ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ต้องรู้จริง

๑๕ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

ต้องรู้จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “งงสภาวะครับ”

 

กราบเรียนเรื่องการภาวนาครับ ก่อนหน้านั้น

 

หลวงพ่อ : ก่อนหน้านั้นเขาถามมาแล้วไง

 

ถาม : ก่อนหน้านั้นมันเคลื่อนจากตรงอกขึ้นมา ถ้าอยู่ในสภาวะปกติมันจะรับทราบจุดนี้เป็นแค่ความรู้สึกทางกายที่กลางดั้งจมูก เมื่อไรก็ตามถ้าทำสมาธิไปแล้วเริ่มชาที่หน้า แล้วกายหายไป เหลือเพียงความรู้สึกอันเดียว คือความรับรู้ทางกายได้ ณ จุดนั้น มันวิ่งวนตรงใบหน้าขึ้นไปที่กลางกะโหลก กลับมาที่เปลือกตา เต้นถี่ๆ ความรู้นี้ไปปรากฏ ณ จุดใด การรับรู้ผ่านทางกายจะทราบได้ ณ จุดนั้นที่เดียว

 

หลังจากที่ผมกำหนดดูว่านี่อะไร ไล่ต้อนไปแล้ว เข้าไปเพ่งมัน มันก็จะย้อนมาที่กลางดั้งจมูก เหมือนปลาติดเบ็ดแล้วตึงไปหมดที่ศีรษะ ผมพยายามกำหนดดูสภาวะ โดยรอบมันเป็นแสงสว่างไม่โตมาก ตรงกลางเป็นจุดสีดำ บางทีเหมือนสายฟ้าแลบออกมาจากตรงจุดสีดำนั้น ผมพยายามไล่ต้อนมาแล้วเข้าไปดู ๓ ถึง ๔ ครั้ง จึงเกิดความวิตกขึ้นว่าควรจะเข้าไปดูหรือไม่ควร ผมจึงตัดสินใจเข้ามาได้เพราะกำหนดพุทโธ ก็เลยกลับไปกำหนดพุทโธใหม่ ทำอย่างนี้จิตก็ถอนออกมา กายก็กลับมารับทราบเหมือนเดิม ผมวิตกแล้วกลับมาพุทโธ แล้วหยุดออกมา เป็นอยู่ ๓ รอบ แล้วก็งงๆ ทุกครั้งครับ กามราคะผมไม่ขาดเลยนะครับ

 

คำถามครับ

 

๑. ควรจะทำอย่างไรต่อไป ณ จุดที่เข้าไปนั้นจะพิจารณากายก็ไม่ได้เพราะไม่เห็นกาย เพราะมีแต่ความรู้อันนั้น

 

๒. ผมอุปาทานไปเองหรือไม่ครับ เพราะตอนแรกผมนึกถึงมันเป็นเพียงแค่เลือดมันวิ่ง หรือกล้ามเนื้อมันตึงเพื่อตัดความติดใจ แต่ตอนนี้มันวิ่งพล่านเหมือนปลาว่ายอยู่ในสระน้ำเลยครับ กราบขอบพระคุณ

 

ตอบ : นี่การภาวนาไง การภาวนา การกำหนดพุทโธ เขาบอกว่า กำหนดพุทโธนี่ทำสมถะ พอทำสมถะแล้วเดี๋ยวมันจะเกิดนิมิต เดี๋ยวมันจะเกิดความรับรู้ มันจะเกิดอุปาทาน มันจะหลงไป มันจะปฏิบัติไม่ได้ ต้องใช้ปัญญา การใช้ปัญญาเขาจะรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อมีปัญญารู้เท่าทัน อย่างนี้เขาบอกว่าเป็นการปฏิบัติ

 

แต่ถ้ากำหนดพุทโธเป็นสมถะแล้วมันจะเกิดอย่างนี้ มันจะเกิดนิมิต เกิดความรู้ความเห็น แล้วมันจะผิดพลาดไป แล้วปฏิบัติแล้วจะไม่ได้ผล ปฏิบัติไปแล้วก็มีแต่ความหลงใหลกันไป ปฏิบัติไปแล้วก็มีแต่ความได้ปลื้ม ปฏิบัติไปแล้วก็มีแต่ครูบาอาจารย์ยกย่องกันไป มันจะไม่มีผลตามความเป็นจริงไง

 

แต่ถ้าความเป็นจริงนะ การปฏิบัติ เราเข้าไปเผชิญความเป็นจริง จิตของคน เราเปรียบเหมือนลายนิ้วมือของคนมันไม่เหมือนกัน จิตของคนก็ไม่เหมือนกัน พันธุกรรมของจิตก็ไม่เหมือนกัน การสร้างบุญวาสนามาก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาจิตสงบเข้าไปมันก็แตกต่างหลากหลาย

 

ฉะนั้น ในอจินไตย ๔ พุทธวิสัย ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว้างขวางมาก เป็นอจินไตยที่เราจะคาดคิดไม่ได้เลย นี่เรื่องของกรรม กรรมมันซับซ้อนมาก เป็นเรื่องอจินไตยเลย แล้วเรื่องของโลก ความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอจินไตย เพราะเป็นอจินไตยคือมันจะซ้ำซากอยู่อย่างนี้

 

แล้วเรื่องของฌาน เรื่องของฌานคือความสงบ มันเป็นอจินไตยเชียวนะ ความอจินไตยคือมันหลากหลายไง ความรู้สึกของคน การปฏิบัติของคนมันแตกต่างหลากหลายกันไป เพราะว่าจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน การสร้างบุญญาธิการมาแต่ละคนมันแตกต่างกัน ทีนี้แตกต่างกัน แต่มันมีจุดอันเดียวที่เหมือนกันคือเวลามันสงบ

 

เวลาจิตมันสงบขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ใครจะปฏิบัติไปทางไหนก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันสงบ มันสงบเหมือนกัน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าไม่มีความสงบระงับขึ้นมา เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร

 

การเกิดปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ครูบาอาจารย์เราปรารถนาอย่างนั้น คำว่า “ครูบาอาจารย์เรา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาอย่างนั้น แต่ปรารถนาอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วเราศึกษากันมา ดูสิ แนวทางปฏิบัติมันมีเป็นกลุ่มเป็นก้อน มันหลากหลายไปหมดเลย ครูบาอาจารย์องค์ใดปฏิบัติอย่างไร ท่านพอใจอย่างไรท่านก็สอนแบบนั้น เราใช้คำว่า “พอใจ” ไม่ใช่ความจริง

 

แต่เวลาถ้าเป็นความจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านตามความเป็นจริงของท่าน ตามความเป็นจริงตรงไหน ตามความเป็นจริงที่ว่าท่านปฏิบัติของท่านสมความปรารถนาของท่านแล้ว ท่านมาวางหลักข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาแล้วให้ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติตาม ลูกศิษย์ลูกหา เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติกันไป มันหลอกกันไม่ได้ไง เช่น ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็น แล้วเราก็พยายามวางหลักเกณฑ์ของเราแล้วให้คนอื่นปฏิบัติตาม แล้วพอปฏิบัติไปแล้ว เวลาความเห็นภายในเวลามาพูดมันเหมือนกันไหมล่ะ ถ้าพูดไม่เหมือนกันแสดงว่ามันขัดแย้งกัน แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าความเห็นภายในมันเหมือนกัน มันไปทางเดียวกัน ธรรมะทางเดียวกัน ถ้าทางเดียวกันมันก็ถูกต้อง

 

ฉะนั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านสมความปรารถนาของท่านแล้ว ท่านถึงได้วางข้อวัตรไว้ เช่น กำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ อานาปานสติ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้ว ถ้าออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญามันก้าวเดินไป ถ้ามันก้าวเดินไป มันสำรอกมันคายกิเลสออกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

 

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน เวลาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เวลาท่านมีปัญหาในใจของท่าน หลวงปู่มั่นท่านแก้ให้ๆ พอแก้ให้ขึ้นมา พอมันมีปัญญาขึ้นมา มันเหมือนกัน มันทันกันไง เราจะบอกว่ามันทันกัน

 

ที่ว่า ตามความชอบของตน เป็นกลุ่มเป็นก้อนตามความชอบ ใครมีความชอบใจอย่างนั้นก็เสนอแนวทางการปฏิบัติอย่างนั้น แล้วเราปฏิบัติตามกลุ่มตามก้อนอย่างนั้นเราก็เชื่อตามกันไป แต่ความจริงจากข้างใน ความจริงจากข้างในมันอันเดียวกันหรือเปล่า

 

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นครูบาอาจารย์เรามันเป็นอันเดียวกัน อันเดียวกันหมายความว่า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติไปแล้ว แล้วท่านสั่งสอนครูบาอาจารย์ของเรา อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น ท่านแก้กันภายใน ท่านแก้กัน คนที่เห็นตามความเป็นจริงจากภายใน แล้วคนที่จะแก้ ถ้าไม่รู้ความจริงมันจะแก้ได้ไหม

 

เวลาผิดพลาดไป เวลาหลวงตาท่านไปถามหลวงปู่มั่น “บอกให้ใช้ปัญญาๆ ตอนนี้ก็ใช้ปัญญาแล้วนะ ไม่ได้หลับได้นอนเลย ตอนนี้มันนอนไม่ได้เลย เวลาไม่ออกก็ว่าติดสมาธิ พอออกจากสมาธิใช้ปัญญาแล้ว ตอนนี้มันนอนไม่ได้เลย”

 

ถ้าคนที่ไม่มีภูมิ ไม่มีความรู้จากภายในก็งงๆ เหมือนกัน บอกเขาไปแล้วเขาเกิดประสบการณ์ของจิต จิตมันเป็นไป เราจะแก้อย่างไร

 

ก็บอกว่า “อันนั้นสมบัติบ้า สมบัติบ้า ต้องกลับมาทำความสงบของใจ”

 

“สมบัติบ้าได้อย่างไร ก็ติดสมาธิอยู่นี่ ก็ว่าอันนั้นมันไม่ใช้ปัญญา นี่มันใช้ปัญญา สมบัติบ้าได้อย่างไร ถ้าไม่ใช้ปัญญามันจะชำระกิเลสได้อย่างไร”

 

ท่านบอกว่า “ถ้ามันจะใช้ปัญญามันก็ต้องมีสมาธิ มันต้องมีกำลังของมัน กำลังของมันมี มันมีหลักใจ หลักใจมันพิจารณาไป เพราะสิ่งที่เป็นธรรมะมันจะเข้ามาชำระล้างไอ้หลักใจนี่แหละให้มันดีขึ้น” นี่สิ่งที่มันเป็นความจริงมันมีอย่างนี้ไง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าปฏิบัติไปแล้วมันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นต่างๆ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว ท่านก็วางธรรมวินัยนี้ไว้ ทีนี้เราไปศึกษา เราไม่มีครูบาอาจารย์

 

ครูบาอาจารย์คือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านคอยชี้นำ คอยประคับประคอง คอยกระตุก คอยบังคับให้เราเข้าทาง ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ชักนำตรงนี้ เราก็จะเข้าสู่สัจจะ

 

แต่ถ้าเราศึกษาของเราเอง มันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เราเชื่อมั่นของเราอย่างนั้น พอเราไปแล้วจิตมันเป็นอย่างนั้นก็เลยบอกว่า ถ้าทำสมถะไปแล้วมันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดความหลงใหล

 

กรรมฐานเราก็ต้องให้ปฏิบัติ ให้ทำความจริงขึ้นไป ใครเกิดนิมิตก็แก้กันตามนิมิตนั้น ถ้าใครไม่เกิด สงบไปโดยระงับไป อันนั้นก็วาสนาของเขา มันก็เป็นความดีของเขา อันนี้พูดถึงตามความเป็นจริงนะ ทีนี้ความจริงมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันต้องจำเพาะตน

 

จิตนี้มันจำเพาะดวงใครดวงมันนะ จิตของใคร ดวงใจของใคร มันก็เฉพาะคนคนนั้น เวลาปฏิบัติไป ใครจะมีอุปสรรคสิ่งใดก็เฉพาะของเขา แม้แต่ปฏิบัติมาร่วมสำนักครูบาอาจารย์เดียวกันมันก็ยังแตกต่างหลากหลายกันไป ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ต้องเฉพาะตนๆ ให้แก้เฉพาะคนคนนั้น ฉะนั้น สิ่งอย่างนี้มันถึงแนวทางปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้ว

 

ย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามว่า เวลามันกำหนดแล้วมันมีความรู้ มันเป็นจุดของความรู้ ความรู้มันไปรู้ที่กาย มันไปรู้ที่กลางดั้งจมูก แล้วมันก็วิ่งไปวนไปเวียนมา

 

กำหนดพุทโธ เขาบอกว่าเขาได้สติขึ้นมา สิ่งที่เขาทำเขาบอกมันได้เพราะพุทโธ ได้เพราะพุทโธ เขาก็กลับมาพุทโธ มันก็ถอนหมดเลย คำว่า “ถอนหมดเลย” แสดงว่าลงไปมีสติไหม ถ้ามีสตินะ สิ่งที่รู้ที่เห็น เราก็รู้ก็เห็น

 

หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก เวลาเห็น เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นจริงไม่จริง ไม่จริง

 

ความเห็นจริงไหม จริง รู้เห็นจริงๆ นี่แหละ แต่มันไม่จริง นี่ก็เหมือนกัน พอจิตถ้าโดยปกติมันก็คิด มันก็จินตนาการของมันไป ถ้าเราพุทโธๆ จิตมันปล่อยวางเข้ามา ถ้ามันเป็นจริตนิสัยมันก็ไปรู้นั่นรู้นี่ แล้วรู้ไปทำไม ทำไมไม่รู้พุทโธล่ะ

 

รู้พุทโธกับไอ้รู้ที่วิ่งไปวิ่งมาก็อันเดียวกันนั่นน่ะ เราปล่อยพุทโธแล้วก็ไปอยู่ตรงนั้น มันวิ่งไปวิ่งมานั่นน่ะ วิ่งไปวิ่งมายังดี มันไม่ตกภวังค์ ไม่หลับไป ถ้าวิ่งไปวิ่งมา วิ่งจนหายไปเลย แล้วก็วูบหายไปเลย แล้วก็หลับไปเลย หลับไปทีหนึ่ง ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง

 

อย่างนี้จะบอกว่า ถ้ามันกำหนดพุทโธแล้วจะมีโทษอย่างนี้หรือ

 

ไม่ใช่ คนที่พุทโธๆ แล้วสงบไปเฉยๆ ก็มี คนที่พุทโธๆ แล้วดิ่งลงลึกๆ ก็มี พุทโธแล้วเอาไม่อยู่ เขาต้องใช้ปัญญาก็มี แล้วบางครั้งการพุทโธ เพราะกิเลสถ้ามันรู้ทันแล้วมันก็พลิกแพลงของมันไป

 

ฉะนั้น ถ้าเราพุทโธๆ จิตพุทโธๆ พุทโธนี่พุทธานุสติ จิตมันเกาะอยู่จนมันมีกำลังของมัน แล้วมันขาดสติมันก็ไปรู้นั่นน่ะ รู้วิ่งไปวิ่งมา ไปรู้ทำไม รู้วิ่งไปวิ่งมามันจะมีประโยชน์อะไร เราก็กลับมาที่พุทโธมันก็จบ

 

แต่นี่บอกว่า วิ่งไปที่พุทโธ มันวิ่งไปพุทโธ มันเหมือนกับว่า พอมันวิ่งไปที่ความรู้ ความรู้ไปทั่ว ร่างกายมันจะตึง

 

แมงป่องมันกัดมันก็ตึงนะ ตะขาบกัดมันก็ตึง เวลาสัตว์มันต่อยมันก็ตึง ผึ้งต่อยมันก็ตึง แล้วเวลาพุทโธๆ มันตึงแล้วมันทำไมล่ะ

 

เราไปสนใจเอง เราไปสนใจใคร่รู้ อยากรู้นั่นรู้นี่ เขาให้รู้ที่พุทโธเฉยๆ เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาคนที่ปฏิบัติยังไม่เป็น ท่านบอกว่า ให้กำหนดพุทโธนะ ให้มีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกธาตุมันจะแตกสลายไปก็ช่างมัน ให้เราอยู่กับพุทโธ

 

ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ พุทโธไว้นะ แต่ความคิดมันคอยระวังเลยนะ อู๋ย! จะรู้เรื่องนั้น จะรู้เรื่องนี้ ไอ้พุทโธก็เลยเป็นแค่เสี้ยวเดียว ไปรู้เรื่องอื่นหมดเลย มันไม่มีประโยชน์

 

ถ้าพุทโธชัดๆ ถ้าพุทโธชัดๆ มันก็รวมไง เลเซอร์มันไม่กระจาย มันเฉพาะของมัน เฉพาะของมัน มันก็เป็น เขาเรียกเอกภาพ พอจิตพุทโธๆ มันอยู่กับพุทโธ กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ เพราะพุทโธนี่พุทธานุสติ ระลึกถึงพุทโธ พุทธะ พุทโธๆ มันไม่เป็นอย่างอื่น

 

ถ้าจิตมันเกาะไปเรื่อยๆ ถ้ามันละเอียดขึ้นมา ถ้ากิเลสมันมีนะพุทโธก็ชัดเจน แต่มันไม่ลง ก็พุทโธกันอยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะจิตมันกระด้าง แต่ถ้าเรามีสตินะ พุทโธๆ พุทโธไปเรื่อยๆ มันจะกระด้างก็กล่อมมันไปเรื่อยๆ พุทโธๆ

 

แล้วถ้ามันเห็นโทษของมันนะ พุทโธ พุทธานุสติ แล้วไอ้ความกระด้างของจิตมันอ่อนลง อ่อนลง จิตมันก็ละเอียดเข้ามา คำพุทโธก็จะละเอียดเข้ามาๆ พุทโธ คำว่า “ละเอียด” คือมันชัดเจน แต่มันไม่กระด้าง พอมันไม่กระด้าง ความต่อต้านของใจมันก็ไม่มี

 

ความต่อต้านของใจ เพราะมันพุทโธแล้วมันกระด้าง พอกระด้าง มันขัดขืน พอมันขัดขืน พุทโธก็ยาก พุทโธก็ไม่ได้ พุทโธก็วุ่นวาย แต่เพราะเราพุทโธกล่อมไปเรื่อยๆ เพราะมันอยู่ที่นิสัยของจิต ถ้าจิตบางดวงนะ พุทโธแล้วมันชอบ

 

อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเยี่ยมเพื่อน ตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่งตรัสรู้ พอตรัสรู้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเยี่ยมเพื่อน เห็นเพื่อนทำอาหารกันมากมายมหาศาล ถามเพื่อนว่า “นี่มีงานอะไรกัน มีงานอะไรกัน”

 

“อู๋ย! พรุ่งนี้นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฉัน ไม่รู้อีกหรือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว”

 

ได้ยินคำว่า “พุทธะ” อนาถบิณฑิกเศรษฐีนอนไม่ได้เลยคืนนั้นน่ะ ใจมันพองหมด ใจมันฟูหมดเลย อยากพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เดินจงกรมทั้งคืนเลย ก่อนรุ่งอรุณไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาฉัน ได้ยินว่าพุทโธไม่ได้เลย คนมีอำนาจวาสนาขนาดนั้นนะ ไอ้ของเรา พุทโธ พุทธะ ก็บอกว่ามันเป็นสมถะ

 

ถ้าเราเคารพบูชาของเรา เราพุทโธ ถ้าจิตของคนมันกระด้าง มันต่อต้าน อันนั้นคือวาสนาของเรา เราสร้างมาแค่นี้ แต่จิตของคนมันนิ่มนวล มันฝักใฝ่ มันอยากรู้ มันอยากมีที่พึ่ง มันแสวงหา พอคำว่า “พุทโธ” มันพอใจ มันพอใจ มันอยากทำ นี่เราทำไป นี่เราพูดถึงอำนาจวาสนาของใจนะ

 

พุทโธเป็นพุทโธ เป็นคำบริกรรมเฉยๆ พุทธานุสติ แต่จิตใจของคนที่หยาบ ที่กระด้าง ที่ปานกลาง ที่มันละเอียดลึกซึ้ง มันยังมีเป็นอีกชั้นหนึ่ง แล้วมากำหนดพุทโธเหมือนกัน มันจะรู้เหมือนกันได้ไหม

 

กำหนดพุทโธด้วยกัน บางคนพุทโธแล้วดี บางคนพุทโธแล้วมันต่อต้าน ต่อต้านมันก็ไปธัมโม ธัมโมไม่ได้ก็ไปสังโฆ สังโฆไม่ได้ก็ไปมรณานุสติ ไประลึกถึงความตาย นี่เขามีอุบายไง เขามีอุบายเพื่อว่าไอ้ที่ต่อต้านในใจ เรามีอุบายเข้าไปเพื่อรู้ทันมัน ถ้ารู้ทันมัน มันก็จะละเอียดเข้ามา มันก็ปล่อย มันละเอียดเข้ามา

 

ทีนี้จะไปรู้ไปเห็นสิ่งใด อันนี้มันรู้เห็น มันเป็นกิเลสรู้เห็น ความรู้เห็น จะเกิดสิ่งใด รู้จริงไหม จริง เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่พุทโธ มันก็ระลึกเรื่องอื่น คิดเรื่องอื่น มีความเห็นเรื่องอื่น เพราะมันเป็นพลังงาน มันเป็นจริตนิสัยที่มันชอบใฝ่คิด ธาตุ ธรรมชาติที่มันจะรู้ ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น ธรรมชาติมันรับรู้ไปเรื่อย มันก็แปะไปเรื่อย ถ้ามีตัณหามันก็เกาะเกี่ยวไปเรื่อย แต่นี้ไปพุทโธแล้วมันก็ยังดีดดิ้นของมัน เพราะมันไม่มีวาสนา ไม่มีวาสนา เห็นไหม

 

เขาบอกว่าเขาดูสภาวะเวลามันวิ่งไปวิ่งมา มันเป็นกะโหลกศีรษะอะไรไป

 

ไปอยากรู้มัน มันก็หลอกเอาน่ะสิ เออ! มันไปอยู่ที่กะโหลกศีรษะมันจะเป็นอย่างไรเนาะ ในกะโหลกศีรษะมันมีสมองนะ มันมีเส้นเลือดด้วย มันมีเลือดไปหล่อเลี้ยงด้วย มันมีออกซิเจนด้วย นี่มันไปเลย

 

ถ้าเราพุทโธ มันจะไปไหนไม่เกี่ยว ยังไม่ถึงเวลาจะให้มันออกรู้ เราก็ดึงของเราไว้ มันจะเต้น มันจะถี่อย่างไร พุทโธไว้ พอพุทโธ จิตมันกลับมาที่พุทโธ ไอ้ที่มันเต้น ไอ้ที่มันถี่ ไอ้ที่มันวิ่งไปรอบสมอง มันไปอยู่ที่พุทโธหมด มันไปอยู่ที่ธาตุรู้หมด มันไปอยู่ที่ตัวมันเองหมด มันจะเป็นสมาธิ ไอ้นี่มันส่งไปรับรู้ เวลาจะออกภาวนา ออกใช้ปัญญามันคนละเรื่องกันนี้นะ มันคนละเรื่องกับที่เป็นนี่เลย

 

ฉะนั้น พอเขาบอกเขาคิดได้ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเพราะเขากำหนดพุทโธ มันตัดสินใจกลับมาที่พุทโธ มันเลยถอนออกมา

 

มันไม่ได้ถอนหรอก เราคิดเอาเองว่าสิ่งที่เรารู้เราเห็น เหมือนฝัน เวลาเราฝันไป อู้ฮู! เราฝัน จินตนาการไปทั่วเลย พอตื่นนอน โอ้! เราฝันเนาะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันไป เราจะบอกว่า ไอ้ที่ว่ามันถอนขึ้นมา มันไม่ได้ถอนหรอก มันไม่มีอะไรหรอก เราเคลิบเคลิ้มไปเอง พอเราพุทโธชัดๆ มันก็กลับมารับรู้ รับรู้แล้วมันก็เป็นปกติ เราก็ดูของเราอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นสมาธิมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสมาธินะ จิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้วเราจะใช้ปัญญาอย่างไร

 

ข้อที่ ๑ “ควรทำอย่างไรต่อ ณ จุดที่เข้าไปนั้นจะพิจารณากายก็ไม่ได้เพราะไม่เห็นกาย เพราะมีแต่ความรู้อันนั้น”

 

นี่เพราะคำถาม เราก็สงสัยใช่ไหม บอกว่า การวิปัสสนา คนปฏิบัติแล้วอยากจะก้าวหน้า พออยากจะก้าวหน้า การปฏิบัติ แล้วก็ต้องใช้ปัญญา การใช้ปัญญา เขาบอกว่าถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้เป็นโลกียปัญญา เราก็ต้องทำความสงบของเราก่อน พอจิตมันอุปาทาน มันไปรู้ไปเห็นอย่างนั้นก็ว่าอันนั้นเป็นสมาธิ อันนั้นมีปัญญาแล้ว แล้วเราจะพิจารณากาย แล้วเวลามันไปเห็นเป็นจุดเป็นต่อม มันไปเห็นมันวิ่งเต้นนั้น มันก็ไม่เป็นกายเสียอีก อ้าว! แล้วพิจารณากาย พิจารณากายไม่ได้

 

“ผมควรทำอย่างไรต่อครับ เพราะผมพิจารณากายไม่ได้ เพราะผมไม่เห็นกาย”

 

ก็ไม่เห็นน่ะสิ เพราะมันยังไม่เห็น แต่ถ้าตรงนี้นะ ถ้าอยากให้เห็นนะ จินตนาการก็เห็น เห็นแบบจินตนาการ เห็นแบบจินตนาการมันก็เห็นแบบโลกไง เห็นจินตนาการมันก็เป็นแบบนั้น เรานึกภาพกายมันก็เห็นกาย แต่จิตไม่สงบนึกภาพกายแล้วมันก็เรื่องจินตนาการเฉยๆ

 

แต่ถ้าเราทำพุทโธต่อเนื่องให้จิตมันสงบก่อน ถ้าจิตสงบก่อนแล้วรำพึงไป ก็คือนึกนั่นแหละ นึกไปที่กาย ถ้าจิตสงบ นึกไปที่กาย พอเห็นกาย มันขนพองสยองเกล้า คนที่เห็นกายตามความเป็นจริงนะ มันสะเทือนหัวใจมาก เหมือนคนที่ซ่อนสิ่งใดไว้ในจิตใต้สำนึก แล้วพอไปรู้ถึงความเลวทรามของเรานะ ความเลวทรามของเราคือทิฏฐิมานะที่มันไปยึดมั่นถือมั่น พอเราไปรู้ความเลวทรามในจิตใต้สำนึกนะ โอ้โฮ! มันสะอิดสะเอียน ถ้าเห็นกายเห็นอย่างนั้น ถ้าคนเห็นกายนะ

 

แต่ไอ้ที่เราเห็นๆ กันนี่มันเห็นโดยที่ใครๆ ก็เห็นได้ ใครๆ ก็รู้ได้ นี่เขาเรียกโลก มันเห็นแบบพื้นฐานของโลก มันไม่ใช่เห็นโดยสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นโดยสติปัฏฐาน ๔ จิตมันสงบก่อน เห็นไหม ที่บอกว่า ย้อนกลับไปที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น

 

ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบแล้ว จิตมันสงบแล้ว เวลามันรำพึงขึ้นมา พอไปเห็นกายมันเห็นโดยจิตใต้สำนึก เห็นโดยตัวจิต เห็นโดยจิต ไม่ใช่เห็นโดยสมอง เห็นโดยจินตนาการ ถ้าเห็นอย่างนั้นมันถึงเป็นการพิจารณากาย

 

แล้วการพิจารณากาย ถ้าเราปฏิบัตินะ ผู้ถามเวลาปฏิบัติ กลับไปพุทโธให้ชัดๆ แล้วถ้ามันไม่เห็นกายนะ นั่งพุทโธต่อเนื่องไป ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเกิดอาการความรู้สึก นี่คือเวทนาที่มันเกิด จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ไม่ต้องว่าเราจะต้องเห็นกาย บังคับจะให้เห็นกาย

 

เวลาเราบังคับว่าจะให้เห็นกาย เหมือนไปตลาดไปซื้อเนื้อ ไปซื้อเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์เขาไม่มี เขามีแต่ปลา บอกไม่เอา จะเอาเนื้อสัตว์ เราไปตลาด ถ้ามีเนื้อสัตว์ เราก็ซื้อเนื้อสัตว์ วันนี้วันพระ เขาไม่ฆ่าเนื้อ เขามีอย่างอื่น เราก็ซื้ออย่างอื่น เราซื้ออย่างอื่นได้ เราพลิกแพลงจะซื้อสิ่งใดมาเป็นอาหารของเราได้

 

ในการที่จิตสงบแล้ว เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อจะใช้วิปัสสนาไป ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะเห็นกาย ถ้าการเห็นกายต้องจิตสงบก่อน ถ้าจิตสงบแล้วถึงเห็นกาย

 

ถ้าจิตยังไม่สงบ เราก็ทำความสงบของใจเพื่อเป็นการบำรุงรักษาจิตใจของเรา จิตใจของเรามันฟุ้งซ่าน มันมีแต่ความเดือดร้อน มีแต่ความเร่าร้อน ถ้าเราพุทโธๆ จิตมันปล่อย มันสงบระงับเข้ามามันก็เป็นความสุข เพราะมันปล่อยความเดือดร้อนเข้ามา ถ้าเราภาวนาอย่างนี้เราก็ภาวนาเพื่อบำรุงหัวใจของเรา

 

หัวใจของเรามันทุกข์มันยาก หัวใจของเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ พอมันสงบระงับเข้ามา มันจะมีสติปัญญาเลยนะว่า ชีวิตเราก็เป็นแค่นี้ แล้วเราจะตื่นเต้นอะไรกับโลก เราจะฟุ้งซ่านไปทำไม เราจะไปแบกรับทำไม พอสงบแล้วมีสติปัญญา มีสติปัญญา ชีวิตนี้มันก็ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ แล้ว ชีวิตนี้มันก็มั่นคงแล้ว แล้วถ้ามั่นคง ชีวิตนี้ชีวิตในปัจจุบันนี้ไง

 

แล้วถ้าทำความสงบมากขึ้น เพราะจิตมันเริ่มละเอียดอ่อน จิตมันไม่กระด้าง จิตมันไม่ต่อต้านนัก เราก็ทำพุทโธของเราต่อเนื่องไปๆ พอจิตสงบระงับมากขึ้นไปแล้วค่อยรำพึงไปเห็นกาย นี่มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นมา

 

ครูบาอาจารย์เราที่ปฏิบัติมาแล้วท่านฉลาด ท่านวางข้อวัตรปฏิบัติของเรา ท่านผ่านทุกข์ยากมาก่อน ท่านจะให้พวกเราปฏิบัติสะดวกสบายขึ้นมา อันนี้เราทำต่อเนื่องขึ้นไป ฉะนั้น สิ่งที่ยังงงๆ ก็งงๆ คนปฏิบัติใหม่เป็นแบบนี้

 

เราปกป้องนะ ปกป้องคนที่ปฏิบัติ เวลาไปเห็นนิมิต เวลาพุทโธแล้วเขาบอกว่า มันเป็นสมถะ มันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดความหลงใหล

 

เราปกป้องตรงนี้มาก เราปกป้องให้คนที่ปฏิบัติให้จิตทุกดวงเข้าไปสู่ความเป็นจริงของจิตดวงนั้น จิตของมนุษย์เรา จิตทุกดวงมันมีความทุกข์ความยากทุกดวงใจ ให้ดวงใจดวงนั้นได้ประพฤติปฏิบัติให้เข้าไปสู่จิตของตัว ฉะนั้น เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นๆ...เราปกป้องตรงนี้

 

แต่เวลาเข้าไปเห็นอย่างนี้ปั๊บ เห็นว่าเห็นนู้นแล้วมันต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้จินตนาการหมดเลย ปล่อยให้หมด เราพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเพื่อความสงบของใจ ไม่ใช่รู้ว่าใจมันจะวิ่งไปไหน มันจะไปตึงที่ไหน มันจะไปหย่อนที่ไหน ไร้สาระ มันจะตึงมันจะหย่อนขนาดไหน ทางโลกเขาก็เป็นกัน ทางอื่นเขาก็เป็นกัน โลกเขาเป็นกันอยู่แล้ว คนเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างมันบวม บวมน้ำ บวมอะไรร้อยแปด ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดเลย

 

แต่เพราะเราเป็นนักภาวนาใช่ไหม เวลาภาวนาหน่อยขึ้นไป ไปรู้เข้า มันแปลกประหลาด เพราะเราภาวนาไง เราภาวนาแล้วเราเก่ง เรารู้ว่ามันตึง เรารู้ว่าเราเก่งแล้วก็เลยหลงไง ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เราภาวนาเพื่อจิตสงบ ภาวนาเพื่อความสงบระงับ แล้วถ้ามันจะรู้จะเห็น เห็นสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

นี่เขาบอกว่า ทำไมมันถึงไม่เห็นกาย

 

ไม่เห็นกายเพราะว่าจิตเราสงบกำลังไม่พอ กำลังเราไม่ดีพอ แล้วถ้ากำลังไม่ดีพอ พิจารณากายได้ไหม การพิจารณากาย ถ้ากำลังเราไม่ดีพอ เราพิจารณากายโดยมรณานุสติ การพิจารณากายของเราโดยสามัญสำนึกว่าร่างกายนี้มันต้องผุพังเป็นธรรมดาต่างๆ พิจารณาอย่างนี้มันก็ไม่ผิด พิจารณาอย่างนี้เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาอย่างนี้มันเป็นสมถะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นกาย มันเห็นคนละเรื่องกัน อย่างเช่นเราพิจารณาร่างกายว่ามันชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดา เราพิจารณาอย่างนี้มรณานุสติ พิจารณาให้มันสงบระงับ แต่พอจิตสงบแล้วเราเห็นกายนะ เดี๋ยวจะรู้ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างสมถะกับวิปัสสนามันแตกต่างกันอย่างไร

 

การเห็นกายเหมือนกัน แล้วเห็นไม่เหมือนกันอย่างไร การเห็นกายเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะคุณภาพของจิตมันไม่เหมือนกัน คุณภาพของจิตมันละเอียดกว่า ไม่ใช่คุณภาพของจิตที่เป็นสามัญสำนึกที่เป็นโลกมนุษย์นี้

 

จิตมันสงบ มันมีสิ พอปฏิบัติไปแล้วมันจะรู้ว่าโลกกับธรรมมันแตกต่างกันอย่างไร สมาธิกับไม่สมาธิมันแตกต่างกันอย่างไร มันแตกต่างสิ ไม่แตกต่างมันจะเป็นอย่างนั้นหรือ แต่ถ้าคนเป็นจะรู้ นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัตินะ

 

“๒. ผมอุปาทานไปเองหรือไม่ครับ เพราะตอนแรกผมนึกถึงมันเป็นเพียงแค่เลือดวิ่งไปตามกล้ามเนื้อมันตึงเพื่อตัดความติดใจ แต่ตอนนี้มันวิ่งพล่านไปเหมือนปลาอยู่ในสระเลย”

 

มันวิ่งพล่านไปเพราะความติดใจไง เห็นไหม เวลาเขาบอกว่า “ผมเป็นอุปาทานไปหรือเปล่า แล้วผมใช้ปัญญาแล้วผมคิด เราต้องตัด เพื่อตัดความติดใจในความรู้อย่างนั้น”

 

ความติดใจ เห็นไหม นี่ยังดี มีสติว่าความติดใจ ติดใจคือเราชอบอารมณ์นั้น ถ้าเราพอใจอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นจะอยู่กับเรา หลวงตาท่านสอนว่า อย่าเสียดายอารมณ์ อย่าเสียดายความพอใจ

 

อย่าเสียดายว่ามันวิ่งพล่าน อย่าเสียดายว่ามันวิ่งเหมือนปลาอยู่ในสระน้ำนี้เลย เหมือนจิตมันวิ่งอยู่นี่ไร้สาระ ไร้สาระ เราไม่ต้องการจิตวิ่ง เราต้องการจิตหนึ่ง เราต้องการจิตที่มันนิ่ง มันเป็นเอกัคคตารมณ์ มันตั้งมั่น เราต้องการความตั้งมั่น ความมั่นคงของจิต เราไม่ต้องการการไปรู้ ปลามันอยู่ในสระน้ำ เขายังไปเอาปลานั้นมาเป็นอาหาร ไอ้นี่จิตมันวิ่งเหมือนปลาเลย เราไม่ใช่ปลา เราก็จะให้เป็นเหมือนปลาเลย

 

เราเป็นคน เราเป็นคน เราเป็นนักปฏิบัติด้วย นี่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วย กำลังปฏิบัติพุทโธ กำลังจะปฏิบัติขึ้นมา แล้วบอกมันเหมือนปลาเลย ปฏิบัติแล้วจะไปเป็นปลา เราไม่เป็นปลาสิ เราตัดความติดใจ ความติดใจคือกิเลส ความติดใจคือโดยปกติคนภาวนาแล้ว ถ้าไม่มีมรรคมีผล ไม่มีสิ่งใดเลยก็ถวิลหา ปฏิบัติแล้วไม่ได้อะไรสิ่งใดเลย ทีนี้พอปฏิบัติไปแล้ว พอจิตมันสงบ จิตมันลง จิตมันละเอียดนิดหน่อย แล้วมันก็ไปรู้ จิตไปรู้นั่นรู้นี่ วิ่งไป

 

คนเราพอไม่มีเงินทองก็แสวงหา พอมีเงินมีทองเล็กน้อยก็ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักเก็บรักษา จิตเวลามันทุกข์มันยากก็วิ่งหามัน พอมาหัดภาวนาเข้าหน่อยจะเป็นปลา เป็นตึง เป็นจิตมันไปตั้งบนจมูก มีเล็กมีน้อย ทำไมมันฟุ้งซ่านขนาดนั้นน่ะ

 

พุทโธให้ชัดๆ ทำความสงบของใจอย่างเดียว บังคับเลย แล้วบังคับแล้ว ถ้าให้มันนิ่ง ให้มันมีกำลังพอ แล้วเดี๋ยวจะเห็นเองว่าเวลาออกพิจารณาแล้วมันจะมีคุณสมบัติอย่างใด

 

นี่พูดถึงว่า “มันเป็นอุปาทานหรือเปล่าครับ”

 

แน่นอน แน่นอน ตัวอุปาทาน ตัวอุปาทานคือมันชักลากใจไป แล้วเราก็วิ่งตามมันไป แล้วพอไปรู้อะไรปั๊บ พออุปาทานไปยึดมั่นก็ยิ่งชัดเจน แต่ถ้าเราปล่อย เรามีสตินะ เราพุทโธไว้ สิ่งที่เป็นอุปาทาน สิ่งที่อยากรู้มันวางแล้วนะ ไม่มีค่าเลย หลอกเราไม่ได้เลย

 

ไอ้นี่พอไปรู้ไปเห็นเข้า ยึดมั่นเลยว่า อู๋ย! เก่ง แน่นอน เมื่อก่อนไม่ได้ปฏิบัติเป็นคนเลวทรามมาก เดี๋ยวนี้ปฏิบัติเป็นเทวดาแล้ว เทวดานี่รู้ไปหมดเลย แล้วก็งงๆ งงๆ

 

ปฏิบัติมันก็เป็นแบบนี้ มันน่าเห็นใจ หลวงตาท่านพูดประจำ การปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น อีกคราวหนึ่งคือคราวที่สิ้นสุด คราวเริ่มต้นนี่แสนยาก ฉะนั้น นักปฏิบัติของเรามาปฏิบัติกันเยอะแยะมาก แล้วก็จางไป น้อยไป น้อยไป จางไป เพราะคราวเริ่มต้นมันล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะทำงานเป็น กว่าจะทำงานได้แสนยาก พอทำงานแล้วทำงานไม่ได้ดั่งใจก็เลิกล้มกันไป พอเลิกล้มกันไป แล้วบอกว่า อยากได้ธรรม อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะเอาทุกๆ อย่าง แต่พอเจออุปสรรคแล้วก็เลิกล้มกันไปๆ

 

คราวเริ่มต้นมันแสนยาก มันแสนยากเพราะมันเริ่มต้นนี่มันแสนยาก แต่ถ้าทำงานเป็นแล้ว ทำได้แล้วนะ มันจะก้าวเดินไปเรื่อยๆ นี่พูดถึงการปฏิบัตินะ

 

ถาม : เรื่อง “กราบหลวงพ่อ ขอเรียนถามข้อความสงสัย”

 

เมื่อนั่งสมาธิจนสงบเป็นสมาธิ มีเวทนาจิต ผู้รู้ก็รู้ พิจารณาดูไป พอเวทนากายมาอย่างรุนแรงก็พิจารณาดูไป เผชิญกับของจริงไป แต่ที่มาแปลกคือขณะเวทนากายรุนแรงสุดๆ มันจะสติเข้มมาก พบว่ามีเหมือนจิตอีกดวงซ้อนอยู่หลังผู้รู้ มันสงบไม่แปรเปลี่ยน นิ่มนวล สบาย สังเกตหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ผู้รู้ไม่ได้ไปไหน ก็รู้ตลอดเวลา รู้จนเวทนากายดับ กลับมาปกติ บางครั้งก็ไปเจอมัน ต้องมีสติดีๆ จึงจะจับได้ เรียนถามอาจารย์ มันแยกได้อย่างไร มันคืออะไร หรือจิตมันเร็วจนมันก็คือเวทนาจิตนั่นเอง ขอบพระคุณ

 

ตอบ : ฉะนั้น เวลาภาวนา ภาวนาไปอย่างนี้ ถ้าภาวนา ถ้าจิตมันสงบนะ เวลาภาวนาไปเป็นสมาธิขึ้นมา เวทนาจิตที่รู้ ผู้รู้พิจารณาดูไปเรื่อยๆ ถ้าไปเรื่อยๆ พอเวทนากายมันดับ ถ้าเราต่อสู้กับเวทนา ถ้าพูดถึงว่าเราทำสมาธิแล้วเรากำหนดดู เป็นสมาธิ เราดูเวทนาไป ถ้าดูเวทนาไป ถ้าจับเวทนาได้ก็พิจารณาเวทนาของเราไป ถ้าพิจารณาไปมันรุนแรงมาก ถ้าพิจารณามันรุนแรง แล้วรุนแรง เวลามันมากขึ้น ความเจ็บปวดมันมากขึ้น ถ้าสติไม่พอนะ คนจิตใจที่ไม่เข้มแข็งจะท้อถอยเลย จะลุกจะหนีมัน

 

“เผชิญกับความจริงไปเรื่อย แต่ก็แปลก ขณะที่เวทนากายมันรุนแรงสุดๆ มันจะมีสติเข้ม”

 

คำว่า “สติเข้ม” มันอยู่ที่จริตไง อยู่ที่วาสนาของคน จริตของคน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง จิตใจเข้มแข็ง เวทนามันจะรุนแรงขนาดไหน ถ้าเรามีสติมีปัญญาต่อสู้กับมันไป ถึงที่สุดเวทนานี้เป็นนามธรรม คำว่า “นามธรรม” คือว่ามันไม่ใช่วัตถุ มันเกิดขึ้นจากจิตที่ไปยึดมัน จากจิตที่ไปยอมรับมัน ถ้ามันพิจารณาของมันไปถึงที่สุด เวทนามันรุนแรงขนาดไหน มันมีสติมันเข้ม แล้วเวทนา ถ้าสติมันพอ กำลังมันพอ มันปล่อยได้ พอมันปล่อยได้ขึ้นมามันถึงแปลก แล้วมหัศจรรย์ สติเข้มแข็งมาก ถ้าเข้มแข็งมาก สิ่งนี้เราทำของเราไป

 

ฉะนั้น มันมีปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง ปัญหาว่า “พอมันมีสติ มันเหมือนจะมีจิตอีกดวงหนึ่งมาซ้อนอยู่หลังผู้รู้”

 

ถ้ามีจิตอีกดวงหนึ่งมาซ้อนอยู่หลังผู้รู้ เหมือนกับมีจิตซ้อนจิต เราเห็นภาพซ้อนกันอยู่ ถ้าเห็นภาพซ้อนกันอยู่ ถ้ามันเป็นจิต ถ้าพูดถึงมันเป็นจิต ถ้าเราพิจารณาไป เราพิจารณาเวทนาของเราไป ถ้ามันปล่อยไป มันมีแต่ผู้รู้ เพราะผู้รู้มันฉลาดแล้ว ผู้รู้มันก็ไม่เสวยเวทนา ผู้รู้มันก็ไม่เสวยคือมันไม่ไปยึด มันไม่ไปยึดมันก็ปล่อย ถ้ามันปล่อยขึ้นมาแล้ว

 

ทีนี้ปล่อย เห็นไหม ทำไมผู้รู้มันซ้อนกับผู้รู้ล่ะ มันเหมือนมีจิตอีกดวงมันซ้อนอยู่

 

ถ้ามันซ้อนอยู่ เห็นไหม ถ้าการภาวนาไปของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจิต ดูที่หลวงปู่ดูลย์ท่านพูด ดูจิต ดูจิตไปจนจิตเห็นอาการของจิต

 

ถ้าจิตมันปล่อย มันปล่อยเวทนามา พอมันปล่อยเวทนามา มันปล่อยมา จิตเห็นอาการของจิต คือจิตมันก็เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ แต่ถ้ามันเห็นจิตซ้อนอยู่ล่ะ เห็นไหม กายนอก กายใน กายในกาย ถ้าเราซ้อนอยู่ เราก็ต้องเคลียร์ตรงนี้ ถ้ามันซ้อนอยู่

 

ถ้ามันซ้อนอยู่ แต่เขาบอกว่า “มันซ้อนอยู่นี่มันแปลก มันนิ่มนวล เพราะมันปล่อยมา มันสงบ มันแปรปรวน มันนิ่มนวล มันสบาย สังเกตแล้วหลายหน แต่ไม่รู้ไปไหน ก็รู้ตลอดจนเวทนากายมันดับ กลับมาเป็นปกติ บางครั้งก็เจอตอนเมื่อสติดีๆ”

 

ถ้าสติดี มันเป็นเหมือนกับกิเลสของใครกิเลสของมัน ถ้ากิเลสของเรานะ กิเลสของเรามันหยาบอย่างไร เราก็พิจารณา จับสิ่งนั้นแล้วพิจารณาของเราไป แต่ทีนี้มันพิจารณาเวทนาถึงดับได้ เวทนาดับได้ มันปล่อยได้ พอปล่อยได้ จิตมันสงบ พอมันปล่อยวางเข้ามาเห็นจิตซ้อนอยู่ ถ้าจิตซ้อนอยู่ จิตทั้งที่ภาพแรกและภาพที่มันซ้อนกัน ถ้าภาพแรก เราจับอันนั้น เราจับอันนั้นแล้วพิจารณา ถ้าพิจารณา นี่จิตนอก จิตใน

 

ถ้ามันซ้อนอยู่ เราจะให้อุบาย เรียกชื่อมันว่า จิตภายนอก จิตภายใน มันมีนอกกับมีใน เห็นไหม เวลาอารมณ์ความรู้สึก เราคิดถึงอารมณ์ความรู้สึก ผลกระทบจากภายนอก ภายนอกคือว่าสิ่งใดกระทบใจเรา สิ่งนั้นเราก็ขุ่นมัวใช่ไหม ถ้าสิ่งนั้นมันจบไปแล้ว พอสิ่งนั้นจบไปแล้ว เราคิดถึงสภาวะเดิมอีก สภาวะที่กระทบ มันเก็บข้อมูลของมันไว้ ถ้าจากภายนอก จากภายนอก ถ้าจิตมันเป็นภายนอก เราก็จับรูปภายนอก ถ้าเป็นจิตก็คือรูป ถ้าจิตนอก จิตนอกมันประกอบไปด้วยอะไร รูปนี่มันเป็นอย่างไร เพราะเราเห็นจิตมันซ้อนกันอยู่ ถ้าจิตซ้อนกันอยู่ มันต้องเป็นรูป ถ้ามันเป็นรูป พอเราจับมันต้องมีอารมณ์ความรู้สึก มันมีอารมณ์ความรู้สึก มันมีความรับรู้ ถ้ามีความรับรู้ ความรับรู้นี้ประกอบไปด้วยอะไร ถ้ามันจับได้ ถ้ามันจับไม่ได้ เราก็ทำความสงบของใจให้มากขึ้น

 

ถ้ามันจับได้ ถ้าเราเห็น เราก็จับได้ ถ้าเราไม่เห็นใช่ไหม มันไม่เห็น เขาบอกว่า “สิ่งที่มันจะเห็นมันต้องทำสมาธิดีๆ มันถึงจะจับได้ ถ้าสมาธิไม่ดีมันก็จับไม่ได้”

 

ถ้าสมาธิดีๆ เราทำสมาธิดีๆ แล้วเราจับสิ่งนี้ จับสิ่งนี้ เราแยกแยะ จิตนอก จิตใน ถ้าจิตภายนอก เราจับของเราเอง ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาเวทนาก็ได้ เวทนากาย เวทนาจิต

 

เวทนากายคือความเจ็บปวดของร่างกาย ความรับรู้ของร่างกาย เวทนาจิตคือความรับรู้ ความรู้สึก ความดีใจเสียใจเป็นเวทนาของจิต มันไม่ต้องอาศัยร่างกาย มันไม่พอใจ มันคับแค้นสิ่งใดมันก็มีเวทนาของมัน นี่เวทนานอก เวทนาใน เวทนากาย เวทนาจิต ถ้ามันมีจิตนอก จิตใน อันนี้เป็นอุบายนะ พอพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าผู้ที่มีการศึกษาในอภิธรรม “โอ้โฮ! หลวงพ่อนี่หลุดไปไกลเลยนะ ยังเอามาจิตนอก จิตใน ยังเอาจิตมาแบ่งแยกอีกหรือ”

 

ตำราคือตำรา เวลาสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเรา เช่น อาการคนเจ็บป่วย เป็นโรคอะไร จะรักษาด้วยวิธีการใด นี่เหมือนกัน ถ้าเมื่อจิตมันเห็นว่ามันซ้อนกันอยู่ เราก็ต้องจับอาการของเรา จับรูปแบบของเรา จับความเป็นไปของเรา แล้วมาพิจารณาแยกแยะของเรา แต่ถ้าคนอื่นเขาไม่เห็นอย่างนี้ เขาไม่รู้อย่างนี้ เขาเป็นโรคอย่างอื่น เขาไม่เป็นอย่างนี้ มันก็เรื่องของจิตดวงนั้น

 

ฉะนั้น ถ้าเราจับของเรา เพราะเราตั้งชื่อของเราเองว่าจิตมันซ้อนกัน ในเมื่อคนเห็นคนรู้เอง เห็นไหม เรารู้จักคนนี้ เราเป็นหนี้ เรามีหนี้ มีความผูกพันกับคนนี้ เราก็ต้องเคลียร์กับคนคนนี้ให้จบ ต้องใช้หนี้เขา ต้องดูแลกัน เคลียร์กันจนเรื่องนี้สงบไป

 

จิตเหมือนกัน จิตถ้าใครไปรู้ไปเห็นสิ่งใด มันยึดแล้ว มันมีปมของมันแล้วว่ามันรู้มันเห็นสิ่งใดแล้วมันยึดของมันไว้ แล้วยึดของมันไว้ ถ้าอย่างนั้นเราต้องจับประเด็นนี้แล้วพิจารณาแยกแยะประเด็นนี้ให้ประเด็นนี้ให้มันปล่อยวาง ถ้ามันปล่อยวางขึ้นมา เห็นไหม

 

ครูบาอาจารย์ท่านจะสั่งสอน ท่านจะสั่งสอนแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันอย่างนี้ เฉพาะบุคคล ถ้าบุคคลคนนั้นมีจริตนิสัยอย่างนี้ แล้วไปรู้เห็นตามความจริงอย่างนี้ ก็ต้องแก้ไขไปตามจริตนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะให้อุบายเฉยๆ นี่ให้อุบาย

 

อย่างนี้ถ้าภาวนาไปนะ มันจะมีปัญหา มีปัญหาเพราะว่า ถ้าเราพิจารณาเวทนาไปแล้วมันปล่อยมาแล้ว พอมันปล่อยแล้ว ปล่อยมาแล้วมันก็ต้องเหลือจิตดวงเดียว เหลือเฉพาะความสงบระงับ แต่นี้พอมันปล่อยมาแล้วมันจิตซ้อนกัน มันมีจิตซ้อนกันอยู่ ๒ ดวง มันเหมือนกับมีหน้ามีหลัง มีหลังผู้รู้ มีผู้รู้อีกผู้รู้หนึ่ง ถ้ามีหลังผู้รู้ มีอีกผู้รู้หนึ่ง มันก็เป็นวาสนาของเราเอง ทำไมมันเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ก็ต้องเคลียร์เอง

 

ถ้ามันปล่อยเวทนาเข้ามาแล้ว ถ้ามันเป็นไปได้ จิตจับเลย พิจารณา ถ้ามันไม่เป็นความจริงมันก็จะเป็นไตรลักษณ์ คือมันจะใช้ปัญญาคลี่คลาย พอคลี่คลายแล้ว จากที่ว่า จิตนอก จิตใน พอปัญญารู้ทัน เคลียร์หมด มันก็เหลือหนึ่งเดียว มันมีของมันหนึ่งเดียว ภวาสวะ มีภพ ปฏิสนธิจิต เพราะพลังงานของเรามันมีของมัน ถ้ามีของมัน ถ้ามันพิจารณาได้มันจะย้อนกลับมาที่นี่

 

จับ จับแล้วเคลียร์ของเรา เฉพาะของเรา ถ้ามันเคลียร์ได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันยังเคลียร์ไม่ได้ ถ้ามันพิจารณาเวทนาได้มันก็พิจารณาเวทนาต่อเนื่องกันไป เพราะที่เราปฏิบัติขึ้นมา มันละเอียดขึ้นมาเป็นชั้นๆ ขึ้นมา แต่เดิมเราก็พิจารณาของเราโดยความเข้าใจว่าถ้าพิจารณาอย่างนั้นแล้วเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้วมันไม่ปล่อย

 

พอไม่ปล่อย เราทำสมาธิมากขึ้น ถ้าทำสมาธิมากขึ้น เวทนามันเกิดขึ้น พอเกิดขึ้น สติมันเข้มข้นขึ้น มันพิจารณาขึ้น มันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามามันถึงมาซ้อนเข้ามาเห็นจิตซ้อนกัน เราก็จับ จับจิต ถ้าจับจิตซ้อนจากภายนอกก็พิจารณา ถ้ามันพิจารณา มันก็จะปล่อย มันก็จะพลิกมาเป็นตัวใน ก็มาจับตัวใน

 

เวลากรณีนี้กิเลสมันสร้างสถานการณ์ให้คนที่ปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานไง เวลาอย่างนั้นมันเหมือนกับเขาเล่นซ่อนหา เวลาหลบที่นั่น หลบที่นี่ หลบที่นั่น กิเลสมันมีชีวิตนะ มันอยู่หลังความรู้สึกของเรา เราทำสิ่งใดมันจะสร้างภาพ มันจะหลบหลีก ถ้าเราจับจิตตัวนอก จับจิตตัวนอกพิจารณา ถ้าพิจารณา มันปล่อยวาง ถ้ามันพลิกมาเป็นตัวในก็จับตัวในพิจารณา ถ้ามันเป็นแบบนั้น แต่โดยทั่วไปเขามีหนึ่งเดียว

 

แต่นี้ถ้ามันซ้อนกัน ซ้อนกัน เราก็พูดตามคนที่ซ้อนกันไป เราพูดตามผู้ที่เห็นว่ามันมีซ้อนกันอยู่ ถ้าซ้อนกันอยู่ มันเป็นปัญหาของเราคนเดียว แต่คนอื่นจะไม่เป็นแบบนี้ ถ้าเราทำของเราอย่างนี้ ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา เราพิจารณาแล้วมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ

 

มันดีขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า คนที่ปฏิบัตินะ แล้วมีเหตุมีผล คือปฏิบัติแล้วมันมีมรรคมีผลในใจ เรารู้เลยว่าเราทำแล้วมันเหลือสิ่งใดตกค้างในใจ จากคนที่ปฏิบัติไม่มีต้นไม่มีปลาย มันจะไม่มีสิ่งใดตกค้างในใจเลย มันมีแต่สัญญา มีแต่ความรับรู้จากการศึกษา รับรู้จากสมอง เวลาสัญญาจำได้ก็ว่าดี เวลามันลืมไปก็ว่าจบ มันไม่มีอะไรเป็นสมบัติส่วนตน ไม่มีอะไรตกค้างในใจเลย

 

แต่คนที่ปฏิบัติพอจิตสงบเข้ามาแล้วมันมีความสงบ มันมีรากฐานของใจ เราเคยสงบ เราเคยทำได้ มันมีสิ่งตกค้างในใจ ตกค้างในใจคือหลักใจของเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว พอจิตมันพิจารณาเวทนาเข้ามาแล้ว เวลามันพิจารณาถึงที่สุด สติมันเข้มข้นมาก เวลามันพิจารณาจนเวทนามันดับได้ นี่มันมีความตกค้างในใจของเรา

 

แล้วเวลาจิตมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นจิตมันเหมือนกับ เพราะเราเห็นเอง เหมือนจิตมันมีผู้รู้ซ้อนอยู่ภายหลัง ถ้ามีผู้รู้ซ้อนอยู่ภายหลัง ข้างหน้าคือตัวปลอม ถ้าข้างหน้าคือตัวปลอม เราจับของเรา เราพิจารณาของเรา ถ้ามันซ้อนกันอยู่ จิตมีสองได้อย่างไร จิตมีหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ทำไมของเรามีสองล่ะ มีสองนี่มันสร้างภาพ มันสร้างเงาขึ้นมาหลอกเราไง ถ้าหลอกเราแล้วเราก็งงอยู่นี่

 

ถ้าหลอกเรา เราว่าจิตมันหลอกเรา แต่คนที่เห็น “มันไม่ได้หลอกนะหลวงพ่อ มันเห็นจริงๆ มันมีจริงๆ นะ” ไอ้คนเห็นมันน่าสงสารตรงนี้ มันเห็นจริงๆ นะ ไม่ใช่หลอกหรอก มันมีจริงๆ แล้วมันก็แก้ไขไม่ได้จริงๆ ไม่ได้จริงๆ

 

ทำความสงบของใจเข้ามา จับแล้วพิจารณาจิตนอก จิตใน พอพิจารณาจิตนอก จิตใน มันปล่อยแล้ว เดี๋ยวเราจะรู้ของเรา มันจะเป็นปัจจัตตัง มันต้องรู้จริงไง ต้องรู้จริง ต้องรู้ชัด

 

ต้องรู้จริง ต้องรู้ชัด แล้วภาวนาต่อเนื่องไป แล้วให้อุบายเท่านี้ ให้อุบายเท่านี้ก่อน แล้วถ้าปฏิบัติต่อเนื่องกันไปแล้วมีปัญหาอย่างใด มีปัญหาอย่างใดค่อยมาถามกันต่อ นี่พูดถึงจิตซ้อนจิตเนาะ เอวัง