาแล้ว กิเลสก็ยังเต็มหัวใจ สิ่งนี้ไม่ใช่ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะอยู่กับสัญชัย เห็นไหม ปฏิเสธความเป็นไปของความกระทบในหัวใจ “สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ สิ่งที่ไม่ใช่ก็คือความไม่ใช่” ถามว่าไม่ใช่คืออะไร สิ่งที่ถามนั้นก็ไม่ใช่ ปฏิเสธว่าคือความไม่ใช่ ลึกซึ้งมาก

เขาสามารถนำมาเป็นปรัชญาได้นะ ในปัจจุบันนี้ทางตะวันตกที่เขาศึกษาทฤษฎีนี้ เขาว่าสิ่งนี้เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งประสาของเขา เพราะเขาเป็นศาสดาตามที่เขาสอนกัน แต่พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะบอกว่า “ว่างขนาดไหน มันก็ยังมีกิเลสในหัวใจ” สัญญากันว่า ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ ถ้าใครได้ธรรมก่อน ต้องมาบอกกัน พอพระสารีบุตรไปเห็นพระอัสสชิออกบิณฑบาต การเหยียด การคู้ การก้าวเดินไปนี้มีความสำรวมระวัง สิ่งนี้ออกมาจากธรรมไง

พระอัสสชิเป็นพระปัญจวัคคีย์ เป็นหนึ่งในห้าของพระปัญจวัคคีย์ที่มีดวงตาเห็นธรรม ที่ฟังอนัตตลักษณะสูตรจนถึงที่สุดเห็นไหม ออกบิณฑบาตอยู่ ธรรมนี้ออกมาจากใจ ร่มเย็นเป็นสุขออกมาจากใจ เหยียดคู้ขึ้นมาด้วยความสงบเสงี่ยม พระสารีบุตรเห็นสภาวะแบบนั้นก็เลื่อมใสมาก เดินตามไปเพื่อจะขอฟังธรรม พระอัสสชิบอกว่าเราเป็นผู้บวชใหม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีการเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เกิดมาจากจากเหตุ โลกนี้ไม่มีสิ่งใดว่างเปล่า ต้องมีเหตุมีปัจจัยเครื่องดำเนินต่อมาทั้งนั้น จะเป็นความว่างขนาดไหน มันก็มีสสาร มีความเป็นไปของสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่ถ้าจิตว่างขนาดไหน มันก็มีสิ่งที่สะสมอยู่ในนั้น น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ความว่างขนาดไหน มันก็มีอวิชชาซุกอยู่ในนั้นตลอดไป เห็นไหม

“สิ่งทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ดับเหตุนั้น” พระสารีบุตรได้ฟังก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พอเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไปบอกพระโมคคัลลานะให้ฟังธรรมอันนี้ เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมา ก็ได้เป็นพระโสดาบัน จึงไปชวนสัญชัยให้ไปหาศาสดา หาครูอาจารย์ที่ถูกต้อง เพราะสัญชัยสอนแต่ความว่าง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่มี ไม่มี ไม่มี แต่ไม่มีเหตุ ไม่มีผล เห็นไหม

แต่ปัจจุบันนี้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะมีเหตุผล เพราะสาวไปหาเหตุแล้วทำลายเหตุนั้น “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายย่อมดับไปเป็นธรรมดา” แต่ไม่ธรรมดาเพราะความว่างอันนี้ไปยึด ถ้ายึดสิ่งนั้น เห็นสภาวะแบบนั้นมันก็ยึดอยู่ ถ้ามันปล่อยสิ่งนั้น มันก็ปล่อยสังโยชน์ พอปล่อยสังโยชน์มันก็เป็นพระโสดาบัน สิ่งที่เป็นพระโสดาบันมันมีเหตุมีผล

ความว่างที่มีเหตุมีผล ความว่างที่ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นของใจ กับสิ่งที่ว่าไม่ใช่ สิ่งที่เป็นความว่างนั้น มันปล่อยความยึดอันนั้น พอมันปล่อยอันนั้นเข้ามา มันถึงมีดวงตาเห็นธรรม แต่สัญชัยไม่ไป แล้วถามพระสารีบุตรว่า ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก พระสารีบุตรบอกว่า คนโง่มากกว่าคนฉลาด ถ้าการสอนแบบเขา มันสามารถสอนคนโง่ได้ คนโง่จะเชื่อเขา แต่คนฉลาดที่จะมีเหตุมีผล มันมีน้อย

ฉะนั้นถึงอวยพรให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะฟังธรรม เพื่อจะประพฤติปฏิบัติธรรม เขาจะอยู่กับคนโง่ตลอดไป เห็นไหม สัญชัยก็รักษาคนโง่ไป สอนคนโง่ไป คนโง่อย่างนั้นนะ แต่ผู้ที่มีปัญญาจะย้อนกลับมา

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม พระโมคคัลลานะเป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก เวลาทำความสงบของใจ กำหนดพุทโธทำความสงบของใจ แล้วมีความง่วงเหงาหาวนอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนเห็นไหม ถ้าง่วงนอนให้ตรึกในธรรม เวลาตกภวังค์ง่วงนอนให้ตรึกในธรรม ให้พิจารณา ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้ทำสิ่งต่างๆ สอนพระโมคคัลลานะ เพราะได้สร้างบุญกุศลมามาก

พระโมคคัลลานะนี้เป็นเตโชวิมุตติ สำเร็จไปด้วยสิ่งที่มีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วยกขึ้นวิปัสสนากาย วิปัสสนาสิ่งต่างๆ ขึ้นไป จนพ้นออกไป จน ๗ วันพระโมคคัลลานะก็ได้เป็นพระอรหันต์เห็นไหม พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญา เป็นปัญญาวิมุตติ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอน เพราะมีปัญญามาก ใคร่ครวญมาก สิ่งต่างๆ ต้องใคร่ครวญ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จะไม่ทิ้ง ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล จะทิ้งจะปล่อยวางสิ่งนั้นไม่ได้ รักษาใจเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนสุดท้าย เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนหลานของพระสารีบุตรอยู่ หลานของพระสารีบุตรไม่พอใจไง “เราไม่พอใจสิ่งต่างๆ เลย ไม่พอใจโลกนี้” พูดด้วยความเกรงกลัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่พอใจสิ่งต่างๆ เพราะโลกนี้มีแต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่น่ารื่นเริงเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจในอารมณ์สิ่งที่เธอไม่พอใจนั้นด้วย”

พระสารีบุตรฟังธรรมอยู่เบื้องหลัง ขณะที่ถวายงานพัดอยู่ ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่เดิน ถวายงานพัดอยู่ ลืมตาอยู่โดยปกติ กิเลสก็ขาดจากตรงนี้ไง ปัญญาวิมุตติเห็นไหม สิ่งที่เป็นปัญญาวิมุตติหรือเตโชวิมุตตินี้ ถ้ามันถึงที่สุดแล้ว มันต้องขาดเหมือนกัน มรรคสามัคคีเหมือนกัน มรรคผลนี้สื่อความหมายกันด้วยผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะมีเหตุมีผลตามความเป็นจริงอย่างนั้น

แต่เราศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมมา ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ แล้วเราทำไม่ได้ เราทำแล้วมีความอึดอัด เราจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม มันต้องมีสมาธิก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมาธิ สมัยพุทธกาลเขาพยายามฝึกฝนกัน เขามีสมาธิโดยพื้นฐาน พระปัญจวัคคีย์มีสมาธิเพราะปฏิบัติธรรมมา ๖ ปี พร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีสมาธิพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่มีปัญญาเครื่องออกตัวนี้ไง

แต่ของเรานี้ เราว่าเราเป็นปัญญา ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เจริญ เราต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกว่าให้ใช้ปัญญาเหมือนกัน เราก็ใช้ปัญญาของเรา แล้วเราก็คาดหมายไงว่าสิ่งนี้คือปัญญา ปัญญาเราก็ใช้แล้ว ถ้าปัญญาเราใช้แล้ว เราก็ต้องเกิดสภาวธรรม แต่มันจะเกิดสภาวธรรมโดยกิเลสบังเงา เพราะมันจะปล่อยวางเหมือนกัน

การปล่อยวางโดยการที่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งต่างๆ เข้ามา ใคร่ครวญความคิด ใคร่ครวญความรู้สึก สิ่งที่เป็นความรู้สึกเราใคร่ครวญสิ่งนี้เข้ามา ถ้ามีสติเห็นไหม มีสติ มีพลังงานของเรา มีพลังงานนะ เพราะมันจะเกิดปัญญาตัวหนึ่ง ปัญญาตัวหนึ่งคือปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร สิ่งที่เป็นความคิดความปรุงความแต่งเป็นสังขาร แล้วมันจะมีปัญญาอีกอันหนึ่งที่รู้เท่าทัน สิ่งที่รู้เท่าทันนี้มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง

ถ้าปล่อยวางเข้ามานี้ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธินี้ มันจะเกิดเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินี้ มันจะรวมตัวเข้ามา มันจะไม่เป็นสมาธิเวิ้งว้างเหมือนการกำหนดพุทโธนะ ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ เวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันจะเวิ้งว้าง มันจะลงลึกมาก จนสามารถเห็นนิมิต เห็นสิ่งต่างๆ ได้ ถ้าเราเห็นนิมิตเห็นสิ่งต่างๆ เราก็แก้ไข เว้นไว้แต่เห็นกาย การเห็นนิมิตเห็นไหม จิตสงบแล้วไปเห็น เห็นสภาวะอะไรก็แล้วแต่ เราปล่อยวางสิ่งนั้นได้

แต่การเห็นกายไม่ใช่นิมิต การเห็นกายมันเป็นที่อำนาจวาสนา แล้วเราไปเห็นสภาวะนั้น ถ้าเป็นสภาวะนั้น มันจะสะเทือนหัวใจมาก ถ้ามันสะเทือนหัวใจ เราจะเริ่มเห็นกิเลสมันเคลื่อนไหว ถ้ากิเลสเคลื่อนไหวเห็นไหม มันมีเหตุมีผลเพราะมันสะเทือนกิเลส กิเลสนี้จะสะเทือนมาก ถ้าเราทำถูกต้องตามธรรมวินัย เราจะเดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษากับลัทธิต่างๆ มา ไม่เชื่อนะ แล้วยังเทศน์สอนในกาลามสูตรว่า อย่าเชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน อย่าเชื่อครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่สอนกันมา แต่ให้ประพฤติปฏิบัติ พระสารีบุตรประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดเห็นไหม แล้วไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อ จนพระได้ยินว่าพระสารีบุตรพูดอย่างนั้น ก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระสารีบุตรนี้ไม่เชื่อ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเรียกมา แล้วถามว่า “สารีบุตร เธอไม่เชื่อเราหรือ” แต่เดิมเชื่อมาก แต่เดิมนะเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นผู้ให้ก้าวเดินเห็นไหม ถ้าเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราต้องเชื่อครูเชื่ออาจารย์ไง จะบอกว่าไม่เชื่อเลย เราไม่เชื่อ เห็นไหม แต่เรามีศรัทธา แล้วเอาสิ่งที่ฟังมาจากครูบาอาจารย์เป็นเหตุไง สิ่งที่เป็นเหตุนี้ เราจะก้าวเดินตามนั้นไง

ถ้าเราทำของเราเอง เราศึกษาธรรม อ่านพระไตรปิฎกแล้วคาดหมายธรรมตามกิเลสของเราไป มันก็ต้องมีกิเลสนี้ด้นเดากับเราไปตลอด แล้วมันเสียเวลาไง แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์นะ เราสามารถปลดเปลื้องสิ่งนั้นได้ แล้วเราก็พิสูจน์ได้ด้วย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น แล้วผลมันออกมา ถ้าถูกต้องตามนั้นเห็นไหม ครูบาอาจารย์ผ่านไปก่อนแล้ว เราต้องเชื่อก่อน เชื่อแล้วประพฤติปฏิบัติไป ประพฤติปฏิบัติไปแล้วผลอันนั้นจะเกิดขึ้นมาเกิดขึ้นมาจนเหมือนอย่างพระสารีบุตรเห็นไหม ประพฤติปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด แต่เดิมเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก แต่ปัจจุบันนี้ไม่เชื่อ เพราะเหตุใดถึงไม่เชื่อเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระสารีบุตร ไม่เชื่อสิ เพราะว่าความเชื่อมันเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดมา มันเป็นเพชรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตู้พระไตรปิฎกเป็นร้านขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แต่ความเห็นของพระสารีบุตรนี่ขุดค้นเข้าไปที่ใจเห็นไหม

สิ่งที่เป็นนามธรรมในหัวใจ ถ้าไม่พอใจอันนั้นก็สลัดสิ่งนี้ออกเห็นไหม มีเพชรนิลจินดาของพระสารีบุตร พระสารีบุตรขุดลงไปในเหมืองไง ในร่างกาย ในจิตใจของพระสารีบุตร แล้วเห็นมีการขุด การร่อน การค้นคว้า การประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้เกิดขึ้นมา มันเป็นเพชรนิลจินดาในหัวใจของพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็เห็นจริงเหมือนกัน แล้วเพชรนิลจินดาของพระสารีบุตร กับเพชรนิลจินดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เหมือนกันไง

สิ่งที่เหมือนกัน เพชรนิลจินดาของจริงก็ต้องเป็นของจริง เพชรนิลจินดาของปลอมของคาดของหมาย มันก็เป็นความคาดความหมาย เดี๋ยวนี้เขามีตัวอย่างเห็นไหม เขาพิมพ์เป็นหนังสือมาให้เราดู นั่นสิ่งนั้นเป็นตัวอย่าง มันไม่ใช่ของจริงหรอก แต่เราเห็นภาพนั้นแล้วเราก็คาดหมายสิ่งนั้นว่าเป็นของจริงขึ้นมา แต่ถ้ามันไม่ได้ชำระกิเลสในหัวใจ มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร

ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ เราประพฤติปฏิบัติไป ในกาลามสูตรไม่ให้เชื่อเลย เพราะมันจะเป็นจริงขึ้นมา แต่นี่เราเชื่อ เราคาดหมายไป มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น การเชื่อครูอาจารย์ที่ชี้นำถูกทาง กับการเชื่อครูบาอาจารย์ที่ไม่รู้ เห็นไหม หลวงปู่มั่นถึงค้นคว้า หลวงปู่มั่นถึงพยายามสั่งสอนลูกศิษย์ ให้มีวัตรปฏิบัติไง อย่าให้เป็นคนมีวัตรร้าง ถ้าเป็นคนวัตรร้าง เราคิดของเรา เราคาดเราหมายของเรา โดยไม่มีสิ่งใดตรวจสอบ

แต่หลวงปู่มั่นประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาติดขึ้นมาพอไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องค้นคว้าของหลวงปู่มั่นเอง ค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมาเพราะหลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่สร้างสมบุญญาธิการมามาก ผู้ที่สร้างสมบุญญาธิการมามาก จะมีปัญญาไง ปัญญาที่สร้างสมขึ้นมา แล้วเวลาจิตสงบขึ้นมาย้อนกลับมาสิ่งนี้ ครูบาอาจารย์เคยเทศนาว่าการไว้ว่าหลวงปู่มั่นเวลาพิจารณาขึ้นมา จะยกขึ้นวิปัสสนา แล้วเสียดาย เสียดายสิ่งที่เป็นสมบัติ

เห็นไหม แก้วแหวนเงินทองที่สะสมมา มันเป็นทิพย์ สิ่งที่เป็นทิพย์ เป็นปัญญาที่สะสมให้ใจดวงนี้มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ สิ่งที่มาเรื่อยๆ นี้เพื่ออะไร เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไง แล้วเวลาจะทิ้งสิ่งนี้มา มันอาลัยอาวรณ์มาก ถ้าไม่ยอมทิ้งสิ่งนี้มา มันก็จะเป็นฌานโลกีย์ไง ถึงว่าเป็นความว่าง ว่างอย่างนี้ สมาบัติก็ว่าง ว่างจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ความว่างของฌานนี้เป็นอจินไตย

อำนาจวาสนาของหลวงปู่มั่น ที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิมา ความว่างอย่างนั้นมันจะละเอียดอ่อนขนาดไหน ละเอียดอ่อนจนรู้สิ่งต่างๆ ทั่วไป แต่ก็ยังมีความทุกข์ในใจ จนมาใช้ปัญญาใคร่ครวญไงว่า เกิดมาก็ทุกข์ การเวียนตายเวียนเกิดก็ทุกข์ การเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส แล้วมีบารมีสั่งสอนสัตว์โลก และได้วางศาสนาไว้เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาย้อนกลับมาวิปัสสนาก็เป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน เหมือนพระสารีบุตรที่ใจสิ้นจากกิเลสเห็นไหม แก้วแหวนเงินทองของพระสารีบุตรกับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เสมอกันด้วยความบริสุทธิ์ เสมอกันด้วยความเป็นเพชรนิลจินดาที่เป็นของจริงไง จริงในหัวใจดวงนั้น แต่อำนาจวาสนาบารมีเห็นไหม พระสารีบุตรนี้เป็นสาวก เป็นผู้เผยแผ่ศาสนา เป็นผู้จำศาสนา เป็นผู้ช่วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รื้อค้นขึ้นมาเอง แล้ววางศาสนาไว้ด้วยอำนาจวาสนาด้วยบารมีที่สูงส่งกว่ามหาศาล แต่ความสะอาดความบริสุทธิ์นี้เหมือนกัน เพราะปัญญาต่างอย่างนี้ มันถึงได้ค้นคว้าว่า ใจมันติดสิ่งใด ใจมันติดสมบัติเดิมของตัว ถ้าทำความว่างอยู่อย่างนี้ มันก็จะเป็นความว่างอยู่อย่างนี้ เหมือนกับหินทับหญ้าไว้ ถ้าหินทับหญ้าไว้นะ จะก้าวเดินไปไม่ได้เลย ต้องวางใจไง

ใจนี้สละ ตัดด้วยเจตนา เอาเจตนาตัดว่า สิ่งที่จะเป็นสมบัติข้างหน้านี้ไม่เอา วางแล้วยกขึ้นวิปัสสนา พอวางสิ่งนั้นได้ จิตก็ย้อนกลับ พอย้อนกลับขึ้นมา เริ่มต้นวิปัสสนาหาเหตุหาผลในกายในจิต ถ้าวิปัสสนาหาเหตุหาผลในกายในจิต เห็นไหม อันนี้ต่างหากเป็นวิปัสสนา เพราะความว่างความปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางแบบหินทับหญ้า แล้วเป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์ มันมีความเจริญขึ้นมา แล้วมันก็เสื่อมได้ เสื่อมไปตามสภาวะแบบนั้น

เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เห็นไหม สรรพสิ่งนั้นเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่เกิดขึ้นในหัวใจนี้ก็เป็นอนัตตา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้โดยสัจจะความจริง ผู้ที่เห็นจริงก็จะเห็นจริงตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ไม่เห็นจริงก็เรียกร้องไง เรียกร้องว่าสิ่งนี้คงอยู่กับเรา สิ่งนี้คงอยู่กับใจของเรา จะให้ความว่างอยู่กับเราตลอดไป มันจะอยู่กับเราไปได้อย่างไร

สิ่งใดสิ่งหนึ่งเห็นไหมเป็นอนิจจังทั้งหมด สภาวะของโลกนี้แปรสภาพทั้งหมดไม่มีสิ่งใดคงที่เลย จะละเอียดอ่อนขนาดไหน จะมีความว่างขนาดไหน จะมีความสุขขนาดไหน จะไม่มีสิ่งใดคงที่ เป็นไปไม่ได้ว่าจะมีสิ่งใดคงที่ สิ่งนี้ต้องแปรสภาพไป แล้วเราประพฤติปฏิบัติกันเห็นไหม เรากำหนดนามรูป เราก็ดูของเราว่านามรูป เรากำหนดของเราว่า สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา เพราะว่ามีแก้วแหวนเงินทองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในตู้พระไตรปิฎก เห็นไหม

เราก็ไปศึกษาแก้วแหวนเงินทองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็กำหนดดูนามรูปตามความเข้าใจของเรา ถ้าเราดูนามรูปตามความเข้าใจของเรา ด้วยการมีสติมันก็ปล่อยวาง เห็นไหม เพราะมันเห็นอะไร เห็นความเกิดดับ เห็นสิ่งนี้เป็นอนิจจัง แล้วความเกิดดับเป็นความว่าง เห็นไหม “ความว่างอย่างนี้เป็นปรมัตถ์นะ” เป็นความเข้าใจผิดว่าเป็นปรมัตถ์

ถ้าเรากำหนดเป็นธาตุเป็นขันธ์นี้ มันจะเป็นบัญญัติ สิ่งที่เป็นบัญญัติเป็นสมมุติ แต่สิ่งที่เป็นปรมัตถ์คือความว่าง ว่างแล้วมีสิ่งใดล่ะ ว่างแล้วก็ว่าง พิจารณาไปก็ว่างเห็นไหม ถ้ากำหนดเวทนา เวทนาเกิดขึ้น ก็ดูเวทนา เวทนาดับไป เวทนาดับก็ว่าง ว่างอยู่อย่างนั้น ดู รู้ เท่าทันแล้วว่างๆ ว่างแล้วมีสติไหม มีสิ่งใดเป็นสิ่งควบคุม ถ้าไม่มีสิ่งใดควบคุม ความว่างอย่างนี้คือหินทับหญ้า แล้วไม่มีเจ้าของ ถ้าควบคุมไม่ได้ ก็ไม่เป็นสัมมาสมาธิ

เราใช้ปัญญาใคร่ครวญนะ ปัญญาใคร่ครวญความรู้สึก ปัญญาใคร่ครวญความคิด ปัญญาใคร่ครวญในรูปเกิดดับ สิ่งที่เป็นรูปเกิดดับนี้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วเรามีสติควบคุม เวลาปล่อยวาง สตินี้จะคุมไปตลอด ถ้าเรามีสติคุม ความว่างนั้นก็มีเจ้าของ เจ้าของคือสติคุมไว้อย่างนั้น เป็นสัมมาสมาธิเพราะมีการควบคุม ถ้าเราควบคุมจิตของเราได้ ความว่างอย่างนี้เห็นไหม ที่โมฆราชถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พิจารณาจนโลกนี้ว่างหมดเลย ว่างหมด แต่ทำไมยังไม่สิ้นกิเลสล่ะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโมฆราช ตอนสอนพราหมณ์ที่ถามปัญหาแต่ละคน พอถึงโมฆราชเห็นไหม โลกนี้ว่าง กำหนดอะไรก็ว่าง ว่างหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า โลกนี้เป็นความว่าง เธอต้องถอนอัตตานุทิฏฐิเห็นไหม ผู้ที่ไปเห็นว่าโลกว่าง ผู้ที่ไปรู้ว่าโลกว่าง

โลกนี้มันว่างอยู่โดยธรรมชาติของมัน ดิน น้ำ ลม ไฟ ภูเขาเลากา ต้นไม้มันก็ว่างของมันโดยธรรมชาติของมัน มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไปตามสภาวะของเขา เขาไม่มีชีวิตจิตใจ เขาไม่รับรู้อะไรกับเราหรอก มันเป็นอนิจจังทั้งหมด โลกนี้เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เป็นอจินไตยอีกอันหนึ่งเห็นไหม เรื่องของฌานความว่างก็เป็นอจินไตย เรื่องของโลก เรื่องการแปรสภาพ เรื่องของสสารที่มันหมุนเวียนเปลี่ยนไป มันจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปโดยธรรมชาติของมัน

จักรวาลนี้แปรปรวนไปตลอด จักรวาลนี้จะทำลายตัวมันเอง แล้วเกิดจักรวาลใหม่มันแปรปรวนไปตลอด แล้วจะเกิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไปขึ้นมาเป็นองค์ต่อไปมาตรัสรู้ธรรม รื้อสัตว์ขนสัตว์ เพราะมีจิตวิญญาณ มีจิตตัวเกิดนี้อีกมหาศาลในวัฏฏะนี้ ในวัฏฏะนี้ยังมีจิตนี้ที่พาเกิดพาตาย เพราะการสร้างสมมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่อนาคตต่อไป ยังต้องมีจิตดวงนี้มาเกิดมาตายในวัฏฏะนี้ โดยธรรมชาติของเขา

ในวัฏฏะเห็นไหม ในโลกมนุษย์ ในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม สิ่งนี้มันมีอยู่โดยธรรมชาติของเขา จิตนี้เวียนไปเพราะสิ่งที่เกิดจากอดีตมา เกิดจากการสะสมของจิต จิตนี้สะสมสิ่งนี้มาแล้วใคร่ครวญสิ่งนี้มา ได้สร้างบุญกุศลได้สร้างบาปอกุศลมา สิ่งนี้สะสมมา จิตนี้ยังมีโอกาสต่อไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรยรอจะมาตรัสรู้ อนาคตวงศ์ก็ยังรอมาตรัสอยู่ข้างหน้า โลกยังเป็นไปเห็นไหม

ความว่างมันเป็นสภาวะแบบนั้น โลกก็ว่างโดยสภาวะแบบนั้น แล้วเราพิจารณาของเรา เรามีสติไหม เรามีความกำหนดรู้ไหม ถ้าเรามีความกำหนดรู้เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธินี้ มันเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเราควบคุมความว่างอันนี้ได้ เราถึงยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาเห็นไหม เราจะเริ่มหาเหมืองของเรา เราจะขุดหาเพชรหาทองของเรา

เพชรนิลจินดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไปกล่าวตู่ว่าเป็นของเรา เราไปเห็นสภาวะแบบนั้นแล้วก็ว่าเป็นความว่าง ว่าสิ่งนี้เป็นสภาวธรรม สิ่งที่เป็นสภาวธรรม แล้วไม่มีเหตุไม่มีผลว่าเป็นปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นปรมัตถ์เห็นไหม แล้วยังว่าการประพฤติปฏิบัติไปไม่ต้องคาดหมาย ถ้าการคาดหมายนี้เป็นตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานยากนี้จะเกิดเป็นกิเลส จะไม่เกิดผลขึ้นมา แล้วผลที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้ ผลก็ไม่มีแล้วอนาคตไม่มี

แต่วงปฏิบัติเรา วงกรรมฐานของเราหวังผลพ้นจากทุกข์ ที่เราประพฤติปฏิบัติกัน เพราะเราอยากพ้นทุกข์ ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ ครูบาอาจารย์พาทุกข์มาเห็นไหม ทุกข์ ความกำหนดรู้ เรากำหนดรู้ทุกข์ เรามาประพฤติปฏิบัติ เราต้องจริงจังกับเรา เราจะหาเพชรหาทองของเรา เราจะหาเหมืองของเรา มันอยู่ที่วาสนา เหมืองของเราเพชรของเรา จะอยู่ตื้นก็ได้ จะอยู่ลึกก็ได้

ถ้าเราขุดเห็นไหม เราขุดลงไปในร่างกายของเรา เราขุดลงไปในจิตใจของเรา จิตใจนี้มันต้องปล่อยได้ จิตใจโดยสภาวะของโลก เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้มีขันธ์ ๕ มีจิตมีกาย จิตกับกายนี้คือธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มีอยู่ในธรรมชาติของเขา มันมีการทำงานของมันโดยธรรมชาติอย่างนี้ แล้วเราพิจารณาปล่อยวางเห็นไหม เราพิจารณานามรูป พิจารณาต่างๆ แล้วมันก็ปล่อยวางขันธ์ ๕ เข้ามา มันเป็นปัญญาสามัญสำนึก

สิ่งที่เป็นปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาอย่างนี้หรือที่ต้องให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาค้นคว้าให้เรา เราก็ค้นคว้าได้ เราก็คิดได้ ปัญญาอย่างนี้หรือที่ว่าต้องสร้างบุญกุศลเป็นพุทธภูมิ รื้อสัตว์ขนสัตว์สละชีวิตมาขนาดไหน ถึงเกิดภาวนามยปัญญา

เราใช้ปัญญาสามัญสำนึกของเราก็พิจารณาเข้ามา พิจารณาเข้ามา เราก็ต้องมีสติสิว่าสิ่งนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะว่าง มันจะเวิ้งว้างขนาดไหน ก็เวิ้งว้างโดยเป็นมิจฉาเสียอีกนะ เวิ้งว้างเพราะไม่มีสติไง ไม่มีสิ่งใดควบคุมใจดวงนี้ ไม่มีสิ่งใดควบคุมความว่างอันนี้ แล้วความว่างคืออะไร ความว่างอันนี้มันคือว่างในสมาบัติ มันคือว่างในโลก นี่คืออจินไตย ความว่างเป็นอจินไตยอันหนึ่ง แต่ไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้ามีดวงตาเห็นธรรม ความว่างอันนั้นมันมีเหตุ เหตุเกิดขึ้นมาจากเราควบคุมจิตของเราได้ เราควบคุมสัมมาสมาธิของเราได้

พอจิตสงบขึ้นมา เราย้อนดูนะ ย้อนดูว่าติดรูป รส กลิ่น เสียง อย่างไร ธรรมดาของปุถุชน จิตนี้หิวโหยหิวกระหาย มันจะยึดไปหมดเลย เราอยากพ้นทุกข์ก็ยึด อยากประพฤติปฏิบัติก็ยึด ยึดแล้วก็ทุกข์ ทุกข์ว่าเราจะทำได้หรือไม่ได้ ชีวิตนี้เกิดมามีเวลาของเราเหลือไหม กิเลสมันก็จะสร้างขวากหนามให้เราก้าวเดินไปไม่ได้เลย ถ้าเราก้าวเดินไปไม่ได้ เราก็ล้มลุกคลุกคลาน เราเกิดมาเป็นชาวพุทธแล้วก็ทำแค่บุญกุศลไปเท่านั้น เราไม่ขวนขวายไง เราไม่ขวนขวายหาเหมืองหาเพชรของเรา เราไม่ขวนขวายหาจิตของเรา การเกิดมานี้ มีจิตวิญญาณนะ จิตวิญญาณถ้าไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม แล้วเพลินอยู่ในบุญกุศลนั้นก็จะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เพราะความสุขมันครอบงำอยู่ ถ้าเกิดในนรกความทุกข์ก็ครอบงำอยู่ก็จะไม่มีโอกาส

การเกิดเป็นมนุษย์เห็นไหม ปัจจัยเครื่องอาศัยที่ต้องบำรุงธาตุนี้มันบีบคั้น เราต้องหามาบำรุงท้อง ท้องมันหิวมันกระหาย เราต้องหาอยู่หากิน มันมีสุขมีทุกข์ให้เราได้ใคร่ครวญ ถ้ามันมีสุขมีทุกข์ให้เราใคร่ครวญ เราก็พิจารณาสิ่งนี้เข้ามา สิ่งนี้มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางสภาวะแบบนี้ ถ้าปล่อยวางสภาวะแบบนี้ จะพิจารณานามรูปขนาดไหน เราก็ต้องมีสติ จะว่างขนาดไหน จะเป็นปรมัตถ์ขนาดไหน เราต้องตั้งสติไว้ ถ้ามีสติเห็นไหม นี่สัมมาสติ

สติในทางโลกเขา สติที่จะทำโจรกรรม สติที่จะวางแผนคิดเล่ห์เหลี่ยมที่จะทำลายกัน นั่นสติแบบนั้นเขาใช้เป็นมิจฉา ใช้ในการทำลายกันทำลายคนอื่น แต่เราใช้สัมมาสติทำลายกิเลสในหัวใจ ถ้าเรามีสัมมาสติ เราจะสามารถทำให้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเราทำสัมมาสมาธิเห็นไหม ความว่างขนาดไหน ว่างแล้วก็ควบคุมเข้ามา ควบคุมเข้ามาแล้วยกขึ้น ให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สติปัฏฐาน ๔ ฐานนะ

ข้อมูลข่าวสารนี้ ถ้าใครคุมข้อมูลข่าวสาร คนนั้นจะเป็นผู้มีโอกาสมากกว่าเขา เพราะรู้ลึกกว่าเขา นี่ก็เหมือนกันถ้าเรามีฐานของใจที่เป็นสัมมาสมาธิ การมีสติควบคุมนี้คือเรามีฐาน ถ้าเราทำแต่ความว่าง เราไม่มีสติควบคุม ก็เหมือนเรามีข้อมูลมีข่าวสาร แต่เราไม่สามารถใช้มันได้ เพราะเราอ่านข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ออก แล้วเราจะใช้ประโยชน์อะไรขึ้นมาได้ มันก็ว่าเราก็ว่างไง ว่างแบบสัญชัยหรือ ว่างแบบสิ่งนี้ก็ไม่มี ความว่างก็ไม่มี โลกนี้ก็ไม่มี มรรคผลนิพพานก็ไม่มี จะประพฤติปฏิบัติมาเพื่ออย่างนี้หรือ

เห็นไหม หัวหน้าไง โคนำฝูงพาฝูงออกไปกลางแม่น้ำ พอไปเจอน้ำวน แล้วก็ขึ้นฝั่งไม่ได้ หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ฉลาด หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ค้นคว้าขึ้นมา ค้นคว้าสิ่งนี้เป็นโคนำฝูง แล้วนำฝูงขึ้นมา จนการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ เป็นการประกาศให้โลกได้เห็น ให้เทวดาได้เห็นว่า สายปฏิบัติของหลวงปู่มั่นสร้างธรรมในหัวใจ สร้างเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองขึ้นมาจากใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้ามันมีอำนาจวาสนา ถ้าทำได้ เราจะต้องตั้งสัมมาสมาธิของเราขึ้นมา แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราทำไม่ถึงที่สุด หรือความเพียรของเราไม่ถึงที่ แล้วเราก็ปฏิเสธ แล้วให้กิเลสมาขัดขวาง สร้างขวากสร้างหนามให้เรา เราจะเชื่อใจใครได้ เราเชื่อได้ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ ดูพระเราสิ ครูบาอาจารย์ท่านเอาบาตรส่องกับแดด เพื่อจะดูรอยรั่วของบาตรนั้น ลูกศิษย์พอเห็นอาจารย์ส่องก็ยกขึ้นส่องโดยไม่มีเหตุไม่มีผลว่าส่องบาตรทำไม เขาส่องบาตรขึ้นมาเพื่อจะให้เห็นรอยรั่วในบาตรนั้น แต่เห็นครูบาอาจารย์ยกบาตรขึ้นส่อง แล้วเราก็ส่องตาม เราไม่ใช้ปัญญาของเราเลย เราไม่ใช้ความรู้สึกของเราใคร่ครวญว่าสิ่งนี้เขาส่องเพื่อเหตุใด ถ้ามันมีเหตุมีผล เราต้องถามสิ ถ้าถามครูบาอาจารย์ก็จะมีเหตุมีผล ส่องเพื่อดูว่าบาตรนั้นจะมีรอยแตกไหม มีรอยรั่วไหม เขาไม่ได้ยกส่องเพื่อเป็นพิธีกรรม ยกบาตรส่องขึ้นมาก็เพื่อดูว่า ฉันยกบาตรส่อง ทำตามครูบาอาจารย์ไง นี่แหละจริตนิสัย

ถ้าเราใช้การกำหนดพุทโธแล้วมันไม่ลง จะต้องพยายามตั้งใจ ความว่างอย่างนี้ มันเป็นความว่างแบบโลก ผู้ที่กำหนดพุทโธ พุทโธ จะต้องมีความเชื่อ มีความตั้งใจ เราต้องหาเหมืองของเรา เราต้องหากายหาใจของเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วจิตนี้ตามไป ใจของสัตว์โลกมันหิว มันกระหาย มันต้องการอาหารของมัน

เราให้ใช้คำบริกรรมพุทโธ พุทโธคือผู้รู้ ผ้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธคือพุทธะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะปัจจุบันนี้มันยังเป็นสมาธิของมนุษย์ปุถุชน เห็นไหม มนุษย์ปุถุชนต้องมีสมาธิมีสติ ถึงจะเป็นมนุษย์ปุถุชนเป็นคนโดยสมบูรณ์ ถ้าเราขาดสติ เราไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นก็ทำงานไม่ได้ คนที่ขาดสติก็เป็นคนที่เสียจริตนิสัย สติสมาธิแบบนี้ เป็นสติสมาธิแบบปุถุชน

แต่เวลาเราจะยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคมันเป็นมรรคของบุคคลที่ ๑ ในสมณะ ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สมาธินี้มันถึงต้องลึกกว่าของปุถุชนเรา เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อต้องการฐานอันนี้แล้วยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาได้ งานของจักร งานของธรรมมันจะเกิดขึ้น

งานของธรรมคืองานการค้นคว้าหาเพชรหาทองของเรา ถ้าเราค้นคว้าหาเพชรหาทองของเรา เราจะเจอเพชรเจอทองของเราโดยสัจจะโดยความจริง กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธเข้ามา สติจะตามไปตลอด ถ้าขาดสติ พุทโธก็หาย หรืออาจจะตกภวังค์ด้วย ถ้ามันตกภวังค์ไป มันจะหายไปเลย แล้วเราจะรู้สึกตัวขึ้นมา อันนั้นเป็นการตกภวังค์ แต่ถ้าเราต้องการสมาธิอย่างนั้นเราก็ตั้งสติ

ถ้าเราทำแล้วสมประโยชน์ของเรา กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอจิตเริ่มลง มันจะมีอาการเหมือนตกลงจากสูงหรือจะอย่างไรก็แล้วแต่ ปล่อยให้ลงไป สติประคองไปเฉยๆ เรามีสติตลอดไป เห็นไหม สติควบคุมตลอดไป สมาธิจะลึกขนาดไหน ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิจะตัดรูป รส กลิ่น เสียง ทั้งหมด จิตนี้ดับ ความรู้สึกดับ อายตนะดับทั้งหมดเลย แต่ก็รู้อยู่ ว่างมาก ลึกมาก มีความสุขมาก สติพร้อมไปตลอดเห็นไหม มันไม่เป็นปรมัตถ์ที่ว่างๆ ที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ มันจะมีสติควบคุมอย่างนี้ตลอดไป เวลาถอนออกมานี้ เราจะกำหนดเห็นไหม ให้เห็นกายก็ได้ ให้เห็นความรู้สึกก็ได้

ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิมันจะสงบเข้ามา รู้ทันความคิด ปล่อยวางความคิด ความคิดที่ไปเกาะ ปัจจุบันนี้เราเกาะอยู่กับบ้านเห็นไหม หรือเราจะเกาะอยู่กับสิ่งใด ถ้าเป็นพระก็เกาะอยู่กับที่ว่า ความคิดที่มันเกิดขึ้น ของนั้นเก็บหรือยัง อัฐบริขารวางไว้ที่ไหน มันจะไปติดที่อัฐบริขารเห็นไหม จะติดที่สิ่งใดก็แล้วแต่ มันออกไป สิ่งนั้นเราก็วางอยู่นั่น ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน

สติปัจจุบันนี้อยู่กับปัจจุบัน เราดูผู้รู้เข้ามา แล้วเรากำหนดย้อนกลับเข้ามาตลอด มันจะไล่ต้อนความคิดเข้ามา สติก็พร้อมตลอด เวลามันปล่อยเห็นไหม ปล่อยรู้เท่าทันอารมณ์ของตัว สติมันก็พร้อม สติจะมีตลอดไป สตินี้จะควบคุมสมาธินี้ตลอดไป ถ้ามีสติ มีสมาธิเห็นไหม สมาธิ ความว่างทั้งหมดนั้นคือตัวสมุทัยทั้งหมด ถูกต้อง สมาธินี่ว่างหมดเลย แล้วมันก็เป็นสมุทัยทั้งหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิเลย มันก็เป็นโลกทั้งหมดเลย เป็นสมุทัยเหมือนกัน แล้วเป็นโลกด้วย แล้วไม่เกิดปัญญาในการชำระกิเลส ปัญญาในการชำระกิเลสต้องมีสัมมาสมาธิ ถึงเป็นสมุทัยเราก็ควบคุมให้มันปล่อยวาง ให้มันว่าง แล้วเรามีความสุขด้วย มีความว่าง จิตที่อิ่มเต็มจะว่างมาก มีความสุขมาก แล้วไม่ติดในรูป รส กลิ่น เสียง มันปล่อยวางเข้ามา จนสามารถตัดอายตนะได้ทั้งหมด

แม้แต่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ปล่อยวางเข้ามา แล้วจะโล่งมาก มีความสุขมาก ถึงว่างขนาดไหน เดี๋ยวมันก็เกิดอีก เพราะอะไร เพราะว่างขนาดไหน กิเลสมันยังไม่ได้ทำลายไป มันต้องแสดงตัวของมันโดยธรรมชาติของมัน สติของเราจะกำหนดไว้ขนาดไหน เดี๋ยวมันก็ต้องเสื่อมไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะแบบนี้มันเป็นอนัตตาโดยเนื้อหาสาระของมัน แต่เราไม่เห็นอนัตตาในความเห็นของเรา มันเป็นอนัตตา เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

การเห็นนามรูปก็เหมือนกัน สิ่งนั้นมันเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน เราเห็นการสืบต่อของมัน มันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน ภพมันสืบต่อ การเกิดและการดับ การแปรสภาพไป การทำลายไป เราเห็นซึ่งๆ หน้านั่นแหละ มันเป็นอนิจจัง แต่เราไม่เห็นความเป็นจริง เพราะมันไม่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่เป็นปัจจุบันเห็นไหม เวลาเราจะขันนอต นอตที่เราขัน ถ้ามันหมุนตามไป เราก็ว่าเราได้ขันนอตแล้ว มันหมุนตามไป

นี่ก็เหมือนกันอาการของจิตที่มันเคลื่อนไป สิ่งที่เราเคลื่อนไป เราก็เห็นมันเคลื่อนไป แล้วเราเห็นมันเคลื่อนไป เราก็รู้ เพราะเราขันของเรา เราจะขันนอตออกมา ให้มันหมุนตามมา แต่การขันนอต เราต้องให้ตัวนอตอยู่กับที่ แล้วเราขันนอตตัวเมียออกไป แล้วมันจะคลายนอตออกมา

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องตั้งจิตของเราให้คงที่ ถ้าจิตของเราคงที่ จิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนา จิตนี้เป็นผู้ดูแล จิตนี้เป็นผู้ใคร่ครวญ จิตนี้เป็นผู้ทำลาย จิตนี้เห็นอนิจจัง จิตนี้เห็นความเป็นอนัตตา จิตนี้เห็นกายแปรสภาพไปเห็นไหม จิตนี้เห็นแปรสภาพไป แล้วผู้ที่เป็นขิปปาภิญญา เวลาเราจะคลายนอต ถ้านอตมันหมุนตาม เราจะมีกุญแจอีกตัวหนึ่งเห็นไหม ถ้านอตเกลียวซ้าย เราก็ออกทางเกลียวซ้าย สิ่งที่เป็นตัวหมุนตาม เราต้องออกไปเกลียวขวา

สิ่งที่ออกไปเห็นไหม เวลาเราวิปัสสนาไป เวลาเห็นสภาวะของกาย เวลากายมันแปรสภาพไป กายส่วนกาย จิตส่วนจิตจะแยกออกจากกัน สิ่งที่แยกออกจากกันแล้วจิตย้อนกลับมาเป็นความสุขอันละเอียดเข้าไป มันทำลายสิ่งนี้ออกไปจากใจ นี่เราจะได้เห็นเพชรของเรา

เพชรของเรามันเกิดจากภาวนามยปัญญา เกิดจากจิตใคร่ครวญเข้าไปทำลายสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงขึ้นมาจากหัวใจ ไม่ใช่เราไปสร้างภาพ หรือเราเห็นสภาวะโดยสามัญสำนึก สิ่งที่เป็นสามัญสำนึกนี้มันละเอียดเข้ามา จนใจมันปล่อยวางสิ่งนี้โดยธรรมชาติ แล้วสติอยู่ไหน สิ่งที่เป็นสติเราต้องควบคุมของเรา ให้มันมั่นคงขึ้นมา แล้วให้ชำนาญในวสี

ที่เขาบอกว่าจิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ควบคุมไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน แล้วก็ไม่ต้องสร้างสติเลย อยู่กับสภาวะแบบนั้น เกิดดับๆ ตามสภาวะแบบนั้น ภาวนามาขนาดไหน แล้วก็บอกว่ามีความสุขนะ พอมีความสุขก็ปล่อยวาง เป็นความสุขโดยสามัญสำนึก เห็นไหม สุขแบบโลกเขามันก็สุขตามสภาวะแบบนั้น ในฌานโลกีย์เห็นไหม ผู้ที่มีความสุขอยู่ในสมาธิ มันก็ยังติดสุขได้ สุขในสมาธิ สุขในการปล่อยวางอย่างนั้น แต่มันไม่เหมือนกับสุขจากการชำระกิเลสหรอก ความสุขอันนี้เป็นสิ่งที่คงที่ เพราะได้ทำลายกิเลส

ถ้าวิปัสสนาจิต เวลาจิตมันสงบเข้ามาๆ แล้วเวลามันออกรู้ เราสังเกตได้ว่าจิตนี้มันออกรู้ในสิ่งใด ความรู้อันนั้นมันเป็นตัวของรูป จิตนี้เป็นรูปเลย นี่รูปของจิต สภาวะแบบนี้ จับตรงนี้ให้ได้ พอจับรูปของจิตได้ อารมณ์ที่เป็นสภาวะมันก็หยุด เพราะสติเราทัน ถ้าสติเราทันมันก็หยุดเห็นไหม

แล้วแยกออกว่าอะไรเป็นสัญญา สัญญาจะเทียบเคียงขึ้นมา มันไม่เกิดลอยๆ หรอก มันต้องกระทบ ตาเห็นรูป หัวใจคิดถึงสิ่งใด กระทบสิ่งนั้น จับตรงนั้นแยกออก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นรูป มันเป็นพื้นฐานให้วิปัสสนา แล้วอะไรเข้าไปเกาะเกี่ยว สิ่งที่เกิดขึ้น สัญญาอยู่ไหน เวทนาอยู่ไหน แยกออกๆ เวลาแยกออกด้วยปัญญาเห็นไหม ใช้ปัญญาใคร่ครวญ

แต่ถ้าเราไม่เคยวิปัสสนา เราก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นบัญญัติ ถ้าสิ่งนี้เป็นบัญญัติ สิ่งนี้เป็นความผิดเพราะเป็นบัญญัติ บัญญัตินี้เป็นสมมุติ ต้องเป็นปรมัตถ์ไง ต้องดูแล้วปล่อยวาง ดูแล้วปล่อยวาง

อย่างนั้นมันไม่ใช้ปัญญา ปัญญามันไม่เกิดขึ้นเห็นไหม ขั้นของปัญญา คือปัญญาแยกแยะใคร่ครวญไปในเรื่องของจิตนี้ ใคร่ครวญไปให้เห็น เราจะล้มจิตทั้งดวง เหมือนกับเราไปถึงเหมือง เราจะยกเหมืองกลับมาบ้านเรา ยกเหมืองมาเป็นของเรา ในเหมืองนั้นมีเพชร ในเหมืองนั้นมีดิน ในเหมืองนั้นมีแร่ธาตุต่างๆ ที่หนักหน่วงมาก เราไม่ต้องการ เราต้องการเพชรอย่างเดียว เราต้องการเอาเพชรนั้นมาเป็นสมบัติของเรา นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะวิปัสสนาเราต้องแยกสิ่งนี้ แยกว่าจิตมันติดอยู่กับสิ่งใด สังโยชน์ความกระทบของใจมันยึดมั่นอย่างไร ถ้ามันยึดมั่นในธาตุขันธ์ จิตมันมีอวิชชา แล้วมันอาศัยธาตุขันธ์นี้ออกไปเป็นงานของเขา

งานของกิเลสอาศัยความคิดของมนุษย์ อาศัยความคิดของเรานี้ออกไปยึดมั่นถือมั่นให้ไปเกิดความทุกข์ ถ้ามีกิเลสมันจะให้ความทุกข์กับใจดวงนั้น เห็นไหมอาศัยธาตุขันธ์นี้ออกไปยึดมั่นถือมั่นแล้วขวางกับโลกของความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นมาตามสภาวะแบบนี้ มันจะแปรสภาพไปทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย แต่มันก็ยึดว่าของเราต้องอยู่กับเราอย่างนี้ ทุกอย่างเป็นเรา แล้วจะไม่ให้แปรสภาพตามธรรมชาติของโลกเขา

เห็นไหมจิตมันยึด สิ่งที่ยึดนั้น มันเป็นแร่ธาตุต่างๆ ที่มันอยู่ในนั้น มันไม่เป็นความจริง เราถึงต้องใช้ปัญญา ขั้นของปัญญา เวลาแยกเห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกให้ได้ ใช้ปัญญาแยกแยะสิ่งนี้แยกออกมา ถ้าเกิดเวทนา ที่ว่าเวทนาเกิดดับ ดูเวทนาเห็นไหม ดูเวทนาเกิดที่ไหน เวทนาหนอ หนอก็ต้องดับ แต่เวลาเราเกิดเวทนา เวทนาเกิดจากอะไร เวทนาเกิดจากเรานั่งนานแล้วเลือดลมมันไม่เดิน มันก็เป็นธรรมชาติของมัน

ถ้าธรรมชาติของมัน เวลาถ้ามันปวด ความปวดเป็นอย่างนี้เห็นไหม เวลาคนเขานั่งเล่นเกม เขานั่งอยู่ในโลก เขานั่งกันเจ็ดวันเจ็ดคืน ทำไมเขาไม่เห็นปวดเพราะอะไร เพราะจิตเขาไม่รับรู้ ขณะที่จิตมันไม่รับรู้ มันเพลินกับอารมณ์สิ่งอื่น มันยังปล่อยวางได้ขนาดนั้นเลย แล้วปัญญาที่ใคร่ครวญให้เห็นเกิดดับๆ มันจะมีเหตุผลอะไรล่ะ

แต่ถ้าเราจับเวทนา เวลาเรานั่งเราเห็นเวทนา เวทนาเกิดที่ไหน เวทนาเวลาเกิดเกิดที่กาย เวลาเกิดที่เท้า ถ้าเวทนาเกิดที่เท้า เกิดขึ้นแล้วเราลุกไป เวทนาก็ต้องอยู่กับเราสิ มันไม่มีหรอก มันเกิดโดยเป็นอุปาทาน เกิดโดยความยึดของใจ เราคิดกันทางวิทยาศาสตร์ว่าเลือดลมมันไม่เดิน มันนั่งทับนานมันก็ต้องปวด มันก็ต้องเจ็บ แล้วเวลาเราวิปัสสนาแล้วมันปล่อย ทำไมมันหายล่ะ เวลามันปล่อยเพราะใจมันปล่อย ใจมันปล่อยนะ มันขาดนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ มันจะขาด

เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนาไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เวทนา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่เรา ทุกข์ไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ขันธ์มันก็จริงตามธรรมชาติอันหนึ่ง พิจารณากายปล่อยกาย กายก็จริงตามธรรมชาติอันหนึ่ง จิตมันก็จริงตามธรรมชาติอันหนึ่งเห็นไหม มันคลายนอตออกไง ขันคลายนอตออกจากกัน นอตตัวผู้กับนอตตัวเมีย หมุนไปคนละทางแล้วคลายออกจากกัน

สิ่งที่คลายออกมาเห็นไหม จิตมันปล่อยวางเวิ้งว้างไปหมดเลย ปัญญาญาณที่มันชำระกิเลสมันชำระอย่างนี้ จะพิจารณากายหรือพิจารณาจิตก็เหมือนกัน จะเตโชวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ ก็เหมือนกันในผล ต่างกันโดยเหตุ ต่างกันโดยอำนาจวาสนา สิ่งที่ต่างกัน เราวิปัสสนาต่างกันเข้ามา แล้วเราก็ยกของเราขึ้นไป

กิเลสที่ละเอียดอ่อนในหัวใจ เราล้มลุกคลุกคลานมา แล้วเดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความทุกข์ขณะที่ออกประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปี แล้วพยายามค้นคว้าด้วยความเข้มแข็งของใจ คืนสุดท้ายในวันเพ็ญเดือน ๖ “ถ้านั่งแล้วคืนนี้ไม่ตรัสรู้จะไม่ยอมลุกจากที่นี่เลย” ให้ตายคาโคนต้นโพธิ์นั้น ใจเด็ดขนาดนั้นเห็นไหม ๖ ปีนี้ทุกข์ขนาดไหน ถึงที่สุดแล้วก็เข้าถึง ความผิดพลาดที่ทดสอบมาถึง ๖ ปี ไม่ใช่ทาง บัดนี้เห็นไหม พิณ ๓ สายดีดแล้ว แต่มัชฌิมาปฏิปทาในหัวใจยังไม่เกิด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงปฏิญาณตนแล้วนั่งในคืนนั้น ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมายาม ถึงยามสุดท้ายก็ขาด กิเลสขาดออกไป ทุกข์ที่ไหนก็สู้ ทุกข์ที่ไหนก็ทน ทนนะทน ด้วยปัญญา ไม่ใช่ทนด้วยขันติ ถ้าทนด้วยขันติ เราทนเฉยๆ มันไม่เป็นปัญญา เราต้องทนด้วย แล้วเราต้องใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ ให้ปัญญาลึกซึ้งเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน

เราหาแก้วแหวนเงินทองของเรามาได้ชั้นหนึ่งเห็นไหม เพชรน้ำที่มันยังไม่บริสุทธิ์ มันยังไม่สะอาด แล้วมันจะสะอาดเข้าไป วิปัสสนาเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป ลึกเข้าไป ทำลายธาตุขันธ์เหมือนกัน จะเป็นขันธ์ก็ได้จะเป็นธาตุก็ได้ ถ้าเราไม่ยกขึ้น เราไม่ขุดคุ้ยหาในสติปัฏฐาน ๔ เราจะไม่สามารถวิปัสสนาได้ ถ้าเราเห็นภาพจากภายนอกโดยสามัญสำนึก เราคิดเอาเอง แล้วเราปล่อยเอาเอง มันไม่มีเหตุไม่มีผล

แต่ถ้าเราค้นคว้าของเรา เริ่มต้นจากวิปัสสนา เราค้นคว้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วจับสิ่งนี้แยกแยะเข้ามา มันจะปล่อยวางเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ปล่อยวางเข้าไปจนสังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว วิปัสสนาซ้ำๆ จากที่ทำไม่เป็นจนทำเป็นเห็นไหม ทำเป็นแล้ววิปัสสนาเป็น ก็แยกแยะเข้าไป พอปล่อยออกมา กายกับจิตจะแยกออกจากกันโดยธรรมชาติเลย

สิ่งที่เป็นธรรมชาติเพราะเราฝึกฝน เรามีฐานอยู่แล้ว เราเป็นผู้ที่ทำงานเป็น เราเคยงานขึ้นมา มันจะปล่อยวางเห็นไหม นอตมันคลายตัวออกไป กามราคะปฏิฆะนี้มันจะจางออกไป เหมือนนอตคลายตัว เหตุผลมันพร้อมสมบูรณ์ แล้วมันยังมีสังโยชน์ขาดออกไป ให้เห็นโดยชัดเจน ว่างหมดเลย ความว่างอย่างนี้ก็มี มันว่างมาก จนติดความว่างได้เห็นไหม ความว่างอันนี้ว่างจากกิเลสขาดไป ๒ ชั้น แต่ก็ยังติดได้

ว่างโดยฌานโลกีย์ก็ว่าง ว่างโดยสมุจเฉทปหานจากการตัดกิเลสมันก็ว่าง แล้วก็ติด เพราะกิเลสตัวที่ละเอียดกว่ามันพาติด จนต้องอาศัยครูบาอาจารย์เห็นไหม ยกขึ้นเคาะให้ออกวิปัสสนา วิปัสสนาก็ต้องค้นคว้าหา ถ้าเห็นกายจะเป็นอสุภะ ถ้าเห็นจิตจะเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะจากภายใน เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัตินะ ที่ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงของเราอ่อนลงจางลง อันนั้นมันเป็นสามัญสำนึก ในเมื่อเรายังควบคุมได้ สิ่งมันนั้นก็ควบคุมได้

เวลาเราจับสัตว์จากป่ามาฝึกเห็นไหม สัตว์ป่ามันกินสัตว์เป็นอาหาร มันกินเนื้อเป็นอาหาร มันทำแต่สิ่งที่มันพอใจของมัน เรายังฝึกฝนให้มันเชื่องได้ นับประสาอะไรกับใจของเราที่มีธรรม ถ้ามีธรรมขึ้นมาควบคุม มันก็จะควบคุมได้ แต่ถ้ามันจะให้ขาดเห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะขาด เราจะต้องยกขึ้นวิปัสสนาจากภายใน สิ่งที่เป็นภายใน มันจะค้นคว้าไง ถ้าค้นคว้าเข้าไปเห็นกาย เห็นจิต

ถ้าไม่ค้นคว้า ถ้าไม่เห็นกาย ไม่เห็นจิต จะวิปัสสนาไม่ได้ คำว่าวิปัสสนาเห็นไหม ถ้าใช้ปัญญาแล้วจะเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นวิปัสสนาไปไหน ในเมื่อเรายังไม่เห็นฐาน ไม่เห็นที่ทำงาน ไม่เห็นกิเลส กิเลสมันอาศัยที่ไหน ถ้าเราเห็นกายเห็นอสุภะนี้มันจะสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนหัวใจว่า เราได้จำเลยแล้ว สิ่งที่เป็นจำเลยเพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ไง อวิชชา ความรู้สึกอาศัยสิ่งนี้ออกมา อาศัยสิ่งนี้ไปหาเหตุยึดมั่นถือมั่น อาศัยสิ่งนี้กวนหัวใจ ให้หัวใจโกรธ ให้หัวใจหลง ให้หัวใจพอใจกับความพอใจของมัน สิ่งนี้เป็นความพอใจจากภายใน จับสิ่งนี้ได้แล้วยกขึ้นวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความรุนแรงมหาศาล กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันจะรุนแรงมหาศาล ทำลายสิ่งนี้ ทำลายจนมันขาด มันทำลายตัวมันเองจนมันขาดออกไปเห็นไหม สิ่งที่ขาดออกไปนี้ เพชรนิลจินดาจะแวววาว จะสวยสะอาดบริสุทธิ์มาก ยิ่งฝึกซ้อมไว้ขนาดไหน มันจะแวววาวมาก ยิ่งใสยิ่งสะอาด เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสโดยฌานโลกีย์ เวลาที่จิตสงบนี้ มันสว่างได้ ถึงมันจะสว่างขนาดไหน มันก็สว่างแบบมีอวิชชา มีกิเลสเต็มหัวใจ แต่การวิปัสสนาเข้ามา ถึงที่สุดแล้วว่างหมด สว่างไสวขนาดไหนเห็นไหม แล้วก็ฝึกซ้อมให้มันละเอียดเข้าไป สิ่งที่ละเอียดเข้าไป มันจะว่างเข้าไป ว่างเข้าไป จนถึงที่สุดเห็นไหม เพชรนี้ใสนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส นี่จิตปฏิสนธิ ความรู้ของจิต ความเห็นของผู้ที่วิปัสสนาจะเห็นจิตปฏิสนธิ จิตตัวนี้เป็นเจ้าวัฏจักร จิตตัวนี้เป็นแกนของจักรวาล จิตดวงนี้เป็นแกนของวัฏฏะ จิตดวงนี้เกิดตายในวัฏฏะนี้มาตลอด แต่ถ้าเข้ามาถึงตรงนี้ ถ้ามันดับอีกเดี๋ยวนี้ มันก็ไปเกิดเป็นพรหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม เรามีแก้วแหวนเงินทอง เราต้องสงวน เราจะรักษาแก้วแหวนเงินทองของเราไว้สุดชีวิต เพราะเราปรารถนามันมาก

แต่ขณะที่เราจะเป็นจะตายเห็นไหม แก้วแหวนเงินทองจะไม่มีความหมายเลย เราต้องตายไป เราจะสงวนจะรักษาขนาดไหน มันก็ต้องพลัดพรากจากเราทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นใจดวงนี้ มันก็เหมือนกับแก้วแหวนเงินทองที่ใสที่สะอาดที่บริสุทธิ์ที่สุด ความรู้สึกของเราบริสุทธิ์ที่สุด เพราะเรายังไม่เห็นอวิชชา ถ้าเราเห็นอวิชชา เราย้อนกลับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าธรรมะละเอียดอ่อนมาก ถ้าหลวงปู่มั่นไม่ค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมา ครูบาอาจารย์องค์ไหนจะสามารถแก้ไขจิตอย่างนี้ได้

จิตอย่างนี้ต้องติดโดยธรรมชาติ ขนาดการพิจารณาความว่างอย่างที่ว่าไม่มีสติ ก็ยังติดกันได้ ยังว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ มีความสุขความสบายแล้วติดสิ่งนั้นเห็นไหม แล้ววิปัสสนาเข้ามาชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แล้วฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันปล่อยวางแล้วปล่อยวางเล่า ทำไมมันจะไม่ติดล่ะ มันยังติด พอเข้ามาถึงอวิชชาได้ อวิชชามันจะติดในตัวมันเอง สิ่งที่มันเป็นอวิชชานี้ มันจะทำลายสิ่งอื่นๆเข้ามา แล้วมันจะสงวนรักษาตัวมันเอง

จนถึงที่สุด ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำ หรือถ้ามีอำนาจวาสนาเห็นไหม ทำไมครูบาอาจารย์ถึงติดตรงนี้กันมากล่ะ ทำไมต้องหาครูบาอาจารย์ที่มีอำนาจวาสนามากกว่าคอยชี้นำล่ะ แล้วต้องชี้นำแบบไม่ให้มีทิฏฐิมานะในการยึดมั่นถือมั่นด้วยนะ ต้องใช้อุบายวิธีการสอนโดยไม่สอน สอนโดยให้เขานั้นย้อนกลับเข้ามา ให้เห็นอวิชชาเห็นไหม เพชรนิลจินดาตัวนี้เป็นสิ่งที่เป็นอัตตานุทิฏฐิ

จิตนี้ปล่อยวางกิเลสเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา จนถึงที่สุดแล้วถึงตัวของมัน แล้วต้องทำลายตัวของมัน แต่จะทำลายได้ต้องค้นคว้าหามันให้เจอ ถ้าค้นคว้าหามันเจอเห็นไหม การค้นคว้าหากิเลสนี้เป็นงานอันหนึ่ง การทำลายกิเลสนี้เป็นงานอีกอันหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าเรากำหนดแล้วปล่อยวางกิเลส ชำระกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอน ไม่มีหรอก ถ้าเราไม่เห็นกิเลส เราก็ไม่เห็นเหตุเห็นผล เรายังไม่ได้ทำลายสิ่งใดเลย แล้วเราจะชำระกิเลสได้อย่างไร

ย้อนกลับเข้ามาถึงตรงนี้ มันย้อนกลับเข้าไปเห็นถึงที่สุดแล้ว มันถึงจับตรงนี้ได้ ปัญญาญาณอย่างละเอียดเห็นไหม ทำลายเพชรนิลจินดา ทำลายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธนี้เป็นตัวอวิชชา พุทโธนี้อยู่ที่หัวใจ ตัวกำหนดสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยวางเขา ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ถึงที่สุดแล้วต้องทำลายตัวมันเอง พอทำลายตัวมันเองเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสรู้ธรรม

ธรรมนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ธรรมแล้วมีความสุขเห็นไหมแก้วแหวนเงินทอง เพชรนิลจินดาในตู้พระไตรปิฎกก็เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอย่าตู่ว่าเป็นของเรา ถ้าตู่ว่าเป็นของเรา เราก็เป็นชาวพุทธตามประเพณี

เพราะเราเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นเจ้าของเพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเทิดทูนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงศึกษาแล้วเก็บสงวนรักษาไว้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเห็นไหม แม้แต่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพชรนิลจินดาก็ต้องทำลาย ถ้าไม่ทำลายจะติดไปทุกส่วนจนถึงที่สุด ติดไปตั้งแต่ต้นจนถึงจบ เพราะเราปฏิบัติกันด้วยกิเลส เอากิเลสเริ่มต้น เอากิเลสเป็นเครื่องเคียงไปกับใจ แล้วปฏิบัติโดยการคาดการหมายไปตลอดเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เรามีครูบาอาจารย์นะ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์มันหมายถึงเราเกิดมาแล้วมีอำนาจวาสนามาก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราก็ต้องศึกษาไปแบบนั้น เราก็ต้องมีกิเลส เราก็ต้องคาดหมายไปอย่างนั้น แล้วจะไปได้ถึงไหน ก็คาดหมายไม่ได้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปถึงไหน

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เห็นไหม ถ้าผิดพลาดครูบาอาจารย์จะคอยแก้ไขเรามาตลอด มีขอบมีเขต มีการสิ้นสุดขบวนการ มีเหตุมีผล แล้วทำลาย แล้วว่างจริง ว่างแบบนี้ว่างแบบไม่มีกิเลส ว่างแบบความเป็นจริงเห็นไหม ความว่างอย่างนั้นไม่ต้องพูดถึงมัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าวิมุตติสุข แล้วไม่พูดเลย พูดถึงแล้ว ถ้าเราเอามาสื่อกัน มันก็สื่อแบบโลกออกไป โลกก็คาดหมาย แล้วก็เป็นธรรมคาดหมายตั้งแต่ต้นจนจบ เอวัง