ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เชื่อกรรม

๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๖

 

เชื่อกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “คำสาปแช่งมีจริงไหม”

 

กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ หนูขอสอบถามข้อสงสัยค่ะ

 

ตามหลักพระพุทธศาสนา ชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับการกระทำคือกรรมของตนเองเป็นหลัก แต่หากว่ามีคนสาปแช่งเราให้พบความวิบัติฉิบหายด้วยแรงแค้น ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายกับเขาเลย

 

๑. คำแช่งนั้นจะมีผลกับเราไหม โดยเฉพาะยิ่งคนที่แช่งเราชอบนั่งสมาธิ มีพลังจิตที่เข้มแข็ง ขณะที่เราไม่ได้นั่งสมาธิเลย

 

๒. คนที่แช่งเราจะได้รับผลที่ตนเองชอบแช่งคนอื่นไหม เช่น เขาแช่งให้คนโดนรถชน แล้วคนแช่งจะได้รับผลอย่างไร เพราะหนูสงสัยว่า ระหว่างกรรมดีกับคำแช่ง อันไหนจะส่งผลมากกว่ากันคะ ขอบพระคุณ

 

ตอบ : นี่พูดถึงคำถามนะ คำถามของเรา เห็นไหม โดยสัจจะ คำถามมันมีคำตอบในตัวมันเองอยู่แล้ว บอกว่าในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องการกระทำไม่ใช่หรือ ในพระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมไม่ใช่หรือ

 

ในพระพุทธศาสนาก็สอนเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ คนเรามีการกระทำ ทำดีมันผลตอบสนอง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นความจริงอยู่แล้ว นี่คำตอบมันมีอยู่ในคำถามอยู่แล้ว

 

แต่นี้เพียงแต่ว่าเวลาถามมา ทุกคนถามแล้ว ทุกคนมีความสงสัยถึงได้ถามมา พอถามมาแล้ว ถ้าเราจะตอบโดยที่ว่าเป็นพระพุทธศาสนาล้วนๆ มันก็บอกว่านี่ใช่

 

การทำ พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อเรื่องกรรม เรื่องการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สอนตรงนี้ แล้วสอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องสัจจะความจริง สอนให้คนพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ เรื่องแบบนี้ เรื่องคำถามนี้ไร้สาระมากเลย ไร้สาระ เห็นไหม

 

หลวงตาท่านสอนไว้ประจำ ให้ดูใจเรา ให้ดูตัวตนของเรา เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของคนอื่น เราไม่ต้องไปยุ่งกับเขา มันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์โลก เขาคิดอย่างไรมันเรื่องของเขา เรื่องของเราคือดูใจของเรา นี่พูดถึงนักปฏิบัติ

 

แต่โดยสังคมทั่วไปมันก็มีความสงสัยเป็นธรรมดา ถ้ามีความสงสัยเป็นธรรมดา มันต้องย้อนกลับไปไง มันย้อนกลับไปว่า ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ ในสุวรรณภูมิเขานับถือศาสนาอะไร ก่อนจะมีศาสนาในโลกนี้มันก็มีศาสนาผี เขาเชื่อผีเชื่อสาง เขาเชื่อคำสาปแช่ง เขาเชื่อเรื่องอย่างนี้ เรื่องพระเจ้าของเขา

 

ฉะนั้น ในเมื่อศาสนาเริ่มต้นมันศาสนาเรื่องผี ในปัจจุบันนี้ก็ยังถือผีกันอยู่ ทั้งๆ ที่เป็นชาวพุทธ เห็นไหม ทรงเจ้าเข้าทรงนี่ผีทั้งนั้นน่ะ นี่เรื่องผีเรื่องสางทั้งนั้นน่ะ พวกทรงเจ้าเข้าทรง เรื่องจิตวิญญาณเรื่องผีทั้งนั้นน่ะ ทำไมคนเชื่อล่ะ

 

ทีนี้พอคนเชื่อเพราะอะไร เพราะความเชื่ออันนั้นมันทำให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อมันก็อยู่ข้างนอก มันไม่เกี่ยวอะไรกับเราหรอก แต่เพราะเราไปเชื่อ ไปเชื่อคือการยอมรับ เห็นไหม เหมือนกฎหมาย กฎหมายถ้าบังคับใช้ไม่ได้ กฎหมายก็บังคับเราไม่ได้ แต่กฎหมายนี่กฎหมายบังคับใช้ เรายอมรับความบังคับใช้อันนั้นมันก็เป็นอันนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราไปเชื่อเรื่องอย่างนี้ เรื่องผีเรื่องสางไง เรื่องคำสาปแช่ง เรื่องต่างๆ ทีนี้คำสาปแช่งมีไม่มีล่ะ

 

ไม่มีพระพุทธศาสนาก็มีคนเกิดคนตาย มีพระพุทธศาสนาก็มีคนเกิดคนตายเหมือนกัน ไม่มีพระพุทธศาสนาก็มีคนเกิดคนตายมาแล้ว พระพุทธเจ้ามาเกิด ไม่มีพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็มาเกิด พอมาเกิดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วศาสนาพุทธถึงได้เกิดขึ้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเกิดก็มีคนเกิดคนตายเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วสอนพวกเราก็มีคนเกิดคนตายเหมือนกัน นี่ไง เพราะว่ามีคนเกิดคนตาย ผลของวัฏฏะ

 

เราจะบอกว่า ผลของวัฏฏะมันมีของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าผลของวัฏฏะมีอยู่อย่างนั้น มีคนเกิดคนตาย ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมก็มีคนเกิดคนตายเหมือนกัน เขาก็เชื่อถือของเขาไป เชื่อถือตามโบราณที่เขาเชื่อถือกันมา

 

แต่พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นนะ อทาสิ เม อกาสิ เมฯ เวลามีคนตาย พระพุทธเจ้าสอนไง อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ อย่าคร่ำครวญ สิ่งที่คนตายก็ตายไปแล้ว ให้ทำคุณงามความดีแล้วแผ่กุศลให้ถึงกัน คนเกิดคนตายเขาก็ตายไปแล้ว เราจะคร่ำครวญต่อไปมันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน

 

ถ้าเป็นปัจจุบัน เรามีสติปัญญาใช่ไหม ในเมื่อคนใกล้ชิดเราตายไป เราก็เสียใจเป็นธรรมดา สิ่งที่เรามีความกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา แล้วธรรมดา เราจะช่วยเหลือกันอย่างไรล่ะ เราจะช่วยเหลือเจือจานกันอย่างไร ช่วยเหลือเจือจานกันไป เราก็อุทิศส่วนกุศลไป นี้เป็นเรานะ

 

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านมีธรรม ธรรมของท่าน ท่านแผ่เมตตาของท่าน ท่านช่วยได้นะ ท่านทำให้พ้นจากสิ่งที่ตกนรกขึ้นมาเป็นชั้นๆ ได้ มันทำได้ แต่กรณีอย่างนั้นมันเป็นกรณีพิเศษของแต่ละบุคคล แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนนี่สอนอริยสัจ สัจจะ สัจจะคือความเสมอภาคที่เป็นอย่างนี้ทุกๆ คน เท่าๆ กัน เท่าๆ กันแล้ว เห็นไหม

 

ทีนี้ว่าคำสาปแช่ง คำสาปแช่งมันจะมีผลไหม คำสาปแช่งจะมีผลไหมล่ะ ในเมื่อเราเชื่อกรรม เราทำดี ถ้าทำดีนะ ดูพระนะ ดูครูบาอาจารย์เราอยู่ในป่า เวลาเข้าป่าเข้าเขาไป คนที่เข้าป่าเข้าเขาเขามีวิชาอาคม ทางนายพรานเขามีวิชาอาคมของเขา แต่เวลาครูบาอาจารย์เราเข้าป่านะ เรามีศีลเป็นเครื่องคุ้มครอง มีศีล ศีลนี่มันปกป้องได้หมดเลย เรามีศีล เรามีความสะอาดบริสุทธิ์ นี่ไง ทำดีได้ดีไง

 

ถ้าเรามีศีลคือความปกติ เขาจะสาป เขาจะแช่ง เขาจะเล่นของ เขาจะปล่อยของ เรื่องของเขา เราไปห้ามใจใครไม่ได้หรอก เราทำดีนะ ก็มีคนไม่เห็นด้วย เราทำความชั่ว เขาก็ไม่เห็นด้วย แต่เขาก็อยากให้เราทำ เพราะเราทำชั่ว แต่เขาก็ไม่เห็นด้วย ทำดีทำชั่วมันไม่มีใครเขาเห็นด้วยกับเราหรอก ฉะนั้น เวลาเรามีศีล มีศีลคุ้มครอง ถ้ามีศีลคุ้มครองนะ สิ่งที่ว่าคำสาปแช่งอะไรนี่ คำสาปแช่งจะมีผลไหม

 

ถ้าคำสาปแช่งในการปฏิบัติเข้มข้น ไม่มีผล มันเป็นผลของการสาปแช่งของเขา แต่ในทางวัฏฏะมันมีผล มันมีผล คำว่า “มีผล” ของเขา เพราะเขาสาป เขาแช่ง เขามีกรรมใช่ไหม เขามีมโนกรรม เขาทำของเขาแล้ว เขาทำของเขาแล้วนะ การทำร้ายคนอื่นเท่ากับการทำร้ายตนเอง เพราะเราคิดว่าเราทำร้ายคนอื่น แต่ความจริงคือการทำร้ายตนเอง เราคิดอาฆาต พยาบาทอาฆาตมาดร้ายใคร เราเจ็บช้ำน้ำใจก่อน

 

เราคิดทำลายคนอื่น เท่ากับเราทำลายตนเอง แต่คนเราไม่คิดตรงนั้นหรอก เราคิดว่าเราทำลายคนอื่น ทำด้วยความสะใจ เราไม่พอใจใคร เราไม่พอใจ เราอยากทำลายใครเราก็ทำลายเขา ว่านี่คือจิตใจเราเรียกร้องให้ทำลายเขา แต่เราทำลายใครก็แล้วแต่ กรรมมันเกิดกับเรา กรรมมันเกิดกับเรา เราเป็นคนคิด เราเป็นคนวางแผน เราเป็นคนกระทำ กรรมมันเกิดตรงนี้ไง นี่ทำลายคนอื่น ทำลายใครก็แล้วแต่ เท่ากับทำลายตนเอง ถ้าเราไม่ทำลายใครเลย ถ้าเราทำคุณงามความดีให้เขา เราก็ทำบุญกุศลกับตัวเราเอง

 

ฉะนั้น “คำสาปแช่งจะมีผลไหม”

 

มันมีผลในการสาปแช่ง ในการอาฆาตมาดร้าย ความอาฆาตแค้น ถ้าบอกไม่มีเลย ไม่มีเลยนะ มันก็เหมือนกับเราเอาฝ่ามือปิดกั้นฟ้าไว้ เพราะพระเทวทัต เริ่มต้นที่พระเทวทัตกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผูกอาฆาตแค้นกันมาตั้งแต่เริ่มต้นไปเป็นพ่อค้าไง ตั้งแต่ก่อนจะเป็นพระโพธิสัตว์ ไปเป็นพ่อค้า ไปแลกเปลี่ยนถาดทองคำ เอาทองคำไปแลกเปลี่ยน มีของเด็กเล่น เอาของเด็กเล่นไปแลกเปลี่ยน แลกเปลี่ยนสินค้าสมัยโบราณ

 

เทวทัตกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพ่อค้าด้วยกัน แล้วที่เป็นพ่อค้า ไปถึงจะไปแลกสินค้า มันมีผู้เฒ่าที่นั่นคนหนึ่ง เด็กอยากได้สินค้านั้น แต่เขาไม่มีสิ่งใดแลก เขาก็จะเอาถาด ถาดที่ว่าเป็นเชี่ยนหมากมาแลก เป็นถาดใช้ของ เทวทัตเขาเห็นว่าเป็นทองคำ แล้วเขาบอกว่านี่ไม่มีราคา เขาก็ไปก่อนไง คิดว่าเดี๋ยวจะกลับมาเอา จะกดราคาเขา

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วย เป็นพ่อค้าเหมือนกัน ไปถึงก็มีสินค้าไปเหมือนกัน ของเด็กเล่น เด็กมันอยากได้ ผู้เฒ่าผู้เป็นย่าก็บอกว่าขอแลก พระพุทธเจ้าบอก อู้ฮู! เอาถาดนั้นมาแลก ถาดนี้ถาดทองคำนะ ค่ามหาศาลเลย เอามาแลกกับสินค้า สินค้ามีค่าเล็กน้อยนัก

 

ผู้เฒ่านั้นบอกว่า จะมีค่ามากมีค่าน้อย ในเมื่อเด็กมันอยากได้ของเล่นนั้น เขาขอแลกของเล่นนั้นให้กับเด็ก

 

อ้าว! ถ้าแลกอย่างนั้น สินค้าที่เอามามันมีค่าน้อยกว่าถาดนี้เยอะมากเลย ถ้าจะแลกอย่างนั้น สินค้าทั้งหมดยกให้หมดเลย แลกถาดทองคำนั้นไป เพราะว่าเป็นคนซื่อตรงไง ซื่อตรงก็แลกถาดนั้นไป ถาดนั้นเป็นถาดทองคำมีค่ามาก

 

เทวทัตก็ไปทั่ว ไปแลกสินค้ามาก็กะจะย้อนกลับมาเอาไง พอย้อนกลับมาก็จะมาแลก บอกถาดนั้นไม่มีค่า จะเอาสินค้ามาแลกเท่านี้ก็พอ

 

ผู้เฒ่านั้นบอกว่า พ่อค้าคนนั้นเขาได้แลกไปแล้ว เขาได้เอาถาดทองคำไปแล้ว

 

เทวทัตมีความโกรธแค้นมาก กำทรายขึ้นมากำหนึ่ง แล้วปล่อยทรายที่กำมา ว่าจะอาฆาตแค้นไปทุกภพทุกชาติ เหมือนกับดั่งเม็ดทรายนี้ แล้วก็ผูกอาฆาตแค้นมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น พอการเวียนว่ายตายเกิดมา เทวทัตกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยกลายเป็นคู่เวรคู่กรรมกันมาตลอด นี่ผลมันมีไหม

 

ถ้าบอกว่ามันไม่มี ผลการผูกโกรธมันไม่มี ไม่มีหรอก สิ่งที่การสาปแช่งด้วยอาฆาตแค้นนี้มันไม่มีผลหรอก มันไม่มีผล ถ้าไม่มีผล เทวทัตกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผูกโกรธกันมาตั้งแต่นั่นน่ะ เริ่มต้นตั้งแต่ผูกอาฆาตกันมา แล้วก็ส่งต่อมา เกิดตายๆ กันมา ไม่มีต้นไม่มีปลาย จนชาติสุดท้าย ชาติสุดท้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เทวทัตมาเกิดเป็นลูกพี่ลูกน้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลูกพี่ลูกน้อง

 

ถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา เทวทัตมาขอบวช นี่เทวทัตมาขอบวช

 

สุดท้ายแล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงอนาคตังสญาณ แต่เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การผูกโกรธกันมา การเป็นคู่เวรคู่กรรมกันมามันส่งผลมามาก ทีนี้ส่งผลมามาก พอมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา ไม่มีแรงอาฆาตแค้น ไม่มีสิ่งใด มีแต่ความเมตตา มีแต่ความรื้อสัตว์ขนสัตว์ ฉะนั้น เอาเทวทัตเข้ามาอยู่ด้วย แล้วเทวทัตก็มาแผลงฤทธิ์ไง

 

ถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่มีโต้ตอบสิ่งใด จนเทวทัตคิดได้เอง คิดได้เอง จะมาขอขมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มาแวะที่หน้าประตูเชตวัน จะไปล้างตัวก่อน พอก้าวลงจากแคร่ ธรณีสูบไปเลย เพราะได้ทำร้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะมาก นี่พูดถึงว่ากรรม กรรมที่เขาทำมา แต่ผลมันมีไหม ผลมันมีไหม

 

ผลมันมีแต่เขา มันไม่มีกับเรา เพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราเอาที่ปัจจุบันนี้ไง เราเอาที่ปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

 

ฉะนั้น สิ่งที่คำถามเขาถามอารัมภบทมา เห็นไหม “หนูมีความสงสัยว่า ตามหลักพระพุทธศาสนา ชีวิตของคนเราก็ขึ้นอยู่กับการกระทำ เรื่องกรรมของตนเองเป็นหลักไม่ใช่หรือ แล้วคำสาปแช่งของคนอื่นมันจะมีผลไหม”

 

คำสาปแช่งเป็นเรื่องของเขา ใครทำร้ายคนอื่นเท่ากับทำลายตัวเขาเอง เขาสาปแช่งมันก็เป็นผลของเขาเอง ถ้าผลของเขา เขาจะสาปแช่งมันเรื่องของเขา เราจะไปห้ามว่า เราเกิดมาแล้วจะไม่ให้คนสาปแช่งเลย จะไม่ให้คนผูกโกรธเราเลย จะไม่ให้มีคนคิดร้ายกับเราเลย มันไม่มีหรอก

 

ทำดีได้ดี ทำดีกับใคร ทำดีที่ไหน ทำดีแล้วคนอื่นเขาเห็นว่าเราทำดี เขาก็ไม่พอใจ ไม่พอใจมันก็เรื่องของเขา เราก็ต้องมีความหมั่นเพียรของเรา พอเราทำดี เขาบอกคนนี้ทำดีแล้วไม่ดี เราก็จะเลวไปเหมือนเขา มันก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเรา

 

สังคมมันเป็นแบบนั้นน่ะ ผลของวัฏฏะๆ เราจะมีหลักใจมากไหม ถ้าเรามีหลักใจของเรานะ เราจะแก้ไขปัญหานี้ ปัญหานี้ปัญหาเล็กน้อยมาก เขาเรียกโลกธรรม ๘ ไง เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ถ้ามีใครติฉินนินทา มีใครต่างๆ มีใครจะปองร้ายอย่างไรก็เรื่องของเขา

 

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตกลิ้งหินลงมา มันไม่โดนหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าสงสารว่าเทวทัตเขาผูกโกรธขนาดนั้น ก็เอาเท้าให้เศษหินมันกระดอนมาโดน ห้อพระโลหิตคือห้อเลือด เท่านั้นน่ะ ให้เขาสมความปรารถนาเขา เขาพยายามจะฆ่า เขาพยายามจะทำ เขาจะแย่งชิง เขาทำเต็มที่ของเขา นั่นมันเรื่องของเขา สุดท้าย ผล เห็นไหม ธรณีสูบเลย

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มันเรื่องของเขา ๑. เราห้ามความที่เขาทำไม่ได้ ๒. ในเมื่อเราเป็นบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเรา ฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คำว่า “ฝากศาสนาไว้” มันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรายึดอันนั้นไว้

 

เห็นไหม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่ทำยากเนาะ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ใครจะมีเวรมีกรรม เราก็ให้อภัยเขา อโหสิกรรมกับเขา เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าเราจองเวรจองกรรมกันต่อไป ไม่จบหรอก เราระงับ เราระงับของเรา

 

ถ้าเราระงับนะ ใหม่ๆ มันจะดิ้นมาก วิทยาศาสตร์ไง ก็เขาทำๆ เราไม่ได้ทำ เขาทำ เราผิดได้อย่างไรๆ แต่ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมนะ อืม! ยกให้เขาเถอะ มันเป็นเวรกรรมของเราเอง จบสิ้นกันเท่านี้ ทำแต่ความดีของเราไป จบ แค่นี้จบ แล้วจบแล้วนะ แล้วเราก็ทำดีของเรา ทำดีตรงไหนล่ะ

 

ทำดี ชีวิตเรา เราก็ปากกัดตีนถีบ เราก็ทำคุณงามความดี ทำดีคือทำความซื่อสัตย์ ความซื่อตรงนั่นล่ะคือความดี ความสุจริตคือความดี เราทำความสุจริต ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ของเรา เราทำคุณงามความดีของเราไป ชีวิตนี้มันจะทุกข์มันจะยาก มันจะขาดแคลนอย่างไร เราก็ไปเส้นทางนี้แหละ เพราะเราไม่สร้างเวรสร้างกรรมไปมากกว่านี้อีกแล้ว แล้วถ้ามันเข้าถึงทาง มันปฏิบัติไปแล้วนะ ถ้ามันสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปมันก็จบ ถ้าไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์ไป เราก็สร้างอำนาจวาสนาบารมีของเราไป

 

นี่พูดถึงว่า เขาว่า “มันจะมีผลในพระพุทธศาสนาไหม”

 

มันมีผลในการผูกอาฆาตมาดร้าย ถ้าเขาไม่ระงับของเขา แต่ถ้าในเชิงปฏิบัติมันไม่มีผล มันไม่มีผลกับเรา เราปฏิบัติของเราได้ ใครชื่นชมเรา เราก็ปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติไม่ดี ใครชื่นชมเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าเราปฏิบัติของเรา ใครสาปแช่งเราขนาดไหน ถ้าเราปฏิบัติได้ดีของเรา เราก็ไปของเราได้ มันอยู่ที่เราปฏิบัติของเราเอง

 

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำมันเท่ากับทำร้ายตัวเขาเอง คำว่า “แรงแค้น” ถ้าเราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายจะเป็นอย่างนั้นไหม

 

ไม่เป็น เพราะคำว่า “เราไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอย่างนั้น” เขาจะว่าอย่างไร เขาจะพูดขนาดไหน แต่เราไม่เป็นแบบนั้น นี่โลกธรรม ๘ ถ้าเราไม่เป็นแบบนั้น มันก็เป็นลมปากของคน แต่ถ้าเราไม่มีจุดยืน เขาว่าอย่างไรเราก็หวั่นไหว เราก็ทุกข์ยาก เราก็หวั่นไหว แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติแล้วท่านจะไม่หวั่นไหวกับเรื่องอย่างนี้ ท่านบอกว่าลมปากของคน

 

ใส่เสื้อกันหนาว ลมหนาวเวลามันพัดมาหนาวขนาดนี้ แต่ลมปากของคนเวลามันพัดมาที อู้ฮู! หัวใจนี้สั่นไหวไปหมดเลยเนาะ ลมปากของคนมันพูดมาที โอ้โฮ! มันเจ็บมาก โลกธรรม ๘ แต่ถ้าเรามีจุดยืนแล้วนะ มันไม่หวั่นไหวไง ก็ไม่ได้ทำ

 

ทีนี้มันเป็นเวรกรรมนะ ทางวิชาการเขาบอกว่า คนที่ไม่ได้ทำผิดติดคุกก็เยอะมาก ไม่ได้ทำความผิดนะ แต่เขาสร้างหลักฐานให้ติดคุก ไม่ได้ทำเลยก็มี ถ้าอย่างนั้นเราไม่ได้ทำ แต่ทำไมมันมีผลอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าทำใจไม่ได้มันยิ่งทุกข์ใจไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น แต่ถ้าทำใจได้นะ ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนั้น มีคนปองร้าย มีคนสร้างหลักฐาน สร้างหลักฐานจนศาลเชื่อ ตัดสินให้จำคุกโดยที่ไม่ได้ทำความผิดเลย มันยิ่งแปลกประหลาด

 

นี่พูดถึงว่า ในเมื่อเราไม่ได้คิดร้ายอย่างนั้น แล้วมันจะมีผลไหม

 

มันมีโดยสังคม โดยเรื่องโลก แต่เรื่องธรรมไม่มี

 

ฉะนั้น เข้าคำถาม “๑. คำแช่งนั้นจะมีผลกับเราไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่แช่งเราชอบนั่งสมาธิ มีพลังจิตที่เข้มแข็ง ขณะที่เราไม่ได้นั่งสมาธิเลย”

 

กรณีนี้มันยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่เลยเนาะ พอเขาจะสาปแช่ง เขานั่งหลับตาเนาะ ยิ่งปากมุมมิบๆ ด้วย โอ้โฮ! กลัวใหญ่เลย ถ้าเขานั่งหลับตาแล้วก็ปากมุมมิบๆ โอ้โฮ! ตกใจ

 

มันดูได้ ๒ กรณี กรณีหนึ่งถ้าเขานั่งเป็นสัมมาสมาธิ คนที่นั่งสมาธินะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีล พอถ้าจิตสงบเข้ามา เพราะมีศีลถึงเป็นสัมมาสมาธิ เพราะไม่มีศีล เวลาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม อย่างเช่นที่เขาทำของ ทำของกันนี่เพราะอะไร เพราะว่าการทำนั้นมันผิดศีลไง มันผิดศีลเพราะอะไร เพราะเราไปทำร้ายเขา เราเบียดเบียนเขา เราทำให้คนเขาแตกแยก เราให้โทษกับเขา แล้วเราทำสมาธิไปทำไมน่ะ ถ้าทำสมาธิมามันก็เป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิมันก็ให้ผลร้าย ให้ผลร้ายกับตัวเอง ให้ผลร้ายกับทุกๆ คนไง

 

แต่ถ้าเรามีสัมมาสมาธิใช่ไหม เรามีศีลของเรา ศีลคืออะไร เราสละมาทุกอย่างเลย มาทำบุญกุศลกัน เราสละทุกๆ อย่างเลย แล้วเราจะไปทำร้ายใคร ถ้าเราไม่ทำร้ายใครนะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาได้ มันมีศีล มีสมาธิ แล้วถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นไปมันก็เป็นผลของมัน

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาชอบนั่งสมาธิด้วย นั่งสมาธิ เขานั่งสมาธิเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมา แล้วเขานั่งสมาธิ นั่งสมาธิเพื่อทำไม เขานั่งสมาธิ แก้วแหวนเงินทองหามาเป็นสมบัติของเรา เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำมา หาเงินเป็นสมบัติของเรา แล้วเวลาเราภาวนา เราจะเอาอัตตสมบัติ จะเอาสมบัติที่เป็นความจริง อกุปปธรรม ธรรมเหนือโลก ธรรมที่ให้หัวใจนี้มันมีที่พึ่งอาศัย แล้วพอทำสมาธิแล้วจะไปสาปแช่งคนอื่น จะไปทำร้ายคนอื่น มันขัดแย้งกันไง ถ้ามันไม่เป็น

 

ฉะนั้น นั่งสมาธิไม่นั่งสมาธิไม่สำคัญ ไม่สำคัญ นี่บอกยิ่งเขานั่งสมาธิด้วย เขามีพลังจิตที่เข้มแข็งด้วย...เข้มแข็งขนาดไหน เป็นเพชรนิลจินดาเลยไหม รู้ได้อย่างไรว่าเขาเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็ง นั่งสมาธิแล้วเป็นคนดีก็มี นั่งสมาธิแล้วไปทำลายคนอื่นก็มี แล้วมันมีจิตเข้มแข็งตรงไหน

 

พลังจิตที่เข้มแข็ง พลังจิตคืออะไร พลังจิต ถ้าเขามีพลังจิตแสดงว่าเขาจะต้องไม่โดนกิเลสโน้มน้าวไป ถ้าเขามีพลังจิตจริง เขาจะเป็นคนดี ถ้าเขามีพลังจิตจริง เขาจะไม่ทำอกุศล ถ้าเขามีพลังจิตจริง เขาจะไม่ยอมให้มารในหัวใจข่มขี่เขา

 

ไอ้นี่เขาไม่มีพลังจิตจริง ถ้าไม่มีพลังจิตจริง เขาถึงมาสาปแช่ง คนที่มีพลังจิตเขาจะสาปแช่งทำไม คนที่เขาทำขึ้นมาเขาเห็น เพราะคนทำสมาธิ ทำจิตสงบได้นะ ทำจิตสงบได้ ดูสิ จิตสงบนี้ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี พอจิตมันสงบขึ้นมามันมีความมหัศจรรย์ มันมีคุณค่ามาก ถ้ามันมีคุณค่ามาก มันจะเอาสิ่งที่มีคุณค่าไปแลกกับการไปสาปแช่งคนอื่น การไปทำร้ายคนอื่นหรือ

 

มันมีคุณค่ามาก แล้วคุณค่าอย่างนี้เสริมต่อขึ้นไป มีสมาธิก็เกิดปัญญาขึ้น ปัญญานี้มันสามารถถอดถอนกิเลสเราได้เลย เห็นไหม ถอดถอนจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเดินมรรคก็เป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เขาจะเป็นอริยบุคคลขึ้นมา แล้วเขาจะไปทำสิ่งที่ว่าทำความอกุศลอย่างนี้ได้อย่างไร เขาไม่ทำอกุศลอย่างนั้น

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราเองไปตื่นเต้นเอง เห็นแค่เขาทำนั่งขัดสมาธิหน่อยเดียวนึกว่าเขานั่งสมาธิดีแล้วมีพลังจิตแล้วจะมาแช่งเราอีกด้วย เห็นไหม โลกธรรม ๘ เราไปกว้านมาเผาลนใจเราเอง ถ้าเราไม่กว้านมาเผาลนใจเราเองนะ มันเรื่องของเขา เขาชอบนั่งสมาธิด้วย ก็สาธุ คนนี้เป็นคนดี คนดีนี่นะ เขาจะพยายามค้นคว้าหาความเป็นจริงในใจของเขา คนดีนะ เขาจะอยู่ของเขา เนกขัมมบารมี อยู่โดยเอกเทศ จะไม่เบียดเบียนใคร จะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เขาจะออกอยู่วิเวกของเขา นี่คนดี เครื่องหมายของคนดี ถ้าเขานั่งสมาธิ เครื่องหมายของคนดี แล้วคนดีจะไปทำอกุศลได้อย่างไร

 

ฉะนั้นว่าเขาจะได้แช่งหรือไม่แช่ง เราคิดไปเองหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้คิดไปเอง ถ้าเขาคิด เขาว่าอย่างนั้น มันก็เรื่องของเขา มันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย มันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย นี่ผลของการปฏิบัติไง

 

“คำแช่งนั้นจะมีผลกับเราไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแช่งชอบนั่งสมาธิ แล้วเราไม่ได้นั่งสมาธิเลย”

 

เราไปวิตกกังวลเอง ใครจะแช่งใครจะไม่แช่งขนาดไหน มันเป็นเรื่องของเขา ทีนี้มุมกลับ มุมกลับนะ แล้วไม่มีใครสรรเสริญเราบ้างเลยหรือ ไม่มีคนเขาบอกว่าเราเป็นคนดีบ้างเลยหรือ ไม่มีเพื่อนของเราชมเราบ้างเลยหรือ

 

เวลาโลกธรรม ๘ คำชื่นชมมันก็เหมือนลมพัดผ่านไป แต่คำติฉินนินทามันเจ็บแสบนัก เวลาใครติฉินนินทา เอามาคิดเป็นปี เวลาเขาชม คิดไม่ถึงวัน หายแล้ว นี่ก็เหมือนกัน คำที่ชื่นชมเราไม่มีเลยเนาะ คำมีแต่คนติฉินนินทาเนาะ

 

ยกเว้นแต่เรา เรานี่คนด่ากันทั้งเมือง ไม่เกี่ยว ด่าไปเถอะ ยิ่งด่ายิ่งชอบ ด่าไปเถอะ พิสูจน์กัน ไม่สน โลกธรรม ๘ จะติฉินนินทาอย่างไรเชิญตามสบาย เชิญเลย ไม่สนเลย ถ้าเราไปสนของเขา ดูสิ ธรรมเหนือโลกๆ ถ้าเอ็งเหนือโลกแล้วเอ็งจะไปตื่นเต้นอะไรกับเรื่องโลกๆ นี้ เรื่องโลกๆ นี้มันมีอะไร ไม่เห็นมีอะไรเลย ถ้าจิตใจของเอ็งต่ำอย่างนั้นแล้วเอ็งจะไปสอนใคร ถ้าจิตใจเอ็งจะสอนเขา เอ็งต้องมีจุดยืนของเอ็ง นี่มันเหนือ เหนือโลกธรรม ๘ ไง จะนินทากาเล จะทำอะไร เชิญ เชิญตามสบาย เอ็งรู้จริงหรือเปล่า

 

แต่ถ้าคนรู้จริงนะ ดูสิ แก้วแหวนเงินทองตกอยู่ที่ไหน คนที่เขามีตานะ เขาเห็นว่า โอ๋ย! นี่ทองแท้ อันนี้เพชร เขาเห็นของเขาเอง ความเป็นอยู่ของเรามันฟ้องเอง คนที่เขามีหูมีตาเขารู้ ไอ้คนที่หูตาบอดนั้นมันก็กรรมของสัตว์ ถ้าหูตาฝ้าฟางอันนั้นก็ช่วยไม่ได้ ช่วยอะไรไม่ได้หรอก ก็หูตาเขาเป็นแบบนั้น แต่ถ้าหูตาเขาสว่างไสวนะ เขารู้เองๆ นี่ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นี่ข้อที่ ๑

 

ข้อที่ ๒ “คนที่แช่งเราจะได้ผลที่ตนเองชอบแช่งคนอื่นหรือไม่ เช่น เขาแช่งให้คนโดนรถชน แล้วคนแช่งจะได้รับผลอย่างนั้นหรือไม่”

 

อันนี้มันเป็นที่เราคิดไปเอง เราคิดไปเองไงว่าคนสาปแช่ง ไอ้นี่มันก็เหมือนกับคนที่ว่าเขาจริตนิสัยเป็นแบบนั้น คนชอบเปล่งอุทาน อุทานเรื่องอะไรก็แล้วแต่ นี่เขาแช่งให้รถชน แช่งอะไร ถ้าพูดอย่างนี้เราบอกว่า โทษนะ ผู้หญิงเยอะไง

 

มันเรื่องของผู้หญิงมั้ง ผู้หญิงเขาชอบพูดกันอย่างนั้น เรื่องของผู้หญิง เรื่องของผู้หญิงก็ต้องติฉินนินทากันไป แต่เขาแช่งอย่างใดก็เรื่องของเขา ถ้าเราไม่มีเวรไม่มีกรรมมันมีไม่ผลอย่างนั้นหรอก ถ้ามันมีเวรมีกรรมต่อมา อุบัติเหตุมันมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าอุบัติเหตุนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนไง สอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 

ถ้าเราไม่ประมาทพลั้งเผลอกับชีวิตของเรา คนนะ มีสติปัญญาไม่พลั้งเผลอกับชีวิตนะ ไอ้เรื่องอุบัติเหตุ ไอ้เรื่องต่างๆ มันน้อยมาก ฉะนั้น สิ่งที่ว่ารถชนๆ อะไรนี่ พอรถชนปั๊บ มันเหมือนเลยนะ พอรถชน ไปไหนรถมันจะวูบมาหาเราตลอดเลย มันหวั่นไหวไปหมด ถ้าปกติก็ไม่เป็นไรนะ พอเขาบอกนี่รถจะชนนะ เห็นรถมา ตกใจไปก่อน เขาขับมา เราก็ไปตื่นเต้นกับเขา มันตื่นเต้นกับเขาไปเอง

 

“แล้วคนแช่งจะได้รับผลอย่างนั้นไหม”

 

อันนี้น่าสนใจ เราให้ร้ายแก่เขา เราให้ร้ายแก่คนอื่น ความร้ายเข้าถึงตัวเรา เราให้ร้ายแก่คนอื่นนะ ดูสิ สาปแช่งเขาๆ แล้วเวลาตัวเองประมาทพลาดพลั้งไปมันก็จะไปโดนอย่างนั้นน่ะ เวลาตัวเองจะไปโดนอย่างนั้น นั่นน่ะมันถึงจะเห็นโทษของมัน ถ้าเห็นโทษของมันแล้วนะ เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าใครเกิดอุบัติเหตุรถชนหรืออุบัติเหตุอย่างไรก็เรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องความประมาท เรื่องอุบัติเหตุ นั่นเรื่องหนึ่ง

 

แต่ถ้าเราคิดเจตนาให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นๆ เราให้ร้ายกับเขาตลอดไปเลย จิตใจของเรามันมืดดำอย่างนั้นไปเลยหรือ แล้วพอมืดดำอย่างนั้นไปแล้ว ถึงเวลาแล้วมันขาดสติ เวลาเราพลาดพลั้งไป เราจะไปโดนของเราเอง เพราะอะไร เพราะเราพลาดพลั้งของเรา เราขาดสติของเราไปเอง อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นคนที่จิตใจต่ำ จิตใจปานกลาง จิตใจสูงส่ง

 

จิตใจสูงส่ง ดูสิ มูลนิธิร่วมกตัญญูทำไมเขาเสียสละกันล่ะ เขาเสียสละกัน จิตใจของเขา จิตใจเขาเป็นสาธารณะ เห็นไหม คนที่จิตใจเขาสูงส่งเขาจะช่วยเหลือเจือจานคนอื่น เขาป้องกันอุบัติเหตุ ถนนหนทางที่ไหนชำรุดเสียหาย เขาจะไปซ่อมแซมให้ ที่ไหนชำรุดเสียหาย เขาจะเอาธงไปปักไว้เลย ตรงนี้เป็นหลุมเป็นบ่อนะ คนที่จิตใจเขาเป็นคนดี เขาปรารถนาดีกับคนอื่น เขาปรารถนาดีกับผู้คนอื่น นั่นน่ะจิตใจเขาสูงส่ง

 

จิตใจปานกลางเขาก็บอกว่า เออ! ไม่ใช่เรื่องของเรา นั่นเรื่องของเขา ไม่รับผิดชอบอะไรเลย

 

จิตใจของคนที่ต่ำทราม เวลารถมา เขาเอาถั่วเขียว เอาน้ำมันไปราดไว้ให้รถคว่ำซะ เขาจะได้ผลประโยชน์

 

จิตใจของคนน่ะ จิตใจของคนมันเลวทรามมันก็มี จิตใจคนปานกลาง จิตใจคนที่มีเมตตา เขาทำเพื่อประโยชน์ก็มี แล้วจิตใจแบบนี้ จิตใจดวงเดียว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายมันก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเป็นแบบนี้

 

กรณีนี้มันเป็นแบบว่าเป็นวาระ ถ้าเขาคิดไม่ดี คิดไม่ดีก็เรื่องของเขา แต่ถ้าวันไหนเขาสำนึกได้ เห็นไหม นี่เรื่องกรรม กรรมดี กรรมชั่ว ถ้ามารมันมาครอบงำ เขาคิดร้าย ถ้าธรรมะเข้ามาสู่ใจ จิตใจเขาสูงส่งขึ้น สิ่งที่เขาทำมาเขาเสียใจ เราไม่ควรทำสิ่งนี้เลย เราเคยทำสิ่งที่ไม่ดีมามากแล้ว ต่อไปนี้เราจะเป็นคนดี เราจะทำเพื่อสังคม เราจะทำเพื่อส่วนรวม ถ้าจิตใจเขาเปลี่ยนแปลงไปมันก็เป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปได้ มันก็เป็นประโยชน์กับคนคนนั้น มันก็เป็นประโยชน์กับสังคม เราคิดของเราอย่างนี้สิ ไม่ใช่ว่ามันจะอยู่อย่างนั้นเลย ให้เชื่อกรรมๆ เชื่อผลของกรรม ฉะนั้น จิตใจคนมันเปลี่ยนแปลงได้ เราทำความดีของเราไป ถ้าเขาคิดของเขาอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของเขา

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “เพราะหนูสงสัยว่า ระหว่างกรรมดีกับคำสาปแช่ง อันไหนจะส่งผลมากกว่ากัน”

 

คำว่า “ส่งผลมากกว่ากัน” มันต้องแบบว่าต้อง ๒ ฝ่ายตอบสนองไง ยิ่งอาฆาตแค้นกัน แล้วทำลายต่อกัน ผลมันก็รุนแรง แต่ถ้าเราอโหสิ เราไม่ทำสิ่งใดเลย เขาทำเราฝ่ายเดียว มันยิ่งแรงเข้าไปใหญ่สำหรับเขา แต่เราไม่มีสิ่งใดเลย เราก็แค่รับวิบาก คือรับสิ่งการกระทำของเขา แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งใดเลย เราอุทิศหมด เราปล่อยหมด เราให้เขาหมด เราทำดีของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นพระโพธิสัตว์เสียสละมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย จึงมีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาคือบารมีนะ

 

อำนาจวาสนาคือบารมี คือโอกาสเท่านั้นเอง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกปฏิบัติค้นคว้า นั่นน่ะผลการกระทำความจริงอันนั้นน่ะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ สัจจะความจริงอันนั้นเกิดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ขณะได้เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้สร้างอำนาจวาสนามา บารมีเต็ม แต่บารมีเต็มก็คือบารมี แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปเป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันถึงเป็นความจริงขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้

 

แล้วเราเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เราเชื่อไง เพราะมีร่องมีรอย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง มีครูบาอาจารย์ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ฉะนั้น ทำกรรมดี แล้วกรรมปัจจุบัน กรรมอดีต กรรมปัจจุบัน กรรมอนาคต

 

เพราะมีอดีตมา การทำมามันเป็นพันธุกรรมของจิต จิตที่ดีมา สร้างสมบารมีมา เกิดเป็นคนก็คนที่ดี จิตที่ปานกลางมาเกิดเป็นคนก็เป็นคนปานกลาง จิตที่เกิดมานะ เกิดเป็นคน เกิดเป็นคนที่ต่ำทราม มีอำนาจวาสนาเกิดเป็นคน แต่ได้ความฝังใจมา ความอาฆาตมาดร้ายมา เกิดมาก็ยังเกิดมาทำลายๆ ทำลายต่อไป เห็นไหม นี่ไง เกิดเป็นคนเท่ากัน แต่ใจไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เราเอากรรมปัจจุบัน เราได้เกิดเป็นคนแล้ว แล้วมีกรรมปัจจุบัน

 

ฉะนั้น สิ่งที่ได้ประสบมา สิ่งที่เขามีการกระทบกระเทือนมา ปล่อยเขาไป แล้วยึดธรรมะ รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่งที่อาศัย แล้วพยายามหาที่พึ่งอันนี้เป็นของเราให้ได้ ถ้าทำที่พึ่งของเราได้ เราจะเป็นประโยชน์กับเรา อันนี้พูดถึงคำสาปแช่ง

 

คำถามนี้สิ

 

ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าเราควรจะฝึกแบบเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ อะไรที่จะเป็นตัวชี้บอกให้เราได้ทราบคะ

 

ตอบ : การที่จะปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ การประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องการปฏิบัติของเราเพื่อพยายามจะฝึกหัดใช้ปัญญาให้จิตใจของเราให้มีคุณธรรม ให้เป็นธรรม ให้เป็นธรรมขึ้นมา ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา จะเป็นธรรมขั้นใดก็ได้ ขอให้ได้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งนะ มีธรรมความเป็นจริงในหัวใจของเราเป็นอกุปปธรรมแล้ว สิ่งนี้มันจะทำให้เราวางใจได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดของเรามันจะไม่ไปตามวัฏฏะ แต่มันมีคุณธรรมให้เป็นที่พึ่ง

 

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมามันปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ทีนี้ในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเอตทัคคะ ๘๐ องค์ เอตทัคคะ ๘๐ องค์คือพระอรหันต์ที่มีความชำนาญแต่ละแนวทาง ทีนี้พระอรหันต์ที่มีความชำนาญแต่ละแนวทางมีจุดเด่นแต่ละแนวทาง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป เขาบอกว่า เราจะปฏิบัติเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ

 

คำว่า “เจโตวิมุตติ” เจโตวิมุตติเป็นแนวทางของพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มีเดช เพราะอะไร เพราะใช้สมาธิมันถึงเป็นเจโตวิมุตติ เพราะมีสมาธิ เอาสมาธิเป็นตัวฐาน เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันก็มีมรรค ๘ เหมือนกัน แต่สมาธิเป็นตัวนำ มีหลักเป็นตัวนำ

 

พระสารีบุตร พระสารีบุตรมีปัญญามาก พอมีปัญญามาก มีความสงสัยมาก เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นสหายต่อกัน แล้วปรารถนาด้วยกัน ปรารถนาว่าเป็นพระอัครสาวกด้วยกัน ฉะนั้น เวลาพระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิเทศน์ เย ธมฺมาฯ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องดับที่เหตุนั้น พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน เอาหลักธรรมนี้ไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะได้ฟัง ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรองตามก็ได้เป็นพระโสดาบันด้วยกัน นี่พูดถึงว่าต้นทุนเป็นพระโสดาบันด้วยกัน

 

ทีนี้ก็เลยลาสัญชัยไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอบวชเสร็จแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ๗ วันได้เป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรยังไม่ได้เป็นเพราะปัญญามาก บอกอะไรมา บอกสิ่งใดมาก็ใช้ปัญญามาก มันยังไม่เชื่อ ยังไม่ลงใจ พิจารณาอยู่นั่นน่ะ พิจารณาไม่ลงใจ ต้องสอน ไปครั้งสุดท้ายไปอยู่ที่ถ้ำเขาคิชฌกูฏ หลานพระสารีบุตรจะมาต่อว่าเอาพระสารีบุตรมาบวชไง ว่าไม่พอใจ แต่ก็ไม่กล้าพูด ก็เลยบอกว่า ไม่พอใจสิ่งนั้น ไม่พอใจสิ่งนี้

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกก็เหมือนวัตถุ”

 

เหมือนวัตถุเลย ถ้าคนภาวนาเป็น อารมณ์ความคิดนี่เหมือนวัตถุเลย “เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เหมือนกับสิ่งที่เธอไม่พอใจนั้นอันหนึ่ง เธอก็ต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย”

 

พระสารีบุตรพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย นี่ปัญญาวิมุตติ มันใช้ปัญญาเป็นตัวนำ

 

ฉะนั้น เจโตวิมุตติ พุทโธๆๆ ครูบาอาจารย์เราส่วนใหญ่พุทโธ พุทโธๆ เป็นเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติใช้สมาธิ ใช้สมาธิเป็นตัวฐาน แล้วสมาธิ ตัวจิตออกไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้วพิจารณาไป นี่เป็นเจโตวิมุตติ เพราะสมาธิเป็นตัวนำมันจะเห็นภาพ เห็นต่างๆ

 

แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญญาวิมุตติ ส่วนใหญ่แล้วพุทโธไม่ค่อยได้ พุทโธแล้วก็ไม่ลง พุทโธแล้วก็ปวดหัวอยู่นี่ พุทโธแล้วเครียด เป็นสมาธิไม่ได้สักที แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาสักที นี่พุทโธไม่ลง

 

อันนี้เขาเรียกจริต สัทธาจริต โดยพื้นฐานสมัยที่หลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านเทศนาว่าการ ส่วนใหญ่แล้วคนเชื่อมั่นในหลวงปู่มั่นมาก ความเชื่อมั่นนั้นเป็นสัทธาจริต ศรัทธาความเชื่อมั่นมันเป็นเอกภาพ จิตใจนี้มันไม่ล่อกแล่ก มันพุทโธๆ ได้ชัดเจน มันจะเป็นพุทโธขึ้นมาได้

 

แต่ในปัจจุบันนี้โลกเจริญ โลกเจริญนะ มนุษย์มีการศึกษา พอมนุษย์มีการศึกษา มนุษย์เป็นปัญญาชน พอเป็นปัญญาชนมันเกิดทิฏฐิ ปัญญามาก ใครพูดอะไรก็ไม่เชื่อ “เฮ้ย! เชื่อไม่ได้ เราเป็นคนมีปัญญา เราเป็นปัญญาชน”

 

หลวงตาท่านบอกว่า ไอ้พวกชนดะ ชนแหลก ไอ้พวกปัญญาชนนี่ชนแหลกเลย เพราะปัญญาชน ชนทุกประเด็น ชนทุกปัญหา มันเลยพุทโธไม่ได้ “พุทโธมันไม่มีปัญญา พุทโธนี่มันกดไว้เฉยๆ มันสงสัย พุทโธไม่ได้ เฮ้ย! พุทโธมันไม่ลง ไม่ลง อย่างไรก็ไม่ลง” มันจะชนน่ะ มันชนดะเลย ปัญญาชน

 

ถ้าปัญญาชนนี้ต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะจริตของปัญญาชน ถ้าปัญญาชน ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์เรามันจับอารมณ์ มีสติจับอารมณ์ เอ็งคิดเรื่องอะไร คิดทำไม คิดแล้วเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วเอ็งทำไมโง่คิด คิดแล้วก็คิดอีก ไล่ตามไป นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ

 

ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่จิตสงบไหม สงบ แต่ไม่ลงลึกแบบพุทโธ ถ้าพุทโธมันจะลงวืบ ลงลึก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันลงของมันเต็มที่เลย แล้วเต็มที่แล้วมันมีความสุขมาก แล้วมีความสุขมาก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เวลาจิตมันลงแล้วถ้าจริตของคนออกรู้ต่างๆ มันก็เกิดทิฏฐิเกิดมานะ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่จะสั่งจะสอน ครูบาอาจารย์ต้องเป็น จิตชนิดนี้มันมีอาการอย่างใด จิตชนิดนี้มันมีทิฏฐิมานะอย่างไร จิตชนิดนี้มันส่งออกไปแล้วมันไปรู้อะไร พอสิ่งที่ไปรู้แล้วมันยึดไม่ยึด ถ้ารู้แล้วมันวาง จิตชนิดนี้รู้แล้ววาง จิตชนิดนี้มีประโยชน์ นี่ไม่มีเหมือนกัน ลายนิ้วมือของคนไม่เหมือนกัน ลายนิ้วมือปั๊มแล้วไม่เหมือนกันเลย จริตของคนไม่มีเหมือนกัน

 

เราพูดบ่อยจนคนเอาไปพูดต่อว่า พระอรหันต์ล้านองค์ก็ล้านชนิด ไม่มีเหมือนกัน พระอรหันต์ไม่มีเหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน ลายนิ้วมือเทียม

 

พระอรหันต์ไม่มีเหมือนกัน แต่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน วิทยานิพนธ์นั้นลอกมา วิทยานิพนธ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น พอไม่เหมือนกัน เวลาทำไป ทำตามนั้น

 

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ถ้าภาวนาเป็นจะรู้ประเด็นนี้ แล้วรู้ประเด็นนี้จะแก้จิตของแต่ละคนแตกต่างกันไปเฉพาะ เหมือนหมอให้ยาเฉพาะโรค ไม่ใช่ครูพักลักจำ มาเถอะ ตู้ยาทั้งหมด เอ็งกินหมดนี่หาย เอ็งกินหมดนี่ นี่ยารักษาโรค ไม่รู้โรคอะไร กินเลย หาย แต่ถ้าเป็นหมอนะ เขาให้เฉพาะๆ

 

ฉะนั้น ถ้าเป็นเจโตวิมุตติจะเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติใช่ไหม ปัญญาวิมุตติมันก็พิจารณาเข้าไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันหยุด แต่แป๊บเดียวคิดอีก แป๊บเดียวคิดอีก แต่ถ้ามีสติปัญญาเร็วเข้ามันจะเลาะทัน พอทันปั๊บ คุมความคิดมันคิดออกไปได้มันก็เป็นเฉพาะจิตล้วนๆ ที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

 

ปัญญาอบรมสมาธิ เราจะบอกว่ามันไม่ลงลึก มันไม่ลงลึก แต่ถ้าสติปัญญามันพร้อม มันมั่นคง พอมั่นคงได้ มันจะออกรู้ ออกรู้เหมือนกัน ออกรู้สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

 

ที่ว่า จิตเห็นจิต ที่ดูจิต ดูจิตจนจิตเห็นจิต จิตเห็นจิต จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของการส่งออกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของการที่จิตเห็นจิตเป็นนิโรธ ชัดเจน นี่ปัญญาวิมุตติ

 

ชัดๆ เป็นหมดเลยถ้าจิตพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบแล้วเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตก็เห็นอะไร เห็นอารมณ์ เห็นขันธ์ เห็นกาย อย่างนี้เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาไป ผลของมัน นิโรธๆ ผลของมัน นิโรธคือการดับทุกข์ นี่คือปัญญาวิมุตติ

 

พูดเสียไกลเชียว คำถามเขาถามว่า “แล้วอะไรที่เป็นตัวชี้บอกล่ะ” คำถามมันอยู่ตรงนี้ คำถามมันอยู่ตรงว่า “แล้วอะไรจะเป็นตัวบอกล่ะ”

 

ตัวบอกนะ ทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ มันมีอยู่ในอารมณ์ อยู่ในจริตนิสัยของคนโดยทั่วๆ ไป ฉะนั้น เวลาเราพุทโธๆๆ พุทโธคือพุทธานุสติ แล้วถ้าเราเป็นปัญญาชน กิเลสมันบอกว่า “มึงนี่โง่ อะไรๆ ก็พุทโธ พุทโธมันก็แค่คำบริกรรม พุทโธมันก็คำบ่น แล้วมันจะมีอะไรล่ะ เบื่อฉิบหายเลย”

 

มันก็ใช้ปัญญาได้ ถ้าใช้ปัญญาไป พอปัญญามันหยุด ใช้ปัญญาไป ถ้าใช้ปัญญา ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือสติ สติปัญญามันตามความคิด จับความคิดแล้วพิจารณา พอมันปล่อยแล้วมันก็หยุด หยุดแล้วทำอย่างไรต่อ มีคนถามอย่างนี้เยอะมากเลย ทำอย่างไรต่อ

 

ก็พุทโธต่อไง พอจิตมันปล่อยแล้วมันทรงตัวไม่ได้ จิตนี้มันเหมือนน้ำใสที่มันไม่มีสีมีแสง ไม่มีใครรู้ว่ามันมีอะไรอยู่ ถ้าใส่สีไปมันก็จะรู้ว่าน้ำนั้นสีอะไร ถ้าคิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา พอเราคิดปั๊บมันก็มีความรู้สึกขึ้นมา พอไม่คิดปั๊บมันก็เป็นธาตุรู้ มันทรงตัวไม่ได้ ก็พุทโธต่อไป

 

เห็นไหม ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วถ้ามันหยุด เราก็พุทโธต่อไป พอพุทโธมันพุทโธไม่ได้อีกแล้ว มันเครียดอีกแล้ว ก็กลับมาปัญญาอบรมสมาธิ มันใช้เกี่ยวเนื่องกันได้ แต่อยู่ที่จังหวะ อยู่ที่จังหวะใช้ตอนไหน ใช้อย่างไร

 

ที่เราทำกันไม่เจริญก็ตรงนี้ไง ทำแล้วไม่ต่อเนื่อง ใช้ตอนไหน ใช้อย่างไร มันใช้ไม่เป็น มันใช้ไม่ถูก เวลาเขาจะให้ใช้มีด มันก็ใช้ค้อน เวลาเขาจะให้ใช้ค้อน มันก็ไปใช้สิ่ว มันใช้ไม่ถูกจังหวะมันสักทีหนึ่ง แล้วมันก็เลยไม่ได้ผลไง แต่เราสังเกตให้ดี แล้วทำของเราไปให้ดี

 

เขาถามว่า “อะไรเป็นตัวชี้บอก”

 

ตัวชี้บอกคือไม่ฟุ้งซ่าน ตัวชี้บอกคือทำแล้วเกิดปีติ ทำแล้ว คำว่า “ปีติ” คือความสุขใจ มีความอิ่มเอิบ มีความพอใจ นี่ตัวชี้บอก ตัวชี้บอกคือผลไง ตัวชี้บอกคือว่าเรากินข้าวแล้วเราอิ่มไง เรากินข้าวแล้วเราไม่หิวกระหายไง

 

ถ้าเรากำหนดใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้พุทโธ ตัวชี้บอกคือจิตมันสงบไง ตัวชี้บอกคือมันไม่ดิ้นรนไง ตัวชี้บอกคือมันไม่เร่าร้อนไง นี่คือตัวชี้บอก

 

นี่มันเร่าร้อนๆ พอมันกำหนดแล้ว เออ! เย็นลงเว้ย เออ! สบายขึ้น นี่ตัวชี้บอกว่าเรามาแล้ว แต่ได้มากหรือไม่ได้มากมันต้องมีอุบายต่อเนื่องไป

 

ทีนี้ตัวชี้บอก ถ้าตัวชี้บอก อยากให้หลวงพ่อบอกมาเลย

 

ถ้าหลวงพ่อบอกมาเลยก็ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรู้ว่าสัตว์นี้เกิดมาจากอะไร สัตว์ตัวไหนมันสร้างเวรสร้างกรรมมาอย่างใด สร้างเวรสร้างกรรมมาอย่างใดท่านถึงจะให้อุบายตรงกับจริตนิสัยนั้น

 

แต่สาวกสาวกะ คนที่มีอำนาจวาสนาที่สุดต้องหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นรู้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราบารมีมันแตกต่างกันไป แค่บอกเหตุบอกผลก็จะเป็นจะตายอยู่แล้ว บอกเหตุบอกผลมันยังบอกว่าหลวงพ่อขี้บ่นเลย หลวงพ่อบ่นทุกวันเลย

 

นี่ขนาดบอกเหตุบอกผลมันนะ แล้วจะไปบอกจริตนิสัยมันอีก

 

บอกว่า “รู้ได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร” มันเถียงเลย “รู้ได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร”

 

คนเรานะ อุบายของหลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า ท่านจะพูดจะบอกใครท่านจะบอกเป็นอุบาย ถ้าบอกตรงๆ นะ กิเลสมันต่อต้าน แล้วถ้าต่อต้านแล้วมันจะเป็นผลเสียกับผู้รับ เพราะผู้รับ ถ้าเราหลงใหลไปกับสิ่งใด เราก็ไม่รู้ว่าหลงใหล ถ้าไปบอกว่ามันหลงใหลสิ่งนั้น

 

“ไม่ได้หลง”

 

นี่มันยึด ๒ ชั้นแล้ว พอไม่ได้หลง มันปฏิเสธ แล้วมันก็ยึดเข้าไปอีกชั้นหนึ่งไง ตัณหาซ้อนตัณหา การแก้จิตนี้แสนยาก แล้วคนจะแก้จิตต้องมีอุบาย คนแก้จิตรู้เลยว่าจิตของเรากว่าจะหลุดพ้นออกมาแต่ละช่วงๆ มันหลงใหลอย่างไร มันยึดติดอย่างไร แล้วเราผ่านมามีใครคอยสะกิด มีใครคอยบอก หรือไม่มีใครสะกิด ไม่มีใครคอยบอก แต่กว่าเราจะรู้เองได้ กว่าจะรู้เองได้ กว่าจะมาคำนึงถึงว่าตรงนี้มันเป็นปัญหา เกือบเป็นเกือบตาย แล้วจะไปบอกเขา ใครจะเชื่อ

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดธุระเลย “ใครจะรู้ได้อย่างไร ใครจะรู้ได้อย่างไร” ไม่มีใครรู้ได้หรอก แต่ก็รู้ได้ แต่ยากฉิบหายเลย แต่ทำได้

 

นี้จะบอกว่าตัวชี้บอกไง “หลวงพ่อ แล้วอะไรเป็นตัวชี้บอกล่ะ”

 

ตัวชี้บอกคือเราทำแล้วมันราบรื่น ทำแล้วมันเป็นไปได้ แล้วพอราบรื่นแล้ว กิเลสพอมันโดนธรรมะหรือโดนความเพียรของเราไปแผดเผามันนะ ประเดี๋ยวมันซ้อนกลกลับมาแรงกว่าอีก

 

กิเลสพอมันแพ้แล้วนะ หรือว่าพอสงบได้แล้วเราทำต่อไป สังเกตได้ไหมเวลาคนภาวนาพอจิตสงบแล้วจะทำครั้งที่ ๒ ทำยากกว่าครั้งแรก แล้วครั้งต่อๆ ไปยิ่งยากขึ้นไปอีกนะ นั่นล่ะกิเลสมันรู้ทัน พอกิเลสมันรู้ทันแล้วมันก็ต้องพลิกแพลงนะ

 

โอ๋ย! ครูบาอาจารย์ท่านจะพลิกแพลง นักปฏิบัติเราอดนอนผ่อนอาหาร มุมานะ ไอ้พวกเราก็ “อืม! ทำไมต้องทำขนาดนั้น อืม! ทำไมต้องทำขนาดนั้น”

 

ก็เอ็งไม่รู้จักกิเลส เอ็งไม่เคยเห็นของจริง พวกเอ็งเห็นแต่ตัวหนังสือ แล้วก็คนบอกว่า “ทำง่ายๆ โธ่! ของอย่างนี้ทำสะดวกมาก” เอ็งก็เห็นแต่ตัวหนังสือ แล้วคนที่มาสอนเอ็งก็โกหกมดเท็จทั้งนั้น

 

แต่ถ้าเป็นความจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเห็นกิเลส ท่านสู้กันมา ท่านถึงให้ หลวงตาบอกว่า นิวเคลียร์ นิวตรอน ท่านให้อาวุธ ให้สติให้ปัญญา พระเณรมาเดินเซ่อๆ หลวงปู่มั่นท่านด่าเลย ซากศพเดินได้ นี่ซากศพเดินได้ ไม่ใช่คน ขาดสตินี่ เพราะอะไร เพราะท่านรู้ว่ากิเลสมันรุนแรงขนาดไหน ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง อู้ฮู! ท่านให้อาวุธ ให้ทุกๆ อย่าง

 

แต่ถ้าเราไปเจอไอ้พวกกะล่อนปลิ้นปล้อน “เอ็งนอนอยู่นี่ เดี๋ยวพรุ่งนี้เอ็งก็เป็นพระอรหันต์ เอ็งนอนสบายๆ ไม่ต้องทำหรอก เพราะนิพพานมันมีอยู่แล้ว เอ็งอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเอ็งก็ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะเอ็งมีสามัญสำนึกแล้ว เอ็งจะค้นหาพระอรหันต์ของเอ็งแล้ว เดี๋ยวเอ็งก็ได้” นี่มารยาสาไถยเป็นแบบนี้ เพราะอะไร

 

เพราะเขาไม่ได้เผชิญกับความจริงมา เขาไม่ได้เผชิญซึ่งหน้ากับกิเลสมา เขาไม่เคยเผชิญหน้ากับกิเลส เขาไม่ได้ต่อสู้กับมันมา เขาไม่รู้หรอกว่ามันรุนแรง มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหน แต่ครูบาอาจารย์ของเรารู้ ครูบาอาจารย์ของเราทำมาแล้ว

 

นี่เขาถามว่า “แล้วอะไรเป็นตัวชี้บอกล่ะ”

 

ตัวชี้บอกก็ผลที่เราปฏิบัติที่มันเป็นไปได้ แล้วถ้าเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ ถ้าเรามีสติมีปัญญา มันจะส่งเสริมกัน มันไม่ใช่แยกกันเด็ดขาด มันไม่ใช่แยกกันเด็ดขาดแล้วทำเฉพาะอย่าง แต่ถ้าเราปฏิบัติมันจะส่งเสริมกัน เช่น เท้าซ้ายและเท้าขวาเดินไปพร้อมกัน ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว มันก็จะเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่เราหาช่องทาง

 

เพียงแต่บอกว่าพอมีเจโตวิมุตติ มีปัญญาวิมุตติ ก็จะเอาช่องไหนที่มันสะดวกไง จะเอาช่องไหนที่มันจะสไลด์เข้าไปเลยไง มันก็เลยไม่เจอทั้ง ๒ ข้าง แต่ถ้ามันขยันหมั่นเพียรมันจะส่งเสริมกัน ทำคุณงามความดีต่อเนื่องกันไป ปฏิบัติมีความเพียรชอบ ทำความชอบไป มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า มนุษย์จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ

 

มันเป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบเป็นมรรคองค์หนึ่ง ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะเป็นความเพียรชอบ แล้วชอบในอะไร ชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ฉะนั้น เราต้องขวนขวายประพฤติปฏิบัติของเราให้เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริง นี้คือตัวชี้บอก เอวัง