ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จิตอยู่ไหน

๕ ธ.ค. ๒๕๕๗

จิตอยู่ไหน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องที่อยู่ของจิต

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ไม่ทราบว่าที่อยู่ของจิตอยู่ส่วนไหนของกาย เคยรับทราบจากครูบาอาจารย์เวลาสอนกรรมฐานว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่นหรือเอาสติควบคุมจิตไว้

แต่บางองค์ก็บอกว่าที่อยู่ของจิตอยู่ที่ตรงดั้งจมูกหัก ระหว่างสองลูกตาลึกเข้าไปข้างใน

อยากขอความเห็นจากท่านอาจารย์ว่า ที่ถูกต้อง จิตอยู่ตรงไหนแน่คะ

ตอบ : อ้าว! จิตอยู่ตรงไหน คำว่าจิตอยู่ตรงไหนมันเป็นเรื่องที่ว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงจะรู้อนาคตังสญาณ รู้แจ้งทั้งโลกนอกและโลกใน

แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ทุกคนก็ใฝ่หา ทุกคนก็แสวงหา ทุกคนก็พยายามค้นคว้า แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ ก็ปฏิญาณตนว่าเป็นศาสดา คำว่าศาสดาของเขาคือว่าเป็นพระอรหันต์ คือสิ้นกิเลส คือว่าเข้าใจรอบโลก เข้าใจทุกๆ สิ่ง แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขาแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไป จุตูปปาตญาณ จิตที่ยังไม่ชำระล้างกิเลส ถ้ายังไม่สิ้นยังต้องเกิดต่อไปข้างหน้า อาสวักขยญาณ ชำระล้างกิเลส สิ่งนี้ชำระล้างกิเลส พอชำระล้าง ชำระล้างที่ไหน ชำระล้างที่จิต ชำระล้างที่หัวใจนั่นน่ะ เวลาชำระล้างถึงเข้าใจว่าจิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันเป็นแบบใด แต่คนที่ยังไม่เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจเขาก็ไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจแล้วมันก็เข้าใจว่าจิตมันอยู่ที่ไหน

ฉะนั้น สิ่งที่จะบอกว่าจิตมันอยู่ที่ไหน

เริ่มต้นมันหลากหลาย ความเห็นของมนุษย์มันหลากหลายใช่ไหม บางคนไม่เชื่อศาสนา ไม่เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย มนุษย์เกิดมาแล้วก็เกิดมาชาติเดียว ชาติหน้าก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี ปัจจุบันเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาแล้วก็ใช้ชีวิตถึงเสวยสุขเต็มที่ของตัวเองจนกว่าจะหมดอายุขัยไป นี่ความเชื่อของคนไง

ถ้าความเชื่อของคนที่ไม่ยอมรับว่าจิตวิญญาณมีอยู่ ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าจิตวิญญาณต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ได้ถึงจะยอมรับว่ามันมีอยู่ แต่เขายังพิสูจน์ไม่ได้ เขายังพิสูจน์ไม่ได้เขาก็ยังก้ำกึ่งอยู่ ถ้าก้ำกึ่งอยู่ เวลามุมมองและความเห็น มุมมองความเห็นขึ้นไป ความเข้าใจของคนมันก็แตกต่างหลากหลายไป ความแตกต่างหลากหลายว่า ที่อยู่ของจิตอยู่ที่ไหน

ทีนี้ถ้าคนที่เชื่อล่ะ อย่างเรา เรามีความเชื่อ เรามีความเชื่อเพราะอะไร เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีอำนาจวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว ท่านเทศนาว่าการแล้วเราก็เชื่อ เราเชื่อตามครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเรายังไม่รู้ เราก็เชื่อตามไปก่อน เขาเรียกศรัทธา

เรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา ถ้ามีศรัทธาความเชื่อของเรา คนที่มีความเชื่อ ความเชื่อแล้ว ถ้าอยากจะค้นคว้า อยากจะรู้จริงเห็นจริง ครูบาอาจารย์ท่านก็สอน เวลาท่านสอนนะ เวลาสอนนี่มันเป็นอุบาย เป็นอุบายเข้าไปหาตัวจิต เข้าไปหาความจริงอันนั้น

แต่ถ้าคนที่เขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อนะ เขาไม่เชื่อแล้วอยากพิสูจน์ เขาสักแต่ว่าทำ ถ้าคนสักแต่ว่าทำ ถ้ามันเข้าไม่ถึง พอเข้าไม่ถึง มันไปคว้าน้ำเหลว ก็บอกว่าสิ่งนั้นไม่มี แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติไปแล้วจะไปเห็นนิมิตต่างๆ ไปรู้ความเห็นต่างๆเอ๊ะ! จิตมันเป็นอย่างนี้หรือ จิตมันเป็นอย่างนี้หรือมันก็สับสนกันไป

แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านใช้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง มันเป็นวิธีการทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอุบาย อุบายเข้าไปหาสู่ตัวจิตไง

เวลาตัวจิต จิตมันอยู่ที่ไหน ถ้าจิตมันอยู่ที่ไหน เข้าไปหาตัวจิต ตัวจิตแท้ๆ มันอยู่ไหน จิตนี้เวลาเข้าไปถึงรากฐานของมัน เห็นไหม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่อะไรเลย แล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันไม่ใช่อะไรเลย แล้วมันเป็นอะไร

มันก็เป็นจิตเดิมแท้ไง จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ตัวแท้จริงนั่นน่ะ ถ้าเข้าไปถึงตรงนั้นแล้ว เข้าไปถึงตรงนั้นแล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไร นี่พูดถึงว่าเวลาเราจะวิปัสสนากัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนกันนะ

ฉะนั้นจะบอกว่า คนที่ไม่เชื่อ คนที่ไม่เชื่อเวลาไม่เชื่อไป แต่เวลาเขาไปดูนิยายธรรมะ ดูนิยายธรรมะ ทวิภพ อดีตชาติ ก็ว่ากันไป มันก็ไปดูเป็นนิยาย แล้วก็คิดว่าจิตเป็นอย่างนั้นหรือ เวลาคนภาวนาไปมันถึงมีปัญหาไง

เวลามีคนภาวนาไปเขาบอกไม่อยากเห็นกายเลย ถ้าเห็นกายแล้วคิดว่าเห็นจิตวิญญาณ

เห็นจิตวิญญาณคือเห็นจิตวิญญาณคนอื่น ถ้าเราเห็นกายคือเราเห็นอริยสัจ เห็นกายคือเห็นสัจจะความจริง เห็นกายมันมีมรรค

ถ้าเห็นกาย ใครเป็นคนเห็น ถ้าเห็นกาย คนที่ไม่มีจิต สิ่งที่เห็นมันก็เป็นอุปาทาน เป็นอุปาทานก็เหมือนสามัญสำนึกที่ว่า คนที่ไม่เชื่อว่าจิตมีอยู่เขาบอกว่าเป็นความคิด เป็นพลังงาน เป็นไฟฟ้า เป็นพลังงาน เป็นไฟฟ้า เป็นคลื่นสมอง คลื่นสมองทำงานไป นี่ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์เขาเชื่อกันอย่างนั้น ถ้าเขาเชื่อกันอย่างนั้นปั๊บ เวลาเราจะค้นคว้าขึ้นมา ถ้าเราพิจารณาทางวิทยาศาสตร์มันก็เป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น เพราะหมอเขาพิจารณากัน

แต่ถ้าเราจะว่าที่อยู่ของจิต ที่อยู่ของจิต จิตมันมีอยู่แล้ว จิตมีอยู่แล้วเพราะปฏิสนธิจิต จิตคือการเกิด ตั้งแต่เกิดในครรภ์ ปฏิสนธินั่นน่ะเกิดแล้ว เวลาจิตเป็นตัวเกิด พอจิตเป็นตัวเกิด เกิดมาจากไหน เกิดมาจากกรรม

เพราะกรรม ดูสิ ไข่ของแม่ สเปิร์มของพ่อ แล้วฟักตัวออกมามันถึงเป็นคน มันพัฒนาขึ้นมาจากตัวอ่อน จากเป็นเด็กน้อย เป็นทารก เป็นผู้ใหญ่ พัฒนาการของมันมา ถ้าพัฒนาการมา จิตเป็นตัวเกิด จิตเป็นตัวเกิดแล้วอาศัยในร่างกายนี้ ถ้าอาศัยร่างกายนี้

พออาศัยร่างกายนี้ ธรรมชาตินะ การเกิดเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีกายกับใจๆ ไง คือว่ากายกับใจๆ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เรื่องใจต้องพิสูจน์กันก่อนถึงจะเชื่อ แต่เรื่องกายเขาพิสูจน์ได้ เพราะว่าทางการแพทย์เขาพิสูจน์ได้

ทีนี้เรื่องของจิต ถ้าเรื่องของจิต เวลาสุขทุกข์มันอยู่ที่จิต พอสุขทุกข์อยู่ที่จิต พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ เราเป็นชาวพุทธ เราจะค้นคว้าอริยทรัพย์กันไป เราถึงจะมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

เขาว่าที่อยู่ของจิตอยู่ส่วนไหนของกาย

ที่อยู่ของจิตนี้อยู่ส่วนไหนของกาย ถ้าเขาว่าที่อยู่ของจิตอยู่ส่วนไหนของกาย สิ่งที่ว่าเคยทราบมาว่าครูบาอาจารย์เวลาท่านสอนกรรมฐาน ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น เอาสติควบคุมจิตไว้

ถ้าว่า จิตอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย

เวลากระทบไง เวลากระทบ เราโดนกระทบที่แขน ความรู้สึกอยู่ที่นั่น เวลากระทบ เพราะมันรับรู้ อายตนะมันกระทบ มันกระทบอยู่ที่นั่น แต่จิตถ้าโดยธรรมชาติของมัน มันอยู่เต็มส่วนของร่างกายนี้ เพราะส่วนไหนมันกระทบมันก็รู้หมด มันก็รู้หมด มันแผ่ออก ไม่ใช่แผ่อยู่ร่างกายนี้นะ เวลาเราคิดออกไปข้างนอก เราคิดไปถึงสิ เราคิดไปสิ่งที่เราเคยมา จิตมันเร็ว เราคิดถึงที่ว่าเราเคยไปเที่ยวมา เราคิดออกไป มันส่งออกไปแล้ว มันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายเรานี่นะ มันส่งออกไปนู่นน่ะ ถ้าส่งออกไปนู่น ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ ความรู้สึกนึกคิด ความจินตนาการของคนมันเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น เห็นไหม จิตส่งออก

ถ้าจิตส่งออกปั๊บ เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน เวลาท่านสอนว่า เราจะค้นคว้าหาตัวเราเอง คือเราจะค้นคว้าหาจิต การค้นคว้าหาจิตในหลักการในพระพุทธศาสนาเขาบอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

คือเราทำสมาธิ เราทำสมาธิคือเราจะค้นหาจิตของเรา ถ้าเราเข้าไปสู่ตัวจิตของเรา นั่นน่ะคือตัวสมาธิ ทีนี้ตัวสมาธิ เราจะค้นหาจิตของเรา

แล้วถ้าบอกเริ่มต้นพื้นฐานเราก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว เราไม่เชื่ออยู่แล้วว่านามธรรมมี สิ่งที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์เขาต้องพิสูจน์ได้ สสารพิสูจน์ได้ ถึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็พิสูจน์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ขยายได้ ขยายโดยกล้องจุลทรรศน์มันใหญ่โตขึ้นมาได้ มันพิสูจน์ได้หมดแหละ

แต่ความรู้สึกพิสูจน์ได้ตรงไหนล่ะ มันพิสูจน์อย่างไร ถ้ามันพิสูจน์ไม่ได้ เห็นไหม

แต่ถ้าเรามีความเชื่อ เรามีความเชื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลคือรักษาเริ่มต้น เริ่มต้นจากคนไม่เชื่อ คนไม่เชื่อมันก็หลากหลายไป ถ้าคนเชื่อขึ้นมา คนเชื่อขึ้นมาแล้วทำอย่างไรล่ะ

พอคนเชื่อขึ้นมาจะเริ่มทำก็งง ทำไม่ถูก พอทำไม่ถูกปั๊บ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางกรรมฐาน ๔๐ ห้อง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านให้กำหนดพุทโธ ให้กำหนดใช้อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก

ทีนี้พอลมหายใจเข้าออก เขาบอกว่าที่อยู่ของจิต ที่อยู่ของจิตอยู่ส่วนไหนของร่างกาย อันนี้คือคำถาม ความเห็นของเขา

จิตเวลาถ้ามันรวมลงแล้ว รวมลงแล้วมันอยู่กลางหน้าอกนี่ เวลามันถอยร่นเข้ามา เวลาคนจะตายนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะตาย จิตมันจะหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามาจนถึงตัวมันแล้วมันออกจากร่างไป นี่หดสั้นเข้ามาแล้วออก เวลามันหดเข้ามา ทีนี้พอมันหดเข้ามา เวลาคนจะเป็นจะตายมันหดเข้ามา ปฏิสนธิจิต เวลาปฏิสนธิจิตมันจึงกำเนิดขึ้น

ทีนี้เวลาจิตมันสงบ เวลาสงบจริงๆ ถ้ามันสงบเข้ามา สงบก็คือจิตสงบนะ เวลาจิตสงบเข้ามา เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น มันตั้งมั่นอยู่ตรงไหน ถ้ามันตั้งมั่น นี้ตัวมันตั้งมั่นได้แล้ว

แต่ถ้ามันยังตั้งมั่นไม่ได้ เราแสวงหาอยู่ มันอยู่ที่ไหน มันก็เหมือนกับเราจะสุ่มปลา เราจะสุ่มปลา ปลามันก็ว่ายน้ำไปตามนั้น เราจะสุ่มอย่างไร ถ้าเราสุ่มโดน สุ่มโดนตัวปลา เราก็ได้ปลา สุ่มไม่โดนก็ไม่ได้ปลา ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงอุบาย เหมือนสอนทารก สอนผู้หัดใหม่

ฉะนั้น เขาบอกว่า ครูบาอาจารย์บอกว่าจิตอยู่ส่วนไหนของร่างกาย

อันนี้เราไม่ต้องเอาตรงนี้เป็นประเด็นไง ถ้าเราเอาตรงนี้เป็นประเด็น แล้วอยู่ตรงไหนล่ะ พออยู่ตรงไหนปั๊บ ครูบาอาจารย์กรรมฐานบอก ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น

ไอ้ที่ว่าความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น ไอ้ตัวความรู้สึกคือตัวจิต ทีนี้ตัวจิต เวลาตัวเองจับตัวเองมันจับยาก ตัวเองจับตัวเอง ตัวเองจะเข้ามาเป็นตัวจิตมันตัวยาก ฉะนั้น ท่านถึงให้ใช้คำบริกรรม เพราะธรรมชาติของจิตมันไหลออก เหมือนสายน้ำ แสงมันพุ่งออกไป พลังงานมันส่งออก โดยธรรมชาติ พลังงานมันส่งออก สันตติ พลังงานของจิตก็เหมือนกัน มันก็ส่งออก ทีนี้มันส่งออก ส่งออกคือสัญชาตญาณ คือธรรมชาติของมัน นี่วิธีการของมัน

วิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง คือต้องรวมตัวจิตนี้ให้มันกลับมาสู่ตัวมันเอง การจะรวมตัวจิตกลับมาสู่ตัวมันเองถึงมีอุบายวิธีการ ตั้งสติไว้ แล้วกำหนดพุทโธๆ หรือลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออก

แล้วจิตมันอยู่ที่ลมหายใจหรือ จิตมันอยู่ที่พุทโธหรือ

พุทโธคือพุทธะ พุทโธคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือคำบริกรรมนะ แต่ธรรมดาจิตนี้มันส่งออก ส่งออกโดยธรรมชาติของมัน แต่มันมีอุบายให้ส่งออกไปในพุทโธ ให้นึกพุทโธ วิตก วิจาร ให้นึกถึงพุทโธๆๆ ไป พอพุทโธๆ มันจะละเอียดเข้ามา อยู่กับพุทโธ ละเอียด จนมันสั้นเข้ามา เพราะมันอยู่กับพุทโธ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าความรู้สึกอยู่ที่ไหน

ความรู้สึกนั่นแหละคือตัวจิต แต่มันเป็นนามธรรมที่เรายังไม่มีความชำนาญ เรายังตั้งตัวเองไม่ได้ เขาก็สอนแบบนี้ไง เพราะมันยังตั้งตัวเองไม่ได้ พอตั้งตัวเองไม่ได้ ตัวเองก็ยืนตัวขึ้นมาไม่ได้

แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ มันฝึกหัดไปเรื่อย มันฝึกหัดไปเรื่อย เหมือนปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้ เรารดน้ำพรวนดินดูแลรักษาต้นไม้ให้ดี ต้นไม้มันเจริญเติบโตขึ้นมา ถ้าต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นมา เมล็ดพันธุ์เมล็ดเดียว เวลามันเกิดเป็นต้นไม้ขึ้นมาทำไมมันใหญ่โตขนาดนั้นน่ะ

เมล็ดพันธุ์เมล็ดเดียว เวลาปลูกแล้วต้นไม้ใหญ่โตมหาศาลเลย จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันสงบ มันตั้งมั่นของมัน นาโน พุทโธๆๆ เวลามันเติบโตขึ้นมา มันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมันตั้งมั่น มันมีความสุขด้วยนะ ความสุขที่ไหน ความสุขที่ว่ามันไม่เอนเอียงไง

ต้นไม้จะล้ม ต้นไม้โดนลมพัด ต้นไม้ต่างๆ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลามันส่งออก มันมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มันไปรับรู้เขา นี่พุทโธๆ สร้างตัวมันเองขึ้นมา ถ้าสร้างตัวมันเองขึ้นมา มันอยู่ที่จิต

จิตอยู่ไหน เราค้นหาจิตกัน พระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์เราค้นหาจิต ออกธุดงค์ ออกธุดงค์ก็ไปค้นหาตัวเอง เวลาเราไปธุดงค์กัน เราฝึกหัดกัน เราค้นหาตัวเราเอง แต่เราค้นหาตัวเราเอง สิ่งที่การค้นหาคืออุบาย

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือวิธีการทั้งหมด

ผล โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ อยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ได้อธิบายถึงผลเลย ไม่ได้อธิบายถึงว่ามันเป็นอย่างไรเลย แต่ท่านบอกถึงว่ามันได้ชำระล้างอะไรออกไปบ้าง เช่น สังโยชน์ ๓ กามราคะปฏิฆะอ่อนลง กามราคะปฏิฆะขาดไป สังโยชน์ ๑๐ ตัวขาดไป พระอริยบุคคลแต่ละชั้นแต่ละตอน แล้วผลของมันล่ะ ผลของมัน คนที่รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง

นี่ก็เหมือนกัน ทำสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าไปสู่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นั่นคือตัวจิต ฉะนั้น จิตอยู่ที่ตัวจิต เขาบอกว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น

ถ้าความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น ต้องมีสติ ความรู้สึก

ดูสิ ที่หลวงปู่มั่นท่านสอน อยู่กับผู้รู้ ความรู้สึกอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ ไม่เสียหาย

เพราะอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้มันสันตติ มันจะเคลื่อนตลอด ถ้ามันเคลื่อนตลอด พออยู่กับผู้รู้ ผู้รู้มันจะเคลื่อน จะเคลื่อน เราก็กำหนดพุทโธ ผู้รู้จะเคลื่อน เรากำหนดพุทโธ ผู้รู้ๆ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธมันจะไม่เสีย

ทีนี้พอเราอยู่กับผู้รู้ พอเรากำหนดพุทโธ อยู่กับผู้รู้ปั๊บ มันสงสัย มันสงสัย มันแส่ส่าย ถ้ามันสงสัย มันแส่ส่าย มันจะออกแล้ว มันจะออกแล้ว

ตัวจิตก็คือตัวมันเอง จิตอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ไหนเพราะว่ามันค้นคว้าไม่ได้ มันหาไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนวิธีการ สอนวิธีการ เราทำตามวิธีการนั้น วิธีการนั้นจะทวนกระแสกลับไปสู่ตัวเราเอง

เวลาวิธีการนั้น ตามกระแสนั้น มันทวนกลับไปสู่ตัวจิต พอกลับไปสู่ตัวจิต พอเรารู้เองเห็นเอง นี่ปัจจัตตัง มันรู้หมดเลย ถ้ารู้หมดเลยนะ พอรู้หมดเลย เห็นไหม เคยได้ แล้วทำสมาธิอีกมันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันล้มลุกคลุกคลานเพราะอะไร เพราะกิเลสมันรู้เท่าทันแล้ว รู้เท่าทัน เราก็ต้องมีอุบายที่เหนือกว่า ต้องมีอุบายหลบหลีก หลบหลีกก็เข้าอีก มันต้องมีอุบาย เพราะถ้าเราเคยทำแบบเดิม พอทำแบบเดิม กิเลสมันรู้ตัวแล้ว ทีนี้มันก็จะคอยทำให้เราผิดพลาด

กิเลสของเราเพราะอะไร เพราะความวิตก ความกังวล อุปาทาน มันทำให้ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง เราพุทโธไปเรื่อยๆ

ทีนี้พุทโธไปเรื่อยๆ เราพูดได้ แต่ความจริงมันมีตัณหาไง มันมีตัณหา มันมีสมุทัยของเรามันคอยขยับ คอยขยับมันก็ลงไม่ได้ ต้องมีความชำนาญอย่างนี้ ชำนาญในวสี ถ้าชำนาญในวสีจนเข้าได้

ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติแล้วท่านพูดไว้ พอท่านพูดไว้ แต่เราทำได้หรือทำไม่ได้นั่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง

หรือเอาสติควบคุมจิตไว้

นี่มันเป็นท่อนๆ ไงหรือเอาสติควบคุมจิตไว้

หลวงตาท่านสอนว่า การปฏิบัติของเราถ้ามีสติ นั้นคือการประพฤติปฏิบัติ สัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าเราปฏิบัติโดยสักแต่ว่า พอเราปฏิบัติเริ่มต้นมีสติดี พอเราปฏิบัติไปๆ มันเผอเรอไป อันนั้นเป็นมิจฉาแล้ว ถ้าที่ไหนมีสติ มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความถูกต้องดีงาม ถ้าขาดสติ สติก็เป็นสติ สติมันจะคอยประคอง ประคองให้กำหนดพุทโธ ให้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้อานาปานสติต่อเนื่องๆ ถ้ามันต่อเนื่องเข้าไปๆ มันจะเข้าสู่จิต

แต่บางองค์บอกว่าที่อยู่ของจิตอยู่ที่ตรงดั้งจมูกหัก ระหว่างลูกตาทั้งสองลึกเข้าไปข้างใน

ไม่ใช่ ไม่ใช่ คำว่าจิตอยู่ที่ดั้งจมูกทีนี้ที่ว่าอยู่ที่ดั้งจมูก คำว่าอยู่ที่ดั้งจมูกครูบาอาจารย์ท่านสอนบ่อยมาก บอกว่า เวลากำหนดพุทโธหรือกำหนดอานาปานสติให้ตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก ให้ตั้งความรู้สึกไว้ที่ดั้งจมูก

เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม จิตนี้เหมือนเงา เราจะตะครุบเงา เงาก็จะหนีเราไปเรื่อยๆ เราจะตะครุบเงา เงาก็จะหนีเราไปตลอด จิตนี้เป็นความรู้สึก เราจะเอาตัวจิตของเรา เราจะทำสัมมาสมาธิ เราทำขนาดไหน จิตนี้ก็หนีห่างเราไปเรื่อยๆ เราจะเอาไม่ได้หรอก ธรรมดามันเป็นแบบนี้

เราจะตะครุบเอาจิต ยิ่งตะครุบมันก็ยิ่งห่างไป พอเราหยุด จิตมันก็หยุดด้วย เราไม่ทำอะไรเลย จิตมันก็ยืนมองเราอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เราจะขยัน เราจะเอามัน มันก็หนีเราไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น หลวงตาท่านสอนเอง คำนี้หลวงตาท่านสอนบ่อย บอกว่าให้กำหนดความรู้สึกอยู่ที่ปลายจมูกฉะนั้น ภาษาอีสานอยู่ที่ดั้งจมูก

ทีนี้เขาบอกว่าอยู่ตรงที่ดั้งจมูกหักเขาเขียนอย่างนี้นะ

หลวงตาท่านบอกว่า ท่านสงสารมากนะ หลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ตอนจิตมันเสื่อมแล้วท่านไปหาหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นบอกว่า จิตนี้มันเหมือนเด็ก มันเอาแต่ใจ มันก็เที่ยวเล่นตามประสาของมัน แล้วเราก็ห่วงมันมาก วิ่งคอยตามมันไป มันก็ห่างไปเรื่อยๆ ไม่เจอหรอก ฉะนั้น เด็กเวลามันอิ่มหนำสำราญมันก็จะเที่ยวเล่นของมันไป เราไม่ต้องตามมันไป เพราะเด็กมันต้องกินอาหาร เราเตรียมอาหารไว้ให้มัน ถ้ามันหิวมันกระหายนะ มันเที่ยวเล่นจนมันเหนื่อยแล้วนะ มันต้องกลับมากินอาหารที่เรา ให้หาอาหารไว้ เตรียมไว้เลี้ยงเด็กนั้น แล้วท่านบอกว่าให้กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ

ท่านก็กำหนดพุทโธๆๆ ไม่สนใจเด็กนั้นเลย เด็กมันกินอิ่มหนำสำราญ มันจะเที่ยวเล่น มันจะดื้อ มันจะไปไหน ปล่อยมันไป เราพุทโธๆๆ ท่านบอกว่าพุทโธๆๆ จนมันสงบหมด เพราะท่านไม่วิตกกังวลไง

นิวรณธรรมกางกั้นจิต ความลังเลสงสัย เราลังเล เราสงสัย เราไม่เข้าใจ แต่เราอยากได้ ยิ่งไล่กวดมันเท่าไรมันก็ยิ่งหนี

หลวงปู่มั่นบอกหลวงตา หลวงตาท่านพูดประจำ สุดท้ายแล้วนะ ไม่สงสัย คือปล่อยวางหมด ถ้าปล่อยวางไม่ไปตามมัน เรากำหนดพุทโธๆๆ ไว้ ไม่มีความสงสัย ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีความตึงเครียด ไม่อยากได้อยากดี พุทโธไปเรื่อยๆ ท่านบอกว่ามันก็สงบจริงๆ

แล้วเวลาท่านพูดนะ เหมือนสอนเด็กๆ เวลาท่านภาวนาโตขึ้นมาแล้วนะ ท่านบอกเลย เวลาเราไม่เป็นนะ หลวงปู่มั่นนะ ท่านสอนเหมือนเด็กๆ เหมือนเด็กน้อย เราก็เหมือนกัน เราเด็กน้อยเรายังทำไม่ได้เลย

เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ท่านสอนเพราะท่านผ่านมาแล้ว ท่านรู้ว่าจิตนี้มันดื้อ แล้วจิตนี้มันพลิกแพลงมาก เวลาไม่สนใจมันก็บอกว่าเราภาวนาดี พอมันจะภาวนา มันทำไม่ได้ เวลามันไปทุกข์ไปยากนะ มันบอกว่าเพราะเราเกิดเป็นคนแล้วไม่ภาวนา เสียชาติเกิดมันพูดซะดีเชียว ชวนให้ภาวนา พอมาภาวนา ภาวนาไม่ได้ มันก็สับปลับอยู่อย่างนี้ จิตมันสับปลับอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น เวลาเอาจริงเอาจัง หลวงตาท่านเคยสมบุกสมบันมา คนที่มาอธิบายท่านก็เคยผิดพลาดมา ท่านถึงบอกว่า ให้ตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก

เพราะเวลาเราปฏิบัติกัน เราสับสน เราจับต้นชนปลายไม่ได้ เราอยากหาจิต เราอยากจะค้นคว้าหาจิต เราอยากจะประพฤติปฏิบัติได้เป็นพระอรหันต์ เราใช้ปัญญาของเราไป เวลาเราไปตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อู้ฮู! มันทะลุปรุโปร่ง เข้าใจธรรมะไปหมดเลย มันไม่เข้าถึงตัวเองเลย มันไม่เป็นสมบัติของตัวเองเลย มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ที่เทศนาว่าการไว้ทางวิชาการ แล้วเราก็ไปศึกษา มันเป็นตรรกะไง

เป็นตรรกะ เราศึกษาไปแล้วเราจำได้ไง แล้วเราก็เอามาพิจารณาของเราไง ด้วยปัญญาแยกแยะของเราไง ปัญญาอย่างนี้ถ้ามันมีสตินะ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือมันตรึก มันพิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยมันก็เข้าสู่จิต ทีนี้มันปล่อยแล้วมันคิดว่านี่เป็นวิปัสสนา มันไม่เข้าสู่จิตไง เพราะว่ามันไม่ตั้งสติไว้ แบบว่ามันโดยมิจฉา ด้วยความไม่เข้าใจว่าอันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง

แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เราพิจารณาขนาดไหนแล้วมันปล่อยเข้ามา ถ้ามีสติพร้อมนะ มันก็ปล่อยเข้ามาจริงๆ แล้วมีสติก็แค่นี้ แล้วมันยังไม่เห็นตัวเอง

ถ้ามันเห็นตัวเอง คือจิตสงบ ว่าอย่างนั้นเถอะ พอจิตสงบแล้วมันออกเห็นกาย ทีนี้เป็นสมบัติของเราแล้ว ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔

ถ้าสติปัฏฐาน ๔ เวลาพิจารณา พิจารณาออกมาจากสติปัฏฐาน ๔ จิตพิจารณาออกมาจากอริยสัจ ๔ ถ้าจิตนี้มันได้พิจารณา มันได้กลั่นกรองออกมาแล้ว ตัวจิตนี้คือตัวพิจารณา ตัวจิตนี้เป็นตัวแยกแยะ ตัวจิตนี้เป็นตัวสำรอก ตัวจิตนี้เป็นตัวคายมันออก

แต่นี้เราค้นหาจิตเราไม่เจอ ค้นหาจิตไม่เจอ เราใช้ปัญญาของเราไป นี่มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาสามัญสำนึกไง ปัญญาสามัญสำนึกก็เงาไง เห็นไหม พอเราเคลื่อน เงาก็เคลื่อนด้วย แล้วมันอยู่ที่เงานั่นน่ะ เงามันจะเป็นอย่างไรก็ได้ แสงมันมีสิ่งใดมาบัง ไอ้เงานั้นก็เปลี่ยนแปลงไป ถ้ามันตรงมันก็เป็นตรง

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านล้มลุกคลุกคลานมาท่านถึงวางพื้นฐานเบสิกให้พวกนักปฏิบัติเลย ต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบได้นะ นี่พื้นฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน นี่ตัวเปิดบัญชี เข้าธนาคารแล้วเปิดบัญชี ถ้าเปิดบัญชีได้นะ มันจะมีสิทธิโอนเงินได้แล้ว แต่ถ้าเราไม่มีบัญชี จบครับ ไม่มีหรอก ถ้าจิตไม่เคยสงบ ไม่มีบัญชี

ทีนี้ว่าจิตอยู่ที่ไหน ตามหาจิตนี่ถูก แต่การตามหาจิตที่ถูก เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ มันสงสารน่ะ ถ้าเราสับสนจับต้นชนปลายไม่ได้ ให้ตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก ถ้าตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก เวลาลมหายใจเข้ามันมีความอุ่นๆ

หลวงตาท่านจะพูดอย่างนี้บ่อย เวลาหายใจเข้ามันมีความอุ่นๆ ที่ปลายจมูกนั้น ถ้ามีความรู้สึกที่เด่นชัด จิตอยู่ที่นั่น กำหนดลมหายใจเข้านึกพุท กำหนดลมหายใจออกนึกโธ พุทโธๆ จิตอยู่ที่ไหน ที่อยู่ของจิตอยู่ที่ไหนที่เราหาไม่เจอ มันอยู่ที่ปลายจมูก

อ้าว! แล้วเวลาจิตสงบแล้วมันอยู่ที่กลางหน้าอก ทำไมมันอยู่ที่ปลายจมูกล่ะ

อยู่ที่ปลายจมูก มันเป็นเริ่มต้น เริ่มต้นคนที่ทำอะไรไม่เป็น เริ่มต้นที่คนเริ่มต้นอะไรไม่ได้ มันต้องมีจุดเริ่มต้น ถ้าจุดเริ่มต้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกที่ปลายจมูก จับตรงนั้นไว้

การปฏิบัติถ้าไม่มีการเริ่มต้น ไม่มีการเริ่มต้นตั้งแต่ตั้งฐานมาเลย เราจะไปปฏิบัติอะไร เราปฏิบัติอะไรกันไม่ได้หรอก สิ่งที่ปฏิบัติ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ใช้สมองคิด ใช้สมองคิดตรึกในธรรม พอตรึกในธรรม ใครเป็นคนตรึก ก็จิตเป็นคนตรึก ถ้าจิตเป็นคนตรึก เวลาจิตมันปล่อย สติมันพร้อม เห็นไหม นี่ก็เริ่มต้น การเริ่มต้น ๔๐ วิธีการนะ ตามแต่จริตนิสัย

ฉะนั้น เวลาตามจริตนิสัย เวลาว่าหลวงตาท่านสอนว่า ให้ตั้งความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก แล้วกำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ไม่ต้องตามเข้าไปและตามออกมา

ท่านเปรียบเทียบนะ เหมือนเราเฝ้าประตูบ้าน แล้วถ้ามีใครเข้ามา เราก็ตามเขาเข้าไป เขาเข้าไปในครัว เขาเข้าไปในห้องนอน เราตามไปหมดเลย เราทิ้งประตูบ้านนั้นไว้ คนอื่นเข้ามา มาลักของได้ ฉะนั้น เราไม่ต้องตามเข้าไป เราเฝ้าอยู่ที่ประตูบ้าน ใครเข้ามาในบ้าน เราก็นับ เออ! คนนี้เข้ามาคนที่หนึ่ง เวลาคนที่หนึ่งออกไป คนที่หนึ่งออกแล้ว คนที่สองเข้ามา คนที่สองออกแล้ว คือว่าไม่ต้องตาม ลมหายใจเข้า

ลมหายใจเข้ารู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าลมหายใจเข้าสั้น ลมหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าลมหายใจเข้ายาวนี่เป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่ง

แต่หลวงตาบอกว่าไม่ต้องตามลมหายใจเข้าไป ให้อยู่ที่ปลายจมูกนั้น

ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าสั้น ลมหายใจออก นี่มันเคลื่อน เวลามันเคลื่อน มันเคลื่อนไป

เวลาจิตสงบแล้วมันไม่เคลื่อนที่ มันอยู่กับที่ ฉะนั้น ท่านถึงบอกว่าให้อยู่ที่ปลายจมูกไว้ แล้วลมหายใจเข้ารู้เท่าทันมัน

เขาบอกว่า จิตอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ปลายจมูกหรือ จิตอยู่ที่ร่างกายส่วนไหนของเรา จิตมันอยู่ที่ไหน

จิตเป็นนามธรรม คนที่ชำนาญแล้วกำหนดเมื่อไหร่ได้เลย แต่คนที่ยังไม่ชำนาญ เราจะหาของเราไม่เจอ ถ้าเราหาของเราไม่เจอ เราพยายามของเราให้มันเจอ ถ้าให้มันเจอ เจอสมบัติของใคร เจอก็เจอตัวเราไง ถ้าเราเจอตัวเรา

ฉะนั้น เขาว่า ที่อยู่ของจิตอยู่ที่ดั้งจมูกหักระหว่างลูกตาสองข้างลึกเข้าไปข้างใน

อันนี้เวลาเขาพูดไปนะ ถ้าเป็นคนอื่นพูดว่าอยู่ที่ข้างในลึกเข้าไปสองข้างอันนี้เราไม่เชื่อ ไอ้ที่ว่าจุดกลางของกลาง กลางของกลาง ไอ้นี่เราบังคับ จุดกลางของกลาง แล้วกลางของกลางเข้าไปเรื่อย กลางของกลางเข้าไปเรื่อย มันเพ่ง

ไอ้อย่างนี้ถ้าเป็นกสิณนะ เวลาเขาเพ่งกสิณ กสิณเขียว กสิณแดง เพ่งกสิณ พอจิตมันอยู่นิ่งแล้วให้ขยายส่วนของมัน นั่นเป็นกสิณ

แต่ถ้าเป็นแบบว่าเป็นที่เรากำหนดทำสมาธิ เราไม่ได้เพ่งกสิณของเรา

ถ้ามันเป็นว่าอยู่ที่ตรงไหน

อันนี้มันอยู่ที่คำอธิบาย คำอธิบายของครูบาอาจารย์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันหลากหลาย ถ้ามันหลากหลาย มันต้องยกเข้ามาสู่ที่ว่า คนที่ปฏิบัติแล้วปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า แล้วคนที่ปฏิบัติแล้วนะ เขาปฏิบัติเพื่อเป็นเกจิอาจารย์

คำว่าเกจิอาจารย์เขากำหนดเป็นสมาธิ แล้วเขาใช้เพ่ง เพ่งเพื่อสิ่งที่เกจิอาจารย์เขาทำของขลัง อันนั้นมันส่งออกตั้งแต่ต้น ส่งออกมาตั้งแต่ต้น ทำความสงบของใจเข้ามา มันไม่ใช่สัมมาสมาธิเข้ามาเพื่อยกขึ้นสู่วิปัสสนา เขาทำสมาธิมาเพื่อเป็นกำลังของจิต กำลังของจิต เวลาเขาเพ่ง เขาเพ่งต่างๆ อันนี้เป็นอภิญญา มันเป็นการเพ่งออก

ฉะนั้น ที่ว่า ถ้าเราหาจิตของเรา เราหาเพื่ออะไร

ถ้าเราหาของเรานะ เราหาเพื่อทำความสงบ จิตสงบมันก็มีความสุขแล้ว สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี พอจิตสงบแล้วนะ ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เรายกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาเกิดนี่ใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาในพระพุทธศาสนาคือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการค้นคว้าในพระไตรปิฎก ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการศึกษาการเล่าเรียนมา

การศึกษาเล่าเรียนมา ทางโลกเขาเป็นวิชาชีพ ศึกษามาเป็นวิชาชีพ เราเอามาใช้เลี้ยงชีพเรา เวลาเราเป็นพระ เราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมวินัย มันก็เป็นอาชีพพระ

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นการชำระล้างกิเลส มันจะเป็นสิ่งที่เราจะเข้าสู่สัจธรรม มันเป็นอีกกรณีไง ปริยัติ ศึกษาไว้เป็นแนวทาง แนวทางไว้เพื่อปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมามันจะเกิดสัจจะเกิดความจริง เกิดจากการเราวิเคราะห์วิจัยจิตของเรา มาสำรอกกิเลสของเรา ในใจของเรา นี่คือภาคปฏิบัติ ถ้าภาคปฏิบัติอย่างนี้มันเกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญาเป็นของผู้ที่ปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นในธรรมวินัยที่เราศึกษามา

ธรรมวินัยที่เราศึกษามามันเป็นวิธีการ แต่เวลาเราทำจริง มันทำจริงขึ้นมา ถ้าทำจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริงอย่างนี้ ถ้าความจริงที่เกิดขึ้นมามันก็เป็นสมบัติของเราไง

ฉะนั้นอยากขอให้ท่านอาจารย์ว่าถูกต้องจริงอยู่ตรงไหน

สิ่งที่ถูกต้อง ที่ว่าที่อยู่ของจิตมันอยู่ที่ไหน จิตตัวจริงมันอยู่ที่ไหน

จิตนะ พูดถึงอำนาจวาสนาของคน ถ้าอำนาจวาสนาของคน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะได้สร้างอำนาจวาสนามาเต็มเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายคนเพิ่งเกิด ทำไมบอกว่าเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แล้วเวลามีสิ่งกระทบ มีเหตุใดก็แล้วแต่ มีแต่สิ่งที่คิดแต่ว่าจะค้นหาพระโพธิญาณ

อย่างของเรา การเกิดเป็นมนุษย์ แม้แต่ศาสนาเขายังไม่เชื่อเลย ตอนนี้เขามีชมรมของเขา ชมรมที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย เขากลับมองว่า การไปนับถือศาสนากลายเป็นว่ามนุษย์ไม่ยอมรับสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ไปยอมรับเรื่องศาสนา เขามองว่าความเป็นมนุษย์มันต่ำต้อยไปเลย

แต่ของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ เราพบพระพุทธศาสนา เราลงในทะเบียนบ้านว่าเราเป็นชาวพุทธ เรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาของเรา เรานับถือพระพุทธศาสนา นี่พอนับถือพระพุทธศาสนา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีศาสนาเลย ท่านปฏิญาณตนว่าท่านจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย แล้วพระพุทธศาสนาสอนถึงการชำระล้างกิเลส แล้วเราเกิดมาเราก็ลงทะเบียนว่าเรานับถือพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว แล้วเวลาเติบโตขึ้นมา คนไม่เชื่อนรกสวรรค์ก็มี คนไม่เชื่อสิ่งใดก็มี แล้วคนเชื่อสิ่งต่างๆ ก็มี

ทีนี้ที่ว่า ที่ถูกต้องมันเป็นแบบใด

ถูกต้องของใครล่ะ ถูกต้องของคนไม่เชื่อ ถ้าพูดให้เขาเชื่อ นี่ถูกต้องของเขา คนที่เชื่อแล้ว แต่ยังค้นหาไม่เจอ ถ้าทำให้เขาค้นหาเจอ เขาถึงจะเชื่อของเขา แล้วถ้าคนที่ค้นหาเจอแล้ว จิตของเขายกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าเขาได้โสดาบัน ความเชื่อของเขาละเอียดขึ้นไป ความเชื่อของคน วุฒิภาวะมันสูงต่ำแตกต่างกันนะ

ฉะนั้น ที่ถูกต้อง ถูกต้องของใคร

เราจะบอกว่า ถ้าบอกว่าถูกต้องอย่างนี้ๆๆ แล้วถูกต้องของใคร แล้วมันพัฒนาไหม อย่างถ้าเป็นโสดาบันแล้วเราจะพิจารณาต่อเนื่องขึ้นเป็นสกิทาคามีไหม อย่างเป็นสกิทาคามี เราจะพัฒนาขึ้นไปเป็นอนาคามีไหม ถ้าอนาคามี เราจะพัฒนาขึ้นไปเป็นพระอรหันต์ไหม แล้วใครถูกต้องล่ะ

ถ้าคำว่าถูกต้องก็พระอรหันต์ถูกต้อง แล้วถ้าเป็นพระอรหันต์ถูกต้องปั๊บ เราตายเลย เพราะกว่าเราจะทำให้เป็นโสดาบัน เรายังเกือบเป็นเกือบตายอยู่แล้ว แล้วพอความถูกต้องเป็นพระอรหันต์ เราก็หมดโอกาสใช่ไหม

แต่ถ้าเราเป็นปุถุชน ความถูกต้องของเรา ให้เรามีความเชื่อ ให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แล้วเราพยายามปฏิบัติของเรา ปฏิบัติให้มันถูกต้อง ถ้าให้มันถูกต้องนะ มันอยู่ที่จริตนิสัย ถ้ามันตรงกับจริตนิสัย ทำแล้วมันจะได้ผล ถ้ามันไม่ตรงกับจริตนิสัยของเรา เราพยายามแล้วมันจะไม่ได้ผลของเรา ถ้ามันถูกต้องนะ

ฉะนั้นว่า จิตมันอยู่ที่ไหน

จิตมันอยู่ในร่างกายเรานี่ จิตมันอยู่ในร่างกายเรา เวลาร่างกายทางการแพทย์ สมองมันควบคุมร่างกาย เซลล์ประสาทต่างๆ มันใช้งานแต่ละอย่าง จิตนี้มันเป็นพลังงาน ดูสิ เวลาจูฬปันถกเวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว เวลาพระพุทธเจ้าให้ไปตามจูฬปันถกมาฉันอาหาร แบ่งร่างเป็นพันๆ ร่างเลย เพราะพระองค์เดียวเข้าไปวัดนี่เต็มวัดหมดเลย ไปถามองค์ไหนก็จูฬปันถก จูฬปันถกหมดเลย

เราบอก แล้วจิตอยู่ที่ไหน จิตเวลามันออกเป็นฤทธิ์เป็นเดชไปแล้ว

อันนี้พูดถึงว่า จิตมันอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าจะบอกว่าอยู่กลางหน้าอก อยู่กลางหน้าอกจริงๆ เวลาหดสั้นเข้ามาแล้วมันอยู่ตรงนี้ แต่เวลามันอยู่ตรงนี้ปั๊บ ที่อื่นก็ต้องไม่รู้เลยสิ แต่ทำไมมันแผ่ซ่านไปทั้งตัวล่ะ แล้วแผ่ซ่านไปทั้งตัวจนแผ่ไปข้างนอกด้วย

ฉะนั้น จิตอยู่ที่ไหน

จิตอยู่ในร่างกายนี้ อยู่ในสมองก็ไม่ใช่ อยู่ที่ไหนก็ไม่ใช่ อยู่ในร่างกายนี้ แต่ถ้าเวลามันหดสั้นเข้ามา เพราะเวลาทำอัปปนาสมาธิ เวลาจิตสงบ กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือกำหนดอานาปานสติ เวลาละเอียดเข้าไปเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิมันยังรอบรู้ ออกรู้ได้

เวลาเข้าไปอัปปนาสมาธิ แม้แต่อยู่ในร่างกายนี้ยังไม่รับรู้อะไรเลย สักแต่ว่า มันทิ้งร่างกายนี้เลย อยู่ในร่างกายนี้ แต่ไม่รับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย เพราะมันไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น มันทิ้งกายเลย มันอยู่เป็นเอกเทศเลย จิตอยู่ในร่างกายนี้ มันอยู่โดยเอกเทศของมัน ไม่ยอมรับรู้เรื่องร่างกายนี้เลย นี่แค่สมาธินะ ยังไม่ใช้ปัญญาอะไรเลย ยังไม่ได้พิจารณาอะไรเลย

ฉะนั้น เขาถามว่า ที่ถูกต้อง จิตอยู่ตรงไหนกันแน่คะ

ผู้เขียนเป็นลูกศิษย์ใครล่ะ ถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงตา ถ้าเราเชื่อมั่นหลวงตา เราก็ตั้งไว้ที่ปลายจมูกก็ได้ ถ้าเชื่อมั่นในทางปฏิบัติ

เขาบอกว่า อยู่ที่เหนือสะดือ ๒ เซนติเมตร

เออ! โยมเป็นลูกศิษย์ใครล่ะ อาจารย์เขาบอกว่า จิตนี้อยู่จุดศูนย์กลางเหนือสะดือ ๒ นิ้ว ๒ นิ้วหรือ ๒ เซนติเมตร แล้วมากำหนดให้จิตอยู่ที่หน้าอก

อ้าว! เป็นลูกศิษย์ใครล่ะ อาจารย์เขาสอนอย่างนั้นไง

แต่บอกว่า ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น บางอาจารย์ก็สอนอย่างนั้น บางอาจารย์เขาเอาสติตั้งไว้ บางอาจารย์บอกว่าตั้งไว้ที่ปลายจมูก อันนี้เป็นอุบาย เป็นอุบาย ดูสิ ที่เวลาเขาภาวนากัน ครูบาอาจารย์ท่านถนัดทางใด ท่านจะสอนทางนั้น ท่านถนัดของท่าน เพราะท่านทำอย่างนั้นแล้วท่านได้ผล พอท่านได้ผล ท่านถึงสอนประสบการณ์ของท่าน ฉะนั้น เราฟังแล้วเอามาเป็นอุบาย แล้วเราก็พยายามฝึกหัดของเรา

ถ้าโยมทำเป็นแล้วนะ เดี๋ยวโยมจะสอนบอกจิตอยู่ที่โยมทำ โยมทำได้โยมก็จะบอกว่าจิตอยู่ที่ตรงนี้ โยมก็จะบอกทฤษฎีของโยมออกมาเหมือนกัน

แต่ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ร่างกายนี้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง