ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เดาว่า

๑๕ ก.ย. ๒๕๕๖

เดาว่า

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องเริ่มต้นสมาธิแบบที่ถูกต้อง เริ่มต้นทำสมาธิแบบนี้ถูกหรือผิดครับ

กราบเรียนพระอาจารย์ ผมเริ่มฝึกทำสมาธิตามที่พระอาจารย์สอน โดยบริกรรมพุทโธถี่ๆ ไวๆ แต่เวลาผมทำมันจะเพลินๆ แล้วก็หลับไป ผมเลยเปลี่ยนมาบริกรรม ๓ คำเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ ถี่ๆ ไวๆ สติจะอยู่นานกว่าแบบเดิมครับ แต่ว่าก็หลับอีก แต่ว่าหลับช้ากว่าบริกรรมพุทโธคำเดียว

ผมรู้สึกตัวตื่นจากหลับก็มีคำบริกรรมมาตั้งแต่รู้สึกตัวเลยครับ แต่มันรู้สึกอึดอัดมาก ผมก็บริกรรมให้เร็วขึ้นอีก หัวใจมันจะเต้นเร็วตามไปด้วย มันจะหน่วงๆ ที่หัวด้วยนะครับ ผมทนไม่ไหวเลยออกจากทำสมาธิตลอดเลย ผมพยายามตั้งสติให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบบนี้จะถูกต้องสำหรับการเริ่มปฏิบัติไหมครับ

แล้วมีอีกคำถามหนึ่งครับ เมื่อก่อนผมไม่เคยฟังเทศน์บ่อยแบบนี้ ฟังแล้วก็หลับตลอด แต่เมื่อครึ่งปีมานี้ผมฟังเทศน์อาจารย์เกือบทุกวันจากเทปเก่าๆ ที่ลงไว้ในเว็บไซต์ ผมฟังก่อนนอน ทำไมบางครั้งฟังแล้วมันไม่หลับ ทั้งๆ ที่ง่วงนะ ฟังเป็นชั่วโมงก็ไม่หลับ ขอความกรุณา

ตอบ : นี่คำว่าเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นปฏิบัตินะ ถ้าเริ่มต้นเราปฏิบัติ เราก็เริ่มปฏิบัติ ทีนี้ถ้าเริ่มต้นปฏิบัติ คนปฏิบัติใหม่ก็เหมือนเด็กๆ ทำสิ่งใดไม่เป็นก็ต้องฝึกหัด ทีนี้การฝึกหัด ครูบาอาจารย์ท่านสอน เรามีครูบาอาจารย์ที่ดีนะ เรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์นะ

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็มีครอบครัวมาก่อน มีสามเณรราหุลแล้ว เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติ สามเณรราหุลเกิด มันสะเทือนใจมาก มันมีบ่วงไง มีบ่วงมาอีกแล้ว ก็พยายามจะออกปฏิบัติ เวลาออกปฏิบัติไปก็ไปฝึกหัดกับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ๖ ปี

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติมันไม่มีครูบาอาจารย์ ท่านก็ต้องขวนขวายของท่านเอง หลวงปู่มั่นท่านออกบวชใหม่ๆ นะ หลวงปู่เสาร์ท่านพาออกธุดงค์ พาออกไปให้พ้นออกไปจากหมู่คณะ เพราะมีเพื่อน มีเพื่อนมีฝูง มีอะไร เวลาคุยกันมันก็คุยทางโลก หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นอาจารย์ ท่านพาหลบพาหลีก พาไปป่าไปเขา พาไปเพื่อให้สงัดวิเวกเพื่อไม่ให้มีอะไรเป็นตะกอนในใจ นี่ท่านพาหลบพาหลีกมาก่อน

แล้วเรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมาก่อน ท่านรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ ท่านผ่านวิกฤติอย่างนั้นมาก่อน แล้วท่านปฏิบัติไปถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ท่านถึงวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้พวกเราได้ก้าวเดินตาม

ฉะนั้น เวลาท่านจะฝึกหัดพวกเรา อย่างเช่นพระที่จะบวชใหม่ ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นต้องไปฝึกหัดข้อวัตร ไปฝึกหัดตัดผ้า เย็บผ้า ฝึกหัดการอุปัฏฐากพระ จน ๘ เดือน ๑๐ เดือน บางคนเป็นปี บางคน ๓ ปีกว่าจะได้บวช พอบวชขึ้นมาแล้วมันก็รู้จักว่าอะไรผิดอะไรถูก การปฏิบัติมันก็จะมีแนวมีทางไปเรื่อย

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติใหม่ เวลาปฏิบัติใหม่เราจับต้นชนปลายไม่ถูก พอจับต้นชนปลายไม่ถูก เวลาฟังเว็บไซต์ ใช่ มันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ บอกว่าให้พุทโธเร็วๆ พุทโธเร็วๆ

พุทโธเร็วๆ มันเป็นอุบายแล้วนะ พุทโธเร็วๆ มันเป็นแบบว่ามันเป็นผล เป็นวิธีการ เป็นอุบายที่จะต่อสู้กับความเคยชินของใจ แต่ถ้าเราบวชใหม่ๆ เราพุทโธๆ เราไปใช้ไง อย่างเช่นเงินเดือนเรา ๑,๐๐๐ แต่เราใช้จ่ายเดือนละ ๑๐,๐๐๐ มันไม่พอใช้หรอก ถ้าเงินเดือนเรา ๑,๐๐๐ เราใช้สัก ๕๐๐ อีก ๕๐๐ เราเหลือเก็บไว้ แล้วเราทำต่อเนื่องไป เงินเดือนเราเพิ่มขึ้น เราทำได้มากขึ้น เราได้ ๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ จนเงินเดือนขึ้นเป็น ๑๐,๐๐๐ เราจะใช้สอยอย่างไรก็ได้ เงินเดือน ๑๐,๐๐๐ นี่พุทโธเร็วๆ ไอ้เงินเดือน ๑,๐๐๐ คือพุทโธช้าๆ

พุทโธช้าๆ นะ กำลังจะบอกว่า เวลาคนปฏิบัติใหม่เขาจะให้กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันเป็นรูปธรรมที่มันจับต้องชัดๆ ฉะนั้น พอเราไปพุทโธไวๆ มันเป็นพุทธานุสติ กำหนดพุทโธท่องเอาไง การระลึกรู้ การท่องพุทโธๆๆ นี่คือพุทธานุสติ ลมหายใจเป็นอานาปานสติ แต่อานาปานสติมันลมหายใจกระทบที่ปลายจมูก มันอุ่นๆ ใช่ไหม มันชัดเจน ฉะนั้น หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ ทำอย่างนี้มันจะเริ่มชัดเจนขึ้น คือมันมีที่เกาะชัดเจน มีที่เกาะชัดเจน จิตมันมีที่เกาะ มันไม่ล้มลุกคลุกคลานไง

แต่ถ้าเราพุทโธไวๆ เวลาพุทโธไวๆ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำต่อเนื่องกันไปมันชัดเจนๆ แล้วถ้าพอภาวนาไปแล้วมันหน่วงกัน พอเราจะเร่งขึ้นมา จะพุทโธเร็วๆ พุทโธไม่ได้ เพราะมันติดที่ลมหายใจ เราก็วางลมหายใจเสีย แล้วเราก็มาพุทโธไวๆ

ถ้าวันไหนเวลาอารมณ์เราดี เราพุทโธ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธมันก็ชัดเจน มันก็ภาวนาได้ จิตใจมันก็มีที่เกาะ จิตใจมันก็ปล่อยวางมา จิตใจมันก็ไม่เครียด จิตใจมันก็ไม่วิตกกังวล มันอยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าบริกรรมมันชัดๆ ขึ้นไป เดี๋ยวลมมันจะชัด พุทโธมันจะชัด แล้วมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้ามันละเอียดเข้าไป ละเอียดไปไม่ได้ ละเอียดไม่ได้ เราต้องการแล้ว

รถออก รถออกเกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ ถ้าเราพอเดินทางไกลเขาใส่เกียร์ ๔ เขาก็เหยียบไปทางไกลๆ ได้ นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธก็เกียร์ ๑ พุทโธหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ แต่พอมันต่อเนื่องกันไป ละเอียดเข้าไป เราก็ปลด เราปลดลมหายใจออก แล้วเราพุทโธไวๆ คือเข้าเกียร์ ๔ แล้ว เราเหยียบ ๑๒๐-๑๓๐ ไปเรื่อยแล้ว เราไม่ต้องมาวิตกกังวลแล้ว กรณีอย่างนี้ถ้าพุทโธไวๆ เขาใช้ประโยชน์ตรงนี้ไง

แต่ถ้าเราเป็นอุบายนะ ถ้าวันไหนอารมณ์เราดี เราพุทโธช้าๆ ก็ได้ ถ้ามันสงบ มันอยู่ได้ ถ้าวันไหนเราขุ่นข้องหมองใจ วันไหนอารมณ์เราไม่ดี เราพุทโธไวๆ พุทโธไวๆ เพื่อไม่ให้จิตมันแฉลบออกไปคิดไง ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ให้พุทโธไวๆ พุทโธๆๆ ดึงเอาไว้อย่างนี้ มันเป็นอุบายเป็นวิธีการไง

ทีนี้เราไปพุทโธไวๆ พุทโธไวๆ รถเราออกเกียร์ ๔ ออก ดับ ออก ดับ เพราะรถมันต้องออกเกียร์ ๑ เพราะเกียร์ ๑ เขาทดไว้เพื่อออกตัว ถ้าออกตัวไปได้ รถมันเคลื่อนไปได้ใช่ไหม เราก็ใส่เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ รถมันจะพุ่งไปเลย ถ้ารถออกเกียร์ ๔ มันก็ดับ พุทโธไวๆ พุทโธๆๆ มันก็ตึงเครียด

พุทโธ ว่าพุทโธแล้วมันหลับ

พุทโธ คำว่าหลับเวลาคนเขาเครียด เขากำหนดพุทโธๆๆ จนหลับไป นี้คือพุทโธเป็นธรรมโอสถ คือเราต้องการพุทโธเพื่อจะนอนหลับ พุทโธ คนเราปัจจุบันนี้คนที่นอนไม่หลับ คนที่ตึงเครียดนอนไม่หลับเยอะมาก แล้วก็ไปหาหมอ หมอก็ให้ยานอนหลับ แต่ถ้าเราพุทโธๆ นี่ธรรมโอสถ เราใช้ธรรมะ จิตใจมีธรรมโอสถอยู่กับใจ มันก็จะนอนหลับอย่างที่เรานอนหลับ

พุทโธทีไรหลับทุกทีเลย ต้องพุทโธ ธัมโม สังโฆ มันก็หลับอีก แต่มันหลับช้าลงหน่อยหนึ่ง

อันนี้มันไม่สมหวัง เพราะเราต้องการสมาธิ เราไม่ต้องการนอนหลับ เราต้องการนั่ง ต้องการมีสติพร้อม แล้วจิตปล่อยวางมาให้เข้าไปพักผ่อน มันจะมีความสดชื่นมาก นี่พูดถึงว่า ทำไมพุทโธมันหลับ แล้วว่าการเริ่มต้นทำสมาธิแบบนี้ถูกไหม

เราก็บอก ช้าๆ ก็ได้ ถ้าเราอารมณ์ดีนะ อารมณ์คือว่าอารมณ์อบอุ่น มันไม่มีอะไรกระทบกระเทือน ช้าๆ ก็ได้ พุทโธๆๆ ถ้าพุทโธช้าๆ มันก็นุ่มนวล แต่ถ้าอารมณ์เรารุนแรง มีอะไรกระทบแรงๆ นั่นล่ะต้องพุทโธไวๆ ช้าไม่ได้ ช้ามันจะออกไปคิดตรงนั้น มันจะไปคิดแต่ความคิดไง อย่างนี้เราใส่เลย พุทโธๆๆ

โธก็ได้นะ บางคนมาหาบอกหลวงพ่อ ผมจะโธๆ คำเดียวผิดไหมไม่ผิด ไม่ผิด โธคำเดียวก็ได้ อะไรก็ได้ ขอให้จิตมันเกาะไว้ จิตมันเกาะไว้

แล้วทำแบบนี้แล้วเมื่อไหร่มันจะได้วิปัสสนาล่ะ แล้วเมื่อไหร่จะได้สิ้นกิเลสล่ะ

อย่าใจร้อน เริ่มต้นพื้นฐานเบสิกเราไม่ดีนะ ไปข้างหน้าเราจะเสียหาย ถ้าเบสิกเราดี พื้นฐานเราดี เดี๋ยวภาวนาไปข้างหน้ามันจะดี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ท่านให้ทำแบบนี้ พื้นฐานของเราให้มั่นคง อย่างน้อยๆ เราก็มีที่หลบภัย เราก็มีที่พึ่งอาศัย แล้วถ้ามันเกิดวิปัสสนา เกิดอะไรขึ้น อันนั้นจะเป็นอัตตสมบัติ สมบัติของใจเราข้างหน้า

แต่ตอนนี้เรายังล้มลุกคลุกคลานอยู่เลย เรามีหนี้สินล้นพ้นตัวเลย แต่อยากจะมีสมบัติๆ มีสมบัติเขาก็มายึดสมบัติหมด เพราะเราเป็นหนี้เขา เราปลดหนี้เขาก่อน เราปลดหนี้ อย่าให้เป็นหนี้สินใคร เราทำพุทโธๆ จนจิตสงบมา มันไม่เป็นทาสของใคร จิตสงบเข้ามานะ แล้วเดี๋ยวใช้ปัญญาไป เราจะมีอัตตสมบัติ เราจะมีสมบัติของเราข้างหน้า ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไป ขณะที่ว่าเราปฏิบัติใหม่

นี่เขาเขียนว่าเริ่มต้นทำสมาธิทำอย่างไรครับ

เริ่มต้นสมาธิทำแบบนี้ แล้วเขาบอกว่าพอพุทโธไปแล้วมันรู้สึกอึดอัดมาก

เห็นไหม กรณีนี้อีกแล้ว ถ้าเราพุทโธไปอึดอัดมาก พุทโธไปแล้วตัวมันเอียง พุทโธแล้วมันเครียด พุทโธแล้วหัวมันจะตก หัวมันหนักมากเลย...นี่กิเลสมันบังเงา ถ้าเราไม่พุทโธ เราไม่ปฏิบัติ ไม่เป็นอะไรเลย ไม่เครียดเลย หัวก็ไม่ปวดด้วย ถ้าไม่พุทโธ ไม่เป็นอะไรเลย พอพุทโธทีหนึ่งเอาแล้ว หัวหน่วงๆ แล้ว พอพุทโธแล้วจุกหน้าอกแล้ว พอพุทโธแล้ว มาแล้ว เห็นไหม มาร มารมันตามจองล้างจองผลาญเรา

ถ้ามารตามจองล้างจองผลาญเรา เราก็พยายามหาอุบาย แล้วเราพุทโธไว้ เราพุทโธไว้ อะลุ่มอล่วย พุทโธไว้พอประมาณ พุทโธไว้ พอมันจางไปๆ เดี๋ยวมารมันเห็นว่าเราเอาจริง มารมันรู้ว่าเรารู้ทันมัน มารมันก็อายเอง มารมันก็หลบไป พุทโธเราก็ชัดขึ้น

ไอ้ที่ว่าหัวมันหนักๆ ไอ้พวกที่ว่ามันเอียงๆ ไอ้พวกที่มันจะล้ม นั่งแล้วมันจะพลิกฟ้าคว่ำดิน เดี๋ยวมันจะหายไป เห็นไหม มารมันเอาสิ่งนี้มาต่อรอง มารมันเอาสิ่งที่ความไม่พอใจของเรามาต่อรองกับคุณงามความดีของเรา ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วเราทุกข์หรอก มาร มารในใจของเรา แล้วดูคนอื่นสิ คนอื่นเขานั่งปฏิบัติทำไมเขาไม่เป็นล่ะ ทำไมเราเป็นล่ะ มันก็เป็นกรรมของใคร กรรมของมัน ถ้าเราทำของเราอย่างนั้น เรามีกรรมของเรา เราก็พยายามแก้ไขของเรา

ถ้ามันอึดอัด เขาบอกมันอึดอัดนะ เวลามันอึดอัด แล้วทำไปอย่างนี้ ทำไปแบบนี้มันจะถูกต้องไหม พุทโธไปนานๆ แบบนี้จะถูกต้องหรือไม่

นี่อธิบายให้ฟังแล้วใช่ไหม ฉะนั้น อีกอย่างหนึ่งเขาบอกว่า ถ้าฟังไปแล้ว ที่ว่าฟังเทศน์เมื่อก่อน เวลาพุทโธแล้วมันหลับไป เวลาฟังเทศน์ใครก็หลับ แล้วพอมาฟังเทศน์หลวงพ่อทำไมมันไม่หลับล่ะ

มันไม่หลับเพราะเราใช้สติ เราใช้สติ เราใช้ความรู้สึกพิจารณารับรู้ มันก็เลยไม่หลับ มันก็ตื่นชัด มันก็ชัดเจน แต่ถ้ามันเบื่อหน่าย มันเซ็ง มันนั่งง่วงเหงาหาวนอน เดี๋ยวมันก็หลับ นี่ไง นิวรณธรรม แต่ถ้ามันฟังแล้วมันใช้สติ ใช้ความรู้สึกนึกคิด มันรับรู้ มันไม่หลับหรอก ถ้ามันไม่หลับ

ทำไมเมื่อก่อนฟังเทศน์ก็หลับ ทำไมเดี๋ยวนี้ฟังเทศน์มันไม่หลับ

ฟังเทศน์ถ้ามันเข้าใจ ไม่หลับ ถ้าอยากจะหลับ เราก็มาพุทโธเสีย เดี๋ยวก็หลับ พุทโธๆ ของเรา จะหลับหรือไม่หลับนี่นะ เราต้องคิดอย่างนี้ก่อนว่าเราจะพักผ่อน ถ้าเราภาวนาเพื่อหลับ เราภาวนาเพื่อพักผ่อน พุทโธๆ จนหลับไปเลย แต่ถ้าเรานั่งสมาธิภาวนาจริงๆ เราไม่ต้องการให้หลับ เพราะหลับมันตกภวังค์ อันนี้คือเสียหาย ถ้าหลับมันตกภวังค์แล้วมันเคยตัว แล้วพอภาวนาไปตกภวังค์ตลอด ถ้าเรานั่งภาวนา เราต้องการสมาธิ เราไม่ต้องการภวังค์ เราก็พยายามตั้งสติไว้แล้วทำให้มันลง

อย่างที่ว่าเวลานั่งไปแล้วเป็นชั่วโมงๆ ทำไมมันไม่หลับ ถ้าไม่หลับแล้วมันเป็นอย่างใด ทำไมไม่ลง

ก็ใช้พุทโธให้ดีๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อพักผ่อน เดี๋ยวพอมันได้ขึ้นมาแล้วมันจะได้ของมัน นี่ฝึกหัดใหม่เนาะ การปฏิบัติใหม่เป็นแบบนี้ การปฏิบัติใหม่นะ เขาบอกว่า การปฏิบัติใหม่ไม่ต้องหาใครก็ได้ เราทำของเรากันไปเอง

แต่ถ้าการปฏิบัติใหม่ ถ้าพื้นฐานดีๆ นะ ครูบาอาจารย์ที่ดี เราอยู่บ้านตาดนะ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถ้าใครเดินแบบว่ามักง่าย หลวงตาท่านบอกท่านรับไม่ได้เลย นี่คือพื้นฐานของการที่หละหลวม การมักง่าย การสุกเอาเผากิน ทำเอาแต่ได้ แล้วจะเอามรรคผลข้างหน้า ไม่มีทาง ท่านบอกท่านรับไม่ได้เลยนะ เห็นใครภาวนาสักแต่ว่าทำ ทำพอเป็นพิธี ท่านบอกว่าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ คือเบสิกพวกเรามันไม่ดีอยู่แล้ว แล้วเราจะมาทำให้มันอยู่กับโลกอย่างนี้โดยที่เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ท่านเอ็ดเลยนะ

เคยเจอบ่อย เห็นพระเดินจงกรมเอามือไขว้หลัง ท่านบอกว่า อู้ฮู! ตาจะแตก ไล่ออกจากวัดเลย ฉะนั้น จะเดินจงกรม จะนั่งสมาธิต้องตั้งใจ แล้วตั้งใจทำจริง ทำจริงๆ ท่านบอกว่าคนจริงถึงได้ของจริง ทำมักง่าย ทำเอาแต่ได้ มันเลยไม่ได้อะไรเลย แล้วก็มานั่งโอดครวญกัน ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ทำแล้วก็บ่นกันไป ก็เอ็งทำเหตุมันไม่ดี เหตุมันไม่สมควรมันก็ไม่ได้

นี่พูดถึงการปฏิบัติใหม่เนาะ

ถาม : เรื่องกราบเรียนถามพระอาจารย์เพื่อความเข้าใจบางประการครับ

กราบเรียนพระอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง มีข้อสงสัยบางประการที่ผมได้ฟังมาเกี่ยวกับสติปัฏฐานดังนี้ครับ

. ผมเคยได้ยินมาว่า สติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น เราสามารถพิจารณากาย เวทนา จิต หรือธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็สามารถถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ โดยสามารถเริ่มจากกาย เวทนา จิต หรือธรรมอย่างใดก็ได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล ข้อนี้จริงหรือเท็จครับ

. ผมเคยได้ยินมาว่า สติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น เราจะไม่สามารถข้ามขั้นได้ กล่าวคือต้องเริ่มจากการพิจารณากายในกายจนเข้าใจแจ่มแจ้งก่อน จึงไปพิจารณาเวทนา และตามด้วยจิต และธรรม เป็นลำดับขั้นตามนี้เท่านั้น ข้ามขั้นไม่ได้ และฝึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ และการฝึกไม่ได้ฝึกตามความถนัดหรือความชอบ หากแต่ต้องฝึกทุกอย่างอย่างเป็นขั้นตอน ข้อนี้จริงหรือเท็จครับ

. ผมสันนิษฐาน (ความคิดส่วนตัวครับ) ว่า กาย เวทนา จิต และธรรมนั้นแบ่งเป็นตามภูมิ ตามมรรค ตามผลเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือเข้าใจถ่องแท้ว่า กายคือกาย คือโสดาบัน เข้าใจถ่องแท้ว่าเวทนาคือเวทนา คือสกิทาคามี เข้าใจว่าจิตเป็นจิต คืออนาคามี และธรรมในธรรม คืออรหัตตผล ข้อใดผิดถูกอย่างใด กราบเรียนพระอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

ตอบ :ผมสันนิษฐานว่าคือเดาผมสันนิษฐานว่าความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ผมสันนิษฐานว่าคือเดาครับ นี่เดาว่า เดาว่าเป็นแบบนี้ไง นี่เป็นการเดาหมดเลย ถ้าเป็นการเดาเอามันก็ไม่มีทางเป็นความจริงได้ ฉะนั้น มันไม่เป็นความจริง เดาเอาอย่างนั้น

คำว่าเดาเอาถ้าพูดถึงโดยทั่วไป เพราะเดา เพราะสันนิษฐานแล้วมีความเห็นโดยทิฏฐิมานะมันทำให้เกิดเป็นฝักเป็นฝ่าย เวลาใครมีความรู้ความเห็นอย่างไร ทิฏฐิของตัวเองไง มันเกิดเป็นแยกนิกายไป แยกความเป็นหมู่เป็นคณะเพราะไอ้เดาเอานี่แหละ เดาเอาแล้วก็สันนิษฐานเอา

นี่เป็นการสันนิษฐาน ถ้าเป็นทางวิชาการ นี่คือการค้นคว้า เป็นอิสรภาพแล้วมันก็มีคนเชื่อด้วยความอ่อนด้อย แล้วก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันไป นี่พูดถึงสันนิษฐานนะ คือการเดา

. ผมเคยได้ยินว่าสติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น เราสามารถพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ โดยสามารถเริ่มจากกาย เวทนา จิต หรือธรรมอย่างใดก็ได้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล ข้อนี้จริงหรือเท็จครับ

ข้อนี้จริงครับ จริงเพราะอะไร จริงเพราะมีครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วท่านพ้นจากทุกข์ไปแล้วครับ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็พ้นจากทุกข์ไปแล้วครับ หลวงตาท่านก็พ้นจากทุกข์ไปแล้วครับ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะท่านพ้นจากทุกข์ไปแล้วครับ เพราะท่านพิจารณาของท่านตามความเป็นจริง

ถ้าพิจารณากาย หลวงปู่บัวท่านเป็นผู้ถนัดในการพิจารณากาย ท่านพิจารณากายเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา นี่นักกายภาพ หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะเลยว่า หลวงปู่บัวท่านเป็นนักกายภาพ คือการพิจารณากาย ท่านพิจารณากายของท่าน พิจารณากายอย่างเดียว กายๆๆๆ จนจบ หลวงปู่ชอบท่านพิจารณากายของท่าน พิจารณากาย ไม่ได้พิจารณากายแล้วพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ท่านพิจารณากายของท่านไปเลย

หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็พิจารณาจิตของท่าน ท่านพิจารณาโดยปัญญาของท่าน หลวงปู่ดูลย์ท่านก็พ้นไปแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านก็พิจารณากายโดยไม่เห็นกายเลย

นี่ไง เรามีความจริงอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงมันเป็นความจริง ความจริงคือเป็นอย่างนี้ไง ความจริงการพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หลวงตาท่านพูดอย่างใดอย่างหนึ่ง ใครถนัดสิ่งใดทำสิ่งนั้นเลย

ทีนี้พอทำสิ่งนั้นไป พวกเราที่ปฏิบัติกันไม่ได้เพราะอะไรล่ะ เวลาปฏิบัติไปแล้ว เวลาพิจารณากายไปแล้วมันเบื่อ พิจารณากายแล้วมันตัน พิจารณากายไปแล้วก็ไม่รอด พิจารณากายไปแล้ว พอมันเบื่อหน่ายขึ้นมาก็พิจารณาเวทนา

ไอ้อย่างนี้มันเป็นอุบายไง อย่างใดอย่างหนึ่งๆ ถ้าพิจารณากาย พิจารณากายโดยความสามารถของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา พิจารณากายแล้ว ถ้าคนถนัดนะ พิจารณากายไปแล้วมันต่อเนื่องกันไป พิจารณากายแล้วมันลึกซึ้งไป พิจารณากายแล้วมันเข้าไปถึงสังโยชน์ เข้าไปถึงความยึดมั่นถือมั่นของใจ เข้าไปถึงอัตตาของใจ ใจที่มันยึดมั่น พิจารณาไปแล้วมันรู้มันเห็น มันปล่อย มันปล่อย มันซาบซึ้ง นี่พิจารณากาย เห็นไหม

พิจารณากายอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณากายมันพิจารณากายตามความเป็นจริง ข้อนี้เป็นตามความเป็นจริง เป็นตามความเป็นจริง มันเป็นอำนาจวาสนาไง ที่ว่าเป็นจริต เป็นความถนัดของบุคคล ถ้ามันไม่ใช่เป็นความถนัดของบุคคล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนพระโมคคัลลานะ แล้วสอนพระสารีบุตรทำไมไม่เหมือนกันล่ะ อ้าว! เวลาไปดูในสุตตันตปิฎกสิ เวลา เทฺวเม ภิกฺขเว พระพุทธเจ้าพูดกับใคร เวลาพูดกับใคร สอนใคร เขามีทิฏฐิอย่างไร โมฆราช สอนโมฆราชก็สอนอย่างหนึ่ง พราหมณ์ ๑๖ ก็สอนคนละอย่าง พราหมณ์ ๑๖ ก็สอน ๑๖ อย่าง อ้าว! แล้วมันตายตัวตรงไหนล่ะ มันไม่มีการตายตัวหรอก

ไอ้ที่ตายตัวทางทฤษฎี เดาเอาน่ะตายตัว พอตายตัวต้องพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ต้องกายในกาย พิจารณาอย่างนั้น ต้องพิจารณากายก่อน พอพิจารณาเข้าใจแล้วมาพิจารณาเวทนา พอเข้าใจแล้วก็จะไปพิจารณาจิต พิจารณาธรรม ก็อย่างนี้แล้วมหาวิทยาลัยมีคณะเดียว ไม่ต้องมีหลายคณะ แม้แต่มนุษยศาสตร์มันยังมีหลายเอกเลย ทำไมมันไม่มีเอกเดียวล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน มันอยู่ที่ความถนัด อยู่ที่คนเป็น ถ้าเป็นแล้วมันชี้นำได้หมดเลย แต่ถ้าคนไม่เป็นมันก็งงไปหมดอย่างนี้ แล้วถ้างงไปหมด ข้อที่ ๑. จริงหรือไม่จริง

ข้อที่ ๑. จริง จริงเพราะอะไร จริงเพราะเรามีครูบาอาจารย์ตามความเป็นจริงแล้วไง ถ้าพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถ นักเรียนจะบอกว่าเป็นคนออกข้อสอบแล้วสอบเองได้ไหม เวลาเราไปเรียนหนังสือนะ เราออกข้อสอบเอง แล้วเราเป็นคนออกข้อสอบ แล้วเราก็เป็นคนตอบข้อสอบ แล้วเราก็เป็นคนให้คะแนนให้เราจบเลย ไม่มีทาง

ข้อสอบใครเป็นคนออก อาจารย์ใครเป็นคนออกมา แล้วเราเรียนมา เราเรียนทางวิชาการ เราเรียนตามศึกษามา แล้วเวลาคณะกรรมการเขาออกข้อสอบมา เราต้องสอบตามนั้น เขาวัดภูมิของเรา วัดภูมิว่าเรามีภูมิจริงหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเราสงบแล้ว ใครให้ข้อสอบล่ะ เราจะนึกข้อสอบเองหรือ อย่างนี้มันก็ทุจริตน่ะสิ มันรู้ผลแล้ว นี่ไง ที่เขาทุจริตกัน เวลาข้อสอบมาเขาส่งต่อกันเลย ให้คนรู้ข้อสอบก่อนแล้วเขาสอบผ่านหมด

นี่ก็เหมือนกัน เพราะว่า กาย เวทนา จิต ธรรมมันคือข้อสอบ แล้วเราจะรู้ผลของเรา พิจารณาไป คนพิจารณากายลงไปนะ เวลาจิตมันสงบแล้วมันก็เห็นกาย ถ้ามันเห็นกายจริง แล้วเวลาเห็นกาย เห็นกายโดยหลอก เห็นกายโดยหลอกคืออุปาทาน เห็นกายเพราะจิตไม่สงบจริง เพราะเห็นแล้วมันพิจารณาไม่ได้ แล้วเวทนาล่ะ แล้วจิตล่ะ มันอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วชัดเจน แล้วมันเป็นปัจจุบันด้วย มันไม่ใช่เป็นอย่างที่คิด

ที่ถามผมเข้าใจว่าก็เดาเอาไง ถ้าเดาเอาก็เดาอย่างนี้ เดาเอามันก็เข้าใจไปตามนี้ ข้อที่ ๑. นี่ถูก แต่ก็ยังไม่แน่ใจไง ไม่แน่ใจเพราะอะไร เพราะว่าในภาคปฏิบัติ ในภาคปริยัติ ในทางทฤษฎี นักวิชาการเขาจะมีหลักฐานของเขา เขามีเอกสารเต็มไปหมดเลย แต่ในฝ่ายปฏิบัติเขามีแต่ความชำนาญของเขา พอมีความชำนาญของเขามันไม่มีทฤษฎีอะไรที่มาโต้แย้งใช่ไหม แต่ความจริงมันมี มีในใจของผู้ที่รู้จริง

ผู้รู้จริง พอเขามีความจริงแล้วเขามีองค์ความรู้ในใจของเขา ให้อธิบายได้หมดนะ หลวงตา ครูบาอาจารย์เราที่เป็นจริง ให้ท่านอธิบายได้เลย ปีหนึ่งก็อธิบาย เรื่องกาย ให้คุยกันปีหนึ่ง ท่านอธิบายอยู่อย่างนั้นไม่มีวันจบหรอก เพราะความรู้ท่านกว้างขวางมาก แต่กว้างขวางมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความจริงในหัวใจ

แต่ถ้าเขียนออกมาเป็นทฤษฎี เขียนออกมาเป็นทางวิชาการ พอเขียนเป็นวิชาการ เราก็ยึดวิชาการ วิชาการอย่างนี้ พอวิชาการอย่างนี้มันก็เข้าข้อที่ ๒. เพราะเรายึดวิชาการไง

. ผมได้ยินมาว่าสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น เราจะไม่สามารถข้ามขั้นได้ กล่าวคือเราต้องเริ่มการพิจารณาจากกายในกายจนเข้าใจแจ่มแจ้งก่อน จึงไปพิจารณาเวทนา แล้วตามด้วยจิตและธรรมเป็นลำดับขั้นตอนนี้เท่านั้น ข้ามขั้นไม่ได้ และฝึกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ และการฝึกไม่ได้ฝึกตามความถนัดหรือความชอบ หากแต่ต้องฝึกทุกอย่างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ข้อนี้จริงหรือไม่ครับ

ข้อนี้เป็นพวกอภิธรรม อภิธรรมเขาสอนกันแบบนี้ ต้องรู้ตัวทั่วพร้อม ต้องเข้าใจตามธรรม ทำตามพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกตามข้อนั้น ญาณที่ ๑ ญาณที่ ๒ ญาณที่ ๓ แล้วห้ามทำสมถะ แต่เวลาญาณจริงๆ สมถะไปอยู่ในญาณของเขา เขามีญาณของเขา แล้วยังต้องรู้ให้พร้อม รู้ให้หมด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกใบไม้ในกำมือนะ ความรู้จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใบไม้ในป่า มหาศาลขนาดนั้นเลย ในพระไตรปิฎกใบไม้ในกำมือ แล้วใบไม้ในกำมือมันเหมือนสิ่งที่เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หมดทั้งหมด แล้วเราต้องทำอย่างนั้นครบหมดเลย ถ้าครบหมดเลย เราจะเป็นสาวกสาวกะ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ หรือเราอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า

นั่นคือคำสอนของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าท่านพุทธวิสัยนะ ถ้าพุทธวิสัย นั่นคือพุทธวิสัย มันเป็นอจินไตย อจินไตยคือว่าไม่มีใครมีความสามารถมีความรู้ได้ขนาดนั้น แต่นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการขึ้นมา เราก็ไปท่องจำกันมา ถ้าเราไปท่องจำกันมาแล้วเราต้องรู้ให้หมดทุกอย่างอย่างนั้นเลยหรือ

สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นความจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ สิ่งใดที่เป็นความจริงแล้วไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นก็เหมือนในพระไตรปิฎก มันเป็นความจริง แต่มันตรงกับจริตเราไหม เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บโรคนี้ไหม ไปโรงพยาบาล เราบอกว่าเข้าโรงพยาบาลแล้วต้องรักษาทุกโรคเลย แล้วเราเป็นโรคเดียว เราไม่สบาย เรามีโรคอยู่โรคเดียว แล้วเข้าไปแล้วต้องไปให้หมอทุกโรครักษาทุกโรคเลย เพราะเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว เข้าไปแล้วก็ต้องเฉพาะทางทุกโรค ต้องตรวจหมดเลย มันก็ไม่ใช่

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ต้องทำตามนั้นหมดเลย มันจะเป็นอย่างนั้นหรือ อ้าว! แล้วเราสงสัยอะไรล่ะ เรามีความทุกข์เรื่องอะไร ถ้าเรามีความทุกข์เรื่องอะไรเราก็แก้เรื่องนั้น ถ้าความทุกข์เรื่องนั้นจบเสียแล้ว แล้วมันจะไปแก้อะไรอีกล่ะ

นี่ต้องแก้กาย เวทนาต้องเป็นขั้น ห้ามข้ามขั้นตอน

โอ๋ย! เขาไม่ได้ข้ามขั้นตอนหรอก เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็อันเดียวกัน อันเดียวกันคือขั้นเดียวกัน หมายถึงว่า ดูสิ เวลาเราเรียนอนุบาล อนุบาลเหมือนกัน ถ้าพูดถึงเราเรียนมัธยมก็มัธยมเหมือนกัน อุดมศึกษาก็อุดมศึกษาเหมือนกัน แต่เวลาเราเรียนไปแล้วในแต่ละพื้นฐานการศึกษามันมีให้เลือกความถนัดเยอะแยะไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไปรู้ไปเห็น เห็นกาย เห็นกายขั้นของใครล่ะ เห็นกายขั้นของใคร ดูสิ อย่างที่ว่าเห็นกายขั้นของใคร ถ้ามันเห็นกายในขั้นนั้นมันก็พิจารณาของมันไป แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาตามความเป็นจริง เหมือนกับเราคนกินอาหาร ใครกินอาหารมื้อแรกจะอร่อยมากเลย กินซ้ำกินซาก กินซ้ำกินซากมันจืดหมด การพิจารณากายทีแรกพิจารณาดี พิจารณาไปพิจารณามา พิจารณาไม่ไปแล้ว พอพิจารณาไม่ไปแล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรล่ะ

ฉะนั้น พอพิจารณามันไม่ไป มันก็มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ถ้าพิจารณากายมันไม่ไปแล้ว พิจารณากายมันอึดอัด พิจารณากายแล้วมันขัดข้องไปหมดเลย พิจารณากายมันไปไม่ได้เลย แล้วทำอย่างไรต่อ

อ้าว! ถ้ามีสตินะ ก็ไอ้ที่ไม่พอใจนี่ไง เวลามันอึดอัดขัดข้อง เวลาพิจารณาไปแล้วมันมีแต่สิ่งที่มันไม่พอใจ ความไม่พอใจคือเวทนาของจิต ถ้ามันจับความไม่พอใจ มันจับความอึดอัดได้นะ เอ๊อะ! ถ้ามันจับได้นะ มันก็รู้ อ้าว! เราไม่สบายเข้าโรงพยาบาล พอเข้าโรงพยาบาล พอรักษาโรคนี้หาย ไอ้โรคข้างเคียงมันมา อ้าว! โรคนี้หายไปติดโรคนั้น พอเข้าโรงพยาบาลไป จะไปรักษา ไปผ่าตัด พอผ่าตัดก็ติดเชื้อกลับมาด้วย ไอ้ผ่าตัดแผลผ่าตัดหายนะ ต้องรักษาติดเชื้อต่อ ติดเชื้อในกระแสเลือดอีก อ้าว! ติดเชื้อต่อ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าบอกว่า ไอ้กรณีอย่างนี้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะขาดผู้นำจริง ขาดผู้รู้จริง พอขาดผู้รู้จริง พอเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัฏฐาน ๔ แล้วสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เราก็ไปเรียงลำดับ ๑.กาย ๒.เวทนา ๓.จิต ๔.ธรรม เราต้องทำอย่างนั้นเป็นขั้นเป็นตอน ห้ามลัดขั้นตอน ต้องศึกษาตามนั้น ห้ามละเว้น นี่พูดถึงเขาว่า ผมเดาเอา ผมเข้าใจว่าอย่างนี้

ถ้าผมเข้าใจว่าอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะเราเคารพใช่ไหม ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ธรรม ธรรมคือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วินัยคือข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไม่ให้ใครทำผิด นั่นคือศาสดาของเรา แล้วเราเคารพบูชาด้วยศรัทธา ศรัทธาก็เถรส่องบาตรต้องทำตามนี้เลย ก็เราเรียงลำดับมา

ท่านพูดก่อนหน้าหรือเรียงลำดับมา คำพูดของคนมันก็เรียงลำดับมาอย่างนั้นน่ะ แต่เวลาเราไปรู้ไปเห็นมันอยู่ที่ใครรู้ใครเห็น ช่องไหน ตรงไหน เราก็ปฏิบัติตรงนั้น มันก็ถูกต้อง กาย เวทนา จิต ธรรม

นี่เขาบอกว่าห้ามข้ามขั้นตอนเลย

เดาเอาน่ะ

ถ้ามีผู้นำที่ถูกต้อง ผู้นำที่ดีนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาไป บางคนพิจารณากายเห็นกาย บางคนจับเวทนาได้ แล้วเวลาผ่านแต่ละขั้นแต่ละตอน พอผ่านแล้วมันรู้เอง ผ่านตรงไหน ผ่านตรงที่ว่าสังโยชน์มันขาด ถ้าสังโยชน์มันขาด มันขาดแล้วมันจบ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ พระปัญจวัคคีย์ พระอัสสชิ พระมหานาม พระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาเทศน์ไป พระปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยกัน มีพระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียวเท่านั้นที่มีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทานเลยอัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอคือมีพยานแล้วหนอ มีพยานแล้วหนอ มีผู้รู้ตามแล้วหนอ ฟังอยู่ ๕ องค์ ได้องค์เดียว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป ถ้ามันเป็นเหมือนกันมันก็ต้องได้เหมือนกัน เพราะพระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เหมือนกัน แล้วพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ก็ไปอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปีเหมือนกัน แล้วเวลาอำนาจวาสนาบารมีสมัยที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เสมอภาคกัน ทำไมเวลาแสดงทางวิชาการมา ทำไมมีคนรู้จริงคนเดียวล่ะ อีก ๔ ยังไม่รู้ล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงว่าต้องเรียงตามขั้นตอน

เออ! ลองเรียงดู

ข้อนี้ถามว่าผมสันนิษฐานว่า กาย เวทนา จิต ธรรมนั้นเขาแบ่งไว้ตามภูมิ ตามมรรค ตามผลเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือเข้าใจถ่องแท้ กายคือกาย คือโสดาบัน ถ้าเข้าใจถ่องแท้เวทนาคือเวทนา คือสกิทาคามี เข้าใจจิตคือจิต คืออนาคามี และเข้าใจธรรมคือธรรม คืออรหัตตผล

โอ้โฮ! อันนี้ตกทะเลเลยล่ะ ถ้าพิจารณากายในกาย กายในกายแล้วเป็นพระโสดาบัน แล้วต่อไปก็พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นพระสกิทาคามี พิจารณาจิตในจิตเป็นพระอนาคามี ถ้าพิจารณาธรรมในธรรมเป็นพระอรหันต์ เขาแบ่งไว้สมบูรณ์แล้ว นี่สันนิษฐานเอาคือเดา ถ้าเดาเอามันเป็นแบบนี้นะ

พิจารณากายหรือพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมเหมือนกันหมด เหมือนกันหมดในขั้นตอน เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นโสดาบัน พิจารณากายในกายเป็นโสดาบัน โสดาบัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ มันมีอะไรล่ะ ขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ถ้ามันขาดไปเป็นพระโสดาบัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณไม่ใช่เรา วิญญาณมันคืออะไร มันเป็นกายไหม วิญญาณเป็นกายหรือเปล่า เวทนาเป็นกายหรือเปล่า ขันธ์ ๕ นะ กาย เวทนา จิต ธรรม ขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันคืออะไรล่ะ มันเป็นกายไหม เวทนาเป็นกายไหม สักกายทิฏฐิ

โสดาบันคือโสดาบัน ถ้าคนเป็นก็คือคนเป็น ถ้าคนไม่เป็นมันก็ว่าไปอย่างนั้น

ถ้าพิจารณากายจะเป็นโสดาบัน พิจารณาเวทนาจะเป็นสกิทาคามี พิจารณาจิตจะเป็นอนาคามี พิจารณาธรรมเป็นพระอรหันต์

มันพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แต่ในกายมันแยกแยะแบ่งแยกไปได้มหาศาล ในเวทนากาย เวทนาจิต ในจิตผ่องใส จิตยึดมั่นถือมั่น ในธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก คนมันแตกต่างมากมายไปหมด มันอยู่ที่หยาบละเอียด ถ้ามันอย่างหยาบๆ มันก็เป็นโสดาบัน ถ้ามันอย่างละเอียดขึ้นมามันก็สกิทาคามี ถ้าละเอียดสุดเป็นพระอนาคามี แล้วถ้าเป็นตอของจิตมันไม่ใช่หมดเลย

ถ้าเป็นตอของจิตนะ เป็นตอของจิต จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เวลาจิตเดิมแท้ จิตที่ผ่องใสมันเป็นกายไหม มันเป็นเวทนาไหม มันเป็นอะไร มันเศร้าหมองมันผ่องใสอยู่ในใจนั่นน่ะ เวลาไปถึงตรงนั้น ถ้ามันทำลายตรงนั้นไป มันสิ้นไป นั่นอีกเรื่องหนึ่งเลย อันนี้ต่างหาก อันนี้ต่างหากมันถึงเป็นความจริงไง ไม่ใช่เดาเอา

ถ้าเดาเอามันเป็นแบบนี้ เพราะการเดาเอา เพราะเดาเอาแล้วมันมีความศรัทธาไง เรามีศรัทธา เราเชื่อธรรมและวินัย เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ด้วยความศรัทธาโดยกิเลสของเรา เราก็ไปเรียงลำดับของเราเองด้วยความเคารพเทิดทูนไว้สูง เทิดทูนไว้สูง เราเทิดทูนกันจริงๆ เทิดทูนไว้สูง แต่เวลาปฏิบัติเราต้องปฏิบัติให้รู้จริง

แต่นี่เราไปเทิดทูนไว้สูง แล้วเราไม่กล้าพิสูจน์ไง เราไม่กล้าพิสูจน์ เราคิดว่าทุกอย่างมันสำเร็จมาแล้ว เห็นไหม ผมเข้าใจว่าธรรมนี้สำเร็จมาเป็นขั้นเป็นตอนเรียบร้อยแล้ว พิจารณากายแล้วเป็นโสดาบัน พิจารณาเวทนาเป็นสกิทาคามี พิจารณาจิตเป็นอนาคามี พิจารณาธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นขั้นตอนหมดแล้ว แล้วเราก็ทำตามขั้นตอนนั้น อันนี้มันก็จินตนาการเอา แล้วมันก็เป็นการเปรียบเทียบ มันไม่ได้หรอก มันไม่เป็นความจริงของเรา ถ้ามันเป็นความจริงของเรานะ มันจะแตกต่างจากนี้เยอะแยะ

อันนี้เป็นการเดาเอา สิ่งที่เดาเอาแล้วถ้ามีครูบาอาจารย์มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเดาเอาแล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราเดาเอาแล้วเราก็สร้างภาพ พอสร้างภาพเข้าไปแล้วการปฏิบัติมันเป็นไปได้ยาก ถึงบอกว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ครูบาอาจารย์นี้สำคัญมาก ถ้ามีครูบาอาจารย์ ถ้าเรามีความคิดอย่างนี้เขาเรียกเกิดทิฏฐิในใจแล้ว พอเกิดทิฏฐิในใจ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านแก้ได้ แก้ให้เรายอมรับความเป็นจริงได้ ใจมันปล่อยแล้วมันภาวนาต่อไปมันจะก้าวหน้า

แต่ถ้าเรามีความเห็นอย่างนี้ ความเห็นคือทิฏฐิในใจ มันมีความเห็นในใจแล้ว ถ้าความเห็นในใจ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีเหตุมีผลเหนือกว่าเรา เรายึดของเราไงว่าสิ่งที่เราสันนิษฐาน เราเดาเอา มันมาจากพระไตรปิฎก มันมาจากทางวิชาการ เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ทิฏฐิมันเกิดแล้ว มันเกิดเพราะเราต้องยึดมั่นถือมั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องยึดมั่นถือมั่นพุทธพจน์

กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน แล้วเราก็ยึดมั่นตามทิฏฐิความเห็นของเรา แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติของท่านตามความเป็นจริงของท่าน จิตท่านสงบแล้วท่านเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เป็นขั้นเป็นตอนของท่าน อันนั้นเป็นความจริงของท่าน แล้วท่านเอาความจริงของท่านอธิบายให้เราฟัง ถ้าจิตของเรา เรารับฟังเหตุผลของท่าน แล้วเราเอามาพิจารณา แล้วถ้าจิตของเราถ้าทำได้ตามความเป็นจริงอันนั้นนะ เราจะซาบซึ้งมากเลยว่า ใช่ เพราะเราต้องทำตามความเป็นจริงของเราเข้ามาแล้ว ทำความจริงของเราเข้ามา พอความจริงเกิดขึ้นมาในใจแล้วเราจะเข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วเราปฏิบัติเป็นความจริงของเรา เราเข้าใจได้ความเป็นจริงเลย แล้วความจริงอันนี้มันก็ได้มาจากว่าครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านปฏิบัติจริงแล้วท่านมีความจริง ท่านสอนเรา แล้วเราปฏิบัติตามความจริงมันจะเป็นอันเดียวกัน เหมือนกันหมดเลย

แต่เพราะเรามีทิฏฐิ เรามีความเห็นอย่างนี้ แล้วถ้าเรายึดความเห็นของเราอย่างนี้ เราก็มีหลังอิงไง มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่อ้างอิงได้ว่า อันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กาย เวทนา จิต ธรรมที่แบ่งไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วข้ามขั้นตอนไม่ได้ ต้องรู้รอบขอบชิด ต้องรู้ไปทุกเรื่อง ต้องรู้ไปทั้งหมดเลย...มันก็รู้จำไง รู้ก็การศึกษา รู้ก็การค้นคว้าไง แต่ความจริงมันไม่มีเลย

แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงขึ้นไปนะ สิ่งที่ถามมามันจะโยนทิ้งหมดไง ถ้าใจมันลงนะ มันจะปล่อยวางหมด ปล่อยวางเรื่องนี้ทั้งหมดเลย แล้วปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา พอความเป็นจริงเกิดขึ้นมา หลวงตาท่านถึงบอกว่า การประพฤติปฏิบัตินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกไว้ให้กับปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ยกให้กับความรู้จริงตามความเป็นจริงอันนั้นเป็นผู้ตัดสิน สันทิฏฐิโกในใจของผู้ตัดสิน ความรู้จริงอันนั้นมันจะเป็นผู้ตัดสิน

แต่นี่เป็นความรู้จำ เป็นทิฏฐิของเรา เป็นความเห็นของเรา เราถึงเป็นการเดาเอา สันนิษฐานเอา คาดเอา เห็นไหม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นจะอยู่ในใจดวงนั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรมคาดเอา คาดหมายเอามันก็คาดหมายเอา เดาเอาแบบนี้ เอวัง