ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สมควรแก่ธรรม

๓๑ ส.ค. ๒๕๕๗

สมควรแก่ธรรม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องเพี้ยนไหมครับ

หลวงพ่อ : คำถามเนาะเพี้ยนไหมครับ”...เดี๋ยวก็รู้

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมขอรบกวนเรียนถามข้อปฏิบัติครับ ผมสนใจและมุ่งมั่นเพื่อจะทำสมาธิตั้งแต่เมื่อประมาณ ๕ ปีที่แล้ว เป้าหมายหวังเพื่อให้เข้าถึงจิตตนให้ได้ ด้วยความอยากรู้จักมันว่าเป็นเช่นไร ด้วยวิธีการคลำใช้ภาวนาพุทโธตามคำเทศน์ของหลวงพ่อ พยายามทำบ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส แต่ทำเท่าไรก็ไม่อาจรวมจิตเป็นหนึ่งได้ เพราะมันคอยแฉลบไปโน่นไปนี่อยู่เรื่อยๆ แต่ก็พยายามควบคุมมัน

จนกระทั่งเริ่มควบคุมให้มันอยู่ในคำภาวนาพุทโธได้นานขึ้น เริ่มควบคุมไม่ให้แฉลบไปไหนได้นานขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่มันก็ไปตกอยู่ที่ภวังค์ หายไปเลย สติขาดหายไปด้วยกัน กลับมาอีกทีก็เหมือนช่วงเวลานั้นหายไปไหนไม่รู้ แต่กลับมาก็สดชื่นดี ผมรู้ทันทีว่าแบบนี้ไม่มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติแน่นอน เพราะมันไม่มีสติ ไม่อาจใช้ปัญญาใดๆ ได้เลย จนรู้สึกเหนื่อยและท้อ เริ่มหมดหวัง คิดว่าทำอย่างไรเราคงไม่มีวาสนาทำได้ในชาตินี้ ผมเคยเลิกคิดหวังผลสัมฤทธิ์ที่จะรวมจิตเป็นหนึ่งอีกต่อไป แต่ก็ยังทำไปเรื่อยๆ โดยคิดเพียงว่าปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นการเก็บสะสมบุญบารมีไป

แต่ต่อมาผมกลับทำได้ด้วยความบังเอิญ จิตรวมเป็นหนึ่งได้ ผมคิดว่ามันแยกจากขันธ์ได้โดยเด็ดขาดจริงๆ มันเริ่มจากการค่อยๆ สงบนิ่งไปเรื่อยๆ ผ่านอาการแปลกๆ ต่อกาย ต่อจิตต่างๆ หลายอย่าง แต่ไม่เอามัน แล้วมันก็วูบไปอยู่นิ่งๆ ณ ที่ใดไม่รู้ โดยนิ่งสงบมาก แต่มีสติตลอด สักพักผมก็คิดถึงกาย แต่มันก็ไม่มี หากันไม่เจอ ผมพยายามจนดีดผึงออกมารับรู้ความรู้สึกของกาย ผมรู้สึกอัศจรรย์มากๆ ไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน ไม่รู้มันเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พบนั้นยากมากที่จะถ่ายทอดเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูด ผมพยายามคิดทบทวนเส้นทางไปของมัน หลังจากนั้นก็เริ่มทำใหม่ แล้วทำได้บ้างไม่ได้บ้าง หลังๆ ก็ทำได้บ่อยขึ้น เหมือนเริ่มจำทางไปได้ เมื่อประมาณ ๒ ปีที่ผมเริ่มเอาสมาธิไปใช้พิจารณากาย ผมขอกล่าวโดยสรุปนะครับ เพราะรู้สึกเรื่องมันจะยาวไปแล้ว (เกรงใจ)

สรุปว่า มาปัจจุบันนี้ผมเริ่มมองเห็นคนกับสัตว์ทุกชีวิตแทบไม่ต่างกันเลย เขาก็จิตหนึ่งเหมือนเราทุกอย่าง มันต่างกันแค่รูปกาย (มันเป็นความรู้สึกจากข้างในโดยไม่ต้องใช้ความคิดเลย) เริ่มเคารพต่อกัน เห็นใจ ในบางเวลาก็สงสารเวทนา ไม่เกิดความคิดที่จะเอาเปรียบเบียดเบียนชีวิตอื่นอีกเลย ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์

การรู้เห็นการเห็นการกระทำของคนไม่ว่าดีหรือไม่ดี ก็แค่รับรู้ พอเริ่มปรุง ก็รู้ได้ทันทีนั้นว่ามันกำลังปรุง มันแยกส่วนจากกันชัดเจนมากขึ้นทุกวันๆ แล้วก็เอาธรรมเข้าจับตลอด (ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มันปนกันเป็นเนื้อเดียวกันเลยครับ) มันหมุนอยู่แบบนี้เป็นปกติเสียแล้ว โดยไม่ต้องกำหนดว่าจะพิจารณาเลย แต่บางเวลาสันดานเดิมมันก็มา บางทีก็เอาไม่อยู่ก็มี แต่น้อยลงมากครับ คำถามคือ นี่คืออาการปกติหรือไม่ หรือผิดเพี้ยนอย่างไร ขอหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วย

ตอบ : ถ้าอาการ อาการของการปฏิบัติ เวลาเริ่มปฏิบัติใช่ไหม เวลาเริ่มปฏิบัติ เราขัดข้องหมองใจไปทุกๆ เรื่อง ถ้าทำสิ่งใดมันก็มีแต่ความขัดแย้งในใจมาตลอด แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาพยายามต่อสู้ พยายามกระทำของเรา ถ้าจิตมันดีขึ้นๆ มันเป็นแบบนี้ สิ่งที่ว่าดีขึ้นๆ นี่ดีขึ้นแบบโลกๆ นะ มันยังไม่เข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าเข้าสู่สัจจะความจริง เดี๋ยวจะอธิบาย แต่คำว่ามันดีขึ้นเรื่อยๆมันมีคุณธรรมในหัวใจ เห็นไหม

ที่เขาว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐๆ มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์เพราะมีศีลธรรม เพราะมีศีลมีธรรม มีคุณธรรม มีวัฒนธรรม สัตว์ สัตว์มันอยู่โดยสัญชาตญาณ แต่เวลาพระโพธิสัตว์ ในพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์ไปเกิดเป็นสัตว์ เป็นหัวหน้าสัตว์ มันก็มีความรู้สึกนึกคิดดีๆ แต่ความรู้สึกนึกคิดดีๆ คำว่าสัตว์เดรัจฉานเขาไม่มีโอกาสจะบรรลุธรรมได้ เพราะเขาไม่ใช่มนุษย์ ในเมื่อร่างกายมันขวางไปอย่างนั้นน่ะ ทางโลกนะ ในพระไตรปิฎกว่าไว้อย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นสัตว์ๆ คำว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์ๆต่างจากสัตว์ก็ตรงนี้ ตรงที่มีสมอง มีความรู้สึกนึกคิด ถ้ามีความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้ามันมีศีลธรรม มีศีลธรรมคือมีการฝึกหัด มีการฝึกหัด มีการฝึกฝน ฝึกฝนหัวใจของตัว ถ้าหัวใจของเรามันได้ฝึกหัด เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก เอามาเป็นตัวตั้งนะ เรายอมกันไม่ได้หรอก เรายอมกันไม่ได้หรอก บางทีคนที่มีธรรมในหัวใจ คนที่มีธรรมนี่ให้อภัย ให้อภัยเขา ช่วยเหลือเจือจานเขา คุ้มครองดูแลเขา แล้วถ้าทางวิทยาศาสตร์ล่ะ ก็มันทำผิด มันทำผิดก็ต้องลงโทษสิ มันทำผิดก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง

แต่ถ้าคิดแบบธรรม แบบธรรมคือคนที่มีคุณธรรมนะ

แต่คิดแบบกิเลส คนที่ไม่มีคุณธรรมเขาพยายามสร้างอิทธิพล เขาสร้างอิทธิพลนะ เขาใช้อำนาจของเขา เขาใช้ความรุนแรงของเขา เขาสร้างอิทธิพลให้คนยอมรับ เขาไปข่มขี่ เขาไปกดขี่ขูดรีดคนอื่น เขาสร้างอิทธิพลขึ้นมา เห็นไหม คนที่ไม่มีคุณธรรมมันร้ายกว่า มันร้ายกว่าคือว่ามันไปปล้นชิงเขา มันไปกดขี่เขา มันใช้อิทธิพลครอบงำเขา นั่นน่ะคนที่ไม่มีคุณธรรม คนที่จิตใจโหดร้าย คนที่จิตใจเป็นกิเลส นี่ถ้าด้วยกิเลส

แต่ถ้าโดยจิตใจที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันก็พิสูจน์โดยข้อเท็จจริง ทีนี้ข้อเท็จจริง แต่ถ้าคนที่มีคุณธรรม ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้นน่ะ แต่คนที่ใจที่มีคุณธรรมนะ เขามีความจำเป็น เขามีความจำเป็นสิ่งใดเขาถึงทำแบบนั้น จริตนิสัยเขาคิดแบบนั้น เขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาทำอย่างนั้น นี่พูดถึงทางธรรมนะ ถ้าพูดถึงทางธรรม ธรรมมันเป็นแบบนั้น ถ้าคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดทางโลก มันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่พอจิตใจมันพัฒนาขึ้น มันดีขึ้น ที่ว่ามันดีขึ้น จิตใจมันดีขึ้น เรามองสิ่งใดดีขึ้น มันดีขึ้นแบบที่มีคุณธรรม มีคุณธรรมในใจ แต่ถ้ามีภูมิธรรมที่จะอธิบาย นั่นมันไปอีกแบบหนึ่ง

เขาถามว่าเขาเพี้ยนหรือเปล่า

ไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยนเพราะอะไร ไม่เพี้ยนเพราะมีสติ ไม่เพี้ยนเพราะมีความเข้าใจได้ ถ้ามีความเข้าใจได้ว่าเราทำสิ่งใดมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราขาดสติสิ เราสำคัญตน สำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นๆ ดูสิ คนที่ขาดสติ คนที่จิตหลอนนะ คนที่จิตหลอนเขาเห็นคนจะไปทำร้ายเขาตลอด เขาเห็นคนจะไปทำร้ายเขาจนเขาอยู่ไม่ได้ จนแบบว่าเขามีอาการทางจิตเลย ไอ้นั่นถึงคนเพี้ยน นี่เพราะว่าจิตเขาหลอน

แต่ของเรา นี่เขาถามว่าอย่างนี้เพี้ยนไหม

อย่างนี้ไม่เพี้ยน อย่างนี้ไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยนเพราะอะไร ไม่เพี้ยนเพราะว่า ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนา คนหนามันยึดมั่นอารมณ์ของตัว คนหนาไง คนหนานี่ไม่เท่าทันตัวเอง เวลามีสิ่งใดกระทบแล้วใช้อารมณ์รุนแรงอย่างนั้นน่ะ อารมณ์เกิดอย่างไรก็เชื่อความรู้สึกของตัวอย่างนั้น นี่คนหนา แต่ถ้ากัลยาณปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

เสียงสักแต่ว่าเสียง รูปสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าได้ไหม

สักแต่ว่า ได้ ถ้าสิ่งใดที่เราไม่ผูกพัน แต่สิ่งใดที่เรารักเราสงวนนี่ไม่ได้ ไม่ได้ สักแต่ว่าได้หรือเปล่า สักแต่ว่าไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ฝึกไง

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ดูโลกนี้สักแต่ว่าโลก โลกนี้ สรรพสิ่งในโลกนี้มันสักแต่ว่า แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ กลับมาถอนทิฏฐิมานะที่ความเห็นนั้น

เรามองอยู่แล้วว่าโลกนี้สักแต่ว่า ถ้าสักแต่ว่ามันก็เป็นสักแต่ว่า มันอยู่ข้างนอก มันเป็นเรื่องของโลก แต่ความรู้สึกของเรา อัตตานุทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นถูกเห็นผิด ความเห็นต่างๆ เธอจงมองโลกนี้สักแต่ว่า แล้วกลับมาถอนนะ กลับมารู้เท่าทันไอ้ตัวที่รู้สักแต่ว่านะ

ฉะนั้น ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เราก็ไหลไปตามมัน นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ทีนี้กัลยาณปุถุชน มันจะเป็นกัลยาณปุถุชนเพราะคำถาม คำถามว่า ผมฟังเทศน์หลวงพ่อมา ภาวนามา ๕ ปี ก็คิดว่ามันจะไม่ได้แล้วล่ะ พอทำขึ้นไป

นี่อยากทำ อยากเป็น มันมีความอยาก ทีนี้พอคิดว่าคงจะไม่มีวาสนาแล้วล่ะ เพราะเราทำมาตั้ง ๕ ปีแล้วยังไม่ได้แล้วล่ะ ก็เลยทำไปเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไปด้วยความเป็นจริง พอทำไปด้วยความเป็นจริง มันเป็นไป เห็นไหม มันจะลง มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามันจะลง สิ่งที่เวลามันเป็นไป มันลงไป ถ้าจิตมันลงนะ เราพุทโธไปเรื่อยๆ

จำคำนี้ไว้ให้ดีนะ ที่ว่ามันจะวูบ มันจะเห็นสิ่งใด เกาะพุทโธไว้ อาการที่รู้ อาการที่เห็น ที่มันจะแยกไปรู้ไปเห็นต่างๆ นั่นแหละพวงดอกไม้แห่งมาร มันจะให้เราติดไง

บางคนพอจิตมันเริ่มสงบ เริ่มมีกำลังขึ้น มันจะไปรับรู้ร้อยแปดพันเก้า ถ้าจิตคึกคะนอง ในจำนวน ๕ เปอร์เซ็นต์ที่ว่าคึกคะนอง มันจะหลุดไปนั่งบนก้อนเมฆเลย มันจะหลุดไปรู้อะไรแปลกๆ เลยล่ะ แล้วคิดว่าความรู้อันนั้นน่ะเป็นความจริง เห็นไหม มันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อมันหลอก มันล่อมันหลอก ทีนี้ถ้ามันล่อมันหลอก เพราะเรามีไง แล้วคนอื่นเขาไม่มี

แต่บางคนเขาไม่มีล่ะ มันสงบก็สงบไปเฉยๆ ไม่สงบก็นั่งหลับไปเลยล่ะ มันก็หายไปเลยเหมือนกัน ต้องพุทโธไว้เฉยๆ ก็มันไม่มี มันไม่มีอะไรล่อลวงมันน่ะ แต่เวลาถ้ามันไม่มี

แต่ถ้าคนที่มี มันมีกำลัง มันมีความรู้แปลกๆ เวลาถ้าจิตสงบแล้วมันจะมีกำลังมากกว่า ฉะนั้น สิ่งที่มันลวงมันหลอกมันล่อ ถ้าเราพุทโธของเราไป อย่าทิ้ง อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ

แล้วบอกพุทโธไปนี่เรื่อยๆ แหม! เมื่อไหร่มันจะจบเสียทีน่ะ

พุทโธไปเรื่อยๆ นะ ถ้ามันละเอียดเข้าไปนะ เดี๋ยวมันจะมหัศจรรย์ มหัศจรรย์เลย แล้วเมื่อไหร่มันจะมหัศจรรย์เสียที ก็รอมหัศจรรย์ ก็บอกว่าอยากเจอมหัศจรรย์ มันก็เลยไม่เจอไง

แต่คำถามบอกว่า ๒ ปีหลังนี้เวลาเขาปฏิบัติไป เขาทำของเขาเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติไปแล้วมันเป็นขึ้นมา มันเป็นขึ้นมา ทีนี้พอเป็นขึ้นมา มันเป็นขึ้นมา แล้วเขาบอกว่าเขาทำต่อเนื่อง เดี๋ยวนี้มันดีขึ้นชัดขึ้น อะไรของเขา

อันนี้มันอยู่ที่ความชำนาญ ถ้าความชำนาญแล้วนะ เวลาจิตสงบแล้วออกรู้ ที่ว่าคำว่าออกรู้พอออกรู้กาย ออกรู้เวทนา ออกรู้จิต ออกรู้ธรรม มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แต่คำถามของเราไง นี่คำถามนะแต่ต่อมาผมกลับทำได้ด้วยความบังเอิญ จิตรวมลงเป็นหนึ่ง ผมคิดว่ามันแยกจากขันธ์โดยเด็ดขาดจริงๆ

นี่ผมคิดว่ามันแยกจากขันธ์เห็นไหม เรายังไม่เห็นไง ถ้าอาการของสมถะนะ ถ้ามันรวมลง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

ขณิกสมาธิ เวลาจิตมันสงบแล้ว มันสงบแล้วมันก็ถอยออกมา เดี๋ยวมันก็มีความสงบ มันก็มีความอบอุ่นอยู่ในหัวใจ เราทำสมาธิได้ นี่ขณิกสมาธิ

แต่ถ้าเป็นอุปจาระ มันมั่นคงขึ้น พอมั่นคงขึ้น มันออกรู้ได้ ออกรับรู้ได้ นี่อุปจารสมาธิ

ถ้าพุทโธต่อเนื่องไป มันก็จะลงอัปปนา มันสักแต่ว่ารู้ คือว่ามันรู้อะไรไม่ได้เลย แต่รู้โดยตัวมันเอง นี่อัปปนาสมาธิอย่างนี้ อย่างนี้จะใช้ปัญญาไม่ได้ แต่อย่างนี้มันจะมีกำลังมาก อย่างนี้มันจะมีความสุขมาก อย่างนี้มันจะมีความลึกซึ้งมาก นี่เขาเรียกว่ามันอัปปนาสมาธิ ถ้ามันคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมาอยู่ในขั้นของอุปจาระ อุปจาระ จิตมันสงบ แต่มันรับรู้ได้ มันรับรู้ได้ รับรู้กาย รับรู้เวทนา รับรู้จิต รับรู้ธรรมได้ ถ้ารับรู้ได้ มันก็พิจารณาได้ แต่ตรงนี้ถ้าเรามีสติควบคุมให้ดี แล้วแค่ไหนล่ะ

คำว่ารับรู้ได้นี่เป็นมรรคนะ รับรู้ได้คือว่ามันมีสัจจะมีความจริง แต่คำว่ารับรู้ไม่ได้มันเป็นเองไง เหมือนฝันน่ะ เหมือนฝันมันวูบวาบ บริหารไม่ได้ มันไม่มีเหตุไม่มีผลไง ฉะนั้น ไม่มีเหตุมีผล มันอยู่ที่อำนาจวาสนา จิตบางคนเป็นได้ จิตไปพักผ่อนได้ จิตไปรู้ไปเห็นอะไรได้ แต่เราทำอะไรไม่เป็นหรอก

ถ้าทำอะไรเป็นนะ ทำอะไรเป็น มันบริหารได้ มรรค เวลามันพิจารณาได้ มันเคลื่อนได้ ปัญญามันหมุนได้ ถ้าปัญญาหมุนได้ ธรรมจักรมันเคลื่อน เวลามันเคลื่อน นี่วิปัสสนา

แต่บอกว่า เวลาจิตผมรวมลงเป็นหนึ่งเดียวเลย แล้วไปถึงแล้วมันแยกขันธ์เลย มันดีดปึ๊ง! ออกมาเลย

นี่คำถามมันก็ฟ้องชัดๆ อยู่แล้วว่าอย่างนี้มันเป็นโดยจิตมันเป็นไปเอง ถ้าจิตมันเป็น มันรับรู้แล้วมันปล่อยวางเข้ามา นี่มันรับรู้ แต่ที่ว่าอารมณ์รู้สึกมันมหัศจรรย์ มันแปลก

เพราะมันแปลกแน่นอน ที่ว่า พอมันลึกเข้าไป โอ๋ย! มันขาด จิตมันสงบนิ่ง มันผ่านอาการแปลกๆ เข้าไป ต่อจากกายเป็นจิตต่างๆ ผ่าน มันผ่านไป บอกไม่ถูก

อันนี้นะ เวลาคนที่เขาภาวนาแล้วเขาไปเห็นนิมิต คนที่มีนิมิต ดูอย่างหลวงตาท่านสอนแม่ชีแก้วสิ ถ้าวันไหนภาวนาไม่ออกไปรู้อะไร วันนั้นไม่ได้ภาวนา ถ้าภาวนาต้องรู้อย่างนี้ ต้องไปรู้ไปเห็นรอบโลกเลย ต้องไปเห็นทั่วจักรวาลเลย เออ! วันนั้นภาวนาดี ถ้าวันไหนไม่ได้ไปเห็นอะไรเลย วันนั้นภาวนาไม่ดี ภาวนาไม่ดี

สุดท้ายแล้วหลวงตาก็สอนนะ ให้ออกบ้างก็ได้ ไม่ให้ออกบ้างก็ได้ คือว่า ๕๐-๕๐ คือว่าถ้าเอาไม่อยู่ มันจะไป ก็สุดวิสัย แต่เราต้องมีเจตนาตั้งใจว่าจะเอาจิตไว้ไม่ให้ออก คือให้มันเป็นสมาธิ ให้ฐานให้มันตั้งมั่น

คนเวลามันคุ้นเคยแล้วไม่ได้ อย่างไรก็ไม่ได้

พอไม่ได้ ท่านไล่ลงเลยถ้าไม่ได้ ไม่ต้องทำ

สุดท้ายแล้วก็ไปพยายาม เพราะว่าท่านไล่แล้ว พอไล่แล้วก็พยายามดึงไว้ คือตั้งสติรั้งไว้ รั้งไว้ เหนื่อยมาก ทุกข์ทรมานมาก เพราะอะไร เพราะของมันเคยไป ของมันเคยไปนะ ปล่อยนี่ไปทันทีเลย เหนี่ยวรั้งกันจนสุดฤทธิ์สุดเดช แล้วพอมันเริ่มดีขึ้น ทันขึ้น ไอ้กำลังนั้นก็เบาลงๆ ความที่เหนี่ยวรั้งเบาลง มันอยู่ตัวของมัน เห็นไหม พอมันนิ่ง มันไม่ออก โอ้โฮ! กำลังมันมหาศาลน่ะ แล้วมันมหัศจรรย์เพราะอะไร เพราะเรา เหมือนคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัวอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วพอเราไม่ใช้ปั๊บ โอ้โฮ! เงินมันจะกองมหาศาลเลย พอมันไม่ไปอย่างนั้นปั๊บ พอเริ่มอยู่ปั๊บ เริ่มจับ เริ่มไปเห็นกาย เห็นเวทนา มันก็พุ่งไปแล้ว มันเป็นไปได้ไง

แต่นี้เขาว่าแต่ต่อมา ผมกลับได้โดยความบังเอิญ

คำว่าบังเอิญคือมันลงเอง มันลงเองโดยที่มันลงสมาธิเอง แล้วเราไม่ได้โน้มไป ไม่ได้เห็นอะไรไป แล้วบังเอิญมันก็รู้เห็น เห็นไหม เหมือนมันขาด ขันธ์มันขาดไปเลย

อันนี้มันเป็นอัตโนมัติ มันเป็นไปโดยกำลังของจิต มันเป็นไปโดยอำนาจวาสนา เราจะไม่บอกว่ามันผิดทั้งหมดนะ เราจะไม่บอกว่าผิด แล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าเพี้ยนด้วย แต่เราบอกอาการที่มันเป็น มันเป็นไปโดยตัวมันเอง มันไม่ได้เป็นไปโดยมรรค

ถ้าเป็นไปโดยมรรค จิตมันสงบแล้วเรารำพึงไปที่กาย จิตเห็นอาการของจิต ถ้าเห็นชำนาญแล้ว พอคนเคยเห็นแล้ว คนเคยชำนาญแล้ว พอจิตสงบแล้ว พอระลึกให้มันเป็นไป มันเป็นทันที นี่ถ้าคนชำนาญแล้ว

แต่ถ้าคนที่ยังไม่ได้ชำนาญ คือเราไม่ได้บริหารจัดการ มันเป็นไปโดยสมุทัยมันเจือปน โดยสมุทัย โดยกิเลสมันมีส่วนร่วม แล้วกิเลสมันก็บังเงาไง มันบอกว่ารู้เห็นอย่างนี้ๆๆ แล้วมันไม่จบหรอก มันไม่จบ มันต้องให้เราเป็นคนบริหารจัดการ มรรคสามัคคี มรรคสมดุล ความสมดุลคือการปฏิบัติสมเหตุสมผล ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะถึงเป็นสัจธรรม

ผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมโดยการด้นเดา กับปฏิบัติธรรมโดยสันนิษฐาน เดี๋ยวนี้เขามีสันนิษฐานๆ คือมันเดาทั้งนั้นน่ะ มันเดาทั้งนั้นน่ะ มันคาดหมายทั้งนั้นน่ะ แต่พูดให้มันสวย สันนิษฐานเอา สันนิษฐาน จะบอกว่าเดา มันเป็นคำลูกทุ่งไง ถ้าบอกว่า คำว่าสันนิษฐานนี่มันโก้ สันนิษฐานเอา

ก็มึงเดาทั้งนั้นน่ะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม ผู้ใดด้นเดาธรรมจะได้ธรรมะด้นเดา

อันนี้มันไม่ได้ด้นเดา มันเป็นไปโดยอำนาจวาสนาบารมี เห็นไหม พุทโธๆ มันเป็นไปเอง แล้วมันก็วูบไปเรื่อยๆ มันวูบลง มันวูบลงแล้วมันก็ไปเห็นไปรับรู้ว่ามันละขันธ์

มันละขันธ์เพราะอะไรล่ะ มันละขันธ์เพราะเราไม่จับมันไง เราวางของไว้ มันก็ไม่มีใช่ไหม เดี๋ยวมันก็จับอีก เพราะอะไร เพราะมันยังไม่เห็นโทษไง ของมันมีอยู่ ความคิดมันเกิดดับ เวลามันดับไปแล้ว เดี๋ยวมันก็เกิดอีก ความคิดความวิตกกังวลในใจมันมีอยู่ แล้วเรามีความวิตกกังวลในใจเราก็ปล่อยวาง แล้วเดี๋ยวมันก็มาอีก เพราะอะไร เพราะเรายังไม่ได้บริหารจัดการ ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะจนเห็นโทษของมันตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นโทษตามความเป็นจริง มันปล่อยวาง ถ้าเห็นโทษตามความเป็นจริง เขาปล่อยวาง เขาเรียกว่าตทังคปหาน มันยังเป็นการปล่อยวางชั่วคราว ถ้าการปล่อยวางจริง มันยังเป็นการปล่อยวางชั่วคราวเลย แล้วถ้ามันไม่ได้ปล่อยวางจริง มันปล่อยวางโดยกำลังของสมาธิ มันปล่อยวางโดยความที่เรามหัศจรรย์ มันปล่อยวาง มันปล่อยวางโดยเหมือนน้ำท่วม

น้ำท่วมแล้วเวลาน้ำลด มันก็ลด เวลาน้ำมา น้ำก็ท่วม มดก็ตายหมด น้ำมา ปลากินมด

น้ำมา ปลากินมด เพราะน้ำท่วม มดก็ลอยเป็นแพเลย น้ำลด มดกินปลา พอน้ำลด น้ำลด ปลามันก็ตายใช่ไหม มดมันก็ไปกินปลา น้ำมา ปลากินมด น้ำลด มดกินปลา อ้าว! ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็เป็นธรรมชาติ

เวลาจิตมันลง มันดีดลงเลย แล้วขันธ์มันหลุดเลย มันปล่อยเลย...น้ำมา ปลากินมด เดี๋ยวน้ำลด มดจะกินปลา นี่เวลาธรรมมันแข็งแรงขึ้นมา กิเลสมันก็ยุบยอบลง เวลาน้ำลดแล้ว น้ำลด เดี๋ยวมดจะกินปลา น้ำมา ปลากินมดแล้ว น้ำมา ปลากินมด มดมันลอยหมด

กรณีมันเป็นแบบนี้ มันไม่ได้เพี้ยน มันเป็นไปโดยสมถะ คือจิตมันสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็นอะไรที่มหัศจรรย์ เราก็มหัศจรรย์ ใช่ แต่ความมหัศจรรย์นี้เราพุทโธของเราต่อเนื่องไป พุทโธจนจิตมันสงบได้ จิตสงบได้ สงบได้ก็อย่างที่โยมเป็นอยู่นี่ แล้วเวลาจิตเห็นอาการของจิต พอสงบแล้วจิตตั้งมั่น ถ้าสัมมาสมาธิ มันจะไม่ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ มันจะสงบในตัวมันเอง

ถ้ามันออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ นั่นน่ะมิจฉา คือส่งออก ไปรู้เห็นต่างๆ มิจฉาทั้งนั้นน่ะ มันมีสมุทัยมันเจือปน ถ้ามันไม่ส่งออก คำว่าส่งออกเวลาจิตเห็นอาการของจิต มันส่งออกหรือเปล่า

จิตเห็นอาการของจิต จิตมีกำลังแล้ว จิตมีกำลัง จิตโน้มไปสู่วิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง ถ้าปัญญาการรู้แจ้ง จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีกำลังแล้ว มันโน้มไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วมันใช้วิปัสสนา นี้มันเป็นงาน มันไม่ใช่ส่งออก

การส่งออกคือการส่งออกโดยกำลังของสมุทัย การส่งออกโดยขาดสติ การส่งออกโดยที่เราไม่ได้บริหารจัดการ สันนิษฐาน สันนิษฐานให้มันเป็นไปเถอะ ให้มันพุ่งไปแล้วกูสันนิษฐานเอา ไปเห็นอะไร กูก็นั่นน่ะมรรคผลนิพพาน ไปรู้ไปเห็นอะไรมันก็ว่านี่ผลของกูๆ มันไม่ได้มรรค

ถ้ามันเป็นมรรค เราจิตสงบแล้ว จิตมีกำลังแล้วเราโน้มไป ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ตรงนั้นเราได้จับแล้วพิจารณา ไม่ใช่สันนิษฐาน ไม่ได้สันนิษฐาน สมเหตุสมผล สมเหตุสมผลโดยการกระทำ สมเหตุสมผลของศีล สมาธิ ปัญญา สมเหตุสมผลในสัจธรรม ถ้าทำอย่างนี้มันจะดีขึ้นของมัน จะดีขึ้นของมัน ดีกว่าที่มันเป็นอย่างนี้แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้ามันเป็น

จะบอกว่ามันเพี้ยน มันก็ไม่ได้เพี้ยน ถ้ามันเพี้ยนนะ มันต้องเชื่อเรื่องนี้เรื่อยๆ เชื่อจนมันทิ้งฐานเลย ทิ้งฐานไปมันก็ไปอยู่ที่ความรู้ความเห็น มันก็เหมือนกับที่ว่าพวกเสพยาเขาจิตหลอน เขาเห็นคนจะมาทำร้ายเขาตลอด ถ้ามันปล่อยไปๆ มันไปอยู่ข้างนอก มันทิ้งตัวมันเองไป เดี๋ยวมันกลับไม่ถูก มันก็งง เราเป็นเทวดา เราเป็นยมบาล เราเป็นหมดเลย เพราะจิตมันส่งไปเป็น มันทิ้งตัวมันนะ นั่นน่ะถ้าว่าจะเพี้ยนๆ นู่นน่ะ อย่างนี้จะเพี้ยน

แต่ตอนนี้เรารู้ตัวเราอยู่ เพราะเขาห่วง เห็นไหม อย่างนี้ผมเพี้ยนไหม

ยังไม่เพี้ยน ไม่เพี้ยน แต่มันก็ไม่ใช่ว่าถูกต้อง จะเพี้ยน มันก็ยังไม่เพี้ยน เพราะเรายังมีสติปัญญาของเราอยู่ เพราะเรารู้ถูกรู้ผิด แต่ว่าจะถูกต้องแล้ว เพราะคำว่าถูกต้องแล้วหมายความว่า เขาบอกว่าสักพักหนึ่งคิดถึงกาย มันก็ไม่มี หาไม่เจอ ผมพยายามจนมันดีดผึงออกมา

มันดีดผึงออกมา อันนี้มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ มันเป็นไปโดยกำลังของจิต จิตของคนมันแตกต่างหลากหลาย ความรับรู้ของคนมันแตกต่าง ความชอบของคนมันก็แตกต่าง ความเห็นของคนก็แตกต่าง แล้วสิ่งใดที่ไปสะกิดสะเกาเขามันก็แสดงตัวของมันออกมา ถ้าแสดงตัวแล้วเราก็วางไว้ เรานักปฏิบัติ เราจะค้นหาความจริง

สิ่งที่เรารู้เราเห็นนี่เป็นความจริงหรือยัง ถ้าเป็นความจริง เราสงสัยไหม ถ้าเป็นความจริงนะ ดั่งแขนขาด มันตัดกิเลสขาดนี่ดั่งแขนขาด สะอาดหมดจด ไม่มีสิ่งใดทำให้ลังเลเลย แต่นี่ลังเลไหม

ลังเล ไม่ลังเลจะว่าผมเพี้ยนหรือเปล่า

สิ่งที่มันดีดผึงออกมาต่างๆ ไอ้นี่ทำของเราไป ถ้าทำของเราเป็นความจริงขึ้นมา มันจะเป็นความจริง ถ้าความจริง เราย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับไปที่พุทโธ

สิ่งที่รู้ที่เห็นนะ ที่ว่า มันละขันธ์แล้ว มันอยู่นิ่งของมันแล้ว จิตมันวูบไปจนมันนิ่งอยู่

วูบไปจนนิ่งอยู่ นี่ขาดสตินะ ถ้าพุทโธๆๆ ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ ละเอียดจนมันจะพุทโธไม่ได้ ทุกคน ธรรมชาติมันต้องตกใจ โดยสามัญสำนึกของคนมันกลัวตาย ถ้าคนที่มีลมหายใจอยู่ มันก็คือมันเป็นปกติ ถ้าลมหายใจขาด เราก็ต้องแปลกใจเป็นเรื่องธรรมดา

ทีนี้พอพุทโธๆ พอมันละเอียดเข้าไปจนแทบจะไม่มี ถ้ามันจะวูบ ความคิดมันจะสะดุ้งเลยล่ะ แต่ถ้ามีสติควบคุมทันนะ ให้มันเป็นไป อะไรตายก่อน ขอดู เรายังไม่ตาย เราก็กำหนดไปเรื่อยๆ จิตมันจะละเอียดไปๆ ละเอียดไปจนลมหายใจดับหายไปเลย แต่ดับด้วยสติปัญญาพร้อมนะ

แต่ในปัจจุบันนี้มันแกล้งดับ พุทโธๆๆ มันจะให้ดับ มันจะปิดสวิตช์ ตกภวังค์หมดน่ะ เพราะอะไร เพราะเราไปรู้โจทย์ก่อนไง รู้โจทย์ว่ามันจะดับ ฉะนั้น บางทีเราแก้พระบางองค์ บางองค์มาบอกจิตต้องพุทโธดับ ต้องลมหายใจดับ

เราบอกว่า ต้องไม่ดับ ต้องไม่ดับ เราพุทโธชัดๆ ต้องไม่ดับ

จริงๆ แล้วมันคือดับ มันดับโดยข้อเท็จจริง ดับโดยกำลัง ดับโดยความเป็นไปของจิต ดับไปโดยคำบริกรรม ไม่ใช่ดับเพราะเราอยากให้ดับ ไม่ใช่ดับเพราะการปฏิเสธ

ฉะนั้น เวลาที่ว่า ดับโดยการปฏิเสธ ลมหายใจไม่มี จิตไม่มี รับรู้ไม่ได้...คำพูดฟังแค่นี้ก็รู้

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ ความจริงเขาจะเอาความสมเหตุสมผล เขาจะเอาผลของสมาธิมาพูดไงว่า โอ้โฮ! มันสักแต่ว่าอย่างนั้นๆ สักแต่ว่าอย่างนั้นเลย โอ้โฮ! มันเวิ้งว้าง

เออ! อันนั้นน่ะถูก

แต่นี่มันดับหมดเลย ดับหมดเลย ดับไปแล้วก็มืดตึ๊ดตื๋อไง ดับแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย ก็มันดับแล้วจะรู้อะไร ก็มันดับ...นี่เพราะมันคิดแบบวิทยาศาสตร์

แต่ถ้าเป็นความจริง พุทโธๆๆ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ที่ว่าจิตมันจะดีดผึงอะไร นั่นน่ะมันดีดออก ถ้าจิตมันจะนิ่งอยู่ มันเข้าไปนิ่งอยู่เลย

มันนิ่งอยู่เพราะมันสันนิษฐานไง มันสันนิษฐานว่านิ่งอยู่ เพราะมันทำอะไรไม่ได้ มันก็นิ่งอยู่เลย

แต่ถ้ามันนิ่งอยู่อย่างไรนะ เราต้องรู้สิว่ามันละเอียดอย่างไร ถ้ามันนิ่งอยู่ เดี๋ยวมันก็คลายออกมา ก็พุทโธต่อเนื่องไป ถ้ามันพุทโธๆ จนเราจับต้นชนปลายไม่ได้ มันจะพุทโธไปแล้วมันขยับไม่ได้ แต่มันก็ไม่ลง พอมันคลายตัวออกมา เรานึกพุทโธได้ พุทโธต่อเนื่องไป พุทโธต่อเนื่องไป

เว้นไว้แต่ถ้ามันทำแล้วมันเครียด มันอึดอัดขัดข้อง เราใช้ปัญญาได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาหาเหตุหาผล ใช้ปัญญาเรื่องของจิต วิถีแห่งจิต จิต การกระทำมันเป็นอย่างไร เรารับรู้สิ่งใดมา รับรู้แล้ว ตอนนี้เรานั่งคร่อมอะไรอยู่ สิ่งที่เป็นความรับรู้มันเป็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันเครียด มันพุทโธไม่ได้ มันไม่มีทางเป็นไป เราใช้ปัญญา ถ้าปัญญา พอมันมาเคลียร์ความสงสัยแล้ว พอเคลียร์ มันก็ถูกต้องดีงามหมดแล้ว กลับมาพุทโธ

ถ้าถูกต้องดีงาม เพราะคนเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันหยุดแล้วทำอย่างไรต่อ ทุกคนจะถามตรงนี้ ถ้าเรามีอะไรสงสัยใช่ไหม เราก็ใช้ปัญญาคลี่คลาย พอคลี่คลายจบแล้วทำอย่างไรต่อ

ถ้าคลี่คลายจบแล้วก็พุทโธต่อสิ พุทโธต่อไปเลย พุทโธต่อเนื่องไป ถ้าพุทโธต่อเนื่องไปมันจะเป็นจริง ถ้ามันเป็นจริงนะ เป็นสมาธิ เราก็รู้ว่าเป็นสมาธิ คนที่เป็นสมาธิต้องรู้ว่าเราเป็นสมาธิ

แล้วเวลาเป็นสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เราจะรู้ เราจะรู้เพราะอะไร เพราะถ้าเป็นอัปปนา มันสักแต่ว่ารู้ มันละเอียด ละเอียดจนมันพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ แต่มันรู้ แล้วไม่ใช่หลับ แล้วไม่ต้องถามใครด้วย แล้วเวลามันออกจากอัปปนา มันคลายตัวออกมา เรารู้ เราเข้าไป เรารู้ว่าเข้าไป เราไปอยู่ที่นั่นน่ะ แล้วเราถอยออกมา เราไม่รู้จักว่าเราถอยออกมาหรือ ถ้ามันไม่รู้ว่าถอยออกมา มันก็เป็นมิจฉาไง มันก็เป็นสิ่งที่นึกเอาไง

แต่ถ้าเราเข้าอัปปนาสมาธิ แล้วเราออกจากอัปปนาสมาธิ เราเป็นคนเข้าไป แล้วเราเป็นคนออกมา เราไม่รู้หรือว่าเราออกมา เราไม่รู้หรือว่าเราคลายออกมาสู่อุปจาระ ถ้าเรารู้ว่าสู่อุปจาระ มันจับอะไรได้แล้ว มันวิปัสสนาได้แล้ว มันก็จับต่อเนื่องไป นี่ถ้าคนทำมันรู้ชัดเจน สมเหตุสมผล มันมีความรู้ชัดเจน

แต่ถ้ามันยังไม่ชัดเจน มันก็มีปัญหา มีปัญหาว่า มันอยู่ขั้นไหน มันจะเพี้ยนไหม ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติ ธรรมดาคนที่ถามก็มหัศจรรย์ในใจของตัวพอสมควรแหละ แต่พอมหัศจรรย์ เพราะจิตมันเป็นไง จิตมันเป็นของมันด้วยอำนาจวาสนาบารมี แต่คำถามว่าผมเพี้ยนไหม

แสดงว่าเขาสงสัย ทั้งๆ ที่มันก็มหัศจรรย์อยู่นะ แต่มันก็แปลกใจนะ มันผิดคนเว้ย เฮ้ย! มึงจะหลุดหรือเปล่า

แต่ถ้ามีสติปัญญา เราสรุปตรงนี้ไง เราสรุป เขาบอกว่า ที่เขาทำมา ๒ ปี พิจารณากาย มันเห็นร้อยแปดไป

ถ้ามันเห็นร้อยแปด มันรู้เห็นมามาก กล่าวโดยสรุปเลย เขาบอกว่า พิจารณากายมามากแล้ว ทำมาเยอะทุกอย่าง ถ้าอธิบายไปมันจะยาวมากเลย

คนเรานะ ถ้าสติ สมาธิไม่แข็งแรง ทำจะมากจะน้อยขนาดไหน อย่างคนทำงาน อย่างพวกกรรมกรทำงานทั้งปีเลย เวลาหัวหน้ากองผู้อำนวยการเขาทำงานวันเดียว ค่าตอบแทนก็มากกว่าเราทั้งปี

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำ เราพิจารณามามากมาย พิจารณามามากมายเลย แต่ถ้าศีลกับสมาธิไม่เข้มแข็ง ไม่มีกำลังพอ ทำงานทั้งปีเหมือนกรรมกร กรรมกรก็แรงงานขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ ปีหนึ่งได้เท่าไร ผู้บริหารเขาเซ็นชื่อเดียวเท่านั้นแหละ เขาเรียกทีหนึ่ง ๒๐-๓๐ ล้าน เขาเซ็นชื่อแกร๊ก มาแล้ว เงินมาแล้ว

ไอ้เราทำทั้งปีเลย เพราะอะไร ก็นี่ไง ศีลกับสมาธิเราเข้มแข็งหรือเปล่า

ไม่ใช่ว่าอู๋ย! พิจารณามา ๒ ปี พิจารณากายมาเต็มที่เลย ทำแล้ว

เราจะทำแบบผู้บริหารหรือจะเป็นกรรมกรล่ะ วันละ ๓๐๐ หรือจะเซ็นชื่อเอาบริษัททั้งบริษัทเลย

นี่พูดถึงถ้าทำถูกต้องมันอย่างนี้ ถ้าพูดถึงนะ ถ้าไม่สันนิษฐานเอานะ ตอนนี้ทุกคนเขากลัว เขาต้องว่าสันนิษฐานเอา กลัวไง จะบอกว่าตัวเองรู้ก็กลัวเขาจะซักไซ้ ไอ้ว่าจะไม่รู้หรือ ฉันก็มีคุณธรรมนะ

ฉะนั้น ถึงบอกว่า ทำแบบนี้สันนิษฐานเอา ก็มึงเดา ก็บอกสิว่ากูไม่รู้ ก็จบ สันนิษฐานเอา ก็มึงไม่รู้ รู้ มึงจะสันนิษฐานอะไร ก็บอกมาสิ มันเป็นอย่างไรนะ

ฉะนั้น เขาบอก เวลาเขาสรุปแล้ว สรุปว่า ตั้งแต่ปฏิบัติมาแล้วจิตใจเขาดีขึ้น เห็นคนกับสัตว์มีคุณค่าเท่ากัน

ทุกอย่างมันก็อยู่ที่ว่า ถ้าจิตใจเราสูงส่งขึ้นมาอย่างนี้ กรณีอย่างนี้เราปฏิบัติธรรม เราศึกษาแล้วเราจะมีคุณธรรมแบบนี้ คุณธรรมคือว่าเราจะไม่เบียดเบียนใคร เราจะเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิต นี่พูดถึงเวลาจิตใจที่มีคุณธรรมนะ

แต่เวลาอริยบุคคล ผู้ที่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงจนสังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว นี่ไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบไม่คลำในศีล นี่เขาทุ่มเททั้งชีวิตนะ เขาถึงทุ่มเทได้ ดูพระจักขุบาล ตาจะบอด ให้มันบอดไป พระโสณะเดินจงกรม ฝ่าเท้ามันจะแตก เลือดมันจะเป็นที่เชือดโคของใคร ไม่สนเลย เห็นไหม เขาทุ่มเทขนาดนั้นน่ะ ถ้าจิตใจมันพาดเข้าสู่กระแสแล้ว

ฉะนั้น เขาบอกว่า เขาเห็นว่าทุกชีวิตเหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน

นี่เป็นความเห็นไง

แต่ถ้าเป็นอริยบุคคลนะ มันไม่ต้องพูดออกมาเลยล่ะ เขาจะไม่ยอมก้าวล่วง เขาจะก้าวล่วงสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะเขามีความปรารถนาว่าเขาจะเอาสมบัติที่ดีขึ้นไปกว่านั้น ถ้าเขาจะเอาสมบัติที่ดีกว่านั้น เขาจะทำอย่างนั้นได้

ฉะนั้น เขาบอกว่าขันธ์ ๕ มันดีดออกไปเลย

นั่นคือเหตุของเขา ผลของเขาคือนี่ไง ผลของเขาคือว่าเขาเห็นสัตว์ทุกอย่างมีชีวิตเท่ากัน

ไอ้นั่นเหตุ เหตุคือขันธ์ ๕ มันดีดออกไปไง ดีดบึ๊ง! ออกไปเลย ขันธ์ขาดเลย แล้วผลของมันก็คือนี่ไง คือว่าเห็นสัตว์ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน

ไอ้นั่นข้างนอก ไอ้นั่นข้างนอก แล้วจิตมันลูบคลำไหม เวลาพูดถึงเรื่องส่วนตัวของเราไม่พูดถึง ไปพูดถึงเรื่องข้างนอกไง เรื่องของคนอื่นไง คนนู้น เราเห็นความบกพร่องของคนอื่น แต่ความบกพร่องของเราล่ะ นี่ถ้าเป็นข้างใน ถ้าเป็นข้างในมันจะอยู่ข้างใน ข้างในมันจะชัดเจนของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาพูดว่าเขาเห็นอย่างนั้น

อันนี้เราบอกคุณธรรม ถ้าเขารู้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีคุณค่าเท่ากัน เราก็สาธุ ถ้าจิตใจของคนเป็นธรรมที่มองเห็นสังคมแล้วไม่เอาเปรียบสังคม จิตใจเป็นสาธารณะ เห็นสิ่งใดแล้วมีคุณประโยชน์หมด เราก็สาธุ

เราก็สาธุว่า จิตใจของคน คนดีมันดีกว่าคนไม่ดีอยู่แล้วแหละ คนดีมันต้องดีกว่าคนเลว คนเลวมันเห็นแก่ตัว มันจะเอารัดเอาเปรียบ ไอ้อย่างนั้นน่ะคนเลว แต่ว่าคนดี คนดีก็คือคนดี แล้วคนดีคืออะไรล่ะ คนดีก็ตายไง คนดีก็เกิดตายเหมือนกัน แต่ถ้าอริยบุคคลล่ะ เขาดีในหัวใจของเขา อันนั้นอีกกรณีหนึ่งนะ

ฉะนั้น เราพูดออกมาให้เห็น เพราะเขาบอกว่า คำถามคือว่าอาการที่เขาเป็นนี่ปกติหรือไม่ มันผิดเพี้ยนอย่างไร ขอให้หลวงพ่อช่วยบอก

นี่มันเป็นปกติ ปกติของคนที่ภาวนา พอภาวนา จิตใจมันพัฒนาขึ้น มันดีขึ้น แต่มันมีงานให้ทำต่อเนื่องขึ้นไปอีก ต่อเนื่องขึ้นไปจนมันถึงอกุปปธรรม ถึงสัจจะความจริงที่เราแสวงหา อันนั้นน่ะถ้าถึงอกุปปธรรมแล้วจบ

แต่ถ้ายังไม่ถึงอกุปปธรรม เราจะต้องขวนขวายพยายามของเรา ทำประโยชน์กับเรา เพราะเราเริ่มภาวนามาแล้ว เราภาวนาแล้วเราเห็นเหตุเห็นผลแล้ว คนที่เขายังไม่ภาวนา ภาวนาแล้วเขายังสงสัย เขายังมืดบอดอยู่ นี่เราภาวนา เรารู้เราเห็นไง เพราะความรู้ความเห็น ความเห็นเพราะคำถามมันฟ้องอยู่เหมือนกัน คำถามเขาฟ้องว่าเขานิ่ง คำถามเขาว่า ขันธ์เขาแยกจากกันเลย แล้วจิตมันไปอยู่นิ่งเลย

ไอ้นี่คือเหตุไง พยายามจะบอกว่า เหตุอย่างนี้ หลวงพ่อเห็นด้วยหรือเปล่า เหตุที่ผมเป็นนี่หลวงพ่อเห็นด้วยไหม

เราเห็นด้วย แต่เห็นด้วยมันเป็นอาการ เพราะอะไร เพราะคำว่าดีดผึงมันเหมือนการปฏิเสธ มันไม่ได้เห็นด้วยปัญญา มันไม่ได้พิจารณาโดยมรรค โดยภาวนามยปัญญา อันนี้มันภาวนาด้วยสันนิษฐาน เห็นไหม โลกก็เป็นแบบนี้ แต่ธรรมดาการปฏิบัติก็ต้องเป็นแบบนี้ เราไม่ใช่บอกว่าผิด แต่เราก็ยังไม่ได้บอกว่ามันถึงที่สุด คือถึงที่สุดคือเป็นผล เป็นผล แต่มันพิจารณามา มันก็ต้องทำอย่างนี้

ฉะนั้น เราถึงบอกว่า ที่ทำมานี้ไม่ผิด แต่ต้องทำต่อเนื่องไป มันยังไม่ถึงที่น่าไว้วางใจ เราต้องทำภาวนาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

แต่ถ้าว่าเพี้ยนไหม ไม่เพี้ยน เอวัง