เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ ส.ค. ๒๕๕๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ฟังธรรมะเนาะ ธรรมะเมื่อคืนไปเทศน์นะ เทศน์เรื่องยุคทอง ยุคทองของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณธรรม ข้อวัตรปฏิบัติท่านก็วางไว้ให้ดัดแปลงหัวใจไง มันเหมือนกับทางโลก ทางโลกเขามีศิลปะ เวลาเราไปดูศิลปะเพื่ออะไร? เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของเรา ข้อวัตรๆ ข้อวัตรก็เพื่อชำระหัวใจไง

เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดไง ท่านเล่าให้ฟังเอง บอกว่าหลวงปู่มั่นให้จักตอก ท่านบอกว่าทำไม่เป็น หลวงปู่มั่นบอกว่าใครมันเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ มันไม่มีใครเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่หรอก มันฝึกหัดทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ฝึกหัด ฝึกหัดจนมันทำได้ พอมันทำได้ มันทำเป็นขึ้นมา นั่นล่ะมันทำเพื่ออะไรล่ะ

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเล่า เวลาหลวงปู่มั่น จะทำไม้เจียให้หลวงปู่มั่น ท่านบอกเลยนะ ท่านนั่งทุบนะ วันหนึ่งเหลาได้ ๓ อัน คือว่าทุ่มทั้งสติ ทุ่มทั้งปัญญา ทุ่มหมดเลย ทุ่มลงไปที่นั่นเลย การทุ่มไปมันคืออะไรน่ะ มันคืออะไร มันขัดเกลาไง เราถึงต้องดูแลใช่ไหม

ท่านบอกว่าท่านเหลาไม้เจียให้หลวงปู่มั่นได้วันละ ๓ อันเท่านั้นแหละ วันหนึ่ง ๑๐ กว่าชั่วโมง ท่านเหลาได้ ๓ อัน ท่านต้องทำให้ละเอียดขนาดไหน

เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะวัดสติของลูกศิษย์นะ ท่านบอกว่า อ้าว! ให้ตัดสบงเว้ย ท่านก็ตัด ๕ ขันธ์ แล้วท่านก็ให้พระไปคนละขันธ์ หลวงตาบอกท่านรู้แล้ว หลวงปู่มั่นท่านจะวัดว่าใครจะมีความละเอียดรอบคอบขนาดไหน ท่านบอกว่าทุ่มสุดฝีมือเลย แล้วพอเย็บ ๕ ขันธ์ออกมาแล้วมันรวมเป็นสบงใช่ไหม แล้วว่าขันธ์ของท่านแจ๋วที่สุด ครูบาอาจารย์มองตรงนั้นน่ะ มองตรงนั้น

มันเหมือนทางโลก ดูสิ เวลาดูศิลปะวัฒนธรรมก็เพื่อหัวใจใช่ไหม เพื่อพัฒนาความอ่อนโยนในใจ นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านมีสติมีปัญญา ท่านทำเพื่อเราๆ นี่ยุคทองๆ แต่เรามองข้ามกัน มองข้ามว่าก็จะมาภาวนา จะมาพุทโธ จะมาเอาหัวใจ...แล้วเอ็งทำอะไร เอ็งพุทโธยังไม่ได้กันอยู่นี่ เอ็งทำอะไรก็ทำกันไม่ได้ เอ็งทำอะไรก็ทำไม่ลง

เขามีอุบายไง อุบายมาขัดเกลา มากล่อมเกลา มาดูมาแล นี่คนเขามีปัญญา แต่พวกเราไปมองเห็นว่ามันเป็นธุระ ไม่ใช่ มันไม่ใช่งานของเรา เราอยากได้หัวใจ เราอยากได้มรรคได้ผล...แล้วมรรคผลมันมาจากไหนล่ะ มรรคผลมันก็วิชาทั้งนั้นแหละ มันมิจฉาทั้งนั้นน่ะ ถ้ามิจฉามันมาอย่างนั้น แล้วเราจะทำอะไร

ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ นะ ท่านเก็บเล็กผสมน้อย หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงปู่มั่นเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์นะ ถ้าพระอรหันต์นี่สติวินัย สติวินัยคือว่าไม่มีเจตนา ไม่มีความผิด ปาปมุตๆ พระอรหันต์เป็นปาปมุต แต่ทำไมท่านเก็บหอมรอมริบล่ะ ท่านไม่ทำ ไม่ยอมก้าวล่วงเลยล่ะหลวงปู่มั่น เพราะอะไร เพราะท่านเป็นแบบอย่างไง ท่านเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นหัวหน้าที่คนต้องทำตามไง นี่พูดถึงว่า เป็นวัฒนธรรมนะ เป็นการขัดเกลากิเลส เป็นการดูแลหัวใจให้มันอ่อนโยนควรแก่การงาน

แล้วเวลามาภาวนา เวลานั่งภาวนาไป หลวงปู่เจี๊ยะท่านเอ็ด “นั่งแช่อยู่อย่างนั้นมันไม่พอกินหรอก นั่งแช่อยู่อย่างนั้นมันไม่พอกินหรอก นั่งแช่อยู่อย่างนั้นมันไม่พอกินหรอก”

มันไม่พอกิน มันไม่มีสติไม่มีปัญญา แล้วก็นั่งแช่กันอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็นั่งแช่ นี่ไง เพราะมันมองข้ามมาตั้งแต่ต้น มองข้ามมาตั้งแต่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องมีความปกติของใจ มันต้องฝึกหัดขึ้นมา มันต้องดูแลหัวใจเราขึ้นมา ถ้ามันขึ้นมา สติมันฝึกมาตั้งแต่นั่นใช่ไหม ถ้าไปภาวนา ไปพุทโธ ไปปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เป็นสมาธิที่เป็นสัมมาใช่ไหม พอเป็นสัมมาขึ้นมาแล้ว เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาต่อไป มันก็เป็นวิปัสสนาใช่ไหม ถ้าวิปัสสนา ปัญญาที่รู้แจ้ง ปัญญาที่เป็นภาวนามยปัญญามันจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปใช่ไหม

แล้วนี่ไปนั่งแช่ ท่านพูดเลย พูดบ่อยมาก “พวกมึงนั่งทั้งคืนไม่เท่ากับกูนั่งเยี่ยวหรอก”

ท่านพูดอย่างนี้นะ แต่เมื่อคืนไม่กล้าพูด ท่านบอกท่านนั่งเยี่ยวดีกว่าพวกมึงนั่งกันทั้งคืนอีก พวกเอ็งนั่งแช่ นั่งแช่คือไม่มีปัญญาไง นั่งแช่ ไม่พัฒนาไง ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ มันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเรามองข้าม มองข้ามไปหมดเลย อะไรก็ไม่สำคัญ อะไรก็ไม่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญ ไม่สำคัญมันก็ดื้อด้าน พอมันดื้อด้าน มันก็กดไว้ พอกดไว้ พอมันจะเป็นมันก็เป็นมิจฉา พอเป็นมิจฉาขึ้นมามันก็สำคัญตน พอสำคัญตนมันก็ว่าของมันถูกต้อง แล้วไปบอกไม่ได้ ไปบอกไม่ได้ด้วย

แต่ถ้าความจริง หัวใจที่อ่อนโยน หัวใจของเราอ่อนโยน ดูสิ ดูเด็กที่มันมีน้ำใจนะ ได้ขนมมามันก็แบ่งกันนะ ให้คนนู้นให้คนนี้ แบ่งปันกัน จิตใจมันอ่อนโยน พอจิตใจมันอ่อนโยนขึ้นมา มันก็ไร้เดียงสา มันก็น่ารัก พอมันน่ารักขึ้นมา มันทำถูกต้องขึ้นมา ทุกคนก็เข้าสัมมาใช่ไหม พอมันทำต่อเนื่อง มันโตขึ้นมา มันก็มีหมู่มีคณะ มันมีคนดีของมัน เขาดูแลมาตั้งแต่นั่น

ถ้าว่ายุคทองๆ ท่านทำของท่านมาอย่างนั้น แล้วมาล่วงมาถึงเราล่ะ เราระลึกถึงท่าน ระลึกถึงท่านทำไม ถ้าระลึกถึงท่าน ระลึกถึงท่านก็ท่านเป็นแบบอย่างไง

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเอกของโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราจะทุกข์จะยากขนาดไหน พระเราจะทุกข์จะยากขนาดไหน จะโดนโลกธรรม ๘ เสียดสีเท่าไรท่านบอกเลย “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอโดนโลกธรรมเสียดสีรุนแรงขนาดไหน ให้ระลึกถึงเราๆ”

เพราะว่าเวลาโลกธรรม ๘ เสียดสี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดนหนักที่สุดเลย เพราะเขาจ้างคนมาด่า นางจิญจมาณวิกาเอาหมอนผูกที่ท้อง บอกว่าท้องกับพระพุทธเจ้า เดินเข้าไปแล้วก็เดินออกมา เดินเข้าไปแล้วก็เดินออกมา สวนกับพวกพราหมณ์นะ เวลาสุดท้ายแล้วก็เอาหมอนผูกไว้ที่ท้อง “ดีแต่สอนคนอื่น ทำฉันท้องอยู่นี่”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิ่งมาก “น้องนาง มันจะรู้กันสองคนระหว่างเธอกับเรา”

ถ้ามันท้อง ถ้ามันไม่มีการกระทำ มันท้องขึ้นมาได้อย่างไร แต่พูดไปใครก็ไม่เชื่อ มันเป็นการรู้กันระหว่างคนสองคนใช่ไหม ถ้าคนสองคนทำมันถึงจะท้องขึ้นมาใช่ไหม ถ้าคนสองคน คนหนึ่งไม่ได้ทำ มันท้องมาจากไหนล่ะ เทวดาถึงทนไม่ได้ เทวดาแปลงร่างเป็นหนูเข้าไปกัดเชือกจนเชือกขาด พอเชือดขาด นางจิญจมาณวิกาเดินออกไปจากวัด ธรณีสูบเลย

“ถ้าเธอโดนโลกธรรม ๘ เสียดสี ให้เธอนึกถึงเรา ให้นึกถึงเรา ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เป็นศาสดา แต่ในเมื่อโลกมันมีศาสนาอยู่แล้ว มันมีคนชี้นำอยู่แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเหตุมีผล ทุกๆ อย่างเหนือกว่า มันเป็นธรรมดาที่ทุกคนเขาต้องต่อต้าน เวลาต่อต้านเขาต่อต้านทั้งใต้ดินบนดิน ต่อต้านทุกๆ เรื่อง ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นธรรม เมตตาเขาไปทั้งนั้นแหละ เขาจะทำให้เดือดร้อนขนาดไหนก็ยังสงสารเขา มันเมตตาเขา เพราะอะไร เพราะมันมืดบอด จิตใจมันมืดบอด มันทำไปโดยกิเลสอวิชชา มันทำโดยความไม่รู้เท่า แล้วความไม่รู้เท่าก็ชักนำให้มันทำ มันน่าสงสารๆ

เพราะกรรม กรรมมันจะให้ผลมันแน่นอน มันทำอย่างนั้นกรรมจะให้ผลมันไปข้างหน้า แล้วทำไปข้างหน้า แล้วมันทำทำไมนั่นน่ะ มันทำเพราะทิฏฐิมานะอยากเอาชนะกัน แค่อารมณ์ชั่ววูบ แล้วก็ทำกันไป ท่านสงสาร ท่านเมตตา นี่พูดถึงเวลาท่านสงสารนะ แล้วเวลาเขาทำท่านล่ะ เขาก็มาทำทุกๆ อย่าง

“ถ้าใครโดนโลกธรรมเสียดสีรุนแรงขนาดไหน ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง”

ฉะนั้น เวลาเราทุกข์เรายากเราจะมององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทุกข์ยากกว่าเรามากนัก ถ้าทุกข์ยากกว่าเรามากนัก นี่ครูเอกของโลกเป็นตัวอย่าง แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านก็เป็นตัวอย่างไง อยู่บ้าน อยู่เรือน อยู่เมืองจันท์ มันมั่งมีศรีสุข พ่อแม่อุปัฏฐาก ทำไมจะต้องขึ้นไปให้มันทุกข์มันยาก ถ้ามันทุกข์ยาก กินก็กินกับเขาไม่ได้ แต่ในเมื่ออยากจะอยู่ก็ต้องกินให้ได้ ต้องกินต้องอยู่กับเขาให้ได้ เพื่ออะไร เพื่อต้องการคุณธรรม ต้องการผู้ชี้นำ ต้องการอย่างนั้น ต้องการอย่างนั้น เขาแสวงหา

ที่หลวงตาท่านพูด เราโทษเขาไม่ได้ เราไม่โทษประชาชน เราไม่โทษบริษัท เราไม่โทษเขา เพราะเราแสวงหาอย่างนั้น เวลาหลวงตาท่านออกไปธุดงค์ หาบ้าน ๓ เรือน ๔ เรือน ๓ หลัง ๔ หลังพอ แค่เขาใส่บาตรพอประทังชีวิตเท่านั้นแหละ ถ้าบ้านหลังใหญ่ เห็นไหม ทางโลกเขาก็บอกว่าเขาเอื้ออาทร เขาอยากจะอุปัฏฐาก เขาเป็นห่วง

ไอ้ทางปฏิบัติ โอ๋ย! วุ่นวายมาก ถ้าบ้านมากเขามากวน เขามากวนไง ก็ต้องปฏิสันถาร ก็คนมาหาจะไม่คุยกับเขาได้อย่างไร คนมาหาน่ะ แต่ถ้าเราจะภาวนา คนจะภาวนาเขาไม่ปรารถนาตรงนั้น เราโทษเขาไม่ได้ เราเลือกเอง เราเลือกเอง

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านขึ้นไปท่านก็รู้ พ่อแม่ไม่ให้ขึ้นๆ ขึ้นไปมันกินอยู่กับเขาไม่ได้ ไม่ได้ที่ลิ้น แต่หัวใจมันได้ หัวใจมันแสวงหา หัวใจมันอยากได้ นี่ถ้ามันทำมา เวลามันภาวนามา มันพอกิน พออยู่พอกิน หัวใจมันพออยู่พอกิน มันมีคุณธรรมขึ้นมา นั่นน่ะ มันเป็นประโยชน์ทั้งหมด

ฉะนั้น เวลาพวกเราอยู่กินกันสุขสบาย อยู่กินกันอิ่มหนำสำราญ ท่านบอกเลย “นั่งแช่อยู่อย่างนั้นน่ะไม่พอกินหรอก ไม่พอกิน” ท่านพูดย้ำตลอด เกือบทุกองค์ นั่งแช่ นั่งแช่ นั่งแช่คือจะเป็นสัมมามันก็ไม่ลงนั่นน่ะ ถ้ามันลงสัมมา มันมีกำลังของมันแล้ว มันออกมามันจะใช้ปัญญาของมันได้ ถ้ามันเป็นสัมมา มันออกรู้ ไม่ออกรู้มันก็อย่างที่หลวงตาท่านพูด เวลาจิตท่านใสสว่างหมดเลย ธรรมะมาเตือน “แสงสว่างนี้เกิดจากจุดและต่อม” กลัวว่าจะหลง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นสัมมานะ ถ้าเราภาวนาไป ถ้าทำจริงมันต้องมีเหตุให้สะกิดใจ มันต้องมีเหตุให้เราสะกิดใจ มีเหตุให้เราออกค้นคว้า มันต้องมีเหตุให้เรา แต่นี่มันไม่ใช่ “นั่งแช่อยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่พอกิน” มันไม่พอกินแล้วมันก็ปิดกั้น มันก็ปิดหัวใจ ไอ้เราก็ “ว่างๆ ว่างๆ” ละเมอเพ้อพกกันไป

ฉะนั้น ทำให้เป็นสัมมา ถ้าสัมมาสมาธิ ทุกอย่างต้องสัมมา ต้องมีสติต้องมีปัญญาของเรา แต่พออย่างนั้นปั๊บ ว่า “ทุกขนิยม ลำบาก คนอื่นเขาทำสะดวกสบาย ดูสิ เขาปฏิบัติกันเป็นหมื่น เป็นแสน เขาปฏิบัติ”

คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ขนโคกับเขาโค เขาโคมีสองเขา ขนโคมีเต็มตัว ในเมื่อการเวียนว่ายตายเกิดของจิต วุฒิภาวะมันมีเท่านั้น ถ้ามันฉลาดทั้งหมด แก๊งตกทองมันตกทองไม่ได้หรอก ไอ้แก๊งที่มันมาหลอกเอาสตางค์ มันหลอกเอาสตางค์เหยื่อไม่ได้หรอก แต่ทำไมเขาหลอกได้ล่ะ เพราะความโลภ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเรียบมันง่าย เขาจะเอาอย่างนั้นไง เราถึงบอกยุคทอง ยุคทองคือเขาทำจริงทำจัง เขามีสติมีปัญญา เอาจริงเอาจัง แล้วก็มีคุณธรรม มันเป็นที่เคารพบูชาของพวกเรา แล้วในยุคปัจจุบันนี้สะดวกสบายไปหมดเลย ยุคพลาสติกไง ยุคพลาสติกทุกอย่างทำได้หมดแหละ แล้วเวลาเหลือทิ้งแล้วทำอย่างไรล่ะ

ถ้าสายตาของธรรมนะ มันก็เหมือนกับคนเก็บขยะ เก็บขยะเพื่อดำรงชีวิตนะ เป็นอาชีพสุจริต ถ้าเขาทำโดยอาชีพทางโลก อย่างนั้นเป็นสุจริต แต่นี่เป็นบุคลาธิษฐาน เราเที่ยวไปเก็บขยะ เก็บขยะ ถ้าทางธรรมมองอย่างนั้น แต่ถ้าทางโลกล่ะ อ้าว! เรามีศรัทธา เรามีลูกศิษย์ลูกหา นั่นทางโลกไง ทางโลกเขามีเข้ามาห้อมล้อมก็ถูกต้อง แต่ถ้าทางธรรมล่ะ เราจะมองทางโลกหรือจะมองทางธรรม ถ้ามองทางโลกก็ได้โลก ถ้ามองทางธรรมล่ะ มองทางธรรมก็ไม่คลุกคลี ต้องวิเวก ต้องพยายามเอาตัวให้รอดให้ได้ ถ้าเราจะเอาธรรมนะ

แต่กระแสสังคมมันไปไกลไง กระแสสังคม ถ้าปฏิบัติ โอ้โฮ! ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ ถ้าไปทางลัดทางสั้น ไปหมดเลย แล้วลัดสั้นลงไหนล่ะ? ลัดสั้นลงไปละเมอ เวลาคนมันนอนแล้วละเมอ “เออๆ!” เป็นอย่างนั้นหรือ มีสติไหม มันเป็นจริงไหม มันได้ไหม? มันไม่ได้

ยุคทอง ยุคทองคือว่าผู้ที่มีวุฒิภาวะ ผู้ชี้นำที่ดี ครูบาอาจารย์ของเราที่ดี แต่ตอนนี้มันยุคพลาสติก แล้วขยะเต็มไปหมดเลย ฉะนั้น ถ้าใครเป็นอย่างนั้น เราก็มาดูแลใจของเรา เราทำเพื่อเรานะ ทำเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าทำประโยชน์กับเรา ท่านเตือนไว้ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เวลาเราพูดไป สิ่งที่เราพูด ทุกคนได้ยินหมด เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็พูดจากปากของท่าน แล้วท่านก็ว่าทุกๆ คนทั้งนั้นแหละ แล้วใครเก็บมา ใครเก็บสิ่งนั้นมาเป็นคติ เป็นเครื่องเตือนใจ เก็บมาเพื่อประโยชน์ล่ะ ใครเอามาเป็นประโยชน์ล่ะ

ถ้ามันเป็นประโยชน์มันก็จะไม่ทำอย่างนั้นใช่ไหม แต่ถ้าไม่เอามาเป็นประโยชน์นะ มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นยุคเป็นคราว ถ้าเป็นยุคเป็นคราว เราต้องย้อนกลับมาที่ตัวเราแล้ว เราจะทำของเรา เราจะหาประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับชีวิตนี้ เอาชีวิตนี้ให้รอดให้ได้

ยุคทอง ถ้ายุคทองมันยังมีอยู่ กึ่งพุทธกาลมันยังเป็นไปได้ เราทำของเราไป ถ้าทำของเราไป เราพิสูจน์ตรวจสอบ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น แม้แต่เกิดขึ้นกับเรา เราก็ต้องดูแลหัวใจของเรา เราทำของเราเอง มันเป็นจริงของเราเอง ใครจะพูดอย่างไร โลกธรรม ๘ แรงเสียดสีขนาดไหน จงดูเราเป็นตัวอย่าง จงดูเราเป็นตัวอย่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจงดูเราเป็นตัวอย่าง

มันบอกกันไม่ได้ไง บอกไปขนาดไหน ยิ่งบอกยิ่งไปไกล อิจฉาตาร้อน ไม่มีเจตนาดี ไม่หวังดี...บอกแล้วยังต้องให้เขารู้ไม่ได้ว่าเราบอก จนกว่าเขาจะเอะใจขึ้นมาแล้วเขาเห็นเอง โอ้โฮ! วันนั้นนะ วันนั้นนะ ดูสิ หลวงตาท่านเน้นย้ำไว้ เวลาท่านเทศนากับพระ “หมู่คณะจำไว้นะ คำพูดนี้จำไว้นะ ถ้าผมตายไป ใครปฏิบัติไปจะต้องมากราบศพ จะต้องมากราบศพ”

นี่ก็เหมือนกัน กว่าเราจะรู้ทัน กว่าเราจะอ๋อได้ ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แล้วระลึกได้ก็ไม่รู้จะไปดูแลใครไง แต่ถ้าเรายังอยู่นะ แหม! มันสบตา ครูบาอาจารย์ท่านมีความสุข มีความสุขเพราะอะไร มีความสุขนะ เพราะว่า ถ้าบุคคลหรือผู้ปฏิบัติใดมีหลักมีเกณฑ์ในใจ มันจะเป็นประโยชน์กับสังคมเยอะมาก เยอะมากๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว สอน ๓ โลกธาตุ แล้วสร้างสมมาๆ เราทำมา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ หลวงปู่เจี๊ยะเน้นคำนี้ “เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธ” ท่านเน้นคำนี้ตลอดเลย แล้วชาวพุทธจะมีแก่นสารอะไรเป็นแก่นสารของใจล่ะ จะมีแก่นสารอะไรเป็นสมบัติของเราล่ะ นี่มีแก่นสาร แล้วมีแล้วเราไปตื่นเต้นอะไรกับโลกล่ะ ธรรมเหนือโลกแล้วมันไปกลัวโลกตรงไหนล่ะ ธรรมมันเหนือโลกแล้ว

ถ้าไม่เหนือโลก เอ็งก็หวั่นไหว เอ็งก็ไปกับเขา ถ้ามันเหนือโลกแล้วเราไปกลัวอะไร ถ้ามันเหนือโลก เราต้องนำโลกให้ได้สิ ถ้าเราเหนือโลก เว้นไว้แต่มันเหนือไม่จริงไง ถ้ามันเหนือจริง มันเป็นไปได้ไง นี่ยุคทองกับยุคพลาสติก ถ้ายุคทองมันเหนือได้ มันนำได้ ถ้านำได้ นำชีวิตเราให้ได้ก่อน ถ้านำชีวิตเราได้ เราก็นำเขาได้ ถ้าเรานำชีวิตเราไม่ได้ เราจะไปนำใคร

สิ่งที่พูดแล้วก็จบไป ต่อไปนี้มันก็เป็นที่ว่าใครจะเก็บไปได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ อยู่ที่วุฒิภาวะของคน ถ้าเป็นประโยชน์ คนนั้นก็จะได้ของเขาเอง ถ้าไม่เป็นประโยชน์ เมื่อคืนเราก็ขอโทษเขาแล้ว เอวัง