ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บุญคือความดี

๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๗

บุญคือความดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องทำบุญเบียดเบียนผู้อื่นผิดไหม

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ โยมมีคำถามอยากจะเรียนถามดังนี้ค่ะ

. เมื่อเร็วๆ นี้โยมได้ไปซื้อปลาที่ตลาดมาปล่อย ซึ่งโยมทำเช่นนี้มาบ่อยครั้ง โดยโยมจะนำไปปล่อยที่บ่อที่วัดใกล้เคียง แต่ครั้งนี้โยมสังเกตเห็นว่าปลาที่โยมนำไปปล่อยไล่กินปลาตัวเล็กๆ ในบ่อนั้น ทำให้โยมคิดว่าเรากำลังสร้างกรรมอยู่หรือเปล่า เพราะปลาตัวเล็กๆ อยู่ในบ่อดีๆ ของมัน เราก็นำปลาไปปล่อย แล้วปลาที่เราไปปล่อยก็ไปเบียดเบียนชีวิตอื่น อยากทราบว่าเช่นนี้เป็นกรรมไหมคะ

. ขณะที่โยมไปซื้อปลาที่ตลาด เห็นพ่อค้าแม่ค้าสับปลาที่ยังดิ้นๆ อยู่ โยมรู้สึกสลดใจมากค่ะ เกิดอารมณ์หดหู่และเศร้าใจ ยังมีปลาอีกมากมายที่เราช่วยไว้ไม่ได้ อยากให้หลวงพ่อเมตตาสอนวิธีวางใจในกรณีที่โยมเห็นการฆ่าสัตว์กันสดๆ ด้วยค่ะ เพราะอีกใจโยมก็เข้าใจว่าเป็นอาชีพของเขา แต่จิตใจโยมก็รู้สึกร้อนใจและสงสารปลาเหล่านั้นค่ะ น้อมกราบด้วยความเคารพ

ตอบ : อันนี้ข้อที่ ๑เมื่อเร็วๆ นี้โยมซื้อปลาไปปล่อย

การซื้อปลาไปปล่อยเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากเราเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธนี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดเป็นคติธรรม สิ่งใดที่ดูดดื่ม เขาจะเอาสิ่งนั้นมาสอน มาให้เราเป็นคติแบบอย่าง

ดูสิ เวลาพระกัสสปะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระกัสสปะนะกัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา ๘๐ เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมเธอต้องถือธุดงควัตร ไปเที่ยวเก็บผ้ามาปะ สังฆาฏิ ๗ ชั้น ๘ ชั้น เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว เธอหมดกิเลสแล้ว การดำรงชีวิต ดำรงธาตุขันธ์พอประมาณมันก็อยู่ได้ เพราะกิเลสมันไม่มี ไม่ต้องไปถือเคร่ง

พระกัสสปะตอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าข้าพเจ้าถือนี้ไม่เป็นภาระใดๆ แก่ข้าพเจ้าเลย

แล้วเธอเห็นประโยชน์สิ่งใดที่เธอทำอย่างนั้น

ข้าพเจ้าทำอย่างนั้นเพราะเป็นคติแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลังเขาได้เป็นแบบอย่าง

ในการถือธุดงควัตรไง พระกัสสปะเลยเป็นเอตทัคคะในทางธุดงควัตร ถือเคร่งในทางธุดงควัตร เป็นแบบอย่างในการธุดงควัตร

ในมหายานเขาถือพระกัสสปะเป็นอัครสาวกเบื้องขวานะ เบื้องขวาหรือเบื้องซ้าย แล้วพระอานนท์ ในมหายานเขาถือพระอานนท์กับพระกัสสปะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เขาถือเรื่องประโยชน์

แต่ของเรา เถรวาทเราถือว่าพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เพราะว่าเป็นคำแต่งตั้งจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งเองให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เป็นเสนาบดีแห่งธรรมคือพระสารีบุตร เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชคือพระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาในการแต่งตั้งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการท่านเป็นผู้แต่งตั้ง

แต่ในมหายานเขาถือพระกัสสปะ พระกัสสปะ เขาถือไงว่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม โดยยกดอกบัวขึ้น แล้วก็วางลง แล้วถามพระทั้งหมดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์จบแล้ว พวกเธอเข้าใจไหม

ทุกคนงงหมดนะ พระกัสสปะเข้าใจ พระกัสสปะเข้าใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชูดอกบัวขึ้นมา แล้วก็ยกลง เพราะว่าชูดอกบัวขึ้นมา มหายานเขาสอนกันแบบนี้ไง สอนเป็นโศลก สอนเป็นความเข้าใจ ชูดอกบัวขึ้นมา พระกัสสปะบอกชูดอกบัวขึ้นมาก็คือไตรลักษณ์ไง เพราะดอกบัวมันต้องแปรสภาพ พระกัสสปะยิ้ม ปลื้มใจ สุขใจ ในพระไตรปิฎกมีเรื่องของพระกัสสปะเยอะมาก ฉะนั้น มหายานเขาถึงว่าพระกัสสปะเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระอานนท์เป็นเบื้องซ้าย นี่ความเห็นของเขา แต่เวลาที่ฝ่ายมหายานเขาถืออย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาพระกัสสปะตอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เป็นคติเป็นแบบอย่าง เป็นคติเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติจะได้มีร่องมีรอย จะได้มีครูบาอาจารย์ จะได้มีผู้ทำเป็นแบบอย่าง จะได้พยายามขวนขวายทำตัวเองขึ้นมาให้ได้ไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ประเพณีปล่อยปลาๆ มันเกิดจากสามเณรน้อยจะสิ้นอายุขัย พอจะสิ้นอายุขัย เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตรหรืออย่างไร แล้วก็บอกว่าสั่งให้พระสารีบุตรบอกให้เณรน้อยไปลาพ่อลาแม่ เพราะอีก ๗ วันจะตาย อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะว่าสามเณรน้อยอีก ๗ วันจะตาย ก็ให้ไปลาพ่อลาแม่โดยที่ไม่ได้บอกเณรน้อย เณรน้อยมันก็ไปลาพ่อลาแม่ แต่มันก็เที่ยวเล่นไปประสาเด็ก

สามเณรน้อยไปถึงจะไปลาพ่อแม่ว่าจะหมดอายุแล้ว จะตายแล้ว ไปเห็นปลา ไปถึงมันเห็นหนองน้ำ ปลา น้ำแห้ง ปลามันดิ้นรน ปลามันจะตาย เณรน้อยด้วยใจเมตตาก็เอาปลาไปปล่อยลงแม่น้ำ เอาปลาไปปล่อยที่สระ เอาปลาไปปล่อยจนหมดเลย แล้วก็ไปลาพ่อลาแม่ คือไปให้พ่อแม่เห็นหน้า

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านจะไม่บอกว่าเอ็งจะตายวันนั้น เอ็งจะตายวันนี้ เพราะอย่างนั้นปั๊บนะ ไอ้คนคนนั้นใจมันจะห่อเหี่ยว ใจมันจะตก คนที่มีบุญกุศลจะได้ไปดีนะ ก็เลยกลายเป็นว่าตกนรกไปเลย ครูบาอาจารย์ท่านจะใช้อุบาย

ไม่ใช่บอกว่า เอ็งจะตายแล้วนะ เอ็งไปลาพ่อลาแม่นะ ไม่ใช่ แต่พระสารีบุตรกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้กัน ๒ องค์ แต่สามเณรน้อยไม่รู้เรื่อง พ่อแม่เขาก็ไม่รู้เรื่อง แต่เป็นอุบายให้ไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ ไปลาพ่อลาแม่ว่าอีก ๗ วันจะตาย พอไป สามเณรน้อยมันไปเห็น ไปเห็นหนองน้ำ เห็นสระน้ำที่น้ำแห้งขอด เห็นปลามันดิ้นรนอยู่ ตากแดด มันร้อนด้วย สามเณรน้อยด้วยความเมตตา ด้วยความไร้เดียงสาก็ แหม! ช้อนปลาไปปล่อย ช้อนปลาไปปล่อย แล้วก็ไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่แล้วก็กลับมา ๗ วันก็แล้ว ๘ วันก็แล้ว ๑๐ วันก็แล้ว ๑๔ วัน

อ้าว! มัน ๗ สอง ๗ แล้ว อ้าว! เณรมันไม่ตาย ก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนาคตังสญาณบอกว่าเด็กมันจะตาย แล้วทำไมเณรมันไม่ตาย แสดงว่าพระพุทธเจ้าโกหกน่ะสิ พูดไม่จริง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจริง โดยเวรกรรมของเขา เขาหมดอายุขัยแล้วล่ะ แต่เพราะการว่าไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ ไปลานั่นน่ะ ไปถึงเขาเอาสัตว์นี้ไปปล่อย เอาปลาไปปล่อย เขาให้อายุคนอื่น ให้ชีวิตคนอื่น ให้ชีวิตสัตว์เยอะแยะเลย สิ่งนั้นมันค้ำจุนชีวิตเขา เห็นไหม แก้กรรมๆ เขาแก้กันโดยไม่รู้เรื่อง

ไอ้พวกเราแก้กรรมๆ ยิ่งแก้ยิ่งมีกรรม ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ ยิ่งแก้กลับมาแล้วกระเป๋ายิ่งแฟบ ยิ่งแก้กลับมายิ่งกังวล ไปแก้กรรม ไปแก้กรรมมันเลยเกิดความวิตกกังวลไปหมดเลย

ประเพณีการปล่อยปลามันเกิดมาจากนั่นล่ะ ประเพณีการปล่อยปลา แต่เขาทำกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เขาทำด้วยไม่มีธุรกิจ เขาไม่ได้ทำด้วยทางโลก เพราะสังคมมันยังสังคมชนบท มันไม่เหมือนกับสังคมในปัจจุบันนี้

ฉะนั้น ถ้าในสังคมปัจจุบันนี้มันเป็นคติแบบอย่างของชาวพุทธใช่ไหม เขาให้ปล่อยนกปล่อยปลา เขาพูดกันมากนะ เรื่องปล่อยนกๆ เราจะปล่อยนก ดูสิ เดี๋ยวนี้กีฬาโอลิมปิกเขาก็ปล่อยนกพิราบกันทั้งนั้นน่ะ ทุกคนก็ต้องการสันติภาพ ไอ้เราต้องการคุณงามความดี เราต้องการให้ชีวิตเขา เราต้องการให้ใจเป็นธรรม เราทำความดีก็คือความดี ถ้าเราทำความดีนะ มันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ไง ฉะนั้น เราทำความดี บุญคือความดี เราได้ทำคุณงามความดีแล้วมันก็จบแล้วล่ะ เราได้ทำคุณงามความดีแล้ว

ทีนี้การกระทำของเรา การกระทำ เราจะไปปล่อย ถ้าวัดวัดนั้น เราปล่อยที่วัดใกล้บ้าน เขามีสระน้ำให้ปล่อยปลา เราก็ไปปล่อยปลา ทีนี้ถ้าบ่อน้ำ สระน้ำเล็ก มันมีปลาเล็กปลาน้อยอยู่ ปลาที่เราไปปล่อยเป็นปลาใหญ่ที่ไปกินปลาเล็ก มันก็เป็นผลต่อเนื่อง ผลสืบเนื่องต่อเนื่องกันไปที่เราต้องปล่อยวาง เราก็ให้เขามาปล่อยวาง

ถ้าเราไม่รู้ เราเข้าใจ เราก็สบายใจไปแล้ว แต่นี่เราไปปล่อย วันนี้ก็ปล่อย พรุ่งนี้ก็ปล่อย มะรืนก็ปล่อย เราปล่อยบ่อยไง เพราะเราปล่อยบ่อย เราเลยไปเห็นข้อบกพร่อง เพราะเราปล่อยหลายๆ ครั้งมันก็เห็นข้อบกพร่อง

ถ้าปล่อยหนเดียวนี่ได้บุญเยอะนะ ปล่อยไปแล้วก็จบไง โอ๋ย! มันไปปลาบปลื้ม มันไปสุขใจอยู่นี่ ป่านนี้ยังปลื้มอยู่เลย โอ้โฮ! ปล่อยปลา โอ้โฮ! มีความสุข ให้ชีวิตเขา นี่ไปปล่อยบ่อยครั้งเข้า ปล่อยบ่อยๆ ปล่อยบ่อยๆ ก็ไปเห็นเลย เห็นปลาเราไปกินปลาเขา พอเห็นปลาเราไปกินปลาเขา เออ! ไอ้บุญนั้นมันชักไม่เต็มแล้ว ชักทุกข์ใจขึ้นมาแล้ว นี่พอทุกข์ใจ

เพราะเขาจัดสถานที่ไว้ให้อย่างนั้น ถ้าเราเห็นอย่างนั้น เราก็ไม่มีเวลาใช่ไหม เพราะวัดใกล้บ้าน เราก็ไปซื้อปลามาแล้วก็ปล่อยวัดใกล้บ้าน เราก็ทำได้สะดวก แต่ถ้าเราจะซื้อปลามาแล้วไปปล่อยแม่น้ำเจ้าพระยา เราซื้อปลามาไปปล่อยทะเลอย่างนี้ เราต้องใช้ค่ารถที่จะไปบางแสน ไปพัทยา มันแพงกว่าราคาของชีวิตปลา เราก็ทำไม่ได้อีกแหละ ถ้าเราจะเลือกอย่างนั้น เราก็ไปปล่อยเลย กลางทะเลเลย ไปถึงก็จ้างเรือเลย นัดเรือเอาไว้จะเอาปลาไปปล่อยกลางมหาสมุทร แล้วมันก็ไปเข้าอวนเขาอีก เขาก็จับกลับมา

ความเกี่ยวเนื่อง เพราะกรรมคลุกเคล้า พวกเราก็ทุกข์กันตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาจำแนกกรรม กรรม ส่วนของกรรม แยกกรรมเป็นประเภทๆ ออกไป

แต่พวกเรา เราไม่ได้จำแนก เราคลุกเคล้ากันไง พอเกิดเรื่องนี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะเหตุอย่างนี้มันถึงเกิดอารมณ์ เพราะเกิดอารมณ์มันถึงเกิดความคิดต่อเนื่อง เพราะความคิดต่อเนื่องมันก็สัมพันธ์กันไป นี่เขาเรียกอารมณ์โลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้สอนพวกเราว่าพุทโธๆๆ อยู่นี่ไง

มันไม่ต่อเนื่อง เห็นไหม พุทธานุสติ พุทโธแล้วก็จบ พุทโธแล้วก็จบ พลังงานตัวนี้มันก็จะได้สะสมของมันขึ้นมา ทำความดี บุญกุศลคือความดี ทำความดีจบแล้วก็คือจบแล้วแหละ แต่จิตใจของเรามันไม่จบไง เพราะถ้าเราไม่จบ พอเราไม่จบขึ้นมามันก็เกี่ยวเนื่องไป

กรณีนี้มันเหมือนกรณีที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านอยู่เชียงใหม่ เวลาท่านนั่งสมาธิของท่านอยู่นะ พอนั่งสมาธิ จิตสงบลง พอจิตสงบลง มันไปเห็น เห็นสามเณรน้อยกับแม่ชีเดินวนอยู่นั่นน่ะ จิตวิญญาณที่เสียไปแล้วยังไปเดินวนอยู่ที่เจดีย์เก่าอยู่นั่นน่ะ

แล้วเจดีย์เก่า หลวงปู่มั่นท่านเห็นคืนแรก พอคืนที่ ๒ ท่านก็สงบจิตเข้าไปก็ไปเห็นอีก เห็นหลายคืนเข้าๆ ชักสงสาร เข้าสงบจิตไปแล้วก็ไปถามเลยมาเดินวนเวียนกันอยู่นี่ มาเดินทำไมถามแม่ชีกับสามเณรน้อย เธอมาเดินอยู่นี่กันทำไม

อยากทำบุญกุศล ทั้งพี่ทั้งน้องอยากทำบุญกุศล สร้างเจดีย์ แต่สร้างแล้วเจดีย์ยังไม่เสร็จ ตายเสียก่อน พอตายเสียก่อนแล้วก็เลยเป็นห่วงว่าเจดีย์สร้างไม่เสร็จ

ถ้าเป็นมนุษย์มันก็สร้างจนจบใช่ไหม อันนี้ตายไปแล้วเป็นผี มันสร้างไม่จบไง ผีมันทำอะไรไม่ได้ก็นั่งเฝ้าอยู่นั่นน่ะ เดินวนอยู่นั่นน่ะ

องค์หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ความดีเราก็ได้ทำแล้ว การเจตนาสร้างสังเวชนียสถานนะ การสร้างศาสนสถาน เราได้สร้างแล้ว เราได้ทำแล้ว แต่เพราะเวรกรรมมาตัดรอนทำให้ชีวิตเราตายเสียก่อน ทำดีเราก็ทำดีมาแล้ว เราทำได้แค่นี้ ทำดีมาแล้ว บุญกุศลมันก็มีอยู่แล้วล่ะ ทำไมไม่อยู่กับความดีนั้นล่ะ ทำไมมาติดอยู่กับอิฐหินทรายปูนล่ะ ทำไมมาติดอยู่กับสิ่งที่เราก่อสร้างแล้วสร้างไม่เสร็จล่ะ

สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นมาเพราะว่าเจตนาดีของเรามันทำให้ก่อสร้างใช่ไหม เจตนาดีของเรา เราอยากทำศาสนสถานในพระพุทธศาสนา เราก็ได้ขวนขวาย เราก็ได้ทำแล้ว แต่บาปมันตัดรอน อกุศลมันตัดรอนให้เราสิ้นชีวิตไป สิ่งนั้นเราก็ทำมาเต็มที่แล้ว จนสิ้นชีวิตไป มันเป็นความดีทั้งนั้นน่ะ แล้วทำไมไปฝักใฝ่อยู่อย่างนี้ ไปติดพันอยู่อย่างนี้ล่ะ พอติดพัน จิตมันก็มาเกิดที่นี่ไง พอมาเกิดที่นี่ก็เป็นสัมภเวสี เดินอยู่นั่นน่ะ เดินอยู่นั่นน่ะ

พอหลวงปู่มั่นเทศนาว่าการอย่างนี้ มันได้สติ แม่ชีนั้นกับสามเณรนั้นได้สติ อ้าว! บุญมันก็ได้หมดแล้ว พอกลับไปที่บุญนะ หลวงปู่มั่น พอกลับไปที่บุญ เขาก็ละวางตรงนี้ได้ ไปเกิดเป็นเทวดา

มันไปได้อยู่แล้ว บุญกุศลเราก็ทำแล้ว มันไปได้อยู่แล้ว แต่ทุกคนมันก็มีกิเลสใช่ไหม ทุกคนก็มีความปรารถนา คิดว่าบุญแบบเราไง คิดว่าบุญต้องเป็นแบงก์ปึกใหญ่ๆ ไง คิดว่าบุญนี้ต้องเพชรเม็ดใหญ่ๆ คิดว่าบุญนี้ต้องเป็นเครื่องใช้สอยที่เราพอใจ แต่ไม่คิดหรอกว่าทิพย์สมบัติมันดีกว่านี้ บนเทวดามันดีกว่านี้อีก มันไม่ต้องใช้แบงก์ไปแลก มันวิญญาณาหาร นึกสิ่งใดได้สิ่งนั้น คิดอย่างใดได้อย่างนั้น คิดอย่างใดสมความปรารถนาอย่างนั้น นี่พวกเทวดานะ

ทีนี้เทวดาก็มีสูงมีต่ำอีกแหละ คิดได้ตามที่จะคิดได้ คิดได้ตามบุญที่สร้างมา มันไม่ใช่คิดได้โดยที่ไม่มีบุญ อ้าว! เราไม่เคยเห็นสิ่งใด เราคิดได้ไหม เราก็คิดได้แต่ที่เราอยากได้ใช่ไหม ถ้าเราไม่เห็นสิ่งใด เราจะคิดได้ไหม ถ้าเขาทำสิ่งใดไว้ เขาก็ได้แค่นั้น มันก็ดีกับตรงนี้ไง

แต่เขาคิดได้แค่นี้ใช่ไหม คิดบุญได้เท่านี้ ฉะนั้น พอเขาปล่อยตรงนี้ปั๊บ พอหลวงปู่มั่นเทศนาว่าการ แม่ชีและสามเณรน้อยก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง มันก็ไปตามสัจจะ ตามที่ได้สร้างเจดีย์ ก็ไปเกิดเป็นเทวดาหมด

เห็นไหม การทำความดีมันก็ติดที่ดีไง ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราปล่อยปลา มันเป็นคติธรรม มันเป็นวัฒนธรรมของเรา เราให้ชีวิตเขา เราสงสารเขา เราก็อยากให้ชีวิตเขา เราอยากให้ชีวิตเขาเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อประโยชน์ต่างๆ จิตใจเราเป็นสาธารณะ ทำแล้วก็คือจบ

แต่ถ้าสระน้ำที่วัดเป็นอย่างนั้น เราเห็นว่าเป็นการเบียดเบียนกัน เราเบียดเบียนกัน เราก็หาที่ใหม่ เพราะถ้ามันวิตกอย่างนี้แล้วมันทำไม่ได้แล้วล่ะ มันจะไปปล่อยที่เก่าไม่ได้แล้ว เพราะมันรู้ว่าไปปล่อยแล้วมันไปกินปลาเขา ฉะนั้น จะปล่อยปลาต้องซื้ออาหารปลาไปด้วย ห้ามให้มันไปกินปลาตัวเล็ก มันไม่จบไง มันจบ เราปล่อยไปแล้วก็คือจบ

มีคนเขาปล่อยปลาเขามาเล่าให้ฟังนะ เขาไปปล่อยปลาช่อน เขาบอกปล่อยที่แม่น้ำแม่กลอง เวลาพอปล่อยไปแล้วมันว่ายออกไปนะ แล้วมันก็ว่ายกลับมา ถ้าภาษาเรานะ มันมาขอบคุณ สัตว์มันรู้นะ พอปล่อยมันว่ายไปแล้ว แล้วมันก็วนกลับมานะ มามองหน้า แล้วมันก็ไป มันขอบคุณนะ มันเป็นสิ่งมีชีวิต มันรู้ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราปล่อยเขาแล้ว เราทำคุณงามความดีแล้ว เพื่อประโยชน์แล้ว พอปล่อยเขาแล้วนะ รักษาชีวิตให้ดีๆ นะ ต้องบอกเขาด้วย รักษาชีวิตดีๆ นะ ปล่อยแล้วนะ เป็นอิสระนะ อย่าเสร่อไปกินเบ็ดใครนะ ถ้ามันหิวมันก็ไปกินอยู่ดี ธรรมชาติของสัตว์

อันนี้พูดถึง คือว่าบุญคือความดี ความดีที่ทำแล้ว ความดีที่ทำแล้วอย่าไปติดข้อง อย่าไปแบกหาม ความดีที่ทำแล้วก็คือความดี บุญคือความดี เราทำบุญคือความดี ทำแล้วก็จบ

แต่ถ้ามันมีสิ่งใดที่ติดข้องหมองใจ สิ่งใดที่เราทำแล้วไม่สมบูรณ์ ทำให้สมบูรณ์ ทำให้สมบูรณ์ เราก็ทำไปไว้ที่อื่น ไปปล่อยที่อื่น ทำความดีมากกว่านี้ นี่พูดถึงความดีก็คือความดี แต่ถ้าความดีแล้วมันไม่จบนะ มันจะเข้าข้อที่ ๒ ข้อที่ ๒ นะ

. ขณะที่โยมไปซื้อปลาที่ตลาด เห็นพ่อค้าปลาแม่ค้าปลาเขาสับปลาที่ยังดิ้นเป็นๆ อยู่ โยมรู้สึกสลดใจมาก เกิดอารมณ์หดหู่และเศร้าใจที่ยังมีปลาอีกมากมายที่เราช่วยไว้ไม่ได้

ยังมีสัตว์อีกมากมาย ยังมีคนทุกข์ยากอีกมากมาย ยังมีคนลำบากลำบนอีกมากมาย ยังมีประชาชนที่ไม่มีข้าวกิน ยังมีประชาชนในโลกนี้ที่อดอาหาร มีประชาชนในโลกนี้ยังทุกข์ยากอีกมากมาย ถ้าคิดอย่างนี้ เราก็ไปขัดกับกรรมเป็นอจินไตยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อจินไตย ๔ พุทธวิสัย กรรม ฌาน โลก

มันเป็นพุทธวิสัย เรื่องของกรรมมันเป็นพุทธวิสัยเลย คือว่าเป็นอจินไตยเลย ที่เราคาดหมายไม่ได้เลย แล้วเขาทำของเขามา เราจะตามไปชดใช้ให้จิตทุกดวงที่เขาเกิดมาบนโลกนี้ ที่เขาทำเวรทำกรรมกันมานี่ เราจะไปชดใช้ทำให้มันดีงามไปหมด มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะเขาทำของเขามา เป็นสิทธิของเขา มันเป็นสิทธิ์ของเขา เขาทำของเขามาอย่างนั้น เขาต้องรับสิทธิอย่างนั้น

แต่เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้เรามีสติมีปัญญา เราเห็นแล้วเราสังเวช เราก็ช่วยเหลือเจือจานกันด้วยคนที่มีคุณธรรม มันเป็นโอกาสของเราไง เป็นโอกาสของเราที่ได้ช่วยเหลือได้เจือจาน ได้แบ่งเบาภาระเขา ได้เมตตาเขา ได้ทำความดีของเขา แต่เราจะไปเหมาเอาหมดเลยว่ายังมีปลาอีกมากมายเลยที่เราช่วยเขาไม่ได้ ทุกคนก็คิดอย่างนี้

แต่ถ้ามีปัญญา อย่างที่เราพูดนี่ ใช่ อยากจะช่วยให้หมดเลย แต่ช่วยตัวเองก่อน ตัวเองช่วยให้ได้ก่อน ถ้าช่วยตัวเองได้นะ เพราะคิดอย่างนี้ปั๊บ จิตมันก็ตก แล้วมันก็ทุกข์ยากไป แล้วไปเห็นภาพอย่างนั้นมันก็จะสะเทือนใจ

ฉะนั้น เขาบอกเขาก็คิดได้ มันเป็นอาชีพของเขา มันเป็นอาชีพของเขา มันเป็นเวรเป็นกรรมของเขา แต่ถ้าคนที่เขาจนตรอก เขาต้องทำอย่างนั้นไปก่อน ถึงเวลาเขามีสติมีปัญญา เขาเลิกของเขา เขาพัฒนาของเขา อันนั้นเขาจะมีโอกาสของเขานะ ถ้าโอกาสของเขา เวลาจิตใจของเขาพัฒนาขึ้น เขาจะแก้ไขของเขาไปเอง

สิ่งที่การกระทำ บางคนขิปปาภิญญา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คือเขาทำคุณงามความดีมา เขาจะทำความดีปฏิบัติต่อเนื่องกันไป บางคนทำความดีมาชั่วครั้งชั่วคราว อย่างพระเราบวชมาแล้วก็สึก พอสึกออกไปแล้วก็กลับมาบวช บวชเสร็จแล้วก็สึก เวลาบวชมาแล้วก็เป็นความดีสักพักหนึ่งแล้วก็สึกออกไป พอสึกออกไป เบื่อๆ ก็กลับมาบวชใหม่ เห็นไหม ความดีมันกลับไม่ต่อเนื่อง มันขาดช่วง เดี๋ยวพลิกไปพลิกมา แต่ถ้าคนที่เขาสร้างของเขามาสมบูรณ์ เขาจะไปตลอดรอดฝั่ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นอย่างนั้น เราคิดอย่างนั้น มันเป็นแบบนี้ ยังเหลือสัตว์อีกมากมายที่เราช่วยเหลือเขาไม่ได้

ถ้ามันช่วยเขาไม่ได้ แม้แต่ ดูสิ ดูความเป็นไปนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์คร่ำครวญมาก

อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องนิพพานในคืนนี้

แม้แต่ร่างกาย มันไม่มีร่างกายของใครจะคงทนตลอดไป ไม่มีชีวิตของใครจะคงทนตลอดไป ร่างกายคงทนตลอดไปไม่ได้ แต่จิตเวลาเราพิจารณาของเราจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันอกุปปธรรม มันคงทนของมันตลอดไป แต่คงทนไปด้วยสิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งใดที่มันจะแปรสภาพ มันไม่มีอีกเลย ถ้าทำถึงนั้นปั๊บ มารมันไม่มี มันไม่เห็นภวาสวะ ไม่เห็นภพ ไม่เห็นสถานที่ มารตามไม่ได้ มารรื้อค้นจิตนี้ไม่เจอ มารรื้อค้นไม่เห็น ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น มันพ้นออกไป เห็นไหม อย่างนั้นคงที่ เพราะไม่มีใครจะไปเจอมัน ไม่มีใครสามารถจะเข้าไปแย่งชิง เข้าไปทำให้มันเศร้าหมอง เข้าไปทำให้มันแปรปรวน ไม่มีใครทำให้ได้ คงที่อย่างนั้นมี

แต่พอมาเป็นวัตถุ มาเป็นผลของวัฏฏะไม่มี ถ้ามันไม่มีแล้ว เราจะคิดอย่างไร อย่างนี้อยู่ที่เราคิดนะ ถ้าเราคิดได้แล้ววางไว้

บุญคือความดี ความดีที่ทำแล้ว แล้วความดีที่ต่อเนื่องขึ้นไป ความดีของเราขนาดนี้ เราก็คิดได้ขนาดนี้ แต่ถ้าความดีต่อเนื่องมันดีเพิ่มขึ้นสูงขึ้นนะ ไอ้ที่เราคิดๆ มันจะวางไว้เอง แล้วพอมันจะจบลงโดยที่ว่าธรรมสังเวช ปลงธรรมสังเวช เวลาเขาให้พระไปชักศพ อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโนฯ สังขารมันเป็นอย่างนี้ มันไปปลงธรรมสังเวช

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราสูงส่งแล้ว เราปลงธรรมสังเวช เพราะเขาอยากได้อยากดีอย่างนั้น จิตทุกจิต ดวงใจทุกดวงใจดีดดิ้นดิ้นรนเอาอย่างนั้น เขาทำของเขา แล้วเราพยายามจะชักนำมานะ เขาบอกว่าเราไปยุ่งกับชีวิตเขาทำไม เราไปวุ่นวายกับชีวิตเขา เขาพอใจอย่างนั้นน่ะ เขาพอใจ เขามีความสุข เพราะจิตใจเขา ถ้าจิตใจมันต่ำ มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันค่อยๆ เกลี้ยกล่อม ค่อยๆ ขัดเกลานะ พอจิตใจเขา กิเลสเขาเบาบางลงนะ โอ้โฮ! เขาทะลึ่งขึ้นมาเลยนะโอ้โฮ! ทำไมเมื่อก่อนไม่บอกล่ะทั้งๆ ที่บอกอยู่เมื่อกี้ เขาบอกว่าเป็นสิทธิ์ของเขานะ พอจิตใจมันเบาบาง มันรู้ขึ้นมานี่ไม่รักกันจริงเลย ไม่เคยบอกสักที

บอกมันปากแทบฉีก มันยังติเตียนเราอีกด้วย มันยังติเตียนเราอยู่ แต่พอมันคิดได้นะ มันต่อว่าเราอีกนะไม่บอกไม่เตือนกันเลยน่ะกิเลสเป็นแบบนี้ ธรรมชาติเป็นแบบนี้

ฉะนั้น จะบอกว่า เรายังเศร้าใจว่ายังมีสัตว์อีกมากมายที่เรายังช่วยไม่ได้

อย่างนี้เราต้องพรหมวิหาร ๔ มันเป็นธรรมของผู้ปกครอง เห็นไหม ช่วยเขาเต็มที่ ช่วยเขาเต็มที่ ถึงที่สุดแล้วอุเบกขา คำว่าอุเบกขาไม่ใช่ไม่สนใจไม่อะไร มันทำไม่ได้ พอเราไปช่วยเหลือเจือจานเขา เขาติฉินนินทาเราอีกต่างหาก เขาหาว่าเราไปวุ่นวายกับชีวิตเขาอีกต่างหาก แต่เวลาเขาคิดได้ เขาก็ติเราอีกว่าเราไม่ช่วยเขาอีก เห็นไหม เราช่วยเขา เขาก็ว่า ไม่ช่วยเขา เขาก็ว่า เขาว่าทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าจิตใจเรา จิตใจเราสูงส่ง เราปลงธรรมสังเวชเลย เวลาคนมืดบอดเป็นแบบนี้ เวลาคนหูตามันเบาบางมันก็ดีขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เวลาคนหูตาสว่างมันเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้ แล้วเราเป็นแบบไหนล่ะ เราดีหรือยังล่ะ เราพิจารณาของเรา ถ้าเราพิจารณาได้ เราจะเป็นของเรา

นี่พูดถึงว่า ความดีคือความดี อย่าไปดิ้นรนวุ่นวายกับเขามากจนเกินไป จบ ข้อใหม่

ถาม : เรื่องข้อข้องใจผู้ปฏิบัติใหม่

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการทำบุญและสวดมนต์ครับ ผมเพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธได้ไม่นานนัก ผมจึงไม่เข้าใจถึงวิธีการพื้นฐานในการทำทาน สวดมนต์ นั่งสมาธิครับ

. ผมเคยทำงานกับบริษัทที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ ซึ่งบ่อยครั้งผมมีส่วนรู้เห็นในการติดสินบนข้าราชการ ในขณะนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอยู่ แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำด้วยความคิดที่ว่าต้องเลี้ยงดูชีวิตตนและบิดา

แต่พอผมได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธจึงกลัวในบาป และตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานนั้น และหลังจากนั้นมา ผมก็ตั้งใจทำทาน สวดมนต์เป็นประจำ และภาวนา พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ได้งานที่สุจริต และมีเงินเดือนพอเลี้ยงตัวเองและบิดามารดา จนขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลา ๖ เดือนแล้ว ผมก็ยังไม่ได้งานที่ผมประสงค์อยากจะไม่ใช่ว่าไม่มีงานนะครับ แต่ผมก็ไม่ได้รับโอกาสรับเลือกเสียที

ในขณะเดียวกันในบริษัทที่มีคนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธหรือรักษาศีล ๕ แต่ก็ได้ทำงานที่นี่ ผมจึงสงสัยว่าวิธีการทำบุญของผมถูกหรือผิด ตัวอย่างในการทำบุญของผม เช่น เวลาผมถวายปัจจัยแด่พระ ผมต้องอธิษฐานให้ผมได้สิ่งที่ผมปรารถนาหรือเปล่าครับ หรือเคยมีคนบอกว่า การทำบุญทางโลกก็อยู่ที่ทางโลก การทำบุญทางธรรมก็จะได้อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ถ้าจริง รบกวนหลวงพ่ออธิบายให้ด้วยครับ

. อานิสงส์ของการสวดมนต์จะได้ต่อเมื่อสวดมนต์ถูกต้องถ้อยคำจริงไหมครับ เพราะทุกวันนี้ผมสวดมนต์ แต่ไม่ได้สวดมนต์แปล จำเป็นไหมครับว่าจะต้องสวดบทบาลีพร้อมแปลไปด้วยจึงจะได้อานิสงส์ และการสวดมนต์จะต้องสวดทำนองเหมือนในเทปสวดมนต์ไหมครับ เพราะทุกวันนี้ผมสวดแบบไม่มีทำนอง แต่ท่องไปตามตัวบทสวดธรรมดาเลยครับ

. จากข้อ ๑ และข้อ ๒ ถ้าผมเกิดความสงสัยดังที่ถามมา จึงเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติ ทำให้การปฏิบัติไม่มีความก้าวหน้าเลย อยากทราบว่าข้อสงสัยที่เกี่ยวกับวิธีการแบบนี้ถือว่าเป็นนิวรณ์หรือเปล่าครับ หากใช่ ขอกราบหลวงพ่อช่วยเมตตาผมหน่อยครับ คำถามของผมอาจจะไม่มีประโยชน์กับผู้อื่น แต่ผมติดตรงนี้จริงๆ ครับ ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ

ตอบ : อันนี้ข้อที่ ๑ นะ ข้อที่ ๑ เราว่าในการทำงาน การทำงานของเรา เห็นเขาติดสินบนกัน แต่เราทำราชการ เราทำอยู่กับเขา ในเมื่อเราเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ดำรงชีวิต นี่เราคิดของเราไปเอง

เพราะว่าศาสนาทุกศาสนา ศาสนาทุกศาสนาสอนคนให้เป็นคนดี ถ้าสอนให้เป็นคนดี ทุกศาสนาไม่สอนให้มีการติดสินบน ทุกศาสนาไม่สอนอย่างนั้นหรอก ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ถ้าสอนให้เป็นคนดีนะ แต่ขณะที่เราคิดอย่างนั้น เรายังเห็น เห็นว่าเป็นประโยชน์กับเรา แต่พอเราเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาใช่ไหม พอนับถือพระพุทธศาสนา เรากลัวบาป เขาบอกว่า ผมจึงกลัวบาป ตัดสินใจลาออกเลย

ทีนี้ลาออกแล้วเขาคิดว่าเป็นการทำความดี ถ้าทำความดีแล้ว เราก็พยายามจะหางานที่สะอาดบริสุทธิ์ เราทำความดีแล้ว แล้วไปสมัครงาน ๖ เดือนแล้วยังไม่มีงานทำเลย แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

การทำงานๆ เราทำงาน ในการสมัครงาน เรื่องบุญนะ บุญคือความดี เราได้ทำบุญของเรา เรามีความซื่อสัตย์ เรามีศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง ศีลธรรมย่อมคุ้มครองเรา คุ้มครองที่ไหน คุ้มครองที่ว่า ๑.ไม่ฆ่าสัตว์ ๒.ไม่ลักทรัพย์ .ไม่ผิดในลูกเมียเขา ๔.ไม่มุสา ๕.ไม่ดื่มสุรา นี่มันคุ้มครองเราไง คุ้มครองให้เราเป็นคนดีไง ถ้าคุ้มครองให้เราเป็นคนดี คุ้มครองทั้งสุขภาพด้วย คุ้มครองทั้งปัจจัยด้วย มันคุ้มครองไม่ให้เราเฉไฉไปกับโลก นี่มันให้คุณประโยชน์

ศีล เขาให้ถือว่าคนนั้นเป็นคนดีและคนไม่ดี ถ้าเราเป็นคนดีอยู่แล้ว เป็นคนดี แต่เรื่องหน้าที่การงานมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หน้าที่การงาน คนที่สร้างบุญกุศลมา คนถูกจริต คนไม่ถูกจริต คนที่ถูกจริตมันถูกจริตกับเขา เขาก็รับเข้าทำงาน คนชอบไง ถูกจริตคือชอบ คนรัก คือเจอหน้าก็ชอบแล้ว ถ้าไม่ถูกจริต เจอหน้ามันก็ไม่ชอบอยู่แล้ว

ฉะนั้น ไอ้เรื่องอย่างนี้ บุญก็ส่วนบุญ แต่เรื่องหน้าที่การงานมันมีกรรม ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรม ให้เชื่อเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำ ถ้าเราทำความดีมา

ไอ้นี่บอกว่า เราเข้าใจของเราเองว่าเราเป็นคนดี เรานับถือศาสนาพุทธ เราสวดมนต์ทำบุญ เราเป็นคนดีเลย คนดีไปที่ไหนเขารับเข้าทำงานหมดเลย มันก็ไม่ใช่

เขาจะรับเข้าทำงาน เขาก็ต้องพิจารณาว่าเขารับเข้ามาเพื่อเหตุใด เขาทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่ออะไร เป็นอย่างนั้นมันก็ถูกต้อง

นี่เราบอกว่า เพราะจะคิดเอาเองไงว่า เวลาเราเคยทำมาอย่างนั้น เราเคยทำผิดศีลมา เราเคยรับสินบน เห็นด้วยกับการรับสินบนเขามา เรามีงานทำ พอเราเป็นคนดีไง เราไม่รับสินบน เราจะซื่อสัตย์บริสุทธิ์ เราเลยกลายเป็นคนตกงาน เป็นคนตกงาน เป็นคนที่ไม่มีงานทำ

ไอ้คนตกงาน คนไม่ตกงาน มันอยู่ที่เหตุและปัจจัยนะ เราขยันหมั่นเพียรของเรา เราจะบอกว่า ผ่านมาไม่มีงานทำตั้ง ๖ เดือนแล้ว ขยันของเรา เราหางานของเรา เราดูโอกาสของเรา ถ้าทำได้ เราทำงานอย่างอื่นก็ได้ ทำสิ่งที่ดำรงชีวิตไปก่อน

นี่พูดถึงว่า การที่ว่าทำดีแล้วได้ดีไง ถ้าทำดีแล้วได้ดี ในเมื่อเราเห็นความผิด ความไม่ถูกต้องในหน่วยงานแล้วเราลาออก แล้วเราก็ทำความดีของเรา แล้วเราจะหางานๆ

งานก็คืองาน งาน มันเหมือนกฎหมาย กฎหมายก็คือกฎหมาย คนทำผิดหรือไม่ทำผิด ถ้าผิดกฎหมาย ทำไม่ทัน เขาทำผิดแล้วยังไม่มีใครลงโทษเขาเลย แต่ถ้าเขาทำผิดแล้วคนจับเขาได้ด้วย กฎหมายลงโทษแล้ว กฎหมายก็คือกฎหมาย กฎหมายลงโทษ นี่ก็เหมือนกัน ดีหรือชั่วมันก็เหมือนกฎหมาย มันก็เป็นความจริงนั่นแหละ แต่ว่าโอกาสของเราล่ะ โอกาสที่จะเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ นี่พูดถึงในการทำงานนะ

. อานิสงส์การสวดมนต์

การสวดมนต์ สวดมนต์คือเจริญพุทธมนต์ การสวดมนต์ หลวงตาท่านสอนว่า ถึงเราอย่างน้อยก่อนนอนก็ให้กราบพระก่อน แล้วสวดมนต์ก่อน การสวดมนต์คือระลึกถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญพุทธมนต์ แล้วทำให้เราระลึกมีสติสัมปชัญญะ

มีสติสัมปชัญญะเพราะอะไร เพราะเราเหมือนสัตว์ เหมือนสัตว์ไม่มีเจ้าของ จิตใจนี้เหมือนสัตว์ไม่มีเจ้าของ แม้แต่ชาวพุทธนี่แหละ แต่เวลาเราสวดมนต์คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเวลาเขาสวดธัมมจักฯ พระพุทธเจ้าสอนเลย ไม่ให้ติดในทาง ๒ ส่วน คำสวดมนต์มันเตือนสติเราได้

แล้วคำสวดมนต์ ถ้าเรามีสติปัญญานะ เรามีสติปัญญา การสวดมนต์นั้น มันก็เหมือนกับเรากำหนดพุทโธๆ ถ้าเราสวดมนต์นะ เราคิดเรื่องอื่นวอกแวกนะ สวดมนต์มันจะผิดพลาดทันที แต่ถ้าเราอยู่กับบทสวดมนต์ เราสวดไปเรื่อย มันจะถูกต้องไป จิตมันก็คงที่ มันก็ได้พักผ่อนของมัน การสวดมนต์คืออุบายไง มันมีคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรเสริญพุทธคุณด้วย แล้วยังมีอุบายให้เรามีสติด้วย ถ้ามีสติ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ การสวดมนต์

ทีนี้การสวดมนต์ว่ามันจะถูกหรือไม่ถูก

นี่เอาข้อ ๑ กับข้อ ๒ มารวมไว้ที่ข้อ ๓ ถ้าข้อ ๓ สิ่งที่ทั้งข้อ ๑ และข้อ ๒ ทำให้เกิดความสงสัย

ไอ้สิ่งที่ข้อ ๑ คือว่าเราเห็นเรื่องผิดและถูกในสังคม

ข้อ ๒ หมายถึงว่า เราทำถูกหรือเปล่า

แล้วก็มาลงข้อที่ ๓ จากข้อ ๑ และข้อ ๒ เกิดความสงสัยว่า ในการปฏิบัติของเรามันไม่ก้าวหน้าเพราะว่ามันมีส่วนผิดจากข้อ ๑ และข้อ ๒ หรือไม่

เฉพาะข้อ ๑ ข้อ ๒ มันเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องการดำรงชีวิต เป็นเรื่องการเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ข้อ ๓ เป็นการปฏิบัติ

การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนปฏิบัติถึงที่สุด ตนจะเข้าสมาธิได้ ตนจะมีปัญญาของเราได้ ตนจะเอาตนพ้นไปได้ ไอ้นี่เป็นการปฏิบัติธรรม ทีนี้การปฏิบัติธรรม จิตใจมันต้องละเอียดอ่อนกว่าทางโลก

ทีนี้ทางโลกกับทางธรรมมันคละเคล้ากันไปหมดเลย ยุ่งไปหมดเลย ทั้งทางโลกก็จะเอา ทั้งทางธรรมก็จะปฏิบัติ เพราะเราเป็นชาวพุทธใหม่ ชาวพุทธใหม่นี่กำลังไฟแรง จะทำให้ได้ผลทั้งทางโลกและทางธรรม เขาว่าเพิ่งมานับถือศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสัจจะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งที่การกระทำนั่นแหละมันจะให้ผลกับสภาวะแวดล้อม ให้ผลกับหัวใจของเรา ให้ผลกับทุกๆ อย่างเลย เพราะเราเป็นคนทำเอง ถ้าทำเอง

ฉะนั้น เวลาทำตรงนี้ ถ้าทางโลก เราก็ทำความดีของเราประสาโลก ถ้าทำความดีประสาโลกเสร็จแล้วนะ คนที่ขยันหมั่นเพียรทำคุณงามความดีให้ผลตอบแทนมหาศาลเลย แต่เราเองเราก็อยากปฏิบัติด้วย ถ้าอยากปฏิบัติ เราก็ไม่มีเวลา เพราะเราทำงาน เราต้องรับผิดชอบ เราจะเอาเวลาที่ไหนมาปฏิบัติล่ะ

ทีนี้ปฏิบัติ มันต้องแยกกันแล้ววางไว้ วางไว้ ทางโลกเราหาดำรงชีวิตได้ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ เราเลี้ยงได้ เราก็ปฏิบัติของเราไป เราปฏิบัติของเราไป เราพยายามรักษาจิตใจของเรา แล้วถ้าสิ่งนั้นมันจะเป็นนิวรณธรรมในการปฏิบัติ เพราะมันไม่ก้าวหน้าเลย

ความก้าวหน้า เห็นไหม เวลาพระสารีบุตรไปฟังเทศน์พระอัสสชิ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เวลาพระอัสสชิแสดง เย ธมฺมาฯ ให้พระสารีบุตรฟัง พระสารีบุตรใช้ปัญญาแทงตลอดเป็นพระโสดาบัน

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก้ที่เหตุนั้น

ฉะนั้น ไอ้ความวิตกกังวล ไอ้เรื่องนิวรณธรรมมันเป็นเหตุอยู่แล้ว ทางโลกเรายังล้มลุกคลุกคลาน ทางธรรมเราก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้าทางโลกมันล้มลุกคลุกคลาน แต่เราวางได้ เราวางได้ ชีวิตมันเป็นเช่นนี้เอง ถ้าเราจริงนะ เวลาปฏิบัติมันวางได้ ถ้าคนที่มีสัจจะ

แต่ของเรา เราวางไม่ได้ วางไม่ได้เพราะเรายังปฏิบัติใหม่ เพราะการปฏิบัติใหม่ หญ้าปากคอก การปฏิบัติใหม่ การปฏิบัติยากมีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นและคราวหนึ่งคือคราวสุดท้าย

คราวเริ่มต้นมันไม้ดิบๆ เลย เรายังทำงานไม่เป็น การเริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ ทีนี้การล้มลุกคลุกคลาน เราเองเป็นผู้ใหม่ แล้วเราจะเอาทั้ง ๒ ทาง แล้วทางโลกก็จะเอา งานก็ ๖ เดือนยังไม่ได้งาน เราต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ แล้วปฏิบัติก็จะเป็นพระอรหันต์ไปเลย โอ๋ย! มันเป็นการบีบคั้นตัวเองทุกๆ เรื่องเลย

เราเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อชีวิตโลกเดินทางสายกลาง ทางสายกลางของเราคือว่ารับผิดชอบชีวิต รับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบปัจจุบันคือเรื่องของโลก คือเรื่องของเวรเรื่องของกรรม รับผิดชอบเวลาปฏิบัตินะ มันจะถอดจะถอนเลย มันจะชำระมันจะคายของมันออกเลย

ทีนี้ความสมควรไง เขาบอกว่า หลวงพ่อ เห็นคำถามมีประโยชน์สิ่งใดเพื่อประโยชน์กับเขาด้วย

ถ้าประโยชน์กับเขานะ เราก็คิดว่าตั้งสติไว้ เหมือนเด็ก เด็กเวลาเรียนหนังสือ เรียนแล้วไม่เข้าใจ แล้วบอกว่าให้วาง ให้ทำสมาธิก่อน เขาบอกว่า ขนาดเรียนอยู่ปกติก็เรียนไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว แล้วไปทำสมาธิเสียเวลาขนาดไหน แล้วจะมาเรียนได้อย่างไร

แล้วเด็กบางคนเขาเชื่อ เขางงมาก เขาก็วางไว้ก่อนแล้วทำสมาธิ พอทำสมาธิแล้วกลับไปอ่านหนังสือ กลับไปทบทวนนะ เขาเข้าใจ แล้วเขาสอบผ่านๆๆ เด็กบางคนมันพูดอย่างนี้ ฉะนั้น เด็กบางคนพูดอย่างนี้

การทำสมาธิ การปล่อยวาง ทำความสงบของใจ อย่าให้จิตใจมันดิ้นรนอย่างนี้ ถ้าดิ้นรนอย่างนี้ มันก็จะหางาน เหมือนเราทั้งกิริยามารยาทต่างๆ มันลุกลี้ลุกลน มันไม่นิ่ง แล้วมันทำสิ่งใดมันก็เลยไม่ได้ผลเลย

เราวาง ทำสมาธิให้จิตใจแน่วแน่ แล้วทำสิ่งใดทำให้มันชัดเจน ถ้าไปสมัครงาน เราก็หางานของเรา ทำให้มันจบของเรา ถ้ามีงานมีการแล้วเราก็จะเลี้ยงชีพด้วย เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ด้วย แล้วถ้ามีเวลาปฏิบัติ เห็นไหม ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ ทางคับแคบเราก็กระเสือกกระสนปฏิบัติของเรา

แต่ถ้าเวลาทางปฏิบัติ สิ่งนั้นเราวางได้ ปิดสวิตช์ สวิตช์โลกเปิดปั๊บ ทำหน้าที่การงานทางโลกเลย เวลาจะปฏิบัติ ปิดสวิตช์ปั๊บ จะเปิดสวิตช์ทางธรรมปั๊บ ปิดทางนี้ไว้เลย ทางโลกเขาไว้ที่บนโลก เราจะไปทำสมาธิแล้ว เราจะไปทางธรรม เปิดสวิตช์นี้ปั๊บ เราก็ปฏิบัติเลย เพราะเราเป็นฆราวาส ทางมันคับแคบ แต่เราก็หาทางไป

สวิตช์โลกก็เปิดทางโลก ปิดสวิตช์ธรรมเลย เปิดสวิตช์โลกก็ทำหน้าที่ทางโลกกันไป พอจบเวลาแล้ว ทำงานจบแล้ว ดูแลพ่อแม่เสร็จแล้ว กลางคืนเราจะสวดมนต์เสร็จแล้ว ปิดสวิตช์โลกผลัวะ! เราก็เปิดสวิตช์ธรรมผลัวะ! ปฏิบัติไปเลย เห็นไหม ทำดีอย่างนี้ ชีวิตของเรา

เวลาพูด หลวงพ่อพูดง่ายๆ ผมเกือบตายนะ หลวงพ่อเป็นพระ เห็นแก่ตัว ผมเป็นฆราวาสนะ ผมทุกข์ยากมากเลยนี่คิดแบบฆราวาส คิดแบบทางโลกไง

พระก็มาจากคน ความคิดของมนุษย์ ความคิดของคน พระก็คิดแบบนั้นแหละ เพียงแต่พระโกนหัว แล้วอุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่มา พระก็มีความคิดเหมือนกัน แล้วพระที่จะเอาความคิดของตัวเองไว้ได้ ตอนบวชใหม่ๆ มันก็มาจากโลก มาจากมนุษย์นี่แหละ มาจากคนนี่แหละ ก็ความคิดอันเดียวกันนี่ สมองนี่ คนคนนี้แหละ เพียงแต่เข้าไปโกนหัว แล้วก็เข้าพิธีบวช บวชมาก็ความคิดโลกๆ แล้วเวลาจะเอาตัวเองรอดมันต้องวิกฤติ มันต้องบากบั่นขนาดไหนมันถึงทำได้

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำกันได้ เวลาบวชเป็นพระแล้ว กายเป็นพระ แต่ใจยังเป็นทางโลกอยู่ เขาเรียกว่าผู้บวชใหม่ยังทนคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ที่เราเรียกร้องกันอยู่นี่ไงว่า สังคมมันยุ่งเพราะพระไม่สั่งสอนๆ

พระก็ยังไม่รู้เลย จะเอาอะไรไปสอน แต่พระกว่าจะประพฤติปฏิบัติ จนใจเป็นพระขึ้นมา โอ้โฮ! มันทุกข์มันยากขนาดไหน ถ้ามันทุกข์ยาก มันทุกข์ยากความจริงก็อย่างที่ว่า เปิดสวิตช์ทางโลก เปิดสวิตช์ทางธรรม ถ้าเปิดทางธรรม ทางธรรมก็อยู่โคนไม้ อยู่คนเดียว ภาวนาเอา อยู่ที่ความวิเวกไง อยู่ที่ความสงบสงัด มีความสุขสงบสงัด ที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โคนต้นโพธิ์ เสวยวิมุตติสุข นั่ง ๗ วัน ๗ คืน โอ๋ย! มีความสุข นี่เปิดสวิตช์ทางธรรม

แล้วมันอยู่ได้ไหมล่ะ เพราะมันอยู่กับสังคมโลก ก็ต้องปิดสวิตช์ทางธรรมขึ้นมา ก็มาทางโลก มาเผยแผ่ มาชักนำ รื้อสัตว์ขนสัตว์ มันมี ๒ สวิตช์ไง มันมีทั้งทางโลกและทางธรรม

ความดีไง ความดีก็คือความดี บุญกุศล เวลาทำบุญกุศลทุกคนจะคิดอย่างนี้โอ๋ย! เป็นชาวพุทธทำความดี โอ๋ย! เนื้อนาบุญของโลก ทำมหาศาลเลย แต่ทำไมชีวิตมันทุกข์ขนาดนี้

แต่ทำไมไม่มองถึงว่าเวลาเวียนว่ายตายเกิด เวลาเราเห็นคนที่เขารังแกกัน คนที่เขาเบียดเบียนกัน เราเห็นแล้วเราสังเวชไหม ไม่รู้ว่าชาติใดชาติหนึ่งเราไปทำอะไรไว้ นี่เวลาเราเห็น ปัจจุบันเรามีสติปัญญา เราเห็นแล้วเราสังเวชมากเลย แต่การกระทำที่เราทำสิ่งใดแล้วมันผิดพลาดตลอด ทำสิ่งใดแล้วหลุดไม้หลุดมือ ไม่เคยจับต้องได้เลย เราเคยทำอะไรไว้

ถ้าเราคิดว่าเราเคยทำอะไรไว้นะ วางไว้เลย สิ่งที่ทำมาแล้วก็ได้ทำมาแล้ว ในปัจจุบันนี้สำนึกผิด ในปัจจุบันนี้สำนึกได้ เราจะต่อสู้กับสัจจะความจริงของเรา พุทโธของเรา จะมีสิ่งใดเกิดขึ้น ชดใช้กรรมให้หมด เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เวรย่อมระงับด้วยการปล่อยวาง ระงับให้หมด เราระงับ เราวางให้หมด แล้วเราทำคุณงามความดีของเราไป เราทำคุณงามความดีของเราไป ใครจะคิดอย่างไรช่างหัวมัน เราจะทำคุณงามความดีของเรา คุณงามความดี เราเชื่อมั่น เราเชื่อมั่น เรามีสัตย์ เรามีความจริง เราทำของเรา

โลก ใครจะเยาะเย้ยเหยียดหยามอย่างไร เรื่องของเขา ใครจะมองอย่างไร เรื่องของเขา เราหากินของเราด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา มีศีลมีธรรมเป็นเครื่องตรวจสอบใจของเราแล้วจบ ใครจะว่าอย่างไร เรื่องของเขา ทำดีต้องได้ดี เราทำความดีของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง