ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมาธิธรรม

๑๕ ก.พ. ๒๕๕๗

 

สมาธิธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : กราบนมัสการสวัสดี ขอเรียนถามสั้นๆ ครับ

 

ขณะเข้าสมาธิก็สงบตั้งได้ ตั้งอยู่ คือสงบ ปราศจากข้อกังวลใดๆ ก็พุทโธรักษาความสงบมาเรื่อยๆ ไม่รู้เวลา คือจะออกจากสมาธิ ตอนนั่งก็ไม่ได้ตั้งใจกะเกณฑ์เวลา แต่พอจะออก ได้ยินเสียง ธรรมรักษาธรรม ความสงบรักษาความสงบ อย่าเพิ่งออก

 

ผมพิจารณาสังเกตในขณะนั้นก็ยังสงบ พุทโธต่อได้เรื่อยๆ แต่ยังไม่มีกิจภายนอกที่จะทำ ก็พุทโธต่อจนรู้สึกว่าผ่อน มันคลาย คือสงบ แต่มันคลายแล้วไม่ได้สงบน้อยลง แต่ความรู้สึกมันคลาย (ไม่รู้จะอธิบายอย่างใด รู้แต่ว่ามันคลาย แต่ยังสงบ) ผมก็ออกจากสมาธิครับ จึงสงสัยขอเรียนถาม สงบใช่ธรรมไหมครับ ขอบคุณครับ

 

ตอบ : ครั้งที่แล้วเขาถามปัญหามาใช่ไหม เรื่องที่ว่าเขาเข้าสมาธิแล้วมันออกสมาธิไม่ได้ หนึ่ง เข้าสมาธิแล้วเขากำหนดเวลาไม่ได้ หนึ่ง

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำความสงบแล้ว เป็นความสงบนี่เป็นธรรมไหม

 

เป็นสิ การทำความเพียรนะ ขาดสติ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เป็นธรรมไหม เป็น คำว่า “เป็นธรรม” ไง ทีนี้คำว่า “เป็นธรรม” สติ ถ้ามีสติคือความเพียร ความเพียรก็คือดำริชอบ นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐิมันขาดสติหรือทำอะไรโดยความพลั้งเผลอ นั่นเป็นความเพียรไหม เป็นความเพียร แต่เป็นมิจฉา ถ้าเป็นสัมมา สัมมามันจะมีความถูกต้องดีงามของมัน ฉะนั้น ความถูกต้องดีงามของมัน ความถูกต้องดีงามคือปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คือความรู้ขึ้นมาในใจ ถ้าความรู้ขึ้นมาในใจ

 

คำถามถามว่า “ความสงบเป็นธรรมไหม”

 

คือว่ายังมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคือความสงบ คือสมาธิ ใช่ไหม

 

ใช่ ถ้าเป็นสมาธิคือสมาธิ แต่ทำไมเราตอบครั้งนั้นเราตอบไปยืดยาวมาก ยืดยาวมากเพราะมันเป็นคติธรรมได้ มันเป็นคติธรรมได้ว่า คนเราเวลาทำความสงบแล้วอยากจะรู้ว่าเวลาเท่าไร เราก็พูดเพื่อเปรียบเทียบไงว่าเวลาเข้าสู่ความสงบ

 

คนเรานะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเข้าอัปปนาสมาธิ เวลาเข้ารวมใหญ่ รวมไป ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง มันแล้วแต่ไง จิตเข้าได้มากได้น้อยแค่ไหน มันเข้าไปแล้ว หลวงตาท่านสอนว่า ถ้าจิตสงบแล้วอย่าไปกวนมัน อย่าไปดึงออก ปล่อยมันอยู่อย่างนั้น แล้วถ้ามันคลายตัวออกมา มันคลายออกมาแล้วเราค่อยทำงานอย่างอื่นต่อเนื่องไป แต่ถ้ามันยังสงบอยู่ เราอย่าไปกวน ถ้ากวนแล้ว พอไปดึงออกมา พอดึงออกมาหรือว่าพยายามถอยออกมา พอถอยออกมา ต่อไปมันเข้ายากออกยาก เพราะอะไร เพราะไปฝืนมัน ถ้าไปฝืนมันขึ้นมา ให้มันเป็นสัจจะ เป็นความจริงของมัน

 

มันคือใคร มันคือผล วิบากไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เพราะมันมีเหตุมีปัจจัยขึ้นมา เพราะมีเหตุมีปัจจัย เหตุปัจจัยคืออะไร คือสติ คือคำบริกรรม ถ้ามีเหตุมีปัจจัยขึ้นมา ผลของมันคือความสงบ แล้วความสงบมากสงบน้อยมันอยู่ที่เหตุ เหตุมาก เหตุน้อย เหตุมั่นคง เหตุคลอนแคลน เหตุคลอนแคลนมันเป็นสมาธิได้อย่างไร

 

เหตุคลอนแคลนเป็นสมาธิก็คือมันส้มหล่นไง ส้มหล่นก็คือฟลุกไง มันฟลุก มันเป็นไป แล้วแต่ คนเราพอมันส้มหล่น มันเป็นโดยที่เราไม่มีปัญญาควบคุม มันเข้าเหมือนกัน เข้าสมาธิเหมือนกัน มันเข้าของมัน แล้วมันก็ออกของมัน แล้วมันทำอย่างไรล่ะ

 

แต่ผู้ชำนาญในวสีนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติท่านต้องรักษาใจของท่าน ท่านกำหนดบริกรรม กำหนดปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบได้ เวลามันคลายตัวออกมา แล้วทำให้สงบเข้าไป เข้าไปแล้วพอมันคลายตัวออกมา ทำความสงบเข้าไป ถ้าสงบแล้วเรารักษาความสงบนั้น เรารักษาความสงบนั้นรักษาไว้ไม่ได้ รักษาไว้ไม่ได้เพราะมันขาดปัญญา

 

ปัญญาก็ออกมาใช้พิจารณา ออกไปพิจารณาต่างๆ พอพิจารณาไปแล้ว มันรู้เหตุรู้ผลขึ้นมา มันก็กลับมาบริกรรม กลับมาต่างๆ มันรู้ เพราะบริกรรมอย่างนี้ผิดอย่างนี้ เพราะกินอาหารอย่างนี้ ทำให้อืดอาดอย่างนี้ เพราะเร่งความเพียรจนไม่ได้พักผ่อน มันจะเป็นแบบนี้ นี่เขามีความชำนาญอย่างนี้มันก็เลยทำสมาธิได้ง่าย พอทำสมาธิได้ง่าย เขาเรียกว่ากัลยาณปุถุชน

 

ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส กัลยาณปุถุชน พอมันรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง รู้เท่าทันด้วยเหตุด้วยผลขึ้นมามันก็ทำสมาธิได้ง่าย เห็นไหม การทำสมาธิได้ง่าย กับคนทำสมาธิได้ยาก คนหนา คนแบกคนหาม คนหนามันทำสมาธิได้ยาก

 

ทีนี้ทำสมาธิได้ยาก เพียงแต่ว่าที่เราตอบปัญหาไป เราเข้าใจว่าเป็นสมาธิไหม เป็นธรรมไหม เป็น เป็นธรรม แต่ธรรม เห็นไหม เด็กขึ้นมา เวลาคนที่เขามีลูก ลูกของเขาเลี้ยงง่าย ลูกของเขาไม่กวน ลูกของเขาเป็นเด็กดี เป็นเด็กดีไหม เป็น แล้วทำอย่างไรต่อ

 

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นสมาธิ เป็นธรรมไหม เป็น ความสงบเป็นธรรมไหม เป็น เป็นธรรม แต่ธรรมนี้มันก็ผ่านไปแล้วไง ธรรมนี้มันผ่านไปแล้ว เราเคยทำสมาธิได้ เราก็ผูกพันกับสมาธิอันนั้น

 

พอกินหรือ มันพอกินไหม มันไม่พอกินนะ ในปัจจุบันนั้น ขณะนั้นมันพอกิน แต่พอเราทำมาแล้ว เราจะโตขึ้น คนโตขึ้นต้องมีบ้านมีเรือน เห็นไหม มีบ้านหลังแรก มีรถคันแรก มันมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจะเจริญต่อไปมันก็ต้องเข้มแข็งมากไปกว่านี้ ที่เราพูดไปคราวที่แล้ว เราพูดเพราะเหตุนี้ไง

 

เหตุว่า หนึ่ง เราไม่ต้องไปวิตกกับกาลเวลา เขาบอกว่าเขาจำเวลาไม่ได้ว่าเขาเข้าเวลาเท่าไร แล้วออกเวลาเท่าไร เห็นไหม ตรงนี้มันเป็นประเด็น มันเป็นปมของนักปฏิบัติทั้งหลาย

 

นักปฏิบัติทั้งหลายเลยนะ ว่าเวลาเข้าแล้วก็ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ จะเป็นเท่าไร อยากจะทำสถิติเอาไว้ไง อยากจะทำสถิติเอาไว้ อยากจะแบบว่าสมุดบันทึกประจำวันบันทึกไว้เลย เราภาวนาเท่านั้น เราภาวนาอย่างนี้ นี่มันเป็นประเด็นที่เราไปเหนี่ยวรั้งอดีต มันเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่ถ้ามันผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว ที่มันยังไม่มาก็ยังมาไม่ถึง เราก็อยู่กับปัจจุบันของเราไป

 

ฉะนั้น ถ้ามันเข้าไปสงบแล้วเรามีสติ เห็นไหม หลวงปู่มั่นสอน สั่งไว้เลย “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย”

 

เราอยู่กับความรู้สึกเรานี่ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับความรู้สึกเรา พุทโธอยู่นี่ อยู่กับผู้รู้ ถ้าผู้รู้มันสมบูรณ์ สิ่งอื่นที่จะเข้ามายั่วยวนให้มันวอกแวกวอแวมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าผู้รู้มันอ่อนแอ ผู้รู้นี้หวั่นไหว ไม่ต้องให้ใครมาหลอกหรอก มันหวั่นไหว มันโน้มไปหาเขาอยู่แล้ว ฉะนั้น เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธให้มันชัดเจนขึ้นมา

 

ฉะนั้น ชัดเจนขึ้นมา สิ่งที่ตอบปัญหาไปนั้น ตอบปัญหาไปเพื่ออนาคตไง ตอบปัญหาไปว่าเพื่อไม่ให้ติดในประเด็นนั้น แล้วเราทำต่อเนื่องขึ้นไป

 

สิ่งที่เรื่องประเด็นว่าเราจะเข้าเวลาได้เท่าไร

 

ฉะนั้น เวลาส่วนใหญ่แล้วเวลาเข้า เขาก็คุยกันอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เวลาเรานั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง นั่งได้ประมาณ ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง ๑ ชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง กี่ชั่วโมง เราก็ต้องคุยกันด้วยข้อเท็จจริง ด้วยสาระ มันก็ต้องเอามาพูดกันนี่แหละ แต่อย่าให้เป็นประเด็นในใจไง อย่าให้เป็นประเด็นในใจว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ มันกังวลน่ะ อย่าให้ใจมันกังวล

 

ที่เราพูดไปนี่เราจะตัดประเด็น ตัดความกังวลของนักปฏิบัติว่า ไม่ต้องไปห่วงหรอก ไอ้เรื่องที่ว่าจะออกมาลงบันทึกประจำวันว่าวันนี้เราได้ภาวนากี่หน ได้ภาวนา ไม่ต้องห่วงการลงบันทึกประจำวันนั้น เอาข้อเท็จจริง เอาหัวใจที่มันได้หรือไม่ได้ ตรงนี้สำคัญกว่า

 

ฉะนั้น พอสำคัญแล้ว แล้วออกมามันจะได้ไม่ได้ มันจะ ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ช่างหัวมัน แต่มันได้ผลหรือเปล่าล่ะ มันสงบหรือเปล่าล่ะ มันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ เอาตรงนั้น นี่พูดถึงเวลาไง ฉะนั้น ไอ้นี่พูดถึงเป็นประเด็น

 

แต่ถ้าเราไม่เป็นประเด็น เออ! เราไม่เป็นประเด็นหรอก เพราะว่าเราไม่ได้ติดข้องตรงนั้น แต่ที่เราพูดเพราะว่า ในสังคมนักปฏิบัติเขาจะติดข้องกันตรงนั้น เขาจะเอาสิ่งนั้นมาสื่อสารกัน เวลาสื่อสารกันก็สื่อสารโดยข้อเท็จจริงนั่นแหละ แต่ไม่ให้เป็นประเด็นที่ว่าเราจะต้องทำอย่างนั้นให้มันเป็นความกังวลของใจ ถ้าใจกังวลแล้วมันทำสิ่งใดมันก็ทำได้ยาก

 

ฉะนั้น ถึงถามมาว่า ความสงบนั้นใช่ธรรมไหม ที่ทำไปมันสงบมันใช่ธรรมไหม แต่หลวงพ่อตอบซะไม่มีอะไรเหลือเลย ตอบซะ แหม! เหมือนกับเด็กไร้เดียงสาเลย

 

ก็เขาถามมาอย่างนั้น เปล่า มันขำ มันขำเพราะเราตอบไปอย่างนั้นจริงๆ คราวที่แล้วเราตอบแบบเล่นน่ะ ตอบแบบเล่น ตอบเป็นการหยอกล้อ เราตอบแบบหยอกล้อให้คนไม่มีความวิตกกังวล ให้สิ่งใดที่มันเป็นประเด็น ให้เราวางไว้ ให้มาทำคุณงามความดี เราตอบไปแบบนั้น ฉะนั้น สิ่งที่แบบนั้นเพื่อให้คนสะดวกในการปฏิบัติ ว่าอย่างนั้นเลย

 

ฉะนั้น พอเราตอบไปแล้ว หลวงพ่อได้ตอบคำถามผมหรือเปล่า หลวงพ่อตอบหรือหลวงพ่อกัดเอา จึงมีคำถามใหม่มา คำถามใหม่มา สงสัยที่ตอบไปนั้นตอบเล่นๆ หรือตอบจริง

 

ตอบจริงๆ นั่นแหละ แต่หยอกล้อ หยอกล้อด้วยความให้คนเข้าใจ ให้คนปล่อยวาง ให้คนไม่มีความกังวล ให้ไม่มีประเด็นในใจ แล้วเวลาปฏิบัติไปมันปฏิบัติไปก้าวหน้า

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า คำถามที่ถามมาว่า นับเวลาไม่ได้ มันออกจากสมาธิไม่ได้ เพราะนักปฏิบัติด้วยกันมีเยอะมากที่ติดตรงนี้ ติดว่าพอเข้าสมาธิแล้วออกไม่ได้ “โอ๋ย! หลวงพ่อ มันออกไม่ได้”

 

ออกไม่ได้ ทำไมเอ็งพูดกับกูได้ล่ะ ที่เอ็งพูดอยู่นี่มันออกไม่ได้ได้อย่างไร แต่ความคิดมันรู้ มันคิดบอก เข้าสมาธิแล้วออก “หลวงพ่อ ออกไม่ได้ช่วยที”

 

เราเจออย่างนี้บ่อย แล้วคำถามก็ถามมา เราถึงบอกว่าโดยทั่วไปเขาคิดกันอย่างนั้นไง โดยความมันเป็นอุปาทาน มันเป็นความอุปาทานในใจแล้วมันมีกิเลสอยู่ สังคมปฏิบัติมันเป็นแบบนั้น

 

ฉะนั้น คำถามมา แบบว่าเขาชงลูกมาให้ ชงลูกมาให้เราก็ตบ ก็คำถามมันชงมา โอ๋ย! ชงลอยมาเด่นเลย แล้วเราไม่ตบเราก็ไม่ใช่นักกีฬาสิ นักกีฬามืออาชีพนะ ถ้ามืออาชีพชงมามันตบอยู่แล้ว ฉะนั้น คำถามถามมาแบบนั้น ทีนี้คำถามแบบนั้น ถามว่าหลวงพ่อตอบคำถามผมหรือเปล่าน่ะ

 

ตอบ ตอบไปแล้ว ก็เลยมีคำถามใหม่มาว่าสิ่งที่ทำมาถูกไหม

 

เพราะมันเป็นความกังวลต่อเนื่องว่า ที่ทำไป ถามไป แล้วหลวงพ่อตอบอย่างนี้มันถูกต้องหรือเปล่า เราทำถูกหรือเปล่า คนปฏิบัติมันจะวิตกกังวลว่าเราปฏิบัติถูกหรือผิด ฉะนั้น ถ้าถามมาอีก ถามว่า “คำถามสั้นๆ ขณะที่เข้าสมาธิก็สงบอยู่ ก็สงบตั้งได้ ตั้งอยู่ คือสงบ”

 

ใช่ ตั้งได้ ตั้งอยู่ คือสงบ ถ้าตั้งได้ ตั้งอยู่ คือสงบ มันปราศจากข้อกังวลใดๆ ทั้งสิ้น

 

“ปราศจากข้อกังวลใดๆ ก็พุทโธรักษาความสงบเรื่อยๆ ไม่รู้เวลา จึงออกจากสมาธิ”

 

ไม่สำคัญ เอาความสงบของเรา ก็กาลเวลา เราเปรียบเทียบเวลาของพรหม เวลาของเทวดา เวลาของมนุษย์ มันแตกต่างกัน เวลาของแมลงวัน แมลงวันมัน ๗ วันตายนะ เวลาของสัตว์ อายุขัยของมันเท่าไร อายุขัยของสัตว์แต่ละชนิดมันก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น มันไม่ต้องไปวิตกตรงนั้น ฉะนั้น ไม่ต้องวิตกตรงนั้นคือว่าเราไม่เอาสิ่งนั้นมาเปรียบเทียบ

 

แต่ถ้าเวลาเราปฏิบัติ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เรามีอายุขัย ๑๐๐ ปี อายุขัยของเราประมาณ ๑๐๐ ปี ๑๐๐ ปีนี้เราจะทำอย่างไร เราจะขวนขวายอย่างไร เอาอันนี้มาเป็นประเด็นในหัวใจเราถูกต้องดีกว่า

 

ฉะนั้น ถ้ามันไม่รู้จักเวลาออกจากสมาธิ ไม่สำคัญ ถ้าเป็นสมาธิมันตั้งได้ มันอยู่ได้ ถ้าอยู่ได้ ถ้ามันสงบได้ เราก็พุทโธต่อเนื่องไป เพราะมันยังพุทโธได้ ถ้าพุทโธได้ อย่างมากเป็นอุปจาระ ถ้าอุปจาระมันยังรับรู้ได้ พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าพุทโธจนมันละเอียดเข้าไป จนมันพุทโธไม่ได้เลย นั้นอัปปนา ถ้าเข้าอัปปนาแล้ว แล้วทำสมาธิทำไม ทำสมาธิไว้ทำไม เขาบอกสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ทำสมาธิทำไม

 

ทำสมาธิไว้พักผ่อน ทำสมาธิไว้พักร้อน ทำสมาธิไว้ผ่อนคลาย พอผ่อนคลายแล้ว คนที่ไม่ตึงเครียด คนที่ผ่อนคลาย จะไปทำงานสิ่งใดมันทำด้วยความสดชื่น มันทำด้วยข้อเท็จจริง

 

แต่คนเราอ่อนล้า คนเราอ่อนเพลีย คนเราแบกหามภาระทั้งนั้นเลย แล้วจะต้องมีงานต่อเนื่องไป ต้องมีงานใหม่เข้ามา นี่ไง มันถึงทำได้ยากไง ถึงต้องทำสมาธิเพื่อเหตุนี้ไง ทำสมาธิเพื่อผ่อนคลาย ทำสมาธิเพื่อพักผ่อน ทำสมาธิให้ใจสดชื่น ทำสมาธิไว้ แล้วสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิโดยแท้มันไม่มีสมุทัยเข้ามาเจือปน ถ้ามีสมุทัยเข้ามาเจือปนเป็นมิจฉาสมาธิ

 

สัมมาสมาธิคือสมาธิแท้ๆ สัมมาสมาธิคือจิตมันตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นมันไม่มีสมุทัยเข้ามาเจือปน เวลามันออกไปใช้ปัญญา สมุทัย สมุทัยคืออะไร สมุทัยคือตัณหา ภวตัณหา ตัณหาคืออยากได้ วิภวตัณหาคือผลัก อะไรที่ไม่พอใจ ผลักๆๆ นี่คือตัณหา ตัณหาคืออยากและไม่อยาก มันผลักมันดึงของมันในหัวใจของมัน นี่มันจะเข้ามาทำให้จิตใจของเราคลอนแคลน

 

ถ้าทำสัมมาสมาธิ สมาธิ สมุทัยมันไม่เข้ามาเจือปนหรอก สมาธิมันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา มันไม่มีตัวผลัก ไม่มีตัวดึง มันจะไปของมันโดยสัจจะของมัน ถ้าสัจจะของมัน ถ้ามันไปเห็นจริงของมัน สมาธิต้องทำเหตุนี้ ไม่มีสมาธิ ภาวนามยปัญญาเกิดไม่ได้ ภาวนามยปัญญาเกิดบนสมาธิ เกิดบนสมถะ เกิดบนฐานที่ตั้ง ถ้าไม่มีฐานที่ตั้ง มันเลื่อนลอย

 

ทรัพย์สมบัติของคนอื่นทั่วโลกเยอะแยะไปหมดเลย แต่ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของเรา ทรัพย์สมบัติในโลกนี้มีมหาศาล ทรัพย์สมบัติของเศรษฐีในโลก ในประเทศไทย เป็นเศรษฐีระดับโลกเยอะแยะไปหมดเลย แต่ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของเรา ถ้าเราทำหน้าที่การงานของเรา เราหาเงินหาทองของเรา เป็นเงินทองของเรา นั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติของเรา

 

เราทำสมาธิ สัมมาสมาธิ เราใช้สมาธิของเรา สมาธิเราสงบระงับขึ้นมา ถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากสัมมาสมาธิจึงเป็นภาวนามยปัญญา มันจะเป็นทรัพย์สมบัติของใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นเป็นสมาธิ ใจดวงนั้นเป็นสมาธิ ใจดวงนั้นออกค้นคว้า ใจดวงนั้นออกพิจารณาของมัน มันถึงมีทรัพย์สินขึ้นมาในใจดวงนั้น สัมมาสมาธิถึงสำคัญตรงนี้ไง

 

สัมมาสมาธิ เขาบอกว่ามันแก้กิเลสไม่ได้ แล้วทำไปทำไม

 

เพราะมันแก้กิเลสไม่ได้ แต่มันเป็นฐานที่ตั้ง มันเป็นต้นขั้ว มันเป็นจุดเริ่มต้น มันเป็นสิ่งที่พาให้ใจเวียนว่ายตายเกิด แล้วถ้าเราไม่เข้าไปสู่ใจของเรา เราใช้ปัญญาของเราโดยสามัญสำนึกอย่างนี้ มันก็เหมือนสามัญสำนึกว่า เราเป็นคนไทยใช่ไหม เราเป็นคนไทย เราเป็นส่วนหนึ่ง เรามีสิทธิในชาตินี้ ทรัพย์สมบัติ ดูสิ เงินคงคลัง เงินของประเทศไทยเราก็มีสิทธิเพราะเราเป็นคนไทย

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราเป็นชาวพุทธ เราใช้ปัญญาใช่ไหม เราก็ใช้ปัญญาของเราไป เราก็มีสิทธิ์ของเรา เรามีสิทธิ์นะ เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับอุบาสก อุบาสิกา เราก็มีความคิด เราก็มีสิทธิเหมือนกันน่ะ แล้วทรัพย์สมบัติของเราล่ะ แต่ถ้ากลับมาสัมมาสมาธินะ เป็นของเรา แต่กว่าจะทำสมาธิได้มันก็มีปัญหาอย่างนี้

 

ฉะนั้น สมาธิแล้ว เป็นสมาธิ เขาบอกถ้ามันสงบ มันตั้งได้ มันอยู่ได้ มันสงบ

 

อันนั้นสงบก็คือความดีของเรา ความสงบคือความสุข ความสงบคือจิตมันไม่ฟุ้งซ่าน เห็นไหม เขาว่าวิมุตติสุขมันสุขอย่างไร สุขเวทนาเป็นความสุข เรารู้ได้ว่าเป็นความสุข แล้ววิมุตติสุขมันสุขอย่างไร

 

วิมุตติสุขมันสุขโดยเหนือโลก สุขโดยที่ไม่มีอะไรเข้าไปเจือปน นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบ มีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบมันก็มีความสุขของมัน มันตั้งมั่นของมัน อยู่ของมันได้ มันก็มีความสงบ ปราศจากสิ่งใดๆ ก็ดีแล้ว รักษาของเราไป รักษาใจของเราไป ถ้าทำได้มันก็เป็นสมาธิ

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความสงบเป็นธรรมไหม

 

สมาธิธรรม สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม นี้ธรรมนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา สิ่งที่เราศึกษาค้นคว้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอนัตตา สอนความเปลี่ยนแปลง สอนอนัตตาที่มันแปรสภาพของมัน

 

ถ้ามันแปรสภาพของมัน เราเป็นคนเห็นใจของเรา เราเป็นคนเห็นใจของเรานะ เห็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา แล้วเราพิจารณาให้มันเป็นความแปรสภาพ เป็นไตรลักษณ์ของมันไป เห็นไหม เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา

 

พอเป็นอนัตตา เรารู้เราเห็น เรามีการเปลี่ยนแปลง มีการซักฟอก มีการกำหนด มีการคายมันออก ถ้าคายมันออก นี่สิ่งที่ว่าปัญญาธรรมๆ ไง นี่มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

 

แต่เวลาถึงสัจธรรมแท้ๆ สัจธรรมแท้ๆ กลั่นออกมาจากอริยสัจ อริยสัจคืออะไร คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ นิโรธคือการดับทุกข์ ด้วยมรรค นี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ

 

อริยสัจคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วจิตนี้มันกลั่นออกมา นิโรธมันดับทุกข์ได้จริง มันดับทุกข์ได้จริงเป็นอกุปปธรรม ธรรมอย่างนี้ไม่ใช่อนัตตา เพราะอนัตตามันแปรสภาพใช่ไหม อนัตตามันยังแปรสภาพของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เรารู้เราเห็นตามความเป็นจริง แต่พอความเป็นจริง มันเห็นจริงแล้วมันจะแปรสภาพอีกไหม ถ้ามันเป็นความจริงแล้วมันจะแปรสภาพไหม

 

แต่ความที่เป็นอยู่ของเรามันแปรสภาพอยู่ แต่แปรสภาพนี่เราไม่รู้ไม่เห็นของมันตามความเป็นจริงไง แต่ถ้าเรารู้เห็นตามความเป็นจริง เราศึกษาเป็นความจริงแล้วเราสลัดทิ้งมันไป มันจะแปรสภาพอีกไหมล่ะ ถ้ามันไม่แปรสภาพมันก็เป็นอกุปปธรรมไง กุปปธรรม อกุปปธรรมไง ถ้าอกุปปธรรม

 

สิ่งนี้สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นสัจธรรม เป็นวิธีการ เป็นสัจจะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ในธัมมจักฯ แต่เราปฏิบัติไปมันก็เป็นสภาวะแบบนั้นน่ะ แล้วผลที่มันได้รับล่ะ ที่เป็นอกุปปธรรม ที่มันได้แปรสภาพออกไป มันเป็นอย่างไร

 

ไอ้นี่พูดถึงว่าทำต่อเนื่องไป นี่พูดถึงว่าเวลาเข้าสมาธิ

 

“ออกจากสมาธิ ตอนนั่งก็ไม่ได้ตั้งใจจะกะเกณฑ์เวลา แต่พอได้ยินเสียง ได้ยินเสียง ธรรมรักษาธรรม ความสงบรักษาความสงบ อย่าเพิ่งออก ผมก็พิจารณาสังเกตในขณะนั้นก็ยังสงบอยู่ พุทโธต่อไปเรื่อยๆ และยังไม่มีภารกิจภายนอก ก็ทำพุทโธต่อจนรู้สึกว่ามันผ่อน ทำไมมันผ่อนคลาย”

 

มันเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นคือผลของมัน ผลของมันที่มันผ่อน ผ่อนคือว่ามันวางไง เรารู้แล้ววาง ความที่รู้แล้ววางๆ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนแบบนี้ การทำความสงบของใจ ใจมันสงบแล้วมันมีสติมีปัญญารักษาความสงบนั้นได้ ถ้าความสงบแล้ว เห็นไหม ธรรมชาติ ธรรมชาติรู้ ธรรมชาติที่มันต้องรู้ของมันอยู่ตลอดเวลา

 

สายตาของเรามีวัตถุสิ่งใดเข้ามาในคลองสายตา เราจะรู้ว่าวัตถุนั้นคืออะไร นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบ พอจิตมันสงบใช่ไหม มันสงบ แล้วถ้ามันผ่อนคลาย มันวางล่ะ ถ้ามันวาง มันวางมันก็ละเอียดเข้ามา

 

แต่ถ้ามันไปรู้เห็นนิมิต เห็นต่างๆ เห็นความรับรู้ มันรู้ออกไป มันก็เหมือนสิ่งของที่มันเข้ามาคลองสายตาเราเห็นไง เราเห็นแล้วเราไปตื่นเต้นอะไรกับมันล่ะ เห็นแล้วอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากไป อยากเข้าใจ คิดว่าสิ่งนั้นมันจะทำให้เกิดปัญญา แต่ความจริงมันไม่ใช่ สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องสามัญสำนึก เป็นเรื่องของโลก เรื่องของธรรมชาติที่มันรู้ รู้แล้วได้อะไรล่ะ รู้แล้วได้อะไร แต่ถ้าเราไม่รู้ล่ะ ไม่รู้เราก็ไม่ได้ใช้จ่าย ไม่รู้เราก็รักษาใจให้มั่นคงขึ้นไปใช่ไหม

 

นิมิตรู้แล้ววาง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้วาง สิ่งที่รู้เห็นจริงไหม จริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นจริงหรือไม่จริง ไม่จริง รู้จริงเห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง สิ่งที่รู้นั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะมันเป็นนามธรรม ถึงให้วางๆ ถ้าวางแล้ว รู้แล้ววางๆ พอรู้แล้ววางมันละเอียดเข้าไป รู้แล้ววาง ละเอียดเข้าไป

 

ถ้ารู้แล้วไม่วาง อยากรู้อยากเห็น รู้แล้วไม่วาง รู้แล้วรู้อย่างนั้น แล้วพอภาวนานะ คนที่จิตมันมีจริตนิสัยแบบนี้ พอรู้เห็นสิ่งใด สิ่งนั้นพอรู้แล้วมันสำคัญตนนะ เรารู้ คนนั้นคิดอย่างนั้น คนนี้คิดอย่างนี้ คนนู้นเป็นอย่างนี้ มันรู้ รู้ก็สำคัญ พอสำคัญปั๊บ ถ้าภาวนาต่อไป ถ้าไม่รู้ เราภาวนาไม่ดี ต้องให้รู้อย่างนั้น มันส่งออกไปเรื่อย ส่งออกไปเรื่อย เห็นไหม กรณีนี้เป็นกรณีแบบแม่ชีแก้ว

 

แม่ชีแก้วพูดกับหลวงตาว่า ถ้าภาวนาไม่รู้ ไม่ออกรับรู้สิ่งใดเลย เหมือนกับไม่ได้ภาวนา ถ้าภาวนาแล้วไปรู้เห็นต่างๆ อู้ฮู! เก่งมากเลย

 

หลวงตาท่านสอนนะ ให้รู้บ้างก็ได้ เพราะจริตนิสัย แล้วถ้ามันรั้งไว้ก็ได้ คือยังให้ ๕๐-๕๐ พยายามดึงไว้ คือเริ่มต้นสอน

 

ไม่ได้ อย่างนั้นมันไม่ใช่เหมือนภาวนา มันอึดอัด

 

ถ้าอย่างนั้นไล่เลย ไม่ต้องมาคุยธรรมะกันเลย เพราะมันไม่ใช่ทาง

 

เห็นไหม พอไม่รู้แล้ววาง ถ้ารู้แล้ววาง ยิ่งรู้แล้ววางยิ่งสะสมเข้าไป วางแล้วไปไหนล่ะ พอวางแล้วไปไหน มันก็เห็นความผิดของตัวสิ เพราะมันวางเข้ามา ในตัวมันก็สมบูรณ์ใช่ไหม ในจิตนั้นก็สมบูรณ์ใช่ไหม ถ้าในจิตสมบูรณ์ ถ้ามันจับต้องได้ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันเกิดวิปัสสนาขึ้นมา

 

ถ้าวิปัสสนาขึ้นมา การวิปัสสนาคือการสำรอก การคาย วิปัสสนาญาณให้รู้แจ้ง ความรู้แจ้งในใจของเรา ความรู้แจ้งในตัณหาความทะยานอยาก ความรู้แจ้งในอวิชชา มันจะรู้แจ้งไปตรงนั้น นี่พูดถึงว่าถ้ามันรู้แล้ววาง นี่ประเด็นหนึ่ง

 

อีกประเด็นหนึ่ง

 

“แต่พอจะออกได้ยินเสียง ธรรมรักษาธรรม ความสงบรักษาความสงบ อย่าเพิ่งออก ผมก็สังเกตในขณะนั้นมันก็สงบอยู่”

 

คนที่ไม่ภาวนา สิ่งที่ได้ยินได้เห็นร้อยแปดพันเก้า เวลานั่งสมาธิไป โอ๋ย! เสียงมโหรีมันขับกล่อมดังไปหมดเลย เทวดามาเล่นดนตรีทิพย์ให้ฟัง ว่าไปนู่นนะ นี่มันรู้มันเห็นของมัน

 

เสียงไง เสียงมันมีได้ร้อยแปด คำว่า “เสียง” เสียงมันมีได้ร้อยแปด ถ้าเป็นอภิญญาหูทิพย์ ถ้าหูทิพย์นะ กำหนดแสง กำหนดจิตมันสงบได้ ความสว่างของจิต จิตมันสว่างออกไปได้มากน้อยแค่ใด ตกลงที่ใด สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะได้ยินหมด แม้แต่ได้ยิน นี่พูดถึงทิพย์นะ นี่พูดถึงสมาบัติ

 

แต่ถ้าเราไม่ได้หูทิพย์ เราหูหนังนี่แหละ หูเนื้อนี่แหละ แต่เวลาจิตเราสงบ เวลาจิตสงบมันได้ยินเสียง นี่เขาเรียกสภาวธรรม สภาวธรรมเพราะจิตรับรู้ อายตนะกระทบ ถ้าอายตนะกระทบนะ เสียงที่เกิดขึ้นนี่ธรรมเกิด ถ้าธรรมเกิด

 

ถ้าจิตใจของใครทำสมาธิแล้วจิตมันสงบลงมา มันรู้มันเห็นอะไร เวลาธรรมเกิด ที่หลวงปู่มั่นบอกกับสมเด็จฯ “ท่านมั่น เราอยู่กับตำรับตำรา เรายังต้องรื้อค้นตลอดเวลาเลย แล้วท่านอยู่ในป่าในเขา หนังสือไม่มีสักเล่มหนึ่ง แล้วท่านไปค้นคว้าเอาอย่างไร ท่านไปศึกษาเอากับใคร ท่านปฏิบัติได้อย่างไร”

 

โอ้โฮ! หลวงปู่มั่นท่านกราบนะ “เจ้าพระคุณ ข้าพเจ้านะ ฟังธรรมทั้งวันทั้งคืนเลย ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาเลยล่ะ”

 

เวลาธรรมมันเกิดนะ คนภาวนาไปเวลาธรรมมันเกิดนะ ถ้าคนไม่ภาวนาหรือคนไม่เชื่อนะ นักวิทยาศาสตร์กับธรรมะทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลานี่ไง นักวิทยาศาสตร์ต้องเข้าห้องแล็บ แหม! พิสูจน์ใหญ่เลย

 

แต่ถ้านักปฏิบัติล่ะ ถ้านักปฏิบัตินะ ถ้าจิตมันสงบ ถ้าคนมีหลักนะ จิตสงบ เห็น ถาม เห็นนั่นคืออะไร ถามจิตเลย เห็นจริงหรือเปล่า

 

นี่ไง นักวิทยาศาสตร์ที่เขาทดสอบกันทางห้องแล็บ แต่นักธรรมะเขาทดสอบกันที่ใจไง ทดสอบมาเลย ถ้ามันรู้มันเห็น ถามมันว่านั่นอะไร

 

ทีนี้ส่วนใหญ่พวกเรา ใครนอนฝันนะ นอนฝันหรือภาวนาไปเห็นนิมิตนะ มาแล้ว ขับรถมาจากกรุงเทพฯ เลย มาถึง “หลวงพ่อๆ อันนี้มันคืออะไร”

 

อ้าว! ก็มึงฝันเอง มึงภาวนาเอง โอ๋ย! มึงขับรถมาถามกูถึงนี่เชียว เพราะอะไร เพราะถามไม่เป็น ถามไม่เป็น ตั้งสติไม่เป็น ทำความมั่นคงของใจตัวเองไม่ถูก

 

ถ้าทำความมั่นคงของใจตัวเองถูก เห็นไหม เด็กเล็กๆ น้อยๆ เอาไปทิ้งไว้กรุงเทพฯ มันกลับมาไม่เป็นหรอก แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราเที่ยวมารอบโลก จะเอาเราไปทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ เอาไปทิ้งโลกพระจันทร์ยังกลับได้เลย จิตถ้ามันฝึกฝนดีแล้ว มันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด มันไม่ตื่นเต้นไปกับอะไรทั้งสิ้น มันเข้าใจได้ทั้งหมดนะ

 

เด็ก เอาไปทิ้งไว้กรุงเทพฯ นะ เดี๋ยวเขาไปแจ้งโรงพักว่าเด็กหาย พ่อแม่มารับด่วน เด็กมันกลับบ้านไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปรู้ไปเห็น เด็กน้อย จิตใจที่ยังไม่มีวุฒิภาวะไปรู้ไปเห็นสิ่งใดมันก็ตื่นเต้นไปกับมันนั่นน่ะ เห็นไหม มันไม่วางไง

 

ต้องรู้แล้ววาง หนึ่ง ถ้าเสียงมันเกิด เสียงอะไร ถ้าเสียงมันเกิดแล้วมีสติ เสียงก็คือเสียง เวลาบาลีขึ้นเลยนะ หลวงปู่มั่นเวลานั่ง บาลีขึ้นเลย บาลีว่าอย่างนั้นๆๆ เลย แล้วบาลีต้องแปลเป็นไทยอีก แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติเวลามันขึ้นเป็นภาษาไทย นี้พูดถึงคนที่จิตเป็นปกตินะ

 

แต่ในปัจจุบันนี้จิตของคนเราส่วนใหญ่แล้วมันบกพร่อง จิตเป็นจิตเภท จิตเภทคือจิตวิตกกังวล เอ็งไม่ต้องภาวนาเอ็งก็ได้ยินเสียงอยู่แล้ว

 

การได้ยินเสียงต้องได้ยินเสียงแบบสติสมบูรณ์ การได้ยินเสียงด้วยความเป็นปกตินะ ถ้าจิตผิดปกติมันจะได้ยินของมัน ถ้าได้ยินอย่างนั้นต้องไปหาหมอให้หมอให้ยา แล้วต้องกินยาด้วยนะ กินต่อเนื่อง เห็นไหม มันมี ถ้าความผิดปกติแล้วมันผิดปกติ มันไปรู้ไปเห็น ได้ยินอย่างนั้น ได้ยินแบบหูแว่ว ได้ยินอย่างนั้น ได้ยินอย่างนั้นต้องหยุด หยุดแล้วกลับมาพุทโธ กลับมาสร้างสติให้สมบูรณ์ พอสมบูรณ์แล้วจิตกลับมาเป็นปกติ

 

พอจิตเป็นปกติ ถ้าภาวนาไป ถ้ามันรู้เห็น เราเป็นปกติ เราเป็นผู้ใหญ่ เอากูไปทิ้งไว้ไหนก็ได้ เอากูไปปล่อยไว้ไหนก็ได้ เอากูไปปล่อยหมายความว่า จิตไปรู้ไปเห็นมันเห็นโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครสามารถจะให้ธรรมชาติบังคับให้มันเป็นขึ้นมาโดยความคาดหมาย โดยความตั้งใจของเรา มันจะเป็นขึ้นมาด้วยอำนาจวาสนา มันเป็นขึ้นมาโดยจริตนิสัย มันเป็นโดยข้อเท็จจริงของใจ

 

ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของใจ เราก็แก้เป็นเปลาะๆ สิ่งนั้นเข้ามา ถ้าแก้เป็นเปลาะสิ่งนั้นเข้ามา มันรู้มันเห็นอะไร มันไม่มีสิ่งใดน่าตื่นเต้นเลย มันเป็นสมุทัยทั้งนั้น สมุทัยคืออาการผลักและอาการดึง ตัณหา ภวตัณหาไง อยากได้ อยากได้กับไม่อยากได้ ไม่อยากได้ก็ผลัก อยากได้ก็ดึง อาการดึง อาการผลักอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วจิตเราล่ะ จิตเราติดข้องอยู่อย่างนั้นใช่ไหม

 

ฉะนั้น เสียงใดที่มันเกิดขึ้น คราวที่แล้วตอบไปก็เหมือนกับไม่ได้ตอบ ทีนี้ตอบอย่างนี้ก็หาว่าไม่ตอบอีก ไม่ตอบหมายความว่า สิ่งที่จะเป็นแบบนี้นะ จิตถ้ามันเริ่มต้นมันก็เป็นแบบที่ผู้ถามถามมาอย่างนี้แหละ คือเรารู้เราเห็นเราก็งง

 

นี่ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ “จะสอนใครได้ จะสอนใครได้ มันลึกลับซับซ้อนอย่างนี้จะไปสอนใคร สอนใคร”

 

เพราะเวลาเราคิด เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง คิดแบบโดยสมอง เราคิดโดยโลกียปัญญา โลกเขาคิดกันได้แค่นี้ คิดแบบวิทยาศาสตร์ แล้วเวลามันเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงมันเหนือโลก งง แล้วพองงขึ้นไปนะ

 

แล้วในปัจจุบันนี้มันก็มีที่ว่าจิตบกพร่อง ถ้าจิตบกพร่องอย่างนั้น อย่างนั้นบกพร่อง แล้วบกพร่องขึ้นมา พวกนี้พอปฏิบัติแล้วมันก็จะไปรู้ไปเห็น เสร็จแล้วเข้าโรงพยาบาลหมดเลย เขาบอกอย่าปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติไปเดี๋ยวบ้าทุกทีเลย ใครปฏิบัติแล้วบ้าหมดเลย

 

แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นไม่เห็นบ้า ครูบาอาจารย์เราไม่เห็นบ้า เป็นเอกบุรุษหมดเลย มันไปบ้าที่ไหนล่ะ เพราะปฏิบัติโดยสัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติโดยความถูกต้องดีงาม มันบ้าที่ไหนล่ะ

 

ถ้าปฏิบัติไป เวลาจิตมันผิดปกติแล้วก็หลงไปตามมัน อุปาทานไปตามมัน แล้วจะเอาความจริงมาจากไหนล่ะ มันก็ไม่มีความจริงน่ะสิ แต่ถ้ามีความจริง มันมีความจริงขึ้นมา ถ้าจิตมีความจริง เวลาที่มันเริ่มต้น เสียงมา เสียงที่เกิดขึ้น ธรรมรักษาธรรม ความสงบรักษาความสงบ อย่าเพิ่งออก

 

นี่ธรรมเกิด ธรรมรักษาธรรม ธรรมคืออะไรล่ะ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม รักษาอะไรล่ะ รักษาสัจธรรม รักษาสัจธรรมไง สิ่งที่ธรรมมันเกิดนะ เหตุมันเกิด รักษาสัจธรรม เห็นไหม วิบากคือผล ผลคืออะไรล่ะ ผลคือจิตเรากระทบนี่ไง ผลคือจิตเราที่เป็นสมาธินี่ไง ผลของจิตเราที่เป็นธรรมไง ถ้าไม่เอาธรรมรักษา เอาอะไรมารักษา

 

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง เห็นไหม คนถือศีล ๕ ผู้มีศีลมีธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง คนที่มีศีลธรรม มีศีล ๕ เป็นคนมีเครดิตใช่ไหม คนนี้เป็นคนไม่พูดปด คนนี้เป็นคนไม่ลักทรัพย์ คนคนนี้มีเครดิต คนคนนี้ไปที่ไหนสังคมยอมรับ เห็นไหม ธรรมะคุ้มครองเขา ธรรมะคุ้มครองคนนั้น ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะจะคุ้มครองบุคคลคนนั้น

 

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมย่อมรักษาธรรม ความสงบย่อมรักษาความสงบ นี่ธรรมเกิด สอนเรา บอกเรา ที่พุทโธจนมันตั้งอยู่ มันตั้งได้ อยู่ได้ สงบได้ นี่ธรรมรักษาธรรม เพราะสติธรรม สมาธิธรรม พุทธานุสติ

 

นี่รักษาธรรม ธรรมรักษาธรรม นั่นคือสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม รักษา พอเวลากำหนดขึ้นมาถึงที่สุดแล้วรักษาความสงบ มันตั้งได้ มันอยู่ได้ มันตั้งได้ มันอยู่ได้ มันก็เป็นสมบัติของเรา

 

แต่ถ้าเราทำให้มันชำนาญในวสี ชำนาญให้มันเข้าได้มากกว่านี้ แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันน้อมไป ฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ปัญญาย้อนกลับมาดูใจเรานี่แหละ ถ้าใจมันคิด ใจคิด เออ! แล้วใจมันคิดได้อย่างไรล่ะ แล้วมันคิดขึ้นมา ผลเป็นอย่างไร

 

คิดขึ้นมามันก็มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ มันมีของมัน มีขันธ์ ๕ มันถึงเป็นอารมณ์ได้ อารมณ์ความคิด อารมณ์นี้จับได้ จับอารมณ์ แล้วอารมณ์ประกอบไปด้วยอะไร

 

อารมณ์คือรูป รูปนี้เป็นสสาร สสารมันดีชั่ว มันรับรู้รสได้อย่างไร มันมีเวทนา อ้าว! เวทนา ทำไมรู้ว่าเวทนาล่ะ มันมีสัญญา สัญญามันจำได้ สัญญามันมาได้อย่างไรล่ะ สัญญามันมาแล้วมันก็มีสังขารปรุง สังขารปรุงมันรู้ตัวได้อย่างไร มันรู้อารมณ์ได้อย่างไรล่ะ มันก็มีวิญญาณในอารมณ์นั้น มีวิญญาณมันรับรู้ได้ มันจับได้ นี่ไง ถ้ามันจับได้ มันพิจารณาได้ มันก็จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ นี่เขาว่าอย่างนั้นนะ นี่พูดถึงถ้าทำของเรา ทำจริงได้มันจะเป็นแบบนั้น

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ธรรมรักษาธรรม ความสงบรักษาความสงบ อันนี้ธรรมเกิด ธรรมเกิดคือเรานั่งสมาธิไปแล้วสัจธรรมความจริงมันมีอยู่ มันผุดขึ้นมา

 

แต่หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ หลวงตาท่านบรรยายเยอะมาก ท่านบอกว่ากรณีอย่างนี้ คำว่า “ธรรมเกิด” มันอยู่ในบาลี อยู่ในธรรมบท มี ธรรมเกิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นกิริยาของใจมันเป็นแบบนี้

 

แต่ถ้านักปฏิบัติที่ช่ำชอง หลวงตาท่านช่ำชองมาก ท่านบอกว่ากิเลสมันเกิด เวลาความคิด หลวงตาท่านใช้คำว่า “กิเลสมันเกิด” แต่ในบาลีบอกธรรมเกิดนะ ธรรมคือสัจธรรมมันเกิด แต่ถ้าหลวงตาท่านบอกว่ากิเลสมันเกิด เกิดเพราะอะไร เพราะมันเกิดแล้วมันสงสัย เกิดแล้วมันก็วิตกกังวล ถ้าเกิดแล้วถ้าเป็นคุณงามความดี เกิดแล้วมันก็อยากได้อีก

 

จริงๆ คือธรรมเกิด แต่ธรรมมันเสวยแล้วมันก็ผ่านไป ธรรมเกิด เรารับรู้แล้วมันก็ผ่านไป สิ่งที่อยากได้อยากดีนั่นกิเลสเกิด ความช่ำชองของหลวงตาท่านแยกได้เลย ท่านแยกได้เลยว่านี่กิเลสมันเกิด แต่ในข้อเท็จจริง ในสัจธรรม ในทฤษฎีเขาเรียกว่าธรรมเกิด

 

ชื่ออันนี้ ชื่อที่การผุดขึ้นมาเขาเรียกว่าธรรมเกิด แต่ความช่ำชองของหลวงตาท่านบอกว่ากิเลสมันเกิด เพราะพอธรรมมันผ่านไปแล้ว ความอยากได้ อยากดี อยากเป็นนั่นน่ะกิเลส เห็นไหม ความช่ำชองของผู้ที่ชำนาญจะเอาสิ่งที่เป็นมาอธิบายให้เราฟังได้ แล้วพอเราเป็นขึ้นมาแล้ว เป็น

 

ฉะนั้น เราตอบปัญหาเพื่อให้ผู้ถามนี้คลายความสงสัย ให้ผู้ถามปัญหานี้ไม่ต้องเครียด เดี๋ยวบอก “แหม! หลวงพ่อ หลวงพ่อหยอกเอาเจ็บๆ”

 

เพราะว่าเราเห็นประโยชน์ไง เราเห็นประโยชน์กับนักปฏิบัติทั้งหมด สิ่งที่คนเขาไปรู้ไปเห็นมันเป็นวิทยานิพนธ์ แม้แต่ชีวิต ชีวิตคนหนึ่งเวลาปฏิบัติมาทั้งชีวิตเลย แล้วเขาเขียนตำรา นั่นน่ะวิทยานิพนธ์ของเขา นักปฏิบัติแต่ละคน พอใครเข้าไปประสบ มันก็เหมือนวิทยานิพนธ์ คือเขาพยายามจะทำ พยายามจะทำวิทยานิพนธ์ ทำได้หรือทำไม่ได้ เห็นไหม การเขียนวิทยานิพนธ์ การจะสร้างวิทยานิพนธ์ จะสร้างโครงสร้างเรื่องอะไร ฉะนั้น ในการปฏิบัติ ใครประสบสิ่งใด เราเอาสิ่งนี้มาขยายความให้คนได้ยินได้ฟัง ให้คนเป็นคติธรรม ให้คนได้ปัญญา

 

ฉะนั้น คำถามที่แล้วเราถึงได้ตอบแยกแยะ เราตอบแยกแยะแจกแจงไปหลายเรื่องหลายราว เพื่อให้คนที่เป็นนักปฏิบัติจับประเด็นได้ ถ้าใครมีปัญหาอย่างนั้น ใครกำลังประสบอย่างนั้น อ๋อ! เหมือนเราๆ ก็จบไปเลย

 

ฉะนั้น แต่พอตอบไปแล้ว ไอ้คนถามเลยต้องถามมาใหม่ไง “ความสงบใช่ธรรมไหมครับ”

 

แสดงว่าที่ถามครั้งที่แล้ว ตอบจนคนฟัง เจ้าของคำถามไม่เข้าใจ ถึงถามมาใหม่ว่า “ความสงบใช่ธรรมไหมครับ ขอถามสั้นๆ ครับ”

 

เห็นใจนะ เห็นใจเพราะการประพฤติปฏิบัตินี้แสนยาก แสนยากนะ ทำมาหากินเราว่ายากอยู่แล้ว มาบังคับตัวเองนั่งเฉยๆ นั่งนิ่งๆ โอ๋ย! ทุกข์ยากกว่าเยอะเลย แล้วพยายามจะเอาใจไว้กับตัวมันยิ่งยากเข้าไปอีก ฉะนั้น การปฏิบัตินี้แสนยาก ทีนี้แสนยากขึ้นมา เวลาเราประสบสิ่งใดขึ้นมา เราถึงได้สงสัย สงสัยแล้วมีครูบาอาจารย์ เราก็ไม่อยากจะเสียเวลาใช่ไหมถึงได้ถามมา

 

เราเห็นเป็นประโยชน์ คราวที่แล้วเราตอบแยกแยะไปหลายแง่หลายมุมจนคนถามปัญหาเขางง ถึงต้องถามมาใหม่ว่า “ความสงบใช่ธรรมไหมครับ”

 

เราบอกใช่ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เอวัง