ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจเป็นได้

๘ มิ.ย. ๒๕๕๗

ใจเป็นได้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องย้อนจิต

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงยิ่ง กระผมชอบฟังธรรมะของหลวงพ่อก่อนนอนแทบทุกคืน และกระผมมีคำถามอยู่

กระผมชอบภาวนาด้วยพุทโธ มีอยู่ครั้งหนึ่งฝันว่าได้ไปในสถานที่แห่งหนึ่ง พอระลึกได้ว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าเป็นจิตส่งออก ท่านให้ย้อนจิตกลับมาด้วยคำบริกรรมพุทโธ กระผมก็เริ่มบริกรรมพุทโธในฝันนั้นทันที ท่องพุทโธเร็วๆ จิตก็จดจ่อที่พุทโธ ทันใดนั้นเหมือนตัวเองหายแว็บไปในสถานที่แห่งหนึ่ง (ในฝัน) ก็รู้ว่ายังคงส่งออกอยู่ ก็พุทโธเข้าไปอีก มันก็หมุนติ้วไปอีกแห่งหนึ่ง จากนั้นมันก็ถอนขึ้นมา รู้สึกว่าเหนื่อยมาก กระผมเลยอยากให้หลวงพ่อได้โปรดช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

ตอบ : นี่พูดด้วยการชี้แนะนะ ในการปฏิบัติ ทุกคน เราปฏิบัติแล้วครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเราต้องพยายามทำใจให้สงบก่อน

คำว่าทำใจให้สงบก่อนมันเหมือนกับคนทุกคนร่างกายแข็งแรง คนที่แข็งแรง คนที่แข็งแรงแล้วมันจะทำสิ่งใดก็ได้ คนที่ยังอ่อนแอ คนที่ไม่มีกำลังไปทำสิ่งใดมันทำได้ยาก เราจะคลานไป เราจะกลิ้งไปทำงาน มันเป็นได้แบบโลกๆ ไง ฉะนั้น เราต้องทำความสงบของใจก่อน

ทีนี้คำว่าทำความสงบของใจคือทำสมาธิ แต่สมาธิมันมีสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ การทำมิจฉาคือว่าทำให้ความหลงใหลไปโดยที่ไม่มีสติปัญญา นั่นเป็นมิจฉา มันก็เป็นความว่างๆ ความเวิ้งว้าง นี่มันเป็นมิจฉาสมาธิ คำว่ามิจฉามันก็เข้าสู่สัมมาทิฏฐิไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเป็นมิจฉาก็เป็นมิจฉานะ

แต่ถ้าเป็นสัมมาล่ะ เราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบแล้ว จิตเราสงบแล้ว ความสงบ เห็นไหม ความสงบคือจิตมันปล่อยวาง ปล่อยวางความเป็นภาระรุงรังที่มันคิดค้นของมันขึ้นมา มันปล่อยวางของมัน ถ้ามันปล่อยวางของมัน มันเป็นอิสระ เป็นอิสระแล้วมันจะมีกำลัง มันมีกำลัง พอมีกำลังทำสิ่งใดมันก็จะเป็นประโยชน์ในการภาวนา

. การทำความสงบของใจได้ความสุขก่อน จิตนี้จะมีความสุข ความสงบระงับ หนึ่ง

. มีกำลัง มีกำลังแล้วต้องมีเชาวน์ปัญญา

ถ้ามีเชาวน์ปัญญา ศีลแล้วเกิดสมาธิ สมาธิมันจะค้นคว้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันก็จะเป็นวิปัสสนาไปข้างหน้า

แต่ด้วยทางโลกเขาบอกว่าทำสมถะ ทำพุทโธเป็นสมถะ มันไม่เกิดปัญญามันเกี่ยงงอนกัน มันเกี่ยงงอนว่าควรทำอย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ พอเกี่ยงงอนแล้ว เราปฏิบัติเราก็โลเลอยู่แล้ว แต่พอเราปฏิบัติ เราโลเลอยู่แล้ว หนึ่ง

สอง เวลาเราปฏิบัติไป การทำความสงบของใจนี่ทำแสนยาก

ทำงานสิ่งใดก็ทำได้ง่ายๆ ทั้งนั้นน่ะ แต่จะทำงานด้วยการควบคุมใจ ทำงานด้วยการภาวนามันแสนยาก แสนยากเพราะอะไร เพราะกิเลสมันปลิ้นปล้อน เพราะจิตใจมันมีแต่กิเลสครอบงำอยู่ มันปลิ้นปล้อน มันทำให้เราทำได้ยากทั้งนั้นน่ะ พอเวลาทำยากมันก็ล้มลุกคลุกคลาน

ทีนี้พอใครมาเสนอแนวทางที่มันสะดวก ใครมาเสนอแนวทางที่เข้ากับกิเลสนี่ชอบไม่ต้องไปทำ เราใช้ปัญญาไปเลยส่วนใหญ่เวลาที่พูดอย่างนี้มันพูดไปเชิงกิเลสนำ กิเลสมันให้พูดอย่างนั้น กิเลสมันมีความชอบอย่างนั้น เวลาใครพูดอย่างนั้นแล้วมันก็ชอบกัน มันก็ทำตามกิเลส ทำตามกิเลสสั่ง ทำตามกิเลสเปิดโอกาสให้เราพอทำได้ มันได้แค่นั้นน่ะ

แต่ถ้าเราทำเป็นสัมมาสมาธิ เรากำหนดพุทโธของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันไม่ใช่ทำตามกิเลส มันฝืนกิเลส มันฝืนกิเลส มันจะปราบปราม มันจะยับยั้งกิเลส

ทีนี้กิเลส กิเลสมันเป็นเจ้าอำนาจ ใครไปต่อต้านมัน ใครไปฝืนมัน มันไม่ชอบ มันไม่พอใจหรอกที่ใครจะไปขัดขวางมันน่ะ กิเลส ใครไปขัดขวางมัน มันไม่พอใจคนนั้นน่ะ มันเกลียดขี้หน้าคนนั้น แต่ถ้าทำตามมันนะ กิเลสมันชอบ กิเลส ถ้ามันไปอยู่ในพวกมัน มันชอบหมดเลย

ฉะนั้น เวลากิเลสนำ เวลาพูดกัน พูดไปเป็นในเชิงสัญญาอารมณ์ พูดในเชิงทางวิชาการ ทางวิชาการ ทางทฤษฎี ทฤษฎีคือฉลากยา เอาฉลากยามาวิเคราะห์วิจัยกัน แต่ไม่เคยได้รับเนื้อยา ไม่เคยได้กินยา ไม่เคยเห็นสรรพคุณของยา ไม่เคยเห็นสิ่งใดๆ เลย ฉะนั้น พอคนที่ไม่เคยเห็นมันพูดสิ่งใดมันก็ไปตามฉลากยา ฉลากยามันแปะที่ขวดยา มันมีอยู่แล้ว พอพูดขึ้นไป คนที่วุฒิภาวะอ่อนด้อย พอเห็นฉลากยาก็เชื่อ ก็เชื่อ เชื่อตามอย่างนั้นไป มันเป็นไปอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราจะฝืนกิเลส เราจะต่อสู้กับกิเลส เราจะต้องมีสติ เราต้องต่อสู้ของเรา เราทำความเป็นจริงของเรา ถ้าทำความเป็นจริงของเรา มันจะทุกข์ยาก พอมันทุกข์ยากขึ้นมา พอคนเสนอแนะมันเป็นแนวทางนั้น หนึ่ง

สอง เวลาคำถามขึ้นมาผมฟังเทศน์หลวงพ่อทุกคืนเลย ผมชอบฟังเทศน์หลวงพ่อมากเลย แล้วเวลาผมปฏิบัติไป ผมกำหนดพุทโธเหมือนกัน แต่เวลาผมปฏิบัติไปนี่ผมหลับไป ผมฝันไป

เห็นไหม การว่านอนหลับแล้วมันฝัน มันเป็นความฝัน ความฝันมันเป็นนิมิต มันเป็นความฝันอันหนึ่ง มันเป็นสิ่งบอกเหตุอย่างหนึ่งได้

ฉะนั้น ความฝัน แต่พอเราฝันแล้วเราก็ยังฝัน ฝันว่าเรากำหนดพุทโธ เราฝันอยู่ครั้งหนึ่ง เรากำหนดพุทโธ พอเรากำหนดพุทโธ เราฝันว่าเราไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ในความฝันนะ นี่ยังดีอยู่ ในความฝันมีสตินะ พอในความฝัน พอมันฝันไปแล้วก็บอกว่า ครูบาอาจารย์ท่านบอกอย่างนี้เป็นการส่งออก รีบกลับมาพุทโธ

อ้าว! มันก็พุทโธในความฝันนะ ฝันด้วย แล้วยังฝันให้พุทโธอีก ในฝันมันท่องพุทโธ พอท่องพุทโธมันก็กลับมา เออ! มันยังมีคุณสมบัติ พอฝันไปแล้ว พุทโธมันยังกลับมา กลับมา พอขาดสติแว็บ ไปอีกแล้ว หมุนติ้วๆ มันก็เปลี่ยนสถานะไปไง ฝันเรื่องนี้ ฝันเรื่องต่อเนื่องไป อารมณ์เราคิด คิดเรื่องหนึ่ง พอเรื่องหนึ่งจบแล้วก็ต่อเรื่องสอง เรื่องสาม เรื่องสี่ นี่สัญญาอารมณ์มันต่อเนื่อง มันมีอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวเนื่องกันไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธๆๆ ถ้าเวลามันสงบเป็นหนึ่ง มันไม่ต่อเนื่อง พุทโธมันตัดๆ มันจะจบที่มัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกกลับมาที่พุทโธ พอพุทโธ มันกลับมาพุทโธปั๊บ มันแว็บอีก มันก็ไปอีก มันไปอีก

ฉะนั้น จะบอกว่า สิ่งที่ใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ใจของคนมหัศจรรย์นัก เวลามันดี มันดีได้ถึงว่าประเสริฐจนคิดว่าเป็นถึงพระอรหันต์ได้ เวลามันคิดร้ายนะ ใจมันเป็นได้หลายหลาก คนที่ภาวนาไปแล้วจะกลัวมาก กลัวใจของเราเอง

ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปท่านไม่กลัวอะไรเลย เห็นไหม เราไปปฏิบัติ กลัวภูตผีปีศาจ กลัวความทุกข์ความยาก กลัวลำบาก แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านจะกลัวใจตัวเอง

ใจเรานี่นะ เวลาถ้าสติปัญญามันดี มันดีมากๆ เลย มันคิดแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้นเลย เวลามันร้ายนะ มันคิด มันคิดทำลายคนอื่น แม้แต่คิดทำลายตัวเราเอง คิดทำลายโอกาสของเราในการปฏิบัติ ใจมันเป็นได้หลากหลาย เป็นได้ร้อยแปด เป็นได้มหัศจรรย์นัก

ฉะนั้น ถ้าใจมันมีกิเลส แล้วถ้ากิเลสมันไม่มีการควบคุม เวลามันไปตามอำนาจของมัน เห็นไหม ใจมันเป็นได้ทุกๆ อย่าง เป็นดี ดีได้สุดๆ เป็นร้าย ร้ายได้สุดๆ เลย

แต่ถ้าเวลาปฏิบัติ ถ้าเป็นดี เราจะต่อสู้กับมัน นี่ใจมันเป็นได้หลายหลาก ถึงเวลาปฏิบัติแล้วถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันก็เป็นความจริงจากใจปฏิบัติขึ้นมา

แล้วเรานี่ก็ปฏิบัติ แต่มันฝันไป คำว่าฝันมันมีแบบว่ามันเป็นจริต ถ้าคนจะฝันนะ นอนที่ไหนก็ฝัน ถ้าคนไม่ฝันนะ มันก็แปลกใจนะ เวลาคนไม่เคยฝันเลย เวลาคนที่เขาฝันเขาคุยกัน เขาจะนั่งฟังอ้าปากเลยนะ เอ๊! มันเป็นไปได้อย่างไรเพราะเราไม่เคยเป็น

คนไม่เคยเป็นก็ไม่เคยเป็น จะไม่เป็นนะ ถ้าคนมันจะเป็นน่ะ คนมันจะเป็น นี่จริตของใจ พันธุกรรมของมัน ถ้ามันจะเป็นมันก็เป็นของมัน ถ้าเป็นของมัน เห็นไหม

ก่อนนอน ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ก่อนนอน เราจะพุทโธๆ พร้อมกับหลับไปเลย ถ้าหลับไป หลับไปโดยความมีสติ หลับไปโดยความมีสติสมบูรณ์ มันจะไม่ค่อยฝันนอกลู่นอกทาง

เวลาแก้ คนที่ฝันนะ ฝันเรื่องนู้นฝันเรื่องนี้ เราจะแก้อย่างไร เราจะแก้ด้วยเวลานอน นอนพุทโธๆๆ ของเราไปเรื่อย พุทโธของเราไปเรื่อยจนกว่ามันจะหลับไป หลับจนสนิทไป แล้วตื่นขึ้นมามันจะแก้มันไปเรื่อยๆ

ถ้ามันจะเห็นนิมิต มันจะรู้เห็นในการประพฤติปฏิบัติ มันต้องรู้เห็นพร้อมกับการนั่งสมาธิ พร้อมกับสติสมบูรณ์ ถ้าเรามีสติสมบูรณ์ เราจะบริหารจัดการ การบริหารจัดการคือสติปัญญามันจะเป็นมรรค ถ้ามันเป็นมรรคขึ้นมา เราปฏิบัติมาเพื่อมรรคเพื่อผล มัคโคคือทางอันเอก ทางให้หัวใจนี้ก้าวเดินไป

แต่ถ้ามันฝัน ความฝันมันขาดสติ ความฝันมันควบคุมไม่ได้ ความฝันมันเป็นเรื่องสังขาร สังขารอันละเอียดในใจมันปรุง เห็นไหม ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เคยดับเครื่อง ไม่เคยดับเครื่อง เครื่องยนต์ติดแล้วไม่เคยดับเลย คนเราเวลาเกิดมาแล้ว จิต ความรู้สึกมันไม่เคยพักเลย ไม่เคยพักเลย แม้แต่เวลาหลับก็ยังฝัน เห็นไหม ในฝันมันก็ไม่ได้พักเครื่องไง

แต่ถ้าเราทำสมาธิ พุทโธๆ พอจิตมันสงบ เครื่องยนต์ที่มันติดมาตั้งแต่เราเกิด เวลาเข้าสมาธินั่นน่ะคือดับเครื่อง เครื่องได้ดับได้พักได้ผ่อน ถ้าเครื่องได้ดับได้พักได้ผ่อน เวลาเราตื่นขึ้นมา เครื่องก็ทำงานต่อเนื่องกันไป แต่เครื่องมันได้พัก พอเครื่องได้พัก มันก็ต้องใช้งานได้มากขึ้น มันเป็นประโยชน์มากขึ้น การทำสมาธิมันได้ประโยชน์แบบนี้ นี่ประโยชน์ในตัวของสมาธินะ แล้วสมาธิ เวลาทำสมาธิแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาเกิดภาวนามยปัญญา พอเกิดภาวนามยปัญญา มันจะชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นความฝันน่ะ ย้อนจิตไปแล้ว ความฝันนั่นวางไว้เลย เราจะไปแก้ไขกิเลสในความฝันไม่ได้หรอก ถ้ามันแก้กิเลสในความฝันได้นะ ในเมืองไทยจะมีมหาเศรษฐีเยอะแยะไปหมดเลย เพราะเวลาทุกคนทำธุรกิจ คิดได้เลยว่าเราจะร่ำเราจะรวย เราจะประสบความสำเร็จ แต่เวลาทำจริงๆ ไปแล้วมันประสบความสำเร็จเท่าไรล่ะ

ในการทำธุรกิจนะ เขาบอกว่า ถ้าฝึกหัดการตั้งธุรกิจใหม่ ถ้ามันเสียหายไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์ คือตั้ง ๑๐๐ บริษัท เสียหายไป ๗๐ บริษัท อีก ๓๐ บริษัทอยู่รอดได้ นั่นน่ะคือสมบูรณ์ที่สุด นั่นดีที่สุดแล้ว

เขาให้เสียหายถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์น่ะ เราตั้งบริษัทใหม่ ที่ล้มลุกคลุกคลานให้ถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่มันมาได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความสำเร็จ นี่ขนาดทำกันโดยมีสติปัญญานะ ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราประสบความสำเร็จ เราจะทำ มันจะต้องมีสติมีปัญญา

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่านอนฝันนะผมชอบธรรมะหลวงพ่อมาก ฟังหลวงพ่อทุกคืนเลย แล้วก็หลับไปเลย แล้วก็ฝันไปว่า

ฝันไปว่า ถ้ามันฝัน มันเป็นเหตุที่สุดวิสัย เพราะหลับ แก้ไขสิ่งใดไม่ได้ มันจะมีประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้นน่ะ ประโยชน์ว่า เราฝันดี เราฝันถึงอนาคตว่าเราจะประสบความสำเร็จอะไร มันเป็นการบอกแนวทางของเรา ถ้าเป็นแนวทาง แนวทางก็เป็นความฝัน ยังไม่เป็นความจริง แล้วถ้าทำความจริงก็ต้องตื่นขึ้นมาแล้วทำให้มันได้จริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นในความฝันทั้งหมดนี่ยกไว้ เพราะว่าคำถามถามว่า สิ่งที่ถามมานี่เขาวงเล็บไว้เลยนะในฝันนะ ในฝันไม่ใช่ความจริงแล้วเอาเรื่องของความฝันมาถามคนที่ไม่ได้นอน ไม่ได้ฝัน ตอนนี้พูดกันสดๆ แล้วเรื่องความฝัน

แต่ที่เราพูดนี่เราพูดให้เห็นว่า จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้น่ากลัวมาก ทั้งๆ ที่ว่าจิตของเรานะ เวลาสุขเวลาทุกข์ เราสุขเราทุกข์เอง แล้วเราก็ปรารถนาแต่ความสุขทั้งนั้นน่ะ แต่ทำไมเราทำใจของเราให้มันเป็นปกติสุขอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ล่ะ ทำไมถึงเวลาแล้วมันจะมีแต่ความทุกข์เผาลนใจของเราล่ะ

ความทุกข์เผาลนใจเพราะใจเรายังไม่ได้ฝึกหัด พอใจเราไม่ได้ฝึกหัด มันไม่รู้สิ่งใดว่าเป็นบวกเป็นลบ แต่สิ่งที่ว่าเป็นบวก ถ้าเป็นธรรม เป็นคุณธรรม มันเป็นบวก เราต้องเหยียบคันเร่ง แต่เวลาเป็นลบ สิ่งใดที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งใดที่มันเป็นแผล สิ่งใดชอบคิดนัก ชอบคิดนัก สิ่งที่เป็นลบชอบคิดนัก คิดแล้วมันก็ทุกข์ใจไง เห็นไหม ขนาดว่าเรายังไม่ฝึกหัด เรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งใดมันเป็นบวกเป็นลบ แต่พอเราฝึกหัดไปแล้ว เราได้ฝึกหัดแล้ว เราจะแยกได้เป็นแล้ว อะไรเป็นบวกอะไรเป็นลบ

ถ้าเราตรึกในธรรม ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกในธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา เราฟังธรรมมาแล้วเราเอาคุณธรรมนั้นมาตรึก มาคิดคำนึงถึง นี่มีความสุข เหยียบคันเร่งๆๆ พยายามทำให้มันเกิดขึ้นดีงามขึ้นมา คนเรามีความสุขไปภาวนามันก็ภาวนาได้ง่าย

แต่เวลามันไปคิดในลบ มันคิดในลบ คิดถึงภาวนาแล้วทุกข์ยาก จะไปภาวนาแล้วก็วิตกกังวลว่าไม่มีข้าวจะกิน ไปอยู่ในป่าในเขาก็กลัวผี เดี๋ยวเสือมันจะเอาไปกิน โอ๋ย! จะปฏิบัติมันทุกข์ยาก นี่คิดลบไง

เรายังไม่ได้เจอมันเลย เรายังไม่ได้เจอ ยังไม่ได้สัมผัสเลย สิ่งที่ยังไม่ได้เจอ ไม่ได้สัมผัสเลย เรามาเผาใจเราทำไม ถ้ามันมีสติปัญญามันจะคิดอย่างนี้ไง มีสติปัญญา ปัญญามันจะลบล้างได้ ปัญญามันจะเคลียร์ เคลียร์ให้ใจของเราคิดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่ไม่ดีเราก็คิด แต่วางได้ วางได้ด้วยปัญญา

ปัญญาคือเหตุผล เรามีเหตุมีผลที่เหนือกว่า เรามีเหตุมีผลเหนือกว่าที่กิเลสมันปลุกขึ้นมา กิเลสมันแหย่ขึ้นมา เรามีเหตุมีผลที่เหนือกว่าว่า เราอยากได้อะไร เราปรารถนาสิ่งใด เรายังไม่เจออุปสรรคอะไรเลย เราจะไปตื่นเต้นกับอะไร สิ่งที่ยังไม่เคยพบเคยเห็น แต่เราก็ต้องปฏิบัติของเราไปก่อน ถ้าปฏิบัติไปได้จริง มันไปเคลียร์ พอไปเคลียร์ปั๊บ มันก็วางได้ มันก็ไปคิดได้ มันก็ไม่เอาไฟมาเผาตัวเอง นี่ไง ถ้ามันฝึกหัด ถ้าฝึกหัดจิตใจ จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะมีวุฒิภาวะแบบนี้ แบบที่พูดนี่

แต่ถ้าใครปฏิบัติแล้วนะ มันจะมีวุฒิภาวะอย่างนี้ปั๊บ มันก็แยกได้ใช่ไหม ถ้าแยกว่า เราตรึกในธรรม เราระลึกถึงธรรมของครูบาอาจารย์ ระลึกถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันปลื้มใจดีใจ เออ! อย่างนี้เราก็ระลึกอย่างนี้

แล้วถ้าเราปฏิบัติพุทโธๆ จิตสงบด้วย เราไม่ระลึกแล้ว มันเป็นจริง ถ้าเป็นจริง มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นจริง มันจับได้จริงๆ ถ้ามันเป็นจริงมันก็เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นจริงมันยิ่งมั่นคงเข้าไปใหญ่ แล้วทีนี้มันจะไปกลัวอะไรล่ะ นี่ถ้ามันปฏิบัติ

เราบอกว่า ถ้าจิตใจมันได้ฝึกหัดอย่างนี้ มีวุฒิภาวะอย่างนี้ มันจะเจริญขึ้นมาอย่างนี้ มันจะดีงามอย่างนี้ แต่ถ้ามันไม่ได้ฝึกหัด มันหยิบจับ เวลาคิดดีก็รู้ว่าคิดดีก็ดีใจ แต่เวลาคิดลบคิดชั่วมันไม่รู้ แล้วพยายามจะผลักออก มันไม่ออก มันเลยเป็นตัณหา วิภวตัณหา

ตัณหาคือความแสวงหาอยากให้เป็น วิภวตัณหาคือพยายามผลักออก แต่มันไม่ออก นี่ตัณหา ๓ ถ้ามันเป็นตัณหา มันเป็นสมุทัย มันก็อยู่ในหัวใจ เราฝึกหัดอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะดีขึ้น

ทีนี้เขาถามมาว่า ย้อนจิตของเขา

เราจะบอกว่า สิ่งที่ฝันก็วางไว้ เอาจริงๆ เอาเวลานั่งสมาธิภาวนา เอาเวลามีสติปัญญาควบคุมได้ สิ่งที่เป็นความฝันก็แค่เอาความฝันมาเป็นแนวทางว่าเราเคยฝัน เราเคยเป็นเคยไป แต่ถ้ามันจะไม่ฝันก็ไม่ได้ ถ้าคนเคยฝันนะ คือลายพิมพ์ใจ ลายนิ้วมือใครก็เป็นแบบนั้น ลายพิมพ์ใจเป็นอย่างนั้น ถ้ามันจะฝันมันก็เห็นของมัน แต่วาง

ไม่ต้องเขียนมาถามอีกนะ ถ้าฝันอีก เขียนมาอีก ความฝันก็มีเท่านี้ มันจะดีมากขนาดไหน มันก็เลยกลายเป็นการทำนายฝันไปเลย ต่อไปฝันอะไรก็ถามหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อจะทำนายฝันไปหมดเลย

เป็นความฝัน เก็บไว้ เก็บไว้ว่าเราเคยฝัน เป็นจริงของเรา แล้วภาวนาให้จริงขึ้นมา นี่พูดถึงการปฏิบัติมันต้องจริงอย่างนี้ไง มันต้องเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นปัจจุบัน รู้เท่าทันตลอดเวลา นี่ถึงเป็นความจริงขึ้นมา มันปฏิบัติจะดีขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสมบัติของใจ ถ้าปฏิบัติได้เป็นอริยทรัพย์ สิ่งที่เราแสวงหา หน้าที่การงานนี้คือปัจจัยเครื่องอาศัย คน เขาบอกว่า คน จะดูคนว่าดีหรือไม่ดี ดูที่ผลงาน เขารับผิดชอบงานของเขา เขาทำของเขา นั่นเป็นคนดีของเขา คนเราจะดีจะชั่วอยู่ที่การกระทำ ถ้าเขาทำดีขึ้นมาก็เป็นความดีของเขา นี่การกระทำทางโลก

แล้วกิริยาของใจ กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นการกระทำของใจ ถ้าใจกระทำ เรานั่งเฉยๆ นั่งสมาธินี่นั่งเฉยๆ แต่ใจนี้มันฟุ้งซ่านมาก ใจนี้มันคิดร้อยแปดเลย

แต่ถ้าเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา กายวิเวก จิตก็วิเวก ถ้าจิตวิเวกได้ นี่เป็นพื้นฐานของพระกรรมฐาน กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

เราหาฐาน หาที่ทำงานของใจ ถ้าจิตเป็นสมาธิ นั่นน่ะกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งของเราจะก้าวเดินไปโดยการสร้างมรรคสร้างผลขึ้นมาในใจของเรา จนถึงที่สุดสิ้นแล้ว ทำลายทั้งหมดแล้ว เราจะเห็นผลตามความเป็นจริง

นี่พูดถึงว่าย้อนจิตนะ จบ

อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งนะ

ถาม : เรื่องความลืม

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง วันนี้หนูเขียนมากึ่งรายงาน กึ่งสงสัยค่ะ หนูเคารพหลวงพ่อมากค่ะ แต่หนูจะไม่อารัมภบทให้มากความนะคะ หนูว่าไปเลยนะคะ

. หนูไม่ได้มาภาวนาที่วัดได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังทำที่บ้านตลอด นั่งสมาธิบ้าง นอนสมาธิบ้าง เวลานั่งไป หนูก็พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกเสมอๆ ค่ะ

. หนูก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วนไปวนมา ช่วงนี้หนูจะวนเวียนอยู่ ๒ เรื่อง คือเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญา และอีกเรื่องหนึ่งหนูเฝ้าดูอาการอยู่ค่ะ

/. หนูถูกพี่ที่บ้านต่อว่าว่าหนูไม่มีสติเพราะหนูจำอะไรไม่ค่อยได้ (เขาเหมือนเยาะหน่อยๆ เพราะเห็นหนูภาวนา แต่กลับจำอะไรไม่ค่อยได้ เลยเป็นคนไม่มีสติในความรู้สึกของเขา) แต่สำหรับหนู สัญญา อนัตตา เมื่อก่อนหนูจะเห็นว่าเมื่อก่อนบางเรื่องมันจำได้ มันก็จำได้ บางเรื่องมันจำไม่ได้ มันก็จำไม่ได้เอง เราจะจำได้ทุกเรื่องดังใจมันทำไม่ได้ แล้วหนูก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนด้วยค่ะ

แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่ง หนูรู้สึกว่า สัญญาของหนูมันทำงานอย่างไร เมื่อหนูได้ยินอะไรหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ถ้าหนูไม่แปลมันเป็นภาษา (บัญญัติ) มันก็จะเลือนๆ แล้วหนูก็จะลืมมันไป คือนึกไม่ออกว่าเมื่อวานหรือวันนั้นเกิดอะไรขึ้น ยกเว้นแต่เหตุการณ์ที่มันเป็นผลกับจิตใจมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกแปลแบบซ้ำหลายรอบจะจำได้ แต่ก็แค่แป๊บเดียว ถ้าเลยไปนิดหนึ่ง หนูจะจำได้ว่าพูดจาไม่ดีเลย แต่จำไม่ได้ว่าพูดว่าอย่างไร แล้วก็คร้านจะไปนึกว่าเขาพูดว่าอย่างไรค่ะ มันก็เลยพากันลืมไปหมด แต่ไม่ทำให้ทุกข์นะคะ หนูก็เลยคิดว่าสัญญาเป็นตัวทำให้เกิดทุกข์

ที่หนูถามหลวงพ่อก็คือหนูคิดไม่ผิดใช่ไหมคะว่า ความจำได้ไม่ได้แปลว่ามีสติเสมอไป แต่มีสติคือระลึกรู้ รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ และรู้สึกตัวว่าจิตรู้สึกอะไรอยู่ ไม่ใช่จะให้หลวงพ่อรับรองว่าหนูคิดไม่ผิดนะคะ เพียงแต่เผื่อหลวงพ่อจะมีคำแนะนำ หรือหนูควรต้องแก้ไขตรงไหน จบแล้วค่ะ

ตอบ : นี่เขาว่าของเขานะ ปัญหามันไม่ใช่ปัญหาที่บอกตั้งแต่ทีแรก แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะว่า ที่บ้านมีพี่น้อง พี่น้องเขาไม่ได้ภาวนา แต่เราเป็นคนภาวนา พอเราเป็นคนภาวนา เขาก็คาดหมายว่าคนภาวนาต้องมีสติต้องมีสัมปชัญญะดีกว่าคนไม่ภาวนา แต่เราเป็นคนภาวนา แต่พี่น้องเขาพูดแล้วเขายิ้มๆ เยาะๆ ด้วยว่าคนภาวนาขี้หลงขี้ลืม

ถ้าเราขี้หลงขี้ลืม ขี้หลงขี้ลืมในเรื่องอะไรล่ะ ถ้าเราขี้หลงขี้ลืมในเรื่องเป็นการสื่อภาษา เป็นสิ่งที่ว่าสังคมเราอยู่ด้วยกันมันก็ต้องสื่อกัน ต้องทำหน้าที่การงานในบ้าน เราควรจะมีสติสัมปชัญญะ เพราะเขาคาดหวังกับนักปฏิบัติไง

เวลาสังคมเขาโทษ เขาโทษว่าสังคมมีปัญหาขึ้นมาก็เพราะพระ ก็เพราะพระนี่ พระในเมืองไทย ๔-๕ แสนองค์ ไม่สั่งสอนสังคม ไม่สั่งสอนประชาชน ประชาชนก็เลยจี้ปล้น มีแต่ผู้ร้ายในสังคมไทย สังคมชาวพุทธมันควรจะเป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมชาวพุทธไม่ร่มเย็นเป็นสุขก็เพราะพระนี่ พระ ๔ แสนองค์ พระ ๔ แสนองค์ไม่รู้จักสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรมประชาชน ถ้าประชาชนได้รับการสั่งสอนจากพระ ๔ แสนองค์ เป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข

นี่อะไรล่ะ ก็เขาคาดหวังกับพระไง ก็พระก็อวดเขาว่าศีล ๒๒๗ พระมีศีลตั้ง ๒๒๗ โยมก็มีศีล ๕ ศีล ๑๐ ฉะนั้น เขาก็คาดหวังกับพระ แล้วเขาก็มาเรียกร้องเอากับพระ เออ! แล้วพระทำอย่างไรล่ะ

อ้าว! เวลาบวชเป็นพระขึ้นมา ครูบาอาจารย์ก็สอนว่าต้องเอาตัวให้รอดให้ได้ ถ้าเราไม่รู้สิ่งใดเลย เราจะไปสอนอะไรเขา ถ้าเรารู้ถึงความสงบของใจ ถ้าใจมันดิ้นรนมันเป็นอย่างไร มันให้ความทุกข์อย่างไร ถ้าใจทำความสงบแล้วมีความสงบอย่างไร ถ้าใจสงบแล้วมันเกิดปัญญาขึ้น เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เกิดวิปัสสนาขึ้นได้อย่างไร พอเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นแล้ว ถ้ามันชำระล้างกิเลส มันถอดถอนกิเลสไปเป็นสมุจเฉทปหาน เวลาสำรอกคายสังโยชน์ออกไปเป็นชั้นเป็นตอน มันทำอย่างไร

พอทำได้แล้ว พอรู้จริงขึ้นมา รู้จริงก็จะไปสอนเขา โอ้โฮ! เอาสิ่วกับค้อนไปย้ายภูเขา เห็นภูเขาลูกหนึ่งก็เอาสิ่วกับค้อนไปแล้วก็ตอกๆ สงสัยจะไม่มีใครตอกสู้เราได้

มันจะไปสอนกันได้อย่างไร ประชาชนมันจะเอาสิ่วเอาค้อนไปย้ายภูเขาตะนาวศรีทั้งภูเขา จะย้ายมันเลย จะเอาไปตอก มันทำไม่ได้ พอมันทำไม่ได้ เขาก็ไม่มีกำลังใจ

แต่พระทำได้ พระย้ายภูเขา ภูเขาในหัวใจย้ายออกหมด ย้ายกิเลสออกหมด ทำลายกิเลสออกหมด แล้วจะไปสอนเขา พอปฏิบัติถึงที่สุดแล้วมันก็สอนได้ยาก พอสอนได้ยาก มันก็สอนแค่ศีลธรรมจริยธรรม ศีลธรรมจริยธรรมก็บอกเลย อ้าว! ถ้าพระสอนเขา พระก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง

พระทำเป็นตัวอย่าง พระไม่ได้ไถนา พระไม่ได้ทำค้าขาย พระไม่มีธุรกิจ พระไม่ทำอะไรเลย แล้วพระจะไปสอนอะไรล่ะ

พระก็สอนศีลธรรม

พระก็สอนศีลธรรม เขาก็โทษเลย โทษพระ ๔ แสนองค์ไม่สั่งสอนประชาชน ประชาชนก็เลยมีแต่ปัญหา เวลาสั่งสอนมันก็ไม่ฟัง สั่งสอนมันก็ไม่ทำ

ทุกคนมาถามเลยว่า ทำสมาธิอย่างใด ทำสมาธิอย่างไร

ก็สอนทุกวันน่ะ แต่มันไม่ทำ แล้วมันทำไม่ได้ พอทำไม่ได้มันก็ไม่เชื่อ เหมือนกันเลย

นี่ก็เหมือนกัน อยู่ในบ้านเขาก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่านักปฏิบัติจะมีสติ นักปฏิบัติอะไรมีแต่หลงๆ ลืมๆ ไอ้เรานักปฏิบัติ เราก็บอกเลยนะ สัญญา อนัตตา นักปฏิบัติก็บอกเลย สัญญา อนัตตา

สัญญา อนัตตา มันต้องบอกกับตัวเอง เวลาเราบอกกับตัวเอง สัญญาเป็นอนัตตา ถ้าเรารู้ได้ว่าสัญญา สัญญาคือความจำ ความจำเป็นอนัตตา แต่เป็นอนัตตาต่อเมื่อเราปฏิบัติสิ แต่ถ้าเวลาเราทำหน้าที่การงาน สัญญามันเป็นอนัตตา สัญญานั้นต้องสื่อความหมายกับเขา เขาจะถามเรื่องการเรื่องงาน เราก็ตอบกับเขา

ถ้าสัญญาเป็นอนัตตา แบงก์ก็เป็นอนัตตา เวลาแบงก์ร้อยก็เป็นอนัตตา ก็เผามันทิ้ง แบงก์ร้อยมันเป็นอนัตตา แบงก์ร้อยมีค่าร้อยหนึ่งนะ แบงก์พันก็มีค่าพันหนึ่ง แต่ถ้าแบงก์ไม่เป็นอนัตตาแล้ว แต่ถ้าเป็นสัญญาเป็นอนัตตา

คำว่าจะเป็นอนัตตาจริงไหมพระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนั้น ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา รูปเป็นนิจจังหรืออนิจจัง เวทนาเป็นนิจจังหรือเป็นอนิจจัง เวลาถามพระปัญจวัคคีย์ไง สัญญาเป็นนิจจังหรือเป็นอนิจจัง

เป็นอนิจจังเจ้าข้า

ถ้าเป็นอนิจจัง มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ

เป็นทุกข์เจ้าข้า

เป็นทุกข์แล้วเธอหยิบไว้ทำไมล่ะ เธอยึดไว้ทำไมล่ะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ อนัตตลักขณสูตร ขันธ์ ๕ เป็นนิจจังหรือเป็นอนิจจัง มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

มันเป็นทุกข์เจ้าข้า

เป็นทุกข์แล้วเธอยึดไว้ทำไมล่ะ เธอยึดมันไว้ทำไมถ้าเป็นทุกข์ ทำไมเธอไม่ปล่อย

นี่ถ้าปัญญามันไล่กันนะ เวลาปัญญาไล่กันมันเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องมรรคของเราในหัวใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องอาชีพ เรื่องสังคม เรื่องความเป็นอยู่ทางโลก เขาคาดหมายไปคนละเรื่องกันน่ะ ทางโลกเขาคาดหมายว่าเราจะต้องมีสติ เราต้องสื่อสารกับเขาเข้าใจ เราทำอะไรก็ต้องให้มันเรียบร้อย เออ! ถึงว่าเป็นคนที่มีสติมีปัญญา

แต่เราบอกว่าเราทำอะไรก็ได้ มันผิดพลาดพลั้งเผลอไปตลอดเลย แล้วเวลาความคิดของเรา ความคิดของเราก็สัญญา อนัตตา เออ! ก็ถูก ก็สัญญาเป็นอนัตตา แล้วเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ

สัญญาเป็นอนัตตา มันก็วางสิ พอวางแล้วมันก็มีสติ สติมันก็เป็นมหาสติ มหาสติก็เป็นสติอัตโนมัติ สติมันก็ระลึกดีขึ้น มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นนะ

พอสัญญาเป็นอนัตตา อนัตตาจากไหนล่ะ อนัตตาจากไหน นี่เป็นความคิดของเราหมดนะ

แต่ถ้าเป็นความจริง เป็นความจริง เขาคาดหวังกับเรา เขาคาดหวัง เพราะเป็นพี่เป็นน้อง คนอยู่ในบ้านเดียวกันก็พี่น้องกัน พ่อแม่เดียวกัน เขาก็คาดหวังจากเรา เราก็เข้าใจได้ เขาคาดหวังแบบทางโลก เวลาคนไปวัด เขาบอกว่าคนที่ไปวัดต้องเป็นคนดี

แล้วเราเป็นคนไปวัด เราดีจริงหรือเปล่าล่ะ ความดีของเรา เราก็ดีของเรา เราดีเพราะเราไม่ทำอะไรผิดเลย เราถือศีลสะอาดบริสุทธิ์ครบหมด

แต่ความดีของเขา เขาคิดว่าเขาต้องมีประโยชน์นะ คนที่ไปวัดแล้วเขาไม่ได้ไปวัดไปวา เขาทำหน้าที่การงาน เขาประสบความสำเร็จทั้งหมด เราไปวัดมีแต่คนทุกข์คนยาก อันนี้มันจะวัดกันด้วยบารมี โลกเขาคิดกันอย่างนั้น

เราจะพูดความหมายว่า โลกเขาคาดหมายกับนักปฏิบัติอย่างใด แล้วนักปฏิบัติ เราจะคาดหมายกับคุณธรรมอย่างใด

เราก็คาดหมายคุณธรรมใช่ไหม เราปฏิบัติแล้วเราก็อยากได้มรรคได้ผลใช่ไหม ถ้ามรรคผล เราเห็นสมบัติของอริยทรัพย์ดีกว่าวัตถุธาตุ แต่โลกเขาหวังวัตถุธาตุ

ฉะนั้น เราอยู่ในบ้าน ทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบนี่ไง ในพระไตรปิฎกบอกนะ ทางของนักบวช ทางของพระนี่ทางกว้างขวางมาก ฉันเสร็จไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ทางของนักบวช ทางของนักพรต ๒๔ ชั่วโมง ปฏิบัติได้ตลอดเวลาเลย ฉันเสร็จไปแล้ว ไปแล้ว ไปปฏิบัติแล้ว เว้นไว้แต่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือเวลาข้อวัตรปฏิบัติ มันดูแลรักษาของเขา

ทางของคฤหัสถ์คับแคบ คับแคบ ๘ โมงก็ทำงาน เที่ยงหยุด บ่ายทำงานต่อ ๔ โมงเลิก กลับบ้านแล้วค่อยภาวนา นี่ทางของคฤหัสถ์ ที่มันคับแคบ คับแคบเพราะโอกาสของเรา คับแคบเพราะเวลาของเรา โอกาสเราน้อย ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ

ทางของนักบวชเป็นทางกว้างขวาง กว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง ครูบาอาจารย์ท่านรับมาแล้ว บวชมาแล้วให้ภาวนาได้ ๒๔ ชั่วโมงเลย ๒๔ ชั่วโมง ออกมาบิณฑบาตเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น เพื่อรักษาชีวิตไว้ แล้วปฏิบัติตลอดไป

การคาดหมายของคนมันแตกต่างกัน ฉะนั้น เวลาเราอยู่ในบ้าน ความคาดหมายต้องคิดอย่างนั้น ไม่ใช่ตัดพ้อกับชีวิตของใครนะ ชีวิตของทุกๆ คนเป็นอย่างนี้หมด เพราะทุกคนเกิดจากพ่อจากแม่ มีพ่อแม่ก็มีพ่อแม่พาทำมาหากิน แล้วเราจะมาประพฤติปฏิบัติ พ่อแม่ก็คิดทางโลก นี่พระอรหันต์ของลูกนะ นี่ขนาดเป็นพระอรหันต์ของลูกก็ยังคิดแบบนี้ แต่คิดแบบนี้ เราก็ต้องอยู่กับโลก

นี่พูดถึงปัญหานี้มันเป็นปัญหาโลกแตก เพราะเขาว่าหนูไม่ได้ปฏิบัติที่วัดแล้ว เดี๋ยวนี้หนูปฏิบัติที่บ้านอยู่

ปฏิบัติที่บ้าน ปฏิบัติที่บ้านมันก็ต้องเวลาของเรา ส่วนตัวของเรา แต่เวลาทำงาน เราต้องทำงานรับผิดชอบของเขา เพราะเราอยู่ในบ้าน เราต้องกินต้องใช้ในบ้านเหมือนกัน

แต่ถ้าในที่บ้านเราทำมากกว่าเขา อย่างนี้โอเค เรารับผิดชอบมากกว่าเขา เราทำดีกว่าเขา เพราะอะไร เพราะเรานักปฏิบัติธรรม เรานักปฏิบัติธรรม เรามีจิตใจที่กว้างขวาง เรามีจิตใจที่รับผิดชอบมากกว่า ฉะนั้น นี่เรื่องความเป็นอยู่ทางโลกไง

แต่พฤติกรรมของเรา ทางบ้านเขาก็ว่าเราขาดสติ เราเป็นนักภาวนาแล้วมันเป็นการคาดหมาย เราไม่ต้องไปเสียใจ เขาคาดหมาย เขาคาดหวังจากเรา ถ้าคาดหวังจากเราแล้ว คำถามมา แต่หนูไม่ทุกข์นะ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร

ถ้าไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรก็วางไว้ เพราะมันเป็นความรู้สึกของเขา เห็นไหม หลวงตาสอนว่า หัวใจของเขา เขาคิดอย่างนั้น หัวใจของเรา เรารักษาใจเรา รักษาใจเรา

ถ้าไม่ทุกข์ไม่ร้อน เราไม่ทุกข์ไม่ร้อน ถึงจะทุกข์จะร้อน เราก็ต้องหาทางออกของเรา ถึงมันจะทุกข์จะร้อน นี่ผลของวัฏฏะ เพราะการเกิด เพราะมีสถานะ เพราะมีเรา เราถึงต้องแบกรับภาระทุกๆ เรื่องเลย แล้วจะไม่มีเรา ทำอย่างไร ไม่มีเราก็ดันไปฆ่าตัวตายอีก ก็ไม่ใช่นะ

ไม่มีเราคือไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีตัวตน แต่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีกิเลสเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่อีก ๔๕ ปี ไม่มีตัวไม่มีตน แต่มี มีสิ่งที่เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน มีสิ่งที่เหลือเศษส่วนอยู่ แต่กิเลสไม่มี

เห็นไหม เราไม่มีตัวไม่มีตน เราไม่มีสิ่งใดที่จะให้กิเลสมันเหยียบย่ำ แต่มี ยังมีชีวิตนี้อยู่ ถ้าไม่ทุกข์ไม่ร้อน เราก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน แต่มีอยู่ รับผิดชอบอยู่ ดูแลอยู่ เราทำของเราไป หน้าที่การงานก็หน้าที่การงานไป หนูก็ทำของเราไปประสาของเรา

เขาบอกว่า หนูขี้ลืมเลย

มันต้องตอกย้ำนะ มันเป็นภาษา มันเป็นบัญญัติ มันเป็นอะไร อันนี้มันเป็นวุฒิภาวะ วุฒิภาวะของคนอ่อนด้อย ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ วุฒิภาวะแตกต่างหมดนะ สูงต่ำ บุคคล ๔ คู่ แต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชนเป็นสามัญชน สามัญชนมันพลิกไป

นี่พูดถึงว่า มันเป็นภาษา มันเป็นบัญญัติ ต้องตอกย้ำ นี่เขาบอกในปัญญาของเขาต้องคิดซ้ำๆ ได้

ถ้าเป็นสตินะ มันรู้ก่อน มันไม่ต้องคิดซ้ำๆ ถ้าคิดซ้ำๆ แสดงว่าเราเผอเรอ เราต้องคิดซ้ำคิดซ้อน ถ้ามันชัดเจนนะ สติ มหาสติ แล้วมันจะเป็นของมันไป นี่พูดถึงว่าผลของการปฏิบัตินะ

แต่ผลของเรา ผลของโยมไม่ต้องเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงธรรมะไง แต่บอก โอ๋ย! ถ้าอย่างนี้แล้วแสดงว่า เดี๋ยวนี้หนูมีอรหัตตมรรค อรหัตตผลเลยแหละเนาะ มีคน ๔ คู่ คิดไปนู่นน่ะ ไม่ใช่ เพียงแต่บอกว่า วุฒิภาวะคือระดับของจิตที่มันพัฒนาขึ้นไป ถ้าพัฒนาขึ้นไป มันจะเป็นสมมุติบัญญัติ มันเป็นสิ่งใด มันเป็นวุฒิภาวะที่จะรู้ได้ สิ่งเรื่องโลกๆ กับเรื่องธรรมะมันจะแตกต่างกันไป ฉะนั้น เราก็ดูแลใจของเรา ดูแลใจของเรา นี่นักปฏิบัติไง

จะบอกว่า เวลาใจมันเป็นได้ ใจเป็นได้หลากหลายนัก เวลามันเป็นทางร้าย ร้ายได้สุดๆ เวลาจะเป็นทางดี ดีได้สุดๆ ใจนี้น่ากลัวมาก น่ากลัวมาก แต่เวลาทำถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ก็เพราะใจนี้แหละทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ และเพราะใจนี้แหละมันทำสำรอกคายกิเลสออกไป แล้วก็ทำลายตัวตน ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ แล้วทำลายภพแล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันจะเหลือ เหลือสิ่งที่มันเป็นไป มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ฉะนั้น เราทำตรงนี้ของเราไป เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราไม่หวั่นไหว เราไม่ทุกข์ไม่ร้อน มันก็เป็นประโยชน์กับเราเนาะ ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา ทำตรงนี้ให้มันเป็นประโยชน์ ถ้าทำเป็นประโยชน์แล้ว เป็นนักปฏิบัติไง

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เวลาชาวพุทธเขาบอกเลยนะ เกิดมาแล้วไม่ได้บวช ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ในธรรมนะ ในธรรมบอกว่าเหยียบแผ่นดินผิด

คำว่าเหยียบแผ่นดินผิดเราเกิดเป็นชาวพุทธ เหยียบบนแผ่นดินของพระพุทธศาสนา แล้วเราไม่ได้ขวนขวายทำความจริงของเรา เราเกิดมาเหยียบบนแผ่นดินของชาวพุทธ แผ่นดิน เห็นไหม ดูพระเจ้าตากฯ ดูพระพุทธยอดฟ้าฯ เอาแผ่นดินถวายกับพระพุทธศาสนา จะยอยกพระพุทธศาสนา แผ่นดินถวายพระพุทธศาสนา นี่ทำขนาดไหนก็แล้วแต่ เขายังถวายพระพุทธเจ้า

แผ่นดิน เหยียบแผ่นดินผิด แล้วเวลาเราปฏิบัติ สัมมาสมาธิ ภวาสวะ สัมมาสมาธิ ฐีติจิต นั่นล่ะแผ่นดินของเรา แผ่นดินของใจ ฐานของใจ สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

เราเหยียบแผ่นดิน เหยียบแผ่นดินโดยเป็นธาตุไง เป็นแผ่นดิน แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไป เราจะเห็นภวาสวะ เห็นภพของเรา เห็นสัมมาสมาธิ เห็นฐีติจิตของเรา เห็นสัจธรรมของเรา เห็นฐานที่ตั้งแห่งการงานของเรา แล้วเราจะเริ่มทำงานจากตรงนั้นน่ะ ไม่เหยียบแผ่นดินผิด ถ้าทำได้จริงอย่างนี้นะ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

แต่ไอ้เรื่องการคาดหวัง ในเมื่อญาติพี่น้องมันก็คาดหวังกันมาอย่างนี้ ถ้าเป็นการคาดหวังของเขา เราเข้าใจได้ เราก็เข้าใจได้ เราก็วางไว้ แล้วเราจะทำความจริงของเรา แล้วไม่ต้องไปเดือดร้อนกับทางโลก ไม่ต้องไปเดือดร้อนกับใคร เอาหัวใจของเราให้ได้

ถ้าทำไม่ได้ เห็นไหม ปัญหาที่ไม่ใช่เป็นปัญหาเลย มันยังไม่เป็นปัญหาปฏิบัติอะไรเลย อีกคนหนึ่งก็นอนฝัน อีกคนหนึ่งพี่น้องก็คาดหวังว่าขี้หลงขี้ลืม มันไม่เกี่ยวอะไรกับการปฏิบัติเลย แต่ก็ตอบปัญหา เพราะมันเป็นหญ้าปากคอก มันเป็นอุปสรรคของมนุษย์ มนุษย์ที่จะประพฤติปฏิบัติมันมีอุปสรรคไปหมด อุปสรรคในครอบครัว อุปสรรคกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มีอุปสรรคทั้งข้างนอก มีอุปสรรคทั้งข้างใน แล้วเรายังต้องมุมานะทำของเราไปเพื่อให้ได้มรรคได้ผลขึ้นมาตามความเป็นจริง

ผลของวัฏฏะ การเกิดเป็นมนุษย์ เหยียบแผ่นดิน เหยียบแผ่นดินของชาวพุทธ แล้วหาแผ่นดินของเราให้เจอ หาสัมมาสมาธิของเราให้เจอ แล้วเริ่มฐานกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานตรงนั้น ทำหัวใจของเราให้มีคุณธรรมขึ้นมา เราจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เอวัง