เทศน์พระ

ไม้ผุ

๓o ม.ค. ๒๕๕๗

 

ไม้ผุ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ทางสายกลาง คำว่าทางสายกลาง เห็นไหม ตกซ้าย ตกขวา ทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือความสมดุลคือความพอดี ถ้าความสมดุลความพอดี เห็นไหม ความพอดีของธรรม

ความพอดีของเด็ก เด็กที่ไร้เดียงสา เด็กที่มีสัมมาคารวะนี่ก็เป็นความพอดีของเด็ก ความพอดีของผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ต้องเข้มแข็ง ต้องมีสัจจะ ต้องมีความอดทนมีความเป็นผู้ใหญ่ ความพอดีของคนแก่ คนแก่คนเฒ่านะผ่านโลกผ่านวัยมาเยอะ เขาเข้าใจเรื่องโลก เข้าใจเรื่องโลกนี่สิ่งที่เด็กทำก็เข้าใจได้ สิ่งที่คนอายุวัยทำงานทำก็เข้าใจได้ เพราะผู้ใหญ่ทำมาแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่รู้แล้ว เห็นไหม เขาถึงปล่อยวางถึงความพอดีของเขา ความปล่อยวางคือความเข้าใจ ความเข้าใจคือความเข้าใจของผู้ใหญ่ ความพอดีความพอดีของใคร ทางสายกลาง ทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน วัยชราภาพ วัยชราภาพ เห็นไหม วัยชราภาพเราผ่านโลกมาเยอะแล้ว

นี้เราเข้าใจชีวิตของโลก แต่ชีวิตของตัวตนของเราล่ะ ชีวิตของจิตใจของเราล่ะ จิตใจของเราควรจะมีหลักมีเกณฑ์อย่างไร นี่พูดถึงว่าความพอดี ถ้าความพอดีความมัชฌิมาความพอดีของธรรม สัจธรรม เห็นไหม มันสมควร มันดูแล้วมันนุ่มนวล มันดีงามไปหมด ถ้าความดีงามไปหมด เราอ่อนแอเกินไปคือว่าอ่อนแอเกินไปจนไม่มีความสามารถเลย ไม่มีความเข้มแข็งเลย อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ เราเข้มแข็งจนเกินไป เข้มแข็ง เห็นไหม นี่เหล็กที่กล้าเกินไปทำสิ่งใดไม่ได้ มันเปราะมันแตกมันหักไปทุกๆ อย่างเลย มันไม่สมดุลทุกอย่างเลย

ความสมดุล ความมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาของใคร ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาของเรานะ เราต้องเข้มแข็งของเรา เข้มแข็ง ดูสิ คนที่นุ่มนวลกิริยามารยาทสังคมเขาเรียบร้อย แต่จิตใจเขาเข้มแข็ง เขาเข้มแข็งของเขาได้นะ นี่เราเห็นว่ากิริยาของเรา กิริยาของเรารุนแรง เห็นไหม เราเป็นคนโทสจริต การแสดงออกไง แต่จิตใจเราอ่อนแอก็ได้ ความอ่อนแอของเราในหัวใจของเรานี่ความอ่อนแอ ความอ่อนแอเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสัจจะมีความจริงในหัวใจ ถ้ามีสัจจะมีความจริงในหัวใจ เห็นไหม คนเราถ้ามีสัจจะ มีความสามารถในหัวใจมันเข้าใจได้ มันแก้ไขได้ สิ่งใดก็แล้วแต่เราแก้ไขได้ เราจะไม่มีความวิตกกังวลในใจเราเลย แต่ถ้าเราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้ นี่ความอ่อนแอในหัวใจ

สัจธรรม ฟังธรรมๆ เพราะเหตุนี้ ถ้าฟังเพราะเหตุนี้ ดูมัชฌิมาปฏิปทา ความพอดีของสัจธรรม ถ้าของสัจธรรมนะ เราเป็นนักบวช เราบวชมาเพื่อรักษาเพื่อดูแลหัวใจของเรา การค้นหาดูแลหัวใจ การค้นหาใจของตัวนี้แสนยาก ค้นหาให้เจอ พอเจอเสร็จแล้วนะ เราจะใช้วิปัสสนา ใช้ปัญญา ภาวนามยปัญญา ดูแลแก้ไขจิตใจของเรา ถ้าเราแก้ไขจิตใจของเราได้ เราทำจิตใจของเราให้เป็นสัจธรรม ให้มีคุณธรรมในหัวใจขึ้นมา สิ่งนี้มันจะมีคุณค่ามันจะมีประโยชน์กับเรา ถ้ามีคุณค่ามีประโยชน์กับเราความจริงมันเป็นแบบนี้ไง

ถ้าความจริงมันไม่เป็นแบบนี้ เห็นไหม คนเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีศรัทธามีความเชื่อนะ เรามีความศรัทธามีความเชื่อ มันก็เป็นมุมมองของเราไง มุมมองของจิตแต่ละดวงมันไม่เหมือนกัน ถ้ามุมมองของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน เห็นไหม ความเข้าใจ การศึกษาความเชื่อความเข้าใจของตัวน่ะ มันตีความไปแบบนั้นไง

ถ้าตีความไปแบบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราถึงบอกว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบเข้ามา เห็นไหม ดูสิ เวลาแร่ธาตุสิ่งใดก็แล้วแต่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ ถ้าแร่ธาตุมันบริสุทธิ์ แร่ธาตุของมันสะอาดบริสุทธ์ของมัน จะใช้ประโยชน์ได้มาก

ถ้าแร่ธาตุเราสิ่งใด เห็นไหม อย่างแร่ธาตุต่างๆ เขาทำเหมืองต่างๆ เขาต้องเอามาหลอม เอามาต่างๆ เพื่อให้ความสะอาดบริสุทธิ์ของแร่ธาตุชนิดนั้นๆ เพื่อประโยชน์อย่างนั้น จิตใจของเรานี่เวลามันคลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ จิตใจของเรา เราเกิดมาเรามีความเข้าใจของเรา เรามีความชอบใจของเรา ทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ทั้งนั้น

เราบวชมาต้องการสัจธรรมในหัวใจทั้งนั้น เราบวชมานะ บวชมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เห็นไหม ทีนี้จิตใจของเรามันคลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ คลุกเคล้าอยู่กับสิ่งที่มันไม่รู้ อวิชชาคือความไม่รู้ เวลาทางโลกเขาบอกรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เวลาทำสิ่งใดทำผิดพลาดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นไหม น่าเสียใจ เราก็เสียใจ เราไม่อยากทำผิดเลย แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันทำก็ทำผิดพลาดไป ก็ผิดไปแล้ว

อวิชชาคือความรู้ในหัวใจ นี่เพราะความไม่รู้มันมืดบอดในหัวใจ มันคิดสิ่งใดทำสิ่งใดก็ทำแต่ตามสัญญาอารมณ์อันนั้น แล้วจิตของเรามันโดนครอบงำโดยสัญญาอารมณ์อันนั้น โดยสัญญาโดยความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น มันครอบงำอยู่อย่างนั้น พอครอบงำอยู่อย่างนั้นนะ นี่แร่ธาตุที่มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ไง แร่ธาตุที่ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะมันคลุกเคล้ากับสิ่งต่างๆ มันทำสิ่งใดมันก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้เลย

จิตใจของเรา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมด้วยความรู้ความเข้าใจของเรา ความรู้ความเข้าใจของเรานี่ ความรู้ความเข้าใจเห็นไหม รู้ทางอ้อม อ้อมอะไร? อ้อมเพราะมันศึกษามาจากสายตา ศึกษามาจากสมอง ศึกษามาจากผลกระทบ ศึกษามาเห็นไหมศึกษาทางอ้อม มันไม่ได้ศึกษาทางตรง แต่เราจะศึกษาทางตรงไง ศึกษาทางตรงเราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา เราจะศึกษาทางตรง ถ้าจิตใจมันตรง ทำความสงบของใจให้ใจมันตรงขึ้นมา เห็นไหม แร่ธาตุนั้นได้หล่อได้หลอมมันขึ้นมา ให้เป็นแร่ธาตุที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา

ธาตุรู้ ธาตุรู้ของเรา พยายามศึกษาดูแลของมันขึ้นมาให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ถ้าเป็นประโยชน์จริงขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นประโยชน์จริงขึ้นมา แร่ธาตุที่สะอาดบริสุทธิ์ แร่ธาตุที่มีคุณค่า แร่หายากๆ โลกเขาต้องการแร่หายากมาก เพราะทางอุตสาหกรรมเขาต้องการแร่หายาก แร่หายากเอามาทำโทรศัพท์มือถือ ทำสินค้าต่างๆ เขาต้องใช้แร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของมัน เห็นไหม แร่หายาก

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจมันหายาก ความรู้สึกนึกคิดของเรามีเต็มไปหมด เวลามันคลุกเคล้ากับสิ่งใด มันแสดงตัวออกมานี่ความรู้สึกนึกคิดมันครอบงำเราหมด เวลามันรู้สึกนึกคิดสิ่งใดก็แล้วแต่ มันก็มาแผดเผาเรา นี่ความรู้สึกของเรา เวลาความโกรธ ความโลภ ความหลงของเรานี่ มันแผดเผาเราเอง

ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแรงปรารถนา ด้วยศรัทธา ด้วยความเชื่อ ด้วยอยากจะพ้นจากทุกข์ ศึกษามาแล้วนี่ก็อยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น อยากให้มันเป็นความเข้าใจอย่างนั้น มันก็เป็นความรู้สึกนึกคิดไปหมดเลย มันยังไม่เป็นความจริงเลย

ถ้าใจมันเป็นความจริง เห็นไหม นี่เราต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา ให้แร่ธาตุอย่างนั้นเข้าไปสู่ธาตุเดิมของเขา ให้หัวใจของเรานี่เข้าสู่การไม่คลุกเคล้ากับอารมณ์นั้น ถ้าไม่คลุกเคล้ากับอารมณ์ มันก็เริ่มขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิเข้ามา มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันไม่เป็นไม้ผุ

“ไม้ผุ” ดูสิ ธาตุไม้ ไม้เขาเอามาเลื่อยเอามาอะไรต่างๆ เพื่อเอามาก่อเป็นบ้านเป็นเรือน เป็นสิ่งเครื่องใช้ไม้สอย เห็นไหม ถ้าไม้มันมีคุณภาพ ถ้าไม้มันเนื้ออ่อน ไม้ไม่มีคุณภาพมันก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่มีคุณภาพเท่ากับไม้เนื้อแข็ง แล้วถ้าไม้มันผุล่ะ ไม้ผุนี่มันจะรอผุรอพัง มันไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์เลย อารมณ์ความรู้สึกเรามันผุพัง มันเป็นของผุพัง ของย่อยสลายอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่เข้าใจ เราต้องการจะเอาสิ่งนั้นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย

เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะรู้อย่างนั้น จะมีความเข้าใจอย่างนั้น แล้วมันมีความเข้าใจอย่างนั้น เห็นไหม นี่ไม้ผุ ไม้ผุเพราะคุณภาพมันยังใช้ไม่ได้ คุณภาพของไม้ เห็นไหม ดูสิ ดูใบไม้ต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาเอาไปย่อยสลาย เขาเอาไปอัดออกมาจนเป็นไม้ทางวิทยาศาสตร์ของเขา เขาทำของเขาได้ ในทางธุรกิจเขาทำของเขาได้

ความรู้สึกนึกคิดก็เหมือนกัน มันทำของมัน ไม้ผุมันพึ่งพาอาศัยไม่ได้จากในใจของเราจากความจริงของเรา ดูนะ ดูสัตว์ เวลาลิงเวลาสัตว์มันอยู่บนต้นไม้ มันอาศัยบนต้นไม้ของมันอยู่ ถ้าที่ไหนไม้เป็นไม้สด มันก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งอาศัยของมันได้ ถ้าไม้มันแห้ง ไม้มันผุ ถ้ามันจับมันผิดพลาดมันก็ตกไปสู่พื้นดินเท่านั้น ตกลงไปน่ะ แข้งขาหักได้ ตกไปมีความเจ็บปวดได้

แต่เวลาไม้ผุในใจเรา อารมณ์ความรู้สึกมันผุพังไปนี่ มันมีอะไรตกสลายย่อยมาในใจเราบ้างล่ะ เราไม่เห็นสิ่งใดเลยเหรอ ไม้ผุๆ นี่มันพึ่งพาอาศัยได้ไหม? มันไม่ได้ ความรู้สึกนึกคิดของเรานี่ถ้ามันยังไม่เป็นความจริง มันเป็นไม้ผุทั้งนั้น ถ้าไม้มันผุ เห็นไหม เราจะพึ่งพาอาศัยมันได้ไหม? ถ้าเราพึ่งพาอาศัยไม่ได้แต่มันก็มีอยู่กับเราไง ความรู้สึกนี้มันมีอยู่กับเรา

เราพยายามทำของเรา เราพยายามทำความสงบของใจเราเข้ามา เราไม่ต้องการไม้ผุ ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องการความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่มันพึ่งพาอาศัยได้นะ ดูต้นไม้สิ ต้นไม้ปลูกขึ้นมา สัตว์มันพึ่งพาอาศัยทั้งเป็นอาหารก็ได้ เป็นที่อยู่อาศัยก็ได้ หลบภัยก็ได้ นี่คุณธรรมในหัวใจนะ ถ้ามีสัจธรรมมันเป็นที่พึ่งอาศัย

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ถ้าใครทำความสงบของใจได้เหมือนกับมีบ้านมีเรือนที่อาศัยนะ พออยู่พอกิน เราทำความสงบใจของเราเข้ามา นี้การทำความสงบของใจเข้ามานี่มันต้องต่อสู้กับตัวเอง เวลาการต่อสู้กับตัวเอง เห็นไหม ดูสิ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เวลาเป็นที่พึ่งแห่งตน เช้าขึ้นมาเราก็บิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราก็พึ่งตัวเองแล้ว เห็นไหม บริขาร ๘ เราก็ตัดเย็บขึ้นมาด้วยมือของเราเอง ทุกอย่างเราก็ใช้สอยเราก็พึ่งพาเราได้แล้ว มันพึ่งพาได้ในข้อวัตรปฏิบัติ มันพึ่งพาได้ในสังคมของสงฆ์ สงฆ์ เห็นไหม นี่พึ่งพาอาศัยกัน เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ร่างกายของเราเวลามันชำรุดเสียหาย เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานี่ มันทำให้ร่างกายมันไม่สะดวกสบายเลย สังคมของเราก็เหมือนสงฆ์ของเรานี่ช่วยเหลือเจือจานกัน ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม เราช่วยเหลือเจือจาน เราตัดเย็บเอง เราดูแลเอง ที่อยู่อาศัยเราทำข้อวัตรนั้น ทำความสะอาด ดูแลรักษาขึ้นมาเพื่อเป็นของของสงฆ์ เอาของของสงฆ์มาใช้ประโยชน์ขึ้นมานี่เราก็พึ่งตัวเองแล้วทำไมต้องพึ่งตัวเองอะไรอีกล่ะ

พึ่งตัวเองอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ เวลาพุทธประเพณี ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาของเรานี่อริยประเพณี ประเพณีของอริยเจ้า ธุดงควัตร การมักน้อยสันโดษเป็นอริยประเพณีทั้งนั้นน่ะ ประเพณีของอริยเจ้า เราเข้ามาอยู่นี่อาศัยธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเพณีวัฒนธรรม เอาสิ่งนี้เป็นเครื่องอยู่ ถ้าเป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราก็พึ่งตนเองได้แล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว พึ่งตนเองไม่เป็นภาระของหมู่คณะ มันพึ่งตนเองได้ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ด้วยธรรมและวินัย แต่ถ้ามีคุณธรรมในใจล่ะ ถ้าเราพึ่งพาตัวเองได้

ดูสิ เวลาความพอดีของเด็ก เวลามันไร้เดียงสา ความพอดีอันนั้นมันก็จะมีความสวยงาม ความพอดีของวัยทำงาน เห็นไหม วัยทำงานด้วยความมุมานะขยันหมั่นเพียรของเรา เรามีความประหยัดมัธยัสถ์ของเรา มันก็เป็นความพอดีของเรา วัยพอดีของผู้ชราภาพของผู้เฒ่าผู้แก่ เขาก็เป็นผู้ที่ผ่านโลกผ่านอะไรมามาก ก็ความพอดีของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เขาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมวินัย เป็นประเพณีวัฒธรรม แล้วความพอดีของใจล่ะ ถ้าใจมันพอดีของมัน เห็นไหม ความพอดีของเรานี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนสามารถมีสติมีปัญญา สามารถมีสติรักษาหัวใจของตัว การพึ่งอาศัยตัวเอง ในธรรมวินัย การพึ่งพาอาศัยตัวเองด้วยข้อวัตรปฏิบัติ อันนั้นมันไม่เอารัดเอาเปรียบหมู่คณะนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การที่มีศีล สมาธิ ปัญญาในหัวใจของตัว เห็นไหม ความพอดีของใจอันนี้สำคัญมาก เพราะความพอดีอันนี้มันเย็นจากภายใน ถ้ามันเย็นจากภายใน หัวใจที่มันมีความร่มเย็น หัวใจที่มันไม่เดือดร้อนขึ้นมา เห็นไหม ตาเป็นหน้าต่างของใจ ถ้าหัวใจมันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันไม่คึกคะนอง

ความคึกคะนองมันแสดงออก มันแสดงออกถึงการนี่เราหยอกล้อเราเล่นกัน ความคึกคะนองของใจ ถ้าใจคนไม่คึกไม่คะนอง เขาก็อยู่ด้วยความเรียบสงบของเขา แต่คนที่ใจคึกคะนอง มันก็แสดงออกของมันไปตามกิริยาของมัน เพราะใจมันคึกมันคะนองขึ้นมามันจะแสดงกิริยามารยาทมาจากภายนอก ถ้าใจที่มันมีหลักมีเกณฑ์จากภายในหัวใจ กิริยามารยาทของมัน มันก็สงบเสงี่ยมมาจากภายใน

ถ้าใจมันมีที่พึ่งอาศัย นี่มันจะไม่เป็นไม้ผุแล้วนะ มันจะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเป็นสิ่งที่มีคุณภาพไม้ที่มีคุณภาพไม้ที่เป็นไม้แกร่งขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา สิ่งที่มันเป็นเปลือกๆ เปลือก เปลือกไม้มันก็มีคุณสมบัติ ต้นไม้ไม่มีเปลือกอยู่ไม่ได้ ถ้าเขาจะตัดไม้ทำลายป่า เขาไปลอกเปลือกไม้ก่อนเลย ให้ไม้มันตายคาต้น แล้วก็บอกนี่ไม้ตายเขาตัดของเขา เห็นไหม เปลือกไม้สำคัญ สำคัญเพื่อดำรงชีวิต

ข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา นี่มันมีความสำคัญ ดูสิ ที่ว่าเราพึ่งตัวเราเองได้นี่มันเป็นการพึ่งตัวเองด้วยดำรงชีวิตไง รักษาไว้ รักษาเปลือกต้นไม้ไว้ ต้นไม้มันเจริญเติบโตขึ้นมา มันจะดูดอาหารขึ้นไปเพื่อจะเลี้ยงใบของมันได้ ถ้ามันไม่มีเปลือกมันจะเอาอะไรไปเลี้ยงใบของมัน มันจะทำอย่างไรให้ต้นไม้มันดำรงชีวิตมันได้ล่ะ มันก็มีความสำคัญอันหนึ่ง แต่สิ่งที่รอบวงของไม้ ชีวิตของมันต่อปี รอบวงของมันมันเจริญเติบโตของมันขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเราเรานี่มีสติมีสมาธิมีปัญญาขึ้นมา มันมีกำลังของมัน มันมีความเป็นไปของมัน เห็นไหม มันจะเข้าใจได้ไง ถ้ามันเข้าใจได้ มันจะไม่เป็นไม้ผุนะ ไม้ผุถ้าโดยธรรมชาติของเขา เขาเอาไปรีไซเคิลทำขึ้นมาเป็นไม้ใหม่ได้ ในปัจจุบันนี้ทำได้ แต่ถ้ายังไม่มีเทคโนโลยีขึ้นมาทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีสติปัญญาของเราขึ้นมา เราจะเลี้ยงตัวเราเองได้อย่างไร

ถ้าเราเลี้ยงตัวเราเองขึ้นมาได้ เห็นไหม นี่ศาสนทายาท นี่ธรรมทายาท เราจะเป็นทายาทนะ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เราก็มาฝึกฝนกัน เห็นไหม เราระลึกรู้ๆ ตลอดเวลา นี่เราก็กำหนดพุทโธๆๆๆ เราก็ระลึกรู้อยู่ เราจะมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นที่พึ่ง ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นที่พึ่ง มีสติกำหนดรู้ดูแลหัวใจของเราให้มันเป็นความจริงไม่ให้มันเป็นไม้ผุ ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่ ระลึกรู้ต่อเนื่อง ด้วยคำบริกรรมต่อเนื่อง มันก็เป็นสมาธิขึ้นมา

พอเป็นสมาธิขึ้นมานี่ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” มันก็มีสติธรรม สมาธิธรรม แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญานะ มันยิ้มนะ คนเราถ้ามีสติปัญญามันยิ้มๆ เลยนะ มันเข้าใจตัวเอง มันยิ้มกริ่มนะ อือ ถ้าไม่มีสติปัญญาอย่างนี้ มันก็ส่งออกไปยึดมั่นถือมั่น ไปจับภาพจากภายนอก แล้วก็เอามาแผดเผาเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น เหมือนกับว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์เลย

คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราผิดพลาดไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันไม่น่าติเตียน เพราะเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาทำไปโดยความผิด โดยความประมาทของเขา ด้วยความพลั้งเผลอของเขา ถ้าเรามีสติปัญญานะ เวลามันทันตัวเองนะ มันยิ้มน่ะ มันยิ้มเก้อๆ เขินๆ นะ เพราะอะไร เพราะขาดสติมันก็ไปยึดมั่นถือมั่น มันส่งออกไปแล้ว ถ้าขาดสติมันก็ไปฟาดเอาสิ่งนั้นเป็นไฟมาเผาเราแล้ว แล้วถ้าเรามีสตินะ มันยิ้มๆ นะ เห็นไหม มันร่มเย็นจากภายใน จิตใจมันจะร่มเย็นของมัน มันยิ้มๆ ไม่น่าเลย ไม่น่าทำอย่างนั้นเลย ถ้าขาดสติมันไปแล้ว แต่ถ้ามันมีสติมันรู้ทันนะ แหะๆๆ เห็นไหม นี่มันถ้าไม่เป็นไม้ผุ ไม้มันไม่ผุ ศีลสมาธิมันเป็นความจริง ถ้าไม้ผุมันเป็นความจำทั้งนั้น

ไม้ผุ เห็นไหม ดูสิ เวลาเราฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมของครูบาอาจารย์มานี่ เราพูดได้หมด เราพูดได้ทั้งนั้น ตรงนั้นเป็นที่พึ่งที่อาศัย เราคิดว่าเราจะมีที่พึ่งที่อาศัย แล้วไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้จริงเลย หยิบจับสิ่งใดมีแต่ตกลงพื้นทั้งนั้น หยิบจับสิ่งใดตกไปแข้งขาหักทั้งนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใด จิตใจของเรายึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเราๆ มันล้มลุกคลุกคลานไปน่ะ มันไปกระทบกับสิ่งนั้นแล้วไง มันไปกระทบกับสิ่งนั้นจนเรามีอารมณ์ความรู้สึก เรามีความเสียใจ เรามีความทุกข์ใจ เรามีความแผดเผาใจ แล้วเราก็เสียใจๆ นี่ แต่ทำไมเราไม่ทันตัวเอง ไม้ผุ จิตใจเราจับสิ่งใดมันเป็นความผุกร่อน มันไม่เป็นประโยชน์ให้เป็นที่พึ่งของใจเราได้เลย

เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย ก็นี่ไง ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งของเรา เรามีสติ เรามีสมาธิ เรามีปัญญาเป็นที่พึ่ง ถ้าเป็นที่พึ่งนะ สิ่งภายนอก สิ่งที่เราเป็นอยู่กันที่ว่าเป็นสังคมสงฆ์มันเป็นเรื่องปลีกย่อย มันเป็นเรื่องขำๆ แต่ถ้าเราขาดสติจากภายใน สิ่งที่ว่าเป็นเรื่องขำๆ มันเป็นเรื่องกระทบกระทั่งกันเลยล่ะ ทำไมทำอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนี้? ทำไมเป็นอย่างนู้น? ทำไมเป็นอย่างนั้น? นี่มันไปข้างนอก เห็นไหม

มันไปยึดภาพข้างนอก เราเองน่ะไปยึด ไปยึดก็มีค่า นี่ไม้มันผุมันย่อยแล้ว มันเสียไปแล้ว มันผุพังไปแล้ว เราก็จะไปยึดมันจับมันอีกจะให้มันสดชื่นขึ้นมา เห็นไหม ไม้ผุมันพึ่งไม่ได้ ความส่งออกไปหยิบจับอารมณ์สิ่งใด หยิบจับสิ่งใด ยึดมั่นสิ่งใด แล้วจะให้มันเป็นตามที่เรายึดมั่น นั่นน่ะไม้มันผุ แล้วเราจับเราต้องหลุดลงมา กิ่งก้านนั้นมันต้องหัก อารมณ์ความรู้สึกของเรามันต้องหัก พอมันหักขึ้นมามันก็ทับถมลงมาที่ใจ ก็เสียใจ เสียใจ เห็นไหม

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราฝึกของเรา เราทำของเรานะ ให้มันเข้มแข็งขึ้นมา นี่มีระลึกรู้ๆ ให้มันเข้มแข็ง พอเข้มแข็งขึ้นมานี่คำบริกรรมให้มันมีความสงบ พอสงบถ้าใช้ปัญญา ปัญญามันจะทันแล้ว คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้เรื่องนั้น มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถึงมันเป็นจริงมันก็เป็นอดีตไปแล้ว ถ้ามันเป็นจริงนะ สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ นั่นแหละ แต่มันเป็นอดีตไปแล้ว อดีตคือมันล่วงผ่านมาแล้ว แล้วที่เขาทำเขาอาจจะผิดพลาดก็ได้ เขาจะจงใจทำก็ได้ เขาทำโดยการกลั่นแกล้งเราก็ได้ ได้ทั้งนั้นๆ น่ะ แต่มันก็เป็นอดีตไปแล้ว

ถ้าฝึกปัญญาของเรามันทันน่ะ มันไม่ไปหยิบจับไม้ผุอันนั้น ถ้าไปหยิบจับไม้ผุอันนั้น มันจะตกใส่พื้น มันจะแข้งขาหัก มันจะมีความเจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ

ในสมัยพุทธกาล ในพระไตรปิฏก เขามีบุคคล ๒ คนไปด้วยกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยกเป็นอุปมาอุปไมยไง บุคคล ๒ คนไปด้วยกัน นี่ไปถึงแล้วไปโดนเขายิงด้วยคันธนู ถ้าเพื่อนเขาไป ที่ไม่ฉลาด เห็นไหม เขาบอกว่า ให้คนเจ็บนอนอยู่นั้นก่อน เขาจะไปหาว่าใครเป็นคนยิง ยิงด้วยธนูอะไร? ทำจากไม้อะไร? เพื่อนเขาคนนั้นจะตายก่อน แต่ถ้าเขาไปด้วยกัน ๒ คน เวลาเพื่อนเขาโดนยิงด้วยคันธนูนั้น ถ้าเพื่อนเขาฉลาด เขาจะไม่ตามไปที่ใครเลย เขาจะหาที่เพื่อนเขานั้นน่ะ ถอนคันธนูนั้นออกแล้วหายาใส่แผลนั้น เพื่อนของเขาจะรอด

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรานี่ถ้าไม้มันผุ มันไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นแล้ว เห็นไหม มันโดนยิงแล้ว ใจเรานี่โดนยิง โดนยิงด้วยอารมณ์ โดนยิงไปด้วยความรู้สึกอันนั้นแล้ว ถ้ายิงอย่างนั้นแล้วเราจะถอดถอนมันยังไง ถ้าไม้มันผุมันก็ตามไปเหมือนบุคคลคนๆ ที่ไม่มีปัญญา จะตามไปเลยว่าเขายิงทำไม? ทำไมถึงยิง? ยิงด้วยเหตุผลอะไร? ยิงด้วยคันธนูอะไร? คันธนูนั้นทำมาจากอะไร? จากไม้อะไร? ไปสืบอยู่นั้นน่ะ ไม่ทันหรอก นั้นเพราะว่าจิตใจเขาไม่มีหลักเกณฑ์ เขาถึงทำแบบนั้น ถ้าจิตใจมีหลักเกณฑ์...

ฉะนั้น ในทางโลกเขาบอกอย่างนี้ เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะอย่างนี้เขาทำร้ายเราๆ เราจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถ้าเราติดตามเราเอาเขาผู้ที่ทำความเสียหายมาลงโทษ ถึงจะเป็นการเสมอภาคกัน นั่นมันเป็นเรื่องทางโลกที่ฝ่ายบริหารปกครอง

แต่นี่เรื่องการปฏิบัตินะ สิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ คนเราเกิดมามันมีเวรมีกรรมต่อกัน เรามาอยู่ด้วยกัน นี่เห็นไหมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มนุษย์ที่เกิดมานี่เป็นญาติกันโดยธรรม” เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในภพใดภพชาติหนึ่ง เราจะไม่เคยเป็นญาติไม่เคยรู้จักกันมาไม่มี ไม่มีเลย เพราะการเวียนว่ายตายเกิดนี่ซับซ้อนมามากนัก

ฉะนั้น เราต้องมีเวรมีกรรมต่อกัน เราถึงได้เกิดมาอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าสังคมเดียวกัน เรามีสติมีปัญญาเราเป็นญาติกันโดยธรรม เรามีความเสมอภาคกันด้วยความสุขความทุกข์ เรามีความเสมอภาคกันด้วยมีปากมีท้อง เรามีเสมอภาคกัน เห็นไหม เราเสมอภาคกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม แต่จริตนิสัยคนมันแตกต่างหลากหลายมาก

ความแตกต่างหลากหลายนั้น ถ้าเป็นภิกษุบวชใหม่ก็มีความกระทบกระทั่งกัน กระทบกระเทือนกันธรรมดา เหมือนเราดูเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนอนุบาล เห็นไหม ไอ้เด็กเกินไปมันไร้เดียงสาทั้งนั้นน่ะ มันก็ว่าคนนู้นรังแกหนู หนูรังแกคนนู้น คนนู้นรังแกเขา นี้มันเป็นเรื่องเด็กๆ หมดเลย แต่ถ้ามันโตขึ้น ถ้าเกิดกระทบกระทั่ง กระทบกระทั่งรุนแรงนะ วัยรุ่นกระทบกันรุนแรงมาก ถึงขั้นเอาชีวิตกันเลยล่ะ แต่นั้นมันก็ทำกันแต่ส่วนน้อย มันไม่มีผลกระทบกันเหมือนเด็กอนุบาล เด็กอนุบาลคือเด็กไร้เดียงสา มันมีผลกระทบมาก กระทบมาก เพราะมันแสดงออกโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าวัยรุ่นขึ้นมา เห็นไหม เวลาผูกโกรธโกรธกันมาก ทำลายกันรุนแรง ถ้าโดยผู้เฒ่าผู้แก่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าจิตใจของเราเราดูตรงนี้ ฝึกหัดปัญญาอย่างนี้ เราเป็นนักบวช เราเป็นพระ เราบวชมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ แล้วพ้นจากทุกข์เราจะย้อนกลับมาที่นี่ การศึกษามาทั้งหมดมันเป็นสุตมยปัญญา การศึกษาทั้งหมดนี่มีคุณประโยชน์ การศึกษามาเพราะศึกษา เห็นไหม

ถ้าไม่ศึกษา เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ ฟังครูบาอาจารย์เทศน์ มันจะจริงเหรอ..มันจะจริงเหรอ..ถ้ามันจะจริงหรือไม่จริงเราก็ย้อนกลับไปในพระไตรปิฎก จริงหรือไม่จริงเราก็ย้อนไปทางในตำรับตำรา แต่ถ้าเวลาเราฟังธรรมๆ นี่ปัจจุบันนี้มันจะจริงหรือๆ เห็นไหม การศึกษามาศึกษามาเพื่อเป็นองค์ความรู้ของเราอย่างนี้ ถ้าองค์ความรู้ของเรา เพราะเรามีอวิชชาในหัวใจ เพราะจิตใจเรามืดบอด เราปฏิบัติยังไม่ได้จริงขึ้นมา

สิ่งที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านพูดน่ะ เห็นไหม เราศึกษามานี่จริงเหรอ แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูดนี่ปฏิบัติจริงเหรอ แล้วเราทำได้จริงอย่างนั้นไหม? ถ้าเราทำขึ้นมา ถ้ามันลงที่อันเดียวกัน มันก็จริง ถ้ามันจริงขึ้นมา เห็นไหม แล้วมันจริงขึ้นมาทำไมเราไม่ทำล่ะ? ถ้ามันจริงขึ้นมาทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ? ถ้ามันจริงขึ้นมานี่เราทำแล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นสิ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นจินตมยปัญญา จินตนาการ จินตนาการไปจะให้เป็นแบบนั้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อยู่แล้ว

นี่ดูสิ หลวงตาท่านเรียนจบถึงมหา เวลาท่านจะปฏิบัติขึ้นมา นี่ถ้านิพพานมันมีอยู่จริงขอให้พระองค์ใดบอกเราเถอะ ทั้งๆ ที่ศึกษาเรื่องนิพพาน ศึกษามาเข้าใจทางวิชาการ ทางวิชาการสำคัญไม่สำคัญ พอศึกษาแล้วศึกษาเข้าใจได้ไหม เข้าใจได้ แต่เราปฏิบัติขึ้นมาปฏิบัติได้ไหม เพราะมันรู้แล้วรู้โจทย์ทุกอย่างรู้หมดแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ เห็นไหม ถึงท่านตั้งสัจจะว่า “ถ้ามีผู้ใดบอกชี้แนวทางได้ เราจะมอบชีวิตไว้ให้กับครูบาอาจารย์องค์นั้นเลย”

แล้วท่านตั้งเป้าไปหาหลวงปู่มั่น เวลาเข้าไปหลวงปู่มั่นท่านมีอนาคตังสญาณของท่าน เห็นไหม “มหา มหามาหาอะไร? มาหานิพพานใช่ไหม? นิพพานไม่ได้อยู่ในตำรับตำรา นิพพานไม่ได้อยู่ในแร่ธาตตุต่างๆ นิพพานไม่ได้อยู่ในอะไรเลยล่ะ นิพพานอยู่ในหัวใจของท่านนั้นน่ะ”

“นิพพานอยู่ไหน ก็สงสัยอยู่อย่างนี้อยู่ได้อย่างไรล่ะ ก็หานิพพานอยู่นี่ ก็ศึกษานิพพานจนจบแล้ว ก็จะปฏิบัติแล้วนิพพานจะมีอยู่จริงหรือไม่จริงก็ยังงงอยู่นี่” แล้วหลวงปู่มั่นก็ย้อนกลับมา “ก็อยู่ในใจท่านนั้นน่ะ”

นิพพานมันสัมผัสได้ด้วยหัวใจไง ถ้าชี้มาอย่างนั้น เพราะเราจะศึกษาข้างนอกก็ศึกษามา ศึกษาด้วยองค์ความรู้ ศึกษามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาจากประวัติครูบาอาจารย์เรามา ท่านทำของท่านจริง ท่านมีของท่านจริง มีความจริงของท่าน แต่เรามาศึกษาเราก็มีความรู้จริงนั้นน่ะ สุตมยปัญญา นี่องค์ความรู้มีความสำคัญไหม? มีความสำคัญ เพราะทุกคนบอกถ้าไม่มีความรู้ปฏิบัติไปแล้วมันจะไม่ได้มรรคได้ผล กลัวมันจะออกนอกลู่นอกทาง

ศึกษามา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาพระไตรปิฎกเลย ศึกษาความจริงขึ้นมาเลย สัจจะในตำรับตำรา สัจจะในพระไตรปิฎกนั้นเป็นความจริง แต่หัวใจของเรา เห็นไหม มันสร้างอารมณ์ พอศึกษาด้วยสัญญา นี่ไม้ผุ มันจับแล้วมันตก มันเกาะติดไม่ได้ มันจับสิ่งใดนี่มันร่วงลงมาหมดเลย ไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของตัวเลย

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจริง นี่ดูสิ เวลาหลวงตาท่านศึกษามาๆ ท่านรู้ทุกอย่าง แต่มันก็ยังสงสัย สงสัย พอหลวงปู่มั่นท่านชี้เข้ามา นี่นิพพานมันอยู่ที่ใจ ฉะนั้นให้ท่านทำใจของท่านก่อน ทำความสงบของใจเข้ามา หลวงตาท่านพยายามทำของท่านนะ ล้มลุกคลุกคลาน เวลาศึกษามาแล้วรู้ทุกเรื่องรู้ทุกอย่าง เป็นถึงมหา แต่เวลาจะเอาความสงบของใจเข้ามานี่มันเอาความสงบของใจได้ยาก

เวลาจิตมันเจริญแล้วเสื่อมเสียใจไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลยนะ จิตนี้มันเหมือนเด็กๆ เด็กไร้เดียงสา อนุบาลที่มันทะเลาะกันน่ะ มันว่ามันถูกทั้งนั้น เด็กอนุบาลคนไหนบ้างที่ว่ามันผิด ดูเวลาเช้าๆ ไปส่งนักเรียนหน้าโรงเรียน ไปลาพ่อลาแม่เข้ามาโอ้ย! มันเต็มไปหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน ศึกษามาแล้ว ศึกษามาแล้วนี่รู้ทุกอย่างเลย รู้หมด แต่ทำไมมันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ เห็นไหม มันทำแล้วล้มลุกคลุกคลาน นี่ทำพยายามทำเต็มที่ เวลาเจริญแล้วเสื่อม จิตมันทำความสงบได้บ้างสงบไม่ได้บ้าง เข้าได้บ้างเข้าไม่ได้บ้าง แล้วมันเข้าไม่ได้เลย

หลวงปู่มั่นท่านบอก จิตนี้มันเหมือนเด็กๆ เด็กนี่เดี๋ยวสิมันจะทะเลาะกันขนาดไหน เดี๋ยวมันก็ร้องไห้ไปหาแม่มัน เวลากลับบ้านมันไปฟ้องแม่เลยล่ะ คนนู้นเก๊ คนนี้เก๊มันฟ้องหมดอ่ะ ไปฟ้องแม่มันทั้งนั้น แล้วแม่ก็ให้กินนม แม่ก็ให้อาหาร แม่ให้ทุกๆ อย่าง นี่ก็เหมือนกัน จิตมันเหมือนเด็กๆ ศึกษามันรู้ทุกเรื่อง ศึกษาอะไรมันรู้หมดเลย แล้วเวลาเจริญแล้วเสื่อมทำไง ทำไม่เป็น เห็นไหม ท่านเลยบอกว่า “เด็กมันต้องกินอาหารนะ” ดูสิ เด็กมันจะไปฟ้องแม่มัน แม่ให้กินนม มันก็ออดอ้อนแม่หลับคาอกแม่นั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธๆ เห็นไหม ให้มันพุทโธไว้ นี่จิตมันเสื่อม จิตมันเหมือนเด็กๆ มันจะเร่ร่อน มันจะเที่ยวไปไหนด้วยอำนาจของมัน

ด้วยอำนาจวาสนาของคนนะ นี่จริตนิสัยของเรา โทสะจริต โมหะจริต โลภะจริต จริตของคนมันแตกต่างหลากหลาย แล้วพุทโธ เห็นไหม เรากำหนดพุทโธไว้ พุทธานุสติ นี้คืออาหารของใจ ถ้าใจมันมีอาหารมันมีที่พึ่งของมัน มันจะเร่ร่อนขนาดไหน เวลามันหิวกระหายมันต้องกลับมากินอาหารของมันแน่นอน

นี่ไง พุทโธไว้ ถ้าศึกษามา ศึกษามา เห็นไหม ดูสิ มันต้องใช้ปัญญา มันวิปัสสนา มันจะชำระล้างกิเลส แล้วมาเอาพุทโธอะไรกันอยู่นี่ จะมาทำอะไรกันมันชักช้าอยู่อย่างนี้ แล้วมันจะได้มรรคได้ผลที่ไหน ก็ผมจะเอานิพพานอ่ะ แล้วมันอะไรพุทโธๆๆ อยู่นี่ ถ้าจะเอาอย่างนั้น เห็นไหม ดูสิ เด็กอนุบาล เด็กไร้เดียงสา มันก็ร้องไห้ตีโพยตีพายตามแต่อารมณ์ของมัน แต่ตามข้อเท็จจริงพ่อแม่ก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็ต้องทะนุถนอมเพราะลูกของพ่อแม่คนๆ นั้นต้องรักษา นี่ใจของเรา ใจของเรา เห็นไหม เรามาบวชเป็นพระ เรามาบวชเป็นนักรบ เราอยากพ้นจากทุกข์ นี่แล้วมาพุทโธอะไรกันอยู่นี่

ถ้าใครทำความสงบของใจได้ ใจนั้นจะมีบ้านมีเรือน มีคูหาของใจเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้าใจของคนยังหาที่อาศัยของตัวเองไม่ได้ ยังเร่ร่อนอยู่ แล้วจะทำอะไร ทางโลกเขาจะทำธุรกิจการค้ากันเขาต้องมีทุนมีรอนของเขา เขาต้องมีองค์ความรู้ของเขาเพื่อจะประกอบสัมมาอาชีวะอะไร ทั้งๆ ที่บอกว่าเราศึกษามามีองค์ความรู้ จริง องค์ความรู้จริง เห็นไหม ดูสิการศึกษา เราศึกษาจบแล้วเราจะมาทำธุรกิจการค้านี่เรามีทุนหรือเปล่า ที่เราศึกษามาว่าเรามีความรู้ๆ ความรู้ไม้ผุๆ นี่มันจะใช้ประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า ตลาดเขาต้องการอย่างนี้ไหม เขาต้องการสินค้าอย่างนี้อยู่ไหม มันก็เป็นความรู้สึกของเราทั้งนั้น ถ้าทางโลกเขาจะประกอบสัมมาอาชีวะ เขาต้องมีทุนมีรอนของเขา เขาต้องมีสถานที่ประกอบธุรกิจของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษามาจนเต็มที่แล้ว เราเข้าใจหมด เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ความจริง แต่ใจของเรานี่สัญญาอารมณ์ นี่ไม้ผุ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สัญญาคือความคาดความหมาย นี่ไม้ผุ แล้วจิตใจมันไปเกาะสิ่งนี้ยึดสิ่งนี้ มันก็มีแต่หัก หักโค่นออกจากหัวใจ หักโค่นไปให้มันตกให้มันชำรุดเสียหาย ให้ร่างกายนี้เท่ากับพิการไป มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วจิตมันไม่เคยตาย มันจะเจ็บปวดแสบร้อนขนาดไหนจิตมันไม่เคยตาย มันจะอยู่ของมันอย่างนั้น แล้วก็ฝังใจอยู่อย่างนั้น ไม้ผุๆ นี่มันผุกร่อนไปแล้วนี่ ก็เอามาเก็บฝังใจอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ถ้าจิตมันเสื่อม เห็นไหม จิตมันเหมือนเด็ก เด็กมันจะเที่ยวเร่ร่อนไปธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของเด็กมันไร้เดียงสาคือสัญชาตญาณของมัน มันก็ตีโพยตีพายของมันไปตามแต่ความไร้เดียงสาของมัน

จิต..จิตเวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเข้าใจหมดแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่มันยังไม่มีความรู้จริงของมันขึ้นมา มันก็เร่ร่อนของมันเป็นธรรมดา เร่ร่อนเป็นธรรมดา ธรรมดาของกิเลสนะ ไม่ใช่ธรรมดาของธรรม แต่เราอยากพ้นจากทุกข์ เราอยากจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เราจะต้องกำหนดพุทธานุสติ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มรณานุสติ ทำสิ่งใดก็ได้ ฝึกหัดสติ

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ให้จิตมันได้พึ่งอาศัย ให้จิตมันมีที่เกาะของมัน ถ้าจิตมันมีที่เกาะของมัน เห็นไหม เรากำหนดพุทโธๆๆๆ ของเรา เราทำของเราไป หลวงตาท่านเชื่อหลวงปู่มั่น ท่านเคารพหลวงปู่มั่น เพราะท่านอยากหานิพพาน นี่ว่านิพพานอยู่ที่ไหน ใครชี้นิพพานให้เราได้เราจะเอาคนนั้นเป็นครูบาอาจารย์ เราจะสละชีวิตเพื่อครูบาอาจารย์องค์นั้น ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกนิพพานก็อยู่ในใจของท่านไง นี่อยู่ในใจของท่าน นิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก ไม่ได้อยู่ที่ไหนทั้งสิ้น มันอยู่ในใจนั่นล่ะ หัวใจมันสัมผัสนิพพานได้

นี้พอมันกำหนดพุทโธๆๆ จิตมันเสื่อม จิตมันไปไม่ได้ เห็นไหม ท่านก็บอกว่า

“ให้กำหนดพุทโธไว้ กำหนดพุทโธไว้”

“จะเอานิพพานไม่เอาพุทโธ”

“นั่นแหละ ให้เอาพุทโธไว้ จิตมันเร่ร่อน” ท่านก็เชื่อ เพราะท่านเองก็เอาตัวไม่รอด เพราะท่านเองศึกษามาแล้วก็ยังงงอยู่ เวลาหลวงปู่มั่นท่านชี้นำอย่างนั้นก็ทำตามหลวงปู่มั่น พุทโธๆๆๆ นี่สามสี่วันนะ อึดอัดขัดข้อง จิตแทบระเบิด ทนมัน.. ทนมัน.. เพราะมันปล่อยเร่ร่อนเคย เพราะเหมือนกับดูจิตนี่ ท่านดูจิตมาเคย เพราะท่านพุทโธตั้งแต่ทีแรกบวชก็พุทโธครั้งแรก แต่เวลาไปศึกษาจบเป็นมหาขึ้นมานี่ มันเป็นสังคมของนักปราชญ์ พอนักปราชญ์ขึ้นมา เขาแบบมีปัญญาแล้วนี่ เห็นไหม บอกว่าถ้าไม่มีความรู้ก็ปฏิบัติไม่ได้ ศึกษาจนเป็นมหาขึ้นมามีความรู้แล้ว พอความรู้แล้วก็ใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาใคร่ครวญไปเลยน่ะ มันก็ทำของมันได้

เวลามันเสื่อมไป จิตไม่มีที่เกาะที่อาศัย ท่านถึงกำหนดพุทโธๆๆๆ ตามที่หลวงปู่มั่นบอกว่า จิตมันเหมือนเด็กๆ มันเที่ยวเร่ร่อนของมันไป ถ้ามันหิวมันกระหาย เดี๋ยวมันก็กลับมา ให้หาอาหารเตรียมอาหารให้มันไว้ พุทโธๆๆๆ ไว้ เตรียมอาหารของมัน เดี๋ยวมันต้องกลับมากิน ท่านก็พุทโธของท่าน พุทโธทีแรกอกแทบระเบิด

อกแทบระเบิดเพราะปล่อยเคยตัว จิตใจนี้ไม่มีสติไม่มีปัญญารักษา ปล่อยมันเร่ร่อนเคยตัว แล้วสำคัญว่ามีปัญญา สำคัญว่าตัวเองทำได้จริง สำคัญว่ากับความจริงมันไม่เหมือนกัน เพราะความสำคัญว่ามันก็ได้ตามสัญญาอารมณ์นั้น เวลามันดีมันก็ดีตามสัญญาอารมณ์นั้น เวลามันเสื่อมๆ หมดเลย แล้วทุกข์ร้อนมาก แล้วเวลาจะเอาจริงเอาจัง เห็นไหม พอให้กำหนดพุทโธ บังคับ ๓ วันอกแทบระเบิด

คนเรานะ ปล่อยให้มันเร่ร่อนตามแต่ใจของมัน แล้วก็อ้างอิงว่าได้ศึกษามา มีความรู้มานี่ อ้าง! ไม้ผุๆ นี่มาอ้างว่าเป็นของตัว มันไม่ใช่สมบัติของตัวเลย มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษานี่พระไตรปิฎกเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น ศึกษามาจากประวัติของครูบาอาจารย์ก็เป็นประวัติของครูบาอาจารย์ทั้งนั้นเลย แล้วก็เอาสัญญา สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไปยึดไปมั่นเป็นไม้ผุ แล้วเกาะยึดของตัวเองไว้ แล้วเวลาหักโค่นลงมาก็พิการ ก็ยังพิการ นั่นมันเป็นเรื่องของร่างกายที่เห็นได้ จิตใจที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ จิตใจที่มันไม่ได้อย่างที่หวังอย่างที่คิดมันเป็นทั้งนั้นน่ะ มันไม่รู้ไม่เห็นของมัน

ถ้าเอาความจริงล่ะ เอาความจริง ครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงให้กำหนดพุทโธไว้.. พุทโธไว้..ท่านก็ทำตามที่หลวงปู่มั่น เพราะว่ามั่นใจว่าทำได้ แต่มันอึดอัดมาก ๓ วันแรกอกแทบระเบิด แต่ ๓ วันล่วงไปแล้วเอาอยู่แล้ว เห็นไหม เหมือนกับพวกติดยาเวลามันลงแดง เคยเสพยามาตลอด เสพติดความดูจิต เสพติดความคิดของตัว เสพติดไม้ผุๆ นั้น ไม้ผุๆ เสพติดมัน ไม่ทิ้ง ไม่ยอมทิ้งจากมันมา

แต่เพราะหลวงปู่มั่นว่าเสพติดอย่างนั้นใช้ไม่ได้ มันเป็นไม้ผุ มันไม่เป็นความจริง กำหนดพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธจริงๆ นี่ สุดท้ายมันก็สงบจริงๆ เพราะมันเร่ร่อนไปที่ไหนแล้ว เรามีสติเราอยู่กับพุทโธ เรายึดมั่นกับพุทโธมันไปไหนไม่รอดหรอก ภวาสวะคือภพ คือสถานที่ ถ้ามีสติปัญญากับจิตของเรา มันจะไปไหน สิ่งที่ส่งออกไปคือสัญญาอารมณ์ สิ่งที่มันส่งออกไปก็คือพลังงานที่ส่งออก ถ้าเราพุทโธให้ชัดๆ มันก็ย้อนกลับมาที่จิต ย้อนกลับมาที่ภวาสวะที่ภพนั้น แล้วมันก็สงบได้จริงๆ ท่านบอกว่ามันก็สงบได้จริงๆ

ตั้งแต่นั้นมาถึงเห็นถูกเห็นผิด ถ้าไม่มีคำบริกรรมไม่มีพุทโธมันไปอย่างนั้น มันเป็นไปได้ตามสัญญาอารมณ์ มันเป็นไปได้ตามความพอใจ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่อย่างนั้น แต่เอาจริงๆ แล้วทำอะไรไม่ได้ เอาจริงๆ แล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับการภาวนา มันเป็นประโยชน์กับการสวมหัวโขนน่ะ สถานะของใจที่มันยึดเอาน่ะ ไม้ผุๆ แล้วเอามันสวมใส่หัวของตัว มันไม่เป็นความจริง พอเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม กำหนดพุทโธมันเป็นความจริงขึ้นมา แล้วพอจิตสงบแล้วออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก้าวเดินไปเลย มันก้าวเดินมันจับได้จากที่มันเจริญแล้วเสื่อมๆ ท่านพิจารณาของท่าน เห็นไหม นั่งตลอดรุ่งๆ ตั้งแต่ทำไม่ได้ ทำเอาจนทำได้

พอทำได้ตลอดรุ่ง พอพิจารณาเวทนา เวทนามันขาด เห็นไหม จิตที่มันเจริญแล้วเสื่อมๆ ท่านบอกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไปไม่เสื่อม ตั้งแต่บัดนี้ไปเกาะติด เจริญแล้วเสื่อมๆ เจริญแล้วเสื่อมตลอดมา ไม้ผุๆ ตลอดมา เวลามันเป็นจริงขึ้นมาพิจารณาเวทนาตลอดรุ่ง พิจารณาเวทนาจนเวทนามันดับหมด พิจารณาจนมันปล่อยหมดจนมันขาด เกาะติด เกาะติด เกาะตายตัว อกุปปธรรม

อกุปปธรรม ไม่มีการเจริญแล้วเสื่อมอีกต่อไป ไม่มีการเจริญแล้วเสื่อม มันคงที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เราค้นคว้าค้นหากันเพื่อให้ใจเราเป็นธรรม เพื่อให้ใจเรานี่ เห็นไหม ใจเราน่ะเป็นได้ ใจของเรานี่ให้มันเจริญงอกงามขึ้นมา เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งนะ เราพึ่งพาอาศัยตัวเราเองได้ เรามีที่พึ่งของเรา เรามีความจริงในใจของเรา

เราก็เป็นพระเหมือนเดิมนี่แหละ เราก็เป็นคนปกตินี่ แต่จิตใจของเรามันมีเหตุมีผล สิ่งใดที่มันล่วงมาแล้วมันก็เป็นอดีตแล้ว ปัจจุบันนี้เราก็สร้างของเรา เราก็ทำความสงบของเรา อนาคตมันยังมาไม่ถึง อนาคต ถ้าปัจจุบันนี้ดีอนาคตมันดีแน่นอน นี่ถ้าอารมณ์เราดี นี่ความรู้สึกเราดี ความรู้สึกเรามั่นคง พรุ่งนี้มันก็ดีอย่างนี้

แต่ถ้าเราหวั่นไหวตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้นะพายุมันพัดแล้ว เพราะวันนี้มันหวั่นไหว อากาศมันร้อนแล้ว มันสะสมอุณภูมิแล้ว เดี๋ยวมันจะปั่นป่วนแล้ว เดี๋ยวพายุมันจะมา แล้วก็ทุกข์ ไม้ผุสลัดมันทิ้งซะ เอาความจริงของเรา เอาหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์สุขกับใจดวงนี้ เอวัง