เทศน์บนศาลา

ใจสู่ใจ

๒๓ ก.ย. ๒๕๔๗

 

ใจสู่ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ตั้งใจฟังธรรมเลย ฟังธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม กว่าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงวางภาคปริยัติไว้ เวลาเราศึกษากัน เราศึกษาธรรมในภาคปริยัติ การศึกษาธรรมในภาคปริยัตินี้เป็นวิชาการ สิ่งที่เป็นวิชาการเพื่อจะสื่อความหมายกันเท่านั้น แต่ธรรมความจริงคือใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม รู้สัมผัสธรรมก่อน ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเอาอะไรมาเป็นปริยัติ จะเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องดำเนินให้เราก้าวดำเนินไป สิ่งที่ก้าวดำเนินมาเพราะต้องมีผู้รู้จริงก่อน สิ่งที่รู้จริง เห็นไหม เพราะความรู้จริงอันนั้นถึงมีความวิมุตติสุขอันนั้น ถึงวางธรรมมา ออกมาเป็นภาคปริยัติ แล้วเราศึกษาภาคปริยัติกันนะ แล้วเราก็ท่องจำกัน เราทำบุญทำกุศล เราก็สร้างบุญกุศลเพื่อปรารถนามรรคผลนิพพาน

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจะเป็นการปฏิบัติแบบพระปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติ เราก็ว่า “เป็นอัตตกิลมถานุโยค” สิ่งที่อัตตกิลมถานุโยคเพราะทำรุนแรงเกินไปไง แต่เวลากิเลสมันขี่หัวนะ ขี่หัวผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะไม่มีใครพาเห็นว่ากิเลสขี่หัวเลย ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมนี่แหละ สิ่งที่ปฏิบัติธรรมอยู่นี่ให้กิเลสพาทำ สิ่งที่ทำออกไปถึงได้แต่ความเป็นสัญญา ความจำได้หมายรู้ สัญญาอารมณ์สร้างสมกันมา ธรรมจะเกิดขึ้นมาจากผู้ที่ปฏิบัติจริง

หลวงปู่เจี๊ยะเป็นผู้ที่ปฏิบัติจริง มีธรรมในหัวใจจริงๆ นะ เวลาท่านออกจากวัดป่าทรายงามจะขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เราไม่รู้ว่าที่ท่านออกมาท่านมีธรรมอยู่ในหัวใจของท่านนะ แต่ท่านไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้ว่าท่านมีธรรมในหัวใจของท่าน เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า

“กิริยาท่าทางของท่าน...หนึ่ง ความประพฤติต่างๆ ของท่าน...หนึ่ง พูดไปใครจะเชื่อ”

สิ่งที่พูดไปไม่มีใครเชื่อนะ แล้วท่านจะต้องเอาใจไปสู่ใจ ต้องเอาใจคือสิ่งที่สัมผัสธรรมอันนี้ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไง เพื่อให้ธรรมอันนี้ให้หลวงปู่มั่นท่านได้ยินได้ฟัง แต่เวลาท่านจะออกจากวัดป่าทรายงามขึ้นไปเชียงใหม่ แม่ก็ห้าม ทุกคนก็ห้าม เพราะสิ่งที่เขาห้ามนั้นเขามองเป็นทางโลกไง

สิ่งที่เป็นทางโลก เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติเราก็ประพฤติเพื่อทางโลก สิ่งที่ทางโลกความสุขสบายของโลกเขา สิ่งใดสนองกิเลสตัณหา สิ่งนั้นเป็นความสุข สุขนี้สุขด้วยอามิสไง คนที่มีอำนาจวาสนา คนที่มีบุญกุศล เกิดมามีบุญกุศล บุญกุศลอันนี้มันเป็นอำนาจวาสนาบารมี มันก็มีความสุขความสบาย ความสุขความสบายอันนี้มันเป็นอามิสไง

แต่ในเมื่อพื้นฐานอย่างนี้ คนเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ เป็นย่า เป็นตา เป็นยาย ก็ต้องการให้ลูกหลาน ของเรามีความสุขอย่างนี้ นี่มันเรื่องของโลก โลกปรารถนาความสุขกันแต่เรื่องสิ่งที่เป็นอามิส สิ่งที่เป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลก เห็นไหม ถึงยับยั้งไง แต่เพราะธรรมขององค์หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะไม่พูดถึงเลย เรื่องธรรมในหัวใจของท่าน ท่านจะไม่พูดให้ใครได้ยินได้ฟังเลย เพราะถ้าพูดไปคนเขาสบประมาทมามันจะเป็นกรรมของเขา ใจอันนี้ถึงเก็บไว้ในหัวใจ เห็นไหม นี่ปลาเป็น ปลาเป็นต้องทวนกระแส สิ่งที่ทวนกระแส เห็นไหม พยายามจะเอาใจดวงนี้ไปรายงานหลวงปู่มั่นก็ต้องทวนกระแสไปทั้งหมด โลกขวางทั้งหมด โลกไม่ให้ไป โลกจะยับยั้งไว้ ดึงไว้ เพื่อให้อยู่กับโลก ทั้งๆ ที่ใจเป็นธรรมนะ ใจนี้เป็นธรรม จะเป็นเรื่องของโลกไปไม่ได้ แต่สื่อกับโลกเขาไปไม่ได้ เห็นไหม นี่ผู้ที่มีใจเป็นธรรม

ปลาเป็น เห็นไหม ทวนกระแสน้ำ สิ่งที่ทวนกระแสน้ำไป เราดูปลาสิ เวลาเขาจะวางไข่เขาต้องพยายามทวนกระแสของเขาขึ้นไป กระโดดข้ามก้อนหินที่ขวางหน้า หญ้าคา หญ้าต่างๆ มันจะทวนกระแสของมันขึ้นไปวางไข่นะ เห็นไหม มันต้องมีความอดทน มันต้องมีความมานะบากบั่นของมัน เพื่ออะไร เพื่อจะขึ้นไปวางไข่ ดำรงเผ่าพันธุ์ของมันไง

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะจะเข้าไปดำรงเผ่าพันธุ์ของศากยบุตรพุทธชิโนรส เห็นไหม มีธรรมในหัวใจ ธรรมในหัวใจนี้จะสื่อความหมายกับใคร ภาคปริยัติเขาไม่รู้นะ ภาคปริยัติบอก “ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมต้องสื่อออกมาได้ ต้องสื่อออกมาโดยภาคปริยัติ” สิ่งที่เป็นปริยัติเกิดขึ้นมาจากใจนะ เกิดขึ้นมาจากใจเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด

สิ่งที่เป็นภาคปริยัตินี้เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องหมายดำเนิน เห็นไหม แผนที่ดำเนิน เวลาสร้างวัด เราต้องมีแผนที่ ทุกคนอ้างว่าจะประพฤติปฏิบัติต้องมีการศึกษาก่อนเพื่อมีแผนที่ แต่ถ้ามีแผนที่ขึ้นมาแล้ว พิกัดของแผนที่ต่างกันก็อ่านต่างกัน พิกัดของแผนที่ เห็นไหม เวลาเราอ่านแผนที่ ต่างคนก็เถียงกัน เพราะสูตรต่างๆ มันต่างกัน แต่ลงพื้นที่แล้วจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย

เวลาภาคปริยัติเขาทดสอบกัน เห็นไหม เขาสอบ เขาจะมีกรรมการตรวจสอบผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ธรรมไม่เป็นแบบนั้น ธรรมนี้ธรรมะแต่งตั้งนะ ธรรมถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเข้าไป ความเป็นไปของธรรมไง สิ่งที่จะเกิดขึ้นต้องสมดุลไง สิ่งที่สมดุล เห็นไหม สภาวธรรมทวนกระแสนะ ทวนกระแสตั้งแต่โลก โลกเขาห้ามกัน พยายามดึงรั้งกันเพื่อไว้ในโลกไง ทั้งๆ ที่มีธรรมอยู่ในหัวใจนะ

แต่เวลาปลาตายล่ะ เวลาปลามันจะตายมันไปตามกระแสไง กระแสโลกเป็นแบบนี้ แล้วปลาตายมันไปตามกระแส สิ่งที่ตามกระแสคือตามกระแสของโลกนั้นไป สิ่งที่ตามกระแสนะ แล้วปลาตายต่อไปมันก็คือปลาเน่า ปลาเน่ามันทำตัวมันเอง มันเน่าเหม็นในตัวมันเองแล้วมันก็เกาะกระแสไว้นะ กระแสของธรรมขององค์หลวงปู่มั่นที่ค้นคว้ามานี่แหละ สิ่งที่หลวงปู่มั่นค้นคว้าธรรมมานี่ ทุ่มมาทั้งชีวิตนะ เพราะหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านถึงพยายามค้นคว้าไง

เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ สองพันกว่าปีนะ ๒,๕๐๐ ปีนี่กึ่งพุทธกาล ในพระไตรปิฎกว่า “ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญอีกหนหนึ่ง” หลวงปู่มั่นบอกว่า “กึ่งพุทธกาลนี้เจริญมาตั้งแต่ที่พระจอมเกล้าฯ พยายามทำให้เข้าไปใกล้กับธรรมมากขึ้น” ธรรมวินัยคือสิ่งที่จะเป็นแผนที่เครื่องดำเนินให้เราก้าวกันไป สิ่งที่เขาทำมา เขาสืบต่อมา เห็นไหม ปริยัติ สิ่งที่เป็นความลังเลสงสัย สิ่งที่เป็นการตีความแล้วก็ตีความกันไปพลาดพลั้งกันไป ตีความกันไปเป็นหมู่สงฆ์อย่างนั้น เป็นกันไป เห็นไหม

ศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากใจ เกิดที่หัวใจนะ แม้แต่ไม่ใช่นักบวช นางวิสาขาก็ยังเป็นศากยบุตร เพราะเป็นสังฆะเหมือนกัน สิ่งที่เป็นสังฆะ เห็นไหม ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกสงฆ์ อุบาสิกาสงฆ์ สงฆ์คือสังฆะที่เกิดขึ้นจากใจ นี่พุทธชิโนรส สิ่งที่เป็นศากยบุตร บุตรจะเกิดจากตรงนี้ไง

แล้วในเมื่อการศึกษาการจดจำมานี่ กาลเวลาผ่านไปนะ เวลานี้ ๒,๕๐๐ ปี เวลานี้มันยาวไกลนัก ศาสนาเรานี้จะยืนไปอีก ๕,๐๐๐ ปี อีก ๒,๕๐๐ ปีเป็น ๕,๐๐๐ ปี นี้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ในพระไตรปิฎก แล้วโลกเราล่ะ โลกเรานี่พิสูจน์กันมา ตอนนี้วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าอายุขัยของโลก ๕๐ ล้านปี สิ่งที่ ๕๐ ล้านปี สิ่งนี้สร้างสมมา โลกนี้เป็นอจินไตย ความเป็นไปของโลกเป็นอจินไตย

แล้วเราเกิดมาในท่ามกลางของโลก แล้วเราติดโลกไหมล่ะ ถ้าเราติดโลกเราเรียนปริยัติเรายึดของเรา ผิดพลาดจากโลกไม่ได้ เพราะกระแสสังคมเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าเราผิดพลาดไปจากโลก เราจะอายเขาไง เราจะต้องสร้างไปตามกระแสโลก เราจะประพฤติปฏิบัติเราก็อายเขา อายว่า “พระไม่มีการศึกษาจะเอาความรู้มาจากไหน ความรู้นี้จะต้องศึกษาเล่าเรียนมาก่อน”

ศึกษาเล่าเรียนมาขนาดไหนก็มีความลังเลสงสัย แล้วก็ตีความกันไป เห็นไหม จนพระจอมเกล้าฯท่านเห็นความเป็นไปอย่างนั้น ท่านถึงพยายามค้นคว้าไง แต่พระจอมเกล้าฯ ท่านไม่มีบุญญาธิการถึงจะทำให้ท่านสิ้นได้ ท่านถึงว่าต้องตายไป แต่ท่านก็ได้สร้างสิ่งนี้มาไว้เพื่อจะให้เราก้าวเดินไง หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ไง ในธรรมวินัยนี้ เพราะองค์หลวงปู่มั่นนี้ครูบาอาจารย์ว่าท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ นี่บุญญาธิการของผู้ค้นคว้านะ

ย้อนกลับไปที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ไม่มีธรรม ธรรมนี้ไม่มี ไปเรียนกับใครก็แล้วแต่ การันตีนะ “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา สอนใครก็ได้” การันตีนะว่าให้เป็น แต่เจ้าชายสิทธัตถะไม่ยอมรับความเป็นจริงอันนั้นเลย อาฬารดาบสบอก “ได้สมาบัติ ๘” สมาบัติ ๘ ความว่าง ความสงบสุข สุขขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

แต่ธรรมนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ สิ่งนี้ยังไม่เกิดไง แต่เพราะความพิสูจน์ของใจ พิสูจน์ว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงถึงต้องค้นคว้านะ หันมาค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ค้นคว้าสภาวะแบบนี้ ธรรมไม่มี ต้องพยายามฝึกฝน เพราะบุญญา-ธิการสร้างสมมามหาศาล เวลาประพฤติปฏิบัติสลบถึง ๓ หน ๓ หนนะ อดอาหาร อดต่างๆ อดเพื่ออะไร เพราะสิ่งที่ว่าเป็นความทุกข์..ความทุกข์ เราก็จับได้แต่วัตถุเท่านั้นว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นทุกข์ไง แล้วจะพ้นจากทุกข์ จะพ้นจากทุกข์ได้

คนมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มันก็ต้องมีตรงกันข้ามกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เห็นไหม ความตรงข้ามสิ่งที่เป็นความตรงข้าม เราก็ว่าจะประพฤติปฏิบัติกันเพื่อความไม่ตายไง กษัตริย์สมัยโบราณ เห็นไหม เป็นกษัตริย์ไม่อยากตาย พยายามจะหาสมุนไพรหาสิ่งต่างๆ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ไง สิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้เพราะเกิดมาจากโลก อยู่กับโลก

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ค้นคว้าจนเข้าไปเห็น เห็นจิตปฏิสนธิ ปฏิสนธิจิตนี้ไม่ใช่อาการของใจ สิ่งที่อาการของใจคือขันธ์ ๕ สิ่งที่เป็นอาการของใจนี้ เป็นอาการที่เกิด เป็นเงาของร่างกาย สิ่งที่เป็นเงาของร่างกาย เห็นไหม ปริยัติเอาตรงนี้เรียนกัน เอาสิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์นี้จำมา สัญญาความจำได้หมายรู้ จำสิ่งต่างๆ มา มันก็เลอะเลือนไป เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าอย่างนี้ เข้าไปทำลายกิเลสอย่างนี้ ทำถึงจิตดวงนี้ จิตที่ตายจากพระเวสสันดรมาเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาสร้างมา แต่เวลากิเลสมันตายแล้วจิตนี้จะไม่ตายไง สิ่งที่เป็นความตรงกันข้ามกับความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันกังวานกลางหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ การค้นคว้ามาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะสร้างบุญญาธิการมหาศาลเลย

หลวงปู่มั่นท่านมีธรรมแล้วนะ เกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา กึ่งกลางพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากแต่มันก็เป็นภาคปริยัตินะ ไปปรึกษากับใคร แม้แต่หลวงปู่เสาร์เห็นไหม ออกประพฤติปฏิบัติด้วยกัน หลวงปู่เสาร์เป็นครูเป็นอาจารย์ เวลามีความลังเลสงสัยไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ก็ตอบไม่ได้ไง เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะสร้างสมบุญญาธิการมา ปัญญามันต่างกัน

แต่หลวงปู่มั่นนี้สร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ ปัญญามันกว้างขวางกว่า แล้วกิเลสเวลาประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม ความเป็นไปของจิต จิตนี้จะกระทบกระเทือน ความเห็นต่างๆ เพราะอะไรล่ะ? เพราะบุญญาธิการไง เพราะสร้างสมมาเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่สร้างสมมาเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่ใจออกสัมผัส ความสัมผัสต่างๆ มันมหัศจรรย์มาก สิ่งที่มันมหัศจรรย์นั้นมันแก้กิเลสไม่ได้ เพราะจิตนี้ถ้าพูดถึงไม่หักเข้ามา ไม่ลาพระโพธิสัตว์นะ เวลาประพฤติปฏิบัติไปก็เป็นพระโพธิสัตว์สร้างสมไปอีกชาติหนึ่ง ก็จะเกิดต่อไปอีกชาติหนึ่ง..อีกชาติหนึ่ง ตลอดไปอย่างนั้น ถ้าตลอดไปอย่างนั้น นี่ก็สร้างสมกันไปไง

แต่ถ้าลาล่ะ จะลาพระโพธิสัตว์นะ ต้องหันกลับเข้ามาตรงนี้ไง กำหนดจิตให้สงบเข้ามา..กำหนดจิตให้สงบเข้ามาแล้วเอาจิตนั้นตัด เอาความรู้สึกอันนั้นตัดสิ่งที่มันเป็นสมบัตินะ สมบัติเรานี่เราสร้างสมมามหาศาลเลย เราคนมีเงิน คนมั่งมีศรีสุข สมบัติเรามีมหาศาลเรากล้าสละไหม? เราเสียดายไหม? แล้วนี่พระโพธิสัตว์! สิ่งที่สร้างสมมานี้มหาศาล แล้วจะต้องมาสละสิ่งนี้ออกไง ถ้าทำลายสิ่งนี้ออก ถ้าจิตสงบขึ้นมา ทำลายแล้วลาโพธิสัตว์นี้ ลาสิ่งที่จะให้จิตนี้เคลื่อนไป...

เพราะเป็นอาการของใจมันเป็นขันธ์ไง ขันธ์ ๕ สัญญาความจำได้หมายรู้ เห็นไหม สิ่งนี้ ขันธ์ ๕ อย่างนี้มันเป็นขันธ์ ๕ ในปัจจุบัน แต่สมบัติพระโพธิสัตว์มันอยู่ที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญญาณํ เห็นไหม ปัจจยาการของปฏิสนธิจิตไง ปัจจยาการนี้ อวิชชา สังขารานี้ ตัวอวิชชานั้นเป็นตัวตอของจิต! เราสร้างสมบุญญาธิการ เราทำบุญกุศลนี่เป็นอามิส อามิสเกิดจากปัจจุบันนี้ เราอยู่กับเงาของใจทั้งหมด แต่เราไม่รู้นะ...

เราปุถุชนนี่อยู่กับเงาของจิตไม่ใช่จิต จิตคือตัวพลังงาน ตัวความคิดนี้คืออาการของใจ

เราสร้างสมสิ่งนี้ เห็นไหม พอทำบุญกุศล สิ่งนี้เราอุทิศให้หลวงปู่เจี๊ยะ แต่สิ่งที่อุทิศให้หลวงปู่-เจี๊ยะ หลวงปู่ท่านหมดกิเลสแล้วท่านจะเอาสมบัติอะไรของเรา แต่เพราะหลวงปู่เป็นเหตุ เป็นเนื้อนาบุญของเรา เราสร้างสมเพื่อเราต่างหากล่ะ ในเมื่อเราสละทำบุญเพื่อหลวงปู่เจี๊ยะนะ นี่อาการของใจ สิ่งนี้การกระทำของใจ แล้วสิ่งนี้เป็นขันธ์ ๕ ไง อายตนะ ขันธ์ ๕ มันจะย่อยสลายลงไป เห็นไหม สัญญาสิ่งที่จำไว้แล้วมันย่อยไปที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตัวนั้นไง

สิ่งที่ตัวนั้นล่ะ บุญกุศลจะสร้างขนาดไหนก็อยู่กับเรา บาปอกุศลสร้างขนาดไหนก็อยู่กับเรา อยู่กับเราก็อยู่ที่จิตนี้ไง สิ่งนี้วนเข้าไปตรงจิตปฏิสนธินี้ แล้วกำหนดจิตให้มันสงบเข้ามา เห็นไหม ไปตัดตรงจิตปฏิสนธิต่างหากล่ะ ไปลาพระโพธิสัตว์ตรงนี้ไง พอลาพระโพธิสัตว์ตรงนี้ ย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม ถึงภาวนาเริ่มต้นจะเป็นวิปัสสนา สิ่งที่เป็นวิปัสสนาย้อนกลับเข้ามาทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม

จนถึงกับหลวงปู่เจี๊ยะนี่พยายามค้นคว้า ดั้นด้น ทวนกระแส ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่นะ เวลาไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ หลวงปู่มั่นท่านฟังหลวงปู่เจี๊ยะพูดถึงการวิปัสสนากายตั้งแต่ข้อของจิต ข้อของอาการของกาย ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า กระดูกสันหลัง กระดูกต่างๆ ไล่ไปจนหมด จนมันปล่อยนะ มันปล่อยวางขนาดไหนนี่ วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ไง นี่น่ะธรรม ธรรมในหัวใจของหลวงปู่เจี๊ยะไปแสดงธรรมกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นฟังธรรมแล้วไม่คัดค้านแม้แต่คำเดียว หลวงปู่เจี๊ยะถามหลวงปู่มั่นว่า “แล้วจะให้ทำอย่างไรต่อไป”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ให้ทำอย่างเดิม” สิ่งที่ทำอย่างเดิม เห็นไหม ทำอย่างเดิมคือวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มรรคหยาบ มรรคละเอียด เห็นไหม โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นธรรมนะมันมีความหยาบ มีความละเอียด ละเอียดสุดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ

แต่เวลาพระกรรมฐานคุยกันเรื่องกายนอก กายใน กายในกายนี่ ทางฝ่ายวิชาการปริยัติเขาไม่ยอมรับ เขาไม่ยอมรับว่า “กายนอก กายใน พูดกันเหลือเกิน สิ่งนี้เอามาพูดกันเหลือเกิน มาจากไหน? มาจากไหน?” มาจากธรรมในหัวใจไง! มาจากสภาวธรรมที่หลวงปู่มั่นยอมรับหลวงปู่เจี๊ยะนี่ไง! หลวงปู่มั่นท่านรับประกันว่า “หลวงปู่เจี๊ยะท่านมีธรรมความเป็นจริง” เห็นไหม ความจริงคือความจริง คนไม่รู้พูดไม่ได้ คนไม่รู้อาการของใจ การปล่อยของใจ จะพูดเรื่องการปล่อยนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่ทำไม่ถูกต้องมันเป็นสัญญาอารมณ์

ในการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้เขาประพฤติปฏิบัติกัน เห็นไหม เขาบอกว่า “การประพฤติปฏิบัติแบบพระป่านี่ไม่ได้ผล ไม่ได้ผลเพราะมันเป็นสมมุติ พุทโธๆๆ เป็นสมมุติ ต้องกำหนดปรมัตถ์” ปรมัตถ์มันก็สมมุติ! เพราะอาการของใจมันเป็นสมมุติ ในเมื่อเราสมมุติขึ้นมามันก็สมมุติ แต่ตั้งชื่อว่ามันปรมัตถ์ไง แล้วกำหนดนามรูป..นามรูป มันไม่เป็นวิชาการในภาคปฏิบัติ มันเป็นวิชาการในปริยัติ

สิ่งที่เป็นปริยัตินี่เป็นสัญญาอารมณ์ สิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์มันก็สร้างความสงบได้เหมือนกัน เพราะอาการของใจ ใจมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด เวลาเราทุกข์เราร้อนเรากังวลสิ่งใด ถ้าเรามีความเข้าใจ เช่น ของเราไม่อยู่นี่ เรามีความกังวลมาก แต่ถ้าเราไปเห็นของของเรา ความกังวลจะหายทันทีเลย เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน อาการของใจ รูปนาม นามรูป พิจารณาดูนามรูป มันก็ปล่อยวางนามรูปเข้ามา..ปล่อยวางนามรูปเข้ามา มันก็ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามาเป็นอะไรล่ะ? ปล่อยวางเข้ามามันก็เป็นสมถะ มันเป็นความว่างแล้วไม่มีสติอีกต่างหาก

แต่ที่ว่ากายนอก กายใน กายนอกคือการวิปัสสนากายเบื้องต้น เบื้องต้นการวิปัสสนากาย จิตต้องสงบเข้ามาก่อน ในภาคปฏิบัติเราถึงต้องกำหนดพุทโธไง “คำว่าพุทโธนี้เป็นสมมุติ กำหนดแล้วจะไม่มีประโยชน์” พุทโธนี่สำคัญมากเลย สำคัญเพราะอะไร? เพราะเราทำบุญอุทิศให้หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะเป็นที่เคารพของพวกเรา เราถึงทำบุญถวายหลวงปู่เจี๊ยะ แต่หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องการสิ่งใดเลย

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา! เป็นบรมครูของเรา! เรากำหนดพุทโธนี่เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเรากราบพระกันนี่ เรากราบอะไร? เวลาเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไปกราบพระ กราบถึงพระไหม? เรากราบตรงไหน? เรากราบปัญญาคุณ เรากราบธรรม เรากราบสังฆะ เวลาเรากราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเรากราบโดยคุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะกราบถึงพระ ถ้าเราสักแต่ว่ากราบ เรากราบทองเหลืองนะ

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติเข้ามานี่ กำหนดพุทโธๆ เราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ในเมื่อเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำหนดพุทโธๆ โดยสติสัมปชัญญะพร้อมเข้าไปนี่ ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ มันจะมีสติตลอดเลย มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันก็เป็นสติเข้ามา มีสตินะ

แต่ถ้ามันไม่ปล่อยไม่วาง สติเรานี้เวลาพุทโธมันแลบออกไป มันนึกมันออกไปทางไหนเราก็พุทโธให้เร็วขึ้นก็ได้ เราใช้อย่างอื่นก็ได้ นี่ต้องการสิ่งนี้ไง สิ่งนี้มาเพื่อให้ใจสงบ ถ้าใจสงบจิตนี้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิเพราะเรามีสติคุ้มครอง คุ้มครองหัวใจ พุทโธๆ นี้เป็นชื่อของพุทโธ เวลาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในหัวใจ เห็นไหม ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใด เห็นไหม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตนะ ถ้าเราพิจาณากาย ปล่อยวางกายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน กำหนดพุทโธๆ เวลาจิตเราสงบเข้ามา เราจะเห็นความสัมผัสกับความสุขนะ ความสุขเกิดขึ้นกับการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราประพฤติปฏิบัติมีแต่ความทุกข์ความเร่าร้อน ความเร่าร้อนนี้เกิดจากกิเลสตัณหาของเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ปฏิบัติก็อยากได้ พุทโธก็อยากสงบ อยากแล้วมันก็เป็นตัณหาความทะยานอยากซ้อนเข้าไป เห็นไหม จิตใต้สำนึกของปุถุชน จิตใต้สำนึกของคนอยากดีทุกคน อยากดีแต่ไม่มีปัญญา อยากดีทำอย่างไรดี คนที่ไม่เข้าใจอยากดีก็อยู่ทางโลกเขา คดโกงต่างๆ ก็เพื่อตัวตน เพื่อดีของเขา นี่ความดีหยาบๆ ดีแบบโลก

ถ้าดีแบบเรา เราก็อยากดี อยากดีแบบประกอบสัมมาอาชีวะ เป็นคนมีศีลมีธรรม คนสร้างบุญกุศลมา เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราอยากมีความสงบ ถ้าอยากอย่างนี้มันเป็นตัณหาซ้อนตัณหา เพราะจิตใต้สำนึกของเรามันมีความอยากอยู่แล้ว ทีนี้เราถึงต้องกำหนดพุทโธๆ นี้ พยายามไม่มีความอยาก ไม่ต้องการสิ่งใด พุทโธๆ เพื่อให้จิตสงบ เห็นไหม ถ้าสติมันค้ำเข้ามาอย่างนี้มันจะสงบเข้ามา..สงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามา เห็นไหม มีสัมมาสมาธิ

พระป่าเรา ครูบาอาจารย์ถึงว่า “ต้องมีสมาธิ” ถ้ามีสมาธิ ปัญญาที่แบบว่ากายนอกกายใน ที่ว่าพูดกันเหลือเกิน..พูดกันเหลือเกิน กายนอกกายในนี้เกิดขึ้นจากตามความเป็นจริงไง เกิดขึ้นจากปลาที่ทวนกระแสนะ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากปลาเน่า ถ้าเกิดขึ้นจากปลาเน่านี้มันสร้างสัญญาอารมณ์ มันเสื่อมไง ถ้าปลาที่มีชีวิตพยายามดันขึ้นไป แบบครูบาอาจารย์ของเราขึ้นไปหาหลวงปู่ เห็นไหม เวลาเอาธรรมนี้ไปสัมผัสนะ ใจสู่ใจ ยอมรับตามความเป็นจริง เห็นไหม เวลายอมรับตามความเป็นจริง เข้าไปสภาวะแบบนั้น จนหลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการนะ

“มีพระองค์หนึ่งปฏิบัติถึง ๓ พรรษา เท่ากับเราปฏิบัติ ๒๒ พรรษาที่ถ้ำสาริกา”

ฉะนั้น ที่ถ้ำสาริกานี้ก็ต้องว่าหลวงปู่มั่นท่านได้ ๒ ขั้นตอน สิ่งที่ได้ ๒ ขั้นตอน เห็นไหม แล้วท่านบอกรวมใหญ่ไง เวลาประวัติหลวงปู่มั่นโดยของหลวงตามหาบัวท่านบอกว่า “ตอนที่หลวงปู่มั่นอยู่ที่ถ้ำสาริกานี่จิตมันรวมใหญ่” สิ่งที่รวมใหญ่ เห็นไหม คำว่ารวมใหญ่นี่ ถ้าปลาเน่ามันจะบอก “รวมใหญ่ ทุกคนก็ทำได้ กำหนดพุทโธๆ เข้าไปนี่รวมใหญ่ รวมมากนะ” รวมอย่างนี้มันเป็นสมถะไง

สิ่งที่คำว่ารวมใหญ่นี่ สิ่งนี้มันต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ถ้าใจสู่ใจ ธรรมสู่ธรรมนะ รวมใหญ่ต้องมีปัญญา สิ่งที่ปัญญามันใคร่ครวญมันทำลายกิเลสเข้ามานี่ มันรวมใหญ่ รวมใหญ่โดยวิปัสสนาญาณไง สิ่งที่ว่าวิปัสสนาญาณ ปัญญาภาวนามยปัญญาอย่างนี้มันเกิด หลวงปู่มั่นได้ธรรมอันนี้ขึ้นมา พอพลิกเข้ามา เห็นไหม ตั้งแต่ลาพระโพธิสัตว์เข้ามา ประพฤติปฏิบัติเข้ามาจนถึงจุดนี้พลิกจากใจดวงนี้เข้ามา พอรวมใหญ่นี่ เพราะเป็นพระโพธิสัตว์ ลงมานะกำหนดจิตเข้าไปจะเห็นเลยว่า หลวงตาอยู่ที่ตีนเขากำลังคิดถึงครอบครัว คิดถึงต่างๆ เห็นสภาวะไปหมดเลย สิ่งที่เห็นสภาวะไปนั้น สิ่งนี้เป็นผลพลอยได้นะ...

คำว่ารวมใหญ่ หมายถึงว่า เวลามันสมุจเฉทปหานไง กายกับจิตมันจะแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริงของมัน! เห็นไหม กายนอกคือพิจารณากายโดยจิตที่สงบแล้วยกขึ้น ยกกายขึ้นวิปัสสนา ถ้าใครวิปัสสนากายได้ เห็นกายโดยตามความเป็นจริงนะ...

เห็นกายโดยความเป็นจริงหมายถึงเห็นจากใจ ไม่ใช่เห็นจากตา

เห็นจากตานี้เป็นสมมุติทั้งหมดเลย

ถ้าเห็นจากใจ ถ้าจิตไม่สงบเห็นไม่ได้ แต่ถ้าเขากำหนดโดยสามัญสำนึกที่เขากำหนดนามรูป เขาเห็นของเขา เห็นของเขานั่นเขาสร้างภาพ สิ่งที่สร้างภาพเพราะจิตมันไม่สงบเข้ามา มันเห็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเขากำหนดไปทำต่อไป เขาจะเห็นกายของเขา เห็นกายของเขาเขาก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะเขาไม่อยู่กับปัจจุบัน เขาจึงไม่สามารถใช้ปัญญาของเขาได้

การเคลื่อนไปของปัญญา ปัญญาการเคลื่อนไปของวิปัสสนาญาณ มันเกิดขึ้น มันจะทำงานของมันออกไป มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญามันเคลื่อนออกไป แล้วไม่ยอมรับความเคลื่อนไปของภาวนามยปัญญา ไม่ยอมรับความเคลื่อนไปของธรรมจักร ไม่ยอมรับการเคลื่อนของจักรนี้ที่มันหมุนออกไป มันจะเป็นวิปัสสนาไปไม่ได้

ถ้ามันไม่วิปัสสนามันก็จะดึงกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน คือดึงกลับมาอยู่ที่ความรู้สึก ดึงกลับมาอยู่ที่ความเป็นไปของจิตนี้ ไม่ยอมเคลื่อนออกไปโดยใช้ปัญญาไง แต่ถ้าท่องจำ จำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาบอกว่า “อันนั้นเป็นปัญญา” แต่เวลาปัญญามันจะเกิดโดยสัจจะความจริงนะ โดยธรรมจักรนะ แต่เขาไม่กล้าก้าวเดินออกไป เพราะกิเลสในหัวใจของเขาเหนี่ยวรั้งไว้

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นปลาเน่ามันจะไม่ก้าวเดินไป แล้วถ้าอย่างนี้ไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป สมาธิความสงบเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมไป เสื่อมไปโดยธรรมดาไง สิ่งนี้ต้องเสื่อมไปโดยธรรมดา สภาวธรรมนี้มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นอนัตตาตามความเป็นจริงโดยปัญญาของตัว ตัวไม่มีปัญญาขึ้นมาเห็นความเป็นอนัตตาของใจดวงนั้น เพราะไม่ยอมประพฤติปฏิบัติให้ธรรมเกิดขึ้นมาจากใจไง ไปเหนี่ยวรั้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกว่าพระพุทธเจ้าบอก “ต้องเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรม”

ครูบาอาจารย์สำคัญไหมล่ะ? ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ไง สำคัญตรงการชี้นำเพื่อไม่ให้เราเสียเวลา...หนึ่ง เพื่อไม่ให้เราหลงนอกทางไป...หนึ่ง เห็นไหม อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค คือตกซ้ายตกขวาไประหว่างไปช่องทางนั้น แล้วครูบาอาจารย์เราพยายามประคองไปนะ นี่หลวงปู่มั่นท่านประคองหลวงปู่เจี๊ยะเรามานะ ประคองครูบาอาจารย์ของเรามา ส่งต่อๆ กันมาเพราะเราเชื่อ เราเคารพครูบาอาจารย์ของเรา

แต่เวลาธรรมบอกว่า “อย่าเชื่อตัวบุคคลให้เชื่อธรรม” ใช่! “ไม่ให้เชื่อตัวบุคคล” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกาลามสูตรไว้ “ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์เราบอก” แต่ขณะที่ว่าเราอยู่กับครูบาอาจารย์เรานี่ ครูบาอาจารย์เราใจท่านเป็นธรรม ท่านเห็นสภาวะทั้งหมดเลย แต่ธรรมเกิดขึ้นจากเรานี่ เราก็เป็นสภาวะ แล้วเราคิดว่าเป็นธรรมไง

การประพฤติปฏิบัติไป เวลาเกิดนิมิตเห็นจริงๆ ความเห็นนั้นเห็นจริงๆ หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “เห็น แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง” สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะการเกิดดับหรือการวิปัสสนาไปมันต้องปล่อยวางไป มันเป็นตทังคปหาน มันเป็นความชั่วคราวของการเป็นไปของสภาวธรรมไง สิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติกันนะ เขามีสภาวธรรมนะ สภาวธรรมนี่มันเกิดขึ้นกับใจ แต่มันไม่ใช่เป็นอริยมรรค

ถ้ามันเป็นอริยมรรค มันต้องมีสติชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ งานชอบนี่สำคัญ! งานชอบ ชอบที่ไหน? เราทำความสงบ พุทโธๆ นี่ มันก็งานชอบ บอกว่า “รวมใหญ่..รวมใหญ่” ถ้าปลาเน่า เห็นไหม มันก็บอกมันก็ “รวมชอบ” มันก็ชอบของมันเพราะมันกำหนดพุทโธเข้าไป กำหนดอานาปานสติมันก็รวมชอบ สิ่งที่ชอบนี่ งานชอบคืองานที่จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้วจิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร? วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

สิ่งต่างๆ สมบัติในโลกนี้เขาวางไว้อยู่บนโลกนะ สิ่งทุกอย่างนี่เกิดขึ้นจากดิน เกิดจากโลกนี้ สิ่งต่างๆ ในการประพฤติปฏิบัติเกิดจากใจนะ ความทุกข์ความสุขต่างๆ เกิดขึ้นจากใจ สิ่งที่เป็นภาระรุงรังก็เกิดขึ้นจากใจ ใจนี้มันภาระรุงรังของเราขึ้นมา แต่โลกมองไม่รู้ โลกบอกว่าสิ่งต่างๆ สิ่งที่มีความสุขความทุกข์นั้นคือสมบัติสิ่งที่แสวงหากันมา สิ่งที่สมบัติแสวงหากันมานี่เป็นภาระรุงรัง เป็นสิ่งที่ว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่จิตนี้ต้องไปรับภาระมันนะ เราไพล่ไปดูตรงนั้นไง ถึงต้องย้อนกลับมาที่กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะอะไร?..

เพราะกายนี้ กายที่เราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่นี่เป็นของเราหรือเปล่า? ทั้งที่ๆ อยู่กับเรา ขับเคลื่อนไปกับเรา กินอยู่กับเรา นอนอยู่กับเราอยู่อย่างนี้! เราว่าทางโลกก็ต้องว่าเป็นของเรา ถ้าไปบอกว่า “ไม่ใช่ของเรา” เขาจะบอกว่าเรานี่ไม่สมประกอบแล้ว แต่ตามสัจจะความจริง! “ไม่ใช่ของเรา!” มันไม่ใช่ของเราตามสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นของเราโดยสมมุติ!

เราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่นี้เป็นเรา กฎหมายรับรองว่าสิทธิเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราทั้งหมด มันเป็นสมมุติ มันเป็นของชั่วคราวไง มันถึงไม่เป็นบัญญัติ แล้วมันก็ไม่เป็นธรรม มันเป็นสมมุติอันหนึ่ง แล้วโลกก็ติดกันตามในสมมุตินี้ ค้นคว้าต่างๆ ขึ้นมาว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางนะ การพัฒนาสิ่งต่างๆ ก็ต้องเพื่อมนุษย์ การทำสิ่งต่างๆ ก็ต้องเพื่อมนุษย์ เพื่อมนุษย์ทั้งหมดเลย แต่มนุษย์มันทุกข์มันร้อนไม่ได้พูดถึงความทุกข์ความร้อนของใจเลย

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก เป็นสิ่งที่ชำระให้ใจนี้มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติธรรมนะ เราทำทาน เรารักษาศีล ภาวนา สิ่งนี้เป็นเรือ สิ่งนี้เป็นพาหนะ สิ่งที่เป็นพาหนะเราต้องทำให้มันถูกต้อง พยายามทำให้ถูกต้อง เห็นไหม เวลาเขาทำสิ่งที่ว่าเขาผ่าตัด เขารักษาคนไข้ เครื่องมือของเขาต้องไม่ติดเชื้อนะ เขาต้องทำลายเชื้อนั้น ฆ่าเชื้อนั้น แล้วเขารักษาคนไข้ รักษาคนไข้แล้วคนไข้ถึงไม่ติดเชื้อ แล้วคนไข้จะหายจากไข้นะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราถึงต้องพยายามทำจิตของเราให้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธินี่ โลกียปัญญา สิ่งที่เป็นโลกมันจะไม่เข้ามาไง กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ไว้ เวลาวิปัสสนาไป ภาวนาไปนี้มันคาดการณ์คาดหมายทั้งหมดเลย ยิ่งปัจจุบันนี้นะ ธรรมของครูบาอาจารย์เราออกมาเผยแผ่มาอย่างนี้ มันจะยึดมั่นถือมั่น มันจะว่าเป็นธรรมของมัน มันขี้โกงหน้าด้านๆ นะกิเลสของเรา “เรา” ทั้งหมดนะที่พูดมานี่

ย้อนกลับมาที่เรา ใจเรานี้แหละไม่ต้องไปดูใครเลย สิ่งต่างๆ นี้เป็นเรื่องของเขา แม้แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เราเกิดกันมา เรื่องของโลกเราก็เคารพบูชา กตัญญูกตเวทีทุกคนแน่นอน แต่เวลาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นเรื่องของท่าน เวลาท่านต้องเสียชีวิตไปก็เรื่องของท่าน ไม่มีใครแทนใครได้เลย เพียงแต่ว่าโอกาสปัจจุบันนี้เราจะตักตวงบุญกุศลของเราไหม เราอุปัฏฐากพ่อ อุปัฏฐากแม่ พระอรหันต์ในบ้าน ลูกเต้าของเรา เราพยายามดูแลรักษา สิ่งนี้สังคมเจริญ เราทำบุตรหลานของเราให้เป็นคนดี สังคมก็จะมีความสุข เห็นไหม แต่ถ้าคนอื่นเขาทำลูกหลานเขา เขามีปัญหาของเขา ลูกหลานของเขาก็จะเป็นปัญหาในสังคมนั้น สิ่งนี้เป็นปัญหาสังคมนะ สภาคกรรมไง กรรมที่เป็นสภาพ เป็นสภาคะไม่ใช่ส่วนบุคคล

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ เวลาปรินิพพานนะ “เราเอาธรรมของเราไปคนเดียว” ถ้าผู้ปฏิบัติธรรม...ของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่นนะ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะชำระกิเลสของเรา เราต้องย้อนกลับมาที่สัมมาสมาธิ ที่จิตตั้งมั่น

ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตนี้ยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้

ถ้าจิตยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ มันจะไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะ! โดยความจริง!

โดยอริยสัจ! โดยมรรคญาณ!

สิ่งที่มรรคญาณนี้ เห็นไหม หลวงปู่มั่นถึงยอมรับหลวงปู่เจี๊ยะไง แล้วพยายามค้นคว้าพยายามดำเนินไปไง ความว่ารวมใหญ่มันรวมโดยสมาธิก็ได้ จะรวมโดยที่ว่าวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นก็ได้ เกิดขึ้นก็ได้ ต้องมีครูบาอาจารย์ เห็นไหม ผู้ที่ชี้นำกัน ผู้ที่รับรองกัน เราอย่ามั่นใจตัวเราเองนะ ถ้าเรามั่นใจตัวเราเองกิเลสมันพามั่นใจ กิเลสมันอยู่กับเรา! กิเลสนี้อยู่ในหัวใจของเรา เราพบสิ่งใด ทั้งๆ ที่เราได้แบงก์ปลอมไว้ในกระเป๋า เราก็ว่ายังเป็นแบงก์จริงอยู่นะ ถ้าเราไปพิสูจน์กันที่ธนาคารแล้วเขาบอกว่าแบงก์ปลอมถึงจะยอมรับไง

แต่เวลาจิตของเรามันลังเลสงสัย มันวิปัสสนาของมัน มันจะปล่อยวางขนาดไหน จะเป็นอย่างไร ต้องทำไป ต้องเดินหน้าไป ต้องก้าวหน้าไป ต้องซ้ำไป เห็นไหม ปลาเป็น! ต้องทวนกระแสไปตลอด สิ่งที่ทวนกระแสคือทวนกระแสไป ปลามันไปไข่ของมัน มันทั้งชีวิตของมันนะ ถ้ามันไปเจอสัตว์ เจอสิ่งที่ว่าสิ่งที่เป็นอาหารของเขา มันก็ต้องเสียชีวิตของมันไป เห็นไหม

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราโดนกิเลสหลอกนะ เราประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินี้เป็นบุญกุศลเพราะปฏิบัติบูชา แต่ทิฏฐิมานะความเห็นผิดนี่มันเป็นอกุศล สิ่งที่เป็นอกุศลก็ทำให้ทำลายโอกาสในชาติปัจจุบันนี้ไง ในชาติปัจจุบันนี้ที่เราจะได้ผลของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไป เห็นไหม สิ่งที่เป็นการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นไป ถึงที่สุดแล้ว พอมันปล่อยวางขนาดไหน พิจารณากายถึงที่สุด มันจะปล่อย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ โดยธรรมชาติของมัน สิ่งที่เป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นสมุจเฉทปหานเพราะอะไร?

เพราะว่า ในเมื่อวิปัสสนาญาณมันหมุนเข้าตลอด ปัญญามันจะหมุนของมันออกไป สิ่งที่ปัญญาของมันหมุน มันถึงบอกปัญญาที่เกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญาไม่ใช่สุตมยปัญญาที่เขาเรียนปริยัติกัน ปริยัติเป็นเครื่องหมายนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนี้ ไม่ปฏิเสธปริยัติ ปริยัติไม่ได้ปฏิเสธมันเลย

แต่ปริยัติฆ่ากิเลสไม่ได้! ปริยัติเป็นแผนที่เครื่องดำเนินให้การชำระกิเลส

แต่พอวิปัสสนาเกิดขึ้น ปัญญาญาณเกิดขึ้น เราเห็นปัญญาของเราหมุนออกไปนี่ ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้น แล้วถ้ามันสมดุลเมื่อไร เห็นไหม สัมปยุตเข้ามา พอมันสัมปยุตเข้ามามันทำลายกิเลสขาดออกไป เห็นไหม สังโยชน์ขาดออกไปจากใจ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกันโดยสามัญสำนึก โดยความเป็นจริงน่ะ สังโยชน์ขาดเห็นต่อหน้าเลย แล้วมันจะไปถามใครล่ะ? มันไม่ถามใคร...

แล้วปฏิบัติเอาสิ่งใดรองรับล่ะ? เอาปัจจัตตัง เอาใจสู่ใจ ใจดวงหนึ่งของลูกศิษย์ลูกหาที่ไปกราบหลวงปู่มั่นน่ะ นี่เอาใจสู่ใจนะ แล้ววิปัสสนาย้อนขึ้นไปจนทำลายนะ ทำลายกิเลสไปอีกชั้นหนึ่ง กิเลสชั้นหนึ่ง นี่อุปาทานของกาย สิ่งที่อุปาทานของกาย เวลาแยกออก เห็นไหม “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” แยกออกจากกัน กามราคะปฏิฆะอ่อนลง เห็นไหม สิ่งที่อ่อนลงนี้ สิ่งนี้มันเป็นมรรค เป็นสิ่งที่มรรคอันละเอียดขึ้นมาเป็นอีกชั้นตอนหนึ่ง เห็นไหม ปัญญาในการก้าวเดิน หลวงตาถึงบอกว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้าเราติดในมรรคที่หยาบ เราจะเข้าไปในสิ่งที่ละเอียดไม่ได้เลย

แล้วเราศึกษาปริยัติมาเราว่าสิ่งนี้เป็นมรรค..เป็นมรรคไง แล้วเราก็กอดมรรคเราไว้นะ เรากลัวผิดพลาด เรากอดมรรคของเราไว้ คือกิเลสมันสร้างมรรคให้เราไง ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ปรารถนาสิ่งนี้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เรียนปริยัติแล้วให้ออกปฏิบัติ แล้วมันจะเกิดปฏิเวธ

แต่เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติ เราก็เอาปริยัติพกใส่ในหัวใจของเราไปด้วยนะ เพราะมันศึกษามา มันเล่าเรียนมา มันกอดไปกับใจของมัน แล้วมันก็สร้างภาพ “สิ่งนี้เป็นสภาวะแบบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนั้น” นี่มรรคของเขา มรรคของการประพฤติปฏิบัติของเขาไง แต่เขาไม่เคยเจอมรรคความจริง เขาถึงไม่เข้าใจคำว่าภาวนามยปัญญา เขาถึงไม่เข้าใจคำว่าธรรมจักรมันเคลื่อน

เวลาปัญญามันเคลื่อน เห็นภาวนามยปัญญามันเคลื่อนไปอย่างไร? เพราะมันทำลายกิเลสต่อหน้าน่ะ กิเลสมันขาดไปต่อหน้าน่ะ แล้วมันจะเอาความลังเลสงสัยมาจากไหน? ในเมื่อไม่มีความลังเลสงสัยแล้ว นี่ว่างหมดเลยนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต กายกับจิตแยกออกจากกัน โดยสามัญสำนึกของมัน! โดยตามธรรมชาติของมัน ขาดออกไปจากใจ เห็นไหม

“กายเป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส” นี่ของฝ่ายมหายานเขา เวลาที่สังฆราชองค์ที่ ๕ จะส่งต่อบริขารของเขา เขาบอกว่าให้ลูกศิษย์เขียนโศลกมา ชินเชาเขาเขียนของเขา กว่าจะเขียนก็ละล้าละลัง เพราะกิเลสยังไม่สิ้นไง เพราะกายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสนี้มันสกิทาคามีเท่านั้น! สิ่งที่กายกับจิตแยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมัน! มันก็ละล้าละลังไม่กล้าเขียน จะ...“เขียนไม่เขียน เขียนไม่เขียน”

ถึงที่สุดแล้วเพราะเป็นผู้อาวุโส เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ไง ถึงเขียนโศลกว่า “กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส” เว่ยหล่างเป็นคนตำข้าว เขาเป็นกรรมกรอยู่ในครัว อ่านหนังสือก็ไม่ออก “นั่นเขาทำอะไรกัน?” ถามไง ถามพวกสาวกในสำนักนั้นว่าเขาทำอะไรกัน “เขาเขียนโศลกนะ กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส โอ๋ย...โศลกนี้มีความหมายมาก”

เว่ยหล่างบอกว่า “เขียนของผมบ้างสิ กายก็ไม่มี! จิตก็ไม่มี! แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร?” เขาบอกว่า “กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวันๆ แล้วฝุ่นมันเกาะไม่ได้” เว่ยหล่างบอกว่า “กายก็ไม่มี! กระจกก็ไม่มี! แล้วฝุ่นจะเกาะอะไร?” นี่ตัวกูของกูไม่มีไง กูก็ไม่มี! อะไรก็ไม่มี นี่มันไปอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม สิ่งที่อีกชั้นนี่ กามราคะ ถ้าจิตอย่างนี้มันจะติดในความว่างไง แล้วมันไม่เห็นกิเลสเลย “ว่างไปหมด สิ่งต่างๆ นี้เป็นความว่างไปหมด นี่คือธรรมทั้งหมด” พญามารมันร้ายกาจมากนะ แม้แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นขั้นตอนขึ้นไป มันก็ไปติดของมัน เห็นไหม

นี่ สิ่งนี้หลวงปู่มั่นบอกหลวงปู่เจี๊ยะไง “ให้พิจารณากายซ้ำ ซ้ำที่กายนั้น!”

ถ้าซ้ำที่กายนั้น เห็นไหม ถ้าหลวงปู่เจี๊ยะค้นคว้าจากกายนั้นจะเห็นเป็นอสุภะไง สิ่งนี้เป็นกายนอก กายใน กายในกาย เห็นไหม จากกายนอก เห็นไหมพิจารณากาย สักกายทิฏฐิความเห็นกายผิดพลาด ความยึดมั่นถือมั่นกายว่าเป็นของเราโดยสามัญสำนึก แต่ความเป็นจริงโลกนี้มันเป็นสมมุติ มันเป็นสมมุติอยู่ มันว่ามันเกิดดับ อย่างนี้มันเป็นสมมุติ ไม่มีความหมาย เพราะทุกคนต้องลาร่างกายนี้ ทุกคนต้องตายไป! ร่างกายต้องทิ้งไว้ในโลก เห็นไหม

แต่ขณะที่วิปัสสนาญาณมันเกิด เห็นตามความเป็นจริง มันทิ้งเดี๋ยวนั้นไง กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เห็นไหม ปล่อยจากกายตามความเป็นจริง นี่กายนอก! กายใน พิจารณากายขึ้นมานี่ กายเป็นธาตุ ๔ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ วิปัสสนาไปมันคืนสภาวะของมันทั้งหมด จิตปล่อยออกมานี่ “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” แล้วหลวงปู่มั่นบอก “พิจารณากายซ้ำ..พิจารณากายซ้ำ” ยกขึ้นวิปัสสนากาย ถ้าวิปัสสนากาย เห็นไหม จับกายนี้เป็นอสุภะ ถ้าจับกายไม่ได้นี่เริ่มต้นวิปัสสนาไปไม่ได้

ถ้าเริ่มต้นวิปัสสนาไปไม่ได้ เพราะจิตมันว่างอยู่ จิตมันไม่มีงานทำ จิตมันปล่อยวาง จิตมันทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจิตมันทำอะไรไม่ได้ มันก็อยู่ในความสุขของมัน เห็นไหม แล้วมันก็ติดไง นี่หลวงปู่มั่น ดึงออก ถ้าดึงออก เห็นไหม ยกขึ้น...ยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าจะยกขึ้นได้ต้องทำจิตให้สงบก่อน นี่ มหาสติ มหาปัญญา สติปัญญานี้เป็นมรรคอย่างหยาบ ถ้ายกขึ้นนี้เป็นมหาสติ มหาปัญญา มันจะเป็นปัญญาอย่างละเอียด

แล้วมหาสติ! จะเอาสติปัญญาอย่างเรานี่ไปจับต้องสิ่งนี้สิ่งที่ละเอียด เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกเราเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้ โกรธไปจนหน้าดำหน้าแดง โกรธไปจนเลิกโกรธแล้วก็ยังไม่รู้ ไม่เห็นอาการของใจ สิ่งที่จิตมันสงบมันปล่อยอาการของใจเข้ามา แล้วสิ่งที่เข้าไปเห็นกาย...แล้วเป็นกายใน...ปล่อยกายในเข้ามา...แล้วมันจะเป็นเห็นกายในกายนี่ มันจะยกขึ้นอย่างไร?

เห็นกายในกายนี่มันเป็นสิ่งที่กายอันละเอียดกว่านั้นน่ะ ถ้ามันเห็นกายอันนี้ จิตยกขึ้นวิปัสสนาอันนี้ได้มันจะเห็นเป็นอสุภะอสุภังไง สิ่งที่เป็นอสุภะเพราะมันมีธรรม สภาวธรรมในหัวใจ แต่ถ้ามันไม่มีธรรมในสภาวะนั้น มันจะเป็นสุภะ มันจะเป็นความสวยความงาม ความพอใจ ความลึกๆ ความยึดมั่นถือมั่นของใจ ใจจะยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ เพราะกามมันอยู่ที่ใจไง เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน ระหว่างเพศตรงข้าม หญิงกับชายนี้มีกามราคะ มีความผูกพันเป็นธรรมชาติ...

แต่ไม่โทษเลยว่าไอ้ใจดวงนี้มันต้องการ!

ไอ้ใจดวงนี้มันปรารถนา!

ไอ้ใจดวงนี้มันเสพในตัวมันเองก็ได้!

ไอ้ใจดวงนี้มันเป็นปัญหาของมันตลอดไป!

ใจดวงนี้ต่างหาก! มันออกไปยุ่งกับโลกเขา มันไม่ใช่หญิงกับชายหรอก!

เวลาถ้าเป็นหญิง เห็นไหม ทำไมนางอุบลวรรณาเป็นพระอรหันต์ล่ะ? ทำไมโคตมีเป็นพระอรหันต์ล่ะ? หญิงเขาก็เป็นพระอรหันต์ ชายเขาก็เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่ว่าเราไปว่า “เป็นเพราะหญิง เป็นเพราะชาย” เป็นเพราะหญิง เป็นเพราะชาย เพราะกิเลสเราหนา กิเลสเราหยาบ กิเลสเราหนา กิเลสเราหยาบมันถึงออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วออกรับรู้ภายนอก สิ่งที่ออกรับรู้ภายนอก มันก็ไปยึดมั่นถือมั่นภายนอก แล้วมันจะไปชำระกิเลสอย่างไร? มันจะไปเห็นกิเลสอย่างไร? เห็นไหม มันถึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา

นี่ สิ่งที่พระปฏิบัติเขาเคารพครูบาอาจารย์ เขาเคารพตรงนี้ไง สมบัติใครชี้แนะ ใครชี้สมบัติภายใน ใครชี้สิ่งที่ว่าเราเข้าไปเจอสภาวะแบบนั้น เห็นไหม ถ้าไม่เห็นกาย ไม่เห็นจิต เราจะเดินอย่างไร? ไม่เห็นกาย ไม่เห็นจิต เราก็ติดอยู่แค่นั้นใช่ไหม ครูบาอาจารย์เราจะชี้ขึ้นมา ชี้ขึ้นมากิเลสมันก็ต่อต้าน กิเลสเรานี่แหละ “เราเห็นจริง เรารู้จริง ครูบาอาจารย์ทำไมบอกว่าสิ่งนั้นไม่จริง สิ่งนั้นผิดพลาด” มันเกิดความลังเลสงสัย มันเกิดความโต้แย้งไง ความโต้แย้งมันก็ต้องพิสูจน์กันไง พอพิสูจน์กันมันก็ออกแสวงหา มันก็ออกค้นคว้า ถ้ามันค้นคว้ามันพลิกแพลงไป พอมันไปจับต้องได้

“นี่!..กายในกายเป็นอย่างนี้หนอ!”

ถ้า “กายในกายเป็นอย่างนี้หนอ” มันมีอำนาจของมันไง มันมีแต่พลังงานของมัน มันเป็นมหาสติ มันเป็นมหาปัญญา มันเป็นสมาธิที่มีพื้นฐานไง ถ้าสมาธิพื้นฐานมันก็จับต้องสิ่งนี้ได้ เห็นไหม มันก็วิปัสสนาของมันไป สิ่งนี้วิปัสสนาไปมันใคร่ครวญของมันไป เห็นไหม มันจะเป็นอสุภะตรงนี้ไง ตรงเป็นอสุภะเพราะมันเป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมนี้มีอยู่โดยจริง” ธรรมนี้มีอยู่แต่ไม่มีใครสามารถไปสัมผัสมัน ไม่มีใครมีความสามารถเพราะสิ่งต่างๆ อย่างนี้ มันเป็นสภาวะที่ละเอียดลึกซึ้งมาก! แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว “จะสอนใครได้หนอ สอนใครได้หนอ” แล้วปัญญาอย่างปุถุชน ปัญญาอย่างสามัญสำนึกของเรานี่ จะเห็นสภาวะแบบนี้ มันเป็นไปได้ไหม? ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ ทำไมเราไม่กราบครูบาอาจารย์ของเราด้วยหัวใจล่ะ? ทำไมเราไม่อุทิศชีวิตนี้กับครูบาอาจารย์ของเรา? ทำไมพระอานนท์สามารถสละชีวิตปกป้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเคารพไง สิ่งนี้ไม่มีใครยื่นให้กันได้นะ

ใจสู่ใจ ใจของหลวงปู่มั่นสู่ใจของครูบาอาจารย์เรามา แล้วใจของครูบาอาจารย์เราก็ประพฤติปฏิบัติเข้ามา เพราะมีความองอาจกล้าหาญ เพราะมีความจริงของจริตนิสัย เพราะมีอำนาจวาสนาบารมีของเรา แล้วเราก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เจี๊ยะ! เราก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ของเรา...

เรามีสกุลไง! เรามีสกุลของพระปฏิบัติ

เรามีสกุลของการสืบต่อของหัวใจที่จะทำใจนี้ให้เป็นธรรมขึ้นมา

ถ้าใจของเราเป็นธรรมขึ้นมานี่ เราจะเป็นศากยบุตร เป็นลูกศิษย์ของบรมครูตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมา เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ของเราที่ฝากศาสนาไว้กับเรานะ

ศาสนานี้เป็นของละเอียดอ่อน ศาสนานี้ลึกซึ้งมาก ศาสนานี้ใครจะปกป้องดูแลหนอ ผู้ที่เข้าไปเห็นสมบัติอันมหาศาล เห็นไหม มันจะสงวนรักษา แต่เรื่องของสมมุติ เรื่องของโลก มันก็ต้องตายไป ต้องสละไป ถึงต้องมีการสืบต่อไง ถึงต้องมีสกุลของชาวพุทธไง! ถึงต้องมีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไง! ถ้าเรามีการประพฤติปฏิบัติ แล้วจิตของมันไปตามความเป็นจริงของมัน นี่สิ่งนี้เป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ มันพิจารณาไปมันจะปล่อยวางของมันเข้ามา ปล่อยวางจิตแล้วปล่อยวางตลอดไป ถ้าจิตปล่อยวางนี้คือปัญญามันออกก้าวเดินนะ ถ้าเราไปจดจ่อไว้ไปยันไว้ นี่เป็นขันติบารมี เป็นการอดทนนะ

เวลาเวทนาเกิด เห็นไหม เวลานั่งสมาธิไปเวทนามันเกิดน่ะ ถ้าเราไม่มีปัญญาสู้กับเวทนา เรากำหนดพุทโธๆๆ เราจะดึงความรู้สึกของเราที่อยู่กับเวทนานี้มาอยู่กับพุทโธ ถ้าดึงเวทนาทั้งหมดความรู้สึกของใจทั้งหมดมาอยู่ที่พุทโธนี้ เวทนามันจะหาย เห็นไหม อย่างนี้คือนักหลบ หลบเพราะเราไม่มีปัญญา หลบเพราะเราต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวของเราให้มีกำลังขึ้นมา

นักกีฬาจะลงแข่งขันต้องมีการฝึกซ้อม ถ้านักกีฬามีการฝึกซ้อม มันจะมีพลังงานของมัน คิดเทคนิควิธีการนั้นเป็นปัญญาอีกชั้นตอนหนึ่ง นี้ถ้าวิปัสสนาไปกำลังมันไม่พอ ปัญญามันไม่เกิด เห็นไหม เราถึงต้องกลับมาพุทโธๆ...

แม้แต่ขั้นของพระอนาคา! ยังต้องกลับมาพุทโธๆ

แล้วบอก “พุทโธไม่สำคัญ สิ่งที่เป็นพุทโธไม่เกิดปัญญา” มันจะเกิดปัญญาอย่างสามัญสำนึก มันจะเป็นปัญญาอะไร? ปัญญาอย่างนั้น โลกเขาก็มี คอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้เขากดดีกว่านั้นอีก มันไปได้ทั่วโลกเลย มันสร้างสถานการณ์ของจักรวาลนี้ยังได้เลย มันทดลองทางวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์มันคิดได้ดีกว่ามนุษย์อีกมหาศาลเลย แล้วคอมพิวเตอร์มันนิพพานได้ไหม? แล้วปัญญาของเรานี่ที่ใช้ว่า “ฉันมีปัญญา ฉันมีความรู้มาก ฉันมีความเก่งกล้าสามารถมาก” แต่แพ้ตัวเอง แพ้ตัวเองเพราะมันเกิดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะความทะยานอยากนี้มันถึงไม่เห็นตัวเอง

ผู้ใดเอาตนของตนไว้ในอำนาจของตนนั้นเป็นยอดคน ยอดตนคือชนะตนเอง ยอดคนไม่ใช่ชนะคนอื่นนะ การชนะคนอื่นก่อเวรก่อกรรม ก่อทุกสิ่งทุกอย่างมาให้กับใจดวงนั้นต้องสร้างเวรสร้างกรรมไป แต่ถ้ายอดคน เห็นไหม ย้อนกลับมานี่ พุทโธๆ จนจิตมันมีกำลังขึ้นมาแล้วย้อนกลับไปวิปัสสนา..ย้อนกลับไปวิปัสสนา เพราะมันจับจำเลยได้ เห็นกายลงสู่สภาวะตามความเป็นจริงแล้ว มันจะเกิดเป็นภาพอสุภะ อสุภะคือความเยิ้มไปของมันนะ เห็นแล้วมันสลดสังเวช จิตมันก็ปล่อย..จิตมันก็ปล่อย

พอจิตมันปล่อยเข้ามานี่ นี่เริ่มปล่อย ปัญญามันก้าวเดินนะ ถ้าปล่อยอย่างนี้ถ้ามันไม่ขาด มันจะคาอยู่อย่างนี้ไง แล้วมันก็เสื่อม เสื่อมจากขั้นตอนของการวิปัสสนากายนี้ เสื่อมจากขั้นตอนของอสุภะ แต่ไม่เสื่อมจากกายกับจิตแยกกันโดย “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” เพราะสิ่งนั้นเป็นอกุปปธรรม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรมคือมันไม่เสื่อมสภาพจากสถานะที่มันได้มา

แต่ความเจริญขึ้นไปนี่มันยังเสื่อมถอยมา เพราะเราก้าวขึ้นไปแล้วก้าวไม่ถึงยืนอยู่บนนั้นไม่ได้ เราต้องถอยกลับมา สิ่งที่ถอยกลับมานี่มันเสื่อม เสื่อมอย่างนี้ไง ถ้ามันเสื่อมอย่างนี้ เราก็ต้องคาอยู่อย่างนี้ เห็นไหม จะหลบไปทางไหนก็ไม่ได้ จะหลบจะมีวิธีการว่าปัญญาจะผ่อนกิเลส ผ่อนความเห็น เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัยนะ ปัญญามหาศาลกว่าพวกเรานี้ มหาศาลจนเป็นอจินไตย จนเทียบเคียงไม่ได้ แล้วทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่หาช่องทางให้พวกเราก้าวเดินโดยสะดวกสบายล่ะ?

มันเป็นไปไม่ได้เพราะมันไม่มีวิธีการอย่างอื่นเลยที่จะชำระกิเลสได้ เพราะกิเลสมันเป็นจิตปฏิสนธิที่เกิดมาเป็นเรานี่ สิ่งที่จิตปฏิสนธิเกิดมาเป็นเรา ต้องเอาตัวมันเองชำระล้างตัวมันเอง ถ้าเกิดตัวมันเองชำระล้างตัวมันเอง การที่จะเกิดวิธีการชำระตัวมันเองนั้นคือมรรค เราต้องมีการสร้างมรรคของเราขึ้นมาเอง จะมาให้คนอื่นสร้างมรรคให้เราเป็นไปไม่ได้

ถ้าเราจะสร้างมรรคของเราขึ้นมาเอง เราถึงต้องกำหนดสัมมาสมาธิ มหาสติ มหาปัญญามันต้องมีสมาธิไง สิ่งที่เป็นสมาธินี่มันวิปัสสนาไป พอมีสัมมาสมาธิเหมือนกับมีดได้ลับกับหินมันจะมีความคม มีดเราใช้ตลอดไปแล้วไม่เคยลับเลย แล้วจะไปฆ่ากิเลสที่ละเอียดขึ้นไปอีกนี่นะ มันเป็นสิ่งที่เข้มแข็งอยู่ในหัวใจนะ แล้วเราจะเอาสิ่งที่ทื่อ เพราะเราใช้ปัญญามาทั่วไป แล้วมาใช้ปัญญากับสิ่งนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร?

มันถึงต้องกลับมาพุทโธไง กลับมาทำให้มีดนี้คม แล้ววิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนา

ถ้ากำลังมันพอมันจะเยิ้มเข้ามา..เยิ้มเข้ามานะ พอเยิ้มเข้ามามันสังเวชมันก็ปล่อยเข้ามา จิตมันจะปล่อยอาการนี้เข้ามา..ปล่อยเข้ามา ซ้ำ! ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งนี้มันจะกลืนเข้ามาที่ตรงจิตปฏิสนธิไง กลืนเข้ามาที่หัวใจ ทำลายที่หัวใจครืนไปหมดเลยนะ กามราคะขาด ว่างหมดเลย เห็นไหม นี่ว่าง...

ไม่มีตัวกูของกู! ไม่มีหรอก! ว่างหมดเลย

โมฆราชไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ข้าพเจ้าพิจารณาโลกนี้เป็นความว่างทั้งหมด ว่างหมดเลย แล้วทำไมข้าพเจ้ายังมีกิเลสอยู่ล่ะ”

“มีสิ”

“เพราะอะไร?”

“เพราะใครเป็นคนรู้ว่าว่างล่ะ?”

สิ่งที่ว่างน่ะ สิ่งที่เป็นอากาศ มันไม่รู้ตัวมันเองหรอก สภาวะจิตนี่มันมีชีวิต มันถึงว่าคนอื่นว่างหมดเลย แล้วมันมาหลอกตัวเอง เห็นไหม มันกลับไปหลบอยู่ในหัวใจ

สิ่งที่เป็นหัวใจ เห็นไหม จิตปฏิสนธิไม่ใช่ขันธ์! วิปัสสนาเข้าไปถึงกามราคะขันธ์อันละเอียดในหัวใจนี่ขาดออกไป! มันกลายเป็นตัวจิตล้วนๆ มันไม่มีสิ่งสืบต่อ เห็นไหม มันไม่มีขันธ์แล้วมันจะไปสืบต่อกับอะไรล่ะ? มันสืบต่อ มันก็พลังงานของตัวมันเอง สิ่งที่เป็นพลังคือตอของจิต เห็นไหม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญญาณํ อวิชชา ปัจจยาการ คำว่าปัจจยาการ...สืบต่อกัน มันเป็นอันเดียวกัน

แต่ขันธ์ ๕ มันเป็นกอง กองของรูป กองของเวทนา กองของสัญญา กองของสังขาร กองของวิญญาณ ไม่ใช่จิต! ในเมื่อละขันธ์ ๕ เข้ามาทั้งหมดแล้วถึงที่สุดสิ้นกิเลส...เป็นไปไม่ได้! ละขันธ์ ๕ เข้ามาทั้งหมด แล้วใครเป็นคนละขันธ์ ๕ เข้ามา? เพราะจิตนี้มันละขันธ์ ๕ เข้ามา ละกายเข้ามาทั้งหมด เห็นไหม กายนอก กายใน กายในกาย กายของจิตไง…

สิ่งที่กายของจิต ถ้ามีครูบาอาจารย์ สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะอะไร? เพราะมันจะว่างอย่างนั้น เพราะมันจะสร้างสถานะอย่างนั้น มันจะสร้างความเหมือนอย่างนั้น เห็นไหม เพราะในการวิปัสสนาอสุภะนี้มันมีเศษส่วน มันมีเคล็ดลับของมันนะ เพราะเราพิจารณาอสุภะมันปล่อยเข้ามาหมดแล้วนี่ มันมีความอาลัยอาวรณ์ของมัน เราซ้ำตรงความอาลัยของมันมันก็จะปล่อยเข้ามา..ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาจนจับสิ่งใดไม่ได้เลย

มือ! เราไปจับต้องสิ่งใด แล้วเราคลายสิ่งต่างๆ ออกหมด มือเราว่างไหม? ว่าง เพราะเราคลายสิ่งอื่นออกมา แต่มือเรามีไหม? มือเรามี แล้วมือเรามันจะรู้สึกตัวมือเราเองได้อย่างไร ตัวมือเรานี่ แล้วมันจะรู้ตัวมันเองได้อย่างไร แล้วมือเรานี่จะทำลายตัวมันเองได้อย่างไร? นี่สิ่งนี้ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้! ได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาแล้วไง หลวงปู่มั่นทำมาแล้วไง

หลวงปู่มั่นทำสิ่งนี้มานะ ถึงสอนลูกศิษย์ลูกหาจนเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่เราเคารพเราเลื่อมใสนะ ถึงบอกว่า เรามองสิ่งต่างๆ ทั้งหลายเป็นความว่าง ต้องย้อนกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิที่เห็นว่าว่างไง ใครว่าง? รู้อะไร? สิ่งไหนรู้? ถ้าย้อนกลับมาจับตรงนี้ได้ นี่ไง! อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เวลาปริยัติว่ากันนะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นั่นมันนกแก้ว นกขุนทองมันท่อง มันไม่เข้าใจว่าอวิชชาเป็นอย่างไรหรอก

แล้วเวลาวิปัสสนาของเขาไป เขาก็เทียบ “นี่ไง นี่ อวิชชาเป็นอย่างนั้น..เป็นอย่างนั้น” เป็นการสร้างภาพเป็น เป็นการสร้างสัญญาอารมณ์ เป็นการสร้าง...สร้างของเขา ปลาเน่า! ถ้าปลาเป็นมันทวนกระแสของมันเข้าไปนะ ทุกข์ยากขนาดไหนก็ทน เขาจะว่า “อัตตกิลมถานุโยค” เขาจะว่า “นี่เชื่อครูบาอาจารย์โดยไม่ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เชื่อบุคคล” เพราะเชื่อบุคคลถึงได้ดีไง เพราะเชื่อหลวงปู่มั่นถึงได้ดีไง เพราะเชื่อครูบาอาจารย์ถึงได้ดีขึ้นมาไง แล้วถ้าเชื่อเขาล่ะ แต่ถ้าเชื่อเขาเอ็งก็สงสัย ข้าก็สงสัย สงสัยกับสงสัยอยู่ด้วยกัน แล้วก็จะสร้างนะ สร้างทฤษฎี สร้างความเห็น สร้างสถานะของความเป็นของเขาขึ้นมา เพื่อไง...เพื่อหลอกสัตว์โลกไง

“โลกนี้คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก?” เวลาพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะจะหนีจากสัญชัยมาไง เพราะสัญชัยบอก “อะไรๆ ก็ไม่มี ไม่มีหรอก สิ่งใดก็ไม่มี ไม่มีก็คือไม่มี” จนพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไม่เชื่อนะ มันไม่มีเหตุมีผลไง เวลาบอกสัญญากันว่า “ถ้าใครเจอธรรมก่อนต้องมาบอกกัน” พระสารีบุตรมาเจอพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ ทำไมมันสงบเสงี่ยม น่ารักน่าเคารพขนาดนี้นะ ไปถามนะ ถามว่า

“ใครเป็นครูบาอาจารย์?”

“ครูบาอาจารย์คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“แล้วครูบาอาจารย์สอนว่าอย่างไร?”

“เราเป็นผู้บวชใหม่ เราเป็นผู้มีความรู้น้อย” พระอรหันต์นะ! พระอรหันต์บอกว่ามีความรู้น้อย

“สิ่งใดๆ ทั้งหลายมาแต่เหตุ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สาวไปหาเหตุ” พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบันทันทีเลย! เพราะเขาทำความเพียรของเขา เขามีอำนาจของเขา เขามีความพร้อมของเขา แต่ไม่มีครูบาอาจารย์สอนเขา เห็นไหม เวลาพระอัสสชิสอนทีเดียว พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน กลับไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันทันทีเลย

แล้วไปชวนสัญชัยชวนอาจารย์ของตัวนะว่า “ไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด” เพราะสัญชัยนี่ฌานโลกีย์ “ว่างเฉยๆ” เป็นภาษาของเขาอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องของโลก ปัญญาโลกสามัญสำนึกไง จะดึงกลับมาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัญชัยไม่ยอม มาไม่ได้ เพราะติดในสถานะว่าเป็นศาสดา แล้วพอพระโมคคัลลานะจะไปนี่ สัญชัยบอก “ไปเถิด” ให้พระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตรไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถามปัญหานะ

“โลกนี้มีคนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก?”

พระสารีบุตรบอกว่า “โลกนี้มีคนโง่มาก คนโง่มากกว่าคนฉลาด”

“เราจะอยู่กับคนโง่ เอ็งไปอยู่กับคนฉลาดซะ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้การใคร่ครวญ ผู้ที่ฉลาดจะมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่โง่ก็ให้สัญชัยมันหลอกไง “ไม่มี ไม่เป็น ไม่ทั้งนั้น” อยู่ให้สัญชัยมันหลอกไป แต่พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะย้อนกลับมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สัญชัยกระอักเลือดนะ เวลาเสียสาวกไป เพราะเป็นคหบดีที่มีฐานะมาก แล้วเสียไปนี้มันเสียหายชื่อเสียงไง เสียหายทั้งหมดนะถึงกับอาเจียนออกมาเป็นโลหิตนะ อาเจียนออกมาเป็นโลหิต นี่คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก

นี่ถึงบอกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กับขันธ์ ๕ ไม่ใช่อันเดียวกัน ขันธ์ ๕ เป็นกอง กองของสัญญา กองของรูป กองของเวทนา กองของสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ เป็นกองๆ แล้วเวลามันแยกออกมันเห็นเป็นกองของมัน เพราะมันแยกแยะแล้วมันทำลายได้ แล้วเวลาเป็นอวิชชานะ มันเป็นปัจจยาการ คือมันเป็นกองเดียวกัน แล้วมันสืบต่อกันไป แต่การสืบต่อนี้เป็นพุทธปัญญา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกไว้เป็นภาคปริยัติเพื่อผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่สร้างบุญกุศลมาเป็นปัญญามาก เวลาเข้าไปพิจารณาเห็นอาการอย่างนี้ ถึงบอกว่า...

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นยอดของศาสดา!

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติศาสนาไว้ ไม่มีใครโต้แย้งได้!

ไม่มีใครโต้แย้งว่าปัจจยาการนี้มันเป็นขันธ์ ๕ ไม่มีใครโต้แย้งว่าปัจจยาการนี้มันแยกออกจากกันได้ เห็นไหม เวลาไปเห็นอาการของมันนะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญญาณํ นี่คืออาการของขันธ์ ๕ ที่มันเกิดดับ...เร็วมาก!

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

นี่คือจิตเดิมแท้ แต่จิตเดิมแท้อันนี้คือพระอนาคา แต่จิตเดิมแท้ของผู้ที่ทำสัมมาสมาธิ ผู้ที่เข้าสมาบัติ มันก็เข้าถึงจิตเดิมแท้ได้เหมือนกัน แต่การเข้าถึงจิตเดิมแท้นั้นเข้าไปอยู่ชั่วคราว คือมันสงบเข้ามาแล้วมันก็คลายตัวออก มันเข้าถึงจิตเดิมแท้ด้วยพลังงานของสมาธิ สมาธิปลดเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ได้ เพราะเวลาอัปปนาสมาธินี่จิตเข้ามาสงบถึงที่สุด มันจะดับหมด ดับขันธ์ ๕ คือดับอายตนะทั้งหมด ดับความรู้สึกทั้งหมด จิตนี้สงบหมดเลย จิตนี้ว่างมาก! สัก-แต่ว่ารู้ ดับหมด เห็นไหม จิตเดิมแท้!

แต่จิตเดิมแท้นี้ชั่วคราว เพราะเข้าไปด้วยพลังงานของสัมมาสมาธิ เข้าไปด้วยพลังงานของสมาธิ เข้าไปด้วยสมาบัติ แต่จิตเดิมแท้อย่างที่เราเข้าไปจับต้องได้อย่างนี้ มันเป็นจิตเดิมแท้โดยความเป็นจริงไง แล้วมันไม่เสื่อมสภาพ เพราะเราเข้าไปจับมันได้ไง นี่ มันถึงย้อนกลับ ถ้าครูบาอาจารย์ชี้นำตรงนี้จะย้อนกลับเข้ามา ไปเห็น อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา โดยสัจจะความเป็นจริงไง นี่ไงคือตัวพญามาร

สิ่งที่เป็นตัวพญามารคือตัวเจ้าวัฏจักร เจ้าวัฏจักรนี้ปกครองหัวใจดวงนี้

หัวใจดวงนี้ โลก เห็นไหม โลกนี้มีความมหัศจรรย์มาก โลกนี้มีความเป็นไป โลกนี้เป็นภพ แต่ไม่เคยมีใครเห็นโลกใน โลกในคือโลกตัวนี้ไง โลกในคือตัวอวิชชา คือตัวตอของจิตไง นี่อนุสัยมันเกิดจากตรงนี้ไง ภวาสวะ ภพ ความคิดทั้งหมดเกิดจากตรงนี้ ความเห็นทั้งหมดเกิดจากตรงนี้ อำนาจวาสนาทั้งหมดอยู่ที่จุดนี้ บาปอกุศลทั้งหมดอยู่ที่จุดนี้...

เพราะจิตดวงนี้มันเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นเปรต เป็นผี เป็นอเวจี...

จิตดวงนี้ไม่เคยตาย...

จิตดวงนี้มหัศจรรย์มาก...

แล้วถ้าเข้าไปเห็นจิตดวงนี้ แล้วจับจิตดวงนี้เห็นสภาวะของจิตดวงนี้แล้วทำลายจิตดวงนี้ ทำลายด้วยอะไร?! ทำลายด้วยอาสวักขยญาณไง ญาณอันละเอียดมาก ปัญญาอย่างนี้ละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าใช้ความคิดมันเป็นอุทธัจจะ ในสังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สิ่งที่เป็นอุทธัจจะนี้ ถ้าใช้ความคิดเป็นอุทธัจจะ นี่ไง นี่ ภาวนามยปัญญาที่มันละเอียดลึกซึ้งนะ

มันไม่ใช่ปัญญาอย่างที่เป็นภาวนามยปัญญาที่เราใช้กันอยู่นะ นี่ ติดอย่างนี้ตลอดเลย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำนี่หักเข้ามาทั้งหมด หักความเห็นผิดของกิเลส! กิเลสมันส่งออก กิเลสมันสร้างความคิดของมันออกไป ใช้ปัญญาใช้ความคิดสิ ถ้าใช้ความคิดมันก็หยาบออกมา มันก็ถอนออกมา มันไม่เข้าไปถึงปัญญาญาณอันนั้น ถ้าเราใช้ความละเอียดเข้าไปถึงตรงนั้น แล้วพลิกตรงนั้นสิ้น! เห็นไหม...

จบสิ้นกระบวนการของการประพฤติปฏิบัติ!

จุดของจักรวาลนี้ จุดของเจ้าวัฏจักรพลิกคว่ำออกไป!

...เห็นไหมนี่ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ ที่ริมแม่น้ำเนรัญ-ชรา เกิดขึ้นมาจากหัวใจของหลวงปู่มั่นที่โคนต้นไม้ที่เชียงใหม่ เกิดขึ้นมาจากหัวใจของหลวงปู่เจี๊ยะที่เขาสอยดาวที่จังหวัดจันทบุรี ถิ่นกำเนิดของใจดวงนี้นะ ถิ่นกำเนิดของใจดวงนี้รู้ด้วยสติสัมปชัญญะตลอด

ธรรมคือธรรม ใจสู่ใจ...

ใจดวงหนึ่งให้กับใจอีกดวงหนึ่ง...

ใจของครูบาอาจารย์ของเราส่งต่อมาถึงครูบาอาจารย์ของเรา...

ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม นี้คือการแสดงธรรมนะ การแสดงธรรมนี้ไม่ได้พยากรณ์ครูบาอาจารย์นะ การแสดงธรรมนี้เป็นการเคารพ แบบหลวงตาว่านะ “เราเป็นชาวพุทธ เรามีครู มีอาจารย์ อาจารย์ที่สูงสุดคือบรมครู องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

อาจารย์ในสมัยปัจจุบันนี้ ผู้ที่บุกเบิกค้นคว้าขึ้นมาคือ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติมาจนถึงสิ้นที่เป็นพยานของเราจนถึงปัจจุบันนี้มาจากไหน นี้สกุลพุทธะไง ถ้าสกุลพุทธะมี เราเป็นชาวพุทธ เราประพฤติปฏิบัติของเรามี เราต้องภูมิใจนะ ไม่ต้องเสียใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่มีกำมือในเรา ไม่ได้มีความลึกลับกับเราเลย วางธรรมไว้นี้เป็นพร้อมอยู่แล้ว ให้มีการประพฤติปฏิบัติไปเถิด”

ครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสมอกันด้วยความเป็นการสิ้นกิเลส แต่บารมีต่างกันด้วยการสร้างมา สิ่งนี้เสมอกัน เห็นไหม เรามีธรรม มีวินัย เป็นศาสดาของเรา เราปฏิบัติในธรรม ในวินัยเป็นศาสดาของเรา เรานะ เรามีครูบาอาจารย์ห่วงหาอาลัยอาวรณ์นะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านจะปรินิพพานนะ ท่านพูดกับหมู่คณะไว้ตลอด...

“การแก้จิตมันยากนะ หมู่คณะให้ประพฤติปฏิบัติมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” เห็นไหม ห่วงมาก เพราะการกระทำ คนที่ผ่านวิกฤตการณ์อย่างนี้มามันห่วงเขามาก

หลวงปู่เจี๊ยะนะ...ท่านส่งเสบียงอาหารขึ้นไปทางแม่สอด ท่านบอกประจำว่า “หมู่...ทำไมไม่เอาการภาวนามารายงานบ้างเลย” เห็นไหม ท่านห่วงไหม? ท่านห่วงมาก ท่านส่งอาหาร ท่านส่งทุกอย่างเพื่อพวกเรานะ ท่านไม่หวังบุญกุศลจากพวกเราหรอก ไม่หวังสิ่งใดๆ จากลูกศิษย์ลูกหาเลย ลูกศิษย์ลูกหา เห็นไหม บริษัท ๔ สิ่งที่เป็นบริษัท เข้าถึงที่สุดแล้วมันถึงวิมุตติสุขนะ ถ้าถึงวิมุตติสุขคือใจดวงนี้ ใจดวงนี้ถึงเป็นความสำคัญมาก

ฉะนั้น เราถึงกราบครูบาอาจารย์ของเราโดยหัวใจนะ เราสร้างคุณงามความดี เราทำสัมมาสมาธิ ครูบาอาจารย์ของเราจะมาอนุโมทนา เราทำคุณงามความดีจะถึงครูบาอาจารย์ของเราตลอด เราสร้างคุณงามความดี เราทำเพื่อครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ต้องเสียใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องสมบัติของโลก เห็นไหม เรามีรถเรามีรา เวลามันเก่ามันชราคร่ำคร่านี้ เราก็ต้องสละมันไป เราต้องหารถหาราของเราใหม่ใช่ไหม

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเรา รถราของท่านมันเสียแล้ว มันสละแล้ว มันถึงเวลาท่านสละออกไปแล้ว ท่านมีความสุขของท่าน ท่านมีความสุขของท่านตั้งแต่ท่านถึงถิ่นกำเนิดของท่าน ถิ่นกำเนิดคือจิตดวงนี้มันไม่มีกิเลส มันไม่มีตัณหา มันไม่มีการเกิด และไม่มีการตาย แม้แต่การฆ่ากิเลสตายแล้วนะ จิตนี้สว่าง จิตนี้มีความสุข ในเรื่องของจิตนั้นจะไม่มีสิ่งใดเลย

แต่ทำไมมันต้องตายล่ะ? ตาย! ตายเพราะธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ มันเป็นเรื่องของโลกเขาไง สิ่งนี้มันชราคร่ำคร่าได้ แต่จิตดวงนั้น ถ้าเราเกิดมาในหัวใจ เราเกิดมาในวัฏฏะนะ มันก็เกิดมาสะสม มันก็มีสูงมีต่ำ มันก็มีอารมณ์กระทบรุนแรงของมันเหมือนกัน แต่ขณะที่ว่าพ้นจากกิเลสแล้วนะ สิ่งใดๆ ก็เข้าถึงจิตดวงนั้นไม่ได้ ใจดวงนั้นพ้นออกไปแล้ว มันจะไม่มีสิ่งใดไปถึงดวงนั้นเลย แต่...แต่สิ่งนี้มีอยู่ไง เราถึงบอกต้องพูดว่า...

ครูบาอาจารย์ของเราไม่ไปไหนหรอก

ครูบาอาจารย์ของเราดูเราอยู่นะ...

ครูบาอาจารย์ของเราคุ้มครองเรานะ...

ครูบาอาจารย์นี้รักเรานะ...

ถ้าเรารักเราเคารพครูบาอาจารย์ของเรา เราต้องสร้างคุณงามความดีของเรา ทำเพื่อถวายครูบาอาจารย์ แล้วเราจะเป็นคนดีนะ เอวัง