ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ภาวนารู้

๒o เม.ย. ๒๕๕๗

ภาวนารู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องขอบคุณอีกครั้ง

หลังจากหลวงพ่อตอบปัญหาครั้งที่แล้ว ก็ไปเจอน้ำตาร่วงจากธรรมอัศจรรย์ของหลวงตาวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เทศน์เรื่องจิตเป็นได้หลายอย่างนักหนา เดี๋ยวว่าดี เดี๋ยวว่าชั่ว เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง ก็เข้าใจ การวางไม่ได้วางที่สมาธิ แต่ยังทำไม่ได้ จะพยายามค่ะ

ตอบ : นี่เวลาว่าการวางไง เวลาภาวนาไป ฟังเทศน์หลวงตาไปด้วยไง น้ำตาร่วง เวลาน้ำตาร่วงนะ เพราะว่าฟังไง ฟังเทศน์ของหลวงตา วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕ เทศน์เรื่องจิตเป็นได้หลายอย่างนักหนา เดี๋ยวว่าดี เดี๋ยวว่าชั่ว เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง ก็เข้าใจ

ความเข้าใจ เห็นไหม พูดถึงการเข้าใจนะ เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เรื่องหนึ่ง ศึกษามา ศึกษามาเพราะเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธเราต้องศึกษา เวลาเราพูดไป เขาจะบอกว่าเหมือนกับต่อต้านการศึกษา

ไม่ใช่ เวลาศึกษาก็ศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่เวลาจะปฏิบัติ การศึกษา ปริยัติ เรื่องสัญญามันต้องวางไว้ ถ้าไม่วางไว้ ตัวสัญญานั่นน่ะมันจะเป็นตัวล่อ ตัวล่อคือว่าตัวจะเป็นสัญญา ตัวเป็นประเด็นที่จะสร้างภาพ สร้างภาพให้เราล้มลุกคลุกคลานไง

การปฏิบัติมันก็แสนยากอยู่แล้ว แต่พอสัญญา สัญญาจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าเราวางไว้ก่อน แล้วเราทำความจริงขึ้นมา ถ้าทำความจริงขึ้นมาก็เป็นการภาวนา ถ้าภาวนารู้นะ

เวลาฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วไปฟังเทศน์หลวงตา น้ำตาร่วงเลย

คำว่าน้ำตาร่วงนะ เวลาหลวงตาท่านน้ำตาร่วง น้ำตาร่วง น้ำตาชำระภพชำระชาติ

แต่พวกเราร้องไห้กันทุกวันน่ะ น้ำตาสะสมภพสะสมชาติ สะสมภพสะสมชาติอย่างไร เวลาทุกข์ใจ เสียใจ ดีใจไง ร้องห่มร้องไห้กัน อู้ฮู! ปลอบกัน ปลอบใจกัน นั่นก็น้ำตาไหลเหมือนกัน น้ำตาร่วง น้ำตาร่วงเพราะความโศกความเศร้า ความทุกข์ ความอาลัยอาวรณ์ ความต่างๆ นั่นก็เป็นน้ำตาอย่างหนึ่ง น้ำตาอย่างนี้น้ำตาผูกมัด

แต่ถ้าน้ำตาร่วงนะ น้ำตาร่วงของหลวงตา น้ำตาร่วง น้ำตาชำระภพชำระชาติ มันไปสะเทือนใจ มันสะเทือนใจ เห็นไหม พอมันไปรู้ไปเห็นตามความจริง แล้วมันต่อสู้กันด้วยปัญญา ด้วยมรรค เห็นไหม ด้วยสติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ ความชอบธรรม

เวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานมามันทุกข์ยากขนาดไหน เวลามันไปรู้แจ้ง โอ๋ย! ไปรู้แจ้งนะ น้ำตาไหลพรากเลยนะ ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ทำไมเราโง่ขนาดนี้ เพราะไอ้ใจดวงนี้เวลามันโง่มันก็โง่ดักดานไง เวลามันมีปัญญาขึ้นมา ปัญญาเกิดจากไหนล่ะ

ปัญญาเกิดจากการภาวนารู้ ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการศึกษารู้ ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการค้นคว้ารู้ ปัญญาไม่ใช่การฟังแล้วรู้ แต่การฟัง การประพฤติปฏิบัติ ถ้าภาวนาแล้วมันสะเทือนใจแบบนี้ เห็นไหม ไปเจอ น้ำตาร่วงเลย มหัศจรรย์ธรรมของหลวงตา

มหัศจรรย์ธรรมของหลวงตา แต่มันยังไม่เป็นธรรมของเราไง ถ้าเป็นธรรมของเรานะ เราต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ถ้าปฏิบัติตามความจริงของเรานะ

สิ่งที่ว่า เพราะว่าธรรมนี้มันเป็น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาตามความเป็นจริง เสวยวิมุตติสุขแล้ว เสวยวิมุตติสุข เวลาเทศนาว่าการ เวลาเผยแผ่ธรรม เห็นไหมเราเป็นพระอรหันต์ เราเป็นพระอรหันต์ เราตรัสรู้เองโดยชอบ

แล้วพอถามว่าตรัสรู้เองโดยชอบ ชอบอย่างไรล่ะ ชอบอย่างไร ท่านก็อธิบายให้ฟังไง ธรรมวินัยเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปฟังเทศน์หลวงตาวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ท่านเทศน์เรื่องจิต จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก เดี๋ยวว่าดี เดี๋ยวว่าชั่ว เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง อันนี้เป็นอะไร อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ตรงของหลวงตาไง นี่เป็นธรรมของท่าน เป็นวิทยานิพนธ์ของท่าน

ท่านพิจารณาของท่าน ท่านไปรู้ไปเห็นของท่านอย่างนี้ พอไปรู้ไปเห็นของท่านอย่างนี้ เพราะเวลาจิตของท่านสว่างไสว มันทะลุทะลวง ภูเขาเลากา ทะลุไปหมดเลย มันมหัศจรรย์ขนาดนี้ ทำไมจิตมันมหัศจรรย์ได้ขนาดนี้ เวลาศึกษาตำรามา ศึกษามาก็เป็นธรรมของคนอื่น ศึกษามาก็คาดหมายมา ศึกษามาก็คิดว่าจินตนาการว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เวลาตัวเองไปเจอเข้า มันตื่นเต้น ตื่นเต้นขนาดนั้นนะ ธรรมยังเตือนเลยล่ะ สิ่งที่ว่ามันเศร้าหมอง สิ่งที่ว่ามันผ่องใส สิ่งที่มันทะลุทะลวง สิ่งที่ว่ามันเวิ้งว้าง มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากอะไร ที่เกิดมันอยู่ไหน มีสติกลับมาไง กลับมา มันเกิดจากภพจากชาติ มันเกิดจากผู้รู้ จากผู้รู้ ท่านก็ย้อนกลับของท่าน นี่เป็นประสบการณ์ของท่าน นี่เป็นความจริงของท่าน

เราไปฟังธรรมของหลวงตาไง ท่านก็เอาความจริงของท่าน เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านก็เอาประสบการณ์ เอาความจริงในใจมาตีแผ่ให้เราฟัง พอตีแผ่ให้เราฟัง เราฟังธรรมๆ เห็นไหม เวลาเรานั่งปฏิบัติ เรานั่งฟังเทศน์ไปด้วย นี่ชุบมือเปิบ

สิ่งนั้นมันเป็นประสบการณ์ตรงของครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมา ท่านก็เอาความจริงในใจของท่าน เอามาตีแผ่ให้เราฟัง เอาความจริงในหัวใจของท่านน่ะ แล้วมันก็ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งไง ใจของครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงมีเหตุมีผล

แต่ของเรา อย่างเรา เราศึกษาค้นคว้ามา เราฟังเทศน์มามากมายเลย เราจำได้หมดเลย ครูบาอาจารย์องค์ไหนเทศน์ เราก็จำได้ แล้วเราก็มาพูดต่อ เห็นไหม มันไม่มีความจริงในใจของเรา ถ้ามันไม่มีความจริงในใจของเรา เวลาเราพูดไป ถ้าเราพูดไป ถ้าโยมฟังเรานะ เราก็ อืม! โยมเชื่อถือเรา ถ้าโยมถามปัญหาขึ้นมาให้เราขยายความ เราจะจนเลย แล้วทำอย่างไรล่ะ อ้าว! ก็เราจำของเขามา เราฟังของเขามา แล้วเราไม่มีความจริงในหัวใจ

แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่มีความจริงในหัวใจนะ ท่านเอาความจริงของท่านมาตีแผ่ แล้วถ้ามีใครถามนะ ท่านยิ่งชอบใจมากเลย เพราะอะไร เพราะถ้ามีคนถามแสดงว่าสะดุดใจเขา สะดุดใจเขาแล้ว สะดุดใจเขาก็เหมือนกับเข้าเป้าแล้ว เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ในใจของสัตว์โลกใช่ไหม แล้วเวลาเทศนาว่าการไปมันสะเทือนในหัวใจ มันก็สะเทือนกิเลสใช่ไหม ถ้าพอมันสะเทือนกิเลส เพราะเขาถึงได้ถามมา เพราะเขาสงสัยเขาถึงถามมา

แต่ถ้าเขาไม่สะเทือนใจเขาเลย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มันก็ไป ฟังแล้ว เออ! ฟังธรรมเอาบุญ นั่งฟังเทศน์แล้วสัปหงกนะ โอ๋ย! สัปหงกเลยนะ พอจบก็สาธุ โอ๋ย! บุญเต็มเลย นี่มันไม่เข้าใจ มันไม่สะเทือนใจ

แต่ถ้ามันสะเทือนใจนะ เดี๋ยวนะ เดี๋ยวให้จบก่อน จบจะถามเลย ไอ้นั่นเป็นอย่างไร ไอ้นี่เป็นอย่างไรนะ พอถามมา ครูบาอาจารย์ท่านชอบนะ แสดงว่าท่านทำแล้วได้ประโยชน์ไง ท่านทำแล้วได้ประโยชน์ ถ้ามีคุณธรรมนะ ความเป็นจริงในใจมันจะเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าเรา เราก็ฟังมาเหมือนกัน เราก็จำมาหมดเลย เราก็พูดไปตามเทปไง มันก็ได้แง่เดียว ถามมานี่ ถามมาก็เปิดเทปซ้ำ เปิดเทปซ้ำก็พูดคำเก่านั่นแหละ มันขยายความไม่ได้ มันขยายความ มันย่อความ มันพลิกแพลงไม่ได้

ถ้ามันพลิกแพลงได้ เห็นไหม เพราะครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านจะมีของจริงของท่าน ท่านพลิกแพลงได้ ท่านบอกแง่มุมเราได้ คำถามคำเดียวนั่นน่ะ ตอบได้ร้อยแปดพันเก้า ร้อยสันพันคม จะพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกได้ทุกแง่มุมเลย ประเด็นนั้นน่ะ เวลาปฏิบัติกัน ถ้าเราเข้าไม่ได้ เราเข้าทางไม่ถูก ก็เอาประเด็นนี้ตั้ง แล้วหาทางเข้าให้ได้ ถ้าเข้าได้แล้วมันเป็นไป

นี่ฟังเทศน์ ฟังเทศน์กรรมฐานมันมีประโยชน์ตรงนี้ไง หลวงตาท่านถึงบอกว่า การปฏิบัติของเรา ฟังเทศน์ต่อหน้าผู้รู้เป็นอันดับหนึ่ง

แล้วเวลาถ้าไม่มีผู้รู้จะเทศน์ให้เราฟัง เราต้องไปนั่งปฏิบัติเอง พยายามทำให้ธรรมเกิด เราจะฟังเทศน์ในหัวใจของเราเลย ถ้าหัวใจของเรานะ มันทุกข์มันยาก มันเศร้าหมอง มันดิ้นรน นี่เทศน์แล้ว แต่เทศน์อันนี้ อู้ฮู! มันเป็นน้ำกรด มีแต่เจ็บปวดแสบร้อน แต่ถ้าพุทโธๆๆ ถ้ามันสงบลงนะ มันร่มเย็น รสของธรรมเกิดแล้วรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวงมันสุข มันสงบ มันระงับ มันเวิ้งว้าง

เวลาเวิ้งว้างนะ มันสงบ เวลามันสงบ มันมีความสุข มันหนึ่งเดียว หนึ่งเดียว จิตมันดิ่ง ไม่รับรู้อะไรเลย โลกนี้มีก็เป็นเรื่องของเขา ฉะนั้น เรื่องของเรา เราอยู่ของเราโดยเอกเทศเลย มีความสุขของมัน นี่เวลาถ้ามันเป็นความจริง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เทศน์ เราจะฟังเทศน์ของเราเอง

ถ้าเทศน์ของเรา ถ้ามันทุกข์มันยาก เราทุกข์ยาก เราก็พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีเหตุมีผลธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ

ถ้าเราจำมา เราฟังมา มันไม่มีเหตุ มันไม่มีเหตุก็จำมา ธรรมทั้งดุ้นไง ธรรมทั้งดุ้นก็จำของเขามา จำของเขามาก็ปริยัติ จำมาทำไม จำมาให้ปฏิบัติ

ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา นี่ภาวนารู้ น้ำตาร่วง ขณะที่น้ำตาร่วงเพราะฟังธรรม เพราะอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ถึงได้บอกว่าเวลามันวางได้มันก็เข้าใจ มันก็วาง วางได้ แต่ไม่ได้วางที่สมาธิ สมาธิยังทำไม่ได้นี่มันซื่อสัตย์ ถ้าเราวางได้ เราปล่อยวางได้ น้ำตาร่วงน้ำตาไหลเลย

แต่ถ้ากิเลสมันครอบงำนะ น้ำตาร่วงน้ำตาไหลครบองค์ประกอบเหมือนหลวงตาเปี๊ยะเลย หลวงตาท่านก็พิจารณาเหมือนกัน แล้วท่านก็ซาบซึ้งของท่าน ท่านน้ำตาร่วงน้ำตาไหล ท่านซาบซึ้งของท่าน เรานี่เป็นเหมือนท่านเปี๊ยะเลย นี่ถ้าเราเข้าข้างตัวเองนะ เราบรรลุธรรมแล้ว เราว่ามีความเข้าใจแล้ว เพราะอะไร เพราะมันมีองค์ประกอบครบ องค์ประกอบของหลวงตาที่ท่านทำมาครบ

แต่ของเรา เราฟังธรรมของเรา เห็นไหม น้ำตาร่วง อัศจรรย์ธรรมของหลวงตามาก แต่คำถามเขาเขียนมาแล้ว แต่มันไม่ได้วางด้วยสมาธิ นี่มีความสงสัย มันไม่ได้วางด้วยสมาธิ เพราะจิตมันไม่วางเป็นสมาธิแล้วเกิดภาวนามยปัญญา

ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา เวลาพิจารณาไปแล้วเกิดภาวนามยปัญญาเพราะจิตมันสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

เห็นจิต เห็นไหม จิตที่ว่าจิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก มันเป็นทั้งดี เป็นทั้งชั่ว เป็นทั้งสุข เป็นทั้งทุกข์ ทั้งผ่องใส ทั้งเศร้าหมอง

เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม จิต พิจารณาจิต นี่มันพิจารณาของมันไป ถ้ามันพิจารณาของมันไป มันพิจารณาของมันแล้วมันปล่อยวาง มันปล่อย ถ้ามันมีกำลังมันก็ปล่อย มันปล่อย มันมีความสุข มีความสุขมาก แต่ความสุขอันนี้มันปล่อยวาง มันปล่อยวางชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เกิดอีก คำว่าเกิดอีกคือมันยังมีอยู่ไง มันยังมีอยู่ มันยังปฏิบัติไม่ถึงที่สุด มันยังไม่สมุจเฉท มันยังไม่จบสิ้นกระบวนการของมัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ

ไอ้คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าคนปฏิบัติแล้วมันมีรสมีชาติ มันมีความสุขไปแล้ว พอไปเริ่มต้นทำเหตุ เริ่มต้นต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ มันไม่อยากทำ มันแหยง มันขี้เกียจ แล้วมันก็อ้าง อ้างว่ารู้แล้ว ก็มันปล่อยวางแล้ว น้ำตาไหลแล้ว น้ำตาร่วงแล้ว แต่นั่นเป็นของชั่วคราว

ของชั่วคราวแล้วเราต้องทำซ้ำทำซาก ทำซ้ำทำซากให้มันชัดเจนขึ้น ให้มันทะลุทะลวงมากขึ้น ให้มันปล่อยวางมากขึ้น มันจะมีความสุขมากขึ้น ทำแล้วทำเล่าจนถึงที่สุดนะ เวลามันขาด นั่นมันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย เวลามันขาด มันจะเห็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันขาดอย่างนั้นน่ะ อันนั้นเป็นความจริง ภาวนารู้ นี่พูดถึงว่าภาวนารู้ เราภาวนาของเรา แล้วเราทำจริงของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เราแยกแยะ พอแยกแยะขึ้นไป เห็นไหม เหมือนเราทำงาน เราจะมีความรู้มากขนาดไหน ทำงานได้มากน้อยขนาดไหน นั่นคือผลงานของเรา เราซื่อสัตย์กับผลงานของเรา เพราะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องดีงาม

แต่ถ้ามันมิจฉาทิฏฐิ มันมีความเห็นผิดต่างๆ มันจะพยายามทำงานได้เท่านี้ แต่ผลตอบแทนได้มากเท่านั้น มันขยายความไปเรื่อยๆ แล้วมันจริงไหม มันไม่จริง พอมันไม่จริงปั๊บ เดี๋ยวมันก็เสื่อม แต่ขณะเป็นความจริงมันก็ยังเสื่อม ยังถดถอยเหมือนกัน ถดถอย เราก็ต้องทำขึ้นไปๆ เพราะแก่นของกิเลสไง กิเลสนี้ แก่นกิเลสมันเหนียวแน่นนัก ต้องพยายามของเรา มีการกระทำของเรา

ทำไปๆ มันจะมีประสบการณ์ มันจะมีความจริงในใจขึ้นมา ถ้าในใจขึ้นมา มีในใจขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์ เป็นความจริงในภาคปฏิบัติ

ภาวนารู้ มันรู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริง มันพูดได้ตามความเป็นจริง แล้วครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาแล้วท่านฟังท่านก็เข้าใจ

ถ้าเราเข้าใจของเราเอง เราเข้าใจว่ามันเป็นมรรคเป็นผล มันองค์ประกอบครบ พิจารณาจิต ฟังแล้วพิจารณาตาม มันเศร้า มันวางได้ แต่มันไม่วางด้วยสมาธินะ วางได้แล้วมันซาบซึ้ง น้ำตาไหล เห็นไหม เราอ้าง เราอ้าง อ้างเล่ห์ว่ามันเป็นองค์ประกอบครบ

องค์ประกอบนี้เป็นวัตถุ แต่นามธรรม กิเลสที่ละเอียด สิ่งที่เป็นทิฏฐิมานะมันไม่ครบ มันไม่สำรอก มันไม่สมุจเฉทจริง ถ้าไม่สมุจเฉทจริง เราต้องทำให้มากขึ้น ทำให้เป็นจริงมากขึ้น ถ้ามากขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับเราในแนวทางปฏิบัติเนาะ

นี่พูดถึงว่า ปฏิบัติแล้วน้ำตาร่วง มหัศจรรย์ในธรรมของหลวงตามาก แล้วเราก็ทำของเราต่อเนื่องไป

ถาม : เรื่องสงสัยในการภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีข้อสงสัยขอถามหลวงพ่อดังนี้ครับ

. เมื่อเราแยกแยะจนเห็นความอยากที่มากับความคิดเราแล้ว เราจะแก้ไขความอยากนี้ได้อย่างไรครับ

. อาการปล่อยวางชั่วคราวในแต่ละครั้งจะมีความหนักเบาเท่ากันทุกครั้งหรือเปล่าครับ เพราะผมสังเกตเห็นว่า บางครั้งก็รุนแรงชัดเจน แต่บางครั้งก็เพียงแต่อารมณ์สลายวูบลงเท่านั้น จนผมเกิดความสงสัยว่า ตัวสุขที่เกิดตามหลังมานั้นมันเป็นความสุขที่เกิดจากสมถะหรือว่าเป็นตัววิปัสสนากันแน่ครับ

. บางครั้งเมื่อผมจับอารมณ์ความรู้สึกเกิดได้ และเพียงรับรู้ว่าเวทนาเกิดขึ้น แต่เพียงเท่านั้น อารมณ์ของผมก็สลายตัวลงแล้ว ผมจึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้พิจารณาต่อเหมือนกับทุกครั้ง แต่ความรู้สึกของผมมันกลับสลายตัวลงได้ครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : อันนี้เขาถามมาบ่อยครั้งมาก เมื่อก่อนถามมาต่อเนื่องยาวมาก ฉะนั้น เขาปฏิบัติ เราจะตอบปัญหา ถ้าตอบปัญหาก็บอกว่า เวลาปัญหาบางทีก็ไม่ตอบ ไอ้นี่ปัญหาไม่มีสิ่งใดเลย แหม! ทำไมตอบ ตอบแล้วตอบอีก

ปัญหานี้เพราะเขาปฏิบัติแล้วมันมีเหตุมีผลไง ฉะนั้น มันมีเหตุมีผล เราจะตอบ ตอบตามข้อเท็จจริง อย่างเช่นข้อที่ ๑

. เมื่อเราแยกแยะจนเห็นความอยากที่มากับความคิดของเราแล้ว เราจะแก้ไขความอยากนั้นอย่างไรครับ

คนปฏิบัติแบบนี้ เวลาเราปฏิบัติ เราก็หวังผล เราอยากได้ผลนั้น พออยากได้ผลนั้น เราไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักธรรมโดยความชัดเจน เราว่ากิเลสมันคือความอยาก กิเลสคือมันคือความชั่ว กิเลสคือความไม่ดี กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก เดี๋ยวผลักไส นี่คือกิเลส

ฉะนั้น พอกิเลสปั๊บ พอบอกว่าสิ่งนั้นเป็นความอยาก เราก็อยากละกิเลส ทุกคนนะ อยากละกิเลส เพราะกิเลสเป็นแบบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้บอกกิเลสคือธรรมฝ่ายอกุศล ธรรมฝ่ายที่ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน

ฉะนั้น ความอยากๆ มันก็ว่าเป็นกิเลสอันหนึ่ง ถ้าเป็นกิเลสอันหนึ่ง เราจะละมันอย่างไร เราจะละกิเลสอย่างไร ถ้าละกิเลสอย่างไร เราจะไปละที่ตัวกิเลส กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสมันเป็นชื่อ กิเลสนี่คือชื่อของกิเลส แล้วเราจะไปละมันตรงไหน ละที่ชื่อมัน แล้วตัวมันอยู่ที่ไหน

ฉะนั้นบอกว่าเมื่อเราแยกแยะจนเห็นความอยากที่มันมากับความคิดเราแล้ว เราจะแก้ไขความอยากนั้นอย่างไรครับ

แก้ไขความอยาก ความอยากก็คือความอยากไง ความอยากมันเกิดจากอะไรล่ะ ความอยากมันเกิดจากความไม่รู้ ความอยากมันเกิดจากความไม่เข้าใจ ความอยากมันเกิดจากเรามีอวิชชา เกิดจากความโง่ของเรา ถ้าความอยากเกิดจากความโง่ของเรา แล้วเราจะไปละความอยาก เราละที่ไหนล่ะ

บางคนบอกว่าละสังโยชน์ๆ แล้วสังโยชน์มันอยู่ที่ไหนล่ะ ก็ขึ้นไปถึงยอดก็ตัดสังโยชน์ทิ้งเลย มันก็จบ

ก็ชื่อของมัน แล้วตัวมันอยู่ไหนล่ะ ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ถึงที่ เรายังไม่เห็นมัน เราจะไม่รู้ว่าตัวมันเป็นแบบใด

นี่ก็เหมือนกัน ถามว่า เราแยกแยะจนเห็นความอยากที่มากับความคิดแล้ว เห็นความอยาก

นั่นน่ะคือตัวกิเลส ความอยากที่มากับความคิด เพราะเราพิจารณาความคิด เราพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิ เราพิจารณาด้วยปัญญา พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิตด้วยปัญญา ถ้าด้วยปัญญา เริ่มต้นมันก็เป็นสมถะ สมถะ ถ้ามันพิจารณาไปแล้ว ถ้ามันปล่อย มันเห็นว่าความคิดกับความอยากมันไม่ใช่อันเดียวกัน แล้วเราจะฆ่าความอยากได้อย่างไรล่ะ

มันต้องจิตถ้ามันสงบเข้ามาแล้วมันก็จะจับสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ แล้วพิจารณาตรงนั้นน่ะ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม พิจารณาตรงนี้ พิจารณาเข้าไปๆ พอพิจารณาแล้วมันก็ปล่อย พิจารณาแล้วมันก็ทำลายๆ

พอทำลาย ทำลายก็ทำลายกิเลส ทำลายกิเลส กิเลสก็คือความอยาก ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันก็เป็นกิเลส ชื่อก็คือกิเลส แต่ถ้าชื่อกิเลส เหมือนกับสารเคมี สารเคมี เคมีอย่างนี้มันปฏิกิริยาเป็นอย่างนี้ แล้วมันผสมกับอะไรล่ะ มันมีส่วนผสมสิ่งใด มันผสมสิ่งใดมันก็เกิดปฏิกิริยาเคมีต่อเนื่องไป

นี่ก็เหมือนกัน ความอยาก ความอยากมันเป็นอะไร แล้วเราจะแก้ความอยากอย่างใด แล้วความอยากมันอยู่ที่ไหน

มันเป็นความรู้สึกทั้งนั้น ฉะนั้น ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วพิจารณาต่อเนื่องไป พิจารณาต่อเนื่องแยกแยะไป แยกแยะครั้งแล้วครั้งเล่า แยกแยะครั้งแล้วครั้งเล่า การพิจารณาก็พิจารณาลงสติปัฏฐาน ๔ ตรงนี้ หลักมันอยู่ตรงนี้

พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่าความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดจากอะไร แล้วสิ่งที่มันเกี่ยวเนื่องต่อไปมันคืออะไร ถ้ามันคืออะไร จับตรงนี้

แต่เราจะเอาที่ผลไง เอาที่ว่าไปถึงก็จับความอยากมาเลย แล้วก็ฆ่ามันเลย แล้วก็จบเลย แล้วไปจับที่ไหนล่ะ จับไม่ได้ ไม่เห็นมัน เออ! แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ แล้วถ้าไม่เห็นมัน ทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ นี่ไง แล้วทำอย่างไรต่อ อ้าว! ทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ

ก็กลับมากาย กลับมาเวทนา กลับมาจิต กลับมาธรรมไง กลับมาที่นี่ กลับมาเห็นกาย พิจารณากายซ้ำ เพราะพิจารณากายมันก็เป็นไตรลักษณ์ มันก็ปล่อย ปล่อยมันก็มีความสุข ความสุข ถ้าจิตมันมีกำลัง จับอีก มันก็มีอีก เพราะมันยังไม่สมุจเฉท จับซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ การพิจารณาซ้ำอย่างนี้

มีคนถาม เราอ่านปัญหาถามตอบของหลวงตาเยอะมาก เวลาคนถามปัญหาไป ท่านจะบอกว่าให้ทำซ้ำๆๆ ก็ตรงนี้ แต่ท่านคงเบื่อมากกว่าเรา เพราะท่านตอบปัญหามาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ อายุ ๙๐ กว่า เกือบ ๑๐๐ ตอบทุกวันน่ะ แล้วไอ้คนถามก็ถามปัญหาเดิม อริยสัจก็คืออันนี้แหละ แต่คนถามมันเปลี่ยนหน้ามา แล้วถามแล้วถามเล่า มันก็ตอบซ้ำๆ ก็เหมือนกับคำตอบ เพราะคนรู้จริงก็ตอบอย่างนั้น ให้ซ้ำลงไป

เวลาเขาถามปัญหา หลวงตาว่าถูกไหม

ถูก

แล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ

ซ้ำสิ ซ้ำ

นี่ไง ซ้ำก็กลับมาพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

เราก็จะคัดค้านว่า อ้าว! ก็พิจารณาแล้ว พิจารณาแล้วมันปล่อยวางแล้ว มันรู้แล้ว

มันก็เหมือนเด็ก เด็กมันบอกมันทำแล้ว เรากินข้าวเสร็จแล้ว เราล้างถ้วยล้างจานใช่ไหม ผู้ใหญ่ก็ล้าง เด็กก็ล้าง เด็กมันก็ล้างของมัน แต่เด็กมันทำกับข้าวไม่เป็นนะ เด็กมันอาศัยแม่มันทำให้กิน แต่ผู้ใหญ่มันทำกับข้าวกินเอง ทำกินเองด้วย ทำเลี้ยงลูกด้วย ทำเลี้ยงแขกที่มาบ้านด้วย

นี่ไง ทำแล้วไง ก็ทำแล้ว ก็ล้างถ้วยล้างจานแล้ว ล้างถ้วยล้างจานแล้ว แต่เอ็งทำอาหารไม่เป็น เอ็งหาวัตถุดิบไม่เป็น เอ็งต้องหาวัตถุดิบมาแล้วทำอาหาร ให้มีความชำนาญ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

นี่พูดถึงว่าแล้วจะแก้ไขความอยากอย่างใด

ไปแก้ไขความอยาก มันก็ต้องไปแดนประหารของเรือนจำ จับนักโทษไปประหารยิงเป้า จบ ไอ้นักโทษประหารนั่นน่ะมันโดนพิพากษาประหารชีวิตแล้ว มันไปรอการประหารอยู่ในแดนประหาร

ไอ้นั่นเป็นนักโทษประหาร กิเลสมันไม่ยอมให้ใครเห็นหน้ามัน กิเลสมันไม่ยอมให้ใครจับตัวมัน กิเลสมันปลิ้นปล้อนหลอกลวงให้เราเห็นดีคล้อยตามมันอยู่ในใจของเรา พิจารณาขนาดไหน มันปล่อยวางขนาดไหน ถ้ามันยังไม่ถึงที่สุด มันสลบไปเฉยๆ เดี๋ยวมันฟื้นมา มันจะมีเล่ห์กลมากกว่านี้ การต่อสู้กับกิเลส มันมีเล่ห์มีกลของมัน เล่ห์เหลี่ยมมันมีอีกมหาศาล

เราทำแบบวิทยาศาสตร์ไง ที่ว่า ทำแล้ว รู้แล้ว อย่างนี้ต้องเป็นแบบนี้ไง

ดูสิ ดูอย่างนี้ ในปัจจุบันนี้ ทางการฝ่ายปกครองเขาบอกว่า กฎหมายมันล้าหลัง กฎหมายไม่ทันสังคม กฎหมายไม่สามารถ

นี่ไง เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ล้าหลังหรอก ทันสมัยตลอดเวลา แต่กิเลสมันพลิกแพลงมากขึ้น เดี๋ยวนี้เพราะคนมันมีการศึกษามากขึ้น คนมันฉลาดขึ้น มันบอกมันเข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเข้าใจทุกอย่างเลย มันให้ใบประกาศวันละ ๕ ใบ ๕ ใบ แต่กิเลสไม่เคยถลอกเลย กิเลสไม่รู้สึกอะไรเลย เห็นไหม ไอ้นี่ไปเสริมกิเลส

นี่พูดถึงว่า จะฆ่าความอยากอย่างใด

เพราะทุกคนจะถามปัญหาอย่างนี้ ก็บอกมาสิ ทำอย่างใด แล้วจะทำให้จบเลย ก็บอกมาสิ เห็นไหม เรายิ่งรู้โจทย์ยิ่งปฏิบัติยากขึ้น คนเรานะ เราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคสิ่งใด เวลาออกกำลังกาย ร่างกายมันฟื้นฟูตัวมันเองจนโรคนั้นหายไปได้ แต่พอเราไปตรวจว่าเราเจอโรคอะไร จิตใจเราตกหมดเลย เราจะทุกข์ยากหมดเลย

นี่เหมือนกัน ไปรู้ว่าไอ้นั่นเป็นไอ้นี่ ไอ้นี่เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติไม่ได้เลย ปฏิบัติไปมันรู้ทันหมด ปฏิบัติไป มันบอกเลย เหมือนต้อนวัวเข้าคอกเลย มานี่ๆ เข้าคอก มานี่ เข้าคอกเสร็จแล้ววางยาสลบ สลบเลย มัดเอาไว้นั่นเลย แล้วไปไหนไม่รอด

แต่ถ้าวางเอาไว้ เราเป็นเสรีชน จิตใจของเราเป็นเสรีชน ทำให้มันสงบเข้ามาตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาตามความเป็นจริงของมันไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สัตว์ให้กิเลสมันมัดไว้ แล้วพิจารณาตามที่กิเลสมันบอก แล้วบอกนี่คือตัณหาความทะยานอยาก นี่คือกิเลส นี่คือความอยาก แล้วจะฆ่ามันๆ

ปล่อยเป็นปัจจุบัน เป็นเสรีชน ทำจิตให้สงบเข้ามา ให้มีกำลัง แล้วพยายามจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้ววิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้าพิจารณาไปแล้วมันไม่ปล่อย มันไม่มีกำลังก็กลับมาอีก กลับมาทำความสงบ แล้วไปทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องอย่างนี้ ก้าวเดินไปอย่างนี้

วิธีการที่เราจะละความอยาก แก้ไข เห็นความอยากมากับความคิด แล้วแก้ไขความอยากนี้ได้อย่างไร

ก็สู้มัน ต่อสู้มันอย่างที่ได้อธิบายมานี้

. อาการปล่อยวางชั่วคราวในแต่ละครั้งจะมีความหนักเบาเท่ากันทุกครั้งหรือเปล่าครับ เพราะผมสังเกตว่า บางครั้งก็รุนแรงชัดเจน บางครั้งก็เพียงแต่อารมณ์สลายวูบลงเท่านั้น จนเกิดความสงสัยว่า ความสุขที่เกิดตามมานี้มันจะเป็นความสุขที่เกิดจากสมถะหรือวิปัสสนา

ความหนักเบาจะไม่มีทางเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันมันก็เป็นสัญญาน่ะสิ ถ้าปฏิบัติเริ่มต้น บางทีเราพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวางโดยที่ว่าถ้ากำลังมันเกือบจะสุดกำลังแล้วมันก็ปล่อยเบาๆ

แต่ถ้ากำลังมันเข้มแข็งขึ้นมา เวลามันปล่อยมันเหมือนเราฟัน เราฟันวัตถุสิ่งใดด้วยมีดของเรา ถ้ามันคมกล้า มันฟันขาดฉับไปเลย บางทีฟันแล้วมันไม่ขาด ฟันแล้วมันสะเทือน ต้องฟัน ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง นี่มันอยู่ที่กำลัง อยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ปัญญาที่ปัจจุบันนั้นมันสมดุลไม่สมดุล

ถ้ามันสมดุลนะ เวลามันรุนแรง รุนแรงนี่ลงหนักเลย ถ้าบางทีมันลงโดยความแผ่วเบา บางทีมันจะลง จะลง ยังไม่ลง ต่อสู้ ขยับกันจนลง เห็นไหม ความหนักเบาไม่มีเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนี่สัญญาทั้งนั้น

ถ้ามันผ่านไปแล้ว สิ่งที่พิจารณาไปแล้ว มันเคยปล่อยวางแล้วก็ปล่อยวางมันไป แต่ถ้าเวลาเราพิจารณาของเราไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างที่ว่า เวลามันปล่อยวางมันไม่เท่ากันทุกหนไป

ดูสิ อาหารการกิน อาหารมื้อแรกอร่อยมาก พอมื้อต่อๆ ไปชักชินชาแล้ว ถึงจะคุณภาพดีกว่าด้วย แต่กลับไม่อร่อยเหมือนมื้อแรก เหมือนกับเรานะ บางทีเราทุกข์ยาก ยากจนมาก ถ้ามีอาหารรสชาติโดยพื้นๆ แต่ด้วยความทุกข์ความยาก ความหิวกระหาย รสชาติมันจะฝังใจ มันจะมีความเอร็ดอร่อยจนชาตินี้ก็ลืมไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าครั้งแรกที่มันรู้ของมัน อันนี้จะฝังใจ แล้วครั้งต่อไป อาหารนี้ดีขนาดไหนนะ มันก็ไม่อร่อยเหมือนตอนที่เราทุกข์เรายาก เราจวนจะเสียชีวิต แล้วเราได้อาหารประทังชีวิต อันนั้นจะฝังใจมาก ปัจจุบันๆ ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการปล่อยวางแต่ละคราวจะมีน้ำหนักเหมือนกันทุกคราวไหม

ไม่

บางครั้งรุนแรงชัดเจน แต่บางครั้งที่เป็นก็สลายวูบไปเท่านั้น จนเกิดความสงสัยว่า สุขที่เกิดขึ้นตามหลังมานั้นมันเป็นสุขที่เกิดจากสมถะหรือเกิดจากวิปัสสนา

อันนี้เรารู้ว่ามันเป็นไปจากเรานี่แหละ เพราะเรายืนยันไง เรายืนยันกับที่บอกว่า ต้องเป็นนามรูป ไม่ต้องทำสมาธิ เราถึงบอกว่า สุขในสมถะกับสุขในวิปัสสนาแตกต่างกัน

ถ้าเขาบอกว่าเขาใช้ปัญญาของเขาไป เขาใช้ปัญญาของเขารู้ตัวทั่วพร้อมหมดแล้ว มันเป็นวิปัสสนาๆ มันเป็นไปไม่ได้ อย่างมากก็เป็นสมถะ เป็นสมถะเพราะมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วถ้ามันปล่อยวางขึ้นมา ปล่อยวาง สุขในสมถะ มันการปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะว่าเราแบกหามของหนักมา แล้วเราวางลงแล้วมีความสุขเท่านั้นน่ะ

แต่เราแบกหามของหนักมา เราไปถึงแล้ว เราวางลงแล้ว เราได้เอาของหนักนั้นได้ทำเป็นสินค้า ได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนไป เราจะได้ผลตอบแทนมา เห็นไหม มันได้ทั้งการวางของความหนักนั้น มันเอาของหนักนั้นออกไปพิจารณาด้วยวิปัสสนาแล้ว มันจะได้ผลตอบแทนมาเป็นผลประโยชน์อีกชั้นหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาความสุขที่เกิดจากวิปัสสนามันถึงลึกซึ้งกว่ากัน ไอ้คำนี้มันเป็นคำพูดเราเอง แล้วก็กลับมาถามอันนี้ กลับมาถามนะว่าจนไม่รู้ว่าความสุขที่เกิดนี้เกิดจากสมถะหรือว่าวิปัสสนา

เกิดจากสมถะก็มีความสุข สมถะคือการพักผ่อน สมถะคือมาพักหัวใจให้มีกำลัง ความสุขอันนี้มันก็เป็นสุขในสมาธิ ถ้าสุขในสมาธิแล้วมันก็มีความสงสัย มันออกจากสมาธิมาก็มีความสงสัย เอ๊! เราทำเมื่อกี้มันถูกต้องไม่ถูกต้อง ทำเมื่อกี้ไปมีความสุขแล้ว มันสะอาดบริสุทธิ์หรือยัง

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนานะ เวลามันจับสิ่งใดได้ มันเป็นสมาธิแล้ว มีความสุขแล้ว แล้วจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง แล้วถ้าวิปัสสนาไป ถ้ามันไม่ปล่อยนะ ก็แค่นี้ แล้วมันก็เสื่อมออกมา ถอยออกมา มาทำสมาธิต่อ

แต่ถ้าเวลาพิจารณาแล้วมันปล่อย ถ้ามันปล่อย พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันพิจารณา จิตมันจับแล้วมันพิจารณา พิจารณาแยกแยะกันไป เห็นไหม ถ้าพิจารณากาย กายสู่ไตรลักษณ์ ถ้าพิจารณาเวทนา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เวทนา ใครเป็นคนไปยึดว่าเวทนาเป็นเรา พอมันปล่อยความยึด เวทนาก็ดับ เวทนาดับ จิตมันก็รวมลง พิจารณาจิต จิตมันเป็นได้หลากหลาย จิตมันเป็นได้ พิจารณา มันสว่างไสว พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วจิตมันก็ลง พิจารณาธรรม เวลาถ้ามันวิปัสสนา มันมีการกระทำ มันพิจารณาจนจบมันถึงปล่อยได้ มันพิจารณาจนจบมันถึงวางได้ พอวางได้ นั่นน่ะสุขจากวิปัสสนา

สุขจากสมถะคือการปล่อยวางของหนักที่เราแบกหามมา ของหนักนั้นมันเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ถ้าเราจับได้ เราแบกของหนักมา แล้วเราวางของหนักแล้ว เรายังไม่รู้จักของหนักมันอยู่ที่ไหน เพราะพอมันเป็นสมาธิแล้วเราไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม มันก็ไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นสมถะ เพราะมันปล่อยของหนัก

แต่ถ้าเวลามันปล่อยของหนักแล้ว แล้วมันจับของหนัก จิตเห็นอาการของจิต อาการของมัน ปล่อยของหนัก ของหนักนั้นมันคืออะไร มันเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ถ้ามันจับได้ มันพลิกแพลงของมัน พลิกแพลงวิปัสสนาของมัน แล้วเวลามันปล่อย มันปล่อยก็เป็นตทังคปหาน ปล่อยชั่วคราว

ปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆ หลวงตาว่าซ้ำๆๆ พอซ้ำถึงที่สุดแล้วมันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

ทั้งๆ ที่มันอยู่กับเรานี่แหละ ทั้งๆ ที่ความคิดเป็นเรานี่แหละ แต่เวลามันขาดไปแล้วนะ ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด ความคิดไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ความคิด อ้าว! แล้วไอ้ความสุขอยู่ไหนล่ะ

ถ้าคนปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้ว ภาวนารู้นี่มันชัดเจนมาก แต่ถ้าภาวนาถาม ภาวนาถามมาก็ตอบอย่างนี้ เพราะภาวนามาถาม แต่ภาวนารู้มันจะชัดเจนของมัน ถ้าชัดเจนของมันจะเป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า การปล่อยวางแต่ละครั้งมันจะเหมือนกันไหม มีความหนักเบาเหมือนกันไหม แล้วความสุขแตกต่างเหมือนกันไหม นี่ข้อที่ ๒

. บางครั้งเมื่อผมจับอารมณ์ความรู้สึกเกิดได้ และเพียงรับรู้ว่าเวทนาเกิดขึ้น แต่เพียงเท่านั้น อารมณ์ของผมก็สลายตัวลงแล้ว ผมจึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้พิจารณาต่อเนื่องเหมือนกับทุกครั้ง แต่ความรู้สึกของผมมันกลับสลายตัวลงไปได้ครับ

เวลาคนภาวนานะ จิตสงบแล้วมันจะพิจารณา จิตสงบก็คือสงบ ถ้าคนจิตสงบแล้วนะ ถ้าไม่มีสติปัญญาก็เป็นมิจฉาสมาธิ คือมีสมุทัย ความเห็นผิดอยู่ในความสงบนั้น มันก็ติดความสงบนั้น นึกว่าความสงบนี้เป็นมรรคเป็นผล

แต่ถ้าคนมีสติปัญญานะ ความสงบนั้นถ้ามีสติว่า ความสงบนี้มันสงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายออกมา พอคลายออกมาก็ไม่เห็นมีอะไรได้มากเกินเลยไปกว่านี้เลย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบนี้หรือ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันก็เริ่มมีสติ เริ่มมีสติพยายามจะรำพึงให้ไปเห็นกาย ให้เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความจริง สิ่งที่ไปรู้ไปเห็นอันนั้น มันก็ถือว่าที่ความสงบนั้นเป็นอันหนึ่ง แต่การวิปัสสนานี้เป็นอันหนึ่ง ทีนี้เป็นอันหนึ่ง ถ้าเราพิจารณาไป มันรู้มันเห็นของมัน มันมีกำลังของมัน มันก็ทำของมัน

แต่ถ้าเวลาจิตมันเสื่อมนะ มันจับต้นชนปลายไม่ได้ มันล้มลุกคลุกคลานไปหมด ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานไปหมด ก็เหมือนข้อที่ ๓บางครั้งที่ผมจับอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา เพียงแต่รู้ว่าเวทนาที่จะเกิด เพียงเท่านั้น อารมณ์ของผมก็สลายตัวลง

นี่เพียงเท่านั้น เวลากิเลส เวลาภาวนาไปนะ คนคิดว่าเราภาวนาไปใช่ไหม อย่างเช่นคนทำความดี เราเป็นผู้ใหญ่เห็นเด็กทำความดี เราก็จะส่งเสริม ใครเป็นคนดี เราอยากส่งเสริมทั้งนั้นน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอเรามาภาวนา เราก็คิดว่าเราทำคุณงามความดี พอคุณงามความดี เราทำแล้วมันต้องมีคนส่งเสริม มันต้องมีคนอนุโมทนา มันต้องมีคนทำให้เราชัดเจนขึ้น

ทีนี้พอจิตมันสงบแล้ว เพียงแค่รู้ว่านี้เป็นเวทนา มันก็วูบหายไปเลย เห็นไหม มันวูบไปเลย

นี่กิเลสมันบังเงา กิเลสมันแซงหน้า กิเลสมันจะไม่ให้เราพิจารณาไง เวลาภาวนาไป คนภาวนาไปมันจะรู้ว่า เวลาเราจะต่อสู้กับกิเลสนะ กิเลสมันขวางหน้าเลย จับเวทนา เวลากิเลสขวางหน้า จับเวทนา เจ็บปวดไปทั้งนั้นน่ะ เวทนามันเป็นปกติ พอจับได้ พิจารณา มันปวด ๒ เท่า ๓ เท่า นี่มันขวางหน้า เวลามันขวางหน้า เราต่อสู้กับมันด้วย โอ้โฮ! เหงื่อแตกพลั่กๆ เลย สู้กับมัน

แต่ถ้าพอเราสู้กับมันได้ เราสู้กับมันได้ มันปล่อยวางเป็นบางคราว พอเรามาเจอเวทนาอีก กิเลสมันรู้เท่าแล้ว พอเห็นเวทนา เวทนาก็หลบแว็บเลย เห็นไหม

พอผมจับเวทนาได้ เวทนาผมก็สลายตัวไปเลย บางทีก็สงสัยว่า ทำไมทั้งๆ ที่ผมไม่พิจารณามันเป็นอย่างนั้นล่ะ

ทั้งๆ ที่ไม่พิจารณานี่ยังมีสติทั้งๆ ที่ไม่พิจารณามันแซงหน้าไง พอเห็นตัวมันก็หลบ นี่เทคนิคของมัน กิเลสมันปลิ้นปล้อน กิเลสมันมีเทคนิค มันมีวิธีการทั้งนั้นน่ะ ถ้าคนไม่ทัน พอจับเวทนาก็ปล่อยวางเลย เรายังไม่พิจารณา เรายังไม่ได้ตัดสินว่าใครถูกใครผิดเลย แล้วเขาบอกเขาจะยอมรับผิด แล้วผิดเรื่องอะไร เออ! มันจะถูกจะผิดก็ต้องตัดสินกันก่อนสิว่าเราถูกเราผิดเรื่องอะไรใช่ไหม

เราจับเวทนาได้ เราก็พิจารณาก่อน เวทนามันเกิดจากใคร เวทนามันเกิดจากสัญญาที่ไปมั่นหมาย ถ้ามั่นหมาย ใครเป็นคนไปมั่นหมายมัน ถ้ามั่นหมาย ใครเป็นคนยึดมั่นมัน แล้วคนยึดมั่นก็คือจิต จิตมันโง่ขนาดไหน ถ้าจิตมันฉลาดขึ้นมา เวลามันสลัดทิ้งมา มันสลัดเวทนาทิ้งไป จิตมันเหลือที่จิต แต่ถ้ามันวูบหายไปหมดเลย มันคลุกเคล้ากัน มันเป็นอะไร

เราจะบอกว่า เวลาพิจารณาไป ไม่ใช่ว่าเราปฏิบัติไปแล้วมันจะถูกต้องชอบธรรมดีงามไปเสียทุกๆ อย่าง การปฏิบัตินะ ถ้าเรามีสติมีปัญญา เรากระทำของเราตามความเป็นจริง มันก็จะถูกต้องดีงามของเราไป

แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง มันไม่ถูกต้องดีงามหรอก ไม่ถูกต้องดีงามแล้วมันยังมาหลอกลวง มันทำให้เราสิ่งที่ผมยังไม่พิจารณาเลย ทำไมมันวูบหายไปเลย ทั้งๆ ที่ว่ายังไม่ได้พิจารณาเลย ไม่เหมือนกับทุกๆ ครั้ง แต่ความรู้สึกของผมมันสลายตัวลงไป

เวลามันหลบมันหลีกมันเป็นอย่างนี้ มันแซงหน้าแซงหลัง กิเลสมันพลิกแพลง ถ้าพลิกแพลงแล้ว เวลาถ้ามันสลายตัวไป เรามีสติรู้ไว้ แล้วเรากำหนดพุทโธไว้อยู่อย่างนั้น แล้วพอจิตสมบูรณ์แล้วจับใหม่ๆ ต้องจับใหม่ พิจารณาใหม่ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ

ขณะที่เวลาเราวิปัสสนานะ กิเลสมันก็หลบหลีก กิเลสมันก็มีปัญญาของมัน พูดถึงถ้ากิเลสนะ เวลามันเจอธรรม ต่อสู้กัน ธรรมประหัตประหารมัน มันแพ้ มันหลบเลี่ยงไป มันก็รวมลง แต่มันยังไม่สมุจเฉทคือมันยังไม่ขาด ไม่ขาด เวลามันไปสะสมตัวมันกลับมา พอมันรู้ว่ากำลังของธรรมมา มันหลบก่อน วูบหายเลย

ถ้าวูบหายเลย มันมีเหตุมีผลอะไร วูบหายเลย ถ้าวูบหายเลย เราก็เชื่อนะ นี่เวลาเล่ห์กลของมันเป็นแบบนี้ ถ้าคนภาวนานะ ถ้าผ่านแล้วจะรู้ ถ้ายังไม่ผ่าน หันรีหันขวาง หันรีหันขวางเพราะมันจะให้คะแนนตัวเองไง เออ! ก็มันปล่อยแล้วไง

อ้าว! มันปล่อยโดยกิเลส ไม่ได้ปล่อยโดยธรรม มันปล่อยด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่ปล่อยด้วยความรู้ ความไม่รู้ไง มันวูบหายไปด้วยความไม่รู้ ปล่อยด้วยความไม่รู้ มันเป็นธรรมไหม

ถ้ามันไม่รู้ขึ้นมา มันก็ตั้งสติแล้วจับมา กลับมาจับใหม่ แล้วพิจารณาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ หาทางหลบเลี่ยง หาทางแยกแยะ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันก็เป็นจริง

ฉะนั้นทำไมทั้งๆ ที่ผมไม่ได้พิจารณาต่อเหมือนกับทุกครั้ง แต่ความรู้สึกของผมมันกลับสลายตัวลงไป ความรู้สึกสลายตัวลงไป มันหายไปเลย

เวลาทิ้งไป เวลาพิจารณากายนะ เวลากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตรวมลง จิตรวมลง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตรวมลง นี่ไง มันไม่ใช่สลายหายไป จิตรวมลง เพราะจิตเป็นผู้สลัดเขาทิ้ง จิตเป็นผู้สลัดเขาทิ้ง แล้วเหลืออะไรอยู่ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เราสลัดหมด แยกออกเป็น ๓ ทวีปเลย แล้วสลัดไปแล้ว แล้วเหลืออะไร

ถ้ามันวูบลงๆ ความรู้สึกผมมันสลายตัวลง สลายตัวลงแล้วมันเหลืออะไร ใครเป็นคนสลายตัวลง แล้วสลายอย่างไร แต่ถ้ามันสลายหายไปเลย เพราะมันสลายไปแล้ว เหมือนคนตกภวังค์ เวลาตกภวังค์ไปนะ พอสะดุ้งตื่นรู้สึกตัวขึ้นมา เออ! นั่นคือหายไป หายไปเวลาที่ไม่รู้ตัว เวลาสะดุ้งตื่น นั่นจิตมันกลับมา

ถ้ามันสลาย มันหายไปไหน มันมีอะไรหายไป

ทำสมาธินะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันยังมีสติพร้อม มันไม่มีหายหรอก ถ้าละเอียดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามาชัดเจนมาก ยิ่งวิปัสสนา ยิ่งภาวนา ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ ชัดเจนมาก เวลาทำ ซึ่งๆ หน้า เห็นชัดเจนมากเลย ถ้าชัดเจนมาก ฉะนั้น มันต้องชัดเจนอย่างนี้ สติ มหาสตินะ ถ้ามีสติมันจะชัดเจนกว่านี้ แต่นี้มันว่ามันสลายตัวลงไป ก็ยังสงสัยอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่ทำนะ

ข้อที่ ๓ ตอบข้อนี้ไง ให้จบบางครั้งที่ผมจับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดได้ และเพียงรับรู้ว่าเวทนาเกิดขึ้น แต่เพียงเท่านั้น อารมณ์ของผมก็สลายตัวลงแล้ว ผมจึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้พิจารณาต่อเหมือนกับทุกครั้ง แต่ความรู้สึกของผมมันกลับสลายตัวลงครับ

แต่ผมเกิดความสงสัยว่ามันก็สงสัยอยู่แล้ว ทุกอย่างมันเป็นโดยตัวมันหมด ฉะนั้น สิ่งที่ทำ กิเลสมันแซงหน้า กิเลสแซงหน้า กิเลสแซงหลัง เวลาปฏิบัติไป กิเลสมันไม่ปล่อยให้เราก้าวเดินไปด้วยความสะดวกหรอก แต่ยังดีอยู่ว่าการภาวนามันมีเนื้อหาสาระ การภาวนามีเหตุมีผล ถ้าการภาวนามีเหตุมีผล นี้คือผลงานของเรา

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามานี่เป็นธรรมสาธารณะ ธรรมของเรารู้เองเห็นเอง ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน รู้ในใจของเรา ถ้ามันรู้ได้ขนาดนี้แสดงว่าเราทำของเรามา ปฏิบัติของเรามา แล้วแต่ความสามารถของเรา อำนาจวาสนาบารมีของเรา จริตนิสัยของเรา มีกำลังแค่ไหน ถ้าในการปฏิบัติเราทุ่มเต็มที่เลย แล้วถึงที่สุด เวลามันถึงที่สุดนะ เวลามันขาดนะ อริยสัจมีหนึ่งเดียว บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถ้าปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นความจริง ถ้าภาวนาต้องรู้อย่างนี้ นี่คือภาวนารู้ เอวัง