ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตจะแข็งแรง

๒ ก.พ. ๒๕๕๗

 

จิตจะแข็งแรง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “การฝึกจิต”

 

ขอคำอธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีการฝึกหัดจิตใจให้เข้มแข็งหน่อย วิธีการฝึกหัดจิตใจให้เข้มแข็งทนต่อสภาวะต่างๆ ขอบคุณค่ะ

 

ตอบ : การฝึกจิต ถ้าการศึกษา การฝึกจิต เหล็กเขาเอามาหลอม เขาผสมส่วนผสมของมันให้เปลี่ยนสภาพให้มันเป็นเหล็กกล้า เหล็กที่มันไม่มีคุณภาพ เขาเอาไปหลอมใหม่ หลอมเพื่อให้มันเป็นเหล็กที่มีคุณภาพ จิตใจของเรานี่นะ เรารู้ถึงวิธีการ การฝึกจิตให้เข้มแข็ง แล้วจะเข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

 

ถ้าฝึกจิตให้เข้มแข็ง จิตที่เข้มแข็งมันฝึกมา ผลของวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิด มันฝึกมาตั้งแต่นั่น ถ้าจิตใครทำบุญกุศลไว้ ใครทำคุณงามความดีไว้ มันมีทัศนคติที่ดี

 

แต่ถ้าจิตใจของคนนะ จิตใจของคนมันมีทัศนคติเป็นลบ ถ้าทัศนคติเป็นลบ สิ่งใดกระทบแล้วมันมีแต่ผลลบทั้งนั้นน่ะ อันนี้มันเป็นพันธุกรรม เขาเรียกอดีตชาติ อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทำสิ่งใด ทุกคน ดูสิ สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระเตมีย์ใบ้ นี่ปรารถนาไง ขันติบารมี บารมี ๑๐ ทัศ ทานบารมี ตอนเป็นพระเวสสันดร ปัญญาบารมี ขันติบารมี เวลาขันติบารมี เสวยภพเสวยชาติเป็นเตมีย์ใบ้ นี่บำเพ็ญขันติบารมี บอกว่าไม่พูด

 

กษัตริย์ไม่เชื่อ พอไม่เชื่อ ตัดหู ตัดจมูก ตัดเลยนะ ให้พูดออกมา ไม่พูด เห็นไหม สิ่งที่ว่าบารมี ๑๐ ทัศ กว่าจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ เวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วไปฝึกกับอาฬารดาบส อุทกดาบส “เธอมีความรู้เหมือนเรา” คืออาจารย์ยกย่องว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ มีปัญญาเท่ากับอาจารย์ สั่งสอนลูกศิษย์ได้ สั่งสอนคนที่มาศึกษาใหม่ได้

 

เจ้าชายสิทธัตถะบอกไม่เอา ไม่ใช่ คำว่า “ไม่ใช่” สมาบัติมันเป็นอย่างนั้นน่ะ ความสามารถของอาจารย์สุดแค่นี้ ความรู้เท่ากับอาจารย์จริงๆ แต่เจ้าชายสิทธัตถะสร้างอำนาจวาสนาบารมีมา ปรารถนาจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือปรารถนาจะฆ่ากิเลส ปรารถนาจะชำระล้างกิเลส แต่ไอ้สมาบัตินี้มันยังชำระล้างไม่ได้ จิตใจมันยังขุ่นมัว จิตใจมันยังเศร้าหมอง จิตใจมันยังมีความทุกข์อยู่ ถึงบอกไม่รับ ก็มาค้นคว้าๆ

 

คำว่า “จิตใจเข้มแข็งๆ” มันมีที่มาที่ไปด้วย เมื่อวานนี้เราได้หาเงินหาทองมาไว้ในบ้านเราเต็มบ้าน วันนี้เรานั่งสุขสบายเพราะเรามีข้าวของเงินทองเต็มที่จะจับจ่ายใช้สอย เมื่อวานนี้เราเป็นหนี้เป็นสินมา แล้ววันนี้เราก็นั่งรอให้เขามาทวงหนี้ มันเป็นความทุกข์

 

อดีตชาติทำมาดี เกิดมาชาตินี้จิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ นี่ถ้าเราทำมาดี อดีตชาติเราเป็นหนี้เป็นสินมา มาชาติปัจจุบันนี้มีแต่คนมาทวงหนี้ มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความอ่อนไหว มีแต่ความวิตกกังวล แล้วบอกว่าฝึกจิตให้เข้มแข็งๆ

 

การฝึกจิตให้เข้มแข็งฝึกอย่างนี้ได้ แต่นี้พูดให้เห็นว่าสิ่งที่พันธุกรรมของจิตๆ ไม่อย่างนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนลูกศิษย์ลูกหามีความรู้มีความสามารถ แล้วตั้งเป็นแขนงเลย เห็นไหม เอตทัคคะ ๘๐ องค์ ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ ๘๐ องค์ ๘๐ ความชำนาญ องค์หนึ่งก็ชำนาญอย่างหนึ่ง องค์หนึ่งก็ชำนาญอย่างหนึ่ง ๘๐ ความชำนาญ แต่พระอานนท์ได้เยอะหน่อย ได้ ๓-๔ ความชำนาญ นี่ไง สิ่งที่ว่าจะเข้มแข็งๆ

 

นี้พูดอย่างนี้ให้เห็นว่า เหล็กกล้า เหล็กอ่อน เหล็ก คุณภาพของเหล็ก เขาเอามาหลอมใหม่ ส่วนผสมใหม่ เขาจะปรับปรุงให้เหล็กนั้นมีคุณภาพได้

 

จิตใจที่อ่อนแอ เราจะทำจิตใจเราให้เข้มแข็ง การที่ปรับปรุงคุณภาพของเหล็ก การที่ปรับปรุงคุณภาพของจิตเรา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือไปศึกษาตัวยา ศึกษาธรรมโอสถ แต่เราจะเอายานั้นมาใช้กับจิตใจเราอย่างใด เราจะเอาสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเอามาฝึกหัดจิตใจเราอย่างไร

 

เหล็กกล้า เหล็กเขามีเตาหลอมเหล็ก เขามีวิศวกรต่างๆ เขาก็หลอมของเขาขึ้นมาได้ แต่จิตใจของเรา เราต้องทำของเราขึ้นมาเอง เราจะต้องปฏิบัติของเราขึ้นมาเอง เราจะทำของเราขึ้นมาเอง ถ้าเราทำของเราขึ้นมาเอง เขาถามมาว่าทำอย่างไร

 

ใจของคน ใจของคนเวียนว่ายตายเกิด มันมีเวรมีกรรมต่อกันมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนไง ที่บอกว่าให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนทำคุณงามความดีต้องได้ดีแน่นอน

 

แต่นี่ว่า “ก็ชาตินี้ทำดีทั้งชาติ” ส่วนใหญ่ทุกคนคิดอย่างนั้นนะ เรามีลูกศิษย์หลายคนที่จะมาประท้วงว่า “ตั้งแต่เกิดมานึกไม่ได้เลยว่าทำความชั่วที่ไหน ทำไมชีวิตมันเป็นแบบนี้ล่ะ เกิดมานี่ทำดีทั้งนั้นน่ะ แล้วไม่ใช่ดีที่ผมนะ พ่อแม่ผมก็ดี ญาติของผมดีหมดเลย ผมก็เป็นคนดี ดีมาตลอดเลย ทำไมชีวิตของผมมันไม่มีความสุขเลย ทำไมชีวิตของผมเป็นแบบนี้” คนมาถามอย่างนี้เยอะ

 

เอ็งเกิดมาชาตินี้เป็นคนดี ชาติตระกูลเราดีหมดเลย แล้วเราก็เป็นคนดีด้วย สาธุ เราเกิดในชาติปัจจุบันนี้เราได้สร้างคุณงามความดี เพราะเกิดมาด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราทำอะไรก็ทำแต่คุณงามความดี ฉะนั้น มันจะทุกข์จะยากที่เราไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราก็ยังทำความดีของเราอยู่ เรายังไม่ทอดทิ้งไป ถ้าทอดทิ้งนะ เวลาประชดชีวิต ถ้าทำดีขนาดนี้แล้วไม่ได้ดีแล้ว เลิก ทำอย่างอื่นดีกว่า ไอ้นี่เราทอดทิ้งไป

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำดีแล้วมันยังทุกข์ยังยากอยู่ มันก็ต้องกรรมเก่ากรรมใหม่ เห็นไหม กรรมเก่ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์นิมนต์ไว้ ที่ข้าวยากหมากแพง นี่อดอาหาร เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลาภมหาศาล ใครๆ ก็อยากทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำพรรษา ที่อยู่กับพราหมณ์ พราหมณ์นิมนต์ไว้แล้วลืมใส่บาตรทั้งพรรษาเลย พระโมคคัลลานะเดือดร้อนมาก จะพาไปบิณฑบาตทวีปอื่นเลยล่ะ พระพุทธเจ้าไม่ยอม พระพุทธเจ้าไม่ยอม

 

ชีวิตของคนมันมีแบบนี้ ถ้ามีแบบนี้ เราถึงเชื่อกรรม คำว่า “เชื่อกรรม” ไม่ใช่ว่าลัทธิยอมจำนน แล้วก็หลีกเลี่ยง อะไรมาเป็นวิทยาศาสตร์แล้วไม่ยอมรับเลย จะเอาแต่อารมณ์ตัวเองพอใจ...ไม่ใช่ อารมณ์ก็ไม่พอใจ เราพยายามจะฝืนทั้งนั้นน่ะ เราจะฝืนไปสิ่งที่ดี

 

แต่จังหวะและโอกาสนะ บางคนฉลาดมาก ความฉลาดของเขา แต่มันยังไม่เหมาะสมกับกาลเวลานั้น ความฉลาดนั้น เขาเป็นคนที่ฉลาดมาก มีปัญญามาก ทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ตลาดมันยังไม่สมควรที่สินค้านั้นจะออกได้ เรานี่ล้มลุกคลุกคลานเลย พอตลาดมันกำลังดีเลย คนไหนมาไม่รู้ เขามาทำธุรกิจของเขา เขาไปได้เต็มที่เลย เห็นไหม นี่วาสนาของคน แต่วาสนาก็ส่วนวาสนาสิ เราก็ต้องพยายามของเรา เราก็ต้องทำคุณงามความดีของเรา

 

นี้เขาถามว่า “ขอคำอธิบายเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับฝึกจิตให้เข้มแข็ง”

 

ฝึกจะได้เข้มแข็ง เหล็ก ส่วนผสมของเหล็ก เหล็กถ้ามีคุณภาพของมัน เอามาหลอมแล้วมันก็เข้มแข็ง ไอ้นี่ไปเก็บมันไม่เจอเหล็กเลย มันเจอแต่ขี้หมูขี้หมานั่นน่ะ แล้วบอกจะหลอมให้เป็นเหล็ก ขี้หมูขี้หมามาก็หลอมใหญ่เลย ต้มใหญ่เลยนะ เมื่อไหร่จะเป็นเหล็กๆ

 

ก็จิตใจของเราไง จิตใจของเรามันเป็นเหล็กหรือเปล่าล่ะ จิตใจของเรามีคุณภาพมากไหมล่ะ ถ้าจิตใจเรามีคุณภาพ แล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอศึกษาไปแล้วนะ พอเข้าใจทุกๆ อย่าง ชีวิตนี้มันปล่อยวางได้ ชีวิตนี้ก็เป็นเช่นนี้เอง

 

ดูสิ ดูกษัตริย์สมัยพุทธกาลสละราชสมบัติออกมาบวชเป็นพระ แล้วออกมาบวชแล้วอยู่โคนไม้ สถานะของกษัตริย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน ทิ้งมา เวลาทิ้งสถานะของความจะเป็นกษัตริย์มา พอพระเจ้าพิมพิสารเห็นมานะ นึกว่าโดนปฏิวัติมา ให้กองทัพครึ่งหนึ่งให้กลับไปเอาอำนาจคืน

 

เจ้าชายสิทธัตถะบอกไม่ใช่ ไม่ใช่โดนปฏิวัติมา นี้ปรารถนาโพธิญาณเลย พระเจ้าพิมพิสารเลยสัญญาไว้ว่าถ้าปรารถนามาจริง ถ้าค้นคว้าได้จริงแล้ว ถ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วให้กลับมาสอนด้วย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปค้นคว้าได้จริง แล้วก็กลับไปสอนพระเจ้าพิมพิสารจนพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบัน

 

นี่ก็เหมือนกัน ในสมัยพุทธกาล กษัตริย์สละสถานะของความเป็นกษัตริย์มาบวชมากเลย แล้วพอบวชเสร็จไปแล้วไปอยู่โคนไม้ เป็นกษัตริย์ คำว่า “กษัตริย์” ดูสิ มันมีพร้อมหมด สิ่งใดความอุดมสมบูรณ์ เวลามาบวชเป็นพระแล้ว ไม่บิณฑบาตก็ไม่ได้ฉัน บิณฑบาตมาแล้วเขาไม่ได้ใส่ เขาใส่อะไรมาก็ได้ตามนั้น แล้วถ้าเขาใส่มาแล้ว เราฉันแล้วเราอยู่โคนไม้ เพราะว่าความเป็นอยู่มันไม่สะดวก แต่เวลาปฏิบัติ กษัตริย์ในสมัยพุทธกาลที่ปฏิบัติจบสิ้นแล้ว เห็นไหม “สุขหนอ สุขหนอ”

 

เพราะว่าสุขหนอ สุขหนออยู่นั่นน่ะ จนพระด้วยกันคิดว่ากษัตริย์องค์นี้คงคิดถึงอาลัยอาวรณ์ความเป็นกษัตริย์ ไปฟ้องพระพุทธเจ้า

 

พระพุทธเจ้าก็เรียกมาเลยว่า “เธอพูดอย่างนั้นจริงหรือ”

 

“จริงครับ”

 

“แล้วทำไมเธอว่าสุขหนอๆ”

 

“ก็มันสุขจริงๆ สมัยเป็นกษัตริย์นะ โอ้โฮ! ภาระรับผิดชอบมันเยอะมาก โอ้โฮ! ทุกอย่างมันมีแต่ภาระรุงรังไปหมดเลย”

 

“แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะ”

 

“เดี๋ยวนี้สุขหนอๆ นั่งอยู่โคนไม้มีความสุข”

 

ฉะนั้น ประสาเรา มันจะสุขได้อย่างไร นั่งอยู่โคนไม้ โอ้! แค่ริ้นมากัดก็ยุ่งแล้ว มันจะมีความสุขจากไหน ก็เราไปหาเอาความสุขจากธาตุ ๔ ไง เราไปหาความสุขเอาจากเนื้อหนังมังสาไง เราไม่ได้หาความสุขเอาจากจิต เราไม่ได้หาความสุขที่จิตใจที่มันสำรอกกิเลสออก จิตใจที่มีกิเลสมันครอบงำอยู่มันก็มีความวิตกกังวลน่ะสิ ถ้าจิตใจที่มันสำรอกกิเลส คายกิเลสออกแล้ว แม้แต่ร่างกายมันยังทิ้งเลย ร่างกาย จิตใจอยู่ในร่างกายนี้มันยังปล่อยวางได้เลย

 

ร่างกายนี้ก็อาศัยมันอยู่เท่านั้น อาศัยเกิดเท่านั้น เกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีร่างกายกับจิตใจ แล้วถ้าอยู่เป็นกษัตริย์ก็มีร่างกายนี้ แต่จิตใจอยู่ในร่างกายนี้ก็บริหารจัดการ สละราชสมบัติมา พอออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจนี้ก็พิจารณา พอพิจารณาถึงร่างกายแล้วมันก็ปล่อยวาง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

 

สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เห็นไหม ละสังโยชน์ ๓ ก็เป็นพระโสดาบัน ละกามราคะปฏิฆะให้อ่อนลงก็เป็นพระสกิทาคามี ถ้ากามราคะปฏิฆะขาดไปก็เป็นพระอนาคามี ละอวิชชาในหัวใจ ละภวาสวะ ละภพในใจ เพราะมีภวาสวะ มีภพ มันถึงสมานกับร่างกายนี้ พอมันทำลายภพชาติหมดแล้ว มันมีธรรมธาตุอยู่ในร่างกายนี้ อาศัยร่างกายนี้อยู่ สุขหนอๆ

 

ไอ้พวกเราจะหาความสุขจากร่างกาย นั่งอยู่โคนไม้นะ ริ้นมา ไรมา โอ้โฮ! ยุงกัดก็ไม่ไหวแล้ว มดกัด อู๋ย! ร้องตายห่า จะเอาความสุขมาจากไหนล่ะ อู๋ย! อยู่โคนไม้สุขได้อย่างไร

 

แต่นี่อยู่โคนไม้ สุขหนอๆ นะ

 

นี่ไง สิ่งที่อาศัยอย่างนี้ พูดถึงถ้ามันเป็นความสุข ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งแข็งแรง มันแข็งแรงอย่างนี้ไง คำว่า “แข็งแรง” จะทำจิตใจให้เข้มแข็ง เข้มแข็งก็ต้องรักษาเอา ดูแลเอา

 

ทีนี้ถ้ารักษาเอา ดูแลเอา ก็เหมือนกับเราเข้าโรงเรียน เราศึกษาทางวิชาการใด เราศึกษาจบวิชาการนั้นเราก็ว่าเรามีปัญญา นี่ก็เหมือนกัน พอเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาจบแล้วเราก็นึกว่าเรามีความรู้ ศึกษาจบมา ศึกษามาเพื่อความเข้าใจแล้วมันก็เข้าใจเรื่องชีวิต เข้าใจเรื่องวัฏฏะ คือเข้าใจแผนที่ มันก็ยังพอทน เรารู้จักแผนที่ เรามีปัญญาแล้วเราก็ไม่สงสัยในเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็อยู่ได้ด้วยความสบายใช่ไหม แต่วิทยาศาสตร์ก็วิทยาศาสตร์ เพราะจิตนี้ยังเวียนว่ายตายเกิด ทีนี้ยังมีทุกข์อยู่ แล้วจะทำอย่างไร

 

ถ้าศึกษาธรรม ศึกษาธรรมให้มันเข้มแข็งขึ้นมา วิทยาศาสตร์รับรู้แล้ว เราซื้ออุปกรณ์การดำรงชีวิตแล้วมันจะหมดอายุการใช้งานของมัน พอหมดอายุการใช้งาน เราก็เปลี่ยนใหม่ มันก็รับรู้ได้ มันไม่ตีโพยตีพาย

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอเราเข้าใจเรื่องชีวิต เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราก็อาศัยใช้มัน เราใช้มันแล้ว ถ้ามันมีกำลังมันก็ข่มขี่เรา ถ้าเรามีสติปัญญา เรารู้ทันมัน มันก็เข้าใจทันกัน พอเข้าใจทันกัน ในเมื่อของใช้หมดอายุ เราก็เปลี่ยนใหม่ได้ แต่อารมณ์ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น มันดับไป แล้วมันเกิดขึ้นมาใหม่ ทำอย่างไร ถ้ารู้เข้าใจอย่างนี้ปั๊บ มันมีปัญญาขึ้นมามันก็เข้าใจในชีวิต แล้วถ้ามันปฏิบัติขึ้นมา มันเห็นจริงตามความเป็นจริง มันจะเข้มแข็งไป

 

การเข้าใจชีวิต การเข้าใจเรื่องสัจธรรมนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าอีกเรื่องหนึ่ง เราปฏิบัติไป มันจะเข้มแข็งอย่างไรก็ต้องอาศัยทำของเราขึ้นมา

 

เราไปศึกษาจะให้รู้แล้วจะให้เป็น ก็เหมือนโรงถลุงเหล็กเลย จะเอาเหล็กคุณภาพใดบอกมา เดี๋ยวเขาถลุงให้หมด จะเอาคุณภาพอย่างไร มีเงินจ่ายหรือเปล่าเท่านั้นน่ะ จะเอาคุณภาพดีขนาดไหน จะถลุงให้เลย

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของคน ศึกษาแล้วฝึกหัด ศึกษาแล้วปฏิบัติให้มันเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงได้มันก็จะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราก็เป็นประโยชน์กับเรา นี้จิตใจที่เข้มแข็งขึ้นมาเนาะ

 

เขาถามว่า “การฝึกหัดจิต”

 

ถาม : เรื่อง “คติพอเป็นไปได้บ้าง”

 

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง

 

๑. ความเกรงใจคนเป็นสมุทัยหรือพอเป็นมรรคได้อย่างไรบ้างครับ เพราะบางทีรู้สึกเป็นห่วงเขาอยู่ เวลาเขามีจิตใจไม่ดีอย่างนั้นเหมือนเราไม่แคร์ ก็จะเห็นว่าใจดำเกินไป

 

๒. ปัจจุบันนี้มีพระรุ่นอาจารย์ จนกระทั่งพระใหม่ๆ ที่เริ่มต้นปรารถนาธรรมอย่างแรงกล้า แต่พอสู้ไปสู้มา กลับเปลี่ยนลงมากัน เพราะเหตุอะไร ความตั้งใจมากไป เคร่งเกินไปแล้วไม่ได้ดั่งใจ หรือคิดถึงการกินอิ่มนอนอุ่นอื่นๆ รบกวนหลวงพ่อเล่าประสบการณ์ครับ

 

ตอบ : นี่เป็นคำถามเนาะ คำถามคำแรกก่อน คำถามคำแรกบอกว่า การเกรงใจคน การเกรงใจคนหรือความรู้สึกของคนเป็นสมุทัยหรือเปล่า การเกรงใจคนคือการมีมารยาท การให้อภัย มันเป็นสมุทัยหรือเปล่า หรือพอเป็นมรรค เป็นอย่างใดบ้างครับ เพราะบางทีรู้สึกเป็นห่วงเขา ถ้าไม่เกรงใจก็ถือว่าเป็นคนใจดำ

 

คำว่า “ใจดำ” อย่างกรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องถ้าเราศึกษาแล้วเป็นวิทยาศาสตร์ ยึดเหตุผลตายตัว ถ้ายึดเหตุผลตายตัวนะ เหตุผลตายตัวมันเป็นอย่างนี้ เหมือนวิทยาศาสตร์ เราบอกวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ๆ แต่เวลาแสดงธรรมก็แสดงเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นทฤษฎี สิ่งที่พิสูจน์ได้ตามความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์

 

ทีนี้ทางวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ธรรมะต้องอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้สึกของคนเรามีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ความรู้สึกของคนมันแตกต่างหลากหลายมาก ความรู้สึกๆ ฉะนั้น สิ่งที่ธรรมะมันละเอียดกว่าวิทยาศาสตร์

 

วิทยาศาสตร์ ดูสิ ความพอใจ ความพึงพอใจต่างๆ เราทำให้เขาพอใจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าความพอใจได้มากน้อยแค่นี้ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องปฏิบัติแล้วมันยิ่งกว่านี้อีก ไม่ใช่เป็นความพอใจ มันต้องความขุดคุ้ย แยกแยะ ค้นคว้าให้เห็นสัจจะจริงตามในหัวใจเลย มันยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ไง

 

ฉะนั้น พอเราบอกวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ แต่เวลาแสดงธรรมก็แสดงเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เราสื่อกันเป็นสุตมยปัญญา เป็นทางวิชาการที่เราต้องสื่อสารกันได้ ที่เราต้องสื่อสารธรรมะกันเพื่อความเข้าใจกันได้ แต่คนที่ยังปฏิบัติไม่ได้จริงเขาจะรู้ตามความเป็นจริงไม่ได้ มันต้องมีปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกนี่ไง ถ้ามีปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก

 

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความจริง ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นความจริงอย่างนั้นมันมีหยาบมีละเอียด คือว่ามันจริตนิสัยอีกแหละ จริตนิสัยของคน คนที่เกรงใจคน คนที่เอาแต่ใจตัว คนที่ครึ่งๆ กลางๆ มันเป็นไปได้อย่างหนึ่ง

 

“ความเกรงใจเป็นสมุทัยหรือเปล่า”

 

สมุทัยมันมีอยู่แล้ว สมุทัยมันเจือเข้าไปหมด แม้แต่เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ว่าติดสมาธิ ๕ ปี เวลาติดสมาธิ ๕ ปี เวลาไปหา หลวงปู่มั่นบอกว่า สมาธิอย่างนั้นเป็นสมาธิเศษเนื้อติดฟันเท่านั้น ความสุขอย่างนี้เป็นความสุขเศษเนื้อติดฟัน ความสุขกว่านี้ยังมีมากขึ้น

 

ทีนี้คนที่มีปัญญาที่อ่อนกว่า เห็นไหม “อ้าว! ถ้าไม่อย่างนั้น สัมมาสมาธิทำอย่างไรล่ะ สัมมาสมาธิ ก็สมาธิเป็นความจริง สัมมาสมาธิก็ถูกต้องดีงามไง”

 

หลวงปู่มั่นท่านแก้ “สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัยเจือปนเว้ย สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัยอยู่ด้วย”

 

ทีนี้สมุทัย สมุทัยก็คือตัณหาความทะยานอยาก มันมีสมุทัยเจือปนอยู่ด้วย ฉะนั้น ถ้ามีสมุทัยเจือปนอยู่ด้วย มันจะเป็นสัมมาไหมล่ะ สมุทัยมันก็กิเลส ถ้าสมาธิมีกิเลสปนอยู่ มันจะเป็นสัมมาสมาธิไหมล่ะ

 

อันนี้มันเป็นการโต้ตอบกันระหว่างนักปราชญ์ นักปราชญ์คือหลวงปู่มั่นนี้เป็นนักปราชญ์ หลวงตาท่านเป็นนักศึกษา ท่านก็เป็นนักปราชญ์ การตอบโต้ของนักปราชญ์มันเป็นคติธรรม เราเอามาอ้างอิงบ่อย เพราะให้เห็นว่า นักปราชญ์ที่เขาโต้ตอบกัน เขาโต้ตอบกันด้วยเหตุด้วยผล โต้ตอบกันด้วยข้อเท็จจริง

 

ไอ้พวกเรา ไอ้ปราศจาก ไอ้พวกเขียดพวกปาด มันได้แต่โดดไปโดดมา มันไม่มีเหตุมีผล มันเถียงเอาข้างๆ คูๆ เอาสีข้างเข้าถูตลอด ฉะนั้น ถ้าเอาสีข้างเข้าถู มันก็ไม่ใช่นักปราชญ์ที่ครูบาอาจารย์ท่านนักปราชญ์

 

นักปราชญ์เขาโต้ตอบกันด้วยเหตุด้วยผล ไอ้นักปราชญ์อย่างเราเอาสีข้างเข้าถู ฉันจะเอาชนะ ฉันจะเอาความจริง จะเอาความจริง ฉันจะเอาความถูกต้อง เอ็งไม่จริง ข้าจริง

 

แล้วจริงแล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ จริงแล้วมันแก้กิเลสไหมล่ะ ถ้าจริงของเรา จริงแก้กิเลสมันก็เป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม ไอ้จริงของคนอื่นมันก็จริงของเขา

 

ฉะนั้น คำว่า “ความเกรงใจเป็นสมุทัยหรือเปล่า”

 

เป็น มันมีสมุทัยเจือปนมาตลอด

 

“แล้วพอจะเป็นมรรคได้ไหม”

 

ถ้าพอเป็นมรรคได้ไหม ถ้าเป็นมรรคขึ้นมาก็นี่ไง แบบว่าพูดเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ปั๊บ มันเป็นเหตุผล เป็นสูตรสำเร็จ สูตรตายตัวมันแก้อะไรไม่ได้ อย่างพ่อแม่สอนเด็กก็เหมือนกัน เราจะวางบรรทัดฐานอย่างนี้แล้วให้ลูกเดินให้เปี๊ยะอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

 

เราจะสอนลูก เราต้องมีอุบายใช่ไหม “หนู ไอ้นี่มันไม่ดีเนาะ ไอ้นี่ทำแล้วมันจะให้โทษอย่างนี้เนาะ ถ้าไม่เชื่อหนูลองทำดูสิ” ถ้าทำแล้วมันร้องไห้ “เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ” นี่มันต้องมีเทคนิค แต่ถ้าบอกว่า ขีดไม้บรรทัดเลย ให้เขาเดินตามนั้นเลย แล้วมันจะเอาที่ไหนล่ะ

 

อันนี้ถึงเป็นมรรค แต่ถ้าเป็นสมุทัยล่ะ สมุทัยนี่นะ มันมีอยู่แล้ว โดยธรรมชาติจิตส่งออกหมด เพราะอวิชชาคือความไม่รู้อยู่ในใจ จิตใต้สำนึกมันมีพญามารอยู่นู่นเลย ฉะนั้น การเคลื่อนไหวออกมา พญามารมันส่งต่อมาตลอด ฉะนั้น มันส่งต่อมาตลอด ในการปฏิบัติของเราก็ปฏิบัติโดยมาร

 

ในอภิธรรมบอกว่า “ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ พวกเราปฏิบัติด้วยความอยาก ก็เลยไม่ได้อะไรกันเลย ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้”

 

แต่ความอยากอันนี้มันเป็นความอยากจิตใต้สำนึก ความอยากอันนี้ที่ไม่มีใครสามารถไปแก้ไขมันได้ ฉะนั้น เวลาในภาคปฏิบัติเขาถึงพยายามให้กำหนดพุทโธๆ ให้จิตมันสงบ

 

จิตสงบ ที่ว่าหลวงตา นักปราชญ์กับนักปราชญ์ท่านโต้ตอบกัน

 

“ถ้าความสุขเกิดจากจิตมันต้องเป็นสัมมาสมาธิ”

 

“อ้าว! แล้วสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่มีสมุทัย ของท่านมีสมุทัย”

 

สมุทัยเป็นอย่างไรล่ะ สมุทัยอย่างหยาบๆ

 

คนที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลยเขาก็มีความคิดของเขาไปอย่างหนึ่ง คนที่พอมีเหตุมีผลเขาก็มีความคิดของเขาระดับหนึ่ง คนที่เป็นผู้บริหาร คนที่ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมามาก เขาก็มีประสบการณ์อย่างหนึ่ง คนที่มีประสบการณ์ชีวิตด้วย แล้วได้สำรอกคายกิเลสออกจากใจไปด้วย เขาก็มีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม เราจะชี้ให้เห็นว่าสมุทัยมีหยาบ มีละเอียดไง

 

อย่างหยาบๆ โดยพื้นฐาน ออกมาสมุทัยทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ จิตสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม สมุทัยมันเบาบางลง ถ้าเบาบางลงแล้วมันออกฝึกหัดใช้ปัญญา ภาวนามยปัญญา มันถึงเป็นปัญญาโดยอริยสัจ ปัญญาโดยสัจธรรม ไม่ใช่ปัญญาบวกด้วยสมุทัย คือบวกด้วยความเห็นของเรา

 

ไอ้ที่เราปฏิบัติกันอยู่นี่ ว่าใช้ปัญญาๆ ปัญญามันบวกไง ถ้าชอบก็ใช่ ไม่ชอบก็ผิด อ้าว! ถ้าชอบก็ถูก ไม่พอใจก็ไม่ใช่ อ้าว! มันบวกตรงนี้เข้าไปไง

 

ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ฉะนั้น ทำความสงบของใจเข้ามาเพื่อละสมุทัยให้มันเป็นจิตโดยสัมมาสมาธิ สมาธิโดยข้อเท็จจริงของเขา แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาเกิดที่นั่น ถ้าปัญญาเกิดที่นั่นมันก็เข้าไปที่นั่น

 

นี่พูดถึงว่า “การเกรงใจคนเป็นสมุทัยหรือเปล่า”

 

มันเป็นสมุทัย แต่มันเป็นบวกหรือลบล่ะ การเกรงใจ การเห็นน้ำใจกันเป็นของดีทั้งนั้นน่ะ ทีนี้บอกว่าไม่ใช่สมุทัย ไอ้นี่เป็นบวก

 

อ้าว! เป็นบวกก็ไปติดพันไง ถ้าติดพันอย่างนี้ เจ้าชายสิทธัตถะก็เกิดไม่ได้ เจ้าชายสิทธัตถะทิ้งลูกทิ้งเมียมา สละลูกสละเมียมา อ้าว! ถ้ามันถูก ถูกก็ต้องเกรงใจ ก็ต้องอยู่สิ อ้าว! ในเมื่อเราเกรงใจภรรยาใช่ไหม จะทิ้งภาระให้ภรรยาได้อย่างไร เราจะทิ้งลูกไว้ได้อย่างไร อย่างนี้ก็แสดงว่ามันมีหยาบมีละเอียดไง เราต้องทิ้งก่อน คำว่า “ทิ้งก่อน” คือวางไว้ก่อน แล้วไปค้นคว้าหาความจริงมา

 

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสละนางพิมพา สละสามเณรราหุลมา ออกไปค้นคว้าอยู่ ๖ ปี จนตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาว่าการจนสังคมยอมรับ แล้วกลับขึ้นไปไง กลับไปเอานางพิมพา กลับไปเอาสามเณรราหุล เอาราหุลให้พระสารีบุตรบวชจนเป็นพระอรหันต์หมด

 

แต่ถ้าไม่มีการกระทำเลย ไม่มีปัญญาที่จะเอาตัวรอดเลย ไม่มีปัญญาที่เราจะสร้างฐานเลย แล้วเราจะเอาสิ่งใดไปแก้ไข ไปยกย่อง เหมือนเรา ในปัจจุบันนี้เขาจะไปทำงานกัน ไปทำงานต่างประเทศเพื่อหาทุนหารอนกลับมา แล้วถ้าไม่ไปจะได้ตังค์ไหม ถ้าไม่ไป ครอบครัวจะเข้มแข็งไหม แต่พอไปแล้วครอบครัวก็แตกกระสานซ่านเซ็นก็มี เวรกรรมของคนนะ มันซับซ้อนนัก

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เกรงใจคนเป็นสมุทัยไหม”

 

เป็น

 

“แล้วมันเป็นมรรคหรือเปล่า”

 

เป็น เป็นมรรค มรรคอย่างหยาบๆ เป็นมรรค ถ้าทำความสงบของใจมากขึ้น มรรคก็จะชัดเจนขึ้น พอมรรคชัดเจนขึ้น พอมีภาวนามยปัญญา เกิดภาวนามยปัญญา เกิดมรรคความเป็นจริงนะ เราจะเห็นเลยว่า มรรคอย่างหยาบๆ ความดำริชอบ การดำรงชีวิตชอบ สังคมโลกที่ดำรงชีวิตถูกต้อง อ๋อ! นี่มรรคแบบโลก

 

แล้วถ้ามรรคแบบธรรม ดูสิ ที่มันเกิดภาวนามยปัญญา อ๋อ! มันเกิดอย่างนี้ มันรู้มันเห็น มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะมันรู้มันเห็นเป็นชั้นเป็นตอน มันถึงอธิบายแยกแยะอย่างนี้ได้ไง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เกรงใจคนเป็นสมุทัยหรือเปล่า หรือเป็นมรรคเพราะอะไร

 

เพราะคนใกล้ชิด เราไม่แคร์เขาก็หาว่าใจดำ ถ้าเขาชวนเราไปปล้น ใจดำไหม ถ้าเราแคร์ เราก็แคร์ แต่วิธีการนะ เวลาวิธีการจะแก้ไขคน แก้จิตแก้ยากมาก ยิ่งถ้าเขารู้นะ เวลาเราอยู่กับหลวงตา ท่านจะดัดแปลงใคร ท่านจะไม่ให้คนนั้นรู้ตัวเลย ถ้าคนนั้นรู้ตัวแล้วนะ เหมือนกับคนเรารู้โจทย์แล้วมันแก้ยาก การแก้นะ แต่พอแก้ถึงที่สุดแล้วเรารู้ว่าเราได้รับการแก้ไขมานะ มันจะซาบซึ้ง

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเล็งญาณ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านก็ไปแก้ของท่าน แล้วเอาของท่านมา ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคนถ้ามีความสามารถทำได้ก็ได้ ถ้าอำนาจวาสนาของคน เราไม่มีความสามารถขนาดนั้น เราก็มีน้ำใจไง เรามีน้ำใจต่อกัน เราทำน้ำใจต่อกัน น้ำใจของเรา

 

เวลาฝ่ายบริหารเขาต้องมีอุเบกขา ถ้าเราไม่มีอุเบกขานะ เราเครียด เพราะว่าเราจะบริหารจัดการคนทุกคนให้เหมือนที่เราต้องการ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เขาเรียกว่าอุเบกขา คือเราช่วยเต็มที่ เราทำเต็มที่ อย่างเช่นพ่อแม่รักลูก พ่อแม่รักลูกมากนะ พยายามจะส่งเสริมลูกให้ถึงที่สุดเลย บางคนส่งเสริมมันได้มากกว่าพ่อแม่ส่งเสริมอีก แต่บางคนส่งเสริมได้สมความปรารถนา บางคนส่งเสริมแล้วเขาล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม เราต้องอุเบกขา คือทำใจของเรายอมรับความจริงไง

 

ถ้าเรามีอุเบกขา คำว่า “อุเบกขา” เขาว่า อุเบกขาเป็นธรรมหรือเปล่า อุเบกขาเป็นธรรมหรือเปล่า

 

มันก็เป็นธรรมอันหนึ่ง แต่อุเบกขามันเป็นแค่เรารู้เท่า คือเราไม่เดือดร้อนไปกับสิ่งที่เป็นจริงนั้น เรารู้เท่าในหัวใจของเรา คือเรารักษาหัวใจของเรา เพราะมันไม่ได้สมความปรารถนา

 

เราปรารถนาจะให้เขามีความสุข เราจะปรารถนาให้เขามีความเข้าใจ แต่เขามีวุฒิภาวะแค่นั้น เขารู้ไม่ได้ เขารู้ไม่ได้นะ ถ้าเขารู้ไม่ได้ เราช่วยเต็มที่แล้ว คำว่า “อุเบกขา” ไม่ใช่ปฏิเสธ ไม่ทำอะไรเลย

 

ทำเต็มที่เลย แต่อุเบกขาให้หัวใจมันไม่หมุนไปกับเขา ทำเต็มที่แล้ววาง อุเบกขา นี้เป็นธรรมของผู้บริหาร

 

ฉะนั้น ข้อที่ ๒ “ปัจจุบันนี้มีพระรุ่นอาจารย์ จนกระทั่งพระใหม่ๆ ที่เริ่มต้นปรารถนาธรรมอย่างแรงกล้า แต่พอสู้ไปๆ แล้วกลับเวียนลงมาเพราะเหตุอะไร ความตั้งใจมากไป เคร่งเกินไป แล้วไม่ได้ดั่งใจ หรือคิดถึงการกินอิ่มนอนอุ่น”

 

ไอ้กินอิ่มนอนอุ่น ทุกคนก็ปรารถนาทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าคนมีเป้าหมายนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเป้าหมาย ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ไปเที่ยวสวนนั่นน่ะเป็นตัวจุดประเด็น

 

ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เอ๊ะ! เราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้ด้วยหรือ ถ้าเราเป็นจักรพรรดิ เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ ท่านถึงเสียสละ แล้วท่านเอาจริงเอาจังของท่าน

 

การสมบุกสมบันขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นน่ะเป็นคติเป็นตัวอย่าง ครูเอกของโลก เป็นศาสดา เราเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้เป็นกษัตริย์ แล้วถ้าได้เป็นกษัตริย์แล้วจะได้เป็นจักรพรรดิเพราะมีปัญญามาก จะรวบรวมแว่นแคว้นในอินเดียเป็นประเทศขึ้นมา

 

นี่ไง คนมีอำนาจวาสนาขนาดนั้นยังเสียสละมา แล้วพวกเรามันมีอะไร ถ้ามันไม่มีอะไร เราวาง ถ้าวางในหัวใจได้นะ ความดำรงเป็นอยู่ต่างๆ ไม่มาเป็นประเด็นเลย

 

แต่ถ้าบอกว่า “หรือคิดถึงการกินอิ่มนอนอุ่น”

 

ถ้าคิดถึงการกินอิ่มนอนอุ่น เราจะเป็นพระอาชีพ หรือจะอาชีพพระล่ะ ถ้าอาชีพพระ อาชีพว่าเป็นพระ เอาความเป็นพระนั้นมาเป็นอาชีพหรือ

 

ถ้าเราเป็นพระอาชีพ ไม่ใช่อาชีพพระ เราเป็นพระเลย ถ้าเราเป็นพระนะ สิ่งต่างๆ สิ่งความเป็นไปทางโลกมันไม่เป็นประเด็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นประเด็นอยู่แล้ว เรามุมานะได้ ถ้าเรามุมานะของเรา เราทำของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรานะ การกระทำต่างๆ มันก็เป็นไปได้

 

ฉะนั้น ไอ้เรื่องที่ว่า “ปัจจุบันนี้มีพระรุ่นอาจารย์ หรือพระใหม่ๆ ที่เริ่มปรารถนาธรรมอย่างแรงกล้า แต่สู้ไปสู้มาทำไมกลับเวียนลงมา”

 

กลับเวียนลงมา อันนี้อยู่ที่วาสนาคน ถ้าเวียนลงมานะ เราฟังเทศน์ก็เข้าใจได้ การฟังเทศน์ เวลาหลวงตาท่านบอกนะ ถ้าพระจะรู้ว่ามีวุฒิภาวะขนาดไหน เวลาท่านเทศนาว่าการเหมือนเปิดอก ถ้าเปิดอกนะ พูดถึงศีลถูกต้องไหม พูดถึงสมาธิถูกต้องไหม พูดถึงปัญญา ปัญญาขั้นไหน

 

เวลาพูดถึงปัญญาๆ ในปัจจุบันนี้นะ โดยทั่วๆ ไป เวลาเทศนาว่าการ พูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดถึงพระไตรปิฎก อู๋ย! ทุกคนซาบซึ้งมาก อันนั้นเป็นธรรมะในพระไตรปิฎก อันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปัญญา คือทางวิชาการ คือทฤษฎีที่ใครเอามาอ้างอิงได้ทั้งนั้นน่ะ

 

แต่เวลาอ้างอิงแล้ว เขาเรียกว่ามันจะมีวิธีการ มันจะมีอุบายกลเม็ดของการกระทำ อันนี้หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าคนที่มีคุณธรรมในหัวใจจะปิดอย่างไรก็ได้ ฟังน่ะฟังออก

 

ฟังออกหมายถึงว่า ก็เหมือนกับเรา เราแนะวิธีการทำงาน ถ้าแนะวิธีการทำงาน คนที่ไม่เคยทำงานมันจะแนะวิธีการทำงานนั้นถูกต้องได้ไหม มันจะแนะวิธีทำงานไม่ถูกต้อง แต่คนที่ทำงานประสบความสำเร็จแล้วแนะวิธีการทำงาน บอกได้ถูกต้องหมดเลย แล้วคนที่เคยทำงานมาแล้วมันฟังมันรู้เลย

 

คนที่เคยทำงานอย่างนี้มาแล้ว เวลาเขาแนะการทำงานอย่างนี้ๆ เพราะเราก็ทำของเรามา พอเราทำของเรามา แนะวิธี ๑ ๒ ๓ ๔ โอ๋ย! มันถูกต้องหมด บางคนแนะวิธีการที่ ๑ ถูก ที่ ๒ ไม่มี ก็ได้ ๑

 

ถ้าแนะ ๑ ได้ถูก แนะ ๒ ได้ถูก แนะ ๓ ได้ถูก แนะ ๔ ได้ถูก มันถูกต้องดีงามไปหมด ถ้ามีคุณธรรมแล้วจะผิดอย่างไรก็รู้ แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมนะ พูดอย่างไรก็ผู้รู้มี ถ้าผู้รู้มี เขาก็ทำผิด เขาก็ไม่ได้จริงของเขา ถ้าเขาไม่ได้จริงของเขา

 

นี่พูดถึงว่า สิ่งที่พระเขาพยายามปฏิบัติธรรมด้วยแรงกล้า สู้ไปสู้มาเลยเวียนกลับมา

 

ปรารถนาแรงกล้า เหล็กกล้า หลวงตาท่านพูดบ่อย กล้าจนบิ่นก็ไม่ถูกต้อง กล้าต้องกล้าหาญ แต่กล้าหาญในธรรมวินัย กล้าหาญแล้วมันมีธรรมวินัยอยู่ กล้าหาญอยู่ในนี้ไง มันไม่เหมือนทางโลก ทางโลกเวลากล้าหาญมันมุทะลุไปได้หมดเลย แต่นี่เราจะมุทะลุขนาดไหนมันก็มีศีล ธรรมวินัยคือศีล เรากล้าหาญขนาดไหนเราก็ไม่กล้าหาญทะลุถึงศีลนี้ออกไป เราจะกล้าหาญอยู่ในศีลในธรรม แต่มีความกล้าหาญ กล้าหาญที่ไหน

 

กล้าหาญ เวลาฉันแล้ว อยู่ในกุฏิ นั่งตลอดรุ่ง นั่ง ๒๔ ชั่วโมง เดินจงกรม อดอาหาร ๗ วัน ๗ คืน นี่กล้าหาญต้องกล้าหาญอย่างนี้ เวลากล้าหาญ เรากล้าหาญของเรา เราปฏิบัติต่อเนื่องของเรา เราต้องกล้าหาญอย่างนี้ เวลากล้าหาญ นั่งสมาธิ เรากล้าหาญกับเรา เวทนาเกิดโหมขนาดไหน เราสู้กับมัน เรากล้าหาญที่นี่ เราไม่ใช่กล้าหาญจะไปอวดใคร จะไปกล้าหาญให้ใครยอมรับเรา ตายหมด

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว ใครจะยอมรับใครล่ะ จะสูงส่งดีงามขนาดไหน ตายหมด เอาสิ่งนั้นมาอวดกันได้อย่างไร แต่ถ้ากล้าหาญในหัวใจนี้สิ กล้าหาญที่นี่

 

เขาว่า “มีความปรารถนาแรงกล้า สู้ไปสู้มาก็เวียนลงมา”

 

เวียนลงมานี่มันก็แบบว่า การประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราเป็นพระที่ดี รุ่นครูบาอาจารย์หรือพระใหม่ๆ ก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ในศีลในธรรม นั่นเป็นพระที่ดีแล้ว เป็นสิ่งที่น่ากราบไหว้ น่าเคารพบูชาแล้ว มีศีลธรรม

 

โบราณเขาบอกว่า อย่าไปติเตียนพระนะ พระศีลท่าน ๒๒๗ เราแค่ศีล ๕ เราไม่ควรไปติเตียนเขา เพราะศีลเราอ่อนกว่า

 

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงผู้บวชเป็นพระแล้วอยู่ในศีลในธรรม เราก็น่าเคารพกราบไหว้ เพราะศากยบุตรพุทธชิโนรส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตั้งแต่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะมีพระ มีสมมุติสงฆ์บวชเข้ามาอยู่ในสังฆะนี้ แล้วสืบต่อศาสนากันมา เวลาบวชพระ อย่างน้อย ๕ องค์ ถ้าโดยปกติ ๑๐ องค์ขึ้นไป บวชเป็นพระ

 

การบวชสืบต่อเป็นพระ บวชมาเพื่อจรรโลงศาสนา สิ่งที่จรรโลงศาสนานะ ถ้าเขาเป็นพระที่มีศีลมีธรรม อย่างนี้ก็เคารพบูชาได้แล้ว อยู่ในศีลในธรรมคือว่าเป็นพระโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ทีนี้เป็นพระโดยสมบูรณ์แล้ว แต่จะเป็นพระแท้ ถ้าจะเป็นพระแท้ พระในหัวใจ

 

ถ้าพระในหัวใจ ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติได้สมความปรารถนา เราก็ยิ่งสาธุ เพราะเป็นเนื้อนาบุญของโลก เนื้อนาบุญที่สะอาด เนื้อนาบุญที่ดี มันจะทำให้เราทำบุญกุศลได้ผลบุญเพิ่มพูนขึ้นมา ถ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก เราก็สาธุ

 

แต่ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติเป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นพระแท้ขึ้นมาไม่ได้ ท่านเป็นพระที่อยู่ในศีลในธรรม เราก็เคารพบูชาได้ ถ้าในศีลในธรรมนะ เพราะการประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่อำนาจวาสนาเหมือนกัน

 

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกว่า เรานี้เป็นคนอำนาจวาสนาน้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเองนะว่าตัวท่านเป็นคนที่อำนาจวาสนาน้อย เพราะท่านมีอายุแค่ ๘๐ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีอริยเมตไตรยข้างหน้าจะมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี

 

เวลาพระศรีอริยเมตไตรยมาเกิดจะเป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิอยู่ ๔๐,๐๐๐ ปี แล้วจะออกบวช ออกบวชแล้วจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระศรีอริยเมตไตรย จะมีอายุยืนอีก ๔๐,๐๐๐ ปี แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอายุ ๘๐ ปี ท่านถึงบอกเราเป็นคนมีอำนาจวาสนาน้อย

 

เราพูดอย่างนี้ให้เห็นว่า การแข่งขันกันด้วยอำนาจวาสนา การแข่งขันกันด้วยบุญกุศล มันแข่งขันกันไม่ได้ การที่คนที่ปฏิบัติแล้วมันจะมีอำนาจวาสนา เพราะเขาได้สร้าง

 

เห็นไหม เมื่อวาน เมื่อวานอดีตชาติ เขาได้ทำของเขามา ถ้าทำของเขามา จิตใจของเขา พันธุกรรมของเขา เขามีทัศนคติที่ดีอย่างนี้ เขามีความรู้ความเห็นที่ว่าเขาจะเป็นแนวทางนี้ เวลาความคิดของเขา แล้วคิดบวก ทำสัมมาสมาธิแล้วบวกเข้าไปในมรรคในผล ในมรรคในผลคือธรรมจักร คือภาวนามยปัญญา ความคิดแบบนี้บวกกับธรรมที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว บวกกับสัจธรรม บวกกับมรรค อริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับจิตใจประเภทนี้มันเข้ารวมกัน มันพัฒนาต่อกัน มันก็ชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่คืออำนาจวาสนาของเขา

 

แต่เรา เราสร้างอำนาจวาสนาเหมือนกัน เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน อยากบวชเหมือนกัน บวชมาแล้วนะ แต่อำนาจวาสนาของเรามันลุ่มๆ ดอนๆ อำนาจวาสนาของเรามันยังไม่มัชฌิมา คือว่ามันไม่สมดุลของมัน เวลาปฏิบัติแล้วมันก็กระเท่เร่ มันก็เอียง มันก็พลิก มันก็คว่ำ เราก็พยายามอยู่นี่ แล้วปฏิบัติไม่ได้สักที ทำอย่างไรล่ะ

 

ไอ้วาสนาอย่างนี้ เราจะไปบังคับหรือเราจะไปก็อปปี้ เราจะให้มันเป็นไป มันไม่ได้ ปลูกทุเรียนก็ได้ทุเรียน ปลูกเงาะก็ได้เงาะ ปลูกหญ้าคามันก็ได้หญ้าคา นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่ทำสิ่งใดมา ตรงนี้มันมีกรรมเก่านี่ไง พระพุทธเจ้าถึงให้เชื่อกรรมๆ

 

พระพุทธศาสนาให้เชื่อกรรม เชื่ออย่างนี้ เชื่อกรรม เชื่อที่มาที่ไป เชื่อในปัจจุบันที่มันมีกำลังมากน้อยขนาดไหน เชื่อถึงกรรมดีกรรมชั่วส่งไปในอนาคต นี่เชื่อกรรม คือเชื่อเหตุ เชื่อผล เชื่อความจริง

 

แต่ในพระพุทธศาสนาบอกให้เชื่อกรรม ไอ้พวกเราก็เชื่อกรรม เลยงอมืองอเท้าไง ถ้าเชื่อกรรมก็ เออ! กรรมก็ลอยมาเอง เดี๋ยวกรรมมันก็ลอยมาบนฟ้าก็ตกใส่หัว โอ๋ย! เดี๋ยวกรรมจะดีขึ้นมาเอง...มันไม่มี พระพุทธศาสนาไม่มีของฟรี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำสิ่งใดได้อย่างนั้น ทำทางโลกก็ได้ทางโลก ทำทางธรรมก็ได้ทางธรรม ถ้ามีอำนาจวาสนานี้

 

เพราะเขาถามว่า “พระที่ปฏิบัติแรงกล้า แล้วทำไมมันเวียนกลับมา”

 

ถ้าเวียนกลับมา มันก็ด้วยเหตุผลมากมาย คือว่าเขาถามว่ามันตั้งใจมากเกินไปหรือเปล่า เคร่งเกินไปหรือเปล่า

 

ไม่เคร่ง เคร่งเกินไปนี่ดี เหมือนกับเราเคร่งเกินไปคือว่าเราระวังตัวมากที่สุด ดีที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ก่อนนิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

 

ความไม่ประมาทเลินเล่อ พระพุทธเจ้าฝากไว้เป็นคำสุดท้าย คำสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรินิพพาน อย่าประมาท อย่าประมาท

 

ถ้าไม่ประมาทปั๊บ เคร่งเกินไปดีแล้ว ไม่ประมาท ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เขาตั้งใจมากเกินไปหรือเปล่า เคร่งเกินไปหรือเปล่า

 

อันนี้ถามเพราะว่าอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวังใช่ไหม อยากให้พระทุกองค์เป็นพระที่ดีหมดเลย ก็ต้องไปที่โรงหล่อเนาะ โรงหล่อหล่อพระ พระแก้วมรกตนี่เนาะ หล่อมาแล้วก็เรียงเลยนะ ต่อไปเวลานิมนต์พระไปฉันที่บ้านก็เอาพระแก้วไปตั้งไว้ ๕ องค์ นี่พระแท้ พระแก้ว ไม่ใช่พระคน เอาพระแก้ว

 

คือเราหวัง เราคาด ทุกคนก็คาดก็หวังอยากได้ของดีทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เขาเรียกว่าเกิดร่วม เกิดสหชาติ เกิดร่วมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

เราภูมิใจมากนะ เมื่อก่อนพูดมาก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยกล้าพูด เพราะเดี๋ยวนี้คำพูดเรา คนเอาไปวินิจฉัยเยอะไง เมื่อก่อนจะพูดบ่อยมากตอนที่มาอยู่โพธารามใหม่ๆ บอกว่าเราภูมิใจมาก ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ในการปฏิบัติของเรา เรารู้ว่าเราจะต้องเป็นไอ้โคถึก มันจะต้องขวิดเขาไปทั่ว อยู่ในป่ามันจะขวิดต้นไม้ไปทั่ว เพราะตามประสาของโคถึก ตามประสาของการปฏิบัติที่เราไม่รู้เห็นรู้จริง มันก็จะดันไปตามความรู้สึกของตัว

 

แต่นี้เพราะเรามีครูบาอาจารย์ท่านก็กระทืบเอาหัวแบะหัวแบนเลย เวลาขึ้นไปโต้เถียงกับท่าน ท่านล่อเอาจนหัวแบะหัวแบน แล้วถ้าท่านไม่มีความรู้จริง เราจะยอมให้เขากระทืบไหม ถ้าท่านไม่รู้จริง ท่านไม่มีเหตุมีผล ด้วยเหตุด้วยผลที่ชนะเหตุผลในหัวใจของเรา เราจะยอมรับไหม

 

ฉะนั้น เวลาเราพูดนะ เมื่อก่อนจะพูดบ่อยมากว่าภูมิใจมากที่เกิดมาพบครูบาอาจารย์ ถ้าเราเกิดมาไม่พบครูบาอาจารย์ เราก็ต้องดันของเราไปเอง ความรู้ความเห็นในใจมีมากน้อยขนาดไหน เราก็ต้องดันไปตามทิฏฐิมานะของเรานี่ล่ะ

 

รู้นะ หลวงปู่ดูลย์บอก เห็นจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ลองไปปฏิบัติดูสิ เห็นจริงไหม จริง เกิดนิมิต เกิดความเห็นจริงไปหมดเลย แต่ความเห็นนั้นไม่จริง แล้วเราแยกแยะได้อย่างไรล่ะ จริงหรือไม่จริง แต่พอมีครูบาอาจารย์ท่านกระทืบเอาจนต้องยอมรับว่า เออ! จริง

 

ใหม่ๆ ก็ยังงงๆ อยู่นะ เวลากระทืบมาก็ยังงงๆ อยู่ เพราะอะไร เพราะเรารู้เราเห็นมาอย่างนี้ แล้วท่านบอกว่าของเราเก๊ อู๋ย! มันไม่ยอมหรอก แต่เพราะท่านจริง ท่านจริงเพราะท่านมีหลักเกณฑ์ ท่านมีเหตุผล ท่านอัดเราจนเราต้องยอม พอยอมขึ้นมาก็ โอ้โฮ!

 

อย่างที่หลวงตาว่า เวลาท่านไปบรรลุธรรมที่ดอยธรรมเจดีย์ จะกราบพระพุทธเจ้าร้อยหน จะกราบพระพุทธเจ้าพันหน โอ๋ย! มันจะกราบ มันซาบซึ้ง

 

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาท่านกระทืบจนเราหูตาสว่างขึ้นมา อู้ฮู! แต่ตอนที่ยังไม่หูตาสว่างนะ ไอ้ควายตู้มันจะชนนะ ฮึ่มๆๆ มันจะขวิด แต่ถ้าเหตุผลมันลงแล้ว อ๋อ!

 

ที่เราเกิดมาทันครูบาอาจารย์ เกิดร่วมสมัย แล้วต่อไปเราถึงพูด ต่อไปอนาคตนะ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงที่พระแท้ๆ มันไม่มี มันมีแต่พระที่อยู่ในศีลในธรรม เราก็น่าเคารพบูชาแหละ แต่ถ้าพระแท้มันมี มันมีในหัวใจ

 

แล้วต่อไปพระแท้มันฝึกยาก มันจะฝึกได้มันก็ต้องไปหล่อพระแก้วนั่นน่ะ หล่อเอาโรงหล่อที่หล่อแก้ว แต่พระแท้มันจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนที่เกิดมาไม่พบมันต้องปฏิบัติเอาเองไง ถ้าไม่ได้พบ เราต้องปฏิบัติเอาเอง

 

เราพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติแล้วท่านติดขัด ท่านไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า “เราแก้ท่านไม่ได้หรอก ปัญญาท่านเยอะท่านต้องแก้ตัวเอง”

 

ทีนี้หลวงปู่มั่น ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่า มันไม่มีใครเป็นที่ปรึกษา ไม่มีใครคอยบอกคอยแนะ ก็ต้องพยายามค้นคว้าของตัวไปเอง แล้วก็ต้องระวังเอง ระวังว่ามันจะหลุดไปทางไหน ปฏิบัติเองมันก็ยากอยู่แล้ว ยังจะต้องระวังใจของตัวเองอีก ไม่ให้มันแฉลบไปทางไหนๆ นี่หลวงปู่มั่นนะ แล้วพอท่านสำเร็จแล้วท่านเป็นครูบาอาจารย์ ท่านจะสอนพวกเรา ท่านถึงบอกว่าการแก้จิตแก้ยากนะ

 

คำว่า “แก้ยาก” เพราะท่านเคยแก้ท่านมา คำว่า “แก้ยาก” เพราะท่านทุกข์ท่านยากมา ไอ้คนที่ไม่เคยทุกข์ไม่เคยยากมามันไม่รู้อะไรแก้ง่าย อะไรแก้ยากหรอก มันพูดไปปากพล่อยๆ

 

แต่ไอ้พวกที่แก้จิตมา ไอ้พวกที่ดูแลมา การแก้จิตแก้ยาก หลวงปู่มั่นท่านพูดบ่อย หลวงตาท่านพูดให้ฟัง ยิ่งเวลาช่วงสุดท้ายของท่านนะ “หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” เพราะอะไร เพราะท่านแก้ของท่านมา ท่านล้มลุกคลุกคลานมา คนที่ทำมานะ โอ้โฮ! มันทุกข์ยากมามาก มันระวังมาก

 

แต่ในปัจจุบันนี้ “ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องพุทโธ ทำอะไรก็ได้” เพ้อเจ้อทั้งนั้น เพ้อเจ้อ ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีที่มาที่ไป แต่เอาความมักง่าย เอาความสุขเอาเผากิน เอาอย่างนั้นแล้วมาพูดกัน ให้เป็นพระที่มีศีลยังเป็นไปไม่ได้เลย

 

พระที่มีศีลมีธรรมเป็นพระที่ดีอยู่ในศีลในธรรม ก็น่าเคารพบูชาแล้วถ้าเป็นพระที่ดี ไอ้บอกว่า ทำได้ดี ทำได้ง่าย ลัดสั้น โกหกหรือเปล่า ถ้าโกหกมันก็ไม่มีศีลไง

 

เขาว่าเป็นพระแท้ พระแท้มันเป็นพระแท้ในใจ แต่ถ้าบอกว่ามันลัดมันสั้น มันปฏิบัติได้ง่าย มุสาหรือเปล่า ถ้ามุสานี่ผิดศีลไหม เราจะมีศีลมีธรรมไหม

 

นี่ไง เพราะคำถามเขาบอกว่า แล้วพระที่เขาเคร่ง เขาเกร็ง อันนี้เราพูดเพราะว่าเขาพูดกันไปไง ฉะนั้น เขาบอกว่า “ให้หลวงพ่อเล่าประสบการณ์”

 

ประสบการณ์ เราก็เจอมาเยอะ เราก็ไปเจอพระหลอกเรามาเยอะ บวชใหม่ๆ เราโดนหลอกมาเยอะ เพราะโดนหลอกมามาก แล้วพอปฏิบัติ จะรู้ว่าโดนหลอกต่อเมื่อปฏิบัติแล้วเข้าทาง พอมาถูกทาง เพราะคนเดินหลงทาง แล้วคนมาเดินถูกทาง จะรู้เลยว่าที่หลงทางนี้เป็นอย่างใด

 

คนเราหลงทางไป แต่ยังไม่เดินถูกทาง จะไม่รู้เลยว่าไอ้ที่หลงทางมานั้นหลงหรือเปล่า เพราะมันเดินไป แต่คนที่หลงทางไปแล้ว แล้วเดินมาถูกทาง มันจะรู้เลย ที่เดินมานั้นหลง มันถึงได้หลงทางไป พอเดินมาถูกทาง อ๋อ! ทางจริงมันเป็นแบบนี้

 

ถึงได้บอกว่า กูโดนหลอกมาเยอะไง กูโดนหลอกมาเยอะ แต่พอกูมาเจอครูบาอาจารย์ของกู ของจริง ถึงได้ภูมิใจ ภูมิใจมาก

 

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงธรรมะ เราพูดเพราะเรามีความรู้สึกอย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้ เวลาพูดมันถึงพูดรุนแรง คำว่า “รุนแรง” รุนแรงกับกิเลสไง รุนแรงกับความรู้สึกภายในใจ รุนแรงกับไอ้ความคุ้นเคย ไอ้กิเลสมันพอกหัวใจ ถ้าไม่รุนแรง มันไม่ได้ขยับเขยื้อน มันไม่ตื่นตัว ไม่ยอมแก้ไข ไม่ยอมเป็นจริง นี่ไง การแก้จิตมันเลยแก้ยาก เอวัง