ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิบัติดูที่ใจ

๒ พ.ย. ๒๕๕๖

ปฏิบัติดูที่ใจ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องไม่มีคำถามค่ะ

ท่านคะ ดิฉันเสียใจมากที่สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ ท่านเคยให้ความเมตตากับดิฉันเมื่อครั้งเป็นเด็กโง่เขลาเบาปัญญา เมื่อโตขึ้นมา ดิฉันก็เคยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อองค์หนึ่งที่สอนให้นั่งสมาธิ เพิ่งจะมารู้ไม่นานนี้ว่าท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก สมัยนี้มีผู้คนแห่ไปวัดท่านอย่างล้นหลาม พอกลับไปนมัสการท่านอีกครั้ง ท่านก็ป่วยแล้ว ทุกอย่างในวัดเปลี่ยนแปลงไป ทั้งพระลูกวัดบางองค์และญาติโยมไม่มีความสำรวมเหมือนเมื่อก่อน

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วดิฉันไปที่วัดป่าสันติพุทธาราม มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน คือทั้งพระลูกวัดบางองค์และญาติโยมไม่มีความสำรวมเลย โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเรายังออกมาพบปะผู้คนอย่างนี้จะหาความสงบจากที่ไหนคะ เพราะถ้าไม่ออกมาทำบุญอย่างเช่นในวันออกพรรษาหรืองานทอดกฐิน เราก็จะไม่ได้บุญเท่ากับการนั่งสมาธิอยู่ที่บ้านใช่หรือไม่

ตอบ : นี่คำที่เขียนมานะ เขาบอกไม่มีคำถามค่ะ แต่เขียนมารำพันว่าไปที่วัดป่าสันติพุทธาราม รู้สึกว่าพระลูกวัดบางองค์และญาติโยมไม่มีความสำรวมเลย นี่เป็นความเห็นของเขาไง ถ้าความเห็นของเขา ความเห็นของเขาถ้าเห็นตอนนี้ไง แต่ถ้าเห็นตอนที่คนยังน้อยอยู่ล่ะ ถ้าคนยังน้อยอยู่ เราก็มีเวลาควบคุมดูแลได้ แต่ในเมื่อคนมันมากขึ้น พอคนมันมากขึ้นแล้วคนมีความศรัทธา พอมีความศรัทธาเชื่อกันไปก็ปากต่อปาก

เราใช้คำนี้ประจำนะ คำว่าพระดี พระดี ปากต่อปากทีนี้คำว่าดีดีของใครล่ะ ถ้าดีของเด็ก ถ้าเด็ก ถ้าผู้ใหญ่ดี ผู้ใหญ่ก็ต้องเอาใจเด็กใช่ไหม ผู้ใหญ่ก็ต้องตามเด็กหมด แต่ถ้าดีของผู้ใหญ่ล่ะ ดีของผู้ใหญ่ ไปวัดนะ พระเรียบร้อย พระอยู่ในศีลธรรมก็ดี แต่ดีของนักปฏิบัติล่ะ

ดีของนักปฏิบัตินะ ถ้าดีของนักปฏิบัติ ดูสิ ในสมัยพุทธกาลเขาไปวัด ไม่มีพระเลย ไปถึงมีโยมอุปัฏฐากอยู่แถวนั้นเขาบอกว่าให้เคาะระฆัง พอเคาะระฆัง เห็นพระต่างคนต่างเดินมา เห็นพระต่างคนต่างเดินมา พระไม่พูดกันเลย เขาเห็นแล้วเขาก็เข้าใจของเขา นี่ไง ดีของใคร

เข้าใจว่าพระทะเลาะเบาะแว้งกัน พระไม่ถูกกัน ก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกไปวัดนั้นมา ดีมากเลย แต่เสียอย่างเดียว พระทะเลาะกัน พระไม่พูดกัน นี่ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ นั่นล่ะถูกต้อง เขาไม่ได้ทะเลาะกัน เขาสำรวมระวังของเขา เขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขารักษาอายตนะของเขา ตา หู จมูก ลิ้น กาย เขารักษาของเขา เขาไม่คลุกคลี ไม่สุมหัวคุยกัน ไม่ฟุ้งซ่าน

นั่นเป็นความดีของใคร ถ้าความดีอย่างนั้นก็เรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น ขณะที่ว่าเราไปวัด เวลาไปวัด ถ้าเมื่อก่อนเราก็ดูแลอยู่ เพราะสมัยที่ยังมีครูบาอาจารย์อยู่ คือหลวงตาท่านมา ฉะนั้น โยมของเราจะต้องอยู่ในหลักในเกณฑ์หมด เวลามาแล้วต้องให้นิ่งหมด ให้นิ่งหมดเพราะอะไร เพราะว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ท่านรู้ ถ้ามีการคลุกคลี ถ้ามีการคลุกคลีตีโมงกัน มันจะต้องแสดงออก

ถ้าเราไม่คลุกคลีตีโมง พระเป็นพระ โยมเป็นโยม ต่างคนต่างมันมีระยะห่าง ฉะนั้น พระ หลวงตาบอกว่า โยมจะมาทะลึ่งกับพระไม่ได้ หลวงตาท่านบอกโยมจะมาทะลึ่งกับพระไม่ได้ โยมส่วนโยม พระส่วนพระ วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด แต่มันจะรักษาได้ต่อเมื่อคนที่เขาเคยมาวัดแล้วเขารู้กติกา

แต่ส่วนใหญ่แล้วคนที่มาวัดที่นี่ เพราะวัดที่นี่เพราะมันปากต่อปากกันไปไง เสาร์อาทิตย์คนจะเยอะ ถ้าคนจะเยอะ หอบลูกจูงหลานกันมา ทีนี้ก็เลยเป็นเนิร์สเซอรีเลี้ยงเด็ก หรือไม่ที่นี่ก็เป็นบ้านบางแคเลี้ยงคนชรา ก็หอบกันมา ถ้าหอบกันมา

คนชราใช่ไหม อย่างคนชรานะ หลวงตาท่านจะสังเกตว่า ถ้าคนที่มีอายุมากมาแล้วจะนั่งพับเพียบได้ไหม ถ้านั่งพับเพียบได้ ท่านพยายามจะให้ทุกคน ให้หัวใจมันมีคุณภาพมากกว่าร่างกาย คือหัวใจมันเหนือร่างกาย ถ้าหัวใจเรา เรามีความเชื่อมีความศรัทธาของเรา เราทำทุกอย่างก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ กราบพระก็ได้ ทุกอย่างก็ได้ แต่ถ้าร่างกายมันเหนือจิตใจ ร่างกายมันชราภาพ จิตใจของคนศรัทธาใหม่ ศรัทธาใหม่ อู้ฮู! กว่าจะมาวัดนี่ลำบากนะ มาตั้งไกลนะ พวกนี้ในเมื่อร่างกายเขาเหนือกว่า เขาจะนั่งอย่างนั้นไม่ได้

หลวงตาท่านจะดู ดูว่าหัวใจมันสำคัญกว่าร่างกาย ถ้าหัวใจศรัทธา หัวใจมีความเชื่อ ทุกอย่างมันทำได้หมด ถ้าทำได้หมด สิ่งนั้นท่านจะคอยดูแลอย่างนี้เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของธรรม คุณค่าของธรรมคือคุณค่าของหัวใจ แต่ในเมื่อคนมันมากขึ้นๆ เวลาท่านออกมาโครงการช่วยชาติ ท่านผ่อนลงไปๆ ผ่อนลงไปว่าโลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่กับธรรมเป็นใหญ่ ถ้าธรรมเป็นใหญ่แล้วทุกคนเขาต้องเคารพธรรม

เคารพธรรม เห็นไหม วัดเป็นที่อยู่ของผู้มีศีล ถ้าเราจะเข้าไปในเขตของวัด เราต้องสำรวมระวังแล้ว เราจะส่งเสียงดังก็ไม่ได้ ไม่สมควร ไม่สมควรทำเสียงดัง ไม่สมควรต่างๆ แต่เวลาคนที่เขามาแล้วเขารู้กติกาของเขา เขาก็รักษาสิ่งนี้ได้

แต่คนที่มาใหม่ล่ะ คนที่มาใหม่ คนที่มาใหม่ทุกคนมีทิฏฐินะ แล้วไม่ใช่ทิฏฐิธรรมดา ถ้าทิฏฐิของตัวเอง เพราะตัวเองเคยไปวัดทั่วไปใช่ไหม ถ้าวัดทั่วไป เข้าไป มีคนมาพูดให้เราฟังเยอะ ถ้าไปวัดไหนนะ เขาจะเชิญ เขาจะเชิญ เขาจะมีคนต้อนรับ เขาจะมีสิ่งต่างๆ ถ้าคนเขาเคยอย่างนั้นแล้ว พอเขาไปวัดไหนก็แล้วแต่ เขาก็หวังปรารถนาอย่างนั้น แล้วพอมาวัดป่าอย่างเรา เขาไม่ได้รับความปรารถนาอย่างนั้นหรอก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างนั้น

แต่ถ้าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างนั้น แต่กิริยาของเขามันก็เป็นเรื่องธรรมดาของเขา เรื่องธรรมดาของเขา คือเขาจะไม่สำรวม เขาจะไม่สำรวมของเขา เขาจะไม่เข้าใจว่าวัดปฏิบัติมันต้องสงบสงัด วัดปฏิบัติเขาจะไม่ให้กระทบกระเทือนกัน แต่ในเมื่อเขาเคยชินกับที่ไปที่ไหนเขามีแต่การต้อนรับ มีแต่เรื่องปฏิสันถารทางโลกเขา สิ่งนั้นเขาทำของเขาอย่างนั้น

นี้พูดถึงเราบอกว่า มองคนมันแตกต่างหลากหลาย คน หัวใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย ในเมื่อมันแตกต่างหลากหลาย เราต้องมองพระ มองจุดที่เป็นธรรม แต่เขาบอกว่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วดิฉันไปที่วัดป่าสันติพุทธาราม รู้สึกเช่นเดียวกันว่า คือพระลูกวัดบางองค์

เราจะบอกว่าให้มองที่พระ อย่าให้มองที่โยม มองที่พระ หนึ่ง โยมดีก็มี โยมที่เอาแต่ใจก็มี โยมที่มาเรียกร้องความสะดวกก็มี นั่นก็เรื่องของโยม ถ้าบอกให้มองพระ พระลูกวัดบางองค์

หลวงตาเวลาท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์นะ ท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ ท่านจะไปดูข้อวัตร เวลาหลวงตาไปวัดใดก็แล้วแต่ ท่านจะดูความสะอาดในวัดนั้น ดูความสะอาดในห้องน้ำ ในห้องน้ำในวัตรปฏิบัติของพระว่าพระอยู่ในหลักเกณฑ์หรือไม่ ถ้าพระไม่อยู่ในหลักเกณฑ์หรือว่าข้อวัตรในห้องน้ำ สิ่งต่างๆ ไม่สะอาด แสดงว่าหัวหน้าใช้ไม่ได้

หลวงตาท่านให้ดูที่หัวหน้า ให้ดูที่ผู้นำ ถ้าผู้นำที่ดี ผู้นำที่ดี เพราะผู้นำที่ดีแสดงว่ามีกฎกติกาดูแลพระในวัดนั้น ดูแลประชาชนในวัดนั้น ถ้าประชาชนในวัดนั้นเข้าไปในวัดนั้น พระหัวหน้านั้นจะต้องดูแลควบคุม ฉะนั้น ถ้าผิดมันต้องผิดที่หัวหน้า ถ้าผิดที่หัวหน้า

ทีนี้อยู่ที่หัวหน้า ปกติท่านก็ดูแลของท่าน แต่ในเมื่อคนมันมาก คนมันมาก ก่อนที่จะแจกอาหาร ในเมื่อมีเด็ก มีคนชรา มีต่างๆ เขาก็พูดคุยกันปฏิสันถารกันประสาเขา เพราะทางโลก เราเข้าใจทางโลก ทางโลกบอกว่า ๑ อาทิตย์มาเจอกันหนหนึ่ง เวลาเสาร์อาทิตย์เขาก็มาทำบุญที่นี่ เวลาจันทร์ถึงศุกร์เขาก็กลับไปทำงานที่บ้าน

อาทิตย์หนึ่งก็มาเจอกันหนหนึ่ง ใครมีอะไรในหัวใจ โอ้โฮ! คุยกันถูกคอ ถูกปากมาก แล้วมันเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่า ๑ อาทิตย์ได้มาเจอกัน มาเจอเพื่อนแท้ มาเจอเพื่อนรัก อู๋ย! มีความถูกคอกัน คุยกันเสียงลั่นไปหมดเลย

เราเข้าใจว่าอาทิตย์หนึ่งเขาก็มาเจอกันหนหนึ่ง เขาก็คุยกันขณะที่เรายังไม่ได้เทศน์ แต่ถ้าเราจะเทศน์ เพราะต้องการความสงัด เราจะเริ่มบังคับแล้ว สิ่งที่บังคับมันเป็นกิจจะลักษณะ มีหนักมีเบาไง นี่พูดถึงว่าในความเป็นอยู่ของวัดป่าสันติพุทธาราม

ที่ว่า เดี๋ยวนี้มันเสื่อมลง เดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนก่อน

ไม่เหมือนก่อน ถ้าหัวใจเราดีนะ เรากลับมาดูที่ใจเรา ใจเราต่างหากจะดีหรือไม่ดี

ฉะนั้นบอกว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องออกไปทำบุญ ถ้าไม่ได้เป็นวันเข้าพรรษา ไม่ได้ไปทอดกฐิน เราก็จะไม่ได้บุญ

ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับมีสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับใช้ปัญญาหนหนึ่ง ปัญญาที่มันชำแรกเข้าไปในหัวใจ ชำระล้างกิเลส อันนั้นประเสริฐที่สุด

ฉะนั้น ถ้าเราภาวนาที่บ้านได้จริง สุดยอดมากเลย เพราะมีคนถามมากว่า ทำไมต้องไปวัดไหม ต้องไปทำบุญไหม เราภาวนาที่บ้านก็ได้ ทำไมต้องไปวัดไหม

ถ้าการไปวัดมันก็ได้ฟังธรรม ได้ฟังเทศน์ ฟังเทศน์ฟังธรรมมันก็จะปลุกให้หัวใจชื่นบาน ถ้าเวลาเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ธมฺมสากจฺฉา เราคุยกับนักปฏิบัติด้วยกัน ถ้าใครนักปฏิบัติด้วยกัน มันได้แง่คิด มันได้แง่คิดได้มุมมอง ทำไมคนคนนี้ทำไมเขาปฏิบัติได้ ทำไมคนคนนี้เขาทุกข์เขายาก ทำไมเขาขวนขวายมาปฏิบัติของเขา เวลาคนคนนี้ทำไมเขาภาวนาของเขาได้ สิ่งนี้มันเป็นคติธรรม ถ้าไปวัดไปวาเขาเรียกว่าคบบัณฑิต บัณฑิตมีประโยชน์ตรงนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเวลาเราปฏิบัติไปมันติดขัด ครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ คนชี้นำสำคัญมาก

เขาบอกว่า ทำไมต้องไปวัด

ทำไมต้องไปโรงพยาบาล เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นหวัดเป็นไอไม่ต้องไปหรอก มันเป็นเอง หายเอง แต่ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย เราต้องหมอรักษา เราต้องไปโรงพยาบาล นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนา ถ้าจิตยังลงไม่ได้ ยังต่างๆ ไม่จำเป็นหรอก ถ้าเรามีความจริงจัง เราทำได้ แต่เวลาเราไปเห็นนิมิต เวลาจิตเราออกรู้ต่างๆ นี่เริ่มสงสัยแล้ว พอเริ่มสงสัย มันเริ่มสงสัย สงสัยแล้วถ้าเราเดินผิดทาง ไปแล้ว อย่างน้อยทำให้เสียเวลา อย่างมากทำให้ติด

จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่า ทำไมหลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขา ท่านอยู่ในป่าลึกๆ ทั้งนั้นน่ะ ครูบาอาจารย์เราต้องแสวงหา ต้องพยายามเข้าไปหาท่าน เข้าไปหาท่านเพราะต้องการตรงนี้ไง ต้องการคนที่จิตที่สูงกว่าดึงจิตของเราขึ้น ดึงจิตของเราขึ้นไง ถ้าจิตใจของเราดีนะ จิตที่เราดี นักปฏิบัติเขาดูที่หัวใจกัน ถ้าเราดีที่หัวใจนะ หัวใจเรามันกระทบ ไปวัดสันติพุทธารามแล้วมันเปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้มันไม่สำรวมเลย

ดูใจเราสำรวมไหม ย้อนมาดูที่ใจเรา

ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เรายังยืนของเราได้ เรารักษาใจเราได้ ถ้าสังคมที่มันดีขึ้น จิตใจของเรา จิตใจของเราจะดีขึ้นตามเขาไหม จิตใจของเรา มันต้องดูที่หัวใจของเรา ถ้าดูที่หัวใจของเราประเสริฐที่สุด

เราไปวัดไปวาคือวัดใจ หลวงปู่ฝั้นบอกแล้ว ข้อวัตรปฏิบัติก็วัดใจของคน นี่ก็เหมือนกัน เราไปวัดก็เพื่อวัดหัวใจของเรา ถ้ามันเป็นจริงนะ เวลาจริงนะ เราเห็นแล้วเราสังเวช พอสังเวชขึ้นมามันทำให้เราตื่นตัว มันจะตื่นตัวเลย เห็นไหม ถ้าเราทำไม่ดีก็เป็นแบบนั้น ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง เราก็เป็นแบบนั้น

ถ้ามองสิ่งใดเป็นคติธรรม ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ จิตใจที่เป็นธรรมมองเห็นสิ่งใด เห็นใบไม้ร่วงใบหนึ่งมันยังสังเวชเลย ใบไม้เวลามันเป็นใบไม้อ่อน พอใบมันแก่ขึ้นมา มันแก่ พอมันหมดอายุมันก็ร่วงจากขั้ว แล้วมันปลิวมา เหมือนชีวิตคน ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ถ้าจิตใจของครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ท่านมองสิ่งใดเป็นธรรมชาติ มองสิ่งใดเป็นธรรม คือมันสะเทือนหัวใจไง มองใบไม้หลุดจากขั้ว ท่านยังปลงสังเวชเลย ชีวิตก็เป็นแบบนี้

สามเณรน้อยเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ไปถือบาตรเป็นปัจฉาสมณะตามพระสารีบุตรไปบิณฑบาต ไปถึงเห็นนายช่าง นายช่างเขาดัดคันศร คันศรมันเป็นวัตถุ เขายังดัดให้มันตรงได้ แล้วใจของเรามันจะดัดตรงได้ไหม ถามพระสารีบุตร พอพระสารีบุตรเห็นพูดอย่างนั้น ให้กลับเลย

สามเณรอีกองค์หนึ่งไป เวลาไปเห็น เห็นเขาชักน้ำเข้านา น้ำไม่มีชีวิต ทำไมเขาชักน้ำเข้านาขึ้นไปให้เป็นประโยชน์กับต้นข้าวเขาได้ล่ะ แล้วหัวใจเราควรไหม ถามพระสารีบุตรเลยว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อประโยชน์อะไร พอมันสะเทือนใจ ให้เลยนะ บาตรพระสารีบุตรให้พระสารีบุตรไป แล้วตัวเองขอกลับกุฏิ กลับกุฏิไปก็ไปนั่งพิจารณาต่อ ไปนั่งพิจารณาการทดน้ำเข้านา

พระสารีบุตรไปบิณฑบาตกลับมา คิดถึงสามเณรน้อย อยากเอาอาหารนี้ไปให้สามเณรน้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอนาคตังสญาณ เห็นว่าสามเณรน้อยกำลังใช้สติปัญญาเป็นมหาสติ มหาปัญญา กำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาท การทดน้ำเข้านากับการทดธรรมเข้าหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยืนขวางพระสารีบุตรไว้ พระสารีบุตรจะไปกุฏิของสามเณรน้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยืนไว้ ไปยืนที่ทางจะไปกุฏิสามเณรน้อย ถามพระสารีบุตร ชวนพระสารีบุตรถามเรื่องธรรมะ ถามให้พระสารีบุตรตอบธรรมะ พระพุทธเจ้าเป็นคนตั้งปุจฉา พระสารีบุตรเป็นผู้วิสัชนา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ มองสามเณรน้อยกำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอยู่ ถึงที่สุด สามเณรน้อยพิจารณาจนถึงที่สุดชำระล้างกิเลสเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปล่อยให้พระสารีบุตรเข้าไปหาสามเณรน้อย เอาอาหารนั้นไปถวายสามเณรน้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดูหัวใจๆ มันได้ประโยชน์อย่างนี้

สามเณรน้อยกำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอยู่ ถ้าปล่อยพระสารีบุตรเข้าไป สามเณรน้อยจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยืนขวางไว้เลย แล้วชวนพระสารีบุตรสนทนาธรรม ให้สามเณรน้อยพิจารณาไป นี่อยู่ในอรรถกถา เพราะตั้งแต่เช้าไง สามเณรน้อยกำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่ตะวันคล้อยไปแล้วนะ ด้วยบุญด้วยกุศล เพราะมันเป็นคุณงามความดี เป็นบุญกุศล เพราะนักปฏิบัติเขาดูกันที่หัวใจ สามเณรน้อยพิจารณาไปจนถึงเป็นพระอรหันต์

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปล่อยให้พระสารีบุตรเข้าไป พระสารีบุตรเอาอาหารไปฝากสามเณรน้อย สามเณรน้อยฉันอาหารเสร็จ ตะวันไปบ่ายแล้ว ในธรรมบทเป็นอย่างนั้นเลย นี่พูดถึงถ้าดูหัวใจนะ มันจะเป็นประโยชน์

ฉะนั้น เวลาไปวัด ถ้าวัดไหนเดี๋ยวนี้มันเสื่อมไป มันเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนแปลงไปมันก็เรื่องของโลก แต่ถ้าหัวใจเราดีขึ้นมานะ สิ่งนี้มันจะย้อนกลับมาที่นี่

เขาบอกว่าไม่มีคำถาม เราก็ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำตอบหรอก แต่นี้มันเป็นเรื่องสังคม ในเมื่อสังคม สังคมมันมี สังคมมีเรื่องของสังคม ทีนี้เวลามองปัญหาอย่างนี้ไป ฉะนั้นว่า ไปที่วัดสันติพุทธารามแล้วพระบางองค์ไม่สำรวมเลย

จริตนิสัย ถ้าไปที่วัดอื่นนะ พระเขาก็ยังอยู่ของเขา ยังอยู่ของเขาโดยความเคยชิน แต่เวลาพระของวัดเรา เราเองเราอยู่เป็นผู้นำ เรารู้ว่าพระในวัดหรือพระจากนอกก็แล้วแต่ เขาเกรงใจเรา เกรงใจเพราะอะไร เกรงใจเพราะถ้าผู้นำเป็นหลักที่ดี เขาเกรงใจ คำว่าเกรงใจแต่ว่าพระบางองค์ไม่สำรวมเลย นั้นเขาเวลาต่อหน้าเราหรืออยู่ในสายตาของเรา เขาจะอยู่ในหลักในเกณฑ์ แต่ขณะที่ว่าเราเห็น เช่น บิณฑบาต บิณฑบาตธุดงค์ เราไปกลับ เรากลับมาสายที่สุด เราออกไปก่อนเขาเพื่อน แล้วเราก็เดินไปเดินกลับของเรา ๘ กิโลเมตร กว่าเราจะกลับมา พระเขาบิณฑบาตเสร็จหมดแล้ว ฉะนั้น ความเคยชินของคน ลับหูลับตา ลับหูลับตาเรา

พระบางองค์ไม่สำรวมเลย

เออ! เราก็รู้ว่ามันมี มันมีเพราะอะไร มันมีเพราะว่าความรู้สึกของคน ความรู้สึกของคนมันควบคุมยาก มันก็คิดว่ามันควบคุมดีแล้วไง แต่คนอื่นเห็นน่ะ ในความรู้สึกของคนมันควบคุมยาก ฉะนั้น ถ้าต่อหน้ามันก็กลัว แต่ถ้าลับหลังมันก็มีแสดงออกบ้าง

แต่นักปฏิบัติมันต้องดูใจของตัว ถ้านักปฏิบัติไปดูอย่างนั้น ดูอย่างนั้นแล้วติดใจอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนี้ไปหมด เพราะโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ติฉินนินทา สรรเสริญนินทา มันมีของมันอยู่อย่างนี้ ถ้ามีของมันอยู่อย่างนี้ มันเป็นปัญหาสังคม มันไม่ใช่ปัญหาในการปฏิบัติ

ถ้าปัญหาในการปฏิบัติ เหมือนกัน เหมือนคนไข้ หมอให้ยา ให้ยาตามอาการนั้น ถ้าให้ยาตามอาการนั้น ถ้ามันผิด ให้ยาผิด แพ้ยา ช็อก ถึงกับเสียชีวิตได้ นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติมันสำคัญตรงนั้น ถ้าสำคัญตรงนั้นนะ กลับมาดูที่ใจ เพราะเขาไม่พร้อม ถ้าเขาพร้อม เขาต้องดูแลใจเขาได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาอนุปุพพิกถา เรื่องของทาน ให้เขาเรื่องสวรรค์ เรื่องเนกขัมมะ นั้นจิตใจเขาพร้อม

แต่นี้เขาว่า พระบางองค์ยังไม่สำรวม เขายังแสดงกิริยา คือว่าเขายังไม่พร้อม แล้วยังไม่พร้อม เราให้ยาไป ยามีคุณค่าไหม คนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราให้ยาไป เสียดายยา ยานั้นเขาให้เวลาคนป่วยที่มันจำเป็นจะต้องใช้ยานั้น ยาแพงนะ ต้องเสียเงินนะ แล้วใช้อีลุ่ยฉุยแฉกไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าคนเขาไม่พร้อม ไม่พร้อมก็ต้องให้เขาปรับตัวเขา ถ้าเขาปรับตัวเขา เขาพร้อมของเขา แล้วถ้าเขาต้องการสิ่งนี้ ฉะนั้น ต้องการสิ่งนี้ เขาถึงจะเป็นพระที่สำรวม พระที่เราเชิดชู พระที่เราเคารพนับถือ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะเห็นอย่างนั้น ฉะนั้น ไม่มีคำถามก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน แต่ปฏิบัติเขาให้ดูที่ใจ

ถาม : เรื่องดูกระดูก

เดิม เวลาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิจะชอบดูกระดูกตัวเองอยู่นาน จนพบพระรูปหนึ่งบอกให้ดูจนเป็นไตรลักษณ์ เลยกลับไปดูเผากระดูก (ศพ) แล้วเหลืออะไร เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เพลินอีก ตอนนี้เพลินกับพุทโธและดูอสุภะถูกไหมคะ

ตอบ : การปฏิบัตินะ เริ่มต้น การปฏิบัติเริ่มต้น ถ้าทำความสงบของใจ มีการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ การทำความสงบของใจมันมีวิธีการหลากหลาย มีวิธีการหลากหลายเพื่อจริตนิสัยของคนที่หลากหลาย คนเรามีความชอบ ความไม่ชอบ มีจิตที่ลำเอียง จิตที่มีความเข้มข้นอย่างใด จิตของคนมันหลากหลาย ฉะนั้น การทำความสงบของใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ถึง ๔๐ วิธีการ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดกว้างมากเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์คือรื้อสัตว์ขนสัตว์ในหัวใจของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ สัตว์ตัวนั้นต้องพร้อมที่จะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อยกไป ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ยกจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นพุทธานุสติ พุทโธๆๆ จนจิตนั้นเป็นพุทโธ มันเข้ากระแส ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ ฉะนั้น ทำความสงบของใจมันหลากหลายมาก

ฉะนั้น การหลากหลาย ให้จิตเข้ามา จะพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ นึกกระดูก อัฐิๆๆ นึกกระดูก นึกสิ่งใดก็ได้ แต่ต้องนึก เพื่อให้จิตใจนั้นสงบระงับเข้ามา ถ้าสงบระงับเข้ามา จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อหัวใจขนหัวใจ ขนบุญกุศลสิ่งที่เป็นความสุข ความดีงาม จะรื้อสัตว์ขนสัตว์แบบนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราจะทำความสงบของใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดกว้าง ทีนี้การเปิดกว้าง เราก็ปฏิบัติของเรา เราก็พุทโธของเรา กำหนดลมหายใจก็ได้ ทำสิ่งใดก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำสิ่งใด ๔๐ วิธีการ แต่มันแตกแขนงออกไป นี่ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า เขาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ชอบดูกระดูกตัวเอง ดูกระดูกตัวเอง มันก็ถูก ถ้าเราดูกระดูก อัฐิ มันก็ถูก ทีนี้มันก็ถูก จนไปเจอพระรูปหนึ่งท่านบอกให้ดูจนเป็นไตรลักษณ์บอกให้ดูจนเป็นไตรลักษณ์ ถ้ามันจะเป็นไตรลักษณ์จิตมันต้องสงบก่อนไง

ฉะนั้นบอกว่า พอเรามาเผากระดูก เขาใช้คำว่ากลับมาเผากระดูกจนมันไม่มีสิ่งใด เลยกลับไปเพลินกับพุทโธต่อนี่มันเป็นความกังวล ถ้าเราดูกระดูกของเรา เราใช้จิตอยู่ในกระดูก อยู่ในกระดูกของเราให้มันอยู่ได้นานๆ มันก็สงบเข้ามาเหมือนกัน ทีนี้เราไปเผาเลย ก็หมดเหมือนกัน พอหมดเหมือนกัน เราก็มาเพลินในพุทโธ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันสงบแล้ว พอมันสงบ เราก็อยู่กับความสงบนั้น ถ้ามันนึกพุทโธได้ก็นึกพุทโธต่อไป

ถ้าจิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญาในอะไร ออกฝึกหัดใช้ปัญญาในชีวิตประจำวันเรานี่แหละ ชีวิตนี้เกิดมาทำไม ชีวิตนี้อยู่เพื่ออะไร ชีวิตนี้มาจากไหน พิจารณาเข้าไปบ่อยครั้งเข้าๆ

เราจะบอกว่า ถ้าจิตสงบแล้วมันต้องยกขึ้นใช้วิปัสสนา ถ้าจิตมันสงบ สงบใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมถะเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามามีความสุข

นี่เขาเพลินมากตอนนี้ พอเห็นแล้วมันเพลินมาก ตอนนี้เพลินกับพุทโธและดูอสุภะไป ทำต่อไปนี่ถูก ถูกในขั้นของทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้าใจสงบแล้วมันมีจิตจริง จิตจริงคือจิตที่สงบระงับ จิตที่สงบระงับแล้วถ้ายกขึ้นใช้ปัญญามันจะเป็นภาวนามยปัญญา แล้วพอมันเป็นภาวนามยปัญญา อาการ รสของธรรมๆ มันจะแตกต่างกับที่ว่าเราเพลินในพุทโธนี้

ขณะที่เราเพลินในพุทโธ ตอนนี้เพลินในพุทโธมากเลย แต่ถ้าจิตมันเสื่อมนะ เครียดกับพุทโธมากเลย จากที่เพลินกับพุทโธ เพราะมันสงบระงับ มันอยู่กับพุทโธด้วยความสุข แต่ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน พุทโธมันเป็นของแสลงเลย มันทุกข์มันยาก มันไม่ยอมทำ มันโต้มันแย้ง นี่มันมีเจริญแล้วเสื่อม

ทีนี้พอถ้าจิตมันเพลินกับพุทโธคือมันสงบระงับ มันดีขึ้นมาแล้ว ฉะนั้น ถ้ามันออกฝึกหัดใช้ปัญญานะ เวลาไปดูอสุภะ เขาบอกตอนนี้เขาเพลินในพุทโธ เพลินในอสุภะ ถูกไหม

ดูอสุภะต่อเนื่องไปๆ ถ้าจิตมันจริง มันเห็นกายจริง แล้วมันพิจารณาจริง เวลาถ้ามันปล่อยจริงนะ นี่รสของธรรม รสของปัญญา รสของมีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วเกิดปัญญา รสของมันจะแตกต่าง พอรสแตกต่าง เราจะรู้ได้ไง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง หมายความว่า ถ้าจิตสงบ เราก็รู้ว่าความสงบเป็นอย่างนี้ นี่คือสมาธิ

แต่เราฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปแล้ว เวลามันใช้ปัญญามันพิจารณาของมันไป เวลามันปล่อยวาง เราจะรู้เลยว่าถ้าใช้ปัญญามันจะมีความสุขอย่างนี้ ถ้าความสุขอย่างนี้ อย่างนี้ ปล่อยอย่างนี้จนคนเข้าใจว่านี่เป็นธรรมๆ แต่ความจริงมันยังไม่ใช่ มันเป็นตทังคปหาน

พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป เวลามันขาด มันรู้ของมันได้ไง นี่เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเป็นแบบนี้ ฉะนั้น เป็นแบบนี้ การดูกระดูกถูกต้อง ถูกต้อง เขาว่าถูกไหมคะ ถูก ทำต่อไปเถอะ เพราะคำว่าถูกถ้าทำสมถะ เริ่มต้นคนที่ทำมันมีความฟุ้งซ่าน มันปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล อย่างนี้มันก็ไม่ถูก เพราะว่ามันไม่ได้ผลไง

แต่เวลาจิตมันสงบถูกไหม ถูก ถ้าถูกแล้วทำไมคนติดล่ะ ถ้าถูกแล้วมันต้องถูกตลอดไปสิ...ถูก ถูกในขั้นของสมถะ แต่ถ้าจิตมันจริงแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อย่างนี้ถูกในการวิปัสสนา ถ้าถูกในวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนาถูกแล้วมันต้องถูกต่อไปสิ...มันจะผิด ผิดตรงไหน ผิดที่มันพิจารณาแล้วมันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว มันปล่อยแล้วมันไม่ถึงเป้าหมาย มันปล่อยกึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้มันผิด

มันผิดก็ต้องซ้ำๆๆ เข้าไป พอซ้ำเข้าไปมันขาด มันถูก พอถูกแล้วมันก็ต้องถูกต่อไป นี่ผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะมันต้องยกขึ้นสู่สกิทาคามิมรรค ยกขึ้นสู่สกิทาคามิมรรคมันต้องเป็นมรรคอีกระดับหนึ่ง เวลามันจะยกขึ้นได้ ยกขึ้นไปถูกไหม ถูก ถ้าถูกแล้วถ้าหลงก็ผิด แต่ถ้าพิจารณาถึงที่สุดมันก็ถูก

การถูกและผิดมันเป็นขั้นตอน จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตที่ต่ำกว่าเป็นชั้นเป็นตอน บุคคล ๔ คู่ไง คู่ที่ ๑ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ ถ้าเราเดินถูกต้องดีงามขึ้นไปมันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ฉะนั้น คำว่าถูกว่าผิด ถูกของใคร ถูกผิดมันถูกผิดระดับไหน ถ้าถูกผิดระดับพื้นฐาน ถ้าเริ่มต้นโดยพื้นฐานถ้าเราปฏิบัติ อะไรก็ได้ หลวงตา ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ทำอย่างไรก็ได้ขอให้มีสติ มีสติกำหนดอะไรก็ได้ ขอให้มีการกำหนด มีปัญญาอบรมสมาธิ อย่าเร่ร่อน อย่าปล่อยวาง

ถ้าขาดสติ หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าขาดสติ การทำความเพียรนั้นถือว่าเป็นมิจฉาหมด แต่ถ้ามีสติขึ้นมา มีสติ ถ้ามีสติ สติกำหนดในอะไร ถ้าสติกำหนดในอะไรมันก็กำหนดของมัน มันมีคนทำงาน มันมีงานทำ มันมีการพิจารณาของมัน มันมีปัญญาของมัน ถ้ามันปล่อยวางเข้ามา มันทำอย่างนี้ถูก ถ้าถูกขึ้นมา มีสติสัมปชัญญะ ถูก ถูกแล้วปฏิบัติไป ถ้ามันถูกแล้วมันก็เป็นการปฏิบัติเพื่อความสุขความสงบ แล้วถ้ามันจะเป็นโสดาปัตติมรรค มรรคคือว่าเริ่มภาวนาเป็น มันก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ฉะนั้นว่ามีพระรูปหนึ่งบอกให้ดูจนเป็นไตรลักษณ์

จะเป็นไตรลักษณ์หรือไม่เป็นไตรลักษณ์มันต้องจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้วพิจารณาไปมันถึงรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ แล้วเป็นไตรลักษณ์จะเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นไตรลักษณ์นะ เป็นไตรลักษณะมันปล่อย มันชั่วคราวๆ ตทังคปหาน แต่ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงนะ เวลามันปล่อยของมัน เวลาสังโยชน์มันขาด เห็นตามความจริงอันนั้นมันจะเป็นความจริง ถ้าความจริงอันนั้น

เขาว่าการดูกระดูกถูกไหม ถูก ถูกหมดแหละ ให้ทำไปก่อน ทีนี้พอทำไปแล้วมันติดขัดอย่างใด นั่นล่ะที่บอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วต้องไปวัดไหม ต้องไปวัดไหม เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันติดขัดอย่างใด

แต่ถ้ายังไม่ติดขัด มันไม่มีปัญหาอะไรติดขัดจะไปตอบอะไร ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย เขาว่าตอนนี้หนูเพลินในพุทโธมากเห็นไหม มันไม่มีปัญหาอะไรเลย มันมีแต่ความสุข เออ! มีความสุขก็ถูก ทำไปเลย

แต่ถ้ามันติดขัด มันทำไปแล้วมันไปไม่ได้ หรือทำไปแล้วจะไปเห็นอะไรแล้วตกใจ เห็นสิ่งใดแล้วมันทำให้เราไม่แน่ใจ ถึงตอนนั้นถึงมีครูมีอาจารย์คอยบอกคอยชี้ให้เราพัฒนาขึ้นไป แต่ถ้าตอนนี้ดูกระดูก ถูกไหม ถูก แล้วตอนนี้พิจารณาไปแล้ว อยู่กับพุทโธมันเพลินมาก ถูกไหม ถูก ดูสิ่งใดถูก

แต่ถ้าเป็นปัญหาอื่น ปัญหาอื่น หมายความว่า เวลาถูกๆ เวลาคนไปคุยกับผู้ปฏิบัติที่สูงกว่าเขาก็บอกว่ามันควรละเอียดกว่านี้ ฉะนั้น เวลาเราทำสิ่งใดอย่าไปเอาของคนอื่นมาเทียบเคียง คนที่ปฏิบัติยังไม่ได้ถึงระดับนี้เขาก็ไม่เชื่อเรา คนที่เขาสูงไปกว่านี้เขาก็บอกว่าเราเพิ่งปฏิบัติใหม่ ฉะนั้น วุฒิภาวะ แม้แต่จริตของคนมันก็ไม่เหมือนกัน การปฏิบัติของคน อุปสรรคของคนไม่เหมือนกันหรอก แม้แต่จิตดวงเดียวเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางทีปฏิบัติดี ดีมากๆ เลย เวลามันเสื่อมแล้วเดี๋ยวมันก็ร้าย

จิตเราเองนะ อุบายเก่าใช้ไม่ได้ อุบายเก่าถ้ามันใช้ กิเลสมันรู้ทัน เราเคยใช้อุบายอย่างนี้แล้วได้ผล จะใช้อีกกิเลสมันหัวเราะเลยว่าทำไมเราเอาอุบายเดิมมาหลอกกิเลสตัวเก่า กิเลสมันรู้อยู่แล้วน่ะ อุบายเราต้องเปลี่ยนตลอด พลิกแพลงเป็นใหม่ๆ เป็นปัจจุบัน เป็นสดๆ ร้อนๆ ตลอด ถ้าสดๆ ร้อนๆ กิเลสมันคิดไม่ทัน เออ! มันก็ลงได้ มันก็เบาได้ มันก็สงบระงับได้ แม้แต่จิตดวงเดียว จิตของเราแท้ๆ มันยังต้องมีอุบายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วจิตของคนมันหลากหลายมาก

ฉะนั้น เวลาที่ว่าถูกไหม ถูกหรือผิด ถูกหรือผิด มีคนโต้แย้งกันมาก ทีนี้ถูกหรือผิดมันอยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่ระดับของเรา ถูกหรือผิดขั้นของมัน ถ้าขั้นอย่างนี้ถูกก็ถูกของมัน เวลาพัฒนาไปแล้ว แล้วสูงขึ้นไปมันต้องละเอียดกว่านั้น เช่น สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา มันมีหลายระดับของมัน ครูบาอาจารย์จะรู้

แต่ทางวิทยาศาสตร์มันเหมือนกับทำตามวิทยาศาสตร์ ต้องอย่างนี้ตลอดไป แก้กิเลสไม่ได้หรอก กิเลสมีหนักมีเบา มีซับมีซ้อน กิเลสมันมีพลิกมีแพลง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้วมีอุปสรรค ถึงตอนนั้นเราค่อยถามมาใหม่เนาะ ตอนนี้บอกว่าถูกไหม ถูก เอวัง