ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คิดไปเอง

๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๗

คิดไปเอง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องการทำบุญและประวัติหลวงปู่มั่น

. ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนที่ชอบทำบุญมาก มักถวายของชั้นเลิศแก่พระภิกษุเสมอ อาทิเช่น จีวรทำจากผ้าป่านอย่างประณีต อยากทราบวิธีการวางใจเวลาที่เพื่อนมาชวนร่วมบุญ เนื่องจากผมก็เคยบวชและศึกษาปฏิปทาของครูบาอาจารย์มาว่า ภิกษุควรมักน้อยสันโดษในบริขารที่ตนมี จึงรู้สึกว่าเราควรเลือกถวายของที่ไม่ส่งเสริมกิเลสให้กับท่าน

. เรื่องประวัติหลวงปู่มั่น เคยได้ยินหลวงพ่อเทศน์บ่อยๆ ว่า หลวงปู่เจี๊ยะและหลวงตาเป็นพระอุปัฏฐากให้หลวงปู่มั่น แต่ก็ได้เห็นครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ อย่างพระองค์หนึ่งเล่าประวัติว่าท่านเคยอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น และเคยออกธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่มั่นเช่นกัน จึงอยากทราบเวลาที่ครูบาอาจารย์อื่นๆ ได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นนอกเหนือจากหลวงปู่เจี๊ยะและหลวงตาครับ

ตอบ : นี่คำถามเขานะ เอาคำถามข้อที่ ๑. ก่อน. เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนที่ชอบทำบุญมาก มักถวายของชั้นเลิศแก่ภิกษุเสมอ อาทิเช่น จีวรอย่างผ้าป่านอย่างประณีต อยากทราบวิธีในการวางใจเวลาเพื่อนมาชวนทำบุญ

เขาบอกว่าเพื่อนชอบทำบุญมาก แล้วชอบถวายของที่ประณีต ชอบถวายของดีๆ ให้พระ ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วเวลาถวายจีวร ถวายจีวรอย่างดี แล้วจะวางใจ คือเขามาชวนทำบุญน่ะ พอเขามาชวนทำบุญ ตัวเองทำใจไม่ได้ ทำใจไม่ได้เพราะตัวเองก็เคยบวชพระมาเหมือนกัน

ถ้าบวชพระขึ้นมาแล้ว เราศึกษาแล้ว เราศึกษารู้ว่าเวลาถวายพระ ถวายแต่ของที่ไม่ไปส่งเสริมกิเลสพระ สิ่งใดถ้ามันสวยเกินไป ดีเกินไป คือว่ามันติด ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ถ้าเราไม่ให้เขาติด ถ้าไม่ให้เขาติด จะส่งเสริมเขา เวลาส่งเสริมเขา เราก็ถวายของที่เราอยากทำบุญนั้น นี่เวลาความคิดของเรา ความคิดมันแบบว่ามันก้ำกึ่ง

แต่เวลาคนที่เขามีศรัทธาเขามีความเชื่อของเขา เขาถวายของเขา เขาอยากถวายของประณีต ทำบุญสิ่งที่ประณีต ใครทำอย่างใดได้อย่างนั้น ถ้าจิตใจของคนเขาอยากได้ของที่ประณีต แต่เวลาปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เวลาผู้รับล่ะ ถ้าผู้รับเขาเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องไหม ถ้าผู้รับเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

อย่างเช่นเขาถามว่า ประวัติหลวงปู่มั่น

เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกเลย หลวงปู่มั่นท่านใช้ผ้าบังสุกุล คือท่านใช้ผ้าเก็บเอาจากข้างทาง หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยใช้ผ้าคหบดีจีวรเลย เว้นไว้แต่ว่าท่านใช้เฉพาะที่ว่าเป็นอังสะที่เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ท่านทอด้วยมือ ทอด้วยมือเอง ทำด้วยมือทั้งหมด แล้วไปถวายท่าน แล้วเป็นลูกศิษย์ท่าน บอกว่านี่ทำด้วยมือ อยากจะถวายอาจารย์ ให้อาจารย์กรุณาช่วยใช้สอยให้หน่อย

หลวงตาท่านบอกท่านเห็นก็เห็น ๒ ผืนนั้นน่ะ นอกนั้นท่านใช้เก็บเอา หลวงปู่มั่นท่านเก็บเอา แบบว่าผ้าบังสุกุลคือคนมาพาดบังสุกุล คือคนมาทิ้ง หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นตัวอย่าง

ไอ้เรื่องที่ว่าผ้าที่ประณีต ผ้าที่ว่าสุดยอดไปถวายพระ มันเป็นบุญของคนถวายไง มันเป็นบุญของคนที่ถวายนะ คนที่ถวายเขาอยากถวายประณีต

แต่เราเห็น เราเคยอยู่กับหลวงตามาก็เหมือนกัน หลวงตากับหลวงปู่มั่น เราไม่เคยเห็นว่าท่านห่มผ้าไหม หลวงตานี่ไม่เคยใช้เลยนะ ผ้าไหม เราอยู่กับท่านนะ เขามาถวายผ้านี่นะ ผ้าไหมตัดเป็นจีวร ตัดเป็นสังฆาฏิ จีวร สบงได้ ๒ ชุด ท่านบอกว่าให้พระองค์นั้นตัดๆ ท่านไม่เอา ท่านให้คนอื่น แต่ท่านใช้ผ้าธรรมดา ใช้ผ้ามัสลิน ผ้าธรรมดา แล้วเวลาท่านตัดเสร็จแล้วคืนนั้นท่านก็เทศน์

ท่านเทศน์นะ ท่านบอกว่า เวลาตัดไปใช่ไหม หลวงตาท่านให้พระองค์ใด ทุกคนก็จะมองว่าเหมือนกับหลวงปู่มั่นให้ผ้าองค์นั้นก็เอาไปโฆษณาชวนเชื่อ

ในประวัติพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแลกผ้ากับพระกัสสปะ เพราะพระกัสสปะเป็นพระธุดงค์ แล้วใช้ผ้าบังสุกุลเก็บปะๆ จนสังฆาฏิมันถึง ๗ ชั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม พระกัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ทำไมเธอต้องทำขนาดนั้น เธอก็อายุมากแล้ว ชราภาพแล้ว ควรจะอยู่สุขสบายกว่านี้

พระกัสสปะบอกว่าข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อข้าพเจ้าเอง

ข้าพเจ้าก็อย่างว่า ข้าพเจ้าเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ว่าอย่างนั้นเลยนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุนะ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแลกสังฆาฏิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระกัสสปะ

ผ้าจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ต้องเป็นผ้าที่ประณีต จริงไหม แลกกับผ้าพระกัสสปะคือผ้าบังสุกุลที่ปะชุนๆ ถึง ๗ ชั้นน่ะ ขอแลกเลย นี้มันเป็นเกียรติประวัติของพระกัสสปะ

นี่ก็เหมือนกัน ทีนี้เวลาใครไปอยู่กับครูบาอาจารย์ใช่ไหม ครูบาอาจารย์ให้ผ้าก็บอกว่า ครูบาอาจารย์ชื่นชมเรา ครูบาอาจารย์ แหม! ท่านไว้ใจเรา

นี่ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านเคยได้ มีคนมาถวายผ้าไหม ท่านให้พระ ๒ องค์นั้นตัด พอตัดเสร็จแล้วคืนนั้นท่านก็เทศน์ ท่านบอกเลยนะ เวลาตัดผ้าไหมแล้ว เวลาห่มแล้ว ถ้าเป็นคนที่มีคุณธรรม ท่านบอกเลย ไอ้คนนั้นมันมีขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ก็บอกว่าไม่ใช่ผ้าไหมห่มขี้ แล้วให้แบบว่าต้องให้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง

ท่านพูดเปรียบเทียบเลยนะ ไปห่มขี้ ห่มขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงไง ท่านบอกว่าจีวรไม่ใช่จีวรห่มขี้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีงาม ถ้ามันเป็นทองคำ สิ่งที่ห่ม ท่านพูดดักไว้หมดเลย เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านสังคมมา สังคมเวลาได้สิ่งใด จับต้องสิ่งใดแล้วก็จะเอาไปพูดคิดเองเออเองไปหมด

ฉะนั้น เวลาเขาถวายผ้าไหมมาเพื่อเป็นบุญกุศลของเขา หลวงตาท่านก็ให้พระใช้ แต่ท่านไม่ใช้ หลวงตาไม่เคยห่มผ้าไหม หลวงปู่มั่นก็ไม่เคยห่ม ไม่เคยหรอก แล้วถ้าใครอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ถ้าท่านไม่เคยทำ เราจะไปทำเกินหน้าเกินตา มันทำไม่ลงหรอก คนที่มีความคิดเขาไม่ทำ

ทองห่มขี้ ขี้ห่มทอง เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เพราะอะไร เพราะถ้าไม่พูดไว้นะ ไอ้คนที่ได้นั้นมันก็จะไปพูดตลอดไปว่ามันได้สิทธิพิเศษ ใครไปอยู่กับหลวงปู่มั่นออกมาก็ว่าหลวงปู่มั่นให้นู่นเราพิเศษ หลวงปู่มั่นให้นี่เราพิเศษ คิดว่ากันอย่างนั้นหมดแหละ

ฉะนั้น พูดถึงบอกว่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม ไอ้สิ่งที่ว่าประณีตหรือไม่ประณีต มันไม่ไปสะเทือนท่านหรอก แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นหลักชัยนะ ท่านจะทำเป็นตัวอย่าง

หลวงปู่มั่นท่านทำเป็นตัวอย่าง หลวงตาท่านพูดว่า ตั้งแต่อยู่กับครูบาอาจารย์มา ไม่มีองค์ใดที่จะทำได้ตลอดชีวิต หลวงปู่มั่นท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิตนะ ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ฉันมื้อเดียวตลอดชีวิต ขนาดหลวงตา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลากลางวันท่านฉันอาหารไม่ได้เพราะท่านป่วย ท่านป่วย อายุ ๘๐ แล้ว หลวงตาท่านไปเอาน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าวให้ท่านฉัน ท่านบอกฉันไม่ได้หรอก ฉันไม่ได้

ทำไมล่ะ

เพราะฉันแล้วไอ้พวกตาดำๆ มันมองอยู่ คนที่เขาจะเอาเป็นแบบอย่างมันจะถอดใจไง

หลวงตาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นไอ้พวกนั้นก็เป็นเทวทัต เพราะอะไร เพราะว่าครูบาอาจารย์เวลาทำดี เวลาทำมุมานะ ทำดี มันก็ไม่มอง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แค่ฉันน้ำมะพร้าว มันจะมาจับผิดว่าไม่เข้มแข็ง ไอ้พวกนั้นก็เป็นเทวทัต

จะเป็นเทวทัตหรือไม่เป็นเทวทัต ท่านก็ไม่ฉัน ท่านไม่ฉัน ท่านทำตัวเป็นแบบอย่าง

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าผ้าประณีต ผ้าต่างๆ ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ถ้าท่านรับไว้ เขาเรียกว่าสงเคราะห์ รับไว้เพื่อประโยชน์กับคนอื่น รับไว้เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น ตัวท่านเองท่านไม่ทำให้หลักการของท่านไขว้เขว ไม่ทำให้หลักการของท่านเสียหาย นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริงท่านเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าถวายของประณีตนะ

เพราะเขาบอกว่า ถวายของประณีต แล้วเราจะวางใจได้อย่างไร เพราะเขามาชวนทำบุญ

ก็มาชวนทำบุญน่ะ ก็จะควักไปกับเขาน่ะ จิตใจของเราจะทำอย่างไร เราก็ทำของเราสิ เขาจะทำประณีตของเขา แล้วมันจะมาชวนกับเราให้เราควักเยอะๆ ไอ้เราก็คิดว่าเราทำไม่ได้

แล้วถ้าเราจะทำ เห็นไหม ผมก็เคยบวชพระมา มันต้องมักน้อยสันโดษสิ บริขารตน อย่าไปเสริมกิเลสพระ อย่าไปเสริมกิเลสพระนะ

พระก็มาจากคน เวลาพระนะ เห็นบริขารของครูบาอาจารย์ ดูแล้วมันสวยงามไปหมด มันไม่ใช่สวยงามที่บริขารหรอก มันสวยงามคนที่รักษา เขาเก็บเขาพับของเขาเรียบร้อย

ไอ้เรานะ เคยเก็บเคยพับไหม เวลาพระบิณฑบาตกลับมาแล้วเขาต้องผึ่งผ้า ผ้ามันจะซับเหงื่อมา ซับเหงื่อมา เขาจะผึ่งเลย ผึ่งผ้าให้ผ้ามันแห้ง ให้แดดมันดับกลิ่น เสร็จแล้วเขาจะพับ เวลาเขาพับผ้า เขาพับของเขาตึงเปรี๊ยะเลย พับซะเรียบร้อยเลย ยิ่งผ้าของครูบาอาจารย์ เราไปมอง โอ้โฮ! ผ้านี่สวยมากเลย

ความจริงผ้าก็คือผ้าทั่วไปนี่แหละ แต่มันอยู่ที่คนรักษา อยู่ที่คนใช้งาน คนรักษา คนใช้งานเขามีสติ เขามีคุณธรรม ของนั้นก็เลยมีคุณค่าขึ้นมา

แต่ถ้าคนมันขาดสติ คนมันมักง่าย คนมันเห็นแก่ได้ ไปเอาผ้าที่ดีขนาดไหนมาให้มันใช้มันก็ไม่เป็นประโยชน์ขึ้นมา เพราะมันไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักรักษา

การเก็บรักษาคือข้อวัตร ข้อวัตรครูบาอาจารย์ท่านฝึกหัดกันมา ถ้าท่านฝึกหัดกันมานะ ผ้านี่ เวลาบิณฑบาตกลับมาต้องผึ่งก่อน เพราะให้ดับกลิ่นของมัน เวลาฉันข้าวเสร็จแล้ว เช็ดบริขาร เช็ดบาตร ต้องผึ่งแดดไว้ให้ดับกลิ่น

แล้วผึ่งแดดก็ผึ่งมากไม่ได้ ผึ่งมากเกินไปนะ ผึ่งร้อนเกินไปก็เป็นอาบัติทุกกฏ ไม่ผึ่งเลยก็เป็นทุกกฏ ผ้าก็เหมือนกัน ถ้าไม่ตาก ไม่ผึ่ง พับเลย ก็เป็นอาบัติ ถ้าไม่ดูแลรักษาก็เป็น ถ้าไปดูดาย ตากไว้ ผ้านี้ผึ่งไว้เพื่อดับกลิ่น ตากไว้เช้า เย็นยังไม่เก็บเลย เพราะยิ่งตอนกลางวันแดดมันยิ่งดี นั่นก็เป็นอาบัติ นี่การบำรุงรักษาไง

ที่บอกว่า พระต้องมักน้อยสันโดษ

พระเขามีข้อวัตรของเขา ถ้าเขามีคุณธรรมของเขา เขาจะรักษาของเขา ถ้ารักษาของเขา นั่นแสดงว่าเขาได้ผ่านครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนมา เห็นไหม ลูกพ่อแม่สั่งสอนมาดี ลูกก็เป็นคนดี

เวลาพระองค์นั้น ผู้ที่ปฏิบัตินั้นเขาไปทำตัวเหลวไหล ก็บอกว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ครูบาอาจารย์ไม่สั่งสอนมา เขาก็ไม่มีข้อวัตรของเขามา เขาก็ทำทิ้งๆ ขว้างๆ ไง

มันเป็นได้ ๒ ฝ่าย ถ้าคนมันดีมันก็ดีไปทั้งหมด ถ้าคนมันมีปัญหา มันก็มีปัญหาไปเอง ถ้ามีปัญหาไปเอง

ครูบาอาจารย์ของเราถ้าเป็นที่ดี ท่านมีหลักการของท่าน ท่านมีหลักการของท่าน เราถวาย คนเขามาถวาย มันเป็นที่จิตใจสูงต่ำ ถ้าจิตใจเขาสูง เขาถวายสิ่งที่ประณีต เขาถวายอะไร เขาถวายเพื่อใจของเขา

แต่คนของเรานะ จิตใจเรา หนึ่ง จิตใจเราสูง แต่เราไม่มี เราทำไม่ได้อย่างนั้น เราก็ทำด้วยกำลังของเรา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา เวลาจะเอาจริงๆ ขึ้นมา ทานทำมากขนาดไหนแล้วเราอยากพ้นทุกข์ เราก็ต้องภาวนา

ถ้าภาวนา เวลามานั่งแล้วมันเสมอภาคกันทั้งนั้นน่ะ ถ้าเสมอภาคแล้วมันก็อยู่ที่บุญกุศลที่สร้างมานั่นน่ะ ที่ว่าประณีตไม่ประณีต มันภาวนาง่ายภาวนายากอยู่นี่ไง

ทำไมพระสีวลีเป็นผู้ที่มีลาภมากที่สุด เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์บางองค์ ทำไมเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ไม่เคยกินข้าวอิ่มสักมื้อหนึ่ง เห็นไหม มันก็อยู่ที่การทำมา อยู่ที่การทำมาๆ ทำมาก็เรื่องระดับของทาน จริตนิสัยที่ได้สร้างมา ถ้าสร้างมาแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติตรงตามจริตนิสัย มันก็ทำให้เราได้ชำระล้าง สำรอกคายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

ถ้าชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเอตทัคคะ ๘๐ องค์ยังไม่เหมือนกันเลย พระอรหันต์ ๘๐ ความถนัด ใครมีความถนัด ใครมีวาสนาอย่างไรก็ตั้งแบบนั้น นี่มันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน แต่ความสะอาดบริสุทธิ์มันเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราทำทานของเรา จะสูงจะต่ำขนาดไหน ถ้าเราทำด้วยกำลังของเรา เรามีความสามารถขนาดนั้น แล้วเราจะมานั่งสมาธิภาวนา ถ้าภาวนาขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติของเรา ถ้าสมบัติของเรา ของจริงมันอยู่ที่นี่

ฉะนั้น ไอ้เราก็ไปบอกว่า เราไปส่งเสริมกิเลสของพระ หรือเราไปช่วยบั่นทอนกิเลสของพระ แล้วก็เห็นพระดี เห็นพระไปแล้วเราก็ให้น้อยๆ ไว้ พระองค์นี้จะได้ภาวนาเก่งๆ

แล้วมันจะเป็นจริงอย่างนั้นไหม มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนาของพระนั้นด้วย อันนี้ไม่ได้พูดเพื่ออยากได้หรอก ไอ้นี่พูดตามข้อเท็จจริง นี่พูดถึงถวายของนะ

. เรื่องประวัติหลวงปู่มั่น เคยได้ยินหลวงพ่อเทศน์บ่อยๆ ว่า หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แต่ก็ได้เห็นครูบาอาจารย์อื่นๆ เช่น หลวงพ่อองค์หนึ่งท่านก็เล่าประวัติว่าท่านก็เคยได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นเหมือนกัน และได้ออกธุดงค์กับหลวงปู่มั่นด้วย

อันนี้มันเป็นที่ว่า คิดไปเอง พูดไปเอง เออไปเองก็ได้ อย่างกรณีนี้ใครอยู่กับหลวงปู่มั่น ทุกคนก็อยู่กับหลวงปู่มั่นมาก พระที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นมากมายมหาศาล แต่เวลาพระที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่ว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของหลวงตามันมีกี่องค์

นี่ก็เหมือนกัน การที่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ก่อนที่พระอานนท์จะเป็นผู้ที่อุปัฏฐาก มีผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอด สิ่งที่นาคิตะๆ ก็เป็นพระที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านาคิตะ นั้นใครส่งเสียงดังกัน

เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร พระสารีบุตรบวชให้ แล้วมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับมาพักก่อนตอนเย็น มาถึงก็เข้ามาพัก ก็มาจัดที่กัน มันส่งเสียงดัง พอส่งเสียงดัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพักอยู่ ถามพระนาคิตะ เพราะพระนาคิตะเป็นผู้อุปัฏฐาก นาคิตะ นั้นใครเขามาส่งเสียงดังกัน เหมือนกับชาวประมงเขามาหาปลากัน นั้นคือใคร

พระนาคิตะบอกว่าเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระนาคิตะนาคิตะ ไล่ออกไป นี่มันชาวประมง นี่ไม่ใช่พระ ไล่ออกไป

พระนาคิตะไล่พระพวกนี้ออกไปหมดเลย ไล่ออกไปเพราะมาส่งเสียงดัง พอส่งเสียงดัง เพราะเขาไม่รู้จักข้อวัตรไง เพราะพระบวชใหม่ คืนนั้นพอตกเย็นนั้นเทวดามาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เทวดามาเฝ้าเลยนะ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกว่าตถาคต สิ่งที่ตถาคตทำไปมันเกินกว่าเหตุไปหรือเปล่า เพราะพระที่มาบวชมันพระบวชใหม่ แล้วตถาคตไล่ออกไปมันจะเสียโอกาสนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช้ามาให้พระนาคิตะไปนิมนต์พระพวกนั้นกลับมา แล้วเทศนาว่าการจนพระพวกนั้นเป็นพระอรหันต์

นี่พระนาคิตะ พระองค์อื่นอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทั้งนั้นน่ะ แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งให้ใครเป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ไม่ได้มีตำแหน่ง เวลามีตำแหน่งขึ้นมา พระก็ประชุมกันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ไม่มีใครเป็นผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวเป็นตนเลย มีใครสมัครใจก็มาทำ พอไม่สมัครใจก็หนีไป ทอดทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางไว้ ไม่มีใครดูแล สงฆ์ประชุมกัน ก็เลยตั้งพระอานนท์ขึ้นมาเป็นผู้อุปัฏฐาก

ทีนี้พระอานนท์จะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอพรไว้เลยอย่างหนึ่ง ไปเทศน์ที่ไหนมาแล้วต้องเทศน์ให้ผมฟังด้วย แล้วถ้าได้ลาภสักการะมา ห้ามให้ผม

พระพุทธเจ้าถาม เพราะเหตุใด

ที่ขอพรนี้เพราะว่าถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศนาว่าการที่ไกลที่พระอานนท์ไม่ได้ไปด้วย แล้วเวลาคนมาถาม ถ้าพระอานนท์บอกไม่ได้ เขาจะหาว่าพระอานนท์ปฏิบัติโดยที่ไม่สนใจ ขนาดพระพุทธเจ้าพูดอะไรยังไม่รู้เรื่อง

แล้วถ้าใครมาถวายของพระพุทธเจ้าแล้วให้พระอานนท์ ไม่รับเพราะเหตุใด

ถ้าให้รับ เดี๋ยวเขาหาว่าที่อุปัฏฐากนี้ก็อุปัฏฐากเพื่อลาภสักการะ

พระอานนท์ป้องกันไว้หมด นี่นักปราชญ์กับนักปราชญ์ ก็เลยตั้งพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากถาวร ถาวรมาตลอดเลย

นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านอุปัฏฐากส่งต่อเนื่องกันมา หลวงปู่เจี๊ยะอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เชียงใหม่ ตั้งแต่ป่วย ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาล แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเป็นผู้อุปัฏฐากมา แล้วก็มาที่วัดป่าโนนวิเวก มา ๒ ปี ๓ ปี

สุดท้ายแล้วเวลาหลวงตาท่านเข้าไปหาหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านไปฝึกกับหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะหลวงตาท่านเล่าเองเจี๊ยะสอนเรา เจี๊ยะสอนเราสุดท้ายแล้วหลวงตาท่านก็เข้าไปรับอุปัฏฐากเป็นตัวเป็นตนน่ะ

องค์อื่นที่ว่าอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ใครก็อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นได้ เพราะอะไร เพราะว่าคนที่เป็นตัวเป็นตนคือหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านเป็นผู้อุปัฏฐาก ท่านเป็นผู้ควบคุม ท่านเป็นหัวหน้า

หลวงตาท่านบอกว่าท่านจะมายืนดูเลยว่าใครเป็นคนขึ้นไปเอาบาตรลงมา ใครเป็นคนเอาจีวรลงมา ท่านมาคุม ก็เป็นทีมงานน่ะ ทีมงานที่อุปัฏฐาก ทีมงานพระเล็กๆ พระน้อยๆ ก็เข้าไปฝึกหัดๆ แต่มันไปฝึกหัดๆ โดยการควบคุมของหลวงปู่เจี๊ยะ ควบคุมโดยหลวงตา

ที่ว่าพูดเรื่องผ้าๆ

หลวงตาท่านพูดเอง เราดูสิ นิสัยหลวงปู่เจี๊ยะเป็นแบบนี้ แต่เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านละเอียดขนาดไหน แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนพับผ้า เป็นคนอุปัฏฐากบริขาร บริขารนี้เป็นที่คนดูแล หลวงปู่เจี๊ยะพับผ้านี่เปี๊ยบๆ เลยล่ะ ถ้าไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ นี่เวลาท่านพับให้หลวงปู่มั่น แต่เวลานิสัยของท่านเป็นอย่างนั้น เวลาท่านอยู่ของท่านเองเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านได้อุปัฏฐากเป็นตัวเป็นตน แล้วหลวงปู่มั่นท่านพูด หลวงปู่เจี๊ยะท่านมารู้ทีหลังไง เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านออกมา แล้วหลวงปู่มั่นพูดกับโยมที่หนองผือ แล้วโยมที่หนองผือมาที่วัดป่าภูริทัตตฯ มาบอกหลวงปู่เจี๊ยะ เราอยู่ที่นั่นด้วย บอกว่า เวลาหลวงปู่เจี๊ยะออกจากหลวงปู่มั่นไป หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเจี๊ยะทิ้งเราไป เจี๊ยะทิ้งเราไปนะเวลาท่านพูดอะไรท่านจะถามหาเลยว่าหลวงปู่เจี๊ยะอยู่ไหน ท่านระลึกถึงน่ะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านระลึกของท่านถึง ท่านเห็นบุญเห็นคุณไง สัทธิวิหาริกที่อุปัฏฐากดูแลเรา เจ็บไข้ได้ป่วยก็คอยดูแลนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ไปกำไว้ เอาธาตุไฟจากพระหนุ่มๆ ไปสู่พระแก่ เพื่อจะให้ร่างกายมันอบอุ่น ท่านมีน้ำใจ ท่านรักท่านเคารพกันด้วยหัวใจ

เจี๊ยะทิ้งเราไป เจี๊ยะทิ้งเราไป

ยิ่งเวลาพอจากหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านก็ถ่ายทอดมาถึงหลวงตา หลวงตาท่านอุปัฏฐากต่อจากหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านก็ดูแลไปหมด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เขาว่าพระองค์นั้นอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นน่ะ

ได้ยินคนอื่นเขาพูดกันบ้างหรือเปล่า มีใครพูดว่าได้อุปัฏฐากบ้างไหม ก็เขาพูดเอง แต่หลวงปู่เจี๊ยะนี่หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนพูด หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนพูดเองว่าเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลเรา แต่องค์อื่นน่ะมีไหม

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บนะ มันก็เข้าถึงสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เทวทัตก็อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน เทวทัตไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจะปกครองสงฆ์จะปกครองสงฆ์ พระสงฆ์ต้องเคร่งครัดอย่างนั้น เคร่งครัดอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตสักอย่างหนึ่ง เพราะความรู้เขาไม่รอบคอบ เขาไปพูดอย่างนั้นมันไปปิดโอกาสของคนอื่นเขา ดูสิ บอกว่า ต้องห้ามรับกิจนิมนต์ ต้องบิณฑบาตตลอดชีวิต ต้องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ห้ามอยู่ในที่มุงที่บัง ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต คือขอจะให้โลกเขาเห็นว่าฉันเคร่งกว่าพระพุทธเจ้า ฉันทำตัวดีกว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตเลย เทวทัตน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เขาว่าอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วมีใครพูดว่าอุปัฏฐากบ้าง มีใครเป็นคนรับรองว่ามีการอุปัฏฐากบ้าง มีใครเขาพูดกัน มีใครเขายอมรับ

มันไม่มี ไม่ใช่ไม่มีธรรมดานะ หลวงปู่มั่นท่านก็ไม่ยอมรับ แต่เคยไปอยู่กับหลวงปู่มั่นไหม เคย ทุกคนไปอยู่กับหลวงปู่มั่นทั้งนั้นน่ะ แต่หลวงปู่มั่นยอมรับหรือเปล่า

ถ้าหลวงปู่มั่นยอมรับ ดูสิ หลวงปู่ลี วัดอโศการาม เวลาไปคารวะหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดเอง หลวงปู่มั่นสั่งให้ไปสร้างกระต๊อบให้ในป่า บอกว่าไปอยู่เมืองมา เวลามาคารวะให้อยู่ในป่า แล้วเวลาไปสร้างกระต๊อบ หลวงปู่มั่นท่านไปดูเองเลย แล้วเวลาศักยภาพของเขา ศักยภาพของหลวงปู่ลีมาสร้างวัดอโศฯ เป็นที่พักของกรรมฐาน

เวลาถ้ามันมีความผูกพันกันจริง สังคมเขายอมรับ ถ้ามันไม่มีความผูกพันกันจริง สังคมเขาไม่ยอมรับ สังคมเขาไม่ยอมรับ ถ้าสังคมไม่ยอมรับ มันเป็นการว่าคิดไปเอง เออไปเอง คิดไปเอง เออไปเอง ก็พูดคนเดียว พูดคนเดียว ถ้าพูดข้างเดียวมันไม่มีใครจับผิดนะ

ฉะนั้น เราจะบอกว่า สังคมพระ พระที่เขามีคุณธรรมเขาจะพูดแต่เรื่องที่เป็นมงคล เรื่องที่ไม่เป็นมงคลเขาไม่พูดถึง ฉะนั้น คนที่เขาไม่พูดถึง ก็ถือว่าตัวเองพูดเองเออเองอยู่คนเดียว ก็คิดว่าถูกต้องดีงามไง คิดอยู่คนเดียว พูดอยู่คนเดียว

แต่ผู้ที่เขาเป็นบัณฑิตเขาไม่ต่อล้อต่อเถียง เขาไม่มาข้องแวะวอแว เขาเป็นคนมีคุณธรรมไง นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตา ท่านมีคุณธรรมของท่าน อะไรผิดอะไรถูก ท่านเก็บไว้ในใจ เขาไม่พูดออกมา ถ้าไม่พูดออกมา

ทีนี้เขาก็ถาม. เรื่องประวัติหลวงปู่มั่น เคยได้ยินหลวงพ่อเทศน์บ่อยๆ ว่าหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น

อ้าว! ก็เราอยู่กับหลวงตา อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมา ท่านเล่าให้เราฟังอย่างนี้ ท่านเล่าให้เราฟังอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างนี้ก็ว่าหลวงพ่อพูดอยู่บ่อยๆ กับหลวงะปู่เจี๊ยะ หลวงตา แล้วองค์อื่นหลวงพ่อกันท่า

คิดว่าหลวงพ่อจะกันท่าใช่ไหม ผู้ที่มีคุณธรรมเขาไม่พูดออกมานะ ไม่ใช่กันท่านะ หลวงปู่มั่นท่านสร้างศาสนทายาท ท่านต้องการให้เกิดศาสนทายาท ท่านต้องการคนที่สืบต่อไป ไม่ใช่อย่างที่เขาทำกันอย่างนั้นหรอก

เพราะเวลาเขาทำกัน เวลาหลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาหลวงตาท่านพูดเลย หลวงปู่มั่นท่านสั่งสอนว่า ไม่ให้ทิ้งผู้รู้ ไม่ให้ทิ้งพุทโธ จะไม่เสีย ไม่ให้ทิ้งผู้รู้ ไม่ให้ทิ้งพุทโธ แล้วเวลาท่านภาวนา ท่านภาวนาเป็นตัวอย่าง ท่านทำให้เป็นตัวอย่าง เวลาประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่าง แล้วเวลามีปัญหา ท่านแก้ให้ได้

แต่ไอ้นี่เวลาคนที่เขาบอกเขาเคยอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วเขาสอนอะไรล่ะ เขาสอนอะไร เขาทำอะไร มันเป็นมรรคหรือเปล่า มันเป็นมรรคเป็นผลไหม มันไม่มีเลย มันไม่มีมรรคไม่มีผล มันไม่มีเหตุมีผล

แต่หลวงตาเวลาท่านสอนนะ ท่านสอนมีมรรคมีผลของท่าน แล้วทำจริงได้จริง แล้วทำเหมือนกัน ไอ้นี่พูดถึงความจริงไง

ฉะนั้นบอกว่า หลวงพ่อพูดอยู่บ่อยๆ ว่าหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาเท่านั้น แล้วเวลาพระองค์นั้นก็เป็นอย่างนั้น ทำไมหลวงพ่อไม่พูดถึง

อยากให้พูดไหมล่ะ อยากให้พูดหรือเปล่า โอ้โฮ! ถ้าพูดออกมา สงครามจะเกิดน่ะสิ อยากให้พูดหรือ ไม่พูดน่ะมันดีแล้ว ไม่พูดนั่นแหละ ขอให้เป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้เป็นสุขๆ เถิด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านะจึงอยากทราบว่า ช่วงเวลาครูบาอาจารย์ที่อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น นอกจากหลวงปู่เจี๊ยะและหลวงตา

เกือบทั้งหมดนะ เราได้ยินมาเกือบทั้งหมด เช่น หลวงปู่ฝั้น แต่เช้าขึ้นมาท่านก็จะไปเพื่อจะเอาน้ำอุ่นเพื่อให้หลวงปู่มั่นได้ล้างหน้า ท่านบอกว่าท่านไปตี ๔ ไปถึงมีคนมานั่งรออยู่แล้ว มีพระองค์อื่นมานั่งรออยู่แล้ว พรุ่งนี้ไปตี ๓ ไปตี ๓ ก็ยังมีคนนั่งรออยู่อีก

คนที่มีคุณธรรมนะ หลวงปู่ฝั้น นี่เป็นคำหลวงปู่ฝั้นท่านเล่ากันมา ท่านน้อยใจ ท่านน้อยใจเพราะท่านมีโรคประจำตัว ท่านเป็นโรคกระเพาะ โรคประจำตัว ฉะนั้น ท่านจะขวนขวายให้เท่าทันคนอื่น ท่านทำไม่ทันคนอื่น แต่ท่านก็อยากได้บุญกับหลวงปู่มั่น ท่านอยากได้บุญกับหลวงปู่มั่นนะ ท่านก็อยากจะไปถวายน้ำไง อยากจะรับบาตร อยากจะเอาบาตรของครูบาอาจารย์มาเช็ดอย่างดีเลย

ทีนี้มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่ทำไม่เป็น เวลาไปเอาบาตรของท่านมา เอามาเช็ด คิดว่าเอามาเช็ด มันเลยกลายเป็นเอามาทำให้สกปรกไง การเช็ดนะ มันต้องล้าง ล้างเสร็จแล้วนะ สมัยก่อนเขาล้างด้วยใบตะไคร้ เพราะมันจะดับกลิ่น แล้วไอ้พวกผงซักฟอก พวกเครื่องใช้ยังไม่มี เขาจะล้างด้วยใบตะไคร้ พอมันดับกลิ่นเสร็จแล้วเราจะเช็ด เช็ดอย่างดีเลย เช็ดเสร็จแล้วเราจะผึ่งแดดให้มันดับกลิ่นด้วย แล้วถ้าคนมันไม่เป็น เวลาทำ มือมันไปจับไปต้อง มันจะมีรอยนิ้วมือ

เขาจะจับบาตรพระ เขาจะใช้ผ้า ใช้ผ้าเช็ดนี่จับ เขาไม่จับโดยมือของเราเอง จะมีผ้ารอง แล้วมาเช็ด จะไม่ให้มีพวกเหงื่อ พวกสิ่งที่จากร่างกายไปแตะต้อง จะเช็ดให้ดีเลย แล้วผึ่งไว้

ทีนี้คนทำไม่เป็น คนจะเช็ด คนจะอุปัฏฐากบริขารครูบาอาจารย์มันต้องฝึก แล้วพอฝึกแล้วมันต้องมีวุฒิภาวะ หมายถึงว่า ต้องมีคุณธรรม พอมีคุณธรรมมันยอมรับไง ยอมรับธรรมและวินัย อะไรผิดอะไรถูกไง

แต่ถ้าคนมีทิฏฐินะเฮ้ย! ทำไมจะทำไม่ได้ บาตรนี้เอาค้อนมาทุบยังได้เลย บาตรนี้เดี๋ยวจะทุบให้มันยุบบุบไปเลย เดี๋ยวจะซื้อให้อีก ๕ ใบ บาตรในตลาดเยอะแยะ ใบกี่สตางค์วะนี่ถ้าคนจิตใจมันหยาบนะ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรหรอก

บาตรมันก็คือบาตร เขาเอาไว้ฝึกหัวใจคน บริขารของครูบาอาจารย์เขาเอาไว้ฝึกพระ ฝึกสติ เขาเรียกว่าฝึกการอ่อนน้อมถ่อมตน การอ่อนน้อมถ่อมตนมันเท่ากับกดกิเลสของตัวเองไว้ กิเลสของเรามันอหังการ มันจะแสดงออก

แต่ถ้าเราเคารพครูบาอาจารย์ เราเคารพ เราอ่อนน้อมถ่อมตน เรายอม พอยอมขึ้นไปแล้วมันยอมรับ เรื่องบริขารเขาเอาไว้ฝึก เอาไว้ข่มขี่กิเลสของลูกศิษย์

แต่ไอ้ลูกศิษย์ที่มันมาอุปัฏฐากมันเศรษฐีไง บาตรนี่นะ ฉันจะซื้อทีหนึ่ง ๑,๐๐๐ ใบก็ได้ ถวายอาจารย์ เพราะเงินฉันมี มันกี่สตางค์ เดี๋ยวจะสั่งโรงงานทุบ สั่งโรงงานตีมาเลย เอาบาตรกี่ใบ

เวลามันคิดมันคิดอย่างนั้นน่ะ เพราะมันมองว่าของเล็กน้อย แสดงว่าจิตใจของเขาไม่ยอมรับ พอจิตใจเขาไม่ยอมรับปั๊บ เขาอุปัฏฐากทำสิ่งใดไปมันจะมีความเสียหายทั้งนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าหลวงปู่ฝั้นท่านจะไป ท่านน้อยใจของท่าน

บอกว่ามีใครบ้างที่ได้อุปัฏฐาก

ทุกองค์ องค์ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นทุกองค์ที่ได้เข้าไปนวดเส้นท่าน ได้เข้าไปอุปัฏฐากท่าน แต่การยอมรับของหัวใจ อย่างเช่นหลวงปู่ชา หลวงปู่ชาท่านก็เข้าไปหาหลวงปู่มั่น แล้วท่านเข้าไปหาหลวงปู่มั่นเพียงประมาณ ๑ อาทิตย์ ท่านก็ออก

พอท่านออกจากหลวงปู่มั่นไป พอสุดท้ายแล้วเขาไปถามหลวงปู่ชาว่าใครๆ เขาก็บอกเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วเขาบอกว่าหลวงปู่ชาเข้าไปแค่ ๗-๘ วัน ทำไมอ้างตัวว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น

หลวงปู่ชาท่านบอกว่า อ้าว! เราเป็นคนตาดี คนตาดี ๗ วันมันเข้าไปมันก็ขวนขวายเอาแต่สิ่งที่ดีๆ มา ไอ้คนตาบอดมันอยู่ ๗ ปีมันยังไม่รู้เลยอะไรถูกอะไรผิด

หลวงปู่ชาท่านตอบอย่างนี้ ท่านไปอยู่ ๗ วัน ๘ วัน แต่ท่านมีหูมีตา ท่านไปเอาแต่สิ่งดีๆ มาเพื่อประโยชน์กับตัวท่าน แล้วท่านก็ถือหลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ของท่านน่ะ แล้วท่านก็ทำตามหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าก็เราคนตาดีนี่ถ้าคนมีปัญญานะ ถ้าเป็นคนมีปัญญา คนที่จะเอาประโยชน์ มันได้ประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่ฝั้นต่างๆ ท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านก็ทำคุณงามความดีของท่าน แล้วเวลาท่านมาปฏิบัติของท่าน ธรรมโอสถ ท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านนั่งจนหาย

เวลาไปอุปัฏฐากครูบาอาจารย์มามันมีบุญมีกุศลนะ แต่เวลาคนที่ไปอุปัฏฐาก ไปอุปัฏฐากแต่ชื่อเสียง จะไปเอาชื่อเอาเสียง เอาว่าเคยอยู่กับหลวงปู่มั่น

ดีอย่างหนึ่ง พระสงบเกิดไม่ทัน เพราะพระสงบเกิดปี ๒๔๙๔ หลวงปู่มั่นท่านเสียปี ๒๔๙๒ อย่างไรๆ เราก็ไม่ทันหลวงปู่มั่นอยู่แล้ว เราอ้างหลวงปู่มั่นไม่ได้ พระสงบอ้างหลวงปู่มั่นไม่ได้เพราะเกิดไม่ทัน ท่านนิพพานไปก่อนเรา ๒ ปี ท่านนิพพานตั้งแต่เรายังไม่เกิดแน่ะ

เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่น ไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่น แต่เราเคารพท่าน เราเคารพท่านเพราะเราได้ฟังมาจากหลวงปู่เจี๊ยะ ได้ฟังมาจากหลวงตา ได้ฟังแล้วหลวงตาท่านบอกท่านฟังประวัติหลวงปู่มั่นแล้วท่านต้องหันหน้าเข้าข้างฝาแล้วร้องไห้ว่าหลวงปู่มั่นท่านบุกเบิกมาทุกข์ยากขนาดไหน

ขนาดหลวงตาท่านน้ำตาไหล แต่หลวงปู่มั่นท่านรักษาของท่าน ท่านเล่าของท่านเป็นธรรมดา แล้วท่านปั้นหลวงตามา ปั้นหลวงปู่เจี๊ยะมา ปั้นครูบาอาจารย์มา แล้วเราได้เข้าไปฝึกฝน

ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ เราก็จะไม่มีใครตรวจสอบเราเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีใครตรวจสอบเรา เราก็ว่าเราเก่ง เออ! เราก็ว่าเราเก่งเหมือนกัน แต่เราเก่งขนาดไหน ไปเจอไม้หน้าสามทีเดียวหัวแบะทุกทีเลย เก่งขนาดไหนก็หัวแบะลงมาทุกที เราซาบซึ้งตรงนี้ เราได้ประโยชน์จากตรงนี้ ถ้าได้ประโยชน์ตรงนี้ เราถึงเคารพไง

นี่พูดถึงว่า ใครได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นบ้าง

ได้ทุกองค์แหละ แต่อุปัฏฐากแล้วเอามาเป็นประโยชน์กับเรา เอามาเป็นประโยชน์หมายถึงว่าเอามาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ เอามาเป็นหลักแล้วเราพยายามปฏิบัติตัวเราให้ดีขึ้น

ไม่ใช่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นแล้วหลวงปู่มั่นชมเราเก่งอย่างนั้น หลวงปู่มั่นชมเราเก่งอย่างนี้ หลวงปู่มั่นยกย่องเราอย่างนั้น”...เฮ้ย! จริงหรือวะ ใครมันจะเก่งขนาดนั้น

ฉะนั้น ยกไว้เนาะ ว่าหลวงพ่อชมแต่หลวงปู่เจี๊ยะ ชมแต่หลวงตา แล้วองค์อื่นล่ะ

องค์อื่นนะ ขอไว้ ขอไว้พูดหลังไมค์ หลังไมค์ค่อยคุยกันนะ อันนี้ปัญหาหนึ่ง

ฉะนั้น จะตอบปัญหาอันนี้ด้วย

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อด้วยความเคารพ หนูเป็นคนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติธรรมไปจนเห็นความเกิดดับ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา เห็นความไม่เที่ยงของสังขารว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และจะได้ธรรมะเป็นขั้นๆ จนถึงรูปเป็นอนัตตา เวทนาก็เป็นอนัตตา สัญญาก็เป็นอนัตตา สังขารก็เป็นอนัตตา จะเห็นอะไรมากมายในสมาธิในร่างอสุภะของเราพิจารณา

อยากกราบเรียนหลวงพ่อ ในการปฏิบัติขั้นสูงขึ้นไปกว่านี้ ขอความกรุณาหลวงพ่อโปรดเมตตาแนะนำในการปฏิบัติ ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งค่ะ

ตอบ : ถ้าอย่างนี้แล้ว คำว่าเห็นเป็นอนัตตาๆมันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นเรื่องสัญญา มันยังไม่เป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริง เราเข้าใจหมดแล้ว ถ้าเราปฏิบัติแล้วนะ เราเห็นว่ารูปก็เป็นอนิจจัง ทุกอย่างเป็นอนัตตา ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริงนะ

มันไม่เห็นตามความเป็นจริง มันเห็นโดยตัวตนของเรา มันเห็นโดยตัวตนของเรา เห็นไหม ที่ว่าโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา โลกียปัญญามันเป็นปัญญาสามัญสำนึก แค่สามัญสำนึกมันก็มหัศจรรย์แล้วนะ

คำว่ามหัศจรรย์คนทุกข์คนยากมีมหาศาลเลย พอศึกษาธรรมะ พอเข้าใจธรรมะแล้วมันปล่อยวางทุกข์ได้ นั่นก็มหัศจรรย์แล้ว

คนเวลาทุกข์ ทุกข์มาก มาศึกษาธรรมะแล้วเห็นว่ามันเป็นสัจจะมันเป็นความจริง เราโง่เอง ไปแบกมัน วางมันก็เป็นความดีแล้ว แล้วพอมาปฏิบัติๆ กิเลสมันหลอก ก็เห็นเกิด เห็นดับ เห็นทุกอย่างดับ

เห็น ถ้าเห็น สู้เราไม่ได้ เราเปิดไฟปิดไฟ กูเปิดทุกวัน เปิดก็ติด ปิดก็ดับ สวิตช์มันยังดีกว่าเราเลย สวิตช์ไฟเปิดดับๆ ไอ้นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาเพราะอะไร เพราะเราไปเห็นการเกิดดับ

เปิดไฟสิ รีโมตกดมันก็ติด ปิดมันก็ดับ พอดับแล้วก็เห็นเกิดดับ ถ้าเกิดดับอย่างนี้มันก็เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน จิตใจมันก็เหมือนกัน

ฉะนั้น เขาว่า. การปฏิบัติย่อมจะต้องเพียรให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ อยากถามว่าเราต้องอดอาหารใช่ไหมคะ ถ้าเรากินแต่น้อยจะได้ไหม แล้วจะอดได้นานไหมคะ เราจะกินแต่น้อย จะบรรลุธรรมขั้นต่อไปได้ไหมคะ

บรรลุธรรมอะไร ยังไม่ได้บรรลุอะไรเลย

ถ้าเดินสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป มัชฌิมาปฏิปทาสำหรับการกินและการเพียร นิพพานจะให้แจ้งได้ไหมคะ จะถึงนิพพานไหมคะ ในขณะที่นั่งบางทีอาการกายสั่นตัวสั่น ก็พยายามมีสติรู้อยู่ อาการอย่างนี้จะหายไหมคะ ถ้าจิตเราฟุ้งมาก เราจะแก้ไขอย่างไร แต่หนูฟังหลวงตาท่านบอกให้เอาสติแนบกับพุทโธ อย่าให้เผลอ แต่อยากขอคำแนะนำจากหลวงพ่อ ถ้าเราปฏิบัติไปเอง อยู่วัดที่ไม่มีครูบาอาจารย์ จะปฏิบัติต่อไปได้ไหมคะ ชาตินี้จะพ้นทุกข์ไหม แต่ก็พยายามฟังเทศน์หลวงตาเป็นประจำ

ได้ ฟังเทศน์หลวงตาเป็นประจำ การปฏิบัติ สิ่งที่พูดๆ มานี่มันขาดสมาธิ ถ้าเราพุทโธๆ ถ้าจิตสงบแล้วนะ อย่างที่ว่าเห็นอสุภะ เห็นต่างๆ เห็นแล้วมันจะสะเทือนหัวใจมาก ถ้าสะเทือนหัวใจ

มันขาดที่ว่าจิตของเรามันไม่มั่นคง เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น มันไม่มั่นคง ถ้าจิตมันตั้งมั่นนะ เวลามันน้อมไปพิจารณา รสชาติมันแตกต่างกัน ถ้ารสชาติแตกต่าง มันรู้จริงเห็นจริง รู้จริงเห็นจริงมันจะมาถอดถอนเลย

แต่ถ้าเรารู้เหมือนกัน เราอยากว่าต้องรู้ ต้องใช้ปัญญาๆ

ปัญญามันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญามันเป็นปัญญาอยู่แล้ว แล้วปัญญาเป็นสัญญา มันเป็นความจำ หลวงตาท่านบอกว่า เวลาปฏิบัติไปแล้วมันเป็นความจริง เวลาปฏิบัติต้องเป็นปัจจุบัน ถ้าไปเอาสิ่งที่เคยเป็นมานี่มันใช้ไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน พอไปเห็นมันเกิดดับทีเดียวก็ว่าเป็นของเรา มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง เรียนจบแล้วก็คือมีความรู้ของเราไง ความรู้นี้มันทบทวน ความรู้มันเป็นความจำ แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงมันเป็นปัจจุบัน

ปัจจุบัน ถ้าทำอย่างไร ต้องกลับมาที่ความสงบ กลับมาที่ความสงบแล้วน้อมมันไป ถ้ามันไม่ใช่ ดึงกลับมาที่ความสงบ ถ้ามีความสงบ พิจารณาแล้วมันจะเป็นจริง ถ้าไม่มีความสงบ พิจารณามันจะเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ข้อที่ ๑. ที่ว่าเราจะเร่งความเพียรได้ไหมคะ

ความเพียร เราทำของเราไป นี่เรื่องของความเพียรนะ จะบรรลุธรรม ทำอะไรไม่ได้ เรากลับมาที่สมาธิ กลับมาที่ความสงบ ถ้าสงบแล้วพิจารณาแล้วมันเป็นไปได้ก็เป็น ถ้าเป็นไปไม่ได้ กลับมาที่สงบอย่างเดียว ถ้าไม่กลับมาที่สงบ เวลาไปมันเป็นสัญญา สัญญามันไปหมดเลย

แล้วว่า ทางสายกลางต้องอดอาหารไหม ต้องอะไรไหม

ไอ้นี่มันอยู่ที่เราไง อดอาหาร ถ้ามันภาวนาแล้วมันภาวนาไม่ได้ ภาวนาไม่ลง มันเสียเวลา ถ้าเราอดนอนผ่อนอาหารมันเบาลง โอกาสภาวนามันจะได้ดีขึ้น ถ้าได้ดีขึ้น มันเป็นโอกาส การอดนอนผ่อนอาหารคือเปิดโอกาสให้จิตมันไปได้ ถ้าไม่อดนอนผ่อนอาหาร มันทับขันธ์ คือว่ามันหนักหน่วง มันอืดอาด การอดอาหารมันเป็นอุบายอันหนึ่ง

ฉะนั้น ไอ้เวลานั่งแล้วตัวสั่น

ตัวสั่น ปล่อยให้มันสั่นไป เวลานั่งแล้วตัวสั่น เห็นไหม เราพุทโธ ถ้ามันสั่น ลุกขึ้นเดิน เอาจิตไว้กับความรู้สึก สติ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ มันสั่นให้มันสั่นไป

ถ้ามันมีเวรมีกรรมนะ สั่นเป็นโรคกรรม ถ้าเราใช้ธรรมโอสถ ถ้ามันหายมันก็หยุดสั่น แล้วถ้าเป็นโรคกรรมนะ ถ้ามันเป็นเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไปให้หมอรักษาให้มันเป็นปกติ แล้วเราภาวนาของเราไป ตัวสั่นต่างๆ มันหายได้หมดแหละ มันหายมันถึงภาวนาไปได้ไง

แล้วถ้าจิตมันฟุ้งมาก เอาไว้กับพุทโธมันก็ถูกต้อง

กรณีนี้ ถ้าปฏิบัติที่วัดไม่มีครูบาอาจารย์ ฟังเทศน์หลวงตาก็ถูก เราทำของเราไป เราทำของเราไป อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ถ้ามันใช้ปัญญาว่าเห็นเกิดเห็นดับอะไร อันนั้นมันเป็นปัญญาโลกียปัญญา

ศึกษาธรรมะ ดูสิ เวลาเขาจบการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา ๙ ประโยค เขาวิเคราะห์วิจัยได้หมด แต่เขายังมาถามหลวงปู่ฝั้นแล้วผมจะปฏิบัติอย่างไรล่ะ

รู้ไปหมด แต่ปฏิบัติอย่างไรล่ะ เพราะรู้ไปหมด ความรู้มันมีอยู่แล้ว ความรู้มันเป็นความรู้ของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่ความรู้ของเรา

ถ้าความรู้ของเรา จิตสงบแล้วเวลามันใช้ภาวนามยปัญญา ความรู้เกิดจากจิตมันถอดมันถอน อันนั้นต่างหากภาวนามยปัญญา นี่มรรค

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล มรรคมันคืออะไรล่ะ งานชอบ เพียรชอบ นี่มันชอบไม่ชอบล่ะ มันงานของโลก งานของโลกคือเกิดจากผู้รู้ ถ้างานของธรรมล่ะ เกิดจากจิตที่สงบ จิตที่สงบมันเข้าไปถอดถอน มันเกิดจากอะไรล่ะ

ถ้ามันเป็นงานชอบ งานชอบ สติชอบ ความชอบ เพียรชอบ ปัญญาชอบ มันก็จะเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคมันก็เป็นการแก้กิเลส ถ้าแก้กิเลส มันจะกลับมาที่เรา

กลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วมันจะมีอะไรเป็นอุปสรรค ค่อยๆ แก้ไขไป แก้ไขไป แล้วเราทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราเอง

มันเป็นเวรเป็นกรรมที่เราทำมา เห็นไหม บัว ๔ เหล่า ใครทำเวรทำกรรมมามากน้อยขนาดไหน แล้วปฏิบัติไป เวรกรรมมันจะให้ผล ของใครของมัน มันจะออกมาทั้งนั้นน่ะ

แล้วผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ยาก ผู้ที่ปฏิบัติยากรู้ง่าย การปฏิบัติมันมีเวรมีกรรมของแต่ละบุคคล แต่มันก็เป็นที่เราทำมา เราทำมาแล้วเราก็แก้ไขของเรา เราแก้ไขของเรา เราทำของเราให้เป็นจริง

อย่างที่เขาถามเมื่อกี้นี้ ใครๆ ก็อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วอุปัฏฐากแล้วใครได้ประโยชน์ล่ะ

อุปัฏฐากมาเพื่อเป็นคติเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่อุปัฏฐากมาเอาไว้การันตีตัวเอง อุปัฏฐากเพื่ออะไร

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเพื่ออะไร เราปฏิบัติเพื่อตัวตนของเรา เราปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผล เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสนองตัวสั่น ไปสนองให้คนอื่นชื่นชม เราปฏิบัติเพื่อเรา เราปฏิบัติเพื่อแก้ไขเรา เราปฏิบัติเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง