ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อยากได้พระดี

๓๑ พ.ค. ๒๕๕๗

อยากได้พระดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องพระหลงอะไรหรือเปล่า

หลวงพ่อ : เขาถามนะพระหลงอะไรหรือเปล่าเขาจะให้พระรับผิดชอบสังคมไง คำถามพระหลงอะไรหรือเปล่าครับ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมขอถามหลวงพ่อว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ แบบที่ว่าคือสมัยนี้พระก็เยอะ วัดวามีให้เห็นทั่วทุกที่ แล้วทำไมคนถึงมีกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ฆ่ากัน ทำชั่วกันเป็นว่าเล่น ยิ่งมากขึ้นๆ พระที่มีมาก การทำชั่วน่าจะลดลงนะครับ หลวงพ่อพิจารณาในสิ่งที่เป็นไป สาธุครับ

ตอบ : ทุกคนก็ปรารถนาอย่างนี้ ทุกคนก็คิดแบบนี้ไง คิดว่า พระพุทธศาสนา เวลาคนเขาถามมานะ บอกว่า ทำบุญที่ไหนก็แล้วแต่ไม่เท่ากับทำบุญกับพระอรหันต์ ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ทำบุญในพระพุทธศาสนา แล้วชาวพุทธเขาทำบุญกันมหาศาลเลย ชาวพุทธทำไมไม่เป็นเศรษฐีโลก เศรษฐีโลก เขาบอกไม่เป็นชาวพุทธเลย เป็นผู้ถือคริสต์ ถือศาสนาต่างๆ นี่เวลาเขาพูดไง เพราะอะไร

เพราะว่าเวลาเราพูดถึงการทำบุญไง ทำบุญแล้วจะได้บุญกุศลมหาศาล ใครทำบุญแล้วจะได้บุญมาก เขาถึงถามกลับว่า แล้วทำบุญมากแล้ว คนไทยทำบุญทุกๆ คน ทำไมคนไทยมีแต่คนทุกข์คนยาก เขาก็ถามปัญหานี้มา

นี่ก็เหมือนกัน เขาถามหลวงพ่อว่า ทำไมแบบที่ว่านี้ สมัยนี้พระก็เยอะ วัดวามีทุกที่ทุกแห่ง แล้วทำไมคนถึงมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มีแต่ฆ่ากัน มีแต่ทำความชั่วยิ่งมากขึ้นๆ พระมีมากขึ้น ความชั่วน่าจะน้อยลง

พระมากขึ้น แล้วพระมากขึ้น พระมีคุณภาพไหม ถ้าคุณภาพของพระล่ะ ถ้าพระมีมากขึ้น ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีองค์เดียว พระพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียวนะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านกระเสือกกระสนของท่านกับหลวงปู่เสาร์ ๒ องค์ เวลาสำเร็จ ท่านสำเร็จก่อนองค์เดียว แล้วท่านมาสร้างสมของท่าน ท่านสร้างอำนาจวาสนาบารมีของท่าน นี่พระน้อยๆ แต่มีคุณภาพ

แต่พอพระมีมากขึ้น เราบอกว่าเราจะเผยแผ่ศาสนาๆ

หลวงตาท่านถามประจำ เวลาเผยแผ่ศาสนาไปทั่วโลกเลย ท่านบอกว่าเอากิเลสไปเผยแผ่หรือเอาธรรมะไปเผยแผ่ เออ! เอาอะไรไปเผยแผ่เวลาเผยแผ่ธรรมๆ ไป

นี่พูดถึงในความเห็นของเขาว่า ทำไมวัดวามีทุกที่ สิ่งต่างๆ มันต้องดีขึ้น

วัดวามีทุกที่นะ หลวงตาท่านพูดประจำ ที่ไหนมีบ้านมีเรือน ที่นั่นจะสร้างวัดขึ้นมา สร้างวัดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราชาวพุทธ เราต้องมีศาสนพิธี เราต้องมีพิธีกรรมของชาวพุทธ เราต้องมีที่อบอุ่นหัวใจ ถ้ามีที่อบอุ่นหัวใจนะ เวลาคนเกิด คนเกิดเขาก็ทำบุญกุศล เวลา ๗ วัน เวลาคนเกิด ๑ เดือน ๒ เดือน ทำบุญวันเกิด เวลามีคนเสียชีวิต เขาก็ต้องนิมนต์พระไป กุสลา ธมฺมา นี่พูดถึงประเพณีวัฒนธรรม ที่ไหนมีบ้านมีเรือน ที่นั่นก็จะมีวัดมีวาขึ้นมา

ฉะนั้น บอกว่า วัดมีทั่วทุกหนทุกแห่ง แล้วทำไมสังคมมันมีปัญหาล่ะ

สังคมมีปัญหานะ เพราะอะไร เพราะสังคมโง่ สังคมโง่เอง สังคมตามืดบอดเอง เวลาว่าเจริญๆ โลกเจริญๆ ไปเที่ยว ไปดูสิ่งต่างๆ เมื่อก่อนยุโรปมีแต่ป่าแต่เขา ยิ่งอเมริกายิ่งคนเถื่อนเลย เวลาสมัยโรมัน โรมนี่เจริญก่อน พอโรมเจริญก่อน แล้วพอโรมันรุกเข้าไป บุกเข้าไปก็เผยแผ่ความเจริญไป ตัดป่าตัดเขาไป เราก็ไปดู เดี๋ยวนี้เขาสร้างตึก สร้างบ้านเรือนบ้านช่อง เขาสร้างกันในยุโรป ในอเมริกา โอ๋ย! เขาเจริญมาก เมืองไทยเป็นเมืองล้าหลัง พูดถึงทางเอเชียเป็นเมืองล้าหลัง

มันล้าหลัง ล้าหลังทางวัตถุ แต่มันเชิดชูทางหัวใจ มีกตัญญูมีกตเวที มีความกตัญญูกัน มีการรักการผูกพันกัน มีน้ำใจต่อกัน

นี่เขาบอกว่าเวลาโลกมันเจริญ เจริญแบบโลกๆ ฉะนั้น เวลาว่าวัดมีทั่วไป ทำไมคนเราถึงมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ก็บริโภคนิยมไง

สมัยก่อนนะ รัฐบาลบอกว่าห้ามสอนเรื่องมักน้อยสันโดษ เพราะถือว่าความมักน้อยสันโดษมันทำให้ไม่เจริญ เขาห้ามสอนเรื่องมักน้อยสันโดษเลย ถ้าไม่มักน้อยสันโดษ คนมันก็แก่งแย่งชิงดีกัน มันก็จะเจริญทางโลก เราก็จะว่าเจริญทางโลก นี่มันบริโภคนิยม

ฉะนั้น เวลาบริโภคนิยม ดูการโฆษณาชวนเชื่อสิ ในการโฆษณาชวนเชื่อ ในการโฆษณา ทุกคนก็ติดในการโฆษณากันไป พอติดโฆษณาแล้วมันก็แข่งขันกัน มันมีแต่แข่งขันกัน มันมีแต่เอาการบริโภคมายัดเยียด แล้วมันก็เป็นกระแส

ถ้าประเทศที่เจริญแล้วต้องคุณภาพชีวิต ประเทศไหนไม่เจริญมันเป็นป่าเถื่อน พอป่าเถื่อนขึ้นมา เราก็อยากเจริญกับเขาไง เวลาเจริญกับเขา มันโลภไหม มันโทสะไหม มันโลภะ โทสะ โมหะไหม แล้วมันฆ่าแกงกันไหม มันฆ่าแกงกันเพราะว่าเราเอาโลกเป็นใหญ่ไง เรามองแต่เรื่องทางโลกเป็นใหญ่ เขาบอกนี่มันเจริญๆ ไง แล้วตอนนี้ก็มาโทษ เห็นไหม พอวัดก็มีมากไป พระก็มีมหาศาลเลย ทำไมในสังคมมีแต่ตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ มีแต่ฆ่าแกงกัน ยิ่งทำมากขึ้นๆ ทุกวัน

ทำไมจะไม่มากขึ้นล่ะ ไปกระตุ้นกิเลส ทำไมจะไม่มากขึ้นล่ะ เวลาหลวงตาท่านด่านะ เดินแฟชั่นๆ ท่านบอกว่าแฟชั่นพ่อมึง เวลาหลวงตาท่านพูด

ไอ้เราก็แฟชั่นกันสิ แฟชั่นๆ ไอ้นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วเราส่งเสริมกันแบบนี้ เวลาเราส่งเสริมก็ส่งเสริมกันแบบนี้ วันวาเลนไทน์นะ โอ้โฮ! ทั้งโลกเลยนะ วันมาฆบูชาไม่รู้จัก เวลาวันมาฆบูชาไม่รู้จักนะ วาเลนไทน์นี่ไปกัน

วาเลนไทน์มันเกี่ยวอะไรล่ะ มันก็ไปกระตุ้นไง มันไปกระตุ้นกิเลส มันมีแต่เรื่องกระตุ้นกิเลส กระตุ้นกิเลสทั้งนั้นเลย แล้วโลกก็เจริญ แล้วการสื่อสาร การโฆษณา นี่บริโภคนิยม บริโภคนิยมก็ต้องมีคุณภาพ ต้องทัดเทียมกัน มันไปกระตุ้นตรงนั้น แล้วมันจะเป็นอย่างไรล่ะ

เวลาชาวพุทธของเรานะ เมื่อก่อนนะ ในเมืองไทยเราหยุดวันโกน วันพระ ตอนนี้ลังกาเขาหยุดวันโกน วันพระ เขากำลังวิจัยกันอยู่ เขาจะเปลี่ยนมาเป็นวันเสาร์อาทิตย์แล้ว เพราะเขาไม่ทันโลก ในลังกา แต่เมืองไทยเมื่อก่อนก็หยุดวันพระ วันโกน วันโกน วันพระนี่วันหยุด แล้วเขาอยากให้เจริญ เขาก็เปลี่ยนมาเป็นหยุดวันเสาร์อาทิตย์ พอหยุดเสาร์อาทิตย์แล้ว เพื่อการธุรกิจต่างๆ จะให้มันทันโลกกันไง นี่เราเปลี่ยนไปกับเขาเอง จิตใจเราไม่มั่นคงเอง จิตใจเราไม่มั่นคงเองเพราะเรามองไม่เห็นคุณค่าของศาสนา ไม่เห็นคุณค่าของศาสนา

เราไปเห็นนะ ดูสิ การท่องเที่ยวๆ เขามาเที่ยวอะไร เขาเที่ยววัดทั้งนั้นน่ะ เขาเที่ยววัด เขาเที่ยวสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เขาไปเที่ยวที่ไหน

เวลาเขาอยู่ของเขา เขาอยู่ในประเทศเขา เขามีแต่ความเร่าร้อน เขาอยู่แต่วัตถุนิยม เขามีแต่ความเร่าร้อน เขาก็มาหาศีลธรรม วัฒนธรรม ถ้ามาหาศีลธรรม วัฒนธรรม เขาก็มาเที่ยวของเขา เขาก็กลับไปเร่าร้อนของเขา ไอ้ของเราอยู่กับศีลธรรมจริยธรรม มองไม่เห็นคุณค่าของมัน ว่าจะส่งเสริมความทันสมัย ถ้าทันสมัย

ถ้ามันทันธรรมสิ ทันธรรมคือมันทันหัวใจของตัวสิ ถ้ามันทันหัวใจของตัว มันจะเป็นประโยชน์ นี่มันไม่ทันหัวใจของตัว มันไปกระตุ้นแต่เรื่องกิเลส แล้วจะบอกว่าให้คนมีศีล ๕

เพราะมันขาดศีล ๕ ทั้งๆ ที่ศีล ๕ มันเป็นเรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์เลย เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านสอน ศีล ๕ คืออะไร ศีรษะ ๑ แขน ๒ เท้า ๒ ศีล ๕ ศีล ๕ คือมนุษย์นี่ แล้วถ้ามนุษย์มันลืมศีรษะของมัน มนุษย์มันลืมแขนซ้าย แขนขวา เท้าซ้าย เท้าขวา มนุษย์มันเป็นมนุษย์ไปได้ไหม

มนุษย์คนใดขาดแขนไปข้างหนึ่ง ขาดขาไปข้างหนึ่ง เขาก็คนพิการ แต่เวลาศีล รับศีลก็บอกว่ารับ ๔ ข้อ สุราเมรยฯ ขอไว้ก่อน มันจะตัดหัวทิ้งไง มันจะมีแขน ๒ แขน แล้วขา ๒ ขา หัวไม่เอา เวลาหัวมันจะเอา แต่เวลารับศีลรับ ๔ ข้อ มันจะเอาแขน ๒ ข้าง เอาขา ๒ ข้างพอ หัวไม่ต้อง หัวตัดทิ้งไป นี่โลกเป็นแบบนั้น โลกเป็นอย่างนั้น

แล้วจะมาโทษพระ เห็นไหม บอกพระก็มากขึ้น วัดวาเต็มไปหมดเลย แต่ทำไมสังคมถึงมีแต่ราคะ โทสะ ทำแต่ความชั่วกัน นี่เวลาบอกว่าวัดเต็มไปหมด

วัด วัดในสมัยพุทธกาลนะ วิสุงคามสีมา สีมาหมายถึงว่ากำหนดเขต หิน ๔ ก้อนวางไว้ ๔ มุม ตรงนั้นพระสวดสมมุติขึ้นมาให้เป็นวิสุงคามสีมา สมัยโบราณนะ ไอ้สิ่งที่วัดที่เขาซ่อมกัน วัดมันก็คืออิฐหินทรายปูน มันก็ปูนเหมือนกัน มันก็บ้านคนน่ะ มันก็ตึก แล้วเราบอกว่าวัด วัดมีทั่วไป วัดอะไรล่ะ วัดอะไร

แต่ถ้าเป็นพระป่าเขาอยู่ป่าอยู่เขา หิน ๔ ก้อนวางไว้ ๔ มุม สมมุติว่าเป็นวิสุงคามสีมา

สีมา ไปดูในพระไตรปิฎก สีมา ๔ ชนิดมีอะไรบ้าง สีมา นี่พูดถึง แล้วสิ่งปลูกสร้างมา ปลูกสร้างมาทำไม วัดเขามีไว้อะไร

แต่ถ้าวัดนะ วัดของหลวงปู่มั่น วัดของครูบาอาจารย์เรา วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ หลวงปู่ฝั้นบอกวัดก็ไปวัดใจ วัดใจคือหัวใจดี หัวใจมีข้อวัตรปฏิบัติ หัวใจมีน้ำใจ นั่นน่ะคนที่มีวัด

ไอ้คนวัดร้าง คนที่ไม่มีกติกากับตัวเองคือคนวัดร้าง คือคนที่ไม่มีวัดในหัวใจ ไม่มีข้อวัตรในหัวใจ

คนที่มีข้อวัตรในหัวใจ เห็นไหม มีกติกา มีข้อวัตรปฏิบัติ คำว่าข้อวัตรคือข้อห้าม ข้อห้ามมีประจำใจ ถ้ามีประจำใจ เขามีวัตรอยู่ในกลางหัวใจของเขา

นี่ไง วัด มีวัดทั่วไป วัดอะไร วัดอะไร วัดอิฐหินทรายปูนใช่ไหม ถ้าวัดอิฐหินทรายปูนที่ไหนมันก็มี มันสอนใคร

หลวงตาท่านบอกว่า โบสถ์หลังไหนมันสอนคน มีโบสถ์หลังไหนมันสอนคนบ้าง มีวัดวัดไหนที่มันสั่งสอนคนให้เป็นคนดีบ้าง ไม่มี มีแต่พระ พระในวัดนั้นสอน แต่วัดมันสอนไม่ได้ วัดมันสอนคนไม่ได้หรอก วัดมันเป็นที่พึ่งอาศัย มันเป็นที่สาธารณะที่คนเข้าไปทำกิจกรรม

แต่ถ้ามันมีพระที่ดีๆ อยู่ในวัดนั้นมันก็จะเป็นประโยชน์กับสังคมนั้น ถ้ามันไม่มีพระที่ดีอยู่ในวัดนั้น วัดนั้นมันก็เป็นอิฐหินทรายปูนเหมือนกัน วัดมีทั่วไป เห็นไหม

หลวงตาท่านพูด ท่านเคยมาที่นี่ ท่านพูดบ่อยบอกว่า ที่ไหนมีบ้านมีเรือน เขาก็ต้องมีวัดมีวาของเขาขึ้นมาเพื่อความอบอุ่นของเขา เขาได้ทำบุญกุศลของเขา ถ้าเขาไม่ได้ทำบุญกุศลของเขา เหมือนกับคนแห้งแล้ง คนขาดบาทขาดตาเต็ง คือคนไม่สมประกอบ ถ้าคนสมประกอบของเขา เขามีจิตใจของเขา เขาอยากทำบุญกุศลของเขา มันมีที่ทำบุญกุศลมันก็สมประกอบ

คนเรามีร่างกายกับจิตใจ จิตใจคือนามธรรม จิตใจมันหาที่อบอุ่น มันก็หาที่พึ่งอาศัย ที่ไหนมีบ้านมีเรือนของคน ที่นั่นก็ต้องมีวัดมีวาขึ้นมา ถ้าวัดอย่างนั้นเพื่อประโยชน์กับสังคม สังคมอย่างนั้น วัดนั้นก็เป็นศูนย์รวมของสังคม วัดนั้นมีประเพณีวัฒนธรรมในวัดนั้น นี่พูดถึงประเพณีวัฒนธรรมทางโลก

ทีนี้บอกว่า เรื่องโทสะ โมหะ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ถ้าเรื่องโทสะ โมหะนะ คนทำชั่วกันเป็นว่าเล่น ทำยิ่งมากขึ้น ทำไมทำมากขนาดนั้น ทำไมทำมากขึ้นล่ะ

อ้าว! ก็ไปกระตุ้นกิเลส ก็ไปกระตุ้นกิเลส แม้แต่พระก็เหมือนกัน เวลาพระเรา เวลาไปเรียนปริยัติ เรียนเสร็จแล้ว เรียนไปทำไมล่ะ เขาเรียนแล้วเขาก็ไปปฏิบัติ เขาปฏิบัติเพื่ออะไรล่ะ เขาปฏิบัติก็จะไปละมันไง จะไปลดมันไง ลดราคะ ลดโทสะ ลดโมหะ

แล้วที่ว่าเขาฆ่ากัน ทำชั่วกัน เราไม่ฆ่า เราลดโทสะ โมหะ แล้วเราจะฆ่ากิเลสต่างหากล่ะ ฉะนั้น ถ้าฆ่ากิเลสมันก็ต้องนั่งสมาธิภาวนา เขาก็ต้องหาที่สงบสงัด หาที่สงบสงัด

เวลาพระที่ดีๆ เราก็ควรจะส่งเสริม อยากจะมีของดี ดูสิ หลวงตาโดยปกติเวลาปฏิบัติ ไปนิมนต์ท่าน ท่านไม่รับกิจนิมนต์ ท่านไม่รับกิจนิมนต์ ท่านบอกว่า รับกิจนิมนต์ ออกไปเห็นแสงสีต่างๆ ขึ้นมา แล้วก็มาพุทโธๆ ท่านไม่รับกิจนิมนต์ วัดที่เขาจะเป็นวัดที่ดีๆ เราก็ควรส่งเสริม

เวลาวัด หลวงตาท่านบอกเหมือนกับสระน้ำ สระน้ำ สระน้ำหนึ่ง ถ้าสระน้ำที่ใสสะอาด ใครเดินทางมา ใครหิวกระหายมา สระน้ำนั้นก็ได้ไว้ดื่มกินใช่ไหม ถ้าสระน้ำไหนมันมีแต่มูตรแต่คูถ มีแต่มูตรแต่คูถคือมีขี้มีเยี่ยวปะปนไป มันเป็นน้ำเสีย มันจะใช้ประโยชน์ได้ไหม

วัดวัดหนึ่ง พระปฏิบัติที่ดีๆ องค์หนึ่ง เราก็เป็นน้ำสะอาด เป็นที่พึ่งอาศัยของสังคม เราก็ช่วยกันดูแล ช่วยกันรักษาวัดนั้น ช่วยกันดูแลรักษาสระน้ำนั้นให้มันสะอาดบริสุทธิ์ อย่าให้สระน้ำนั้นมันมีแต่มูตรแต่คูถ มีแต่สิ่งสกปรกเข้าไปในสระน้ำนั้น สระน้ำนั้นมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับใคร

พระแต่ละองค์จะสร้างขึ้นมา แต่ให้เป็นพระที่ปฏิบัติขึ้นมาได้แต่ละองค์ กว่าพระองค์นั้นจะได้ชนะตัวเอง ชนะใจตัวเอง มันสมบุกสมบันมามหาศาลเลย เวลาสมบุกสมบันมามหาศาลนะ เราเคยไปเจอหลวงปู่สุวัจน์ เราไปนวดเส้นหลวงปู่สุวัจน์ ท่านบอกว่า ตอนนั้นจากกรุงเทพฯ ท่านจะไปภูเก็ต ตอนนั้นพระลงไปเที่ยวภูเก็ตกัน หลวงปู่สุวัจน์ เรานวดเส้นท่าน ไปนวดเส้นกับพระ แล้วถามว่าหงบ เอ็งคนที่ไหน

บอกผมคนจังหวัดราชบุรีครับ

ท่านก็นึกถึงอดีตของท่านได้ ท่านบอกว่าอ๋อ! ราชบุรีหรือ เราเคยผ่านไป เราเคยผ่านไปท่านบอกว่าท่านเดินหมอนรถไฟ เดินจากกรุงเทพฯ ไปถึงภูเก็ต แล้วท่านต่อเรือไป ท่านบอกว่า ท่านเล่าให้ฟังนะ พอเดินผ่านไป เดินธุดงค์มา อู๋ย! คนมาใส่บาตร มาสนทนาธรรมเยอะแยะเลย แล้วก็ถามว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อจะไปไหน

จะไปภูเก็ต

ทำไมไม่ขึ้นรถไฟล่ะ

หลวงปู่สุวัจน์ ท่านมีศีล เพราะว่าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ท่านจะไม่พูดนะ

ถามว่าทำไมไม่ขึ้นรถไฟล่ะ แล้วเขาก็คุยสนทนาธรรม สนทนาเสร็จแล้วเขาก็กลับ คนอื่นก็มาถามอีกนะหลวงพ่อ หลวงพ่อจะไปไหน

จะไปภูเก็ต

อ้าว! ทำไมหลวงพ่อไม่ขึ้นรถไฟล่ะ

แล้วก็พูดธรรมะไป แล้วเขาก็กลับ

ท่านบอกว่ามันถามทุกคนเลยว่าทำไมไม่ขึ้นรถไฟ แต่มันไม่ตีตั๋วให้ มันไม่ตีตั๋วให้สักใบเลย ใครๆ ก็มาถามว่าทำไมไม่ขึ้นรถไฟล่ะ แต่มันไม่ตีตั๋วให้ แล้วท่านก็ไม่มีสตางค์ ท่านบอกว่าเดินตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปภูเก็ต มีแต่คนถามว่าทำไมไม่ขึ้นรถไฟ ทำไมไม่ขึ้นรถไฟ แต่ไม่มีใครซื้อตั๋วให้สักใบ เดินไปถึงภูเก็ต นี่พระ

ถ้าเป็นในสมัยปัจจุบันนี้เวลาพระเขามาธุดงค์กัน พระมาบิณฑบาต เขาจะมีเครื่องบริขารเต็มหลังเลย บอกว่ามาจากจังหวัดที่ไกลๆ แล้วจะต้องกลับจังหวัดนั้น ขอค่ารถๆ

มันต่างกันไหม เดี๋ยวนี้มีแต่คนแบมือขอค่ารถ บิณฑบาตเอาค่ารถ แล้วเราก็ควักใส่ให้ค่ารถเขาไป แล้วเขาไปจริงหรือเปล่า

แต่เวลาหลวงปู่สุวัจน์ นี่ท่านพูดเอง เพราะท่านถามเราบอกว่าหงบ เอ็งเป็นคนที่ไหน

ผมคนจังหวัดราชบุรีครับ

อ๋อ! ราชบุรีเราเคยไป มันถามทุกสถานีเลยว่าจะไปไหน บอกว่าจะไปภูเก็ต แล้วมันก็กลับ แต่มันไม่ซื้อตั๋วให้สักใบถามตลอดทางเลย แล้วท่านก็เดินตั้งแต่กรุงเทพฯ ยันภูเก็ต ท่านเดินไป นี่เวลาพระที่ดีนะ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอไม่ได้ ขอ เป็นอาบัติ

ทีนี้คำว่าขอ เป็นอาบัติคนที่มีคุณธรรมท่านฝืนไม่ได้ คนที่มีคุณธรรมในหัวใจท่านไม่ฝืนเรื่องอย่างนี้ เพราะคำบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยเป็นศาสดา ไม่ก้าวข้ามล่วงไป พระที่ดีๆ นะ

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้มีคนมาบ่นให้ฟังเยอะเลย ขอแต่ค่ารถ มาตั้งแต่ชายแดนไกลๆ ทั้งนั้นน่ะ ขอแต่ค่ารถ แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ เราจะให้ท่านหรือไม่ให้ท่านล่ะ

ซื้อตั๋วให้ อย่าให้เงิน ซื้อตั๋วให้ก็ไม่เอาอีกล่ะ จะเอาเงินสด นี่พูดถึงพระมีมาก ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ วัดก็มีมาก ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ สังคมเป็นแบบนี้

เพราะสังคม ผู้นำที่ดี หลวงตาท่านปรารถนาจะสร้างผู้นำ ผู้นำที่ดีหายากมาก ถ้าผู้นำที่ดีนะ มันนำที่ไหนล่ะ มันนำที่ในหัวใจของผู้นั้นก่อน หัวใจผู้นั้นจะรู้ว่าหัวใจมันขาดแคลนอะไร หัวใจมันต้องการอะไร หัวใจมันปรารถนาสิ่งใด แล้วสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะศีล สมาธิ ปัญญามันไม่มีขายในท้องตลาด มันเอาเงินไปซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ได้ มันไม่มีใครทำให้ใคร ไม่มีใครปรารถนาจะช่วยเหลือใคร มีแต่คอยชี้นำ คอยบอก คอยแนะ แต่ศีล สมาธิ ปัญญามันต้องสร้างขึ้นมาแต่ละบุคคลที่จะสร้างขึ้นมาเอง ฉะนั้น จะสร้างพระแต่ละองค์มันแสนยาก

ทีนี้มันแสนยาก เราจะส่งเสริมพระที่ดีๆ หรือเปล่าล่ะ เราบอกให้สังคมที่ดีๆ เราไปโทษว่าพระเยอะแยะ วัดเยอะแยะเลย ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ แล้วไม่โทษสังคมเลย สังคมที่ไปแกล้งพระ มีอะไรดีๆ ก็ไปถวายพระ พระจะเอาเฮลิคอปเตอร์ก็ซื้อให้ พระจะเอาเครื่องบินเจ็ท ก็ซื้อให้ อ้าว! อย่างนี้ทำลายพระหรือส่งเสริมพระ

ซื้ออะไรให้ก็แล้วแต่นะ มันเป็นภาระรับผิดชอบ มันต้องดูแลทั้งนั้นน่ะ แล้วใครไปดูแลให้ล่ะ ถ้าซื้อไปแล้วไม่มีใครดูแลให้ ท่านต้องดูแลเอง อย่างนี้เป็นการช่วยเหลือพระหรือเป็นการทำลายพระ นี่ไง เราต้องคิดก่อนไง

นี่พูดถึงว่า เขาบอกว่า เวลาพระก็มีมากขึ้น ทำไมคนในสังคมถึงได้ทำชั่วมากขึ้น ยิ่งทำมากขึ้นๆ ทำแต่สิ่งเลวร้ายๆ

คำว่าทำสิ่งเลวร้ายในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเทวทัตมาเกิดเป็นลูกพี่ลูกน้อง พระเทวทัตได้บวชด้วย พระเทวทัตอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอด พระเทวทัตได้ทำลายศาสนาหรือไม่ พระเทวทัตพยายามแย่งชิงอำนาจจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพยายามปรารถนาจะปกครองสงฆ์

ทั้งๆ ที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยกพระเทวทัตขึ้นมาให้เห็นว่า พระเทวทัตกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคู่เวรคู่กรรมกันมาแต่อดีตชาติ คำว่าอดีตชาติการสร้างสมบุญญาธิการของคนมาแตกต่างกัน

ฉะนั้น มนุษย์เกิดมา มนุษย์เกิดมาแต่ละคนมันมีเวรมีกรรมของแต่ละคนมา ทีนี้คำว่ามีเวรมีกรรมของแต่ละคนมามันก็เป็นจริตเป็นนิสัย เราก็ปรารถนาทุกคนให้เป็นคนดี ปรารถนาให้พระเป็นพระที่ดีทั้งนั้นน่ะ

แต่พระที่มาบวชแล้วก็เริ่มปรารถนาดีมาก่อน ทุกคนเวลาบวชก็อยากจะพ้นทุกข์ แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เวลามันสู้กับกิเลสของตัวเองไม่ไหว มันแพ้กิเลสของตัวเอง มันเสียโอกาส ทำลายโอกาสของตัวจนหยำเปไป อันนั้นมันก็เป็นเรื่องจริตนิสัยของเขาอันหนึ่ง เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมอันหนึ่ง

แต่ทีนี้เวลาว่า พระมีมากขึ้นมาแล้วพระจะดีไปหมดเลย แต่พระที่เวลาขี้ทุกข์ขี้ยากขึ้นมา ทุคตะเข็ญใจอยู่ทางโลกก็ทุกข์มากมหาศาล เวลามาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระเขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขาทำความเป็นจริงของเขา เวลาเขาบรรลุธรรมขึ้นไป เขาตรัสรู้ธรรมขึ้นไปแล้วเขาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เขาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันเป็นอะไรล่ะ ก็เป็นสมบัติของเขาใช่ไหม

เขาขี้ทุกข์ขี้ยากขึ้นมา เขามีความทุกข์ความยาก เขาปฏิบัติของเขามา เขาก็ได้ความสุขของเขามา เขาได้รับรู้ธรรมของเขามา เวลาเขาชำระกิเลสของเขา เขาสำรอกเขาคายกิเลสของเขาออกไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนเวลาเขาสิ้นกิเลสไป เขาก็มีคุณธรรมของเขา คุณธรรมของเขาก็คือวิมุตติสุข

คำว่าวิมุตติสุขคือเขาต้องสุขก่อน เขาต้องมีความสุขของเขา เขาต้องมีความจริงจังในหัวใจของเขา เขามีคุณธรรมในหัวใจของเขา แล้วเขาละสิ่งนั้นขึ้นไป เขาได้วิมุตติสุขก่อน แล้วคนที่ได้วิมุตติสุข สุขที่เหนือโลก เขาจะลงมาคลุกคลีกับโลกไหม ลงมาคลุกคลีสิ่งที่เรื่องโลกๆ เรื่องลาภสักการะ เรื่องโลกธรรม ๘ มันเป็นเรื่องโลกๆ เขาจะลงมาคลุกคลีไหม

หนึ่ง ไม่ลงมาคลุกคลีเด็ดขาด แต่หลวงตาท่านบอกว่า เขาบอกว่าหลุมส้วม ขึ้นจากหลุมส้วมแล้ว ถังขยะ ท่านต้องลงมาคลุกกับถังขยะเพราะอยากจะช่วยโลก

ถ้าครูบาอาจารย์ที่อยากจะช่วยโลกนะ คำว่าอยากจะช่วยอยากจะช่วยแบ่งเบาคนที่ขี้ทุกข์ขี้ยาก คนที่มีความทุกข์ความยาก บรรเทาให้เขา ก็ต้องลงมาคลุกคลี ถ้าคนไม่เข้าใจก็ไปติเตียน

ไปติเตียน ท่านบอกว่าท่านต้องทนเอา ต้องทนเอา แต่โดยสามัญสำนึก ท่านไม่ต้องมาลงคลุก ไม่ต้องลงมาในถังขยะก็ได้ แต่ท่านบอกว่า พระมาจากไหน พระก็มีพ่อมีแม่ พระก็มาจากประชาชน เพราะประชาชนมีครอบครัวถึงมีลูกมีเต้า เพราะมีลูกมีเต้า มีลูกมีเต้าถึงมาบวชพระ

พระ เห็นว่าสังคมมีประโยชน์กับสงฆ์ เพราะสังคมเป็นผู้ดูแลสงฆ์ สงฆ์ที่มีคุณธรรมท่านลงมาคลุกถังขยะ ลงมาคลุกก็เพื่อประโยชน์กับโลก ทีนี้พระอย่างนี้เวลามาช่วยสังคม ช่วยสังคมเพราะว่าท่านเสียสละของท่าน

แต่ถ้าคนที่คอยจับผิด คนที่บอกว่า ถ้าพระต้องมีคุณธรรมแบบนี้ ต้องมีมาตรฐานอย่างนี้ ก็บอกว่านี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ๆ นั่นก็พูดไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม

เราจะบอกว่า เวลาพระที่เขาฉ้อฉลเขาก็สร้างภาพของเขา ข้างนอกเขาสวยงาม แต่ข้างในของเขามันมีแต่มูตรแต่คูถ แต่พระที่สะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์มันไม่ต้องไปอวดใครหรอก เพราะมันไม่มีใครรู้เรื่องสะอาดบริสุทธิ์หรอก เรื่องในใจของตัว มันไม่มีใครรู้กับคนคนนั้นหรอก ใจของใคร คนนั้นก็รู้ใจของเขาเอง แล้วถ้าเรื่องในใจของเขา เขาต้องมาอวดใคร เขาไม่อวดใครอยู่แล้ว ผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์เขาไม่อวดหรอก พอเขาไม่อวดแล้ว แต่เขามีเมตตา เขามีเมตตาอยากจะช่วยโลก เขาก็มาช่วยโลก

ถ้าเขามาช่วยโลก โลกก็ติเตียน เพราะอะไร

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระพุทธรูป ใครมาก็บอกว่านี่เป็นอย่างนั้น ติไปหมด นี่เป็นเรื่องของโลกนะ ถ้าพระ บอกว่าพระก็มหาศาล พระหลงไปหรือเปล่า เขาถาม เขาถามเองว่าพระหลงไปหรือเปล่า

ฉะนั้น คำว่าพระหลงไปหรือเปล่าโยมคงเคยเห็นแล้วโยมคงจะหนักใจเนาะ ถึงว่าพระหลงไปหรือเปล่า หลงตัวเองหรือเปล่า ประกาศตนว่าเป็นนู่นเป็นนี่หรือเปล่า แล้วพฤติกรรมมันทำให้เสียหายหรือเปล่า แล้วโยมก็หวังสังคมว่าสังคมชาวพุทธต้องร่มเย็นเป็นสุข

ฉะนั้น พระก็มาจากสังคม แล้วพอสังคมแสดงออกอย่างใด มันเหมือนสื่อ เขาบอกว่าไปที่ชาติใด ถ้าสื่ออย่างไร ประชาชนในสังคมนั้นก็มีความชอบอย่างนั้น ถึงได้เสพสื่ออย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พระหลงไปหรือเปล่า สังคมหลงไปหรือเปล่า

เราถามกลับเลย สังคมอุปัฏฐากดูแลพระอย่างใด พระถึงได้เป็นแบบนั้น ดูแลพระอย่างใด พระถึงได้เป็นแบบนั้น

ถ้าพระก็เหมือนปลา ปลาต้องอยู่กับน้ำ ถ้าน้ำสะอาดน้ำบริสุทธิ์ ปลานั้นก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าน้ำนั้นขาดออกซิเจน ปลาก็ตาย ปลาก็อยู่ไม่ได้

พระหลงไปหรือเปล่า ฉะนั้น พระหลงไปหรือเปล่า

เราจะบอกโยมนะว่า โยมใช้กาลามสูตร ในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่ว แม้แต่สมัยที่หลวงตาท่านยังมีชีวิต มีลูกศิษย์ของท่าน ท่านบอกว่าศึกษาแล้วศรัทธามากในกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ก็ไปหาหลวงตา บอกว่าศึกษาประวัติของหลวงปู่มั่นแล้วศรัทธามากเลยพระสายหลวงปู่มั่น

หลวงตาท่านตอบเลยนะ ท่านบอกว่า แม้แต่ในสายหลวงปู่มั่นก็มีพระที่ดีและเลวปนกัน

ท่านบอกว่าท่านพูดไว้เพื่อพอเราศรัทธา เราศรัทธาข้างเดียว แล้วพอเราไปเจอสิ่งใด เจอความผิดหวัง เจอสิ่งที่กระทบกระเทือนใจ ศรัทธานั้นมันจะเป็นลบไง ศรัทธานั้นมันจะพลิกให้คนคนนั้นสะเทือนใจมากเกินไป ท่านเลยเตือนไว้บอกว่า ศรัทธานั่นน่ะดีมาก ในสังคมทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนเลวปนกัน มันต้องมีคนเลวและคนดีปนกัน มันจะไม่ดีหมดและเลวหมดหรอก

ฉะนั้น บอกว่า ศรัทธาพระสายหลวงปู่มั่นมากๆ

ในพระสายหลวงปู่มั่นมีทั้งดีและเลวปนกันเหมือนกัน ถ้ามีดีและเลวปนกัน ถ้ามีดี เราก็ชื่นชม เราก็ชื่นชม เราก็สาธุ มีสิ่งที่ดีๆ ให้เราอบอุ่นใจ ถ้าพระองค์นั้นเขาปฏิบัติขึ้นไปแล้วเขาล้มเหลว เขาทำตัวเองเขาเลวทรามไป เราก็สาธุ มันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา เขาได้สร้างเวรสร้างกรรมของเขา เราไม่ได้ไปร่วมเวรร่วมกรรมกับเขา นี่เวลาท่านพูด ท่านพูดแบบนี้ นี่หลวงตาเวลาท่านเตือนนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าพระมีมากขึ้น เรากลับเห็นว่าสังคมจะส่งเสริมจะดูแลพระอย่างใดต่างหาก ถ้าส่งเสริมดูแลพระ

ถ้าพระที่ดี หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง การสอนโดยไม่ต้องสอน คือพระองค์นั้นประพฤติปฏิบัติให้ดี ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม พระองค์นั้นดี สังคมเขาพอใจ แต่พระส่วนใหญ่แล้วอยากจะสอน อย่างเช่นเรานี่พูดทุกวันเลย อยากจะสอนเขาๆ แล้วเขาจะเชื่อไหม

ความเป็นอยู่ของเรามันจะสอน การสอนที่ประเสริฐที่สุดโดยไม่ต้องสอน การสอนที่ดีที่สุดคือเราทำตัวเราให้ดี เราอยู่ในขอบในเขต เราอยู่ในศีลในธรรม สิ่งนี้คนเขาเห็น ประชาชนเขามีหูมีตา ถ้าเขารู้เขาเห็นนะ นั่นน่ะการสอนโดยที่ไม่ต้องสอน

แต่ถ้าการสอน เวลาพูดอู๋ย! องค์นั้นก็เทศน์ดี องค์นี้ก็เทศน์ดี

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันประเสริฐอยู่แล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด แล้วเวลาเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพูด แต่พฤติกรรมของตัวเองนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

แต่ถ้าความเป็นอยู่ของเราอยู่ในขอบในเขต ความเป็นอยู่ของเรามันประเสริฐ อันนั้นดี ไม่ต้องไปห่วงอะไรเลย

หลวงตาท่านสอนนะ ถ้าเราค้นคว้าหาความผิดของเรา ถ้าเราดูความผิดของเรา ถ้าเราหาของเราไม่เจอ ใครจะมาหาความผิดเราได้ ความผิดนะ ในหัวใจของเรา แต่กิริยา ใครๆ มันก็จับผิดทั้งนั้นน่ะ พระต้องเป็นแบบพระพุทธรูป ต้องนั่งนิ่งเลยนะ ถ้าพูดก็เจริญพรๆ โอ๋ย! โยมฟังแล้วก็ชื่นใจเนาะ ไปเจอพระกระโชกโฮกฮากเข้า วิ่งหนีเลย

อันนั้นเขาพูดจากหัวใจ พระกระโชกโฮกฮากมันอยู่ที่จริตนิสัย แต่ถ้านุ่มนวลนะ มันก็เป็นของดีอยู่แล้ว เจริญพรๆ เป็นของดีอยู่แล้ว แต่คนที่สมบุกสมบันมันไม่ทันกิเลสนะ เวลาคนต่อสู้กับกิเลสมันถึงลูกถึงคนมาตลอด เวลามันถึงลูกถึงคน มันเหมือนกับมันมันเขี้ยว ทำอะไรแล้วมันอืดอาด มันทนไม่ไหว มันทนไม่ไหว มันมันเขี้ยว มันเต็มที่เลย อันนั้นเป็นพระที่เขาต่อสู้กับกิเลสของเขามา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ทำไมวัดก็มีมาก พระก็มีมาก ทำไมสังคมมันถึงทำเลวกันขนาดนี้ แล้วให้หลวงพ่อพิจารณา

ถ้าหลวงพ่อพิจารณานะ ก็พิจารณาอย่างนี้ พิจารณาว่า ถ้าพระที่ดี พระเป็นผู้ประเสริฐ ฉะนั้น พระที่ดี พระ ทุกคนมีสิทธิ์เป็นได้ แม้แต่นางวิสาขาเป็นคฤหัสถ์ก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าคำว่าเป็นพระโสดาบันหัวใจเราเป็นพระ ถ้าเรามองว่าหัวใจเราเป็นพระ สิ่งนี้มันเป็นนามธรรมเกินไป ถ้าพูดกับโลกนะ สิ่งนี้เป็นนามธรรมเกินไป

อ้าว! แล้วจะวัดกันอย่างไรล่ะ จะวัดกันอย่างไร

ถ้าวัดกันอย่างไร ในวงกรรมฐานเขาวัดกันได้ เขาวัดกันได้ เขารู้ได้ เพราะสิ่งที่อย่างนางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เวลามีวิกฤติในภิกษุณี ตั้งกรรมการสอบ เขาตั้งนางวิสาขานี้เป็นกรรมการสอบ เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่มีความสงสัย ไม่ลูบคลำ ต้องพูดตามความเป็นจริงอันนั้น

ฉะนั้น จิตใจของเรา ถ้าเราเป็นพระขึ้นมาในหัวใจของเราแล้ว เราเป็นธรรมของเรา เราวัดของเราได้แล้ว เราเข้าใจของเรา เรารู้ของเรา ถ้าเรารู้ของเรา สิ่งที่เป็นนามธรรมมันกลับเป็นความจริงไง เป็นความจริง พระที่ปฏิบัติ พระที่เรามีสิทธิเป็นพระ ไม่ใช่ว่ายกให้พระไปเลย

ฉะนั้น กรณีนี้เวลาสังคมมีอะไรก็ต้องว่าอย่างนี้ วัดมีอยู่ทั่วไป พระมีอยู่ทั่วไป ทำไมสังคมเป็นแบบนี้

เพราะเราคิดกันว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม เวลาใครเห็นสัจธรรมมันสำรอกมันคาย มันคายกิเลส คายตัณหาความทะยานอยาก แล้วเวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์ วิมุตติสุขๆ มันประเสริฐมากๆ ทำไมสังคมเราเป็นแบบนี้ๆ

ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ มันก็เหมือนเวลาพระบวชเข้าไปแล้ว เวลาปฏิบัติแล้วมันไม่ได้รสของธรรม ถ้าไม่ได้รสของธรรม มันก็เป็นฆราวาส ฆราวาสเขาที่เป็นคนมีศีลมีธรรมเขายังดีกว่า แต่นี่เราเป็นเพศของนักบวช แต่จิตใจของเรามันเร่าร้อน จิตใจของเรา เราทำของเราไม่ได้ มันไม่เป็นอย่างนั้นปั๊บ มันก็เป็นแค่รูปแบบไง ถ้าเป็นแค่รูปแบบ

ทีนี้มันเป็นรูปแบบแล้ว เราเคยบอกว่า พระ เวลาเป็นพระแล้วเราก็คาดหมายเลยว่าจะต้องให้สมความปรารถนา ให้สูงส่งเหมือนที่เราคิดเลย

มันเป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์โดยสมมุติ สงฆ์โดยการบวช เป็นพระโดยการบวช เป็นพระโดยรูปแบบ ถ้าเป็นรูปแบบ เป็นพระไหม เป็น เป็นพระไหม เพราะเวลาสงฆ์ลงอุโบสถ เวลาทำสังฆกรรมมันต้องเป็นแบบนั้นน่ะ เป็นสงฆ์ไหม เป็น ถ้าเป็นพระไหม เป็น แล้วถ้าเป็นพระแล้ว ใจเป็นพระหรือยังล่ะ

ถ้าใจมันยังไม่เป็นพระ ฉะนั้น พอบวชเป็นพระแล้วเป็นสมมุติสงฆ์ เป็นพระโดยรูปแบบปั๊บ เขาก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นพระไปในใจ

ถ้าเป็นพระไปในใจแล้ว อย่างที่โยมถามนี่ พระไม่หลงแล้ว เพราะมันเป็นพระในใจ ถ้าเป็นพระในใจ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต พระพุทธเจ้าเข้าใจอย่างใด พระองค์นั้นก็มีความรู้สึกอย่างนั้น พระองค์นั้นก็เข้าใจแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าพระองค์นั้นเข้าใจแบบนั้น

ดูสิ ที่เราศึกษาธรรมพระพุทธเจ้ามา ศึกษามาเพื่อคุณงามความดี ศึกษามาเพื่อประโยชน์กับเรา แต่ว่าพระองค์นั้นเป็นพระในใจแล้วขึ้นมามันก็อันเดียวกันแล้ว มันจะทำอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้ามันทำอย่างอื่นไปไม่ได้มันก็เป็นพระภายในใจ ถ้าเป็นพระที่แท้จริง

แล้วพระภายในใจส่วนใหญ่แล้วพระที่ท่านประพฤติปฏิบัติได้จริง ดูหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นสิ ท่านอยู่ในป่าตลอดเลย พระที่เป็นพระในใจ ใจเป็นพระจริงๆ สิ่งนี้เขาไม่แสดงออก เพราะการแสดงออก เขาเรียกว่ามันมีความละอาย คนที่มีความละอาย มีหิริ มีโอตัปปะ เขามีดีเขาไม่พูดนะ เขามีดีเขาไม่พูดหรอก เวลาเขาจะพูด เขาพูดตอนไหนรู้ไหม เวลาจะพูด เขาพูดตอนลูกศิษย์ไปถามปัญหาธรรมะนี่แหละ

เวลาไปถามปัญหาธรรมะ เพราะอะไร เพราะคนที่ไปถามปัญหาธรรมะเขามีความข้องใจ เขาปฏิบัติไปแล้วเขาติดขัด เวลาไปถามครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ โอ้โฮ! ท่านออกมาเป็นน้ำไหลไฟดับเลยตอนนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะตอนนั้นเป็นตอนที่ธรรมจะได้ออก เป็นตอนที่สัจธรรมมันได้แสดงออกมาเพื่อจะไปให้ผู้ที่ปฏิบัติที่ยังเห็นผิดมันจะไปชำระล้าง มันจะไปชำระล้างกิเลสในใจผู้ที่ปฏิบัติ ตอนนั้นน่ะมันจะออกไปเต็มที่เลย

แต่ถ้าเป็นพระในใจแล้วท่านจะพูดว่าท่านเป็นพระที่ดีๆ ท่านมีความละอาย ท่านพูดไม่ออกหรอก ท่านพูดไม่ได้

แล้วมันจะวัดกันว่าเป็นพระดีหรือพระไม่ดี เราต้องปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติแล้ว เราได้สมาธิไหม พอได้สมาธิแล้วไปถามท่านว่าสมาธิทำอย่างใด ท่านจะอธิบายให้ฟังว่าทำอย่างไร

แล้วบอกว่าเราทำสมาธิมาแล้วเป็นอย่างนี้ๆ อย่างนี้ถูกไหม

ท่านจะอธิบายว่าอย่างนี้เป็นมิจฉา อย่างนี้เป็นสัมมา อย่างนี้เป็นสมาธิ เป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ เป็นอัปปนา ท่านจะอธิบายให้เราฟังถ้าท่านทำสมาธิได้

แต่ถ้าเป็นพระในใจ ถ้าเป็นโสดาบัน ท่านจะอธิบายเลยว่า การชำระล้างสังโยชน์ ๓ ตัว ท่านทำอย่างใด ถ้าเป็นสกิทาคามี ท่านจะบอกเลย กามราคะอ่อนไปอย่างไร ขาดไปอย่างไร ถ้าเป็นพระอนาคามี ท่านจะบอกเลยว่าท่านชำระล้างอย่างไร

ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาแล้วเราได้แค่นี้ แต่เรายังก้าวไปไม่ถึง ท่านจะอธิบายวิธีการเลย ถ้าจิตมันเกาะอย่างนี้แล้วต้องพิจารณาอย่างนี้ ต้องแยกอย่างนี้ ต้องไปอย่างนี้ มันไปแล้ว เราก็ยังไม่รู้นะ ท่านจะชักไปเลย จูงไปเลย

แล้วพอเราชำระไป ถ้าเราถึงอนาคามี แต่เรายังไปต่อไปไม่ได้ ท่านจะบอกวิธีการว่า เราจะน้อมอย่างไร เราจะกลับมาอย่างไร เราจะหาอย่างไร ให้ไปหาพญามาร ให้เจอพญามาร แล้วจะชำระล้างไปอย่างไร

ถ้าพระในใจเป็นอย่างนั้น เขามีความละอาย มีหิริ มีโอตัปปะ ท่านจะเก็บไว้ในใจของท่าน ท่านจะไม่พูดพร่ำเพรื่อหรอก

พูดพร่ำเพรื่อเพราะอะไร พูดพร่ำเพรื่อแล้ว เห็นไหม สมมุติมีเท่านี้ คือคำพูดมีเท่านี้อริยสัจ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเลย แต่ไม่มีเนื้อหาสาระเลย

แต่คนที่เป็นจริงฟังคำเดียวก็รู้ จับอย่างไร พิจารณาอย่างไร คนที่เป็นพระในใจเขาฟังทีเดียวเขาก็รู้ แล้วรู้แล้วอธิบายให้ฟังได้ด้วย แล้วอธิบาย

ถ้าเราเริ่มปฏิบัตินะ แล้วเราติดขัด เราก็ว่าเราแน่แล้วล่ะ เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติ ไม่มีใครทำได้อย่างเราเลย เราเป็นคนที่ว่าในสังคมนี้เราเก่งที่สุด ในสังคมนี้เราเป็นปราชญ์ในสังคมนี้ เรายอดเยี่ยมที่สุดเลย

แต่เวลาไปเจอพระในใจ พระในใจเวลาท่านพูดมา ไอ้ที่นักปราชญ์นี่งงเลยนะ มันไปไม่เป็น มันไปไม่เป็น เพราะโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันคนละเรื่องกัน มันคาดหมายไม่ได้เลยล่ะ แล้วถ้าจะทำ ทำอย่างไร

กรณีนี้มันก็มีพระวังคีสะในสมัยพุทธกาล ที่ว่าเคาะกะโหลกแล้วรู้หมดว่าใครไปเกิดที่ไหนๆ เคาะตลอด เคาะไปเรื่อย เขาก็คิดว่าตัวเองเก่งมาก ทีนี้ก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาชวนกันไป พระพุทธเจ้าก็เอากะโหลกมาให้เคาะเลย มี ๓-๔ กะโหลก อ้าว! เคาะเลย

เออ! กะโหลกนี้ไปนรก

พระพุทธเจ้าบอกว่าใช่

เคาะเลย กะโหลกนี้ไปสวรรค์

ใช่เลย

ไปเคาะ เคาะกะโหลกพระอรหันต์นะ เคาะแล้วเคาะอีก ไม่รู้ ตอบไม่ได้ เสียฟอร์ม

พระพุทธเจ้าถามว่าอยากรู้ไหม

อยากรู้

อยากรู้มาภาวนาสิ กำหนดพุทโธ พอภาวนากำหนดพุทโธ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่ถามอีกเลย

ถ้ามันไม่รู้ อย่างไรมันก็ไม่รู้ เคาะกะโหลกพระอรหันต์ เคาะแล้วงง เคาะแล้วบอกไม่ได้ นี่ไม่รู้เป็นแบบนี้ ถ้าไม่รู้หรือไม่ถึงเป็นแบบนี้ มันไม่รู้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน เป็นนักปราชญ์ของสังคมเลย อู๋ย! แน่ไปหมด เข้าใจไปหมด สังคมพูดที่ไหนก็รู้ นี่เขาเรียกโลกียปัญญา ตรรกะ ความเข้าใจได้ของโลก พอความเข้าใจได้ของโลก อธิบายใครก็เข้าใจได้ พอไปเจอครูบาอาจารย์ พอพูดธรรมะ ฟังไม่ออกนะ โลกุตตรปัญญากับโลกียปัญญาคนละเรื่องเลย นี่พูดถึงว่าพระที่ไม่หลงนะ

นี่เขาบอกว่า พระหลงอะไรหรือเปล่า

เพราะธรรมดาเราเข้าใจสังคม ก็คิดว่าสังคมชาวพุทธก็อยากได้สังคมที่ดี แล้ววัดก็มีเต็มวัด เต็มประเทศไทยเลย แล้วพระก็โอ้โฮ! เต็มไปหมดเลย แต่พูดถึงพระ เราก็สังเวช เราสังเวชพระที่อีลุ่ยฉุยแฉกก็มี พระที่เขาอยากทำคุณงามความดีแล้วไม่มีใครส่งเสริมก็มี อย่างเช่นหลวงปู่สุวัจน์ พระที่ยังเล็กยังน้อยอยู่ ยังไม่มีชื่อเสียง แล้วยังขวนขวาย ถ้าจิตใจเขาเป็นธรรมนะ เขาละอาย เขารังเกียจ รังเกียจในการทุศีล รังเกียจในการกระทำที่ผิดศีล

แล้วเขาทำอะไร บางทีพระที่เดินธุดงค์ตามถนน แล้วเขาจอดรถเข้าไปรับ ถ้าท่านตั้งสัจจะ บางองค์เป็นอย่างนั้นนะ บางองค์ตั้งสัจจะว่าเราจะเดินไปถึงเป้าหมายนั้น ก็เดินไปเรื่อย รถจะมาจอดทันทีเลยนิมนต์ครับเดินไปอีกหน่อย เดี๋ยวคันใหม่มาแล้วจอดนิมนต์ครับ

เขาตั้งสัจจะของเขาว่าเขาจะเดินไปถึงเป้าหมาย แต่ไอ้สังคมก็อยากช่วยๆ เดี๋ยวรถก็มาเทียบแล้วนิมนต์ครับ จะไปส่งที่นั่นเขาตั้งสัจจะ พอตั้งสัจจะว่าเราจะเดินไปที่นั่นๆ พระบางองค์เขาตั้งสัจจะนะ เขาก็ไม่อยากเสียสัจจะเขา แต่ไอ้คนอยากส่งเสริมก็เยอะมากเลยนะ

แต่ไอ้พระที่มันทุกข์มันยากนี่อยากจะให้คนซื้อตั๋วรถไฟไปภูเก็ตนี่ มันไม่ซื้อให้สักใบ

แล้วตอนนี้มันไม่ได้ธุดงค์ ตอนนี้เดินทาง ตอนเดินทางท่านจะไปหาครูบาอาจารย์ ท่านก็อยากจะไปให้ถึง ไม่ได้เดินธุดงค์ ไม่มีใครส่งเลย เห็นไหม ไอ้กรณีนี้ก็เหมือนกับจะให้มันพอดี ให้มันมาสมบูรณ์ มันยาก

เราไม่เข้าใจว่าคนคนหนึ่งตั้งเป้าหมายว่าอย่างใด คนคนหนึ่งตั้งสัจจะไว้อย่างใด คนคนหนึ่งปรารถนาอะไร แล้วเราจะอุปัฏฐากให้เหมือนกันมันเป็นไปได้ยาก ถ้ามันเป็นไปได้ยากนะ ฉะนั้น พระองค์หนึ่งกว่าจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นที่กราบไหว้บูชาของสังคมไม่ใช่ของง่าย

หลวงปู่มั่นท่านพูดประจำ แล้วเราซึ้งมาก เวลาท่านแก่เฒ่า หลวงตาท่านมาเล่าให้ฟังเฉยๆ เวลาท่านชราภาพนะ ท่านเป็นห่วงมาก หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ แก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วไม่มีใครแก้นะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ปฏิบัติมาสิ ปฏิบัติขึ้นมาให้มันมีอุปสรรคมา แล้วผู้เฒ่าจะบอกว่ะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วไม่มีใครแก้นะนี่ท่านเน้นย้ำๆ ตลอด เพราะอะไร เพราะท่านปฏิบัติมามันทุกข์ยาก เวลามันปลิ้นปล้อน ในใจเรามันปลิ้นปล้อน เราไม่ทันหรอก รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดไม่ถึง โอ๋ย! ร้อยแปด แล้วท่านก็ต่อสู้มาตลอด

ที่ท่านชราภาพขึ้นมาท่านจะเน้นย้ำเลยให้ปฏิบัติมานะ แก้จิตแก้ยากนะ แก้จิตแก้ยากนะ คนแก้หายากนะ ผู้เฒ่าอยากแก้ว่ะผู้เฒ่าคือตัวท่านน่ะ คือตัวหลวงปู่มั่นท่านอยากแก้ อยากจะแก้ อยากจะให้พวกเราปฏิบัติ แล้วมีอุปสรรค ท่านจะได้แก้ไขเรา ท่านจะได้คอยดูแลเรา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ

แล้วพอท่านตายไป พอท่านเสียไปแล้ว หลวงตาท่านไปนั่งปลายเท้า ท่านร้องไห้ เพราะว่าท่านกำลังสมบุกสมบันไง ท่านบอกเลยนะ หัวใจดวงนี้มันดื้อนัก ดื้อนักคือว่ามันต้องมีเหตุผลเหนือเหตุผลมันถึงจะฟัง แล้วคนที่มาพูดให้ท่านฟัง เวลาท่านไปถามปัญหามันตอบเหตุผลอันนี้ไม่ได้ ท่านก็ไม่ค่อยยอมฟัง แล้วท่านก็ยอมฟังเฉพาะหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็มาเสียไปเสียแล้ว โอ๋ย! ท่านเสียใจมากนะ ท่านเสียใจมาก

ทีนี้ท่านก็มาคิดถึงคำที่หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธนะ ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธจะไม่เสียเพราะอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเราอยู่กับตัวเราเอง รักษาตัวเอง มันจะไม่เสียหาย

อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อย่าทิ้งนะ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ถ้ามีสิ่งใดไม่เข้าใจ มีสิ่งใดที่แก้ไขไม่ได้ ให้กลับมาที่ผู้รู้ ให้กลับมาที่พุทโธทันทีท่านย้ำไว้นะ

เวลาพระแต่ละองค์ที่จะขึ้นมาได้ จะเอาตัวรอดได้ก็แสนยาก ฉะนั้นพระมีมาก แต่การทำชั่วมันน่าจะลดลง แต่ทำไมนี่มันยิ่งมากขึ้นนี่เขาพูดนะ

สังคมมันเสื่อมทรามไปเรื่อยๆ สังคมมันเสื่อมทรามไปเรื่อยๆ แล้วอย่างที่บอกว่า กึ่งพุทธกาลแล้ว ต่อไปมันจะเรียวแหลมๆ มันไม่ใช่เรียวแหลมที่ศาสนาหรอก มันเรียวแหลมที่สังคม เรียวแหลมที่จิตใจคนไม่เชื่อ อย่างพวกเรา เราเชื่อใช่ไหม แล้วเราปฏิบัติได้ไหม เราทำสมาธิได้สมความปรารถนาไหม เราใช้ปัญญาเราได้สมความปรารถนาไหม ทำไมล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เราเชื่อ ทั้งที่เราเชื่อ เรามุมานะ เราบุกบั่น เรายังเป็นอย่างนี้ แล้วคนที่เขาไม่เชื่อเขายิ่งสบประมาทใหญ่ ฉะนั้น อันนี้เป็นเวรกรรมของเขา เราต้องทำของเรา

ฉะนั้นพระมีมาก แต่คนทำชั่วมันน่าจะลดลง หลวงพ่อพิจารณาอย่างไร

เราพิจารณาว่าเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันมีกรรมนะ ใครทำกรรมสิ่งใดมามันจะปิดหูปิดตาให้คิดอย่างนั้นน่ะ แต่สัตว์โลกมันก็มีสัตว์ที่มีอำนาจวาสนาเหมือนกัน ถ้าสัตว์ตัวไหนมันมีอำนาจวาสนา มันมีความคิดที่ดีๆ มันมีความคิดที่จะเอาตัวมันรอด คำว่าความคิดที่จะเอาตัวมันรอดมันต้องมีความมุมานะเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง

ถ้าเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง ธมฺมสากจฺฉา สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันมีสิ่งใดที่มันสะดุดใจ มีสิ่งใดที่ไม่แน่ใจ เรียนถามท่าน เรียนถามท่าน มันไม่ต้องเสียเวลาที่เรามาไตร่ตรอง ท่านจะแก้เราๆ

ถ้าเราไปหาครูบาอาจารย์แล้วเราเรียนถามท่าน ท่านตอบเราไม่ได้ เราวัดภูมิ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นอาจารย์แต่ชื่อ ท่านไม่มีคุณธรรมจริง เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราไปวัดมาเยอะ บวชใหม่ๆ เราไปถามมาเยอะ ใหม่ๆ ก็โดนหลอกมาก่อน โดนหลอกทั้งนั้นน่ะ โดนหลอกเพราะอะไร เพราะเราไม่มีกึ๋นเลย เรายังเป็นวุ้นอยู่เลย ฟังใครก็เชื่อเขาไปหมด โดนหลอกทั้งนั้นน่ะ

แต่พอมันเป็นวุ้นขึ้นมาบ้าง พอ เออ! อันนี้มันไม่ใช่ อันนี้เป็นน้ำ น้ำไม่ใช่วุ้น พอมีวุ้นขึ้นมาก็รู้แล้วว่าน้ำไม่ใช่วุ้นแล้ว พอมันขึ้นไป รู้เลยว่าอาจารย์องค์ไหนเป็นหรือไม่เป็น รู้เลย อาจารย์องค์ไหนเป็นหรือไม่เป็น

ถ้าเป็นนะ ไม่มีคลาดเคลื่อนเลย กรรมฐานเขาพูดกันคำเดียวเท่านั้นน่ะ ผลัวะ! ผลัวะ! แล้วเถียงไม่ขึ้น เถียงไม่ได้เลย เถียงไม่ได้ แล้วยอมรับด้วย

ใหม่ๆ ยังไม่ยอมรับ กลับไปเดินจงกรมก่อน เดินไปเดินมา เออ! ใช่ เราผิดเอง ถ้าเออ! ใช่ เราผิดเอง พอผิดมันก็หาหนทาง หาโอกาส พยายามต่อสู้ มันก็พัฒนาขึ้นมา ฉะนั้น พระแต่ละองค์แสนยากนะ

ฉะนั้น สิ่งที่โยมถามมานี่มันเป็นความปรารถนาอยากจะให้สังคมดีๆ อยากให้ทุกคนเป็นคนดี อยากให้พระเป็นพระที่ดีๆ ทุกคนอยากได้ดีหมดแหละ อยากได้พระดีๆ อยากได้คนสังคมดีๆ แต่มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นเวรเป็นกรรม เราเกิดร่วมสมัย อันนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ ถ้าเป็นผลของวัฏฏะมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม

ถ้าเรื่องเวรเรื่องกรรมนะ ทุกคนปรารถนาดีหมดแหละ แต่เขาทำเวรทำกรรมมาอย่างนั้น เขามีความคิดอย่างนั้น เขาถึงแสดงออกอย่างนั้น แล้วเรามาอยู่ร่วมกับเขา เรามีสติปัญญารักษาใจเรา เราจะเข้าใจสังคมอย่างนี้ แล้วเราจะรักษาใจเราโดยที่ไม่ต้องทุกข์ยากมากเกินไป ไม่ต้องทุกข์ยากไปกับเขา เอวัง