ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รูป-เงา

๑๔ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

รูป-เงา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “สงสัยในการภาวนา”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยกราบเรียนถามดังนี้ คือว่าเมื่อผมพิจารณาความไม่พอใจ เมื่อผมแยกแยะออกจนหมด ผมเกิดความรับรู้หรือเห็นได้ถึงอาการไม่พอใจที่สลายตัวลงแล้วหายไป เปรียบเหมือนกระจกที่แตกออกจากกัน และเมื่อผมลองเอาอาการที่แยกออกจากกันนั้นนำมารวมกันเพื่อสร้างให้กลับมาเป็นอารมณ์เก่าก็ไม่สามารถทำได้ ผมจึงมีความสงสัยและเรียนถามดังนี้ครับ

 

๑. ทำไมเราไม่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกเดิมจากสิ่งที่เราได้พิจารณาแยกแยะออกจนหมดให้กลับมาเป็นอย่างเก่าได้ครับ ทั้งๆ ที่ข้อมูลเดิมหรือตัวสัญญาก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้สลายหรือหายไปเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกที่ผมพิจารณา

 

๒. ขณะที่ผมพิจารณา ผมสังเกตเห็นว่า ตัวสังขารเองก็อาศัยข้อมูลเดิมหรือตัวสัญญาในตัวมันเองในการปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น ผมจึงอยากรู้ว่าความเห็นของผมถูกต้องหรือเปล่าครับ ขอบพระคุณอย่างสูง

 

ตอบ : อันนี้ข้อ ๑ ข้อ ๒ นะ ฉะนั้น เอาอารัมภบทก่อน อารัมภบทที่ว่า “เวลาเราพิจารณาความไม่พอใจจนมันสลายตัว มันสลายออกไปเปรียบเหมือนกระจกแตก และเมื่อผมลองเอาอาการที่แยกออกจากกันมารวมกันเพื่อสร้างให้กลับขึ้นมาเหมือนอารมณ์เก่าก็ไม่สามารถทำได้ ผมจึงสงสัย ขอเรียนถาม”

 

สิ่งที่มันจะเอาขึ้นมาเหมือนเก่าๆ มันก็เป็นสัญญา นี่ไง ถ้าเป็นสัญญา มันก็เหมือนกับเป็นทฤษฎี เป็นความเชื่อ เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าความเชื่อวิทยาศาสตร์ มันก็ต้องของสิ่งนั้นก็ต้องคือสิ่งนั้น อารมณ์ที่เคยเกิดขึ้นมา แล้วเราพิจารณาไปแล้วมันแตกออกไป แล้วเราก็จะไปเอาอารมณ์สิ่งนั้นประกอบขึ้นมาเป็นอารมณ์อีก นี่เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ไง แต่โดยนามธรรม โดยความรู้สึก โดยนามธรรมมันไม่ได้ มันไม่ได้เพราะอะไร เพราะรสชาติมันไม่เหมือนกัน

 

รสชาติเราเจอครั้งแรกเราตื่นเต้นมาก แล้วเราจะไปสร้างอารมณ์อย่างนั้นอีกมันไม่ได้ ถ้ามันมาอีก ภาพต้องพร่ามัวไป ภาพต้องไม่ชัดเจน รสชาติความรู้สึกแตกต่างกันไป เห็นไหม มันเป็นอย่างนั้นอีกไม่ได้

 

มันเป็นอย่างนั้นอีกไม่ได้เพราะว่ามันจะให้คงที่เหมือนเดิมไม่ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง เห็นไหม มันเป็นอนิจจังมันถึงไม่พอใจ มันถึงเป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์นี้เราพิจารณา เราพิจารณาโดยธรรม มันเหมือนกระจกแตก อารมณ์นี้แตกสลายไปหมดเลย อารมณ์แตกสลายไปหมด ปล่อยวางหมดเลย นี่ไง อนัตตา มันแปรสภาพ

 

ทีนี้เป็นอนัตตา “เป็นอนัตตาแล้วผมก็ต้องเป็นพระอรหันต์สิ เพราะผมพิจารณาแล้วมันเป็นอนัตตาหมดเลย”

 

อนัตตาของใครล่ะ อนัตตาของเด็กหัดใหม่ อนัตตาของขั้นโสดาบัน อนัตตาของสกิทาคามี อนัตตาของอนาคามี อนัตตาของอรหัตตมรรค มันแตกต่างกันไป ความละเอียดมันแตกต่างกันไป

 

ฉะนั้น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เราใช้ความรู้สึกนึกคิดเราก็ใช้ได้ว่ามันเป็นอนัตตา มันแปรสภาพ อนัตตาคือว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันแปรสภาพ มันมีอยู่จริง แล้วมันก็แปรสภาพจริงๆ แล้วมันสลายไปจริงๆ ก็แค่นั้น แล้วใจล่ะ ใจมันรับรู้สิ่งใด

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพิจารณาแล้วมันเหมือนกระจกแตกไปหมดเลย แล้วเราจะเอาขึ้นมาใหม่

 

ถ้าพูดถึงนักภาวนา ถ้าภาวนาจนจับต้นชนปลายได้คือว่ามีหลักมีเกณฑ์ จะคุยกันเรื่องอย่างนี้ คุยแล้วเข้าใจได้ แต่ถ้าคนที่ภาวนาไม่เป็น หรือคนภาวนาเริ่มต้น หรือจิตใจเขาอ่อนแอ พอจิตใจเขาอ่อนแอ เขาสร้างภาพ เขานึกเอา สร้างภาพ นึกเอา มันจินตนาการ

 

พอจินตนาการไป เห็นไหม พวกอภิธรรม พวกหลักทางวิชาการในการศึกษาในพระพุทธศาสนา เขาจะบอกพวกนักปฏิบัติว่าเหมือนการทรงเจ้าเข้าผี มันไม่น่าเชื่อถือ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก มันไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริงมันต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นขั้นตอนของทางทฤษฎี มันต้องเป็นทางทฤษฎีของเขา แล้วไอ้พวกนี้ทำไปนี่จินตนาการเอา มันไม่เป็นความจริง พวกนี้พวกหลง เพราะอะไร เพราะไม่มีการศึกษา เพราะไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาก่อน ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนา เข้าใจพระพุทธศาสนาแล้วจะไม่ยึดติดสิ่งนี้เลย นี่เขาว่าของเขาไปนะ

 

แล้วเวลาเขาไปปฏิบัติแล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีคงที่ตายตัว เหยียบให้มันรู้เท่าทันให้ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลย รู้เท่าทันให้กดทับไว้ จนรู้เท่าทันหมดเลย เพราะไปรู้เท่าทัน ไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่จิตใจมันเกิดความรู้สึก มันมีความเฉา มีความเหงาหงอย มีความดีใจเสียใจ จิตใจมันมีกิเลส นี่กดมันไว้ รู้เท่าทันหมดเลย รู้ทันศาสนาหมดเลย

 

แล้วเวลาผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริง เห็นไหม ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วให้ฝึกหัด ให้พิจารณา ทีนี้พอพิจารณามันก็จะพิจารณาอาการเกิดดับ สิ่งที่เกิดขึ้น การเกิดครั้งแรก การเกิดครั้งที่สอง การเกิดบ่อยครั้งเข้า การเกิดแต่ละครั้งแตกต่างหลากหลายกัน

 

เขาก็บอกไอ้นี่มันจินตนาการนะ ไอ้นี่มันเป็นการสร้างภาพนะ ไอ้นี่ผู้ปฏิบัติมันจะหลงใหลอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะขาดการศึกษา นี่เขาว่านะ ขาดการศึกษา

 

การศึกษาเป็นทฤษฎี การศึกษา ศึกษามาเป็นทฤษฎี นี่เป็นสัญญา แต่เวลาปฏิบัติ เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทีนี้ในการปฏิบัติมันจะต้องเข้าไปเผชิญกับความเป็นจริงในใจของเรา เข้าไปเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่ามันมีอยู่จริง แต่เราไปศึกษาทางทฤษฎี พอศึกษาทางทฤษฎีแล้วเราก็เอาทฤษฎี ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์วางไว้ ทฤษฎีนั้นตามความเป็นจริง แล้วเราก็เอาทางทฤษฎีนั้นมากดทับ มาขึงพืดความรู้สึกของเรา มันก็เลยไม่เป็นความเป็นจริง แล้วมันแสดงออกตามความเป็นจริงก็ไม่ได้

 

ถ้ามันไม่แสดงออกตามความเป็นจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีกิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสบางอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากิเลสตัวไหนเราได้ชำระแล้ว กิเลสตัวไหนยังมีอยู่ กิเลสตัวไหนที่มันเข้ามาหลอกล่อเรา เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย แต่เรารู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็มาขึงพืดใจไว้ นี่ไง วิทยาศาสตร์สูตรสำเร็จ ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติปั๊บ ฝ่ายปริยัติหรือทางทฤษฎีเขาจะบอกว่า พวกปฏิบัติเพ้อเจ้อ ปฏิบัติไปแล้วจะรู้จริงไม่รู้จริง

 

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่น พระมหาปิ่น น้องของหลวงปู่สิงห์ นั่น ๕ ประโยค นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านศึกษามาๆ เวลาไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาพูดขึ้นมา พวกที่มีการศึกษานี่ “แหม! เราศึกษามาระดับ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค พระอยู่ในป่าไม่ได้ทำอะไรเลยจะรู้จริงได้อย่างไร” มันเกิดทิฏฐิไง

 

จนหลวงปู่มั่นเวลาเทศน์แทงเข้าไปในหัวใจ แทงเข้าไปในหัวใจจนหลายที จนยอมรับ แล้วพอยอมรับ เริ่มปฏิบัติแล้ว วางทฤษฎี วางธรรมที่ศึกษามาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางสัญญาวางไว้ แล้วพยายามปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา

 

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาจะเข้ามาการปฏิบัติเรานี่ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะรู้เห็นอย่างนี้ ถ้ารู้เห็นอย่างนี้นะ คนที่จิตใจอ่อนแอ ความรู้เห็นอย่างนี้เขาจะกำหนดพุทโธไว้

 

หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้ ถ้าปฏิบัตินะ ให้มีสติอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสียหาย

 

ผู้รู้ ความรู้สึกของเรานี่ผู้รู้ พุทโธของเรา สติของเรา ถ้ามันสงบหรือว่ามันออกรับรู้ มันไปรับรู้สิ่งใด รับรู้สิ่งใด เห็นไหม รับรู้สิ่งใดนี่มันหยาบละเอียด เริ่มต้นพิจารณามันก็เรื่องหยาบๆ ทั้งนั้นน่ะ มันเริ่มรู้ สิ่งที่รู้เห็นนี่รู้จริงไหม จริง แต่ความรู้เห็นนั้นจริงหรือยัง ไม่จริง แต่รู้เห็นจริงๆ แต่มันไม่จริง

 

นี่เราพิจารณาอารมณ์ของเรา พิจารณาอารมณ์เปรียบเหมือนเลยล่ะ เราพิจารณามันสลายตัวลง เปรียบเหมือนกระจกที่มันแตกออกไปหมดเลย อาการที่มันแยกออกมารู้เท่าทันหมดเลย มันแยกหมดไปแล้ว พอแยกไปแล้วมันเริ่มฝึกหัดพิจารณาเป็นอย่างนี้ แล้วผมก็จะเอารวมขึ้นมาอย่างเดิม มันไม่มาแล้วล่ะ แล้วรวมขึ้นมาอย่างเดิม เห็นไหม นักปฏิบัติเวลาผิดพลาดผิดพลาดตรงนี้ ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเรามีทิฏฐิ เรามีสัญชาตญาณว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราเคยเห็นอย่างนั้น แต่เวลามันเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นก็ได้ เป็นละเอียดกว่านั้นก็ได้ เป็นหยาบกว่านั้นก็ได้

 

ฉะนั้น เวลาถ้ามันพิจารณาไปแล้ว มันปล่อยแล้ว เรากลับมาทำความสงบของใจ สงบไว้ แล้วเราก็น้อมไปพิจารณากาย น้อมไปที่อารมณ์ ถ้ามันจับอารมณ์นี้ได้ เราก็จับอารมณ์ใหม่ขึ้นมา ถ้าเราจับอารมณ์นะ

 

อารมณ์นี่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าไม่มีรูป รูปคืออารมณ์ รูปคือสิ่งที่จับต้องได้ เวทนาคือว่าดีใจเสียใจ สัญญาคือข้อมูล สังขารคือปรุงแต่ง วิญญาณรับรู้ มันมีครบของมัน มันถึงเป็นอารมณ์ที่เราจับอารมณ์ได้ๆ จิตเห็นอาการของจิต พวกนี้เป็นอาการทั้งหมด มันเป็นเงา เห็นไหม มันเป็นเงา เป็นอาการ มันไม่ใช่ตัวจริง แต่เงาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เงามันจะเกิดขึ้นมาต้องมีภวาสวะ มีภพ มีตัวตน มีจิต มันถึงเกิด

 

รูป เงา ถ้ามันเป็นเงาขึ้นมา พิจารณาไปแล้วมันปล่อยเงาๆ ปล่อยเงาขึ้นมา รูปมันจะชัดเจนขึ้น เพราะมันปล่อยเงามันมา ถ้าปล่อยขึ้นมา เดี๋ยวพอเราน้อมไป มันไปจับได้ จับอารมณ์ได้อีก มันก็พิจารณาไป เพราะอารมณ์ของเราแตกต่างหลากหลาย อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์รัก อารมณ์ชัง อารมณ์พอใจไม่พอใจ มันมีแตกต่าง อารมณ์อันเดียวนี่ แต่ที่มาแตกต่างกัน ที่มาคือว่าความโลภมันก็อยากได้อยากดี ความโกรธก็มีกระทบแล้วก็โกรธ ความหลง หลงก็ไม่เข้าใจตัวเอง เห็นไหม ที่มามันแตกต่างหลากหลาย แต่มาจากจิตทั้งหมด

 

ถ้ามันปล่อยวางอารมณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้วเราก็จับ จับความรู้สึกนี่ ความรู้สึกคืออารมณ์ ความรู้สึกคือรูป รูป เราจับความรู้สึกเลย ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ มันปล่อยแล้วจับรูป แล้วจับแล้วมันจะเป็นอาการแบบใดก็ให้มันเป็นไปสิ แต่นี่ไม่ได้ ถ้ามันจับแล้วมันไม่เป็นอย่างเก่า มันไม่ใช่อารมณ์ มันจะเอาอารมณ์เดิมไง เห็นไหม บอกว่า “ผมจะสร้างมันขึ้นมา”

 

ก็สร้างขึ้นมาเลย มันจะเป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้นน่ะ สร้างขึ้นมา ดูสิ เขาวาดรูป เสือ สิงโต วัว งู เห็นไหม วาดเหมือนกัน แต่มันวาดออกมาเป็นรูปอะไร สมมุติว่าเป็นรูปเสือ รูปช้าง รูปม้า รูปวัว รูปควาย

 

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์มันเกิดขึ้น อารมณ์เดียวนั่นแหละ แต่มันเป็นเสือ เป็นวัว เป็นควาย เป็นงู เป็นเป็ด เป็นไก่ มันคิดของมันไปไง มันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ มันก็คือขันธ์ ๕ นี่แหละ นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้เพียงแต่เราจะเอาอารมณ์เก่าไง คือว่าคราวนี้วาดรูปเสือ คราวต่อไปมันก็ต้องเป็นรูปเสือ แล้วเอ็งวาดเสือทุกวันๆ เอ็งไม่เบื่อรูปเสือหรือ เอ็งก็เบื่อรูปเสือ เอ็งวาดรูปเสือ คราวหน้ามันก็วาดรูปวัว วาดรูปต่อไป

 

การวาด เห็นไหม เงา รูป-เงา ถ้าอย่างนั้นแล้วมันไม่เป็นเหมือนเดิมอีกหรอก ถ้ามันเป็นเหมือนเดิม มันก็ไม่ใช่ปัจจัตตัง มันไม่ใช่เป็นปัจจุบัน มันไม่เป็นปัจจุบัน

 

ปัจจุบันที่เรารู้มันเป็นปัจจุบัน เพราะรูปที่ผ่านมา อารมณ์ที่ผ่านมามันก็ผ่านไปแล้ว แล้วเวลามันเกิดอารมณ์ อารมณ์ก็จับอีก รสชาติหรือรูปแบบมันก็แตกต่างกันไป นี่เขาให้พิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องไปว่ามันจะต้องเป็นรูปเดิม

 

เพราะเราไปยึดมั่นว่ามันต้องเป็นรูปเดิม จะสร้างภาพขึ้นมาเพราะพอใจ เพราะเคยพิจารณามาตั้งมากมายมหาศาล มันไม่ปล่อย แต่พอพิจารณารูปนี้ เวลามันปล่อย ก็อยากจะพิจารณารูปนี้ซ้ำๆ ซากๆ ถ้าพิจารณารูปนี้ซ้ำซาก พิจารณาครั้งที่ ๒ เป็นสัญญาแล้ว

 

ถ้าพิจารณาครั้งที่ ๑ มันปล่อย ครั้งที่ ๒ จะเกิดเป็นรูปสิ่งใดก็แล้วแต่ พิจารณา มันปล่อยอีก นั่นน่ะปล่อยครั้งที่ ๒ แล้วมันจะจับอีก พอมันพิจารณาซ้ำไป มันปล่อยครั้งที่ ๓ มันปล่อยครั้งที่ ๔

 

แต่ถ้ามันปล่อยครั้งที่ ๑ แล้วเราก็จะเอาแบบครั้งที่ ๑ เลย นั่นล่ะมันเป็นอดีตไปแล้ว มันทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ามันจะเกิดขึ้นมา ถ้ามันวาดรูปเสือ แล้วรูปเสือซ้ำครั้งที่ ๒ มันชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้นมันก็เป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันนี่ใช้ได้

 

ฉะนั้นจะบอกว่า แล้วจะสร้างมันกลับขึ้นมาอีก ทำไมมันไม่กลับล่ะ

 

ก็สร้างขึ้นมา ก็แบบคอมพิวเตอร์ไง เขากดแล้วรูปก็จะมาอีกไง มันก็เป็นเทคโนโลยี มันไม่ใช่เป็นใจ มันไม่ใช่เป็นอาการ ไม่เป็นอารมณ์ ไม่เป็นความรู้สึก มันไม่เป็นเรื่องนามธรรม ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมแล้วมันจะเป็นปัจจุบันตลอด แล้วอะไรจะเกิดขึ้นให้เป็นปัจจุบันไว้ๆ นี่พูดถึงอารัมภบทนะ

 

นี่คำถาม “๑. ทำไมเราจึงไม่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกเดิมจากสิ่งที่เราได้พิจารณาแยกแยะออกจนหมดให้กลับมาเป็นอย่างเก่าได้ครับ ทั้งๆ ที่ข้อมูลก็ข้อมูลเดิม สัญญาก็สัญญาเดิม ก็ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้สลายไปหรือหายไปเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกที่ผมพิจารณา”

 

ที่บอกว่ามันสลายไป มันสลายไปคือมันพิจารณาตามความเป็นจริง แต่ตัวสัญญา ตัวสัญญาก็สัญญาเดิม ข้อมูลก็ข้อมูลเดิม ข้อมูลเดิมมันบอกชัดเจนมากว่าเราพิจารณา เราปล่อยแล้ว เราปล่อย ปล่อยวางนี่ตทังคปหาน คือชั่วคราว ฉะนั้น ข้อมูลก็ยังอยู่เดิม สัญญาก็ยังอยู่เดิม กิเลสก็ยังเท่าเดิม ไม่มีอะไรยุบยอบไปเลย แต่พิจารณาปล่อยวางไปแล้ว เห็นไหม การปล่อยวางนี่การฝึกหัด การฝึกหัดการพิจารณา การฝึกหัดใช้ปัญญา

 

ปัญญาหยาบๆ ก็พิจารณาให้มันเข้มข้นขึ้น พิจารณาให้ละเอียดขึ้น นี่ปัญญาที่ดีขึ้น ถ้าปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้พิจารณาซ้ำๆ เข้าไป ที่ว่าใครถามปัญหาหลวงตาไป บอกว่าถูกไหม

 

ถูก

 

ให้ทำอย่างไรต่อไป

 

คือพิจารณาซ้ำเข้าไปๆ ซ้ำเข้าไปมันก็ละเอียดขึ้นไป ชำนาญมากขึ้น แล้วไอ้สัญญาตัวเดิม สัญญาก็คือสัญญา สัญญาตัวเดิม แต่มันสร้างภาพได้ สังขารมันปรุงแต่งเป็นอย่างอื่นก็ได้ ข้อมูลข้อมูลเดิมนี่แหละ เพราะข้อมูลเดิมยังอยู่ ความรู้สึกนึกคิดอันเดิมยังอยู่ แต่พิจารณาปล่อย มันปล่อยวางไปแล้วเป็นครั้งเป็นคราว

 

ฉะนั้นบอกว่า ทำไมมันจะสร้างให้กลับมาเป็นเหมือนเก่าไม่ได้

 

สร้างมาเป็นเหมือนเก่า แต่อารมณ์มันไม่เหมือนเก่า มันไม่ดูดดื่มเหมือนเก่า มันไม่เจ็บช้ำเหมือนเก่า ถ้าพิจารณาอารมณ์อย่างนี้มันเจ็บช้ำอยู่ พอพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลมันปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางก็คือมันคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่นออกไปเป็นบางส่วน พอพิจารณาอารมณ์เก่าขึ้นมา ความเจ็บช้ำไม่เท่าเก่าแล้ว เพราะความเจ็บช้ำ เราเคยพิจารณามาแล้ว เรารู้เท่าทันแล้ว ถ้ามันขึ้นมาอีก เราพิจารณา ความเจ็บช้ำมันก็น้อยลง ความเจ็บช้ำมันรู้เท่า

 

ถ้าความเจ็บช้ำมันไม่มีปัญญา มันก็ยึดมั่นถือมั่นมาก ยึดมากเท่าไร ทิฏฐิมากเท่าไร มันก็เจ็บปวดมากเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วทิฏฐิมันเบาลง ทิฏฐิความเห็นผิดมันเบาลง พอเบาลง อารมณ์ความรู้สึกมันก็เบาลง มันเบาลง เห็นไหม มันเป็นแบบนี้มันถึงว่ามันไม่เหมือนเก่า

 

ถ้าเหมือนเก่านะ มีแต่ว่าเวลาจิตเสื่อม จิตมันเสื่อมไปแล้ว เวลาพิจารณามันยิ่งกว่าเก่าอีก เพราะอะไร เพราะเวลาจิตมันเสื่อม มันทุกข์มาก มันเสียใจมาก เวลาไปจับได้แล้วมันคับแค้นมาก มันยิ่งทำให้จริงจังมาก เห็นไหม มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันถึงแตกต่างกันไป

 

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าทำไมมันไม่เหมือนเก่า

 

มันเป็นแบบนี้ การภาวนา มรรคหยาบ มรรคละเอียด เราพิจารณาแล้วจะให้เหมือนเดิมๆ อยู่ มันไม่เป็นแบบนั้น นี่พูดถึงการภาวนานะ

 

ฉะนั้น บอกว่า ถ้ามันไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนเดิม เราก็ไม่จำเป็นจะต้องให้เหมือนเดิม เพราะถ้าเหมือนเดิมมันก็เท่ากับคงที่ตายตัว แล้วมันก็เท่าเดิม แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วมันดีกว่าเดิม เหมือนมนุษย์ อายุมากขึ้น ร่างกายโตขึ้น อายุขัยมากขึ้น มันเป็นคนเก่าอยู่ไม่ได้หรอก วันคืนล่วงไป ร่างกายเดิม หัวใจเดิม แต่มันมีประสบการณ์ มันเจริญเติบโตขึ้นไป จิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์มากขึ้นไป มันพัฒนาของมันไป มันไม่อยู่แบบเดิม

 

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เวลามันเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่มีอะไรคงที่ ฉะนั้น มันไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนเดิม มันเป็นความจริงอยู่แล้ว แต่เราอยากจะให้เหมือนเดิม อยากจะให้ปฏิบัติแล้วคงเส้นคงวา เหมือนเดิมแล้วเจริญงอกงามไปแบบนี้ นี่ความเห็นผิดของเราเอง

 

“๒. ขณะพิจารณา ผมสังเกตเห็นว่าตัวสังขารเองก็อาศัยข้อมูลเดิมคือสัญญาในตัวมันเองในการปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น ผมจึงอยากรู้ว่าความเห็นของผมถูกต้องไหม”

 

สัญญา สัญญากับสังขาร สังขารคือความปรุง สัญญาคือข้อมูลเดิม สัญญา นี่พูดถึงตัวสัญญา หลวงตาบอกสัญญาละเอียดมาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ ตัวสัญญา ตัวข้อมูลมันเก็บซับไว้แต่ละภพแต่ละชาติ จนเวลาถ้าจิตสงบแล้วคนมีอำนาจวาสนาย้อนอดีตชาติไป เพราะสัญญา สัญญาในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาในภพชาติปัจจุบันนี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ ปัจจยาการอันนั้นมันอยู่กับจิต จิตเดิมแท้มันอยู่กับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นตัวเวียนตายเวียนเกิด ปฏิสนธิจิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ปฏิสนธิจิตมันถึงสืบต่อ สืบต่อกับผลบุญผลกรรมของจิตแต่ละดวงมาตลอด

 

ฉะนั้น พระโพธิสัตว์สร้างบุญสร้างกรรมมามหาศาล บุญกุศลนั้นมันถึงสะสมมากับจิตดวงนั้น ถ้าภพชาติมันตัดกันไปแล้ว พระโพธิสัตว์ที่สร้างมาเป็นพระเวสสันดรแล้วมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มันเป็นมาอย่างไร พระเวสสันดรบริจาคนางมัทรี บริจาคกัณหา ชาลี ช้างอะไรบริจาคหมดเลย แล้วจิตดวงนั้นมันสร้างบุญกุศลขนาดไหน แล้วพอดับขันธ์จากนั้นปั๊บ ขึ้นไปบนสวรรค์ ไปรออยู่จนได้จุติมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นี้อยู่ในวิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น สัญญาตัวละเอียด ปฏิจจสมุปบาท อันนั้นละเอียดกว่า

 

ฉะนั้นว่า มันก็มีสัญญาอยู่เดิม

 

เขาถามบ่อยนะว่า โดยปกติคนเราเวลานอนมันฝัน มันฝันไปไม่รู้ไม่ชี้ ฝันไป นั่นคืออะไร อันนั้นมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ นั่นถึงว่าสัญญา ทีนี้สัญญา สัญญาหยาบ สัญญาละเอียด สัญญามันลึกซึ้ง ถ้าสัญญาของแต่ละบุคคล สัญญาเพราะมีตัวสัญญา ที่ว่าพันธุกรรมของจิตๆ จิตได้สร้างมากสร้างน้อยมามันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ตัวสัญญา

 

ทีนี้เวลาเราพิจารณาของเรา เราพิจารณาของเราใช่ไหมว่ามันปล่อย ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมันปรุงเหมือนสัญญา สังขารมันปรุงมาจริงไหม

 

พิจารณาไป มันเป็นสมบัติส่วนตน ถ้าใครพิจารณาได้มากน้อยแค่ไหน มันจะเป็นสมบัติของคนคนนั้น ถ้าพิจารณา ถ้าจับแล้ว อารมณ์นี่จับได้ ถ้าจับอารมณ์ได้แล้วพิจารณาไป เวลาพิจารณาไปแล้วนะ เวลาปฏิบัติมันเป็นสมบัติส่วนตน คือธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะส่วนบุคคล เราเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราพิจารณาของเรา

 

ฉะนั้น เวลาเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพอเราปฏิบัติแล้ว เราไปศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่ามันจะขัดแย้งกัน มันกลับชัดเจน กลับชัดเจน กลับซาบซึ้ง กลับเข้าใจมาก

 

แต่ถ้าเราปฏิบัติยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราไปศึกษานะ เพราะเราคิดแบบสมมุติ คิดแบบโลก คิดแบบวิทยาศาสตร์ “ทำไมมันเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันเทียบได้กับอย่างนี้ อย่างนี้เทียบได้กับอย่างนั้น” นี่มันก็ทำให้งงๆ เหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว พอมันรู้มันเห็นมันจะชัดเจนมาก

 

ฉะนั้นเขาถามว่า ที่ผมปฏิบัติมานี่ถูกหรือเปล่าครับ

 

ถูก ถูกแล้วทำอย่างไรต่อไป ถูกแล้วก็ต้องปฏิบัติให้มากขึ้น ถูกแล้วทำอย่างไรต่อไป ถูกแล้วก็จะเอาประกาศแล้วไปแขวนไว้ที่บ้าน ผมปฏิบัติมาถูกแล้ว ๑ หน

 

กระดาษไม่มีประโยชน์อะไรหรอก กระดาษถ้าเป็นแบงก์ยังไปซื้อของได้ นี่เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ถูกไหม ถูก แล้วทำอย่างไรต่อไป ปฏิบัติให้มากขึ้น ถูกหมายความว่าเราเริ่มต้นถูก แล้วเรายังต้องก้าวเดินไปอีกมหาศาลเลย ฉะนั้น สิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะ นั่นพูดถึงว่าสงสัยในการภาวนา

 

ภาวนาไป มันเป็นเงา รูป-เงาต่างๆ แล้วพอเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องจริงนะ เรื่องจริงหมายถึงมันจับต้องได้ตลอด พิจารณาไปตลอด นี่พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม จับต้องสิ่งใดแล้วพิจารณาซ้ำเข้าไปๆ

 

เวลาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เวลาปฏิบัติปัจจุบันอยู่ เอาอันนั้นน่ะ เวลามันขาดนะ เวลามันขาดมันจะรู้เลยว่าสังโยชน์ขาดอย่างไร เวลากิเลสขาดมันเห็นชัดๆ เลยล่ะ ถ้าขาดอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันต้องขยันหมั่นเพียรขึ้นไป

 

สิ่งที่เป็นมันเป็นเงา เงาของใจ อาการของใจทั้งหมด รูป-เงา แล้วเราทำให้ถูกต้องมันก็เป็นความดีของเรา จบ

 

ถาม : เรื่อง “พระปัจเจกพุทธเจ้า”

 

หลวงพ่อช่วยพยากรณ์อนาคตให้ผมหน่อยว่า อนาคตผมจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือไม่ครับ

 

ตอบ : โฮ้!

 

คำว่า “ความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์” คือเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาว่าอยากเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าคือความปรารถนา ความปรารถนา เราปรารถนา เราสร้างบุญกุศลไป แล้วสร้างบุญกุศลไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว นั่นน่ะกลับไม่ได้ หมายความว่าเราจะมีจุดมุ่งหมายว่าอนาคตกาลเราจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าข้างหน้า แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ว่า อนาคตกาล บุคคลคนนี้จะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อนี้ๆ ในกาลนั้น ถ้ายังไม่ได้พยากรณ์เราจะกลับได้

 

อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าท่านเคยปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ คือท่านปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าไปในอนาคต หลวงปู่เสาร์ท่านก็มีความปรารถนาว่าจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไปในอนาคต แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดยังไม่ได้พยากรณ์ ฉะนั้น พอในปัจจุบัน หลวงปู่มั่นท่านมาเกิดเป็นหลวงปู่มั่น ท่านก็จะสร้างอำนาจวาสนาต่อไปข้างหน้า แต่ทีนี้ด้วยบุญญาธิการ ด้วยปัญญาของท่าน เราจะบอกว่ามันเป็นการพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าด้วยแหละว่า กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง

 

คำว่า “ศาสนาจะเจริญ” มันต้องมีผู้มีบุญมาประพฤติปฏิบัติจนมีจิตใจนี้เป็นธรรม แล้วเผยแผ่ธรรมให้คนเชื่อมั่นศรัทธา ศาสนาถึงจะเจริญ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเผยแผ่ธรรมขึ้นมา ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ รื้อสัตว์ขนสัตว์นะ เทศนาว่าการ อู๋ย! พระอรหันต์เต็มไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะว่าด้วยอำนาจวาสนาบารมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนด้วยพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

 

ในกึ่งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ฉะนั้น เราถึงมั่นใจว่า เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาเกิดในกึ่งพุทธกาลนี้ แล้วท่านก็รู้ หลวงปู่มั่นท่านก็รู้ เพราะว่าท่านพิจารณาของท่านไป พอพิจารณาของท่านไป มันไปตันตลอด ไปตันตลอด พระโพธิสัตว์จะได้ฌานโลกีย์ จะได้ฌานโลกีย์เพื่อจะสร้างสมอำนาจวาสนาบารมีไปเท่านั้น

 

ฉะนั้น ท่านถึงพิจารณาของท่านเองไงว่า ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ถ้าในปัจจุบันนี้ ถ้าเราขวนขวายประพฤติปฏิบัติถึงตามความเป็นจริง มันสิ้นกิเลสไปก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่มันแตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับสาวกสาวกะเท่านั้น หลวงปู่มั่นท่านถึงได้สละ ท่านถึงได้ลาโพธิสัตว์ของท่าน

 

แล้วพอท่านลาพระโพธิสัตว์ของท่านแล้ว ท่านปฏิบัติของท่านไป ท่านก็ไปแก้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ถ้าไม่ได้แก้นะ เพราะหลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า การว่าปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องสร้างอำนาจวาสนาบารมีไป สร้างสมบุญญาธิการไป ไปบรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคต ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านมีวาสนา ท่านถึงมาแก้ของท่าน อันนี้พูดถึงว่าการประพฤติปฏิบัติที่มีคุณสมบัติที่ท่านมีอำนาจวาสนาตามความเป็นจริง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “หลวงพ่อช่วยพยากรณ์อนาคตว่าผมจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือเปล่า”

 

ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ให้ได้ ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ให้ได้ มันอยู่ที่เรากระทำ อยู่ที่ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็สร้างอำนาจวาสนา ทำคุณงามความดี ช่วยเหลือเจือจาน ขนไง

 

ดูสิ ในพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือว่าพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหัวหน้าสัตว์ เห็นไหม เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นจักรพรรดิ เป็นต่างๆ ทำแต่คุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ ทำคุณงามความดีให้กับโลก ให้สังคม สร้างอำนาจวาสนาไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป พอมันยิ่งเข้าใกล้มากขึ้น บารมีจะใหญ่ขึ้น ผู้ที่บารมีใหญ่จะสร้างสมทุกอย่างได้ประสบความสำเร็จ จะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ ใหญ่โตมาก ใหญ่โต

 

การปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วไปเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในร่วมสมัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยากรณ์ ถ้าพยากรณ์อย่างนั้นปั๊บ ไม่มีสิทธิ์จะกลับแล้ว จะต้องสร้างคุณงามความดีไปอีกมหาศาลเลย จนบารมีเต็ม ชาติสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ต้องสละลูก สละเมีย สละทุกๆ อย่างหมดเลย การสละนั้นสละเพื่อโพธิญาณ นี่พูดถึงพระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าอนาคตนะ

 

ฉะนั้น ให้พยากรณ์ ใครจะพยากรณ์ได้ มันเป็นเจตนาของคนคนนั้น มันเป็นเจตนาของจิตดวงนั้น มันเป็นเจตนาที่เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา ถ้าเราปรารถนาอย่างนั้น คนปรารถนาอย่างนั้นน่ะ โดยธรรมชาตินะ เราจะบอกว่า ทุกคนปรารถนาจะเป็นคนดี ทุกคนปรารถนาจะสร้างบุญญาธิการ คือเราจะบอกว่า ทุกๆ คนก็ปรารถนาจะเป็นถึงที่สุด ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่พอไปๆ แล้วมันจะมีอำนาจวาสนาแค่ไหน แล้วจะมีสติปัญญาแค่ไหน ถ้าจะมีอำนาจวาสนาก็ไป

 

ฝ่ายมหายานเขาจะบอก บอกว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้หมดโลกเลย แล้วตัวเองจะสำเร็จเป็นคนสุดท้าย

 

เราบอก อื้อหืม! ที่มันคิดแล้วมันเป็นไปได้ยาก ได้ยากตรงไหน ตรงที่ว่าจะให้มนุษย์เป็นพระอรหันต์ให้หมดเลย ไม่เหลือสักคนเดียว แล้วเราเป็นคนสุดท้าย มนุษย์คนไหนจะเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด มันคงจะยาก

 

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จนทอดธุระว่าจะสอนใครได้หนอ เพราะมันละเอียดลึกซึ้ง ละเอียดลึกซึ้งมาก ฉะนั้น ท่านก็สร้างมาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถึงสุดท้ายแล้วท่านก็มีความปรารถนาอย่างนั้น แล้วในพระไตรปิฎกก็พรหมมานิมนต์ด้วย

 

พอพรหมนิมนต์ ปัญญามันก็เกิดขึ้นว่า คนดีก็มีอยู่ คนที่ประพฤติปฏิบัติได้ก็มีอยู่ ทีนี้คนประพฤติปฏิบัติได้ยังมีอยู่ เห็นไหม นี่ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ จะต้องมีบารมีธรรม คือจิตใจของเขาสมควรที่จะบรรลุธรรม ถึงพูดธรรมะกันเข้าใจ ถ้าจิตใจของเขา เขามีความใฝ่ฝัน จิตใจของเขามันดื้อด้าน ว่าอย่างนั้นเลย จิตใจเขาดื้อด้าน เราจะไปพูดเรื่องคุณงามความดี เขาจะบอกว่า เอ๊! สงสัยเรานี่เสียสติ เพราะเขาคิดแต่ของเขา คิดแต่ผลประโยชน์ของเขา

 

เราจะบอกว่าทำคุณงามความดีอย่างนั้น เขาจะบอกว่าคนที่สอนนี่เสียสติ เห็นไหม ถ้าจิตใจเขาดื้อด้าน เราไม่มีสิทธิที่จะให้เขาเข้าใจได้เลย เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก คือต้องจิตใจของเขาเป็นคนที่รู้เอง

 

ฉะนั้น ถ้าเขาดื้อด้าน จะบอกให้เขารู้ บอกธรรมะเขาฟังแล้วเขายังฟังไม่เข้าใจ เขายังบอกว่าเราเป็นคนเสียสติ แล้วเขาจะเข้าใจเรื่องธรรมะ มันเป็นได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นว่า จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้สำเร็จไปทั้งโลกเลย แล้วเราจะเป็นคนสุดท้าย มันเป็นเรื่องที่แปลกมาก

 

แต่ถ้าเป็นการขวนขวายเอาตัวรอดก่อน เอาตัวรอดให้ได้ก่อน แล้วช่วยเหลือคนอื่นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ใครมีวาสนา ช่วยได้ก็ช่วย ใครไม่มีวาสนามันก็กรรมของสัตว์ มันเรื่องของเขา เพราะจิตใจดื้อด้าน เราจะพูดให้เขาเข้าใจแบบเรามันเป็นไปไม่ได้

 

ถ้าจิตใจเขาพอสมควร จิตใจเขามีคุณงามความดีอยู่บ้าง พูดถึงคุณงามความดี เขาจะเข้าใจของเขาได้ อย่างนี้มีโอกาส ถ้ามีโอกาส ท่านก็จะเทศนาว่าการเอาพวกนี้พ้นทุกข์ไปเลย

 

นี่พูดถึงว่า “หลวงพ่อช่วยพยากรณ์อนาคตให้ผมหน่อยว่าอนาคตผมจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือเปล่า”

 

ถ้าจะได้เป็นก็เราได้เป็น เอ็งไม่ได้เป็นหรอก เพราะกูเป็นคนพยากรณ์ แต่ถ้าเอ็งจะได้เป็น เอ็งต้องทำเอง แต่ถามว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือเป็นพระพุทธเจ้า เอ็งต้องสร้างเอง ทำเอง คนที่พยากรณ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ พยากรณ์ถึงได้เป็น

 

เวลาศึกษาพระไตรปิฎกแล้วก็เข้าใจกันไปอย่างนั้นไง แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วจะเข้าใจอีกเรื่องหนึ่ง ศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ศึกษาแล้วพิจารณา มันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แล้วจะเข้าใจเรื่องนี้ คงคิดว่าถ้าใครพยากรณ์แล้วมันจะเป็นจริงไง

 

พยากรณ์ เพราะคิดว่าพยากรณ์จะเป็นจริง เดี๋ยวนี้ถึงมีพยากรณ์ เห็นไหม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เต็มประเทศไทยเลย พยากรณ์กันเต็มเลย คนนั้นเป็นไอ้นี่ คนนี้เป็นไอ้นั่น แล้วเป็นจริงไหม ไปถามคนที่โดนพยากรณ์สิ “หนูไม่รู้เรื่องเลย แล้วเขาว่าหนูเป็นโสดาบัน หนูไม่รู้เรื่องเลย”

 

“นั่นแหละเป็น เป็นเพราะเอ็งไม่รู้เรื่องนั่นแหละถึงจะเป็น ถ้าเอ็งรู้เรื่อง มันมีความอยาก เอ็งเลยไม่ได้เป็นไง ถ้าเอ็งไม่มีความอยาก เอ็งไม่รู้เรื่อง นั่นน่ะเอ็งเป็นโสดาบัน”

 

แต่ไอ้คนเป็นโสดาบันบอก “หนูไม่รู้เรื่องเลยว่าเป็นโสดาบัน”

 

เอ๊! โสดาบันนี่ไม่รู้เรื่อง นี่เป็นโสดาบันได้ก็แปลกเนาะ

 

แต่ถ้าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะ ความสะอาดบริสุทธิ์ของคน รู้โดยตัวเอง ไม่มีใครประกันความสะอาดบริสุทธิ์ของคนอื่นได้

 

นี่ก็เหมือนกัน จะให้เราพยากรณ์ เราก็พยากรณ์ของเราสิ พรุ่งนี้บิณฑบาตจะได้ฉันอะไรบ้างก็ไม่รู้ พยากรณ์เลยว่าออกบิณฑบาตพรุ่งนี้ มันไม่ไปพยากรณ์ใครหรอก มันพยากรณ์ตัวเองว่าพรุ่งนี้ไปบิณฑบาตเขาจะใส่บาตรหรือเปล่า เอ๊! เขาใส่บาตรเขาจะใส่อะไรหรือเปล่า เพราะหน้าที่ของตัวเองรู้แค่นี้ไง แต่หน้าที่ของคนอื่น หน้าที่ของเรา เราต้องทำเอง

 

ฉะนั้น พยากรณ์มันต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพยากรณ์นั่นคือพยากรณ์ว่าจะได้เป็นจริงๆ แล้ว แล้วไม่มีสิทธิ์กลับ อย่างนั้นต้องไปถึงที่สุด

 

แต่ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ ทุกคนมีความปรารถนาดี ทุกคนอยากเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกคนอยากเป็นพระพุทธเจ้า ทุกคนก็สร้างคุณงามความดีไป พอคุณงามความดีมันพอสมควรที่จะบรรลุธรรมได้ ถ้ามีสติมีปัญญา เพราะว่าในพระไตรปิฎกบอกว่า คนที่ปรารถนาเป็นล้านๆๆ เลย แต่เวลาไปถึงจริงๆ มีสักหนึ่งหรือเปล่า อย่างมากมีหนึ่ง มีสองเท่านั้นน่ะ นอกนั้นกลับหมด ถึงเวลาแล้วกลับหมด จะไปถึงที่สุดยากมาก

 

ขนาดที่ว่าสร้างบุญญาธิการแล้วปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่สุดยอดแล้ว แต่โดยธรรมชาติของคน ทุกคนก็ปรารถนา ปรารถนาให้ถึงที่สุด เราถึงจะบอกว่า โดยสามัญสำนึกของประชาชนทั้งหมด ทุกคนปรารถนาถึงที่สุด ทุกคนปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกคนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไปอนาคต แต่จะทำได้หรือไม่ได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยธรรมชาติของความคิดเป็นแบบนั้น ฉะนั้น เป็นแบบนั้น พอไปถึงระหว่าง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๕ เปอร์เซ็นต์แล้วกลับ

 

ถ้า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็พอประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์มีอำนาจวาสนาบารมี คือเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้นำที่ดีแล้ว ถ้า ๗๕ เปอร์เซ็นต์ โอ้โฮ! จะลูกศิษย์ลูกหาเยอะมาก จะพูดสิ่งใดแล้วคนเข้าใจ แต่ถ้ามันพอเอาตัวรอดได้ก็เอาแล้วแหละ

 

นี่พูดถึงว่า เราพยากรณ์ไม่ได้ เราไม่รู้หรอก เรารู้แต่พรุ่งนี้ใครจะใส่บาตรไม่ใส่บาตร ไอ้นี่มันเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ไม่เกี่ยวกับพระสงบ ไม่เกี่ยวกับเรา แต่นี้ถามมา เพียงแต่เอามาอธิบายให้เข้าใจว่า สถานะของใคร ความเป็นไปของจิตดวงใดสูงต่ำอย่างใด แต่คนที่จะทำได้เขาทำของเขาได้ แต่คนที่จะทำไม่ได้ คนที่ทำไม่ได้ต้องบอกว่าไม่ได้ ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรได้ทุกคน เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครจะทำอะไรได้ทุกๆ อย่าง มีแต่คนมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน เขาจะทำได้แต่อำนาจวาสนาของเขา ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะทำได้เหมือนกันทุกคน ไม่มี ไม่มี

 

ถาม : เรื่อง “นิโรธสมาบัติ”

 

นิโรธสมาบัติคืออะไรคะ ทำเพื่ออะไร ถ้าลืมตาอยู่นี่ทำได้ไหมคะ

 

ตอบ : นิโรธสมาบัติมันมีมาอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะเก่าแก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธรรมะเก่าแก่คือโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ติฉินนินทา เห็นไหม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทา โลกธรรม ๘ สิ่งนี้มันธรรมะเก่าแก่ คือมันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มันมีอยู่โดยประจำ เพราะโลกนี้มันลุ่มๆ ดอนๆ มันเป็นอยู่อย่างนี้

 

นิโรธสมาบัตินะ เรื่องสมาบัติมันเป็นเรื่องของฤๅษีชีไพร ในเรื่องฤๅษีชีไพรก่อนสมัยพุทธกาล สมัยไหนก็แล้วแต่ ลองมีจิต ลองมีคนมีจิต มีร่างกายและจิตใจ จิตใจนี้เป็นความมหัศจรรย์ จิตใจของใครถ้าทำสมาธิ ใครทำฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติมันก็สงบระงับได้ สงบระงับได้มันก็สงบระงับได้ในเรื่องของฌานโลกีย์ ของโลก มันไม่เกี่ยวกับอริยสัจ

 

พอไม่เกี่ยวกับอริยสัจ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอุทกดาบส อาฬารดาบส ก็ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ได้มาแล้ว ถ้าได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ก็เอาสมาบัติเป็นพื้นฐาน มันก็บรรลุธรรมได้เลยสิ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้หมดเลย วางเรื่องนิโรธสมาบัติ แล้วระลึกถึงโคนต้นหว้าตอนที่เป็นราชกุมารที่พ่อเอาไปแรกนาขวัญ นี่เป็นสมาธิ เพราะจิตสงบแล้วเป็นสมาธิ เพราะสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันจะออกทำงานได้

 

ถ้าสมาบัติ สมาบัติ ฌานสมาบัติมันเป็นอภิญญา ถ้าเป็นอภิญญา พอเป็นสมาบัติ ถ้าจิตใจของใครมันมีอำนาจวาสนา พอเป็นสมาบัติแล้วมันลึก มันลึกมันจะรู้วาระจิต มันจะรู้ความคิดของคน มันจะรู้ไปหมดเลย แต่รู้ก็รู้ ถ้าในสมัยปัจจุบันนี้มันก็เป็นแบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์มันสร้างภาพได้ มันทำสิ่งใดได้ มันก็เป็นแค่นั้น มันก็เป็นเรื่องที่เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ได้

 

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นฌานสมาบัติ พอมันเป็นแล้วมันมีฤทธิ์มีเดช มีต่างๆ ไป มันก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เพราะมันมีอำนาจวาสนา แล้ววางสิ่งนี้ไม่ได้

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาแล้ววางไว้ พอวางไว้ กลับมาทำสมาธิ พอสมาธิ ศีล-สมาธิ-ปัญญา ไม่มีศีล-สมาบัติ-ปัญญา ไม่มี มีแต่ศีล-สมาธิ-ปัญญา ศีล-สมาบัติ-ปัญญาไม่มี เพราะสมาบัติ คนที่ทำเป็นนะ นิโรธสมาบัติมันคืออะไร สมาบัตินะ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันรูปฌาน อรูปฌาน ถ้ารูปฌาน อรูปฌาน ถ้าคนทำได้ขนาดไหนมันก็ได้แค่นั้นใช่ไหม

 

ดูสิ เวลาอุทกดาบสได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๖ ก็อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ แต่อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะไม่ได้ ถ้าสมาบัติ ๘ มันได้ ถ้าสมาบัติ ๘ ได้ สมาบัติมันมีระดับชั้นของมัน นี่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ หนึ่ง สอง สาม สี่ ว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ อารมณ์มันแตกต่างกัน ความละเอียดความหยาบมันแตกต่างกัน

 

อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันก็แตกต่างกัน มันเป็นอรูปฌาน นี่รูปฌาน อรูปฌาน ทีนี้มันก็เป็นสมาบัติ ถ้าสมาบัติ พอเข้ารูปฌาน สิ่งที่ขึ้น มันถอย มันเข้าถอยมันแบบว่า หนึ่ง สอง สาม สี่ แล้วก็สี่ ห้า หก เจ็ด แปด แล้วก็ร่นลงมา ขึ้นมา มันมีการพัฒนาของมัน มันมีกำลังของมัน มันจะออกรู้สิ่งต่างๆ ของมัน ถ้าเขาทำของเขาได้ แล้วมันจะเข้ามาสู่มรรคไหม

 

ฉะนั้น นิโรธสมาบัติมันคืออะไร

 

มันก็คือฌานสมาบัติ สมาบัติก็คือสมาบัติ

 

นิโรธสมาบัติคืออะไร

 

นิโรธสมาบัติ สมาบัติก็สมาบัติ ๘ รูปฌาน อรูปฌาน จบ ถ้าเป็นสมาธิก็สมาธิ

 

ทำเพื่ออะไร สมาบัติทำเพื่ออะไร

 

ทำเพื่อหลงไง ทีแรกก็ทำได้ ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อหลง ทำเพื่อให้ตัวเองสำคัญตนว่าเป็นผู้วิเศษ ว่าตัวเองมีความรู้มีความสามารถอย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ แต่มันไม่ใช่มรรค นี่ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้หลง หลงใหลไปแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนาสอนอีกเรื่องหนึ่ง

 

“ถ้าลืมตาอยู่ทำได้ไหมคะ”

 

ถ้าลืมตาอยู่ ลืมตาหรือหลับตา ลืมตาหลับตามันไม่เกี่ยวกับจิตสงบ ถ้าลืมตา ถ้าจิตมันทำ อย่างเดินจงกรม เดินจงกรมลืมตาไหม ลืมตาค่ะ เดินจงกรมก็ลืมตา ลืมตาทำสมาธิได้ไหม ได้ค่ะ ลืมตาทำสมาบัติได้ไหม ได้ค่ะ หลับตาทำได้ไหม ได้ค่ะ

 

ลืมตาหลับตาไม่เกี่ยวกับการกระทำ ลืมตาหลับตา มันก็ส่วนลืมตา เพราะว่าลืมตาทำสมาธิได้ยาก เพราะอะไร เพราะตามันเห็น มันรับรู้ จิตมันวอกแวกอยู่แล้ว พอตากระทบอะไรมันก็จะไปตามนั้น ถ้าหลับตา หลับตามันก็ทำให้เราไม่เห็นรูปต่างๆ จิตใจมันก็รักษาได้ง่ายขึ้น ลืมตาก็ทำได้ หลับตาก็ทำได้ อยู่ที่ว่าจิตใจใครเข้มแข็งใครอ่อนแอแค่ไหน

 

ฉะนั้น ลืมตาหลับตามันไม่เกี่ยวกับการทำสมาบัติได้หรือไม่ได้ มันเกี่ยวกับคนทำได้หรือไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับลืมตาหรือหลับตา แต่ถ้าหลับตา หลับตามันเหมือนกับคนรู้จักประหยัดมัธยัสถ์ คนนั้นก็ต้องเป็นคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนที่ประหยัดมัธยัสถ์คือคนหลับตา ไม่เห็นอารมณ์กระทบ การทำจิตใจให้สงบมันก็ทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามันลืมตา ถ้าลืมตาทำได้ มันทำได้ บอกว่าถ้าอยู่ที่หลับตาลืมตามันไม่เกี่ยวกับว่าจะทำได้หรือไม่ได้ มันเกี่ยวกับว่าจิตใจของคนมีกำลังมากน้อยแค่ไหน

 

นี่พูดถึงว่า “นิโรธสมาบัติคืออะไรคะ”

 

นิโรธสมาบัติมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ มันเป็นอาการของใจ มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ เพราะฌานโลกีย์ เพราะมีเรื่องสมาบัติ มันจะออกรู้ มันมีกำลังของมัน มันจะออกรู้ มีความสุขไหม มี มีกำลังไหม แล้วมันออกไป

 

ถ้าเป็นสมาธิล่ะ สมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าสมาธิมันมีสติควบคุม แล้วสมาธิมีสติควบคุมเพราะสัมมา ถ้ามิจฉา มิจฉาก็ออกไปทางนิโรธสมาบัติ เพราะมันสงบแล้วมันรู้อย่างอื่น พอมันสงบแล้วมันก็ออกรู้ใช่ไหม อย่างเช่นใครนั่งสมาธิ “เสียงดนตรีขับกล่อมมา มีใครมาอนุโมทนา” นั่นน่ะมันไปแล้ว มันจะออกไปแล้ว แล้วทำไมต้องไปรู้มันล่ะ เอ็งนั่งสมาธิ ถ้าเอ็งอยากฟังเสียงดนตรี เอ็งก็ไปฟังดนตรีไทยสิ ดนตรีไทยเขาตีทุกวันเลย เอ็งซื้อแผ่นเสียงดนตรีไทยมาฟังนะ โอ๋ย! เอ็งก็เก่งน่ะสิ

 

มันไม่เกี่ยวกันเลย นั่งสมาธิเพื่อความสงบของใจ แต่ได้ยินเสียงสิ่งใด เราก็กำหนดพุทโธชัดๆ กำหนดผู้รู้ไว้มันก็กลับมา เพราะเสียงดนตรีมันอยู่กลางอากาศ สิ่งต่างๆ จิตมันไม่ออกไปรับรู้จะมีอะไร เรานั่งอยู่นี่ เสียง เห็นไหม โทรศัพท์เขาโทรกันทั่วโลกเลย ดาวเทียมมันส่งคลื่นมาเต็มไปหมดเลย เรานั่งกันอยู่นี่เราไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้าโทรศัพท์เอ็งเปิด เอ็งก็รู้

 

จิตก็เหมือนกัน เราไปรับรู้อะไร มันมีอยู่แล้ว เสียงมันมีอยู่แล้ว สรรพสิ่งมันมีอยู่แล้ว แล้วเราไปรับรู้มาทำไม เรานั่งสมาธิเพื่อความสงบ ถ้าสงบ สงบเพื่ออะไร สงบเพื่อรู้จักตัวเรา สงบขึ้นมาเพื่อจะรักษาภายใน

 

ถ้าเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องหนึ่ง สมาบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สมาบัติคือการส่งออก ว่าอย่างนั้นเลย สมาบัติมันออกมาจากจิต แล้วจิตมันออกไปรู้ ออกไปรู้แล้วควบคุมของเรา ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ยกขึ้นสู่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

 

แล้วเขาบอกเข้านิโรธสมาบัติ ถ้าใครเข้านิโรธสมาบัติได้แสดงว่ามีภูมิธรรม เขาว่าของเขาไปนู่น

 

ถ้าเราเข้าของเรา เราก็ถอยออกมา มันทำได้ คนทำได้จะเข้าใจเรื่องนี้ นิโรธสมาบัติมันเป็นเรื่องหนึ่ง

 

ฉะนั้น ใครบอกว่า คนที่กำหนดพุทโธแล้วได้ฌาน ๒ ฌาน ๓ เห็นไหม ฌานที่ ๑ ปฐมฌาน ทุติยฌานคือฌานที่ ๒ ตติยฌานคือฌานที่ ๓ จตุตถฌานคือฌานที่ ๔ บอกคนนั้นได้ฌาน ๒ ได้ฌาน ๓ ได้ฌาน ๔

 

เราจะบอกว่า ไอ้คนที่พูดมันรู้จักฌานหรือเปล่า เอ็งรู้จักจริงหรือ คนรู้จักฌาน รูปฌานมันเป็นอย่างไร แล้วเอ็งว่าได้ฌาน ๒ ฌาน ๒ นี่มันตัวเลขใช่ไหม เขียนเอาใช่ไหม ฌ กระเชอ สระอา น หนู แล้วก็เลข ๒ หรือ อันนั้นคือฌาน ๒ หรือ...อันนั้นมันทฤษฎี นั่นมันชื่อของฌาน แล้วตัวของฌานล่ะ ตัวของฌาน ฌานมันเป็นอย่างไร ฌานมันเป็นอย่างไร

 

ฉะนั้น เวลาเขาว่า ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ คนทำทำได้ ครูบาอาจารย์ทำได้ อย่างเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน คนที่จิตใจเป็นธรรมแล้วทำได้ทั้งนั้นน่ะ เพียงแต่ทำหรือไม่ทำ เพราะอะไร เพราะว่าหลวงปู่ขาว ตอนที่หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า ตอนอยู่กับหลวงปู่ขาว มีพวกฝรั่ง พวกจีไอ พวกขับเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เวียดนาม เขาขึ้นไปบนอากาศ เขาเห็นพระองค์หนึ่ง เขาขับเครื่องบินกลับมาเห็นพระองค์หนึ่ง เสร็จแล้วเขาก็ตามหาไง ตามหาพระองค์นั้นไม่เจอ สุดท้ายแล้วหลวงปู่เจี๊ยะอยู่กับหลวงปู่ขาว เขาให้เมียเขา คนที่อุดรฯ พาไปหาหลวงปู่ขาว

 

พอเขาบอก องค์นี้ๆ

 

หลวงปู่เจี๊ยะถามเลย พอเขากลับแล้ว ตกเย็นหลวงปู่เจี๊ยะไปอุปัฏฐากที่กุฏิหลวงปู่ขาว

 

“ครูจารย์ๆ เหาะได้อีหลีบ่”

 

“ได้”

 

“ครูจารย์เหาะอย่างไร” นี่ไง “ครูจารย์เหาะอย่างไร”

 

ท่านก็บอก

 

แล้วหลวงปู่เจี๊ยะก็ถามว่า “แล้วยังเฮ็ดได้อยู่บ่” คือปัจจุบันยังเหาะอยู่ไหม ยังทำได้ไหม

 

ท่านบอกว่า “มันเฒ่าแล้วว่ะ”

 

พอมันเฒ่า มันทำจิตเข้าฌานสมาบัติ มันต้องใช้กำลัง มันต้องใช้สติปัญญาพอสมควร

 

นี่คนทำได้เขารู้ คนทำได้เขามี คนทำได้ เข้าฌานสมาบัติทำเรื่องอย่างนี้ได้ เรื่องอย่างนี้ได้ก็เป็นเรื่องของโลกใช่ไหม เรื่องของฝรั่งจีไอ มันขับเครื่องบินมันยังช็อกเลย มันยังตามหาตัวเลย มันขับเครื่องเหาะอยู่ มันไปเห็นพระอยู่กลางอากาศ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องในประวัติครูบาอาจารย์มี

 

ฉะนั้น เรื่องฌานสมาบัติ นิโรธสมาบัติ เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าอย่างนี้มันเป็นธรรมะเก่าแก่เหมือนโลกธรรม ๘ ของมีอยู่ดั้งเดิม ถ้ามีจิต จิตของคนมันสร้างสมบุญญาธิการมาแตกต่างมาก แล้วถ้าจิตของคนถ้าไม่มีครูบาอาจารย์หรือปฏิบัติไม่เข้าสู่สัจธรรม มันก็ไม่ได้ชำระล้างกิเลส แต่คุณสมบัติที่มันทำอย่างนี้ได้ มี มี แล้วมีก็มีเรื่องโลกๆ ไง เหมือนคนเกิดมาจน คนเกิดมารวย

 

นี่ก็เหมือนกัน จิตเกิดมามีคุณธรรมอย่างนี้ จิตเกิดมามีคุณสมบัติอย่างนี้ มันก็เท่านั้นน่ะ แต่ถ้าไม่ได้เข้าสู่อริยสัจ อริยสัจมีหนึ่งเดียว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามรรค มรรค ๘ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา นี่เข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ความจริง นี่ต่างหาก พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ แล้วสอนให้กลับมาที่นี่ มาชำระล้างกิเลสที่นี่ มันจะเป็นอยู่ที่นี่ มันเป็นสมบัติของเรา เป็นสมบัติของชาวพุทธ ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวผี

 

นิโรธสมาบัติ เรื่องฤๅษีชีไพรเป็นเรื่องของผี เรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าธรรม เห็นไหม จิตวิญญาณมันเป็นอะไร จิตวิญญาณถ้ามันเดินสู่มรรค มัคโค ทางอันเอก ทางให้จิตนี้ก้าวเดิน จิตนี้ก้าวเดินตามมัคโค จิตนี้กลั่นออกจากอริยสัจ กลั่นมาจากอริยสัจ กลั่นมาจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กลั่นออกมามันก็เป็นการชำระล้าง เป็นการทำให้จิตสะอาด เป็นการทำให้จิตนี้พ้นไปเป็นธรรมธาตุ เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้ต่างหากเป็นพระพุทธศาสนา

 

นิโรธสมาบัติก็เป็นนิโรธสมาบัติ เป็นธรรมะเก่าแก่ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ไว้เยอะมาก เพราะมันมีพวกฤๅษีชีไพรมาถามเรื่องอย่างนี้ แล้วมีพระโมคคัลลานะ มีครูบาอาจารย์ทำได้แบบนี้ ทำได้มากกว่าเขา ทำได้ดีกว่าเขา เวลาทำมัคโค ทำทางอันเอกเกิดขึ้นมาแล้วมันจะทำได้มากกว่านี้ เข้าใจเรื่องอย่างนี้หมด

 

ฉะนั้น นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ มันสิ่งที่มีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ธรรมะสูงส่งกว่า ธรรมะมีความมหัศจรรย์กว่า ธรรมะ เพราะพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มากกว่านี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าลัทธิต่างๆ เวลายมกอภินิหารของพระพุทธเจ้าทำได้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ ถ้าดีกว่านี้แล้ว เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นสัจจะ แต่ถ้าโลกทำได้แค่นี้ มีขอบเขตแค่นี้ เรื่องฌานสมาบัติ

 

นิโรธสมาบัติเป็นเรื่องของเขา ในพระไตรปิฎกก็มีเยอะ พระพุทธเจ้าพูดถึง แล้วพระพุทธเจ้าพูดถึงก็พูดเปรียบเทียบ พูดแยกแยะ แต่พวกเราไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ไม่เข้าใจเรื่องธรรมะ พอพูดถึงนิโรธสมาบัติ เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช ชอบ แต่เรื่องธรรมะ เรื่องเสียสละ เรื่องการชำระล้าง เรื่องเอากิเลสออก ฟังไม่รู้ ฟังไม่เข้าใจ

 

แต่ถ้านิโรธสมาบัตินี่เก่งมากนะ แต่บอกอริยสัจชำระกิเลส เฮ้ย! ทำอย่างไร อ๋อ! ไปหาเจ้าพรมน้ำมนต์ใช่ไหม อ้าว! ไปนู่นเลย มันไม่เข้าใจว่าอริยสัจอยู่ที่ไหน ความจริงอยู่ที่ไหน

 

ถ้าความจริงมันถึงเป็นความจริง ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นรูป-เงา เป็นเงา เป็นเรื่องของเงา เป็นเรื่องของอาการ เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของโลก ไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย เอวัง