ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รักษาใจเรา

๒๒ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

รักษาใจเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “ขันธ์ใช่ทุกข์ไหมเจ้าคะ”

 

กราบนมัสการ พระอาจารย์ได้ตอบคำถามลูกเมื่อครั้งก่อนว่า ให้ทำต่อไป มาถูกทางแล้ว ให้เข้าใจคำว่า “เจริญแล้วเสื่อม” ถ้าเหนื่อยไปก็พักบ้างด้วยการเข้าสมาธิ ใช้ปัญญาออกพิจารณา ลูกน้อมนำไปปฏิบัติทุกลมหายใจที่ไม่หลงเจ้าค่ะ

 

มีคนถามเกี่ยวกับทุกข์ในอริยสัจกับลูก ลูกตอบเขาไปว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

 

มีคนมาค้านลูกบอกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นทุกข์”

 

ลูกได้ตอบโต้เขาไปว่า “สัจจะแห่งทุกข์คือไตรลักษณ์ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ มีเหตุจึงมีปัจจัย ไม่มีตัณหาไปยึด ขันธ์ก็แค่ขันธ์ พอมีตัณหาไปยึด จึงเกิดอุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์แลคือทุกข์ ไม่ใช่ทุกอย่างเกิดดับเป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ จึงไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์จึงไม่ใช่ขันธ์ ๕” ลูกตอบตามสภาวะที่เห็นจากการปฏิบัติ

 

แต่มีท่านหนึ่งที่ลูกเคารพ ท่านมาตอบลูกว่า “อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นสมุทัย เห็นขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์แท้ เป็นอรหัตตมรรค”

 

และอีกท่านหนึ่งเป็นพระสุปฏิปันโนท่านหนึ่ง ท่านตอบลูกว่า “เพราะไม่รู้ตามจริงว่าขันธ์เป็นทุกข์ จึงมีตัณหาเข้าไปเกาะในขันธ์ เมื่อเกาะแล้วจึงมีอุปาทานว่า นี่เรา นี่ของเรา เป็นสุขของเราบ้าง เป็นทุกข์ของเราบ้าง เกิดภพชาติ ขันธ์เป็นตัวทุกข์ แต่เป็นทุกข์ในอริยสัจเหมือนกับก้อนหิน จะมีอุปาทานหรือไม่มีอุปาทานมันก็เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง มีการเกิดดับแปรเปลี่ยนในตัวมันเอง ลองพิจารณานะ ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้”

 

ตอนนี้ลูกเลยเริ่มสับสน ขอให้อาจารย์ชี้ชัดด้วย

 

ตอบ : สับสนสิ สับสน พอสับสนปนเปไปก็สับสน คำว่า “สับสน” กรณีนี้เวลาเราบวชใหม่ๆ เวลาเราบวชใหม่ๆ นะ เราก็ออกประพฤติปฏิบัติ ไปหาครูหาอาจารย์ ท่านก็ตอบไปร้อยแปดพันเก้า ไอ้เราก็ทึ่งนะ เห็นอาจารย์องค์ไหนตอบ แหม! ท่านตอบนี่ต้องถูกต้อง เชื่อเขาไปหมด เชื่อองค์นั้นเชื่อองค์นี้ เชื่อไปเชื่อมานี่งงไปหมดเลย พองงไปหมดแล้วทำอย่างไรดี

 

พอทำอย่างไรดีก็ศึกษา ศึกษาโดยประวัติของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บางองค์เราก็ยึดไว้ แล้วบางองค์เราไปศึกษาเอง ไปอ่านเอง ไปเห็นท่านบอกถึงประสบการณ์ของท่านว่าท่านเคยผิดพลาดมาอย่างนั้นๆ ยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่เลย

 

สุดท้ายแล้วก็แบกเอาทิฏฐิมานะ แบกเอาความเห็นผิด พอไปเจอหลวงปู่จวน นี่พรรษา ๑ พรรษา ๒ ไปเจอหลวงปู่จวนที่ภูทอก กลางคืนทำวัตรแล้วท่านเทศน์ “อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางเต็มหัวใจท่านเลย อวิชชาอย่างละเอียดยังเต็มหัวใจเลย”

 

แต่เวลาบอกอวิชชาก็คืออวิชชาไง อวิชชาอย่างหยาบดับไป อวิชชาคือความคิดฟุ้งซ่าน ไอ้ความคิดวิตกกังวลมันเป็นหยาบๆ แล้วมันดับไป อวิชชาดับแล้วก็ต้องมีมรรคมีผล แล้วทำไมมันไม่มีล่ะ ก็รู้ว่ามันไม่มี ก็สับสนไปเรื่อย สับสนไปมหาศาล แล้วมันไม่มีทางออก

 

พอไม่มีทางออกนะ ย้อนกลับมาเวลาหลวงตาท่านพูด เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียนะ เวลาหลวงปู่มั่นจะเสีย เวลาท่านบอกเลย “จิตใจดวงนี้มันดื้อนัก มันไม่ฟังใคร มันไม่ฟังใคร มันฟังแต่ครูบาอาจารย์ ฟังแต่หลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นก็จะนิพพานแล้ว ถ้าหลวงปู่มั่นนิพพานแล้วต่อไปจะพึ่งใคร จะพึ่งใครได้”

 

เวลาไปศึกษากับใครนะ ไปศึกษากับคนอื่น เวลาไปศึกษากับคนอื่นเหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ เราเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ไปคุยกับเด็กๆ ที่มันไม่เคยทำงานสิ มันน่าหัวเราะเยาะไหม เราเคยทำงานมา แล้วไปคุยเรื่องงาน ไอ้คนที่ทำงานไม่เป็นมันโม้เรื่องการทำงาน เราฟังแล้วเราสังเวชไหม เราฟังแล้วเราสังเวชนะ เราทำงานมา ใครทำงานมีประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน เราก็ทำของเรามา แล้วไปคุยกับคนไม่เคยทำงานชนิดนั้น แต่มันอ่านหนังสือมา มันก็บอกว่าต้องทำอย่างนั้นๆ เราสังเวชไหม เราสังเวชทั้งนั้นน่ะ

 

ฉะนั้น หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านจะไปศึกษากับใคร พอหลวงปู่มั่นเสียแล้ว หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้ ท่านสั่งเสียไว้เลย อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย ถ้าสงสัยสิ่งใดให้กลับมาที่ผู้รู้ใจเรา ถ้ามันสงสัยสิ่งใดให้กลับมาที่ตัวเรา อย่าส่งออก ยึดนั้นเป็นหลักเกณฑ์

 

แล้วเวลาท่านวิเวกไปก็ไปเจอพระ ไปเจอครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ไปคุยกับพระองค์ไหนก็แล้วแต่ เวลาเขามีชื่อเสียง ชื่อเสียงนั้นสังคมตั้งให้ แต่ความเป็นจริงในใจของเขามันไม่มี ถ้าความเป็นจริงในใจของเขาไม่มี เวลาเขาตอบสิ่งใดมา หลวงตาท่านคิดในใจนะ “ความรู้แค่นี้หรือจะมาสอนเรา ความเห็นอย่างนี้หรือจะมาสอนเรา” เพราะอะไร เพราะพูดออกมามันมีข้อโต้แย้งไปหมดแหละ กรณีอย่างนี้ พระปฏิบัติมันมีกรณีอย่างนี้ แล้วเวลาเราปฏิบัติมา เราก็มีกรณีอย่างนี้เหมือนกัน

 

ปฏิบัติออกบวชทีแรกยังไม่ได้เข้าไปหาใคร ศึกษาตามตำราแล้วก็ไปหาครูหาอาจารย์ ถามมาเถอะ ไปไหนมา มันจะบอกว่า สามวาสองศอก ถามม้ามันตอบช้าง ถามช้างมันตอบม้า เพราะคนมันไม่ปฏิบัติ คนมันไม่ปฏิบัติมันไม่รู้เรื่อง ถ้าคนมันไม่ปฏิบัติไม่รู้เรื่อง

 

ฉะนั้น เราเคยเจอสังคมอย่างนี้มา แล้วในสังคมตามความเป็นจริงมันก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่เรามีจุดยืนไหม เรามีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน เราอยู่ในสังคม เราจะรู้ว่าสังคมมันเหลวแหลกอย่างใด แล้วคนเห็นแก่ตัว คนเป็น ๑๘ มงกุฎ คนที่มีเล่ห์กล คนที่ฉ้อฉล แต่อ้างธรรมะทั้งนั้นน่ะ ธรรมะนี่อ้างไว้เป็นหน้าฉาก หลังฉาก อยู่หลังฉากคอยหาผลประโยชน์ คอยหาแต่ผลประโยชน์ของตัว

 

หน้าฉากพูดธรรมะๆ แล้วเราไปถามเขาๆ นี่พระสุปฏิปันโน พระอะไรก็แล้วแต่ นั่นมันเรื่องของเขา ทัพพีขวางหม้อ ไอ้พวกทัพพีขวางหม้อ ไอ้ตะเข้ขวางคลอง เวลาจะปฏิบัติ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ตะเข้มันขวางคลองไว้ แล้วไอ้คนที่ปฏิบัติ น้ำไหลมาไปเจอตะเข้ก็ไม่กล้าไหลผ่านไปใช่ไหม เพราะท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ท่านพูดอะไรมา ไอ้เข้มันขวางอยู่นั่น จะทำอะไรเราก็ไม่กล้าผ่านไอ้เข้ กลัวไอ้เข้มันจะตะปบเอา ไอ้พวกตะเข้ขวางคลองมันภาวนาหรือเปล่า มันรู้จริงหรือเปล่า มันไม่มีสิ่งใดรู้จริง

 

แล้วท่านเป็นพระสุปฏิปันโน แล้วท่านพูดอย่างนี้หนูก็เลยสับสน

 

เรานี่นะปฏิบัติมา เรารู้ถึงสังคม ฉะนั้น สิ่งที่เราตอบปัญหาอยู่นี่ อย่างที่พูดเมื่อ ๒ วันนี้ เห็นไหม บอกว่าที่เราพูดอยู่นี่เพราะเราเคยผ่านอย่างนี้มา เราถึงค้ำประกันไง เราถึงค้ำประกัน เพราะพวกอภิธรรมเขาบอกว่าพุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วมันจะเกิดนิมิต แล้วพวกมีการศึกษามามันบอกพุทโธไม่ได้ เพราะพุทโธเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา

 

เขามีแต่ถากแต่ถาง ไอ้พวกไอ้เข้ขวางคลอง ตะเข้มันอยู่ในน้ำ มันต้องหาอาหารตามปกติของมันสิ แต่นี่มาขวางคลองไว้ แล้วไอ้น้ำจะไหลมา ไอ้สัตว์น้ำที่มันตามน้ำมามันก็กลัวไอ้เข้ กลัวไอ้เข้ เห็นไหม

 

สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของความรู้ความเห็น ในการประพฤติปฏิบัติมันก็มีหลายกลุ่มหลายก้อน ถ้ามีหลายกลุ่มหลายก้อน มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนานะ เวลาเราบอกว่า พระป่าตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนถูกต้องดีงามมา แล้วสอนถูกต้องดีงามมา นักปฏิบัติก็มีความสนใจเข้ามาปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ตั้งมากมาย ทำไมท่านปฏิบัติไปแล้วทำไมท่านไม่มีคุณธรรม ทำไมท่านไม่เป็นผู้ชี้นำให้ความถูกต้อง

 

การปฏิบัตินะ หลวงปู่มั่นท่านพูด มันมาปฏิบัติ ต่อไปมันจะแซงหน้าแซงหลัง มันไม่เอาเยี่ยง มันเอาอย่าง คือมันอยากมีชื่อเสียง มีลาภสักการะ แต่ความเป็นจริงในใจมัน มันจะทำไหม แต่ถ้าคนทำเป็นจริงมันก็เป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมามันก็จะเป็นประโยชน์

 

ฉะนั้น เราถึงได้บอกไงว่า ที่เราพูดอยู่นี่เราคอยอุ้มชู คอยปกป้อง คอยให้พวกปฏิบัติ ให้พวกพุทโธ ให้พวกที่ปฏิบัติเห็นนิมิต นิมิตมันก็คือนิมิต คนที่มีนิมิตก็มีนิมิตได้ คนที่ไม่มีนิมิตทำอย่างไรก็ไม่มีนิมิต คนที่มีนิมิตไปกำหนดนามรูป กำหนดอะไรก็มีนิมิต เพราะไอ้พวกนามรูปมาถามเราเรื่องนิมิตเยอะแยะไปหมด

 

นิมิต ถ้ามันเข้าไปรู้ไปเห็น มันก็แสดงออกว่าจิตใจของคน จากโดยธรรมชาติ เราก็เห็นด้วยตา แต่ถ้ามันสงบเข้ามา มันจะรู้ของมัน จริตนิสัยของมันก็ต้องแก้ไปตามนั้น คนที่เห็นนิมิตก็ต้องแก้ แก้ว่าเห็นนี้ถูกต้องไหม ถ้ามันถูกต้อง มันถูกต้องก็วางไว้ก่อน เพราะนิมิตมันก็เป็นเครื่องเคียง เป็นของเครื่องเคียง มันไม่ใช่เป็นความจริง ความจริงก็ให้สงบมากขึ้นไปกว่านั้น

 

ถ้าสงบมากไปกว่านั้น มันไปรู้ไปเห็นของมันขึ้นมา มันก็จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เพราะจิตมันจะเห็นของมัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะไปข้างหน้านั่น

 

แต่ถ้าไม่มี จิตมันไม่สงบเลย ไม่มีหลักมีเกณฑ์เลย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมามันก็เป็นจินตนาการทั้งนั้นน่ะ มันก็เลยเป็นไอ้เข้ขวางคลอง ขวางคลองตรงไหน

 

“พุทธพจน์ ต้องพุทธพจน์”

 

พุทธพจน์นั้นเป็นธรรมและวินัย เป็นแผนที่เครื่องดำเนินที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วเราลงไปในพื้นที่ แผนที่กับพื้นที่มันไม่เหมือนกัน

 

แผนที่ เห็นไหม ดูสิ แผนที่คือปริยัติ คือศึกษามา ว่าปริยัติมั่นคง ปฏิบัติต่อไปจะมั่นคง ปริยัติเขาศึกษาไว้เขาเรียนไว้เพื่อให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วลงในพื้นที่ ลงในพื้นที่แล้วพื้นที่ของใคร หัวใจของใครก็พื้นที่ของเขา ใครลงไปในพื้นที่ พื้นที่ที่มันมีรกชัฏ พื้นที่ที่มันโล่งเตียน พื้นที่ มันเป็นพื้นที่ของใคร พอลงไปพื้นที่แล้ว ในพื้นที่นั้นมันถึงจะแก้ไขเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

 

ฉะนั้น เราถึงบอกว่าที่เราพูดอยู่นี่ เวลาปฏิบัติ คนนู้นก็ว่าอย่างนู้นไม่ได้ คนนี้ก็ว่าอย่างนี้ไม่ได้ เรารับประกัน จะได้หรือไม่ได้ มนุษย์เกิดมาต้องมีอาหาร ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามีปัจจัยเครื่องอาศัยนั้นอาศัยเพื่อดำรงชีวิต ในการประพฤติปฏิบัติมันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาเข้าไป มันต้องมีเครื่องอาศัย ข้อวัตรปฏิบัติไง ถ้าอาศัยเข้าไปเจอสิ่งใดแล้วแก้ตามนั้น แก้ตามนั้น เราค้ำประกันตรงนั้นไง

 

นี่พูดถึงไอ้เข้ขวางคลองก่อน พอพูดถึงไอ้เข้ขวางคลองเสร็จแล้วจะกลับมาตอบปัญหาไง ถ้ากลับมาตอบปัญหานะ

 

“มีคนถามลูกว่า มีคนถามเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ ลูกตอบว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มีคนค้านบอกว่าทุกสิ่งที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์”

 

ในการสร้างบ้านสร้างเรือน ถ้ากระต๊อบห้องหอ เขาเอาไม้ปักๆ เอาใบไม้มาปก มันก็เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว แต่ถ้าคนเขาจะสร้างตึกสูง ๕ ชั้น ๑๐ ชั้น เขาจะต้องตอกเสาเข็ม เขาตอกเสาเข็มของเขา เขาต้องมีคานของเขา เขามีสิ่งต่างๆ ของเขาเพื่อความมั่นคงของตึกนั้น จะสูงมากเท่าไร โครงสร้างมันต้องแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

นี่เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติ เราก็ต้องมีสติ มีสติกำหนดทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันก็จะรู้จะเห็นของเราขึ้นมา ถ้ามันรู้เห็น รู้เพื่ออะไร

 

มันรู้ขึ้นมา เรารู้ขึ้นมาเพื่อใจของเรา เราปฏิบัติมาเพื่อความสุข เพื่อความสงบ เพื่อความระงับ เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความพ้นจากทุกข์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์นะ ท่านไม่เคยประกาศเลยว่าท่านเป็นพระอรหันต์

 

หลวงตาท่านพูดอยู่ว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี หลวงปู่มั่นอยู่กับครูบาอาจารย์มาทั้งชีวิต ท่านไม่เคยประกาศว่า ฉันเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ทุกคนต้องมาฟังฉัน ฉันจะสอนแล้วนะ ไม่มี หลวงปู่มั่นไม่เคยประกาศเลยว่าท่านได้ขั้นใด ได้ตอนใด แต่เวลาท่านเทศน์สอน ท่านบอกถึงวิธีการ ไอ้คนที่ปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติเป็นขั้นตอนขึ้นมา ฟังขึ้นมานี่ทึ่งมากเลย เพราะคนปฏิบัติได้ขนาดไหน เราทำงานได้มากขนาดไหน ไปเจออาจารย์สอนมากกว่านั้น พยายามดึงเราขึ้นไป เราเชื่อมั่นไหมว่าอาจารย์เรามีคุณธรรม เพราะเราทำมากับมือ เราทำมากับมือใช่ไหม แล้วที่ท่านสอนมา ท่านสอนที่เราทำมาหมดแล้ว แล้วท่านเพิ่มให้อีก เราจะรู้ได้ว่าแค่ไหน

 

นี่ไง เขาปฏิบัติเพื่อใจของตัว เขาไม่ได้ปฏิบัติไว้อวดใคร เขาไม่ได้ปฏิบัติไว้โฆษณาไง ถ้าปฏิบัติไปโฆษณา คนเขามีเงินมีทองเขาเก็บไว้ในเซฟ ตอนนี้ใครแขวนสร้อยไปเดินกลางถนนเดี๋ยวกระตุกเลย

 

นี่ก็เหมือนกัน กะว่าปฏิบัติเสร็จแล้วลูกไปตอบเขา แล้วเขาก็ตอบลูกมา

 

ดี เขาไม่ตบหน้ามาด้วยทีหนึ่ง

 

แล้วมันเรื่องอะไรล่ะ ก็เราปฏิบัติมา เราโดนสังคมหลอก เราโดนคนทำให้เสียหายไปมากน้อยขนาดไหนแล้ว แล้วเวลามาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านมา ถ้าท่านปฏิบัติมา ปริยัติก็คือปริยัติ

 

ฉะนั้นบอกว่า “ลูกก็บอกว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

 

แล้วเวลาเขาด่ามามันเป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่าล่ะ ที่สับสนอยู่นี่มันเป็นขันธ์ ๕ หรือเปล่าล่ะ เวลาเขาโต้แย้งมาแล้วไปแบกมาทำไมล่ะ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่เรา แล้วถามมาทำไมล่ะ ก็ไม่ต้องถามมา เพราะมันไม่ใช่เรามันก็ไม่มีไง มันไม่ใช่เรามันก็ไม่ต้องแบกมาไง

 

แล้วบอกขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วเดือดร้อนทำไมล่ะ เดือดร้อนทำไม เดือดร้อนมันก็แบกแล้วไง ไอ้ที่ถามมา ถ้าไม่ทุกข์ ถามมาทำไม ก็ทุกข์แล้วไง นี่ขันธ์ ๕ มันทุกข์แล้วแหละมันถึงได้เขียนมานี่ ถ้าขันธ์ ๕ มันไม่ทุกข์ มันเขียนมาทำไม ก็บอกว่า ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ไง

 

ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ต่อเมื่อผู้ที่รู้จริงเห็นจริง ดูสิ เวลาละสังโยชน์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้ามันไม่ใช่ มันไม่ใช่ตามความเป็นจริงของมัน เวลามันตัด มันขาดไปแล้วมันก็จบ

 

แต่ถ้ามันยังไม่ขาด เราใช้เป็นอุบาย อย่างเช่นเราภาวนาพุทโธหรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันไปยึดสิ่งใด มันมีตัวตนจริงหรือเปล่า อย่างเวลานั่งไป เวทนามันปวด ปวดมันมีจริงหรือ มันเป็นความจริงหรือ นี่มันเป็นเวทนา เห็นไหม ถ้าเราบอกอยากหาย เราอยากหาย เราต้องปฏิเสธมัน มันเป็นตัณหาซ้อนตัณหา มันยิ่งปวดขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า อ้าว! แล้วถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทันมัน เวลามันปล่อย แล้วเวทนามันหายไปไหนล่ะ

 

ไอ้นี่มันเป็นแนวทางปฏิบัติ มันเป็นวิธีการเริ่มต้นที่ปฏิบัติเข้าไป มันไม่เป็นต่อเมื่อมีสติมีปัญญา มันก็เป็นของชั่วคราว มันยังไม่สมุจเฉทปหาน มันยังไม่ขาดไปจากใจ ถ้ามันขาดไปจากใจ เราจะตอบเขาเลย ตอบไอ้เข้ได้หมดเลย มันเป็นอย่างนี้ๆๆ ว่ามาสิ ว่ามา ไอ้ขวางคลอง ไอ้ทัพพีขวางหม้อ ว่ามาสิ แต่นี่ไอ้เราก็ไม่รู้ ไอ้เราก็ยังงงๆ อยู่ใช่ไหม งงๆ อยู่ แล้วไปเถียงกับเขามันก็จบไง นี้โดยหลักการ

 

เราจะบอกว่า ถ้าผู้ปฏิบัติใครรู้จริงก็แล้วแต่ แล้วจะไปพูดกับใครให้เขาเชื่อถือทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเขาจะไม่เชื่อหรอก ถ้าเขารู้เขาเห็น เขาก็ไม่เถียงเราหรอก เพราะมันจะเห็นเป็นอันเดียวกัน

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ลูกตอบเขาไปว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕”

 

นี่มันอยู่ในสังโยชน์อยู่แล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่มันเป็นจริงกับใจเราหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันยังไม่เป็นจริงในใจเรา สิ่งนี้มันก็เป็นอุบาย เป็นอุบายคือสัจธรรม สัจธรรมเป็นแบบนี้ แล้วเราก็เอาสัจธรรมนี้เป็นตัวตั้ง ทั้งๆ ที่จิตใจเรายังไม่ถึง แต่เราก็เปรียบเทียบ เอามาใช้เปรียบเทียบให้จิตใจของเราได้ใคร่ครวญ ได้ใคร่ครวญ ได้พิจารณาว่าสิ่งใดเป็นความจริงหรือสิ่งใดไม่เป็นความจริง

 

ถ้ามันเป็นความจริง เป็นความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่เป็นความจริงของเรา เราพยายามทำให้มีความเห็นอย่างนั้นมันก็ปล่อยวางได้ชั่วคราว พอชั่วคราวแล้ว ถ้าคนมีสติปัญญามันก็ไปจับอีก จับขึ้นมา จับขึ้นมาเพื่อพิจารณา เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต จิตมันต้องสงบแล้วมันเห็นอาการของมัน เห็นขันธ์กระดุกกระดิกในหัวใจ แล้วมันจับได้ มันพิจารณาได้ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

แต่มีคนค้านว่าบอกว่าทุกสิ่งเกิดดับเป็นทุกข์ เราบอกทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ แต่มีผู้ที่โต้แย้งว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์

 

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แล้วใจเราอยู่ไหนล่ะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น โต๊ะมันเกิดขึ้นแล้ว เขาประกอบเป็นโต๊ะเกิดขึ้นมาแล้ว โต๊ะเป็นทุกข์ไหม โต๊ะนี่ โต๊ะ ตั่ง เตียงเขาประกอบขึ้นมาสำเร็จรูปแล้วมันเป็นทุกข์ไหม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะมันเป็นเศษไม้ เศษไม้พอประกอบขึ้นมาก็เป็นโต๊ะเป็นตั่ง มันมีความทุกข์ไหม นี่มันก็เกิดรูปแล้ว ถ้ามันเป็นเศษไม้มันก็ไม่มีรูป พอประกอบขึ้นมาเป็นรูปนี่เกิดแล้ว แล้วมันดับไหมล่ะ

 

บอกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นทุกข์”

 

อืม! พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกมันเป็นทุกข์ไหม พระอาทิตย์มันมีความทุกข์ไหม แล้วใครเป็นคนทุกข์ล่ะ ก็เรามันทุกข์

 

นี่เขาพูด ไอ้พวกถามช้างตอบม้า ถามม้าตอบช้าง ไปไหนมาสามวาสองศอก แล้วก็ธรรมะ นี่พุทธพจน์นะ นี่ก็เหมือนกัน อ่านมาจากพระไตรปิฎก ทุกสิ่งเกิดขึ้นเป็นทุกข์หมด

 

น่าเกลียดมาก ไอ้ที่ว่าก้อนหินเป็นทุกข์อะไรนั่นน่ะ บ้า เราไปคุยกับคนบ้าทำไมล่ะ เขาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อรักษาใจเรา เรารักษาใจเรา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ให้รักษาใจเรา จะบอกว่าเราปฏิบัติแล้วทุกคนจะเห็นเหมือนเราหมด เราไปพูดอะไรเขาจะเชื่อหมด

 

แม้แต่พระไตรปิฎกก็เล่มเดียวกัน ดูสิ มหายาน เถรวาท ในเถรวาท หินยาน ในมหายานมันก็ยังซอยย่อยไปอีกเป็นมหายาน โอ๋ย! เป็นมหายานแล้วยังเป็นวัชรยานเป็นอะไร อ้าว! ถ้ามันเหมือนกันหมดทำไมมันแยกย่อยเป็นคณะ เป็นนิกายเป็นอะไรไปมหาศาลล่ะ ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วมันจะรู้อย่างนี้ไง

 

ทีนี้เขาบอกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นทุกข์”

 

ถ้ามันเกิดมันดับเป็นทุกข์ แล้วสิ่งที่มันไม่มีวิญญาณครองมันเป็นทุกข์ไหม

 

“ลูกตอบเขาไปว่าสัจจะแห่งทุกข์คือไตรลักษณ์”

 

ไตรลักษณ์นี่มันเป็นอาการ

 

เขาบอกว่า “สัจจะแห่งทุกข์คือไตรลักษณ์ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ จึงต้องไปดับที่เหตุนั้น ไม่มีตัณหาไปยึดขันธ์”

 

ไตรลักษณ์ ไตรลักษณะ เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความเป็นอนัตตา ความเป็นไตรลักษณ์ของมัน ความเป็นไตรลักษณ์มันเป็นกิริยา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันมีการเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มันแปรสภาพของมันไป สรรพสิ่ง สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ เป็นอาการ สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ เป็นอาการที่มันแปรสภาพ มันมีอยู่ในโลกนี้ สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ มันแปรสภาพหมด แต่ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์สิ่งต่างๆ นั่นก็เป็นเรื่องของเขา เป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์

 

แต่อารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดดับ อารมณ์ความรู้สึกที่มันเปลี่ยนแปลง ทุกคนไม่รู้ไม่เห็นมัน เวลามันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงโดยตัวตน เพราะเรา เรามีอารมณ์ไปกับเขา ถ้าไม่มีตัวตนของเรา อารมณ์มันก็ไม่เกิด พออารมณ์มันเกิดขึ้นมา เราก็ดีใจเสียใจ เราเจ็บปวดแสบร้อนไปกับอารมณ์นั้น เห็นไหม มันเลยไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใด

 

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบเข้ามาก่อน ใจสงบแล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ธรรมารมณ์ อารมณ์ ธรรมารมณ์ ถ้าจับพิจารณาแล้วแยกแยะของมัน มันแปรสภาพให้เรารู้ให้เราเห็น นั่นคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์มันจะมาสอนใจ

 

สัจจะคือไตรลักษณ์ สัจจะคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไตรลักษณ์มันเป็นอาการที่มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

 

นี่เขาบอกมันเป็นไตรลักษณ์ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ก็สาวไป อย่างนี้ถ้าเป็นไตรลักษณ์ก็เป็นอิทัปปัจจยตา นี่มันก็เป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะเหตุนี้ถึงมีเหตุนี้

 

มันก็วิ่งตามกันอยู่นั่นน่ะ มันก็เหมือนเป็นห่วงโซ่ ในเมื่อห่วงโซ่มันมี มันก็หมุนเวียนมันไป วัฏฏะมันมี

 

“ลูกตอบเขาว่าสัจจะคือทุกข์ สัจจะแห่งทุกข์คือไตรลักษณ์ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่มีตัณหาไปยึดในขันธ์”

 

ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ไอ้ตัณหามันขาดไป มันถึงเป็นแบบนั้น แต่โดยสามัญสำนึกของคน เพราะทุกข์ ขันธ์ ๕ มันจะเกิด มันเกิดที่จิต ถ้าจิตมันมี เพราะจิตมันมีใช่ไหม พอมีภวาสวะ มีจิต มันถึงมีขันธ์ ทีนี้ตัวจิตมันมีตัณหา พอตัวจิตมีตัณหา ต้นเหตุมันตัวอวิชชา ตัวไม่รู้ มันอยู่ที่พลังงาน พลังงานออกไปทุกอย่าง มันเจือไปหมด

 

แต่ถ้ามันย้อนกลับเข้ามา สิ่งที่ย้อนกลับเข้ามา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เราเอาสัจจะมาเป็นตัวตั้ง แล้วเราใช้ปัญญาไล่ตาม มันยังไม่เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันก็เลยแบบว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี่เป็นกิริยาเท่านั้น กิริยาของมัน ถ้ากิริยามันเป็นแบบนั้นแล้ว แล้วผลที่ออกไปมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

“พอมีตัณหาไปยึดมันถึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานมันถึงมีทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดดับ” นี่ก็ไปเถียงเขาไง ไอ้นั่นก็ทัพพีขวางหม้อ ไอ้นี่ก็ตาบอดคลำช้าง แล้วพอเถียงกันจบแล้ว

 

เวลาเราพูดนี่นะ เราพูดยืนยัน ยืนยันหมายความว่า ในวงปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ยืนยัน ไอ้พวกนักปฏิบัติมันก็เข้มแข็ง นักปฏิบัติมันก็แบบว่า เขาเรียกว่าลงใจ ลงใจว่าในการประพฤติปฏิบัติ มรรคผลมันมี ในการปฏิบัติของเรา เราก็จะทุ่มเท

 

ถ้าเราปฏิบัตินะ เริ่มต้นปฏิบัติเราก็ไม่แน่ใจ สังคมก็ไม่แน่ใจ ต่างคนต่างทำกันด้วยความไม่แน่ใจ กิเลสมันก็ไม่แน่ใจในใจเราอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติด้วยความไม่แน่ใจ มรรคผลจะมีจริงหรือไม่มีจริงก็ยังไม่แน่ใจ ก็ลูบๆ คลำๆ กันอยู่นี่ มันก็ทำให้วงปฏิบัติมันจะเริ่มรวนเร เริ่มต่างๆ กันไป

 

ฉะนั้น สิ่งที่เราออกมายืนยันๆ ยืนยันกับในวงปฏิบัติ ยืนยันในการปฏิบัติให้มันเป็นความจริง เราพูดเพื่อเหตุนี้นะ ที่เราพูดนี่เราอยากให้วงปฏิบัติ อยากให้พระกรรมฐาน อยากให้นักปฏิบัติของเราให้มั่นใจ ให้มั่นใจ ให้ลงใจ ให้เข้มแข็ง ให้ปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมา ทีนี้ใครจะเข้ามาเจาะยาง ใครเขาจะทำให้เรรวน ใครเข้ามาจะมาผลักให้ล้ม ให้เรามีสติมีปัญญา ด้วยเหตุผลแยกแยะให้เห็นความจริงและความไม่จริง เราพูดเพื่อเหตุนี้ เราไม่ใช่พูดให้ใครจำขี้ปากแล้วไปโม้ต่อ เราไม่ได้พูดให้ใครจำขี้ปาก แล้วก็จะเอาไปเถียงกัน ไม่มีประโยชน์หรอก ให้เถียงกับเราขึ้นมา

 

อันนี้พูดถึงนะ “แต่มีท่านหนึ่งที่ลูกเคารพ ท่านตอบลูกว่า อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นสมุทัย เห็นขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์แท้ เป็นอรหัตตมรรค”

 

แน่ะ! ไอ้ทัพพีขวางหม้อ อุปาทานในขันธ์ ๕ ก็เป็นอุปาทานในขันธ์ ๕ ก็อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นสมุทัย สมุทัยมันเป็นแล้ว ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาคือสมุทัย ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ควรละสมุทัย ควรละตัณหาความทะยานอยากในขันธ์ ๕

 

“ขันธ์ ๕ นั้นเป็นตัวทุกข์แท้” ถ้าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ สิ่งที่มันเป็นตัวทุกข์ ตัวขันธ์ก็คือตัวขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงไหนมันเป็นทุกข์ แล้วอะไรเป็นอรหัตตมรรค อรหัตตมรรค มันยังอีกไกลนัก

 

ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด เราพิจารณาจิต แล้วพอมันทิ้งขันธ์ทั้งหมด ทิ้งขันธ์ทั้งหมด ขันธ์อย่างละเอียดไม่มีเลย มันทิ้งรูปราคะ อรูปราคะ มันทิ้งกามราคะปฏิฆะ ปฏิฆะนี่ข้อมูลของมัน มันทิ้งหมดแล้ว กามราคะปฏิฆะ แล้วเข้าไปเป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานเฉยๆ ถ้าอย่างนั้นยังไปติด ไปติดแล้วอรหัตตมรรค มันอยู่ไหน อรหัตตมรรค อะไรเป็นอรหัตตมรรค

 

เขาเรียกว่ามรรค ๔ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๔ แล้วพอเห็นขันธ์ ๕ เป็นอรหัตตมรรค นี่มันเป็นไอ้เข้ขวางคลองไง เราก็เลยงงเข้าไปใหญ่ มันยิ่งซ้ำร้าย ซ้ำร้ายที่ว่า “แล้วอีกท่านหนึ่งท่านเป็นพระสุปฏิปันโนท่านหนึ่ง ท่านตอบลูกว่า เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ขันธ์เป็นทุกข์ จึงมีตัณหา”

 

เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะมันไม่รู้ทุกๆ อย่างตามความเป็นจริงมันถึงมีอวิชชา อวิชชาคือรู้แบบไม่รู้ ถ้ารู้แบบไม่รู้นี่คือตัวอวิชชา จึงมีตัณหา

 

ไอ้นี่พูดถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ

 

“เพราะมีตัณหาจึงไปเกาะในขันธ์ เพราะไปเกาะจึงเกิดอุปาทาน”

 

ไอ้นี่มันเป็นทางวิชาการทั้งนั้น ทางวิชาการแบบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่รู้ไง

 

“มันเป็นทุกข์ พอถึงเป็นทุกข์ เพราะเกิดเป็นภพเป็นชาติ แต่เป็นทุกข์ในอริยสัจเหมือนกับก้อนหิน จะมีอุปาทานหรือไม่มีอุปาทานมันก็เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง”

 

เราต้องไปวิจัยแล้วว่าก้อนหินมันทุกข์หรือเปล่า เอ๊ะ! ต้องบอกองค์การนาซาเนาะ ไปเก็บก้อนหินจากดวงจันทร์มา จากดาวอังคาร กับก้อนหินในโลก แล้วมาวิจัยว่ามันมีชีวิตหรือเปล่า มันมีความทุกข์จริงหรือเปล่า ก้อนหินมีทุกข์หรือเปล่า ต้องถามก้อนหินเนาะว่าก้อนหินมันทุกข์ไหมวะ ถ้าก้อนหินมันทุกข์ โรงโม่หิน มึงไปบดหินเอามาสร้างตึก ตึกมันร้องครวญครางเลยล่ะ ตึกในกรุงเทพฯ กลางคืนมันจะโหยหวนเลย มันทุกข์มันน่ะ เพราะมันมีก้อนหินในนั้น ก้อนหินในตึกในกรุงเทพฯ มันจะโหยหวน ทุกข์ๆๆ เอ๊! กลางคืนนอนมันจะมาบ่นให้ฟัง

 

ก้อนหินมันไม่มีทุกข์ ธาตุมันไม่มีทุกข์ ธาตุ เห็นไหม ธาตุ ๔ กับธาตุ ๖ เวลาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุ ๖ อากาศธาตุ ธาตุรู้ ธาตุ ๖ ฉะนั้น ธาตุ ธาตุมันมีอุปาทานไหม ธาตุมันเป็นทุกข์ไหม

 

ธาตุมันไม่มีทุกข์ จิตต่างหาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส รูป รส กลิ่น เสียง ของที่สวยงามดีเด่นขนาดไหน สุดยอดขนาดไหน มันไม่มีกิเลส รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหาก ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหาก

 

แล้วเขาบอกว่า “เพราะไม่รู้ในขันธ์มันถึงเป็นทุกข์ เพราะไม่รู้ในขันธ์ถึงมีปัญหา เพราะไม่รู้ในขันธ์มันถึงเป็นปุถุชน”

 

แต่พอปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนหมายถึงว่า พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา จิตสงบระงับได้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ฉะนั้น ผู้ที่กำหนดพุทโธ ผู้ที่ปัญญาอบรมสมาธิ มันรู้เท่าทัน รู้เท่าทันรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นบ่วงของมาร มันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

 

เวลาพิจารณาไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนมีความชำนาญเข้า มันตัดขาดเลย ตัดขาดหมายความว่า จิตเป็นอิสระ จิตมันไม่เกาะเกี่ยวกับรูป รส กลิ่น เสียง พอไม่เกาะกับรูป รส กลิ่น เสียง เขาเรียกว่ากัลยาณปุถุชน พวกนี้จะทำสมาธิได้ง่าย

 

พอทำสมาธิจนเข้มแข็ง สมาธิแก่กล้า สมาธิมีกำลัง พอสมาธิมีกำลัง มันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ถ้าน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นไหม จิตเห็น จิตรู้ นี่ไง รูปอันวิจิตร รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส จิตไปรู้ไปเห็นมันถึงเป็นวิปัสสนา คำว่า “วิปัสสนา” เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

 

ที่พูดกัน “ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔” โม้ทั้งนั้นน่ะ เพราะสติปัฏฐาน ๔ แบบโลก สติปัฏฐาน ๔ แบบวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ มันเหมือนก้อนหินนี่ไง ก้อนหินมันเป็นทุกข์ สติปัฏฐาน ๔ ก็สร้างภาพขึ้นมา นี่พูดแบบโลกๆ นี่ไง พวกไอ้เข้มันขวางคลองไง แล้วขวางคลอง บอกนี่พุทธพจน์ ไม่ต้องเชื่อฉันนะ ไม่ต้องเชื่อ ไปพิจารณาเอา

 

ปริยัติเขาศึกษามา ถ้าปริยัติมั่นคง ปริยัติเขาศึกษามา ถ้าคนมีสติปัญญาแบบหลวงตา หลวงตาท่านศึกษาจนเป็นมหา พอเป็นมหาขึ้นมา ท่านอยากจะประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านตั้งสัจจะว่าศึกษาเป็นมหาแล้วจะออกปฏิบัติ

 

เวลาออกปฏิบัติ ทั้งที่ศึกษามานะ “แล้วนิพพานมันจะมีอยู่จริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามีบุคคลผู้ใดชี้ชัดว่ามรรคผลนิพพานมีจริงอยู่ เราจะฝากชีวิตไว้กับบุคคลคนนั้น”

 

แล้วก็ตั้งใจมุ่งหน้าไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านยืนยันเลย นิพพานไม่ได้อยู่ที่ก้อนหิน ไม่ได้อยู่ที่อากาศ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุธาตุใดๆ ทั้งสิ้น นิพพานจะมีได้ในหัวใจของสัตว์โลก

 

นี่ทำให้ท่านมั่นใจ ท่านลงใจ ท่านถึงตั้งใจว่าจะอยู่กับหลวงปู่มั่น ให้หลวงปู่มั่นเป็นคนชี้นำ ถ้าชี้นำไป มันปฏิบัติขึ้นไปมันก็เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ท่านถึงกลับมา

 

สุดท้ายตอนที่ท่านชราภาพมากแล้ว ท่านบอกแต่เดิมเวลาเทศนาว่าการมันก็อาศัยคัมภีร์ เพราะคัมภีร์เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะพูดสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ต้องตามนั้น ก็พูดตามคัมภีร์

 

คัมภีร์ เวลาพูดตามคัมภีร์ เหมือนกับคัมภีร์คือบัญญัติ คือชื่อสมมุติขึ้นมา เราพูดสิ่งใดเราต้องพูดสิ่งนั้น แต่สุดท้ายท่านเทศน์บ่อยครั้งเข้า เทศน์จนมีความชำนาญ ท่านบอกว่าเวลาท่านเทศน์ท่านไม่เทศน์เกี่ยวกับปริยัติเลย ไม่เทศน์เกี่ยวกับคัมภีร์เลย ท่านเทศน์ออกมาจากหัวใจ เทศน์ออกมาจากหัวใจคือเทศน์ออกมาจากความรู้สึกที่มันเป็นจริง แล้วเอาสิ่งนั้นเปรียบเทียบออกมา ถ้าเปรียบเทียบออกมานะ

 

แต่ถ้าเราเอาความเป็นจริงของเรา เราจะเปรียบเทียบ เราต้องเปรียบเทียบผ่านทางทฤษฎี ทฤษฎีนั้นมันก็จริงตามทฤษฎีนั้น แต่ทฤษฎีนั้นเป็นพุทธวิสัย เป็นทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนที่ปฏิบัติจริงรู้จริง เห็นไหม รู้จริงตามความเป็นจริง มันก็มีความจริงในหัวใจเหมือนกัน เขารู้จริงตามนั้นก็พูดตรงเลย ตรงออกมาจากใจเลย ถ้าพูดตรงออกมาจากใจ อย่างเช่นถ้าใครจะพูดตรงออกจากใจก็กลัวว่าเขาจะหาว่าเรานี่วางตัวไว้สูงส่ง ก็ต้องพูดความจริงนี้ผ่านไปในคัมภีร์ ฉะนั้น ใหม่ๆ ก็ต้องเทศน์ผ่านคัมภีร์ๆ แต่พอตอนท้ายๆ ท่านบอกว่าท่านเทศน์ออกมาจากใจเลย ถ้าเทศน์ออกมาจากใจ

 

ฉะนั้น ออกมาจากใจ ออกมาจากจิตวิญญาณ ออกมาจากธาตุรู้ มันถึงจะมีความทุกข์ ฉะนั้นบอกว่า ถ้าไม่เชื่อ ถ้าแบบว่าตัวขันธ์เป็นทุกข์ ตัวขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใช่ไหม แล้วเขาบอกว่า ก้อนหินมันก็เป็นขันธ์หนึ่ง เพราะก้อนหินมันเป็นรูปอันหนึ่ง มันเป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์ในอริยสัจ แต่เป็นทุกข์ในอริยสัจ เช่น เหมือนก้อนหิน

 

ในอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันไม่มีนิพพาน นิโรธคือดับ มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ แล้วก้อนหินเป็นทุกข์ในอริยสัจ ขันธ์นี่เป็นทุกข์ในอริยสัจ ขันธ์นี่เป็นอรหัตตมรรค

 

อ้าว! มรรคก็คือมรรค ขันธ์ก็คือขันธ์ มรรคมันก็มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๘ สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาหยาบ ปัญญาละเอียด นั่นคือมรรค ขันธ์มันเกี่ยวอะไรกับมรรค แล้วก้อนหินมันเกี่ยวอะไรกับอริยสัจ เออ! ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนเชียวนะ ฉะนั้น ปล่อยให้ท่านเป็นสุปฏิปันโนของท่านไป

 

แล้วเราก็ยืนยันไง นี่เขาบอกว่า “ลูกเริ่มสับสน ขอให้ท่านอาจารย์ชี้ชัดๆ ให้ลูกด้วย”

 

ชี้ชัดๆ ชี้ชัดๆ เพื่อจะไปเถียงกับเขาใช่ไหม ชี้ชัดๆ ไปเพื่อจะไปหาเรื่องอีกสิ

 

ชี้ชัดๆ ไปเพื่อให้เรามั่นคง ให้เราไม่ลังเลสงสัย มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เราปฏิบัติตามความเป็นจริงในหัวใจของเรา การปฏิบัติรักษาใจเรา หลวงตาท่านสอนบ่อย ใจคนอื่นอย่าไปยุ่งกับเขา ให้รักษาใจเรา เราปฏิบัติใจเรา

 

แม้แต่ครูบาอาจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านไม่มีคุณธรรม ลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์องค์นั้นมีคุณธรรม ลูกศิษย์จะสอนอาจารย์ ลูกศิษย์จะแนะอาจารย์ต้องมีอุบาย บอกอย่างไร แนะอย่างไรให้อาจารย์ได้คิด ให้อาจารย์ได้หาเหตุผล ให้อาจารย์ได้มีสำนึก จะได้หาทางออก

 

แต่นี่ไม่อย่างนั้นน่ะสิ ตัวเองก็ยังหาทางออกไม่ได้ เห็นไหม “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะทุกข์ตัวจริงคือไตรลักษณ์”

 

โอ้โฮ! ไปใหญ่เลย เพียงแต่ว่ามีความสงสัยในใจแล้วถามปัญหามา แล้วเราตอบปัญหา ตอบปัญหาให้เข้าใจได้ เข้าใจได้ไม่ใช่ความจริงของเรา พอเข้าใจได้ จะเอาเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงไปเถียงกับพระสุปฏิปันโน

 

พอพระสุปฏิปันโนบอกว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์แท้ เป็นอรหัตตมรรค ถ้ามันเป็นรูป เพราะไม่รู้เท่าทันรูปถึงเกิดอุปาทาน แม้แต่ก้อนหินมันก็เป็นทุกข์

 

เออ! สุปฏิปันโนเขาบอกว่ามรรคผลอยู่ที่ก้อนหินนะเนี่ย ไอ้ก้อนหินมันเป็นทุกข์ ไอ้ก้อนหินมันเป็นอุปาทาน เพราะมันเป็นอริยสัจ เขาว่า

 

มันคนละเรื่องเดียวกันเลยล่ะ คือว่ามันสังคมคนละสังคมแล้วไปคุยกัน ปริยัติก็ส่วนปริยัติ ไม่เคยคิดว่าปริยัติจะไม่ถูกต้องนะ ปริยัติก็ถูกต้องในวงปริยัติของเขา แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรม เขาไม่รู้ถึงเนื้อหาสาระตามความเป็นจริง นี่มันเนื้อหาสาระที่ปริยัตินั้น เป็นเนื้อหาสาระในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเป็นทฤษฎีที่เราศึกษามา มันก็เป็นวงของปริยัติที่ให้เขาเถียงกันเป็นทางวิชาการ

 

ทางวิชาการเขาจะเถียงกัน เขาทำวิจัยเพื่ออะไร เพื่อทางวิชาการ วิชาการเสร็จแล้วก็เป็นรูปเล่ม แล้วก็เสนอผลงาน แล้วก็จะเอาศาสตราจารย์ แล้วก็จะเอากระดาษกัน เป้าหมายมันอยู่นู่น อยู่ที่ใบรับรอง ใบประกาศ แล้วก็ไปแขวนไว้ ได้เป็นศาสตราจารย์จากการวิเคราะห์ทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไรล่ะ เรื่องหินก็เป็นอริยสัจ หินมันก็เป็นอรหัตตมรรค โอ้โฮ! แล้วก็ได้เป็นศาสตราจารย์ มีใบกระดาษมาแผ่นหนึ่ง แต่ในหัวใจยังงงอยู่ ในหัวใจยังต้องเกิดต้องตายอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วจะไม่ได้อะไรเลย ได้แต่สำรอกคายกิเลสออก

 

ยิ่งสำรอกคายกิเลสออกยิ่งจะเม้มปากมากขึ้น เม้มปากมากขึ้นเพราะพูดออกไปแล้วสังคมโลกเขาจะรู้กับเราไม่ได้ เขาจะเข้าใจกับเราไม่ได้ เหมือนมนุษย์คุยกับสัตว์ สัตว์มันไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่มันรู้ความหวังดีของมนุษย์ แต่ไม่เข้าใจภาษามนุษย์ แต่เข้าใจความหมายที่ว่าจะให้ทำสิ่งใด สัตว์มันรับรู้ได้แค่นั้น

 

ฉะนั้น สิ่งที่เขาปฏิบัติไปแล้วมันไปอีกคนละเรื่องเลยนะ นี่พูดถึงสับสน จะสับสน ถ้าไปคุยกับพวกไอ้เข้ขวางคลอง ไปคุยกับไอ้พวกนี้ เมื่อไหร่ก็สับสน มันไม่ใช่ ฉะนั้น ถ้าไม่สับสน หลับตาเสีย แล้วพุทโธต่อไป แล้วถ้าปฏิบัติแล้วมีเหตุมีผลจะต้องคุยกันมา

 

แต่ถ้าจะบอกว่า คนนู้นว่าอย่างนู้น คนนี้ว่าอย่างนี้ มันเป็นโลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่มีมาดั้งเดิม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสรรเสริญนินทา นินทากาเลมันมีมาดั้งเดิม ไม่ต้องเอาเข้ามาให้มันวุ่นวาย ทิ้งเอาไว้นั่น แล้วปฏิบัติรักษาใจของตัว เอาความจริงตรงนี้

 

ถาม : เรื่อง “ขอบคุณ”

 

ขอบคุณหลวงพ่อค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ

 

ตอบ : ไม่รู้ว่าเข้าใจเรื่องอะไร “ขอบคุณหลวงพ่อค่ะ” เราก็เลยย้อนกลับไปดูว่าขอบคุณเรื่องอะไร เขาขอบคุณเรื่องฌานสมาบัติ เขาถามเรื่องฌานสมาบัติมา แล้วเราก็ตอบเรื่องฌานสมาบัติไป

 

“ขอบคุณค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ”

 

อย่าถามมาอีกนะ เข้าใจแล้วอย่าถามอีกนะ มันเข้าใจตอนที่ตอบปัญหานี่มันเข้าใจ พอเดี๋ยวไปเจอประเด็นขึ้นมา สงสัยอีกแล้ว

 

เพราะฌานสมาบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฝึกกับอาฬารดาบส อุทกดาบสได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ แล้วอาฬารดาบส อุทกดาบสบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความรู้เหมือนเรา เป็นศาสดา คือเป็นพระอรหันต์แล้ว

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทิ้งเลย ไม่เอา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ อานาปานสติ เอาสัมมาสมาธิ ฉะนั้น สัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีศีล สมาบัติ ปัญญา

 

สมาบัตินี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามาแล้ว ทุกคนไปศึกษามาแล้ว พอศึกษามาแล้ว สมาบัติมันส่งออก รู้วาระจิต อภิญญา การรู้วาระต่างๆ มันเป็นเรื่องฌานสมาบัติ เรื่องฌานโลกีย์ ฉะนั้น สิ่งนี้เราบอกไว้เลย เราบอกว่ามันมีมาดั้งเดิมตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ขึ้นมา อุทกดาบส อาฬารดาบสเขาเป็นอาจารย์อยู่แล้ว มันมีมาดั้งเดิม ศาสนาแรกของโลกคือศาสนาผี เพราะมีจิต มีวิญญาณถึงกลัวผีกัน

 

ฉะนั้น ถ้ามีศาสนาพุทธแล้ว หรือไม่มีศาสนาพุทธ เวลาคนปฏิบัติโดยจิต โดยหัวใจ ถ้ามันทำของมันได้ มันทำของมันได้ พอทำของมันได้ มันทำของมันได้เพราะมันไม่มีศีล

 

ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลคือไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่รบกวนใคร ไม่เบียดเบียนตัวเอง ถ้าทำสมาธิขึ้นมามันก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะมีศีล มีสมาธิ ถึงมีปัญญา มันก็เป็นพระพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้สอนกัน สอนกันว่ามันจะเป็นฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌานบ้าฌานบอ

 

หลวงตาท่านพูดประจำ เพราะท่านเห็นโทษของมัน “ไอ้เรื่องฌานๆ แฌนๆ อย่ามาพูดกับเรานะ” หลวงตาท่านจะไม่กล่าวหรือพูดถึงเรื่องฌานสมาบัติเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนปฏิบัติหลงใหล ทำให้คนปฏิบัติสร้างภาพ

 

ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ เห็นไหม เด็กสมาธิสั้น เด็กสมาธิยาว สมาธิทำให้คนไม่ผิดพลาด สมาธิทำให้คนไม่ประมาท สมาธิทำให้เกิดปัญญา สมาธิทำให้ทุกคนดีงามหมด แล้วสมาธิ พอทำสมาธิขึ้นมา สมาธิเกิดขึ้นมาแล้วออกไปใช้ปัญญามันเป็นภาวนามยปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ศาสนาพุทธมันอยู่ที่นี่

 

ทีนี้เรื่องฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ ฌาน ๕ ฌานบ้าฌานบอนั่นมันก็ว่ากันไป แต่มันมีจริง ฉะนั้น เวลาถามมาเราถึงมีโอกาสได้พูด เราก็พูดบ้างไง ถ้าไม่มีโอกาสได้พูด ไอ้พวกจับจด พวกพราหมณ์ พวกผี แล้วอ้างตัวว่าเป็นพุทธ มันก็บอกว่าต้องทำ ทำฌานที่ ๑ ทำฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ มันว่ากันไป

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้วางไว้ ปฏิเสธ แต่มันเป็นไปได้เพราะคนมีจิต มีจิต มีความรู้สึก ความรู้สึกนึกคิดนี่ เวลาปฏิบัติไปมันจะเป็นแบบนั้น

 

แต่ถ้าทำสัมมาสมาธิ สมาธิเพื่ออะไร สมาธิเพื่อเป็นคนดี เป็นลูกก็ลูกที่ดี เป็นพ่อก็พ่อที่ดี เป็นนักบวชก็นักบวชที่ดี พอเป็นนักบวชที่ดีแล้ว ถ้าทำสมาธิดีขึ้น ใช้ปัญญาขึ้นไป มันก็จะเข้าสู่ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เข้าสู่มรรค

 

เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านปฏิเสธช่องทางอื่นๆ ที่จะทำให้เราได้หลงใหล แล้วเหลือช่องทางเดียว ช่องทางที่เข้ามาสู่อริยสัจ ช่องทางเข้าไปเป็นมรรค ท่านเปิดไว้ช่องทางเดียว แต่พวกเรามันเหมือนปลาที่มันโดดขึ้นมาจากน้ำ มันดิ้น จิตใจของคนมันแส่ส่าย มันแส่ส่ายไปหาตามความพอใจของมันไง

 

ฉะนั้น มีโอกาสได้พูด เราก็ได้พูดแล้ว ถ้าพูดไปเดี๋ยวมันจะซ้ำว่าตอบไปแล้ว หลวงพ่อตอบไปแล้ว นี่ขอบคุณ ไม่ได้ถาม ตอบไปแล้วก็จบ แหม! พอเขาขอบคุณมา แหม! จะตอบเขาอีกรอบหนึ่ง อยากได้กระดาษกับเขาเหมือนกันไง อยากได้กระดาษสักใบจะมาแขวนไว้ที่นี่ให้เขาชื่นใจ

 

ไม่ใช่อย่างนั้น นี้ขอบคุณ เพราะเขาขอบคุณ ขอบคุณเรื่องอะไร อ๋อ! เป็นเรื่องฌานสมาบัติ เรื่องฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติตามความเป็นจริงก็อีกเรื่องหนึ่งนะ อีกเรื่องหนึ่งหมายถึงว่า เข้านิโรธสมาบัติ เข้าฌานสมาบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติแล้วท่านก็ศึกษา ทุกคนศึกษา เพราะเหมือนกับทางวิชาการ มีวิชาการใหม่ๆ เราก็ต้องรู้ เราต้องเข้าใจทางวิชาการเพื่อไม่ให้ตกยุคตกสมัย นักปฏิบัตินะ เขาจะฝึกหัดของเขา เขาจะทดสอบของเขา ให้รู้ว่าไอ้นี่คือไอ้นี่ ไอ้นี่คือไอ้นี่ เวลาพูดคุยมันเข้าใจไง ฉะนั้น เรื่องฌานสมาบัติก็เรื่องฌานสมาบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องของมรรค เรื่องของมรรค ๘ ถ้ามรรคก็เรื่องของมรรค

 

ฌานสมาบัติ พวกอภิญญา พวกเกจิอาจารย์ พวกทำของขลังเขาใช้อย่างนั้น มันจะออกทางนู้นน่ะ ไม่เข้ามรรคหรอก มันเป็นเรื่องงาน เรื่องการงาน การงานทำความขลังของเขา

 

แต่ถ้าเรื่องมรรค ทำให้หัวใจขลัง หัวใจขลังเพราะหัวใจมันรู้จริงตามความเป็นจริงของมัน ถ้ารู้ตามความเป็นจริงของมันแล้วไม่ตื่นเต้น ไม่ตกใจ ไม่หลงใหลไปกับเรื่องนอกศาสนา ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เป็นพระโสดาบันไม่เชื่อนอกศาสนาอีกแล้ว ไม่เชื่อนอกศาสนา เชื่อมรรคเชื่อผล พาดเข้าสู่กระแส ทำความจริงให้ถึงที่สุด พอถึงที่สุดแล้วจบสิ้นนะ จบเลย พอจบแล้วเข้าใจตามความเป็นจริงหมด เห็นไหม นิพพานเที่ยง เอวัง