ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บุญปัญญาอ่อน

๑๖ ก.พ. ๒๕๕๗

 

บุญปัญญาอ่อน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “การทำบุญ”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อที่ศรัทธายิ่ง หนูรบกวนถามหลวงพ่อเรื่องการทำบุญเจ้าค่ะ

 

๑. การทำบุญปกติ หนูจะทำในสิ่งที่พอใจที่อยากทำ ทำตามกำลัง แต่หนูได้เจอเพื่อนคนหนึ่งเธอบอกบุญแทบไม่พัก ทั้งการเรี่ยไรทางอินเทอร์เน็ต เจอหน้าทุกครั้งบอกบุญทุกครั้ง และตามส่งข้อความมาทางอินเทอร์เน็ตอีก หนูก็ทำค่ะ

 

แต่พอบ่อยๆ เข้าเริ่มรู้สึกว่า นั้นเป็นการเบียดเบียนหรือเปล่าเจ้าคะ บางแห่ง บุญที่บอก หนูไม่รู้จักและไม่ศรัทธา แต่เพื่อนบอกว่า ท่านสำเร็จแล้ว ทำกับพระอรหันต์นี้บุญมาก

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและภาระทางบ้านยังมี หนูสงสัยว่า การสละทรัพย์เพื่อทำบุญในโลกนี้ ทำไปได้รับแน่ๆ แต่การดำรงชีพก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ หนูควรปฏิเสธบุญได้หรือไม่ เพื่อนบางคนบอกว่าทำไปเถอะ อย่างไรก็ได้บุญ แต่หนูรู้สึกเบียดเบียนตัวเอง ทำให้ต้องประหยัดมากขึ้น และไม่ค่อยเต็มใจทำเจ้าค่ะ แต่เสียไม่ได้

 

ขอถามหลวงพ่อค่ะ การเรี่ยไรบอกบุญในอินเทอร์เน็ต ควรหรือไม่อย่างไรเจ้าคะ บางครั้งเพื่อนบอกให้หนูลงประกาศกระจายข่าวค่ะ

 

๒. หนูได้สวดมนต์ทำวัตรเป็นประจำ แต่บางครั้งเวลามีน้อย หนูแผ่อุทิศส่วนกุศลเลย ไม่ได้นั่งสมาธิ จะมีบุญแผ่ได้หรือไม่ มีผู้ใหญ่บอกว่าแผ่ไม่ได้ ขาดทุน ยังไม่ได้ภาวนา ไม่มีอะไรจะแผ่ให้ จริงไหมคะ

 

ตอบ : อันนี้เรื่องแผ่บุญกุศลหนึ่งนะ เรื่องแรกนี่เอาข้อที่ ๑ เรื่องการทำบุญ

 

เรื่องการทำบุญ การทำบุญ เราบอกว่า ถ้าเป็นบุญนะ เป็นบุญ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนไว้ก่อน สอนว่า พวกเราหาเงินมาได้ให้แบ่งเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้จ่ายใช้สอย ส่วนหนึ่งเอาไว้ลงทุน ส่วนหนึ่งเอาไว้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ส่วนที่เหลือค่อยทำบุญ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเจนมาก

 

๑. เราต้องดำรงชีวิตอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเราต้องดำรงชีวิตของเราก่อน

 

๒. เราต้องทำธุรกิจของเรา เราทำมาค้าขายของเรา เอาไว้ลงทุน

 

๓. เราแบ่งส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของเรา ดูแลพ่อแม่ของเรา เพราะพ่อแม่ของเราให้ชีวิตเรามา

 

ส่วนที่เหลือเราถึงทำบุญ

 

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่างนี้เลยนะ นี่พูดถึงการทำบุญนะ ฉะนั้น เพียงแต่ที่ว่า เวลาว่า “ตามปกติหนูก็ทำที่พอใจอยู่แล้ว”

 

ถูกต้อง เราทำที่พอใจ เราทำที่เข้าใจ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนี้ เพราะเทวดามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเลยว่า “ควรทำบุญที่ใด”

 

“ควรทำบุญที่เธอพอใจนะ”

 

ที่เธอพอใจ อย่างเช่นเราศรัทธาที่ไหน เราเข้าใจที่ไหน เราทำที่นั่น ทำที่เธอพอใจ แล้วถ้าไม่พอใจล่ะ ไม่พอใจเราไม่ทำไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เท่าทันกิเลสไง กิเลสนี้มันร้ายนัก ถ้าเราพอใจคือว่ามันพอใจ มันเปิดโอกาสให้เราได้ทำ ถ้าไม่พอใจ กิเลสมันปิด มันไม่พอใจ มันไม่พอใจก็ไม่อยากทำ

 

เธอทำที่เธอพอใจ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ปกติหนูทำบุญสิ่งที่พอใจ พอใจที่ไหนทำที่นั่น นี่ดีมากเลย ทำที่ไหน พอใจทำที่นั่น ถ้าไม่พอใจ กิเลสมันจะแย่งชิง กิเลสมันจะโต้แย้งในใจของเรา

 

ทีนี้เทวดาก็ถามต่อ แล้วถ้าเอาเหตุผลล่ะ เอาผลตอบแทนล่ะ

 

ถ้าผลตอบแทน ทำบุญเอาผลตอบแทนใช่ไหม ผลตอบแทน พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเนื้อนาบุญ ทำที่พอใจนั้นส่วนหนึ่ง เพราะพอใจ เราพอใจนี่เราไม่รู้หรอกว่าเราพอใจนี่ถูกหรือผิด เราพอใจกับพระองค์นี้ พระองค์นี้จริงหรือไม่จริง นี่ความพอใจ

 

แต่ถ้าเอาข้อเท็จจริงล่ะ ข้อเท็จจริงมันก็ตามวิทยาศาสตร์ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสี่ ทำตามข้อเท็จจริงเลย ถ้าข้อเท็จจริง ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะได้บุญมากได้บุญน้อยที่ตรงนั้น ที่ตรงนั้นนะ อันนี้โดยข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงแล้ว เราทำแล้วมันปัญญาอ่อน ถ้าปัญญาอ่อน เราก็ต้องให้เขาลากไปอย่างนี้ใช่ไหม

 

ในสมัยพุทธกาลนะ มันมีพระออกเรี่ยไรมาก พอเรี่ยไรมากปั๊บ เวลาโยมเขาเข็ดไง เขาอยู่ในชุมชนของเขา เห็นวัวผ่านมา นี่อยู่ในธรรมบทนะ ในพระไตรปิฎกเลย เห็นวัวผ่านมา วัวมันสีเหลืองๆ เหมือนพระใช่ไหม วิ่งหนีเลยล่ะ จนกลัวขนาดนั้นน่ะ กรรมฐานขี้ขอ ไอ้พวกขี้ขอ จนเขากลัวนะ

 

ในพระไตรปิฎกก็มี มีพระหรือฤๅษีจำไม่ได้ ไปอยู่ในป่านะ แล้วไปเจอพญานาค ไปเจอพวกพญานาคเขาอยากได้บุญ เขามาแผ่พังพาน กลัวมาก พอกลัวมากก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่ากลัวสิ่งนี้มาก

 

พระพุทธเจ้าจะแก้นะ บอกให้ไปที่นั่น ให้ขอ ให้ขอ

 

ขอไปหมด มันมีเครื่องประดับของเขาไง ขอ ขอทีแรก พญานาครักนะ ขอ พญานาคมาแผ่พังพานช่วยไง ขอ ไปขอสร้อยสังวาลย์ สุดท้ายขอ ขอจนพญานาคเขาให้

 

พญานาครักมากเลย เพราะจะมาแผ่พังพานให้ร่มเย็นเป็นสุข แผ่พังพาน มาคุ้มครอง ทีนี้ไอ้คนที่คุ้มครองกลัวไง กลัวก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปให้พระพุทธเจ้าแก้ พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้ไปอยู่ที่เดิมนะ ถ้าเขามาแล้วให้ขอ ได้อาหารมาก็ขอเขา ได้อะไรมาก็ขอเขา ขอไปขอมาจนขอสร้อยสังวาลย์

 

พญานาครักนะ ให้ของรักมันก็สะเทือนใจ ให้ได้ก็ให้เรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะ ไม่เอาแล้ว โอ๋ย! ขอจนสร้อยสังวาลย์ ขอของรักเท่าชีวิต พญานาคเลยบอกว่า สมณะขี้ขอ ไปแล้ว ไม่มาคุ้มครอง ไม่มาดูแล ทั้งๆ ที่รักนะ รักมาก อยากมาคุ้มครองดูแล แต่ไปขอๆๆ ขอจนพญานาค คิดดูสิ เหมือนเรารักมากเลย แต่ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราไป ความเสียใจคือการเบียดเบียนกัน การขอกัน การแย่งชิงกัน สิ่งนี้ไม่ดีเลย นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเอง มันเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องกิเลส ในเรื่องความรู้สึกของคน

 

ถ้าความรู้สึกของคนมันเป็นแบบนี้ปั๊บ สิ่งที่เราทำ ถ้าเราไม่ปัญญาอ่อน ไม่ปัญญาอ่อนตรงไหนล่ะ ไม่ปัญญาอ่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน อย่างที่ว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน กษัตริย์กุฎุมพีต่างๆ มาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายเลย พระพุทธเจ้าบอกให้พระอานนท์สั่งไว้เลย บอก “ให้บอกเขานะ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด”

 

อย่างที่เรามาทำกันนี่เรามาปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชานะ มีทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง ทำสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง แล้วเรามาฝึกอะไรกัน

 

มีทานร้อยหนพันหนนะ ถ้าเราทำสมาธิได้หนหนึ่ง มีทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง แล้วเรามาทำอะไรกัน ถ้าเราทำได้นะ เท่ากับเราเสียสละทานเป็นหมื่นๆ ครั้งเลย สิ่งที่เป็นหมื่นๆ ครั้ง

 

ทีนี้เราปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราไม่ปัญญาอ่อน เราแสวงหาบุญของเรา เราแสวงหาสัจจะความจริงของเรา เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะหาสัจจะความจริงของเราใช่ไหม ไอ้เรื่องการเสียสละนั้นมันเป็นปัญหาสังคม เป็นสังคมที่ความเป็นอยู่ของเรา ถ้าความเป็นอยู่ของเรา เราให้อภัยต่อกัน เราเสียสละต่อกัน สิ่งนั้นมันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาที่สังคมร่มเย็นเป็นสุขใช่ไหม แต่หัวใจเราล่ะ หัวใจเราล่ะ ถ้าหัวใจเรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ แล้วทำอย่างไรล่ะ

 

เรามีศีล ศีลคือความปกติของใจ คือเราบังคับตัวเราเอง เราบังคับตัวเราเองด้วยศีลของเรา ด้วยความที่เราไม่ผิดพลาดของเรา แล้วถ้าเกิดทำสมาธิได้ขึ้นมา มันเกี่ยวอะไรกับบุญข้างนอกล่ะ การทำบุญกุศล บุญกุศลอย่างที่ว่ามันเป็นบุญกุศลที่ให้เขา เขาเรียกบารมี

 

เวลาอ้างพระไตรปิฎก ต่างคนต่างอ้างมุมที่ตัวเองชอบ การที่ว่า การสร้างบารมี การบอกบุญต่อกัน เขาว่าการสร้างบารมี ไปอยู่บนสวรรค์แล้วจะได้มีพรรคพวก มีพวกเพื่อนฝูงห้อมล้อม ไม่ใช่ไปอยู่เทวดา อยู่คนเดียว ไม่มีพรรคไม่มีพวก ทำบุญคนเดียวไง อันนี้มันก็มีส่วน เทวดาที่ไปอยู่บนสวรรค์เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ว่าอย่างนี้ เราก็เลยบอกว่าจะต้องบอกบุญกันตลอดไป

 

การบอกบุญโดยความเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อน เพื่อนบอกกัน เพื่อนชักจูงกันเป็นสิ่งที่ดีก็มี แต่คำว่า นี่เขาบอกเลยนะ “โดยปกติหนูทำตามที่พอใจ ทำตามกำลัง แต่หนูไปเจอเพื่อนคนหนึ่ง เธอมักบอกบุญแทบไม่พักเลย เรี่ยไรทางอินเทอร์เน็ตด้วย เจอหน้าก็บอกบุญ ยังไลน์มา บอกให้ทำบุญอีก แล้วยังสั่งให้ตัวเองไปเข้าอินเทอร์เน็ตมาบอกคนอื่นอีก”

 

อย่างที่ว่า แม้แต่กรรมฐานขี้ขอเขาก็กลัวแล้ว แล้วเราไปบอกบุญๆ ดูสิ เราก็ต้องมีความเป็นอยู่ของเรา มันเหมือนการเบียดเบียนกัน การเบียดเบียนกันก็บอกที่พระพุทธเจ้าพูดไว้แล้ว เราแสวงหาสิ่งใดมา เราต้องใช้จ่ายของเรา คือก็ต้องดำรงชีวิตของเรา หนึ่ง เก็บไว้เพื่อประกอบธุรกิจของเรา หนึ่ง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของเรา หนึ่ง สุดท้ายที่เหลือฝังดินไว้ คือทำบุญกุศลไว้

 

เราทำบุญ เขาไม่ได้วัดกันที่จำนวนตัวเลขว่าใครมากใครน้อย เขาวัดกันที่ค่าน้ำใจ ถ้าเราทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ ของเล็กน้อยก็มีค่ามาก

 

ทางโลกเขา เราทำ เขาเจอทีไรก็บอกบุญทุกทีเลย เจอทีไรก็บอกบุญทุกทีเลย เจอทีไรก็บอกตลอดเลย ถ้าทำบุญเอาหน้ามันจะได้อะไรล่ะ

 

เพราะกรณีนี้ที่บอกทำบุญทิ้งเหว โยนทิ้งเหวไปเลย เพราะเราเสียสละไปแล้วเราไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น คนที่เขามีน้ำใจสูงนะ ดูสิ เขาช่วยเหลือเจือจานสังคม เขาไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย นั่นน่ะบุญร้อยเปอร์เซ็นต์

 

แหม! พอทำบุญแล้วประกาศชื่อแล้วประกาศชื่ออีก ต้องประกาศชื่อผมนะ เดี๋ยวผมไม่ได้ทำบุญนะ

 

อ๋อ! บุญนี่มันอยู่ที่ประกาศเนาะ อ้าว! กูประกาศเอ็งเท่าไรก็ได้ แต่เอ็งไม่มีตัวเงินเลย เอ็งได้อะไรขึ้นมา แต่โลกเขาเป็นกันแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น เราไม่ทำแบบนั้น เราไม่ปัญญาอ่อนไง เราไม่ปัญญาอ่อนของเรา

 

ถ้าเราเป็นชาวพุทธแท้ เราทำของเราด้วยความเป็นจริงของเรา เราทำของเราด้วยน้ำใจของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าทำบุญนะ ทำบุญมันมีการเสียสละ มันเป็นการแสดงออกของน้ำใจ

 

บุญในพุทธกาลนะ ในพระไตรปิฎก แม้แต่เราหลีกทางให้กัน เราให้ทางกันนี่ก็เป็นบุญ เราให้ทาง เราเดินสวนทางมา เราหลีกให้เขาซะ ให้เขาไปก่อน นี่บุญเกิดแล้ว เราไม่ต้องเสียสละอะไรเลยนะ ไม่ใช่เสียสละให้ตระหนี่นะ คือว่าบางทีเรามีความจำเป็น เราไปไม่ทัน อนุโมทนาไปกับเขาก็ได้บุญแล้ว

 

เห็นเขาทำคุณงามความดีกัน เห็นเขาทำบุญนะ อนุโมทนา เออ! ดีใจ เออ! เราขออนุโมทนาด้วย เราเห็นชอบด้วย นี่ก็บุญนะ อนุโมทนาทาน เห็นเขาทำดีแล้วเรามีความดีใจกับเขา แค่นี้ บุญแค่นี้ต้องไปเสียอะไรอีก

 

ให้อภัยต่อกันก็เป็นบุญ อภัยทาน คนนั้นทำผิดพลาด เราให้อภัยเขา แต่ให้อภัยยาก ให้อภัยทาน โอ้โฮ! มันค้างใจนะ มันติดใจ เห็นไหม เขตอภัยทาน เขาไม่เบียดเบียนกัน เขาไม่ทำร้ายกัน เขตอภัยทาน แค่นี้มันก็ได้บุญแล้ว

 

แต่ถ้าบอกบุญกันทุกทีเลย เข้าอินเทอร์เน็ตบอกเลย

 

กรณีนี้เราเห็นเป็นอย่างนี้ เพราะเราอ่านพระไตรปิฎกมา ฉะนั้น โดยที่ว่ามันจะมีคำถามมาบ่อยมากเลย หลวงพ่อ เลขบัญชีเท่าไร วัดนี้เลขบัญชีเท่าไร เลขบัญชีหลวงพ่อเท่าไร

 

โทษนะ เราบอกว่าเสือก เพราะว่าค่าใช้จ่ายในวัดนี้ เราเป็นคนจัดการเอง กูเสือกหาเรื่องใส่ตัวกูเอง กูทำขึ้นมาเอง กูต้องรักษาของกูเอง แต่ถ้าใครจะมีแค่น้ำใจต่างๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

 

โอ๋ย! จะเอาเลขบัญชีไปลงอินเทอร์เน็ตไง เขาก็ขอ มีคนขอมาเยอะมาก แต่เราเห็นถึงกรณีอย่างนี้ กรณีที่ว่าคนมองในแง่ดี เขาก็มองในแง่ดี คนมองในแง่ลบ เขาก็มองในแง่ลบ

 

ฉะนั้น เราเป็นศากยบุตร เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพยายามทำตามเนื้อผ้า ทำดีที่สุด แต่สิ่งใดถ้ามันเป็นการเปิดทางให้เขาติเตียนก็ได้ ถ้าคนที่เขามีน้ำใจเขาก็ เออ! หลวงพ่อมีภาระเนาะ ช่วยหลวงพ่อหน่อยๆ

 

แล้วไอ้คนที่บอกว่า ก็หลวงพ่อหาเรื่องเอง แล้วมันจะกวนกูทำไมล่ะ

 

เวลาเขาไปบอกบุญใช่ไหม พอไปบอกบุญ เขาบอกว่า นี่ไง หลวงพ่อทำอย่างนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายนะ

 

เขาจะถามว่า หลวงพ่อเอ็งเวลาว่างมากเกินไปใช่ไหม หลวงพ่อมึงไม่มีเรื่องทำใช่ไหมถึงทำให้มันเดือดร้อน แล้วก็มาเดือดร้อนกูด้วย

 

นี่ไปเรี่ยไรเขาไง เราถึงไม่ให้ มีคนขอมาเยอะมาก ขอเลขบัญชี

 

ไม่ให้ ไม่ให้

 

แล้วเวลาโยมมาวัด พอใครมา “มาทำไม”

 

“มาทำบุญ”

 

ถ้าเขามีเจตนา เขาอยากของเขา เจตนาของเขาพอใจของเขา ไอ้นี่มันเป็นทรัพย์ของเขา เราไม่สามารถปิดกั้นทรัพย์ของเขาได้ อริยทรัพย์ ฉะนั้น ใครทำก็เชิญตามสบาย แต่ไม่ต้องให้มาเบียดเบียนกัน

 

โยมนะ อุตส่าห์มาจากบ้าน ค่าน้ำมันรถมันก็เหลือเฟือแล้ว แล้วสิ่งที่มีค่าที่สุดคือน้ำใจของโยม เพราะโยมต้องตั้งใจนะ พรุ่งนี้ไปหาหลวงพ่อเว้ย ต้องเตรียมตัวแล้ว ต้องมีเวลา ต้องเสียเวลาทำงานไป

 

แค่คิดจะมานะ มันมีค่าแล้ว คิดว่าจะไปทำบุญ เจตนาอันนั้นมีค่าแล้ว แล้วมาอีก แล้วมาแล้วต้องเอาเศษกระดาษมาถวายหลวงพ่ออีก เศษกระดาษนี้มันหายาก ฉะนั้นบอก ไม่ไปดีกว่า เพราะไม่มีเศษกระดาษ

 

ไม่ต้อง

 

น้ำใจ น้ำใจ คิดว่าจะมา เห็นไหม เพราะโยมจะมาเอง ปุ๊บปั๊บมาได้ไหม นัดกันตั้งแต่เมื่อวาน แล้วกว่าจะมา ค่าน้ำใจอันนี้สำคัญ นี่ตัวบุญ บุญอยู่ตรงนั้น

 

บุญไม่ใช่เบียดเบียนกัน เจอหน้าทุกครั้งบอกทุกครั้งเลย แล้วบอกยังไม่พออีก ยังบอกทางอินเทอร์เน็ตอีก แล้วพอบอกทางอินเทอร์เน็ตแล้วยังให้ตัวเองบอกต่ออีก นี่มันแชร์ลูกโซ่แล้ว มึงจะทำแชร์ลูกโซ่หรือ มันเดือดร้อนไง

 

ไม่เบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้าพูดถึงเวลาคนที่เข้มแข็งนะ เวลาเรานั่งสมาธิ เราเบียดเบียนตนไหม ไม่เบียดเบียนตนทำไมมันเจ็บขาล่ะ ถ้าการเบียดเบียนอย่างนี้ ถึงเวลาไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราก็เอาธรรมข้อนี้มาใช้กับเวลาปฏิบัติด้วยไม่ได้ เวลาปฏิบัติต้องมุมานะ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันอีกเรื่องหนึ่งนะ

 

การเบียดเบียนก็เป็นเรื่องหนึ่งใช่ไหม เราไม่เบียดเบียนตนคือไม่เบียดเบียนทำให้เราเดือดร้อน แต่ขณะที่เราจะภาวนา กิเลสมันต่อต้าน มันไม่พอใจทั้งนั้นเลย ถ้าไม่พอใจทั้งนั้น อันนี้บอกว่า มันเป็นการเบียดเบียนตนนะ การปฏิบัติต้องไม่ให้ทุกข์นะ จะนอนห้องแอร์เลยนะ แล้วจะได้บรรลุเข้าสมาธิได้ แล้ว อู้ฮู! จะนอนบนฟูก ๕ ชั้นเลย แล้วก็จะบอกว่า อู้ฮู! บรรลุธรรมได้ มันก็ไม่มี เห็นไหม

 

มันต้องมีความเพียรชอบ ความวิริยะ ความอุตสาหะ อันนี้ไม่ใช่เบียดเบียนตน การเบียดเบียนตนคือทำให้ลำบากเปล่าโดยที่ไม่ได้ประโยชน์ตอบแทน แต่การมุมานะ ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ มันเป็นมรรค เป็นมรรค มีมรรคแล้วมีผล ถ้ามีผลมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา อันนี้ไม่ใช่เบียดเบียนตน

 

การเบียดเบียนตน เบียดเบียนตนคือทำให้เราลำบากโดยที่ไม่ได้ผลตอบแทนสมค่าของมัน แต่การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การเบียดเบียนตนคือการเบียดเบียนกิเลส ในตนมีกิเลส เบียดเบียนกิเลสให้มันผ่อนคลายออกไป เหลือแต่คุณงามความดี เหลือแต่สัจธรรม เหลือสิ่งที่เป็นคุณธรรมของเรา เราทำอย่างนี้เพื่อประโยชน์กับเรา มรรคหยาบ มรรคละเอียดไง

 

เราบอกว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คนถามว่า “หลวงพ่อ มรรคนี้ไปฆ่ามันอย่างไร เอาปืนยิงมันเลยหรือ”

 

มรรคหยาบคือเหมือนกับว่า เรากำสิ่งใดอยู่ นี่มรรคหยาบๆ ถ้ามันฆ่ามรรคละเอียดคือว่ามันจะไปหยิบฉวยเอาสิ่งละเอียดลึกซึ้งไม่ได้ แต่ถ้าเราคายความหยาบนั้นออกไป มันจะเกิดมรรคละเอียด

 

นี่ก็เหมือนกัน ความคิด ความคิดที่ว่าเราเบียดเบียนตนๆ เราทำอะไรไม่ได้เลย มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่เป็นทางสายกลาง ทางสายกลางก็ซ้ายกับขวา แล้วก็ไม้บรรทัดวัดเลย เอาตรงกลาง...ไอ้นั่นมันแบ่งเอาเอง คิดเอาเอง สายกลางคิดเอาเองไง

 

แต่ถ้าสายกลางในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความพอดี ความพอดีของเด็ก ความพอดีของผู้ใหญ่ ความพอดีของผู้เฒ่า เวลาผู้เฒ่าเข้ามา ไม่ต้องนั่งๆ ยืนก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะว่าเข่าเขาเสื่อม เห็นไหม ความพอดีของผู้เฒ่า ผู้เฒ่าผู้แก่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความพอดีมันก็มีหยาบมีละเอียดขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

 

ถ้ามันคิดเป็น ไม่ใช่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบเป็นความดี ถ้าละเอียดขึ้นไปก็ต้องทิ้งมรรคหยาบ ถ้าไม่ทิ้งมรรคหยาบมันจะเกิดละเอียดได้อย่างไร เห็นไหม การฆ่าคือมันเกิดขึ้นไม่ได้ไง เราไปติดในความคิดที่เป็นโลก ความคิดนี้มันจะไม่พัฒนาเป็นธรรมขึ้นมาได้ ถ้าเราทิ้งทางโลก มันก็เป็นธรรมขึ้นมาได้ ไปทางนั้นมันก็ละเอียดขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

 

ฉะนั้น สิ่งที่คำถาม บุญปัญญาอ่อนก็เป็นแบบนี้ ชาวพุทธปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อน เราเห็นแต่เรื่องอย่างนั้น ทีนี้ทางโลกเขาคิดกันอย่างนั้น ทางโลกเขาพยายามพัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงศีลธรรมเพื่อการปกครองจะได้ปกครองได้ง่าย อันนี้ก็เห็นด้วย ถ้าเข้าวัดเข้าวาก็เข้าวัดเข้าวาไปเพื่อบุญกุศลของเขา แต่ไม่ใช่เข้าวัดเข้าวาแล้วไปเจอเพื่อน เพื่อนมันไถแหลกเลย แล้วไปทำบุญ ทำบุญใหญ่เลย บุญอะไร บุญที่ไหน

 

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เวลาจะทำบุญ เราทำบุญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ พอจิตเราสงบเข้าไปเป็นอัปปนาสมาธิ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเลยล่ะ

 

เวลาเขาทำบุญกัน เขาไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าบอกไว้เอง พระอานนท์ถามว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะระลึกถึง ให้ไปที่ไหน

 

ให้ไปที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเกิด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน

 

แต่ถ้าเราพุทโธๆ เราจะเฝ้าพระพุทธเจ้ากลางหัวใจเราเลยล่ะ พระพุทธเจ้าที่มีชีวิตด้วย พระพุทธเจ้า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะได้เฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลางหัวอกเลย พุทโธๆ เห็นไหม เราปฏิบัติ เราภาวนา

 

ถ้าเราไม่ปัญญาอ่อนซะ ไม่มีใครจะมาตักตวงผลประโยชน์กับเราได้ เราทำบุญเราก็ทำบุญของเรา เราทำบุญของเรา บุญ ถ้าพูดถึงเวลาพูดปั๊บ มันจะบอก “โอ้โฮ! หลวงพ่อนี่สุดยอดเลยเนาะ ต่อไปนี้พวกผมจะไม่ทำบุญเลย พวกผมจะไม่ยอมเสียรู้ใครเลย โอ้โฮ! หลวงพ่อสุดยอดเลย” เห็นไหม นี่ดูกิเลสสิ เวลากิเลสมันอ้าง “ต่อไปนี้ผมจะไม่เสียรู้ใครเลย กูจะไม่ให้ใครเลย อยู่ในกระเป๋ากูนี่ กูไม่เปิดให้ใครเลย กูไม่เสียรู้ใครอีกแล้วเพราะหลวงพ่อสอน” นี่ไม่พอดี

 

มัชฌิมาปฏิปทาคือความพอดี พอดีถึงสถานะของเรา เราหาได้มากได้น้อย จิตใจเรามันหยาบละเอียด ถ้าหยาบๆ มันก็จะว่า “หลวงพ่อพูดถูกต้อง พูดถูกใจผมมากเลย ไม่ให้ใครเลย ถูกต้องเลย”

 

ถ้าจิตใจมันละเอียดขึ้นมา อืม! สิ่งนี้หามาแล้วเราก็ใช้สอยเพื่อผลประโยชน์ในปัจจุบัน แล้วประโยชน์อนาคตล่ะ ประโยชน์กับใจของเราล่ะ นี่ถ้าคนมันคิดได้ มันพอดีของมัน มันก็สละของมันได้ ถ้าสละ สละเพื่ออนาคตของเรา

 

อนาคตหมายถึงว่า กลิ่นของศีล กลิ่นของคุณงามความดี เราไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เราเป็นคนที่เห็นแก่น้ำใจคน ก็ไม่ให้คนหลอกด้วย แล้วก็เห็นน้ำใจคนด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ให้ใครเขาหลอกก็ได้ ใครชักจูงก็ได้ ไม่ใช่ แต่เราก็ไม่หวงแหนจนว่าไม่ให้ใคร

 

เราพร้อมที่จะให้ แต่ให้ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อ้าว! ไม่ปัญญาอ่อนไง ไม่ใช่ชาวพุทธปัญญาอ่อนไง ถ้าชาวพุทธปัญญาอ่อนมันก็ปัญญาอ่อนไปหมดน่ะสิ

 

แต่ชาวพุทธมีปัญญา ระดับของทาน ปัญญาก็มี ถ้าไม่มีปัญญาจะทำสมาธิได้อย่างไร ถ้าทำสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร มันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปไง

 

คำถามถามอย่างนี้ใช่ไหม เขาบอก “เศรษฐกิจทางบ้านก็มีอยู่ หนูก็สงสัยว่าการเสียสละทรัพย์เป็นการทำบุญในโลกนี้ ทำไปได้รับแน่ๆ แต่การดำรงชีพก็ต้องมีความจำเป็นอยู่ หนูควรปฏิเสธบุญได้หรือไม่”

 

ได้ ได้ ใครมาพูดบอกว่า “ทำบุญไม่มีจะกิน จะทำอย่างไรล่ะ จะกินยังไม่มีเลย เอาอะไรทำล่ะ”

 

ทำไมจะไม่ได้ เพราะเขาบอกว่าบุญนี้ห้ามโต้แย้งหรือ เราปฏิเสธได้ไหม ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราอยากทำ เราทำของเราเอง ไม่จำเป็นจะต้องให้ใครมาชักนำ

 

คนจะเป็นจะตายอยู่แล้วจะทำบุญอะไรอีก คนที่ทำบุญเขาต้องพอของเขาแล้ว เขาพอของเขา เขาอยู่ของเขาได้แล้ว เขาจะทำบุญของเขา

 

พระ เวลาพระที่รับมาแล้วมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ล่ะ ถ้าเป็นประโยชน์ ดูสิ สอนคนนู้นคนนี้เสียสละหมดเลย แล้วมึงเสียสละบ้างหรือเปล่า ให้ทุกคนทำบุญหมดเลย แต่กูไม่ทำอะไรเลย กูเก็บไว้คนเดียว

 

ไม่มีทาง ดูหลวงตาท่านพูด เข้าเท่าไร ออกมากกว่านั้น แต่เวลาออกไม่มีใครรู้ไง เพราะว่าคนที่ฉลาดนะ คนที่มีฐานะเขาทำบุญ เขาแอบทำ เขาไม่อยากให้ใครรู้เพราะอะไร เพราะเขาทำแล้ว ถ้าสมมุติเรา เราบอกเลยนะ เราทำบุญครั้งนี้ร้อยล้าน ถ้าเรามีโทรศัพท์นะ พรุ่งนี้โทรศัพท์เราไม่ว่างเลย มันขอกันใหญ่เลย ทุกคนเขาขอกันอย่างนั้น

 

มีมาก เราอยู่ในวงการพระ เรารู้ คนที่เขามีสถานะเวลาเขาทำ เขาทำใต้ดิน เขาทำไม่ให้ใครรู้ เพราะว่าถ้ากระจายออกไปนั้นมันเป็นอันตราย อันตรายหมายความว่าคนจะไปกวนเขามาก

 

แต่ถ้าคนที่สถานะสังคมยังต้องการการเชิดชู เขาพยายามประกาศแล้วประกาศอีก แต่คนที่เขาเป็นธรรมเขาไม่ยอมประกาศ แล้วเขาไม่ให้ใครรู้ด้วย เวลาเขาทำ เขาทำของเขาโดยส่วนตัวของเขา

 

ฉะนั้นว่า “หนูควรปฏิเสธได้ไหม”

 

ถ้ามันเป็นภาระกับเราทางเศรษฐกิจ ทำไมเราปฏิเสธไม่ได้ แต่เพราะนี่สถานะสังคม พอเราปฏิเสธปั๊บ เขาจะถอนความเป็นพุทธของเราทิ้งเลยใช่ไหม ถ้าเราปฏิเสธปั๊บ เขาบอกคนนี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แล้วอายใช่ไหม กลัวเขาบอกว่าเราจะไม่ใช่พระพุทธศาสนา เราไม่ใช่ชาวพุทธ พอบอกทำบุญกับเรา เราไม่กล้าปฏิเสธ เลยทำให้เราไม่เป็นชาวพุทธเลยหรือ

 

เราเป็นชาวพุทธโดยเนื้อแท้ ไม่ใช่เป็นชาวพุทธด้วยปัญญาอ่อน เวลาเขาเอาอะไรอ้าง เอานรกสวรรค์มาอ้างก็กลัวจนตัวสั่น แต่เวลาทำความชั่วในใจไม่เคยคิดว่าเป็นนรกสวรรค์เลย เขาเอานรกสวรรค์มาอ้างน่ะ

 

เราทำดี เราทำของเราอย่างนี้ มันจะไปตกนรกที่ไหนวะ กูไม่ได้ปล้นไม่ได้จี้ใครมา มันจะติดคุกได้อย่างไรวะ เออ! กูไปจี้ไปปล้นใครมาสิเว้ย เขาไม่บอกกูก็รู้ อู๋ย! กูปล้นเขามาเว้ย ไม่มีใครบอก กูก็ทุกข์ถ้ากูทำน่ะ ถ้ากูไม่ทำ ใครจะเอากูไปไหน

 

ปฏิเสธได้ ปฏิเสธเลย เรื่องอย่างนี้มันปฏิเสธได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะอย่างนี้มันเป็นการแบบว่า จะบอกว่าทำนาบนหลังคน ขูดรีดเอากับชาวพุทธหรือ มึงไปขูดรีดเอากับชาวพุทธใช่ไหม ถ้าชาวพุทธต้องหามาส่งกูถึงจะเป็นชาวพุทธอย่างนั้นหรือ

 

ไม่ใช่ ปฏิเสธเลย ไม่ผิดกฎหมาย ปฏิเสธแล้วไม่มีตำรวจจับ ตำรวจที่ไหนจะมาจับ ไอ้คนที่ไม่ทำบุญ จับติดคุก ๕ ปี กูอยากดูนัก ปฏิเสธแล้วจับติดคุก ไม่มี แต่เพราะเราใจอ่อนแอกันเอง เราไม่กล้าปฏิเสธ ถ้าเราไม่กล้าปฏิเสธ เราจะเป็นเหยื่อเขาตลอดไป

 

ถ้าเรากล้าปฏิเสธแล้วนะ แล้วไม่ใช่ปฏิเสธโดยที่ไม่มีปัญญา ปฏิเสธบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติบูชา ฉันปฏิบัติบูชาทุกคืนเลย ฉันนั่งพุทโธทุกคืนเลย ทำไมฉันต้องทำบุญกับคุณ ตอบมันไปเลย เราละเอียดกว่ามันอีก พระพุทธเจ้าบอกให้ปฏิบัติบูชา เราก็ได้ปฏิบัติบูชาแล้ว

 

“ความรู้สึกเบียดเบียนตนเอง ต้องให้มากกว่านั้น แต่ไม่ค่อยเต็มใจเจ้าค่ะ” เขาถามว่า “หลวงพ่อ เรี่ยไรทางอินเทอร์เน็ตควรหรือไม่ควรเจ้าคะ บางครั้งให้หนูประกาศทางอินเทอร์เน็ตด้วย”

 

คือเขาทำแล้วเขาเป็นแชร์ลูกโซ่ เขาจะให้เราทำด้วย เราไม่ต้องไปทำกับเขา เราทำบุญด้วยความพอใจของเรา แล้วเราศึกษาของเรา ความซื่อตรงของเรา ประโยชน์ของเรา เราไม่ต้องเป็นเหยื่อของเขาจนมากเกินไปนัก นี่ข้อที่ ๑

 

ข้อที่ ๒ นะ “หนูได้สวดมนต์ทำวัตรเป็นประจำ บางครั้งเวลามีน้อย หนูแผ่อุทิศส่วนกุศลเลย ไม่ได้นั่งสมาธิ จะมีบุญแผ่หรือไม่ มีผู้ใหญ่บอกว่าแผ่ไม่ได้ มันขาดทุน เพราะยังไม่ได้ภาวนา”

 

ไอ้การแผ่ ไม่มีอะไรขาดทุนหรอก สมมุติว่า มีคนมาถามบ่อย ตักบาตรแล้ว ทำบุญแล้ว ยังไม่ได้กรวดน้ำ ลืมไป ๒ วัน ๓ วัน มากรวดน้ำ จะผิดไหม

 

ไม่ผิด การอุทิศส่วนกุศลอุทิศได้ตลอดเวลา ทีนี้การอุทิศส่วนกุศลอุทิศได้ตลอดเวลา อภัยทานก็คืออุทิศส่วนกุศลนี่แหละ ให้อภัยเป็นทานคือการอุทิศส่วนกุศล ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราสวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วแผ่ส่วนกุศลตลอด

 

“แต่บางทีเวลาน้อยก็แผ่ส่วนกุศล มีผู้ใหญ่บอกว่าไม่ได้ จะขาดทุน”

 

ความระลึกถึงกันนี่สำคัญมากนะ ค่าน้ำใจสำคัญมาก เราระลึกถึงกัน ความระลึกถึงกันมันขาดทุนตรงไหน แต่ถ้าบอกว่า เวลานั่งสมาธิไปแล้ว สมาธิที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แล้วแผ่ส่วนกุศลไป ผลที่ได้มันมากมาย แต่ถ้าจิตใจของเรายังไม่มีหลักมีฐาน เราอุทิศออกไป ผลมันน้อย ไอ้นี่ผลน้อยผลมากมันเป็นอย่างนั้น แล้วขาดทุน เอาอะไรมาขาดทุน

 

สิ่งระลึกที่ดี อุทิศส่วนกุศล แผ่ส่วนกุศลให้คนอื่น แผ่ส่วนกุศลให้คนอื่นคือระลึกถึงความดีไง เป็นห่วงเป็นใย คิดถึง อันนี้ผิดไหม มันผิดตรงไหน แล้วมันขาดทุนตรงไหน มันไม่ขาดทุน

 

แต่เวลาบอกว่ามันทำไม่ได้ มันทำได้ มันเหมือนว่า ถ้าจิตใจเราไม่เป็นสมาธิ เราอ้างบ่อยมากนะ อยู่ในประวัติหลวงปู่จวน ท่านธุดงค์ไปที่ภูเกล้า อยู่ขอนแก่น แล้วท่านนั่งสมาธิไป กลิ่นมันจะมาก่อน พอกลิ่นมาก่อนปั๊บ มันจะมีเปรต เปรตเป็นผู้หญิง ๒ คนจะมากราบท่าน ท่านก็สงสาร ท่านก็แผ่เมตตา

 

ท่านถามว่า เปรต ๒ คนนั้นเขามาร้องเรียนบอกว่าทุกข์ยากมาก ขอให้หลวงปู่ช่วยแผ่เมตตา ช่วยอุทิศส่วนกุศลให้บ้าง เพราะทุกข์ยากมาก หลวงปู่จวนก็ถามในสมาธิ ถามที่ในนั้นว่าทำอะไรมาล่ะถึงเป็นแบบนี้

 

ที่ไม่อยากพูดก็ตรงนี้ สาวไหมไง ต้มไหม ทำมาเยอะ พอตายไปก็ไปเกิดอย่างนั้น พอเกิดอย่างนั้น หลวงปู่จวนท่านก็อุทิศส่วนกุศลให้ เพราะจิตของท่าน ท่านเป็นพระอริยบุคคล จิตของท่าน ท่านภาวนาของท่าน จิตใจของท่านสูงส่งมาก ท่านแผ่ส่วนกุศลให้

 

พอแผ่ส่วนกุศลให้ ท่านก็ภาวนาต่อวันรุ่งขึ้น ภาวนาต่อกลางคืน กลางคืน กลิ่นหอมมาก่อนเลย แล้วก็มีเทวดาเป็นผู้หญิง เขาเรียกว่าเทพธิดา เทพธิดา ๒ คนเข้ามากราบท่าน แล้วก็มาถามหลวงปู่จวนว่า “ท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์จำหนูได้ไหมคะ”

 

หลวงปู่จวนถามว่า “เอ็งเป็นใครล่ะ”

 

“ก็ที่เมื่อวานที่มากราบท่านอาจารย์น่ะ”

 

ตอนมาเป็นเปรต ๒ คนมากราบท่าน แล้วท่านอุทิศส่วนกุศลให้ จากเปรตเกิดเป็นเทวดามากราบหลวงปู่จวน

 

“ท่านอาจารย์จำหนูได้ไหมคะ ท่านอาจารย์จำหนูได้ไหมคะ”

 

“เอ็งเป็นใครล่ะ”

 

“ก็เมื่อวานที่มากราบท่านอาจารย์น่ะ”

 

ในประวัติหลวงปู่จวน ไปอ่านได้ ที่ภูเกล้า ขอนแก่น หลวงปู่จวนอุทิศส่วนกุศล ถ้าพูดถึงจิตใจของคนที่มีคุณธรรมมันสูงส่งขนาดนี้ เหมือนกับหลวงปู่มั่นอยู่ที่เชียงใหม่ สามเณรน้อยกับแม่ชีสร้างเจดีย์ สร้างเจดีย์แล้วสร้างไม่เสร็จ ตายก่อน ความผูกพัน มาเกิดเป็นเปรตเฝ้าอยู่นั่นน่ะ

 

หลวงปู่มั่นธุดงค์ไปที่นั่น ไปเจอที่นั่น กลางคืนก็มาเดินรอบเจดีย์อยู่นั่นน่ะ ท่านก็นั่งภาวนา ก็ถาม คุยกันไง ถามว่าทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ

 

สร้างเจดีย์ อยากได้บุญกุศลมาก แต่มันยังไม่เสร็จ ตายเสียก่อน พอตายแล้ว ด้วยความผูกพันก็มาเกิดเป็นเปรตเฝ้าอยู่ที่นั่นน่ะ

 

กลางคืนมาก็เดินอยู่นั่นน่ะ หลวงปู่มั่นเทศน์บอกว่า “ความดีก็ได้ทำแล้ว สร้างกุศลก็ได้สร้างแล้ว แต่ด้วยวิบากกรรม มันทำยังไม่สำเร็จ เสียชีวิตเสียก่อน สิ่งที่ทำแล้วมันก็เป็นบุญกุศลแล้ว ทำไมมาติดพันมัน ทำไมมาผูกพันอยู่อย่างนี้ล่ะ สิ่งที่ทำแล้ว เราก็ทำแล้วไป สิ่งที่ทำไม่เสร็จก็ทิ้งไว้นี่ อย่าไปผูกพันกับมัน”

 

พอตัดใจได้ ตัดใจความผูกพันอันนั้นได้ ไปเลย บุญมันมีอยู่แล้วไง แต่เพราะเราไปผูกพันไง ความผูกพันของเรา นี่พูดถึงถ้าอุทิศส่วนกุศลแผ่เมตตาอย่างนี้ เพราะครูบาอาจารย์ท่านทำแบบนี้ ท่านทำได้ของท่านอย่างนี้ มันก็เป็นบุญกุศลไง

 

แต่ของเรา เราสวดมนต์ เราทำประจำวัน แต่ผู้ใหญ่บอกว่าแผ่ไม่ได้ มันขาดทุน มันยังไม่นั่งภาวนา

 

อันนั้นก็จริง จริงแบบนี้ จริงแบบว่า ถ้าเราทำแล้ว ทำได้แบบหลวงปู่มั่น ทำได้แบบหลวงปู่จวน โอ๋ย! เอ็งก็เก่งน่ะสิ แต่เราทำไม่ได้ขนาดนั้นใช่ไหม เราทำไม่ได้ขนาดนั้นมันก็ไม่เสียหาย

 

แต่บอกว่า โอ๋ย! ถ้าอุทิศส่วนกุศลแล้วจะแผ่อุทิศส่วนกุศลพวกเปรตพวกผีขึ้นเป็นเทวดาหมดเลย โอ้โฮ! สุดยอด เก่งมาก แต่เราก็ทำไม่ได้อย่างนั้น ถ้าทำไม่ได้ก็บอกขาดทุน

 

เรายังไม่มีทุนจะขาด เราไม่มีทุน เราก็เลยไม่ขาด ไอ้คนที่เขามีแล้วเขาขาดทุนนั่นเรื่องของเขา แต่เรายังไม่มีทุน เราไม่ขาดหรอก เราแผ่ส่วนกุศล เราว่ามันไม่ผิด นี่ผู้ใหญ่บอกว่า

 

กรณีอย่างนี้กรณีการศึกษาทางทฤษฎี พอศึกษาแล้วเราก็มาตีความกัน ฉะนั้น คนที่มีความสามารถอย่างเช่นหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่จวนท่านทำของท่านได้ เพราะท่านมีคุณธรรมจริงในหัวใจของท่าน ท่านก็ทำของท่านด้วยสมเป้าหมายของท่าน

 

ของเรา เรายังล้มลุกคลุกคลานอยู่ เรายังเริ่มพยายามของเราอยู่ เราก็อุทิศของเรา เขาว่าผิด เขาว่ามันขาดทุนนั่นก็เรื่องของเขา เขาว่า เขาว่า มันจะจริงไม่จริง ไม่รู้ แต่เราทำความดีของเรา เราไม่ประมาท เราอุทิศของเรา

 

เรามีน้ำใจ เรามีน้ำใจกับเจ้ากรรมนายเวร เรามีน้ำใจกับทุกๆ คน เรามีน้ำใจกับเขา คนมีน้ำใจนะ เรามองหน้ากันเราก็อบอุ่นนะ คนอาฆาตกันมันจะกิน โอ้โฮ! เจอนี่ตาเขียวเลย อย่างนี้ไม่ไหว คนมีน้ำใจต่อกัน แล้วเรามีน้ำใจ เราฝึก เราเป็นชาวพุทธ เขาบอกขาดทุน เราบอกว่าไม่มีทุนจะขาด เราไม่มีทุนจะขาด เราทำของเราไป

 

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา สังคมคิดกันอย่างนี้ เราจะบอกว่า ถ้าบุญปัญญาอ่อนมันก็เป็นแบบนี้ ถ้าสังคมปัญญาอ่อนก็เป็นเหยื่อของเขา ถ้าสังคมปัญญาอ่อน เราจะเป็นเหยื่อของเขา เราต้องฝึกฝน เราพยายามปฏิบัติของเรา อันนี้เป็นจริตนิสัย วัวใครเข้าคอกมัน จริตนิสัยของใครก็เป็นแบบนั้น เราฝึกของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

 

ถาม : ขอนมัสการพระคุณเจ้า ดิฉันอยากทราบถึงสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อ ๖ เกี่ยวกับการห้ามรับประทานอาหารเที่ยงวันค่ะ

 

ตอบ : อันนี้เป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

 

ศีล ๕ ยังกินข้าวเย็นได้ แต่ศีล ๘ เพราะศีล ๘ เป็นนักพรต ศีล ๘ อยากจะประพฤติปฏิบัติ ศีลคือพื้นฐานไง อย่างเช่นเราอยากได้เงิน มีทองคำกองนี้ ๕ บาท ทองคำกองนี้ ๘ บาท ทองคำกองนี้ ๑๐ บาท ทองคำกองนี้ ๒๒๗ บาท ให้ทุกคนเลือกเอาทองคำกองไหน

 

ทุกคนเลือกเอาทองคำ ๕ บาทไหม ไม่เลย ทุกคนจะเลือก ๒๒๗ เพราะมันน้ำหนักตั้ง ๒๒๗ บาท แต่เวลาศีล ศีลจะเอาศีล ๕ เอาน้อยๆ แต่ไม่เอาศีล ๒๒๗ เอาแค่ศีล ๕

 

ทีนี้ทองคำ ๕ บาท ทองคำ ๘ บาท ทองคำ ๑๐ บาท ทองคำ ๒๒๗ บาท ศีล ๕ ยังกินข้าวเย็นได้ ศีล ๘ วิกาลโภชนะ เว้นวิกาล วิกาลคือเว้นตั้งแต่เที่ยงวันไป ถ้าเว้นตั้งแต่เที่ยงวันไป นี่บัญญัติขึ้นมาตรงนี้ไง

 

เพราะเวลาคนที่ปฏิบัติจะรู้ คนที่มาปฏิบัติโดยทางสังคมเขาจะบอกว่า “หลวงพ่อ พุทโธแล้วไม่ได้ พุทโธไม่ลงเลย เวลาพุทโธนี่สัปหงกโงกง่วงเลย”

 

เราบอกว่า เอ็งผ่อนข้าวเย็นสิ เพราะทางการแพทย์ เวลากินข้าวเข้าไปแล้ว ๘ ชั่วโมงกว่ามันจะย่อย กินข้าวเย็น เสร็จแล้วพอหัวค่ำก็พุทโธๆๆ ไอ้น้ำย่อยมันก็บดใหญ่เลย ไอ้นี่ก็พุทโธๆๆ แล้วก็นั่งหลับ

 

แต่ถ้าไม่กินข้าวเย็นนะ เราก็กินน้ำ เรากินน้ำกินต่างๆ ทดแทนไปก่อน ฝึกมันไง พอฝึกแล้ว เวลาเราพุทโธ กระเพาะมันไม่ย่อย กระเพาะมันไม่มีอาหารจะย่อย เพราะอาหารมันตั้งแต่กลางวันมามันเหลือน้อยแล้ว แต่ถ้าเรากินอาหาร นี่ทางวิทยาศาสตร์ไง เอามาเทียบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว

 

ฉะนั้น ศีล ๕ คือประชาชนทั่วไป ศีล ๘ คือผู้ที่เริ่มจะปฏิบัติแล้ว ฉะนั้น เวลาศีล ๘ ผู้ที่เริ่มจะปฏิบัติแล้ว พระพุทธเจ้าท่านวางหลักเอาไว้โดยที่เราไม่รู้เรื่องกันเลยนะ

 

ถ้าไม่กินข้าวเย็น หิวไหม ทางโลก หิว อู๋ย! หิวข้าวมาก หิวข้าวมาก แต่อยากได้สมาธิไหม อยากได้ ถ้าอยากได้นะ ความหิวมันไม่ตายหรอก ความหิวเพราะเป็นอุปาทาน ความหิวเพราะมันเป็นความเคยชิน พระฉันมื้อเดียวไม่เห็นหิวเลย ถึงหิวก็ไม่บอก หิวไหม หิว หิวก็ช่างมัน แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญา มันจะเอาสิ่งที่ละเอียดกว่านั้นน่ะ มันได้ประโยชน์กว่านั้น เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ บัญญัติไว้กับพวกเรา แต่เรารู้ไม่รู้ไง

 

ทีนี้คนที่ไม่รู้ก็ “อ้าว! ทำไมต้องไม่กินข้าวเย็นด้วยล่ะ แล้วห้ามทำไมล่ะ เออ! ถ้าหลังเที่ยงทำไมห้ามกินข้าวล่ะ แล้วคนทำงานมันเหนื่อยนะ มันต้องกินนะ”

 

มันก็มีปัญญาไปเลย นี่เขาถามว่าทำไมพระพุทธเจ้าห้าม ห้ามด้วยศีล

 

พระพุทธเจ้านะ อนาคตังสญาณรู้ไปหมด แล้วรู้ไปหมดสอนคนไม่รู้ สอนพวกเรามืดบอด ถ้าบอกทุกอย่างมันก็จะสงสัยไปตลอดเลยไง ก็บัญญัติเป็นศีล

 

ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติ ทำไม สาเหตุใดพระพุทธเจ้าเห็นถึงประโยชน์ เห็นถึงประโยชน์ในคนที่ทำได้ ประโยชน์ได้ มันจะเกิดประโยชน์มาก ถ้าเกิดประโยชน์มาก แล้วพอถึงศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วยังมีธุดงควัตร ศีลในศีล

 

คือธุดงควัตรถือก็ได้ ไม่ถือก็ได้ ไม่ปรับอาบัติ แต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ผิดไม่ได้ ผิด ปรับอาบัติ ถ้าผิดเป็นอาบัติทันที อาบัติเล็กน้อยเป็นอาบัติ ต้องปลงอาบัติ ถ้าอาบัติหนักต้องอยู่ในสังฆาทิเสส อยู่ในสงฆ์ สงฆ์ควบคุม แล้วถ้าอาบัติหนัก ขาดเลย ขาดจากเป็นพระโดยธรรมชาติเลย ศีลบังคับตายตัว

 

ฉะนั้น พอธุดงควัตรล่ะ ทำไมไม่บังคับล่ะ

 

ไม่บังคับก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเห็นอีกแหละ โอ๋ย! พระพุทธเจ้าสุดยอด เห็นว่าจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกัน เห็นว่าคนมุมานะ คนเข้มแข็งมันแตกต่างได้ คนที่นุ่มนวล คนที่อ่อนหวานเขาทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่เขามีโอกาสในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็เปิดกว้างเลย

 

ไอ้ทำอย่างนี้ใครทำก็ได้ ใครไม่ทำก็ได้ แต่ศีลนี่ต้องแน่นอนนะ แต่ธุดงควัตร ไม่นอนเลยอย่างนี้ ไม่นอนเลย ฉันมื้อเดียว ฉันหนเดียว ต้องบิณฑบาตทุกวันอย่างนี้ ถ้าใครเข้มแข็ง ใครทำได้ เพราะทำได้เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส

 

เพราะกิเลสมันอยากสุขอยากสบาย มันอยากกินอิ่มนอนอุ่น มันอยากไปหมดแหละ พอธุดงค์เข้าไปขัดเกลามันไง เอ็งขี้เกียจไม่ได้ เอ็งขี้เกียจ ไม่ได้กิน เอ็งจะกินตามใจเอ็งไม่ได้ เอ็งต้องกินในบาตร ทุกอย่างต้องรวมหมดเลย เห็นไหม ที่เอ็งอยากได้ ไม่ได้สักอย่างหนึ่งเลยล่ะ เพราะอะไร เพราะขัดเกลากิเลส ต่อสู้กับมัน แต่ยังไม่ได้ฆ่ากิเลส ขัดเกลา ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันเกิดขึ้น มันเกิดปัญญา ปัญญาจะไปชำระล้างมัน

 

อันนี้เขาถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติศีลข้อที่ ๖ ก็ไม่รู้

 

รู้ มันอยู่ที่นิยาม ไปเปิดพระไตรปิฎกสิ วินัยทุกข้อมีพระทำผิด พระทำผิด พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติว่าผิดอย่างนี้ เป็นต้นบัญญัติยังไม่ผิด แล้วต่อไปห้ามๆๆ นี่พระไตรปิฎก

 

ถ้าอ่านพระไตรปิฎกจะเห็นเลย ก่อนที่จะเข้าวินัย เขาเรียกว่านิยามก่อน มีพระองค์นี้ได้ทำผิดอย่างนี้ๆๆ พระพุทธเจ้าเรียกมา เรียกมาแล้วถามว่าทำผิดอย่างนั้นจริงไหม

 

จริง

 

โมฆบุรุษ วันหลังอย่าทำนะ แล้วก็บัญญัติเลย ถ้าใครทำอย่างนี้ๆๆ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทำอย่างนี้ๆๆ เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทำอย่างนี้ๆๆ เป็นสังฆาทิเสส ทำอย่างนี้ๆๆ เป็นปาราชิก นี้อยู่ในพระไตรปิฎก นี่พระพุทธเจ้าบัญญัติ แต่พูดถึงตอนนี้นึกไม่ทัน นึกไม่ออก แต่อยู่ในพระไตรปิฎก

 

ถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติ

 

เดี๋ยวจะเอาพระไตรปิฎกมาตอบให้เนาะ แต่ตอนนี้ตอบโดยที่ว่าโดยองค์รวม โดยความคิดว่า เห็นประโยชน์อย่างไรพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติศีล ๘ ห้ามกินตั้งแต่เที่ยงไป นี่พระพุทธเจ้าบัญญัตินะ

 

แต่ข้อวัตรปฏิบัติของกรรมฐานมันอยู่ในธุงควัตร ข้อวัตรปฏิบัติมันมีอยู่ หลวงตาท่านถึงพยายามฟื้นฟูตลอด บอกให้พระถือธุดงค์นะ ถ้าลูกศิษย์ของท่านวัดไหนไม่ถือธุดงค์ ท่านจะไม่เหยียบวัดนั้นเลย ท่านบอกว่าต่อไปมันจะเหลือแต่ทฤษฎี เหลือแต่ตัวอักษร แต่คนจะทำ ทำไม่ได้ เวลาทำอย่างนี้มันอยู่ที่ข้อวัตร อยู่ที่กติกาของสังคมนั้น อยู่ที่กติกาของวัดนั้น

 

แต่ถ้าเอาข้อเท็จจริงต้องเทียบไป เพราะเดี๋ยวจะบอกว่าเป็นชาวพุทธปัญญาอ่อนอีกแหละ ไปเจอวัดไหนทำก็ถูกอีกๆ เวลาไปเจอแล้วเอามาเทียบพระไตรปิฎกว่าที่วัดนั้นเขาทำมันเข้ากับพระไตรปิฎกตรงไหน มันเข้ากับข้อวัตรตรงไหน เอ๊ะ! พระองค์นี้คิดขึ้นมาเองหรือ ทำเองหรือ

 

แต่ถ้าเราไปแล้วเราไปค้นคว้าเลย แล้วเทียบเข้าไปในพระไตรปิฎก แล้วเทียบไปที่หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านทำมาอย่างไร นี่ไง อย่างนี้ถึงไม่ใช่เป็นชาวพุทธปัญญาอ่อน

 

บุญต้องบุญมีปัญญา ไม่ใช่บุญปัญญาอ่อน แล้วไม่ใช่ชาวพุทธปัญญาอ่อน เห็นเขาทำแล้วเชื่อไปหมดเลย เชื่อตามๆ กันมาไม่ได้ เห็นใครทำ ใครทำสิ่งใดแล้วตรวจสอบ เอามาตรวจสอบ ตรวจสอบเข้าไปในพระไตรปิฎก ตรวจสอบเข้ามาในที่ครูบาอาจารย์ทำ อย่าไปเชื่อ อย่าเห็นตามๆ แล้วเชื่อเขา เอวัง