เทศน์บนศาลา

ไม่ยอมจำนน

๒๘ ธ.ค. ๒๕๔o

 

ไม่ยอมจำนน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใครภาวนา ตั้งใจ ฟังธรรมน่ะ ความเกิดความตายเป็นเรื่องปกติ เห็นจนเป็นปกติ แล้วก็ต้องเกิดมาแล้วก็ตายไปเป็นความปกติ ความเกิดความตายเป็นเรื่องสัจจะ เรื่องความจริง ยอมรับเหมือนกับยอมรับแบบไม่มีทางต่อสู้ เรายอมรับความตาย เห็นไหม เหมือนกับนักโทษประหาร เขาหิ้วปีกเข้าไปยิงเป้า เราก็ยอมตายอย่างนั้นใช่ไหม นี่พูดกันแต่ปากตามความรู้สึกว่าคนเกิดมาแล้วต้องตายทั้งหมด แล้วเหมือนกับยอมจำนนแบบไม่มีทางออก ยอมตายไปชาติหนึ่ง นี่การเกิดการตาย

ฉะนั้น เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ตรงเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วทำให้คนตายไปตายแบบหมดเชื้อ การตายแบบมีเชื้อติดอยู่ กิเลสตัณหาตายไปพร้อมกับดวงจิตนั้น กับการตายตั้งแต่รู้ซึ้งถึงความตายว่าไม่มีอะไรตาย ถ้าปฏิบัติธรรมจนเห็นสัจจะความจริงว่าไม่มีอะไรตายเลย สักแต่ว่าแปรสภาพไป เป็นความจริงอันหนึ่ง มันต้องแปรสภาพไปตามความเป็นจริงอันหนึ่งแน่นอน เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น

แล้วก็สอนว่า ดวงจิตที่รู้เท่า การพิจารณา การประพฤติปฏิบัติ การวิปัสสนา ทำจนรู้แจ้งแทงทะลุ เห็นไหม นี่ก็ต้องตายเหมือนกัน ตายแบบสิ้นเชื้อ การตายแบบไม่ต้องกลับมาเกิดอีก กับการตายแล้วตายเล่า แล้วก็ยอมรับกันอยู่ว่าเกิดแล้วต้องตาย ก็แบบยอมจำนนใช่ไหม เรายอมตายแบบยอมจำนน มันตายไปพร้อมกับเชื้อ พร้อมกับความทุกข์

ฟังนะ การเกิดนี้แสนยาก เราเกิดนะ ปฏิสนธิจิตแล้วต้องอยู่ในครรภ์ของมารดาอีก ๙ เดือน อันนั้นก็เป็นความแปรปรวนแน่นอนอยู่แล้ว อันนั้นเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง เห็นไหม ความแปรปรวน ความแปรสภาพ ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา นอนอยู่ในนั้นน่ะ จนกว่าจะครบอาการ ๓๒ แล้วก็ต้องถึงกำหนดตกคลอด คลอดออกมาจากช่องแคบ ความทุกข์อันนั้นลืมหมดเลย ถ้าผ่านจากอันนั้นมาแล้วเกิดเป็นพิการไปหนึ่ง ผ่านจากอันนั้นมาแล้วก็ต้องตายหนึ่ง อันนั้นจะไม่ได้มาประสบสภาพแบบนี้หรอก

สภาพแบบนี้ เกิดมารู้ถึงสภาพความเป็นจริงนั่นล่ะ แล้วก็ยังต้องตายไปแบบไร้ค่า ตกทอดออกมานั้น อันนั้นก็เป็นบุญกุศล มีบุญกุศลอยู่ถึงได้รอดชีวิตมา แปรสภาพมาแล้วช่วงหนึ่ง นั่นน่ะ มันก็รอดตายมาทีหนึ่งแล้วล่ะ จะว่าเกิด ๒ หนก็ว่าได้ ปฏิสนธิทีหนึ่ง แล้วคลอดออกมาอีกทีหนึ่ง การเกิดหนที่ ๒ นี่ไง ตกคลอดออกมาแล้วก็ยังใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย แล้วต้องตายเปล่าไปอีกเหรอ

การใช้ชีวิตน่ะ เราว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง ความตายนี้ก็ไม่คงที่ ไม่แน่นอน ความตายที่เราจะตายอยู่นี่ แล้วจะเห็นโทษของตรงนั้นไง ถ้าเราเห็นโทษของตรงนั้นแล้วทำให้เราตื่นตัว ถ้าเราไม่เห็นโทษของตรงนั้น เราใช้ชีวิตด้วยความประมาท ชีวิตนี้จะประมาทมากนะ เพราะว่าต้องตายไง ต้องตาย แต่เตรียมอะไรเอาไว้เป็นสมบัติเวลาตายไปแล้วล่ะ

ไอ้สมบัติในการที่ว่าเราลงทุนลงแรงกันมาพอสมควรแล้ว เราถึงเชื่อในสัจจะความจริง แล้วถึงได้ยอมสละความสุข ยอมสละความเคยใจ ยอมสละความอิสระเสรีมาประพฤติปฏิบัติ กำจัดไง ความอิสระคือการตามความสบายใจ มาบังคับให้อยู่ในอำนาจของตัว อำนาจของตัวนะ

จิตนี้ฟุ้งซ่าน จิตนี้คึกคะนอง จิตนี้หิวกระหาย จิตนี้หมองไปนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” คือในดวงจิต ความรู้สึกของมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่นี้คือมีไออุ่น คือมีจิตอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกๆ คน ดวงหัวใจมีสิทธิ์ทุกๆ คนที่จะประพฤติปฏิบัติได้อบรมแล้วหัวใจนี้ประเสริฐ ถ้าดวงจิตนี้ไม่ได้อบรมอยู่ แล้วคิดไปตามอำนาจความคึกคะนองของจิต ความเป็นไปของจิต เห็นไหม มันจะพลิกแพลงทางออกได้มหาศาลเลย

ถ้าตายไปอยู่กับเชื้อต่อไป มันก็ทุกข์อย่างนั้น เพราะมันเป็นความจริงที่เราจะถามตัวเองได้ว่าเรามีความสุขหรือมีความทุกข์ มันหลอกตัวเองไม่ได้ไง เพราะเรารู้ๆ อยู่ว่ามันเป็นความทุกข์ จิตดวงนี้เป็นความทุกข์ จิตดวงนี้มันซับเอาไว้เต็มที่เลย มันถึงคึกคะนอง เราจะทำอย่างไรให้จิตดวงนี้เริ่มปลดเปลื้องออกจากอำนาจของกิเลส เราต้องปลดเปลื้องหัวใจของเราเองนะ ทำให้หัวใจนี้เป็นอิสระชั่วคราวไง

การทำใจให้สงบ ถ้าปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลส มันคิดฟุ้งซ่านไปตลอด แล้วดวงจิตนี้ การเกิดซับๆๆ ตายๆ เกิดๆ นี้ มันสะสมความเคยใจ ความอหังการในหัวใจ ทุกดวงใจต้องว่าสรรพสิ่งนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เราเป็นสรรพสิ่งนั้น

มันถึงว่า เราศึกษาธรรมะว่าทุกสรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง แต่ความยึดมั่นของเราไม่ใช่อนิจจัง เรามองข้างนอกเป็นอนิจจัง แต่ความยึดมั่นเราเป็นความจริง พอสรรพสิ่งนี้เป็นเรา เราเอาเราเข้าไปมัดกับความคิดทุกขั้นตอนว่าเป็นเรา เราสัมผัส เรารู้ พอเป็นเรานี้มันก็เหมือนภูเขาทั้งลูก แล้วพอมาปฏิบัติก็เอามือเปล่าๆ ไปทุบภูเขาทั้งลูก ภูเขานี่ทั้งเป็นภูเขาเลย แต่เอามือเปล่าๆ ไปผลัก ไปค้ำให้ภูเขานั้นเคลื่อนไป นี่ที่จิตไม่เป็นสมาธิเพราะเหตุนี้ไง เพราะว่าภูเขานั้นเป็นเรา เราอยู่ในภูเขานั้น เรายึดมั่นถือมั่นทุกสรรพสิ่งว่าเป็นเราทั้งหมดเลย เพราะความคิดว่าเป็นเราไง

เวลาอ่านอยู่ ธรรมะสอนอยู่ว่าเป็นอนิจจัง ไม่ใช่เรา จิตนี้เสวยเต็มอารมณ์ เสวยเรานี่เข้าไปทั้งหมดเลย แล้วเสวยมาก็เป็นเรา พอเป็นเราก็เป็นกิเลส ความคิดเป็นโลก เป็นโลกียะ เป็นความคิดผูกมัดทั้งหมดเลย มันก็หมุนไปสิ หมุนไป มันถึงไม่สงบไง

เราทำความสงบของใจก่อน ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากความสงบเลย เราจะทำอะไรไม่ได้เลย การทำบุญกุศลนั้นเป็นบุญกุศลในการเป็นบุญกุศล เพราะเราทำ อันนั้นเป็นบุญกุศลโดยการกระทำข้างนอกอยู่แล้ว เป็นอามิส เป็นบุญโดยอามิส แต่การทำใจให้สงบ บุญกุศลก็เป็นบุญกุศลข้างนอก บุญกุศลนั้นถ้ามาเสริม มันก็เป็นบุญกุศล เป็นอำนาจวาสนาบารมี แต่ถ้าเราไปติด ไปยึดมั่นในบุญกุศลนั้น เราก็จะข้ามขึ้นมาเป็นสมาธิไม่ได้ เพราะอันนั้นก็เป็นเราอีก เราก็ยึดเข้ามาผูก

จากที่เป็นบุญกุศล ควรจะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นโทษเวลาปฏิบัติไง เช่น น้อยเนื้อต่ำใจ “ฉันทำมาขนาดนี้ เราก็สร้างบุญกุศลมามากขนาดนี้ ทำไมเราถึงภาวนาไม่ได้ เราภาวนามาขนาดนี้ เราพยายามทำใจขนาดนี้ ทำไมมันไม่สงบ” เห็นไหม

การภาวนานี้ไม่เป็นบุญกุศลเหรอ? เป็น แล้วทำไมมันไม่ส่งเสริมให้มันสงบล่ะ? เพราะไปยึดอยู่ว่าเป็นเรา...ปล่อยให้หมด วางให้หมดเลย เห็นไหม ให้สร้างเหตุไง เหตุและผลมันเป็นคนละสภาวะของใจ สภาวะที่หัวใจนี้เป็นภูเขาทั้งลูก เราจะทำอย่างไรให้ภูเขานั้นเตียนโล่งได้ เราก็ต้องตั้งใจสิ เด็ดเดี่ยวไง ความเด็ดเดี่ยว ความตั้งใจ ความตั้งใจหักห้าม ต้องเอาหัวชนภูเขานั่นล่ะ เอาหัวชนภูเขาเลย กำหนดพุทโธๆๆ เพราะเราไม่มีความสามารถ เพราะภูเขาทั้งลูก เราจะไม่มีเครื่องมือพอ...ใหม่ๆ ไม่มีเครื่องมือพอ

การสร้างบ้าน การล้มต้นไม้ ก่อนที่จะล้มต้นไม้ต้องใช้ขวานฟันโคนให้ต้นไม้ล้มไป ต้นไม้นี้สร้างบ้านไม่ได้ ต้องเลื่อย ต้องทำให้เป็นไม้แปร เป็นเสา เป็นอะไร ถึงจะสร้างบ้านได้ เริ่มต้นของการวิปัสสนาก็เหมือนกัน เริ่มต้นต้องทำใจให้สงบจากโลกก่อน ถ้าไม่ทำใจให้สงบจากโลก มันก็เหมือนเอาต้นไม้ทั้งต้นจะสร้างบ้านอย่างไร เห็นไหม เอามือทุบภูเขาก็เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าเปรียบหัวใจมนุษย์ เปรียบเหมือนกับช้าสารที่ตกมัน มันมีอำนาจมาก เราจะจับช้างสารด้วยมือเปล่า การจะจับช้างให้อยู่ในอำนาจน่ะ ช้างป่า เขาต้องทำเพนียด เขาต้องขุดหลุมดัก แล้วจับได้จะให้มันเชื่อง ให้มันอยู่ในอำนาจของเราที่เราใช้งานได้น่ะ การฝึกฝนช้าง นี่ก็คือการฝึกฝนใจไง เราจะฝึกฝนใจ เราจะอำนาจของใจให้อยู่ในอำนาจของเรา

“อยู่ในอำนาจของเรา” ฟังสิ อำนาจของธรรมไง ธรรม อำนาจของธรรม

ไม่ให้ยึดสรรพสิ่งเป็นเรา แต่อำนาจของเรา เพราะเราตัวนี้ เราข้างในนี้มันเป็นสักแต่ว่า ถ้าจิตนี้เป็นสมาธิ เห็นไหม สักแต่ว่ารู้ กับรู้ออก นี่ต่างกัน

สักแต่ว่ารู้ มันปล่อยหมด สักแต่ว่า รู้อยู่ มีสติอยู่ เพราะอันนี้ยังไม่ชำระกิเลส จิตสงบเข้ามา รู้ตลอด รู้ไปหมดเลย ถ้าเริ่มสงบเข้ามา มันเสวยอารมณ์ที่ละเอียดขึ้นๆ ดูสิ มันเสวยไง จากเดิมกินทุกอย่าง อารมณ์โลก อารมณ์ความคิด กิเลสมันปรุงมาหลอกเรานะ เช่น ความคิดเกิดขึ้นนี่เกิดจากอะไร? เกิดจากสัญญาความยึดมั่นถือมั่นของเดิมทั้งนั้นเลย สัญญาที่เราเคยจำได้หมายรู้ไง

บางที่ว่าชาตินี้เราไม่เคยพบเห็นเลย สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

สัญญาละเอียดไง สัญญาหยาบ สัญญาละเอียด สัญญาที่ซับมาแต่อดีตชาติก็มี เพราะเวลาจิตสงบแล้วมันย้อนกลับ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนกลับจากสัญญาเดิม จากภพซับๆๆ มานั่นน่ะ ทำไมมันจะย้อนไม่ได้ ทำไม่สัญญาจะไม่ข้ามชาติ สัญญาข้ามชาติ แต่ไม่ใช่สัญญาอันเดิมที่เราเป็นความคิดนี้ มันเป็นสัญญาในปฏิจจสมุปบาทที่มันย่อยสลายลงไปแล้ว มันติดมาจากจิตปฏิสนธิกับวิญญาณรับรู้น่ะ วิญญาณปฏิสนธิกับวิญญาณรับรู้มันคนละวิญญาณไง

วิญญาณปฏิสนธิ ย่อยสลายจากวิญญาณที่รับรู้นี่มันซับลงไปที่ใจ ถึงเป็นภวาสวะ ถึงว่าเป็นภพ ถึงเป็นข้อมูลเดิมที่เก็บอยู่ที่หัวใจไง จิตลงสงบถึงฐาน ฐีติจิตแล้วมันจะเข้าถึงข้อมูลเดิมจากที่ว่าสัญญามันซับมาไง ฉะนั้น สัญญาตัวปรุงออกมา เราถึงไม่รู้ว่าสัญญานี้เป็นสัญญาตั้งแต่เมื่อไหร่ เราถึงไม่รู้เท่า พอขยับปั๊บ เป็นสังขารปรุง เวทนารับรู้ เห็นไหม รับรู้ คิดตาม นี่เสวยอารมณ์เข้าไป อารมณ์ที่ว่ากิเลสป้อนให้จิตกินไง มันก็ไม่สงบน่ะสิ เพราะเราเสวยหมด เพราะจิตนี้หิวกระหาย

ปกติจิตนี้เป็นธรรมชาติที่รู้ จิตนี้เหมือนยักษ์ ปากใหญ่ไง กินทุกอย่างที่ขวางหน้า สัญญากระเพื่อมแล้วมันเสวยปั๊บๆๆ พอกิน อารมณ์ก็เกิด พออารมณ์เกิดก็หมุนไป หมุนไปก็เป็นความคิดไปเรื่อยๆ เห็นไหม แล้วมันหิว มันกินมากๆ ยิ่งกินมากก็หมุนมาก ก็ฟุ้งซ่านมาก มันก็เป็นอันหนึ่งนะ เป็นจิตทั้งแท่ง เป็นความคิดเต็มๆ ฟุ้งซ่านไปเลย นั่นมันก็หมุนไปเรื่อยๆ

ถึงจะศึกษาธรรมะ ธรรมะของพระพุทธเจ้ายืมมา การศึกษาเล่าเรียน การจำมา เห็นไหม กิเลสก็ไปแบ่งมาเป็นกิเลสซะ กิเลสคือความคิดของเราไง ว่า “พระพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้น อารมณ์เราขึ้นอย่างนี้” เป็นธรรมะด้นเดาไง ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้วยความด้นเดา ผลจะเกิดจากความด้นเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราต้องสร้างเหตุให้สมควรแก่ธรรม

วางใจการสร้างเหตุ เห็นไหม เหมือนกับเราเปิดหม้อ ฝนจะตกขนาดไหน น้ำค้างจะตก ฝนจะตก เราเปิดหม้อไว้ หน้าที่ของเราคือเปิดหม้อไว้ให้น้ำตก ให้ฝนตกใส่หม้อ หน้าที่ของการทำใจให้สงบไง กำหนดพุทโธ บังคับจิตที่เคยเสวยอารมณ์ เสวยความคิด เสวยจากสัญญา เสวยจากสังขารที่ปรุง ให้มาเสวยพุทโธ พุทโธคือพุทธะ คือผู้รู้ไง ให้จิตกิน เพื่อให้อาหาร อาหารเป็นธรรม

จากที่เสวยอารมณ์ ให้มาเสวยพุทโธซะ ให้มาเสวยพุทโธๆๆ ที่เรากำหนดขึ้นมา หรือเสวยเสียงนี่ เสวยการกระทบรู้ บังคับไว้ไม่ให้มันฟุ้งซ่านออกไป นี่บังคับช้างนะ จับช้างได้แล้วต้องบังคับให้อยู่ในอำนาจของตัว จิตมันจะสงบเข้ามาๆ ถ้าสติเราดี เชือก จับช้างไว้ จับเชือก เอาช้างมัดไว้กับเพนียด เอาช้างมัดไว้กับเสา มันจะดิ้น จิตเราปล่อยตามปกติเลย ไม่เห็น วันทั้งวันเราปล่อยไป ฟุ้งไปหมดเลย ปล่อยไปเลย ไม่รู้นะ มันไม่เคยโดนบังคับมันก็อยู่ตามสบาย

พอเอาสติมาจับ พอเริ่มกำหนดพุทโธ มันจะดิ้น มันจะออก เหมือนกับเราบังคับเข้ามา แต่เวลาไม่บังคับมันไปไหนล่ะ เวลาบังคับ ทำไมมันดิ้นรนล่ะ ทำไมมันไม่พอใจ มันจะออกไปนอกเรื่องนอกราวล่ะ ก็ไหนไง ไม่ถามตัวเองว่า ก็ไหนว่าเราไม่เห็นตัวจิต ไหนเราไม่เห็นกิเลสของเรา แล้วที่มันดิ้นออกมานี่เป็นอะไร? เป็นเราอีกน่ะ เรามองไม่เห็น พอเราไม่เห็นมันก็เป็นเราออกไปอีกน่ะ

นี่ต้องย้อนกลับมาตรงนี้ไง ตรงที่ว่าเวลามันติด มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ควรจะเห็นความแปรปรวน มันกลับไม่เห็น สิ่งที่เป็นวัตถุภายนอกที่มันเป็นของคมแข็ง ที่มันมีเป็นเหล็กเป็นกล้า เรายังเห็นความกัดกร่อนของมัน เรายังว่ามันยังไม่คงที่ นี่เวลาเราส่งออก เราจะเห็นข้างนอก เราจะวิจารณ์เขาได้หมด เราจะรู้ไปทั่ว แต่เราไม่เคยวิจารณ์ความคิดอันนี้เลย เราไม่สามารถจับต้องความคิดเราได้ด้วย เพราะมันส่งออกตลอด เพราะเราไม่ดูตัวนี้ไง สติมันไม่เข้าย้อนกลับ

ความย้อนกลับของสติ ของหัวใจที่มันส่งออก มันเป็นพลังอำนาจที่ว่ามีคุณค่ามหาศาลนะ ถ้าจับต้องได้แล้วพิสูจน์ได้ ความสุขใดๆ ในโลกนี้ไม่เท่ากับความสุขของใจสงบ ไม่เท่ากับความสุขของการวิปัสสนาจนมันปล่อยวางเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ไม่มีหรอก

พระพุทธเจ้าบอกว่า รสใดๆ ใน ๓ โลกธาตุ ไม่มีรสใดเลยจะมีความสุข มีความเลิศเท่ารสของธรรม รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง “รสของธรรม” ฟังสิ ของใน ๓ โลกธาตุที่ว่ามีรสชาติมากน่ะ ไม่สามารถมาเทียบกับรสธรรมะได้เลย ถ้ารสธรรมะอ่อนกว่าสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นมีคุณค่ามากกว่า ธรรมะไม่ประเสริฐหรอก

ธรรมะของพระพุทธเจ้าประเสริฐมาก ประเสริฐเพราะมีรสชาติที่เหนือทุกสิ่ง พอจิตได้เสวยรสอย่างนี้แล้วมันจะปล่อยรสทั้งหมดเลย จะปล่อยรสทั้งหมดสิ สิ่งที่ว่าแน่ๆ สิ่งที่ว่ามีคุณค่ามากน่ะ สลัดทิ้งหมดเลย เพราะไม่มีคุณค่าเท่ากับรสของธรรม แค่จิตสงบมันก็เวิ้งว้างนะ แค่จิตสงบ จิตนี้สงบเป็นสมาธิ มันจะเวิ้งว้าง มันจะตัวเบาตัวลอย

แล้วถ้าหัวใจดวงนี้ไม่เคยปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ได้สูงกว่านั้น ความสุขอันนี้จะฝังอยู่ที่ใจ ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติถึงจุดนี้แล้ว ถึงจิตนี้เป็นสมาธิ จิตที่มั่นคง เวลาตายมันถึงไปเอกัคคตา เป็นหนึ่งเดียวไง ถึงว่าเป็นพรหม มันเป็นขันธ์เดียวไง

นี่ความสุขอันนี้มันมีมาดั้งเดิม จิตสงบนี้มีมาดั้งเดิม ทำจิตให้สงบนี่ เพราะว่าพวกที่เกิดตายๆ เคยเกิดเคยตายมา เคยปฏิบัติมา ถึงได้ว่า ในดวงใจของทุกดวงถึงมีอำนาจวาสนาไม่เท่ากันไง เพราะเคยผ่าน เคยประพฤติปฏิบัติมามันหลายภพหลายชาติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมามีอำนาจวาสนา มันก็ปฏิบัติง่าย มันปฏิบัติง่ายหมายถึงว่า จิตนี้มันจะเป็นไปได้ง่าย เพราะมันมีสมบัติเดิม เหมือนกับว่าข้อมูลเดิมอยู่ เราคีย์ข้อมูลเข้าไปถึงอำนาจวาสนาเดิม มันจะส่งถึงกันไง มันส่งถึงกันมันถึงเข้าออกง่าย

แต่บางดวงใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติยาก รู้ยากเห็นยาก เพราะว่าไม่มีข้อมูลเดิมตัวนี้ไง ถึงว่าอำนาจวาสนา ไม่ให้ดูถูกดูแคลนกันไง แล้วอำนาจวาสนาก็ไม่ใช่ลอยฟ้ามา

ดูอย่างชาติปัจจุบันเราสิ ชาติปัจจุบันที่เราทุกข์ยากอยู่นี่ มันทุกข์ยากไหมล่ะ ผู้ที่จะมีอำนาจวาสนาเขาก็เคยทุกข์ยากอย่างนี้มาแต่ชาติไหนก็ไม่รู้ ถึงได้สะสมมาไง สิ่งที่ได้มานี้ไม่ใช่ได้มาด้วยชุบมือเปิบหรอก มันต้องได้มาด้วยอำนาจวาสนา ได้มาด้วยความเข้มแข็ง ได้มาด้วยการประพฤติปฏิบัติของใจดวงนั้นทุกๆ ดวง มันถึงว่าไม่ควรจะไปดีใจเสียใจกับสิ่งนั้นไง เพราะสิ่งนั้นเป็นอดีต

สิ่งที่เป็นอดีตเราแก้ไขไม่ได้ เราเข้าไปย้อนอดีตไม่ได้ เรามีแต่ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าสอนให้ปัจจุบันธรรม การแก้กิเลส การชำระกิเลส ชำระด้วยปัจจุบันนี้ เพราะทุกข์มันทุกข์อยู่ปัจจุบันนี้ ทุกข์เริ่มจากปัจจุบันนี้ เราก็ต้องมาแก้ที่ปัจจุบันนี้ พอปัจจุบันนี้ อดีตอนาคตสั้นเข้าๆ มาเป็นปัจจุบันทั้งหมด แก้ปัจจุบันทั้งหมด อดีตอนาคต สักแต่ว่า สักแต่ว่าอนาคต แต่ความยึดมั่นถือมั่นของใจ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นของใจแล้วก็ประคองไปเฉยๆ ไง ประคองสิ่งที่ยังมีอยู่ เวลาสืบต่ออยู่นี้ไปแค่เท่านั้นเอง

แต่ถ้าไม่มาแก้ปัจจุบัน อดีตมาก็ทุกข์มา เลือดซิบๆ มาเลย แหกมา เลือดมาซิบๆ มา มาถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเลือดซิบๆ ไป แล้วไปอนาคตก็ยังเลือดซิบๆ ต่อไปอีก เพราะความยึดมั่นถือมั่นมันถู มันลาก มันจูง มันถู จนหัวใจนี้ต้องเผ่นไปตามมัน หัวใจคือความคิดนี้ไง

โดนกิเลสหลอกให้คิดหนึ่ง หลอกแล้วยังจูงจมูกลากไปอีกหนึ่ง ถ้าจิตไม่สงบจะไม่เห็นตรงนี้ จิตสงบหมายถึงว่า จิตนี้อิ่ม จิตนี้เรากินอาหารมาพอแรง เราได้พักแรง คนที่จะทำงาน คนที่มีร่างกายสมบูรณ์จะทำงานได้มากกว่าคนที่ง่อยเปลี้ยเสียขา จิตของโลกคือจิตที่ง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะมันจะคิด ๒ อย่างไง คิดทางโลก คิดทางเกาะเกี่ยว จะภาวนา พรุ่งนี้เช้าไม่ตื่น จะคิดก็คิดเรื่องของโลก เพราะมันสัญญาความจำของโลกปัจจุบันนี้มันชัด มันเกาะเกี่ยวอยู่ตลอด ถึงต้องมาพุทโธ หรือมาฝืนให้ออกจากโลก

พอจิตสงบขึ้นมามันก็จะเริ่มเห็นความเป็นจริง เพราะจิตนี้สงบ มันมีความสุข มันอิ่มหนำสำราญ คนที่เหนื่อยล้ามาได้ชำระล้างร่างกาย พักเหนื่อยแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ได้พัก ตั้งแต่ปฏิสนธิ ตั้งแต่คลอดออกมา มันคิดมาตลอด จิตนี้ไม่เคยพักเลย ไม่เคย มันคิดตลอดเวลา นอนก็ฝัน

ฉะนั้น เวลาจิตเป็นสมาธิมันถึงได้มีความสุขไง ความสุขมาก ความสุขมากเพราะทุกคนไม่เคยได้ลิ้มรสอันนี้ นี่คำว่า “ความสุขอันหนึ่ง” พอความสุขอันหนึ่ง แล้วจิตอิ่มอันหนึ่ง คือว่าเหตุมันเป็น ๒ อย่างไง เหตุที่ว่ามันปล่อยวางพลังงานที่เกิดขึ้นแล้วหนึ่ง แล้วมีความสุขด้วย มันถึงว่า จะเริ่มชักเข้าหางาน มันจะไม่ยอมเข้าหางาน เพราะการทำแบบนี้ลำบากมาพอแรงแล้ว พอเข้าไปเสวยอารมณ์นี้มันก็ว่าอันนี้เป็นหลักเป็นฐาน

เราดูการเกิดการดับสิ ที่มันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านเพราะสัญญาใช่ไหม สัญญาตัวเริ่มให้คิดน่ะ เห็นไหม สัญญา ตัวเหตุคือตัวสัญญา แล้วสังขารปรุงล่ะ ทำไมไม่จับตรงนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นล่ะ ในการใคร่ครวญ การดูความเป็นอนิจจัง ว่าอนัตตาๆ อนัตตาอย่างไร การเกิดดับ ฝนตกลงมาแล้ว ฝนตั้งเค้าแล้วตกมา จะว่าเป็นอนัตตาเหรอ...จริงอยู่ มันก็เป็นอนัตตา

อนัตตาคืออะไร? อนัตตาคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันเป็นโดยธรรมชาติของทุกๆ สิ่ง มันต้องหมุนไปตามกาลของมันอยู่แล้ว แต่มันให้ประโยชน์อะไรกับเราล่ะ แล้วหัวใจนี้ก็เหมือนกัน มันจับต้องอะไรล่ะ ความเห็นอนัตตาภายในนี้มันเห็นการเกิดดับเดี๋ยวนั้น การวิปัสสนาไง จากขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขันธ์ ๕ น่ะ วิปัสสนาไง จับแล้วใคร่ครวญ เห็นตามความเป็นจริงปัจจุบันนั้น

ก็เหมือนเราเอาเหล็กมาสีไฟ ประกายไฟเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้นแล้วดับเดี๋ยวนั้น เราเห็นเดี๋ยวนั้นไง มันต้องเป็นปัจจุบัน อนัตตาในปัจจุบันนั้น ความเห็นอนัตตาในปัจจุบัน เห็นครั้งแรกๆ ยังไม่ยอมปล่อยด้วย เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่น การสะสมมาของใจมันหนามาก แล้วกิเลสมีอำนาจมาก มันก็จะหลอกจะเสี้ยมนะ การวิปัสสนามันก็จะหลอกไปตลอด ในหัวใจการวิปัสสนานั่นล่ะ เพราะว่า พอจิตมันสงบ มันเวิ้งว้าง มันปล่อยวาง มันบอกอันนี้ใช่แล้ว

ฉะนั้น ผู้ที่วิปัสสนาต้องทำซ้ำทำซาก ต้องตรวจสอบไง สิ่งใดที่ยังไม่แน่ใจ ฟังสิ มีความลังเลสงสัยอยู่ มันไม่ใช่สมุจเฉทปหาน ถ้าการเป็นสมุจเฉทปหานมันจะอิ่มเต็มทั้งหมด หมายถึงว่า จิตที่ไม่หิวกระหายนี่ ดูสิ อิ่มจากสมาธิก็อย่างหนึ่ง อิ่มจากการวิปัสสนา เห็นไหม เมืองพอ วิปัสสนาจนพอ เราตักน้ำใส่ตุ่ม ถ้าใส่ตุ่มจนเต็มตุ่มแล้วมันต้องล้นตุ่ม

การพิจารณาซ้ำพิจารณาซากก็เหมือนกัน พิจารณาแล้วปล่อยๆ พิจารณาจนพิจารณาไม่ได้ ถ้ามันยังมีเหตุอยู่ พิจารณาจนพิจารณาไม่ได้ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันพิจารณาไป พอมันขาด ความขาดออก จิตที่มีความสงบนะ จากสมาธิ มันมีแต่ความสุขเวิ้งว้าง อันนั้นเป็นความสุขเวิ้งว้างนะ มีความสุขมาก

แต่วิปัสสนานี่มันเหมือนกับเราต้องยกขึ้นมาจับหาเหตุหาผล แล้วก็ทำงานไป การทำงานนี้จะมีการต่อสู้ มีแพ้ชนะกันมาตลอด แล้วถึงจุดหนึ่ง พอวิปัสสนาจนถึงจุดที่ว่ามันสมุจเฉทออกไป ความที่ว่าเป็นสมาธินั้นเป็นอารมณ์อารมณ์หนึ่ง เป็นความสุขอันหนึ่ง แต่อันนี้มันลึกซึ้งกว่า เพราะมีความสุขด้วย เพราะจิตมันปล่อยวางจากกิเลสด้วยไง

เรายืมเงินมา ฟังสิ เรายืมเงินใครมาก็แล้วแต่ ยืมธรรมะพระพุทธเจ้ามาเราก็รู้ แต่เป็นของยืมหรือเปล่า? เป็น วิปัสสนาเกิดขึ้นเอง ความเห็นเกิดขึ้นเอง เราหาเงินเอง เราไม่ได้ยืมใครมา ฟังสิ สมาธิคือว่ากิเลสมันยังอยู่ ความลังเลสงสัยยังมีอยู่ เป็นของยืมมา มันจริงในสมาธิไง สมาธินี้เป็นปัจจัตตัง รู้ตามความเป็นจริงของสมาธิธรรม แต่ยังไม่รู้จริงตามวิปัสสนาธรรม เป็นสมบัติยืมของพระพุทธเจ้ามา แต่วิปัสสนาจนขาดออกไปสิ จิตนี้เป็นสมาธิด้วย จิตนี้ รสของธรรม รสของกิเลสที่จางไปด้วย

ถึงว่า จิตรวมในสมุจเฉทปหาน ในการวิปัสสนาถึงต่างกับสมาธิธรรมดาไง จิตสงบด้วย รู้เท่าทันด้วย รู้เท่าทันเพราะเกิดปัญญาญาณ ปัญญารู้ว่าขันธ์ทุกอย่าง กิเลสทุกอย่างมันหลอกกันมา มันเป็นความเป็นจริงตามรูปการ แต่กิเลสมันหลอกให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราไง การยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา อันนั้นคือการหลอก มันไม่ใช่เรา มันสักแต่ว่าเป็นของสิ่งนั้นๆ มันสักแต่ว่าเป็นอาการของใจแต่ละอาการๆ ไป

แต่เพราะเราเสวยภพ เพราะเราเกิดมา เป็นอาการ ธรรมชาติของจิตเป็นแบบนี้ เห็นไหม ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ เราก็ตายไปแบบยอมจำนน เราตายไปแบบยอมจำนน เพราะเราตายไปพร้อมกับขันธ์ เราตายไปพร้อมกับกิเลส กิเลสมันอยู่ในขันธ์ อยู่ในจิต แล้วก็เกิดดับตายไปพร้อมกับอย่างนั้น เราก็ยอมจำนน

เราศึกษาธรรมะมา เรารู้ เกิดแล้วต้องตายทั้งหมด พูดกันทุกคน รับรู้กันทุกคน แล้วก็ต้องตายตามสิ่งนั้นไป แต่วิปัสสนาจนรู้เท่า อาการเกิดดับเท่านั้น ธาตุ ๔ ก็ต้องกลับไปเป็นธาตุ ๔ ร่างกายนี้ยืมมา ยืมดิน ยืมน้ำ ยืมลม ยืมไฟ มาเป็นเรา จิตนี้ปฏิสนธิเกิดขึ้นจากครรภ์ของมารดา อยู่ในครรภ์ ๙ เดือน ทุกข์มา ๙ เดือนแล้วออกมา คลอดออกมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนไง สอนธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เห็นไหม มนุษย์มีกายกับใจ กายคือธาตุ ๔ ใจคือขันธ์

๕ แล้วมีจิตอีกดวงหนึ่ง เพราะขันธ์ ๕ นั้นไม่ใช่จิต

แล้ววิปัสสนาจนจับต้องได้ จนจิตนี้สงบเข้ามาเป็นสมาธินะ สมาธิแล้วหันกลับมาดู สมาธิแล้วไม่ส่งออก หันกลับมาดู จับขันธ์ได้ไง ว่าขันธ์ ๕ นี่สืบต่อเข้าไปหาธาตุอย่างไร ธาตุ ๔ นี่ออกไปอย่างไร ย้อนกลับเข้าไปๆ กลับเข้าไปจนถึงข้อมูลเดิม ระเบิดถ้ำออก มันก็เป็นสักแต่ว่านี่ ระเบิดแล้วถ้ำก็ยังมีอยู่เหมือนเก่า ระเบิดแล้วธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ก็มีอยู่เหมือนเก่า แต่ไอ้กิเลสที่มันหลอกว่าอันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นเรา มันระเบิดออก เลยเป็นสักแต่ว่าไง ขันธ์ ๕ เป็นขันธ์ ๕ มันก็เก้อๆ เขินๆ มันก็เดินอยู่อย่างของเก่า เพียงแต่ว่า ความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรามันหลุดออกไป หลุดออกไปจิตก็สงบ รู้เท่า เกิดปัญญาญาณตัวนี้

เกิดปัญญาญาณ ปัญญามันต้องหมุนเต็มที่จนมรรคอริยสัจจัง มรรคสามัคคี มรรค ๘ ปัญญาความดำริชอบ ความเห็นชอบ เห็นชอบในการผูกมัดของกิเลสของการหลอกลวง อนัตตาคือความแปรปรวน มันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เราไปมองของข้างนอก มองแต่วัตถุว่าเป็นของเกิดดับ เห็นการแปรปรวน แต่ไม่ได้ดูการแปรปรวนของหัวใจ การแปรปรวนของเล่ห์เหลี่ยม จากกิเลสมันหลอกอยู่กลางหัวใจน่ะ

ความแปรปรวนภายในไง ความแปรปรวนอยู่ข้างใน แปรปรวนแล้วไม่แปรปรวนเปล่า แปรปรวนแล้วยึดด้วย พอมันรู้ว่าความแปรปรวนจริง มันปล่อย ปล่อยมันก็เป็นธรรมชาติ เป็นการแปรปรวนไป แต่กิเลสไม่ยึดถือ นี่ก็ผ่าน ผ่านความยึดมั่นถือมั่นในสักกายทิฏฐิ ในความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ถ้าตายอย่างนี้ ถ้าตายระดับนี้ ตายไปมันก็พอใจจะตาย ตายแล้วรู้ว่าอีกกี่ชาติ ระยะทางการดำเนินสั้นเข้ามาๆ แล้ว

แต่ถ้าพิจารณาต่อ ถ้าพอใจจะตาย แต่ในเมื่อยังไม่ตาย ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ในเมื่อยังมียางเหนียวอยู่ในหัวใจ ยังมียางเหนียวอยู่นี่รู้ ผู้ปฏิบัติรู้ ลองปัญญาเกิดขนาดนี้รู้ รู้เพราะอะไร รู้เพราะเราได้ลิ้มรสตัวนี้ใช่ไหม เราเห็นความแปรปรวน เห็นกิเลสหลุดออกไปช่วงหนึ่ง เหมือนเราซักผ้า เราเอาผ้าลงซักในกะละมัง ในที่ซักผ้า เราซักสิ่งสกปรกออกไป เรายังไม่ได้ชำระน้ำสะอาด

จิตนี้ได้ทำความยึด จิตที่ออกยึดในกายนี้ออกไปแล้ว มันรู้เลยว่าหลุดออกไป แต่ยังมีอยู่ เพราะเป็นคนซักเอง เป็นคนซักฟอกจิต เป็นคนใช้วิปัสสนาญาณเข้าไปซักฟอกผ่านขั้นตอนมา มันจะรู้เลยว่า อ้อ! สิ่งที่จะเข้าไปซักล้างยังมีอยู่ มันยังไม่สะอาดโดยสมบูรณ์ ถ้าสะอาดโดยสมบูรณ์ มันจะไม่เกิด แล้วมันรู้รสว่าอันนั้นจะมีความละเอียดอ่อนกว่านี้มาก รสขนาดนี้มันก็เกิดความดูดดื่มมาก มันเหมือนกับว่าเราก็อยากจะให้มันถึงที่สุด

ผู้ที่ปฏิบัติได้ขั้นได้ตอน ผู้ที่ปฏิบัติถึงจุดแล้วนี่จะไปให้ได้ ก็ต้องกลับมาพิจารณาซ้ำนะ กลับมาพิจารณาซ้ำหมายถึงว่า กาลเวลา ว่าการจะตายเปล่า เห็นไหม ยิ่งระลึกถึงชีวิต กลัวชีวิตนี้ ถ้าตายไปปัจจุบันนี้ต้องไปเกิดอีก เห็นไหม จากชาติปัจจุบันเราก็เห็นอยู่แล้วว่ามันเป็นทุกข์ขนาดไหน จะเกิดเป็นอะไรก็แล้วแต่มันต้องมีความทุกข์เจือไปในหัวใจทุกดวง หัวใจนี้ยังไม่ชำระ มันยังมีทุกข์อยู่ จะทุกข์ จะสูงขนาดไหน จะต่ำขนาดไหน มันก็ยังติดไปด้วยทุกข์ตลอด เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจฝังไปที่ใจ เพราะใจมันขัดข้องใจ

ความขัดข้อง ความไม่เป็นอิสระ ความไม่เป็นอิสระมันอยู่ที่ใจ ความขัดเคืองใจ ขันธ์ ๕ นอก ขันธ์ ๕ ใน กายนอก กายใน กิเลสมันตามครอบคลุมไว้ทั้งหมดน่ะ นี่เปลือกไข่ได้กะเทาะไปแล้ว ๑ ขั้นตอน เปลือกไข่นี้แตกออกไปแล้ว แต่เชื้อในไข่นั้นยังมี เชื้อนั้นยังไม่ได้ทำลาย

นี่ก็เหมือนกัน กิเลส ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ เห็นไหม ความปล่อยในธาตุ ๔ ความปล่อยในกายไง ความปล่อยกาย จิตนี้มันติดในกาย พิจารณาแล้วมันปล่อยออกไป สักกายะในกายไม่มี ปล่อยออกไปแต่มันก็ยังติดอยู่ในจิต ในอุปาทานที่ยึดกันอยู่

มันจะขัดใจเอง มันจะรู้ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติเนิ่นช้าอยู่ ปล่อยไว้ในใจนะ มันรู้ มันขัดข้อง เหมือนกับเรารู้อะไรไม่จบ ถึงว่า เรารู้อะไรไม่จบนี่ เราทำอะไรมันก็ไม่ลงใจ มันทั้งระแวง ทั้งสงสัย รู้ครึ่งๆ กลางๆ รู้อยู่ว่าตัวเองยังไม่สิ้น แต่ถ้าจะออกมาทางโลกก็ไปไม่ได้ เห็นไหม ความรู้ครึ่งๆ กลางๆ รู้ไม่รอบ ความรู้ไม่รอบมันก็ขัดข้อง จะย้อนกลับมา ถึงจะไม่ปฏิบัติหรือว่าปล่อยไว้ หลงทางไป เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว มันก็มีความคับข้องใจเด็ดขาดเลย มันรู้เอง ถึงจะปล่อยวาง ถึงจะไม่ได้ทำมันก็รู้เอง

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์หรือเราประพฤติปฏิบัติ เราไม่เข้าข้างตัวเอง เราไม่เข้าข้างกิเลส กิเลสนี้เป็นเราอยู่ในหัวใจ แต่เราตรวจสอบ คนที่ตรวจสอบ คนที่ทำอยู่ตลอดเวลา จะเห็นตัวนี้ เราไม่เข้าข้างตัวเอง เข้าข้างตัวเองไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลสอยู่แล้ว ความว่าเป็นเรา ความถือว่าเป็นตัวตน อันนี้สำคัญที่สุดเลย แม้แต่ปฏิบัติไปมันก็จะหลอกว่าจะตาย หลอกว่าจะทุกข์จะยาก ความทุกข์ความยากนี่เรามาเปรียบเทียบได้นี่นะ การประกอบอาชีพ การทำงานี้ต้องเป็นทุกข์ทั้งหมด การประกอบการงานนี้เป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่เป็นทุกข์ที่ไม่มีวันที่สิ้นสุด

งานของโลกไม่มีวันที่สิ้นสุด ไม่มีจบ การสร้างโลกไม่มีวันจบ การประพฤติปฏิบัติเท่านั้นที่มีวันจบ ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ หรือเรามาทำความเพียร มันต้องทุ่มกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า สิ่งที่ประเสริฐกว่า ความลงมือลงแรงต้องเข้มแข็งกว่า มันจะได้ผลตอบแทนที่เหนือกว่า นี่มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจ

แต่ถ้าปล่อยแล้วมันไม่ใช่ทุกข์เลย งานสักแต่ว่างาน ทีนี้มันยังไม่ปล่อยนี่นะ เพราะทำไปแล้วมันจะอ่อนเปลี้ย มันจะอ่อนแรง ถึงที่สุดแล้วกิเลสมันจะหลอกไปอยู่ทุกที่ การกระทำต่อไป กิเลสมันก็จะหลอกไปๆ “ไม่ใช่มากเกินไปหรือ” ถ้าหลอกในแง่ดีนะ “ทำอย่างนี้ไม่ใช่มากเกินไปหรือ หรือเพราะเราทำมากเกินไป มันถึงไม่เป็นไป” ฟังสิ เพราะทำมากเกินไป ความมากเกินไป เหมือนเราสร้างเหตุมากเกินไป จิตนี้ถึงไม่ลงมัชฌิมา...เพราะเราไปคิดอย่างนั้นไง นี่กิเลสมันหลอก หลอกว่าเราทำนี่เข้มเกินไปแล้ว เป็นอัตตกิลมถานุโยคแล้ว เราควรจะปล่อยลงมาๆ มันก็เลยไหลลงทะเลไปเลยไง

หมุนเข้าไป เสริมเข้าไป เข็นครกขึ้นภูเขาต้องเต็มที่เลย กำหนดไง กำหนดดูจิต กำหนดเฝ้าจิต กำหนดดูจิต ต้องขังให้เหมือนนักโทษ ผู้คุมคุมจิตไว้โดยเต็มที่ ก็ต้องขังเหมือนนักโทษ เพราะกิเลสที่อยู่ในหัวใจมันจะต่อต้านมาตลอด

การยึดพื้นที่ การยึดหัวใจนะ เราอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เขามาไล่ที่เรา เราก็ต้องไม่ยอม ถ้าธรรมะหรือการประพฤติปฏิบัติเราสูงกว่า เราสามารถฆ่ากิเลสได้ เราสามารถฆ่ากิเลสจริงๆ เพราะมันต้องสิ้นไปจากใจ ถ้าไม่สิ้นไป มันก็เป็นเจ้าวัฏจักรอยู่อย่างนั้นน่ะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชานี้เป็นเรือนยอด เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นเจ้าอำนาจของหัวใจทุกๆ ดวง หัวใจทุกๆ ดวงเป็นขี้ข้า ต้องไปตามอำนาจของอวิชชา

เห็นไหม ทำไมถึงว่าเป็นขี้ข้าล่ะ? เพราะมันไม่รู้เท่าอวิชชาไง อวิชชาเป็นผู้ที่มีปัญญาเหนือแล้วหลอกได้ หัวใจเรา เราว่าเรานี่แน่มาก เรานี่ฉลาดมาก จะฉลาดขนาดไหน ไม่มีทางสู้อวิชชาได้เลย อวิชชา คำว่า “อวิชชาๆ” หมายถึงสิ่งที่ไม่ดี เราก็ศึกษาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ทำไมเราคิด ทำไมว่าดีล่ะ แล้วไม่ใช่คิดเปล่านะ มันคิดแบบไฟไง โลภ โกรธ หลง เห็นไหม ความหลง ไม่รู้เท่าน่ะ

อวิชชารู้ รู้แบบอวิชชา คือรู้แบบหลงไง แล้วอวิชชานี้อยู่เหนือหัวใจทุกๆ ดวง แล้วปัญญาอย่างเรามันอยู่ในใต้อำนาจของอวิชชา คืออยู่ในอำนาจ อยู่ในการครอบงำ คิดอยู่ในกรอบของอวิชชา ถึงว่าเป็นผู้หลงไง

คิดธรรมะมันก็อยู่ในอำนาจของอวิชชา ว่าคิดเป็นธรรมนะ คิดเป็นธรรมหมายถึงว่าฟังธรรมหรือเราอ่านหนังสือ หรือว่าเราอ่านธรรมะพระพุทธเจ้านี่เป็นธรรม แต่เราก็ตีความ หรือเราประเมินว่าควรจะเป็นอย่างนั้นๆ นี่กรอบของอวิชชา

ที่เราประเมินเพราะเรามีกิเลส เราประเมินด้วยอำนาจของกิเลส เราประเมินด้วยอำนาจของการหลง เราประเมินด้วยอำนาจของอวิชชา เห็นไหม ที่เราว่าเราฉลาด ว่าเราฉลาดอยู่ ทำไมเราประเมินด้วยอำนาจของเรา เพราะมันอยู่ใต้ความคิด ถ้าเปรียบถึงว่ามันอยู่ในส่วนสูงที่สุด อยู่ในส่วนของเรือนยอดของใจ มันเป็นพ่อของนางโลภ โกรธ หลง นางตัณหา นางอรดี นางโลภ โกรธ หลง ยังเป็นลูกของอวิชชา แล้วก็เอาโลภ โกรธ หลง ตัณหา ราคะ เอามาเป็นเหยื่อล่อ พอเหยื่อล่อเราก็หลงแล้ว นี่อยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ความคิดของเราไง

นี่ย้อนกลับ ต้องเท่าทัน ถ้าไม่เท่าทันก็ต้องอย่างที่ว่าเข้มแข็ง ต้องเข้มแข็ง สยบก่อนไง คนที่เขามีกองทัพมาใหญ่โตมากเลย เราจะต่อสู้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไรจะให้กองทัพเขาเล็กลง จะให้กำลังเขาน้อยลง เพื่อเราจะมีอำนาจต่อสู้บ้าง เห็นไหม ก็นี่ทำใจให้สงบนี่ ถ้าจิตสงบหรือผ่องใสเท่าไร คืออวิชชาเผลอตัวให้จิตนี้เป็นอิสระ ถ้ามี พออิสระปั๊บ เราก็พ้นจากอำนาจ พ้นจากการครอบงำ พ้นจากกรอบของอวิชชาชั่วคราว การพ้นจากกรอบของอวิชชาชั่วคราวมันสร้างให้เรามีพลังงาน เวลาจิตสงบมันจะมีพลังงานขึ้นมา พลังงานตัวนี้จะไปเสริมปัญญาของเรา

สมาธิที่แนบแน่น สมาธิที่มีคุณค่า สมาธิที่บริสุทธิ์ สัมมาสมาธิ เห็นไหม ศีลทำให้เกิด ศีลที่ดี ศีลที่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดสมาธิที่บริสุทธิ์ สมาธิที่แนบแน่น สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิ ปัญญาในแง่บวก จะทำให้เกิดปัญญาที่ชำระล้างกิเลส เห็นไหม ปัญญาที่เกิดขึ้นนี่ เพราะจิตนี้สงบ จิตนี้มีพลังงานแล้วใคร่ครวญ ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเอง ปัญญาจะไม่ลอยลงมาจากฟ้า ปัญญาต้องเกิดจากการใคร่ครวญ จากการฝึกฝน เกิดจากฐานของจิต เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่นั่น กิเลสมันหลอกลวงไปตลอด อยู่ในกรอบของอวิชชา

ปัญญาเกิดขึ้น จิตมีพลังงานแล้วก็ต้องใช้ปัญญานั้นทะลุทะลวงออกจากรอบนั้น ออกจากกรอบของอวิชชา ออกจากกรอบของความหลง ออกจากกรอบของการหลอกลวง เพราะมีเราคิดไง เห็นไหม อวิชชาเป็นตัวหลอก เป็นตัวกรอบ แล้วราคะตัณหา ความพอใจ ความโกรธ อันนี้เป็นเหยื่อล่อ เหยื่อล่อให้เราหลงไป

มีทั้งตัวหลงหนึ่ง มีทั้งเหยื่อล่อหนึ่ง เหยื่อล่อนะ เราคิดสิ เราคิดถึงคุณงามความดี เราคิดถึงการออก เห็นไหม พรหมจรรย์ไง ทำไมคิดแล้วมันอยากคิด รู้ว่าเป็นของดี แต่คิดแล้วความคิดจะพุ่งโพลงออก เราคิดถึงสิ่งที่อวิชชามันหลอกสิ ตัณหา ราคะ ลองคิดดูสิ พุ่งไปเลย พุ่งไปเลย

หนึ่ง มีตัวอวิชชา ตัวไม่รู้เท่าหนึ่ง แล้วยังมีเหยื่อล่อความคิดอีก แล้วเหยื่อล่อนี้เราเคยกินมา เราเคยฝังใจมากันตลอด เราเคยฝังใจมาทุกภพทุกชาติ เพราะการข้ามตรงนี้เป็นการข้ามยากไง สิ่งที่ข้ามยาก เพราะความเคยชิน นี่กิเลสคือความเคยใจ มันซับสมมา มันติดเนื่องมาจากใจนี้มหาศาล แล้วดูตัวไม่รู้เข้ามาล่ออีก มันถึงเป็นการต่อสู้ที่แสนลำบาก

แต่ลำบากขนาดไหน พระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกที่ผ่านพ้นออกไป พระพุทธเจ้าผ่านพ้นออกไปแล้วเป็นทางอันเอก เป็นทางอันประเสริฐ ถ้าว่าแย่มาก ลำบากมาก พวกเราก็ขาอ่อน แต่พูดนี้ไม่ใช่พูดเพื่อให้ขาอ่อน เพื่อให้หมดกำลังใจ นี่พูดถึงโทษของมัน ให้เห็นโทษสิว่าโทษของมันอยู่ที่บนหัวใจเรานี่มันรุนแรง มันมีกรอบความแน่นหนาครอบงำเราขนาดนี้

มันครอบงำเรานะ เพราะว่าอวิชชาหรือกิเลสนี่มันสามารถทำลายได้ ทำลายออกไปจากใจแล้วไม่ใช่เรา ตกเวทีไง แย่งพื้นที่หัวใจ แย่งความบริสุทธิ์จากพลังงานตัวเริ่มต้น ไออุ่นไง พลังงานไออุ่นจากหัวใจน่ะ ถ้าเราสามารถทำลายกิเลสออกจากนั้นไป ให้ตกจากไออุ่นกลางหัวใจเรา เราเป็นอิสระขึ้นมา ถึงว่ามันพ้นจากการครอบงำของกิเลส ถึงว่าไม่ใช่เรา ถึงทำลายได้ไง

แต่ถ้าเป็นครอบงำอยู่นี่มันครอบงำด้วยอวิชชา อวิชชาเป็นตัวเริ่มต้น เพราะเราเกิดมา เราอย่าเสียใจนะว่าเรามีอวิชชา อย่าเสียใจว่าเรามี ทำไมคนอื่นเขาไม่มี...มีทุกคน เพราะคนเกิดมาทุกคน ตัวหลง ตัวอวิชชาพาเกิด จิตมีกิเลสอยู่ถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ ฉะนั้น มนุษย์มองหน้ามนุษย์แล้วมีค่าเท่ากันทั้งหมด เพราะทุกดวงใจมีอวิชชาทั้งหมด

แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าผ่านไปแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าละเอียดอ่อนมาก แล้วซุกอยู่ในหัวใจของเรา ถึงว่า เพชรกลางหน้าผาก เราหาไม่เจอ อ่านธรรมะพระพุทธเจ้านะ ว่าเป็นนิพพานอย่างนั้น อนาคามีมีความสุขอย่างนั้น พระอรหันต์ พระนิพพานจะเป็นอย่างนั้นๆ เห็นไหม เราอ่านออกไปข้างนอกไง แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่หัวใจ จริงๆ แล้วมันอยู่ที่เรา จริงๆ นะ เพราะใจนี้เสพธรรมะ ใจนี้เข้าไปสัมผัส ใจนี้เป็นผู้พ้น จริงๆ นั่นอยู่ที่เรา ถ้าเราหักอันนี้ออกมันก็เป็นอิสระขึ้นมา

สิ่งที่โดนครอบงำอยู่ในหัวใจเรา กิเลสมันครอบงำเราอยู่ กิเลสนี้ครอบงำหัวใจเราอยู่ ถ้าชำระออกไปแล้วถึงหลุดออกไป นี่แย่งพื้นที่ แย่งความบริสุทธิ์มาให้เป็นของของเรา ถึงว่าได้เป็นความสุขแล้วมี มรรคผลก็มี ความจริงก็มี แล้วเราก็ถึงจุดนั้นได้ เราถึงจุดนั้นได้หมดทุกๆ ดวงใจ

ในธัมมจักฯ เห็นไหม ในอาทิตตปริยายสูตรด้วย อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ นี่พระพุทธเจ้าบอกไว้นะ อาสเวหิ อาสวะสิ้น จิตเราไง จิตฺตานิ วิมุตติ จิตนี้เป็นผู้วิมุตติ เห็นไหม จิตนี้เป็นผู้เสพสุข เพราะจิตนี้มันพ้นออกจากอิสระทั้งหมด มันสุขในเนื้อหาเลย สุขในความจริง สุขแบบไม่มีอวิชชา ทำลายอวิชชาออกจากหัวใจไป ทำลายกรอบความคิดนี่ ทำลายตัวครอบงำ ถ้าตัวครอบงำนี้ไม่มี ความคิดเราไม่มีอะไรครอบงำ อิสรเสรี อิสระพ้นจากรอบ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งเลย แล้วมีอยู่จริงตามความเป็นจริง

แต่ปัจจุบันของเรามันมีอยู่จริงในตามความไม่จริง มีอยู่จริงในความยอมจำนน ถึงว่า เกิดมาแล้วตาย รู้ๆ ว่าเกิดมาแล้วตายก็เหมือนกับยอมจำนนไง เพราะเราไม่กล้าทำ เราเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สุดเอื้อม มันเป็นสิ่งที่สุด

อำนาจวาสนาน้อยไง เราไปเข้าใจว่าอย่างนั้น เราเข้าใจว่าเรามีอำนาจวาสนาน้อย ผู้ที่จะถึงมรรคถึงผลได้ต้องบวชพระ ต้องเป็นครูบาอาจารย์ ต้องเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่อยู่ในครั้งพุทธกาล อยู่ในตำรับตำรา อ่านแล้วแหม! มีความชื่นใจ อย่างพวกเรานี่มันพ้นกาลพ้นสมัย พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วสองพันห้าร้อยกว่าปี เราจะรุ่นหลังแล้ว เราไม่ทัน…ไม่ใช่

ทุกข์อยู่ที่ใจ อวิชชาอยู่ที่หัวใจ อวิชชาไม่อยู่ที่อื่น อวิชชาอยู่ที่หัวใจทั้งหมด ทำลายกันได้ ทำลายที่หัวใจ วิธีการทำลายก็นี่ ที่เราทำกันอยู่นี่ เริ่มต้นจากหยาบๆ เลยนะ กำหนดพุทโธๆๆ อย่างกำปั้นทุบดินเลย อย่างกับเอาหัวชนภูเขาเลย แต่การสะสม การจงใจ การตั้งมั่น กำลังใจของเราเท่านั้นนะ กำลังใจที่ความฮึกเหิม ความมุมานะ

เวลาเราไปเที่ยว เราไปเตร่ เราอยู่ในทางโลก เราไปทางไหน เราทำไมไปจนลืมวันลืมคืนได้ แต่เวลาเราไปประพฤติปฏิบัตินี่ไม่มีความลืมวันลืมคืน ไม่มีความฮึกเหิมกำลังใจขึ้นมา...ก็เราไปว่าเป็นความสุดเอื้อม นิพพานอยู่ไกลเกินไปที่เราจะโน้มน้าวถึงไง

เราจะไปโน้มน้าวที่ไหน ถ้าเราไม่หักกลับมาที่ว่าที่อยู่ไง

เวลาโดนหลอก เห็นไหม ขโมยเข้าบ้านเรา เราก็วิ่งออกไปหาข้างนอก วิ่งไปแจ้งความ ไปจับ วิ่งไปทั่ว ไปหาขโมยไง แต่ความจริงนี่ขโมยอยู่ในบ้านเรา มันเข้าไปอยู่ในบ้านเรา อันนี้ก็เหมือนกัน จริงๆ แล้วการปฏิบัติมันอยู่ที่อวิชชา อยู่ที่หัวใจ อยู่ที่การเราน้อมจิตกลับมา น้อมจิตกลับมา

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้กิเลสทั้งดวง จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใสนี่ ความผ่องใส ความเศร้าหมอง นั่นน่ะคือตัวจิตเดิมแท้ นั่นคือตัวข้อมูลเดิม นั่นคือตัวจิตปฏิสนธิ ตัวจิตปฏิสนธินั่นล่ะ ต้องพิจารณาตัวนั้นอีก นั่นน่ะคือตัวอวิชชา ตัวกามราคะ ตัวปฏิฆะ ตัวนี้คือตัวขันธ์ของจิต จิตเดิมแท้นี้ละเอียดจนคิดออกมาเป็นขันธ์ไม่ได้ เป็นความเศร้าหมอง เป็นความเฉา เป็นความสว่างกับความเฉาเท่านั้น เป็นความสว่างกับความพร่ามัว นี่มันจะมีสว่างขึ้นมาแล้วพร่ามัวๆ อยู่อย่างนั้น แต่ตัวพลังงานนี้มันเข้ากับขันธ์ ๕ เข้ากับตัวสัญญา ตัวขันธ์ของใจไง

ตัวขันธ์ ๕ ขาด ถึงว่ากามราคะขาด มันไม่มีการเทียบค่าไง สวยหรือไม่สวย สุภะหรืออสุภะ เห็นไหม ตัวสุภะหรืออสุภะใครเป็นคนบอก ตัวพอใจไม่พอใจใครเป็นคนบอก ตัวพลังงานนี้ เพียงแต่ตัวมาเสริม ตัวอวิชชาตัวเสริม แต่ตัวให้ค่าคือตัวขันธ์ คือตัวสัญญา เห็นไหม สัญญาเคยจำว่าชอบหรือไม่ชอบ เห็นไหม ทำไมถึงว่าตัวสัญญา? เพราะว่าความชอบของคนไม่เหมือนกัน ความชอบของมนุษย์ ความชอบของเทวดา ความชอบไม่มีเหมือนกันเลย ถึงชอบสิ่งเดียวกันก็ยังละเอียดหยาบต่างกัน เพราะสัญญาไม่เหมือนกัน

เห็นไหม สัญญาไม่เหมือนกัน เพราะชอบแล้วสังขารก็ปรุงสิ เพราะเราชอบ เวทนาเสริมสิ ชอบแล้วมีรสชาติอย่างไร เห็นไหม สังขารเสริม วิญญาณเสริม ครบรูป หมุนไป อสุภะเกิดกลางหัวใจ มันเสพกามโดยความเป็นใจเลย นี่ราคะ นี่กรอบของมัน นี่ตัวอวิชชาไง จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นอะไรล่ะ? ก็จิตเดิมแท้นี้ก็มาเกิด ปฏิสนธิในครรภ์มารดาไง นี่หมุนมาๆ นะ

ความเห็นความเป็นจริง ความประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงด้วยอำนาจของธรรม ด้วยอำนาจของใจที่เป็นธรรม ใจที่เป็นโลก เห็นไหม จากใจที่เป็นโลก หักห้ามเข้ามา ดูแต่กายมนุษย์ ดูแต่กายทั่วไป เห็นไหม ความเศร้าหมองไง

ยมทูตถาม “เห็นธรรมไหมๆ” นี่เห็นธรรมข้างนอกไง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมข้างนอกนี่เป็นโลก โลกพิจารณาธรรมข้างนอก วนเข้ามาจนเป็นธรรมข้างใน เห็นไหม การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภายนอก การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสัตว์ร่วมโลก เห็นนี่มันเศร้าสลดเข้ามา เศร้าสลดเข้ามา

ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของกายของเรา ตัดกายของเราได้ นี่เป็นอกุปปะขั้นหนึ่ง

ความหลงในกายเข้าชั้นใน ความหลงในกายนะ นี่เกิดอกุปปะขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ความเห็นของใจที่ออกมาเป็นขันธ์ภายใน ที่มาเสพอสุภะ สุภะอยู่นี่ ความสวยและไม่สวย เป็นอกุปปะอีกขั้นหนึ่ง

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสข้ามพ้นจากความเศร้า ความพร่ามัว ความผ่องใส นั่นเป็นอกุปปะที่พ้นจากการตาย จะตายทันทีเพราะอวิชชาตาย อวิชชาตาย กรอบโดนทำลายแล้ว จิตนี้อิสระเสรีแล้ว ความตายไม่มีความหมาย ความตายกับความเป็นอยู่มีค่าเท่ากัน ความเป็นอยู่กับความตายมีค่าเท่ากันเลย เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะแปรสภาพอีกแล้ว ไม่มีสิ่งใดๆ จะแปรสภาพอีกแล้ว เพราะอิสระแล้ว ถ้ายังแปรสภาพอยู่จะเป็นอิสระได้อย่างไร จิตใจที่เป็นอิสระแล้ว ไม่มีการแปรสภาพอีก พ้นออกไป พ้นออกไปเลย นั่นน่ะ ถึงว่าตายแล้วไม่เกิดอีก

กับการตายแบบยอมจำนนน่ะ เราตายกันแบบยอมจำนน ยอมตายๆ เพราะไม่มีทางต่อสู้

๑. ไม่มีทางต่อสู้

๒. ว่าตัวเองไม่มีวาสนา

มันต่อสู้ไม่ไหว แล้วก็ว่าศึกษาธรรมะ มันรู้จากความจำ รู้จากเงินยืม รู้จากธรรมะพระพุทธเจ้าว่าคนเกิดมาแล้วต้องตายทั้งหมด แล้วเห็นสภาวะตามความเป็นจริงว่ามันก็ต้องเกิดแล้วตายจริงๆ แล้วก็ยอม ไม่มีทางออกก็ต้องยอมไปตามแบบนั้นไง เพราะไม่มีทางออก ยอมจำนน ถึงต้องยอมตายแบบนั้น

แต่ถ้าศึกษาธรรมะ เราลงทุนกันมหาศาล เราลงทุนลงแรงกันมาขนาดนี้ ลงทุนลงแรงการสะสมบุญญาบารมีมาจนเกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่ศาสนายังรุ่งเรืองอยู่ในกึ่งพุทธกาล แล้วได้ลงมาประพฤติปฏิบัติทั้งชีวิตทุ่มลงไป ทุ่มลงไปทั้งชีวิตนะ เพราะให้มันตาย ให้กิเลสตายจากหัวใจชาตินี้ แล้วมันไม่ต้องเกิดอีก กับยอมตายไปแล้วเกิดอีกๆ เกิดอีกก็ไม่มีโอกาส รู้ไม่รู้ โอกาสว่าจะทำได้หรือไม่ได้ด้วย

แต่ปัจจุบันนี้ธรรมะพระพุทธเจ้าแน่นอน มรรคพร้อม อริยสัจพร้อม ทุกข์อยู่พร้อม ทุกข์มีอยู่กับใจเรา เห็นไหม ตัณหาความทะยานอยากใครไม่มี ถ้ามันจะเป็นนิโรธก็ต้องมรรค เราเดินมรรคก่อน อริยสัจไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

หัวใจนี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหมือนกับโรงงาน เราบังคับหัวใจเข้าไปในโรงงาน ออกจากโรงงานนี้มาก็พ้นออกจากอริยสัจไง อริยสัจนี้เป็นสายพานดำเนิน จิตนี้ผ่านเข้าไปในทุกข์ เห็นไหม มันทุกข์อยู่แล้ว ผ่านเข้าไป ผ่านเข้าไปก็ตัณหา ความอยาก ความไม่อยากของเรา ความอยากไง อยากให้เป็นไปไม่อยากให้เป็นไป

นิโรธเกิดจากอะไร? เกิดจากมรรค มรรค ๘ มีอะไรบ้างล่ะ ความดำริออกไหม ดำริชอบ เห็นชอบ สมาธิชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ มรรคหมุนออกมา นิโรธ

นิโรธเกิดจากมรรค นิโรธแท้ไง ดับพรึ่บ! ออกไปจากอริยสัจ จิตนี้พ้นออกไปจากอริยสัจ

นี่โรงงานไง อริยสัจเป็นโรงงาน เป็นสายพานการผลิต แล้วหัวใจผ่านเข้าไป นี่พระพุทธศาสนา เราเห็นพระพุทธศาสนา เราเข้ามาในหัวใจพุทธศาสนา ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่หัวใจของศาสนา แต่หัวใจของเราเข้าไปในหัวใจของศาสนาไหม หัวใจของศาสนากับหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรากับหัวใจศาสนาเป็นอันเดียวกัน เห็นไหม หมุนไปในทางเดียวกัน แล้วหลุดพ้นออกไป “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ออกไปจากอริยสัจนี้

ถ้าเราไม่ออกจากสายพานการผลิตนี้ ไม่ออกจากอริยสัจนี้ มันก็อยู่ในอริยสัจนี้ไง ทุกข์ตลอดไป อยู่ในกรอบของสายพานนี้ ยังหมุนอยู่ เวียนไปอยู่ เพราะทุกข์ เห็นไหม เราเป็นทุกข์อยู่แล้ว หมุนอยู่ในทุกข์นี่ หมุนอยู่ อริยสัจเป็นความจริง เห็นไหม อริยสัจ เป็นบัญญัติไง แต่นี่เรายังไม่ได้เข้าด้วย เพราะเราอยู่ในสมมุติ

สมมุติ บัญญัติ เพราะอริยสัจนี้เป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้า เป็นสายพานการผลิตของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้แล้วก็วางรากฐานไว้ แต่เรายังไม่ได้เข้าไปในสายพานนั้นเลย เราอยู่ในสมมุติไง

อ้าว! ทุกข์ก็ทุกข์ ก็ทุกข์ของเรา ทุกข์ของสมมุติ ยังไม่ได้ทุกข์ในบัญญัตินั้น สมมุติ บัญญัติ พ้นจากสมมุติและบัญญัติ พ้นจากดีและชั่ว พ้นออกไปจากดีและชั่วไง บุญก็คือบุญ บาปก็คือบาป จิตนี้ไม่ติดทั้งบุญและบาป พ้นออกไปจากบุญและบาป เป็นอริยสัจ เป็นอิสระออกไป

เกิดจากความมุมานะหนึ่ง เกิดจากทฤษฎีที่ถูกต้องหนึ่ง เกิดจากครูบาอาจารย์ที่ชี้ทางถูกหนึ่ง ปฏิบัติจริงจังขนาดไหน ถ้าเข้าไม่ถูกทาง ไม่ได้เข้าไปในสายพานของอริยสัจไง ทุ่มเทขนาดไหน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ มีผู้ที่ปฏิบัติทั้งชีวิตจิตใจขนาดไหนก็ไปไม่ได้ อยู่ในฌาน อยู่ในสมาบัติ แต่ไม่เกิดมรรคอริยสัจจังตัวนี้เข้ามาสมุจเฉทปหาน เห็นไหม ทุ่มเทขนาดไหน จริงจังขนาดไหน แต่ไม่หมุนเข้าไปในสายพานอริยสัจ ไปพ้นไหม

นี่มีอยู่ สายพานมีอยู่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีอยู่ เราสามารถเอาหัวใจเข้าไปในสายพานการผลิตนี้ได้หรือเปล่า สายพานการชำระกิเลสไง ชำระกิเลสให้หลุดออกไปจากใจ พ้นออกไปจากใจ ปฏิบัติจริงด้วย มุมานะจริงด้วย แล้วถูกทางด้วย สมควรด้วย ถึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาทั้งปฏิบัติด้วย มัชฌิมาปฏิปทาทั้งการชำระกิเลสด้วย ไม่ให้กิเลสมันหลอกตลอดไป ข้ามพ้นไปได้ด้วยมัชฌิมาที่ความจริงจัง ไม่ใช่มัชฌิมาแบบกิเลสมันหลอก มัชฌิมาแบบนอนจมไง นั่นก็มัชฌิมา เพราะมัชฌิมาของกิเลส มัชฌิมาของพระพุทธเจ้าคือว่าต้องจริงจัง ต้องทำจริงให้พ้นจริงออกไปจากทุกข์ได้จริง เอวัง