ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่เห็นธรรม

๑๑ ม.ค. ๒๕๕๗

 

ไม่เห็นธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “เบื่อหน่ายคลายกำหนัด”

 

โดยปกติผมจะเจริญสติตามแต่สมควร โดยส่วนใหญ่จะพยายามทำตัวให้มีสติ เมื่อมีอารมณ์หรือสิ่งที่มากระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของใจ ก็พยายามจะรู้ทางร่างกายด้วย เช่น เดินรู้สึกอย่างไร แต่ช่วงหลังมีการเมืองเข้ามา

 

ผมอยากรู้ว่า ถ้าเราจับอารมณ์หรือสิ่งที่เข้ามากระทบได้ แล้วมันก็ได้แต่เห็นแล้วดับไปเพราะความเห็นบ้าง เพราะใช้สมาธิดับบ้าง แล้วทำอย่างไรให้เกิดความเบื่อหน่าย มันไม่น้อมลงทางนั้น เพราะบางครั้งได้แต่รู้แล้วดับไปเอง บางครั้งใช้สมาธิทำให้ดับ บางครั้งก็ใช้ความรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ทำให้ได้ แต่ยังไม่มีความเบื่อหน่ายเลยครับ ช่วงแรกเคยมีความเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไรเลย ตอนนี้เหมือนจะยอมรับความจริงขึ้นมา แต่ไม่เบื่อหน่าย

 

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามว่า ปฏิบัติแล้วให้มันเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วทำไมมันไม่เบื่อหน่าย ทำไมมันไม่คลายกำหนัด

 

ปฏิบัติไปแล้วเหมือนมันจะเบื่อหน่าย แต่เดี๋ยวมันก็ไม่เบื่อหน่าย นี่ความเห็นเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะขาดครูบาอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกเลย การประพฤติปฏิบัติเราต้องทำความสงบของใจก่อน คือให้กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันสงบระงับแล้วมันก็มีความสุขแล้ว

 

ถ้าโดยทั่วไปเวลาจิตมันสงบระงับ โดยความรู้สึกของโลกเขาบอกคือมันคลายความเบื่อหน่าย เพราะมันสงบ ก็มันไม่เบื่อหน่ายแล้ว ก็มันมีความสุข อย่างนี้คือการปฏิบัติธรรม เห็นไหม เพราะทำความสงบไง

 

แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ที่เขารังเกียจกันนักกันหนาว่าสมถะๆ ไม่มีปัญญา เขารังเกียจกันนักกันหนาว่ามันเป็นสมถะ มันไม่เป็นปัญญา พระพุทธศาสนาเขาสอนให้ใช้ปัญญาไปเลย แล้วถ้าปัญญามันมาตรึกในธรรมๆ เพราะเราศึกษา เพราะเราตรึกในธรรมแล้วเราปฏิบัติ

 

เขาบอกว่าเขาเจริญสติตลอด เจริญสติ รู้ตัวทั่วพร้อม มีรู้เท่าทันอารมณ์ รู้เท่าทันหมดล่ะ บางทีมันก็รู้ทันมันก็ดับได้ แต่มันไม่เบื่อหน่าย มันไม่คลาย แล้วทำอย่างไรล่ะ ก็มันไม่คลาย

 

คนปฏิบัติจริงเขารู้ว่ามันไม่คลายหรอก มันจะคลายได้อย่างไรล่ะ มันจะคลายมันต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านมา เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา เริ่มต้นคนก็คิดแบบนี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์

 

ความมหัศจรรย์นะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ แต่เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว “มันจะสอนได้อย่างไร มันจะสอนได้อย่างไร” คือมันจะบอกให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างใด เพราะอะไร

 

เพราะโดยสามัญสำนึก กำปั้นทุบดิน วิทยาศาสตร์ ถ้าจิตเรามันฟุ้งซ่าน จิตเรามันมีความเครียด จิตมันมีความทุกข์หมดแหละ ถ้าเราใช้ปัญญาไปแล้วมันก็ปล่อยจริงๆ มันก็วางหมด เออ! มันเหมือนจะคลายความเบื่อหน่าย แต่มันไม่เบื่อหน่าย เพราะมันชั่วคราว เดี๋ยวมันก็คิดอีก

 

ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลมีความเป็นปกติ แล้วใช้ปัญญาแล้ว ปัญญารู้เท่าหมด จะดับด้วยสมาธิก็ได้ จะดับด้วยปัญญาก็ได้ มันดับหมด มันปล่อยวางหมด อ้าว! แล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ ก็แค่นั้นน่ะ แค่นั้นไม่แค่นั้นเปล่านะ พอทำไปแล้วก็ได้แค่นี้ แล้วพอทำคราวหน้าต่อไปนะ มันไม่ค่อยลงแล้ว เพราะกิเลสมันรู้ทัน ตอนนี้ก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว

 

พอล้มคลุกคลานก็เข้าไปหาครูบาอาจารย์ ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ก็ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ไปศึกษากับหลวงปู่มั่น แล้วพอมันล้มลุกคลุกคลานก็บอกในเมืองไทย ในโลกเลย ในโลกของชาวพุทธ ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงก็หลวงปู่มั่น แล้วก็ได้มาอยู่กับท่านแล้ว พอปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว พอปฏิบัติไม่ได้อะไร เลิกดีกว่า สึกดีกว่า

 

ทุกคนเวลาพระปฏิบัติจะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เรามั่นใจ เราเชื่อใจมาก แล้วไปอยู่กับท่าน แล้วพยายามขวนขวายทำให้เต็มที่เลย แล้วทำไม่ได้ แล้วจะไปไหนต่อ ถ้าจะไปไหนต่อก็จะไปหาเทวดา จะไปหาพรหมนั่นแหละ แต่ไม่รู้หรอกว่าเทวดา พรหมก็มาหาหลวงปู่มั่น เพราะความคิดของมนุษย์ไง ในเมื่อมนุษย์ช่วยเราไม่ได้ เราก็ต้องเอาเทวดาช่วย มนุษย์ช่วยเราไม่ได้ก็ต้องเอาพรหมนั่นแหละช่วย แต่เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น มาศึกษากับหลวงปู่มั่น

 

เทวดา อินทร์ พรหมยังมาศึกษากับครูบาอาจารย์เรา แต่เราไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วนะ เวลาศึกษาไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้ว จนหมดไส้หมดพุงแล้ว ท่านก็สอนของท่านตามความเป็นจริงนั่นแหละ แต่เราปฏิบัติยังไม่ได้ตามความเป็นจริง เราปฏิบัติให้มันเป็นความจริงไม่ได้ พอปฏิบัติเป็นความจริงไม่ได้ พอกิเลสมันคลายตัวมา พอกิเลสมันตื่นขึ้นมา ล้มลุกคลุกคลานหมดล่ะ

 

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเราทำความสงบของใจก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเกิดภาวนามยปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ปัญจวัคคีย์นะ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คำว่า “อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี มันก็มีการประพฤติปฏิบัติ มันก็มีตบะธรรม แต่ตบะธรรมแบบโลกคือแบบสมาธิไง

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาอยู่ ค้นคว้ามา ๖ ปี เป็นผู้ค้นคว้า แต่ผู้อุปัฏฐาก คำว่า “ผู้อุปัฏฐาก” มันก็ปฏิบัติตามไปด้วย พอปฏิบัติตามไปด้วย จิตของเขาก็มีหลักมีเกณฑ์เหมือนกัน แต่ในเมื่อยังไม่มีธรรมะใช่ไหม ฉะนั้น เวลาเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฉันอาหารของนางสุชาดา เพราะคนมีความคาดความหวังว่าอดอาหาร ทำทุกรกิริยาขนาดนี้มันก็ลุ้นนะ เมื่อไหร่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้เสียที จะได้สอนเราๆ

 

ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นปฏิบัติเอง พอปฏิบัติเอง มันทำอย่างไรก็รู้อยู่แก่ใจ มันทำไม่ได้ ในเมื่อทำไม่ได้แล้ว อดอาหารจนขนหลุดหมด ทำทุกรกิริยามาเต็มที่แล้ว ทีนี้จะทำให้เป็นความสมดุล ให้เป็นความเป็นกลางในพระพุทธศาสนา มาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์เห็นเข้าแล้ว อู้ฮู! ขนาดปฏิบัติเข้มแข็งขนาดนั้นยังไม่ได้ แล้วมาฉันอาหารของนางสุชาดา เหมือนกับคลายความเพียรแล้ว เสียใจ น้อยใจ ทิ้งไปเลย

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเองเพราะปัญจวัคคีย์ทิ้งไปแล้ว พอทิ้งไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติจนตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมา มันมีความสุข มันแตกต่างกับที่ค้นคว้าอยู่นั้นมหาศาล เพราะโลกกับธรรมแตกต่างกันมาก พอโลกกับธรรมแตกต่าง เสวยวิมุตติสุข วิมุตติสุข เห็นไหม ทอดธุระว่าจะไม่สอน

 

ฉะนั้น ด้วยการสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นศาสดา เป็นผู้รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็ต้องสอนอยู่ดีนั่นแหละ ฉะนั้น พรหมก็มานิมนต์ด้วย พอพรหมมานิมนต์ แล้วตัวเองก็ต้องสอน เพราะอะไร เพราะปฏิบัติมารู้จริง แล้วจะเอาใครก่อน

 

คำว่า “จะเอาใครก่อน” เล็งญาณไปที่อุทกดาบส อาฬารดาบส เพราะได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ก็เพิ่งตายไป แล้วเอาใครก่อน ก็เล็งไปปัญจวัคคีย์ พอปัญจวัคคีย์ เวลาปัญจวัคคีย์สัญญากันไว้เลยว่ามาแล้วไม่รับ

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไป เห็นไหม ด้วยความคุ้นเคย สัญญากันว่าไม่รับ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจริงก็รับ รับเสร็จแล้ว ปฏิสันถารเสร็จแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเทศน์ธัมมจักฯ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไปนะ เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ แล้วทางสายกลาง สายกลางอย่างไร ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ความเห็นถูกต้อง เห็นถูกต้องอย่างไร เห็นถูกต้อง เห็นไหม ทางสองส่วนไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค

 

แล้วอัตตกิลมถานุโยค ดูสิ ทำทุกรกิริยา แต่เวลาอดอาหาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกการอดอาหารไม่ให้อดอาหาร เพราะถ้าอดอาหาร การอดอาหารโดยที่ไม่มีปัญญา มันจะเอาการอดอาหารนั้นเป็นเป้าหมาย ถ้าเอาการอดอาหารเป็นเป้าหมายนะ อดอาหารก็ตาย เพราะว่าการอดอาหารก็อดอาหารเฉยๆ เหมือนกับที่เขาสอนกันอยู่เดี๋ยวนี้ ทำพลังจิต ทำกำลัง มันเป็นกำลัง แล้วพอมีกำลังขึ้นมามันจะเกิดปัญญา...มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้หรอก

 

สมาธิก็คือสมาธิ พลังงานก็คือพลังงาน พลังงานมันเป็นปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นปัญญาขึ้นมาไม่ได้ จิตใจคนอ่อนแอมันโดนสิ่งใดเบียดเบียนมันก็เหลวไหล คนที่จิตใจเข้มแข็ง เวลามันเข้มแข็งขนาดไหน โดนกิเลสเบียดเบียนอย่างไร มันมีหลัก มันก็เป็นปัญญาขึ้นมาไม่ได้ นี่ไง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค

 

ทีนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาตรงไหนล่ะ มัคโค ทางอันเอก งานชอบ เพียรชอบ ดำริชอบ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณฑัญญะอุปัฏฐากมาอยู่ ๖ ปี พระอัญญาโกณฑัญญะมีความเห็นจริงขึ้นมา ความเห็นจริง ความเห็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา

 

เพราะปัญจวัคคีย์ปฏิบัติมา ๖ ปี แล้วเวลาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันถึงคลายความเบื่อหน่ายไง ที่มันคลายได้จริง ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะในธรรมจักรมันก็มีสัมมาสมาธิด้วย ถ้าสัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธิคืออะไร สัมมาสมาธิคือใจที่มันปล่อยวาง ปล่อยวางสมุทัยความเห็นบวกของเรา ความเห็นบวก เห็นไหม

 

นี้เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เห็นไหม “โดยปกติผมเจริญสติตามสมควร โดยส่วนใหญ่จะพยายามทำตัวให้มีสติ ในเมื่อมีอารมณ์สิ่งใดที่มากระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงก็พยายามจะรู้ทั้งทางกาย รู้ทุกอย่าง”

 

ความรู้ต่างๆ มันรู้ มันรู้ หลวงปู่มั่นท่านสอนนะ การดื่ม การเหยียด การคู้ การดำรงชีวิตให้มีสติ ถ้ามีสติ มีสติโดยธรรมดา พอมีสติขึ้นมาแล้ว สติก็คือสติ ถ้ามีสติขึ้นมาแล้วก็เหมือนกับเรามีสำนึก

 

มีสำนึก เห็นไหม ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คำฝากไว้คำสุดท้ายเลย “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 

ความประมาทเลินเล่อ ความคิดมักง่าย ความคิดเคยชิน นี่คือความประมาทหมดแหละ ถ้าเราตั้งสติเราพร้อมขึ้นมา หลวงปู่มั่นก็สอนอย่างนี้ พอตั้งสติขึ้นมาแล้วเราต้องมีคำบริกรรมอีก เพราะอะไร เพราะมันมีคำบริกรรม จิตมันมีที่เกาะที่อาศัย มันวางอารมณ์ทั้งหมด วางอารมณ์ทั้งหมด แล้วเวลาวางอารมณ์ทั้งหมด วางแล้ว จิตที่มันตั้งมั่น จิตที่มีกำลัง แล้วมันน้อมไป

 

นี่ไง สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ เขาจะบอกว่ามีพลังงาน มีสมาธิ มีกำลัง

 

เราก็พูดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เราพูดอย่างนั้นขึ้นมาเป็นฐานของสมาธิ เป็นฐานของสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการให้เห็นความเบื่อหน่าย

 

แต่นี่เราไม่มีฐาน เราไม่รู้จักที่ เราไม่มีฐาน เราไม่มีตัวตนของเรา เราไม่รู้ตำแหน่งว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน เราไม่มีภวาสวะ คือเราไม่รู้ที่ เราไม่รู้เหตุว่าเราเป็นโรคอะไร แล้วโรคเกิดตรงไหน แล้วเกิดอย่างใด แต่ความแปรปรวน เห็นไหม เราไปโรงพยาบาลจะเห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วยเยอะแยะเลย เขาก็เป็นของเขา แต่เราไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเราเจ็บไข้ได้ป่วยตอนไหน แล้วเราเจ็บไข้ได้ป่วย เรารักษาอย่างไร นี่ไง สัมมาสมาธิมันมีจุดตรงนี้ สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้ามีฐานที่ตั้งแห่งการงาน จิตมันสงบแล้วน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง ถ้าเห็นจริง สติปัฏฐาน ๔ จริง

 

ถ้าจิตมันไม่เคยสงบ แต่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบอกเราจะปฏิบัติธรรม มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็รู้เท่าไปหมดเลย มันก็เหมือนวางยาสลบ วางยาสลบไปเลย เออ! เออ! แล้วมันไม่เห็นคลายกำหนัดเลย

 

มันจะไปคลายที่ไหนล่ะ ก็มันไม่รู้ที่ว่ามันติดตรงไหน แล้วไม่รู้ที่ว่ามันจะไปคลายตรงไหน แล้วมันจะเอาอะไรไปคลายล่ะ

 

แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงนะ มันจะคลายหรือมันไม่คลายนั้นมันอยู่ที่จริตนิสัย จริตของคนทำสมาธิได้ง่ายก็มี ทำสมาธิได้ปานกลางก็มี บางคนทำสมาธิได้ยากมาก คนที่ทำสมาธิได้ยากมาก เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำปัญญาอบรมไป คือปัญญาไล่ตามความรู้สึกนึกคิดนั้นไป เวลามันปล่อยมา มันเกิดปัญญาพร้อมไป แต่พร้อมขึ้นไปมันก็ลงสู่สมถะ ลงสู่สมาธิ นี่คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

 

ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาอบรมมัน แต่ถ้าเป็นพุทธานุสติ นั่นใช้คำบริกรรมให้จิตเกาะ มรณานุสติระลึกถึงความตาย ระลึกรู้ให้จิตมันเกาะอยู่ จิตตัวนี้มันจะตั้งมั่นขึ้นมา ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา ปัญญาอบรมสมาธิพิจารณาไป ใช้ปัญญาไล่ไปเลย มันถึงที่สุดมันปล่อยหมด ปล่อยแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก ปล่อยแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก แต่ปล่อยแล้วต้องมีสติ พอปล่อยแล้วมีสติ เหลืออะไร ใครเป็นคนปล่อยอารมณ์ ใครเป็นคนปล่อยความคิด ใครเป็นคนปล่อยสิ่งที่มันรกรุงรังในใจ แล้วปล่อยแล้วใครเป็นคนปล่อย นั่นน่ะฐาน นั่นน่ะสมถกรรมฐาน ถ้าสมถกรรมฐานตรงนั้นแล้ว ถ้ามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

 

“ทำไมต้องน้อมไป ทำไมต้องเห็น ก็มันเห็นอยู่แล้ว ก็ใช้ปัญญาอยู่นี่มันก็เห็นอยู่แล้วไง” การเห็นอยู่นี้เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดยสถานะของมนุษย์ เห็นโดยโลกียปัญญา เห็นโดยสัญชาตญาณ แต่ไม่ได้เห็นโดยมรรค ไม่ได้เห็นโดยธรรม ถ้าไม่ได้เห็นโดยธรรม สูงสุดคือสมถะที่มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมนั่นน่ะ

 

ถ้ามีสติสัมปชัญญะ นั่นน่ะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิคือขาดความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ขาดความเห็นชอบมันก็เป็นความเห็นผิด ถ้าเป็นความเห็นผิดนะ “ก็ใช้ปัญญา ก็ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา” ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

 

คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” มันปล่อยวางใช่ไหม พอมันปล่อยวางมันก็เหมือนจะคลายนี่ไง มันก็แค่นี้ ก็เหมือนมันจะคลายไง คนที่แบกของหนักมาก็วางไว้ แต่ของนั้นเป็นอะไรก็ไม่รู้ ก็เราแบกมาเราก็วางของเรา วางแล้ว มันวางโดยสัญชาตญาณ

 

แต่ถ้าเป็นเราตั้งใจ โดยธรรมชาติคนเรามันทุกข์มันยากเพราะความคิดเราเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวางๆ เราก็มีสติปัญญา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้ว เห็นไหม ถ้ามีครูบาอาจารย์ ปล่อยวางแล้วทำอย่างไรต่อ มันต้องมีที่มาที่ไปสิ ธรรมะมันมีเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น ทำท่ามกลาง มีการกระทำ ที่สุดผลของมันเป็นอย่างไร พอเริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุดมันเห็นของมันใช่ไหม แล้วต่อเนื่องขึ้นไปอย่างไร สมถกรรมฐานจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ตรงนี้สำคัญมาก ตรงนี้สำคัญเพราะว่าโดยสามัญสำนึก โดยความเป็นจริงมันเห็นอย่างนั้นน่ะ เห็นความรู้สึกนึกคิด เห็นการปล่อยวาง เห็นนั่นน่ะปัญญาอบรมสมาธิ

 

พุทโธๆ มันละเอียด พุทโธจนพุทโธไม่ได้มันก็ปล่อยนั่นแหละ แต่คนมันไม่เข้าใจไง พอมันเริ่มพุทโธละเอียด เอ๊ะ! มันจะตายหรือเปล่า อู๋ย! ลมหายใจมันจะขาด ความจริงมันเป็นแบบนั้น ถ้าคนเป็นสมาธิจะเป็นแบบนั้น แต่ไอ้นี่ที่มันไม่เป็นสมาธิ ท่องบ่นพุทโธๆๆ จนพุทโธ่! ไม่ไหว เครียด นั่นน่ะกิเลสมันหนา

 

ถ้ากิเลสมันหนาก็ต้องหาอุบายนะ พุทโธโดยความนิ่มนวล แต่มีสติพร้อม พุทโธโดยความสมดุลของมัน เพราะพุทโธคือเราไม่เครียด ไม่ตึงเครียดจนเกินไป เราก็ไม่ปล่อยจนมันจะหายไป เรามีสติพร้อมเพราะเราจะรักษาใจของเรา โดยความสมดุลของมัน เพราะข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น ธรรมะเป็นแบบนั้น

 

แต่เพราะความเห็นผิดของเราโดยสมุทัย โดยตัณหาความทะยานอยากมันคาดมันหมาย มันคาดมันหมาย มันจินตนาการ มันก็ขัดแย้งกับความเป็นจริง พอขัดแย้งกับความจริง ทำมันก็เลยไม่เป็นจริง มันก็ไม่ได้ผล

 

แต่ถ้าทำความเป็นจริง ทำความเป็นจริงสมดุลกับธรรม ธรรมสัจธรรมมันเป็นแบบนั้น แล้วเราทำมันก็ลงสู่ตรงนั้น ถ้าลงสู่ตรงนั้นมันก็ปล่อยวาง มันก็ละเอียด สติสัมปชัญญะพร้อม พอพร้อมมันก็สงบระงับ มันก็ปล่อยวาง แล้วมันเป็นความจริง ความจริง

 

แก้วน้ำเปล่ากับแก้วน้ำที่มีน้ำแตกต่างกันนะ แก้วน้ำเปล่าๆ มันมีแต่อากาศ ถ้ามันตากแดดเดี๋ยวมันก็มีความร้อน ถ้ามันปล่อยไว้ ถ้ามันกระทบกระทั่งเดี๋ยวมันก็แตก แต่ถ้าแก้วน้ำมีน้ำอยู่ น้ำเป็นความชุ่มชื้น น้ำเป็นประโยชน์

 

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันมีน้ำ มันมีความอบอุ่น มันมีความจริงของมันขึ้นมา แล้วน้ำนั้นดำรงชีวิตก็ได้ น้ำนั้นเขาจะกินยาก็ได้ เขาทำอาหารก็ได้ เขาเจือจานคนอื่นก็ได้ จิตก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วนะ ถ้ามันน้อมไปเห็นไง

 

ฉะนั้นบอกว่า เขาถามว่า “ถ้าเขาจับอารมณ์ สิ่งที่มากระทบ แล้วมันก็ได้แต่เห็นแล้วก็ดับไป เห็นบ้าง ดับบ้าง มันไม่ชัดเจน”

 

ถ้ามันไม่ชัดเจน คนที่ปฏิบัตินะ พอปฏิบัติจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วเขาพิจารณาของเขาไปมันก็ปล่อยวางอย่างนี้ ถ้าเขาปล่อยวางของเขา ตทังคปหานปล่อยวางชั่วคราวๆ ปล่อยวางชั่วคราวพอจิตมันสงบ ถ้าเราปล่อยวางสิ่งใดแล้วมันจะสงบ พอเขาจับอารมณ์แล้ว พิจารณาแล้วมันปล่อยวางเป็นบางครั้ง

 

ปล่อยวางแล้วเรามีสติพร้อม เดี๋ยวมันจับแล้วเราก็พิจารณาต่อไป เพราะปัญญาอบรมสมาธิ พอมันปล่อยวางเข้ามา คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาคือเรื่องโลกียปัญญา พอมันสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามามันปล่อยวาง เราก็อยู่กับพุทโธ พอตัวมันคิด เราก็จับความคิดต่อเนื่องกันไป ทำอยู่อย่างนี้ จิตมันตั้งมั่น แต่พอจิตมันตั้งมั่น จิตมันมีกำลังขึ้นมาแล้ว เขาว่ามีกำลังแล้ว

 

มีกำลังก็ทำให้ถูกต้องด้วย มีกำลัง สมาธิแล้วจะให้เกิดปัญญา ปัญญาหมายความว่าจิตถ้ามันสงบแล้วมันจับกายได้ จับกาย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง นี่วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ ปัญญาที่มันเกิดขึ้นตรงนี้ ปัญญามันเกิดขึ้นอย่างไร

 

ปัญญาเพราะจิตมันสงบใช่ไหม พอจิตมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงหมายความว่าจิตมันสงบ มันมีจิต มีสติ พอมันไปจับเข้าๆ พอจับเข้า เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต คือจิตกับขันธ์ จิตกับสิ่งที่เกิดขึ้น จิตที่มันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ที่พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันมีผู้พิจารณา มีผู้รู้ ผู้เห็น มีผู้จับ แล้วมีผู้พิจารณาแยกแยะของมันไป ถ้าแยกแยะของมันไป ความเห็นมันจะแตกต่างกัน ถ้าความเห็นแตกต่างกัน นี่เขาเรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา เกิดจากการภาวนาคือจิตมันค้นคว้า

 

จิตเราเกิดมา มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอจิตมันจับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตเห็นกาย สิ่งที่มันจับ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการ ความเป็นไป เห็นอาการ อาการคือสัญชาตญาณของมันเป็นอย่างนี้ สัญชาตญาณเป็นอย่างนี้ แต่จิตมันละเอียด จิตมันมีความตั้งมั่น มันจับของมันได้มันก็แยกแยะของมัน พอแยกแยะของมัน พอแยกแยะ นี่ไง ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากจิตที่มันแยกมันแยะ เกิดจากจิต เห็นไหม

 

ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มัคโค มรรคคือทางอันเอก ธรรมจักร จักรมันเกิดขึ้น พอจักรมันเคลื่อนของมันไป จักรมันเคลื่อนของมัน ปัญญามันเคลื่อนของมันไป ปัญญามันหมุนเข้าไป หมุนไปไหน

 

หมุนกลับมาชำระล้าง ชำระล้างภวาสวะ ชำระล้างจิต จิตที่ว่าเป็นนามธรรม จิตที่ไม่มีตัวตน จิตที่ไม่เห็นนั่นน่ะ มันจะย้อนกลับมา นี่มัคโค จักรมันเคลื่อนๆ ปัญญามันหมุนอย่างนี้ แล้วปัญญามันหมุนอยู่ภายใน

 

ไม่เอามาเทียบเคียงกับ สาธุ! พระไตรปิฎกก็คือพระไตรปิฎก ตำราของครูบาอาจารย์ก็เป็นประสบการณ์ของท่าน แต่เราศึกษามา ศึกษามาเพื่อเป็นปริยัติ ศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แต่เวลามันเกิดกับจิตของเรามันเป็นปัจจัตตัง มันเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ อย่างนี้มันหมุนอย่างนี้ ถ้าหมุนอย่างนี้มันถึงจะคายจริงไง ถ้ารู้จริงเห็นจริงมันจะสำรอกมันจะคายของมันออก

 

เวลาคายออกมันก็เป็นตทังคปหานคือมันคายชั่วคราว คายชั่วคราวหมายความว่ามันปล่อยมันวาง มันปล่อยวางจริงๆ มันคายของมัน เพราะอะไร เพราะกิเลสมันแก่นของกิเลส การปฏิบัติเพราะเวียนว่ายตายเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย มันสะสมมา มันซับซ้อนมาจนไม่รู้ต้นรู้ปลาย แล้วจะทำให้มันทีเดียวมันจบไป มันจะจบได้ต่อเมื่อเป็นขิปปาภิญญา พวกที่สร้างวาสนามามาก ทีเดียวก็จบได้ แต่เวไนยสัตว์ ไอ้พวกที่ล้มลุกคลุกคลาน พอมันปล่อยวางแล้ว ถ้าเราขาดสตินะ พอปล่อยวางแล้วกิเลสมันบังเงา มันบอกว่านี่ขาดแล้ว กิเลสมันชำระล้างแล้ว

 

ความจริงมันชั่วคราว มันมีสายใย สังโยชน์คือสายใย สังโยชน์มันร้อยรัด พอร้อยรัด มันปล่อยวางก็ชั่วคราว ถ้าพิจารณาซ้ำๆ เข้าไป เวลามันขาดนะ เวลามันขาด สายใย มันตัดสายใยตัวนี้ สักกายทิฏฐิ คำว่า “ทิฏฐิ” ความเห็นไง ทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ กาย สักกายะคือกาย สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิว่ากายเป็นของเราไง ทิฏฐิว่าเป็นของเรา จิตใต้สำนึกนะ ไม่ได้คิดเองจินตนาการเอง จิตใต้สำนึกเลย ตัวจิตใต้สำนึกเลย ทิฏฐิความเห็นลึกๆ ทิฏฐิโดยสัญชาตญาณ ทิฏฐิที่มันอยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ ไม่ใช่อยู่ที่ความคิด ไม่ใช่อยู่ที่จินตนาการ อยู่ที่ภพเลย อยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ปฏิสนธิจิตเลย

 

ทิฏฐิตัวนั้นน่ะ ถ้ามรรคธรรมจักรเข้าไป มันไปสำรอก มันตัดสายใยอันนั้นน่ะ เรียกว่าสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาคือความสงสัย สีลัพพตปรามาสคือความลูบๆ คลำๆ จริงไม่จริง ใช่ไม่ใช่ แน่ใจไม่แน่ใจ สายใยมันขาดพับ! นี่คายจริงๆ ถ้าคายอย่างนี้จบ แล้วถ้าจบ มันจบอย่างไร

 

นี่ไง ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงๆ เวลาท่านคุยกัน ใครก็คุยได้ เราจะเอาแผนที่ประเทศไทย แล้วเราก็มาคุยกันเรื่องประเทศไทย เพราะเราเป็นคนไทย เราอยู่ในเมืองไทย เราก็เอาแผนที่ประเทศไทยมาคุยกันได้ตลอดเวลา

 

นี่ก็เหมือนกัน ในพระไตรปิฎก ในแนวทางปฏิบัติของครูบาอาจารย์ มันก็มีตำรับตำรา เรามาพูดได้ทั้งนั้นน่ะ แผนที่นี่คุยได้ทั้งวัน เอาแผนที่มานั่งคุยกันได้ทั้งวันเลย แต่เอ็งเคยเห็นตรงนั้นไหม ถ้าเห็น มันเป็นรูปร่างอย่างไร ทางเข้าเข้าตรงไหน เข้าไปแล้วเห็นอะไร พอเข้าไปเสร็จแล้วเอ็งออกมา เอ็งได้สมบัติอะไรออกมาด้วย เอ็งทำเสร็จแล้วเอ็งมีอะไร

 

ถ้าครูบาอาจารย์ท่านถาม ตอบไม่ได้นะ ไม่ใช่ ไม่ใช่คือมันไม่คายไง แต่ถ้ามันคายต้องทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้ เราต้องทำสมาธิ เราต้องทำสมาธิเข้ามาบ่อยครั้งให้มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราทำต่อเนื่องไป

 

เขาบอกว่า เวลาเขารู้เขาเห็นแล้วทำไมมันดับด้วยความเห็นบ้าง ดับด้วยสมาธิบ้าง แล้วทำไมมันไม่เกิดเบื่อหน่ายล่ะ

 

มันเบื่อหน่ายชั่วคราว เบื่อหน่ายเพราะเรามีสติสัมปชัญญะก็เบื่อหน่าย แต่พอมันชินชาแล้วเดี๋ยวมันก็ไม่เบื่อหน่าย การเบื่อหน่ายอย่างนี้มันสังเวช ธรรมสังเวช ความสังเวช ความสลดสังเวช เห็นไหม เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาแล้วเราก็สังเวชนะ เราศึกษาเรื่องชีวิตของเรา เราศึกษาเรื่องความจริงเราก็สังเวชนะ สังเวชแล้วสังเวชเฉยๆ ไง แต่จิตใต้สำนึกมันไม่สังเวชด้วย กิเลสมันไม่สังเวชด้วยหรอก กิเลสมันอยู่จิตใต้สำนึกนั้น เดี๋ยวมันก็แสดงตัวอีก ฉะนั้น ต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วฝึกหัดทำความเป็นจริงขึ้นมา แล้วมีครูบาอาจารย์ ปรึกษาครูบาอาจารย์ มันจะทำได้

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า ทำไมมันไม่เบื่อหน่าย แต่รู้ว่าดับไปเอง บางครั้งน้อมนำไปแล้ว แต่รู้ว่ามันดับไปเอง บางครั้งก็ใช้สมาธิให้ดับ บางครั้งก็ใช้ความรู้ให้ดับ

 

มันดับไปเองนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นเรื่องไม้ดิบๆ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึก มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญาโดยสามัญสำนึกนี้ ทำบ่อยครั้งเข้าๆ ละเอียดเข้าไป มีครูบาอาจารย์คอยบอกเข้าไป ลึกเข้าไปเรื่อยๆ

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “โอ๋ย! มันลึกขนาดนี้นะ จิตมันเร็วมาก มันรู้ทันหมดเลย อู้ฮู! จิตนี้เร็วกว่าแสงแล้วรู้ทันหมดเลย”

 

เดี๋ยวจะรู้ดีกว่านี้ เพราะมันมีสติ มหาสติ มีปัญญา มหาปัญญา มันจะมีลึกกว่านี้อีกเยอะ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาท่านจะรู้เลยว่ามันจะลงไปลึกขนาดไหน รู้ขนาดไหน เดี๋ยวจะรู้ แล้วทำไป เพราะอะไร เพราะว่าในเมื่อเรามีจิต เรามีความรู้สึก แล้วกิเลสมันอยู่ใต้ความรู้สึกของเรา เราจะชำระล้างมัน เราตามเข้าไปชำระล้าง ตามเข้าไปสำรอกคายของมัน เราต้องตามเข้าไป ในเมื่อมันยังมีฤทธิ์มีเดชอยู่ในใจของเรา เราจะตามไปชำระล้างมัน เราต้องมีสติปัญญาพร้อมขนาดนั้น ฉะนั้น ขณะที่ทำใหม่ๆ เราก็ว่ามันมหัศจรรย์แล้วแหละ แต่ทำต่อไปมันจะมีมากกว่านั้น

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “แต่มันยังไม่เบื่อหน่ายครับ ช่วงแรกก็มีความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไรเลย”

 

ช่วงแรกก็มีความเบื่อหน่าย เป็นแบบนี้ เป็นแบบที่ถามมานี่ถูกต้อง เพราะมันเป็นอย่างนี้ มันชั่วคราวเป็นแบบนี้ แล้วพอมันเบื่อหน่ายก็เบื่อหน่าย เดี๋ยวมันก็มาอีก

 

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา เบื่อหน่ายให้มันเบื่อหน่ายไป พอจิตสงบแล้วค้นคว้ามัน หามัน ขุดคุ้ยหามัน แล้วจับมันขึ้นมาชำระล้าง จับขึ้นมาพิจารณาแยกแยะของมัน ทำความสะอาดของมัน เวลาสะอาดบ่อยครั้งเข้าๆ มันปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า ถึงที่สุดแล้วมันขาด อันนั้นจะเบื่อหน่ายแท้

 

เห็นไหม เห็นธรรมตามความเป็นจริงไง อันนี้เห็นธรรมตามแนวทางของครูบาอาจารย์ เห็นธรรมตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็พยายามปฏิบัติให้มันเป็นความจริง แต่มันไม่เป็นความจริงของธรรม แต่เป็นความจริงของเรา เป็นความจริงของเราหมายความว่า เราปฏิบัติได้แค่นี้ เราก็รู้ได้แค่นี้ เรารู้จริงๆ เราเห็นจริงๆ

 

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า เวลาไปเห็นนิมิตไง เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติเห็นจริงไหม จริง เราปฏิบัติรู้จริงๆ เห็นจริงๆ แต่มันยังไม่จริงตามความเป็นธรรม ยังไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง

 

ถ้าเห็นธรรมตามความเป็นจริงนะ เห็นตามความเป็นจริง เห็นไหม จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากปุถุชนเดินโสดาปัตติมรรค จากปุถุชนมันจะเป็นโสดาปัตติผล มันจะเป็นความจริง ความจริงในใจ ถ้าความจริงอย่างนั้นถึงว่าต้องทำศีล สมาธิ ปัญญา

 

กลับมาทำความสงบของใจ แล้วทำแบบที่อธิบายให้ฟัง ทำต่อไป แล้วมันจะได้ผล อันนี้ถึงว่าถามเรื่องเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเนาะ

 

ถาม : เรื่อง “ไม่มีคำถามค่ะ”

 

กราบนมัสการหลวงพ่ออย่างสูง แม้กราบขอขมาพระภิกษุผู้ทรงศีล ผู้บริสุทธิ์ แล้วความรู้สึกเสียใจลึกๆ ก็ยังมีอยู่ ฟังธรรมและอ่านธรรมะในเว็บไซต์ทำให้เห็นความดื้อเอาแต่ใจตนเอง ใจร้อน จึงแสดงกิริยาไม่เหมาะสมออกมา กราบขอขมาพระคุณผู้ทรงศีล ผู้บริสุทธิ์ และสำนึกในความเมตตาที่ชี้แนะแก้ไข เคาะกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจริตนิสัยค่ะ กราบพระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ผู้บริสุทธิ์ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

ตอบ : อันนี้คำถามคือไม่มีคำถาม แต่เขาเขียนมาอย่างนี้ เขาเขียนมาว่า “กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง แม้กราบขอขมาพระภิกษุผู้ทรงศีล ผู้บริสุทธิ์ด้วย แล้วความรู้สึกเสียใจลึกๆ ยังมีอยู่ ฟังธรรมและอ่านธรรมะในเว็บไซต์ ทำให้เห็นความดื้อเอาแต่ใจของตัว ใจร้อน จึงแสดงกิริยาไม่เหมาะสมออกมา กราบขอขมาพระคุณเจ้า”

 

อันนี้คงจะแบบว่าไปอ่านในเว็บไซต์ทีแรก แล้วคงคิดว่าพระสงบขี้โม้ โม้ทุกวัน คงมีความคิดอะไรในใจ แต่อ่านบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้ามันเลยไปเห็นความดื้อ ไปเห็นว่ามีความดื้อในใจของเรา มีความใจร้อน แต่เพราะธรรมะ อ่านไปบ่อยครั้งเข้าๆ มันได้ตรึกตรอง มันได้ตรึกตรอง ได้พิจารณา

 

กรณีอย่างนี้มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า การฟังธรรม อานิสงส์ของการฟังธรรม การฟังธรรมคือฟังธรรมสิ่งที่เราไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วมันจะตอกย้ำๆ เราเคยได้ยินได้ฟังแล้วก็จริง แต่เราก็ฟังตอกย้ำเข้าไป มันไปแก้ความสงสัย แก้ความเห็นผิด ถ้าเราสงสัยอยู่ มันตอกย้ำๆ แล้วความเห็นผิดมาเทียบเคียงกับธรรมะๆ ผลของมันคือความผ่องแผ้ว ผลของมันคือความโล่งโถง ผลของมันคือความเข้าใจ นี่อานิสงส์ของการฟังธรรม

 

นี่ก็เหมือนกัน เข้าไปอ่านในเว็บไซต์ อ่านธรรมะของท่าน เข้าไปในเว็บไซต์ของท่าน ไปอ่านแล้วเห็นความดื้อ เห็นความเข้าใจ ถ้ามันเข้าไปอ่านธรรมะครั้งแรกมันคงคิดว่า อืม! เอ๊! พระสงบขี้โม้น่าดูเลย พูดอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน ชาวบ้านเขาก็พูดกันเรียบๆ ทำไมนี่พูดอะไรมันพิสดารจนเกินไป

 

มันก็ต้องมีความคิดเห็นเป็นธรรมดา แต่พอเทียบเคียงไปๆ อ่านไปแล้วพิจารณาไปๆ พิจารณาแล้วมันจะเห็นความดื้อ ความดื้อคือว่าทิฏฐิเราเป็นแบบนี้ แต่ทำไมเขาพูดไม่เหมือนเราเลย เอ๊! เราก็มีความเห็นอย่างนี้ แต่ทำไมท่านพูดไม่เหมือนเราเลย

 

เอามาเทียบเคียงๆ สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เห็นไหม ได้ยินได้ฟังแล้วมาเทียบเคียงๆ มาแก้ความสงสัยๆ เห็นความดื้อของเรา เห็นความเอาแต่ใจของเรา เห็นความใจร้อนของเรา พอเห็นความใจร้อนของเรา ถึงเวลามันเห็นผิดแล้ว เห็นผิดไปจากหลักธรรม

 

ความสงสัย แก้ความสงสัยไง ถ้าแก้ความสงสัยแล้ว ถ้าแก้ความสงสัย แก้ความดื้อ แก้ความเห็นแก่ตัว แก้ความหมักหมมในใจ ถ้ามันแก้แล้วมันผ่องแผ้วไหม ถ้ามันแก้มันก็ผ่องแผ้ว นี่อานิสงส์ของการฟังธรรมไง ถ้าฟังธรรมแล้ว ถ้าเข้าใจแล้วก็จบไง

 

เขาบอกไม่มีคำถาม เพียงแต่ว่าเขียนมาบอกไง เขียนมาบอกว่าอ่านเว็บไซต์แล้วมันร้อนใจ ฉะนั้น ถึงกราบขอขมาไง กราบขอขมาพระภิกษุสงฆ์ เขาว่านะ จะกราบขอขมาพระภิกษุสงฆ์

 

พระภิกษุสงฆ์ก็ตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะลงมา แต่พระสงบมันไม่ใช่ ขอขมาพระภิกษุสงฆ์ ถ้าพูดไปแล้วเดี๋ยวเขาไม่สบายใจ เอาแค่นี้เนาะ ให้สบายใจ สิ่งที่สบายใจ ถ้าเรามีความเห็นผิด เราทำสิ่งใดแล้ว ทำความถูกต้องแล้ว นั่นน่ะคืออริยประเพณี อริยวินัย

 

อริยประเพณี อริยวินัยหมายความว่า คนเราเห็นความผิด รู้จักความผิดของตัว แล้วแก้ไขความผิดของตัว ยอมสารภาพความผิด นี้คืออริยวินัย อริยวินัยคือคนทำผิดแล้วรู้จักผิด คนทำผิดแล้วรู้จักผิดรู้จักชอบ นั้นคืออริยวินัย อริยประเพณี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องมาก

 

ไม่ใช่เหมือนเรา เราเวลาทำผิดแล้ว เราดื้อแล้ว เราพยายามจะเอาความผิดให้เป็นความถูก จะเอาชนะคะคานกัน นี้คือคนพาล คนพาลไม่รู้จักความผิดของตัว ไม่เห็นความผิดของตัว แต่ถ้าอริยวินัย เราผิดแล้วเราเห็นความผิดของเรา เราแก้ไขความผิดของเรา แล้วอันนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมมาก นี่อริยวินัย อริยประเพณี ฉะนั้น ถ้าขอขมาแล้ว รู้ความผิดความถูกแล้วจบ

 

ถาม : เรื่อง “ห้องไอซียู”

 

ไปเยี่ยมญาติที่ห้องไอซียู เขากระวนกระวายจนหมอต้องให้ยานอนหลับทางสายน้ำเกลือจนเสียชีวิต ถ้าเราจะนำสมาธิมาใช้เพื่อให้จิตสงบไม่ให้สั่งกายเคลื่อนไหว หมอจะได้ไม่ต้องให้ยานอนหลับ เพราะจะทำให้เสียชีวิตแบบมีโมหะ (คือไม่รู้) จะทำได้หรือไม่ ไม่รู้ว่าโยมคิดถูกหรือไม่ ทางเดินที่ถูกคือปล่อยวางกาย คือรูป เวทนา จิต ธรรม สิ่งเหล่านี้มีอยู่ แต่ไม่ยึด

 

ตอบ : อันนี้คือความเห็นนะ เพียงแต่ว่าเราไปห้องไอซียูใช่ไหม ไปเยี่ยมญาติแล้วเห็นเขากระวนกระวายใช่ไหม แล้วหมอให้ยานอนหลับ จนเสียชีวิตไปเลย

 

อันนี้เขาอยู่ห้องไอซียูแล้วเขาจะเสียชีวิตของเขาอยู่แล้ว เขาเสียชีวิต เขากระวนกระวายของเขา แต่จิตของเขาดีก็ได้ จิตของคนนะ ถึงเวลา เห็นไหม กรรมนิมิต เวลาคนใกล้จะสิ้นชีวิต ถ้าเขาทำคุณงามความดีของเขา ถ้าคนได้ฝึกหัดไว้ คนมีสติ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะย้อนกลับมาที่จิต ถ้าย้อนกลับมาที่จิต มันจะปล่อยวาง แล้วไปพร้อมกับสติรู้ตัวทั่วพร้อม

 

แต่ถ้าคนเรานะ ถ้าไม่ได้ฝึกฝนไว้เลย เวลาคนใกล้ตายมันวิตกกังวลนะ เรายังไปไม่ได้ เรายังติดข้องสิ่งใด มันกระวนกระวาย อันนั้นเพราะเขาขาดการฝึกฝน ถ้าเขาขาดการฝึกฝน นั่นคือจิตของเขา

 

แต่เราไปเยี่ยมญาติ เราไปเห็นเข้า เราเห็นเข้านั่นน่ะ เราเห็นอย่างนั้นน่ะ มันพิจารณา พิจารณาในคนเจ็บคนป่วย แล้วเอาสิ่งนั้นมาเป็นกรรมฐาน เอาสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องเตือนใจของเรา มรณานุสติ ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นประโยชน์ แต่นี้เราคิดเลยเถิดไปไง เราคิดเลยเถิดไปใช่ไหมว่า ถ้าเราจะนำสมาธิมาเพื่อใช้ให้สงบ ไม่ให้สั่งกาย

 

คนเรานะ ไอ้เรื่องสั่งกายนะ เวลาคนเขาเกิดอุบัติเหตุใช่ไหม อวัยวะขาดออกไปจากร่างกาย มันยังกระดุกกระดิกๆ เลย ยังมีชีวิตอยู่เลย อย่างนั้นเขาเอามาต่อได้ แต่ถ้าจนเซลล์มันตายหมดแล้วเขาจะมาต่อไม่ได้

 

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้กระดุกกระดิกมันเป็นเรื่องของกาย เวลากาย เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะเสียชีวิต บางองค์ท่านจะไปเรียบๆ ของท่าน บางองค์ถ้ามันจะมีอาการอย่างใด นั้นมันเป็นเรื่องของขันธ์ แต่ถ้ามันเป็นสมาธิ บอกว่าไม่ให้มันสั่งกาย

 

เรากลับมาที่พุทโธ คนที่ฝึกหัดไว้แล้ว มีสิ่งใดแล้วกลับมาที่ใจ รักษาใจของเรา ร่างกายทิ้งไว้ที่นี่ แล้วจิตมันจะเคลื่อนไปไหน ตามอันนั้นไปมันก็จบ

 

ฉะนั้น แต่เขาคิดต่อเนื่องไป คิดต่อเนื่องไปว่า จะให้จิตไม่มีโมหะ แล้วจะทำให้ถูก บอกทำให้ถูก เราจะต้องรู้เท่ากาย เวทนา จิต ธรรม

 

เวลารู้เท่าส่วนรู้เท่า ถ้าคนรู้เท่ารู้จริงแล้วนะ ถ้าคนเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริงแล้วปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางแล้วมันไม่ใช่จิต จิตมันไม่ใช่กาย พอจิตไม่ใช่กาย มันอยู่กับจิต กายมันก็ส่วนกาย จิตส่วนจิต คือมันจะรู้เท่าตั้งแต่เวลาที่ว่ามันสมุจเฉทปหาน เวลามันตัดสายใยแล้วมันจบตั้งแต่ตอนนั้น ถ้ามันจบตอนนั้นแล้วนะ จิตมันจะเป็นเรื่องของจิต ถ้าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี อนาคามี ยังมีจิตอยู่

 

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์มันจบหมดแล้ว มันเหลือแต่ธรรมธาตุ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันไม่เกี่ยวกันตั้งแต่ตอนที่มันเป็นพระอรหันต์ ตอนที่มันขาด พอตอนมันขาด เห็นไหม พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน คือภาระ ขันธ์ ๕ เป็นภาระ แต่ถ้าเป็นปุถุชน ขันธ์ ๕ เป็นมาร ขันธมาร เพราะมันเป็นเราทั้งหมดมันถึงเป็นมาร แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ ขันธ์ ๕ เป็นภาระรับผิดชอบเฉยๆ คำว่า “รับผิดชอบเฉยๆ” พอเจ็บไข้ได้ป่วยเขาถึงไม่กระวนกระวายไง

 

เขาบอกว่า “ถ้าตามความเป็นจริงคือต้องรู้เท่าทันตอนนั้น”

 

ถ้ารู้เท่าทันตอนนั้น มันก็เหมือนถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ พิจารณาตอนนั้น ถ้าจบตอนนั้นก็จบ เราจะบอกว่า ถ้ามันรู้เท่าทันแล้วมันรู้เท่าทันตลอด จะอยู่โดยปกติ จะเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็รู้เท่าทันตลอด แล้วมันก็ไม่ไปวิตกกังวล เพราะมันรู้เท่าแล้ว มันปล่อยวางแล้ว

 

แต่ถ้ามันยังไม่ปล่อยวาง นี่ไง เวลาเขาดูครูบาอาจารย์ เขาดูพระเขาดูตรงนี้ไง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมีสติหรือเปล่า มีสติสัมปชัญญะพร้อมไหม รักษาจิตของตัวได้ไหม ถ้ามีธรรม เขาจะรักษาจิตของเขาโดยปกติ ร่างกายป่วยก็ป่วยร่างกาย จิตไม่เกี่ยว จิตไม่เกี่ยว แต่ถ้ามันยังภาวนาไม่เป็น มันเกี่ยว มันเกี่ยวเพราะมันมีผลไง มันมีผลกับการดีใจเสียใจ มันมีผลของความทุกข์ ฉะนั้น มีผลของความทุกข์มันก็เป็นแบบที่ถามมา

 

นี้เราพูดถึงว่า ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้เพราะเราไปเยี่ยมญาติ เห็นเขาเป็นแบบนั้น แล้วเราเอาสิ่งนั้นมาเป็นคติเตือนใจ อันนี้ก็เป็นธรรมสังเวช อย่างนี้ถูกต้องแล้ว แต่ว่าจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ อันนี้มันอยู่ที่ความคิด อยู่ที่ความคิด อยู่ที่จินตนาการของเรา

 

แต่ถ้าผู้ถามปฏิบัติให้ถึงความเป็นจริงนะ พอปฏิบัติถึงความเป็นจริงแล้ว รู้ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็รู้เท่ารู้ทัน แล้วมันก็จบ คือไม่สงสัยไง ถ้าไม่สงสัย ไปเห็นคนเจ็บคนป่วย เห็นคนเขาเป็นอย่างไร มันเป็นเพราะคุณภาพของจิตเขา มันเป็นเพราะว่าจิตของเขาได้ฝึกฝนมามากน้อยแค่ไหน เขาก็แสดงอาการอย่างนั้น

 

อย่างเช่นเรามีเพื่อน ถ้าเพื่อนฉลาดเขาจะพูดกับเราด้วยปัญญา เขาจะพูดกับเราด้วยความเข้าใจ ถ้าเพื่อนเราปานกลางก็พูดแล้วพอรู้เรื่อง ถ้าเพื่อนของเราเซ่อๆ พูดออกมามีแต่ความเซ่อๆ พูดอะไรมันผิดทั้งนั้น นั้นคุณภาพของปัญญาของเขา ปัญญาของคนมันแสดงออกต่อเมื่อสื่อสารกัน จิตของคนมันจะแสดงออกต่อเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อเมื่อเขามีผลกระทบ ถ้าเขามีผลกระทบ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรารู้ตามความเป็นจริง เราจะวัดคุณภาพของจิตของพวกนี้ได้เลยว่าเขามีคุณภาพสูงต่ำแค่ไหน ถ้าเขามีคุณภาพสูงต่ำแค่ไหน นี้มันเป็นผลเพราะเขาฝึก เขาปฏิบัติมาได้แค่นั้น

 

แต่จิตของเรา ถ้าเราจะมาสอนเรา เราเห็นตอนนั้นแล้วเรามาสอนเรา แล้วเราก็ต้องมีความเพียร เราต้องมีความพยายามของเรา ทำของเราให้รู้เท่าตั้งแต่ตอนนั้น แล้วสิ่งที่เราเห็นนั้น เพราะจิตของเขาเป็นอย่างนั้น เขาแสดงออกอย่างนั้น

 

เราเป็นของเรา ถ้าเราทำของเราได้จริงแล้ว เราจะไม่แสดงออกอย่างนั้น เราจะไม่มีผลกระทบอย่างนั้น มันจะรู้ที่นี่ มันจะรู้ที่นี่ ไม่ใช่ไปเอาคนป่วย ไม่ใช่ไปเอาภาพที่เห็นนั้นเป็นตัวตั้ง มันต้องเอาจิตเรา เอาความจริงในหัวใจเราเป็นตัวตั้ง เอาความรู้จริงอันนี้เป็นตัวตั้ง อันนั้นเป็นผลที่เราไปรู้ไปเห็นคุณภาพของเขาแค่นั้น เพียงแต่ว่าเขาถามมาว่าทำอย่างนี้ถูกไหม

 

ทำอย่างนี้ถูกไหม มันก็อยู่ที่คุณภาพ อยู่ที่ว่าจิตของคนสูงต่ำแค่ไหน เราปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเราฝึกหัดของเรา ทำความเป็นจริงของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราจริง อันนั้นมันเป็นจิตของเขาไง

 

หลวงตาท่านสอนว่า เวลาหัวใจของสัตว์โลกนั่นใจของเขา ให้รักษาใจของเรา หลวงตาท่านสอนว่าให้รักษาใจของเรา ให้รักษาศีล สมาธิ ปัญญาของเรา ให้ฝึกหัดหมั่นเพียรทำให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมรรค เกิดทางอันเอกในหัวใจของเรา ถ้าเราเข้าใจของเรา เราเห็นใจของเรา เราชำระล้างของเราด้วยความเป็นจริง เราจะรู้เท่าหัวใจของทุกๆ คน เพราะมันก็เป็นใจอันเดียวกัน แต่นี้เพราะหัวใจของเรายังไม่รู้เท่า เราถึงสงสัยไปหมดเลย

 

ไปเห็นแล้วเป็นคติธรรมได้ แต่มาถามเรา เราเห็นความแตกต่าง เห็นความแตกต่างของผู้ป่วย เห็นความแตกต่างของผู้ไปเห็น เห็นความแตกต่างตามหลักใจของครูบาอาจารย์ ถ้าท่านมีความรู้ตามภพตามภูมิที่สูงต่ำแค่ไหน ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ ความแตกต่างมันอยู่ที่คุณภาพ ความแตกต่างมันอยู่ที่ปัญญาของจิตที่มันรู้จริงตามความเป็นจริง เอวัง