ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ตะกอนไหว

๑๖ พ.ย. ๒๕๕๖

 

ตะกอนไหว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณมาก”

 

กราบเท้าหลวงพ่อครับ กราบขอบพระคุณมากที่หลวงพ่อเมตตาตอบคำถามผมในเทศน์ “ผิดเป็นครู” มันล้างข้อข้องใจออกไปเลยครับ ผมได้ฟังตั้งแต่วันแรกที่หลวงพ่อเมตตาตอบไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนมาขอบคุณ เพราะตั้งใจจะทำให้มันเป็นสมาธิก่อน คืออยากมีผลงานมาอวดครูบาอาจารย์บ้าง สุดท้ายก็ยังไม่ได้ จึงเขียนมาก่อน เดี๋ยวมันจะนานครับ

 

มันมีคำเทศน์ของหลวงพ่อที่เล่าเรื่องเมื่อครั้งที่อยู่กับหลวงปู่ที่บ้านตาดที่ฝังใจผมว่า “หลวงตาท่านอยู่บนกุฏิ มึงทำให้ได้ผล แล้วเอาคำถามไปถามท่านสิ”

 

จากนี้ไปผมจะตั้งใจปฏิบัติให้มันได้ผล เมื่อติดขัดจะได้มีคำถามที่เป็นสาระมาถามหลวงพ่อบ้าง

 

ตอบ : กราบขอบพระคุณเนาะ กราบขอบคุณ ขอบคุณสิ่งที่เป็นสัจธรรมๆ เพราะคำถาม “ผิดเป็นครู” เพราะว่าเราปฏิบัติไปแล้วมันคาใจไง เขามีสิ่งที่คาใจอยู่ พอปฏิบัติคาใจอยู่ พอปฏิบัติไปแล้ว คนเรามันมีกิเลส เวลากิเลสไหวๆ กิเลสมันมีอยู่กับเราแล้วแหละ แต่เราไม่เข้าใจว่ากิเลสมันคืออะไร เวลาเราไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เวลาศึกษาธรรมะครูบาอาจารย์ เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เราลืมไป ลืมไปว่าใจเรามีกิเลส

 

สิ่งนั้นเป็นธรรม เป็นธรรมของครูบาอาจารย์ พอธรรมของครูบาอาจารย์ เราพยายามไปปฏิบัติ พอไปปฏิบัติแล้วมันก็เหมือนเทียบเคียง พอเทียบเคียง มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะใช่อย่างนี้ มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็มั่นใจของเราว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องดีงามอย่างนั้น แต่ปฏิบัติไปแล้วมันก็ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเรามีอวิชชาอยู่ในหัวใจ แต่ธรรมะเราพยายามปฏิบัติขึ้นมา

 

ทีนี้พอปฏิบัติขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นความทุกข์ยากของเราอันหนึ่งแล้ว ฉะนั้น พอเรามีสิ่งใดที่มันตกตะกอนค้างอยู่ในใจ ตกตะกอนค้างอยู่ในใจ พอเราปฏิบัติไปนะ แล้วพอมันไม่ได้ผล มันจะอ้างอิงตรงนั้นแล้ว เพราะไอ้นั่น เพราะไอ้นี่ เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้

 

เหมือนเรา ถ้าเราทำสิ่งใดที่ผิดพลาดไว้ เป็นอาบัติไว้ หรือเราทำกรรมสิ่งใดไว้ เช่น เมื่อก่อนพวกเราตอนเด็กๆ เคยไปขัดใจพ่อแม่ เคยไปทำสิ่งใดไว้แล้วมันฝังใจ พอมันฝังใจ พอไปทำอะไรผิดพลาดนะ เพราะเหตุนั้นๆ เราจะอ้างตรงนั้นเลย เราเคยทำอะไรผิดพลาดไว้ไง พอเราทำอะไรผิดพลาด เราก็ว่า เพราะเหตุนี้ เพราะเราเคยทำอย่างนี้ไว้ กรรมนั้นเลยตามมา เราเลยทำอะไรไม่ได้เลย เราเลยทุกข์เลยยากอยู่อย่างนี้ นี่ตะกอนในใจ

 

ถ้าคนมีตะกอนในใจ ตะกอนมันไหว ถ้าตะกอนไหวขึ้นมา ทำสิ่งใดมันก็ล้มลุกคลุกคลาน ทั้งๆ ที่การต่อสู้กับกิเลสโดยซึ่งๆ หน้ามันก็เป็นของยากอยู่แล้ว เราจะเอาใจเราให้สงบมันก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เรื่องยากอยู่แล้วเพราะอะไร เรื่องยากอยู่แล้ว เรารู้ทันทุกๆ คน เรารู้ทันคนหมด เรารู้ทางวิชาการหมด แต่เราไม่รู้ทันกิเลสเรา เราไม่รู้ทันหรอกว่าใจเราทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แต่เรารู้ทุกเรื่องนะ เรารู้ทุกเรื่องเลย ทีนี้พอเรากำหนดพุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เป็นเหยื่อ เป็นเครื่องล่อ พุทธานุสติ ให้จิตมันเกาะไว้ๆ แต่ตัวมันเองไม่รู้เรื่องหรอก แล้วเราจะไปจ้ำจี้จ้ำไชให้คนเขารู้กับเรา จิตให้มันรู้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ธรรมะเป็นแบบนี้ เราจ้ำจี้จ้ำไชขนาดไหนมันก็ไม่รู้หรอก แต่มันจะรู้ขึ้นมาได้ด้วยการศึกษา พอศึกษามานี่เป็นปริยัติ ศึกษานี้เป็นแนวทาง

 

การศึกษาสำคัญไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การศึกษานี้สำคัญนะ แต่ศึกษามาแล้ว หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เป็นมหามา “มหา มหาเรียนมาจนเป็นถึงมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดมากเลย สูงส่งมาก เทิดใส่ศีรษะไว้ แล้วใส่ลิ้นชัก ลั่นกุญแจมันไว้ก่อน อย่าให้ออกมา แล้วให้ประพฤติปฏิบัติไป” การประพฤติปฏิบัติ นี่ปริยัติแล้วปฏิบัติ การปฏิบัติมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันจะเป็นอันเดียวกัน เป็นอันเดียวกันกับการที่ศึกษามา

 

แต่ถ้าปฏิบัติยังไม่ได้ มันจะเตะมันจะถีบกัน มันจะขัดมันจะแย้งกัน เพราะตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นข้อเท็จจริง ของจริงๆ จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรามีอวิชชา เรามีความไม่รู้ในหัวใจของเรา เราก็เทียบเคียง การเทียบเคียงเอา การอนุมานเอา ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดา คาดหมาย มันจะได้ธรรมะที่คาดหมาย ด้นเดา มันไม่เป็นความจริงหรอก ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมามันเทียบเคียง เห็นไหม นี่ตะกอนมันไหว กิเลสมันไหว พอมันไหวขึ้นมามันก็เทียบเคียง เทียบเคียงอยากได้ อยากเป็น อยากดี แล้วพอไม่ได้ขึ้นมา ตะกอนมันไหวแล้วมันก็ไปเอาตะกอนให้ขุ่นขึ้นมา ให้น้ำขุ่นไปหมดเลย

 

นี่ก็เหมือนกัน พอปฏิบัติไป เห็นไหม ถึงบอกว่าผิดเป็นครู สิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วเราก็เสียใจ กรรมที่ได้ทำมาแล้วเป็นกรรมทั้งนั้นน่ะ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมคือการกระทำ ทำดีก็กรรมดี ทำชั่วก็กรรมชั่ว กรรมคือการกระทำ เราได้กระทำมาแล้ว มันเป็นอดีตมาแล้ว สิ่งที่เป็นอดีตมาแล้ว ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราก็วางไว้ อดีตเราก็รับรู้ เราก็เสียใจ แต่ในปัจจุบันนี้เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราก็ตั้งใจของเรา ตั้งสติของเรา เราทำได้มากได้น้อยแค่ไหน เราก็จงใจตั้งใจทำของเรา อย่างนี้ตะกอนมันจะไม่ไหว

 

คือกิเลสมันรุนแรงอยู่แล้ว กิเลสมันเป็นศัตรูกับเราอยู่แล้ว พญามารมันเหยียบย่ำเราอยู่แล้ว แล้วไม่ต้องไปกวนให้มันขุ่นขึ้นมาอีกหรอก ปฏิบัติมันก็แสนยากอยู่แล้ว แล้วเรายังไปกวนสิ่งที่มันอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่มันมีความผิดพลาดมา สิ่งที่เราพลั้งเผลอมา พอพลั้งเผลอ ตั้งสติได้ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิตแล้วล่ะ บัณฑิต นี่อริยประเพณี

 

ผู้ใดทำความผิด แล้วยอมรับผิด สารภาพผิด นั้นเป็นอริยประเพณี ถ้าเป็นประสาโลกก็แบบว่าใครทำผิดแล้วรู้ทัน ใครทำความผิดพลาดแล้วรู้ว่าผิดพลาด แล้วยอมรับ เขาว่าเป็นสุภาพบุรุษ

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความผิดพลาดในใจ ทีนี้เป็นสุภาพบุรุษแล้ว เป็นสุภาพบุรุษมันก็จบไง นี้เป็นสุภาพบุรุษแล้วกิเลสมันก็กระทืบซ้ำเลย กระทืบซ้ำ เห็นไหม นี่ผิดเป็นครู

 

มันไปเอาความผิดพลาดนั่นน่ะ เป็นเพราะเหตุนั้นๆ มันมาทำลายเราไง มันทำลายความตั้งใจเรา ทำให้เราทุกข์ยากไปอีก นี่กิเลสมันจังหวะสอง จังหวะหนึ่งมันก็ล่อเราไปแล้วทีหนึ่ง มันยังมีจังหวะสองซ้ำอีกทีหนึ่ง จังหวะแรกก็คือว่ามันก็ขุ่นมัวในใจเราอยู่แล้ว มันก็ทำให้เราทุกข์ยากอยู่แล้ว นี่จังหวะหนึ่ง พอจังหวะหนึ่งมันสำเร็จโทษแล้ว มันมีจังหวะสองซ้ำมาอีกทีหนึ่ง เพราะไอ้นั่น เพราะไอ้นี่ ก็ไปคว้ามาให้ทุกข์ยากเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ถึงบอกว่าผิดเป็นครู วางไว้ วางไว้แล้วเราปฏิบัติของเรา

 

การปฏิบัติมันก็ทุกข์ยากพอแรงอยู่แล้วแหละ ฉะนั้น สิ่งที่จะปฏิบัติให้มันมุมานะ นี่เราเห็นว่า สิ่งที่เราตกตะกอนในใจ ที่เรายังคาใจอยู่ แล้วเราเอาสิ่งนั้นมาปิดบังความเพียรของเรา เอามาปิดบังความที่มันจะเป็นไปได้จริง

 

เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาจริงๆ จิตใต้สำนึกคนก็อยากได้ดิบได้ดีทั้งนั้นน่ะ เวลามาทำแล้วมันก็คาดหมายอีก นี่ตัณหาซ้อนตัณหา

 

ตัณหา เขาบอกว่า มีกิเลสปฏิบัติไม่ได้ มีตัณหาปฏิบัติไม่ได้

 

ก็มันเป็นกิเลส มันเป็นอนุสัย มันเป็นอวิชชาที่ความไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันอยู่ไหน แล้วจะไม่มีได้อย่างไรล่ะ มันก็มีของมันอย่างนั้นน่ะ แต่เราก็ตั้งสติพุทโธของเราไป ปัญญาอบรมสมาธิของเราไป

 

เราพยายามพุทโธๆ ให้จิตมันเกาะ ปัญญาอบรมสมาธิทำของมัน เพราะเดี๋ยวมันมีปัญญา มันแยกแยะ มันจะละเอียดเข้ามา ใครจะได้ไม่ได้มันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง

 

ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหา คือจริงๆ ทุกคนใฝ่ดี ใฝ่ดีที่ว่ามันเป็นกิเลสๆ สิ่งที่เป็นกิเลส แต่ถ้ามันเป็นมรรคล่ะ ความอยากมันก็เป็นมรรค อยากหลุดพ้น อยากเป็นอริยบุคคล อยากปฏิบัติให้สิ้นทุกข์ นี่ก็กิเลส อ้าว! ความอยากเป็นกิเลสไหม เป็นกิเลส แต่หลวงตาบอกว่ามันเป็นมรรค มันเป็นมรรคคือเป้าหมาย อธิษฐานบารมี เราตั้งเป้าหมายไว้ แล้วขวนขวายไปสู่ที่เป้าหมายนั้น นี่บารมีสิบทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีความปรารถนา เป็นกิเลสไหม ก็เป็น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยายามบำเพ็ญเพียรมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย บากบั่นพากเพียรไปจนกว่ามันจะถึง มันเป็นความอยากไหม เป็น แต่ถึงที่สุดแล้วก็พ้นทุกข์

 

นี่ก็เหมือนกัน แล้วมีตัณหาความทะยานอยากไหม มี เรามีของเราอยู่แล้วแหละ แต่เราบริกรรมพุทโธให้มันสงบเข้ามาๆ มันสงบได้ มันเป็นเกลือจิ้มเกลือ มันเป็นกิเลสแก้กิเลส

 

บอกว่า กิเลสแก้กิเลสได้หรือ เขาบอกต้องทำนะ มันแก้กิเลส

 

มันเป็นมรรค คำว่า “เป็นมรรค” เป็นเป้าหมาย เป็นความหมั่นเพียรให้เรามุมานะ แต่ถ้ามันไม่มีตรงนี้ เราก็ไม่มีความมุมานะเหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าตัณหาซ้อนตัณหา คือว่ากิเลสมันก็มีอยู่แล้ว แล้วตะกอนมันไหวขึ้นมา กิเลสมันซ้อนมา จังหวะสองกระทืบซ้ำ ฉะนั้น เราก็แนะนำให้วางไว้ ถ้ากิเลสซึ่งหน้าก็สู้กับมัน จังหวะหนึ่ง จังหวะแรก สู้กับกิเลส แล้วถ้ามันผิดพลาดพลั้งไปอย่างไรเราก็แก้ไขไป อย่าให้กิเลสมันซ้ำสองซ้ำสาม อย่าให้ตะกอนมันไหวขึ้นมาให้ขุ่นมัวไปหมด อันนั้นเป็นเรื่องที่ว่าใน “ผิดเป็นครู” หนึ่ง

 

สอง ที่บอกว่า หลวงพ่อบอกว่าอยู่กับหลวงตา อยู่กับหลวงตาบอกว่า หลวงตาท่านอยู่บนกุฏิ มึงทำให้ได้ผลสิ แล้วเอาคำถามนี้ไปถามท่าน

 

เพราะตอนนั้นตอนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ออกปฏิบัติใหม่ ทุกคนมันก็มีความรู้เท่าหางอึ่งทุกคนน่ะ ความรู้ทางโลกก็อวดเก่ง รู้ไปหมด แต่ความรู้ทางธรรมไม่มีใครรู้หรอก แล้วพอไปเจอคนนู้นสอนคนนี้สอน มันก็เชื่อเขาไง เราเห็นครูบาอาจารย์ท่านมีพรรษาแล้วท่านปฏิบัติ ดูกิริยาท่าทางจากสายตา ท่านก็เป็นอาจารย์ได้ ก็ไปศึกษากับเขา เขาสอนมา เขาบอกมา แล้วพอเราปฏิบัติไปมันผิดพลาดทั้งนั้นน่ะ ถามว่าไปไหนมา สามวาสองศอก ถามวัว มันตอบช้าง ถามช้าง มันตอบม้า ถามม้า มันตอบงู มันไปเรื่อยล่ะ มันทุกข์ยากอย่างนั้นมา

 

มันทุกข์ยากอย่างนั้นมาจนไปเที่ยวภูทอก ไปเจอหลวงปู่จวน “เห็นไหม อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจท่านอีกมหาศาลเลย อวิชชาอย่างละเอียดในใจท่านท่วมหัวเลย”

 

โอ้โฮ! จริงเว้ย

 

เมื่อก่อนไปถามใคร ตอบไม่รู้เรื่องหรอก ถามช้าง ตอบม้า ถามม้า ตอบควาย มันมั่วไปหมด เพราะมันผิดพลาดอย่างนั้นมา มันทุกข์ยากมา ทุกข์ยากมาเพราะปฏิบัติมา หาครูบาอาจารย์มา ท่านไม่รู้ท่านก็ตอบประสาไม่รู้ แต่ท่านอวดว่าเป็นอาจารย์ ไอ้เราก็ไม่รู้ เราก็เชื่อเขา พอปฏิบัติไปมันก็งูๆ ปลาๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ พอไปเจออาจารย์จวนทุบหัวทีเดียว ปลามันโดนทุบหัวมันตายเลย มันดิ้นตายเลย กิเลสมันโดนทุบทีเดียวมันสะอึกเลย ตั้งแต่นั้นมามันถึงเห็นโทษของการขาดอาจารย์ แล้วก็พยายามปฏิบัติเต็มที่

 

พอเครื่องบินตก เครื่องบินตก อาจารย์จวนท่านเสีย โอ๋ย! มันแบบว่าเคว้งคว้าง มันไปไหนไม่ได้ ทีนี้พอเข้าไปอยู่บ้านตาดมันก็คิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้เพราะอะไร เพราะมันมีทุนเดิมมาไง ทุนเดิมโดนคนหลอกมาสะเปะสะปะ โดนคนหลอกมามหาศาล แล้วเวลามีครูบาอาจารย์ที่แท้จริงท่านก็นิพพานไปแล้ว พอเข้าไปบ้านตาดมันถึงเร่งตัวเอง มันจะเร่งตัวเอง กำหนดตัวเอง นี่ไง เอ็งห่วงว่าจะไม่มีคนสอนไง เมื่อก่อนเที่ยวมา คนสอนก็สอนแต่ผิดๆ พลาดๆ ตอนนี้หลวงตาท่านอยู่บนกุฏิไง เอ็งมีอะไรจะไปถาม เอ็งกลัวจะไม่มีอาจารย์สอนเอ็ง เอ็งก็เต็มที่สิ นี่มันกระตุ้นตัวเองอย่างนี้ มันเร่งความเพียรมากเลย

 

เพราะเราเป็นห่วงใช่ไหม เหมือนเราเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีหมอรักษา ไอ้นี่หมอมีอยู่ แต่เอ็งไม่ป่วย เอ็งไม่ป่วย เวลาป่วยก็กลัวจะไม่มีใครรักษา หมอก็นั่งอยู่นี่ เพราะเมื่อก่อนเราไปหาหมอมาก็หมอสัพเพเหระ เราก็ยังไม่ให้เขารักษามา แต่คราวนี้หมอจริงๆ เลย หมอแท้ๆ เลย เพราะว่าเราก็ได้ศึกษากับท่าน มันก็เต็มที่อยู่แล้ว ฉะนั้น มันถึงท้าทายตัวเองเลยนะ นี่ไง ท่านอยู่บนกุฏินี่ไง เอ็งมีอะไรเอ็งทำขึ้นมาสิ ทำขึ้นมา ขึ้นไปถามเลยๆ

 

เมื่อก่อนปฏิบัติมาแล้วไม่มีทางออก ปฏิบัติมาเวลาไม่มีทางออกมันอัดอั้นตันใจ ไปเที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ให้สอน ท่านก็ชักจูงให้ไปทางที่ผิดทั้งหมด เวลาไปหาใคร ใครก็ชักจูงกันไป ถามม้า ตอบช้าง ถามช้าง ตอบม้า ไม่เป็น ไม่เป็นก็คือไม่เป็น ทีนี้พอไม่เป็น แต่เราก็ไม่เป็น มันก็เชื่อเขา เขาไม่เป็น แต่เราก็ไม่เป็น แล้วเอาอะไรไปจับเขาล่ะ ก็เชื่อเขาไปก่อน แต่พอมาปฏิบัติ พอมีร่องมีรอย เฮ้ย! นี่มันหลอกนี่หว่า หลอกทั้งนั้น แล้วพอมันรู้ว่าอะไรหลอกอะไรจริง พอเจอของจริงมันก็พยายามมุมานะ พอมุมานะขึ้นมามันก็คิดอย่างนี้ ฉะนั้น คำนี้เราพูดเอง “นี่ไง หลวงตาท่านอยู่บนกุฏิไง เอ็งมีอะไรขึ้นไปถามล่ะ เอ็งทำขึ้นมาให้จริงสิ จริงแล้วขึ้นไปถามท่าน”

 

เวลาไม่มีมันก็ละล้าละลังนะ แต่เวลามันมีจริงขึ้นมา เราก็ไม่มีอะไรจะไปถามท่านอีก ฉะนั้น มันถึงท้าทายตัวเอง แล้วก็โอ้โฮ! พยายามเต็มที่ ฉะนั้น นี่คำพูดเราเอง เขาเอามาพูดต่อ เราถึงพูดอธิบายถึงเหตุผลไงว่าทำไมคิดแบบนั้น ทุกข์ยากนะ

 

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านพูด อาจารย์สำคัญมาก ผู้นำสำคัญมาก แล้วเราเองเราไม่มีวุฒิภาวะ แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าอาจารย์องค์ไหนจริงหรือปลอม แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว อ้าว! พอจิตมันเป็นไปนะ อ้าว! ไอ้ที่รับรู้มานั่นมันเท็จทั้งนั้นนี่นา พออย่างนั้นปั๊บมันก็ยิ่งแสวงหา แสวงหามาก็เข้ามานี่ ฉะนั้น พอเขาขอบคุณมา ขอบคุณมานี่เราก็ตอบ นี่เราตอบไปแล้วนะ

 

ถาม : เรื่อง “ลูกอยากรายงานการปฏิบัติและขอคำแนะนำจากหลวงพ่อ”

 

ช่วงเข้าพรรษาอธิษฐานจิตไว้ว่าจะไม่นอนในวันพระ จะนั่งสมาธิจนถึงตี ๕ ที่ตั้งจิตเพราะได้กำลังใจจากหลวงพ่อที่หลวงพ่อว่าลองทำดู แล้วก็ทำได้ตลอดพรรษาตามที่ตั้งใจ ผลของการปฏิบัติ พอทำสมาธิจะได้แค่ระดับกลางๆ ไม่เคยดิ่งจนดับ จะอยู่กับสมาธิและผู้รู้ตลอด โดยอาศัยลมหายใจนำ พอนั่งได้ประมาณ ๒ ชั่วโมงจะมีเวทนาปวดแบบค่อยๆ รุนแรงขึ้น ทรมานมากๆ ปวดแสบปวดร้อนจนอยากจะขยับ จึงพยายามสังเกตการเปลี่ยนแปลง และใช้ความอดทนเพ่งดูจนความปวดเริ่มเปลี่ยนจากความรู้สึกแตกต่างเรื่อยๆ และหายไปกลับสู่สภาวะสมาธิปกติ เป็นอยู่หลายครั้ง หลายวัน จนช่วงหลังไม่มีมา แต่ผู้รู้ก็รับรู้ได้ตลอดว่าร่างกายมีความหนักหน่วงตลอดเวลา สบายน้อย มาก ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสติและสมาธิ

 

ช่วงหลังพอนั่งได้ ๑ หรือ ๒ ชั่วโมง จะมีสัญญามาเป็นระยะ ให้ดูก็ดูมันไป มันจะมาไปเป็นระยะ และถ้าสติอ่อนมาก เริ่มล้า มันจะมาบ่อยๆ และลูกก็จะลืมตาและขยับตัวแล้วค่อยเริ่มใหม่ ในคืนหนึ่งจะขยับแบบนี้ ๓-๔ ครั้ง เพราะสติเริ่มอ่อนค่ะ

 

ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันจิตมีความรับรู้ ความรู้สึกที่เข้ามาทำลายความสงบเป็นระยะ มันมากับความคิดและสัญญา เมื่อเข้ามาต้องกำหนดทำความสงบทันทีก่อนมันจะลุกลามและอยู่นานจนจิตเสื่อม และรับรู้ร่างกายที่หนัก อึดอัดแทบจะตลอดเวลา อันนี้คือความทุกข์ที่ละเอียดลึกๆ ของหนูค่ะ ขอเมตตาหลวงพ่อแนะนำที่เห็นสมควร และหนูถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อค่ะ

 

ตอบ : “ช่วงเข้าพรรษาอธิษฐานจิตไว้ว่าจะไม่นอนในวันพระ และจะนั่งสมาธิถึงตี ๕”

 

ที่ตั้งใจทำให้ได้พรรษา ถ้าได้พรรษาแล้ว เห็นไหม เหมือนพระ เวลาพระจะเข้าพรรษา เขาเรียกอธิษฐานธุดงค์ ถ้าอธิษฐานธุดงค์ เราจะธุดงค์เป็นวัตร เราจะเนสัชชิกวันไหนเป็นวันๆ ไป หรือเราจะไม่นอนทั้งพรรษาเลย นี่เขาตั้งจิตอธิษฐาน พอตั้งจิตอธิษฐาน พอครบออกพรรษา เราทำได้ครบสมบูรณ์ เราก็ถือว่าเราทำได้

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งอธิษฐานของเราไว้ พระเขาทำของเขา ครบพรรษาได้อานิสงส์ นี่ของเรา เราก็อธิษฐานจิตของเราว่าในพรรษาเราจะไม่นอนทุกวันพระ แล้วนั่งสมาธิถึงตี ๕ นี่ถือเนสัชชิก เห็นไหม เราทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้ มันก็เป็นสิ่งที่ว่า ข้อวัตรปฏิบัติของพระเพื่อให้พระมีข้อวัตรปฏิบัติเพื่อรักษาใจ

 

นี่ก็เหมือนกัน เราอธิษฐานของเราแล้วเราปฏิบัติของเรา สิ่งที่เราอธิษฐานไว้ เราปฏิบัติขึ้นมาเพื่อเป็นขอบเขตให้หัวใจเราเร่งความเพียร ถ้าเร่งความเพียร ออกพรรษาแล้วเราทำได้เราก็ภูมิใจ พอเราภูมิใจ แต่เวลาผลของการปฏิบัติ รายงานผลการปฏิบัติ มันไม่เคยได้สมาธิถึงกับดิ่งลง มันได้ระดับกลางๆ

 

ระดับกลางๆ ถ้าพุทโธ เราพุทโธต่อเนื่องกันไปๆ แล้วถ้าเราไม่ปล่อยๆ ถ้าพุทโธๆ ไปนะ เราเกาะพุทโธไป ถ้ากำหนดลมหายใจ เรากำหนดลมหายใจ ถ้าเป็นกลางๆ กลางๆ มันยังรับรู้อยู่ มันรับรู้เสียงได้ รับรู้ได้ จิตเป็นสมาธิ อุปจารสมาธิมันรับรู้ได้ ตรงนี้เป็นตรงที่วิปัสสนา แต่ถ้ามันจะดิ่งลงนะ พุทโธๆ ต่อไป หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกตลอดไป ลมหายใจจะละเอียดขึ้นๆ จนลมหายใจมันไม่มี แต่รู้อยู่ จิตรู้อยู่ สงบอยู่ อันนั้นดิ่งลง ถ้ามันดิ่งลงมันก็คือดิ่งลง ถ้ามันไม่ดิ่งลง มันก็ไม่จำเป็นจะต้องดิ่งลง ก็เหมือนเรามีสถานะแบบใด เราก็ยอมรับสถานะแบบนั้น เรามีสถานะแบบนี้ เราอยากได้สถานะอื่น มันก็เป็นไปไม่ได้

 

แต่ถ้าเรามีสถานะแบบนี้ ถ้าเรานั่งจนถึงตี ๕ ได้ เรารับรู้ของเราได้ รับรู้ได้ จิตมันมีความเจ็บปวด เจ็บปวดรุนแรงมาก มันทรมานมาก

 

ถ้าทรมานมาก เรากำหนด ถ้ามันปล่อยแล้วมันทรมานมาก เราก็จับมันสิ จิตถ้ามันเป็นเวทนาที่เจ็บปวด ถ้าพอสงบลงแล้ว พอมันออกรู้ ที่อุปจาระนี่จับเลย จับที่ความเจ็บปวด เห็นไหม

 

ดูหลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งก็เหมือนกัน ท่านบอกว่า ๒-๓ ชั่วโมง ลูกเวทนามันมา ๔-๕ ชั่วโมงไป พ่อมันจะมา แล้ว ๗-๘ ชั่วโมงไป ปู่มันจะมา เวทนามันมาแตกต่างกัน แต่มาแตกต่างกัน มันมาแล้วเราจับมันพิจารณาได้ มันจับพิจารณา เหมือนกัน ทุกคนทำธุรกิจ ทำการค้า ก็อยากมีลูกค้า อยากมีผู้สั่งสินค้านั้นไป แล้วเขาได้จ่ายเงินเรามา เราก็จะประสบความสำเร็จของเรา

 

นี่ก็เหมือนกัน จิตสงบแล้ว จิตนี้เป็นตัวประธาน จิตนี้เป็นตัวตั้ง ถ้ามันจะวิปัสสนา มันจะวิปัสสนาในสิ่งใด มันก็วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันเป็นลูกค้าไง มันเป็นสิ่งที่เราจะแลกเปลี่ยนสินค้า มันเป็นสิ่งที่เราจะวิปัสสนา ธุรกิจมันจะประสบความสำเร็จได้มันต้องมีทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมันก็จบขึ้นมา

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบแล้ว ถ้ามีเวทนา เราจับที่เวทนานั่นไง จับที่เวทนา ทีนี้เวทนามันปวดนัก เวทนามันปวดแล้วมันรุนแรงมาก พอรุนแรงมากมันก็ฝังใจ ก็ไม่อยากจะเจอ ไม่อยากจะมี ถ้าไม่อยากจะมีก็ไม่อยากจะไปคุ้ยเขี่ยดูมัน ถ้าไม่คุ้ยเขี่ยดูมัน เราทำสินค้าแล้วเราไม่มีลูกค้ารับซื้อไป สินค้ามันก็จะกองอยู่นั่น แต่ถ้าเป็นสมาธิ เราทำสมาธิ เราทำความสงบของใจ ใจมันสงบแล้ว เวลามันเสื่อมมามันก็หมดไป มันไม่มีสินค้าเหลือไว้ให้เราดู มีแต่ประสบการณ์ไง

 

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเรากำหนดพุทโธ อัปปนาสมาธิทั้งคืน เรามีเหตุขึ้นมา จิตมันก็สงบขึ้นมาได้ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ นี่เหตุมันเกิดขึ้นมา พอมันมีเหตุขึ้นมามันก็เกิดผลขึ้นมา ผลคือสมาธิ พอสมาธินี้เป็นนามธรรม มันเป็นกิริยาของจิต มันเป็นอาการอาการหนึ่ง เวลามันเสื่อมไปแล้วสมาธิอยู่ไหน สมาธิมันก็หายไป

 

แต่ถ้าการทำสินค้า สินค้าถ้าเราทำสินค้าสิ่งใด สินค้าต้องมีคลังเก็บสินค้า ถ้าคลังเก็บสินค้า มันต้องมีต้นทุนอีก มันก็เสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา แต่จิตมันเสื่อมไปมันก็หมดไป ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิ ถ้าเจอเวทนาก็จับเวทนา ถ้าจับเวทนาแล้วพิจารณาต่อไปไง นี่กรณีผลไง

 

ทีนี้เขาบอกว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงไป มันสงบไป มันมีผู้รู้ มันมีความหนักหน่วงของใจ

 

มันมีความหนักหน่วงก็พิจารณาต่อไป ทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ มันอยู่ที่เชาวน์ปัญญา อยู่ที่เชาวน์ปัญญาที่ว่าจิตสงบแล้วเราจะจับสิ่งใดได้ ถ้าจับสิ่งใดได้มันก็เป็นผลงานของเรา

 

ถ้ามันจับสิ่งใดไม่ได้ มันก็ทำสมาธิเพื่อความสงบ สมาธิเพื่อพัฒนา สมาธิเพื่อให้จิตใจเข้มแข็ง ให้จิตใจมีเครื่องอยู่ นี่มีสมาธิเป็นเครื่องอยู่ ถ้าสมาธิเป็นเครื่องอยู่แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมันก็จะออกไป

 

ทีนี้สิ่งที่ว่าเรารักษาสมาธิ พอสมาธิ ถ้ารักษาสมาธิ ถ้าทำได้ เราฝึกหัดใช้ปัญญาไปเลย จับเวทนานี่แหละ ฉะนั้น เพียงแต่ว่า เพราะธรรมดาเขาจับเวทนาอยู่แล้ว ผู้ถามเขาเป็นลูกศิษย์ เขาเคยมาหาบ่อยๆ ว่าเขาเคยใช้ปัญญาไป เขาก็บอกว่า ทำไมผลมันไม่เกิด

 

เราบอกขาดสมาธิ ถ้าขาดสมาธิ พอสมาธิเป็นอย่างนี้ คำว่า “ขาดสมาธิ” ขาดสมาธิหมายความว่าจิตมันไม่ละเอียดพอ จิตไม่ละเอียดพอ สิ่งที่พิจารณามันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ปล่อยมา

 

ถ้าจิตมันเป็นสมาธิแล้วเราก็พิจารณาไป ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิเป็นมรรค เป็นองค์มรรค ๑ ในมรรค ๘ ถ้า ๑ ในมรรค ๘ มันก็เหมือนกับสมมุติเราจะทำอาหาร เราขาดเกลือ เราก็ไปเอาสิบล้อขนเกลือมาเลย ขนเกลือมามันก็เป็นเกลือในสิบล้อนั้น ฉะนั้น ได้เกลือมา เกลือนี้เราจะมาทำอาหาร เราใช้เฉพาะจำเป็นที่ใช้กับอาหาร อาหารสิ่งใดให้รสเข้มข้น เราก็ใช้เกลือมากนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ใส่ทั้งสิบล้อ เขาใส่นิดเดียว

 

สมาธิในองค์มรรค ๘ มันมีสติ มีสมาธิ มีงานชอบ เพียรชอบ มีความชอบธรรม เขาใส่พอดี เขาใส่พอดี ฉะนั้น ความเข้าใจ พอเราบอกขาดสมาธิ ทีนี้ก็เลยทำสมาธิให้เต็มที่เลย

 

สมาธิก็เหมือนเกลือใส่เต็มรถสิบล้อเลย มันก็อยู่บนรถสิบล้อนั่นน่ะ เขาใช้ประโยชน์ต่อเมื่อเวลาศีล สมาธิ ปัญญา พอมีสมาธิแล้วเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาๆ เห็นไหม มรรคสามัคคี ความสมดุลของมัน เขาว่าทางสายกลางๆ ความพอดีของปัญญาที่มันหมุนไป ถ้าความพอดีของปัญญาที่มันหมุนไป มันสมดุลต่อมัน มันก็ตทังคปหาน จะปล่อยของมันๆ ถ้ามันไม่ปล่อย ฝึกหัดตรงนี้ ฝึกหัดตรงนี้ ถ้ามันเป็นขึ้นไปมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา

 

ฉะนั้น ชีวิตประจำวัน เขาว่า ชีวิตประจำวันเขาจะรู้สึกตลอดเวลา ทำความสงบของใจ มีความคิดขึ้นมาก็พยายามจะแยกแยะมันไม่ให้มันลุกลาม อย่างนี้ก็เป็นเครื่องอยู่ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ เรารู้เท่าทัน สิ่งใดที่ลุกลามมา เราจะตัด ใช้ปัญญาตัดแล้วรักษาใจไป แต่รักษาใจไป ถ้าจิตมันต้องก้าวเดินไปเป็นชั้นเป็นตอน

 

อย่างเช่นที่ว่า ถ้าในพรรษา กลางคืนดีมากๆ เลย เพราะเวลากลางวัน หน้าที่การงานเราก็ทำของเราไป แล้วใช้ตรงนั้นไป อันนั้นมันเป็นชีวิตประจำวัน แต่เวลาถ้านั่งกลางคืน ขณะที่จิตมันสงบกลางๆ นั่นน่ะ ถ้ามันสบายใจแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญาเลย แล้วตรงนั้นจะเห็นเลยว่า ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่มันแยกแยะความเห็นถูกเห็นผิดของกิเลสกับธรรม อันนั้นน่ะมันจะดูดดื่มมาก

 

ถ้าบอกว่าในพรรษา ทีนี้มันออกพรรษาไปแล้ว ขอพรรษาหน้าเนาะ

 

ไม่ต้องพรรษาหน้า ปัจจุบันนี้ทุกวันพระ กลางคืนวันพระให้นั่งภาวนา ถ้านั่งภาวนา พอนั่งภาวนาไปสัก ๒-๓ ชั่วโมง ถ้าจิตมันสงบกลางๆ ใช้ปัญญาไปเลย แล้วเอามาเทียบกันว่า ปัญญาขณะที่มันเป็นสมาธิแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา กับปัญญาที่เคยมาเล่าให้ฟังว่าเวลาทำงานแล้วเราก็ใช้ปัญญาไป ให้มาดูว่าปัญญาขณะอยู่ในสมาธิที่เราแยกแยะมันจะมีรสชาติอย่างใด มันจะเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกอย่างใด กับปัญญาที่บอกว่าเวลาเราใช้ชีวิตประจำวัน เราทำหน้าที่การงานมา สิ่งใดมากระทบเราก็ปล่อยได้ๆ อันนี้มันเป็นปัญญาโลกียปัญญา

 

กลางคืน เวลานั่งกลางคืน นั่งตลอดรุ่งทุกคืน ถึงตี ๔ ตี ๕ เรานั่งตอนนั้นน่ะ ขณะที่นั่งสมาธิ ใช้ตอนนั้นน่ะ ถ้ามันสงบแล้วใช้ตอนนั้นน่ะ แล้วพิจารณาไป แล้วเราจะเห็นว่าภาวนามยปัญญา กับปัญญาที่เราใช้อยู่นี่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าถ้าผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเองมันจะซาบซึ้ง ไอ้นี่ถามหลวงพ่อ ให้หลวงพ่อบอก หลวงพ่อบอกมาทีไรหนูไม่รู้สักที หนูไม่รู้สักที

 

ก็คนพูดกับเจ้าของเรื่องมันคนละคน ไอ้คนถามก็มีความเห็นอันหนึ่ง ไอ้คนตอบก็มีความเห็นอันหนึ่ง แล้วก็ถามกันไป ไอ้คนตอบก็ไม่เข้าใจเสียที

 

ตอนกลางคืน ตอนปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบแล้วเป็นกลางๆ ถึงมันจะไม่ดิ่งลง ถ้ามันมีสติปัญญาพอ จับพวกนี้มาแยกแยะ จับให้ได้ ถ้ามีเวทนา จับเวทนาเลย ถ้าจับเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เพราะเราจับเวทนาได้ แต่ที่มันเจ็บปวดรุนแรงนั่นมันเป็นเรา เวทนากับเราเป็นเนื้อเดียวกัน

 

แต่ถ้าจิตสงบแล้วนะ พอมันแยก มันปล่อยแล้วนะ มันจับเวทนานะ เราจับเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา เหมือนกับว่าไข่ในจาน เห็นไหม จานก็คือจาน ไข่ก็คือไข่ แต่มันอยู่ในจานนั้น ไข่อยู่ในจานนั้น เราใส่ไข่ไว้ในจานนั้น นี่ถ้าจับได้ พิจารณาอย่างนี้ มันจะเป็นประโยชน์ตรงนี้ อันนี้รายงานผลปฏิบัติเนาะ

 

ทีนี้คำถามต่อไป

 

ถาม : พ่อของหนูเชื่อคำสอนของพระองค์หนึ่งที่ว่า ตายแล้วสูญ ไม่มีนรกสวรรค์ หนูเคยอ่านหนังสือของท่าน คิดว่าท่านเป็นพระอริยบุคคล แต่ไม่ทราบว่าคำสอนดังกล่าวของท่านสอนแบบนั้นจริงหรือไม่ คุณพ่อของหนูมีความเชื่อ หนูจะบอกพ่ออย่างไรดี หนูปฏิบัติไม่ได้เรื่องเสียที ท้อมาก หนูขี้เกียจเองใช่ไหมคะ หนูจะสำเร็จไหมในการกระทำต่อไปในชาตินี้

 

ตอบ : ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่า นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เขาพูดอยู่ เขาก็พูดอย่างนั้น พระองค์นี้ท่านพูดอย่างนั้นว่านรกสวรรค์ไม่มี มันจะมีก็มีสวรรค์ในอก นรกในใจ เป้าหมายของเขา เขาเห็นสังคมไงว่าสังคมไปเชื่อ ไปเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ แล้วนรกสวรรค์มันมีอยู่จริง สังคมเชื่อส่วนสังคมเชื่อ แต่ไอ้พวกที่มาใช้ประโยชน์กับนรกสวรรค์นี่ไง เอานรกสวรรค์มาเป็นสินค้าไง

 

เราก็เห็นว่าในสำนักต่างๆ ต้องเอานรกสวรรค์เป็นสินค้า ทำอย่างนั้นจะเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่า ฉะนั้น พออย่างนั้นปั๊บ พระองค์นี้ก็เลยมีแนวคิด แล้วพยายามจะหาทางออก หาทางออกในเรื่องพระพุทธศาสนา ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ นรกสวรรค์ไม่มี

 

มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีได้อย่างไร ถ้ามันไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะลงมาตรัสรู้ อยู่ในชั้นดุสิตใช่ไหม แล้วมันไม่มีได้อย่างไรล่ะ ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าก่อนที่ท่านจะจุติมาเกิด ท่านก็อยู่ชั้นดุสิต พระพุทธเจ้าก็พูดไว้ชัดๆ แล้วมันจะไม่มีได้อย่างไรล่ะ ก็ก่อนที่ท่านจะลงมาท่านก็ไปรอให้ถึงเวลา จากดุสิตก็มาเกิดกับนางมหามายา ก็มาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

แล้วเวลาให้พระโมคคัลลานะ เห็นไหม อยู่ที่ราชคฤห์ พระโมคคัลลานะไปนรกสวรรค์มา “ตระกูลนี้เกิดแล้วไปอยู่ที่นั่น” มาบอกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกใช่ ใช่

 

นรกสวรรค์มี ทีนี้เพียงแต่นรกสวรรค์มีก็มีในสถานะ มันก็เหมือนกับว่า ดวงจันทร์มีไหม พระอาทิตย์มีไหม โลกมีไหม มันก็มี แต่นี่เราเห็นได้โดยวิทยาศาสตร์ไง แต่ถ้าเป็นนรกสวรรค์มันเป็นมิติ พอมันเป็นมิติ ทีนี้ผลของวัฏฏะๆ จิตเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้าจิตเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตกนรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่เป็น เราเคยเป็น จิตดวงนี้มันเคยเป็น จิตดวงนี้มันเคยไป พอจิตดวงนี้เคยไป พอมันสิ้นอายุขัยจากภพชาติใดมันก็จะไปเกิดอีก เห็นไหม

 

จิตไม่เคยตายๆ มันจะเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ มันจะเวียนตายเวียนเกิดในภพชาตินี้ ทำดีก็ไปเกิดดี ทำชั่วก็ไปเกิดชั่ว แต่คนเราทำทั้งดีทั้งชั่ว บางทีเทวดาบางองค์ กลางคืนอยู่บนสวรรค์ กลางวันอยู่ในนรก มันก็ยังมีขนาดนั้น โดยหลักมันเป็นแบบนี้ แต่มันมีโดยข้อยกเว้น จิตบางดวงมันมียกเว้นที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ แต่กรณีอย่างนี้มันมีน้อย แต่โดยธรรมดาจิตเราเวียนตายเวียนเกิดแบบนี้ นรกสวรรค์มีแน่นอน แต่มีอย่างไรล่ะ มันมีต่อเมื่อเราหมดอายุขัย เราก็จะไปอยู่สถานะอย่างนั้น มันมีอยู่อย่างนั้น มันไม่ใช่ว่าใครจะไปสร้างขึ้น

 

ดูอย่างพระจันทร์ ดูอย่างดวงอาทิตย์ ดูอย่างโลก มันยังเป็นยุคเป็นคราว กาแล็กซีต่างๆ มันจะเปลี่ยนแปลง มันเป็นอจินไตยมันก็จะมีของมันอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นอจินไตย แต่มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป

 

วัฏฏะมันก็เหมือนดวงอาทิตย์ เหมือนพระจันทร์ เหมือนโลก มันมีของมันอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครไปสร้าง ไม่มีใครสร้างได้ ไม่มีใครสร้างได้เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ ๔ พระพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ แล้วพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ไปข้างหน้า ใครจะมาสร้างไว้ล่ะ ไม่มีใครมาสร้าง มันมีของมันอยู่ใช่ไหม แต่พระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้น มาปฏิบัติขึ้น มันมีของมันอยู่อย่างนั้น แล้วเอาสิ่งนี้มาเตือน มาบอกชาวพุทธว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วก็ไปตกนรก แล้วถ้าคนทั้งทำดีและทำชั่ว อันนี้มันเป็นของสัจจะความจริงที่มีอยู่ ถ้ามีอยู่ปั๊บ ฉะนั้น เรื่องของส่วนบุคคลล่ะ

 

เรื่องของส่วนบุคคลปั๊บ มันก็มาอยู่ที่ใจ ใครระลึกชาติได้ ระลึกเพราะจิตมันเคยเป็น เคยอยู่เคยเป็น นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นสิ่งใดมา ระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ อนาคตจะไปเกิดที่ไหน อาสวักขยญาณ อันนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะ อันนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะอำนาจวาสนาของจิตแต่ละดวง จิตดวงใดที่มีอำนาจวาสนา ใครที่มีอำนาจวาสนาก็ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์เป็นพระอรหันต์ไป ถ้าใครมีอำนาจวาสนาอย่างนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน ปรารถนามาแค่นั้น แต่พระอานนท์เป็นพระโสดาบันสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่

 

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อานนท์ เรานิพพานไปแล้ว ๓ เดือน เขาจะมีการสังคายนา” นี่อนาคตังสญาณรู้อนาคต “เธอจะเป็นพระอรหันต์วันนั้น”

 

พระโสดาบันบางคนปรารถนาเท่านั้น อย่างนางวิสาขาปรารถนาเป็นพระโสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา ก็ได้แค่โสดาบัน ปฏิบัติมาขนาดนั้น แต่พระอานนท์ถึงเป็นพระโสดาบัน เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพานยังเสียใจ อยากให้พระพุทธเจ้าสอนต่อ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อีก ๓ เดือนข้างหน้า เธอจะได้เป็นพระอรหันต์” ฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ ปฏิบัติไปมันก็สิ้นสุดแห่งทุกข์ ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์มันจะเข้าใจเรื่องนี้หมดเลย

 

นรกสวรรค์มันมี คนชั่ว คนชั่วตกนรก ทีนี้คนชั่วตายแล้วไปไหนล่ะ ตายสูญ

 

อ้าว! ถ้าตายสูญนะ ถ้าตายสูญมันก็เหมือนเราบอกเลย เราเปรียบเทียบมาจากพระไตรปิฎก เราเปรียบเทียบว่า โตโยต้าสายการผลิตรุ่นใดก็แล้วแต่ โตโยต้าก็เป็นโตโยต้าหมด อ้าว! โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า สายการผลิตรุ่นใดก็แล้วแต่ โรงงานผลิตนั้นเปี๊ยะเลย เห็นไหม รุ่นใดล่ะ พ่อแม่คนเดียวกันก็สายการผลิตหนึ่ง ลูกออกมาทำไมไม่เหมือนกัน ถ้าโตโยต้านะ ออกมาจากโรงงานผลิต สายการผลิตนั้นมันก็เป็นโตโยต้ารุ่นนั้นๆ มีคุณสมบัติอย่างนั้นๆ พ่อกับแม่คนเดียวกัน ลูก ๒ คน ๓ คน ทำไมไม่เหมือนกัน นี่ไง ถ้ามันสูญไง

 

อ้าว! โตโยต้า เครื่องก็ประกอบจากเครื่องของโตโยต้า เครื่องอุปกรณ์แต่ละรุ่น แม่พิมพ์มันปั๊มมาอย่างนั้น พ่อกับแม่ก็คนเดียวกัน ก็แม่พิมพ์เดียวกันน่ะ อ้าว! พ่อก็คนนี้ แม่ก็คนนี้ ลูกออกมา ๒ คนก็ไม่เหมือนกัน นิสัยไม่เหมือนกัน ลูกออกมา ๓ คนไม่เหมือนกัน มันแตกต่างกับโตโยต้าแล้ว โตโยต้ามันเป็นวัตถุ แต่นี้จิต จิต เห็นไหม

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ชั้นดุสิต เวลาปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จุติลงมาสู่นางมหามายา เป็นพุทธมารดา พอประสูติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาย เพราะไม่มีใครมีบุญจะได้เกิดในครรภ์นี้อีก ครรภ์นี้เกิดเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนเดียว

 

นี่ไง สายการผลิต ถ้าพูดถึงสูญไง ถ้าพูดถึงว่า สูญ เราก็ต้องเปรียบเทียบแบบสูญ อย่างโตโยต้า เวลาโรงงานมันเจ๊ง เลิก หมด โตโยต้าไม่มี ถ้าโตโยต้าเขาเลิกผลิตก็คือเลิกผลิตใช่ไหม เพราะมันเป็นวัตถุ แต่จิตมันไม่มีวันหยุด มันแตกต่างกัน แล้วพอไม่มีวันหยุดปั๊บ ถ้ามันสูญ มันจะอยู่ที่ไหน ถ้ามันไม่อยู่ในมนุษย์นี้ มันมีที่ให้อยู่ไง คือสวรรค์ คือพรหมไง สวรรค์ พรหม ให้จิตนี้ไปพักไง เพราะของมันมีอยู่

 

ฉะนั้น ของมันมีอยู่ นรกสวรรค์มันมีของมันจริงอยู่ แล้วเวลาเราเห็นสังคม สังคมมีความเชื่อที่เขาแตกต่างหลากหลาย เราก็ไปคาดคั้นว่านรกสวรรค์ไม่มี แล้วเราจะบอกว่า ถ้านรกในพระไตรปิฎกมีอยู่จริง เขียนไว้อยู่จริง ก็บอกว่าเป็นสวรรค์ในอก นรกในใจ

 

ถ้าสวรรค์ในอก นรกในใจ นักปฏิบัติยิ่งรู้เข้าไปใหญ่ พระปฏิบัติรู้เลยว่าสวรรค์ในอก นรกในใจเป็นอย่างไร เวลาภาวนาไม่ลง นั่งสมาธิไม่ได้ นั่นน่ะนรกชัดๆ เวลาจิตเสื่อม ภาวนาดีแล้ว แล้วมันเสื่อม นั่นน่ะขุมนรกเลย นั่นน่ะขุมนรก แล้วเวลาภาวนาไป แล้วเวลามันพิจารณาไปแล้วมันติดขัด นั่นก็ขุมนรก

 

แล้วเวลาภาวนา พุทโธๆ ปัญญาอบรมสมาธิแล้วมันลง นั่นน่ะสวรรค์ โอ๋ย! มันปล่อยหมด มันว่างหมด โอ๋ย! มันดีไปหมดเลย แล้วถ้าวิปัสสนาไป เกิดภาวนามยปัญญา นั่นก็สวรรค์ แล้วนรกสวรรค์ เห็นไหม กิเลสกับธรรม แล้วเวลามันพ้นไปล่ะ

 

สวรรค์ในอก นรกในใจ นักปฏิบัติยิ่งรู้ดีกว่า กรรมดีทำอยู่ที่นี่ แล้วถ้ามันดับลงเดี๋ยวนี้ จิตเราเข้าสู่ฌานสมาบัติ ถ้ามันดับลงเดี๋ยวนี้ พรหมชัดๆ เลย มันหนึ่งเดียว ขันธ์เดียว พรหมนี่ขันธ์เดียว เทวดาขันธ์ ๔ มนุษย์นี่ขันธ์ ๕ จิตเป็นหนึ่ง จิตเข้าสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น มันหนึ่งเดียว มันจะไปไหนล่ะ นี่สวรรค์ในอก นักปฏิบัติรู้เลย ถ้าทำสมาธิอยู่ ถ้ามันดับเดี๋ยวนี้เป็นพรหม เกิดบนพรหม ถ้ามันมีบุญกุศล มันได้ทิพย์ มันได้ทิพย์สมบัติ มันไปเกิดบนสวรรค์

 

แล้วถ้ามันทุกข์ยาก เทวทัต ดูสิ ธรณีสูบสดๆ เลย เทวทัตนี่ธรณีสูบลงไปสดๆ เลย สวรรค์ไม่มีหรือ นรกสวรรค์ไม่มีใช่ไหม แล้วตายแล้วสูญ สูญแล้วเทวทัต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเทวทัตลงอเวจี พ้นจากอเวจีขึ้นมา ต่อมาเทวทัตจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้ามันสูญ เทวทัตจะมาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

 

นักปฏิบัติพอปฏิบัติจริงมันมีข้อมูลในใจด้วยไง พระไตรปิฎกก็เขียนไว้ ตำราเขียนไว้ วางไว้เป็นแนวทาง แล้วการไปศึกษามันศึกษาจากมุมมองของใคร แต่พระองค์นี้เขาใช้ทางปริยัติไง ศึกษาตามตำราไง แต่ในทางปฏิบัติเราไม่เชื่อ อย่างที่บอกว่า ”หนูเข้าใจว่าท่านจะเป็นอริยบุคคล”

 

ไม่มี ไม่เชื่อ ถ้าเป็นอริยบุคคลนะ เห็นกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทาน อุทานเพราะว่ามันปลื้มใจ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา เทศนาว่าการธัมมจักฯ ครั้งแรก ได้สงฆ์องค์แรกคือพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นตามความเป็นจริงในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มันมีพยานยืนยันไงว่านรกสวรรค์มีจริงหรือเปล่า มรรคผลมีจริงหรือเปล่า เห็นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลมันเห็นแบบพระอัญญาโกณฑัญญะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทานปลื้มใจเลย แล้วคนที่เห็นมุมมองเดียวกันมันจะปฏิเสธอย่างนี้ได้อย่างไร

 

ถ้าคนที่ยังปฏิเสธอยู่อย่างนี้ มุมมองไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เขาว่าเขารู้เหมือนพระพุทธเจ้า ไอ้พวกที่ว่านรกสวรรค์มี รู้ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า แล้วจะเป็นอริยบุคคลได้ไหม ไม่ได้ ถ้ามันไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ยกท่านไว้ ความเห็นของท่าน เรื่องส่วนบุคคล นี่เราพูดกันด้วยสัจจะ เป็นไปไม่ได้ ไอ้ที่ว่าท่านเป็นอริยบุคคลน่ะ ไม่เป็น ไม่เป็น

 

ถ้าคนเป็นอริยบุคคล ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าใครแสดงก็แล้วแต่ มันจะเป็นช่องเป็นทางเดียวกัน ไม่มีการขัดการแย้งกัน ถ้ามีการขัดการแย้งกันนะ ผิดคนหนึ่ง ผิดคนหนึ่ง คนหนึ่งถูก คนหนึ่งผิด แล้วเรื่องนรกสวรรค์ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น เราเชื่อไหมว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ แล้วเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นเยอะแยะเลย เชื่อไหม อ้าว! แล้วไม่มีได้อย่างไรล่ะ แล้วเทวดาอยู่ที่ไหนล่ะ ก็อยู่บนสวรรค์ อ้าว! พรหมก็มา แล้วเขาบอกไม่มี ขัดและแย้งกันไหม ขัดและแย้งกัน ถ้าขัดและแย้งกัน ต้องมีคนผิดคนหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ามีคนผิดคนหนึ่ง อ้าว! จะว่าใครถูกใครผิดล่ะ

 

อันนั้นว่าถูกว่าผิดเพราะว่าเราใช้ปัญญาไตร่ตรองนะ แต่ถ้าเวลาจริงแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ทำจริงขึ้นมา ถ้าเราทำจริงขึ้นมานะ เรื่องอย่างนี้ ปัญหานี้ไม่มีเลย

 

ปัญหานี้มันมีเพราะอะไรรู้ไหม ปัญหามันมีเพราะว่า พระองค์นี้เป็นนักปราชญ์ในเมืองไทยเลย แล้วประชาชนเชื่อถือศรัทธา แล้วคนที่เชื่อถือศรัทธามีศักยภาพทางสังคม ทุกคนฮือฮามาก

 

แต่เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา คนที่เชื่อถือเป็นบ้านนอกคอกนา เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นพวกสัทธาจริต ทางภาคอีสานเชื่อหลวงปู่มั่นมาก เคารพบูชากันมาก ศักยภาพทางสังคมมันไม่ค่อยเหมือนกัน แล้วเวลาพวกเราเชื่อด้วยหัวใจ มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือเราไม่ใช่ปัญญาชนที่จะมาอธิบายกัน

 

แต่พระองค์นี้ส่วนใหญ่แล้วปัญญาชนทั้งนั้น เพราะปัญญาชนแล้วเวลาพูดออกมาก็เลยเล่านิทานไง สุตตันตปิฎกไง เล่านิทาน มันไม่เป็นเหมือนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่ได้เล่านิทาน ท่านเอาความจริงออกมาจากหัวอกของท่าน เอาความจริงพูดออกมา พวกเราฟังแล้วเชื่อถือศรัทธา แล้วประพฤติปฏิบัติตาม นี่เวลาประพฤติปฏิบัติตาม

 

การศึกษา ใครจบดอกเตอร์ แล้วก็เป็นศาสตราจารย์ ดูสิ เยอะแยะเลย คนจบดอกเตอร์ เดี๋ยวมันก็จบดอกเตอร์ จะบอกว่าการศึกษามันทันกันได้ ดอกเตอร์นี่ส่งเรียนแล้วให้มีความขยันหมั่นเพียร จบแน่นอน จบดอกเตอร์แล้วมาทำทางวิชาการ มันได้ศาสตราจารย์แน่นอน มันได้ มันทันกันได้

 

แต่ในการปฏิบัติ ถ้ามันทันกัน มันก็เป็นพระอริยบุคคลเหมือนกัน ถ้ามันสิ้นทุกข์เหมือนกัน มันจะรู้ทันกัน การปฏิบัติมันทันกันได้ จะบอกว่า อาจารย์องค์ไหนพูดอะไรก็แล้วแต่ เราทำของเราไปมันทันได้ มันทำทันได้

 

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า พ่อหนูเชื่อแบบนี้

 

ถ้าพ่อหนูเชื่อแบบนี้ มันเป็นกระแสสังคม อย่างเรา บางทีเราก็ลังเลใจนะ เฮ้ย! กูก็ไม่เชื่อนะ เฮ้ย! แต่สังคมเขาเชื่อกันหมดเลย แล้วเพื่อนกูนี่เชื่อหมดเลย แล้วถ้าอยู่ในมหาวิทยาลัยนะ ถ้าทั้งมหาวิทยาลัยเขาก็เชื่อกัน เฮ้ย! กูไม่เชื่ออยู่คนเดียวไม่ได้ กูต้องเชื่อด้วย อย่างนี้ก็มี ส่วนใหญ่เชื่อไปตามกระแสไง ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ไง แต่ถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์ ศึกษาเสียหน่อย แล้วค้นคว้าเสียหน่อย มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่เป็นจริง มันจะเป็นจริงขึ้นมา

 

นี่พูดถึงว่าในความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์นะ ถ้าพูดไปแล้วมันยาวมาก พูดได้ทั้งวัน อันนี้มันเป็นเรื่องโลก ฉะนั้น นรกสวรรค์มันจะรู้จริงหรือไม่จริง ทำสมาธิเข้ามา ถ้าจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิเห็นตัวตนของตัว มันก็เห็นที่มาแล้ว แล้วถ้าพิจารณาไป ปฏิบัติไปนะ ถ้าล้างตรงนี้ไม่ได้ เป็นพระโสดาบันไม่ได้

 

เพราะจิตนี้มีค่าเท่ากัน คนเราเกิดมานี่เกิดตายเหมือนกัน พอเกิดตายเหมือนกัน มันไปเส้นทางเดียวกันไง คือไปตามกรรม นรกสวรรค์ แต่พอเป็นพระโสดาบันนะ เวลาปฏิบัติไปมันถอนสังโยชน์แล้ว มันไม่ไปตามวัฏฏะ เพราะพระโสดาบันเกิดอย่างมากอีก ๗ ชาติ แต่จิตปกติมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันไม่มีกำหนดว่ามันจะเกิดกี่ชาตินะ มึงเกิดเวียนอยู่นั่นแหละ มึงเกิดอยู่นั่นแหละ ไม่มีจบหรอก จิตไม่เคยตาย แต่พอเป็นพระโสดาบันอย่างมากอีก ๗ ชาติ

 

แล้วถ้าทำไปเป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี ไม่เกิดในกามภพแล้ว แล้วเอ็งคิดสิ คนที่จะต้องเกิดอีกแล้วมันไม่เกิด ทำไมมันถึงไม่เกิด อ้าว! เมล็ดพืชลงไปที่ดินมันต้องงอก แล้วทำไมมันไม่งอก อ้าว! จิตที่มันเวียนตายเวียนเกิดมันต้องเกิด แล้วเป็นพระอนาคามีมันไม่เกิดในกามภพแล้ว ไปเกิดบนพรหม แล้วเวลาล้างหมดเลย พรหมมันก็ไม่ไปแล้ว มันจบแล้วมันเป็นอย่างไร

 

เมล็ดพืช ข้าวหว่านไปที่นาต้องขึ้นหมด ถ้าดินน้ำมี แล้วมีเมล็ดข้าวอะไรที่มันทิ้งไปในนาแล้วมันไม่เกิด มีไหม แต่หลวงปู่ขาวมี หลวงปู่ขาวบอกว่า ถ้าเมล็ดข้าว ถ้ามันตกลงที่นา มันต้องเกิดอีก เมล็ดข้าวนั้นได้สีแล้ว ได้หุงสุกแล้ว เมล็ดข้าวนั้นสุกแล้ว ได้ต้มสุกแล้ว มันจะเกิดอีกไม่ได้ นี่หลวงปู่ขาว มันมีความจริงไง ปฏิบัติมันมีความจริงอย่างนี้ นี่พูดถึงเรื่องนรกสวรรค์นะ

 

“๒. หนูปฏิบัติไม่ได้เรื่องเสียที จนท้อมาก หนูขี้เกียจเองใช่ไหมคะ หนูจะสำเร็จได้ไหมคะในชาตินี้”

 

สำเร็จในชาตินี้มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา แต่ในการทำบุญกุศลนะ ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง ทำสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดภาวนามยปัญญาที่ชำระล้างกิเลสได้หนหนึ่ง

 

เห็นไหม ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีล แล้วถ้าศีลร้อยหนพันหนก็เป็นหมื่นแล้ว ถ้าศีล มันจะลงสมาธิ แล้วถ้าทำสมาธิเท่ากับเราทำทานเป็นหมื่นๆ หน ก็ทำสมาธิหนหนึ่ง เราจะบอกว่า นั่งสมาธิ เราทำบุญกุศลมันมีค่ามหาศาลไง ถ้ามันมีค่ามหาศาลเหมือนกับทำทานเป็นพันๆ ครั้ง กับเรานั่งสมาธิ แล้วเกิดสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา

 

บอกว่า ชาตินี้จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้

 

สิ่งที่เราทำอยู่นี้มันเป็นสุดยอด สุดยอดของการทำตบะธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนพวกเรา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะ” เวลาคนเข้ามา คนเขามาถวาย พวกโยม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน เขามีดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาเต็มเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะว่า อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด”

 

แล้วเราปฏิบัติกันอยู่นี่เราบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

 

เราจะทำได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ เราจะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัยของเราด้วยการทำความเพียรของเรา ถ้าเราทำความเพียรของเรา มันจะสำเร็จไม่สำเร็จ เราได้บูชา ได้บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่ง การปฏิบัติบูชา ผลมันมากกว่าการทำอามิสบูชา เราบูชาด้วยอย่างนี้ มันจะทุกข์มันจะยาก เราก็สู้ทน

 

อ้าว! เราหาเงินหาทองมาซื้อมาทำบุญปันผลมันเป็นเงินเท่าไร กับเราปฏิบัติบูชา เราลงทุนลงแรงด้วยสติ ด้วยความเพียรของเรา มันทุกข์ไหม ก็ทุกข์ แล้วถ้ามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่ามันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ถูกต้องชอบธรรม

 

เราก็หาเหตุหาผลของเราสิ ใช้ปัญญาเดินสมาธิแล้วเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะอะไร นั่งสมาธิแล้วมันไม่ได้เพราะอะไร ดูพระเรา พระเราถ้ามันไม่ได้ เราก็ใช้อุบายวิธีการหลบหลีกหาทางไปให้ได้ นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ ท่านสอนอย่างนี้ เราก็ทำของเราอย่างนี้

 

ทีนี้เพียงแต่เรายืนยันไม่ได้ไงว่าปฏิบัติแล้ว เออ! ถ้าเอ็งปฏิบัติชาตินี้แล้วเอ็งเป็นพระอรหันต์เลย ไอ้นี่มันเป็นการชี้นำ แต่ความจริงมันอยู่ที่การปฏิบัติ

 

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ความบริสุทธิ์มันเป็นเรื่องของเฉพาะตน ไม่มีใครการันตีความบริสุทธิ์ของคนอื่นได้

 

ความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตแต่ละดวงมันเป็นความรู้เฉพาะตน มันสะอาดบริสุทธิ์หรือมันเศร้าหมองก็เฉพาะจิตนั้น มันเป็นเรื่องเฉพาะตน แล้วถ้าเฉพาะตน ตนทำได้ตามความเป็นจริง เออ! แล้วถ้าเราจริงแล้ว ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านรู้จริง เออ! ท่านบอกว่าใช่ เป็นจริงตามนั้น

 

ความสะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีใครจะบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น แต่มันอยู่ที่การกระทำของเราต่างหากว่าจะเป็นหรือไม่เป็น ถ้ามันเป็นของเรา เราทำได้จริงมันก็เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา มันก็ถูกต้องชอบธรรม มันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกของเรา ฉะนั้น ปฏิบัตินี่สุดยอดอยู่แล้ว

 

เวลาคนที่เขาไม่ได้ศึกษาธรรมะเขาก็เสียดาย เพราะเขาไม่ได้ศึกษา เขาไม่เสียดาย เขาไม่รู้เรื่องของเรา แต่พอเขามารู้เรื่อง พอเขาศึกษาแล้วเขาจะเสียดายเลยว่า ถ้าเขาไม่ได้ศึกษา เขาเสียดาย เห็นไหม ถ้ารู้แล้ว รู้แล้วมันจะรู้ ถ้าไม่รู้มันก็ไม่สนใจ ถ้ารู้แล้วนะ โอ้โฮ! เสียดายมากเลย อู๋ย! มันสุดยอดๆ ไปมากเลย

 

ปฏิบัติก็เหมือนกัน พอปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติยังไม่รู้ มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง พอปฏิบัติมันรู้ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันรู้แล้วมันจะมุมานะ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านเป็นจริง ความเพียรท่านสุดยอดมาก ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ที่เป็นจริง ความเพียรท่านเสมอต้นเสมอปลาย แล้วปฏิบัติโดยชอบธรรม แล้วจะเป็นหลักชัยของพวกเรา

 

ฉะนั้น เราไม่ต้องไปหวั่นไหว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สัตว์โลกจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราทำของเราได้เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง