ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฟังธรรมเอา

๒๓ มี.ค. ๒๕๕๗

ฟังธรรมเอา

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องกามราคะ อวิชชา

รบกวนหลวงพ่อช่วยแนะนำเกี่ยวกับกามราคะ อวิชชา ฟังเทศน์หลวงตาแล้วสนใจ แต่ยังไม่เข้าใจ ยังติดตามเทศน์ของหลวงพ่ออยู่ตลอดไปค่ะ ขอบคุณ

ตอบ : นี่เขาถามปัญหามาบ่อยมาก แล้วตอบปัญหาไปจนเคลียร์หมดแล้ว พอเคลียร์หมดแล้วก็ฟังเทศน์

เวลาเราฟังเทศน์ เราแสวงหา เราก็มีปมในใจว่า เราปฏิบัติไปแล้วจะถูกต้องหรือเปล่า ทำแล้วมันจะชอบธรรมไม่ชอบธรรม เราก็มีความสงสัยไป มีความสงสัยก็ถามมาเรื่อย ก็เคลียร์ไปเรื่อย เคลียร์ทีละประเด็นๆ เคลียร์ไปจนตอนนี้ไม่มีปัญหาแล้ว ไม่มีปัญหาก็ไปฟังเทศน์หลวงตา

ฟังเทศน์หลวงตาเรื่องกามราคะ อวิชชา แล้วสนใจ แต่ไม่เข้าใจ หลวงพ่ออธิบายที

นี่ยังดีนะ ยังดีว่า การฟังธรรม การฟังธรรมคือสิ่งที่ชักนำเรา ธรรมะไง ธรรมะ ธรรมะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ธรรมะอย่างหยาบๆ ดูสิ เช่น เราไปวัดไปวากัน คนที่ไปวัดได้ เขาไปวัดด้วยความภูมิใจของเขานะ

แต่คนที่เขาไม่ไปวัด เขามองแล้วเขาขวางตา พวกนี้ไม่รู้จักทรัพย์สมบัติ ไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เอาไปให้คนนู้นคนนี้...คิดไปนู่นน่ะ เพราะจิตใจเขาหยาบ

ถ้าจิตใจเขาสูงส่งนะ เขาทำได้ทุกๆ อย่างแหละ สิ่งที่เขาทำมันของเล็กน้อยทั้งนั้นน่ะ เพราะจิตใจของเขา น้ำใจของเขามหาศาล ฉะนั้น สิ่งที่แสดงออก แสดงออกอย่างไร นี่ใจของคนไง ใจคนหยาบ ใจคนละเอียดนี้แตกต่างกันนะ

ทีนี้เหมือนกัน ถ้าใจคนมันหยาบๆ มันรับอะไรไม่ได้เลย มันคิดเป็นวิทยาศาสตร์ไง ของเราก็คือของเรา ของเขาก็คือของเขา ไม่เกี่ยวกัน

ของเราเป็นของเรา ของเราเป็นของเราโดยสมมุติ ของเราในปัจจุบันนี้ ถ้ามันหายจากเราไป มันตกหาย เป็นของเราไหม ถ้าเราตายไปจากมัน เป็นของเราไหม นี่พระพุทธเจ้ามองตรงนี้ มันเป็นของเราชั่วคราวไง

พระพุทธเจ้าบอกขนาดนี้นะ บอกว่า คนเรามันเปรียบเหมือนบ้าน แล้วโดนไฟไหม้ บ้านเราโดนไฟไหม้นะ ถ้าคนฉลาดขนทรัพย์สมบัตินั้นออกจากบ้านไปเท่าไร ไฟไหม้บ้าน เราก็ขนของออกมา ใครขนของออกจากไฟไหม้บ้านนั้นเท่าไรก็ได้เท่านั้น

ใครโง่ไง บ้านของเราไฟไหม้นะ โอ๋ย! ไฟไหม้ ไฟไม่เกี่ยวกับเรา ไฟอยู่นอกบ้าน มันไหม้บ้านนั้นไปหมดเลย ชีวิตนี้หาทรัพย์สมบัติไว้ก็ของเราๆ ไฟก็ไหม้บ้านคืออายุขัย ไหม้บ้านจนหมดอายุขัยไป สมบัติก็ตกอยู่ในโลกนี้ เอ็งไปแต่จิตเอ็งทุกข์ๆ ยากๆ ไปนั่นน่ะ

แต่ถ้าเอ็งขนของเอ็งออก ขนของออกจากบ้าน สละไป ทำบุญกุศลเสียสละไป เสียสละไปนั้นมันเป็นวัตถุ แต่จิตใจ จิตใจเป็นคนให้ นี่ทิพย์สมบัติ จิตใจเป็นคนให้ จิตใจเป็นคนรู้ เวลาตายไป จิตออกจากร่างนี้ไป จิตมันเป็นคนให้ จิตเป็นคนรู้ จิตนี้มันก็เอาของมันไป วัตถุนั้นก็ตกอยู่กับโลกนี้ แต่ถ้าเราเก็บไว้ของเรา แล้วไฟไหม้หมดเลย จิตมันไม่ได้ให้ จิตมันไม่ได้ให้ ตายไปมันก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีทิพย์สมบัติตามไป

เราจะบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจิตใจท่านสูงส่ง ท่านรู้ อนาคตังสญาณท่านแจ่มแจ้ง แจ้งโลกนอกโลกใน โลกนอก โลกนอกก็โลกของเรา โลกในคือโลกทัศน์ คือจิตใจของเรานี่ก็โลกหนึ่ง ท่านรู้ถึงว่าโลกในมันจะเวียนว่ายตายเกิดอย่างใด ท่านสอนไว้ไง ท่านสอนไว้

แต่พวกจิตใจเรามันตาวิทยาศาสตร์ ตาโลกไง ของกูๆๆ กูไม่ให้ ก็ของกู แต่ถ้าพระพุทธเจ้า ของเราโดยสมมุติ โดยสมมุตินี่ถูกต้องชอบธรรม เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเรา เราใช้จ่ายไป เขาพลัดพรากจากเราไป เราใช้จ่ายใช้สอย เขาก็พลัดพรากจากเราไป ถ้าเราพลัดพรากจากเขา เราก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา แต่จิตใจเราต่ำ เราคิดอย่างนี้ไม่เป็น นี่เพราะจิตใจเราต่ำไง ถ้าจิตใจเราสูงนะ เราจะคิดอย่างนี้ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ได้ เห็นไหม ฟังธรรม ฟังธรรมอย่างนี้ ถ้าเราพัฒนาของเรา เราเสียสละได้ ไอ้ที่ว่าของกูๆ

กรณีอย่างนี้นะ ถ้าจิตใจคนสูงส่งนะ มันจะร่มเย็นเป็นสุข สังคมจะชื่นบาน สังคมจะอบอุ่น สังคมจะดีงามไปหมดเลย เพราะต่างคนต่างมีน้ำใจต่อกันน่ะ น้ำใจ ถ้าไม่ฝึกอย่างนี้มันมาจากไหนล่ะ คนมันตระหนี่ มันยังงัดเอาในบ้านมันเลย ไม่ให้ เดี๋ยวจะงัดให้หมดเลย นี่ถ้าจิตใจเขาต่ำเป็นอย่างนั้น

ทีนี้มาฟังเทศน์ๆ ก็เหมือนกัน ถ้าฟังเทศน์นะ ถ้าจิตใจของเรา มันมีอะไรล่ะ มันมีสิ่งใดที่มันเป็นปมในใจ สิ่งต่างๆ มันก็เคลียร์ของมันไป ถ้าเคลียร์ไปแล้ว พอหมดปมอันนี้แล้วมันจะภาวนาก็ง่ายนะ

เวลาจะนั่งภาวนาไม่มีหรอก มรรคผลมันจะมีได้อย่างไร ไม่มีหรอก เรานี่ฉลาดมาก เราก็พิสูจน์ได้ มันไม่มีหรอก มันจะมีมาจากไหนนี่จะนั่งสมาธินะ กิเลสมันหลอกแล้ว ถ้าบอกไม่มีนะ ไม่มีก็ไม่ต้องนั่งไง ไม่มีก็ไม่ต้องทำไง มันบอกว่าไม่มี แล้วมันก็บอกว่ามรรคผลไม่มีไงมันเป็นนามธรรม ศีล สมาธิ ปัญญามันเป็นนามธรรม นามธรรมมันก็พิสูจน์ไม่ได้ เออ! มันก็ไม่มีนี่กิเลสมันยุ ยุว่าไม่มี มันบอกว่าไม่มี ไม่มีเพื่ออะไรล่ะ ไม่มีเพราะเราไม่ต้องทำดีไง

แต่ถ้าบอกว่ามีล่ะ อ้าว! บอกว่ามี มีก็ต้องอยากได้ อยากได้ก็ต้องแสวงหา เออ! ถ้าอยากได้ก็ต้องบังคับตน ถ้าบังคับตนมันก็เกิดการกระทำขึ้น ถ้าเกิดการกระทำขึ้นมา ถ้ามันมีปมมันก็อ้างแล้ว นู่นก็ไม่จริง นี่ก็ไม่จริง มันว่าตัวเองคิดดีหมดล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกาลามสูตร อย่าให้เชื่อๆ แต่มันเชื่อไปแล้ว เพราะเราคิดเอง เราก็เชื่อของเราไป พอเชื่อของเราไปมันก็รวนเร ทีนี้รวนเร มันเรรวนไปหมด

เวลาปัญหาเขาถามมาๆ บอกเข้าใจแล้ว เข้าใจว่ามั่นใจ เพียงแต่ว่าทำให้เรามีความมั่นใจ ทำให้เราอยากกระทำ

อันนี้ศรัทธา ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อริยทรัพย์ในโลกนี้ ศรัทธา

ความเชื่อ บอกว่าความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ๆ แต่ถ้าไม่มีความเชื่อ ไม่มีศรัทธานะ เพราะศรัทธามันเป็นหัวรถจักร ศรัทธาดึงให้เรามาทำบุญ ศรัทธามันให้เราเปิดหู เปิดหู ถ้าไม่ศรัทธามันปิดหู กูแน่ กูเก่ง กูยอด แต่ถ้ามีศรัทธา มันเปิดหู เปิดนี่เปิดฟัง เปิดรับรู้

ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์ ศรัทธาเป็นหัวรถจักรลากให้เราได้แสวงหา ลากให้เรามีการกระทำ ลาก ลากมา ลากมาเพื่อให้ศึกษา ศึกษาค้นคว้า ค้นคว้าเอาความจริงไง

ถ้าศึกษาค้นคว้าไป ศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ สัจธรรมต่างหาก มรรคญาณต่างหากถึงจะแก้กิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีการแสวงหา เราจะทำอะไรกัน

เราจะเป็นคนดีคนชั่วมันอยู่ที่การกระทำ เห็นไหม คนไม่ใช่ดีเพราะการเกิด ไม่ใช่ดีเพราะวัดกันด้วยวุฒิภาวะ ไม่ใช่ ดีที่การกระทำ ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้ามันทำดีของมัน แต่ถ้าจะทำอย่างนั้นได้มันต้องมีจิตใจที่เปิดโล่ง ถ้าเปิดโล่ง ฟังธรรมๆ มาแล้วมันเข้าใจ

ทีนี้พอไปฟังเทศน์หลวงตา หลวงตาท่านเทศน์เรื่องกามราคะ เรื่องอวิชชาหนูฟังเทศน์หลวงตาแล้วหนูสนใจ แต่ไม่เข้าใจ หลวงพ่อช่วยอธิบายที

โอ้โฮ! อธิบายทีนะ กามราคะ กามคุณ วัตถุที่เป็นกามก็มี วัตถุที่เป็นกาม กามคุณ สิ่งที่ข้าวของวัตถุ กาม กามภพ กามคือสิ่งที่เราแสวงหา เราอยากได้ นั่นคือกาม นี่พูดถึงว่าเอากามหยาบๆ ก็ได้ แต่กามราคะมันอีกไกลนัก กามราคะ ปฏิฆะ นี่พระอนาคามี พระอนาคามีจะละได้ ถ้าละกามราคะได้ก็ละโกรธ ละโลภได้

ความโลภ ความโกรธเกิดจากกามราคะ เกิดจากการแย่งชิง เกิดจากการยึดมั่นถือมั่น กามฉันทะ เพราะมีตัวตน มีฉัน พอมีฉันถึงมีเธอ ถ้าไม่มีฉัน จะมีเธอหรือ เออ! เพราะมีฉัน เพราะมีเรา เราถึงรักเขา

แต่ความจริงไม่ใช่หรอก ว่าเรารักเขาๆ ไม่ใช่หรอก มึงรักตัวมึงเอง ไม่มีมึง มึงจะไปรักใคร ต้นไม้มันรักใครล่ะ ต้นไม้มันไม่รักใครหรอก เสาก็ไม่รักใคร มันไม่มีชีวิต แต่เสามันมีชีวิต พอมีชีวิตมันก็เรียกร้องแล้วนะ พอมีชีวิตใช่ไหม ก็ต้องมีอาหาร ต้องมีทุกอย่างเลย นี่เพราะมีเรา ต้องมีฉันทะ มีกามฉันทะถึงมีกามราคะ ถ้ามีกามราคะ

นี่พูดถึงว่า ถ้าพูดถึงจะละกามราคะ

ละกามราคะก็ละกามภพ

ฉะนั้นบอกว่า สนใจเรื่องกามราคะ เรื่องอวิชชา

ถ้าอธิบายทางวิชาการ วิชาการก็วิชาการ เวลาเขาเขียน อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทนะ เขียนเป็นโครงสร้าง พวกเราศึกษากันนะ อู้ฮู! ทึ่ง อึ้งเลยนะ โอ้โฮ! สุดยอดเลย

ไอ้พวกเราไปดูแล้วนะ มันเหมือนกับวิทยาศาสตร์ มันเป็นสูตรใช่ไหม พอเป็นสูตร เราก็คิดถึงวิทยาศาสตร์ในระดับเดียวใช่ไหม แต่ธรรมะนี่นะ มันมีบุคคล ๔ คู่ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ เห็นไหม บุคคล ๔

บุคคล ๔ คู่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถ้านิพพาน ๑ โสดาบันเป็นอย่างไร โสดาบันละสังโยชน์ ๓ ตัว พระสกิทาคามี กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง พระอนาคามีละกามราคะ ปฏิฆะเด็ดขาด แต่สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์อีก ๕ ตัว ถ้าสังโยชน์ ๕ ตัว ถ้าละตรงนั้นหมด นี่อวิชชา ฉะนั้น มันมีสังโยชน์เบื้องต่ำและสังโยชน์เบื้องสูง นี่พูดถึงในภาคปฏิบัติ

ทีนี้ในภาคปฏิบัติ เวลาพูดถึงเรื่องนี้เขาจะพูด เวลาพระคุยธรรมะกันนะ พระเขาจะวัดภูมิกัน เวลาเขาวัดภูมิกัน เขาจะพูดธรรมะกัน ถ้าพูดธรรมะกัน พูดนี่เขาจะรู้เลยว่าคนไหนอยู่ขั้นไหน คนไหนสูงต่ำแค่ไหน

ถ้าคนไหนสูงต่ำแค่ไหนนะ เวลาเราพูด อย่างเรา เราเพิ่งปฏิบัติใหม่นะ กำลังเสร่อ แหม! อวดดีมากเลย อู๋ย! จิตสงบเลยนะ มันละกามราคะ อวิชชาไม่มีเลย โอ๋ย! มันเสร่อ ไอ้คนที่เขาเป็นเขาฟังนะ โอ๋ย! ไอ้นี่เสร่อ เสร่อเพราะอะไร เพราะพูดธรรมะทางวิชาการเพี๊ยะๆๆ เลย อ้าว! กามราคะ ปฏิฆะ อวิชชา ปฏิจจสมุปบาท โอ๋ย! ฉันรู้หมดเลย ฉันวางได้หมดเลย ฉันปล่อยหมดเลย...เสร่อ เสร่อเลย อ้าว! ก็มันไม่มีที่มาที่ไป มันไม่มีที่มาที่ไป

ถ้ามีที่มาที่ไป กรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ เวลาท่านคุยกัน เวลาหลวงตาท่านไปถามหลวงปู่แหวนไง ถามเลย เริ่มต้นถามหลวงปู่แหวน เพราะเห็นหลวงปู่แหวนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วมีชื่อเสียง หลวงปู่มั่นเชิดชูมา ทำไมหลวงปู่แหวนออกเราสู้ๆหลวงตาท่านก็แปลกใจ เอ๊ะ! เราสู้ๆ เราสู้เป็นร้อยๆ รุ่น ท่านก็เอ๊! นี่เป็นเรื่องโลก แล้วเรื่องสัจจะ เรื่องอริยสัจภายใน ท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่แหวน ก็ไปถาม หลวงปู่แหวนตอบเลย

ถามคำแรก ท่านตอบไป ๑๐ กว่านาที พอเบื้องต้นถูกใช่ไหม ต้นทางถูก ท่านถามซ้ำเข้าไปเลย พอซ้ำไป หลวงปู่แหวนท่านอธิบายซ้ำเลย อีก ๔๕ นาที นี่ไง อวิชชา กามราคะ อวิชชา อธิบายเต็มที่เลย พออธิบายเสร็จ ท่านพูดกับหลวงตานะมหา มหาค้านไหม มหามีอะไรสงสัยไหม ค้านมา

หลวงตาท่านบอกว่า เกล้ากระผม พระผู้น้อยไง พระผู้น้อยกับพระผู้ใหญ่ ผู้ที่มีคุณธรรมกับผู้ที่มีคุณธรรม บัณฑิตกับบัณฑิตท่านสนทนากัน หลวงตาท่านกราบหลวงปู่แหวนเกล้ากระผมไม่คัดค้านครับ เกล้ากระผมแสวงหาธรรมะอย่างนี้ครับ เกล้ากระผมอยากแสวงหาธรรม ฟังธรรมะอย่างนี้ครับ

ท่านกราบ กราบเชิดชูธรรมของหลวงปู่แหวนแล้วก็จบ นี้คือสัจธรรมในใจของหลวงปู่แหวน แต่ไอ้เราสู้ๆสิ่งที่กระทำนี่ท่านทำเพื่อโลก โลกเขาแสวงหากัน โลกไปขอท่าน โลกไปให้ท่านทำ ท่านก็ทำเพื่อโลก เพราะจิตใจของสังคม จิตใจของโลกเขาเข้าถึงสัจธรรมไม่ได้ เขาจะอาศัยที่พึ่งด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา แต่ความจริงนักปฏิบัติมันต้องเข้าสู่สัจธรรมอันนี้ นี่ไง เวลาธรรมะเขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างนี้ เขาคุยกัน เพราะคนถาม นี่ไง ปกหลังประวัติหลวงปู่มั่นไม่รู้ ถามไม่ได้ ไม่รู้ ตอบไม่ได้ ไม่รู้ ทำไม่ได้

ไม่รู้ก็ถามไม่ได้ ถามนี่ เราจะใช้คำพูดอย่างไร ถามเรื่องอะไร มันเป็นนามธรรม เราจะถามเรื่องอะไร เรารู้อะไร แต่นี่ปฏิบัติใหม่ยังเซ่ออยู่ไง แหม! สุดยอดเลย กามราคะก็วางได้ โอ๋ย! ปฏิฆะนี่รู้หมดเลย โอ๋ย! อวิชชาไม่มีในหัวใจเลย...เสร่อ

ถ้าคนเป็นนะ เขาจะถามว่าปฏิบัติอย่างไร คือเริ่มต้นนะ สิ่งที่ทำ โยมมา โยมจะมาทานข้าว โยมมาทำบุญที่นี่ โยมจะมาทานข้าว เราไม่มีภาชนะสิ่งใดให้โยมได้ตักข้าวทานเลย โยมจะทานข้าวได้ไหม โยมจะเอามือจับอาหารใส่มือ แล้วก็เปิบกันในมือนี้หรือ ถ้าโยมจะมาทานข้าว เราเป็นเจ้าภาพ เราก็ต้องมีถ้วยมีจานทุกอย่างพร้อมไว้เพื่อให้โยมได้ตักข้าวมาใส่จานใส่ชามเพื่อมาทานข้าวกัน

เอ็งจะประพฤติปฏิบัติ หัวใจของเอ็ง เอ็งทำความสงบของใจให้เป็นภาชนะ ให้เป็นสิ่งที่สมควรแก่ธรรมหรือยัง เอ็งจะแสวงหาธรรม เอ็งมีภาชนะ เอ็งมีสิ่งใดที่จะตักตวงมรรคผลนิพพาน เอ็งมีสิ่งใดที่เอ็งจะให้ได้สัมผัสธรรม เอ็งมีสิ่งใด เอ็งมีสิ่งใด

เอ็งไม่มีสิ่งใดเลย เอ็งบอกว่า เชิญประชาชนทั้งหลายมาใช้สอยที่นี่ ที่นี่อุดมสมบูรณ์ แต่มาแล้วทุกคน โทษนะ ถ้าเป็นสังคมเขาก็ด่าเอาเช็ดเลย เพราะเชิญเขามาแล้วไม่มีอะไรให้เขาเลย ไม่มีสิ่งใดให้เขาได้ใช้สอยเลย แล้วเชิญเขามาทั้งหมดเลย แล้วเขามาแล้วเขาไม่มีอะไรใช้สอยเลย แล้วเราจะเหลือหรือ เราก็แหลกน่ะสิ ก็เชิญเขามา

จิตของเอ็ง เอ็งได้ทำความสงบของใจหรือยัง ใจที่สงบแล้วมันสงบระงับมาจากโลก ถ้าใจไม่สงบระงับมาจากโลก เห็นไหม หมอเวลาจะผ่าตัดคนไข้ คนไข้ต้องทำอย่างไร ต้องทำความสะอาดใช่ไหม เครื่องมือแพทย์ต้องฆ่าเชื้อทั้งหมดใช่ไหม ถ้าเครื่องมือแพทย์ไม่ฆ่าเชื้อทั้งหมด เวลาเอาคนไข้เข้าไปผ่าตัด มาผ่าตัดนะ ไม่ใช่อยากมาติดเชื้อ โรคก็ไม่หาย ได้ติดเชื้อกลับไปอีกด้วย

จิต ถ้ามันไม่มีความสงบของใจเลย คิดสิ่งใดมันมีตัณหาอวิชชา มันมีกิเลสของมันอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เอ็งจะประพฤติปฏิบัติมา

เราเป็นหมอเสร่อ มาได้เลย คนไข้มาได้เลย ผ่าตัดนี่ฉันเก่งมาก ถ้ามีดของฉันก็จอบไง ทั้งจอบทั้งเสียมมาผ่าตัด มันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก เรามีจอบมีเสียม เขาเอาไว้ทำสวนทำนา เขาไม่ได้เอาไปผ่าตัดคน เขาผ่าตัดคนเขาต้องมีเครื่องมือแพทย์ ถ้าเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือแพทย์เขายังต้องไปฆ่าเชื้อ

ในการปฏิบัติมันต้องเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงว่าเวลาผู้ที่ธมฺมสากจฺฉา ผู้ที่มีคุณธรรมเขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างนี้ไง ถ้าคุยกันอย่างนี้เขาจะฟัง เวลาโต้ตอบธรรมะกัน จิตสงบไหม เพราะคำว่าจิตสงบฟังให้ดีนะ จิตสงบ ถ้าเป็นปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียงที่เราสัมผัสกันอยู่นี่มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

มันเป็นบ่วงของมาร คนด่าเราเจ็บไหม นั่นน่ะบ่วงมันรัดคอ ถ้าคนมาชื่นชมล่ะ เป็นพวงดอกไม้ใช่ไหม เขามาเยินยอปอปั้น เขาจะมาหลอกไง เขาจะมาต้มมาตุ๋น เขายกเราเต็มที่เลย จะล้วงกระเป๋า นั่นน่ะพวงดอกไม้แห่งมาร เขาหลอกเขาล่อด้วยพวงดอกไม้ ด้วยคำยกยอปอปั้น แต่ถ้าเขามาทำทุจริตกับเรา นั่นน่ะบ่วงมันรัดคอ แค้น ใครมาติฉินนินทานี่แค้นมากเลย รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี้ปุถุชนคนหนาจะหลบเลี่ยงสิ่งนี้ได้ยาก

เราฝึกหัดใช้ปัญญากัน เราฝึกหัดใช้ปัญญากัน เสียงก็คือเสียง เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากเป็นกิเลส

ความผูกโกรธของเรา ความพอใจไม่พอใจของเราเป็นกิเลส แต่รูป รส กลิ่น เสียงมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ คนสรรเสริญก็คือเขาสรรเสริญ คนด่าก็คือคนด่า สรรเสริญก็ชอบ คนด่าก็โกรธ แล้วมันเป็นอะไรล่ะ ใครเป็นคนโกรธมันล่ะ ก็โง่ไง ก็ดันไปโกรธเขาเอง ไปโกรธเขาเอง ไปหลงเขาเอง เห็นไหม มาร รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

แต่เพราะปุถุชนคนหนา คนหนามันรับไม่ได้ คนหนามันติดพันไปหมด นี่เพราะคนไม่ทำความสงบ แต่ถ้าคนทำความสงบ ทำสมาธินะ คนทำสมาธิเพราะอะไร เพราะมันวางรูป รส กลิ่น เสียงได้

นั่งสมาธิไง คิดแล้ว คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น คนนั้นว่าอย่างนั้นนะ โอ๋ย! ร้อนไปหมดเลย พุทโธๆๆ มันวางหมด มันวางหมด มันวางได้ พอมันวางได้ พุทโธมันก็ชัดขึ้น ชัดๆๆ ขึ้น จนพุทโธมันละเอียดขึ้น จนจิตมันเป็นพุทโธเสียเอง คือมันวางหมดเลย

ถ้ามันวางหมด มันวางได้ มันวางได้เพราะอะไรล่ะ มันวางได้เพราะมีสติ เพราะมีปัญญา มีสตินะ แม้แต่พุทโธก็ต้องมีสติ เพราะอะไร ถ้ามันพุทโธ ถ้ามันไม่มีสตินะ มันบอกพุทโธนะ เอ็งโง่ พุทโธมันมีอะไร ทำไมต้องมาพุทโธ ทำไมต้องมาพุทโธอยู่ด้วย โง่ ไม่ใช้ปัญญา นี่เวลาถ้าไม่มีสติ มันจะมีสิ่งที่สอดแทรกเข้ามา

แต่ถ้าเรามีสติไง เราพุทโธก่อน เป็นพุทธานุสติ เราต้องพุทโธให้จิตสงบก่อน ปัญญาเราจะฝึกทีหลัง ปัญญามันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปข้างหน้า เห็นไหม ถ้าเรามีสติคือว่ามันจะมาล่อเราไม่ได้ไง ถ้าล่อเราไม่ได้ เราก็จะพ้นจากการเป็นปุถุชนไง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนเพราะว่ามันรู้เท่าทันรูป รส กลิ่น เสียง มันปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียง จิตก็สงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว สงบเข้ามาแล้วเวลามันออกรู้ ออกรู้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสติปัฏฐาน ๔

ที่เขาพูดกัน ยกย่องยกยอปอปั้น เห็นไหมที่นี่ปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ กรรมฐานไม่ใช่ปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เพราะกรรมฐานกำหนดพุทโธนี่เป็นสมถะ ไม่ใช่แนวทางสติปัฏฐาน ๔...สติปัฏฐาน ๔ นึกเอา ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

สติปัฏฐาน ๔ นึกเอา วิทยาศาสตร์ไง เปิดตำราแล้วนึกเอาเลย นึกให้มันเป็นอย่างนั้นเลย แล้วก็นึกได้ด้วย นึกได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นอุปาทาน เป็นบ่วงของมาร มันเป็นความนึก มันเป็นรูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นความนึกคิดของเราเอง แต่เพราะกิเลสมันไม่รู้เท่า มันก็ไปติดไง

แต่ถ้ากิเลสมันรู้เท่า ของนึกไม่ใช่ของจริง ของคิดไม่ใช่ของจริง ทุกอย่างไม่ใช่ของจริงหมดเลย พุทโธๆ จนจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบแล้ว พอมันไปเห็นนะ ถ้าของจริงนะ เวลามันเห็น จิตถ้าสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเห็นจริง

คนเห็นจริงนะ มือเรา เราจับของร้อน เราต้องได้ความร้อน มือเราจับของเย็น เราต้องได้ของเย็น จิตถ้ามันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตมันรู้ จิตมันสะเทือน ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริงมันสะเทือนมาก เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ากิเลสมันพาใช้สอย พาไปทำตามความพอใจของมัน พอเรารู้เราเห็นน่ะ

เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นมันถึงหลอก เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นมันถึงขี่คอ เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นน่ะ

ที่นี่ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ไม่รู้ไม่เห็นนะที่นี่ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔แต่ไม่เห็นน่ะ ไม่เห็นมันก็นี่ไง สิ่งที่เป็นอารมณ์นึกเอาไง

แต่ถ้าเราเห็น เห็นจริงนะ จิตสงบ จิตสงบ จิตสงบ เน้นเลย จิตต้องเป็นสมาธิก่อน พอจิตสงบแล้วจิตมันเห็นนะ พอมันเห็นนะ จิตสะเทือนมาก จิตนี้ไหวมาก

จิตมันไหวเพราะอะไร จิตมันไหวเพราะว่าเมื่อก่อนเราผิด เราหลงผิดแล้วเราไม่รู้สึกตัว เราไม่เคยรู้สึกตัวเลย ไปศึกษาธรรมะ ไปค้นคว้ามาแล้วก็ได้ประกาศมาคนละ ๒๐ ใบ แล้วก็ว่ามันเก่ง เก่งมากๆ แต่ไม่เห็นน่ะ เก่งมากๆ แต่ไม่เห็น ไม่เห็น มันก็ไม่มีรสไง ไม่มีรสคือไม่มีความรู้สึกไง

แต่ถ้ามันเห็น มันมีรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของธรรมๆ รสของสติธรรม รสของสมาธิธรรม รสของปัญญาธรรม พอรสของปัญญาธรรมมันเห็นแล้วมันไหว มันสั่นไหว มันสั่นไหวเพราะมันจะสลัดทิ้ง มันสั่นไหวเพราะมันจะสำรอกมันจะคาย มันจะคายของมัน ถ้ามันรู้มันเห็นอย่างนี้ นี่แนวทางสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้ามันยังเสร่อ มันแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นึกเอา คิดเอา อุปาทานเอา วิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเป็นธรรมจะเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้มันจะเป็นจริงไง นี่พูดถึงว่าแนวทางปฏิบัตินะ

เขาบอกว่าให้อธิบายกามราคะ ไม่ใช่อธิบายเรื่องนี้

กามราคะ เราจะบอกว่ามันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเราปฏิบัติไปแบบนี้ ทีนี้กามราคะ ถ้าจะพูดเป็นวิทยาศาสตร์ พูดเป็นทางทฤษฎีก็บอกว่ากามคุณได้ กามคุณ ๕ สิ่งที่เป็นคุณ กามคุณ สิ่งที่เป็นคุณก็เป็นทางเรื่องโลก วัตถุกาม ถ้าวัตถุกาม สิ่งที่เป็นกาม เราก็เทียบเอา

แต่ถ้ากามราคะที่บอกว่าหลวงตาอธิบาย เราจะบอกว่า ฟังเทศน์หลวงตา ฟังธรรมๆ เป็นประโยชน์มาก ฟังธรรม ฟังธรรมจนแบบว่ามันปลดเปลื้องความสงสัยในใจของเรา ปลดเปลื้องความสงสัยไปหมดแล้ว แล้วฟังธรรมหลวงตาท่านอธิบายเรื่องกามราคะ เรื่องอวิชชา แล้วก็อยากจะรู้อยากจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจถึงมาถามหลวงพ่อ ให้หลวงพ่ออธิบาย

อธิบาย มันอยู่ที่มุมมอง อยู่ที่จริต จริตของคนรู้มากน้อยแค่ไหน จริตของคนจะจับต้องตรงไหน จริตไง ดูสิ พระอรหันต์ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ มีความถนัดคนละอย่าง พระอรหันต์เหมือนกัน แต่มีความถนัดแตกต่างกันไป พระอรหันต์ พระอรหันต์หมายถึงว่าเรียนจบ เรียนจบมาด้วยกัน แต่ความถนัดของคน จริตของคนมันแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกัน จริตนิสัยมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น ความแตกต่างมันก็มุมมองต่าง ความแตกต่างมันก็มีทิฏฐิต่าง ความทิฏฐิต่าง ถ้าตรงกับทิฏฐิ ตรงกับมุมมอง มันก็เข้าไปชำระของตัว ถ้าชำระของตัวก็ตรงนั้น

ฉะนั้นบอกว่า ให้อธิบายเรื่องกามราคะ เรื่องอวิชชา

เราก็อธิบายเรื่องสติปัฏฐาน ๔ อธิบายสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่า จะทำอย่างใดก็แล้วแต่ ต้องเข้ามาช่องทางนี้ ถ้าไม่เข้ามาช่องทางนี้คือไม่เข้าสู่ช่องทางของอริยสัจ ไม่เข้าช่องทางของธรรม ถ้าจะเข้าช่องทางของธรรมจะเข้ามาช่องทางนี้ ใครจะพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาสิ่งใดก็แล้วแต่ จะเข้ามาช่องทางนี้

ถ้าเข้ามาช่องทางนี้ เวลาคุยกัน ดูสิ เวลาหลวงตาท่านไปถามหลวงปู่แหวนเกล้ากระผมหาฟังเทศน์อย่างนี้ครับ เกล้ากระผมไม่คัดค้าน เกล้ากระผมๆ

แต่ถ้าฟังไปแล้ว เวลาวิสัชนากันไปแล้วถ้ามันไม่ถูกต้อง เกล้ากระผมจะคัดค้าน เกล้ากระผมจะบอกวิธีการ เกล้ากระผมจะชี้นำ

เกล้ากระผมเพราะอะไร เพราะว่าใครชี้ช่องทางได้ ใครชี้ทางได้นั้นประเสริฐที่สุด อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงว่า ให้อธิบายเรื่องกามราคะ

กามราคะ มันจะรู้เห็น เพราะธรรมดาในการปฏิบัติทุกคนเห็นว่า ในเมื่อกามราคะมันเป็นเครื่องที่ฉุดกระชากในหัวใจเราทั้งนั้นน่ะ ทำสิ่งใดจะให้มันเบาบางลง ทุกคนถึงบอกว่า พอเห็นสิ่งใดที่มันกวนหัวใจก็จะพิจารณาเป็นอสุภะ เป็นกามราคะ

กามราคะมันอยู่ข้างหน้า แต่ถ้าพิจารณาอย่างนั้น พิจารณาเป็นธรรมโอสถ เป็นสิ่งที่มาชักจูง มาเลี้ยงหัวใจตัว เราก็เห็นด้วยนะ

แต่ถ้าบอกว่าถ้าเป็นกามราคะ มันเหมือนกับทางทฤษฎีไง ทางทฤษฎีบอกว่า โทษอย่างนั้นจะให้ผลอย่างนั้น คุณอย่างนี้จะให้ผลอย่างนี้ แล้วเราไปพูดว่าอย่างนี้เป็นกามราคะ เราถึงค้านว่า ในการปฏิบัติเริ่มต้นมันจะเป็นการพิจารณากาย

การพิจารณากาย สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดในกาย ถ้าเราละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็พระโสดาบัน ใครปฏิบัติก็แล้วแต่ ทุกคนต้องเป็นพระโสดาบันก่อน เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี ถึงได้เป็นพระอรหันต์สิ้นสุดแห่งทุกข์ไป

ฉะนั้นบอกว่า เราปฏิบัติแล้วเราจะไปละกามราคะเลย เราจะเป็นพระอนาคามีเลย แล้วโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีมันจะกระโดดข้ามไปไหนล่ะ มันเป็นไปไม่ได้ไง มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้ เราก็ปฏิบัติตามความเป็นจริง ขอให้เราได้หลักตามความเป็นจริงเราก็พอใจแล้ว ถ้าพอใจ มันเป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น เขาว่าให้อธิบายกามราคะเลย เราก็จะโดดข้ามไปเลย อธิบายกามราคะเลย แล้วพอแนวทางการปฏิบัติ ใครมาฟังเข้าก็บอกว่า เออ! ไอ้หงบมันคงบ้าแล้วล่ะ มันอธิบายอะไรก็ไม่รู้ของมัน

ทีนี้พอเราอธิบาย เราก็อธิบายของเราอย่างนี้ แต่ถ้ากามราคะมันละเอียดนัก เวลาหลวงตา ถึงบอกว่าหลวงตาท่านเทศน์กามราคะ อวิชชา แล้วเราไม่เข้าใจ

ไม่เข้าใจก็เป็นความไม่เข้าใจแน่นอน เพราะองค์หนึ่งคือพระอรหันต์เทศน์ คนหนึ่งเป็นปุถุชนฟัง ปุถุชนจะเข้าใจในเรื่องเนื้อหาสาระของพระอรหันต์ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็รับฟังไว้เป็นคติ แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาให้เรามีคุณธรรมขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่า กามราคะ อวิชชา

ถาม : เรื่องขอโอกาสสอบถามหลวงพ่อเรื่องการภาวนาครับ

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ผมขอโอกาสสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการภาวนา โดยขอเล่าคร่าวๆ ก่อนดังนี้ครับ

ปกติแล้วทุกวันพระผมจะอดอาหาร และพยายามพักเรื่องงานแล้วปฏิบัติภาวนาให้มากกว่าวันธรรมดา ผมรู้สึกว่าอดอาหารแล้วภาวนาดี เพราะตั้งสติได้ง่าย

เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ มีนาคมที่ผ่านมา ผมอดอาหารเหมือนเคย แล้วนั่งภาวนาในตอนเช้า ผมใช้วิธีฟังเทศน์หลวงตาชุดหลักใจในเครื่องเล่นเอ็มพีสาม แล้วตั้งสติเกาะคำเทศน์ของท่านไป ผมคิดว่าวิธีนี้ทำให้จิตผมสงบได้ง่ายกว่าเวลาที่กำหนดพุทโธในใจโดยไม่มีเสียงเทศน์ของหลวงตา

จิตผมเริ่มสงบบ้าง บางทีจิตมันปรุงขึ้นมา ถ้าพอจะใช้ปัญญาใคร่ครวญได้ ผมก็จะใช้ปัญญาไล่ไปเรื่องนั้น พอมันจบเรื่องเป็นเรื่องๆ ไปแล้ว ผมก็กลับมาเกาะที่เสียงของหลวงตาอีก

เวลาผ่านไปประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า เวทนาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงพยายามตั้งสติบริกรรมชัดๆ ถี่ๆ ไม่ให้จิตเผลอส่งไปยุ่งกับเวทนา ปรากฏว่าพอจะทนได้บ้าง เมื่อจิตเริ่มมีกำลัง ผมจึงพยายามใช้ปัญญาว่า เวทนาที่เกิดขึ้นเกิดที่กายของเรา กายของเราเป็นซากศพ แถมซากศพอันนี้ยังเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วเราไปยุ่งกับดิน น้ำ ลม ไฟทำไม เรามีของเราอยู่แล้ว ใช้ปัญญาไล่ไปในลักษณะนี้ครับ สักพักจิตรวมลงแน่วแน่ เวทนาตรงขาตอนแรกรุนแรงมากเริ่มจางลง แทบไม่เจ็บเลย ตัวท่อนบนเหมือนหายไปในความรู้สึก จิตนิ่งสว่างเย็นสบายอยู่สักพัก พอถอนออกมารู้สึกว่าเจ็บขามากจนทนไม่ไหว จึงออกจากสมาธิเมื่อเวลาผ่านไป ๓ ชั่วโมงพอดี

คำถามคือ

. พอจิตสงบแบบนี้ ผมควรอยู่กับความสงบเฉยๆ หรือให้ใช้ปัญญาไล่ซ้ำเข้าไปอีกครับ

. อันนี้เป็นตทังคปหานหรือว่าเป็นแค่ปัญญาทำให้จิตสงบมากขึ้นเฉยๆ ครับ กราบรบกวนหลวงพ่อ

ตอบ : ข้อ ๑ จิตถ้ามันสงบนะ เราพิจารณาของเราไป การพิจารณาอันนี้ การพิจารณาเวทนา การพิจารณาต่อสู้เวทนานี้ อันนี้สำคัญมาก สำคัญตรงไหน สำคัญที่ว่าเราฝึกหัดใช้ปัญญาไง

เหมือนเราหลงทางหรือเราไปเจอสิ่งใดที่มันขวางทางเราไว้ เราไปไม่ได้ๆ เราแพ้ทุกทีเลยๆ แต่ถ้าสิ่งที่ขวางทางเราไว้ เราบุกเบิกได้ เราผ่านสิ่งนั้นไปได้หนหนึ่ง มันจะเป็นกำลังใจเราสูงมาก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพิจารณาเวทนา เวทนาที่เราพิจารณามาแล้ว แล้วมันปล่อยวาง ใช่ เราเคยผ่านมันไปได้หนหนึ่ง อันนี้สำคัญมาก พอมีหนึ่ง แล้วต่อไปถ้าเราสู้ได้ เราจะสู้ของเราไปได้อีก

ทีนี้พอสู้ผ่านไปได้แล้ว ถ้ามันสงบ เวลามันเป็นความสงบแล้ว สงบ เราก็อยู่กับความสงบนั้น พอจิตมันสงบ แต่มันคลายตัวออกมาไง พอสงบแล้วเดี๋ยวมันจะคลายตัวออกมา ถ้าคลายตัวออกมา ถ้าเรามีสติปัญญาพอ เราจับ จับได้แล้วพิจารณาต่อ

ถ้าเราจับไม่ได้ อย่างเช่นเวลาเราพิจารณาเวทนา มันปล่อยเวทนาแล้ว ถ้าจิตมันสงบ มันเห็นอะไรล่ะ มันเห็นกายก็ได้ เห็นเวทนาก็ได้ เห็นจิตก็ได้ เห็นธรรมก็ได้

เห็นธรรม เห็นธรรมมันก็คิดว่า แหม! วันนี้ภาวนาสู้เวทนา ผ่านเวทนาไปได้นี่สุดยอดเลย คนเก่งก็นั่งอยู่นี่ไง คนนี้เป็นคนเก่ง นี่คือธรรม ธรรมหมายถึงว่ามีความสุขไง ธรรม เห็นไหม พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม

ธรรม ถ้าเราพิจารณาไปแล้ว สิ่งใดก็แล้วแต่ เราผ่านมา เราเอาสิ่งนี้มาพิจารณาได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันพิจารณาอย่างนี้ ถ้ามันคลายออกมา พิจารณา ถ้าไม่คลายออกมา อยู่กับผู้รู้นั้น

เวลาหลวงตาท่านสอนนะ เวลาทำความสงบของใจ พุทโธๆ จิตสงบแล้ว บางคนสงบแล้วสงสัย สงสัยก็อยากจะออก ท่านบอกว่า การเข้าการออกโดยที่ว่าเราไปดึง วันหลังจะเข้าได้ยาก

ถ้าเราพุทโธจนจิตสงบแล้วอย่าสงสัย อยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้ามันคลายตัว มันจะคลายตัวออกมาเอง อย่างเช่นถ้าใครเคยจิตสงบนะ สงบนี่มันจะสักแต่ว่า มันจะแน่วแน่มาก แล้วเอ๊ะ! สงสัยๆ เวลามันคลายตัวออก คลายตัวมันจะออกรับรู้ คลายตัวคือว่าจิตมันรับรู้ออกมา จิตมันรับรู้ รับรู้สิ่งกระทบ

แต่ถ้ามันพุทโธๆ มันหดเข้ามาจนมันเป็นตัวของมัน รู้ตัวมันเอง แล้วถ้ามันสักแต่ว่า มันจะปล่อยความรู้สึกตัวมันเองเลย เป็นสักแต่ว่ารู้ รู้ในรู้อีกทีหนึ่ง แต่ถ้าอย่างนั้น เราจะอยู่กับผู้รู้อย่างนี้ ถ้าสงบ อยู่กับความสงบ เวลามันคลายตัวออกมาเราค่อยพิจารณา

เขาถามข้อที่ ๑ ไงว่าถ้าจิตสงบแล้วควรจะทำอย่างไร

คำว่าอยู่เฉยๆมีสติพร้อม รับรู้พร้อม เวลามันคลายตัวออกมานะ คลายตัวออกมา ถ้าเรามีสติปัญญาทันนะ เราน้อมไปที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เราต่อสู้เลย เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ

แต่นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเวลามันคลายตัวออกมาแล้วมันปวดมาก ผมเลยเลิกเลย

เออ! เลิกก็จบ เพียงแต่ถามไว้ว่า ต่อไปถ้าเจอจะทำอย่างไรต่อไป

ถ้าเจอนะ ถ้าเราพุทโธได้มันก็สงบมา

ทีนี้ข้อที่ ๒ นี่สิอันนี้เป็นตทังคปหานหรือเปล่า

เวทนานอก เวทนาใน ถ้าเวทนานอก เวทนานอกหมายถึงว่าเรานั่งไปแล้วมันเกิดเวทนา นี่เวทนานอก การพิจารณาเวทนานอกเหมือนกับพิจารณากายนอก

กายนอกหมายถึงว่าเราไปดูซากศพ คนที่ไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ นี่กายนอก ไปดูซากศพ ไปคิดถึงความตายแล้วมันสลด มันหดเข้ามาๆ นี่กายนอก กายนอกเพื่อความสงบของใจ

เวทนานอก เวทนานอกคือเวทนาปกตินี่ เวทนาปกติ เวลาจิตมันสงบเข้ามา เวทนานอก เวทนานอกคือว่าสามัญสำนึก ความรู้สามัญสำนึกนี่เป็นนอก ความรู้สามัญสำนึกเรานี่เป็นของปกติ เป็นของนอก เป็นของโลก เป็นของประจำตน เป็นของประจำที่มีอยู่ นี่เขาเรียกโลก

เราใช้ปัญญาพิจารณาของเราไป เราใช้พุทโธของเราไป มันจะปล่อยสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกที่เป็นปัญญานอกๆ เข้ามาเป็นความสงบ ถ้าความสงบแล้วมันออกรู้กาย ออกรู้กายมันถึงจะเป็นใน

นี่เวทนาเหมือนกัน เวทนานอก เวทนานอกคือเสียใจไง ตอนนี้นั่งเสียใจ ทุกคนบอกว่าเราเสร่อ เสียใจมาก เสียใจมาก เสียใจ เสียใจคืออะไร พอมันปล่อย มันปล่อย มันปล่อยนอกเข้ามา มันปล่อยเข้ามา พอปล่อยเข้ามา ถ้ามันสงบแล้วเวลามันจะจับ จับปม นั่นน่ะเวทนาใน เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา นี่พูดถึงเวทนานอก

ฉะนั้น ที่ว่า. อันนี้เป็นตทังคปหาน หรือว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เราจะบอกว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นตทังคปหานมันจะลึกกว่านี้

นี่ไง เวลานั่งไปแล้ว เราเคยเจออุปสรรคแล้วเราผ่านไม่ได้สักทีหนึ่ง นี่เป็นเรื่องสามัญสำนึก แล้วเราเคยผ่านมาสักทีหนึ่งเราก็ภูมิใจ นี่เรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดาคนฝึกหัด

ในการปฏิบัติ หลวงตาจะสอนว่า ในการปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นที่จะออกปฏิบัตินี่ยากมาก กับอีกคราวหนึ่ง คราวจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ คราวนั้นยากมาก เพราะอะไร เพราะเวลามันว่างหมดเลย มันว่างจนไม่มีอะไรเลย ว่างหมดเลย จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แล้วว่างแล้วทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ล่ะ

อ้าว! แล้วเป็นพระอรหันต์มึงงงทำไม เพราะมึงงงถึงไม่เป็นพระอรหันต์ไง ก็มันว่างหมดนี่ไง มันยาก หลวงตาบอกมันยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น ทีนี้คราวเริ่มต้นมันยากอย่างนี้ เราก็พยายามของเรา

ฉะนั้น มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าความเห็นของเรานะ แต่ถ้าเป็นตทังคปหานคือว่าจิตมันชำนาญแล้ว จะเป็นตทังคปหานคือจิตมันตั้งสงบแล้วมันฝึกหัดใช้ คือเราทำงานจนคล่องแคล่วแล้ว ทำงานจนก้าวเดินไปแล้ว ทำงานจนเราทำได้ แต่มันยังไม่เสร็จสักที นี่ตทังคปหาน

แต่ยังฝึกหัดงาน ยังเริ่มจากทำงาน นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เริ่มต้นของพวกเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เราพูดเริ่มต้นไงว่าเราเสร่อ เริ่มต้นปฏิบัติก็ว่า แหม! กูนี่เก่งมาก นี่เสร่อไง เริ่มต้นปฏิบัติไง ก็เริ่มต้นปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติขึ้นมาก็อู้ฮู! ฉันนี่แน่มาก กามราคะ ปฏิฆะไม่มีเลย โอ๋ย! ดับหมดเลย ว่างหมดเลย...เสร่อ เพราะไม่มีที่มาที่ไป แต่ถ้าเวลาปฏิบัติแล้วจะเป็นอย่างนี้ มันจะมีที่มาที่ไป ถ้ามีที่มาที่ไป มันจะเริ่มจากปุถุชน กัลยาณปุถุชน

จากปุถุชนคนหนานี่ปฏิบัติไม่ได้หรอก ปุถุชนก็พยายามทำความดีกันอยู่นี่ แต่ถ้าเริ่มปฏิบัติมันจะเข้าสู่กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือว่าชนะรูป รส กลิ่น เสียง ชนะสิ่งที่มาลากหัวใจเราไป สิ่งที่หัวใจที่มันโดนลากไปนี่ เราชนะมัน นี่กัลยาณปุถุชน คนอย่างนี้จะเริ่มต้นเข้าสู่โสดาปัตติมรรค คือเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

เพราะจิตสงบแล้ว ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงนั่นคือโสดาปัตติมรรค บุคคล ๔ คู่ คู่แรกจะเกิดขึ้น ถ้าโสดาปัตติมรรคปฏิบัติไปจะเป็นโสดาปัตติผล ถ้ามันจับเป็นสกิทาคามิมรรคมันจะเป็นสกิทาคามิผล ถ้าจับได้เป็นอนาคามิมรรคจะเป็นอนาคามิผล ถ้าจับได้อรหัตตมรรคจะเป็นอรหัตตผลไปข้างหน้า บุคคล ๔ คู่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้การปฏิบัติไป

ฉะนั้นถึงบอกว่า อันนี้มันจะเป็นตทังคปหานหรือเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เราว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ เจ้าของคำถามว่าจะเป็นตทังคปหาน ตำรวจก็ไม่จับนะ ถ้าเราจะบอกว่าเป็นอะไรก็ได้ เพราะเราเป็นคนทำเองใช่ไหม โธ่! สายสะพาย เราจะให้ตัวเอง จะให้ชั้นไหนก็ได้ ถ้าสายสะพายไปขอข้างนอกมันยาก ถ้าสายสะพายฉันทำเอง ชั้นไหนก็ได้

อันนี้มาพูดไปแล้วมันจะเป็นประเด็นว่าชั้นไหนๆ เราจะเป็นเหมือนว่าเรายกย่องแล้วเรากดกันเอง ไม่จำเป็น โลกธรรม ๘ สรรเสริญนินทาเป็นของประจำโลก ใครจะว่าอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เราปฏิบัติของเรานี่เรารู้ ปัจจัตตัง กาลามสูตร อย่าให้เชื่อใคร อย่าให้เชื่อแม้แต่หลวงพ่อพูดอยู่นี่ อย่าเชื่อ ขี้โม้นัก อย่าเชื่อ ต้องพิสูจน์ขึ้นมาให้ได้

ถาม : หลวงพ่อคะ ช่วงนี้หนูโดนพี่เกลียด หนูพยายามคุยด้วย แต่ไม่มีประโยชน์เลย หนูควรทำอย่างไรดีคะ

ตอบ : เวลาพูดถึงกรรมนะ มันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ ถ้าเป็นกรรมเก่า กรรมเก่าคือสิ่งที่มีการกระทำมาที่มีการบาดหมางกันมา นี้คือกรรมเก่า กรรมเก่าแม้จะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ เราเจอคนนี้ทำไมมันรู้สึกว่าเจอแล้วมันไม่ค่อยชอบเลย มันแปลกตั้งแต่เจอหน้าเลย แต่ถ้าเป็นกรรมที่ดี เราไม่เคยเจอหน้าคนคนนี้เลย พอเจอแล้วเหมือนรักมากเลย เหมือนคนสนิทชิดเชื้อเลย กรรมเก่ากรรมใหม่มันมี กรรมอันนี้เป็นผลของวัฏฏะ นี่ผลของวัฏฏะ

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมา ผลของวัฏฏะ เราจะไม่โทษกับผลของวัฏฏะนะ ผลของวัฏฏะคือกาแล็กซี คือบิกแบง มันมีของมัน เราเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่กับจักรวาลนี้ เราจะไปบงการให้จักรวาลนี้เป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะ เราก็จะเสียใจน้อยใจว่าเราขาดตกบกพร่อง หรือไม่เสมอหน้า หรือเทียมหน้าเทียมตาคนอื่น เราจะมีความเสียใจอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเราบอกว่า ปรากฏการณ์คือบิกแบง คือจักรวาล วัฏฏะมันมีอยู่อย่างนี้ แต่ทีนี้สิ่งนี้เวลาบิกแบงมันกระจายออกไป ดาวดวงใดมันเกาะกลุ่มกันก่อน ดาวดวงใดมันเลือกสถานที่ได้ก่อน มันก็อยู่ในแรงโน้มถ่วงนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พี่กับน้อง ในเมื่อมาเกิดเป็นพี่กับน้อง เราก็บอกเป็นพี่กับน้องชาตินี้ไง อ้าว! เขาเกิดเป็นพี่ เราเกิดเป็นน้อง เกิดมาจากพ่อแม่เดียวกันน่ะ ก็เกิดมาร่วมกัน อ้าว! เกิดมาร่วมกัน พี่น้องก็ต้องรักกัน สายเลือดก็เป็นสายเลือดเดียวกัน นี่พันธุกรรมอันเดียวกัน แต่กรรมไม่ใช่อันเดียวกันนะเว้ย กรรมต่างคนต่างสร้างมา

ทีนี้ต่างคนต่างสร้างมา เราเกิดมาแล้ว เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ แล้วเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ไง เวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

เราไปจองเวรจองกรรมกับเขา นี่ไง เราไปกดถ่วง เราไปเพิ่มต่างหาก แต่เขาไม่ได้ศึกษา หรือเขาศึกษาแล้วเขามีทิฏฐิมานะ เขาไม่ยอมรับฟัง สาธุ เรื่องของเขา แต่เราศึกษา เราศึกษาแล้วเราเชื่อ เราศึกษาแล้วเราเชื่อ

พี่เราเกลียดเรา รู้ได้อย่างไรว่าเขาเกลียดเรา เขารักเราก็ได้ แต่เขาแสดงกิริยาท่าทางแบบนี้ให้เราอยู่ในโอวาทก็ได้ เป็นอะไรไป เรารู้ใจเขาได้อย่างไร เราต้องมาดูแลใจเรา

ในเมื่อเขาเป็นพี่ เขาเป็นพี่ใช่ไหม เขาเป็นพี่อยู่แล้ว พี่ก็ต้องรักน้อง อ้าว! ถ้าน้องทำดี พี่จะว่าน้อง พี่ไม่ดีๆ สังคมเขาติเตียนเอง เราทำความดีของเรา เราทำความดีของเรา

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ทำได้ยากนะ ที่พูดนี้เรายังทำไม่ได้เลย ด่าเขาอยู่ทุกวันนี่ทำได้อย่างไร ที่พูดนี่ยังทำไม่ได้เลย นี่จำพระพุทธเจ้ามาพูด เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็ทำความดีของเราไป เราทำความดีของเราไป เขาจะว่าอย่างไรมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเราไปคิดไง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะ กองฟืน กองฟืนติดไฟท่วมเลย วิธีแก้ของเรา ชักฟืนออก ชักฟืนออก ไฟนั้นจะดับลง

ถ้าเราจะดับไฟนั่นน่ะ ดับไฟเกลียด ดับไฟโกรธ แล้วเราจะทำอย่างไร โลกก็บอกฉีดน้ำสิ ฉีดน้ำมันเข้าไปมันก็ยิ่งลุกใหญ่ ทำอย่างไรล่ะ

ชักฟืนออก เราทำความดีของเรา ชักฟืนออก ประเด็นอะไรที่กระทบกระเทือน ไม่ทำๆๆ ชักฟืนออก ชักฟืนออก ถ้าไม่มีเชื้อ ไฟต้องดับ ถ้าไม่มีเชื้อ

แต่เราบอกว่า ก็ไฟมันลุกโชน ต้องดับๆๆ นี่ยังดีนะ เราเองเรายังทำไม่ได้เลย แต่ถ้าไปหาพวกเข้าทรงทรงเจ้านะ เรามีการแก้กรรม จ่ายมาเลย แก้อย่างนี้ เดี๋ยวเขารักเอ็ง ทำอะไรนะ เสน่ห์ยาแฝด เดี๋ยวเขาจะรักเอ็งได้เลย...หมดตัว

พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อกรรม เชื่อกรรมคือการกระทำ ถ้าเราคิดว่าเราจะทำอย่างไร ชักฟืนออก เราชักฟืนออก

เราจะพูดอย่างนี้ เราบอกว่า ศักยภาพของคนอยู่ที่ความรู้สึกหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เราเป็นคนที่ประเสริฐ ในบรรดาสัตว์สองเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เราก็เป็นสัตว์สองเท้าที่เป็นบริษัท ๔ เป็นสาวกสาวกะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบรรดาสัตว์สองเท้า แล้วศึกษาธรรมะ เราได้มาศึกษาธรรมะแล้ว เราถือว่าเรามีคุณธรรม เรามีธรรมโอสถที่สูงกว่า เราจะต้องเป็นผู้ที่บริหารไง

บริหารพี่ไง พี่จะโกรธก็โกรธ เรื่องของเขา จะโกรธอย่างไรก็ทำดีกับเขา ถ้าเขาบอกว่า ไป ไม่ชอบหน้า

ไม่ชอบหน้าก็ไม่เป็นไร เราก็รักษาของเรา เพราะอะไร เพราะด้วยสายเลือด เขาเป็นพี่เรา เราจะตัดทิ้งได้อย่างไร เราไม่ตัดทิ้ง แต่เราก็ไม่เป็นเบี้ยล่างให้เขาโขกสับ เราก็ทำดีของเราๆๆ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ไปปะทะคะคานกับใครทั้งสิ้น แล้วก็ไม่ใช่เซ่อ เอาหน้าให้ตบข้างซ้าย ไม่พอใจให้ตบข้างขวา ไม่ใช่ ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เซ่อขนาดนั้นหรอก พระพุทธเจ้าสอนให้ทำความดี ไม่ต้องให้เขาตบหน้าด้านซ้าย แล้วก็ยื่นข้างขวาให้เขาตบอีก ไม่ต้องๆ ไม่ได้สอนอย่างนั้น โลกเขาพูดกันอย่างนั้นไง

เราทำความดี มันเป็นความรู้สึก มันเป็นเรื่องหัวใจของเรา แล้วเรื่องหัวใจของคนยิ่งใหญ่นัก ยิ่งใหญ่นักเพราะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมยังมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น ถ้าหัวใจนี้มันได้แก้ไขจบแล้วนะ มันไม่มีสิ่งใดปิดบังมันได้เลย ยิ่งใหญ่นักหัวใจดวงนี้

แล้วตอนนี้หัวใจดวงนี้อยู่กับเรา แล้วโดนอวิชชา โดนมารครอบงำ เราถึงทุกข์ยากกันอยู่นี่ไง ถ้าทุกข์ยากอยู่นี่ เห็นไหม แม้แต่เป็นพี่เป็นน้องกันมันยังกระทบกระเทือนกัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ เราพูดบ่อยเมื่อก่อน การครองเรือนนี้แสนยาก เพราะการครองเรือน พระพุทธเจ้าบอกคือการครองหัวใจ หัวใจดวงหนึ่งยังครองได้ยาก ยังมีหัวใจอีกดวงหนึ่งให้เราปกครอง ยังมีลูกมีเต้ามาให้ปกครอง เท่ากับปกครองหัวเมืองหลายหัวเมือง หัวเมืองหนึ่งก็ทุกข์หนึ่ง แล้วกี่หัวเมืองจะกี่ทุกข์

ฉะนั้น นี่ผลของวัฏฏะไง พระพุทธเจ้าบอกในวัฏฏะนี้ หาความสุขในวัฏฏะนะ ไปวิดทะเลทั้งทะเลเลยล่ะ แล้วเอาปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง ตัวเดียว ชีวิตการครองเรือน วิดทะเลทั้งทะเลเลย ได้ปลาสร้อยตัวหนึ่ง

ดูสิ เราทุกข์ยากทั้งชีวิตเลย หาความสุขกันที่ไหน หาความสุขกันที่ไหน เพราะมีอย่างนี้เราถึงมาทำบุญกุศลกัน ทำบุญกุศลไม่ใช่ทำเพื่อใครนะ ทำเพื่อให้หัวใจมันเป็นสาธารณะ ให้หัวใจยอมรับเหตุผลต่าง ให้หัวใจเห็นอริยทรัพย์ แล้วมันจะมีความหมั่นเพียร ถ้าหมั่นเพียรแล้วจะนั่งสมาธิภาวนา มันถึงว่าทำงานอย่างนั้นเป็นผลงาน

ถ้างานอย่างนั้นเป็นผลงาน คืองานเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา มีสติปัญญารักษาหัวใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นไป มันจะชำระล้าง มันจะเกิดวิปัสสนาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เอวัง