ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จะหลอกใคร

๑๒ ก.ค. ๒๕๕๗

จะหลอกใคร

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องเกิดเป็นเทวดา

หลวงพ่อ : เขาว่ามีเทวดามาหาเขา เขาคุยกับเทวดา นี่อารัมภบทมา จบ ไม่พูด

ถาม : ส่วนเรื่องภาวนาของผมมันอยู่กับที่ มันไม่ก้าวหน้า จะเข้าไปถอนหนามออกจากจิตอีก มันทำไม่ได้แล้วครับ ไม่รู้มันเป็นเพราะอะไร กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง

ตอบ : เขาบอกเขาเป็นพระ เขาบอกว่ามันมีเทวดา เกิดเป็นเทวดา มีเทวดามาคุยกับเขา แล้วมีเทวดามาคุย เขาคุยกับเทวดา แล้วเขาถามว่าสิ่งนี้มันมหัศจรรย์

มันจะเป็นความมหัศจรรย์ที่ไหน แล้วสิ่งนั้น เพราะว่าผลของวัฏฏะๆ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เพราะเวลาการภาวนา ครูบาอาจารย์ท่านภาวนา เวลาเป็นพระโสดาบันไม่เกิดแบบไม่มีต้นไม่มีปลาย พระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ เวลาภาวนาเป็นสกิทาคามีนี่ ๓ ชาติ แล้วเวลาภาวนาไปถึงพระอนาคามีมันละกามภพ ละกามภพคือละตั้งแต่เทวดาลงมา เพราะพระอนาคามีไปเกิดบนพรหม ไปเกิดบนพรหมนะ ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสไปเกิดบนพรหม แล้วไปเกิดบนพรหมก็ไปสุกเอาข้างหน้า หมายถึงว่า ถ้าเกิดเป็นพรหมแล้วมันจะสุกไปข้างหน้า มันไม่กลับมาเกิดอีก เพราะมันไม่กลับมาเกิดในกามภพตั้งแต่เทวดาลงมา แล้วถ้าภาวนาไปถึงที่สุดถ้าเป็นพระอนาคามีไปเกิดบนพรหม แล้วถ้าสิ้นสุดแห่งทุกข์ไป ลบล้างหมดเลย ลบหมด ลบหมด ๓ โลกธาตุ ครอบคลุมหมดเลย นั่นคือสิ้นสุดแห่งทุกข์

ฉะนั้น สิ่งที่มันมีมา กามภพ รูปภพ วัฏฏะ ผลของมันมีอยู่ ถ้าผลของมันมีอยู่ เราปฏิบัติกัน เราปฏิบัติไปรู้จักเทวดาหรือ ไปเห็นเทวดาหรือ ไปปฏิสันถารเทวดาหรือ จะไปคุยกับเทวดาหรือ ทำให้มันเนิ่นช้าไง

เทวดา จะบอกว่าเทวดามันไม่มีหรือ มันก็มีของมัน แล้วก็เห็นเทวดา แล้วเห็นอย่างไร แล้วเทวดาจริงเทวดาปลอม นี่มันหลอกตัวเอง ถ้ามันหลอกตัวเอง คนที่เขารู้จริงเขาไม่พูดอย่างนี้ คนที่เขารู้จริงเขารู้ของเขาอยู่ภายใน

ถ้ารู้จริงของเขา เห็นไหม หลวงปู่ชอบ เทวดามาใส่บาตร เทวดาใส่บาตร ไปอยู่พม่า แล้วอยู่พม่าแล้วมันสงครามโลก เพราะว่าประเทศไทยเข้ากับญี่ปุ่น ทางพม่าเขามันเข้ากับสัมพันธมิตร เขาจะจับคนไทยๆ ไง เขาพยายามจะเอาหลวงปู่ชอบมาส่ง ก็ชี้ทางมาให้เดินข้ามมา

ทีนี้หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบหมายความว่า ท่านภาวนาของท่าน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องปกติของท่านเลย เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องเทวดาที่จะมาอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบเป็นเรื่องธรรมดาเลย

ฉะนั้น เวลาท่านกลับมาจากพม่าอย่างนี้ ๓ วันยังไม่ได้กินข้าว เดิน ๓ วัน ๓ คืน เพราะมันจะหนีตายมา สมัยโบราณ ป่ามันยังทึบมาก ทีนี้พอคนมันทำเองใช่ไหม คนเราทำเองมันรู้อยู่แก่ใจไง พอเดินมาถึง ๓ วัน ๓ คืน รำพึงขึ้นมาเลย เวลาปกติเทวดาก็มาฟังเทศน์ เทวดาก็มาอุปัฏฐากตลอดเวลา ปัจจุบันนี้เดินมา ๓ วันแล้วนะ ข้าวก็ยังไม่ได้กินเลย เวลาทุกข์เวลายากไม่มีใครดูแลเลย

เวลาเขาสงสัยในธรรม เขาสงสัยสิ่งใดๆ เขาก็มาถามหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบได้ปฏิสันถาร ได้สนทนาธรรมกับเขา เขาได้ประโยชน์กับหลวงปู่ชอบมหาศาล แต่ในปัจจุบันนี้กำลังจะตายแล้วนะ เวลาวิกฤติขึ้นมา จะตายขึ้นมา ไม่เห็นมีใครคิดถึงเลย ไม่มีใครดูแล นี่มันรำพึงขึ้นมาจากใจเพราะอะไร เพราะเป็นคนทำเอง เราเป็นคนทำเอง เรารู้ใช่ไหม ความลับไม่มีในโลก ใครทำสิ่งใดก็รู้อย่างนั้นน่ะ

พอรำพึงขึ้นมาอย่างนั้นปั๊บ ท่านบอกว่าท่านเดินมา อยู่ในประวัติหลวงปู่ชอบด้วย หลวงตาท่านเล่าให้ฟังด้วย เวลาท่านเดินมาสักพักหนึ่ง เดินไปข้างหน้า อ้าว! เห็นคนผู้ชายจะมาใส่บาตร โอ้โฮ! ด้วยความหิวตาลาย รีบปลดบาตรลง เอาบาตรมารับบาตร พอเข้าไปรับบาตร เข้าไปใกล้ๆ ก็สงสัยนะ

โยมมาจากไหน

เขาบอกอืมเขาชี้ไป ก็ยังไม่รู้นะ นึกไม่ถึง

โยมมาจากไหน

อืม

แล้วพอเขาใส่บาตร พอใส่บาตร มันแปลก ท่านบอกมันแปลกว่ากลิ่นหอม กลิ่นมันแปลกกว่าอาหารที่เคยเห็นมา เอ๊ะ! มันก็ชักแปลกใจ พอแปลกใจก็เริ่มมองเขาแล้ว จะลงฉัน ว่าเขาจะไปไหน เขาก็ลา บอกเขาจะลา พอลาไป เขาเดินเข้าไปในต้นไม้ใหญ่ มันลับต้นไม้แล้วหายไปเลย พอลับต้นไม้ปั๊บ ท่านก็มองไปข้างหน้า ลับต้นไม้ต้องไปออกอีกข้างหนึ่งใช่ไหม ออกอีกข้างก็ไม่เจอ ไปหาก็ไม่เจอ แต่ไม่เจอก็ไม่เป็นไรหรอก กำลังหิว ขอฉันอาหารก่อน พอฉันขึ้นไปแล้วมันพอดีหมด เห็นไหม

นี่เขารำพัน คนที่เขารู้เขาเห็นเขาเก็บไว้ในใจ แล้วสิ่งนี้มันไม่ใช่อริยสัจ มันไม่ใช่มรรค มันไม่ใช่ทางเดินไง ดูสิ เรามีตากันใช่ไหม เราเห็นเครื่องบินไหม เครื่องบินมันบินไปบินมา เราก็เห็นใช่ไหม ดูก้อนเมฆสิ เมฆเวลามันก่อตัวขึ้นมา เราก็เห็นเมฆ เวลาเมฆมันเคลื่อนไปแล้วมันมีไหม มันก็มีอยู่จริงไง แล้วมีอยู่จริง แต่มันเป็นอะไร มันรู้มันเห็นไง

นี่บอกเทวดาๆ ได้เทวดามาดูแลพระ เทวดา

เทวดาก็ส่วนเทวดา ไม่ปฏิเสธว่าเทวดาไม่มี แต่ปฏิเสธไอ้คนหลงน่ะ หลอกตนเอง จะหลอกตนเองมันมีประโยชน์อะไร ถ้าเราหลอกตนเองมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะรู้จะเห็นสิ่งใด ทำสมาธิเป็นหรือเปล่า สมาธิได้หรือเปล่า

ถ้าทำสมาธิได้ ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มรรคมันอยู่ที่นี่ นี่งานของพระๆ อัตตสมบัติ งานของพระมีศีลมีธรรม งานของพระมีศีล สมาธิ ปัญญา สมบัติของพระ สมบัติของพระที่นี่

เทวดาเขาก็หาบุญกุศลของเขา เขาก็ภพชาติของเขา เขาทำบุญกุศลของเขา เขาไปเกิดเป็นเทวดา เขาก็ต้องหมดอายุขัยเหมือนกัน เทวดาก็ต้องตายเหมือนกัน

เทวดา เราจะบอกว่า เราเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบโดยตรรกะ ดูสิ ถ้าพูดถึงเป็นเทวดาก็เหมือนพวกเราเกิดมามั่งมีศรีสุข เป็นคนมั่งมีศรีสุข คนมี เวลาตกนรกอเวจีก็คนทุคตะเข็ญใจนั่นน่ะ มันก็เหมือนกันน่ะ มันก็ฐานะไง เทวดาเขาเป็นทิพย์สมบัติ สิ่งใดเขาก็เป็นทิพย์ ในเทวดาเขายังมีชนชั้น ชนชั้นเทวดาที่มีบุญมากกว่าบุญน้อยกว่า สมบัติของเขาก็แตกต่างกัน แล้วอายุขัยเขาสั้นหรือยาว ก็เหมือนกันน่ะ มันเหมือนกัน พรหมก็เหมือนกัน

จะเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาจะมีความสุขขนาดไหน คนมีความสุข เวลาจะตาย ทุกข์ไหม คนมีความสุข เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ทุกข์ไหม เหมือนกัน แล้วมันจะไปตื่นเต้นอะไร เทวดาก็เทวดา เทวดาก็ภพชาติหนึ่ง จิตมันก็ภพชาติหนึ่ง แล้วเวลาหมดอายุขัยมันก็ต้องตายมา แล้วเราไปชื่นชม เราไปหลงใหลกับเทวดาหรือ เขาเป็นเทวดา แล้วชื่นชมอะไรกับเขา นักปฏิบัติเราไม่ต้องการอย่างนั้น ต้องการสิ้นสุดทุกข์ที่นี่ในปัจจุบันนี้

นี่พูดถึงว่าการเห็นเทวดา ถ้าเห็นเทวดา ให้รับรอง แล้วเราจะไปหลอกใครล่ะ นี่เขาเรียกว่าส่งออก ในการปฏิบัตินี่นะ แม้แต่จิตสงบแล้วเห็นนิมิต เขาจะให้ดึงไว้เลย ถ้าเห็นนิมิต นิมิตมันเป็นบารมีของจิต ถ้าจิตมันมี มันรู้มันเห็นของมัน ก็รู้ก็เห็น หลวงปู่มั่นรู้เห็นไปหมดล่ะ แล้วมันเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ด้วย รู้แล้วจะไปบอกเขา เขาไม่เชื่อ แล้วเป็นทุกข์กับเขาด้วย มันมีประสบการณ์นะ มีประสบการณ์ในเรื่องเวรเรื่องกรรมของคน แล้วเราไปบอกเขา เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แล้วถ้าไปบอกเขา ถ้าเขาร้อนตัวขึ้นมา เขาไม่มีความสุขอะไรเลย

จะบอกเขามันต้องใช้อุบายไง ต้องใช้อุบายว่า บ้านนี้มีพฤติกรรมอย่างนี้หรือเปล่า บ้านนี้ควรจะแก้ไขอย่างนี้หรือเปล่า เวลาเขาบอกเขาต้องใช้อุบายนะ ถ้าคนเขาเป็นน่ะ ถ้าไม่เป็นไปบอก มันมีแต่ผลกระทบ มีแต่ความเสียหายทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือสภาพความเป็นอยู่

แล้วเรามาบวชเป็นพระ เราจะมาปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิเสธว่าเทวดา อินทร์ พรหมไม่มี แต่ถ้ามี มันมีอยู่ในสถานะใด อยู่อย่างไร แล้วเราเป็นพระ เขามาสนทนาธรรม เขามาฟังธรรม เรามีอะไรบอกเขา เทวดาเขาไม่อยากมาใกล้มนุษย์ กลิ่นคาวของมนุษย์คาวมาก เขามีความสะอาดยิ่งกว่าเรา กลิ่นคาวของมนุษย์นี่เขาไม่อยากเข้าใกล้เลย เหมือนกับเรา ดูสิ ไอ้พวกสภาวะแวดล้อมที่เสียหาย น้ำเสีย ใครอยากเข้าไปใกล้บ้าง น้ำที่เป็นสารพิษ มีใครอยากเข้าไปใกล้บ้าง ไม่มีใครอยากเข้าไปใกล้เลย

มนุษย์ก็เหมือนกัน เขาไม่อยากเข้ามาใกล้หรอก เขาเหม็น แต่ที่เขาจะเข้ามาใกล้ เขาเข้ามาใกล้ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมต่างหากล่ะ ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมมันหอมกลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมมันหอมทวนลม มันสะอาดบริสุทธิ์ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้ากลิ่นของครูบาอาจารย์ท่านมีศีลมีธรรมในหัวใจ ท่านไม่เพ้อเจ้อย่างนี้ หลอกตัวเองแล้วจะไปหลอกใครก็ไม่รู้น่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นเทวดา ไปรู้ไปเห็นเทวดา ไปพูดกับเทวดา ไร้สาระ เพราะเรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องฤๅษีชีไพรเขาก็ทำได้ ทุกคนเขาก็ทำได้ถ้าจิตเขามีสติสัมปชัญญะ ไอ้นั่นเป็นเรื่องของเขา

ฉะนั้น รับรู้เทวดา ผมรับรู้เรื่องเทวดา ไปเรื่องเทวดา แต่พอมาถามปัญหา เห็นไหมส่วนเรื่องภาวนาของผม ตอนนี้มันอยู่กับที่ครับ ไม่ก้าวหน้าเลย

มันจะก้าวหน้าไปไหนล่ะ ก็มันหลอกตัวเอง ทิ้งตัวเองไป ไปอยู่กับเทวดา เอาใจไปแขวนไว้กับเทวดา เอาใจไปฝากไว้กับคนอื่นไง เอาใจไปฝากไว้กับเทวดา แล้วตัวเองได้อะไรล่ะ

แต่ถ้าทำความสงบของใจนะ เวลาทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ปัญญา

ที่ว่าเขาจะไปถอนหนามของจิต

จะถอนหนามของจิต ไอ้นี่มันเป็นบุคลาธิษฐานทั้งนั้นน่ะ กิเลสมันเป็นหนามหรือ เวลาเขายกให้เห็นไง กิเลสนี้เป็นนามธรรมใช่ไหม เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยหาหมอ หมอก็ต้องวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคอะไร

นี่ก็เหมือนกัน คำว่ามีกิเลสคนเรามีกิเลส ถ้ามีกิเลสขึ้นมา เขาเปรียบเทียบ เปรียบเทียบว่า เหมือนฝ่าเท้าเวลาไปเหยียบหนามแล้วมันมีความเจ็บปวด มันเจ็บเพราะหนามมันปักเข้าไปในฝ่าเท้า

นี่เหมือนกัน กิเลสมันปักเข้ามากลางอก ปักกลางหัวใจใช่ไหม เขาก็อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบบุคลาธิษฐานว่า ถ้าเราถอนหัวหนาม ถอนหัวหนามก็ถอนหัวหนามจากใจ ก็ถอนอวิชชา แล้วถอนอวิชชา แล้วจะไปถอนอะไรล่ะ

เขาบอกเขาถอนหนามของจิตต่างๆ

มันเป็นคำอุปมาอุปไมย เวลาพูดธรรมะ สิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ที่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ท่านบอกว่าให้อธิบายถึงนิพพานนะ ท่านจะลุกขึ้นยืน แล้วก็เม้มปากแน่นๆ แล้วก็นั่งลง ท่านไม่พูดหรอก พูดคือสมมุติ กิริยาทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน หนามของจิตๆ มันเป็นคำอุปมาอุปไมยให้เราเห็นเป็นบุคลาธิษฐาน ให้เราเห็นไงว่า กิเลสมันเหมือนกับหนาม แล้วมันปักลงในใจ แล้วจะถอนมันอย่างไร

พอบอกว่าหนามของจิต แล้วมันก็ไปหาหนามไง จะไปบ่งกันใหญ่เลย หาเข็มมาว่าจะบ่งหนาม

มันเป็นอุปมาอุปไมย มัคโค ทางอันเอก สมาธิชอบ เพียรชอบ งานชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรม แล้วเวลามรรคญาณมันเคลื่อน มันหมุนเข้าไป มันทำลายอวิชชาเข้าไป มันทำลายอย่างไร นั้นมันเป็นอุปมาอุปไมย

ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมๆ แสดงธรรมมันหลากหลายนัก แสดงธรรมกับใคร แสดงธรรมกับคนที่มีปัญญา แสดงธรรมกับพวกพราหมณ์ พวกปัญญาชน เขามีเหตุมีผล เราต้องมีเหตุมีผลกับเขา

ดูสิ พราหมณ์เวลาเขามาต่อว่าพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้น้อย คืออายุยังน้อย ทำไมไม่เคารพบูชาผู้ใหญ่ นี่เขามาติเตียนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็นั่งฟัง นั่งฟังเฉย

พอเสร็จ เขาจะลากลับนะ พระพุทธเจ้าถามพราหมณ์ โดยธรรมชาติ คนเราเอาสำรับอาหารไปให้แขกรับประทาน ถ้าแขกเขาไม่รับประทาน อาหารจะเป็นของใคร

ก็เป็นของผู้ที่เอามา

คำพูดของพราหมณ์ทั้งหมดที่พราหมณ์พูด เราไม่รับ ให้พราหมณ์เอากลับไป

โอ๋ย! พราหมณ์นั้นช็อกเลย คนที่มีปัญญา ปัญญาชนสมัยพุทธกาลที่เขามาหาพระพุทธเจ้ามันร้อยแปดพันเก้า นักปราชญ์เยอะแยะไปหมดล่ะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสนทนากับใคร พูดกับใคร

ทีนี้พอเราไปพุทธพจน์ๆคนนู้นก็อ้างพุทธพจน์ คนนี้ก็อ้างพุทธพจน์

เราไม่คัดค้านพุทธพจน์ แต่เราคัดค้านคนจำพุทธพจน์แล้วใช้ถูกต้องหรือเปล่า เราใช้ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าใช้ถูกต้อง เรามีสมาธิไหม เรารู้จักใจของเราไหม เรามีสัมมาสมาธิไหม เรามีปัญญาภาวนามยปัญญาที่มันจะถอดถอนหัวหนาม มีไหม ถ้ามันมีนะ มันจะไม่ส่งออกไปเห็นเทวดาอย่างนี้หรอก

สิ่งที่บอกว่ามันไม่ก้าวหน้าเลย มันจะก้าวหน้าไปไหนล่ะ ก็โยนหัวใจตัวเองทิ้งไปแล้ว แล้วไปชื่นชมเทวดา ไปตื่นเต้นกับเทวดาน่ะ แล้วมันจะก้าวหน้าไปไหนล่ะ นี่เราไม่มีหลักไมล์เลย หลักไมล์คือตัวจิต ตัวจิตนี่คือตัวหลักไมล์ ตัวศูนย์เลย แล้วออกก้าวเดินไป ออกเป็นเมตรที่แรกเลย คนเราไม่มีหลักไมล์เลย มันจะก้าวเดินไปจากที่ไหน คนเราไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีจุดยืนเลย มันจะก้าวไปจากไหน ถ้าตัวเองไม่มีหลักไมล์ มันจะก้าวเดินไปจากไหน

ฉะนั้นบอกว่า ส่วนภาวนาของผม

ไม่ต้องพูดถึงภาวนาของผม เพราะภาวนามันไปอยู่ที่เทวดาหมดแล้ว มันส่งออกหมดแล้ว มันส่งไปข้างนอกหมดแล้ว เห็นไหม ส่งออกนอก แต่ถ้ามันไม่ส่งออกนอก มันทำอย่างไรมันถึงไม่ส่งออกนอกล่ะ

ไม่ส่งออกนอก พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ กลับเข้ามาสู่ใจ แล้วถ้าใจมันเห็นนะ ขนาดในพระไตรปิฎก พระไปภาวนาอยู่ในป่า แล้วเวลากลัวพวกภูตผีปีศาจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วให้ภาวนาไป

ถ้าคนมีอำนาจวาสนา เวลาไปอยู่ในป่าในเขา จิต ถ้าพระองค์ใดปฏิบัติ จิตสงบ เทวดาจะคุ้มครอง เทวดาคุ้มครองเลยนะ คุ้มครองเพราะเทวดาเขาอยากได้บุญ แม้แต่คนทำสมาธิได้ เทวดาก็สาธุแล้ว

ดูสิ ในประวัติหลวงปู่มั่นบอกว่า เทวดาเขาเป็นคนตรง พูดง่าย เข้าใจง่าย ไม่เหมือนมนุษย์ มนุษย์ปลิ้นปล้อน พูดอย่าง ทำอย่าง คิดอย่าง ความคิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง มนุษย์น่ะ มนุษย์นี่ปลิ้นปล้อน

แล้วมนุษย์ ความปลิ้นปล้อนไปศึกษาธรรมะ ไปศึกษาธรรมะก็ไปพลิกแพลงธรรมะให้ตัวเองพอใจ เอากิเลสไปพลิกแพลงธรรมะไง

นี่ไง คุยกับเทวดา พูดกับเทวดา หลวงปู่มั่นท่านสอนเทวดา เทวดามาคุยกับหลวงปู่มั่น เรื่องนี้เยอะแยะไปหมดเลยในประวัติหลวงปู่มั่น

แต่สำหรับเราคิดว่าเทวดามันจะมาหาหรือ อย่างพวกเรานี่เทวดาจะเข้ามาใกล้หรือ เข้าส้วมก็เหม็น ขนาดเหม็นคลุ้งไปทั่วอย่างนี้เทวดาจะเข้ามาใกล้หรือ แล้วถ้าเทวดาไม่เข้ามาใกล้ ทำไมเราไม่ทำสมาธิ

ถ้าทำสมาธิ เราทำความเหม็นคลุ้งของใจให้มันมีกลิ่นของศีล ให้มันมีกลิ่นของธรรม ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ มีความกตัญญู มีความซื่อสัตย์กับใจของเรา ซื่อสัตย์กับธรรมวินัย เราภาวนาของเรา แล้วถ้าภาวนาของเรา การภาวนามันจะก้าวหน้าที่นี่

ถ้าก้าวหน้าที่นี่แล้ว ถ้าใจมันเป็นธรรมแล้วนะ ไม่ต้องห่วงว่าใครจะมาหรือใครจะไม่มาหรอก กลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมมันไป มันฟุ้งขจรไปไกลมาก แล้วคนที่เขาปรารถนา ปรารถนาความดีงาม ปรารถนาความถูกต้องนี่มหาศาล ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วงเลย

นี่ไปเรื่องนอกโลกหมด ไปเรื่องเทวดา แล้วยังกลับมาพูดอีกนะว่าการภาวนาของผมไม่ก้าวหน้า

มันจะก้าวหน้าได้อย่างไรล่ะ มันกลับหัวกลับหางกัน มันจะเอาอะไรมาก้าวหน้า คนที่เขาภาวนาจริงเขามีความสำรวม เขามีความระวัง เขามีความไม่คลุกคลีในหมู่ในคณะ สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ไอ้นี่ตัวเองจะไปเป็นสัปปายะกับเทวดา

ให้มันจบสิ้นเถอะ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติรู้เห็นสิ่งใดเป็นความจริง สาธุ มันเป็นคุณสมบัติของเขา เป็นคุณงามความดีของเขา เก็บไว้ในใจ ไม่ต้องเอามาเปรียบเทียบ

แล้วนี่มาพูดถึงการภาวนา ถ้าพูดถึงการภาวนา เขาจะไม่ถามย่อหน้าแรก ย่อหน้าแรกพูดถึงเทวดานี่ไร้สาระ นี่มันหลอกตนแล้วจะหลอกใคร จะหลอกใคร จะไปหลอกใคร หลอกใครล่ะ ให้กิเลสมันหลอกตัวเองแล้วเราจะไปหลอกใครอีก มันส่งออกไปมันจะหลอกใคร

เห็นนิมิตขึ้นมา นิมิตมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าเห็นเทวดา เทวดาจริง เห็นก้อนเมฆ ก้อนเมฆใครก็เห็น มันลอยมา ยิ่งหน้าฝนก้อนเมฆเต็มไปหมด แล้วก้อนเมฆมันแปรสภาพของมันตลอด แล้วเป็นอย่างไรล่ะ ถ้ามันดีก็เป็นฝนไง ถ้ามันตกเป็นฝนก็ตกเป็นฝนไง ถ้าความชื้นไม่พอ มันก็ลอยไปที่อื่นไง นี่ก็เหมือนกัน แล้วได้อะไรล่ะ พื้นที่ของตัวมันได้ชุ่มน้ำไหม มันได้ทำการเกษตรไหม มันเป็นสิ่งมีชีวิตไหม นี่ก็เหมือนกัน ปล่อยมันไป ความเป็นจริง ความจริงมันอยู่ที่เรา

นี่ภาวนาของผม ภาวนาของผม

ถ้าพูดถึงคำถามย่อหน้าที่สองมันฟ้องหมด ไม่ต้องบอกว่าภาวนาเป็นไม่เป็นหรอก ภาวนาดีไม่ดีหรอก ภาวนานี่จบ เพราะมันส่งออกหมด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามากับอาฬารดาบส อุทกดาบส ฤๅษีชีไพร ศึกษามาหมดแล้ว จบ เพราะมันไม่มีใครมีความเป็นจริง เพราะอะไร เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้มันไม่มีอะไรคงที่ มันแปรสภาพหมดเลย แล้วเราจะไปเอาของที่แปรสภาพเป็นที่พึ่งได้ไหม

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา แล้วเวลาเราภาวนากัน เราภาวนาให้เห็นสภาพเป็นไตรลักษณะ เป็นอนัตตา ให้มันเห็นจริง ให้จิตมันคายมันทิ้ง เพราะมันคายมันทิ้ง มันก็ทิ้งหมดทั้งโลก ทิ้งหมดทั้ง ๓ โลกธาตุ ทิ้งหมดเลย แล้วกลับมาทำลายตัวมันเอง กลับมาทำลายภวาสวะ กลับมาทำลายภพชาติ สิ่งที่มันจะไปเสวยภพ เสวยชาติ ทำลายทิ้งหมด จบ นี่พูดถึงพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามันมีธรรม มีความจริง

ฉะนั้น สิ่งที่จิตใจของเรามันไม่จริงมันก็ได้ผลมาอย่างนี้ เหลวไหล

ฉะนั้น เรื่องที่ว่าผมภาวนาไม่ก้าวหน้า จบ ไม่ก้าวหน้าก็เพราะเราหลงไปเอง ออกนอกเรื่องนอกราวไป มันก็เลยจบไปไง อันนี้จบ

ถาม : เรื่องถามเกี่ยวกับเรื่องทำกัปปิยะครับ

กราบนมัสการคณะสงฆ์ ผมอยากจะขอรบกวนถามคำถามเกี่ยวกับการทำกัปปิยะสักเล็กน้อยนะครับ เพราะว่าตัวผมใกล้จะบวชแล้วนะครับ อยากจะทำตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด จริงๆ แล้วก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ จึงอยากกราบเรียนถามครับผม

. ผลไม้และผักที่ยังมีส่วนที่นำไปปลูกได้ต่อ ก่อนพระสงฆ์จะฉันได้ จะต้องผ่านการทำกัปปิยะ คือจี้ด้วยไฟ ฟันด้วยศาสตรา จิกด้วยเล็บ และปล้อนเมล็ดออก วิธีใดวิธีหนึ่ง โดยพระสงฆ์กล่าวว่า กัปปิยัง กโรหิและอนุปสัมบันทำกัปปิยะวิธีใดก็ได้ดังกล่าว โดยสิ่งที่ทำกัปปิยะสามารถนำมากองรวมกันและทำทีเดียว ไม่ต้องทำทีละใบ/ผล พร้อมกับกล่าวว่ากัปปิยัง ภันเตวิธีนี้ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่าครับ

. พืชผักที่ผ่านการทำอาหารด้วยความร้อนแล้ว (ต้ม ลวก ทอด) งอกไม่ได้แล้ว ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นภูตคาม พืชคามอีก พระสามารถฉันได้เลย ถูกต้องหรือเปล่าครับ

. ในกรณีที่ญาติโยมถวายผลไม้ เช่น มะม่วงที่ตัดเป็นชิ้นแล้วไม่มีเม็ดเหลือแล้ว แตงโมที่ตัดเป็นชิ้นๆ แต่ยังมีเม็ดอยู่ในชิ้นแตงโมนั้น ทั้ง ๒ กรณีนี้ถือว่าผลไม้ทั้ง ๒ เป็นกัปปิยะในตัวแล้ว เพราะถูกฟันด้วยศาสตราแล้วหรือเปล่าครับ พระสงฆ์จำต้องถามว่ากัปปิยัง กโรหิกับผู้ถวายอีกหรือเปล่าครับ

. ในกรณีที่ญาติโยมถวายส้มตำ และมีพริกปนอยู่ในส้มตำ ด้วยต้องการทำกัปปิยะก่อน แต่ถ้าพริกถูกทำจนเละป่นไปโดยส้มตำ จะให้ญาติโยมแทงลงไปในพริกทีละเม็ดก็ไม่ได้ ไม่ทราบว่าถ้าให้ญาติโยมเอามีดและส้อมแทงลงไปในส้มตำนั้น จะเป็นการทำกัปปิยะที่ถูกต้องหรือเปล่า ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : อันนี้อยากบวช พออยากบวชขึ้นมาก็อยากจะทำความถูกต้องทั้งนั้นน่ะ อยากทำถูกต้อง เราก็ศึกษามา กรณีนี้กรณีที่ว่า ดูฝ่ายมหายาน มหายานเขาให้เชื่อตามอาจารย์กันมา สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้บางอย่างให้ยกเลิกได้ ฉะนั้น เวลาฝ่ายเถรวาท เถรวาทเวลาทำสังคายนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ถามพระอานนท์ พระอานนท์เป็นคนพูดขึ้นมาเองบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อนาคตกาลถ้าวินัยเล็กน้อย ถ้าจะยกเลิกบ้างก็ได้

พระทั้งหมด พระอรหันต์ ๔๙๙ องค์ก็ถามพระอานนท์ พระอรหันต์องค์ที่ ๕๐๐ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าความเล็กน้อยมันแค่ไหน

พระอานนท์บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าของเล็กน้อย แต่ไม่รู้ว่าเล็กน้อยแค่ไหน

ฉะนั้น มันวัดเล็กน้อยแค่ไหนไม่ได้ บางคนก็บอกแค่นี้ก็เล็กน้อย บางคนบอกนี่มันยังมากเกินไป มันตกลงกันไม่ได้ พระกัสสปะเลยขอมติในสงฆ์ว่า ถ้าสิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าของเล็กน้อยให้ยกเลิกก็ได้นั้น ให้ลงมติกันว่า เพราะพระกัสสปะพูดขึ้นมาว่า เพราะว่าถ้าของเล็กน้อยแล้วยกเลิกๆ แบบว่ายกเลิกไป ศาสนาลัทธิอื่นจะบอกว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอสิ้นพระชนม์ไป พอล่วงไม่กี่ปีเลย พระภิกษุในสัทธิวิหาริกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะรักษาธรรมวินัยไม่ได้ ก็เลยให้ลงมติกันไว้ว่า เถรวาทจะไม่ยกเลิกๆ ก็เลยถืออย่างนี้ต่อๆ กันมา ถ้าถืออย่างนี้ต่อๆ กันมา

ทีนี้เวลาที่ศาสนาต่อไปข้างหน้า ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วต่อไป ,๐๐๐ ปีขึ้นไปแล้ว ภิกษุก็จะมีแค่ผ้าเหลืองห้อยคอไว้เท่านั้นก็เป็นพระภิกษุ นี่ความเชื่อความมั่นคงของสังคมมันจะเจือจางมาตลอดเวลา

ฉะนั้น สิ่งที่สังคมมันเป็นมา ๒,๕๐๐ กว่าปี สมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาท่านบวชมาแล้ว ธรรมวินัยที่เราเห็นว่าเคร่งครัด ที่เห็นว่าความถูกต้องดีงาม มันอยู่ในพระไตรปิฎกมาไม่ได้คลาดเคลื่อนเลยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

แต่พระที่ต่อๆ กันมาเขาก็ทำเหลวไหลกันไป พระที่ไม่ทำเขาก็เห็นว่าของเล็กน้อย บางที่ก็ทำ บางที่ก็ปล่อยปละละเลยกันมา จนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมารื้อฟื้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมารื้อฟื้น ดูสิ เรื่องไม้แทะฟัน ไม้จิ้มฟัน น้ำที่ควรเคนและน้ำที่ไม่ควรเคน มันมีมาแต่โดยดั้งเดิม แต่ไม่มีใครดูแลรักษา

ทีนี้พอครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คนที่จะทำความสงบของใจ คนที่อยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วถ้ามันผิดศีล ผิดกติกา คนมันก็ไม่สบายใจเป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม

พระจอมเกล้าฯ เวลาท่านศึกษาของท่าน พระไตรปิฎกก็ว่าอย่างหนึ่ง พฤติกรรมของพระก็เป็นอย่างหนึ่ง ท่านถึงพยายามจะทำตัวเองของท่านให้เข้าไปใกล้ชิด ท่านถึงพยายามสร้างขึ้นมา มันก็เลยกลายเป็นคณะธรรมยุตขึ้นมา พอคณะธรรมยุตขึ้นมา แต่การกระทำนั้น จิตใจของคนยังไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์มันก็มีความสงสัย พระจอมเกล้าฯ มีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พยายามพิสูจน์ให้มันชัดเจนกับพระไตรปิฎก แต่ก็ทำมาเรื่อยๆๆ

แต่พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาปฏิบัติ ท่านก็มีความสงสัยอยู่เหมือนกัน มีความสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่เพราะครูบาอาจารย์ท่านมีคุณธรรมของท่าน ท่านกำหนดของท่านด้วยคุณสมบัติของท่าน ในประวัติหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเยอะแยะมากเลย ว่าพระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาแสดงธรรม มาแสดงธรรม ควรทำอย่างไร ควรทำอย่างไร การกระทำมันถึงเกิดขึ้นมา

เราย้อนกลับมา กัปปิยัง กโรหิไง กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต กว่าจะได้มา ผ้านิสีทนะ ผ้าปูนั่ง ผ้าต่างๆ ผ้าปูนอน เมื่อก่อนมีการกระทำกันไหม เราดูพระโดยทั่วๆ ไปสิ ที่พฤติกรรมของพระ ความเป็นอยู่ของเขา เขาคิดถึงเรื่องอย่างนี้ไหม แล้วของที่ทำอยู่นี่ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หรือครูบาอาจารย์ท่านอวดอุตตริมาจากไหน มีใครอวดอุตตริบ้าง มีใครเอาความคิดของตนว่าตัวเองเป็นใหญ่ ความคิดเราถูกต้องดีงามบ้าง...ไม่มี ไม่มี ไม่มีเลย

ไปรื้อค้นอยู่ในตำรับตำรา อยู่ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านบัญญัติไว้เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว แล้วมันไม่มีใครทำ มันปล่อยปละละเลยกันมา อยู่กันไปอย่างนั้นน่ะ อยู่กันไปโดยความเป็นอยู่ อยู่กันไปโดยเป็นพิธีกรรมเท่านั้นน่ะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมารื้อค้นของท่าน คนรื้อค้นขึ้นมา คนไม่เคยเห็น กาลเวลามันห่างกันมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ใครคิดว่าใครจะทำถูก แต่มันมีอยู่ในจารึก มันอยู่ในบาลี มันมีของมันน่ะ แล้วทำอย่างไร งงไหม เพราะถ้าทำอย่างไรก็ทำไม่ได้

เพราะทำเข้าไปแล้ว ดูสิ ใครเป็นผู้ทำงานนะ เราเป็นเด็กเข้าไปฝึกงานหรือเข้าไปในองค์กรใดก็แล้วแต่ ผู้อำนวยการ ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในองค์กรนั้นเขามีอำนาจอยู่ เขาทำตามความพอใจของเขา เรามีความเห็นแปลกๆ เรามีความเห็นอยากให้ถูกต้อง เราไปทำได้ไหม...ตายครับ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านโดนเรื่องอย่างนี้รุนแรงมาก

กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต มาได้เพราะหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นมาได้ที่วัดป่าสาลวัน ไปบอกกับสมเด็จฯ เปิดพระไตรปิฎกให้ดูเลย มันต้องเป็นอย่างนี้ๆ

ชั่วอายุของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำมาแล้วมันก็เป็นความเชื่อของกลุ่มหนึ่ง กลุ่มของกรรมฐานที่มีความเชื่อมั่นทำกันมา เพราะมีความเชื่อมั่น เพราะเราเชื่อมั่นอาจารย์ของเรา เราเชื่อมั่นว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำของท่านได้ ท่านรู้จริงของท่าน เพราะเราเคารพเราบูชา เห็นไหม

ว่า อาวุโส ภันเต หลวงตาท่านบอกว่า อาวุโส ภันเต มันต้องมีคุณธรรมด้วย อายุ ๑๐๐ ปียังโง่ๆ เซ่อๆ อยู่นี่ มันจะพากันไปไหนล่ะ

อายุจะกี่พรรษาก็แล้วแต่ ถ้ามีปัญญา มีคุณธรรม เราเชื่อกันตรงนั้น ถ้าเราเชื่อตรงนั้น มันทำมา กว่าจะได้สิ่งนี้มา ทีนี้พอได้สิ่งนี้มาแล้ว ดาบมันมีสองคมไง ทีนี้พอได้สิ่งนี้มา มันเป็นสิ่งที่ว่ามันมีอยู่ในธรรมอยู่ในวินัย แต่มันไม่มีใครทำ

จะมีใครทำ พระฝ่ายปกครองใหม่ๆ เขาก็บอกว่ากรรมฐานมันจะล้ำหน้าแล้วนะ มันธรรมดาของคนยังมีทิฏฐิ อาศัยอย่างนี้มาเป็นชั่วอายุคน กว่าสังคมจะยอมรับ

พอสังคมยอมรับ นี่มาเข้าคำถามแล้วอย่างที่ว่าสิ่งที่เป็น กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต ที่ทำอย่างนี้ถูกต้องไหม

ก็ถูกต้อง เพราะมันเป็นวินัยกรรม มันเป็นวินัยกรรม ความถูกต้อง ทีนี้ความถูกต้อง ถูกต้องที่ไหนล่ะ ถูกต้อง แล้วสังคมที่เขาไม่ทำล่ะ

ทีนี้มันอยู่ที่ว่า เขาบอกเขาใกล้บวชแล้วเขาถึงจะศึกษา

เวลาบวชแล้วมันก็ต้องหาครูบาอาจารย์ หาหมู่คณะที่มีความเห็นเหมือนๆ กัน ถ้าความเห็นเหมือนๆ กัน เรื่องนี้เขาถือว่าของเล็กน้อย เรื่องอาบัติ เรื่องต่างๆ เขาว่าเดี๋ยวปลงก็หาย เขาไม่ได้คิดของเขา แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราเก็บเล็กผสมน้อยนี่ทำมา

อย่างข้อที่ ๑ ผลไม้ที่มันต้อง กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต ถูกต้องไหม

ถูก

ข้อที่ ๒ ก็เหมือนกัน ที่มันลวกมันต้มแล้วถูกไหม

ก็ถูก

ถ้ามันถูกแล้ว สิ่งที่ถูก แต่มันทิฏฐิของคน ทิฏฐิของคน ทิฏฐิของความเห็นของหมู่ชน ถ้าความเห็นของหมู่ชน เรามีความรู้อย่างหนึ่ง เรามีความเห็นสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าหมู่ชนเขาเป็นอย่างนั้นน่ะ เขาเรียกว่า ถ้าอย่างนี้ถ้าพูดถึงทางวิทยาศาสตร์โดยเถรตรงเขาบอกว่า หลวงพ่อต้องพูดธรรมะให้ชัดเจนสิ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูกไปสิ

ไอ้ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก มันแน่นอน แต่ทิฏฐิของหมู่ชนเขามีความเห็นอย่างนั้น ถ้าเขามีความเห็นอย่างนั้นน่ะ มันผิดหรือเปล่าล่ะ

ถ้ามันผิด เห็นไหม หลวงตาท่านพูดนะ เปรียบเทียบ นี่หลวงตา ท่านประสบการณ์ของท่านนะ ท่านบอกท่านจำบ้านไม่ได้ ที่บอกท่านไปธุดงค์ไง แล้วไปบิณฑบาตกลับมา โยมเขาถาม เขาศรัทธามากนะ เขาขอดูบาตรว่ามีอะไรไหม มันมีแต่ข้าวเปล่าๆ

เขาบอก อู๋ย! อย่างนี้มันจะกินได้อย่างไร เขาก็เรียกลูกหลานเขาไปตำปลาร้าดิบไง ไปเปิดปลาร้าใหญ่ ตำๆๆ

หลวงตาท่านก็ยืนดูอยู่ ก็เห็นเขาไปเปิดไหปลาร้า แล้วเขาก็เอาปลาร้าที่อยู่ในไหเอามาตำ ตำเสร็จแล้วก็เอามาใส่บาตร ท่านก็รับไว้

หมู่ชน หมู่ชน ท่านบอกว่า รับไว้แล้วก็ฉันไม่ได้ น้ำใจของเขา เอาใจเขา น้ำใจของเขา เขาห่วงพระ พระบิณฑบาตมาไม่ได้อะไรมาเลย เขาก็ให้ลูกหลานเขารีบไปตำปลาร้า เพราะเขามีปลาร้าประจำครัวเขา ทีนี้ปลาร้าเป็นปลาร้าดิบ มันไม่ได้ทำให้สุกด้วยไฟ ของดิบ พระฉันไม่ได้ เขาตำๆๆ อย่างดีเลยนะ ห่ออย่างดีแล้วมาใส่บาตร เขาภูมิใจนะ วันนี้พระได้ฉันอิ่มหนำสำราญเลย แต่หลวงตาท่านกลับไปถึง ท่านเอาปลาร้าไปวางไว้ให้พวกกระรอกกระแต ท่านก็ฉันข้าวเปล่าอย่างเดิม

หมู่ชน เราจะไปบอกเขา ไปจี้เขาอู๋ย! ไม่ได้ ต้องเอาปลาร้านี่นะ ห่อใบตองนะ แล้วก็ไปปิ้งไฟให้มันสุกก่อนนะ สุกแล้วค่อยมาตำนะเลยกลายเป็นพ่อครัวใหญ่ไง จะไปบิณฑบาต ไม่ใช่ไปเป็นพ่อครัว พ่อครัวไปบอกเขาในครัวเลย มันไม่สมกาลเทศะ

นี่พูดถึงว่า วินัยก็เป็นวินัย ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บอู้ฮู! ต้องพูดชัดเจนถูกต้อง

คำว่าชัดเจนถูกต้องมันถูกต้อง ทีนี้เราจะบอกว่า สิ่งที่ว่าถูกต้องไหม ถูกต้อง เขาเรียกวินัยกรรม วินัยกรรมต้องทำต่อหน้า แต่เวลาเราบวชแล้วเราไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง

เรามาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เมื่อก่อนพวกองุ่นอเงิ่นไม่เคยกัปปิยะเลย บิณฑบาตมา เขามาถวาย เราไม่เคยกัปปิยะเลย แล้วก็ไม่เคยฉันด้วย เราวางไว้นั่นน่ะ มันไม่จำเป็นน่ะ คนเขามาใส่บาตรเขาก็ไปแล้ว แล้วก็บอกว่า มาถึง โยม ฉันไม่ได้ ต้องกัปปิยะเลยนะ กัปปิยะเสร็จแล้วเดี๋ยวอาตมาจะฉันให้ได้บุญเยอะมากเลย

เราไม่พูดหรอก เราก็วางไว้ ไม่เคยฉัน ไม่แตะเลย ใส่ไว้ในบาตรแล้วก็วางไว้ เราไม่ไปแตะ มันก็ไม่มีอาบัติ บิณฑบาตมาแล้วก็จบ เขาใส่มาแล้วก็ใส่มา แต่เราไม่ไปฉัน

มันเป็นอาบัติต่อเมื่อเราขบให้มันแตก อย่างมันเกิดที่ข้อ เราเคี้ยว เราก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้าเราบิณฑบาตมา เราไม่ได้แตะเลย เราวางไว้อย่างนั้นเลย พอฉันเสร็จแล้วก็ไปวางไว้ให้สัตว์ ให้กระรอกให้กระแตก็จบ นี่เขาเรียกว่ามีปัญญาเอาตัวรอดไง

ไม่ใช่ว่า ฉันจะทำถูกนะ สังคมจะต้องถูกหมดเลย ฉันจะถูกอยู่คนเดียว ฉันจะไปไล่จี้ทุกคนเลย เหมือนเปรตไง เปรตมันไปอยู่ที่ศาลา แล้วมันเห็นคนนอน มันนอนแล้วหัวไม่ตรงกัน มันก็จับหัวให้ตรงกันหมดเลย เปรตน่ะ มันดึงให้คนนอนหัวตรงกันเลย แล้วมันก็ไปดูที่เท้า เฮ้ย! เท้าก็ยังไม่ตรงอีกแล้ว มันก็ไปจัดเท้าให้ตรงนะ จัดเท้าคนนอนที่ศาลาให้ตรงหมดเลย พอเท้าคนนอนที่ศาลาตรงหมดเลย มันก็กลับไปดูทางหัว อ้าว! หัวไม่ตรงอีกแล้ว มันก็ไปจัดทางหัวอีก

คำเปรียบเทียบจะมาเปรียบเทียบกับ กัปปิยัง กโรหิ เราทำถูกต้อง แต่มีใครเห็นกับเรา มีคนเห็นด้วย มีคนส่งเสริมมากน้อยแค่ไหน คนที่เห็นประโยชน์กับธรรมวินัยนี้เขาก็จะส่งเสริมเรา เราพูดสิ่งใดเขาก็เชื่อถือ เขาก็จะทำตามเรา ช่วยเราให้มันพ้นจากอาบัติ

แต่ถ้าเขาไม่เชื่อเราพระองค์นี้เรื่องมาก ใส่บาตรให้แล้วยังต้องมากัปปิกัปเปอะอะไรก็ไม่รู้ ยังต้องตามไปวัดอีกนะ ไปทำให้มันถูกให้ได้อีกนี่พูดถึงประสบการณ์ของพระ

แต่ถ้ากลุ่มชนเขามีทิฏฐิ มีความเห็นเหมือนเรา เรื่องอย่างนี้เขาทำให้เราได้ เราบอกเขาได้ เราสอนเขาได้ นี่ไง เวลาเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ เขาเรียกว่าฝึกหัด คนจะอุปัฏฐากพระต้องศึกษาเรื่องนี้ แล้วศึกษาแล้วโยม กัปปิ

กะปิไม่ได้เอามา มันอยู่ที่บ้าน

เขาไม่ได้เอากะปิ เขาให้กัปปิยัง กโรหิ

กรณีนี้มันเป็นมุกให้คุยกันไม่มีวันจบ ตั้งแต่สมัยครูบาอาจารย์มาจนป่านนี้ อนาคตก็มี เพราะคนไม่รู้มันเข้ามาทุกวัน คนไม่รู้ คนอยู่ทางโลก ชาวพุทธนี่แหละไม่รู้ แล้วเข้ามาทุกวัน แล้วบอกว่าโยม กัปปิให้หน่อย

โอ๋ย! กะปิไม่ได้เอามา

บางคนจะบอกโอ๋ย! พระอะไรจะฉันแต่กะปิ กะปิมันกลิ่นไม่ดี ฉันแต่กะปิ

เขาไม่ได้ฉันกะปิ เขาให้กัปปิยัง กโรหิ แปลเป็นภาษาไทยว่า สิ่งนี้สมควรแก่ภิกษุหรือไม่

กัปปิยัง กโรหิ ของนี้สมควรกับภิกษุหรือไม่

กัปปิยะ ภันเต ของเป็นกัปปิยภัณฑ์ ของนี้สมควรแก่ภิกษุ

เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาในสมัยพุทธกาล พระไปฉัน ในพระไตรปิฎก โยมเขาถวายถั่วเขียวต้มน้ำตาล แล้วท่านฉันแล้ว แล้วท่านไปถ่าย แล้วถั่วเขียวมันงอก เม็ดยังงอก

สุดท้ายแล้วโยมนั้นเขาใส่อีก พระรับแล้ว อย่างที่ว่ารับแล้วไม่ฉัน โยมเขาเสียใจ ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระรับของเขาไปแล้วไม่ฉัน

ก็เรียกพระองค์นั้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพระองค์นั้นมาว่า ทำไมเธอทำแบบนั้น

ท่านบอกว่าท่านรังเกียจ เพราะของมันมีชีวิต แม้แต่ฉันไปแล้วถ่ายออกมามันยังเกิดได้อีก

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติวินัยข้อนี้ขึ้นมาว่า ถ้าเธอรังเกียจ เธอรังเกียจ เพราะสิทธิ นี่เป็นสมบัติของเรา เป็นสิทธิ์ของเรา เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา เราถวายพระ มันถูกต้องดีงามหมดนะ มันถูกต้องชอบธรรม แต่สิทธิของพืชมันไปเกิดได้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้ทำซ้ำ คือว่า กัปปิยัง กโรหิ ของนี้สมควรแก่ภิกษุ

คือว่าเขาหามาด้วยความถูกต้องชอบธรรมอยู่แล้ว แล้วพอสิทธิถูกต้องดีงาม เขาประเคน แล้วทีนี้สิทธิของพืชที่มันจะเกิดได้ เจ้าของสิทธิ์ถึงถามว่า ของนี้สมควรแก่ภิกษุ แม้แต่ว่ามันจะเกิดได้ แต่ก็สมควรให้ภิกษุได้ฉัน ให้ทำอีกชั้นหนึ่ง เป็น ๒ ชั้นขึ้นมา พอ ๒ ชั้นขึ้นมา มันเลยเป็นวินัยกรรม วินัยกรรมมันต้องทำต่อหน้า

ทีนี้มาเข้าคำถามไง คำถามว่า ตอนนี้พอโยมลูกศิษย์กรรมฐานเยอะ รู้ธรรมวินัยหมดเลย พอเช้าขึ้นมา เอาส้มมาก็ปาดหัวไว้ก่อนเลย บอกว่านี่ได้กัปปิยะแล้ว

มันทำเบื้องหลัง มันไม่ได้ทำต่อหน้า เพราะว่าของสิ่งนี้เขาทำเพื่อที่ว่าความรังเกียจใช่ไหม เพราะว่าฉันแล้วมันยังไปเกิดอีก ก็มันมีชีวิตไง มันเกิดได้ มันก็มีสิทธิ์ของมันน่ะ พระเลยไม่อยากไปล่วงสิทธิ์ของสิ่งที่ชีวิตที่มันจะเกิดอีก เขาเรียกภูตคาม

ทีนี้พอเขาไปปาด เพราะความรังเกียจ เราไม่รู้ใช่ไหม อย่างโยม โยมรู้วินัย เช้าขึ้นมาจะใส่บาตร ก็ปาดส้มไว้เลย แล้วก็ใส่บาตรพระไป อย่างนี้เป็นกัปปิยัง กโรหิหรือยัง

ยัง ยังเพราะอะไร เพราะทำลับหลัง ไม่ได้ทำต่อหน้า เพราะการทำนี้มันทำต่อหน้า ทำเพื่อให้ตัวเองรับรู้ แต่เราไม่รับรู้ มาทำเบื้องหลังไง ด้วยความปรารถนาดี ด้วยความปรารถนาดี

คำถามว่า เวลาบิณฑบาตไป เช่น ผลไม้ที่เขาตัดแล้ว เขาเปลี่ยนแล้ว

มันก็อันเดียวกันน่ะ ฉะนั้น กรณีนี้มันเป็นกรณีธรรมวินัย ธรรมวินัยที่มันเหมือนกรณีเชิงของกฎหมาย แต่ถ้าเป็นธรรมๆ เป็นธรรมที่ว่าเป็นสิทธิ เป็นที่ว่าเรามีความรังเกียจ เรายังมีความไม่ลงใจ ก็ไม่ต้องฉัน ก็จบ ไม่ต้องไปเป็นเปรตจัดหัวจัดเท้าเขาอยู่ตลอดเวลา จัดหัวใจของตัว

หลวงตาสอนอย่างนี้ หลวงตาสอนให้ดูใจเราว่ะ

เวลาโครงการช่วยชาติ เขาเสียดสี ทำทุกอย่าง หลวงตาบอกว่า ใครจะติฉินนินทาอย่างไรก็เรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีกัน เราจะทำคุณงามความดีกัน เราเสียสละเพื่อสังคมกัน กลุ่มชนเราแม้จะกลุ่มน้อย เราก็พยายามเหนียวแน่น แล้วทำคุณงามความดีกัน ทำคุณงามความดีจนสังคมเขายอมรับ เขาเห็นถึงคุณงามความดี เห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นว่าเป็นกัปปิยังหรือยัง เป็นกัปปิยัง กโรหิ หรือไม่เป็น ถ้าสงสัย ในอาบัติ เห็นไหม สงสัยฝืนทำก็เป็นอาบัติ เป็นอาบัติ ทำผิดถึงเป็นอาบัติ สงสัยในพฤติกรรมนั้นแล้วทำ เป็นอาบัติ ถ้าสงสัยแล้วทำ เป็นอาบัติทันที

ถ้าสงสัยแล้วห้ามทำ ถ้าสงสัยแล้ววางไว้ อย่าไปแตะต้อง วางไว้ บุญของเขาได้สมบูรณ์ของเขาแล้ว เราได้ของเขามา เราได้ธรรมะอีกชั้นหนึ่งด้วย ถ้ามันอดมันอยาก มันเห็นแล้วมันก็อยาก โอ๋ย! เห็นแล้วหิวนะ อดอยาก เช้าขึ้นมา เห็นแล้วแหม! แล้วกินไม่ได้

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาไล่ทันนะ เราได้ธรรมะอีกชั้นหนึ่ง มันภูมิใจไง อยากกิน แต่ไม่กิน อยากกิน แต่ไม่กิน เพราะมันกินไม่ได้ มันกินแล้วเป็นอาบัติ เห็นไหม เราได้ธรรมะอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเรามีปัญญา มีปัญญา เราใช้ปัญญาของเรา เป็นประโยชน์กับเราเอง

ฉะนั้น แต่ถ้าจะให้คนอื่นๆ เห็นเหมือนเรา แบกโลก ทุกข์นะ แบกโลกหลังหัก หลวงตาใช้คำนี้บ่อย ว่าแบกโลกนี่หลังหักนะ คืออยากจะให้คนทุกๆ คนมีความรู้ความเห็นเหมือนเรา อยากให้คนมีมุมมองเหมือนเรา มันไม่มีในโลกนี้ มันไม่มี เอาตัวรอด

ฉะนั้น คำถาม เราเห็นแล้ว ของเล็กน้อยนี่แหละ แต่เพราะคนบวชใหม่ใช่ไหม พวกไฟแรงใช่ไหม พอไฟแรงขึ้นมา ถูกต้องดีงามหมด ยึดมั่นเลย แล้วตอนนี้จะทุกข์แล้ว เพราะคนอื่นจะบอกว่า เอ๊! พระองค์นี้สงสัยจะติงต๊อง

ไอ้เราก็ แหม! เราเคร่งนะ เราทำถูกต้องหมดเลยนะ

ไอ้คนเขายืนมอง เอ๊! สงสัยติงต๊อง

ทำดีขนาดนี้เขายังไม่เห็นชมเลย นี่แบกโลกมันหลังหักอย่างนี้ไง แต่ถ้ามีสติมีปัญญา พูดเหมือนเรา แค่เรื่องกัปปิยัง กโรหิอย่างเดียวนะ มันเป็นปัญหาสังคม มันเป็นปัญหานานาสังวาส พระแบ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย ๓ ฝ่ายก็เพราะการถือศีลต่างกัน ถือศีล ทิฏฐิความเห็นต่างกัน กลายเป็นนานาสังวาส ลงสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ ร่วมกิน ร่วมนอนด้วยกันไม่ได้ ของเล็กน้อยนี่แหละ

แต่ทีนี้ถ้าเราเห็นเหมือนกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเห็นของท่าน แต่ท่านก็ไม่ขวางโลก ท่านปล่อยวันเวลามา จนหลวงปู่ฝั้น กัปปิยัง กโรหิ มาได้ที่วัดสาลวัน สมเด็จมหาวีรวงศ์มาก็บอก เปิดพระไตรปิฎกให้ดูเลย หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ลี วัดอโศฯ มีบารมี เพราะว่าสมัยหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เป็นสมเด็จ เป็นผู้ปกครอง ท่านไม่ค่อยเห็นด้วย อันนี้เป็นเรื่องของสงฆ์เนาะ เอามาพูดเดี๋ยวเขาจะปรับอาบัติพระสงบ

แต่เราจะบอกว่า กว่าจะได้ความเห็นที่ตรงกันนะ ได้ความเห็นที่มันบาลานซ์ให้สังคมเห็นด้วยด้วยกัน คนต้องมีบารมีมาก คนไม่มีบารมีทำอะไรไม่ได้หรอก ครูบาอาจารย์ของเรามีบารมีฟื้นฟูมา แต่พวกเราไม่ได้มองตรงนี้ไง พวกเราไปมองกันเรื่องญาติโยม เรื่องศรัทธา...ไม่ใช่ เรื่องหลักใจ เรื่องหลักเกณฑ์ที่ครูบาอาจารย์สร้างสมบุญอย่างนี้มา

ศึกษาประวัติศาสตร์สิ ศึกษาก่อนนี้ไป ๒ ช่วงอายุคนสิว่าสังคมสงฆ์มันเป็นอย่างไร แล้วสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านฟื้นฟูมา มันเป็นแบบใด สงฆ์เมืองไทยวิวัฒนาการพัฒนาขึ้นมาเป็นแบบใด ไปศึกษาดู ถ้าศึกษาอย่างนี้มันถึงเห็นว่า บารมี

เราพูดทุกวันนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะเราซาบซึ้งถึงบุญญาธิการของท่าน ท่านบุกเบิกมาจนสังคม สังคมทั้งประเทศ ทั้งภาค เชื่อถือศรัทธา มันมาจากไหน แล้วครูบาอาจารย์เราท่านสืบต่อมาๆ

ฉะนั้น เวลาเขาถามเรื่องกัปปิยัง เรื่องเล็กน้อยนี่แหละ แต่มันทำให้มีมุมมองต่าง ทำให้มุมมองแตกต่างกันมหาศาลเลย

ฉะนั้น ถามว่า อย่างนี้ถูกต้องไหม อย่างนี้ถูกต้องไหม

เลือกเอา ถ้าเราถือเถรตรงของเรา บวชขึ้นมาแล้วเราจะเป็นพระดีๆ นะ เขาจะบอกว่า เอ๊! พระองค์นี้ติงต๊องหรือเปล่า แต่ถ้าเราทำดี อยู่ในสังคม ในหมู่ชน ในสังคมอย่างนี้ เห็นแล้วมันจะถูกต้องดีงามเหมือนกันหมด

ฉะนั้น ให้บวช เขาว่า ผมกำลังจะบวชครับ

บวชไปก่อน บวชแล้วปรับความเห็นความสมดุลของเราให้มันถูกต้องดีงาม กาลามสูตร อย่าให้เชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อแม้แต่เราพูดด้วย เราพูดนี่ไม่ต้องเชื่อเลย ประสบการณ์ชีวิตมันจะสอน เข้าไปปฏิบัติมันจะสอนเลย สังคมมันจะบีบคั้น สังคมมันจะกดดัน แล้วมันจะรู้เลยว่ามันจะออกทางไหน

แล้วเวลาปฏิบัติไป เวลากิเลสมันบีบคั้น บีบคั้นน่ะ แล้วมันต่อสู้กับกิเลสจนผ่านทะลุกิเลสไป มันจะรู้เลยว่าอะไรควรไม่ควร เป็นไม่เป็น ดีไม่ดี มันจะรู้ของมันเอง มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติ มันจะเป็นประโยชน์กับสังคมสงฆ์ เอวัง