ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อย่าเชื่อ

๒ มี.ค. ๒๕๕๗

 

อย่าเชื่อ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “หวังดี”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมมีเรื่องอยากขอคำชี้แจงจากหลวงพ่อดังนี้ ตัวผมเองเป็นผู้ที่ปฏิบัติใหม่ และชื่นชอบในคำสั่งสอนของหลวงพ่อสงบมากครับ ผมไม่มีข้อสงสัยในธรรมของหลวงพ่อเลย ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากให้พ่อแม่และพี่สาวของผมได้มากราบไหว้หลวงพ่อบ้างครับ ที่ผ่านมาแม่ของผมก็เคยมาใส่บาตรหลวงพ่อ และได้ฟังเทศน์อยู่ครั้งสองครั้ง ส่วนพ่อและพี่สาวไม่เคยมา

 

เหตุมีอยู่ว่า ไม่นานมานี้แม่ของผมได้คุยกับเพื่อนของแม่ ซึ่งเพื่อนคนนี้เขาบอกว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวที่วัดป่าบ้านตาดมานานมากครับ

 

เขาบอกคุณแม่ว่า เดี๋ยวนี้มีทั้งพระ ทั้งฆราวาส อ้างชื่อหลวงตามหาบัวเป็นจำนวนมากเพื่อชื่อเสียงและผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อนของแม่ผมคนนี้จึงแนะให้แม่ผม แม้แต่ตัวผมเองฟังธรรมของหลวงตามหาบัวเท่านั้น เพราะหลวงตาคือของแท้ ซึ่งผมก็สาธุครับ แต่เขาพูดในเชิงว่า หลวงพ่อสงบเอง เขาไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่บางคำพูดของเขาอาจจะทำให้คุณแม่ของผมไม่อยากมาวัดหลวงพ่ออีกครับ ซึ่งผมเข้าใจว่าเพื่อนของแม่ผมคนนี้หวังดี กลัวว่าแม่ผมหรือแม้แต่ผมจะไม่เจอของแท้

 

(ผมขอขมาหลวงพ่ออย่างสูงครับที่พูดเช่นนี้ แต่ตัวผมนั้นไม่หวั่นไหวในคนเขาพูดครับ แต่สาธุเรื่องของหลวงตาด้วย เพียงแต่กังวลว่า แม่ผมหรือพ่อและพี่สาวจะไม่อยากมาทำบุญกับหลวงพ่อ เพราะผมอยากให้ครอบครัวผมได้บุญครับ)

 

ผมควรจะพูดกับแม่หรือครอบครัวผมอย่างไรดีครับ เพื่อให้เขาได้ให้โอกาสตัวเองมาฟังธรรมหลวงพ่อ หรือผมควรจะปล่อยให้เป็นกรรมของสัตว์ เพราะอีกใจหนึ่งผมคิดว่า ลำพังงานของใจผมก็ลำบากพอแล้ว ยังต้องมาเป็นกังวลเรื่องรื้อขนครอบครัวอีก ผมจึงอยากให้หลวงพ่อแนะนำผมทีครับ

 

ป.ล. หลวงพ่อไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้ครับ เพราะผมเองไม่ต้องการให้หลวงพ่อต้องมานั่งยืนยันธรรมของหลวงพ่อ หรือผมกับใครทั้งสิ้นครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

ตอบ : นี่คำถามเนาะ ฉะนั้น เวลาคำถาม สิ่งที่เขาถามมามันเป็นเรื่องพ่อแม่ คำว่า “เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องพี่สาว” อย่างนี้มันเป็นเรื่องของเขา คำว่า “เรื่องของเขา” หมายความว่าเรื่องศรัทธา ศรัทธาที่จะมาหรือไม่มา เราไม่วิตกกังวลเรื่องนี้เลย เพราะขณะที่มาแล้ว ใครมาก็แล้วแต่ ถ้าทำผิดกติกา เราไล่ออกหมด เราไล่ออกนะ แม้แต่มาแล้วเราก็ไล่ออก ไม่ให้เข้า ไม่ให้เข้ามาเพราะอะไร ไม่ให้เข้ามาเพราะว่ามันจะมาทำส่วนใหญ่ให้เสียหาย

 

คำว่า “ส่วนใหญ่ให้เสียหาย” คนที่มาเขาต้องการปรารถนามาประพฤติปฏิบัติ คนที่ปรารถนามาประพฤติปฏิบัติทุกคนต่างมีเป้าหมาย เป้าหมายว่าอย่างน้อยก็ให้ได้สมาธิ อย่างน้อยก็ต้องให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 

ถ้าอย่างน้อยต้องให้ได้สมาธิ ให้ได้สัมผัสธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เกิดปัญญาขึ้นมา เขาขวนขวาย เขาทิ้งหน้าที่การงานของเขามา เขาทิ้งภาระรับผิดชอบเขามาเพื่อมาวัดมาทำบุญกุศล แล้วจะมาประพฤติปฏิบัติให้ได้ตามความเป็นจริง

 

แต่เวลาคนที่มาแล้วมาส่งเสียงดัง มาเอาแต่ใจของตัว มาเอาแต่ความสะดวกสบาย ไม่เกรงใจคนอื่น กรณีนี้เราไล่ออกหมดล่ะ แม้แต่มาวัดเรายังไล่ออกเลย ฉะนั้น คนที่เคยมานี่ไม่ต้องห่วง

 

เพราะเขาว่า “พี่สาวผมไม่เคยมาเลย”

 

ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วง ไม่เคยมานี่ไม่โดนไล่ แต่มาแล้วยังไล่ ฉะนั้น เรื่องนี้ไม่มีผลประโยชน์กับเรา ไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ฉะนั้น ไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น แต่คำถามนี้เราอยากพูด เราอยากพูดไง เพราะอะไร เพราะสังคมมันเป็นแบบนี้

 

เราก็มีความคิดเหมือนกับเพื่อนของแม่โยมเหมือนกัน ที่บอกว่าให้ฟังเทศน์เฉพาะหลวงตา หลวงตาเป็นของแท้

 

เราเห็นด้วยนะ เพราะถ้าใครมาที่นี่ ใครมาปฏิบัติที่นี่ จะได้รับยืมวิทยุคนละ ๑ เครื่อง วิทยุนี้จะได้เปิดสถานีเสียงธรรมของหลวงตา ๑๐๓.๒๕ ของวัดเรา ๒๔ ชั่วโมง เราแจกวิทยุเลย เราให้ยืมวิทยุไปเลย เราก็ให้ฟังเทศน์หลวงตาเหมือนกัน เพราะเทศน์หลวงตาสุดยอด

 

เพราะเราจะเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ เราก็ได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากท่าน ฉะนั้น การได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากท่าน แล้วเราจะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ เพราะเราได้ประโยชน์จากนั้นมาก่อน เราได้เคยกินอาหารชนิดนี้มา เราได้กินอาหารชนิดนี้แล้วอาหารชนิดนี้ทำให้เราสดชื่น ทำให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นมา อาหารชนิดนี้เราพยายามเสนอให้ทุกคนได้กินทั้งนั้นน่ะ เสนอเพื่อประโยชน์ไง ฉะนั้น เราก็มีความเห็นแบบเพื่อนของแม่โยมเหมือนกัน

 

แต่อาหารกินแล้วมันเป็นประโยชน์ กับอาหารที่กินแล้วเป็นโทษ ถ้ากินแล้วเป็นโทษ คนคนนั้นจะต้องไปหาหมอ คนคนนั้นกินอาหารเสร็จแล้วมันมีโทษมีภัย ต้องไปหาหมอ ทั้งๆ ที่อาหารนั้นไม่เป็นโทษหรอก แต่เพราะคนกินกินไม่เป็น คนกินกินไม่เป็น คนใช้ใช้ไม่เป็น มันกลับเป็นโทษ เห็นไหม

 

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่ปัญหา ถามปัญหา “เหตุที่ว่ามานี้ แม่ของผมได้คุยกับเพื่อนของแม่ ซึ่งเพื่อนของเขาบอกว่าเขาเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวที่วัดป่าบ้านตาดมานานเต็มทีแล้ว เขาบอกแม่ผมว่า เดี๋ยวนี้มีทั้งพระและฆราวาสอ้างชื่อ อ้างชื่อนะ อ้างชื่อหลวงตามหาบัวเป็นจำนวนมากเพื่อชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อนของแม่ผมนี้ก็แนะนำให้แม่ผมและตัวผมฟังธรรมของหลวงตามหาบัวเท่านั้น เพราะหลวงตาคือของแท้”

 

แน่นอน เป็นของแท้ หลวงตาเป็นของแท้มาก ถ้าเป็นของแท้แล้ว ดูสิ อย่างที่เราพูดไว้ใน “เสียงธรรมหลวงตา” เราพูดไว้ในเสียงธรรมหลวงตาเลยว่า คำเทศน์ของหลวงตา

 

“คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า คิดถึงหลวงตา หลวงตาอยู่กับเรา”

 

คำสั่งคำสอนนั่นน่ะอยู่กับเรา แล้วถ้าคำสั่งคำสอนอยู่กับเราแล้ว ถ้าทุกคนฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจในธรรมนั้น ให้แขวนไว้ก่อน ในเสียงธรรมหลวงตา เราพูดไว้ ให้แขวนไว้ก่อน อย่าเพิ่งตีความ อย่าเพิ่งตีความ อย่าเพิ่งดึงฟ้าต่ำ อย่าเพิ่งไปจำแนกแจก เพราะธรรมของหลวงตามันสูงมาก มันสูงหมายถึงว่า ถ้ามันปฏิบัติไปแล้วมันจะเข้าใจ แล้วมันจะซาบซึ้งในธรรมนั้น

 

แต่คนถ้ามันไม่เข้าใจ คนถ้าไม่เข้าใจมันบอกว่าหลวงตาพูดผิด ฟังธรรมหลวงตาแล้ว หลวงตาพูดนี่นะ มันยังไม่ละเอียดลึกซึ้งพอ ตัวเองจะต้องขยายความ ตัวเองจะต้องไปตีความ ไอ้พวกตีความขยายความนั่นล่ะ นี่ฟังธรรมหลวงตาเหมือนกัน แต่ฟังธรรมแล้วเอามาใช้ประโยชน์ ฟังธรรมแล้วเราซาบซึ้งไหม

 

หลวงตาท่านพูดว่าท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นเหมือนพ่อเลย สนิทคุ้นเคยกันมาก แต่เวลาพูดธรรมะนี่ไม่ได้เลย พอขึ้นธรรมะนะ ทันทีเลย สัจจะคือสัจจะ ความจริงคือความจริง ความคุ้นเคยส่วนตัวเป็นความคุ้นเคยส่วนตัว แต่สัจธรรมอันนั้นเป็นสัจธรรมอันนั้น

 

ถ้าสัจธรรมนั้นเป็นจริงนะ แล้วเราใช้ความเป็นจริง ถ้าพูดถึงธรรมะของหลวงตาสุดยอดนั่นน่ะ ผู้ใดที่ปฏิบัติธรรม ผู้ใดที่ฟังธรรม ทั้งพระ ทั้งฆราวาส อ้างชื่อหลวงตาทั้งนั้นน่ะ เป็นจำนวนมาก เพื่อชื่อเสียง เพื่อประโยชน์

 

ถ้าเขาเพื่อชื่อเสียง เพื่อประโยชน์ นั่นเป้าหมายก็ผิดแล้ว เขาเอาธรรมะของหลวงตาไปเป็นสินค้า เอาธรรมะของหลวงตาไปแอบอ้าง เอาธรรมะหลวงตาเป็นหน้าฉาก แต่เขามีผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อน มันก็เหมือนเรา เรานะ ถ้าไปทำผิดกับใคร แล้วเขาจะถามว่าเอ็งลูกใคร แล้วถ้าลูกใคร แล้วถ้าทำผิดกับใคร เขาจะบอกว่าพ่อแม่มึงไม่สั่งสอน พ่อแม่สั่งสอนมาแล้วลูกมันไปทำผิดกับใคร

 

นี่ก็เหมือนกัน บอกฟังเทศน์หลวงตาๆ เอ็งทำตัวอย่างไร เอ็งทำตัวอย่างใดกัน ถ้าเอ็งฟังเทศน์หลวงตาใช่ไหม เอ็งซาบซึ้งขึ้นมา เอ็งทำนอกศีลนอกธรรมไม่ได้ ถ้าเอ็งไม่ทำนอกศีลนอกธรรม เอ็งทำแต่คุณงามความดี นั่นน่ะถึงสมประโยชน์ว่าฟังเทศน์หลวงตาแล้วได้ประโยชน์กับเทศน์หลวงตาที่ท่านเทศน์สอนเรามา

 

เรามีพ่อมีแม่นะ เรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม ทุกคนอยากมีครูมีอาจารย์ ทุกคนอยากมีที่มาที่ไป มีรากเหง้า ถ้ามีรากเหง้า มันทำความดีก็คือทำความดี ความดีมันเป็นความจริงแบบนี้ นี่พูดถึงว่า เขาต้องการให้ฟังเทศน์อย่างนั้น

 

ฟังเทศน์แล้ว ใช่ เราก็ฟัง ในปัจจุบันนี้ใครมาวัดเรา แจกวิทยุ ใครมาพักจะได้วิทยุเครื่องหนึ่ง เพราะอะไร เพราะเขาเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน เพราะนักปฏิบัติมันจะรู้หัวใจนักปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมงนะ

 

เวลาอยู่บ้านนะ ใครทำงานที่บ้านนะ แหม! อยากมีเวลาภาวนา อิจฉาพระมากเลย พระภาวนาทั้งวันเลย อยากจะไปวัดภาวนา พอมันลางานมานะ มันก็ไปวัด พอไปวัดมาเดินจงกรมสักครึ่งชั่วโมง โอ๋ย! ทำไมเวลามันเดินช้าเหลือเกิน ทำไมเวลามันเหลือเยอะมาก ฉะนั้น ถึงได้แจกวิทยุคนละเครื่อง ถ้าเอ็งเหงา ถ้าเอ็งไม่มีที่พึ่งนะ เอ็งเปิดฟังหลวงตา มีหลวงตาเป็นเพื่อน มีหลวงตาคอยกล่อม

 

คนภาวนามันรู้ เวลาจะภาวนานะ จุดธูปไว้ดอกหนึ่ง เดินจงกรมจนหมดธูปดอกนี้ แล้วเวลาเดินจงกรมไป ธูปมันไม่ไหม้สักที เดินไปทำไมธูปนี้มันอยู่นาน เอ๊ะ! มันผิดปกติ คนภาวนามันรู้ เพราะคนเคยผ่านมา

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราแจกวิทยุให้ฟังเทศน์หลวงตาอยู่แล้ว เพราะเข้าใจหัวอกคนภาวนา แล้วถ้าภาวนาได้นะ การอ้างไง อ้างมาเพื่อผลประโยชน์ ดึงฟ้าต่ำ ถ้าทำให้เสียหาย

 

แต่ถ้าเราไม่ได้อ้าง ไม่ได้ดึงฟ้าต่ำ เราทำตัวของเราให้อยู่ในกฎกติกาที่หลวงตาท่านสอน ข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางไว้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางไว้ให้สงบ ให้สงัด ให้วิเวก ให้ต่างคนต่างอยู่ มีน้ำใจต่อกัน พึ่งพาอาศัยกันด้วยความคิดถึงกัน แต่ไม่คลุกคลีกัน ไม่ให้เป็นภาระให้คนอื่นต้องแบกรับ พยายามทำของตัวเองให้ยืนขึ้นมาได้ นี้คือข้อวัตรปฏิบัติที่หลวงตาท่านสั่งสอน

 

แล้วถ้าใครเป็นลูกศิษย์หลวงตา ใครเป็นคนที่หลวงตาสั่งสอน จะไม่กวนบ้านกวนเมือง จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะธรรมะนี้ไม่ทำให้ใครอื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรอก มีแต่ทำให้กิเลสในหัวใจเราเดือดร้อน กิเลสในหัวใจ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะทำให้กิเลสในหัวใจเราเดือดร้อน

 

แต่ถ้าอ้างธรรมะหลวงตาแล้วยังไปกวนบ้านกวนเมือง ยังไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนน่ะ พ่อแม่ไม่สั่งสอน เพราะพ่อแม่สั่งสอนอยู่ตลอด มันไปทำอย่างนั้น เพราะพ่อแม่ไม่ให้ทำแบบนั้น

 

นี่พูดถึงเวลาเขาว่านะ “แต่เขาพูดในเชิงว่า หลวงพ่อสงบเอง เขาไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่บางคำพูดของเขาอาจทำให้คุณแม่ผมไม่อยากมาวัดหลวงพ่ออีกเลย”

 

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม นางอะไรที่จ้างคนมาด่าพระพุทธเจ้า จำชื่อไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเผยแผ่ธรรมนะ โดนมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะ “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอโดนโลกธรรมที่เบียดเบียน คือการนินทากาเลที่เบียดเบียนพวกเธอ เธออย่าเสียใจ เธออย่าน้อยใจ เธอให้มองเราเป็นตัวอย่าง”

 

ให้มององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ในโลกนี้นะ บรรดาสัตว์ ๒ เท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ในบรรดาโลกธรรม ๘ ที่เสียดสี ไม่มีใครโดนโลกธรรมเสียดสีแรงเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

เทวทัตปล่อยให้ช้างออกมาชน จะฆ่า เทวทัตกลิ้งหินลงมาจะทับนะ เทวทัตไปจ้างนักแม่นธนูให้มายิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไปจ้างนักแม่นธนูมาฆ่าคนที่จะไปยิงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือตัดตอน ให้ ๑ คนไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อีก ๒ คนไปฆ่าคนที่ฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้อีก ๔ คนไปฆ่า ตัดตอนถึง ๔ รอบ

 

ฉะนั้น ถึงเวลาใช่ไหม ไอ้คนที่ไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขาก็ใช้ไปก่อน ไอ้คนที่จะไปฆ่าก็ยังไม่เห็นสักที ก็ตามไป ไอ้คนที่จะมาฆ่าตัดตอนก็ตามไป เพราะคนจะฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนแรกเข้าไปถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนวางคันธนูเข้าไปบวช

 

ไอ้คนที่จะฆ่ามันยังไม่เห็นมาสักที เอ๊ะ! สงสัย มันก็ตามไป พอตามไป ไปเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนบวชอีก ไอ้คนอีก ๔ คนมันจะฆ่า ก็ตามไป คนที่จะไปฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนบวชเป็นพระหมด สำเร็จด้วย

 

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้เอง ถ้าเธอโดนโลกธรรม ๘ ที่เสียดสี อย่าเสียใจ อย่าน้อยใจ เพราะที่เอ็งโดนน่ะจิ๊บๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาลมากมายกว่านี้นัก

 

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า “เขาพูดในเชิงว่าหลวงพ่อสงบเอง เขาว่าเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่บางคำพูดเขาอาจจะทำให้คุณแม่ผมไม่ไปหาหลวงพ่ออีกเลย”

 

มาก็โดนไล่ ถ้ามาแล้วมา เรื่องนี้มันเรื่องมารยาสาไถย พรหมจรรย์นี้ปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อใคร เพียงแต่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าใครประพฤติปฏิบัติเข้าไปสัจจะความจริงอันนี้แล้วมันควรจะเผื่อแผ่ มันควรจะเผื่อแผ่ให้คนที่เขาอยากได้ อยากรู้ไง เพราะอะไร

 

เพราะคนที่ประพฤติปฏิบัติมา หลวงตานะ ท่านเรียนจบจนถึงเป็นมหา ท่านบอกเวลาจะออกปฏิบัติขึ้นมา มหาก็เรียนจบแล้ว นิพพงนิพพานรู้หมด แต่เอาเข้าจริง นิพพานมันมีจริงหรือเปล่า เพราะจิตลึกๆ มันสงสัย

 

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้คนที่ประพฤติปฏิบัติทุกคนสงสัยทั้งนั้นน่ะ แม้แต่ตัวเรา เราก็โดนหลอกมา พรรษา ๑ พรรษา ๒ เราธุดงค์ไป โดนพระหลอกเยอะมาก สอนพิสดาร ไอ้เราปฏิบัติใหม่เนาะ พอมันฟังเข้ามันก็ทึ่ง อู้ฮู! ทางดีๆ พอทำไปแล้วนะ พอทำไปปฏิบัติไปมันไม่ใช่เลย แล้วมาย้อนถึงอดีตแล้วมันเศร้า เศร้ามากนะ มันเศร้าเพราะอะไร

 

เพราะเราเพิ่งบวชใหม่ใช่ไหม คนบวชใหม่ไฟแรงอยากแสวงหา คนที่บวชใหม่ไฟแรง คนที่ไฟแรงอยากจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ แล้วมีช่องทางก็อยากจะทำให้ได้ แล้วไปเจอคนสอนมันสอนไม่เป็นน่ะ ร้อยแปดพันเก้า ๒ ปีทุกข์เกือบตาย เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันไปไม่ได้หรอก จนไปเจอหลวงปู่จวนน่ะ

 

ไปเจอหลวงปู่จวนนะ เพราะมันยังสงสัยในใจไง หลวงปู่จวนบอกว่า อวิชชาอย่างหยาบ อวิชชาคือความสงสัย คือความคิดเล็กๆ น้อยๆ ความคิดหยาบๆ ในใจของเอ็งสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางๆ ในหัวใจเอ็งยังเต็มเลย อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจมหาศาลเลย

 

โอ้โฮ! ตาแทบถลน เอ๊อะ! ใช่ คือมันเถียงไม่ออก แต่ตอนนั้นแค่ไอ้ความฟุ้งซ่าน แค่ไอ้ความวิตกกังวล เราพอมีสติปัญญารู้เท่า ก็ว่างๆ พอว่างๆ ก็ว่าไม่มีอวิชชาเพราะมันว่างๆ เพราะมันไม่มีสิ่งใดมากวนใจไง เออ! ถ้ามันว่างๆ ในตำราก็บอกว่า ถ้าอวิชชามันดับก็เป็นพระอรหันต์ ไอ้ว่างๆ ก็แสดงว่าไม่มีอวิชชา คิดเอาเอง พ่อแม่ไม่สั่งสอน

 

มันคิดเอาเองไงว่าความสงบระงับคือไม่มีอวิชชา มันก็บอก เอ๊ะ! ไม่มีอวิชชา ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ มันก็มีความวิตกกังวลอย่างนี้ เอ๊ะ! เราก็ทำดี เอ๊ะ! ทำไมมันไม่มีผล เอ๊ะๆๆ

 

ไปเจอหลวงปู่จวน “อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจท่านมหาศาลเลย อวิชชาอย่างละเอียดเต็มไปหมดเลย”

 

เถียงอย่างไรล่ะ นั่นน่ะเริ่มต้นจากตรงนั้นน่ะ วางหมดเลย วางคำสอนของทุกๆ ลัทธิ วางคำสอนของทุกๆ คนที่เคยสอนกูมา หลอกกูมาจนกูหัวปักหัวปำ วางหมดเลย ทฤษฎีที่รับรู้ๆ มา วางหมดเลย แล้วเริ่มต้นใหม่ เอาจนมีหลักมีเกณฑ์ เอาจนได้หลัก พอได้หลัก เครื่องบินตก หลวงปู่จวนเสีย

 

มันทุกข์ยากมาตั้งแต่ไปโดนเขาหลอก เขาหลอกมาจนหัวปั่น พอมาเจอคนที่สอนได้จริง ท่านก็มาจากเราไปอีก โอ้โฮ! ใจมันแตกสลายนะ หักหัวเข้าบ้านตาด เพราะอะไร เพราะกูโดนเขาหลอกมาพอแรงแล้ว นี่พ่อแม่สั่งสอน แล้วสั่งสอนแล้วทำตามพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่พ่อแม่ไม่สั่งสอน

 

“พระสงบมันเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพื่อนแม่ผมพูดจนแม่ผมจะไม่ไปวัดหลวงพ่ออีกแล้ว”

 

ไม่ไปน่ะดี เพราะไปแล้วจะต้องมาโอ๋คนคนเดียว ไม่มีเวลา ถ้าจิตใจเอ็งจะเชื่อใคร มันเป็นกรรมของสัตว์ ความเชื่อ เห็นไหม ความเชื่อไม่ใช่ความจริง

 

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “นี่คืออะไรเนี่ย”

 

ก็ถามว่านี่คืออะไร เพราะไม่รู้ อย่างเช่นเอาน้ำปานะถวายท่าน ท่านบอกว่า “ไอ้ผู้พิพากษามันก็อยู่นี่ ไปถามใครอยู่”

 

ผู้พิพากษาก็คือลิ้นไง ลิ้น ลิ้นน่ะ เวลาจิบเข้าไปมันก็รู้ว่ารสชาติอะไรใช่ไหม จะต้องไปถามคนนู้นถามคนนี้

 

ท่านบอก “นี่อะไร” เอาน้ำปานะไปถวายไง ท่านบอกว่า “นี่อะไรเนี่ย”

 

เราก็ตอบไม่ถูก ถามใครไปถามใครมาท่านบอกว่า “แหม! ผู้พิพากษาก็อยู่กับเรานี่ เที่ยวไปถามคนอื่น” ผู้พิพากษาก็คือลิ้นเราเองนี่ไง ถ้ามันจิบเข้าไปมันก็รู้ว่านี่คืออะไร ทำไมต้องไปถามคนนู้นถามคนนี้ล่ะ

 

อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะเที่ยวไปถามคนอื่นก็สาธุ ตามสบาย

 

ฉะนั้น เพียงแต่คำถามเขาต่อมานะ “เพียงแต่กังวลว่าแม่ผมหรือพ่อและพี่สาวจะไม่อยากไปทำบุญกับหลวงพ่ออีก ผมอยากให้ครอบครัวได้บุญครับ”

 

อันนี้เป็นกรรมของสัตว์นะ ทำบุญที่ไหนก็ทำได้ ทำบุญทำไปได้ ฉะนั้น เพียงแต่ว่า ถ้าเพื่อนของครอบครัว คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ เขาไม่ชอบขี้หน้าเรา ถ้าเขาไม่ชอบขี้หน้าเรา เขาชอบที่ไหน เราทำบุญที่ไหนได้ประโยชน์ก็ทำ

 

แต่เวลาเราจะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติ เราเอาสิ่งนั้นมาพิสูจน์ว่าปฏิบัติแล้วมันจริงหรือไม่จริง ถ้ามันไม่จริงนะ ถ้ามันจริง พ่อแม่สั่งสอน พ่อแม่สั่งสอนคืออริยสัจมีหนึ่งเดียว มันมาแนวทางเดียวกัน แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สั่งสอน เพราะพ่อแม่ของเราท่านเข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันเข้าสู่สัจจะอันนั้นน่ะ เข้าสู่สัจจะอันเดียวกันน่ะ

 

ถ้าพ่อแม่สั่งสอนนะ พฤติกรรมของพระ พฤติกรรมของฆราวาส พฤติกรรมของพ่อของแม่ไม่เป็นแบบนั้นหรอก ไม่เป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันมีหนึ่งเดียว คนทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ดีก็คือดี ชั่วก็คือชั่ว ไม่มีแตกต่างหรอก จะเป็นใครก็แล้วแต่ จะเป็นเด็ก จะเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นผู้เฒ่า ดีก็คือดี

 

พระผู้เฒ่าไปบวชแล้วได้เป็นพระอรหันต์ สามเณรอายุ ๗ ขวบ ลูกศิษย์พระสารีบุตรก็เป็นพระอรหันต์ ๗ ขวบก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน อายุพรรษามากก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นอริยสัจ อริยสัจคืออันเดียวกันน่ะ

 

ฉะนั้น สิ่งนี้ไม่ต้องวิตกกังวลเลย มันก็เป็นที่ว่ากรรมของสัตว์ เราเกิดในสังคมใด ถ้าเกิดในสังคมใด ถ้าเขามีอำนาจวาสนานะ เวลาเขาฟังแล้ว เขาหาเหตุผลแล้วเขาไม่เชื่อ เขาก็แสวงหาของเขา ถ้าแสวงหาของเขามันก็ได้ของเขา อันนี้พูดถึงความเชื่อเนาะ

 

อย่าเชื่อ เพราะกาลามสูตรไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วพิสูจน์ของเราเอง ถ้าพิสูจน์ได้ก็คือพิสูจน์ได้

 

ทีนี้เพียงแต่ว่า ไม่ใช่ว่าแม่ของเพื่อนโยมเขาพูดอย่างนั้นนะ เราเองเราก็พูดอย่างนั้น เราเห็นพฤติกรรมของลูกศิษย์หลวงตา เราก็รับไม่ได้ เพราะเรารับไม่ได้ เราถึงไม่ไปสุงสิงกับใคร เพราะไม่ไปสุงสิงกับใคร เขาถึงบอกว่าเราเป็นหมาหางด้วน

 

เราไม่เกี่ยวกับใคร ไม่เกี่ยวกับใคร แต่เราเกี่ยวกับคำสั่งคำสอน เพราะเราไปเทศน์ที่บ้านตาดเอง เราเป็นคนพูดเอง คำสั่งคำสอนของหลวงตานั้นน่ะคือมรดกตกทอดมาถึงเรา คำสั่งคำสอน คำที่ท่านบอกพวกเรา ที่ท่านเทศนาว่าการไว้ให้พวกเรา นั่นล่ะ นั่นล่ะคือทรัพย์ นั่นล่ะมรดก นั่นล่ะมีค่า ไอ้ชื่อเสียง ไอ้แก้วแหวนเงินทองไร้สาระ ไร้สาระ

 

เราเป็นคนพูดเอง แล้วคำนี้ ไอ้คำพูดเรา เขาก็ถามเรามาเอง เลยบอกว่า เออ! สงสัยเราเป็นคนที่พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอน เราเลยเป็นคนหัวดื้อ แต่จริงๆ แล้วเราเอาของเราตามความเป็นจริง

 

ให้พิสูจน์เอา ถ้าพ่อแม่สั่งสอน มันจะเชื่อฟัง ทำอยู่ในกติกา ถ้าพ่อแม่ไม่สั่งสอน มันจะหัวดื้อ แล้วมันจะอย่างที่ว่า มีพระ มีฆราวาสอ้างชื่อเสียงของหลวงตา อ้างหลวงตาเพื่อชื่อเสียง เพื่อลาภ เพื่อสักการะ นี่เขาว่าอย่างนั้นนะ

 

เพราะเราก็เห็นอย่างนั้น เราถึงไม่ให้ใครเข้ามายุ่ง เราไม่ต้องการลาภไม่ต้องการสักการะ ข้าวปลาอาหารเราบิณฑบาตมาเหลือเฟือ ความเป็นอยู่ของเราเหลือล้น แค่นี้พอแล้ว

 

ฉะนั้น ถ้าวิตกกังวลเรื่องพ่อ เรื่องพี่สาว สาธุ วัดเยอะแยะทั่วประเทศไทย พระยิ่งเยอะใหญ่ หาเอาเอง หาเอาที่ถูกใจ พูดนี่ไม่ได้ประชดนะ เพราะเราสงสาร เพราะเขาบอกว่า “หลวงพ่อ ผมก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อนะ หลวงพ่อว่าผมหรือ”

 

ไม่ได้ว่าเอ็งหรอก แต่เอ็งไปวิตกกังวลสิ่งที่มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมไม่มีวันจบหรอก ปัญหาของคนมันมีมาก่อนสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาล สมัยปัจจุบันนี้ อนาคตมันก็ยังมีต่อไป ไม่จบหรอก ภาระสังคม เอ็งไปแบกรับไม่มีวันจบหรอก ฉะนั้น สิ่งที่ต้องให้สังคมดีก่อน แล้วเราค่อยปฏิบัติ เอ็งตายเปล่า

 

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราเชื่อผู้พิพากษา เชื่อลิ้นของเรา เชื่อประสบการณ์ของเรา เชื่อสิ่งที่ว่ากาลามสูตร เราไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย แล้วเราพิสูจน์เอาว่าจริงหรือไม่จริง เราเชื่อตรงนั้น

 

ถาม : เรื่อง “ถามเรื่องดูกายครับ”

 

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง การน้อมดูกาย การเห็นกายตามความเป็นจริง ท่านผู้ชำนาญสามารถน้อมดูเมื่อไหร่ก็ได้ หรือว่าต้องเข้าสมาธิก่อน แล้วภาพทางตาจะค่อยปรากฏครับ เป็นบางครั้ง ไม่ใช่ตาเนื้อ แต่เป็นตาในนิมิตที่มีการปรุงแต่งเองสารพัดเรื่องจังหวะครับ

 

ควรน้อมใจเข้าไปหากาย อธิษฐานดูปรุงแต่งแต่กายเป็นอสุภะ หรือจะเกิดอสุภะที่ให้ใจสัมผัสเพื่อฆ่ากามราคะ หรือประคองอยู่เฉยแม้ไม่ปรากฏลม (ไม่วิตก แต่วิตกได้ วิจารได้) ก็ทำเสมือนว่ามีการกำหนดลมนั้นอยู่ครับ กราบขอบพระคุณ

 

ตอบ : การดูกาย เราพิจารณา มันมีกายนอก กายใน กายนอกหมายถึงว่าเรานึกเอาขึ้นมาก่อน เรานึกขึ้นมามันเป็นกายนอก คือเป็นสัญญาที่เรานึกภาพขึ้นมา ถ้าจิตยังไม่สงบ ความเห็นกายอย่างนี้มันทำให้เราไม่คิดออกนอกลู่นอกทาง การเห็นกายคือการเห็นซากศพ เห็นต่างๆ จิตใจเรามันไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป นี่เป็นกายนอก

 

แต่ถ้าเราพิจารณากายนอกจนจิตมันสงบระงับ มันไม่คิดฟุ้งซ่านไป จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา ถ้ามันเห็นกายจากภายใน เห็นกายจากภายในคือมันเห็นนิมิตขึ้นมา มันขนพองสยองเกล้า เพราะมันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนหัวใจ

 

ฉะนั้น เวลาบอกว่า “ต้องทำให้จิตเป็นสมาธิก่อนหรือเปล่าครับ”

 

ที่เราทำกันอยู่นี่ สมาธิเราจะไปเช่าไปซื้อเอามาจากใครมันไม่มี สมาธิเราต้องทำขึ้นมา สมาธิยังไม่มีขึ้นมา จิตเราไม่ตั้งมั่น เราพิจารณากายโดยกายนอก โดยคิดว่าเป็นอสุภะที่เป็นซากศพ พิจารณาก็ได้ พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามาแล้วถ้ามันน้อมไปเห็นกาย อันนั้นเป็นกายใน

 

กายในมันกายเกิดจากจิต เกิดจากจิตมันรู้ จิตมันสัมผัส พอจิตมันรู้ จิตมันสัมผัส จิตมันจะสะเทือนมาก จิตมันจะหวั่นไหวมาก แต่ถ้าเห็นกายนอกเห็นแล้วมันสลดสังเวชเฉยๆ กายนอกเรารู้แล้วเราก็สลดสังเวช เราสังเวชกับชีวิต สังเวชว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันสังเวช นี่เป็นกายนอกให้จิตมันสงบระงับเข้ามา

 

ถ้าสงบเข้ามาแล้วมันเห็น จิตเป็นสมาธิแล้วมันเห็นกายใน พอเห็นกายในมันสะเทือนหัวใจ โอ๋ย! มันสะเทือนมากนะ มันสั่นไหวไปหมดเลย แล้วพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะสำรอกคายออกไปเรื่อยๆ

 

ฉะนั้น เขาบอกว่า “ต้องเป็นผู้ที่ชำนาญเท่านั้นใช่ไหมถึงจะดูเมื่อไหร่ก็ได้”

 

จะดูเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าจิตมันดีก็ได้ ถ้าจิตมันไม่สงบก็ต้องทำความสงบของใจ ถ้าผู้ชำนาญเขาจะรู้ว่าเมื่อใดควรทำให้สงบ เมื่อใดควรทำสมาธิ เมื่อใดควรจะพิจารณากาย นี่ถ้าผู้ที่ชำนาญ

 

ถ้าผู้ที่ไม่ชำนาญ ทำสิ่งใดทำหน้าเดียว แล้วหน้าเดียวทำแล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน มันจะไม่ได้ประโยชน์ นี่มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าเราทำไป ความชำนาญก็ชำนาญเฉพาะตน เราก็ต้องทำของเราขึ้นมา

 

ฉะนั้น เขาถามว่าทำอย่างนี้ถูกไหม แล้วจังหวะควรที่อธิษฐานดูเอาเมื่อไหร่

 

อธิษฐานเอา ปรุงแต่งเอาขึ้นมา จะไม่มีเลยก็ไม่ใช่ มันไม่มีเลย เพราะถ้าเราจิตสงบแล้วเราอยากจะเห็น มันไม่มีประเด็น จิตมันก็ไม่เป็นไป แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ เวลาจิตสงบแล้วมันจะเห็นเลย นี่บุญที่ทำมา

 

บุญที่ทำมา คนแต่ละคนมันแตกต่างกัน ถ้าแตกต่างกัน มันอยู่ที่บุญ อยู่ที่บุญของคน อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน วิธีการพิจารณา วิธีการปฏิบัติแตกต่างหลากหลายมาก ไม่มีสูตรสำเร็จหรอก

 

ไม่มีสูตรสำเร็จคือว่าจิตของคนมันไม่เสมอภาคกัน จิตของคนแต่ละดวงมันสร้างบุญญาธิการมาแตกต่างกัน แม้แต่พิจารณากายเหมือนกัน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่บัว พิจารณากายทั้งนั้นน่ะ แต่พิจารณากายโดยไม่เหมือนกัน พิจารณากายไม่เหมือนกันเพราะอะไร ไม่เหมือนกันเพราะมันเกิดจากอำนาจวาสนาของจิตแต่ละครูบาอาจารย์แต่ละองค์มันไม่เท่ากัน

 

ความไม่เท่ากัน ความรู้ความเห็น ปัญญา เหมือนเรา เราเรียนมาด้วยกัน อยู่ห้องเดียวกัน ปัญญาไม่เท่ากันหรอก ความถนัดก็ไม่เท่ากัน ความชอบก็ไม่เท่ากัน แต่จบมาด้วยกัน นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากายไม่เหมือนกัน

 

ฉะนั้น กรณีนี้บอกว่า “หลวงพ่อ ถูกหรือผิด”

 

ประสบการณ์ของเรา เราทำของเราขึ้นมา ที่ทำมานะ เราทำความสงบเข้ามา กำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แล้วถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้าเห็นกาย พิจารณากายได้ก็ได้

 

ฉะนั้นเขาบอกว่า “ถ้าผู้ที่มีความชำนาญแล้วดูเมื่อไหร่ก็ได้ใช่ไหม”

 

ผู้ที่มีความชำนาญ ผู้ที่มีความชำนาญก็พลาดได้ ผู้ที่มีสติปัญญา ๔ ขายังรู้พลาด ๔ ขามันยังล้ม ชำนาญขนาดไหนมันก็ต้องมีสติ ถ้ามันขาดสติ เดี๋ยวมันก็เสื่อม จะชำนาญไม่ชำนาญ อันนี้พูดถึงว่าเราทำของเรา เขาถามว่าถูกหรือไม่ถูก นี่การพิจารณากาย

 

อันนี้สิ อันนี้ยาวนิดหนึ่ง ตอบอันนี้ไว้ก่อน เพราะอันนี้ถามปัญหาเยอะมาก

 

ถาม : เรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิหรือไม่”

 

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ กระผมได้ทดลองใช้อุบายอย่างหนึ่งในการนั่งสมาธิดู คือว่าโดยปกติแล้วเวลากระผมนั่งสมาธิ ใจมักจะคิดฟุ้งซ่านไปนอกเรื่องนอกราว เผอเรอบ่อยๆ อยู่กับพุทโธไม่ค่อยจะได้ เวลาลองจับลมหายใจก็มักจะเจอช่วงที่ลมหายใจตีบตัน อึดอัด หายใจไม่ออก จึงหาวิธีแก้ไขอยู่ครับ

 

กระผมเคยคิดว่า อ้าว! ถ้าอย่างนั้นจิตเรามันชอบคิด ก็ลองให้มันคิดเสียเลย แต่ให้จดจ่อกับความคิดเพียงแค่เรื่องเดียว ถ้าคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ ให้คิดเรื่องนั้นจนกว่าจะจบ ห้ามไปคิดนอกเรื่องหรือเรื่องอื่นจนกว่าเรื่องเก่าจะจบ แล้วในที่สุดวันที่ภาวนานั้นมีเรื่องที่บ้านผมเข้ามาให้คิดพอดี จึงตัดสินใจหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

 

หลังจากที่ได้ทดลองวิธีการนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือระหว่างที่คิดไปเรื่อยๆ จะมีบางช่วงที่จิตเราเหมือนดิ่งลง ลึกลงไปขณะที่คิดอยู่นั่นเอง บางช่วงก็เป็น บางช่วงก็นิ่งๆ แต่ยังคงจดจ่ออยู่กับเรื่องเดียวกันนี้อยู่ครับ

 

จนกระทั่งถึงที่จุดสุดท้ายที่ผมได้บทสรุปความคิดนั้นแล้ว ผมเกิดอาการรู้สึกตัวเองดิ่งลงวูบเลย เป็นการดิ่งที่หนักหน่วงและชัดเจนมาก มากกว่าตอนขณะคิดอีก รู้สึกเหมือนจะตีลังกาไปเลย และรู้สึกมันเงียบสงบมาก ทั้งๆ ที่ผมยังได้ยินเสียงรถภายนอกที่แล่นอยู่ แปลกมากครับ ผมเลยพิจารณาความเงียบตรงนั้นว่าจะอยู่นานแค่ไหน มันอยู่สักพักมันจึงจางคลายไปครับ

 

ผมเลยหยิบเรื่องที่สองมาคิดต่อ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องแรก เพียงแต่คนละประเด็น คราวนี้เกิดอาการคิดไปได้ไม่ไกลครับ เหมือนความคิดมันตีบตัน วนเวียน ไม่เหมือนครั้งแรกเลย คิดเท่าไรก็คิดไม่ลื่น เหมือนกับเหนื่อยเลยครับ ผมเลยถอยกลับมาท่องพุทโธ แล้วก็ดูอาการของจิตขณะนั้นมันโล่งๆ แต่ไม่เหมือนกับความเงียบตอนนั้น พุทโธก็ไม่ค่อยชัดเจน สุดท้ายผมเลยคลายจากสมาธิ นั่งไปราวๆ หนึ่งชั่วโมงนิดๆ

 

กระผมเลยอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า การภาวนาอย่างนี้ถูกหรือผิด หรือผิดทั้งหมดตั้งแต่ต้นครับ ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยอธิบายหน่อย

 

ตอบ : อธิบายปัญญาอบรมสมาธิ การที่อธิบายปัญญาอบรมสมาธิคือเราใช้ความคิด ถ้าพุทโธๆ คือพุทธานุสติ นี่คือสมาธิอบรมปัญญา ทำสมาธิให้เกิดขึ้นแล้วเราจะอบรมปัญญา สร้างสมปัญญา ฝึกหัดภาวนาให้เกิดปัญญาขึ้นมา

 

ฉะนั้น ถ้าเวลาจิตมันศรัทธามันไม่มั่นคง พุทโธๆ แล้วไม่ได้ประโยชน์ พุทโธแล้วมันมีปัญหา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิคือความคิด ความคิดอย่างนี้ที่ว่าทำอย่างนี้ถูกต้อง ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คิดของเราไปเรื่อย มีสติกำกับดูความคิดนั้นไป

 

ปัญญา คือปัญญาความคิด การแสดงออกของจิตแล้วมีปัญญาควบคุมไป พอปัญญาควบคุมไป มันรู้เห็นผิดชอบชั่วดี แล้วพอผิดชอบชั่วดี มันคิดหนึ่งเดียว คิดหนึ่งเดียว มันเหมือนพุทโธนี่แหละ แต่ว่ามันเป็นความคิด

 

แล้วถ้าความคิด ถ้าคิดหลายเรื่องมันมีอารมณ์ มีความรู้สึก อารมณ์นั้นมันก็ซาบซึ้งกับอารมณ์นั้น แต่คิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีสติควบคุมไป ให้จิตมันทำงานให้ถึงเต็มที่ของมัน ถ้าเต็มที่ของมันแล้ว ถึงที่สุดแล้วก็สมบัติบ้าทั้งนั้นน่ะ เพราะความคิดมันคือปรุงแต่งมาจากใจ มันสมบัติบ้า เอ็งเป็นคนบ้า พอเห็นว่าเป็นคนบ้า มันรู้ เออ! รู้ว่ากูบ้ากูก็ปล่อยไง กูหายบ้า หายบ้ามันก็ดิ่ง หายบ้ามันก็ปล่อย นี่คือสมาธิ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

 

พูดถึงว่า ถูกไหม

 

ถูก

 

แล้วคิดเรื่องที่ ๑ มันดีมากเลย คิดแล้วมันปล่อยวาง มันวูบ พอจะมาคิดเรื่องที่ ๒ คิดช่วงที่ ๒ มันไม่เห็นดีเลย มันตื้อไปหมดเลย

 

คิดเรื่องที่ ๑ มันทำด้วยเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง มันทำโดยวิทยาศาสตร์ ทำโดยพุทธศาสน์ ทำโดยข้อเท็จจริงมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ พอเรื่องที่ ๒ มันติดใจเรื่องที่ ๑ ไง โอ้โฮ! เมื่อกี้นี้มันดีมากเลย มันวูบนะ โอ้โฮ! มันสดชื่นมากเลย พอคิดครั้งที่ ๒ มันจะเอาอีกไง อดเลย มันตีบตันเลย เห็นไหม นี่กิเลสมันเข้ามาแทรก

 

ทำไป พอรู้ว่ากิเลสมันแทรกก็วางไว้ เดี๋ยวทำใหม่

 

นี่ถามว่า การภาวนาอย่างนี้ถูกหรือไม่

 

ถูก

 

การภาวนานี้ผิดหรือถูก

 

ถูก

 

ถูกแล้วทำไมครั้งที่ ๒ มันทำไม่ได้ล่ะ

 

มันถูก ถูกโดยที่ว่ามันวางใจเป็นกลางได้มันก็ถูก พอสิ่งที่ทำมาถูกไหม ถูก แต่กิเลสมันเข้ามาแทรก มันเลยทำให้ผิด

 

หรือผิดทั้งหมด

 

ถูก ถูก มีสติปัญญาไล่ไปอย่างนี้

 

แต่ทำไมครั้งที่ ๒ ไม่เหมือนครั้งที่ ๑

 

ครั้งที่ ๒ เพราะมันรู้ผลลัพธ์แล้ว มันอยากให้ดีมากกว่านั้น คนอยากได้อยากดี ตัณหาซ้อนตัณหา แต่เวลาเราพิจารณาไป เราพิจารณาโดยข้อเท็จจริง วิทยาศาสตร์ เราทำหน้าที่การงานของเรา มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นอย่างนั้น มันจะได้ก็ได้ มันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ก็คือความเพียร ปฏิบัติของเราไป

 

นี่ถูก ถ้าทำอย่างนี้ถูก นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ นี่แหละปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าถูก มันก็เหมือนประเด็นแรก แต่ถ้ากิเลสเข้ามาแทรก มันก็เหมือนประเด็นที่สอง

 

ความคิดครั้งแรกมันดี นี่ถูกต้อง เพราะคนเรามันยังไม่รู้ว่าทำแล้วมันจะถูกหรือผิด มันทำไปโดยข้อเท็จจริง แต่ครั้งที่สองมันรู้แล้ว ครั้งแรกมันเคยได้ ครั้งที่สองมันก็เลยแทรกเข้ามา ก็เลยตีบตันหมดเลย

 

เอ๊ะ! ถ้ามันถูก ทำไมครั้งแรกมันทำได้ ถ้าถูก ครั้งที่สองทำไมมันทำไม่ได้ล่ะ

 

กิเลสมันร้ายนัก กิเลสมันร้ายอย่างนี้ ฉะนั้น ให้ทำไป ฉะนั้น ตอบแค่นี้ ยังมีปัญหาข้างหน้าอีกเยอะแยะมากเลย เพราะถามแล้วถามต่อเนื่องไป

 

ถูกแล้วแหละ ถูก แต่ค่อยๆ ทำไปเพื่อประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ

 

ฉะนั้น กาลามสูตร อย่าเชื่อแม้แต่คำถามแรก ความหวังดีนั่นก็อย่าเชื่อ เราต้องพิสูจน์ด้วยผู้พิพากษา ด้วยลิ้น

 

คำถามที่สอง เรื่องการดูกาย การดูกาย ถ้าชำนาญไม่ชำนาญ นี่ก็เป็นความเชื่อของเรา มันไม่ใช่เป็นความจริงของเรา ก็อย่าเชื่อ

 

ปัญญาอบรมสมาธิจริงหรือไม่จริง ก็อย่าเพิ่งเชื่อ

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร อย่าให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา อย่าให้เชื่อว่าอนุมานเอาว่าได้ อย่าให้เชื่อว่าเราเคยปฏิบัติได้ แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา กาลามสูตร อย่าให้เชื่อ แต่ให้ได้รับสัมผัสผลอันนั้น ผลอันนั้นจะเป็นประโยชน์กับหัวใจของเรา เอวัง