ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้จากทำ

๑๘ พ.ค. ๒๕๕๗

รู้จากทำ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสอบถามแนวทางปฏิบัติ

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพ การที่เราหนีทุกข์มาจับความดับจะเป็นอุปาทานหรือก่อให้เกิดภพชาติต่อไปหรือไม่ครับ การจดจำอย่างหนึ่ง การละสิ่งที่จดจำอย่างหนึ่ง ทำอย่างไรจะถึงที่สุดแห่งความสงบครับ

ตอบ :กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพ การที่เราหนีทุกข์มาจับความดับจะเป็นอุปาทานไหม

การที่เราจะหนีทุกข์ โดยความเป็นจริง ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ พอละเสร็จแล้วเกิดนิโรธ นิโรธเกิดจากมรรค ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ สมุทัยควรละ แต่นี่เราคิดกันเองไงว่า หนึ่ง การหนีทุกข์ไง เราจะหนีทุกข์มาจับที่ความดับ

ถ้าจับที่ความดับนะ เกิดดับๆ จับที่ความดับเพื่อจะไม่ให้มีความทุกข์ไง เราจะหนีจากทุกข์ เราหนีจากทุกข์ เราจะหนีไปไหนล่ะ เราจะหนีไปไหน

ความจริงเราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิดว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่นี้เป็นความทุกข์ แล้วเราจะหนีมันไปเลย เราจะหนีไปเลย เราจะหนีไปไหน เราจะหนีความทุกข์ไปไหน ในเมื่อยังมีตัวตนเราอยู่ ความทุกข์มันมีที่อยู่ที่อาศัย ถ้าความทุกข์มันมีที่อยู่ที่อาศัย สิ่งที่เราทุกข์ๆ มันเป็นวิบาก มันเป็นวิบากคือมันเกิดแล้วไง มันเกิดมาเป็นผลแล้ว ผลคือความทุกข์ไง

แล้วเราจะหนีทุกข์ หนีทุกข์แล้วเหตุมันล่ะ เหตุให้เกิดทุกข์มันอยู่ไหน เหตุให้เกิดทุกข์เรายังไม่รู้ว่ามันเกิดอยู่ที่ไหน แล้วเราบอกว่าเราจะหนีทุกข์ นี่ความเข้าใจผิดไง ความเข้าใจผิด

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ เราฟังของเรา เราฟังของเรา เราว่าเราเข้าใจของเรา ถ้าเราเข้าใจของเรา เราเข้าใจของเราแล้วเราจะทำตามนั้น ทำตามความเข้าใจ

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ฟังธรรมเป็น ฟังธรรมไม่เป็น ถ้าฟังธรรมเป็นนะ มันจะฟังเป็นสเต็ป มันเป็นระดับขึ้นมาเลย อย่างเช่นเวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ ถ้าหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนะ ท่านเทศน์ถึงความสงบของใจเลย ถ้าเทศน์ความสงบของใจใช่ไหม

แต่ทางปริยัติเขาบอกว่ากรรมฐานเทศน์ผิด กรรมฐานเทศน์อะไรก็ไม่รู้ ธรรมดาเขาต้องเทศน์เรื่องศีลก่อน ต้องให้คนเข้าใจเรื่องศีล ถ้ามีศีลแล้วมันถึงจะทำสมาธิ พอมีสมาธิแล้วเราถึงจะเกิดปัญญา

แล้วเวลากรรมฐานเราส่วนใหญ่แล้วเรื่องศีลไม่ได้พูดถึง ไม่ได้พูดถึงในแง่อะไร ในแง่ที่ว่า ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ อธิบายศีลข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา อทินนา อธิบายทีละข้อๆ

แต่โดยพระกรรมฐาน โดยที่ครูบาอาจารย์นักปฏิบัติเรานี่ เราบอกว่า ในเมื่อมนุษย์มีศีล ๕ เป็นพื้นฐานของมนุษย์ไง มนุษย์มีศีล ๕ อยู่แล้ว ถ้าบวชเป็นพระ พระศีล ๒๒๗ คือศีลมันสมบูรณ์แล้ว ถ้าไม่สมบูรณ์จะเป็นชาวพุทธอย่างไร

ในวงกรรมฐานเขาบอกว่าศีลมันเป็นปกติของใจ ใจของชาวพุทธมันมีศีล ๕ เป็นพื้นฐาน ทุกคนจะมีศีล ๕ ใช่ไหม เพราะเราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เป็นพุทธมามกะต้องมีศีล ๕ มีศีล ๕ ถ้ามาบวชพระ ใครเป็นนักปฏิบัติก็มีศีล ๘ ถือศีล ๘ ไง เพราะอะไร เพราะไม่กินข้าวเย็น ถือศีล ๘ พวกนี้มีศีล ๘ อยู่แล้ว สามเณร สามเณรก็มีศีล ๑๐ พระก็มีศีล ๒๒๗ ศีลเป็นความปกติของใจ เป็นพื้นฐาน ศีลเป็นพื้นฐานของชาวพุทธควรรู้

ถ้าเป็นชาวพุทธต้องรู้เรื่องศีล เป็นชาวพุทธต้องมีศีลมีธรรม มันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ฉะนั้น พระกรรมฐานส่วนใหญ่แล้วจะไม่อธิบายว่าศีล ๕ คือไอ้นั่น ศีล ๘ คือไอ้นี่ ศีล ๑๐ คือไอ้นั่น ศีล ๒๒๗ คือไอ้นู่น ไม่อธิบาย เพราะถือว่าของรู้ๆ กันอยู่แล้ว เหมือนชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็มีรัตนตรัย จะต้องอธิบายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อีกไหม เพราะพื้นฐานเรารู้แล้ว

แต่นักปฏิบัติอยากรู้เรื่องการปฏิบัติ อยากรู้ว่าทำอย่างใด กรรมฐานเราอยากรู้ว่าทำอย่างใด ทำอย่างใดถึงจะมีสมาธิ ทำอย่างใดถึงเกิดปัญญา

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ ท่านเทศน์ถึงความสงบเลย การทำสมาธิ การทำความสงบของใจ ทีนี้พอการทำความสงบของใจปั๊บ ใจมันมีกิเลส พอทำความสงบของใจ เวลาถ้ากิเลสมันรุนแรง กิเลสมันดิ้นรน มันก็บอกมันก็มีความทุกข์ความยาก เวลากิเลสมันนุ่มนวลใช่ไหม มันบอกนี่เป็นสมาธิ ปล่อยหมดแล้ว ว่าง...มันไม่เป็นสมาธิเลย ไม่ใช่สมาธิ นี่เวลากิเลสมันบังเงา กิเลสเข้ามาสวมรอยไง

เวลาเราฟุ้งซ่าน เรารู้ว่าเราฟุ้งซ่านเลย เวลาสบายใจ สบายใจเป็นสมาธิไหม นี่ไง โลกเขาทำกันอย่างนี้ไง ที่โลกเขาทำกันอย่างนี้เพราะอะไร เพราะขาดผู้นำ เพราะขาดผู้นำที่รู้จริง ขาดผู้นำที่ปฏิบัติแล้วมีความจริงขึ้นมาจากใจ เพราะความจริงมันต้องขึ้นมาทั้งนั้นน่ะ

เงินทองนะ เงินทองเป็นสมบัติสาธารณะ เงินทอง เงินคงคลัง เงินในธนาคารชาติเป็นของประเทศไทย มันเป็นของสาธารณะ แต่ถ้าเงินทองของเรา เราทำมาหากินของเรา เราทำหน้าที่การงานของเรา เราได้เงินทองมา เงินทองนี้เป็นของเรา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราศึกษาๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นน่ะ ที่ชาวพุทธๆ ที่รู้ๆ นี่รู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะทั้งนั้นน่ะ มันไม่มีอยู่จริงไง ถ้าไม่มีอยู่จริงแล้วเป็นสมาธิได้อย่างไร

มนุษย์มีสมาธิ มนุษย์มีสมาธิเพราะอะไร เพราะสมาธิของปุถุชน เวลาปฏิบัติ ปุถุชน ถ้าคนขาดสมาธิก็โรงพยาบาลบ้าไง เด็กสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว สมาธิดี เด็กสมาธิดีๆ เด็กจะมีการศึกษาที่ดี เด็กที่ไอคิวสูงๆ ส่วนใหญ่พวกนี้มีสมาธิมั่นคง สมาธิดี สมาธิดีมันก็เป็นของปุถุชน ของเรื่องโลกๆ ของนักวิทยาศาสตร์

แต่ถ้าจะปฏิบัติแล้ว ปุถุชน กัลยาณปุถุชน นักปฏิบัติเขาจะรู้เลยว่าปุถุชนคนหนา หนาอย่างไร หนาเพราะอะไร อะไรก็ไม่ได้ไง เสียงติฉินนินทา เสียงลม เสียงแดด มันโกรธเขาไปหมดแหละ นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชนมันเป็นเรื่องธรรมชาติ

พายุรุนแรง เวลาภัยแล้ง เวลาพายุฤดูแล้ง เวลาเกิดเฮอริเคน เวลาเกิดพายุ มันหน้าของพายุ เราก็รู้ เราก็เข้าใจได้ แต่เราก็เสียใจนะ ถ้ามันทำลายทรัพย์สินของเรา เราก็เสียใจ แต่เรารู้ เราเข้าใจได้ นี่เวลาพายุมันรุนแรง สิ่งที่มันพัดขึ้นมามันทำลายเราหมดเลย แต่เวลามันไม่เกิดพายุขึ้นมามันทำอย่างไรต่อ

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน นักปฏิบัติเขารู้ ฉะนั้น หลวงปู่มั่นเวลาเทศนาว่าการ ท่านถึงให้ทำสมาธิก่อน ทีนี้การทำสมาธิก็ตรงนี้ ตรงที่ว่า เวลาทำสมาธิไปแล้ว ไม่ใช่เราทำสมาธิแล้วได้สมาธิไง เหมือนเราทำอาหารหรือเราทำงาน ถ้าเราทำงาน มันเป็นวัตถุ อย่างเช่นเราจะสร้างโต๊ะสร้างเตียง มันเป็นไม้ ไม้เราเลื่อย เราตัดเพื่อให้มันได้ขนาด แล้วเราประกอบขึ้นมาเป็นโต๊ะเป็นเตียงได้ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันไม่มีชีวิต ขนาดไม่มีชีวิตนะ เราจะต้องมีฝีมือ ถ้ามือไม่ถึงทำแล้วมันไม่ได้ศูนย์ มันไม่สวย มันไม่ถูกต้องดีงาม นี่ขนาดเรื่องของวัตถุนะ

แล้วจิตใจล่ะ จิตใจที่ทำความสงบ เพราะอะไร เพราะจิตใจมันมีกิเลส สิ่งมีชีวิตมันมีแรงต่อต้าน วัตถุธาตุมันไม่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตเราจะมาประกอบเป็นชิ้นเป็นอันทุกอย่าง เราจะต้องมีฝีมือ เพื่อความเรียบง่าย เพื่อความสวยงามของมัน

แต่ถ้าเวลาเราทำสมาธิ จิตมันมีชีวิต จิตนี่มีชีวิต เพราะมันมีชีวิต มันเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้แล้วมันมีอวิชชาด้วย มันมีกิเลสคอยกระตุ้นด้วย

ฉะนั้น ทำไมบอกว่า ทำสมาธิก็ทำสมาธิไปเลย ทำสมาธิก็เหมือนกับเราประกอบเป็นโต๊ะเป็นเตียง มันเป็นวัตถุขึ้นมา เราก็ตัดให้มันได้ฉาก ตัดให้มันได้ส่วนของมัน เราประกอบมันก็จบ ทำสมาธิก็ทำสมาธิ ก็ตั้งสมาธิขึ้นมาก็จบ นี่เป็นความคิดของโลกไง

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ที่หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ถึงทำความสงบของใจ ทำสมาธิก็เพราะเหตุนี้ไง ท่านรู้ว่ากิเลสมันต่อต้านอย่างใด กิเลสมันมีเล่ห์กลอย่างใด กิเลสมันมีเล่ห์กลของมัน มันขุดหลุมพรางของมัน มันใช้แง่งอนของมันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอด ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติ เราถึงไม่รู้จักมันไง

พอเราไม่รู้จักมัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนทำความสงบของใจ ท่านจะบอกถึงเล่ห์กลของมัน ให้เรามั่นคง เรามีความเพียรของเรา เราทำของเราตามความเป็นจริงของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เราจะได้รสชาติของสัมมาสมาธิ เราจะได้รสชาติของความสงบ รสชาติของความสงบคือความสุข

เห็นไหม มันทำความสงบมันทำอย่างนั้น ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบแล้ว พอใจสงบแล้วให้หัดใช้ปัญญา หัดใช้ปัญญา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง สติปัฏฐาน ๔

เราพูดกันปากเปียกปากแฉะปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔มันมีแต่ชื่อ มันไม่มีความจริงหรอก ความจริงมันไม่มี ไม่มีความจริงอยู่เลย

ถ้ามีความจริงนะ จิตมันสงบแล้วจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ขนพองสยองเกล้า การเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงนะ โอ้โฮ! ขนพองสยองเกล้าเลย มันเหมือนกับเรา เรากินต้มยำ ต้มยำรสชาติมันจะเผ็ด รสชาติมันจะเผ็ด มันไม่เหมือนกับแกงจืด รสชาติมันแตกต่างกันไป

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบแล้วมันมีรสมีชาติของมัน มันรู้ของมัน รสของธรรมๆ มันต้องมีของมัน ถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตสงบแล้วไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อันนั้นถึงจะเป็นการใช้ปัญญา ปัญญาทางปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติเขาทำกันที่นี่ ถ้าทำที่นี่ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะสอนที่นี่

ทีนี้บอกว่า นี่คำถามไง คำถามว่าเราจะหนีทุกข์แน่ะ! “เราจะหนีทุกข์คิดเอาเองเราจะหนีทุกข์

จะเอาจรวด จรวดที่มันมีพลังงานมากขนาดไหน ดูสิ เขาไปอวกาศ เขาใช้แรงขับจากจรวดให้พ้นจากแรงโน้มถ่วงออกไป ไอ้นี่เราจะหนีทุกข์ เราจะใช้กำลังของจิตเท่าไรจะวิ่งหนีมันให้พ้น ให้พ้นจากทุกข์ เอ็งทำอย่างไร ทำอย่างไรล่ะ

เราถึงว่า เขาสอบถามแนวทางปฏิบัติ นี่ก็ตอบในแนวทางปฏิบัติ เดี๋ยวจะมีปัญหากันไง

ไม่มีปัญหา เวลาที่เขียนมา เวลาเราตอบไปแล้วเดี๋ยวเขาจะเขียนมาใหม่หลวงพ่อเข้าใจผิด ผมไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น

แต่นี้ตอบตามตัวอักษรไงการที่เราจะหนีทุกข์ซึ่งมาจับความดับ ถือเป็นอุปาทานหรือไม่

เป็นอุปาทานอยู่แล้ว มันเป็นอุปาทานอยู่แล้ว มันไม่เป็นความจริงเลย เพราะเราจะหนีจากทุกข์ เราจะหนีจากทุกข์โดยความเข้าใจของเราไง

แต่ในครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนแนวทางปฏิบัติท่านบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบแล้วมันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นธรรมคือสัจธรรมสิ่งที่เกิดขึ้น สัจธรรมอารมณ์ความรู้สึกเป็นธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก รู้สึกดี รู้สึกชั่ว เวลาจิตมันสงบแล้วมันไปจับต้องได้แล้วมันออกมาแยกแยะนั่นน่ะ นี่วิธีการที่เราจะปลดเปลื้องทุกข์ เราจะเปลื้องทุกข์ เราจะพ้นออกจากทุกข์ พ้นออกจากทุกข์มันต้องใช้สติปัญญา

นี่ใช้คำไง คำเขียนเขียนมาอย่างนี้การที่เราจะหนี เราจะหนีทุกข์อย่างนี้เขาเรียกว่านักหลบ

เวลาเราต่อสู้ ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรื่องการภาวนานะ ท่านบอกให้เป็นนักรบ นักรบจิตสงบแล้วให้เผชิญกับเวทนา ให้เผชิญกับกาย ให้เผชิญกับจิต ให้เผชิญกับธรรม ให้เผชิญกับความเป็นจริง ให้เผชิญหน้ากับมัน ให้เผชิญหน้ากับมันแล้วแยกแยะกับมัน ต่อสู้กับมัน แยกแยะมันให้เข้าใจ ให้เป็นไตรลักษณ์ ให้มันแปรสภาพ ให้เรารู้ให้เราเห็น นี่คือวิปัสสนา

แต่ถ้าเจอเวทนาก็หลบเลย หลบเข้าพุทโธ เจอกาย เจอกายก็เข้าสู่สมาธิ เจออะไรก็เข้าสู่ความสงบหมดเลย ไม่ต่อสู้สิ่งใดเลย มันก็สบาย เวลาเราเข้าสู่ความสงบมันก็โล่งนะ โล่ง อู๋ย! ว่างหมดเลย สบายหมดเลย...นักหลบ

ครูบาอาจารย์บอกว่า การหลบ การหลบกิเลส การหลบการหลีกนี้ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติ การหลบการหลีกนี้ไม่ใช่ความจริง ความจริงคือการเผชิญหน้า เข้าไปเผชิญหน้าประหัตประหารกัน ต่อสู้กัน แยกแยะกันด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าแยกแยะกันด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา มันจะเกิดเป็นมรรค เกิดเป็นมรรคคือมรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ สติชอบ ระลึกชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมเข้าไปแยกแยะ พอแยกแยะมันก็เกิดสัจจะ เกิดสัจจะเกิดความจริง เกิดสัจจะความจริงตรงไหน เกิดสัจจะความจริง เห็นไหม ไตรลักษณะ พระไตรลักษณ์ที่เราต้องการกันอยู่นี่ พระไตรลักษณ์ที่เราอยากรู้อยากเห็นกันอยู่นี่

เราอยากรู้อยากเห็นเราก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเป็นอนัตตาคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เป็นอย่างไรล่ะ ไตรลักษณ์ก็จินตนาการ ไตรลักษณ์ก็เป็นสารคดี ไตรลักษณ์ก็เราสร้างขึ้น ไตรลักษณ์ก็ไม่เป็นความจริง

แต่ถ้ามันเป็นความจริง จิตสงบแล้วจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมตามความเป็นจริง แล้วแยกแยะมัน แยกแยะมันถ้ากำลังมันพอนะ เวลาถ้าเห็นกายนะ พิจารณากายไปมันจะแปรสภาพนะ แปรสภาพละลายไปต่อหน้า ถ้าเกิดเป็นไฟ ไฟจะเผาไปต่อหน้า มันอยู่ที่มุมมอง มุมมองคือจริตนิสัยคนมีอำนาจวาสนา

พอมันทำลายไปต่อหน้า เหมือนของเรา เราหวังอะไร เช่น เพชร ใครได้เพชรเม็ดใหญ่ๆ ทุกคนก็ปรารถนา แล้วเพชรมันละลายเหมือนน้ำแข็ง เราตกใจไหม เรามีเพชรอยู่ เพชร อู้ฮู! ราคาเป็นหมื่นๆ ล้านเลย เพราะเรารู้เราเห็นตามความเป็นจริงของเรา คนอื่นไม่เห็นไม่สำคัญ จิตเราเห็น แต่เราพิจารณาไปๆ เพชรมันละลายลง มันละลายแบบน้ำแข็ง น้ำแข็งมันละลายจนหมดไปเลย นี่ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือการแปรสภาพ

แล้วไตรลักษณ์ของคนอื่นก็เป็นไตรลักษณ์ของคนอื่น ไตรลักษณ์ของเรา เรารู้เราเห็น เพราะอะไร เพราะกิเลสของเรา จิตของเรา ความหมักหมมของเรา ความวิตกกังวลของเรา ความยึดมั่นถือมั่นของเรา เวลามันละลายลงเป็นไตรลักษณ์ให้เราเห็น มันผงะเลย นี่คือการสอนจิต นี่เห็นไตรลักษณ์อย่างนี้ พอเห็นแล้วมันพึ่งไม่ได้ เห็นไหม กายก็พึ่งไม่ได้ เวทนาก็พึ่งไม่ได้ จิตก็พึ่งไม่ได้ ธรรมก็พึ่งไม่ได้ มันไม่มีอะไรพึ่งได้เลย มันย่อยสลายไป มันสลายไปต่อหน้า นี่เกิดไตรลักษณ์ นี่คือปัญญา ปัญญาอย่างนี้ แล้วพอมันเข้าใจแล้วมันจะมีทุกข์อยู่ไหม พอมันเข้าใจแล้วมันจะไปยึดมั่นถือมั่นไหม พอมันไม่ยึดมั่นถือมั่นมันจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรไหม

เพราะมันละลายต่อหน้าเรา นี่การใช้หนี้ไง เวลามีมูลหนี้ต้องใช้มูลหนี้ หนี้ก็คือกิเลสไง แล้วมันละลายต่อหน้า มันย่อยสลายไปต่อหน้า ไอ้คนที่เห็นมันจะทำอย่างไร ไอ้คนที่เห็นมันจะทำอย่างไร

เห็นน่ะ เห็นอาการทั้งหมดเลย แต่เวลาเป็นจริงขึ้นมา จิตมันเป็นจริง มันสำรอกมันคายสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความยึดมั่นถือมั่น จิตใต้สำนึกที่มันผูกพันน่ะ มันสำรอกมันคาย มันต้องมีเหตุมีผลน้ำหนักพอกันมันถึงจะสำรอกคายออกได้ น้ำหนักของปัญญา

น้ำหนักของมรรคมันไม่พอกัน มันสำรอกมันคายไม่ได้หรอก ถ้ามันคายไม่ได้ ถ้ามันอย่างสูงสุดมันก็เป็นตทังคปหาน คือมันปล่อยวางชั่วคราวๆ เราก็ภาวนาต่อเนื่องไป

นี่พูดถึงการหนีทุกข์ไง เขาเขียนมาอย่างนี้จริงๆสอบถามแนวทางปฏิบัติครับ

การที่เราจะหนีทุกข์ เราไปจับซึ่งความดับ

ไปจับซึ่งความดับ ความดับคือมันดับลง มันดับมานี่มันเป็นอนาคตด้วย เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เกิดขึ้นเป็นต้นน้ำ ตั้งอยู่คือกลางน้ำ แล้วมันดับไป ทีนี้มันเกิดขึ้น มันอยู่กลางน้ำ เราก็ปรารถนาถึงการดับไป การดับไปเพราะเราคิดว่าดับแล้วมันจะไม่เกิด ดับแล้วจะไม่มีไง แต่มันเป็นวงจรน่ะ พอดับแล้วก็ไปเกิดอีก พอดับแล้ว ความคิดดับไปเดี๋ยวก็เกิดอีก มันดับไม่ได้หรอก

แต่เราไปถอน ถอนสักกายทิฏฐิ ถอนต้นเหตุเลย ถอนสิ่งที่มันจะเกิด มันจะตั้งอยู่ มันจะดับไป เราถอนตรงนู้นเลย กลับไปถอนตรงนู้น นี่คือการดับทุกข์

ถ้าการหนีทุกข์ไม่มี มีแต่การดับทุกข์ การดับทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรเผชิญหน้า ทุกข์ควรกำหนด คำว่าทุกข์ควรกำหนดทุกข์ต้องกำหนด ทุกข์ต้องเผชิญหน้า

เราเจอฝรั่ง ฝรั่งเขาบอกว่าเขาอยู่มหายาน เขาบอกว่าเขาสุขนิยม เถรวาทนี่ทุกข์นิยม ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ทำไมต้องทุกข์ล่ะ

เราบอกไม่ใช่ นี่คือสัจจะนิยม

เขาบอกเขาสุขนิยม สุขนิยมมันอยู่ที่ไหน มันมีสุขนิยมอยู่ที่ไหน เราเคลิบเคลิ้มไป เราก็ว่าเป็นความสุขน่ะสิ แต่ความจริงมันเป็นความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ

ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นี่เป็นสัจจะนิยม นี่เป็นอริยสัจ นี่เป็นความจริง เพราะเราจะปฏิบัติธรรม เราต้องเผชิญกับความจริง เราต้องการหาความจริง เราจะต้องหาจิตจริงๆ ของเรา สัมมาสมาธิเข้าไปเผชิญกับสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริง มันเป็นทุกข์จริงๆ พิจารณาจริงๆ เป็นทุกข์จริงๆ มันสำรอกมันคายทุกข์ออกไปจริงๆ มันคายทุกข์เพราะอะไร มันคายทุกข์เพราะมีสมุทัย เพราะมันโง่ เพราะมันไม่เข้าใจมันถึงได้ทุกข์ เพราะมันเห็นแตกต่าง เห็นแตกต่าง ยึดแตกต่าง ปรารถนาแตกต่าง ตัณหาไง ปรารถนาให้อยู่กับเรา ปรารถนาให้เป็นแต่ความสุข ปรารถนาความพอใจ มันปรารถนา แล้วมันจริงไหมล่ะ

แต่ถ้ามันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพราะมันจริงๆ มันทุกข์จริงๆ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะสมุทัย ตัณหา ความต้องการ ความปรารถนา ความผลักไส มันเป็นตัณหา แล้วเราพิจารณาทุกข์เข้าไปแล้วเห็นมันแปรสภาพต่อหน้า ไตรลักษณ์มันแปรสภาพต่อหน้า พอมันเห็นต่อหน้ามันก็ไม่มีตัณหา เพราะตัณหาความเข้าใจผิดอยากให้สมความปรารถนา แล้วพอมันเห็นจริง มันไม่มีอะไรสมความปรารถนาจากไตรลักษณ์ จากสัจธรรม จากมรรค จากมรรคคือจากปัญญา จากภาวนามยปัญญา จากธรรมจักรที่มันรู้เห็นตามความเป็นจริง ความจริงมันเป็นแบบนี้

แต่โดยปกติความสำนึกของเรามันเป็นสมุทัย ความสามัญสำนึกของมนุษย์มันเป็นเรื่องสมุทัย เรื่องความต้องการ เรื่องตัณหา เรื่องความปรารถนา เรื่องอยากให้สมความปรารถนา อันนี้เป็นสมุทัย

ทีนี้มันเป็นสมุทัย มันเป็นสมุทัยมันถึงเกิดทุกข์ แล้วเราพิจารณาของเราตามความเป็นจริงขึ้นไปแล้ว พิจารณาความจริง มันเห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันเป็นไตรลักษณ์ เป็นพระไตรลักษณ์ ลักษณะญาณ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปต่อหน้า

พอต่อหน้า มันเกิดเพราะอะไรล่ะ เกิดเพราะศีล เกิดเพราะสมาธิ เกิดเพราะปัญญา มันไม่เกิดเพราะอย่างอื่นเลย มันไม่ได้เกิดเพราะพระไตรปิฎก มันไม่ได้เกิดเพราะพระพุทธเจ้าสอน มันไม่ได้เกิดเพราะอะไรเลย มันเกิดเพราะเราทำจริง

เราทำจริง เรารู้จริง เรารู้จากการกระทำของเรา เรารู้จากความเห็นของเรา ถ้ารู้จากความเห็นของเรา จิตใจที่รู้จากความเห็นของเรา มันสำรอกมันคายออกไปจากใจของเรา มันขาดไปแล้ว จะต้องมีใครบอกไหม จะต้องมีใครมาสอนไหม มันเป็นความจริง นี่ปัจจัตตังไง สันทิฏฐิโก ที่หลวงตาท่านบอกว่าพระพุทธเจ้ายกให้สันทิฏฐิโก ยกให้รู้ตามความเป็นจริงในใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะประกาศไว้กับความรู้จริง เป็นสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก ผู้ที่มารู้จริง ผู้ที่มารู้จริง แล้วผู้ที่มารู้จริงมันไม่ใช่รู้จำ

แต่ในปัจจุบันนี้เรารู้จำ พอรู้จำขึ้นมาแล้วเราก็มีปัญญา เราก็หาทางออกกัน มันถึงเขียนมาอย่างนี้ไง เพราะคำเขียนมาอย่างนี้เหมือนครั้งที่แล้วเลย เขาเขียนว่าเกิดดับๆ เราก็บอกว่าเล่นปฏิบัติธรรม

เขาเขียนมาใหม่เลย เขาบอกเขาไม่ได้เล่นนะ เขาทำจริงๆ อันนี้ซ้ำรอยเลย อันนี้บอกว่าเราจะหนีทุกข์ คำว่าหนีคือนักหลบ หนีคือการหลบ เรากู้หนี้ยืมสินเขา แล้วเราหนีหนี้ เราไม่ใช้หนี้ เราหนีไปเลย เราจะใช้หนี้เขาได้ไหม เราจะพ้นจากเป็นหนี้ไหม ไม่มีทาง

เรากู้หนี้ยืมสินมาแล้วหนีไป หนีไป เราก็หนีไป เราหนีไป เราหนีหนี้ เราก็มีเวรมีกรรมกับเจ้าหนี้นั้นไปทุกภพทุกชาติ ชาติปัจจุบันนี้เราไม่ใช้ เราก็ต้องไปใช้ชาติต่อๆ ไป เพราะเราไปกู้หนี้ยืมสินแล้วเราหนีหนี้

นี่ก็เหมือนกัน ใช้คำว่าหนีใช้คำว่าหนีคือหลบ กรรมฐานเรา กรณีนี้ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านเอาตายเลย ท่านเอาตายหมายความว่า อย่างนี้ถ้าพูดถึงในวงปฏิบัตินะ เขาบอกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นผิด เห็นว่าเราหลบหนี เราหลีกหนีไปแล้วเราจะพ้นจากเขา แต่ในสัจจะในการปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราได้สร้างหนี้สร้างสินไว้เยอะ เราก็ต้องปฏิบัติด้วยความทุกข์ความยาก จะต้องใช้ต้องจ่ายจนกว่าจะหมดจากหนี้นั้น บางคนเขาเป็นหนี้เล็กน้อย เขาเป็นหนี้ที่เบาบาง เขามาปฏิบัติของเขา เขาก็ใช้หนี้เวรหนี้กรรมของเขาแค่ส่วนเบาบางนั้น เขาถึงปฏิบัติง่ายรู้ง่าย

อย่างเช่นเรา เราเป็นคนที่สร้างเวรสร้างกรรม สร้างหนี้ไว้มหาศาลเลย แล้วเราจะมาปฏิบัติ เราต้องใช้เวรใช้กรรม ใช้หนี้ของเรา อดนอนผ่อนอาหารสมบุกสมบันขนาดไหน ใช้เข้าไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะใช้หนี้ของเราหมด พอหมดขึ้นมามันก็จะเป็นไตรลักษณ์ พอถึงไตรลักษณ์แล้ว มันสำรอกมันคายหมดแล้วคือจบ

นี่ไง ถึงว่าพันธุกรรมของจิตๆ การสร้างเวรสร้างกรรมมาแต่ละดวงจิตไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน ในวงปฏิบัติเรา ครูบาอาจารย์ท่านถึงแก้จิตแต่ละดวงๆ ไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ

เราถึงไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาสอนเป็นสูตรสำเร็จ เห็นไหม เวลาปฏิบัติต้องทำให้เหมือนกัน แต่เวลาบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ทำไมเราบอกพุทโธล่ะ

พุทโธนี้เป็นเบสิก พุทโธ คนเราก่อนจะลงเล่นกีฬา เขาต้องฟิต มีความฟิตให้ร่างกายแข็งแรง พุทโธเป็นแค่ทำจิตให้เข้มแข็งเท่านั้นเอง มาพุทโธๆ ให้จิตเข้มแข็ง จิตมีสมาธิ จิตมีหลักมีเกณฑ์ ให้มีความสงบขึ้นมาได้ นี่มีเบสิกแล้ว มีพื้นฐานแล้ว เราจะไปฝึกหัดเทคนิคแล้ว เทคนิคว่าเราจะทำอย่างไร จะใช้ปัญญาอย่างไร เราจะต่อสู้อย่างไร

เบสิกนักกีฬาทุกประเภทเลย ต้องออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง แล้วเอ็งเล่นอะไรล่ะ เอ็งจะเล่นกอล์ฟ เล่นฟุตบอล เล่นรักบี้ เล่นบาส เล่นอะไร เอ็งก็ไปเล่นตามกีฬาของเอ็งสิ แต่เอ็งต้องมีเบสิก มีความแข็งแรงของร่างกาย พุทโธมีตรงนี้ ฉะนั้น เวลาคนอื่นเขาไม่ได้สอนแบบนี้นี่

เขาบอกว่าของเขา เขาทำอย่างนี้แล้วกีฬามีชนิดเดียว แล้วทำอย่างนี้ตลอดไปแล้วจบ...มันไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริง พุทโธๆ แค่มาทำพื้นฐาน แค่ให้ทุกคน ให้นักกีฬาทุกประเภทร่างกายแข็งแรง มีความฟิต แล้วจะเล่นอะไร จะเล่นอะไรหมายความว่า เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เราจะทำอะไรต่อเนื่องไป

ฉะนั้น บอกทำไมต้องพุทโธๆ

ก็เอ็งยังคลานกันมาเลย ก็เอ็งยังยืนกันไม่ได้เลย คนยืนไม่ได้เลย เอ็งจะไปทำอะไรกัน จิตใจเอ็งยังโดนกิเลสข่มขี่อยู่ เอ็งยังวิตกกังวลกับชีวิตตลอด จิตใจของเอ็ง เอ็งยังหมกมุ่นอยู่กับกิเลสอยู่ตลอดเลย แล้วเอ็งบอกเอ็งจะปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เอ็งจะปฏิบัติแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เอ็งจะนอนปฏิบัติใช่ไหม เอ็งจะคลานปฏิบัติกันไปหรือ ในเมื่อจิตใจเอ็งยังไม่แข็งแรงพอที่เอ็งจะลุกยืนได้ เอ็งจะเดินเองได้

นักกีฬาเขาต้องลุกยืนได้ เดินได้ วิ่งได้ มีกำลังได้ เขาถึงไปเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ได้ พุทโธๆ เพื่อให้จิตมีกำลังเท่านั้นน่ะ เพื่อให้ความสงบ ตรงนี้เป็นพื้นฐาน

แต่เวลาคนอื่นเขาบอกว่าเป็นแนวทางเดียวกัน เราต่อต้าน เวลาพุทโธ ใครมาก็พุทโธๆ

พุทโธมันเบสิก มันทำให้จิตสงบ มันทำให้คนมีความฟิต แล้วปฏิบัติต้องว่ากัน กรรมฐานเขาสอนกันตรงนี้ ให้พิจารณากาย พิจารณากายเหมือนกันยังแตกต่างกันเลย ดูสิ กีฬาแต่ละชนิด ตำแหน่งการเล่นของเขาก็ยืนคนละตำแหน่งอยู่แล้ว กีฬาทุกชนิด ตัวเล่นของเขามีตั้งกี่ตำแหน่ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาไปเห็นกายเหมือนกัน กีฬาชนิดเดียวกัน เห็นกายเหมือนกัน แต่เอ็งยืนอยู่ตำแหน่งไหน เอ็งพิจารณาอย่างไร เห็นกายอย่างไร พิจารณาอย่างไร ถ้าพิจารณาแล้วมันถึงเป็นการต่อสู้

นักรบ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนให้เป็นนักรบ นักปฏิบัติให้เป็นนักรบ ไม่ใช่นักหลบ อยากจะปฏิบัติ อยากจะเป็นนักหลบอีก อยากจะเป็นโค้ชไง อยู่ข้างสนามแล้วเชียร์ไง แล้วจะชนะเขาอย่างเดียวไง แล้วนักกีฬาเล่นไม่ถูกใจ ไม่พอใจอีกนะ แต่นักรบลงไปเล่นเลย ลงไปสู้กับเขาเลย มันต้องเป็นความจริงแบบนั้น

นี่พูดถึงการหนีทุกข์ แล้วมาจับที่ความดับ มันจะเป็นอุปาทานไหม

จับที่ความดับ จับที่ความดับมันไม่มีปัญญา จับที่ความดับ เกิดดับมันไม่มีปัญญา มันเป็นความกดไว้เฉยๆ แล้วกดไว้ทำไมมันสบายล่ะ อ้าว! ก็มันสบายสิ เพราะมันขี้เกียจ ไม่ต้องทำอะไร มันปฏิเสธหมดมันก็สบายน่ะสิ จิตมันอย่างนั้นน่ะ นี่มันหลอกด้วย พอสบายแล้วจะได้ไม่ต้องปฏิบัติไง ถ้าสบายแล้วจะไม่ต้องเข้าไปหากิเลสไง ถ้าสบายแล้วไม่ต้องไปใช้หนี้ไง เจ้าหนี้มันรอรับอยู่นั่นมันยังไม่ได้รับหนี้ไง แล้วก็บอกกูใช้แล้ว แล้วบอกสบายๆ

ชักดาบเขาแล้วว่าสบาย เขาใช้หนี้ เขาไม่ได้ชักดาบ ถ้ามันชักดาบมันก็จบ มันไปไม่ได้หรอก นี่ถ้าไม่ทำมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ารู้จากการกระทำนะ รู้จากทำ ถ้ารู้จากทำมันจะรู้แจ้ง

ฉะนั้น ถ้ารู้ของเรา เขาจะไม่พูดอย่างนี้ ถ้าเราจะดับทุกข์ เราจะหนีจากทุกข์ คำว่าหนีจากทุกข์มันหนีโดยไม่มีเหตุมีผล ความหนีจากทุกข์ หนีคือปฏิเสธ แล้วไปจับที่ความดับ ไปจับที่อดีตไง จับที่ความดับ

ถ้าเกิดเป็นความดับเป็นอุปาทานไหม

มันยิ่งกว่าอุปาทานอีก มันเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลย แต่นี้เพียงแต่ว่าถ้ามิจฉาทิฏฐิไปเลย เวลาคนปฏิบัติใหม่ คนที่ปฏิบัติใหม่ยังปฏิบัติไม่เป็น ปฏิบัติอย่างใด ถ้านักกีฬาฝึกหัด เวลาเขาเล่นอย่างไร เขาบอกว่าให้เต็มที่เลย ถ้าคนมีพรสวรรค์ ให้เขาเล่นเต็มที่เลย แล้วโค้ชเขาจะคอยดูว่าเด็กคนนี้มีพรสวรรค์ไหม

นักปฏิบัติใหม่เวลาหัดพิจารณา เต็มที่เลย อะไรก็ได้ เอาเต็มที่เลย แล้วเวลามาส่งเขาจะคอยจับว่า เอ๊ะ! มันมีเชาวน์อย่างไร มันมีปัญญาอย่างไร ครูบาอาจารย์เขาจะสอนอย่างนี้ มันควรเล่นตำแหน่งใด มันควรจะทำอย่างใด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงฝึกหัดใหม่ เพราะเวลาเราตอบถึงปัญหา คนที่ภาวนาไม่เป็นเลย เราก็พูด อะไรก็ได้ อะไรก็ได้ ทำให้พอมีแนวทาง

แต่ถ้าพอพูดถึงว่า เราจะดับทุกข์ เราจะหนีจากทุกข์

ไอ้อย่างนี้พอมีแนวทางแล้วเรากลับมา กลับมาเป็นนักหลบ กลับมาเป็นนักกีฬาที่ไม่มีความฟิต นักกีฬาที่ไปในสนามกีฬาแล้วไปนั่งขวางกลางสนามกีฬา นั่นไม่ใช่นักกีฬา

นักกีฬาเวลาเขาแข่งขันกันแล้ว ทุกวินาทีในเวลาการแข่งขันมีค่าทั้งนั้นน่ะ ถ้ายังไม่หมดเวลาการแข่งขัน เรายังมีโอกาสที่จะชนะ ฉะนั้น เวลานักรบเขารบกันอย่างนั้น

ถ้านักหลบ การหนีจากทุกข์ นี่หลบแล้ว แล้วหลบแล้วยังไปจับที่ความดับอีก โอ้โฮ! จับไปที่ความดับ มันเหมือนสัญญา เรารู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมา ๒,๕๖๐ กว่าปีใช่ไหม เราก็จะนึกถึงนิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แล้วมัน ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว เราไม่ใช้ปัญญาของเราเลย มันจะเป็นปัจจุบันได้อย่างไร มันจะชำระล้างกิเลสเราได้อย่างไร อันนี้กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งการจดจำอย่างหนึ่ง การละสิ่งที่จดจำอย่างหนึ่ง ทำอย่างไรถึงจะหยุดความสงบได้ ทำอย่างไรจะถึงที่สุดแห่งความสงบได้

การจดจำอย่างหนึ่งนี่คือปริยัติ คือการศึกษาการละสิ่งที่จดจำอย่างหนึ่ง

หลวงปู่มั่นนะ เวลาท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงวิธีการ แต่ถึงเวลามันจะสรุป เวลามันจะมีผล ท่านบอกตรงนี้สำคัญ ท่านจะข้าม

หลวงตาเวลาท่านเทศน์ ท่านเทศน์ถึงอสุภะ เวลาถึงที่สำคัญๆ ท่านจะบอกว่าตรงนี้มันสำคัญ ท่านจะเว้นไว้ ข้ามไปเลย เพราะกลัวคนที่ฟังจะจำเป็นสัญญา

ถ้าเป็นสัญญานะ อย่างเช่นเราไปติวข้อสอบ เรารู้ถึงข้อสอบ เราเก็งข้อสอบ เวลาเราไปสอบ เรารู้ข้อสอบ แต่ถ้าข้อสอบเขาตั้งข้อสอบใหม่ล่ะ นี่ไง เพราะเราไปรู้แล้วเรายิ่งทำยาก

นี่ก็เหมือนกันการจดจำอย่างหนึ่งการจดจำนี่เป็นปริยัติ การจดจำนี่ปริยัติ ปริยัติเขาจดจำ จดจำมาเป็นแนวทาง แต่เวลาจะปฏิบัติ ท่านวางไว้ก่อน เห็นไหม วางไว้ก่อนแล้วปฏิบัติตามความเป็นจริง

กรณีนี้ที่เวลาหลวงตาท่านเป็นมหาแล้วท่านจะปฏิบัติ ท่านยังสงสัยว่านิพพานมันจะมีจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เรียนจบมหา

ทีนี้เวลาไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกมหา มหาเรียนมาถึงเป็นมหา เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอดมาก ฉะนั้น ธรรมอันนี้ให้ใส่ในลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ก่อน แล้วมหาปฏิบัติไปนะ ปฏิบัติไป ถ้ามันถึงความเป็นจริงแล้วปริยัติกับปฏิบัติมันจะมาเป็นเนื้อเดียวกันเลย เป็นอันเดียวกันเลย

แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปความจดจำอย่างหนึ่งเอาความจดจำเป็นตัวตั้ง เพราะเราจดจำมาเป็นแนวทาง แล้วเราก็จำแนวทางนั้นมาใช่ไหม จำแนวทางมา เวลาปฏิบัติไปนะมันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้มันทำให้เราเนิ่นช้า หลวงปู่มั่นท่านใช้คำว่ามันจะเตะมันจะถีบกันคือมันจะขัดมันจะแย้งกัน

ทั้งๆ ที่เวลาเราจดจำมา เราจดจำมา ศึกษามาเพื่อเอาใบประกาศ เรียนให้จบๆ เวลาจบแล้ววางไว้ วิชาการของเราวางไว้ เรามีความรู้ของเราแล้ว แต่ปฏิบัติ เราปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา อย่าไปวิตกกังวล อย่าให้ค่า อย่าไปให้ค่า อย่าไปหมาย อย่าไปเดา อย่าไปสร้างเป้าหมาย สิ่งนี้มันเป็นการเตะการถีบ คือการขัดการแย้งกับความเป็นจริง

ความขัดความแย้งเพราะกิเลสเรามีในใจของเราใช่ไหม กิเลสมันก็คาดมันก็หมาย มันก็ต้องการไปทั้งนั้นน่ะ แล้วความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันจะคาดมันจะหมาย มันจะขัดมันจะแย้ง มันจะทำให้เราหัวปั่นเลย มันปฏิบัติยากขึ้น

แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติมาแล้วท่านสงสารนะ ท่านบอกว่า ที่เราศึกษามาแล้วให้ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้ อย่าให้มันออกมา

อย่าให้ออกคืออย่าไปนึกถึงมัน วางมันไว้เลย แล้วเราปฏิบัติของเราไป พุทโธของเราไป ใช้ปัญญาของเราไป ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม

สิ่งที่จดจำอย่างหนึ่ง สิ่งที่ละการจดจำอย่างหนึ่งแล้วทำอย่างไรๆ

เวลามันปฏิบัติไปเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง การจดจำนี้เป็นสัญญาทั้งนั้นน่ะ แล้วการจดจำ การจดจำเป็นสัญญา สัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ การศึกษาทางโลกเขาต้องใช้สัญญา ใช้การจำ ใช้การวิจัย ใช้การวิเคราะห์ขึ้นมาเพื่อเป็นทางวิชาการของเขา แล้ววิชาการแล้วเขาต้องไปลองเป็นภาคปฏิบัติ เวลาปฏิบัติมันจะได้จริงหรือไม่ได้จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ของเรา เราจดจำ จดจำธรรมของพระพุทธเจ้ามามันสำเร็จรูปมาแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์มาแล้ว พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ของจริงอยู่แล้ว แต่ไอ้จำของเราจำด้วยกิเลสของเรา กิเลสของเรามันก็ให้ค่าไง ถ้ามันพอใจ มันเห็นด้วย มันก็ว่าดี ถ้ามันไม่เห็นด้วยมันก็บอกว่าสิ่งนี้พระไตรปิฎกเขาแต่งเติมกันมา มันขัดแย้งไปหมด แล้วเวลาปฏิบัติเข้าไป จิตมันยิ่งหลอกเข้าไปใหญ่

จิตมันหลอกเพราะอะไร เพราะมันมีกิเลส มันมีพญามาร มันพยายามบิดเบือน เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติจะเข้าด้ายเข้าเข็ม มันชักนำไปเลย เวิ้งว้างไปหมดเลย มันถลำไปข้างหน้านั่นเลย แล้วความจริงตรงนี้มันจะเป็นประโยชน์ มันก็ถลำไปก่อน แล้วถลำไปแล้วก็เตลิดเปิดเปิงไปเลย เสื่อมหมดเลย พอจะเอาจริงก็ต้องกลับมาฟื้นฟูใหม่ การปฏิบัติมันจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ปฏิบัติแล้วรู้ง่าย ปฏิบัติแล้วรู้ยาก ในแนวทางปฏิบัติมันจะมีมหาศาลเลย

ทีนี้การจดจำอย่างหนึ่งและการละสิ่งจดจำอย่างหนึ่ง

การละไงการละสิ่งจดจำอย่างหนึ่ง แล้วทำอย่างไรมันถึงที่สุดแห่งความสงบ

ศึกษามาแล้วเป็นปริยัติ พอเป็นปริยัติก็วางไว้เลย วางไว้ๆ อย่าเอาภาคปริยัติมาเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นตัวตั้งนะ ก็เหมือนเรานี่ เรานะ เรานี่ขี้ทุกข์ เราเป็นพระบ้านนอก เป็นพระอยู่ชายป่าชายเขา โอ้โฮ! ไปเห็นเขานั่งรถเบนซ์น่ะ ไปเห็นเขามีเฟอร์นิเจอร์กันมหัศจรรย์ อยากได้กับเขา นี่ไง เพราะเราไปเห็นของเขา ไปเห็นของเขา เราอยากได้อย่างเขา แล้วเราขี้ทุกข์ขี้ยากอย่างนี้ เราจะมีเบนซ์ไปกับเขาได้ไหม เราจะมีเฟอร์นิเจอร์อย่างดีงามไปกับเขา เราทุกข์ตายเลย

นี่ก็เหมือนกันการจดจำอย่างหนึ่งการจดจำมันก็จำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วเราก็คาดก็หมายเนาะ

โดยธรรมชาติคนที่เขาร่ำรวยเขามีเงินมีทองเขาก็ขี่รถเบนซ์ เขาก็ขี่รถแบบว่ารถโรลส์รอยซ์ รถคันละ ๔๐-๕๐ ล้านน่ะ ไอ้นั่นเขามีสตางค์ มีเงิน เขาก็ทำได้ ไอ้อย่างเรานะ โตโยต้าเก่าๆ สักคันหนึ่ง กูยังซื้อไม่ได้เลย แล้วกูจะไปมีอะไรกับเขา

นี่ก็เหมือนกันการจดจำอย่างหนึ่งจดจำมาจดจำถึงนิพพานน่ะ จดจำถึงที่สุดของพระพุทธเจ้ามา แล้วเราจะทำได้หรือวะ ท้อใจเนาะ โอ้โฮ! คันหนึ่ง ๔๐-๕๐ ล้าน แล้วจะเก็บสตางค์เมื่อไหร่จะได้ เงินเดือนยังไม่ชนเดือนเลย แล้วกูจะมีเงินอะไรไปซื้อขนาดนั้นน่ะ

การจดจำอย่างหนึ่งทุกข์ไหม แล้วละการจดจำล่ะ

เราจะมั่งมีศรีสุขจะทุกข์จนเข็ญใจ เรามีสองเท้า ไปไหนก็เดินเอา รถเมล์ก็มี รถไฟฟ้าก็มี ตั๋วก็ซื้อเอา อ้าว! เราก็มีสองเท้านี่ กูก็ไปประสากูนี่ มันไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร เขามีก็สาธุ เอ็งสร้างบุญกุศลมาก็เรื่องของเอ็งเถอะ ของเราก็สองเท้านี่แหละวะ ไปไหนกูก็เดินของกูไปนี่ เออ! ถ้ามีรถเมล์ กูก็ไปรถเมล์กูนี่ เออ! ถ้าไม่มี กูก็ไปเกวียนกูก็ได้ อ้าว! ทำไปๆ นะ เราอาจจะดีกว่าเขาก็ได้ถ้าจิตใจเราดี

เห็นไหมการจดจำอย่างหนึ่งจดจำมานี่มันเป็นสัญญานะ แล้วเป็นความทุกข์ความยากเลยล่ะ

แล้วละสิ่งที่จดจำอย่างหนึ่งละสิ่งที่จดจำก็ตัณหาความทะยานอยากของเรานี่ไง แล้วตัณหาความทะยานอยากทำอย่างไรล่ะ

โดยพื้นฐานนะ โดยการปฏิบัติ โดยกรรมฐานเรารู้จากการทำ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามา ต้องทำใจให้สงบระงับเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบระงับแล้วนะ ไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ นั้นคือเห็นการเห็นงานของเรา แล้วถ้าทำการทำงานของเราสำเร็จ นั่นน่ะคือละทุกข์ นั่นล่ะละสังโยชน์ นั่นน่ะละคือเครื่องร้อยรัดจิตกับกิเลสที่มันรัดไว้

กิเลสมันไม่ใช่จิต มันอยู่กับจิต จิตนี้เป็นจิต เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส หมองไปด้วยตัณหาความทะยานอยาก นี่กิเลสมันละได้ มันเป็นนามธรรม แต่มันอาศัยจิตนี้อยู่

ฉะนั้น จิตนี้ ถ้าจิตเราสงบแล้วเราพิจารณาของเราแล้ว เราจะละมันออกไป ละมัน ละชั่วคราว ตทังคปหาน ถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันจะตัดขาด ตัดขาด ถ้ามันไม่ตัดขาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว แล้วสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา เอตทัคคะเป็นพระอรหันต์หมดเลย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านเป็นพระอรหันต์หมดเลย

นี่ไงทำอย่างไรถึงจะถึงที่สุดแห่งความสงบ

ทำอย่างไร ก็ทำอย่างครูบาอาจารย์สอน ถ้าโยมมีวาสนานะ ประวัติหลวงปู่มั่นมี ประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่เสาร์ท่านทำของท่านอย่างไร เอาตามนั้นน่ะ เราปฏิบัติของเราให้ได้

รู้จากการกระทำไง สิ่งนั้นถ้าเป็นประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่เสาร์ นั่นก็เป็นสมบัติส่วนตนของท่าน แต่ท่านทำแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านได้การเล่าได้การบอกกล่าวมาจากหลวงปู่มั่น แล้วท่านเขียนประวัติของท่านไว้ การสมบุกสมบันของท่าน ท่านทำของท่านขนาดไหน นั่นน่ะรถโรลส์รอยซ์ นั่นน่ะเฮลิคอปเตอร์ นี่เป็นของท่านเพราะท่านมีอำนาจวาสนาไง

แล้วเราไปจดไปจำมา นี่มันเป็นความจำๆ เราจะเอาขนาดนั้นไหม แต่เราเอาแนวทาง แล้วเราจะปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรานะ เรามีเกวียนสักเล่มหนึ่งก็ยังดีแล้ว ไม่ต้องเดินด้วยสองเท้า อย่างน้อยก็นั่งเกวียนไปให้โคมันลากไป ถ้าโคมันลากไปมันก็พอเป็นไปได้นะ

นี่พูดถึงว่าสอบถามแนวทางปฏิบัติ

เราจะตอบรู้จากการกระทำ รู้จากธรรมของเราเนาะ

อีกข้อหนึ่ง ให้มันหมดไปเลย

ถาม : เรื่องขณะฟังธรรมทำไมถึงร้องไห้ออกมา

กราบนมัสการพระคุณเจ้าเจ้าค่ะ สงสัยว่าเวลาฟังธรรมะ เรื่องเล่าต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ หรือจะเป็นเรื่องเล่าขององค์สาวกทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมะของพระสงฆ์ผู้เจริญทั้งหลาย ตัวของดิฉันมีอาการร้องไห้จากการฟังธรรมนั้น ถึงแม้เรื่องเล่าจะไม่ได้เศร้าเลย เป็นเพราะอะไรเจ้าคะ นมัสการพระคุณเจ้าอีกครั้งเจ้าค่ะ

ตอบ : อันนี้มันเป็นจริต มันเป็นที่ว่าจิตของเราได้สร้างสมบุญญาธิการมาอย่างใด นี่พูดถึงของโยมนะ ของโยมถ้าได้ฟังเรื่องของพระคุณเจ้า ฟังเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่เรื่องของธรรมะก่อนที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังทีไรน้ำตาไหลทุกทีเลย มันซาบซึ้ง

เขาเรียกว่าธรรมสังเวช มันเกิดธรรมะ มันเกิดความสังเวช มันเกิดความสำรอก มันเกิดความอาลัยอาวรณ์ นี่ธรรมสังเวช มันเกิดความสังเวช ธรรมสังเวชไง แล้วธรรมสังเวช เวลาเราพิจารณา พิจารณา เราปฏิบัติกันนี่ เราเกิดความสังเวชในความทุกข์ความยาก เราจะปล่อย เราจะละมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราฟังเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราฟังเรื่องของครูบาอาจารย์แล้วมันเกิดความสังเวช มันเกิดน้ำตาไหล มันก็เป็นคติธรรมอันหนึ่ง

แต่นี้เรายกตัวอย่าง ตัวอย่างนะ มันมีเยอะมากเลยที่มาหาเราบอกว่า เวลาเข้าใกล้พระพุทธรูป เข้าใกล้พระสงฆ์ มันจะเกิดแรงต้าน มันจะเกิดการติฉินนินทา มันจะเกิดในใจเกิดจาบจ้วง อย่างนี้เยอะเลย แล้วนี่มันมาจากไหนล่ะ

มี มีเยอะมาก มีพระมาหาเราเยอะมากเลยบอกว่า เวลาคิดถึงครูบาอาจารย์ขึ้นมาแล้วมันจะเกิดการต่อต้าน มันจะเกิดการติฉินนินทา ทั้งๆ ที่ผมก็เคารพนะ ในชาติปัจจุบันนี้เราเคารพเพราะเราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากพึ่งครูบาอาจารย์ แต่เวลามันคิดขึ้นมาในใจของตัวเอง มันสบประมาท มันต่อต้าน มาหาเราว่า หลวงพ่อแก้อย่างไร

นี้เรายกตัวอย่างให้เห็นว่า จริตนิสัยของคน การสะสมของเวรของกรรมมันมีสะสมของมันมา ถ้าเราได้สร้างคุณงามความดีมา สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังขึ้นมาแล้วมันเกิดสังเวช เกิดธรรมสังเวช มันร้องไห้ออกมา มันน้ำตาไหล

น้ำตาไหลก็ส่วนน้ำตาไหล สิ่งนี้มันไม่น่าอาย ไม่น่ารังเกียจ ถ้ามันสังเวช เราก็สังเวช สังเวชแล้วเรารับรู้ไว้ เขาเรียกว่าอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก เวลาอารมณ์ทุกข์อารมณ์ยาก อันนี้อารมณ์สังเวช อารมณ์สะเทือนใจ ถ้าอารมณ์สะเทือนใจ น้ำตาไหลก็ไหลไป เราก็จบ

จิตใจของเรา มันก็เหมือนสะเทือนถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สะเทือนถึงพุทธะ สะเทือนถึงหัวใจไง หัวใจคือพุทธะ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ มันไม่เป็นโทษหรอก

คนที่เขาเป็นโทษนะ เวลาเขาเข้าไปใกล้พระ เขาเข้าไปใกล้พระพุทธรูป มันเกิดแรงต้าน เกิดการติฉินนินทา แล้วทำให้เศร้า มีคนมาหานะ เศร้า คอตกเลย บอกก็ไม่เคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน จิตใจเขาไม่อยากคิดอย่างนั้น จิตใจเขาไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นล่ะ แล้วอยากแก้ไข อยากจะแก้ไข อยากไม่ให้เป็น

เราก็บอกว่า ถ้าอยากแก้ไข มันเป็นแต่สิ่งที่เราสร้างมาแต่อดีต รากเหง้าพันธุกรรมของมันมาอย่างนี้ พอมาอย่างนี้ปั๊บ ผลสะเทือนมา แต่ตอนปัจจุบันนี้เรามีสติมีปัญญา เราก็ขอขมาลาโทษไง รตนตฺตเย ปมาเทน ทวารตฺตเยน กตํฯ ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่ได้กระทำมาที่มันมีการผิดพลาดมา ขออภัยต่อกัน บัดนี้ข้าพเจ้ามีความสำนึก มีความเห็นโทษแล้ว ข้าพเจ้าจะขออภัย

ขออภัยขอโทษไปเรื่อยๆ คนเรามีการบาดหมางกัน เราขอโทษไปเรื่อยๆ ถ้าคนที่มันเป็นคู่บาดหมางมันไม่ยกโทษให้เราก็ไม่เป็นไร เราสำนึก เราขอโทษ เขาไม่ยกโทษให้ก็ไม่เป็นไร ขอโทษๆๆ ขอโทษมันทุกวันน่ะ นี่ไง ขออภัยๆๆ ให้จิตใจเรามั่นคงมาเอง นี่พูดถึงคนที่เขามีแรงต้านอีกอย่างหนึ่งตรงข้ามกับโยมนะ

แต่ถ้าโยม ถ้าถึงว่าเวลาร้องไห้ ร้องไห้คือความซาบซึ้ง เหมือนกับเรา ญาติผู้ใหญ่หรือว่าญาติผู้ใหญ่ของเรามีความทุกข์ความยาก เราก็มีความสะเทือนใจ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาฟังธรรมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา มันสะเทือนหัวใจ มันเกิดธรรมสังเวช อันนี้เป็นแง่บวก เราจะบอกว่าไม่ต้องแก้

เวลาฟังธรรมแล้วมันเกิดการร้องไห้

เกิดการร้องไห้ก็ผลของการซาบซึ้ง เราก็รับไว้ เอาน้ำตาเช็ดแล้วก็หยุดรื่นเริง ใครจะติฉินนินทาเรื่องของเขา แต่ถ้าคนไม่เข้าใจเขาจะหาว่าเป็นมารยา มีน้ำตาไหล โอ๋ย! มารยาสาไถย

นั่นเขาคิด โลกธรรม ๘ สิ่งที่เขาจะติฉินนินทามันมีได้ร้อยแปด เราไม่สามารถไปหักห้ามความรู้สึกนึกคิดของคน แต่ถ้าจิตใจของเราเป็นธรรม เรารู้ได้ว่าเราเป็นธรรม เราเป็นประโยชน์ เรารักษาของเราไว้เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ ตอบเท่านี้ เอวัง