ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กรรมพันธุ

๗ ก.ย. ๒๕๕๖

กรรมพันธุ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสงสัยในการภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ กระผมมีข้อสงสัยในการภาวนาอีกครับ คือว่าเมื่อจิตผมสงบลงจนคำบริกรรมชัดเจนแล้ว หลายครั้งจะปรากฏคล้ายแสงกระพริบถี่ๆ ขึ้น อาการเหมือนเปลือกตากระตุกถี่ๆ พอเห็นแสงผ่านเข้ามา ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่จิตสงบดีแล้ว และเป็นช่วงท้ายๆ ของการภาวนาเท่านั้น ผมจึงอยากทราบว่า

. อาการดังกล่าวคืออะไรครับ

. ในขั้นอัปปนาสมาธิจะมีระยะเวลาทรงตัวประมาณเท่าใดครับ ข้อนี้คำถามเพราะอยากรู้เฉยๆ ยังทำไม่ถึงหรอก

ตอบ : เขาว่านะอยากรู้เฉยๆยังสงสัยไง สงสัย ฉะนั้น สิ่งที่ว่า. อาการดังกล่าวคืออะไรครับ

แสงกระพริบถี่ๆ แล้วกระตุกอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราบอกว่ามันเกิดขึ้นช่วงหลังที่จิตสงบดีแล้ว ของช่วงท้ายๆ ของการภาวนา ช่วงเริ่มต้นทำไมมันไม่เป็นล่ะ ช่วงเริ่มต้นไม่เป็นเพราะเราตั้งสติดีใช่ไหม พอตั้งสติดี ตั้งสติดีด้วย แล้วจิตมันเป็นปกติ เราจะบอกว่า ของ เวลาอะไรที่มันเกิดขึ้น มันเหมือนรถ เราเปรียบเหมือนรถ รถถ้าจอดอยู่ ไมล์มันก็ไม่กระดิกหรอก แต่ถ้าล้อมันได้เคลื่อน ล้อรถได้หมุนไป หมุนช้า ไมล์ก็ขึ้นแค่เล็กน้อย ถ้าล้อมันหมุนไวขึ้น ไมล์มันก็จะขึ้นสูงขึ้น

จิตของคน จิตของคนโดยปกติมันไม่รับรู้อะไรหรอก ฉะนั้นถึงบอกว่ารู้ตัวทั่วพร้อม ที่เขาบอกว่าไม่ต้องทำสมาธิ เขาใช้ความคิดอย่างนั้น คือรถเขาจอดนิ่งๆ รถจอดนิ่งๆ มันจะไปถึงเป้าหมายได้ไหม รถจอดอยู่ รถไม่มีการเคลื่อนไหวอยู่ รถไม่ได้วิ่งไปอยู่ รถจะถึงเป้าหมายได้อย่างไร รถมันถึงเป้าหมายได้ รถมันต้องออกจากที่ รถต้องเคลื่อนตัวออกไป พอเคลื่อนตัวออกไป ไมล์มันก็จะกระดิก ไมล์มันก็จะขึ้น ทีนี้พอไมล์มันจะขึ้น พอไมล์ขึ้น ไมล์นี้มันเพื่อวัดความเร็วของรถว่ารถมีความเร็วมากน้อยแค่ไหน

จิต จิตถ้ามันจะสงบ จิตถ้ามันมีกำลังของมัน จิตมันมีการเปลี่ยนแปลงของมัน นี่คือการเปลี่ยนแปลงของจิตไง ถ้าการเปลี่ยนแปลงของจิต จิตถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป ทีนี้พอการเปลี่ยนแปลงออกไปโดยที่ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านก็บอกพยายามทำจิตสงบเข้ามา ถ้าจิตเห็นนิมิต เราก็พยายามกลับมารู้ที่พุทโธ ถ้าระลึกพุทโธแล้วมันก็ไม่ส่งออก มันก็ไม่รับรู้อะไร แต่ถ้าคนจิตมันคึกจิตคะนอง จิตที่มันมีอำนาจวาสนา จิตที่มันคึกคะนองก็ต้องมีครูบาอาจารย์คอยควบคุม คอยควบคุม คอยชี้แนะ ไม่ให้มันเหิมเกริม ไม่ให้มันออกนอกลู่นอกทาง มันเป็นพันธุกรรมของจิต วุฒิภาวะพันธุกรรมของมัน

กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ จิตนี้มันมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มันได้สร้างสิ่งใดมา จิตมันแตกต่างหลากหลาย พอจิตแตกต่างหลากหลาย พอเวลามันเป็นไป จะบอกว่า ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง พระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบมันก็เห็นอย่างนี้ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ถ้าสมาธิมันก็มี ขณิกสมาธิชั่วคราว อุปจาระคือจิตมันมั่นคงขึ้นมา แล้วออกรับรู้ ออกวิปัสสนา คือออกรับรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมคือระดับนี้ ถ้าเข้าไปอัปปนาสมาธิคือเข้าไปพักผ่อนให้มันสงบร่มเย็น ไปสร้างฐานกำลังของมัน แล้วมันคลายตัวออกมา คลายตัวออกมา

อัปปนาสมาธิจะฝึกฝนสิ่งใดไม่ได้ อัปปนาสมาธิคือเข้าไปพัก แล้วอัปปนาสมาธิเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งของใจ แต่อัปปนาสมาธิจะเกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ เพราะคนมันไปพักผ่อนเต็มที่ มันจะทำงานของมันไม่ได้ ทำงานไม่สะดวก มันต้องคลายตัวออกมา คลายตัวออกมาก็เป็นอุปจารสมาธิ

อุปจารสมาธิ อุปจาระคือรอบรู้ มันพิจารณาของมัน เห็นไหม มันต้องมีสมาธิ จิตมันต้องมีจิตจริงไง จิตจริง จิตเป็นสมาธิ จิตมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

แต่จิตเราปกติ รถมันจอดเฉยๆ รถมันจอดเฉยๆ แล้วบอกรถจะไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว รถจะไปเชียงใหม่ รถจะไปภูเก็ต รถไปถึงหมดเลย ไปถึงด้วยความนึกคิด ไปถึงด้วยจินตนาการ แต่รถมันจอดอยู่กับที่ รถจอดอยู่กับที่เพราะอะไร เพราะเราไม่ยอมทำสมาธิไง เราไม่ยอมให้รถมันมีการเคลื่อนไหวไงเราเคลื่อนไหวไม่ได้ เคลื่อนไหวแล้วเกิดนิมิต เคลื่อนไหวแล้วมันจะอันตราย เคลื่อนไหวไปแล้วมันจะตกถนน เคลื่อนไหวไปแล้วเดี๋ยวคนขับจะหลับใน เคลื่อนไหวไปแล้วผิดไปหมดเลย มันวิตกวิจารณ์ไปหมดเลยบอกรถเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะควบคุมรถไม่เป็น

แต่ถ้าคนจะทำงาน รถต้องเคลื่อนไหว โลจิสติกส์ การขนส่งมวลชนมันต้องมีการขยับขับเคลื่อน มันมีการขนส่ง มันมีการขนสัมภาระ มันต้องมีการกระทำของมัน มันถึงจะเป็นความจริงของมัน

ถ้าเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงมันจะเกิดอาการแบบที่เป็นนี้ ถ้าอาการที่เป็น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติเป็นของท่านแล้ว ถ้าเกิดอาการสิ่งใดท่านก็จะแก้ไข นี่ไง พระกรรมฐานติดครูติดอาจารย์ก็แบบนี้ สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังแล้วก็ตอกย้ำเรา เรายังทำไม่เป็นเราก็จินตนาการของเราไป พอเราภาวนาเป็นขึ้นมาแล้วมันมีอุปสรรคขึ้นมาก็ไปปรึกษาท่าน ท่านก็จะแก้ไขให้เรา ถ้าแก้ไขให้เรา

ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า สิ่งที่เห็นนั้นเห็นจริงไหม จริง เห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริงๆ เพราะเราไปรู้ไปเห็นของเราจริงๆ เราไปสัมผัสของเราจริงๆ จิตเราเป็นของเราจริงๆ แล้วไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกไม่จริงๆ โอ๋ย! งงเลยนะ มีปัญหาแล้ว

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านภาวนาของท่านเป็นนะ สิ่งที่เห็นจริงไหม เออ! เห็นจริงๆ แต่ความเห็นมันยังไม่จริงเพราะเป็นอุปาทาน ความเห็นเพราะเห็นโดยกรรม ความเห็นโดยที่ว่ามันส้มหล่น ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริงมันเป็นอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านจะใช้อุบาย เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ต้องเป็นอย่างนั้นมาก่อน ครูบาอาจารย์เราล้มลุกคลุกคลานมาก่อนนะ ถ้าล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ถ้าล้มลุกคลุกคลานแล้วถอย ล้มลุกคลุกคลานแล้วก็ไปยึดโลกียปัญญา ไปยึดในสถานะของความเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นโลก โลกเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ทางคำนวณ มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางธรรม มันไม่ใช่พุทธศาสน์

ถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์ทางธรรมขึ้นมา จิตมันสงบเข้ามาแล้วมันพัฒนาของมันขึ้นมาอย่างไร นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่วิทยาศาสตร์ทางธรรม วิทยาศาสตร์เป็นนามธรรม ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางการคำนวณอย่างนั้น วิทยาศาสตร์อย่างนั้นมันคำนวณอย่างนั้น คำนวณแล้วมันผิดไม่ได้นะ ผิดออกนอกลู่นอกทางไม่ได้เลย แล้วจิตคนมันมีหนึ่งเดียวหรือ จิตคนมันจะเหมือนกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือ

ถ้าจิตคนเหมือนกัน พระพุทธเจ้าจะมีซ้อนๆ กัน พระพุทธเจ้าเกิดเต็มเลย พระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าเยอะแยะไปหมดเลย ทำไมพระพุทธเจ้ามีองค์เดียว เอกํ นาม กึ จะมีได้หนเดียว มีองค์เดียวแต่ละยุคแต่ละคราว เพราะอำนาจวาสนามีพุทธวิสัย สาวกสาวกะไม่ได้ขี้ตีนเลย ไม่ได้ขี้ตีนพระพุทธเจ้าเลย แล้วจะไปเหมือนกัน ขนาดว่าเกิดมาร่วมชาติร่วมอะไรยังไม่เหมือนกันเลย มันเหมือนกันมันไม่มีไง ถ้าเหมือนกันมันไม่มี

นี่พูดถึงว่า ถ้าจิตมันกระพริบ จิตมันเป็น มันเป็นเพราะอะไร อาการดังกล่าวมันคืออะไรครับ

อาการดังกล่าว เพราะล้อของรถมันหมุนใช่ไหม ไมล์มันก็ขึ้น มันก็บอกอาการ เวลาเราปฏิบัติกัน เราอยากได้ เราอยากได้ธรรมโอสถ เราอยากได้ความสุข ความสงบ ความระงับขึ้นมา ได้ความสุข ความสงบ ความระงับขึ้นมา อย่างเช่นที่ว่า เวลาเราไปกินอาหารรสชาติที่มันเอร็ดอร่อย โอ๋ย! เราชอบใจนะ แต่ไปกินสิ่งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่ว่ารสของอาหารที่มันเป็นธรรมชาติขึ้นมา เราว่าไม่อร่อย

ดูสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นธรรมะ น้ำใสจืด น้ำใสสะอาด จืดสนิทเย็น นี่ธรรม แล้วมันไม่มีโทษกับใครเลย ไม่มีโทษกับร่างกาย ไม่มีโทษกับอะไรเลย แต่ถ้าเราไปกินนะ กินน้ำสะอาด น้ำสะอาดมันก็มีอยู่ทั่วไป ดูสิ เราอยู่ในแหล่งน้ำ เราอุดมสมบูรณ์ เกิดในประเทศอันสมควรไง มีแม่น้ำลำคลองเยอะแยะไปหมด ไปดูที่เขาเกิดในประเทศที่อัตคัดขาดแคลนสิ เขาไม่เคยกินน้ำใสน้ำสะอาดเลย น้ำของเขา เขากินโดยดำรงชีวิตของเขาเท่านั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่า เวลาถ้าจิตมันสงบ ธรรมโอสถ พอเราจิตสงบแล้ว กลับไม่รู้อีก พอจิตสงบนี่งงๆ นะ เอ๊ะ! มันคืออะไร มันคืออะไร แต่ถ้ามันมีรสเจ็บ รสปวด รสทุกข์ รสระทมหัวใจ เออ! อันนี้ดี รสที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ เออ! อย่างนี้ดี สะใจดี

แต่ถ้าพอมันสงบเข้ามา เอ๊อะ! เอ๊อะ! อะไรน่ะ เอ๊อะ! เอ๊อะ! อะไรน่ะ ไปถามครูบาอาจารย์ไง ฉะนั้น คนที่เป็นอย่างนี้มันถึงจะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง

อาการดังกล่าวมันคืออะไร

อาการดังกล่าว ถ้าแสงกระพริบถี่ๆ ถ้ามีสิ่งใด กำหนดพุทโธไว้ชัดๆ ถ้าพุทโธนะ ถ้ากำหนดลมหายใจก็เอาลมหายใจไว้ชัดๆ กำหนดอะไรก็ได้

ฉะนั้นบอกว่า จำเป็นต้องพุทโธหรือ พุทโธหรือ

พุทโธมันเป็นสิ่งที่สูงสุด พุทธานุสติ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพุทโธ เราก็เอาอันนี้เป็นตัวตั้ง แต่ถ้าอานาปานสติ เรากำหนดมรณานุสติ กำหนดอะไรก็ได้ ต้องมีกำหนด ถ้าไม่กำหนด มันเลื่อนลอย ไม่กำหนด จิตมันเร่ร่อน ถ้าเรากำหนด บังคับให้มันลงตรงนี้ แล้วมันจะต่อต้าน มันจะทำแล้วมันไม่ได้ผลของมัน ต่อต้านเพราะอะไร ต่อต้านเพราะคนกิเลสหยาบ คนกิเลสหนา

ถ้าคนกิเลสบาง โธ่! พุทโธเมื่อไหร่ผมก็ทำได้ พุทโธผมทำได้ตลอดเวลา นี่คนกิเลสเบาบางไง แต่กิเลสเบาบางมันก็เร่ร่อน ผมกำหนดเมื่อไหร่ก็ได้ ผมกำหนดได้หมดเลย แล้วผมก็เป็นสมาธิหมดเลย ว่างๆ ไปหมดเลย

แล้วเป็นอย่างไรล่ะ

ไม่รู้

มันต้องชัดๆ ชัดๆ จะหยาบจะละเอียดเราเกาะไว้ ถ้าเกาะไว้ เกาะไว้เพื่อให้จิตมีคำบริกรรม มีฐานของมัน แล้วถ้าลงมาก็เป็นอย่างนี้

บอกว่าหลายครั้งปรากฏเป็นแสงกระพริบ อาการเหมือนตากระตุก

ถ้าอาการตากระตุก กำหนดไว้เฉยๆ กำหนดไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปรับรู้ ถ้าอาการเปลือกตากระตุก แล้วก็ทำไมมันถึงกระตุก กระตุกเพราะเหตุใดนะ นี่จิตมันเกาะ ธรรมดาควรเกาะที่พุทโธ มันก็ไปเกาะที่อาการกระตุกของตา แล้วพอไปเกาะที่อาการ เปลือกตามันกระตุกใช่ไหม เราคอยรับรู้มันนะ พอเดี๋ยวกระตุกนะ เดี๋ยวมันจะเป็นแผ่นดินไหวเลยล่ะ มันจะกระตุกแรงมาก มันจะกระตุกเพราะอะไร เพราะจิตไปยึดตรงนั้น

ถ้าวิธีแก้นะ มันจะกระตุก เราก็รับรู้แล้ววางไว้ กลับมาที่พุทโธ อาการที่แผ่นดินไหวนะ แผ่นดินไหวมันปลดปล่อยพลังงานไปแล้ว เวลากระตุกแล้วมันปลดปล่อยพลังงานไปแล้ว มันไม่มีแล้ว กว่ามันจะสะสมพลังงานมันถึงจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไป นี่ก็เหมือนกัน พอกระตุก เรากลับมาพุทโธ มันปลดปล่อยพลังงานไปแล้ว มันจะเบาลง

นี่ก็เหมือนกัน อาการอะไรจะเกิดขึ้น รับรู้ ไม่ใช่มันไม่มี รับรู้แล้ววาง เพราะเราไม่ต้องการปรารถนาสิ่งนั้น เราปรารถนาความสงบของใจ เราปรารถนาจิตเรามั่นคง จะรับรู้สิ่งใด รับรู้แล้ววางไว้ๆ อย่าไปสนใจ ถ้าสนใจมันจะไปตอกย้ำตรงนั้น จะไปคิดถึงตรงนั้น แล้วตรงนั้นเป็นสิ่งที่ดี แล้วถ้ามันถึงตรงนี้นี่มาถึงครึ่งทางแล้ว ถ้ากระตุกๆ มาได้ครึ่งทางแล้ว เออ! แล้วจะต่อไปอย่างไร มันก็กระตุกๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ

สิ่งอะไรก็แล้วแต่มันเป็นอุปสรรคหมดใช่ไหม กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ คนเรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทุกอย่าง อันนี้วางไว้ แล้วกำหนดพุทโธหรือใช้อานาปานสติชัดเจนเข้าไป ชัดเจนเข้าไป เดี๋ยวสิ่งนี้จะหายหมด เพราะวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

วิตก วิจาร เกิดปีติ เกิดอาการต่างๆ เกิดปีติ เกิดความสุข เดี๋ยวมันเกิดความตั้งมั่น มันจะผ่านของมันไป ถ้าผ่านของมันไปเราจะรู้เลยว่า อ๋อ! มันเป็นทางผ่าน มันต้องมีของมัน เวลาทำสิ่งใดมันต้องมีเหตุมีผลของมัน แต่ถึงสุดท้ายแล้วเราต้องการความสงบระงับ ต้องการสัมมาสมาธิ ต้องการความสงบของใจเข้ามา

ข้อที่ ๒. ในขั้นอัปปนาสมาธิจะมีระยะเวลาทรงตัวประมาณเท่าใดครับ ข้อนี้ถามเพราะอยากรู้เฉยๆ

อัปปนาสมาธิของครูบาอาจารย์นะ อย่างเช่นหลวงตาท่านเล่าบ่อย ที่ว่าอาจารย์เนตรที่กำหนดเสือมางับคอ ลงทีหนึ่ง ๔-๕ ชั่วโมง บางองค์ลงทีหนึ่ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางทีลงเล็กน้อยก็มี แต่บางคนถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น อัปปนาสมาธิ คำว่าลงมาก ลงน้อยมันอยู่ที่คนชำนาญ แล้วคนทำได้คล่องแคล่วแค่ไหน แล้วถ้าคนชำนาญจะเข้าไปพัก แล้วอัปปนาสมาธิ กับเนวสัญญานาสัญญายตนะ สมาบัติ มันลึกซึ้ง มันจะลึกซึ้งไปเป้าหมายอันนั้นเลย อัปปนาสมาธิ เนวสัญญานาสัญญายตนะไง สมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ มันเข้าออกอย่างหนึ่ง อัปปนาสมาธิเข้าอีกอย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิ

คำว่าสัมมาสมาธิอันนี้มันเป็นความชำนาญของคนนะ ถ้าชำนาญแล้วมันจะเข้าใจ จะเข้าใจว่าอัปปนาสมาธิเป็นอย่างไร สมาบัติ ๘ เป็นอย่างไร นิโรธสมาบัติเป็นอย่างไร

ฉะนั้น เรื่องฌาน ฌานเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ เรื่องพุทธวิสัย เรื่องโลก เรื่องกรรม เรื่องฌาน เรื่องฌานก็เรื่องสมาธิ มันแตกแขนงไปได้เยอะแยะเวลาไป มันเป็นอจินไตยอันหนึ่งเลยแหละอันนี้

แต่พูดถึงเขาถามว่าแล้วมันมีระยะทรงตัวเท่าไร

ระยะทรงตัวอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วจะภาวนาไม่ได้ เพราะเรากำหนดระยะทรงตัวเท่าไร เข้าอัปปนาสมาธิต้อง ๑ ชั่วโมง ถ้าเลย ๑ ชั่วโมงไปก็ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เราไปสร้างกรอบของเราเองไง

อัปปนาสมาธิ รวมใหญ่ เวลาเข้าไปรวมแล้วเป็นอย่างไร แล้วเวลารวมใหญ่ รวมใหญ่จากการใช้ปัญญา เวลากิเลสมันขาด นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งอีกล่ะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเทศน์การพิจารณากาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วมันรวมลง มันรวมลง เวลามันพิจารณามันปล่อยแล้วมันรวมลงอีก รวมลงแล้ว ยถาภูตัง รวมลงมันปล่อย มันขาด เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาอีก อู๋ย! มันไม่เกี่ยวกับสมาธิแล้ว มันไม่เกี่ยวกับเรื่องฌานสมาบัติแล้ว มันเป็นเรื่องของปัญญาไปแล้ว แต่ปัญญาต้องมีสัมมาสมาธิมารองรับ

นี่พูดถึงว่าอัปปนาสมาธิ เขาถามว่า อัปปนาสมาธิ ระยะทรงตัว คือเขาบอกว่าอยากรู้เฉยๆ ครับ

เออ! อยากรู้เฉยๆ มันก็เลยไม่รู้ ถ้าจะรู้มันต้องภาวนาให้รู้ แล้วมันจะเป็นของมัน อันนี้พูดถึงว่าสงสัยในการภาวนานะ

ถาม : เรื่องอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ได้ฟังเทศนาตอบคำถามของพระอาจารย์แล้วรู้สึกว่าจิตดวงนี้มีอะไรที่สลับซับซ้อนเหลือเกิน แต่ก็ไม่ท้อนะครับ เพราะไม่รู้ว่าชาติหน้าจะได้เกิดมาเป็นคนหรือเปล่า อยากจะทำให้ถึงที่สุด จะยึดเอาพุทโธไว้เป็นที่พึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม กล่าวถึงหัวข้อคำถาม ช่วงเวลาที่ผ่านมา ๑ อาทิตย์ รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ของตัวเองว่ามีความต้องการทางเพศลดลง มีสติมากขึ้น มองเห็นว่าสิ่งใดคือทุกข์ สิ่งใดเป็นสุขบังหน้าทุกข์ จึงเกิดคำถามดังนี้ครับ

. ความต้องการทางเพศที่ลดลง เป็นสิ่งที่ดีต่อการปฏิบัติก็คือผลที่เกิดจากมรรคใช่หรือไม่ครับ

. เวลาเจอสิ่งกระทบจะเกิดความรู้สึกที่กลางหน้าอก พอกำหนดให้ความรู้สึกนั้นเป็นพุทโธสักพักก็เกิดความสงบ อย่างนี้เรียกว่าอะไรครับ ต้องรบกวนท่านอาจารย์อีกครั้ง

ตอบ : นี่คำตอบนะ คำถามที่ว่า นี่พูดถึงว่าได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ตอบถึงจิตดวงนี้ที่มีอะไรสลับซับซ้อนเหลือเกิน

คำว่าสลับซับซ้อนเหลือเกินสลับซับซ้อนมันคนที่กิเลสไง ถ้าขิปปาภิญญา การปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติแล้วก็รู้ไปเลย แต่คำว่าสลับซับซ้อนเหมือนคนที่มีปัญญามันรื้อค้นไง รื้อค้นว่าจิต คำว่าถ้ารื้อค้นจิตมันเข้าไปเห็นว่ากิเลสมันพลิกแพลง กิเลสมันมีแง่มุม กิเลสมันมีซับซ้อน ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาเวลาท่านเทศน์ ท่านเทศน์ ความมหัศจรรย์ของจิตเวลาท่านเทศน์นะรากเหง้าของจิตหลวงตาท่านจะเทศน์เรื่องเล่ห์กล คำว่าสลับซับซ้อนคือเล่ห์กลของกิเลสไง

กิเลสมันก็อยู่กับใจของเรา มันก็ใช้ใจของเราพลิกแพลงหลอกเราเอง มันเอาเรื่องของเราหลอกเรา แล้วเราก็ไม่เข้าใจ พอเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เข้าใจว่าเป็นธรรม พยายามเปรียบเทียบ เทียบเคียงไง มันคู่เหมือน คู่เหมือนแต่ไม่เหมือน คู่เหมือนแต่ไม่จริง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาของเราไปเราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แต่ความจริงแล้วมันเป็นความสลับซับซ้อนที่กิเลสมันเอาสิ่งนี้มาพลิกแพลงมาเป็นประโยชน์ของมัน เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสมันก็สร้างภาพให้เหมือนธรรมๆ ความเป็นไปเหมือนกันเลย แต่ความจริง กิเลสเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบังเงา มาใช้หลอกเรา ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ป้องกันไว้ไง คือเทศน์ของหลวงปู่มั่น เทศน์ของหลวงตา เทศน์ของครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะบอกเล่ห์กลของมันไง จะบอกเล่ห์กล วิธีการการฉ้อฉล ความเป็นไปของมันไง

ฉะนั้น พอบอกขึ้นมา เราก็บอกว่า โอ้โฮ! ฟังเทศน์แล้วจิตดวงนี้มันสลับซับซ้อนเหลือเกิน มันสลับซับซ้อน

ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย เวลาสมัยพุทธกาลมีพระบวชมาในพระพุทธศาสนา แล้วว่านู่นก็ผิด นี่ก็ผิด อู๋ย! วินัยเยอะแยะไปหมดเลย ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจะสึก สึกแล้ว สึก ไม่ไหว อะไรก็ยุ่งไปหมดเลย

ทำไมถึงจะสึกล่ะ

โอ้โฮ! วินัยมันมาก มากเหลือเกิน มันไม่ไหว รักษาไม่ไหว สึกดีกว่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าวินัยเหลือข้อเดียวได้ไหม ถ้าวินัยเหลือข้อเดียวอยู่ได้ไหม

ได้ๆ ถ้าข้อเดียวอยู่ได้เลย ถ้าวินัยข้อเดียวไม่สึกๆ

ท่านบอกว่า รักษาวินัยข้อเดียวพอ รักษาใจไว้ รักษาใจของตัวเอง

ถ้ารักษาใจของตัวเอง เราไม่มีเจตนาทำความผิด คนเรามันผิดพลาดไปมันก็ผิดพลาดไปโดยที่ไม่มีเจตนา เห็นไหม มันสลับซับซ้อนไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสลับซับซ้อน สลับซับซ้อนเพราะเล่ห์กลของมัน ลูกมัน หลานมัน เหลนมัน ปู่มัน พ่อมัน มันช่วยกันหลอกจิตไง แต่ถ้าเราจะปฏิบัติ ไม่สนใจใครเลย ตั้งสติดูจิตของเรา ไม่ซับซ้อน ต่อหน้านี่แหละ แต่เวลาเราปฏิบัติไปแล้วมันมีเล่ห์กล คือมันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน เราก็อยากรู้ทำไมมันผิดอย่างนี้ ทำไมเราทำแล้วมันไม่ได้ผล เราก็อยากรู้ พออยากรู้มันก็สลับซับซ้อนแล้ว นี่พูดถึงว่าทำไมจิตมันถึงสลับซับซ้อนขนาดนั้น

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นของท่าน ท่านถึงบอกถึงเล่ห์กลของมันได้ แต่คนที่ไม่รู้จริงมันก็บอกว่านี่เป็นธรรม เล่ห์กลของมันนั่นน่ะ เล่ห์กลของกิเลสทั้งหมด แล้วบอกว่าเป็นธรรม

จริตของคนไม่เหมือนกัน กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย คนที่เขาฉลาด เขามีอำนาจวาสนาของเขา เขารู้ทันของเขา เขาก็เลยบอกว่า อืม! กิเลสก็ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่เรายังสู้มันไม่ได้เท่านั้นเอง เราก็เลยตั้งความหวังไว้ว่าถ้าเรามีกำลังขึ้นมา เราก็จะต่อสู้กิเลสให้เป็นพระอรหันต์ไปเลย เป็นพระอรหันต์ง่ายๆ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็เอาไว้ก่อน

เวลาคนมีวาสนานะ บอกว่า โอ๋ย! กิเลสฆ่าเมื่อไหร่ก็ได้ เรารู้หมดแล้ว เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามาหมดแล้ว ไว้เราพร้อมเมื่อไหร่เราก็จะฆ่ากิเลสเลย ตอนนี้กิเลสก็เอาไว้ก่อน เราก็ยังจะใช้ชีวิตไปก่อน

เออ! คนนั้นเก่ง คนนั้นเขามีสติปัญญา นี่ด้วยความประมาทของคน แค่นี้แหละ กิเลสมันหลอก หลอกแค่นี้แหละ หลอกว่าเอ็งฉลาด หลอกว่าเอ็งเก่ง แล้วมันก็รอไง รอว่าเมื่อไหร่เอ็งจะตายไง พอตายแล้ว เออ! ไปเสีย กูจะขี่หัวมึงไปเรื่อยๆ มันก็อยู่กับใจเราไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น คำถามนะในอาทิตย์ที่ผ่านมารู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ในการปฏิบัติ ความต้องการทางเพศลดลง ๑. ความต้องการทางเพศที่ลดลงเป็นสิ่งที่ดีต่อการปฏิบัติ นี่คือผลที่เกิดจากการใช้มรรคใช่หรือไม่

มันใช่อยู่แล้วไง เพราะว่าการปฏิบัติเขาถือพรหมจรรย์ การถือพรหมจรรย์ ถ้าการมีความต้องการทางเพศ ความต้องการทางเพศนี่กามราคะ พอกามราคะ สิ่งนี้ในพระไตรปิฎกท่านบอกเลยนะ มันเหมือนงูเห่า หลุมถ่านไฟ เราต้องหาทุกๆ อย่างมาป้อนมัน หลุมถ่านเพลิง แล้วเราหาทุกอย่างมาป้อนหลุมถ่านเพลิง อะไรจะป้อนมันไหม ลมมันเผาไหม้หมดไง มันไม่มีอะไรเหลือเลย ฉะนั้น เราจะมาแสวงหาให้มันสมบูรณ์ ให้มันครบถ้วน มันไม่มี พอไม่มีปั๊บ เราถือพรหมจรรย์เสีย

ถ้าถือพรหมจรรย์ หลุมถ่านเพลิงมันต้องการเชื้อเพลิงใช่ไหม มันก็ดีดดิ้นในใจไง มันดีดดิ้นในใจ ทีนี้พอมันภาวนาขึ้นมา เออ! ความต้องการของเชื้อหลุมถ่านเพลิงมันน้อยลง

ความต้องการทางเพศมันลดลง สิ่งนี้ดีต่อการปฏิบัติไหม

ก็ดีไง ดีต่อการปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะการปฏิบัติมันซื่อตรง เราปฏิบัติของเรา เราไม่ต้องการสิ่งใด เราพยายามต่อสู้ด้วยสติด้วยปัญญา พอต่อสู้ด้วยสติด้วยปัญญา รู้เท่าทัน กลบหลุมถ่านเพลิงนั้นก็จบ นี่พรหมจรรย์ ชีวิตพรหมจรรย์

แต่ถ้ามีหลุมถ่านเพลิงนั้น โลกมีปัญหากันก็เพราะเรื่องนี้ทั้งนั้นน่ะ แม้แต่พระอินทร์ยังแย่งชิงกันเลย เทวดารบกันเพราะอะไร ก็เพราะเรื่องนี้ทั้งนั้น ถ้าเพราะเรื่องนี้ทั้งนั้น เราถึงกามคุณ ๕ สิ่งที่มีสติปัญญาเขาว่าเป็นคุณของเขานะ เป็นกามคุณ คุณ หมายถึงว่า การสืบต่อของวัฏฏะ มันก็มีการสืบต่อ มีการสืบพันธุ์ มีการผสมพันธุ์ เขาต้องรักษาไว้นะ เขากลัวสัตว์มันจะสูญพันธุ์ ขนาดหมีแพนด้าต้องผสมเทียม กลัวมันจะสูญพันธุ์

สัตว์เขากลัวสูญพันธุ์นะ แต่มนุษย์ไม่กลัวสูญพันธุ์ สัตว์มันต้องผสมพันธุ์กันเลยล่ะ นั่นพูดถึงทางเพศไง ถ้าทางเพศเขาเรียกกามคุณ ๕ หมายถึงว่า ผลของวัฏฏะ มันเป็นการสืบต่อของวัฏฏะ มันมีการสืบต่อ มันมีเวรมีกรรมต่อกัน นี่พันธุกรรมทางจิต จิตมีเวรมีกรรมต่อกันต่างๆ มันก็มีผลตอบสนองต่อกัน

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราแยกออก เราไม่ไปสนใจ เราพยายามสละออก สละออกมาเพื่อเป็นพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ปฏิบัติไม่ใช่ไปแก้กิเลสของใคร ปฏิบัติไม่ใช่ให้ใครยอมรับ ปฏิบัติไม่ใช่ให้ใครนับหน้าถือตา ปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ ปฏิบัติเพื่อเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติเพื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ปฏิบัติเพื่อท่าน พอปฏิบัติเพื่อท่านเสร็จแล้ว ความดีอันนั้นต่างหากล่ะ ความดีอันนั้นทุกคนต้องการ ความดีอันนั้นทุกคนต้องการให้เจือจานเรา

เราวิ่งหาครูบาอาจารย์ก็ให้ครูบาอาจารย์บอกทางเรา ท่านทำอะไรให้เราได้ล่ะ ท่านคอยบอกทางเรา เราวิ่งหาท่าน

ที่เขาเสียดสีกัน ไอ้พวกนักล่าพระอรหันต์ไง วิ่งหาพระอรหันต์ ล่าพระอรหันต์กันน่ะ ล่าใหญ่เลย หาใหญ่เลย

ท่านทำเพื่อท่าน เราก็ต้องทำเพื่อเรา ถ้าใจของเรามันเป็นไปได้ ไม่ต้องไปล่าที่ไหนเลย เราจะเป็นขึ้นมากลางหัวใจเราเลย ถ้าเป็นกลางหัวใจ เราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้วประสบความสำเร็จ

นี่พูดถึง ถ้าความต้องการทางเพศลดลง เป็นสิ่งดีต่อการปฏิบัติไหม

ดี ถ้าทางเพศมันต้องการขึ้นมามันทำให้เราแสวงหา เรากระหืดกระหอบ เราทุกข์เรายาก ถ้ามันลดลงนี่ก็คือความสุขแล้ว ผลของพรหมจรรย์ไง อยู่แบบพรหมจรรย์น่ะ มันมีความสุขของมันในตัวของมัน

แล้วถ้าปฏิบัติไป พรหมจรรย์ ถ้าจิตสงบแล้วชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่เป็นพื้นฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มีหน้าที่การงานเราทำได้

. เวลาเจอสิ่งกระทบจะเกิดความรู้สึกที่กลางหัวอก พอกำหนดไปรู้สึกว่ากำหนดความรู้สึกไปที่พุทโธ สักพักเกิดความสงบ อย่างนี้เรียกว่าอะไรครับ

ความรู้สึกที่หัวอกมันเป็นการสะดุด จิตมันสะดุดไง จิตมันสะดุดอารมณ์ก็มับ! คิดเลย มันไปสะดุดอะไรปั๊บมันก็คิดไง จิตมันสะดุด ถ้าจิตมันปกติมันก็อยู่โดยปกติของมัน มันไปสะดุดอะไร

ถ้าจิตเราทำความสงบของใจ จิตเราปลอดโปร่งขึ้นมา มันไปสะดุดไอ้ก้อนๆ ไอ้ความรู้สึกกลางหัวอก ปึ๊ก! แล้วเราพุทโธต่อไปมันก็หาย เห็นไหม พอมันสะดุดแล้วเรามีสติปัญญารักษาต่อเนื่องไป สิ่งที่สะดุดนะ เราเดินไปเราสะดุดใช่ไหม เราเดินไปเราสะดุดหัวทิ่มเลย ทีนี้เดินไป เรารู้ว่าตรงนี้สะดุด เราก็ไม่สะดุดแล้ว เราระวังตัว เราก็เดินข้ามไป นี่ก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธๆๆ สิ่งที่มันสะดุด มันไปเกาะ มันก็ข้ามไป มันก็ลงสู่สมาธิ จบ มันเป็นอย่างนี้

พันธุกรรมของมันแตกต่างกันไป คนแตกต่างกันไปมันก็มีความเห็นแตกต่างกันไป ถ้าเห็นแตกต่างกันไป ถ้ามันมีความรู้สึกกลางหน้าอก เรากำหนดพุทโธได้ อย่าทิ้งพุทโธ

หลวงปู่มั่นท่านสั่งเสียไว้เลยกับหลวงตา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ รับประกันไม่เสีย

มันสะดุดกลางหน้าอก เราก็กำหนดพุทโธๆ มันจะกำหนดอะไร เรากลับมาที่พุทโธๆ คืออะไร พุทโธคือพุทธานุสติ พุทโธคือจิตถ้ามันพุทธานุสติ จิตมันมีสติมีปัญญา มันรักษาตัวมันเองได้ เหมือนกับคน ดูสิ เวลามีเหตุเภทภัยเขาต้องพยายามอพยพคน เขาต้องดูแลคนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ แล้วคนก็ตื่นตกใจวิ่งกันไปนะ วิ่งไปให้ต้นไม้มันล้มทับ วิ่งไปให้ตึกมันล้มทับ วิ่งไปให้รถมันชน วิ่งไปหมดเลย

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรารักษาตัวเรา เราเข้าหาที่ปลอดภัย พุทโธๆๆ มันจะเกิดวิกฤติ มันจะสะดุดสิ่งใด มันเจอสิ่งใด เรากลับมาพุทโธหมดแหละ กลับมาพุทโธ รักษาใจเราไว้ เราจะไม่มีอุบัติเหตุเลย เราจะไม่ให้สิ่งใดล้มทับให้เราไปตายกลางถนนเลย ไม่ต้อง แต่ถ้าเรา อู๋ย! รู้นู่น รู้นี่ รู้เก่ง นั่นแหละเดี๋ยวรถชนตาย พอรถชนตายแล้วมันก็จบนะ

เรากลับมาพุทโธ อยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ ไม่เสียๆ ถ้าอยากรู้อย่างอื่น อยากรู้มากๆ ไป นั่นล่ะมันจะพาไปล้มลุกคลุกคลาน กลับมาที่นี่นะ นี่พูดถึงว่า มรรคมันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นประสบการณ์ของการภาวนา ถ้าใครภาวนาได้จะเป็นอย่างนี้ ถ้าใครภาวนาไม่ได้ก็ขยันหมั่นเพียรไป

ถาม : เรื่องวิธีจัดการกับจิตที่ไม่รู้จักพอ

กราบนมัสการค่ะ จิตใจมีความร้อนรุ่มตลอดเวลา ไม่พอใจกับสิ่งที่ตนมีตนเป็น อยากได้มากขึ้นๆ เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลาว่าเรามีไม่เท่าเขา หรือถ้ากรณีที่เรามีมากกว่าเขา ก็ยังไม่พอใจ คิดต่ออีกว่ามีมากกว่าเขาแค่นี้ไม่พอ อยากมีมากกว่าเขามากกว่านี้ ทรมานกับจิตใจแบบนี้มากค่ะ พยายามจัดการกับปัญหานี้ด้วยตัวเองด้วยการฟังและอ่านหนังสือธรรมะ เอาข้อคิดด้านดีๆ ที่พอจะคิดได้มาปลอบใจตัวเอง แต่ก็ดีขึ้นไม่นานก็กลับไปเป็นอีกค่ะ ขอความเมตตาช่วยชี้แนะผู้มีกิเลสหนาด้วยค่ะ

ตอบ : กรณีอย่างนี้มันกรณีของที่ว่าคนโดยทั่วไป มีคนฉลาดๆ หลายคนมากเลยบอกว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณค่ามาก มีคุณค่ามากเวลาเขามีสตินะ แต่เวลาเงินเดือนเขาออก เขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เคยใช้จ่ายพอครบเดือนเลย พอสิ้นเดือนก็ไปกู้หนี้ยืมสินทุกทีไป แล้วก็รู้นะว่าธรรมะเป็นอย่างนี้ รู้นะว่าสิ่งนี้ ความประหยัดความมัธยัสถ์เป็นความดีทั้งหมด ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดีไปหมดเลย แต่ทำไมทำไม่ได้ เขามาถามเราเหมือนกัน

เขาบอกหลวงพ่อ ผมรู้ไปทุกเรื่องเลย แต่ผมก็แพ้ทุกเรื่องเหมือนกัน ผมรู้ทุกเรื่องเลย แล้วผมก็ทำไม่ได้สักเรื่องหนึ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้าสุดยอดไปหมด ดีไปหมดเลย แต่ทำไมผมก็รู้ๆ อยู่นี่แหละ ทำไมผมมีความผิดพลาดได้ขนาดนี้

เราบอกนั่นแหละรู้แบบนกแก้วนกขุนทอง เพราะเป็นอย่างนี้ รู้แล้วมันต้องฝึกหัด รู้แล้วต้องมีสติมีปัญญา คนที่เขารักษาของเขาได้เพราะเขาฝึกเขาหัดของเขามา เขาฝึกเขาหัดของเขามานะ ฝึกหัดมาตั้งแต่อดีตชาติ ฝึกหัดมา อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ฝึกหัดเสียสละมา ฝึกหัดทำทุกอย่างมา เวลาท่านจะเสียสละของท่าน พระเวสสันดรท่านเสียสละด้วยความสบายใจเลย มาขอลูกก็ให้ลูก ขอภรรยาก็ให้ภรรยา ขออะไรให้หมดเลย เพราะท่านฝึกของท่านมา นี่ไง เพราะท่านฝึกของท่านมา ถึงเวลาท่านมาค้นคว้าของท่าน ท่านก็สำเร็จของท่านไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาลูกศิษย์มาถามนะรู้ทุกเรื่องเลย รู้ทุกเรื่องเลย แต่ไม่เคยชนะสักเรื่องหนึ่ง แพ้ทุกเรื่องเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราที่มันรุ่มร้อนๆ คำว่ารุ่มร้อนเราก็รู้แล้ว เราตีไปหลายแง่มุมปัญหานี้ ปัญหาหนึ่งคือว่า พอเรารุ่มร้อนมันยังไม่รู้สึกตัวมันเอง บางคนนะ มันคิด มันอยากได้ อยากมี อยากเป็น แล้วมันไม่รุ่มร้อน มันชอบใจ มันแสวงหา มันเอาไฟเผามันเลย มันยังไม่รู้ตัวว่าเผามันนะ

ไอ้นี่มันบอกพอมันรุ่มร้อน อืม! เราก็รู้ว่ามันไม่ถูกแล้ว แล้วก็พยายาม พยายามแก้ไขด้วยตัวเอง ศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ มันก็ดีได้แป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็ไปอีกแล้ว เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ฝึก

ถ้าเรามีสติกำหนดพุทโธๆ ของเราไป เรามีสติกำหนดพุทโธ มันต้องฝึกหัด มันขาดการฝึกหัด ถ้าขาดการฝึกหัดมันไม่มีกำลังไง มันก็เหมือนข้าราชการไทยไปดูงานมารอบโลก แต่ไม่เคยพัฒนาประเทศไทยเลย ข้าราชการไทยดูงานรอบโลกเลย ไปดูทุกที่ ที่ไหนเขาดีไปดูงานหมดเลย ดูงานกลับมาเสร็จแล้วเก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่ได้เอามาใช้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราศึกษามา ศึกษามันก็ชั่วคราวๆ ถ้าชั่วคราวแล้วเราศึกษาธรรมะมาใช่ไหม แล้วมันแก้ไขไม่ได้ ถ้าจะแก้ไข จิตใจที่รุ่มร้อน จิตใจที่รุ่มร้อนนะ มันรุ่มร้อน มันเป็นธรรมชาติ พลังงานมันก็มีความรุ่มร้อนอยู่แล้ว แล้วเราจะหาความร่มเย็นเป็นสุขไง ถ้าหาความร่มเย็นเป็นสุข อย่างที่ว่าโรคบางชนิดไม่รักษามันก็หาย สิ่งที่ว่ารุ่มร้อนๆ ถ้าไม่รักษามันก็หาย ถ้าเราศึกษาธรรมะมันก็เบาบางลงได้ แต่ก็แป๊บเดียว ถ้าแป๊บเดียว เดี๋ยวก็เอาอีก เพราะอะไร เพราะพันธุกรรมของมัน

เพราะพันธุกรรมของมัน ใครมีจริตนิสัยอย่างไรมันออกอย่างนั้นน่ะ จริตนิสัย กิเลสมันนอนเนื่องไปกับความรู้สึกนึกคิดเรา มันออกช่องไหนมันก็ขี่ไปช่องนั้นน่ะ คนขี้โลภก็ขี้โลภตลอดไป คนขี้โกรธก็โกรธตลอดไป เขาเดินผ่านมาก็โกรธ เขาเดินเสียงดังก็โกรธ คนขี้โกรธมันก็โกรธของมันอยู่นั่นน่ะ คนขี้หลงไม่ต้องให้ใครเขามาหลงมันหรอก มันจะวิ่งไปให้เขาหลอก ไม่ต้องให้ใครมาหลอกหรอก มันวิ่งไปให้เขาหลอกเลย เฮ้ย! หลอกทีๆ อยากให้หลอก

มันเป็นจริตนิสัย แล้วมันก็ไปตามนั้นน่ะ ถ้าไปตามนั้นแล้ว วิธีแก้ วิธีแก้ที่ดีที่สุด ตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธของเราไว้ กำหนดพุทโธของเราไว้ แล้วเวลาปัญญามันเกิดมันจะเห็นอย่างนี้ เวลาปัญญามันเกิด ที่เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา เรารู้ว่ามันผิด เรารู้เลยว่านี่ไฟสุมขอน สิ่งนี้มันเผาเราเอง เราเผาเราเอง แล้วทำไมเราแก้ไม่ได้ล่ะ มันเผาเรา ทำไมเราแก้ไม่ได้

เราแก้ไม่ได้เพราะเราไม่รู้สถานที่แก้ เรารู้ไม่ได้ว่าสิ่งที่มันเผาเรามันอยู่ที่ไหน ถ้าเราพุทโธๆๆ เข้าไป เราจะไปรู้ไปเห็นไง อ๋อ! ความรุ่มร้อนมันเกิดจากตรงนี้ พอพุทโธๆ มา พอสงบร่มเย็นขึ้นมา ตรงที่มันรุ่มร้อนมันก็สงบตัวลง มันก็เย็นลง อ๋อ! อ๋อ! ถ้ามันรู้ ไฟมันเกิดตรงนี้ แล้วถ้าไฟมันมอดตัวลงจากตรงนี้ ถ้ามันมอดตัวลงจากตรงนี้เราก็รู้ นี่รสของธรรมชนะรสทั้งปวง เราก็รู้ สุดท้ายแล้ววันหลังเราไม่คิดอารมณ์ที่รุ่มร้อนแล้ว เรามาคิดที่พุทโธแล้ว

ถ้าเราไปคิดที่อารมณ์ที่รุ่มร้อน เห็นไหม เรามีไม่มากกว่าเขา เราจะหาให้มากกว่าเขา มันไปคิดตรงนั้นน่ะ เอาฟืน เอาเชื้อไฟสุมเข้ากองไฟ เอาเชื้อไฟสุมเข้ากองไฟ แล้วบอกให้มันเย็น ให้มันสงบ ก็เอาเชื้อไฟสุมเข้าไปในกองไฟ แล้วมันจะเย็นไหมล่ะ

ถ้ามันจะเย็น พุทโธๆ น้ำดับไฟ พุทธานุสติ พุทโธๆๆ ชักฟืนออกจากไฟ ชักฟืนออกจากไฟ ไฟมันก็มอดลงๆ เพราะเราชักฟืนออกจากไฟ เพราะด้วยการกำหนดพุทโธ คือเราไม่ไปคิดเรื่องนั้น ถ้าเราคิดเรื่องน้อยเนื้อต่ำใจ เรื่องสมบัติเราน้อยกว่าเขา สมบัติเรามากกว่าเขา นั่นน่ะฟืนไฟ เอาฟืนสุมเข้าไปในกองไฟ มันยิ่งคิดมันก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งคิดมันก็ยิ่งร้อน แต่ถ้าเรามาพุทโธๆ เราดึงฟืนออกจากกองไฟ พุทโธๆๆ แล้วพุทโธ พุทธานุสติ น้ำอมตธรรมไปราดมันด้วย รดมันด้วย

แต่ใหม่ๆ ต้องฝืนนะ ใหม่ๆ ต้องเข้มแข็ง ใหม่ๆ ต้องตั้งสติแล้วเข้มแข็งมาก เพราะความเคยชิน คิดจนเคย คิดจนเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องคิดมันก็คิดเอง มันไหลไปของมันอยู่แล้ว ทีนี้พอจะมาพุทโธ เปลี่ยนความคิด โอ๋ย! แรงมาก พุทโธๆๆๆ สู้กับมันนะ เหนื่อยมาก เวลากำหนดพุทโธเหนื่อยมาก เครียด ใหม่ๆ เครียดมากเลย อู๋ย! ทำไมลำบากขนาดนี้ อู้ฮู! ไปอาบเหงื่อต่างน้ำ ไปหาบน้ำหาบท่า ไปแบกข้าวสารที่คลองเตย ไปแบกของหนักๆ ยังง่ายกว่านี้อีก อู๋ย! มันทุกข์ขนาดนี้ เวลามันเอาจริงเอาจังมันทุกข์ขนาดนี้ เพราะมันไม่เคย แต่ต้องฝึก

คนหิวกระหายได้ดื่มได้กินก็จะหายหิวกระหาย คนทุกข์คนยาก คนไม่กำหนดพุทโธ ไม่ปฏิบัติ มันก็จะไม่หาย มันก็จะไม่ได้ผล ถ้าไม่ได้ผล ในเมื่อจิตเรารุนแรงขนาดนี้ เราก็ต้องมีสติปัญญาของเรารุนแรงมากกว่ามันเพื่อจะให้จิตเราสงบเข้ามาได้ พอจิตมันสงบเข้ามาได้นะ คนเรานี่นะ เราได้กินอาหารนั้นเอง อาหารนั้นมีส่วนผสมของอะไรเราเข้าใจได้ เราจะคัดแยกได้

จิตถ้ามันสงบแล้ว จิตมันปล่อยวางจากความเร่าร้อนเข้ามาแล้ว เราจะรู้ได้ว่าเรากำหนดพุทโธอย่างไร เราทำอย่างไร มันเข้าใจได้ มันก็จะทำได้ง่ายขึ้น ถ้าขอให้จิตมันได้สงบสักหนหนึ่ง ถ้าจิตมันปล่อยวาง สงบเข้ามาหนหนึ่ง มันเห็นคุณค่าแล้ว

หิวเกือบเป็นเกือบตาย แล้วได้กินอาหารเข้าไปพอประทังชีวิต มันรู้เลยว่าอาหารมาจากไหน อาหารมันมีจริง อาหารมันสามารถจะให้เราได้ดื่มกินได้ อาหารมันจะให้เราดำรงชีพได้ มันมีจริง เรากล้าแสวงหา เรากล้ากระทำ มันก็ง่ายขึ้นๆ แบบที่พุทโธเราไม่ได้นี่ไง

ถ้าใหม่ๆ มันพุทโธไม่ได้เพราะอะไร เพราะอาหารไม่เคยกิน เขาบอกมีอาหารๆ มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันจะมีอยู่จริงหรือ อาหารมันจะเป็นอย่างไร มันงงไปหมดล่ะ

แต่ถ้ามันสงบมาแล้วสักหนหนึ่ง ต่อไปที่ว่าเราทำไม่ได้ หรือว่าที่มันเป็นความรุนแรง ที่มันเป็นความทุกข์ความยาก มันก็เบาลง เพราะเราได้ดื่มได้กิน เราได้สัมผัส เรายืนยันว่ามันมีจริง พอมีจริงเราก็พยายามกระทำของเรา

ถ้าทำดีขึ้นมา สิ่งที่รุ่มร้อนเร่าร้อนมันก็จะเบาลง มันจะเบาลงได้ตรงนี้ มันเบาลงด้วยธรรมะ มันเบาลงด้วยน้ำอมตธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะไม่เบาลงด้วยตัณหาความทะยานอยากของเราอยากให้เบาลง

เราอยากให้เบาลง เราอยากให้หาย เราอยากเป็นคนดีด้วยตัณหาความทะยานอยาก นั่นน่ะเอาเชื้อไฟสุมเข้าไปในกองเพลิง แต่ถ้าเราอยากนะ เราประพฤติปฏิบัติตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพุทธานุสติ ถ้าเราทำได้จริงแล้วมันจะเบาลง แล้วมันจะหายไป หายเลย หายแบบสัมมาสมาธิ หายแบบจิตสงบ

แล้วถ้าจิตเราสงบแล้ว เรามีปัญญาขึ้นมา ใช้สติปัญญาขึ้นไป เดี๋ยวเราจะได้อริยทรัพย์ ทรัพย์สมบัติที่อยากได้เท่าเขา เหนือกว่าเขา เราได้อริยทรัพย์แล้ว นี่ไม่เอาเลย เราจะเอาของเราอีกต่างหาก เอาต่างหาก เอาเพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงวิธีการทำใจให้สงบนะ ทำใจให้พ้นจากความรุ่มร้อน เอวัง