ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สร้างบารมี

๑๘ ม.ค. ๒๕๕๗

 

สร้างบารมี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

อันนี้คำถามเขาเขียนมาตั้งนานแล้วนะ

 

ถาม : ๑. สำหรับฆราวาสที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมอันใด แต่อยากมีสัมมาทิฏฐิเพื่อจะได้เดินเป็นทางตรงไปสู่พระนิพพาน (แม้จะช้าเพราะยังไม่ได้บวช) สัมมาทิฏฐินี้สามารถสร้างได้โดยการมีเพียงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะของชีวิต โดยการอธิษฐานพระนิพพานเพียงอย่างเดียว และโดยการสวดมนต์เพื่อทำความสงบของใจเพียงเท่านั้น มิได้หวังอานิสงส์จากการสวดมนต์อื่นๆ เช่น เพื่อให้ทำมาค้าขึ้น คาถาต่างๆ เช่น ตอนนี้สวดธัมมจักฯ อยู่ค่ะ

 

๒. ดิฉันใช้วิธีพุทโธแล้วนับเลขไปด้วยในการทำสมาธิ ปรากฏว่าสามารถทำสมาธิได้ดี แต่เวลาเวทนาเกิด บางครั้งแรงมากจนไม่อยากจะนับ จึงเปลี่ยนมากำหนดพุทโธถี่ๆ หรือได้แต่คิดว่าเวทนาไม่ใช่เรา ดิฉันทำถูกไหมคะ หรือควรจะฝืนพุทโธไป นับเลขต่อไปค่ะ

 

ตอบ : ข้อที่ ๑ ก่อน “๑. สำหรับฆราวาสที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมอันใด แต่อยากมีสัมมาทิฏฐิเพื่อจะได้เดินเป็นทางตรงไปสู่พระนิพพาน แม้จะช้าเพราะไม่ได้บวช สัมมาทิฏฐินี้สามารถสร้างได้โดยการมีเพียงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะของชีวิต โดยการอธิษฐานพระนิพพานเพียงอย่างเดียว และโดยการสวดมนต์”

 

พูดถึงว่าความปรารถนา การปรารถนานะ เราสร้างบารมี การสร้างบารมี ทุกคนปรารถนามา เพียงแต่ว่าเรามีความคิดอย่างนี้มันก็แบบว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เพราะเราปรารถนาสมบัติที่แท้จริง สมบัติที่แท้จริงคือ เห็นไหม เขาบอกว่าปรารถนาไปสู่พระนิพพาน ปรารถนาไปสู่สิ้นสุดแห่งทุกข์ แล้วเวลาเราปรารถนาแล้ว ด้วยการสวดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการสวดมนต์ แล้วการสวดมนต์นี้เราไม่ใช่ปรารถนาเป็นอย่างอื่น เช่น ทำมาค้าขึ้น หรือคาถาต่างๆ

 

การทำมาค้าขึ้น การต่างๆ มันเป็นผลข้างเคียง มันเป็นผลว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเราทำคุณงามความดีอย่างใด ผลตอบสนองมามันเป็นความดีอยู่แล้ว ฉะนั้น ความดีอยู่แล้ว ทำสิ่งใดมันก็ประสบความสำเร็จทั้งหมด มันเป็นเครื่องล่อไง ประสบความสำเร็จหมดแล้ว ว่าจะไปสู่นิพพาน ไม่อยากไปแล้ว อยากจะเฝ้าสมบัติ อยากจะเฝ้าสิ่งนี้

 

แต่ถ้าเราปรารถนานิพพานนะ สิ่งที่เราทำมาเราทำของเราไป เราทำของเราไป เราทำของเราให้ถูกต้อง การสร้างบารมีนะ ดูสิ เวลาที่ว่าใครบวชแล้ว ที่ว่าฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวเป็นพระอรหันต์ เวลาเราปฏิบัติต่อไปข้างหน้า บอกว่าต่อไปอนาคตกาลพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ พระศรีอริยเมตไตรยตรัสรู้แล้วคนจะภาวนาง่าย ทุกคนก็ปรารถนาจะไปเกิดพร้อมกับพระศรีอริยเมตไตรย เวลาไปเกิดพร้อมพระศรีอริยเมตไตรย เรามีสิทธิอะไรที่เราจะไปเกิดพร้อมพระศรีอริยเมตไตรย

 

ถ้าเราอยากไปเกิดพร้อมกับพระศรีอริยเมตไตรย เราก็ต้องสร้างคุณงามความดี เราต้องปรารถนา แล้วเราสร้างคุณงามความดีไป ถ้าคุณงามความดีมันสมควรมันก็จะไปเกิดร่วม เห็นไหม ในการปฏิบัติ เพราะพระศรีอริยเมตไตรย อนาคตกาล เพราะท่านได้สร้างบุญญาธิการมาเยอะมาก

 

คำว่า “เยอะมาก” ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย ในพระไตรปิฎกพูดไว้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดว่า ท่านเป็นคนที่มีอำนาจวาสนาน้อย เพราะท่านมีอายุแค่ ๘๐ ปี ท่านถึงวางธรรมวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี

 

แต่พระศรีอริยเมตไตรย ข้างหน้าจะมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เสวยเป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ ๔๐,๐๐๐ ปี แล้วออกบวชจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยังจะมีอายุอีก ๔๐,๐๐๐ ปี

 

๔๐,๐๐๐ ปีมาหักลบกับ ๕,๐๐๐ ปี มันแตกต่างกันเยอะมากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า เรามีวาสนาน้อย อายุเราแค่ ๘๐ ปี แล้วจะวางธรรมวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี นี่พูดถึงว่า ฉะนั้น เรายกอันนี้ขึ้นมาให้เห็นว่า ถ้าเราปรารถนาอย่างนั้น เราต้องสร้างบุญกุศล เราต้องมีเหตุผลเพียงพอ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ มีเหตุผลที่ดีแล้วถึงจะไปเกิดร่วม ไปเกิดได้ตรัสรู้ง่ายๆ ได้ถึงพระนิพพาน

 

ฉะนั้น สิ่งนี้อยู่ในอนาคตังสญาณ อยู่ในพระไตรปิฎกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ ถ้าพยากรณ์ไว้ อนาคต เราบอกว่า เวลาคนเราเกิดมาไม่มีนรกไม่มีสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งใด มันเป็นเรื่องของศรัทธาความเชื่อ ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อเลย แล้วยิ่งในปัจจุบันนี้ด้วยทิฏฐิของเรา เรามีการศึกษาของเรา พอมีการศึกษาขึ้นมาแล้วเป็นวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ได้ๆ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์แล้วต้องเอามาเปิดเผย ไอ้นี่มันเป็นเรื่องโลก วิทยาศาสตร์มันเป็นสสาร มันเป็นสิ่งวัตถุที่มันเห็นได้ด้วยตา ถ้าอย่างพวกสิ่งที่สสารที่เราไม่เห็นด้วยตา เขาก็เห็นด้วยเทคโนโลยีที่สามารถพิสูจน์ได้

 

ทีนี้ความรู้สึกของคน จิต แล้วกิเลสที่มันเป็นนามธรรมมันละเอียดกว่านี้เยอะแยะมากเลย แล้วพอมันละเอียดแล้ว ดูสิ จิตนี้ ธาตุรู้ สันตติที่มันมีชีวิต ธาตุที่มันมีชีวิต ธาตุที่แปรปรวน ธาตุที่พลิกแพลง ธาตุที่ปลิ้นปล้อน แล้วปลิ้นปล้อนขึ้นมา แล้วสสารสิ่งที่เป็นทฤษฎีต่างๆ จะเข้าไปจับอย่างไร

 

อย่างเช่นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นปริยัติ เป็นการศึกษา ศึกษาก็ศึกษามา ศึกษาเป็นปริยัติ แล้วเวลาปฏิบัติล่ะ เวลาปฏิบัติเข้าไปมันเป็นข้อเท็จจริง เห็นไหม นามธรรมกับนามธรรม สัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบ การปฏิบัติไปโดยความเห็นชอบ งานชอบ งานชอบคืองานอะไร งานที่เราทำอยู่นี่ไง งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรม ความชอบธรรมมีหยาบละเอียด

 

มรรค ๔ ผล ๔ กิเลสหยาบๆ ก็เรื่องหนึ่งนะ เวลาทำความสงบของใจเข้ามา ใจไม่สงบก็ทุกข์ยากมาก เวลาทำเราทำขึ้นมา แต่เวลามันสงบเข้ามาแล้วล่ะ สงบเข้ามาแล้วเราก็ไปติดมันอีก ติดอยู่ในสมาธิ ถ้าติดในสมาธิ มันเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมาล่ะ ถ้าเป็นสัมมา สัมมาสมาธิ เพียรชอบออกไปงานชอบ งานชอบมันออกค้นคว้าของมัน เห็นไหม งานมันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ถ้าลึกซึ้งเข้าไป เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันถึงว่ามันเป็นพุทธศาสน์

 

พุทธศาสน์เป็นสัจธรรม สัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านรู้จริงของท่าน ท่านปฏิบัติของท่าน นี้ท่านปฏิบัติของท่าน นี่พูดถึงสัจธรรมอย่างนี้ แต่เวลาที่ว่าเรายังปฏิบัติกันไม่ได้ เราก็มีความปรารถนา มีความเชื่อของเรา ถ้ามีความเชื่อของเรา เวลาทำขึ้นไป เวลามันจะพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์ๆ มันเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ วิทยาศาสตร์ถ้าเราทำได้จริง ถ้าทำได้จริง

 

เพียงแต่ว่า เขาบอกว่า “ถ้าเป็นฆราวาสที่ยังไม่บรรลุธรรมแต่อยากมีสัมมาทิฏฐิ”

 

อยากมีสัมมาทิฏฐิ มันแบบว่าคบบัณฑิต มันคอยโน้มน้าวไป คบบัณฑิต ไม่คบพาล คบบัณฑิต บัณฑิตข้างนอก บัณฑิตก็มีครูมีอาจารย์ มีสังคมที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าคบพาลล่ะ พาลก็พา เห็นไหม นรกสวรรค์ไม่มี ทุกอย่างไม่มี มันคบพาลไป นี่บัณฑิตกับพาลข้างนอก

 

บัณฑิตกับพาลข้างใน ถ้าบัณฑิตกับพาลข้างใน ถ้ามีสติสัมปชัญญะที่เราจะปฏิบัติ เราจะทำของเราเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าสัมมาทิฏฐิ เราระลึกถึง มีสัมมาทิฏฐิระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึกของเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราระลึก ระลึกอย่างไร ระลึกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนอะไร พระธรรม สัจธรรมเป็นอย่างไร เวลาพระสงฆ์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเราเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง เอาเป็นเป้าหมาย แล้วเราปฏิบัติตาม

 

ไม่ใช่ระลึกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึกก็นึกว่าลูกแก้ว เป็นลูกแก้ว ลูกแก้วมันไม่มีอะไรเทียบเคียงไง แต่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทุกข์ยากมาขนาดไหน ท่านออกค้นคว้าอยู่ ๖ ปี เวลาท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านเป็นครูสอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมด ท่านมีวิมุตติสุข ท่านมีความจริงของท่าน นี่พระพุทธ

 

พระธรรม พระธรรมคือสัจธรรมที่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม พระสงฆ์มีดวงตาเห็นธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 

“ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะของชีวิต แล้วอธิษฐานถึงนิพพานอย่างเดียว”

 

อธิษฐานก็อธิษฐานตั้งไว้ อธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศ อธิษฐานตั้งไว้ นี่บารมีธรรม เราอธิษฐานตั้งไว้แล้วสร้างคุณงามความดีไป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

 

เราจะบอกว่า ก็ดำรงชีวิตเราปกตินี่แหละ ดำรงชีวิตของเรา แต่มีสติสัมปชัญญะอยู่กับสัจธรรม อยู่กับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติธรรมจนจิตใจมันเป็นธรรมขึ้นมา ก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์คือนิพพานไป ถ้ามันปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงมันก็เป็นแบบนั้น

 

แต่ถ้ามันปฏิบัติ ถ้าจิตใจเรามันยังไม่เป็นธรรม มันเป็นไตรลักษณ์ มันแปรปรวน เป็นไตรลักษณ์คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เราก็พยายามทำของเราขึ้นมา

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “เพียงแต่ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ใช่ไหม เป็นสรณะของชีวิตแล้วอธิษฐานถึงนิพพานอย่างเดียวหรือ”

 

ระลึกก็ระลึกอย่างนี้ ทำของเราไป ถ้าจิตใจมันดีมันก็จะดีของมัน จิตใจเราดีนะ สิ่งที่เราทำอยู่นี่มันก็ชัดเจน ถ้าจิตใจเราท้อแท้ จิตใจเรามันหมดอำนาจวาสนา มันก็บอกว่าจะไปทางอื่นดีกว่า ไปทางอื่นดีกว่าไง

 

เราก็เกาะสิ่งนี้ไว้ให้เห็นสัจธรรมในชีวิต ถ้าจิตใจเรามันท้อแท้ เราก็ว่าชีวิตนี้ก็มีเท่านี้ เวลาเกิดมาเกิดจากพ่อจากแม่ เกิดมาแล้วมีหน้าที่การงาน แล้วทำหน้าที่การงานของเรา ดำรงชีวิตของเรา สิ่งใดที่หาไว้ หาไว้เพื่อดำรงชีวิต ไม่ใช่หาไว้ด้วยความอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยความทุกข์ยาก เป็นขี้ข้ามัน เป็นขี้ข้าคือดูแลรักษาแล้วไม่ได้ใช้สอยประโยชน์จากมัน แล้วเวลาตายไปมีความกังวล วิตกกังวลอยู่กับสิ่งนั้นอีก

 

แต่ถ้าเราหาไว้ เราก็ใช้ชีวิตของเรา ใช้เพื่อประโยชน์กับการดำรงชีวิต สิ่งใดเป็นประโยชน์กับบุญกุศล เราก็ทำของเรา แล้วชีวิตของเรามันไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ากว่าการภาวนา กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท กำหนดลมหายใจออกนึกโธ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ จิตใจของเราไปเรื่อยๆ หาทรัพย์สมบัติก็หาทรัพย์สมบัติจากภายนอก จิตใจมันมีพุทโธเข้ามา มันได้สัมผัสของมัน

 

สิ่งที่เป็นสมบัติพัสถานหาซื้อได้กับโลกนี้ แต่หัวใจของเราเป็นนามธรรม สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เราว่าอยู่นี่ ถ้าเราระลึกพุทโธๆ พุทโธเป็นที่ใจขึ้นมา เห็นไหม พุทโธเป็นที่ใจ พุทโธ พุทธานุสติในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง เวลาพุทโธเป็นของเราๆ เพราะจิตใจมันเป็นของมันจริงๆ ถ้าเป็นจริงๆ สิ่งนี้มันจะเป็นเนื้อหาสาระ เป็นข้อเท็จจริงในใจ นี้มันมีที่พึ่งจริงๆ ถ้านี้มีที่พึ่งจริงๆ ก็คำถามที่ ๑ มันก็จะจบไปเลย โอ๋ย! เรารู้ของเรา เราเห็นของเรา เราเป็นจริงของเรา จิตเรามีที่พึ่งของเรา ถ้ามีที่พึ่งของเรานะ เราก็เกาะสิ่งนี้ไป มันมั่นคง ถ้าจิตใจมันได้สัมผัสขึ้นมาแล้วมันมั่นคง

 

แต่เราได้ฟังของเขา เราได้ฟังคนมา เราได้ศึกษามา มันไม่มั่นคงของมัน เห็นไหม นี่พูดถึงว่า “สำหรับฆราวาสที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมอันใด แต่อยากมีสัมมาทิฏฐิเพื่อจะได้เดินในทางตรงไปสู่พระนิพพาน ถึงไม่ได้บวช”

 

สัมมาทิฏฐินี้สามารถสร้างได้โดยการ เห็นไหม สร้างได้โดยการมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ใช่ไหม

 

สัมมาทิฏฐินี้มันเป็นความเห็นชอบ ดำริชอบ งานชอบ ถ้าเรามีพระธรรม สัจธรรม สัจธรรมนั่นน่ะสัมมาทิฏฐิ อันนั้นเป็นความจริง ฉะนั้น สิ่งที่สัจธรรม สัจจะความจริงนั่นล่ะ

 

“เป็นที่พึ่งในชีวิต โดยอธิษฐานนิพพานเพียงอย่างเดียว”

 

นี่เขาว่าการสวดมนต์ สวดมนต์แล้วไม่ใช่การอย่างอื่น

 

ใช่ การสวดมนต์เราสวดมนต์เป็นการเจริญพุทธคุณ สิ่งนี้เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็สวดมนต์ของเรา การสวดมนต์มันก็เหมือนพุทโธนั่นแหละ เราก็สวดมนต์เพื่อประโยชน์กับเรา ก่อนนอนเราก็สวดมนต์ของเราเพื่อจิตใจมันสรรเสริญพุทธคุณ ให้มีพระพุทธ พระธรรมในหัวใจ แล้วเราก็อยู่ของเราโดยดำรงชีวิตของเราไป ทำคุณงามความดีของเราไป ปฏิบัติไป ถ้ามันจะได้ผลมันจะได้ผลของมัน นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๑ ถูกไหม

 

ขอให้มีหัวใจ มีน้ำใจ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถูก จิตใจของเรานะ ที่พึ่งที่จริง อย่างอื่นไม่มีที่พึ่งเลย เห็นไหม เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือใจมันเกาะเกี่ยวมันก็มีที่พึ่งของมัน ไม่มีอย่างอื่นหรอก ตำรับตำราก็เป็นแค่การศึกษาเท่านั้น ปริยัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราพุทโธ เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเป็นที่พึ่ง ถ้าใจมันเป็นจริงขึ้นมา เราจะมั่นคงมาก แล้วเราจะมีหลักเกณฑ์มาก

 

อันนี้พูดถึงว่าจะทำอย่างไรให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะคำถามเขาถามเหมือนว่า กลัวว่าตอนนี้ยังคิดดีอยู่ไง ถ้าต่อไปอนาคตมันจะเหลวไหลไปทางไหน มันจะออกนอกทางไปไง ถึงได้ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

จะทำอย่างไร คือสุคโตในปัจจุบันนี้ คือในปัจจุบันนี้เรายังคิดดีทำดีอยู่ มีสติสัมปชัญญะอยู่ อนาคตดีแน่นอน แต่ถ้าในปัจจุบันนี้เราคิดดีอยู่ แต่เราไม่มีสติ ไม่มีการดูแลรักษาต่อไป อนาคตอะไรจะเกิดขึ้นเรายังไม่รู้ไง แต่ถ้าเราปัจจุบันดี อนาคตมันต้องดีขึ้นมาแน่นอน ฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดีงาม แล้วรักษาของเราไป

 

“๒. ดิฉันใช้วิธีพุทโธแล้วนับเลขไปด้วยในการทำสมาธิ ปรากฏว่าสามารถทำสมาธิได้ดี แต่เวลาเวทนาเกิดบางครั้งแรงมากจนไม่อยากจะนับ จึงเปลี่ยนมากำหนดพุทโธถี่ๆ หรือได้แต่คิดว่าเวทนาไม่ใช่เรา ดิฉันทำถูกไหมคะ หรือจะฝืนพุทโธนับเลขต่อไป”

 

ทีนี้การว่าพุทโธนับเลข อันนี้เขาเรียกว่าเป็นประสบการณ์ เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน อันนี้ถูกต้องแล้วดีด้วย พุทโธแล้วนับเลข พุทโธหนึ่ง พุทโธสอง พุทโธสาม พุทโธสี่ นับเลขไปเรื่อยๆ ถ้าเรานับเลขแล้วดี ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการ ๔๐ วิธีการ ทำอะไรก็ได้ ขอให้จิตใจของเราสงบ ทำอะไรก็ได้ ขอให้เราได้ผลประโยชน์ ทำอะไรก็ได้ เห็นไหม

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ เทวตานุสติ พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ คิดถึงเทวดาก็ได้ คิดถึงความตายก็ได้ อะไรก็ได้

 

ทีนี้เพียงแต่ว่า เพราะอันดับหนึ่งพุทโธไปก่อน แต่ถ้าพุทโธแล้ว พุทโธๆ พุทโธด้วยความเคยชิน ถ้าพุทโธหนึ่ง พุทโธสอง นับเลข นับเลขแล้วดี นับเลขแล้วดี ทำสมาธิได้ดี ก็ดี ก็นับเลขต่อไป แต่ถ้าเวทนามันเกิด เราก็นับเลข ถ้าเวทนาเกิดนะ เราก็พุทโธๆ นับเลขอยู่อย่างนั้นน่ะ ชัดๆ ไว้อย่างนั้นน่ะ เวทนาเกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริง

 

ลมพัดมาแล้ว ลม อากาศ ความร้อนของมัน อากาศที่มันร้อนมันลอยตัวขึ้น ลมมันก็พัดผ่านไป มันเป็นธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน พอนั่งไปมันเกิดเวทนาเป็นธรรมดา พอเกิดเป็นธรรมดา ถ้าเราพุทโธๆ ต่อไป เวทนามันเกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ถ้าเราพุทโธหนึ่ง พุทโธสอง เวทนามันดับ

 

ทีนี้ว่า ถ้าเวทนามันเกิดแล้วบางครั้งมันแรง มันแรง มันไม่ธรรมดาแล้วล่ะ ถ้าลมมันพัดมา ถ้าลมเย็นพัดมามันก็ธรรมดา แต่ถ้าลมพายุพัดมา ไม่ได้ บ้านเรือนพังหมดเลย เราจะทำอย่างไรจะรักษาบ้านเรือนของเรา

 

เวลาเฮอร์ริเคนจะมา ทางยุโรป หน้าต่างเขาต้องหาอะไรมาทำให้มั่นคงแข็งแรงของเขา แต่ถ้าความรุนแรงของเขามาก บ้านทั้งหลังมันยกไปเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวทนามันมา ถ้าเราพุทโธได้เราก็พุทโธของเรา ถ้ามันพุทโธไม่ได้ เห็นไหม พุทโธไม่ได้ ถ้าเขาจะใช้ว่า “บางครั้งมันแรงจนทนไม่ได้ ไม่อยากจะนับเลข จึงเปลี่ยนมากำหนดพุทโธถี่ๆ”

 

ก็ใช่ ก็ใช้ได้ พุทโธๆ พุทธานุสติ พุทโธๆๆ พุทโธพร้อมลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ อานาปานสติกับพุทธานุสติร่วมกัน

 

ถ้าพุทโธถี่ๆ มันเป็นกำลัง พุทโธๆๆ เพราะไม่ให้จิตมันมีช่องว่างที่ออกไปรับรู้เวทนาเลย ทั้งๆ ที่เวทนามันเกิด มันรับรู้อยู่แล้วว่าเวทนามันเกิด พุทโธถี่ๆ สู้กับมันเลย ถ้าไม่มีปัญญา

 

แต่ถ้ามีปัญญา ถ้ามีปัญญาหรือมีกำลังแล้ว เห็นไหม “พุทโธถี่ๆ หรือได้แต่คิดว่าเวทนาไม่ใช่เรา”

 

หรือได้แต่คิดว่าเวทนาไม่ใช่เรา “หรือที่คิด” นี่คือใช้ปัญญา ถ้าสติมันดี พุทโธนับเลขมามันมีกำลังมาแล้ว พุทโธนับเลขมา จิตใจมันมั่นคง ถ้าพุทโธมาเรื่อยๆ ยังนับเลขมา จิตใจมันยังไม่มีหลักนะ เวลาเวทนามามันกระทบทีเดียวล้มเลย

 

แต่ถ้าพุทโธ พุทโธนับเลขมาเรื่อยๆ เห็นไหม จิตใจมันมีกำลัง พอเวทนามันเกิด เวทนามันแรง มันมีปัญญาคิดไงว่า เวทนาไม่ใช่เรา จะคิดว่ามันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน อย่างนี้ถูกไหม

 

อย่างนี้ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาในการพิจารณาเวทนา ถ้าไม่มีปัญญาในการพิจารณาเวทนา เวทนามันเกิดขึ้นแล้วมันพิจารณาไม่ได้ เหมือนคน คนไม่รู้ไม่เห็นสิ่งใดมันจะไปคิดเรื่องอะไร แต่ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมา บางทีมันก็กระทบรุนแรง บางทีมันรู้มันเห็นแล้วมันคิดได้

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวทนานี้ไม่ใช่เรา แสดงว่ามีสติปัญญา ไม่ใช่เรา คือต่อสู้กันไหว คือมีกำลังที่จะสู้ได้ แต่ถ้ามันสู้ไม่ได้นะ เวทนานี้มันท่วมท้นจนมันไม่ไหวเลย ถ้ามันไม่ไหวเลย เดี๋ยวก็ลุกไง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ดิฉันทำถูกไหมคะ ควรจะฝืนพุทโธต่อไปหรือนับเลข”

 

นับเลขก็ได้ ต้องอย่างนี้ ต้องแบบว่า หนึ่ง เวลาเราขับรถไป ข้างหน้าเป็นทางร่วมทางแยก เราจะไปทางไหน มีความจำเป็นไปทางไหน เวลาเราขับรถไป นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธไป เราจะไปทางไหนได้ เราไปทางนั้น อย่างนี้คือเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องเป็นปัจจุบัน ถ้าใครฝึกจนชำนาญแล้วนะ เวลาคนเขาขับรถจนชำนาญแล้วเขาจะไปถนน เขาเข้าเลนถูกต้อง แล้วเขาเลี้ยวของเขาไปเลย เขาเข้าถึงเป้าหมายของเขาเลย

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธนับเลขไปเรื่อยๆ ถ้ามันนับเลขไปได้ ถ้ามันไปได้มันก็ไปได้ ถ้าพุทโธนับเลขไปได้ คราวนี้เรามาแล้วเรามีธุระอย่างอื่น เราต้องไปทางอื่นก่อน เราก็พุทโธถี่ๆ หรือว่าถ้ามันจำเป็นต้องไปธุระหลายที่ เราจะใช้ปัญญา เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา มันเป็นที่ว่าเราจะใช้อะไรในปัจจุบันนั้น เรามีความจำเป็นอย่างไร เราต้องการสิ่งใด เราใช้ปัจจุบันนั้น

 

ฉะนั้น สิ่งที่หนูทำถูกต้องไหม

 

ถูก แต่คำว่า “ถูก” มันถูกที่ว่าเราใช้งานอะไร ใช้งานตอนไหนไง จะว่าถ้าถูกอย่างนี้ บางคนเป็นเถรส่องบาตร ถ้าพุทโธถี่ๆ ถูกก็จะพุทโธถี่ๆ

 

พุทโธถี่ๆ มันเอาไว้เวลาสู้กับสิ่งที่เป็นนิวรณ์ สู้กับจิตใจที่มันจะตกภวังค์ เวลามันไปเจอสิ่งใด ถี่ๆ นี่ทำให้มันชัดเจน ทีนี้พอถี่ๆ บางทีจิตใจเราดีอยู่แล้ว มันเบาลงก็ได้ คือให้มันนุ่มนวลอย่างนี้ก็ได้ จิตใจที่นุ่มนวลก็ควรจะได้สิ่งที่นุ่มนวล จิตใจที่แข็งกระด้างมันก็ต้องใช้สิ่งที่มีความรุนแรงต่อกัน

 

เวลาพุทโธๆๆ ทุกคนจะพูดอย่างนี้นะ บอกพุทโธๆ พุทโธจนหายไปเลย

 

พุทโธมันหายไปเลย มันหายไปตรงไหนล่ะ พุทโธๆ เราชัดเจน มันชัดเจนตลอดจนมันพุทโธไม่ได้ ที่มันพุทโธไม่ได้แต่เราก็รู้อยู่ อย่างนี้ไม่ได้หาย

 

พุทโธไม่ได้แล้วมันชัดเจน นี่มันเข้าสู่สมาธิ คือจิตนี้มันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันเป็นหนึ่ง มันระลึกไม่ได้ มันเสวยไม่ได้ มันก็เป็นตัวของมันเอง แต่ถ้ายังพุทโธได้อยู่ พุทโธมีธาตุรู้แล้วระลึกพุทโธ มันเป็นสอง ก็ต้องสองไปก่อน

 

แต่นี้บอกว่า “เวลาพุทโธๆ แล้วมันละเอียดลง ละเอียดจนหายไปเลย”...ภวังค์ ไอ้ที่ว่า “พุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้ พุทโธหายไปเลย” นั่นน่ะตายหมด

 

พุทโธจนมันชัดเจนของมัน ละเอียดจนมันรู้ของมัน ความจริงมันเป็นแบบนี้ คนภาวนาเป็นมันจะรู้

 

บางคนบอกว่า “พุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้เลย”

 

เราจะบอกว่า “สมมุติว่านึกได้ไหม”

 

“ได้ค่ะ”

 

คำว่า “ไม่ได้” คือปฏิเสธไง ไม่ได้คือเรียกร้องไง ไม่ได้คือเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะไม่ได้ เราก็เลยไม่ได้ไว้ก่อนไง ทั้งๆ ที่มันยังไปสอนอยู่ เพราะไม่ได้ก็เกิดจากความรู้สึก เราพุทโธมันก็เสวยอารมณ์ ระลึกไง วิตก วิจาร องค์ของสมาธิ เราวิตก วิจาร พุทกับโธ พุทกับโธ วิตก วิจาร แล้วไม่ได้กับได้ มันก็วิตก วิจาร ไอ้ที่ว่ามันละเอียด ละเอียดหรือหยาบ มันก็วิตก วิจาร เพียงแต่เราไปสวมชื่อของมันไงว่าเป็นอย่างนี้ๆๆ ไง แล้วก็ไปเทียบเคียงกันไง

 

แต่ถ้าเราปฏิบัติไป พอมีประสบการณ์มันจะรู้เรื่องอย่างนี้หมด จะพุทโธถี่ๆ ก็ได้ จะพุทโธนับเลขก็ได้ จะเป็นเวทนาก็ได้ เพราะเป็นแล้วมันใช้เป็นหมด เหมือนแม่ครัว แม่ครัวพอเข้าครัวไป ของในครัวหยิบใช้ได้ทุกอย่างเลย เพราะเราเป็นเจ้าของ เราทำได้หมดเลย

 

แต่ถ้าเราเข้าไปนะ อย่างเช่นเราจะยืมใช้ครัวอันนี้ เขาบอกว่าถ้าจะยืมใช้ให้ใช้มีดได้เล่มเดียว ใช้มีดกับกระทะเท่านั้น ไอ้นั่นเข้ามาแล้วใช้ชนิดเดียวอย่างนี้ แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของครัว เราใช้ได้ทุกชนิดเลย เข้าไปในครัวเราใช้ได้ทุกชนิดเลย กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ

 

“ดิฉันทำถูกไหมคะ”

 

ถูก ถูกหมดเลย แต่ดิฉันทำถูกไหมคะ แล้วมันสงบไหมคะ มันสงบไหม มันดีไหม เอาสิ่งที่มันสงบ มันดี นั่นแหละถูก คือการปฏิบัติมันต้องมีความสงบ มีความระงับ มีความสุข มีสัจจะ มีข้อเท็จจริง

 

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม เวลาทุกข์ ทุกข์สิ่งที่เราพยายามกระทำกันมันเป็นสัจจะเป็นความจริง แล้วสมุทัยคือความลังเลสงสัย สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยคือการเทียบเคียง สมุทัยคือการอยากได้ผลโดยที่เหตุไม่สมควร แล้วโดยมรรค ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ นี่โดยมรรค

 

โดยมรรค เห็นไหม โดยสมุทัยเป็นกิเลส นี่สมุทัยเป็นกิเลส เวลาโดยมรรค โดยมรรคคือธรรม ธรรมคือสัจธรรมความจริง โดยมรรค ถ้าโดยมรรค ทีนี้พิสูจน์กันแล้ว ถ้ามันเป็นความจริง เกิดนิโรธคือการดับ คือการรู้แจ้ง

 

ถ้าการรู้แจ้งขึ้นมา ถ้าพุทโธนับ เวลามันสงบขึ้นมามันก็รู้แจ้งในระดับของสมาธิ รู้แจ้งว่าถ้าพุทโธนับเลขแล้วทำสมาธิได้ดี คำว่า “ได้ดี” มันรู้แจ้ง รู้แจ้งในการนับนั้น แต่พอรู้แจ้งแล้ว สิ่งที่ต่อเนื่องไป พอรู้แจ้งแล้ว แจ้งอะไร

 

แจ้งในการนับเลขได้ผล แต่เวลาเวทนามันเกิด เพราะโดยปกติเราปลูกต้นไม้ไว้ในกระถาง ต้นไม้ในกระถาง ต้นไม้มันเล็กอยู่ในกระถางนั้นมันก็ปลูกต้นไม้นั้นได้ ถ้าต้นไม้มันโตขึ้น กระถางนั้นแตก เพราะมันต้องเบ่งจนกระถางนั้นแตก

 

นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธนับเลขมันได้ ต้นไม้มันก็ดีขึ้น แต่เวลามันโตขึ้น มันมีเวทนา มันมีการรับรู้ เห็นไหม ต้นไม้มันใหญ่ขึ้น ต้นไม้มันเจริญงอกงามขึ้น กระถางมันเล็กเกินไปแล้ว เราต้องเอาลงดิน เราต้องเปลี่ยนจากต้นไม้ต้องเอาลงดิน

 

ฉะนั้น ถ้าลงดินไปแล้ว ถ้าลงดินปลูกใหม่ ต้นไม้มันโตแล้วจะค้ำยันอย่างไร แล้วถ้าลงดินไปแล้ว ถ้ารากแก้วมันยึดแล้ว มันเจริญเติบโตของมันไปได้ มันจะต่อเนื่องไป นี่จิตมันเป็นแบบนี้ ในการภาวนาจิตมันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าข้อ ๒ นะ “ดิฉันใช้วิธีพุทโธและนับเลขไปด้วยในการทำสมาธิ ปรากฏว่าสามารถทำสมาธิได้ดี แต่เวลาเวทนาเกิด บางครั้งแรงมากจนไม่อยากจะนับเลข”

 

ถ้าเวทนามันเกิดนะ ถ้านับเลขต่อเนื่องไป ถ้ามันดับได้มันก็ดับได้ ถ้าดับไม่ได้ เราก็หันหน้ามาสู้มัน เห็นไหม “บางครั้งมันแรงจนไม่อยากจะนับเลข จึงเปลี่ยนมากำหนดพุทโธถี่ๆ”

 

ก็ได้

 

“หรือได้แต่คิดว่าเวทนามิใช่เรา ดิฉันทำถูกไหมคะ”

 

ดิฉันทำถูกไหมคะ อยู่ที่ว่าถ้าเปลี่ยนมานับเลขหรือถ้าเปลี่ยนมาถี่ๆ มันสู้ไหวไม่ไหว ถ้าไม่ไหว เราชัดๆ ขึ้นมา อย่างเช่นกลับไปนับเลขก็ได้ เพราะนับเลขมันชำนาญกว่า แต่ถ้าไม่ได้ หรือได้แต่คิดว่าเวทนาไม่ใช่เรา

 

ความคิดนั้นคือปัญญา มันไม่ใช่เราจริงๆ แยกกับมัน ถ้ามีกำลังต่อสู้มัน ถ้าปัญญามันเท่าทันนะ แวบ! หายหมดเลย ถ้าทันนะ แล้วเดี๋ยวก็มาอีก เพราะอะไร มันเร็วมาก

 

ฉะนั้น “ดิฉันทำถูกไหม”

 

ถูก

 

“หรือควรที่จะพุทโธนับเลขต่อไป”

 

หรือจะควรหรือไม่ควร หรือจะควรมันก็อยู่ที่ว่าเราทำแล้ว ออกไปถี่ๆ แล้วสู้ไหวไหม ถ้าสู้ไม่ไหว เวทนาเจ็บมากขึ้น ถ้ามากขึ้น กลับไปนับเลขดีกว่า เพราะนับเลขมันมีหลักเกณฑ์ แต่ถ้านับเลขไม่ได้ กลับมาทำความสงบ

 

“อย่างนี้หลวงพ่อไม่สับสนหรือ อย่างนี้หลวงพ่อสับสนแย่เลย”

 

สับสนต่อเมื่อเราทำแล้วเราไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ขณะที่เราต่อสู้ เห็นไหม เราต่อสู้ เราจะต่อสู้กับเสือ เสือมันจะตบเอา เราจะใช้อะไรต่อสู้กับเสือ

 

กิเลส เราพุทโธนับเลขมาเรื่อยๆ มันมีอาวุธแล้ว แล้วกิเลสมันหลอกด้วยการเกิดเวทนา กิเลสมันหลอกด้วยความสับสน กิเลสมันหลอก เราจะหาวิธีการต่อสู้กับเสือ ต่อสู้กับกิเลส อย่างนี้เป็นการสับสนไหม

 

แต่ถ้าเราไม่มีเสือเลย เราไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้ต่อสู้อะไรเลย เราสับสนกับตัวเราเอง เราย้ายไปย้ายมา อย่างนี้คือสับสน แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันไปเจอกิเลส มันไปเจอเสือ มันเจอการต่อต้าน เราจะมีสติปัญญาไหม เห็นไหม ในการปฏิบัติไม่ใช่ว่าจะย้ายแล้วมันจะสับสนไปหมดเลย

 

ถ้าเราไม่มีสิ่งใดเลย เราสับสนตัวเราเอง แต่เราทำของเรา เรามีสติปัญญาแล้วเราสับสนไหม เราไม่สับสน แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้น เวทนามันเกิดขึ้น ทุกอย่างมันเกิดขึ้น กิเลสมันแสดงตัว เราจะต่อสู้กับมัน อย่างนี้ไม่ใช่สับสน อย่างนี้เป็นอุบาย ถ้ามีสติปัญญาจะมีอุบายต่อสู้ มีอุบายจัดการกับมัน แล้วการภาวนามันก็จะราบรื่นไป

 

ข้อที่ ๑ อยากเป็นสัมมาทิฏฐิ

 

ข้อที่ ๒ ภาวนาพุทโธถูกต้องไหม

 

ถ้าเราทำคุณงามความดี เราทำความเพียรของเรา ถูกต้อง ถูกต้องก็เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้ามันเป็นกิเลสมันก็เป็นมิจฉา มิจฉาคือความสงสัย มิจฉาคือความให้เราล้มลุกคลุกคลาน อันนี้มันเป็นคำถามเนาะ อันนี้คำถาม ๒ คำถาม คำถามนี้จบ ทีนี้คำถามนี้เนาะ

 

ถาม : เรื่อง “เข้าใจแล้วดีจัง”

 

ขอบคุณค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ หลวงพ่อตอบดีมาก

 

ตอบ : คำว่า “หลวงพ่อตอบดีมาก” คำถามเขาถามเรื่อง “ไปไอซียู” ใช่ไหม ไปไอซียู ไปโรงพยาบาลไปเห็นคนป่วย พอเห็นคนป่วยแล้วไปคิดแทนคนป่วยไง ไปคิดแทนคนป่วยว่าคนป่วยน่าจะทำอย่างนี้ น่าจะมีสติปัญญาอย่างนี้ จะได้ไม่ต้องทุกข์ยากอย่างนี้ แล้วมีความเห็นว่าเราควรจะให้คนป่วยทำอย่างไรมันถึงจะได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย นี่พูดถึงคำถาม

 

เราก็ตอบไปว่า ตอบไปแล้วเนาะว่าเราไปเยี่ยมคนป่วย แล้วเราได้ไปเห็นคนป่วย มันเป็นประโยชน์มาก มันเป็นประโยชน์ นี่ไง เขาไปเที่ยวป่าช้า เขาไปพิจารณาอสุภะ พิจารณาต่างๆ ก็เพื่อประโยชน์นี้ไง เพื่อประโยชน์กับหัวใจเรา เพื่อให้เราสำนึกตน เพื่อให้เรามีสติสัมปชัญญะ

 

คนเราเวลาศึกษาธรรมมันรู้ชัดตอนที่เราศึกษา แต่สุดท้ายแล้วมันก็จางไป มันก็คิดนอกเรื่องนอกราวไป แต่เวลาเราไปเห็น เราไปเห็นคนป่วย เห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย มันสะเทือนมาก เพราะเราก็ต้องเป็นแบบนั้น

 

แต่เราเป็นแบบนั้นแล้วเราอยากจะช่วยเหลือเขา อยากจะช่วยเหลือเขา อยากจะให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่เราคิด มันไม่ใช่ มันเป็นอย่างที่เราคิดไม่ได้ มันจะเป็นอย่างที่เราคิดได้อย่างไร แต่ถ้ามันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน แต่ถ้าคนเขามีสติปัญญาเขาจะดีกว่าเราก็ได้ อย่างครูบาอาจารย์เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ท่านไปโรงพยาบาล ท่านไปโดยธรรมนะ ท่านไปโดยธรรม สิ่งที่ยังรักษาได้ก็รักษามันไป แต่ถ้ารักษาไม่ได้แล้วท่านก็วางของท่าน ถ้ารักษาโดยธรรมคือว่าจิตใจมันไม่หวั่นไหวไง นี่ธรรมสังเวช

 

แต่ถ้าเราไปดูเขา ถ้าจิตใจของเขาสูงส่ง มันก็เรื่องของเขา ถ้าจิตใจเขาต่ำต้อย เราอยากให้รู้เหมือนเรา เราอยากให้เห็นเหมือนเรา แต่เรานี่ได้ เราได้เพราะอะไร เราได้เพราะว่าเราศึกษาธรรม แล้วเราศึกษาธรรม เราเป็นชาวพุทธ เราไปเห็นอย่างนั้นปั๊บ มันสะเทือนใจเรา เราถึงได้เตือนสติไง

 

ฉะนั้น ตอบแบบนี้ไง ตอบแบบนี้ว่า นานาจิตตัง จิตใจของเขาสูงต่ำแตกต่างกัน ถ้าจิตใจของคนที่มันสูงมันก็สูงส่งอยู่แล้ว จิตใจคนที่ต่ำต้อย แล้วเราอยากจะให้มีความรู้เหมือนเรา ให้สูงเหมือนเรา เราคิดแบบโลกไงว่าทางวิชาการให้การศึกษา เขาต้องเข้าใจ เขาเข้าใจแล้วเขาใช้ไม่เป็น เขาเข้าใจแล้วเขาใช้ประโยชน์ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน เราจะพูดอย่างไรนะ ถ้าจิตใจของเขาไม่เปิดกว้าง จิตใจเขาไม่รับรู้ มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ

 

ฉะนั้น เราถึงพูดว่า เราเห็นสิ่งใดแล้วย้อนกลับมา ย้อนกลับมาใจของเราให้เป็นธรรมสังเวช เห็นสิ่งใดแล้วสะเทือนใจ มันเตือนใจเราไง มันเป็นธรรมสังเวช แต่เราจะไปคาดหมายว่าคนคนนั้นควรได้ประโยชน์อย่างนั้น คนคนนี้ควรได้ประโยชน์อย่างนี้ เราทำอย่างนั้นไป เราไปแบกโลก พอแบกโลกแล้วมันจะมีปัญหาขึ้นมา

 

ฉะนั้น เวลาตอบปัญหา ปัญหาอย่างนั้น ถ้าไม่ตอบปัญหาอย่างนั้นมันก็จะบอกว่า ทุกอย่างเราแก้ไขได้ ทุกอย่างเราทำได้

 

ใช่ ทำได้จริงๆ เราก็ทำได้ ทำได้ตามกำลังของเราเลย แต่ผลตอบสนอง ถ้าเขาได้ประโยชน์จากเราหรือเขามีจิตใจที่เป็นธรรม เขาก็ขอบคุณ แต่ถ้าจิตใจเขาเป็นกิเลส จิตใจเขาเห็นแก่ตัว จิตใจเขาไม่ต้องการ เขาก็หาว่าเราไปยุ่งกับชีวิตเขา

 

เราทำได้ เราทำได้แน่นอน แต่ผลตอบมาอยู่ที่ว่าเขาเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันเป็นประโยชน์กับไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น ถ้าเท่านั้น นี่ธรรมสังเวช กลับมาดูที่ใจของเรามันก็จบไง เอวัง