ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้เท่านิมิต

๒๘ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

รู้เท่านิมิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “ต้องการรู้เทียบเคียงคำสอนของพระในนิมิตว่าถูกต้องไหม”

 

กราบนมัสการครับ ผมมักนั่งสมาธิและชอบนั่งสมาธิอยู่เป็นประจำครับ สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ทุกครั้งก็คือนิมิต ซึ่งผมไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่มีนิมิตหนึ่งที่แปลกคือเห็นความสว่างเกิดขึ้น ผมก็เพ่งพุทโธลงที่ความสว่างนั้นจึงเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง (ผมรู้จักด้วย) ท่านครองจีวรสีขาว ผิวพรรณสดใส ดูเป็นมิตร ท่านเดินเข้ามาในความสว่างนั้น ผมก็พุทโธตามนิมิตไปด้วย นิมิตไม่หาย พุทโธก็ไม่หาย เหมือนทั้ง ๒ สิ่งนี้ส่งเสริมเป็นเพื่อนพี่น้องกัน

 

พระท่านนั้นก็นั่งลง แล้วก็เห็นโครงกระดูกซ้อนออกมา แล้วก็หักๆๆ กองจนสูงเป็นภูเขา ดวงสว่างนั้นก็ลอยเด่นอยู่เหนือกองภูเขากระดูกนั้น ลอยเด่นอยู่อย่างนั้น ผมก็พุทโธ นิมิตนี้ก็เด่นอย่างนั้น

 

แต่สักระยะ ผมจะถอยจากสมาธิ คือจะออกจากสมาธิ พระท่านก็พูดว่า นิมิตทุกนิมิตมีความหมาย การตีความในนิมิตนั้นก็คือการใช้ปัญญา สมัยท่านดำรงธาตุขันธ์ ท่านไม่เคยปฏิเสธนิมิตหรือมองข้ามนิมิต เมื่อท่านพูดจบ เหมือนสมาธิมันถอยออกมา เหมือนเราถอยออกมาจากนิมิต จากสมาธิครับ ผมก็ตีความหมายไม่ออก แต่สงสัย จึงเกิดคำถามที่ต้องรบกวนถาม

 

พระที่ปรากฏในนิมิต ทำไมท่านสอนได้ แล้วที่ท่านสอนจริงไหมครับ ความหมายของนิมิตนี้คืออะไร พระท่านมาจากไหน หรือเพราะผมเคยเห็นภาพท่าน ท่านจึงปรากฏในนิมิต แต่ก็สงสัยอีกว่าทำไมไม่เป็นพระท่านอื่น รบกวนถามแค่นี้

 

ตอบ : เริ่มต้นจากนิมิตก่อน การเห็นนิมิต หรือใครภาวนาแล้วเป็นนิมิต คำว่า “นิมิต” เรานั่งสมาธิ แล้วว่าเกิดนิมิตทุกครั้ง แล้วก็ไม่สามารถปฏิเสธนิมิตได้ด้วย

 

คำว่า “นิมิต” นิมิตมันก็เหมือนคน เหมือนคนเรานะ เรานอน บางคนนอนแล้วฝัน บางคนนอนแล้วไม่ฝัน ไอ้คนนอนที่ฝันก็ฝันแล้วฝันเล่าๆ ฝันอยู่อย่างนั้น เพราะคนมันจริตนิสัยแบบนั้น ไอ้คนนอนแล้วไม่ฝัน อย่างไรมันก็ไม่ฝัน ทีนี้เวลาคนนอนไม่ฝันมันก็ไม่ฝันใช่ไหม โดยปกติของเขา เขาก็นอนหลับพักผ่อนของเขาเป็นธรรมดาของเขา

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนภาวนานะ ถ้าจิตมันเป็นปกติ เวลาจิตมันสงบมันก็สงบตามธรรมชาติของมัน แล้วถ้าเวลามันคลายออกก็คลายออก ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาได้ก็จะวิปัสสนาไป แต่ถ้าใครปฏิบัติ พอจิตมันสงบแล้วเห็นนิมิต มันก็จะเห็นนิมิตของมัน ถ้าเห็นนิมิตของมัน แล้วจะแก้นิมิตอย่างไร

 

ถ้ารู้เท่านิมิต รู้เท่านิมิตแล้วพยายามประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องกันไปมันก็จะเป็นประโยชน์ เหมือนเช่น หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านภาวนาของท่าน เพราะหลวงปู่เสาร์ท่านบอกว่า บารมีของท่านเวลาสงบก็สงบไปเฉยๆ แต่หลวงปู่มั่นเวลาท่านสงบลงไป ท่านไปรู้เห็นต่างๆ ท่านขึ้นไปเดินบนท้องฟ้า ท่านลงไปในบาดาล ท่านไปหมดเลย แล้วท่านก็มาปรึกษาหลวงปู่เสาร์ ว่าจิตของผมเป็นอย่างนั้นน่ะ

 

หลวงปู่เสาร์บอกว่า “จิตของท่านมหัศจรรย์ จิตของผมไม่เป็นแบบนั้น ท่านต้องแก้ของท่านเอง” นี่เวลาอาจารย์ท่านแก้ลูกศิษย์นะ บอกหลวงปู่มั่นต้องแก้เอง เพราะว่าจิตของหลวงปู่เสาร์ท่านไม่เป็นแบบนั้น

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรานอน คนที่นอนฝันก็คือคนที่นอนแล้วฝัน ไอ้คนที่นอนแล้วไม่ฝันก็คือนอนแล้วก็ไม่ฝัน แต่จุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายคือต้องการทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วมันจะมีกำลัง ถ้าใจเราไม่สงบแล้วมันไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลังแล้วเป็นคนอ่อนแอ คนอ่อนแอหวังพึ่งแต่คนอื่น

 

คนอ่อนแอนะ ถ้าใครมาช่วยเหลือจะไปกับเขาเลย ถ้าคนแข็งแรง ใครมาจะช่วยเหลือยังอืม! คนจะช่วยเหลือ เขาช่วยเหลือเราด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือเขาจะมาหลอกลวงเรา คนที่แข็งแรงใครจะมาช่วยเหลือ อืม! เขามีน้ำใจ ถ้าเราแข็งแรงอยู่แล้ว ถ้าเขาจะช่วยเหลือ เขาจะมาอุปัฏฐากอุปถัมภ์ เราก็เห็นด้วย แต่ถ้าเขาจะมาหลอกลวง เราก็รู้ นี่คนแข็งแรง ถ้าคนอ่อนแอ อยากจะให้เขาช่วยเหลือตั้งแต่ต้น นี่โดนเขาหลอกตลอดไป

 

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันเข้มแข็ง จิตมันแข็งแรงขึ้นมา ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน มันจะเป็นประโยชน์ มันใช้ประโยชน์นั้นได้ นี่พูดถึงหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านจะราบเรียบของท่านไป นี่นิสัยของท่าน จริตของท่าน แต่เวลาจริตของหลวงปู่มั่นมันเห็น มันรู้มันเห็น มันมหัศจรรย์มากเลย มหัศจรรย์มาก แต่เวลาปฏิบัติไปมันจะมีปัญหามาก มันต้องแก้ไขตัวเองได้มาก ถ้าแก้ไขแล้วมันจะจบ เวลาถึงที่สุดแล้วมันก็จะมีความรู้กว้างขวาง จะเป็นประโยชน์

 

นี่พูดถึงนิมิต ฉะนั้น คำว่า “นิมิต” คนที่นอนฝันกับคนที่นอนไม่ฝันก็แตกต่างกัน แล้วคนที่นอนฝัน เวลาฝันแล้ว ฝันไปเห็นภูตผีปีศาจ ตื่นขึ้นมานี่ อู้ฮู! ทุกข์มาก ร้อนมาก วิตกกังวลไปหมดเลย เวลานอนหลับไปแล้วไปฝัน ฝันเห็นเทวดา ตื่นขึ้นมา อู๋ย! ปลื้มใจมาก มีความสุขมาก

 

ความฝันนั้นมันก็ยังแตกต่างหลากหลาย นิมิต นิมิตที่เกิดขึ้น นิมิตที่ถูกต้อง นิมิตที่เป็นประโยชน์ นิมิตที่เป็นโทษ นิมิตมันก็ยังแตกต่างกันไปอีก ฉะนั้น คำว่า “รู้เท่านิมิต” มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้ามันเป็นนิมิต นิมิตก็ต้องเป็นนิมิต

 

ฉะนั้น คำว่า “นิมิต” จะบอกว่า เวลาบอกถึงนิมิต บอกถึงเรื่องการฝัน ใครฝัน ฝันว่าไปเที่ยวสวรรค์ ฝันว่าไปที่น่ารื่นรมย์ ตื่นมามันก็มีความสุข คนฝัน ฝันไปแล้วไปเจอภูตผีปีศาจ ไปเจอนรกอเวจี ไปเจอสิ่งที่ไม่ดีงาม ตื่นขึ้นมาแล้ว อู๋ย! เป็นทุกข์เป็นยากเลย อันนี้มันเป็นความฝัน มันเป็นความเห็นของคน

 

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงนะ นิมิตนี่เป็นนิมิต ทีนี้ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านเป็นจริงของท่าน ท่านเป็นประโยชน์กับท่าน แต่คนที่กว่าจะเป็นจริงได้มันต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก่อน อย่างเช่นว่า ถ้าความเป็นจริงนะ ความเป็นจริง เช่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการ หลวงปู่ฝั้นท่านไปกราบหลวงปู่มั่น แล้วท่านพูดกับหลวงปู่มั่น ทำไมกลิ่นมันหอมไปหมดเลย ไม่ใช่กลิ่นธูปควันเทียน ไม่ใช่ กลิ่นหอมไปหมดเลย นี่ท่านเห็นของท่าน

 

หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า อืม! มันก็เป็นแบบนั้นน่ะ แล้วเวลาหลวงตาท่านไปถามว่า สิ่งที่ว่าหลวงปู่ฝั้นท่านพูดอย่างนั้นนั่นคืออะไร

 

คือรุกขเทวดา รุกขเทพทั้งหมด เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเทศนาว่าการ พวกนี้เขาจะมาฟังเทศน์ เขามาอนุโมทนา หลวงปู่ฝั้นท่านเห็นด้วยตาของท่าน ด้วยตาเนื้อของท่าน ด้วยบารมีของท่าน หลวงปู่มั่นท่านเห็นของท่าน

 

เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ เวลากลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มขึ้นไป เทวดาแต่ละชั้นๆ จะมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เวลาเทวดา อินทร์ พรหม เห็นไหม พรหมมา ยายกั้งเขาเป็นนักปฏิบัติ เขาก็มีตาเหมือนกัน พอเขามีดวงตาเหมือนกัน เขาเห็นเทวดาเป็นชั้นๆ มาหาหลวงปู่มั่น แต่คนอยู่แถวนั้น พระยังไม่เห็นเลย แล้วชาวบ้านก็ไม่เห็น อันนี้ไม่ใช่นิมิต อันนี้มันเป็นข้อเท็จจริง ผลของวัฏฏะ ในวัฏวน กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันมีเรื่องของโลกนี้ เรื่องของเทวดา เรื่องของอินทร์ พรหม แต่พวกเราตาเนื้อ เรามองไม่เห็น แต่คนที่เขามีความจริง อันนี้ไม่ใช่นิมิต

 

ฉะนั้น เวลายายกั้งเห็นพวกเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น ยายกั้งเขาอยู่ที่บ้านเขา เขาเดินจงกรมของเขา เวลาจิตเขาลง เขาเห็นของเขา แล้วพอเขาเห็นแล้ว คนเห็นด้วยกัน เช่น หลวงปู่ฝั้นกับหลวงปู่มั่น ท่านเห็นด้วยกัน ท่านสื่อภาษา ท่านเข้าใจต่อกัน

 

แต่หลวงตาท่านนั่งฟังอยู่ด้วย เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านกลับไปแล้ว หลวงตาท่านไปถามหลวงปู่มั่นว่า ที่หลวงปู่ฝั้นท่านพูดท่านหมายถึงอะไร

 

หลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่ารุกขเทวดา รุกขเทวดาเขาอนุโมทนา เพราะหลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์อบรมพระ เพราะมันลงอุโบสถ เวลาท่านเทศน์ขึ้นมา พวกนี้จะมาร่วมอนุโมทนาด้วย

 

เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในกุฏิ เวลาเทวดาจะมาฟังเทศน์ มาเป็นชั้นๆ เลย แล้วยายกั้งเห็น ไอ้ที่เห็นเป็นเทวดาลงมานี่รู้ได้ แต่ไอ้ที่มี ๔ หน้าเป็นทองลงมาเลย นั่นมันอะไรน่ะ นี่เวลาพรหมลงมาทำไมเขาเห็นล่ะ

 

จะบอกว่า คำว่า “นิมิต” รู้เท่านิมิตมันเรื่องหนึ่ง สัจจะความจริง ผลของวัฏฏะมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันคนละเรื่อง ฉะนั้น ที่พูดนี้เราจะพูดก่อนว่า เวลาปฏิบัติแล้ว พอจิตสงบแล้วมันเห็นนิมิตทุกทีเลย แล้วปฏิเสธนิมิตไม่ได้ ถ้าปฏิเสธนิมิตไม่ได้ เราต้องรู้เท่า เรารู้เท่านะ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ นิมิตก็คือนิมิต นิมิตที่มันรู้มันเห็น เวลามันปล่อยนิมิตเข้ามามันก็เข้าสู่ความสงบ เพราะจิตมันสงบมันต้องรู้ต้องเห็น มันต้องจริตนิสัยด้วย อย่างที่ว่าคนนอนฝันก็คือจะฝันไปเรื่อย คนนอนไม่ฝันก็คือคนนอนที่ไม่ฝัน คนนอนไม่ฝันเขานอนหลับสนิท เขาได้พักผ่อนของเขา คนนอนฝัน พอนอนไปแล้วหลับสนิทไหม ถ้าหลับสนิทมันก็หลับสนิทไป ถ้ามันฝันล่ะ ถ้าฝันก็ส่วนฝัน ไอ้นี่ฝันนะ

 

ฉะนั้น เวลาเกิดนิมิตล่ะ นิมิตจิตสงบมันไม่ใช่นอนหลับ พุทโธๆๆ จิตมันสงบมันมีสติสัมปชัญญะตลอด ถ้าคนตกภวังค์มันวูบมันหายไป นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนที่จิตมันสงบมันมีสติสัมปชัญญะตลอด แล้วพอมันจิตสงบแล้วถ้ามันรู้มันเห็นล่ะ

 

ถ้ารู้เห็น ถ้าเป็นนิมิต คนเห็นนิมิตแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นกาย เห็นกายก็อย่างหนึ่ง เห็นกายโดยเจโตวิมุตติมันจะเห็นกายโดยภาพ โดยเป็นอวัยวะ โดยกระดูก โดยเส้นขน โดยเส้นผม โดยผิวหนัง ใครจะเห็นรูปแบบสิ่งใด นั้นจะเป็นวิปัสสนา

 

แต่ถ้าจิตมันลง จิตมันมีความสงบมาก แล้วมันเห็นนิมิตล่ะ เห็นนิมิต ถ้าเห็นนิมิต นิมิตอย่างที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ นั่นข้อมูลอีกแล้ว

 

นี่มันแตกต่างกัน ถ้านิมิต ถ้ารู้เท่านิมิต นิมิตที่แบบว่าถ้าจิตใจยังอ่อนด้อย จิตใจยังไม่มีกำลัง สิ่งที่รู้ที่เห็นส่วนใหญ่แล้วจะผิดพลาด ส่วนใหญ่ที่รู้มันยังไม่คงที่ คือการทำงาน จิตของคน ดูสิ ในพลังงานสิ่งต่างๆ อย่างเช่นน้ำมันดิบ น้ำมันดิบขึ้นมา น้ำมันดิบยังใช้อะไรไม่ได้ แต่พอกลั่นเป็นน้ำมันชนิดต่างๆ แล้วจะใช้ประโยชน์ได้

 

จิตของเรา จิตของเรายังดิบๆ จิตของเรายังไม่ได้ฝึกหัดสิ่งใดเลย มันจะไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ มันต้องกลั่น มันต้องกลั่นก่อน มันต้องทำความสงบของใจก่อน มันต้องใช้ปัญญาก่อน ถ้าจิตมันมีสติมีปัญญาขึ้นมาแล้ว ถ้าน้ำมันได้กลั่นแล้ว เป็นประโยชน์แล้ว มันจะเป็นประโยชน์หมดเลย ถ้ารู้เท่านิมิตนะ มันจะไม่ติดไปก่อนไง

 

ถ้ามันไม่ติดไปก่อน สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเห็น ถ้ามีสติปัญญา อย่างที่เขาทำนี่ถูก เขาบอกว่า เวลานิมิตมันเกิดขึ้น กำหนดพุทโธไปเรื่อย กำหนดพุทโธต่อเนื่องๆ

 

ทีนี้พอพุทโธต่อเนื่องไปแล้ว ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันก็ปล่อยวางได้ ถ้าจิตไม่สงบเข้ามามันก็เห็นอย่างนี้ อย่างที่รูปปรากฏขึ้น ถ้าปรากฏขึ้น เขาบอกว่า พอกำหนดนิมิต นิมิตอันหนึ่งมันแปลก มันเกิดแสงสว่างขึ้น

 

แสงสว่างนะ เวลาจิตถ้ามันสงบ สงบโดยปกติมันสงบเฉยๆ ก็มี ถ้าสงบแล้วมันมีแสง มันออกรับรู้ มันมีแสงสว่างเกิดขึ้น แสงสว่างเกิดขึ้น แสงสว่างนั้นมาจากไหน

 

กลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่พุทโธ สิ่งต่างๆ ที่มันส่งออกเป็นเครื่องล่อ มันจะวางได้หมดเลย ฉะนั้น เวลาคนถ้ามันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด ฉะนั้น เรื่องฌานโลกีย์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ทีนี้พระพุทธศาสนา กับสิ่งที่ว่าโดยไสยศาสตร์ ถือผี ความถือผีถือสางมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถือผีถือสาง เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เวลาถ้าเราจิตสงบแล้วเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม อริยสัจมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ใช่เห็นผีเห็นสาง มันเห็นสัจจะ

 

สัจจะคืออะไร เพราะกายกับใจ กายกับใจมันมีของมันอยู่แล้ว กายกับใจนี้เป็นของเรา เราพิจารณาของเรา เราพิจารณาสมบัติของเรา เราพิจารณาสิ่งที่กายกับใจเรามันเป็นสายบุญสายกรรม มันมีเวรมีกรรมของมัน จิตนี้ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมลงมา ไปเกิดเป็นมนุษย์ ตกนรกอเวจี มันก็จิตดวงนี้ไปเกิด ไปเกิดมันได้สถานะ สถานะกับจิตดวงนี้มันต้องเป็นสถานะเดียวกัน ถ้าจิตสงบแล้วมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะไปสะไปสางกัน มันจะไปรื้อถอนสิ่งที่อวิชชาในใจ อันนี้เป็นอริยสัจ

 

แต่ถ้าไปเห็นจิตวิญญาณนะ พอจิตมันสงบแล้ว พวกไสยศาสตร์ไปเห็นผี เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เป็นไสยศาสตร์ ถ้าไสยศาสตร์ ดูสิ ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม สิ่งนี้มันมีอยู่แล้วไง ถ้าสิ่งนี้มีอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว แล้วใครไปรู้ไปเห็นเข้าก็เป็นผู้วิเศษ เพราะรู้เห็นแตกต่างกับปุถุชน รู้เห็นแตกต่างกับมนุษย์ธรรมดาที่เขารู้เห็น ก็ไปหลงใหลกันว่าสิ่งนี้เป็นผู้วิเศษ

 

ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง เวลาอยู่ตรงกลาง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมเรื่องอริยสัจ เรื่องการถอดการถอน เรื่องสายบุญสายกรรมระหว่างจิตกับสถานะภพชาติที่มันมีเวรมีกรรมต้องได้สถานะ ท่านได้รื้อถอนหมดแล้ว รื้อถอนหมดแล้ว เห็นไหม รู้แจ้งโลกนอก โลกใน มันเลยสาวออกมาเรื่องที่เราเห็นแล้วเราตื่นเต้น เห็นแล้วเราไม่เข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจ

 

เราจะบอกว่า มันสถานะของจิตก่อน ถ้าจิตมันเข้มแข็ง จิตมันแข็งแรงแล้ว สิ่งที่ว่า รู้เท่านิมิตแล้วนิมิตจะเป็นประโยชน์ เราใช้นิมิตได้ประโยชน์หมดเลย แต่จิตใจที่มันยังไม่เข้มแข็ง จิตใจที่ยังอ่อนแอ พอเราไปเห็นสิ่งต่างๆ เราก็สงสัย

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า รู้เท่านิมิต เพราะในการภาวนา ในกลุ่มนักปฏิบัติในกลุ่มอื่นเขาจะบอกเลยว่า พวกพระป่า พวกพุทโธ มันจะไปติดนิมิต เวลาเป็นสมถะมันจะไม่เป็นประโยชน์สิ่งใด

 

มันไม่ใช่ มันเป็นที่จริตนิสัย มันเป็นที่จิตที่มันเป็น อย่างเช่นคนนอนฝันและคนนอนไม่ฝัน คนนอนไม่ฝันก็ไม่เป็นไร ก็ภาวนาต่อเนื่องไป ไอ้คนนอนฝันก็ต้องแก้ความฝันนั้นให้เป็นปกติก่อน แก้ความฝัน ไม่ตื่นเต้นไปกับความฝันนั้น เราปฏิบัติเพื่ออริยสัจ ปฏิบัติเพื่อความจริง เราไม่ได้ปฏิบัติให้มันฝันแล้วให้จิตใจนี้มันฟุ้งซ่าน ฝันแล้วแบบว่าให้สิ่งที่ฝันแล้วเป็นการชี้นำให้หัวใจเราไปตามความเพ้อฝันอันนั้น ไม่ใช่ มันฝัน ฝันเพราะว่ามันเป็นจริตอย่างนี้ มันก็ต้องแก้อย่างนี้ให้มันจบ

 

รู้เท่า ฝันมันเป็นจริงหรือไม่จริง วางไว้ เพราะมันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่จิตสงบเข้ามาแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริงอันนั้น เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้

 

แล้วถ้ามันพิจารณาไปแล้ว พอถึงที่สุดแล้วมันพิจารณา มันถอดถอนแล้ว จิตใจมันเข้มแข็งมากขึ้นๆ สิ่งที่จริตนิสัย จิตใจที่มันเข้มแข็งมากขึ้น จิตใจที่มีกำลังแล้วออกไปเห็นนิมิต ออกไปรับรู้จริตนิสัย มันจะเป็นประโยชน์แล้ว เป็นประโยชน์อย่างเช่นหลวงปู่มั่นที่ว่าท่านกว้างขวางนี่ไง

 

หลวงปู่เสาร์ท่านบอกว่า เราไม่เคยเป็นแบบนั้น ถ้าท่านมั่นเป็นอย่างนั้น ท่านมั่นต้องแก้ของท่านมั่นเอง ต้องแก้ตัวเอง แต่ถ้าแก้ไปแล้วมันก็กว้างขวาง

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใครรู้ใครเห็นนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น นี่พูดถึงว่านิมิตก่อน ถ้ารู้เท่านิมิตแล้วมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้เท่านิมิตแล้ว นิมิตจะชักให้เราเสียเวลาได้ จะชักให้เราอยู่กับที่นั่นน่ะ ไม่ก้าวหน้าได้

 

แต่ถ้าเราพุทโธๆ จนมันวางสิ่งนี้ได้ ถ้ามันเห็นนิมิต เรากำหนดพุทโธชัดๆ พอมันเข้าสู่พลังงาน เข้ามาสู่ธาตุรู้ มันวางหมด มันก็เป็นสัมมาสมาธิ มันก็ปล่อยวางได้

 

แต่ถ้ามันรู้มันเห็น ถ้ามันรู้มันเห็นอย่างเช่นคำถามบอกว่า “มันเกิดแสงสว่าง แล้วก็เพ่งที่พุทโธที่แสงสว่างนั้น จนเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง (ผมรู้จักท่าน แต่ไม่ขอเอ่ยนาม เพราะท่านมรณภาพจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก) ท่านครองจีวรสีขาว ผิวพรรณสดใสดูเป็นมิตร ท่านเดินเข้ามาในแสงสว่างนั้น ผมก็พุทโธตามนิมิตนั้นไปด้วย นิมิตไม่หาย พุทโธก็ไม่หาย ๒ สิ่งนั้นส่งเสริมกัน เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกัน พระท่านก็นั่งลง เห็นเป็นกองกระดูกซ้อนออกมา ออกมาแล้วก็หักๆ กระดูกกองจนสูงเป็นภูเขา แสงสว่างนั้นก็ลอยเด่นอยู่บนเหนือกองภูเขากระดูกนั้น ลอยเด่นอยู่อย่างนั้น”

 

นี่นิมิตนะ แล้วเขาบอกว่า “พระองค์นั้นก็บอกว่านิมิตทุกนิมิตมีความหมาย”

 

นิมิตทุกนิมิตมีความหมาย เวลาถ้าจิตใจของเราเป็นธรรม หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เชียงใหม่ จิตของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน แล้วเวลาจิตของท่านสงบแล้ว หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ในประวัติหลวงปู่มั่นว่า ตอนท่านอยู่เชียงใหม่ พวกเทวดา พวกพรหมต่างๆ จะมาหาท่านมาก แต่พอมาอยู่ภาคอีสาน ท่านบอกมาหาท่านน้อยลงกว่า

 

ฉะนั้น เวลาท่านอยู่เชียงใหม่ สิ่งที่ท่านรู้ท่านเห็น แล้วท่านแก้ไขของท่านจนเป็นประโยชน์กับตัวท่านก่อน พอเป็นประโยชน์กับตัวท่านแล้ว ท่านถึงเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ฉะนั้น เวลาท่านลงมากรุงเทพฯ ไง เวลาพระเถระในกรุงเทพฯ ถามว่า “ท่านมั่น ท่านมั่นไปอยู่ในป่าในเขา แล้วท่านมั่นไปศึกษากับใครล่ะ เราอยู่กับตำรับตำราตลอดเลย เรายังเปิดค้นคว้าตลอด เรายังมีความสงสัยอยู่เลย ท่านอยู่ในป่า ท่านไปศึกษากับใคร”

 

หลวงปู่มั่นบอกว่า ท่านฟังธรรมตลอดเวลา ท่านฟังธรรมตลอดเวลา ธรรมะสอนท่านในป่าอยู่ตลอดเวลา นี่ไง สิ่งที่ว่าถ้าจิตใจเราเป็นธรรมแล้ว จิตใจเราเป็นธรรม

 

สิ่งที่เกิดขึ้น เราเห็นพระ เห็นพระห่มจีวรสีขาว ผิวพรรณผ่องใสเข้ามา เวลาเข้ามาใกล้เรา พอใกล้เรา พอท่านนั่งลง เห็นกองกระดูกซ้อนๆๆ กัน

 

เห็นกองกระดูก กับเวลาเราไปเที่ยวป่าช้า เราไปเที่ยวป่าช้า เราไปดูซากศพ เราไปดูซากศพ เราปรารถนาอะไร เวลาเราไปเที่ยวป่าช้า เราไปดูซากศพ เราปรารถนาอะไร ปรารถนาให้เห็นว่าคนมันก็ตายเท่านี้ไง ถ้าไปเห็นตายเท่านี้ จิตใจมันสลดไหม จิตใจมันเป็นธรรมไหม

 

แต่นี้ในนิมิตเรา เราเห็นพระห่มจีวรเข้ามา ท่านนั่งลงต่อหน้าเรา แล้วพอเห็นเป็นโครงกระดูกซ้อนๆ แล้วหักกองๆ อยู่ตัวท่าน นิมิตมันหมายความว่าอย่างไร มันหมายความว่าอย่างไร นี่บอกทุกนิมิตมีความหมาย แล้วนิมิตนี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่ามาหักกระดูกให้ดูเลย กระดูกนี่มาหักให้ดู

 

เวลาเราพิจารณากายนะ จิตมันสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นกายมันอยู่ที่วาสนาของคน วาสนาของคนเห็นเป็นร่างกายทั้งร่างกายก็มี บางทีเห็นเป็นเส้นผมก็มี บางคนเห็นเป็นอวัยวะ ตับ ไต ไส้ ปอดแต่ละชิ้นก็มี แล้วถ้าเห็นตามความเป็นจริงมันจะขนพองสยองเกล้ามาก เพราะเห็นจริง เห็นจริงหมายความว่ามันเห็นจากใจ

 

ถ้าเห็นไม่จริงมันมีกำแพงกั้น อย่างเช่นเราเห็นซากศพ นี่มันมีกำแพงกั้น กำแพงกั้นคือว่านั่นศพคนอื่น ไม่ใช่ศพเรา นี่ตัวตนเรามันมีไง พอไปมองเข้า มันมีกำแพงกั้น กำแพงกั้นเพราะมันมีสังขาร มันมีกิเลสกั้น แต่ถ้าจิตสงบแล้วมันไม่มีกำแพง พอจิตมันสงบ จิตสงบจิตมันเห็นเอง จิตมันรู้เอง มันไม่มีกำแพงกั้น

 

พอไม่มีกำแพงกั้น มันไม่มีกิเลสมากั้น พอไม่มีกิเลสมากั้น พอเห็นมันจะขนพองสยองเกล้า มันเห็นแล้วมันจะสำรอก มันจะเกิดธรรมสังเวช มันจะเกิดความสลดหดหู่มาก ถ้าเห็นจริงนะ

 

ฉะนั้น สิ่งที่นิมิตมาสอน นิมิตทุกนิมิตมีความหมาย ฉะนั้น นิมิตมีความหมาย สิ่งที่ส่งเสริมกัน นิมิตเป็นบวกก็มี นิมิตที่ไปเห็นแล้ว เวลาคนที่เขาเสียจริตนิสัยนะ เขาเสียจริตของเขา เวลาคนภาวนาจิตใจอ่อนแอ พอไปเห็นสิ่งใดแล้วมันตกใจ ความตกใจทำให้สติขาด พอสติขาดนี่ฟั่นเฟือนไปเลย อันนี้ก็มี ในการปฏิบัติ แต่จิตใจของเขามันต้องมีเวรมีกรรมนะ

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “กระดูกมาหักต่อหน้า กระดูกซ้อนๆ กันเป็นกองเลย แล้วมีแสงสว่าง แสงสว่างอยู่บนกองกระดูกนั้น ลอยเด่นอยู่บนกองกระดูกนั้น ผมก็พุทโธ นิมิตนี้ก็เด่นขึ้นมาอย่างนั้น เป็นสักระยะจึงได้ถอนออกมา”

 

ทีนี้ถอนออกมาแล้วเขาก็บอกว่า พระท่านสอนว่า ในนิมิตนั้นพระท่านพูดด้วย นิมิตทุกนิมิตมีความหมาย การตีความในนิมิตนั้นคือการใช้ปัญญา สมัยท่านดำรงขันธ์อยู่ท่านไม่เคยปฏิเสธนิมิตเลย

 

นี่เขาสอน นี่ไง ที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านฟังธรรมตลอดเวลาๆ นี่มันมีคำสอนนะ แต่เราตีความหมายนั้นออกหรือไม่ออก เราตีความหมาย เวลาหลวงตาท่านพูดว่า เวลาท่านภาวนาของท่าน ท่านภาวนาท่านปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวางหมดเลย จิตของท่านเด่นมาก มองไปนี่ภูเขาทะลุหมดเลย มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ อู้ฮู! มันมหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ ท่านบอกว่าธรรมะท่านมาเตือน เตือนว่า เพราะกลัวว่าหลวงตาท่านจะเสียเวลา ธรรมะมาเตือนนะ “แสงสว่างที่สว่างทั้งหมดมันเกิดจากจุดและต่อม”

 

เวลาเกิดจากจุดและต่อมนะ นี่บอกชัดๆ เลย ท่านบอกว่าท่านยังงง อะไรเป็นจุด อะไรเป็นต่อม แล้วจุดและต่อมมันเป็นแบบใด นี่ธรรมะมาเตือนๆ พอธรรมะมาเตือน ท่านยังงงของท่านอยู่อย่างนั้นเลย ท่านบอกว่า ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ ไปถามทีเดียวก็จบเลย แต่หลวงปู่มั่นท่านนิพพานไปแล้ว ท่านก็ต้องจุดและต่อมๆ อีก ๓ เดือน จับพลัดจับผลูอีก ๓ เดือน นี่ฟังธรรมตลอดๆ ธรรมจะมีอยู่

 

แต่ของเราผู้ถาม ถ้าเห็นเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า ถ้าเห็นอย่างนี้จริง สิ่งที่เป็นจริง เราได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า ถ้าเราได้ประโยชน์ขึ้นมา ประโยชน์คือรสของธรรม เพราะมันสะเทือนใจ แล้วใจมันจะรับรู้ ใจรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดกับเรานี่ปัจจัตตัง ไม่มีใครมาโกหก ไม่มีใครมาเสี้ยมให้เราหลงเชื่อ แต่มันเกิดกับเราแล้วเราตีความหมายนั้นออกไหม นี่พูดถึงเขาว่า สิ่งนั้นคืออะไร นิมิตที่เห็นนี่นะ

 

ฉะนั้น “เวลาพระพูดจบแล้วถอนออกจากสมาธิมา พอถอนจากสมาธิแล้ว ผมมีความสงสัยว่า พระที่ปรากฏในนิมิตทำไมท่านมาสอนได้ แล้วท่านสอนจริงไหมครับ ความหมายของนิมิตคืออะไร พระท่านมาจากไหน หรือเพราะผมเคยเห็นภาพท่าน แล้วทำไมไม่เป็นพระองค์อื่น”

 

เวลาหลวงปู่มั่นนะ ครูบาอาจารย์นะ เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาวกับหลวงตา ท่านบอกว่า หลวงปู่ขาวทำอะไรผิดไม่ได้เลย ถ้าทำอะไรผิด คืนนั้นหลวงปู่มั่นจะมาในนิมิตเลย มาเตือนตลอดเวลา

 

หลวงปู่มั่นท่านก็จะมองว่าพระองค์ใด พระองค์ใดจะเป็นหลัก พระองค์ใดจะเป็นผู้ที่สั่งสอนคนอื่นได้ ท่านจะคอยเข้มงวดกับพระองค์นั้น พระองค์ใดถ้าไม่เป็นประโยชน์สิ่งใด หลวงปู่มั่นท่านไม่เสียเวลามา ฉะนั้น สิ่งที่เวลาจะไปจะมามันต้องมีสายบุญสายกรรม หมายความว่า พระองค์นั้นมีวาสนา พระองค์นั้นจะทำประโยชน์เพื่อศาสนา ท่านก็เข้มงวดกับพระองค์นั้น เหมือนอาจารย์สอนลูกศิษย์เลย ลูกศิษย์คนใดมีเชาวน์ ลูกศิษย์คนใดจะเป็นประโยชน์ ลูกศิษย์คนใดจะสร้างประโยชน์ อาจารย์องค์นั้นจะคอยดูลูกศิษย์คนนั้น ถ้าลูกศิษย์คนใดเขาไม่มีความสามารถ เขาทำสิ่งใดไม่เป็น เขาทำอะไรไม่ได้ แต่เขาศึกษาพอจบ ศึกษาจบก็เท่านั้น

 

นี่ก็เหมือนกัน ทำไมสิ่งที่ว่าพระที่มาปรากฏในนิมิตทำไมท่านถึงสอนได้

 

นิมิตนะ มันเป็นธรรม คำว่า “ธรรมที่มาเกิดขึ้น” ถ้าเป็นธรรมนะ ฟังธรรมตลอดๆ ก็มาตามนิมิตนี่มาสอน แล้วเราเชื่อไหมล่ะ แล้วเราเห็นประโยชน์ไหมล่ะ แล้วมันเป็นความจริงไหมล่ะ

 

เวลาพระด้วยกันนะ เช่น ครูบาอาจารย์เราจะบอกว่าหลวงปู่มั่นมาสอนอย่างนั้นๆ หลวงปู่มั่นสอน แล้วเชื่อไหมล่ะ แล้วเวลาจิตใจของเรานะ จิตใจของเราเวลาเราสอน จิตใจถ้ามันอ่อนแอ จิตใจถ้ามันยังทารกอยู่ เวลาคำสอนมันก็สอนเพื่อให้เรามั่นคงแข็งแรงขึ้นมาเท่านั้นน่ะ ถ้าเราวิปัสสนาไป พอเราเริ่มวิปัสสนาไป เรามีความเห็นผิด ผิดอย่างไร มีความเห็นผิดปั๊บ เวลาปัญญามันจะเกิด มันจะเกิดที่ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น

 

ไอ้คำสอนๆ คำสอนตอนนี้ถูกต้อง แต่พอจิตมันเจริญขึ้นไปแล้ว คำสอนนี้มันไม่ละเอียดพอกับสิ่งที่เราสงสัย มันจะพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอน นิมิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงสิ คำสอนต้องละเอียดขึ้น คำสอนต้องดีขึ้น

 

ฉะนั้น คำว่า “พระที่ปรากฏนั้นทำไมท่านสอนได้”

 

ทำไมท่านสอน นี่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมสอนได้ บอกได้ สอนได้ บอกได้ เวลาเราสงสัย ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เห็นนิมิต ถ้าเราสงสัย ให้ถามเข้าไปที่ใจเลย ใจมันตอบเลย พอเราถาม เราเห็นจริงหรือเปล่า สิ่งที่เห็นนี่หายหมดเลย แล้วถ้ามันเป็นจริง เวลาเป็นจริงมันคงที่ เป็นจริง

 

สิ่งที่เห็นจริงหรือเปล่า จริง จริงแล้วทำไมถึงจริง ที่จริงมันเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะอะไรมันถึงจริง แล้วความจริงนั้นได้พิสูจน์หรือยัง ถ้ามันพิสูจน์ความจริงแล้ว ความจริงคืออะไรล่ะ สัจจะ อริยสัจจะ ถ้าเป็นความจริง พิจารณาความจริงเข้าไป แล้วความจริงมันเป็นไตรลักษณ์ไหม ความจริงมันแปรสภาพไหม ถ้าความจริงมันแปรสภาพ นี่มันสอน สอนแล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องเลย มันจะเป็นต่อเนื่องกันไป

 

ฉะนั้น พอต่อเนื่องไป สอนแล้ว ผู้สอนอันหนึ่ง ผู้ที่ได้รับคำสอนนั้นได้ค้นคว้า ได้ปฏิบัติจริงหรือเปล่า ถ้าไม่จริงก็จบ ถ้าจริงขึ้นมานะ เดี๋ยวเราจะรู้เลยว่าพระที่ปรากฏในนิมิตทำไมท่านสอนได้ เราจะเข้าใจของเราเลย

 

ถ้าสอนได้ สอนได้มันก็สอนได้ ถ้าเป็นความฝัน มันไม่ได้สอนเลย มันเป็นความฝันคือรับข้างเดียว แต่ถ้าเรานั่งสมาธิ จิตเรามันรับรู้ตลอดเวลา สิ่งใดมาเราโต้ตอบได้ เราแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้ ปัญญามันเกิดต่อเนื่องได้ ถ้าต่อเนื่องได้ มันก็เป็นของมันไปได้ นี่อันหนึ่งนะ

 

แล้วอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ อย่างที่ว่าถ้าเป็นสัจจะความจริง ไม่ใช่นิมิต อันนั้น ดูสิ เวลาเทวดามาหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสอนเทวดา ท่านเทศน์ เทวดาต้องการฟังเทศน์เรื่องอะไร หัวหน้าเทวดาจะบอกว่าวันนี้ต้องการฟังเทศน์เรื่องนั้นๆ พอต้องการฟังเทศน์เรื่องนั้น ท่านกำหนดจิตเลย กำหนดจิตแล้วก็ภาษาใจ ท่านเทศน์เลย อันนั้นไม่ใช่นิมิตนะ

 

ถ้าเป็นนิมิตมันจะต่อเนื่องได้ไหม ฝันอยู่นี่มันจะตื่นได้ไหม ฝันมันจะมีสติตอบโต้ได้ไหม ฝันตอบโต้ไม่ได้ แต่เทศนาว่าการนี่ตอบโต้ได้ นี่ก็เหมือนกัน คำสอนถ้ามันเป็นธรรมๆ ถ้ามันนั่งสมาธิมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

“ท่านสอนได้จริงไหม ความหมายของนิมิตคืออะไร พระท่านมาจากไหน”

 

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นบอกว่า เวลาท่านบรรลุธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนา พระด้วยกันมาอนุโมทนากับท่าน

 

นี่คำถามว่า “พระท่านมาจากไหน”

 

ถ้าคำว่า “พระท่านมาจากไหน” ต้องถามก่อนว่า พระที่ท่านนิพพานไปแล้วหรือพระที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านมีอยู่จริงหรือเปล่า นี่ความจริงอันหนึ่งนะ แล้วในนิมิตเราจะเป็นท่านจริงหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ที่ว่าพระองค์นั้นมีอยู่จริงใช่ไหม แล้วเวลาเราเห็น เราได้เห็นพระองค์นั้นจริงหรือเปล่า กรณีนี้ ถ้าพระท่านมีอยู่จริง ท่านอนุโมทนา นั่นท่านมีอยู่จริง เพราะอะไร เพราะท่านโต้ตอบกันได้

 

แต่เวลาเราเห็นนิมิต ท่านมาสอนเรา มันเป็นแบบว่าผู้ที่สูงกว่า ต่อเนื่องมากับผู้ที่จิตใจเราต่ำกว่า คือเราไม่รู้ได้ว่าจริงหรือเปล่า แต่ถ้าสิ่งที่จริงหรือเปล่า มันก็ต้องเหตุผลว่าท่านสอนท่านบอกมันเป็นจริงหรือเปล่า แล้วเรามีวุฒิภาวะสามารถรู้ได้จริงหรือเปล่า ถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะสามารถรู้ได้ แล้วถ้าเราพิจารณา เราใช้ปัญญาขึ้นไป ถ้าเรารู้ได้ขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเราหรือเปล่า มันเป็นประโยชน์กับเรา นี่คำสอนจากภายในนะ

 

ฉะนั้น ทีนี้ว่า ความหมายของนิมิตนั่นมันเป็นที่ว่าปัญญาของคนที่มันลึกซึ้ง มันกว้างขวาง มันก็จะแปลความหมาย มันจะใช้ปัญญากับนิมิตได้มากมาย ถ้าปัญญาของคนคับแคบ ปัญญาของคนตื้นเขิน มันก็ได้เฉพาะรูปแบบนั้น ฉะนั้น นี่พูดถึงความหมายของนิมิต

 

“พระท่านมาจากไหน”

 

พระที่ท่านนิพพานไปแล้วท่านก็มีธรรมของท่านเป็นความจริงของท่าน แต่เรา เรานี่ ถ้าจิตใจของเรา ดูสิ คนที่นอนไม่ฝัน คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาก็จะไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใดเลย คนที่มีอำนาจวาสนามันก็จะรู้สิ่งนั้น ฉะนั้น ถ้ารู้สิ่งนั้นแล้วมีเวรมีกรรม มีเวรมีกรรมหมายถึงว่ามีสายบุญสายกรรม นั่นน่ะมันสื่อสัมพันธ์กันได้ เห็นไหม สิ่งที่ว่าสิ่งที่เป็นสายบุญสายกรรมนี้อันหนึ่ง

 

ทีนี้ท่านมาจากไหนๆ มาแล้วจริงหรือเปล่า อย่างเช่นที่เขาทรงเจ้าเข้าผีกัน เขาทรงเจ้าเข้าผีเขาทรงตลอดเวลา จะเป็นเจ้าองค์นั้นตลอดไปจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่หรอก มันต้องมีวาระ คนเราต้องมีธุระปะปัง มันจะไม่มีว่าใครจะเข้าทรงเจ้าแล้วจะได้ตลอดไป นี่ก็เหมือนกัน มันจะเป็นท่านจริงหรือเปล่า

 

เราจะบอกว่า ของท่าน ตัวท่านจริงก็มีอยู่ แต่สัมภเวสี สิ่งที่ในโลกของจิตวิญญาณเขาก็มีของเขาอยู่ มันมีการสมอ้างกันได้ ในโลกของความเป็นจริงมันมีการสมอ้าง จิตวิญญาณที่มีคุณภาพ จิตวิญญาณที่ไม่มีคุณภาพ เขาสมอ้างชื่อกัน มี

 

จะบอกว่า โดยที่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริง ความจริง ท่านเชื่อความจริง แต่ท่านไม่เชื่อความเท็จ ท่านไม่เชื่อความจอมปลอม ท่านไม่เชื่อความสมอ้าง ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติได้จริงท่านจะรู้เรื่องอย่างนี้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ถ้าอะไรจริงหรืออะไรเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ ท่านเอาตรงนั้น ถ้าเอาตรงนั้นมันเป็นประโยชน์ มันก็เป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ ท่านไม่สนใจ ไม่รับรู้ ท่านปฏิเสธ ท่านทำให้จิตของท่านไม่เห็นได้ ว่าอย่างนั้นเลย

 

ฉะนั้น “พระท่านมาจากไหน”

 

ถ้าเราเห็น เราเห็นด้วยความเป็นจริง ถ้าเราเห็นว่าเป็นพระองค์นั้น เราว่าเป็นพระองค์นั้น แล้วถ้าในนิมิตที่มีความหมายมาสั่งสอน อันนั้นก็จบตรงนี้

 

ถ้าบอกว่าท่านมาจากไหน ท่านมาจากที่ท่านมีของท่านอยู่ ท่านมาจากตัวท่านที่มีจริงอยู่ ท่านมีของท่านจริง ฉะนั้น มีของท่านจริง จริงตรงไหน แล้วจริงอย่างไร อันนี้มันอยู่ที่วุฒิภาวะคนสูงต่ำจะรู้ได้ว่าท่านมาจากไหน ถ้าท่านไม่มีอยู่ ท่านก็มาไม่ได้ แต่ถ้าท่านมีอยู่ ท่านก็มาได้

 

แล้วทำไมท่านถึงมาหาเรา ทำไมท่านไม่ไปหาคนอื่น

 

นี่พูดถึงว่าไม่เป็นสายบุญสายกรรมนะ “หรือเพราะผมเคยเห็นภาพท่าน จึงปรากฏเป็นภาพนิมิต และก็สงสัยว่าทำไมไม่เป็นพระท่านอื่น”

 

เวลาความสงสัยของเรา ไอ้อย่างนี้เป็นกาลามสูตรเนาะ คือว่าไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น พิสูจน์ก่อน ถ้าเรามีความสงสัย สงสัยมันก็เรื่องธรรมดา เพราะว่าเรายังไม่รู้จริง เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็สงสัย แต่พอเรารู้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ อยากได้ มันก็ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าตรงนี้มันสงสัยมันก็ต้องหาเหตุหาผลกันไป

 

“ทำไมถึงไม่เป็นพระท่านอื่น”

 

เป็นพระท่านอื่น มันก็จะไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างนี้ไง ถ้าเป็นพระท่านอื่น เขาก็จะให้เลข ๒ ตัว เลข ๓ ตัวไง ถ้าเป็นพระท่านอื่น ถ้าไม่มีคุณธรรมมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

แต่อันนี้ที่ว่าเวลาเห็นท่านมา เวลาท่านมานั่งลงต่อหน้า แล้วก็เห็นเป็นโครงกระดูกซ้อนเข้ามา พระท่านมานั่งลงต่อหน้า เห็นเป็นโครงกระดูกซ้อนออกมาแล้วหักๆ อันนี้มันเป็นอริยสัจ สิ่งที่เห็นอริยสัจเพราะอะไร เพราะกาย เพราะเวทนา เพราะจิต เพราะธรรม เขาไม่ได้มาถึงเอาทองคำมาให้ เอาทองคำแท่งมาให้ มาวางเป็นก้อนๆ ให้เลย อันนั้นเป็นทองคำแท่ง ไม่เป็นประโยชน์กับมรรคผล แต่ไอ้กระดูกนี่ ไอ้กระดูก ร่างกายของคนมันเป็นเรื่องอริยสัจ เห็นไหม ถ้าเป็นพระที่มีคุณธรรมมันอยู่ในอริยสัจ กาย เวทนา จิต ธรรม กายไง เห็นกายเป็นซ้อนๆๆ เข้ามา นี่หัก

 

กรณีนี้นะ มันเป็นกรณีแม่ชีแก้ว แม่ชีแก้วท่านภาวนาของท่าน ท่านก็รู้ เห็นนิมิต รู้เทวดา อินทร์ พรหม ท่านเห็นของท่านจริงเลย ไม่ใช่เห็นนิมิตด้วย เห็นเทวดา อินทร์ พรหมหมดเลย

 

แล้วเวลาหลวงตาท่านไปพักที่นั่นไง เวลาท่านไปสอน “ไม่ได้ จิตส่งออกไปรับรู้ไม่ได้”

 

“ถ้าไม่ส่งออกถือว่าไม่ได้ภาวนา ถ้าได้ส่งออกไปรับรู้สิ่งใดเป็นภาวนา” ถ้าออกรู้ต่างๆ เป็นภาวนาไง

 

หลวงตาท่านบอก “ให้ดึงไว้ก่อน ออกบ้างไม่ออกบ้าง”

 

“ทำไม่ได้”

 

ไล่ลงภูเขา ไม่ให้พบเลย ท่านก็ไปเสียใจของท่าน เอ๊ะ! ท่านสอน ถ้าท่านสอนบอกว่าไม่ให้ออก เราก็ลองดึงจิตของเราไว้ คืนนั้นก็กำหนดเลย ไม่ให้จิตออก บังคับไว้ พอบังคับไว้ บังคับถึงที่สุดแล้วมันรวมลง

 

พอรวมลงแล้วนะ เห็นตัวเองนั่งอยู่ เห็นตัวเองนั่งอยู่ เห็นเป็นหลวงตาท่านเดินมา เอามีดเอาดาบฟันร่างกายของแม่ชีแก้ว ฟันฉับๆๆ โอ๋ย! มันฟันลงไปนะ มันสังเวชมาก มันสังเวชมาก

 

สังเวชเพราะอะไร เพราะเราภาวนามานานแล้ว เรารู้เราเห็นทุกอย่างไปหมดเลย ออกมาแล้วก็เป็นคนเดิม ไม่มีอะไรเป็นคุณสมบัติเลย แต่พอกำหนดไม่ให้ออก ไม่ให้จิตออก ให้จิตมันอยู่ภายใน พอจิตมันอยู่ภายใน พอจิตมันรวมลง พอรวมลง เห็นตัวเองนั่งอยู่ แล้วหลวงตาเอาดาบเข้ามาฟัน พอฟันขึ้นมา ดูสิ ฟันแขนขาดไป ฟันหัวขาดไป ฟันร่างกายนี้เป็นชิ้นๆ ออกไป แล้วร่างกายเราเหลืออะไรล่ะ

 

สิ่งที่ไปรู้ไปเห็นต่างๆ มา รู้เห็นแล้วก็สำคัญตนว่า เราเป็นผู้ที่มีอำนาจ เป็นผู้ที่รับรู้ เป็นผู้วิเศษ แต่เวลาจิตมันอยู่ภายใน เวลาหลวงตาเอามีดฟันลงไป อู๋ย! แขนเราขาดออกไปแล้ว อู๋ย! ร่างกายเราย่อยสลายไปหมดเลย เห็นไหม มันคายตัวตน มันสำรอก มันสำรอกทิฏฐิ มันสำรอกทิฏฐิมานะ มันสำรอกเวร สำรอกกิเลส สำรอกมาร อารมณ์มันแตกต่างไง พอมันสำรอกมันคาย โอ๋ย! มันซาบซึ้งนะ พอรุ่งขึ้นไปจะไปกราบหลวงตา หลวงตาไล่

 

“เดี๋ยวๆๆ ขอให้ฟังก่อนๆๆ” กับทิฏฐิที่ว่าตัวมีความสามารถ ทิฏฐิว่าตัวมีความรู้ ทิฏฐิว่าเราภาวนาเก่ง หลวงตาจะมาสอนเราหรือ เรานี่ภาวนาดีกว่า แต่พอมันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม มันสำรอกมันคาย มันแตกต่างกัน

 

มันแตกต่างกันเหมือนกับคำถามนี่ “มีพระท่านเดินเข้ามา เห็นเป็นผิวพรรณท่านสดใส ท่านเดินเข้ามา พอท่านนั่งลงแล้วเห็นเป็นโครงกระดูกซ้อนเข้าไป แล้วหักๆ หักเป็นกองๆ เป็นภูเขาเลย”

 

อันนี้ที่มันเตือน มันเตือนตรงนี้ไง ความหมายมันความหมายตรงนี้ไง ไม่ใช่เห็นนิมิตแล้วก็จะได้จรวด ๓ ลำ จะได้จรวดแล้วก็จะไปดาวอังคาร จรวดนี้ก็จะไปดาวพฤหัส ไอ้จรวดนี้ก็จะไปดวงอาทิตย์ มันไม่ใช่อย่างนั้น เห็นอย่างนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย แต่เห็นเป็นกองกระดูก

 

นี่ไง ถึงบอกว่าทำไมท่านถึงมาสอนเรา แล้วทำไมไม่เป็นพระองค์อื่น ทำไมต้องเป็นพระองค์นี้

 

ถ้าเป็นพระองค์อื่นมาก็ให้เลขท้าย ๒ ตัว จะให้รางวัลที่ ๑ แล้วพอได้รางวัลที่ ๑ มาแล้ว พอได้เงินมาก็สำมะเลเทเมา แล้วก็เล่นการพนัน ติดการพนัน ติดยาเสพติด พระองค์อื่นมันจะให้ประโยชน์อย่างนั้นไง

 

แต่ถ้าเป็นธรรม ให้ประโยชน์เป็นกองกระดูกนี่ไง ให้ประโยชน์เป็นกองกระดูก เป็นร่างกาย เป็นสิ่งที่สำรอกคายทิฏฐิมานะ นี่ไง มันต่างกันตรงนี้ไง ถ้ามันต่างกันตรงนี้

 

ถ้ารู้เท่านิมิตมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้เท่านิมิต ไม่รู้เท่านิมิตแล้วสำคัญตนไปตามนิมิตนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง ถ้าเราจะรู้เท่านิมิต พอเรารู้เท่านิมิต ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต มันก็เห็นสติปัฏฐาน ๔ นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ มันอยู่ที่นี่

 

สติปัฏฐาน ๔ จริงคือจิตมันจริง จิตมันสงบจริง แล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง มันเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าเราเห็นด้วยตำรับตำรา เห็นด้วยความคาดหมาย เห็นด้วยความสร้างภาพ เห็นด้วยการที่ครูบาอาจารย์ส่งต่อๆ กันมา มันเป็นทางวิชาการ มันไม่จริงหรอก มันไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร มันไม่จริงเพราะมันไม่สำรอก ไม่สำรอก ไม่คายทิฏฐิมานะ ถ้ามันสำรอก มันคายทิฏฐิมานะ มันคือการแก้กิเลส

 

แต่ถ้าการศึกษาทางวิชาการ เห็นไหม ปัญญาๆ ยิ่งอยากรู้ ยึดความรู้เป็นของเรา ยึดว่าเรารู้ ยึดว่าเรารู้เราเห็น ยึดว่าเราจะละกิเลส ยึดว่ากิเลสมันจะขาดไปจากเรา ยึดว่าจะละกิเลส ยึดว่ากิเลสขาดนะ แต่ไม่ทำอะไรเลย มันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาของโลก มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ถ้ามันภาวนามยปัญญา ความรู้จริงภายในมันคล้ายๆ กับสิ่งที่เห็นนิมิต ความรู้จริงภายใน ความรู้จริงภายในมันจะสำรอก

 

ปัญญาภายนอก ปัญญาภายนอกคือปัญญาวิชาชีพ ปัญญาภายในคือภาวนามยปัญญา ปัญญาที่สำรอกคายทิฏฐิมานะ คายความรู้ความเห็นของตนภายใน อันนั้นน่ะมันจะเป็นจิตจริง สมาธิจริง จะเป็นเห็นสติปัฏฐาน ๔ จริง จะเป็นวิปัสสนาจริงๆ แล้วก็จะเกิดญาณทัสสนะ เกิดญาณหยั่งรู้ ญาณหยั่งรู้ตามความเป็นจริง แล้วเราจะเห็นอริยสัจจะจริง เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง นี้คือการรู้เท่านิมิตแล้วใช้ประโยชน์จากการที่เรามีจิตวิญญาณ เรามีปัญญา เราทำประโยชน์ของเราขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเรา นี้ในการประพฤติปฏิบัติ เอวัง