เทศน์บนศาลา

สมมุติสงฆ์

๑๑ ธ.ค. ๒๕๔๗

 

สมมุติสงฆ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจเพื่อชีวิตเราเองนะ ตั้งใจว่าเพื่อเรานี่แหละ เราจะมีหลักมีเกณฑ์ก็เพราะว่าเราเป็นคนจริง ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราเองไม่จริงเลย ถ้าเราไม่จริง แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของจริง ของจริงจะอยู่กับคนจริงนะ ถ้าเราจริงจังของเรา เราทำของเราได้ ถ้าเราไม่จริงไม่จัง เราอิงกับศาสนา มันก็อิงไปอย่างนั้น เพราะเราไม่จริงเอง แล้วเราจะบ่นได้อย่างไร เวลาประพฤติปฏิบัติมาก็นับวันนับเวลานะ ๕ ปี ๖ ปี บวชมากี่พรรษา ปฏิบัติมากี่พรรษา แล้วมันไม่เห็นได้มรรคได้ผลอะไร...ก็เราไม่จริงเอง เราทำไม่จริง เห็นไหม แล้วของมันจริงอยู่

แบงก์ปลอมเวลาใช้ ถ้าไม่มีคนรู้จัก โกงเขา เขาก็รับได้ ใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว นี่ก็เหมือนกัน เวลามันมีผลในหัวใจมันก็เป็นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าเป็นแบงก์จริง ของเราเป็นของจริง ขนาดเขาเก็บเป็นของเก่าดึกดำบรรพ์ขนาดไหนมันก็มีคุณค่าของมันนะ มันยังได้ใช้ประโยชน์ตลอดไป เพราะมันเป็นแบงก์จริง แม้แต่ล่วงข้ามรัชกาลมา อย่างสมัยรัชกาลที่ ๕ ของยังมีราคามหาศาลเลย ถ้าแบงก์จริงเก็บตอนไหนมันก็จริง ขอให้เราจริงเถิด...นี่จริงในอะไร? จริงในสมมุติ

“สมมุติสงฆ์” เราเป็นสงฆ์ สงฆ์โดยสมมุตินะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ววางธรรมไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใจเป็นธรรม แต่เวลาวางธรรมมาเป็นบัญญัติ ธรรมวินัยนี้เป็นบัญญัติ บัญญัตินี้เป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุติเกิดขึ้นมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นตามความเป็นจริง แต่สมมุติขึ้นมา ทอดสะพานมาให้เราก้าวเดิน

แล้วเราเกิดมาในโลกนี้เป็นสมมุติ สมมุติเพราะเราเกิดมา เกิดมาเพราะมีกรรมพาเกิด เราถึงเกิดในครรภ์ของมารดา ใช้ชีวิตมาแล้วแต่จะออกบวชอายุเท่าไร นั้นชีวิตของคฤหัสถ์ เห็นไหม ตายจากคฤหัสถ์มาเกิดเป็นสมณะ เกิดเป็นภิกษุ เกิดตามความเป็นจริงนะ เพราะเราบวชจริงๆ เราเป็นสงฆ์โดยสมบูรณ์ สมบูรณ์โดยธรรมวินัย ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับประกันว่าเราเป็นสงฆ์ เราเป็นสมมุติสงฆ์ เห็นไหม สมมุติสงฆ์แล้วบัญญัติก็เป็นสมมุติ

ถ้าสมมุติเราพลิกกลับไป เราจริงของเรา จริงตามสมมุติขึ้นไป มันจะพลิกกลับไปเป็นบัญญัติ บัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือภาวนามยปัญญา นั้นเป็นบัญญัติอันหนึ่ง เห็นไหม เหตุมันเกิด ในเมื่อมันเป็นภาวนามยปัญญาตามหลักความจริง สมมุติอันนี้มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมนี้เป็นของชั่วคราว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

เหมือนกับกีฬา เวลาแข่งขันเขามีเวลาของเขานะ ๙o นาที ๕ นาที แล้วแต่กีฬาประเภทใด พอหมดเวลา ถ้าไม่มีการแพ้ชนะกัน ให้รวมคะแนน ถ้ารวมคะแนนเสมอกันก็ตัดสินให้เสมอกัน แล้วถ้าในกีฬาประเภทนั้นมีการแข่งขันกัน แล้วมีการโกงกัน มีอุบัติเหตุในกีฬานั้น นี่ยกเลิกก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัตินี้เรายกเลิกหรือเปล่าล่ะ เวลาจิตเราจะเข้าด้ายเข้าเข็ม จิตเราจะเป็นไป เราทำความเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ นี่มันสมมุติไง สมมุติซ้อนสมมุติ จิตนี้เป็นสมมุติอยู่แล้ว การเกิดและการตายนี้เป็นสมมุติอยู่แล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศว่าสิ่งนี้เป็นของชั่วคราว เป็นสมมุติ แล้วเกิดขึ้นมา สมมุติเอาบัญญัติมาทาบไว้ ทาบให้เป็นสะพานข้ามไปไง

เราบวชเป็นพระกัน เป็นพระภาพลักษณ์ไง เราเป็นพระเป็นเจ้า เราบวชแล้วเราเป็นสงฆ์ ศีล ๒๒๗ ก็ว่ากันไป ศีล ๒๒๗ แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามนั้นไหมล่ะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามนั้นนะ มันไม่มีที่ลับที่แจ้งไง เราจะอยู่ที่ไหน ศีลของเรา เราก็ต้องรักษาศีลของเรา เพราะเราเป็นพระตั้งแต่ญัตติจตุตถกรรมสำเร็จ นี่เราเป็นพระมาตลอด เราจะไม่มีช่องว่างของการไม่ได้เป็นพระที่เราจะไปทำสิ่งใดให้มันผิดพลาดได้เลย

ถ้าทำผิดพลาดสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นอาบัติ ถ้าเป็นอาบัติเบา เราก็ปลงได้ ถ้าเป็นอาบัติหนัก เราก็ต้องอยู่กรรม เห็นไหม ถึงที่สุด ตาลยอดด้วน สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ ถ้าตาลยอดด้วนแล้วมันจะเกิดอีกไม่ได้ ถ้าเราทำอาบัติหนัก ถึงกับว่าตาลยอดด้วนจากภายใน มันจะเป็นภายในของใจดวงนั้นไง สิ่งนั้นเป็นผู้รู้นะ

“สมมุติสงฆ์” เราเป็นสมมุติอยู่แล้ว แล้วเรายังใช้กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา ใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทำลายตัวเองให้เป็นตาลยอดด้วน ถ้าเป็นตาลยอดด้วน ประพฤติปฏิบัติขนาดไหนมันก็จะไม่ได้ผล ไม่ได้ผลหรอก มันขาดจากสงฆ์ เห็นไหม ชีวิตนี้ตายไปทั้งๆ ที่มีลมหายใจอยู่นะ

เราเป็นพระ เรามีชีวิต มีลมหายใจอยู่ เรามีลมหายใจเพราะเรายังไม่ตายจากสมมุติ แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมมุติสงฆ์มันขาดไป มันเหลือแต่กาก เหลือแต่สิ่งที่เป็นกากเป็นเดน หัวใจดวงนี้อยู่ในร่างกายของโมฆะต่างหากล่ะ มันไม่ใช่ของพระ แต่ภาพลักษณ์ก็คือสงฆ์เหมือนกัน เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งนี้เป็นอาบัติของใคร สิ่งนี้ความเป็นไปของใคร

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยครั้งพุทธกาลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เทศน์ปาฏิโมกข์เอง ถึงคราวหนึ่งมีพระที่ไม่บริสุทธิ์อยู่ในสงฆ์นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยอมแสดงธรรมนะ จนพระอานนท์นิมนต์ถึง ๓ หน ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม จนถึงกาลสุดท้าย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลดใจมากว่า “ท่ามกลางสงฆ์นี้มีผู้ที่ไม่สะอาดอยู่ ถ้าเราแสดงธรรมไป องค์นั้นจะตกนรก จะมีอาการเป็นไป เราสลดใจมาก เราถึงไม่ยอมแสดงธรรม”

พระโมคคัลลานะกำหนดจิตดู เห็นนะ เข้าไปจับมือจูงพระองค์นั้นออกไปจากท่ามกลางสงฆ์นั้น “ปัจจุบันนี้ สังฆะนี้สะอาดบริสุทธิ์แล้ว นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเถิด”

ด้วยความสลดใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงบอกต่อไปว่า “ต่อไปนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่แสดงปาฏิโมกข์ ให้พระเราแสดงปาฏิโมกข์กันเอง”

แสดงปาฏิโมกข์กันเอง สิ่งนี้ก็เป็นสังฆกรรม การกระทำมันเป็นจริง มันเป็นจริงแต่จริงโดยสมมุติ มันมีผลนะ ความเป็นจริงที่มีผล เพราะอะไร เพราะผู้ที่สวดปาฏิโมกข์นี้ทำการแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมวินัยไง ธรรมวินัยที่ต้องบังคับพระ พระต้องตรวจสอบธรรมวินัยในทุกๆ ปักษ์ ทุกๆ ๑๕ วัน ตรวจสอบว่าศีลของตัวเองบริสุทธิ์ไหม ความเป็นไป ความเห็นทิฏฐิมานะของเราถูกไหม ถ้าทิฏฐิมันไม่เห็นด้วย มันจะค้านศีล ค้านธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสิ่งนี้ไม่มีผลๆ

ถ้าไม่มีผล ทำไมผู้แสดงธรรมตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงว่ามีบุญกุศล เห็นไหม แม้แต่ช่วยญาติ ช่วยมารดาของตัวเองที่มีกรรมอยู่ให้พ้นจากบ่วงของกรรมได้ ทำไมจะไม่มีผล แต่ในเมื่อเราไม่เห็นสภาวะแบบนั้น ขณะนี้จริงตามสมมุติยังให้ผลขนาดนั้น แล้วขณะที่เราสวดปาฏิโมกข์กัน เราลงสังฆกรรมกัน ถ้าสะอาดบริสุทธิ์ นี่สมบูรณ์ สิ่งนี้เป็นสัมมา สิ่งที่ประกอบด้วยความสมบูรณ์ แต่ถ้ามีความผิดพลาดไป เห็นไหม เป็นโมฆะ เป็นโมฆียะ ขณะที่เป็นโมฆะ เป็นโมฆียะ ผลมันไม่มีไง

ฉะนั้น เราถือธรรมวินัย ถึงว่าถือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นกฎหมาย ถ้าเป็นสุภาพบุรุษ เป็นพระโดยสมบูรณ์ เราถือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนะ ธรรมและวินัย เราจะถือสิ่งนี้เป็นปฏิปทาเครื่องดำเนิน แต่ในเมื่อสงฆ์อยู่ร่วมกัน มันมี มันเป็นไปได้ ขณะที่สงฆ์อยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นนานาสังวาส ใช้ชีวิตร่วมกัน ปฏิบัติธรรมค้นคว้าด้วยเหมือนกัน ค้นคว้าเพื่อจะค้นคว้าหาตัวนะ จากสมมุติให้เข้าถึงบัญญัติ แล้วพยายามทำบัญญัตินี้ให้เป็นวิมุตติขึ้นมาจากใจดวงนั้น สิ่งที่เป็นวิมุตติขึ้นมาจากใจดวงนั้นมีโอกาสทั้งหมด เพราะคนมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก แม้แต่คฤหัสถ์เขาไม่ได้บวช เขายังมีโอกาสของเขา เขายังประพฤติปฏิบัติได้ เราบวชเป็นสงฆ์ สมมุติสงฆ์ ทำไมเราไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติล่ะ

เรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติทั้งนั้น เพราะเราเป็นนักรบ เป็นศากยบุตร บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประกาศตนว่าเป็นภิกษุ ภิกษุเป็นผู้ดำรงชีวิตด้วยปลีแข้ง ภิกษุเป็นผู้ที่จะเอาตัวเองพ้นออกจากกิเลสให้ได้ ภิกษุเป็นนักรบ เป็นการพิสูจน์ศาสนา ถ้าภิกษุไม่ทรงธรรมทรงวินัย ไม่ทรงธรรมในหัวใจ ใครจะเป็นคนทรง

ถ้านักรบ นักต่อสู้ไม่สามารถเอาธรรมอันนั้นมาสถิตในหัวใจของนักรบได้ แล้วจะให้ผู้ที่ส่งเสริม ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้ที่เป็นบริษัท ๔ เขาค้นคว้าอย่างนั้นหรือ แล้วเขาก็ค้นคว้าได้จริงๆ ด้วย ในปัจจุบันนี้นะ ในสำนักปฏิบัติมีคฤหัสถ์สั่งสอนมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะว่าเขาท่องจำมา เขาท่องจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา นี่สมมุติ แล้วก็สอนกันไปโดยสมมุตินะ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสถิตในใจของผู้ที่ยังเป็นสมมุติอยู่ มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ เขาต้องคาดหมายไปตามกิเลสตัณหาของเขา ผู้ที่เข้าได้ถึงความลึกซึ้งก็จะพูดได้ลึกซึ้ง พูดปรัชญาด้วยความลึกซึ้ง แต่ความเป็นจริงมีไหม

ถ้าความเป็นจริงของเขามีอย่างนั้น เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ผู้ที่มีธรรมจะอยู่ในคฤหัสถ์ สถานะของคฤหัสถ์เขารับได้ไหม? รับไม่ได้ เพราะอะไร เพราะถ้าเราเป็นคฤหัสถ์ ศีล ความเป็นไปมันเสมอกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกันมันเป็นกรรม สภาวกรรมที่จะเกิดขึ้นมา นี่มันสลดสังเวชนะ ถ้าสลดสังเวช เราจะออกบวชเพื่อเป็นพระขึ้นมา นี่ภิกษุ

ในประเพณีของชาวพุทธจะเคารพภิกษุ เพราะนักรบเป็นผู้ค้นคว้า เป็นผู้ที่ออกปกป้องศาสนา เป็นผู้ที่ค้นคว้าธรรม ออกมาเพื่อจะเจือจานกับคฤหัสถ์ เห็นไหม เขาจะให้ดำรงชีวิต ให้ปัจจัย ๔ ให้สิ่งต่างๆ เขาจะขอบุญขอกุศลจากนักรบนั้น การที่เขาเคารพอย่างนั้น ในความกระทบกระเทือนสิ่งที่ผิดพลาดของเขา กรรมก็น้อยลง ผู้ที่มีปัญญาเขาจะเห็นสภาวะแบบนั้น สงสารเขาว่าจะเป็นกรรมของเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวนะ แล้วในปัจจุบันนี้ เราเชื่อในครูในอาจารย์ของเราว่ามีธรรมในหัวใจ ทำไมโลกไม่เห็นด้วยล่ะ ทำไมเขาต่อต้าน เขาขัดแย้งล่ะ

ความขัดแย้งนี้มีมาแต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็ไม่เชื่อ เขาก็ต่อต้าน เขาก็คัดค้าน ถึงกับจ้างนักเลงมาทำลายพระโมคคัลลานะ จ้างฆ่ากันในสมัยพุทธกาลก็มีนะ ฆ่าพระที่เป็นกำลังหลักของศาสนาพุทธเรา ในศาสนาพุทธเรา พระโมคคัลลานะเป็นกำลังหลักในการเผยแผ่ศาสนา เพราะมีฤทธิ์มีเดชมาก ในลัทธิต่างๆ เขาก็จ้างนักเลงมาฆ่า แต่กรรมของเขาก็เกิดเดี๋ยวนั้น เพราะเขาฆ่าเดี๋ยวนั้น เขาก็โดนฆ่าเดี๋ยวนั้นเหมือนกัน เห็นไหม นี่กรรมของเขาให้ผลของเขา

ในเมื่อสถานะมันเป็นสภาวะแบบนั้น โลก สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วต้องมีโทษทั้งหมด อาหารมันเป็นประโยชน์กับร่างกายมาก ถ้าใครกินอาหารมากเกินไป เห็นไหม ชูชกกินข้าวจนท้องแตก นี่เขากินจนตายนะ เรื่องแบบนี้มีในพระไตรปิฎกมากเลย เพราะสมัยนั้น ความเป็นไปสภาวะแบบนั้น เรื่องสังคมเวลามันทุกข์ยาก มันทุกข์ยากจริงๆ

ผู้ที่มีบุญกุศล เห็นไหม ในสมัยปัจจุบันนี้ สมัยที่ว่ามีการป้องกันชาติ มีการป้องกันศาสนา ผีบุญๆ เขาเกิดขึ้นมา เห็นไหม เป็นพระนี่แหละ ทำความเชื่อความศรัทธาจากเขา แต่เพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยากเป็นเจ้าลัทธิ อยากเป็นผู้มีอำนาจ สะสมกำลังขึ้นมาจนเป็นผีบุญได้นะ แต่ผู้ที่มีบุญกุศลล่ะ ไม่เป็นผีบุญหรอก

ถ้าผู้มีบุญเกิด ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ของสัตว์โลกจะมีความสุข นี่มีความสุขนะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมา พระเจ้าสุทโธทนะพาออกแรกนาขวัญ เจ้าชายสิทธัตถะนั่งอยู่โคนต้นหว้า กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกอยู่ พระอาทิตย์คล้อยไปแล้ว แต่เงาของต้นหว้าก็ไม่เคลื่อนไปนะ นี่ด้วยฤทธิ์ด้วยเดช ด้วยบุญกุศล นี่ผู้มีบุญเกิดไง ความเป็นบุญเกิดขึ้นมามันเป็นธรรม สภาวะสัจธรรมความจริงมันจะเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น มันเป็นความจริงจากใจดวงนั้น มันไม่ใช่ผีบุญ

ถ้าผีบุญมันเป็นกิเลส เป็นสมมุติ ทำโดยสมมุติไง คาดการณ์คาดหมายแล้วสมมุติขึ้นมา แล้วจินตนาการไป ประพฤติปฏิบัติไปเป็นฌานโลกีย์มีฤทธิ์มีเดช เห็นไหม สร้างเครื่องรางของขลังเพื่อให้เขานับถือศรัทธา แล้วจะเอากำลังนั้นไปทำเพื่อผลประโยชน์ของตัว นี่สร้างแต่กรรมสร้างแต่เวรขึ้นมา เห็นไหม สิ่งนั้นทำลายเขาเพราะอะไร เพราะคนที่เขามาศรัทธาเขามาเชื่อ เขาต้องเสียทั้งชีวิต เสียทั้งครอบครัวของเขา เสียกาลเวลาของเขา เสียเวลาของเขาในการประพฤติปฏิบัติ

แต่ผู้ที่มีธรรมในหัวใจจะไม่มีสภาวะแบบนั้นเลย จะทำสิ่งนั้นไม่ได้ จะมีความเมตตา มีความเห็นว่าโลกเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าสภาวกรรมมันเป็นสิ่งที่โต้แย้งกัน คัดค้านกัน อันนั้นเป็นสภาวกรรมไง สภาวกรรมอย่างนี้เกิดมาจากเบื้องหลังคืออดีตชาติของเขา นี่การสะสมมา จริตนิสัย ความโต้แย้งกับหลักธรรมวินัยอันนี้ เขาก็ต้องไปถือลัทธิต่างๆ เขาก็ต้องไปถือผีบุญ เขาก็ต้องไปเชื่อสิ่งที่ว่าความคิดหยาบๆ สิ่งนี้มันพิสูจน์ได้ ถ้าเราตรวจสอบ เราพิสูจน์ สิ่งนี้มันจะพิสูจน์ได้นะ เพราะสิ่งนี้มันเกิดดับ ถ้ามันเป็นความจริงอย่างนั้น สิ่งที่เขาทำได้อย่างนั้นมันก็เหมือนการอ้อนวอน

สมัยองค์หลวงปู่มั่นเผยแผ่ธรรม เห็นไหม “กองทัพธรรม” ภาคอีสานถือผีถือสางกันนะ หาอาหารมาก็ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งไปเซ่นผี แล้วก็ได้กินครึ่งหนึ่ง จนหลวงปู่มั่นท่านออกมา หลวงปู่สิงห์พาหมู่คณะมา กองทัพธรรมมา ท่านไม่ให้เชื่อ ถ้าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อรัตนตรัยด้วยหัวใจของเรา สิ่งนี้จะเข้ามาเบียดเบียนเราไม่ได้เลย ถ้าเข้ามาเบียดเบียนไม่ได้ โอกาสที่เราจะประพฤติปฏิบัติ หนึ่ง โอกาสที่เราจะประกอบสัมมาอาชีวะ หนึ่ง เห็นไหม เราไม่ต้องไปวิตกกังวลจนเป็นความทุกข์นะว่าเราทำผิดผีไหม เราทำสิ่งใดไหม นี่สมมุติเป็นอย่างนั้น ภาพลักษณ์ของพระ ถ้าเราไม่มีความบริสุทธิ์จากภายใน ไม่ถือศีลตามความเป็นจริง เราคิดแต่ของเราประสาเรา มันก็เลยเป็นผีบุญนะ

“สมมุติสงฆ์” สงฆ์เป็นสมมุติอยู่แล้ว เพราะเกิดมามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก โลกนี้เป็นสมมุติ จะเป็นสมมุติต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรม ใครจะไปบอกว่าสมมุติล่ะ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นภาวะยอมรับ เป็นภาวะยอมจำนนว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย เห็นไหม “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” นั้นเป็นสภาวะของเขา แล้วก็ไม่มีทางออกนะ จะหาแต่ที่พึ่ง จะหาแต่ว่าเราตายไปแล้วจะไปอาศัยใคร...นี่ขนาดตายไปแล้วยังหวังพึ่งอาศัยเขานะ จะต้องไปอยู่กับใคร จะต้องไปอยู่สถานที่ไหน แล้วมันจะเป็นจริงตามสภาวะแบบนั้นไหม? มันเป็นจริงไปไม่ได้เลย เพราะในเมื่อคนมีการกระทำไม่เหมือนกัน ความคิดของคนไม่เหมือนกัน เหตุประกอบมาไม่เหมือนกัน จะไปถึงจุดหมายที่เดียวกัน เป็นไปได้อย่างไร มันจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกเรื่องของกรรม ให้เชื่อกรรม ถ้าเราเชื่อกรรม เรามีความจริงของเรา ถ้าเรามีความจริง เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทุกข์จะยากมันก็จะพอทน

เราเป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์นี้เป็นสมมุตินะ มันเป็นผ้าขี้ริ้ว กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมีทิฏฐิมานะ เห็นไหม ผ้าขี้ริ้ว คือว่า ไม่ให้มันมีตัวตนที่จะไปข่มขี่ใคร จะไปอวดดีกับใครว่าเราเป็นพระ ต้องฟังเราๆ...ใครจะไปฟังใคร พระเป็นผู้ขอ ในเมื่อเราเป็นผู้ขอเขา เขาเป็นผู้ให้ กิเลสตัณหาเขายิ่งมากกว่าเราอยู่แล้ว เขามีอำนาจที่จะไม่ให้ก็ได้ เขาจะทำอย่างไรก็ได้ นี่เป็นสังคมไง

พระ ถ้าผู้ใดทำให้ศรัทธาไทยตกล่วงนะ คือเขามีความศรัทธาอยู่ แล้วเราไปทำให้เขาเสื่อมศรัทธา ทำให้เขาไม่สนใจในพระสงฆ์ นี่เป็นอาบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห่วงขนาดนี้นะ เพราะพระเป็นผ้าขี้ริ้ว พระเป็นผู้ขอ พระเป็นผ้าขี้ริ้วเพราะไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่จะต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆ แสวงหาคือให้มีปัจจัย ๔

ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา เขาปวารณากับเราไหม? เขาไม่ได้ปวารณาเลย แล้วเรามีสิทธิอะไรจะไปกล่าวติเตียนเขา ไปกล่าวว่าเขา...เราไม่มีสิทธิ์ ในเมื่อเราไม่มีสิทธิ์ เราจะอ้างว่าเราเป็นพระ ถ้าเขาไม่ใช่ญาติ เขาไม่ใช่ปวารณา แต่ถ้าเขาปวารณากับเรา เขายังมีกำหนดเวลาของเขา

ถ้าเรามีทิฏฐิอย่างนั้น มันไม่เป็นผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้ว หมายถึงว่า เหมือนแผ่นดิน แผ่นดินจะยอมรับสิ่งใดก็ได้ เขาจะปลูกต้นไม้ เขาจะปลูกบ้านเรือน เขาจะถ่มน้ำลาย เขาจะปัสสาวะ เขาจะอุจจาระใส่แผ่นดิน แผ่นดินมันก็ไม่เดือดร้อน มันไม่เดือดร้อนนะ นี่ผ้าขี้ริ้ว

แต่ถ้าเขาข่มขี่เราสิ เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขามีความเห็นผิด แล้วเขาทำให้สงฆ์นั้นมีปัญหา เห็นไหม นี่สมมุติสงฆ์ สงฆ์นั้นมีปัญหา ผู้ใดทำให้สงฆ์แตกแยกกัน ภิกษุสามารถคว่ำบาตรเขาได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ประกาศคว่ำบาตรเขา คือไม่ยอมรับบิณฑบาตกับเขา ไม่ยอมรับความรู้ความเห็นจากเขา ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเขา เพราะถ้าเขาเข้ามาแล้วเขาจะทำลายให้พระนั้นมีปัญหาขึ้นมา

ในเมื่อถ้าเขาเป็นธรรม เขาเป็นธรรมของคฤหัสถ์ สิ่งที่เป็นคฤหัสถ์ วุฒิภาวะเขามีเท่านั้น เขาทำได้เท่านั้น ได้ระดับทาน เราก็จรรโลงเขา แต่ในเมื่อถ้าเขาจะคิดประพฤติปฏิบัติ เขาจะยกขึ้นมาสูง แล้วเขาจะหลงผิดไป ถ้าเขาเห็นผิดไป เขาจะเข้ามาทำให้สงฆ์มีความแตกแยก เรามีโอกาสคว่ำบาตรเขา เห็นไหม

ธรรมวินัยมันแล้วแต่โอกาส ถ้าเราไปทำศรัทธาไทยให้ตกล่วง เราเป็นอาบัติ แต่ถ้าเขามาทำลายสงฆ์ สงฆ์สามารถคว่ำบาตรเขาได้นะ คว่ำบาตรคือปิดกั้นไม่ให้เขาเข้ามายุ่งกับสังฆกรรมของเราเลย นี่เข้ามาในวัดในวาของเราทำให้สงฆ์มีปัญหากัน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ว่าผู้ใดตีความ ผู้ใดมีความเห็น ถ้าเป็นภาพลักษณ์ เป็นสมมุติ เราเป็นสมมุติอยู่แล้ว เราจะอ้างอิงสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด สิ่งที่มันเข้ากับกิเลสของเรานี้คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หมด สิ่งใดที่มันขัดขวางกิเลสของเรา เราจะบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกินมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในเมื่อเราศรัทธา เราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เวลาเราออกบวช เราเป็นสามเณรก่อน เราต้องกล่าวถึงรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อพระอริยสงฆ์ที่สั่งสอนเรา ถ้าเราไม่เชื่อธรรม ไม่ถึงรัตนตรัย เราขาดจากเณรนะ

แล้วธรรมวินัยมันเป็นอะไรล่ะ? เป็นศาสดาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว สิ่งนี้เป็นธรรม เราก็ค้นคว้าได้ อยู่ในพระไตรปิฎก เราก็ค้นคว้าได้ว่าสิ่งนี้เป็นจริงหรือไม่จริง ครูบาอาจารย์สอนเรามา สอนเราถูกหรือไม่ถูก ครูบาอาจารย์สอนเราแง่มุมใด

สิ่งที่เป็นกฎหมายแล้วแต่คนตีความใช่ไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน อยู่ที่คนตีความ ถ้าคนมีกิเลสมันก็ตีความเข้าข้างตัวเอง แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เหมือนกับผู้ที่เชี่ยวชาญในกฎหมายนั้น จะมองรอบในกฎหมายนั้น แล้วจะใช้กฎหมายนั้นได้เป็นประโยชน์ แล้วจะไม่ติดขัด จะไม่ไปล้มลุกคลุกคลานข้างหน้านั้น เพราะมันจะไปในช่องทางเดียวกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ขัดแย้งกัน

ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขัดแย้งกัน มันเป็นความผิดพลาดแน่นอนแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ขัดแย้งกัน มันจะส่งเสริมเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม สิ่งที่ส่งเสริมเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะมันจะพัฒนาเข้าไปเป็นบัญญัติ ถ้าเราซื่อตรงกับบัญญัตินะ

นี่เราไม่ซื่อตรงกับบัญญัติ เราสมมุติอยู่แล้ว แล้วเรายังจะสร้างกติกา เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ประเพณีนี้ออกมาจากพระไตรปิฎก แล้วแต่สังคมไหนเขารับรู้กันมา สังคมไหนที่ผู้นำเขาประพฤติปฏิบัติมาเป็นประเพณี เห็นไหม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตัวของศาสนาคือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวศาสนาจริงคือธรรมของครูบาอาจารย์ ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจริงคือความรู้สึกกับใจดวงนั้น นั้นคือสภาวธรรม สภาวธรรมเป็นสภาวะแบบมีชีวิต

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นสมมุติแล้ว นี่สมมุติ บัญญัติอย่างนั้นมาแล้วเคลื่อนออกมา เห็นไหม เคลื่อนสภาวะอย่างนี้ มันเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตัวศาสนาคือตัวธรรมในหัวใจ ถ้าตัวธรรมในหัวใจเป็นธรรมจริงขึ้นมา มันจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ถึงจะมีแง่มุม ถ้าแง่มุมในการประพฤติปฏิบัติ ในจังหวะแล้วแต่ว่าสังฆกรรมนี้ควรทำอย่างไร

มันอยู่ที่เหตุไง เหตุขณะนี้ต้องทำแบบนี้ ต้องรู้จริงตามสภาวะแบบนั้น เหตุมีเท่านี้ อาบัติมีเท่านี้ เป็นครุอาบัติ เป็นอาบัติหนัก-อาบัติเบาก็ว่าไปตามอาบัตินั้น จะไม่ทำให้เกินและไม่ทำให้หย่อนไปกว่านั้น ถ้าทำให้เกินและทำให้หย่อนไปกว่านั้น มันก็ไม่เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ไม่เป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันไม่เป็นสัมมาปฏิบัติ สิ่งที่ไม่เป็นสัมมาปฏิบัติจะรื้อฟื้นได้ สิ่งที่เป็นสัมมาปฏิบัติแล้วใครจะรื้อฟื้นไม่ได้ รื้อฟื้นเป็นอาบัติขึ้นมาอีกต่างหาก เห็นไหม

สิ่งนี้เป็นอดีตนะ การประพฤติปฏิบัติมันเป็นอดีต แล้วมันปล่อยวางในปัจจุบันนี้ ถ้าในปัจจุบันนี้เรามีความเห็นถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ เราต้องย้อนกลับเข้ามา ธรรมและวินัยนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เพื่อให้เป็นปฏิปทาเครื่องก้าวดำเนิน ธรรมและวินัยนี้ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อจะทำวิจัย

นี่เขาทำวิจัยกันแล้วเขาทำเป็นวิชาชีพ เห็นไหม ศึกษาธรรมวินัยแล้ว วิเคราะห์ธรรมวินัยออกมาเป็นวิชาชีพ นี่เป็นวิชาการ แล้วเรียกร้องนะ เรียกร้องให้พระทำวิชาการออกมาเพื่อให้โลกนี้เจริญ

ทำวิชาการขนาดไหนมันก็เป็นสาวกะ-สาวก จะมีความรู้สูงส่งขนาดไหน มันก็เป็นเรื่องของสมมุติทั้งหมดเลย แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักความจริงจากภายใน เห็นไหม นี่ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัย เราสาวก-สาวกะจะให้มีความเห็นอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าในเมื่อเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ให้เราย้อนกลับมาในการประพฤติปฏิบัติไง “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

ถ้าในการปฏิบัติ หน้าที่ของภิกษุเป็นนักรบ นักรบต้องรบกับกิเลสของตัวเอง ไม่ใช่ผู้ออกมาทำวิจัย การทำวิจัยเป็นปริยัติ ส่วนที่เขาทำวิจัยนั้นเป็นเรื่องของเขา เพราะสมมุติสงฆ์ สงฆ์จะเข้าถึงบัญญัติได้ขนาดไหน เห็นไหม เขาเข้าถึงบัญญัติ เข้าถึงวิชาการ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วดึงสิ่งนี้ออกมาทำเป็นวิชาการ

แต่เราเข้าไปในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความรู้สึก เราเอาใจของเราเข้าไปทำความรู้สึก ทำสมาธิ ทำความสงบของเราให้ได้ ถ้าเราเอาใจของเราเข้าไปในธรรมวินัย บัญญัตินั้นมันจะเกิดขึ้นมา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา จะเกิดขึ้น

สิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่เราสงสัย สิ่งที่เราเอาสิ่งนี้มาเป็นอาวุธ สิ่งนี้เอามาประดับกิเลสแล้วเราออกเบียดเบียนคนอื่น เห็นไหม “ธรรมวินัยนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้อย่างนั้น ภิกษุองค์นั้นผิดอย่างนั้น ภิกษุองค์นี้ผิดอย่างนี้” สิ่งนี้ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นหมู่คณะ เป็นสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ เราก็ควรบอกกล่าวกัน ถ้าสิ่งที่บอกกล่าวแล้วเป็นประโยชน์นะ นี่วินัยมันเป็นข้อบังคับ แต่ถ้าทำให้เกิดความบาดหมาง เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แล้วในการประพฤติปฏิบัติมันจะก้าวเดินไปได้อย่างไร

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเราว่า ถ้าเราพูด เราทำเรื่องวินัยข้อนี้ เพราะเขาอยากศึกษา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่เขาไม่มีความรู้อย่างนี้ ถ้าเราบอกเขา เขาจะมีความชุ่มชื่น เขาจะมีความพอใจว่า ภิกษุดูแลกันขนาดนี้นะ ภิกษุที่มีพรรษามากกว่าจะคอยปกครองดูแลภิกษุที่มีพรรษาน้อยกว่า สิ่งที่ผิดพลาดก็คอยบอกเรา มันจะมีความสุข อย่างนี้เราควรบอก เราควรจรรโลง เราควรส่งเสริมมาก

แต่ถ้าสิ่งใดที่เราพูดออกไปแล้วมันจะเป็นความบาดหมาง มันไปกระเทือนธรรมไง ธรรมที่มันกว้างขวาง ธรรมที่มันสะเทือนหัวใจ สะเทือนความเป็นไป สะเทือนโอกาส ปิดกั้นโอกาส เพราะอะไร เพราะมันมีนิวรณธรรม เวลาสิ่งที่เกิดขึ้นมา อารมณ์เกิดขึ้นมามันจะเกิดนิวรณธรรม เกิดสิ่งที่กระเทือนใจ พอเกิดสิ่งที่กระเทือนใจแล้วสัมมาสมาธิเกิดที่ไหนล่ะ

สิ่งที่จะเป็นความสงบ สิ่งที่จะมีความเป็นไป เห็นไหม สมมุติสงฆ์ แล้วโดนกิเลสตัณหาความทะยานอยากกระชากลากถูไปให้ใจนี้ล้มลุกคลุกคลานไป มีแต่ความเร่าร้อนในหัวใจ นี่สมณะเป็นผู้สงบ มันสงบที่ไหนล่ะ สมณะเป็นผู้สงบ ใจมันต้องสงบสิ ถ้าสมณะเป็นผู้สงบ แล้วมันไม่สงบเลย สมณะทำไมเร่าร้อนล่ะ ถ้าสมณะเร่าร้อน นี่มันเป็นสงฆ์เฉพาะร่างกายไง โกนหัวห่มผ้าเหลือง บวชมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นสงฆ์โดยสมบูรณ์ โดยสมมุติ แต่หัวใจมันเร่าร้อน เห็นไหม ถ้าเราออกปฏิบัติ เราจะควบคุมเข้ามาตรงนี้ ถ้าเราเข้ามาในความเร่าร้อนของใจ มันจะเป็นโอกาสของเรา

เพราะเราเป็นนักรบ งานอย่างอื่นไม่ต้องไปทุกข์ร้อนกังวลใจ เราจะไม่ต้องทุกข์ร้อนเลยว่าเราจะมีงานอย่างอื่นที่เป็นงานของเราที่จะต้องทำ เพราะสิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เขาพร้อมอยู่แล้วที่จะส่งเสริมเรา เห็นไหม งานอย่างอื่นเราไม่มี งานของเราแค่ดูใจของเรา งานของเราแค่ประพฤติปฏิบัติ

ในวิสุทธิมรรค วัดไหนสร้างใหม่ ท่าน้ำที่ไหนมีคนลงหาบน้ำ ต้นไม้ต้นไหนที่มีผลไม้ นกกามันจะมากิน ส่วนนั้นเราไม่ควรไป นี่ให้ความสงบสงัดขนาดนั้นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ความสงบสงัดที่ควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แล้ววัดของครูบาอาจารย์ล่ะ วัดไหนที่เขาให้โอกาสเราปฏิบัติ วัดไหนที่เขามีเวลาให้เรา เราก็ควรจะเร่งขวนขวายไง

โอกาสอย่างนี้หาไม่ได้ตลอดไปหรอก ครูบาอาจารย์นะ ความเป็นอยู่ของสงฆ์ ความเป็นอยู่ของสังคม มันมีแต่รอวันพลัดพรากนะ “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” การรวมตัวกันต่อไปมันต้องมีการแตกออกไปตลอดเวลา แล้วชีวิตของเรามีเท่านี้ ในเมื่อมีโอกาส ทำไมเราไม่รีบร้อน ไม่รีบเร่งทำของเรา ทำไมเรานอนใจล่ะ

โอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ สำนักที่จะเปิดโอกาสให้มีการประพฤติปฏิบัติโดยตรง ให้เวลาเรา ๒๔ ชั่วโมง มีแต่การทำความเพียรตลอดนะ งานที่เป็นเรื่องของโลกเขา เป็นประเพณีวัฒนธรรม จะก่อสร้างสิ่งนั้นเพื่อเป็นบุญกุศล บุญกุศลเป็นอามิสเฉยๆ ศาลาโรงธรรมอันไหนมันไปสวรรค์ หัวใจของคนมันไปสวรรค์ เห็นไหม ไปสวรรค์ก็ไปเสวยภพหนึ่ง ก็ต้องเกิดต้องตายเวียนมาอีก แล้วเราปฏิบัติขึ้นมา เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าถึงธรรม เราจะเอาบัญญัตินี้ให้เกิดขึ้นมา ให้มาเป็นเนื้อหาสาระ คือเราไม่วิเคราะห์วิจัยตามแต่ปริยัติที่เขาทำเป็นวิชาการกัน ที่เขียนหนังสือออกไปขายหากินกันไง

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ มันให้หัวใจนี้สัมผัส ให้หัวใจนี้เข้าไปรับรู้ตั้งแต่ความสงบของใจ แล้วมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ทำไมไม่ประพฤติปฏิบัติ ทำไมไม่ทำของเรา ทำไมไม่จริงล่ะ

เวลามันทุกข์ขึ้นมา มันเรียกร้องหาความสุขๆ เห็นไหม เรียกร้องหาสมาธิ เรียกร้องหาปัญญา แต่ความเพียรของตัวใช้ไม่ได้เลย ความเพียรของตัวไม่เห็นสมควรกับการประพฤติปฏิบัติ นี่เหตุผลมันไม่พอ มีเงินทองอยู่เล็กๆ น้อยๆ จะไปซื้อเพชรซื้อทองที่มีราคามหาศาล นี่มันได้แต่จินตนาการ ได้แต่คิดไง นี่คนที่มันอ่อนแอก็อ่อนแออย่างนี้ไง เหตุมันไม่สมควร มันจะเอาผลมาจากไหน

ในเมื่อเหตุของเรา เหตุเด็กๆ ความคิดเด็กๆ มีแต่สมมุติสงฆ์ มีแต่สถานะที่ได้บวชมาจากอุปัชฌาย์อาจารย์แล้วก็นอนใจนะ สิ่งนี้มันไม่หลุดไปจากเราหรอก ถ้าเราไม่สิกขาลาเพศ เราก็เป็นพระวันยังค่ำ แต่หัวใจเป็นพระไหมล่ะ หัวใจมันเอาความเร่าร้อนมาถึงเราไหมล่ะ ทำไมมันคิดจินตนาการออกไปนอกโลกนู่นน่ะ...นี่เพราะมันไม่เข้าถึง มันไม่ได้สมมุติแค่ร่างกาย แต่หัวใจก็สมมุติ สมมุติซ้อนสมมุติ แล้วก็คิดว่านี่เป็นธรรม ธรรมโดยสมมุติอีกต่างหาก มันเป็นเรื่องของสมมุติทั้งหมดเลย

บัญญัตินี้เราต้องสร้างขึ้นมา เราต้องมีสติสัมปชัญญะของเราขึ้นมา ถ้ามีโอกาสแล้วต้องรีบภาวนา รีบพยายามต่อสู้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แยกแยะกับมัน ต้านทานกับมัน สิ่งใดที่มันต้องการ สิ่งใดที่มันแสวงหา สิ่งใดที่มันอยากได้ ฝืนมัน ฝืนตลอดนะ เว้นไว้แต่ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย ถ้ามันจำเป็นจะต้องรักษา เราก็ต้องรักษา เพราะมันเกี่ยวกับวินัย เช่น ผ้าขาด เรื่องราตรี เรื่องต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องธรรมวินัย เราต้องทำนะ

แล้วก็ว่าสิ่งนี้มันเป็นกิเลสอีก ไปถือทำไม มันเป็นสมมุติ เราก็ปล่อยให้หมดเลย

ปล่อยแบบนี้ปล่อยแบบกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ ปล่อยเหมือนวัวเหมือนควาย วัวควายมันไม่ต้องการสิ่งใดเลย มันรอแต่ให้เจ้าของจูงมันไปเท่านั้นน่ะ มันไม่รับรู้อะไรเลย เกิดมาเพื่อรอวันตาย เกิดมา ตายแล้วเนื้อหนังก็เป็นประโยชน์กับโลกเขา เราเกิดมาตายไปมีแต่สิ่งที่เขาไม่ต้องการ

นี่ปล่อยวาง มันจะไปปล่อยวางธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ สิ่งนี้ต้องเกาะต้องยึดให้แน่น ต้องยึดต้องเกาะไป แต่เวลามันรู้แจ้งขึ้นมา มันรู้แจ้งจากความเป็นจริงของเราภายในขึ้นมา เห็นไหม ธรรมและวินัยมันยิ่งรู้ลึกซึ้งเข้าไปอีกนะ โอ้โฮ! ทำไมเราตีความธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคลาดเคลื่อนขนาดนี้นะ ความเป็นจริงมันเข้ามา มัชฌิมาจะเป็นอย่างนี้นะ เมื่อก่อนเราคาดหมายว่าเป็นอย่างนั้น มันจะมารู้ความรู้สึกอย่างนี้ มันจะปล่อยวางอย่างนี้...สติไม่มีสักตัว ความรู้สึกความเป็นจริงไม่มีแม้แต่นิดเดียว แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันก็คาดหมายของมันไปอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเป็นความเป็นจริงนะ “โอ้โฮ!” ถ้าเราเข้าไปร้อง “โอ้โฮ! โอ้โฮ!” นี่สติมันพร้อมอย่างนี้ ทำไมสัมมาสมาธิมันมีความสุขขนาดนี้ ความสุขอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหน? ความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นมาจากความจริงของเรา ความสุขอย่างนี้เกิดขึ้นมาจากเรามุมานะ มุมานะเพราะเรามีโอกาส

เราเป็นนักรบ เราเกิดมาแล้วเรามีศรัทธาความเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัตินะ คนที่อยากบวชอยากประพฤติปฏิบัติมีมหาศาลเลย แต่เขามีภาระของเขา เขามีความจำเป็นของเขา เขาไม่ได้ออกบวชออกประพฤติปฏิบัติอีกมหาศาลเลย เราเป็นผู้ที่มีโชควาสนามาก เพราะเรามีโอกาสได้ออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราได้ชีวิตมา เราได้สถานะของนักรบมา เราต้องรีบเอาโอกาสของเรานี้ให้ออกมาเป็นผลงานให้ได้ ไม่ให้มันเป็นสมมุติที่เป็นอนิจจังที่จะย้อนกลับไง ถ้ามันย้อนกลับ เราก็เป็นผู้พ่ายแพ้

ในเมื่อเป็นพระ เป็นนักรบ เป็นสิ่งที่สูงสุดในสังคมของชาวพุทธ ทำไมเราท้อถอยล่ะ ทำไมเราจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์อีกล่ะ ทำไมเราถึงจะเป็นไปอย่างนั้นอีกล่ะ แต่คนที่เขาเป็นคฤหัสถ์อยู่แล้ว ทำไมเขาอยากมาเป็นนักรบล่ะ

เขาเป็นนักรบก็เป็นโอกาสของเขาใช่ไหม ในทางโลกใครมีโอกาส ใครไปขอสัมปทานได้ ใครทำกิจกรรมของเขา เขาจะมีโอกาส เขาจะทำของเขาคนเดียว นี่ก็เหมือนกัน เราบวชแล้ว เรามีโอกาส เราได้สัมปทานแล้วทั้งชีวิตเลย ถ้าเราได้สัมปทานในการประพฤติปฏิบัติ แล้วมันจะเกิดธรรมขึ้นมาจากใจเราได้ไหม

ถ้ามันเกิดธรรมขึ้นมาจากใจของเราได้ นั้นคือเรามีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาส่วนหนึ่งคือการออกบวชออกประพฤติปฏิบัติ อำนาจวาสนาส่วนหนึ่งคือมีความจริงจัง มีความมุมานะ นี่คืออำนาจวาสนานะ

มันจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ท่านเป็นผู้ที่มีบุญมาก ฝ่าเท้าท่านอ่อน ครอบครัวท่านเป็นคหบดีที่มีฐานะมาก ไปไหนต้องมีคนแบกเสลี่ยงหามให้ไปนะ ท่านไม่เคยเดินไปไหนเลย มีแต่คนหามเสลี่ยงไป นี่ทั้งชีวิตท่านมีความสุขของท่านอยู่แล้ว ทำไมท่านต้องออกมาบวชล่ะ ทำไมเวลาท่านเดินจงกรม ท่านเดินจงกรมขนาดที่ว่าเลือดแดงไปในทางจงกรมหมดเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกตรวจกุฏิ “ที่นี่ที่เชือดโคของใคร ทำไมเลือดมันแดงขนาดนี้”

นี่ที่เดินจงกรมของพระโสณะนะ ฉะนั้น อนุญาตให้พระโสณะได้ใส่รองเท้า เพราะเป็นผู้ที่มีฝ่าเท้าอ่อน ให้ใส่รองเท้า นี่ผู้ที่มีโอกาส ถ้าเป็นเรานะ เราจะรีบเลยว่า จะใส่รองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราคนเดียว จะเอาไปโฆษณาเลยว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารักเรา เคารพเรา ดีกับเราขนาดนั้น ขนาดนั้นนะ

พระโสณะไม่เป็นอย่างนั้นเลย “ข้าพเจ้าไม่ยอมใส่ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุทุกองค์ได้ใส่รองเท้า ข้าพเจ้าถึงจะยอมใส่รองเท้า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระทุกองค์ใส่ ให้ข้าพเจ้าใส่องค์เดียว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมใส่”

คนที่มีคุณธรรมในหัวใจมันจะไม่เห็นแก่ตัว มันจะไม่ทำลายหมู่คณะ มันจะไม่ทำลายคนอื่น แล้วมันก็จะไม่ทำลายโอกาสของตัวเอง ถ้าตัวเองใส่รองเท้าโดยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ใส่ พอใส่รองเท้าอยู่องค์เดียวใช่ไหม เวลาไปไหนเขาก็ว่าพระองค์นี้ใส่รองเท้า พระองค์นี้อ่อนแอ พระองค์นี้สู้ไม่ได้ เห็นไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็จะเป็นดาบย้อนกลับมาให้หมู่คณะเพ่งเล็ง แล้วตัวเองก็จะเกิดนิวรณธรรม ตัวเองก็จะประพฤติปฏิบัติได้ยากขึ้นไป เห็นไหม

คนฉลาดนะ ถ้าลองปฏิเสธสิ่งที่มันจะเข้ามาทำลายโอกาสของตัว มันจะเป็นสิ่งที่เป็นแง่บวก เป็นคุณงามความดีไปตลอดเลย เพราะมันไม่เกิดสิ่งที่กระเทือนใจ สิ่งที่ติฉินนินทามา “พระองค์นี้ไม่เข้มแข็ง พระองค์นี้เดินจงกรมก็ต้องใส่รองเท้า พระองค์นี้”

แต่พระโสณะบอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุได้ใส่รองเท้าทุกๆ องค์ ข้าพเจ้าถึงยอมใส่” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อนุญาต

พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ใส่รองเท้านะ ฉัพพัคคีย์ไปขอรองเท้าเขา แล้วมาประดับให้สวยสดงดงาม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าติตลอด บัญญัติตลอด “อย่างนี้เป็นทุกกฏ อย่างนี้เป็นทุกกฏ อย่างนี้เป็นทุกกฏ”

เห็นไหม ผู้ที่มีคุณธรรม ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาต ยังไม่ปรารถนา แต่ผู้ที่ไม่มีคุณธรรม นี่เขาอนุญาตเพื่อหมู่สงฆ์ แต่ก็ไปเอาเรื่องของหมู่สงฆ์มาประดับให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขึ้นมาทำลายโอกาสของผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์อันนั้น

พระกัจจายนะไปอยู่ถึงชนบทประเทศ แล้วใส่รองเท้าชั้นเดียว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามๆๆ จนเหลือชั้นเดียว เพราะฉัพพัคคีย์ทำรองเท้าปิดส้น รองเท้าประดับ ทำรองเท้าให้สวยให้งาม ประดับเพชรประดับพลอย ประดับไปทุกอย่าง เห็นเขาสวยงามก็ทำอย่างเขา พระพุทธเจ้าห้ามๆๆ จนเหลือชั้นเดียว จนเหลือสิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์เราใส่อยู่นี่ เห็นไหม รองเท้าต้องมีหูหนีบ

พระกัจจายนะไปอยู่ชนบท แล้วเดินอยู่บนภูเขาที่เป็นหินปูน ฝากพระโสณะให้มาขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ชนบทประเทศกว่าจะรอสงฆ์ครบ ๑o องค์ ได้บวชช้านัก เพราะภิกษุสงฆ์ยังไม่แพร่หลายไปถึง การใส่รองเท้าชั้นเดียวเดินไปบนหินที่มันบาด ขอนะ ขอพรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออนุญาตไง นี่ท่านเป็นพระอรหันต์นะ พระกัจจายนะเป็นพระอรหันต์นะ พระโสณะก็เป็นพระอรหันต์ สิ่งที่จะก้าวล่วงธรรมวินัยท่านไม่ทำ นี่ให้ขอโอกาส เห็นไหม แต่ผู้ที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากจะอ้างภาพลักษณ์ นี่สมมุติสงฆ์ เป็นภาพว่าฉันเป็นพระ ฉันมีสิทธิในธรรมวินัย ฉันจะทำอย่างไรของฉันก็ได้ แล้วมันก็ทำสภาวะแบบที่ว่าให้ความมัวหมอง ความเศร้าหมองกับศาสนา

“ชาติ ศาสนา ประเพณี” ประเพณีนี้ไม่ใช่วินัย ประเพณีนี้ออกจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกมาจากวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่ขัดกับประเพณี แต่ตรงกับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราควรจะเลือกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีนี้เราใช้กัน เราใคร่ครวญกันไป ถึงที่สุดแล้วถ้าคนเขาเห็นดีเห็นงาม เห็นไหม ถ้าติดประเพณีวัฒนธรรมอย่างนั้น เขาก็จะอยู่ของเขาอย่างนั้น นี่ธรรมอย่างหยาบๆ

สิ่งที่เป็นธรรมอย่างหยาบๆ มันฆ่ามรรคอันละเอียดนะ มรรคละเอียดคือความเห็นความปล่อยวาง แต่เดิมเราจะทำบุญกุศลกัน เราทำอย่างนี้ได้ไหม เราต้องทำเป็นพิธีกรรมตลอด ทำไมปัจจุบันนี้เราทำของเราเลยก็ได้ เพราะอะไร เพราะเรามีเจตนา เรามีความพร้อมของเราอยู่แล้ว สิ่งใดที่เป็นภาระรุงรังของเรา เราจะไม่ไปกดถ่วงภิกษุที่ท่านต้องการเวล่ำเวลาที่จะออกภาวนาของท่าน

ถ้าสิ่งที่เป็นประเพณี เราก็ต้องให้ภิกษุมาทำพิธีกรรม เราก็ต้องมาทำพิธีกรรม มันเป็นการเกาะเกี่ยว เป็นการพะรุงพะรัง สิ่งนี้สังคมโลกเขาว่าเป็นความสวยงาม สิ่งที่สังคมโลกว่าเป็นความสวยงามคือสิ่งที่ต้องตายต้องเกิดในวัฏฏะ จะต้องกอดคอกันตาย เหมือนคนจมน้ำช่วยคนจมน้ำ จะกอดคอกันตายไปในวัฏฏะนั้นนะ

แต่ถ้าเราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เราจะทำบุญกุศล มาถึงแล้วเราก็วาง แล้วเราก็ไป มันเป็นสิ่งที่เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ภิกษุท่านก็เอาไปใช้ประโยชน์ของท่าน เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ทั้งหมด แล้วท่านก็จะออกภาวนาของท่าน ท่านก็จะทำความเพียรของท่าน แล้วท่านก็จะใช้ปัญญาของท่านใคร่ครวญของท่าน จากหยาบ จากละเอียด แล้วละเอียดเข้าไป เห็นไหม มันจะย้อนกลับเข้ามา มันก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าวุฒิภาวะเราเจริญขึ้นมามันจะยอมรับสิ่งนี้

ภิกษุก็เป็นความเรียบง่าย ภิกษุก็เป็นความน่าเคารพนับถือ คฤหัสถ์หรือผู้ที่อุปัฏฐากก็เข้าใจธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคอะๆ เขินๆ นะ เราเข้าสังคมไหนเราก็องอาจกล้าหาญ เพราะเรารู้ไปหมด นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยข้อไหนเราก็เข้าใจ ถ้าเกิดสิ่งใดเฉพาะหน้าขึ้นมาเราจะจัดการได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เราไปไหนเราก็เคอะเราก็เขิน สิ่งที่เคอะเขินนั้นเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นความละอาย มันเป็นสิ่งที่เศร้าหมองในหัวใจไหม ถ้าเป็นความเศร้าหมองในหัวใจ แล้วมันจะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ไปจากไหนล่ะ

ความสะอาดจากข้างนอก มรรคหยาบๆ ธรรมวินัยที่เราเข้าใจเป็นมรรคหยาบๆ เพื่อให้เราพร้อมรบ แล้วเราก็ตั้งสติ ธรรมที่เป็นสิ่งที่เป็นอามิสนี้มันเป็นเรื่องจรรโลงให้หัวใจนี้มีอำนาจวาสนามีบารมี การประพฤติปฏิบัติมันจะสะดวกสบาย เห็นไหม กลิ่นของศีลหอมทวนลม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติดี ผู้ที่ทำคุณงามความดี สิ่งนี้หอมทวนลม คือมันจากปากต่อปากต่อไปว่าคนนี้เป็นคนดี ไปที่ไหนเขาก็เปิดโอกาสให้ประพฤติปฏิบัตินะ

ถ้าคนคนนี้เป็นคนที่คอยทำลายเขาตลอด คนคนนี้มีปัญหาไปตลอด แล้วจะไปอยู่ที่ไหนมันก็เหม็นทวนลมเหมือนกัน แล้วไปประพฤติปฏิบัติที่ไหนเขาก็ไม่ให้โอกาส แล้วก็บอกว่า “ทำไมเขาไม่ให้โอกาสเรา ทำไมเขาให้โอกาสคนนั้นประพฤติปฏิบัติ ทำไมเขาไม่ให้โอกาสเรา”...ก็เรามันเป็นตำแย มันจะไปทำให้ที่นั่นเป็นความรุงรัง เป็นภาระรุงรังไปทั้งหมด

ตำแยมันเป็นสิ่งที่คัน ใครเขาก็ไม่ต้องการ เกิดที่ไหนเขาก็ถอนทิ้ง เห็นไหม แต่ถ้ามันเป็นดอกไม้ มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดที่ไหนเขาก็รดน้ำพรวนดินนะ ถ้าเรามีศีลมันจะเป็นแบบนั้น เราจะเป็นสิ่งที่หอมทวนลม ไปที่ไหนเขาจะมีโอกาสให้เราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม สังคมนั้นเป็นสังคมที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบ การประพฤติปฏิบัติเราก็จะไม่กระเทือนกัน มันจะทำให้สงวนรักษาสิ่งที่ให้กิเลสตัณหามันจะเอามาฟาดฟันกันไง

สมมุติสงฆ์มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วก็ไปยืมดาบในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฟันคนอื่น มาฟาดฟันคอคนอื่น แต่มันไม่ยอมฟาดฟันกิเลสตัวมันเองนะ มันไม่ยอมใคร่ครวญของมัน ไม่ยอมตั้งสัจจะ ไม่ยอมทำความจริงของใจขึ้นมานะ

เราก็ตั้งสติของเราขึ้นมา ตั้งสติของเราขึ้นมามันก็ย้อนกลับขึ้นมาทำลายมัน ทำลายทิฏฐิความเห็นผิด ไม่ใช่ทำลายทิฏฐิความเห็นชอบ ทิฏฐิความเห็นชอบเราต้องบำรุงรักษา สติสัมปชัญญะเราต้องบำรุงรักษา แต่สิ่งที่เป็นความเห็นผิด ความเห็นถูกต้องในเรื่องของคฤหัสถ์เขา นั่นเป็นความเห็นหยาบๆ สิ่งที่เป็นหยาบๆ มันเป็นมรรคหยาบ ถึงว่า ถ้าบอกว่าเรามีเจตนาดี เราต้องการช่วยเหลือ เราต้องการส่งเสริม สิ่งที่จะช่วยเหลือส่งเสริม คือช่วยเหลือส่งเสริมกันในความสะดวกสบายในขณะนั้น

แต่คนที่ประพฤติปฏิบัติ มันเป็นสิ่งที่เสียเวลา เพราะเราจะต้องมาเสียเวลากับการกินการอยู่อย่างนั้น เขาอดนอนผ่อนอาหาร เห็นไหม นี่มันก็สูงขึ้นไป แล้วเราก็ไปเห็นว่าท่านมีความลำบาก เราก็พยายามจะช่วยเหลือท่าน เราจะไปดึงฟ้าลงมาต่ำนะ สิ่งที่ท่านออกประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านจะทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าจิตมีความสงบเข้ามา นี่บัญญัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นสมมุติ แล้วบัญญัติมันเกิดขึ้นมาจากเรา สมาธิเกิดขึ้นมาจากใจ ความเห็นปัจจัตตังเกิดขึ้นมาจากใจ มันจะมีความองอาจกล้าหาญ มันจะมีความสุข มีความองอาจกล้าหาญว่าเราทำได้

สิ่งที่จิตสงบได้ สิ่งที่มันปล่อยวางเข้ามาได้ มันจะการันตีเรื่องหลายๆ อย่าง เช่น ศีลของเราบริสุทธิ์ ถ้าศีลของเราไม่บริสุทธิ์ ความประพฤติปฏิบัติเข้ามามันก็จะเป็นมิจฉา มันจะเป็นมิจฉานะ ถ้ามันสงบเข้ามา มันไม่มีสติ หรือว่ามันจะสร้างสถานะ สร้างสมมุติธรรมขึ้นมาให้เราไขว้เขวไป แต่ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ มีสติชอบ มันจะย้อนสงบเข้ามา เราจะมีความสุข มีความร่มเย็นของใจ มีความพออยู่พอกินเพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีความสงบใจของมัน

ความว่าเป็นสัมมา เหมือนกับเงินทอง ถ้าเงินทองมันเป็นของถูกต้อง เห็นไหม เงินแท้ เราจะองอาจกล้าหาญ จะใช้วิธีไหนก็ได้ เราจะควักเงินออกมา เงินของเราใช้ได้ทุกที่ แต่ถ้าเงินของเราเป็นเงินปลอม เราจะไม่กล้าควักออกมาหรอก เพราะมันกลัวเขาเห็นว่าสิ่งนี้เป็นของปลอม นี่มิจฉากับสัมมามันต่างกันตรงนี้

ถ้าเป็นสัมมา เราจะองอาจกล้าหาญ จิตมันจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ง่าย

แต่ถ้าเป็นมิจฉา เพราะสติมันไม่มี ถ้าเราพูดออกไป ครูบาอาจารย์จะโต้แย้งเลยว่าสิ่งนี้มันจะไม่ถูกต้อง เราก็ไม่กล้า เราก็กระมิดกระเมี้ยน เราก็เอาธรรมของเราไว้ แล้วเราก็คาดหมายไปของเรา นี่มันไม่เป็นสัมมา มันก็จะให้โทษเป็นสภาวะแบบนั้นไง มันถึงต้องมีศีล

ถ้าสงบเข้ามาโดยเป็นสมาธิชอบ เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นชอบ เห็นไหม มันประกาศถึงว่า ศีลเราบริสุทธิ์ หนึ่ง การกระทำของเราถูกต้อง หนึ่ง อำนาจวาสนาของเรามี หนึ่ง แล้วเราทำขึ้นมา เรายกวิปัสสนาได้ไหม ถ้ามันยกวิปัสสนาได้ เราจะต้องพยายามทำให้มันสงบบ่อยครั้งเข้า ทำฐานตั้งมั่นได้ เราต้องควบคุมได้ นี่สมาธิมันควบคุมได้ สมาธิมันตั้งมั่นได้ จิตมันมีที่ได้ ถ้าจิตมีที่ได้ เห็นไหม สถานที่ควรแก่การงานไง จากสมมุติสงฆ์มันก็จะเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้ที่ปฏิบัติจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน

นี่ก็เหมือนกัน สมมุติสงฆ์เหมือนกัน เราจะเป็นบุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มนุษย์คนเดียว คนคนเดียวนี่แหละ ถ้าไม่ได้บวชก็เป็นคฤหัสถ์ บวชแล้วก็เป็นภิกษุ ภิกษุนี้ก็เป็นสมมุติอยู่ เห็นไหม แต่ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาล่ะ นี่เป็นบุคคลหนึ่งในศาสนา พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว “สมณะ” สมณะเป็นผู้ที่สงบ สงบตรงนี้ ถ้ามันสงบเข้ามา มันกำหนดพุทโธเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา มันจะเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนก็เป็นสมมุติสงฆ์เหมือนกัน แต่มันเดินโสดาปัตติมรรค เป็นผู้สงบ สถานะที่ ๑ ถ้าสถานะที่ ๑ มันจะก้าวเดินของมันไป นี่อำนาจวาสนานะ เราต้องฝึกซ้อม

แล้วถ้ามีครูมีอาจารย์ มีหมู่สงฆ์ มีสำนักที่เขาเปิดโอกาส มีสิ่งต่างๆ พร้อม เห็นไหม นักกีฬาที่เขาจะแข่งขัน แม้แต่กีฬาที่เขาแข่งขันอยู่ เกิดฝนตก เกิดอากาศวิปริต การกีฬานั้นเขายังต้องงดการแข่งขันเลย แล้วนี่เราประพฤติปฏิบัติ โอกาสที่เราจะชำระกิเลสของเราขึ้นมา ที่ไหนมันเป็นโอกาสของเรา

นี่โอกาสมันสมบูรณ์มากนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาจะเข้าใจสิ่งนี้ ต่างคนต่างแสวงหา เหมือนกับหาเวที หาจุดยืน เห็นไหม เราเป็นสังคมโลก เราต้องมีจุดยืน ถ้าเรามีสถานะทางสังคม สังคมจะยอมรับเรา เราจะมีความชุ่มชื่น เราจะมีความพอใจ นั่นเป็นสังคมใช่ไหม สังคมมันก็เกิดก็ตาย สังคมมันก็เวียนไป มันสมมุติทั้งหมดล่ะ

แต่ถ้าเราเป็นภิกษุ แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ มันจะเกิดขึ้นมาจากภายในของเรา นี่สังคมยืนจากภายใน มันจะมีความองอาจกล้าหาญมาก เพราะใจของเรามันเป็นปัจจัตตัง มันจะไม่ตื่นเต้นไปกับสิ่งใดเลย ไม่วอกแวกวอแวไปกับกระแสโลก

เหมือนในธรรมบทเลย ในนวโกวาท เห็นไหม เสียงดังที่ไหนไปที่นั่น ที่ไหนมีการละเล่น ไปที่นั่น ที่ไหนมี ไปที่นั่น เห็นไหม ไปหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีจุดยืน จิตมันไม่มีความตั้งมั่นของมัน มันจะไปอย่างนั้น มันจะไปตามเขาอย่างนั้น มันฟุ้งซ่านออกไป พอฟุ้งซ่านออกไปมันก็ไปตามกระแสโลก นี่ไม่ใช่กัลยาณปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนจะควบคุมสิ่งนี้ได้ เพราะมันมีสติ เพราะมันมีสถานะ เพราะมันมีสำนักที่เปิดโอกาสให้ประพฤติปฏิบัติ เพราะมันมีหมู่คณะที่ดีคอยออมชอมกัน เป็นหมู่คณะที่เปิดโอกาสให้ทำ

นักกีฬา ดูสิ เวลาเขาเล่นแข่งกีฬากัน ฟุตบอล เห็นไหม ถ้าเขาไม่ส่งลูกให้ทำประตู กองหน้าจะเสียใจมาก ทำไมคนนี้เป็นคนขี้เหนียว ทำไมคนนี้ไม่เปิดโอกาสให้เรา คนนี้กลัวเราจะมีชื่อเสียง ไม่ยอมเปิดบอลมาให้เราทำประตูเลย นี่ทีมงานของเขา เขายังต้องเป็นทีมงานอย่างนั้นเลย แล้วในการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขามีความจงใจ เขามีความเข้มแข็ง พระเราก็จะส่งเสริมนะ ถ้าสำนักนั้นเป็นที่สัมมาทิฏฐิ ถ้าสำนักไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เราประพฤติปฏิบัติ จิตเราจะมีความสงบเข้ามา เขาจะบอกว่า “ขอโอกาสนะ เวลานี้วัดนี้มีความจำเป็นจะต้องไปทำงานอย่างนั้น ทำงานอย่างนั้น” เขาจะทำลายโอกาสของเราทั้งหมดเลย สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติในสังคมมันจะเป็นแบบนั้นนะ ถ้าเราออกไปในสังคมโลก เราจะเห็นสภาวะเป็นแบบนั้นเลย

แต่ถ้าสังคมนั้นเป็นสังคมดี เขาได้บอลมา เขาจะเปิดไปให้กองหน้าเลย กองหน้าจะทำประตู ยิงเข้าหรือไม่เข้านั้นอยู่ที่ฝีมือของกองหน้าใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นกองหน้าคนหนึ่ง เราเป็นนักรบคนหนึ่ง เราจะเป็นผู้ที่ต่อสู้กับกิเลสคนหนึ่ง ถ้าเรามีโอกาส เพราะเขาเปิดโอกาสให้หมดแล้ว ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ ทางจงกรมก็มีพร้อม กุฏิเราที่นั่งสมาธิก็มี ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีงานเป็นครั้งเป็นคราวเราก็บอกหมู่คณะว่าตอนนี้เราเร่งความเพียร เขาจะเปิดโอกาสให้เราทันทีเลย ถ้าไม่เปิดโอกาส ให้มาบอกหัวหน้าสิ หัวหน้าจะพิจารณาสิ่งนี้ให้ เพราะอะไร เพราะต้องการสิ่งนี้ไง หัวหน้าผู้ที่ดูแลมันดูแลอย่างนี้ ดูแลความเป็นไป ให้การขับเคลื่อนไปของการให้เป็นจากสมมุติสงฆ์เข้าถึงบัญญัติ แล้วให้ถึงวิมุตติได้ ให้เป็นสงฆ์โดยอริยสงฆ์

ถ้าเป็นอริยสงฆ์ขึ้นมามันเป็นที่ไหน ในเมื่อกายกับใจมีกิเลสตัณหา ในเมื่อกายนี้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนกัน พระอรหันต์ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราก็ห่มผ้ากาสาวพัสตร์อย่างนี้ เราก็ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนกับครูบาอาจารย์เรานี้ แล้วตรงไหนมันเป็นสมมุติสงฆ์ ตรงไหนมันเป็นอริยสงฆ์ล่ะ

สิ่งนี้เป็นสมมุติจากภายนอก ร่างกายเป็นสมมุตินะ เวลาเราตายไป สิ่งที่เป็นซากศพเขาจะโยนทิ้ง เพราะมันมีความเหม็น เขาไม่ต้องการ เขากลัวผี เห็นไหม ทำไมครูบาอาจารย์ของเราตาย ทำไมเขาแย่งศพกันล่ะ ทำไมเขาเผาแล้ว เขาจะแย่งกระดูก เขาแย่งพระธาตุ เขาจะแย่งกันทั้งหมดเลย ทำไมเขาแสวงหา เขาแย่งกันทั้งหมด เพราะอะไร เพราะคุณงามความดีของท่าน เพราะท่านทำของท่าน ท่านทำใจของท่านให้เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ แล้วท่านชี้นำเราได้ จิตใจของท่านสูงส่งกว่าเรา ท่านคอยดึงมือเราตลอดเวลา ท่านคอยโยนผ้าแล้วดึงเราขึ้นมา

เราต่างหากเป็นผู้ที่ไม่เอาไหน เราต่างหากเป็นผู้ที่ไม่จริงไม่จัง ท่านทอดผ้า ท่านโยนเชือกมาให้เพื่อดึงเราขึ้นจากน้ำ เราก็ยังนอนใจจะไปจับปลาจับเต่า จับสิ่งที่เป็นสัตว์อยู่ในน้ำนั้นอีก เห็นไหม “สิ่งนี้มีคุณค่า ปลาไหลไฟฟ้านี้ยิ่งมีคุณค่าใหญ่ ยิ่งงูเห่า งูจงอาง อู้หู! มันมีคุณค่ามาก”...นี่ไปต้องการแต่สิ่งนั้น ท่านโยนสะพาน โยนเชือกมาให้เราก้าวเดินขึ้นไป ทำไมมันไม่ทำล่ะ ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่เป็นประโยชน์กับเราสิ

ถึงบอกว่า หัวหน้าผู้ที่พาออก มันจะมีเรื่องธรรมวินัย เรื่องโอกาสนะ เพราะสิ่งนี้สำคัญมาก การประพฤติปฏิบัติทุกวินาที ทุกเวลา ขณะที่มันเข้าด้ายเข้าเข็ม จิตมันสงบขนาดไหน มันจะเป็นไปนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจสิ่งนี้ มันถึงสงวนรักษา รักษาสิ่งนี้มาให้สำนักปฏิบัตินั้นต้องเป็นสำนักปฏิบัติ เราอย่าไปกวนกัน

เวลาที่เราจะเดินผ่านกุฏิกันยังต้องขอโอกาสนะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา กุฏิหนึ่งห้ามพระองค์ใดเดินเฉียดเข้าไป เพราะพระองค์นั้นจะนั่งสมาธิอยู่หรือไม่นั่งสมาธิอยู่ จะไม่มีใครสามารถรู้ได้ แล้วพระองค์นั้นจิตสงบหรือไม่สงบ ใครจะสามารถรู้ได้ เห็นไหม ดูสิ ในเมื่อห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนกัน เป็นภิกษุเหมือนกัน แต่หัวใจที่สงบกับหัวใจที่เร่าร้อนมันก็อยู่ในร่างกายนี้ แล้วใครรู้ล่ะ? ปัจจัตตังรู้จากหัวใจดวงนั้นล่ะ

สิ่งที่เป็นวินัยนะ เราอยู่ด้วยกันตั้งแต่พรรษาสองพรรษาขึ้นไป ปิดกันไม่ได้หรอก เหมือนกับในครอบครัวหนึ่ง นิสัยใจคอเขาจะรู้กันหมดล่ะ เห็นไหม ธรรมนี้เราปฏิบัติขึ้นมา เรามีแง่มุมขึ้นมา เราถามครูบาอาจารย์เราสิ ถ้าท่านตอบไม่ได้ แสดงว่าท่านอั้นตู้ ท่านไม่เข้าใจ ท่านไม่รู้ แต่ถ้าท่านตอบมามันผิดอีกล่ะ ท่านตอบมากับที่เรารู้มามันต่างกัน ท่านก็ยังผิดอีกนะ

แล้วถ้าท่านตอบมาถูก ธรรมคือการแสดงออกจากการเทศนาว่าการนี้ล่ะ เวลาแสดงธรรมออกมามันออกมาจากใจ ออกมาจากประสบการณ์ของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถ้ามีธรรมจริง มันประพฤติปฏิบัติมา มันจะมีแง่มุมของมัน

กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะมีแง่มุมของมัน มันจะหลบซ่อนอยู่ในแง่มุมของมัน มันจะทำให้การประพฤติปฏิบัติเราล้มลุกคลุกคลานนะ เพราะอะไร เพราะพญามาร กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี้เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก มันอาศัยอยู่บนหัวใจของสัตว์โลก ไม่ใช่แค่มนุษย์นะ สัตว์ทุกชนิด กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปกครองอยู่ มันอยู่บนหัวใจนั้น มันพาเกิดพาตายแล้วมันขับถ่าย มันบีบบี้สีไฟ จะตายหนหนึ่งมันก็ผ่อนคลาย ผ่อนหายใจทีหนึ่ง มีความสุข เห็นไหม แล้วก็บีบบี้สีไฟต่อไป บีบอย่างนั้น ทำลายอย่างนั้นตลอดไป นี่มันอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ แล้วมันบีบบี้ในหัวใจของเรา แล้วเราจะหาความสุขมาจากไหน ถ้าเรายังนอนใจกับสิ่งนี้ เราจะไม่มีความสุขกับใจของเราเลย ใจของเรามันมีสภาวะแบบนี้ปกคลุมของมันอยู่ เราถึงต้องมีความมุมานะ

ถ้าเป็นสมมุติสงฆ์ มีสติ มันทำของมันนะ มันจะเป็นไป ถ้าสมมุติสงฆ์ แล้วอารมณ์ก็เป็นสมมุติ โลกนี้ก็เป็นสมมุติ สิ่งต่างๆ ก็เป็นสมมุติ แล้วเราก็ว่าเรารู้จริง เรารู้ตามสมมุติหมด เราเข้าใจ เราก็จะติดอยู่แค่นี้

โอกาสในการออกประพฤติปฏิบัตินี้เป็นเรื่องแสนยาก เรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติแล้ว เราถึงต้องตั้งใจ ใช้สติปัญญาใคร่ครวญเสียหน่อยว่าสิ่งที่ใคร่ครวญอยู่นี่มันถูกหรือผิด ถ้ามันถูกนะ นี่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด แล้วถ้าเราปล่อยวางสิ่งนี้ได้ ถ้าเราไม่ปล่อยวาง มันต้องพิสูจน์กันสิ ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นของจริงของเรา เราประพฤติปฏิบัติมาเป็นความจริง มันต้องให้ผลเป็นความสุขกับเรา ทำไมหัวใจไม่มีความสุขล่ะ ทำไมมันเสียดแทงใจเหลือเกิน ทำไมมันทำให้เราเร่าร้อนล่ะ ถ้าเร่าร้อน มันต้องเป็นความผิดสิ เราต้องมีการไต่สวน มีการใคร่ครวญนะ

ในการประพฤติปฏิบัติของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่คนอื่นเขาการันตีว่า “มีความรู้เท่าเรา มีความเห็นเหมือนเรา” แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปฏิเสธตลอดเลย เพราะอะไร เพราะถ้าเชื่อเขาไปมันก็อยู่ชั่วคราว แล้วเวลาเกิดเวลาตายไปโอกาสมันจะมีมหาศาลเลยที่จะต้องเวียนตายเวียนเกิด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสร้างบารมีมา มันจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าพูดถึงในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ากิเลสมันหลอกลวง มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น เพียงแต่เทียบให้เห็นว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีผู้การันตี มีผู้รับประกัน ท่านยังไม่ยอม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านรู้จริง แม้แต่ปัญจวัคคีย์ปฏิเสธขนาดไหน “นี่เป็นผู้ที่มักมาก ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ หลงแต่ความสะดวกสบาย”

“ปัญจวัคคีย์ เธอเคยได้ฟังเราพูดไหม เราเคยพูดไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ เราไม่เคยพูดคำว่าเราเป็นพระอรหันต์มาเลยตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา ๖ ปี”

ทั้งๆ ที่คนอื่นปฏิเสธ คนอื่นเขาไม่ต้องการ แต่ในเมื่อปัจจัตตังในหัวใจท่านเป็นความจริงสุดส่วน ทำไมท่านจะพูดไม่ได้ ในเมื่อเทวดาฟ้าดิน ตั้งแต่เทศนาว่าการธัมมจักฯ เห็นไหม เทวดาส่งต่อเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป แม้แต่เทวดา แม้แต่อินทร์ แม้แต่พรหมก็ยังคัดค้านความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เลย สิ่งนี้เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริงของเรา เราต้องพิสูจน์สิ

ในการประพฤติปฏิบัติของเราว่าเราเป็นความจริงๆ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด มิจฉานะ เราไม่ต้องเสียใจว่าความเห็นเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิมันก็เกิดขึ้นมา กิเลสกับธรรมมันจะเกิดมาในหัวใจตลอดไป กิเลสเกิดขึ้นมามันก็เป็นความเห็นผิด เดี๋ยวกิเลสมันปกครองหัวใจมันก็จะทำให้ใจนี้เร่าร้อน มีความทุกข์ แต่ถ้าเราทำสติของเราสมบูรณ์ขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมา นี่ธรรมเกิด ถ้าธรรมเกิด มันก็มีความร่มเย็นขึ้นมา

ไม่ต้องเสียใจว่าความคิดเราเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วเราจะเป็นมิจฉาทิฏฐิตลอดไป เราจะมีความเสียอกเสียใจถ้าเราคิดว่ากรรมมันเป็นของตายตัว พระอริยบุคคลก็เกิดไม่ได้สิ ในการประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่มีสิ แต่นี่มันมี ความเห็นผิดมันเห็นได้ทุกคน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปี เห็นผิดมาทั้งนั้นน่ะ ไปศึกษามากับใคร ปฏิบัติมากับเขา มันก็เห็นผิด เห็นผิดในขณะที่ทดลอง

ถ้าพูดถึงผู้ที่ยอมรับความผิด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังพูดในธรรมวินัยว่าเป็นอริยประเพณีนะ ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยวินัย ผู้ที่ทำความผิดแล้วประกาศตนว่าผิด ปลงอาบัติ นี่เป็นอริยวินัย วินัยของพระอริยเจ้า คือประกาศตนว่าเป็นผู้ที่ทำผิด ผู้ใดทำความผิด ผู้ใดรู้จักความผิดของตัว ผู้ใดสารภาพผิด นี่เป็นธรรมวินัย เป็นผู้ที่ไม่ปกปิดตัวเองไว้ เห็นไหม นี่เป็นธรรมวินัย

แล้วถ้าความเห็นของเราผิด ถ้าพิสูจน์แล้วว่าผิด เราปล่อยขึ้นมาก็เป็นสัมมา มันก็เป็นความถูกต้อง ความถูกต้องหยาบๆ ไง โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค เวลาถูกต้องส่วนหนึ่ง สมุจเฉทปหาน วิปัสสนาจนทำลายกิเลส เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม จนปล่อยวางขึ้นไป นี่เป็นสัมมาทั้งหมดเลย เป็นอกุปปธรรมด้วย แต่ยกขึ้นวิปัสสนาต่อไปมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิส่วนบน มิจฉาทิฏฐิ เพราะปฏิบัติไปมันติดไปทุกขั้นตอนนะ

เราคิดว่าประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันจะสะดวกสบาย ถ้าถูกต้องแล้วมันเหมือนกับจรวด ปล่อยทีหนึ่งถึงโลกพระจันทร์เลย เพราะมันถูกต้องแล้ว มันจะยิงถึงโลกพระจันทร์เลย...นี่ไม่ใช่ มันมีกิเลสหยาบมีละเอียด ความเห็นหยาบๆ มันก็ทำให้ถูกต้อง มันก็ก้าวเดินด้วยความถูกต้อง เวลามันผ่อนคลาย เวลาจิตสงบขึ้นมาแล้วใช้ปัญญาออกไป มันจะมีความสุขของมัน

ถ้าติดสุข มันจะเสื่อม อนิจจังนะ ความเห็นอันนี้ยังเป็นอนิจจังอยู่ อยู่ใต้กฎของอนิจจัง ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เราไม่ควบคุมให้ดี เราไม่สร้างเหตุให้ดี สิ่งนี้จะเสื่อมไป เพราะมันอยู่ใต้กฎของ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้เกิดขึ้นชั่วคราว เพราะมันมีเหตุ พอหมดเหตุมันก็จะคลายตัวออกไป มันก็จะเสื่อมออกไป แต่ถ้าเราสร้างเหตุตลอดไป เราวิปัสสนาของเราตลอดไป แล้วยกขึ้นให้มันละเอียดขึ้นไป สิ่งที่ละเอียดมันก็หลอกละเอียดขึ้นไป เราก็ใช้สติปัญญาใคร่ครวญให้ละเอียดเข้าไป

ขณะประพฤติปฏิบัติเข้ามา ความหยาบๆ ที่มันทำลายหยาบๆ อย่างนี้ มันจะเข้าใจ พอเข้าใจขึ้นมา พอยกขึ้นสูงขึ้นไป สิ่งที่ละเอียดขึ้นมา “เอ๊ะ! เมื่อเราผ่านขั้นตอนนั้นมา มันก็มีอาการอย่างนี้หลอกขึ้นมาว่าใช่อย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็หลงล้มลุกคลุกคลานมามหาศาลเลย อันนี้มันจะเป็นอย่างนั้นอีกหรือเปล่าหนอ” ถ้าเป็นอย่างนั้นขึ้นมา เราก็ต้องทดสอบขึ้นมา

สิ่งนี้ทดสอบขึ้นมา เราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญของมัน ถ้ามันวิปัสสนาไป มันปล่อยวาง ปล่อยวางมีสติไหม ปล่อยวางมีผู้รับรู้ไหม ถ้าปล่อยวางแบบไม่มีสติ อย่างนี้ไม่เอา ปล่อยวางแบบนี้มันปล่อยวางแบบไม่พร้อม มรรคไม่สามัคคี ถ้ามันปล่อยวางแบบมีสติควบคุมเข้าไปด้วย ปัญญามันจะใคร่ครวญออกไป มันจะแยกแยะออกมาอย่างนี้ แล้วปล่อยวางออกมานี้ ยถาภูตํ เห็นไหม มันปล่อย ยถาภูตํ นี่ภูมิของความรู้อันนั้น

าณทสฺสนํ ถ้าญาณอันนี้มีสติพร้อมขึ้นไป ญาณรู้อีก เห็นไหม เวลาผู้ที่เขายิงประตู กองหน้ายิงประตูเข้าไป ยิงเข้าไปในประตูแล้วยังตามเข้าไปในประตู ไปเตะฟุตบอลในประตูนั้นอีก ไปแสดงความดีใจในประตูนั้นว่า “โอ้! ฉันยิงประตูได้ ฉันทำผลงานของฉันได้”

นี่ก็เหมือนกัน ยถาภูตํ าณทสฺสนํ ญาณหยั่งรู้เข้าไปรู้ว่าสิ่งนี้เรายิงเข้าประตูมาแล้ว สิ่งนี้เราเข้าไปจับลูกฟุตบอลขึ้นมา จับแล้วทุ่มแล้วทุ่มอีก นี่ผลงานของเรา นี่ผลงานของเรา าณทสฺสนํ เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วมันจะมีใครมาหลอกลวงเรา มันจะมีใครมาทำลายเราว่าเราทำผิด...มันไม่มีหรอก

ความสะอาดบริสุทธิ์มันเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา มันเป็นปัจจัตตัง เกิดจากใจของเรา มันเป็นความเห็นของเรา นี่ความเห็นที่ถูกนะ ถ้าความเห็นที่ผิดมันก็หลงไปตลอดนั่นล่ะ มันก็เป็นสมมุติสงฆ์ขึ้นมาจนถึงจุดนี้ไม่ได้หรอก ถ้าเป็นสมมุติสงฆ์ขึ้นมา มันก็เป็นสมมุติไปทั้งหมด

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้สมมุติบัญญัติ จนวิปัสสนาขึ้นไป จนเป็นธรรมของเรา เห็นไหม ถ้าเป็นธรรมของเรา ธรรมในหัวใจของครูบาอาจารย์ที่มีธรรมอย่างนี้ เวลาแสดงธรรมออกมามันถึงเป็นอย่างนี้ไง เวลาแสดงธรรมออกมา เพื่อธรรมในหัวใจอันนั้นมันจะกังวาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย สิ่งที่เป็นคุณสมบัติในศาสนาที่ประเสริฐที่สุดคือการบันลือสีหนาท

ถ้าครูบาอาจารย์ของเราจะบันลือสีหนาท นี่คือการแสดงธรรม ราชสีห์บันลือสีหนาท ธรรมจะแสดงออกไป เทวดาฟ้าดินฟังอย่างนี้จะมีความเบิกบาน มีความรู้สึก เพราะอะไร เพราะนี่เป็นอริยสัจ นี่เป็นความจริง นี่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมโอสถที่เข้าไปทำลายกิเลสในหัวใจ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ

เวลาเราจะเอายากัน เภสัชกร องค์การเภสัชเขาทำยาขึ้นมาเพื่อจะรักษาโรค นี่เขาต้องทำยาขึ้นมา เขามีโรงงานของเขา แต่นี่มันเป็นธรรม ธรรมโอสถเกิดมาจากไหนล่ะ? มันก็เกิดมาจากใจผู้ที่ชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ถ้าใครมีธรรมชั้นหยาบๆ ก็แสดงได้อย่างหยาบๆ ถ้าใครมีชั้นละเอียดมันก็ละเอียดขึ้นไป ถ้าคนมีธรรมสูงขึ้นไปจนทำลายกามราคะ ทำลายอวิชชาเข้าไป ธรรมออกมามันจะครบวงจรของมันไง วงจรมรรคหยาบ-มรรคละเอียดมันจะขัดแย้งกันอย่างไร

สิ่งที่มันส่งต่อขึ้นไป เห็นไหม สัมมาสมาธิของโสดาบันขนาดไหน สมาธิของสกิทาคามีขนาดไหน สมาธิของอนาคามีขนาดไหน สมาธิของอรหันต์ขนาดไหน มันจะมีขั้นตอนของมัน ขั้นตอนของมันในมรรค ๔ ผล ๔ ไม่ใช่ว่ามรรคชนิดเดียว มีดาบเล่มเดียวก็จะทำงานทั้งโลก เป็นไปไม่ได้หรอก

งานของโลกเขา ขณะที่เราจะถากจะถางสิ่งต่างๆ ต้องใช้จอบใช้เสียม ขณะที่เราจะขุดหลุม เราขุดด้วยจอบด้วยเสียม ขุดลงไป เราจะวางเสา เราจะปูพื้น เราจะทำอะไร มันเป็นงานคนละชั้นคนละตอนนะ ยิ่งเดินสายไฟ ยิ่งประกอบทำให้บ้านเรือนนั้นสวยงามขึ้นมา มันยิ่งใช้เครื่องมืออันละเอียดเข้าไปใหญ่ นี่มีแต่ดาบเล่มเดียว แล้วบอกว่าฉันก็จะติดไฟฟ้า ฉันก็จะมุงทุกอย่าง เอาดาบอันนั้นไปใช้ได้อย่างไร เห็นไหม นี่มรรคหยาบ-มรรคละเอียด

ความเป็นไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะนั่งหัวเราะนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีดาบเล่มเดียว แล้วก็บอกของฉันเป็นอย่างนั้นๆ

นี่ครูบาอาจารย์ท่านสลดสังเวชว่า “ทำไมมีความเห็นอย่างนี้ ทำไมมีความคิดอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้เป็นทิฏฐิมานะ ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของกิเลสตัณหา ความคิดอย่างนี้เป็นพญามาร มันควบคุมใจดวงนี้ ทำไมใจดวงนี้มันสร้างกรรมไว้อย่างไร มารถึงได้ผูกติดกับใจดวงนี้ ทำให้ใจดวงนี้เคลื่อนมาเป็นสภาวะที่ล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ แล้วทำไมไม่ยอมปล่อยความเห็นผิด เพราะมันฉุดกระชากมาจนจิตนี้มีแต่บาดแผลบาดหมางในหัวใจ หัวใจนี้มีแต่บาดแผล มีแต่สิ่งที่เป็นโรคเรื้อรังในหัวใจไปทั้งหมด แล้วทำไมมันยังไม่ยอมละทิฏฐิอย่างนี้” เห็นไหม ผู้ที่มีธรรมในหัวใจจะมองสภาวะแบบนี้ มันถึงสลดสังเวช นี่ธรรมสังเวช

เห็นแล้วมันเป็นธรรมสังเวชนะ มันเป็นธรรมด้วย จิตอย่างนี้ก็มี สภาวะแบบนี้ก็มี โลกเป็นสภาวะแบบนี้ โลกเป็นไปอย่างนี้ สภาวะของจิตเป็นอย่างนี้ มันจะทำให้จิตดวงนี้เป็นทุกข์มาอย่างนี้ แม้แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันไม่เข้าถึงจุดของธรรมนี้ มันก็ปฏิบัติบูชาเพื่อจะสร้างสมบารมีไป การสร้างสมบารมีไปก็ตัดภพชาติให้สั้นเข้า ถ้าเราตัดภพชาติให้สั้นเข้า เราก็เกิดมาไม่ตายเปล่า

คนเราเกิดมาตายเปล่านะ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “มีสติอยู่แม้แต่ชั่ววินาทีเดียว ดีกว่าคนที่เขาเผลอสติอยู่ในโลกนี้ ๑๐๐ ปี”

ชีวิต ๑๐๐ ปี ประมาณ ๑๐๐ ปี ชีวิตหนึ่ง เขาไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย แต่เราตั้งสติ แม้แต่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทีเดียวเท่านั้นนะ อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎกนะ มีสติแม้แต่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกครั้งเดียว จะมีคุณสมบัติ มีบุญกุศลมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตของเขาไปทั้งชีวิตโดยที่เขาพลั้งเผลอไปกับโลกตลอดไป

แล้วเราย้อนกลับเข้ามาประพฤติปฏิบัติ เราตั้งสติไหม แม้แต่มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ทำให้ใจนี้ล้มลุกคลุกคลาน มันก็ไม่ถึงธรรม แต่เราก็ปฏิบัติ เรามีสติ เราควบคุมของเรา เราตั้งพุทโธขึ้นมา เราก็มีสติแล้ว สติกับลมหายใจเข้าออก เรามีเป็นหมื่นๆ แสนๆ ครั้ง เพราะเราทำมาตั้งแต่บวช จนพรรษามากน้อยขึ้นมา ก็แล้วแต่ว่าเราจะได้มากน้อยแค่ไหน นี้คือมีสติตลอด นี้คือเราประพฤติปฏิบัติไปตลอด แต่ก็เป็นสติของปุถุชน แล้วสติยกขึ้นไปเป็นมหาสติ เห็นไหม สติ มหาสติ มหาปัญญา เป็นสติอัตโนมัติ เป็น าณํ อุทปาทิ ญาณที่เกิดขึ้นจากภายใน ถ้ามีญาณเกิดขึ้นจากภายใน มันจะย้อนกลับเข้ามานะ ย้อนกลับเข้ามา

จากทำลายกามราคะ สิ่งที่เป็นความเห็นจากภายใน ความพอใจของใจ ใจพอใจอารมณ์ทั้งนั้น ความเห็นของเรา เราเก่ง เรายอดเยี่ยม เห็นไหม ความยอดเยี่ยม สิ่งที่ติดในลาภสักการะ ผู้ที่มีธรรมในหัวใจยังติดในลาภสักการะนะ อยากได้ลาภอยากได้สักการะของเขา อยากมีชื่อเสียง อยากให้พระภิกษุยอมรับเรา อยากเป็นครูเป็นอาจารย์ อยากจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง อยากจะเป็นผู้ที่นำโลก...มันจะนำไปไหน ในเมื่อมันยังมีมารอยู่ มันยังมีอวิชชาอยู่ในหัวใจ

มันถึงย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา ถึงทำลายความพอใจคือกามฉันทะ กามฉันทะกับกามราคะ ถ้าทำลายสิ่งนี้ไป มันว่างหมด สิ่งที่ว่างหมด มันก็ปล่อยขึ้นไปจากภายใน นี่จากภายใน ถ้ามีความเป็นไป ถ้ามีอำนาจวาสนา มันจะเห็นมาร ถ้ายกขึ้นไปจับมารได้ สิ่งที่เป็นมารนะ มารนี้คือเรา เห็นไหม มารนี้คือเรา เรานี้คือมาร มารนี้คือเจ้าวัฏจักร มารนี้คือสิ่งที่ควบคุมการเกิดและการตาย แต่เราไปโทษแต่คนอื่น เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนตลอด ตนต้องเข้ามาควบคุมใจของเรา ตนเข้ามา วิปัสสนาเข้ามา จนถึงที่สุด เห็นไหม ถ้าเราควบคุมเรา เราแก้ไขของเรา เราจะเข้าไปถึงยอดเจ้าวัฏจักร เราจะเข้าไปถึงยอดของพญามาร เราจะจับพญามารนี้ ใคร่ครวญพญามารนี้ด้วยปัญญาญาณอย่างละเอียด ปัญญาญาณอย่างละเอียดนี้เป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก

เพราะสิ่งที่ว่าเป็นปัญญา นี่โลกเขาว่าเป็นปัญญากันนะ เป็นศาสตราจารย์ เป็นสิ่งที่เป็นปัญญา...นี่ไร้สาระมากเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นขันธ์ มันเป็นสังขารขันธ์ มันเป็นความคิด มันเป็นขันธ์ระหว่างจิต ระหว่างจิตคือเรื่องพลังงานของปฏิสนธิจิต แล้วมันเคลื่อนเป็นพลังงานออกไป นี่ขันธ์แสดงตัว ขันธ์แสดงตัวมันถึงปรุง นี่มันปรุง มันถึงหยาบไง

แต่ถ้าเป็นปัญญาญาณอย่างนี้ มันเข้าไปตรงตัวจิตเลย มันไม่ได้ส่งพลังงานออกไปที่ขันธ์ มันไม่ส่งพลังงานออกมาที่สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ ไม่ได้ส่งออกไป มันย้อนกลับมาจากภายใน ปัญญาอันนี้ถึงละเอียดอ่อน เห็นไหม

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺาณํ มันเหมือน “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” มันเป็นกอง เป็นส่วนแยกกัน ขันธ์ก็เหมือนกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นกอง แยกจากกัน มันเป็นคนละส่วนกัน แต่มันผสมกันโดยนามธรรม แต่ปัจจยาการนี้มันเป็นหนึ่งเดียว มันสัมพันธ์กัน ทฤษฎีสัมพันธ์ สิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างนี้ ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างละเอียดเข้าไป

มันเป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นความละเอียดอ่อนแล้วเราใช้สิ่งที่หยาบ เห็นไหม เหมือนกับเรามีดาบเล่มเดียวแล้วเราจะเข้าไปไขสกรู ไขสิ่งที่เป็นสิ่งที่เล็กมากอยู่ในซอกต่างๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งเป็นไฟฟ้า มันเป็นคลื่นมาอย่างนี้ยิ่งทำอะไรไม่ได้เลย มันต้องมีเครื่องวัด เวลาเขาจะวัดไฟฟ้าด้วยเครื่องวัดไฟฟ้าว่าเกจ์ขึ้นหรือไม่ขึ้น เห็นไหม มันเป็นนามธรรมไง

นี่ก็เหมือนกัน ปัญญามันจะละเอียดเข้าไปเป็นปัญญาญาณอย่างนั้น ถ้าเป็นปัญญาญาณอย่างนั้นเกิดขึ้นไป นี่อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นปัญญาอันละเอียดที่สุด อาสวักขยญาณเข้าไปทำลายกิเลสตรงนี้ ถ้าเข้าไปทำลายกิเลสตรงนี้ สิ้นกระบวนการ นี่ไง “อริยสงฆ์” สงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนเรานี่แหละ มีร่างกายฉันอาหาร ใช้ชีวิตปกติเหมือนมนุษย์ปุถุชนเรานี่แหละ แต่หัวใจต่างกันราวฟ้ากับดิน

ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนกัน การขับเคลื่อนไปของธาตุขันธ์เหมือนกัน แต่ท่านไม่มีมารในหัวใจเลย มันเป็นความสะอาด เป็นความบริสุทธิ์ทั้งหมด เพราะจิตนี้พ้นจากมารทั้งหมด จิตนี้เป็นวิมุตติจิตไปแล้ว แต่สิ่งที่เหลืออยู่นี้เป็นเศษเดน สอุปาทิเสสนิพพาน เศษเดนสิ่งที่มันชำระล้าง

เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้ร่างกายมา แล้วออกบวชประพฤติปฏิบัติเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด พอใจมันสงบขึ้นมา สิ่งนี้ก็ขับถ่ายเหมือนกัน สิ่งนี้ก็มีชีวิตเหมือนกัน แต่หัวใจอันนั้นมันพ้นออกไป เห็นไหม

แต่ถ้าเราเป็นสมมุติสงฆ์ มันมีมารผจญในหัวใจ มันมีความเบียดเบียนใจ มันทำลายคนอื่น มันทำลายทุกๆ อย่าง เพราะกิเลสมันทำลายตัวมันเองแล้ว สิ่งนี้เป็นสมบัติน้อยเกินไปที่เราจะทำลายได้ มันมีทิฏฐิมานะ มันจะต้องทำลายคนอื่น เพราะคนอื่นเข้ามาติเตียนเรา คนอื่นไม่เปิดโอกาสให้เรา คนอื่นปิดกั้นเรา คนอื่นทั้งนั้น นี่ถ้าเรามีมารอยู่แล้วมันจะทำลายตัวมันเองก่อน แล้วก็ทำลายคนอื่นตลอดไป

แต่ถ้ามีธรรมในหัวใจ ครูบาอาจารย์เราถึงว่า ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนกัน มีหัวใจเหมือนกัน เพราะขณะที่ยังมีหัวใจ มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ใจมันยังไม่ออกจากร่าง มีหัวใจเหมือนกัน แต่เป็นหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ กับหัวใจของเราที่สกปรกโสมม เราถึงเป็นสมมุติสงฆ์ ท่านถึงเป็นอริยสงฆ์ เอวัง

a