ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทุกข์ควรกำหนด

๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๗

ทุกข์ควรกำหนด

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องกามราคะ อนิจจัง อนัตตา

หลวงพ่อ : นี่หัวข้อคำถามนะ ไม่ได้พูดเองนะ เขาถามมาเลยแหละ กามราคะ อนิจจัง อนัตตา

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงครับ สภาวะมีสติรู้อยู่ ซึ่งกามราคะกำเริบ กำเริบแล้วยับยั้งไม่ได้ เพราะการพิจารณายังไม่ชัด บัดนี้ได้พิจารณาซ้ำๆ ลงไปอีกว่า กระดูกก็เรียงรายกันอยู่อย่างนั้น สายเลือดก็ดี เส้นเอ็นก็ดี ข้อกระดูกก็ดี น้ำมูตรคูถก็ดี เป็นต้น ก็มีอยู่อย่างนั้น ที่มันเกิดมาได้ก็เพราะอาศัยการปรุงแต่งเป็นอนิจจัง อนัตตา พอพิจารณาอยู่อย่างนี้ซ้ำๆ เข้าไป เวทนาก็คลายไปได้บ้าง กามราคะก็เหมือนกัน พิจารณาได้ดังนี้ กามราคะยังไม่กำเริบ

กระผมก็พิจารณาต่อว่ามันจะกำเริบด้วยเหตุอันใด ก็มันเป็นของปรุงแต่ง อนิจจัง อนัตตา เป็นของมันอยู่อย่างนี้ พอพิจารณาผ่านไปได้ ๒-๓ วัน มั่นใจว่า นี่แหละเหตุกำเริบและไม่กำเริบ (กามราคะ) นี่แหละปัจจัยควรละ โดยมักคิดชอบ สมาธิชอบ รู้ชอบ ตั้งใจชอบ การงานชอบ กาย วาจา ใจชอบ สงบอยู่ พอพิจารณาสงบแล้วมันสบาย ไม่หวงติดรูป ไม่ปรุงแต่งเหมือนแต่ก่อน ถึงปรุงแต่งก็รู้ทันว่าเป็นของปรุงแต่ง ทีนี้การพิจารณาก็บันเทิงภายในอยู่ตลอดเวลาที่มีสติ คิดนอกคิดในเป็นธรรมไปหมด อนิจจัง อนัตตา

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพครับ การรู้ การเห็น เป็นอยู่ของมัน ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยเตือนสติผมด้วยครับ

ตอบ : อันนี้มันเป็นวาสนา วาสนาของการประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าปัญหานี้ที่เขาถามมา ก่อนหน้าเขาถามมาหลายทีแล้ว แล้วเวลาเราตอบปัญหาไป เห็นไหม บอกว่าให้ทำความสงบของใจ เพราะเวลาเขาพูด เขาพูดเรื่องการเกิดดับ พูดเรื่องการรู้เท่าความคิด เราก็บอกว่าขาดสมาธิ

พอขาดสมาธิ พอเขาเขียนถามมาใหม่ว่าหลวงพ่อ ผมนั่งสมาธิเพชรนะ ผมนั่งสมาธิเพชรนะสมาธิเพชรคือมันไขว้กัน มันนั่งยาก เขาจะบอกว่าเขามีสมาธิ

ฉะนั้น เวลาเขามีความรู้ความเห็นต่างๆ เวลาถามมา เราก็ปฏิเสธ เราก็บอกว่าต้องทำซ้ำๆ ซ้ำๆ เข้าไป คือต้องมีความชำนาญเข้าไป

เวลาที่ถามมาก่อนหน้านั้น ถามมาจนน้อยใจนะ จนบอกว่า หลวงพ่อนี่ อะไรก็ผิดๆถามมาจนน้อยใจ คนถามนี่ถามมาบ่อยมาก แล้วก็น้อยใจว่าทำไปแล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำไปแล้วก็มีแต่ความทุกข์ความยาก น้อยใจมาก

คำว่าน้อยใจตอนนั้นเพราะว่าอะไร เพราะวุฒิภาวะของเรายังอ่อนด้อย เราปฏิบัติใหม่มันก็เป็นแบบนั้นน่ะ แต่ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เราทำความเพียรกัน เรามีสติปัญญากัน ทำความเพียรเข้าไป มีความขยันหมั่นเพียร คนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร พอทำความเพียรเข้าไป ทำความเป็นจริง ทำซ้ำๆๆ เข้าไป ผลมันเกิด เวลาผลมันเกิด

เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด เวลากำหนดนะ ทุกข์ควรกำหนด เรากำหนดที่อะไรล่ะ

เวลากามราคะมา กามราคะมันก็ฝ่ายตรงข้ามระหว่างหญิงกับชาย เวลาหญิง เพศตรงข้ามมันก็ทำให้กระตุ้นกามราคะ ฝ่ายชาย เพศหญิงก็เป็นเพศตรงข้าม ฝ่ายเพศตรงข้ามทั้งสองฝ่าย ถ้าเพศตรงข้ามทั้งสองฝ่าย เวลาทางโลก กามคุณ ๕

เวลาศีล ๕ นะ ผู้ที่เป็นคู่ครองกัน กามคุณ ๕ คู่ครองกันไม่ผิดศีล คำว่ากามคุณ ๕คือมันไม่ผิดศีล ๕ ไง ศีล ๕ คู่ครองของตนมันไม่ผิด ไม่เสียหายหรอก แต่ศีล ๘ ไม่ได้แล้ว พรหมจรรย์ ต้องแยกแล้ว ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ไปเลย จบเลย พรหมจรรย์ไปข้างหน้า

ฉะนั้น กามคุณ ๕ ทางโลกเขาเป็นคุณ แต่เวลาปฏิบัติ กามราคะมันเป็นโทษ เป็นโทษเพราะอะไร เป็นโทษเพราะมันยึดไว้ไง สิ่งในโลกนี้ที่แสวงหากันอยู่นี้มันมาจบลงตรงนี้ มันมาจบลงตรงระหว่างเพศตรงข้ามกัน มันไม่ไปจบที่ไหนหรอก

แต่ถ้าจิตใจมันเป็นธรรมๆ นะ เวลาทำสมาธิขึ้นมามันมีเพศไหม เวลาจิตสงบขึ้นมามันมีเพศหญิงเพศชายไหม เวลาปัญญามันเกิด มันมีเพศไหม ความรู้สึกมันมีเพศไหม มันไม่มีหรอก มันมีเพศต่อเมื่อเราเกิดมา เพศหญิง เพศชาย สมณเพศ สมณสารูป เรามาเกิด เกิดประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเราทำของเราไป ปฏิบัติไปต่อหน้า

เริ่มต้นมันก็เป็นแบบนี้ กามคุณ ๕ มันเป็นคุณของโลกเขา โลกเขา เขาอยู่กันด้วยกามคุณ กามคุณคือสิ่งที่เป็นคุณ เป็นคุณกับชีวิต ชีวิตของเขามีความร่มเย็นเป็นสุข ชีวิตของเขาติดไปว่ารสชาติของเขา เขาติดของเขา นั่นเป็นกามคุณ ๕ นี่กามเป็นคุณ

แต่กามเป็นโทษ กามเป็นโทษของเรา นี่กามเป็นโทษ ถ้ากามเป็นโทษ ทีนี้มันฝืนนี่ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ...ธรรมชาติเขาก็กามคุณ ๕ ไง มันธรรมชาติของสัตว์ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตมันต้องผสมพันธุ์ ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตไง นี่กามคุณ ๕ นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติไง ว่าธรรมชาติ ธรรมชาติก็กามคุณ ๕ ไง

แต่ถ้าจะฝืนธรรมชาติล่ะ เห็นไหม เขาบอกว่าทำอย่างนี้มันฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต้องมีการผสมพันธุ์ แล้วถ้าสิ่งมีชีวิตมันไม่ผสมพันธุ์ มันก็ฝืนธรรมชาติน่ะสิ

ฝืนธรรมชาติ นี่ไง ธรรมะเหนือโลกไง มันไม่ได้ฝืนธรรมชาติ มันจะเหนือธรรมชาติ มันจะรู้เท่าสัจจะความจริง ความรู้เท่าอันนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ

โดยสัญชาตญาณ โดยความเป็นจริง ทางการแพทย์เขาบอกว่า สิ่งนี้เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ มันเป็นธรรมชาติ ถ้าอยู่ในศีลในธรรมมันไม่เสียหาย นั่นพูดถึงทางโลก

แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ เห็นไหม กามราคะ สิ่งที่จะละได้มันละได้ยากมาก ถ้ามันละได้จริงนะ จะเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีไม่ติดในกามภพ แต่พวกเรายังไม่ถึงพระอนาคามี สิ่งนี้มันยังไว้ใจไม่ได้ ถ้าไว้ใจไม่ได้ เราก็ต้องสงวนต้องรักษา รักษาสิ่งที่เราปฏิบัติมา

ปฏิบัติมาอย่างนี้ เห็นไหม ก่อนหน้านั้นน้อยใจหลวงพ่อไม่เคยให้กำลังใจเลย หลวงพ่อมีแต่ว่าผิดๆๆ เลย

วันนี้เวลาเขียนมา มันปฏิบัติแล้ว มันพิจารณาแล้วมันก็มีแต่ความบันเทิง มีความบันเทิงอยู่ภายในตลอดเวลา มีสติคิดนอกคิดในเป็นธรรมไปหมดเลย

ปฏิบัติไปแล้ว เวลาผลมันเป็นอย่างนี้ เวลาผลมันได้จริงต้องมีใครบอก ต้องหลวงพ่อบอกไหม ไอ้นี่หลวงพ่อรู้ทีหลัง เพราะคนปฏิบัติบันเทิงในใจแล้วถึงเขียนมาบอก ไอ้เรารู้ต่อเมื่อเขาเล่าให้ฟัง แต่ไอ้คนที่ปฏิบัติได้มันมีความบันเทิงในใจ มีความสุขในใจ แล้วความสุขนี้มันเกิดจากไหนล่ะ มันเกิดมาจากไหน เกิดจากว่าเราปฏิบัติชอบ เราทำถูกต้องดีงาม

กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา ไง ทำคุณงามความดีมา ทำความถูกต้องมา กุสลา ธมฺมา ทำดีมา อกุสลา ธมฺมา ทำความผิด ทำความไม่ดีมา มันจะให้ผลไง กุสลา ธมฺมา ทำความดีมามันก็ถูกต้องดีงาม ถ้าถูกต้องดีงาม ให้ต่อเนื่องไป

ฉะนั้น สิ่งที่เขาถามมาว่า จะเรียนหลวงพ่อที่เคารพ อยากให้หลวงพ่อ การรู้เป็นธรรมอย่างนี้ต้องให้หลวงพ่อเมตตาธรรมด้วย

การเมตตาธรรม เราจะบอกว่า สิ่งที่ทำถูกต้อง เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาถามหลวงตาไป สิ่งนี้ทำมาถูกไหม หลวงตาจะบอกว่าถูก

แล้วทำอย่างไรต่อไป

ท่านใช้คำว่า ซ้ำ

คำว่าซ้ำเพราะทำซ้ำ เพราะเรามีสติปัญญา เราไม่ใช่คนขี้ตื่น จะทำอะไรไปแล้วเชื่อแต่ข่าวลือ เห็นสิ่งใดแล้วคิดว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เวลาทำพอสบายใจๆ อันนั้นมันเป็นแค่พื้นฐาน เริ่มต้นพื้นฐานของคนมีความสุขความทุกข์ในใจมันเป็นพื้นฐาน แต่เวลาปฏิบัติธรรม จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าให้สูงขึ้นๆ

เราปฏิบัติไป ปฏิบัติของเราต่อเนื่องไป ถ้ามันทำเสร็จแล้ว ทำซ้ำทำซาก หาความชำนาญของเรา ไอ้ปฏิบัติซ้ำ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าให้ปฏิบัติซ้ำเข้าไป ปฏิบัติซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไปเพื่อให้มีประสบการณ์ ซ้ำเข้าไปเพื่อเป็นการเรารักษาจิตของเรา

ถ้าเรารักษาจิตของเราได้มันก็ดีขึ้นไป แล้วพอซ้ำขึ้นไป จิตใจมันดีขึ้น พอจิตใจดีขึ้น มันมีกำลัง พอจิตมีกำลัง จิตเป็นสัมมาสมาธิ จิตมีกำลังขึ้นมาแล้ว เวลาเขาพิจารณาไป กระดูกมันเรียงรายไปหมดเลยนะ เส้นเลือดก็ดี เส้นเอ็นก็ดี ต่างๆ ก็ดี เห็นไหม

มันเกิดขึ้นของมันมาเพราะอาศัยการปรุงแต่ง อาศัยการปรุงแต่งเพราะสติปัญญามันทัน ถ้าสติปัญญาทันมันจะมีความคิดอย่างนี้ ถ้าสติปัญญามันทัน ความคิดของตัวเองนะ มันเกิดเพราะเราไม่ดี เกิดเพราะความปรุงแต่ง เกิดเพราะจิตไปยึดเขาเอง เกิดเพราะว่าเราลุ่มหลงไปเอง มันโทษแต่เรา

เวลาถ้าคนภาวนาดีนะ มันโทษแต่เหตุที่มันจะไปหยิบไปจับ เหตุหัวใจที่มันจะไปยึดไปเกาะ ถ้ามันโทษตรงนี้ปั๊บ มันไม่มีอะไรไปยึดไปเกาะ มันจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาไหม มันก็ไม่เกิด

แต่ถ้าจิตมันไม่ดี จิตไม่มีกำลังนะ พอจิตเราไม่มีกำลังใช่ไหม เราปฏิบัติแล้วเราโทษคนอื่นหมดเลย มันเป็นเพราะกายน่ะ มันเป็นเพราะเวทนาน่ะ มันเป็นเพราะจิตน่ะ มันเป็นเพราะธรรม มันเป็นเพราะคนอื่นหมดเลย แล้วไอ้ตัวนี้มันก็ไม่ดูแลไง พอไม่ดูแล มันก็ไปยึดไปจับ ไปจับเขาหมดเลย มันไม่โทษใคร นี่ถ้าไม่มีกำลัง ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ มันจะไปโทษคนอื่น

แต่ถ้ามีสมาธินะ มันจะโทษตัวมันเอง โทษตัวจิต จิตมันโง่ เพราะจิตมันโง่...จิตไม่โง่ มันไปหยิบทำไม ไฟ ไปจับทำไม ของร้อน ไปจับทำไม มันออกไปยุ่งกับเขาทำไม ถ้าออกไปยุ่งกับเขาก็เพราะขาดสติไง เพราะขาดสติ เพราะไม่มีกำลัง มันถึงไม่โทษตัวเอง ไปโทษคนอื่น

แต่ถ้ามีสติ ปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ไปเห็น เห็นไหม พิจารณา สิ่งนั้นคืออะไร พิจารณาไปแล้วมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ อย่างที่เขาเขียนมานี่ มันกระดูกเลย น้ำมูตรน้ำคูถต่างๆ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันเกิดได้เพราะมีการปรุงแต่ง สิ่งไม่มีชีวิตมันปรุงแต่งไม่ได้ ธาตุมันปรุงแต่งไม่ได้ คนที่ปรุงแต่งคือใจ เพราะขาดสติมันถึงปรุงแต่ง มันปรุงแต่ง

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เวลามันจะปรุงแต่ง มันปรุงแต่งจากใจ พอมันแว็บจะไปคิด มันทันไง มันเห็น แอ๊ะ! จะปรุงแต่งอีกแล้ว จะไปหยิบเขาอีกแล้ว ผิดอีกแล้ว ตัวเองผิด สติปัญญามันทัน ตัวเองผิดๆๆ ตัวเองมันก็ปล่อย เห็นไหม มันรื่นเริง มันบันเทิง เขาเขียนมานี่พอใจมากเลยนะ บอกว่ามันบันเทิง เพราะก่อนหน้านั้นเขียนมาทีไร โอ๋ย! หลวงพ่อเอ็ดทุกทีเลย โอ๋ย! หลวงพ่อไม่ให้กำลังใจเลย

ให้กำลังใจ แต่ตรงนั้นแหละมันเป็นสิ่งที่ติด เราทำความดีแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ แล้วเราบอกว่าเราเป็นคนดีแล้ว มันขาดอีก ๙๘ เปอร์เซ็นต์ที่เราจะต้องดีขึ้นไปอีก เราทำดีแค่ ๒ เปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ทำต่อเนื่องไปก็เป็น ๓ เป็น ๕ เป็น ๘ เป็น ๑๐ แล้วยังทำต่อเนื่องไปก็เป็น ๑๕, ๒๐, ๓๐ ทำต่อเนื่องไป พอมันถึง ๕๐ แล้ว เอาแล้ว พอถึง ๕๐ นะ เพราะเกินจาก ๕๐ ไปมันเป็นกำไรแล้ว เกินจาก ๕๐ ไปคือโลกกับธรรมไง

โลก โลกคือสัญชาตญาณ ความรู้สึกเรา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เลยจาก ๕๐ เปอร์เซ็นต์นี้ไปมันจะเป็นคุณธรรม ถ้าเป็นคุณธรรม พอเลยขึ้นไป ตอนนั้นมา ที่ถามมา ได้ ๒ เปอร์เซ็นต์ ๓ เปอร์เซ็นต์ หลวงพ่อ นี่ใช่ธรรมะไหมถ้าบอกว่าใช่ คนมี ๒ เปอร์เซ็นต์ มันก็บอกว่าพออยู่พอกิน

พออยู่พอกินที่ไหน มันยังไม่ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์เลย ถ้ามันถึง ๕๐ ไปแล้ว เกิน ๕๑-๕๒ ไป อันนั้นล่ะมันจะเริ่มดีขึ้น มันจะเริ่มมั่นคงขึ้น แล้ว ๕๐, ๖๐, ๗๐, ๘๐ ถ้าไปครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สมุจเฉทปหาน สะอาดบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าถึงตรงนั้นแล้ว นั่นน่ะจบ

แต่ถ้ายังไม่ถึงตอนนั้นนะ ระหว่างนี้ ระหว่าง ๑-๑๐๐ เราต้องรักษา เราต้องดูแล เราต้องหมั่นเพียรของเรา ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติ คนถ้าไม่เข้ามา ๑ เปอร์เซ็นต์เลย เขายังไม่เข้าถึงเขตนี้เลย เราก็ไม่พูดแบบนี้ ถ้าผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติเลย มาวัด แค่มาวัดมันก็เป็นความทุกข์สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว แค่มาวัดนี่พ่อแม่ก็ไม่ให้มา ญาติพี่น้องก็บอกว่าไปไม่ได้ เงินทองหามาก็ลำบาก แค่ไปวัดมันเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับต้องสละชีวิตกันเลยแหละ แล้วจะมาเริ่มปฏิบัติ ไม่ต้องไปพูดถึงมันเลย

ฉะนั้น เวลาคนจะมาวัดที่ว่าเขาทุกข์เขายากนั่นมันก็คุยอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลาคนที่มาปฏิบัตินะ คนที่มาปฏิบัติมันเป็นการชำระล้างตัวเองให้สะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นการชำระล้างใจของเรา ถ้าเป็นการชำระล้างใจของเรา มันต้องทำมากกว่านั้นไง ทาน ศีล ภาวนา การภาวนามันต้องลงทุน ต้องทุ่มเทกัน พอทุ่มเทขึ้นมา แต่เวลาได้ผลขึ้นมา อริยทรัพย์

ทรัพย์ทางโลกกับทรัพย์ทางธรรม

ทรัพย์ทางโลก เห็นไหม อ้าว! ถ้าใครขาดตกบกพร่อง เราก็ช่วยเหลือเจือจานกันก็ได้ อ้าว! ใครขาดตกบกพร่องก็ให้หยิบยืมกันก็ได้ แต่สติ สมาธิ ปัญญา หยิบยืมจากใครไม่ได้ เวลาเราปฏิบัติแล้วล้มลุกคลุกคลานมันมีความทุกข์ใจ เวลาเจอหน้ากันเขาก็ปลอบใจ ทำไปเถอะ เดี๋ยวก็ได้ ทำไปเถอะมันก็ได้แค่นี้ ได้แค่ปลอบใจกัน พูดให้กำลังใจเท่านั้นน่ะ เขาทำให้เราไม่ได้หรอก เวลาปฏิบัติมันต้องช่วยตัวเองใช่ไหม ฉะนั้น มันถึงเอาจริงเอาจังอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติแล้วถ้ามันได้ผล ได้

ฉะนั้นบอกว่า เพราะเราทำบ่อยครั้งเข้า ทำซ้ำๆ สติมันมีกำลัง จิตมีกำลัง พอมีกำลังขึ้นมา มันพิจารณาไปมันจะรู้มันจะเห็นของมัน เห็นไหม ว่าแม้แต่กระดูกก็ดี เส้นเลือดก็ดี น้ำมูตรคูถต่างๆ ก็ดี มันเกิดจากการปรุงแต่ง แล้วพิจารณาต่อเนื่องไป เวทนามันคลาย เวลาเวทนาคลาย กามราคะก็เหมือนกัน

ถ้าเวทนามันคลาย คำว่าเวทนาสุขเวทนา ทุกขเวทนา ถ้าทุกขเวทนามันเป็นความทุกข์ ทุกขเวทนาคือความขัดข้องหมองใจ สุขเวทนา เขาบอกกามก็เหมือนกัน มันก็เป็นกามราคะได้ ก็กามคุณ สุขเวทนา ทุกขเวทนา สุขเกิดจากอะไร ถ้ามันรู้เท่า เวทนามันคลายลง ทุกอย่างอ่อนลง ถูกต้อง ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้วทำต่อเนื่องไป

การพิจารณา ถ้ากามราคะยังไม่กำเริบ กระผมก็พิจารณาต่อว่ามันจะกำเริบเพราะเหตุใด

เห็นไหม มันอยู่ที่เหตุ มันกำเริบเพราะเหตุใด ถ้าเราพิจารณาที่เหตุ เหตุคือใจทั้งนั้น เหตุคือความลุ่มหลงทั้งนั้น เหตุคือความเห็นผิดทั้งนั้น แต่ความเห็นผิด ถ้าเราขาดสติ ความเห็นผิดเป็นเรา เรากับความเห็นผิดเป็นอันเดียวกัน มันก็ว่าถูก ถ้าไม่ถูก ไม่ถูกก็ยังเอาชนะไม่ได้ ก็คิดอย่างนี้ไปก่อน มันอ้างเล่ห์ไปหมดล่ะ แต่ถ้าเราพิจารณาไป เวลาสติปัญญามันดี มันคิดอย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้ แต่เวลาสมาธิเสื่อมไป มันคิดอีกแบบหนึ่งนะ

ถ้าพูดอย่างนี้ไปเดี๋ยวเสียกำลังใจ เพราะวันนี้จะชม วันนี้ไม่ว่า วันนี้จะมีแต่ชม ชมเพราะอะไร เพราะพอใจ พอใจ เขาบอกว่าเขาบันเทิง เขามีความสุข

น้อยคนนักนะที่เขียนมาบอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วมีความสุข ทุกคนเขียนมาถามว่า หลวงพ่อ มันทุกข์แสนเข็ญ ทุกคนจะเขียนมามีแต่ความทุกข์ แต่ผู้เขียนเขาเคยเขียนมาเยอะ ก่อนหน้านั้นเขาทุกข์เหมือนกัน แต่วันนี้เขาเขียนมา อื้อหืม! เขาเขียนมาเพราะอะไรรู้ไหม เพราะพวกเราไม่ประมาท

ถ้าพวกเราประมาทนะ อย่างเช่นเราปฏิบัติมาครั้งแรก เราจะอยู่แค่นั้น แต่นี้เพราะเราไม่ประมาท เราถึงขวนขวาย การขวนขวายของใจ ใจมันขวนขวายนะ มันพยายามของมัน มันพยายามสร้างสมของมัน มันพยายามเพิ่มเติมกำลังของมัน มันฝึกหัดใช้ปัญญาให้มันแกล้วกล้าขึ้น มันถึงเป็นผลอย่างนี้ไง เพราะเรามีการพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปมันถึงเป็นอย่างนี้

ฉะนั้นบอกว่าถ้ากามราคะมันยังไม่กำเริบ ผมก็พิจารณาต่อว่ามันกำเริบเพราะเหตุใด ถ้ามันจะปรุงแต่งมันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา มันอยู่ของมันอย่างนี้ เวลาผ่านไป ๒ วัน ๓ วัน มั่นใจ

คำว่ามั่นใจปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ มั่นใจว่า นี่แหละเหตุกำเริบ ถ้าไม่กำเริบ เหตุกำเริบและไม่กำเริบ

นี่แหละคือสมุทัย เขาบอกว่านี่แหละคือปัจจัย

นี่แหละคือสมุทัย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด ก็จี้เข้าไปเลย ตรงไหนเป็นทุกข์ จับ จี้เข้าไปเลย

อย่างเช่นเวทนา เวลาเวทนามันเกิด ถ้าเวทนา เราจับเวทนาได้ เพราะจิตมันสงบได้ จับเวทนาได้ แต่ถ้าจิตมันไม่สงบ เวทนาเป็นไฟ เข้าไป เวทนาเพิ่มเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า สู้ไม่ได้ กลับมาที่พุทโธ กลับมา

แต่ถ้าจิตมีกำลังแล้วจับ จี้เข้าไป ทุกข์ควรกำหนด คือจับตรงนั้น จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม จับแล้วพิจารณา ถ้าพิจารณาไปแล้ว ถ้าสู้ไม่ได้ กำลังไม่มีนะ มันก็จับไฟ โอ้โฮ! มันทุกข์มันยาก ถ้ามันทุกข์มันยาก วางไว้ แล้วพยายามพุทโธให้ได้ ให้จิตสงบมีกำลังขึ้นไป แล้วเข้าไปจับ จับแล้วพิจารณาอย่างนี้ ถ้าพิจารณาไปแล้วมันก็รู้เท่า ถ้ารู้เท่า มันมั่นใจ มั่นใจในตัวเอง มั่นใจในผลของการปฏิบัติ แล้วถ้ามั่นใจอย่างนี้แล้ว คราวหน้าจะต่อสู้ไป

มันเป็นความปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม พอปฏิบัติถูกต้องดีงาม มันจะมีความสุข มันจะมีความสงบ มันจะมีความระงับ ถ้ายังไม่เห็นสัจธรรมมันก็เห็นร่องรอยของธรรม เห็นวิธีการที่จะทำ มันมั่นใจของมัน แล้วจะทำได้ มั่นใจแล้วเดินไป ถ้าจิตมันเจริญก้าวหน้า มันก็เจริญก้าวหน้าไป ถ้าจิตมันจะเสื่อม มันก็เป็นอย่างนี้ ในเมื่อเรากินอาหารแล้ว พอเวลาอิ่มแล้ว พอมันย่อยอาหารไปหมดแล้วมันก็หิวเป็นธรรมดา ถ้าเวลาจิตเราปฏิบัติแล้วมันสมความปรารถนา มันก็จะมีความสุข มีความบันเทิงอย่างนี้ แล้วความสุข ความบันเทิง มันก็เป็นอนิจจัง

นี่เขาบอกว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา

สรรพสิ่งเวลาปฏิบัติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เหมือนกัน การปฏิบัติได้ผลมันก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน มันก็อยู่กับเราด้วยกำลังของเรา ด้วยสติปัญญาของเรา แต่กิเลสมันซุ่มอยู่ในหัวใจนะ พอกิเลสซุ่มอยู่ในหัวใจ พอสติ เราขาดสติ เราไม่ดูแลรักษา ไอ้กิเลสตัวนี้มันก็จะพุ่งออกมา แล้วมันก็จะมาขัดแย้ง มันจะมาทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แต่เราก็ต้องกลับไปสู้มันใหม่ เพราะเวลาสมุจเฉทปหานฆ่าหลานของมัน ฆ่าลูก ฆ่าพ่อ ฆ่าปู่

หลานของมันก็สักกายทิฏฐิ ลูกของมันก็ธาตุ ๔ ถ้าพ่อแม่ของมันก็กามราคะ ถ้าปู่ย่าก็อวิชชา นี่ไง กิเลสมันมีครอบครัวของมัน มันมีปู่มีย่า มันมีลูกมีหลานของมัน เราก็ต่อสู้ ถ้ามันยังฆ่ามันไม่ได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ตัดป่าทำลายป่า ไม่ได้ตัดต้นไม้แต่ต้นเดียว

การชำระล้างกิเลส เวลาเราสมุจเฉทปหาน เวลากิเลสมันตาย การชำระล้าง การเบียดเบียน การทำร้ายกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้ทำทั้งนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญในการฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลส การฆ่าประเภทเดียวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญคือการฆ่ากิเลส ฆ่าตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา แต่การเบียดเบียนกัน การทำลายกัน การเห็นแก่ตัว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าติเตียนหมดเลย

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำต่อเนื่องไป เขาบอกว่าให้เราเสริมต่อไง

ถ้าอย่างนี้ ตอนนี้มันบันเทิง มันมีความสุข มันมีความสบาย นี่ถูกต้อง ผลของมันเวลาปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ถ้าเราพิจารณาแล้ว เราพิจารณาแล้ว ปล่อยอย่างนี้เขาเรียกตทังคปหาน คือปล่อยวางชั่วคราว นี่ขนาดชั่วคราวนะ ชั่วคราว แต่มันจะเห็นร่องเห็นรอยก็ชั่วคราว ก็ปฏิบัติแล้วมันก็ปล่อยชั่วคราวอย่างนี้ ชั่วคราว แต่มันแนบแน่นขึ้น ชั่วคราว มันละเอียดขึ้น ชั่วคราว รอบคอบขึ้น ชั่วคราว มันแยกแยะขึ้น ชั่วคราวๆ ชั่วคราวต่อเนื่องขึ้นไปจนกว่ามันจะถึงที่สุด

คำว่าชั่วคราวๆมันชำนาญขึ้น ทุกคนชำนาญ แต่มันยังสรุปไม่ได้ จบงานไม่ได้ แต่ถ้าถึงที่สุดเวลามันขาดนะ นั่นแหละอกุปปธรรม ไม่ใช่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

คำว่าอนัตตาคือชั่วคราว คือมันยังแปรสภาพ มันยังเจริญแล้วเสื่อมไง ถ้ามันไปถึงที่สุด มันอกุปปธรรมนะ จบนะ อันนั้นอกุปปธรรม ความคงที่ไม่มีการชั่วคราว ของคงที่ตายตัว อันนั้นถ้าปฏิบัติ ทำอย่างนี้ต่อเนื่องไป

เราจะบอกว่า สิ่งที่ทำมานี่ถูก คำว่าถูกของเขามีความบันเทิง มีความสุข มีความมั่นใจ ความมั่นใจเพราะอะไร เพราะเราได้ลิ้มรสของธรรม เราจะมีความมั่นใจ เราจะมีความองอาจมีความกล้าหาญ

แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไป ปฏิบัติไป พอกิเลส คำว่ากิเลสมันมีเชื้อไข คนเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาโรคยังไม่หาย มันบรรเทาก็มีความสุขชั่วคราว เวลาถ้ามันกินของแสลง เวลาความเจ็บไข้ได้ป่วยมันรุนแรงขึ้น เราก็จะมีความทุกข์ยากขึ้นมาอีก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราพิจารณามันปล่อยวางชั่วคราวๆ เวลาถ้าเราไม่ดูแลรักษา เดี๋ยวพอมันของแสลงก็กามราคะนี่แหละ ของแสลงก็เพศตรงข้ามนี่แหละ ตอนนี้พิจารณาเพศตรงข้ามจนเห็นโทษ เดี๋ยวพอจิตมันอ่อนแอลง สมาธิมันเสื่อมลง ไอ้เพศตรงข้ามนั่นแหละมันจะเป็นของแสลง เวลาของแสลงแล้วมันก็จะทำให้จิตนี้ฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก

พอฟุ้งซ่านขึ้นมาอีกก็ต้องสู้กันอย่างนี้ คือในเมื่อถ้ามันกำเริบมา เราก็ต้องมียา ธรรมโอสถเข้าไปปราบไปทำลาย ทำจนมีความชำนาญบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุดอย่างที่ว่า มันต้องขาด การตัดทำลายป่าโดยไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว การชำระล้างจนถึงที่สุด แล้วมันขาดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มรรค ๔ ผล ๔ ให้ทำต่อเนื่องขึ้นไป ทำอย่างนี้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง

คำว่าถูกต้องนี่นะ ถ้าเราทำต่อเนื่องไป ทางข้างหน้าก็ถูกต้องเหมือนกัน กำหนดเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน แต่มันอยู่ที่สมาธิ มันอยู่ที่จิตสงบไม่สงบ จิตมีกำลังหรือจิตไม่มีกำลัง

เรากำหนดที่เดียวกัน เหมือนกัน แต่จิตไม่มีกำลังนะ ความเห็นแตกต่างกัน ถ้าเวลาความชอบธรรม สมาธิชอบ ความคิดชอบ ความรู้ชอบ ถ้าความชอบธรรมมันสมดุล มันก็จะเป็นอย่างที่เป็น แต่ถ้าสมาธิมันไม่ชอบธรรม สมาธิมันอ่อนด้อย สมาธิมันคลอนแคลน สมาธิไม่มั่นคง พาอย่างอื่นคลอนแคลนไปหมดเลย

แต่ถ้าสมาธิมันมั่นคง แม้แต่ปัญญามันยังไม่มั่นคง ทุกอย่าง สติ งานไม่ชอบธรรม แต่สมาธิตัวชอบธรรม ตัวกำลังตัวชอบธรรม ทำบ่อยครั้งเข้าๆ มันก็จะสรุปลงอย่างนี้ สรุปลงที่การปล่อยวาง

แต่ถ้าสมาธิมันคลอนแคลนนะ มันทำให้ปัญญาคลอนแคลน ทุกอย่างคลอนแคลนไปหมดเลย ฉะนั้น ถ้ามันคลอนแคลนแล้ววาง แล้วกลับมาที่สมาธิ นี้เราพูดดักหน้าไว้เลย มันจะเกิดอย่างที่เราพูดนี่ ไม่ใช่พูดจบ พรุ่งนี้เขียนมาแล้วหลวงพ่อ ที่เขียนไปแล้วมันเขียนไปก่อนหน้านั้น ตอนนี้มันเป็นแบบที่หลวงพ่อพูดหมดเลย

มันจะเป็นแบบนี้ แต่เราก็ต้องขยันหมั่นเพียร เพราะมันเป็นระหว่างที่เราจะก้าวเดิน ระหว่างที่จิตมันจะพัฒนา เราต้องมุมานะของเรา เห็นไหม ทุกคนจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร มันต้องเป็นความเพียร เป็นความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา ฉะนั้น ให้หมั่นเพียร ให้ทำ ให้ทำ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นการยืนยันจากผู้ปฏิบัติเองไง

ก่อนหน้านั้นเขาเขียนมาจนน้อยใจ ถามอะไรมาหลวงพ่อปฏิเสธหมดเลย ถามอะไรหลวงพ่อก็เอ็ดหมดเลย วันนี้เขาเขียนมาเองเลย เห็นไหม ก็ปฏิเสธเพราะมันยังต้องก้าวเดินต่อไป ปฏิเสธเพราะเราต้องโตขึ้น เราไม่ใช่เด็กๆ เป็นเด็กๆ แล้วจะอยู่เป็นเด็กๆ ทั้งชาติ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องโตขึ้น จิตมันภาวนาแล้วมันต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์ มันต้องเจริญงอกงามขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเป็นแค่นั้น ๒ เปอร์เซ็นต์แล้วก็จะอยู่อย่างนั้นน่ะ คน ๒ เปอร์เซ็นต์ เออ! ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นมา พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์คือมรรคผล

โลกนี้ทองคำมี ๙๙.๙๙ เขาไม่มีกล้าบอกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ธรรมะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราทำของเราไป แล้ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ในใจด้วย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นสันทิฏฐิโกด้วย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เพราะการปฏิบัติของเราด้วย ให้หมั่นเพียรต่อไปแบบนี้นะ จบ

ถาม : เรื่องผมอยากได้หนังสือธรรมะสัก ๒ ชุดจึงส่งที่อยู่มาด้วย

ตอบ : อันนี้เราต้องพิจารณาดูก่อนเนาะ เดี๋ยวเราจะให้เจ้าหน้าที่เขาจัดการ ให้เจ้าหน้าที่เขาจัดการว่ามันเป็นอย่างไร เพราะหนังสือเราให้อยู่ แล้วเขาให้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า อย่างว่า คนที่สนใจจริงก็มี คนที่ไม่ได้สนใจจริง เห็นเขา เห่อตามเขา เห็นเขาแจก เห็นเขาไอ้นั่นก็เอาตามกันไป อันนี้อันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นประโยชน์ เดี๋ยวเราจะให้เจ้าหน้าที่เขาจัดการเนาะ เรื่องขอหนังสือ

อ้าว! จบ เอวัง