ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถ้าเป็น

๒๗ ธ.ค. ๒๕๕๗

ถ้าเป็น

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสอบถามเรื่องการพิจารณากายครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมมีคำถามอยากเรียนหลวงพ่อดังนี้

. การเห็นภาพส่วนใดส่วนหนึ่งภายในกายชัดเจน แม้จะหลับตาหรือลืมตาอยู่ เรียกภาพที่เห็นอยู่นั้นว่าอุคคหนิมิตใช่ไหมครับ ระหว่างเห็นกายอุคคหนิมิตกับการเห็นโดยจินตนาการต่างกันอย่างไรครับ

. การพิจารณากายนั้นบางครั้งสามารถแบ่งส่วน แยกส่วน ขยายส่วน แล้วพิจารณากลับคืนสู่ธาตุเดิมได้ บางครั้งเกิดอาการขนลุกขนพองเมื่อทำต่อเนื่องซ้ำบ่อยๆ หลายวันนานเข้าพบว่าอาการขนลุกขนพองเริ่มหายไป นานๆ จึงจะมีอาการขนลุกขนพองเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แบบนี้ถือว่าผิดปกติไหมครับ

. เคยฟังเทศน์หลวงพ่อเรื่องวิญญาณในขันธ์ หลวงพ่อบอกว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ คือวิญญาณในอายตนะ สิ่งที่ผมสงสัยคือ แล้ววิญญาณในปฏิจจสมุปบาทนี้คือจิตใช่ไหมครับ

. จิตในโลกธาตุนี้มีเกิดใหม่อีกไหมครับ (คำถามนี้เป็นอจินไตย ไม่ควรคิดใช่ไหม)

ตอบ : เขียนมาป้องกันตัวไว้เลยล่ะ

ถ้าคนไม่ปฏิบัติก็คิดว่ามรรคผลจะมีจริงหรือเปล่า คนที่ไม่เชื่อเลย พวกนักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับธรรมะจะมีความขัดแย้งกัน ทางวิทยาศาสตร์เขาต้องพิสูจน์ให้ได้ เขาพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ตรวจสอบได้ แต่เขาบอกเรื่องจิตวิญญาณมันเป็นเรื่องนามธรรม ฉะนั้น มีความเห็นที่ขัดแย้งกัน

แต่เวลาเราเป็นปัญญาชน เราเป็นคนรุ่นใหม่ เวลาเราพูดเรื่องศาสนา เราก็พูดเป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้พอเป็นวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีมันต้องชัดเจน มันต้องถูกต้อง ต้องแม่นยำ ทีนี้พอแม่นยำขึ้นมา นั่นคือวิทยาศาสตร์ คือโลก

แต่เวลาเป็นธรรมะ ธรรมะมันมีอนิจจัง ความเป็นอนิจจังคือมันแปรปรวน ความอนิจจังมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ มันมีความหนาความหยาบ มันมีความหยาบ มีอย่างกลาง มีอย่างละเอียด คือว่ามันเป็นความคิด มันเป็นรสนิยม

มันเป็นรสนิยม หมายความว่า มันเป็นความรู้สึก มันเป็นคนกิเลสหนา กิเลสบาง กิเลสหยาบ มันแตกต่างกัน แม้แต่การพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกัน เห็นไหม นี่คือเรื่องของธรรมะ ฉะนั้น ธรรมะมันถึงเป็นเรื่องปัจจัตตัง เรื่องสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน

มันเป็นรู้จำเพาะตน แต่ต้องเป็นธรรมะนะ ต้องเป็นธรรมจริงนะ ไม่ใช่จินตนาการ ไม่ใช่รู้จำเพาะตนด้วยกิเลส ด้วยพญามาร ด้วยการสร้างอารมณ์ อย่างนั้นไม่ใช่ เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปมันยังมีกิเลส มีครอบครัวของมารมาครอบงำ

ฉะนั้น เวลาคนที่ไม่เชื่อ เวลาคนที่ไม่เชื่อเขาก็ว่าชีวิตนี้มีชีวิตเดียว คือเกิดมาชาติเดียว ตายแล้วก็จบ แล้วพวกที่มาวัดมาวา พวกที่มาศึกษาเรื่องวิญญาณ ทำไมเขายังงมงายกันอยู่ได้ขนาดนั้นเขาว่าอย่างนั้นนะเราก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน เราก็เชื่อเรื่องความดีความชั่ว เราก็เชื่อเรื่องบุญกุศล แต่เราไม่เชื่อเรื่องการเกิดการตาย เราไม่เชื่อนี่พูดไปนู่นเลย

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาไม่เชื่อ เขาคิดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาเชื่อขึ้นมาแล้วเราจะปฏิบัติ กิเลสมันก็มาหลอก กิเลสมันก็มาหลอกนะ มันมาสร้างภาพ มันมีอุปาทาน จิตใต้สำนึกร้อยแปด กิเลสนี้ร้ายนัก กิเลสนี้ร้ายนัก ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ที่เราผิดพลาดๆ กันอยู่นี่มันเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของพญามารทั้งนั้นน่ะ ไม่ใช่เรื่องของธรรมะเลย

เรื่องของธรรมะคือสัจธรรม สัจธรรมถูกต้องดีงามมาตลอด ที่ว่าธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิมๆ มันมีอยู่โดยดั้งเดิมมาโดยสัจจะ โดยทฤษฎี มันมีของมันอยู่อย่างนั้น แต่ผู้รู้ผู้เห็นมันไม่มี ผู้รู้ผู้เห็นไม่มีหรอก

ผู้รู้ผู้เห็นคนแรกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร ก็รู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เพราะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายเวลามาเกิด เกิดที่ลุมพินีเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย

เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย

เด็กเพิ่งเกิด ทารกเพิ่งเกิดมันจะมาบอกว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายได้อย่างไร

บอกชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายก็ด้วยบุญญาธิการไง

ด้วยบุญญาธิการบอกเราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแต่เจ้าชายสิทธัตถะเพิ่งเกิดใช่ไหม พอเกิดขึ้นมา พระเจ้าสุทโธทนะให้มีครอบครัว ชาติสุดท้ายอะไร มีครอบครัว มีสามเณรราหุลนั่นน่ะ นั่นเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นี่ยังเป็นปุถุชนอยู่ไง

เวลาเป็นปุถุชนอยู่ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาไปเห็นโทษการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราจะหาฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าไปหา ไปหาที่ไหน ก็ไปหากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไอ้พวกที่ปฏิบัติกันอยู่น่ะ เขามีคนสอนกันเยอะแยะไปหมดเลย ไปศึกษากับเขามาหมดเลย หมดไส้หมดพุงของอาจารย์หมดเลย แต่พวกอาจารย์เขาเชื่อนะว่านั่นคือพระอรหันต์ นั่นคือศาสดานะ นั่นคือพระอรหันต์ทั้งหมดเลยในลัทธิต่างๆ

แต่เจ้าชายสิทธัตถะไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะกูยังสงสัย มันยังมีอยู่ มีคือมีภพ มีคือมีตัวตน ตัวตนคือตัวเวียนว่ายตายเกิด ก็มีเราอยู่ ถ้ามีเราอยู่นี่ ไอ้ความสงสัยนี้เกิดจากเรานะ ถ้ามันมีเราอยู่ มันยังแก้ไขไม่ได้

สุดท้ายเลยกลับมาค้นคว้าของเจ้าชายสิทธัตถะเอง เวลารู้ขึ้นมา ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม มันอยู่ที่ไหน ทฤษฎี สัจธรรม ดูสิ มันมี แต่ว่าความรู้จริงมันไม่มี ความรู้จริงคือคนรู้มันไม่มี คนรู้ไม่มีจะเอามาสอนได้อย่างไร

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ เวลาอาสวักขยญาณมันถอนหมดแล้ว นั่นน่ะวิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นน่ะรู้จริง พอรู้จริงก็วางธรรมวินัยมา เรื่องบาลี มคธ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วเราก็ไปศึกษา

พอศึกษาขึ้นมา ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนา คนที่มีบุญญาธิการ บุญญาธิการ เวลาไปปฏิบัติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เต็มไปหมดเลย แต่คนที่ไม่เชื่อมาบวชเป็นพระก็เต็มไปหมดเลยเหมือนกัน

แล้วพวกลัทธิอื่นพอเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนาจนมีคนเชื่อถือ กษัตริย์ในแว่นแคว้นในชมพูทวีปเป็นลูกศิษย์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกือบทั้งหมดเลย

ทีนี้กษัตริย์มาเป็นลูกศิษย์ ดูสิ เศรษฐีกุฎุมพีเป็นลูกศิษย์ ลาภสักการะมันขนาดไหน ไอ้พวกที่บวชอยู่ลัทธิอื่นมาบวช บวชอะไร บวชเห็นแก่ลาภ ไม่ได้บวชเห็นแก่มรรคผล บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสะดวกสบาย มีคนนับหน้าถือตา มีคนอุ้มชู ก็มาบวชกันเต็มเลย

คำว่ามาบวชหมายความว่า เจตนา เป้าหมายของเขาคือลาภสักการะ เป้าหมายของเขาไม่ใช่อยู่ที่มรรคผล เพราะมรรคผลมันมองไม่เห็นน่ะ มรรคผลมันอยู่ที่ไหนล่ะ มรรคผลมันอยู่ในใจ มรรคผล ใจสัมผัส มรรคผลมันไม่ได้อยู่ที่ลาภสักการะ ไม่ใช่ แต่คนที่ใจหยาบๆ เขาก็เห็นแค่ลาภสักการะ

แต่เวลาคนที่เขาบวช เขาบวชเพื่อมรรคผล พอบวชเพื่อมรรคผล เวลาสำเร็จขึ้นมาแล้วเขามีคุณธรรมจริง เขามีความรู้จริง พอมีความรู้จริง นั่นน่ะธรรมแท้ๆ ธรรมแท้ๆ คือใจสัมผัสไง ถ้าใจสัมผัส แต่ก่อนจะสัมผัสมันก็เข้ามาคำถามนี้ ก่อนที่จะสัมผัส เอาอะไรไปสัมผัสล่ะ ก็ต้องเอาหัวใจไปสัมผัส แล้วหัวใจ ประสบการณ์ของใจไง

เวลาทุกข์ต้องถามกันไหม เวลาโยมทุกข์แล้วถามกันไหม อยู่ด้วยกันในบ้านสองคนตายายหันหน้าเข้าหากันสิ ถามสิ ทุกข์ไหม พูดไม่จบ นั่นมันสัมผัส พูดไม่จบ ถ้าเอาตั้งแต่เด็กมาเลย โอ้โฮ! เด็กมาไม่พอใจเรื่องอะไรบ้าง มันฝังใจมาจนป่านนี้ โอ๋ย! พูดไม่จบเลย นี่ใจมันสัมผัสเพราะมันเป็นเอง

แต่ศีล สมาธิ ปัญญามันไม่เคยมี มันเรียนแต่ทางวิชาการมา ฟังแต่ครูบาอาจารย์พูดมามันเลยพูดไม่ได้ไง แต่พอมันได้สัมผัส คำว่า สัมผัสๆวิธีการ พอสัมผัสขึ้นมา นั่นล่ะความจริง ถ้าความจริงนะ ความจริงถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว เวลาจะไปสอนคนก็เอาความจริงในใจนั่นน่ะสอนเขา เอาใจนั่นน่ะบอกเขา

แล้วใจของคน ดูสิ ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีอำนาจวาสนานะ ท่านจะสมบุกสมบันมามาก คำว่าสมบุกสมบันมามากคือมีประสบการณ์มาก ประสบการณ์ของจิตนะ จิตลงสมาธิ บางคนลงไม่ได้ เกือบเป็นเกือบตาย บางคนลงได้ง่าย ถ้าลงได้ง่ายแล้วยกขึ้นวิปัสสนาได้ไหม ถ้าลงไปแล้ว เวลาลงไปแล้ว ถ้ารักษาไม่ดีมันก็เสื่อม พอเสื่อมแล้ว กว่าจะเข้าวิปัสสนา บางคนนะ พอขี่หลังเสือ พอพรรษามากขึ้นมาก็ต้องบอกว่าพูดธรรมะ พูดธรรมะหมายถึงว่าตัวเองไม่มีอยู่จริง ถ้าพูดธรรมะนะ ปีนี้พูดอย่างหนึ่ง อีก ๕ ปีพูดอีกอย่างหนึ่ง อีก ๑๐ ปีพูดอีกอย่างหนึ่ง มันไม่เป็นอันเดียวกัน

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านพูดตั้งแต่ท่านเทศนาว่าการจนถึงวันที่ท่านดับขันธ์ไป ไม่มีคลาดเคลื่อนเลย ชัดเจน อยู่ตรงไหนตรงนั้นน่ะ อกาลิโก วันเวลาไม่เกี่ยว เวลาไม่เกี่ยว เวลาไม่เกี่ยว เหนือกาลเหนือเวลา จะพูดวันไหน พูดเมื่อไหร่ พูดชัดเจนเหมือนเดิมไปหมด

แต่ไอ้พวกที่ไม่เป็น สัญญา คือจำไง พอจำมา เวลาจำใหม่ๆ มันก็ชัดเจน พอจำไปนานๆ เข้าก็ชักเลอะเลือน พอจำไปจำมา เห็นไหม เวลามันพูด ปีหนึ่งพูดอย่าง ปีหน้าพูดอีกอย่างหนึ่งแล้ว เทศน์ไม่อยู่ที่เก่าหรอก ไปแล้ว

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรานะ เหนือกาลเหนือเวลา ทีนี้เหนือกาลเวลา สิ่งนี้ถ้าเป็นความจริงนะ ฉะนั้น ใจมันต้องสัมผัส แต่พอใจสัมผัส มันต้องมีประสบการณ์ คำว่ามีประสบการณ์ย้อนกลับมาที่คำถาม

การเห็นภาพส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายชัดเจน แม้จะหลับตาและลืมตาอยู่ ภาพที่เห็นอยู่นี้เรียกว่าอุคคหนิมิตใช่ไหมครับ ระหว่างอุคคหนิมิตกับจินตนาการแตกต่างกันอย่างไร

นี่คำถาม เห็นไหม คำถามว่า ถ้าเป็นอุคคหนิมิต เวลามันเห็น

ถ้าเป็นภาพจริง เป็นอุคคหนิมิตเป็นความจริง

แล้วจินตนาการ จินตนาการมันแตกต่างกันอย่างไร

จินตนาการ ทางโลกเขารู้กันหมด เราก็รู้ได้ จินตนาการ นี้พอเราจินตนาการแล้วเราเชื่อในจินตนาการเราไง ถ้าเราเชื่อในจินตนาการเราว่าสิ่งนั้นก็เป็นความจริงไง นี่มันเป็นจินตนาการ

คำว่าจินตนาการเห็นไหม ทุกข์เป็นเรา เวทนาเป็นเรา ความโกรธเป็นเรา ความโลภเป็นเรา ความหลงเป็นเรา มันถึงได้หน้าแดงอยู่นั่นน่ะ เวลาโกรธเป็นเรา เพราะเรานี่เป็นอันเดียวกันไง

ทีนี้พอมันจินตนาการ คำว่าจินตนาการเรามีกิเลส เราจินตนาการใช่ไหม พอจินตนาการแล้วมันก็บอกว่าเหมือนเราไง พอจินตนาการแล้ว จินตนาการเห็นอุคคหนิมิต เห็นภาพไง ก็เป็นนิมิตไง ไม่ใช่หรอก มันเป็นเราไปแล้ว ถ้าจินตนาการมันเป็นเรา สรรพสิ่งมันเป็นเนื้อเดียวกัน

แต่ถ้าเป็นอุคคหนิมิต คำว่าอุคคหนิมิตถ้าเป็นนิมิตนะ ถ้าเห็นภาพกาย เห็นอะไรชัดเจน เห็นภาพกาย

ถ้าเห็นภาพกายนะ ความเห็นภาพกาย ไม่มีใครเห็นภาพกายชัดเจนได้เท่ากับหมอศัลยกรรม เพราะเขาผ่าตัดทุกวัน เขาเห็นภาพเลยนะ เขาไปศึกษามาจากอาจารย์ใหญ่ กว่าเขาจะมีความชำนาญของเขา เวลาเขาคุยกัน เวลาศัพท์ทางการแพทย์ เขาจะพูดเลยว่ามันจะเป็นโรคอะไร จะผ่าตัดอย่างไร จะทำอย่างไร เขาจะเห็นภาพตั้งแต่เขายังไม่เห็นกายคนเลย เขาเห็นภาพชัดเจนเพราะอะไร เพราะอาชีพของเขา หนึ่ง เขาได้ฝึกฝนของเขามา หนึ่ง

นี่ไง สิ่งที่ภาพกายๆ ที่ได้เห็น พวกหมอศัลยกรรมเขาเห็นชัดกว่าเราอีก แต่เขาเห็น เขาเห็นเป็นวิชาชีพของเขา เขาเห็นกายแล้วทำไมเขาไม่มีสติปัญญาพิจารณาล่ะ เขาพิจารณา พิจารณาว่าจะผ่าตัดอย่างไร เขาพิจารณาว่าจะเปลี่ยนหัวใจอย่างไร เขาพิจารณาว่าจะต่อเส้นเลือดอย่างไร เขาชำนาญมากนะ เขาสามารถจะต่อเส้นเลือดเข้ากัน เขาจะเปลี่ยนหัวใจ เขาทำได้หมด อันนั้นเห็นภาพกายของเขา

แต่ถ้าผู้ที่มีประสบการณ์ ที่ครูบาอาจารย์ของเรา จิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้วต้องเห็นกาย เห็นไหม ถ้าเห็นกาย นั้นถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง คำว่าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงคือมีจิตเป็นผู้ที่สงบ

แล้วจิตดวงนั้น จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตของครูบาอาจารย์ของเรา จิตของท่าน จิตของท่านได้สงบตัวลง จิตของท่านได้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ได้เห็นกาย ได้เห็นเวทนา ได้เห็นจิต ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เพราะการเห็นอันนั้น จิตดวงนั้นมันเวียนว่ายตายเกิด จิตดวงนั้นถ้าได้พิจารณา พิจารณาอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณมันเกิด มันจะสำรอกมันจะคายอวิชชาโดยความเป็นจริง นี้ถึงว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เพราะมันมีจิต

แล้วจิตดวงใดก็แล้วแต่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงใดเป็นผู้เห็น จิตดวงนั้นถ้ามีปัญญาทำวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาคือปัญญาญาณที่แทงทะลุได้จริง มันจะสำรอกคายอวิชชาจากจิตดวงนั้น นี่เป็นความจริง

แต่บอกว่าเราปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เราปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ก็มีกายานุปัสสนา กายานุปัสสนาก็นึกเรื่องของกาย เราก็เห็นกายแล้ว เราได้ทำกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา เราก็มีเวทนา”...นี่มันนึกเอาทั้งนั้นน่ะ มันนึกเอา มันสร้างภาพเอา นี่จินตนาการ

ถ้าจินตนาการอย่างนี้ เราบอกว่าเราปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เพราะอะไร เพราะถ้าไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธรรม มันจะไม่เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนปฏิบัติในเรื่องแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เราก็เลยไปคิดแนวทางสติปัฏฐาน ๔ มันก็เลยสร้างภาพแนวทางสติปัฏฐาน ๔”...นี่จินตนาการ เราถึงบอกว่านี่เป็นแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ในทางปลอม

แต่ถ้าเป็นความจริง แนวทางสติปัฏฐาน ๔ เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง มันเกิดที่ไหน

การเห็นภาพกายส่วนใดส่วนหนึ่งที่ชัดเจน มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา แล้วพอใจมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นนะ สิ่งที่เห็นเป็นภาพกายจริงมันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนความจริง มันเป็นสมบัติส่วนตน

แต่ถ้ามันเป็นทางโลก มันเป็นสิ่งที่เราคิดเราจินตนาการ เขาบอกว่าอุคคหนิมิตกับจินตนาการมันแตกต่างกันอย่างไร

มันแตกต่างกันตั้งแต่ผู้เห็น มันแตกต่างคือว่าเห็นโดยจิตสงบ จิตสงบคือจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา จิตถ้าสงบแล้ว ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน มันเห็นตามความเป็นจริง มันเป็นมรรค

แต่ถ้าเป็นจินตนาการมันเป็นกิเลสไง เป็นกิเลสเพราะอะไร เป็นกิเลสเพราะว่าจิตมันไม่สงบใช่ไหม มันมีอวิชชา มันมีอวิชชา มันเข้าข้างตัวเองไง คิดตามความพอใจของตัวไง แล้วตอนนี้เราคิดดีไง เพราะเราเป็นชาวพุทธไง เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาไง เราจะประพฤติปฏิบัติมันต้องในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เราก็ฝึกหัดแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เราก็จินตนาการกายไง เราจินตนาการขึ้นมา

เพราะจินตนาการขึ้นมา เพราะกิเลสมันไม่สงบตัวลง มันเป็นอวิชชา มันสร้างภาพได้ทั้งนั้นน่ะ พอสร้างภาพขึ้นมามันก็บวก กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบวก มันบอกว่าเห็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้น เป็นอย่างนั้น โอ๋ย! สังโยชน์ขาดอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น”...ไปเลย ไปเลย พอไปแล้วนะโอ๋ย! มันว่างหมด โอ๋ย! มันดีไปหมดเลยนี่มันสร้างภาพไปหมดเลย

แล้วเวลาถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านรู้จริงนะ ท่านถามคำเดียว ไปไม่รอดหรอกมันเห็นอย่างไร

อ้าว! ก็มันเห็นกายไง เห็นกาย

แล้วเห็นอย่างไรล่ะ

ก็เห็นกายไง

แล้วเห็นอย่างไรล่ะ

ก็เห็นกายไง

มันบอกไม่เป็นหรอก เห็นอย่างไร มันบอกไม่ได้หรอก เพราะมันไม่รู้ที่มาที่ไป

อย่างเรา เรามีเงินคนละล้าน สตง. มาตรวจเลยล้านนี้มาจากไหน เงินล้านมาจากไหน

อ้าว! ก็เงินล้านไง เงินล้าน

แล้วเงินล้านทำอะไรมาล่ะ

ก็เงินล้านไง

แล้วเงินล้านทำอะไรมาล่ะ

ก็เงินล้านไง

เขายึดแน่ๆ เขายึดแน่ๆ เพราะเงินล้านมันไม่มีที่มา เงินล้านนี้มันไม่มีที่มา เอ็งทำอะไรมา ทำงานมา เงินเดือนออกมา สะสมมาได้หนึ่งล้าน อ้าว! วันนี้ไปเยี่ยมพ่อแม่มา พ่อแม่ให้มาหนึ่งล้าน อ้าว! ไปร่วมหุ้นกับเพื่อน เพื่อนทำธุรกิจมา ก็แบ่งปันผลมา ได้มาหนึ่งล้าน

มันก็ต้องมีที่มาสิ เงินล้านนี้ได้แต่ใดมา

อ้าว! ก็ได้หนึ่งล้านมา

สตง. ยึดแน่ๆ ยึดบัญชีแน่นอน

จินตนาการไปเลยแนวทางสติปัฏฐาน ๔ อู๋ย! เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม อู๋ย! เห็นไปหมดเลย มันว่างไปหมดเลย มันใช้ปัญญา โอ๋ย! มันใช้ปัญญา มันถอดถอนกิเลส มันชำระเสร็จหมดเลย ว่างหมด โอ๋ย! สบายมาก ปฏิบัติอย่างฉันนี่ง่าย ปฏิบัติอย่างฉัน

ง่ายสิ เพราะนึกเอา ทำไมมันจะไม่ง่ายล่ะ ค้าขาย กว่าจะเอาสินค้าไปเสนอขาย กว่าเขาจะตกลงซื้อ กว่าเขาจะสั่งของ กว่าจะวางบิล โอ๋ย! เกือบตาย

ไอ้นี่มันไม่ต้องทำอะไรเลยนะ จบแล้ว ก็ง่ายน่ะสิแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติรู้ง่าย พระพุทธเจ้าสอนถูกต้องดีงาม รู้หมดเลย

แล้วพอเขาตรวจสอบ บิลก็ไม่มี วัตถุดิบซื้อมาจากไหนก็ไม่รู้ สินค้าก็ไม่ได้ผลิตเลย นี่การเห็นโดยความปลอม แล้วว่าง่ายๆ นะ น่าสงสาร

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ ท่านบอกว่าให้ทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ถ้าใจเราสงบแล้ว เพราะใจดวงนั้นมันเห็นจริง ใจดวงนั้นนะ คำว่าใจดวงนั้นน่ะน่าสังเวชนะ ใจดวงนั้นเวียนว่ายตายเกิดนะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอก บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไป ท่านเคยเป็นพระเวสสันดร

พระเวสสันดรกับเจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า

ไม่ใช่ เป็นคนละคน แต่จิตดวงนั้นเคยเกิดเป็นพระเวสสันดร แล้วหมดอายุขัยไป ไปเสวยเป็นเทวดา ถึงยุคว่าจิตดวงนั้นต้องจุติลงมาเกิด ลงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ

จิตดวงนั้นพอเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็พยายามจะให้เป็นจักรพรรดิๆ แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของท่าน ท่านเสียสละของท่านเอง ท่านขวนขวายของท่านเอง จิตดวงนั้นรื้อค้น จิตดวงนั้นชำระล้างกิเลส เสวยวิมุตติสุข จิตดวงนั้น

แล้วจิตดวงนั้น นั่งกันอยู่นี่ จิตดวงนั้น เราจะชื่อนาย ก นาย ข นาย ค พ่อแม่ตั้งให้ จิตดวงนั้นอยู่ในกลางหัวอกนั้น จิตดวงนั้นทุกข์ยากอยู่นี่ แล้วจิตดวงนั้นทำความสงบของใจเข้ามา จิตดวงนั้นเป็นผู้รู้ผู้เห็น จิตดวงนั้นมันจะสำรอกคายของมัน จะเป็นพระ ก พระ ข พระ ง เป็นพระองค์ใดก็แล้วแต่ จิตดวงนั้น จิตของพระองค์นั้น

จิตดวงนั้น นี่ต้นทุนเดิม ต้นทุนเดิมมันเวียนว่ายตายเกิด แล้วต้นทุนเดิมเราได้สร้างอำนาจวาสนามา เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้ชื่ออะไรมาก็แล้วแต่ ได้แต่ชื่อ แต่จิตดวงนั้นอยู่กลางหัวอก พยายามให้มีความเชื่อมั่น ให้มีความมั่นคง แล้วพยายามกำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ สงบเข้ามาถึงจิตดวงนั้น แล้วจิตดวงนั้นเป็นผู้รู้ผู้เห็นสติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงๆ มันอยู่ตรงนี้ มันไม่ใช่คนที่ไปบอกนึกกาย นึกเวทนา นึกจิต นึกธรรม

ไม่ต้องไปนึกมันหรอก นั่งอยู่นี่มันก็เจ็บมันก็ปวด เวทนามันมีอยู่แล้ว แต่โง่ไม่รู้จักพิจารณามันเอง แล้วก็อยากจะหากันเอง

นี่พูดถึงว่า อุคคหนิมิตเวลาเห็นจิตมันสงบนะ เวลาไปเห็นกาย เห็นกายสะเทือนหัวใจมาก เวลาจิตมันสงบแล้วไปจับเวทนา มันจับเวทนาได้เลย พิจารณาได้เลย

แต่ถ้าเวลาจิตเราไม่สงบใช่ไหม เวลาเวทนามันเกิด อู้ฮู! ปวด เพราะอะไร เพราะว่าเวทนาเป็นเราไง

เราบอกไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเราหรอก เวทนาเป็นเวทนา เราจะสู้กับมันอยู่ แต่เป็นโดยจิตใต้สำนึก เป็น เพราะเป็นถึงปวด แต่เวลาถ้าพิจารณาไปแล้ว เราพิจารณาเวทนา รู้เท่าเวทนา มันปล่อยเวทนานะ เวทนาก็เป็นเวทนา ทำไมเราไม่ปวดล่ะ

ถ้าเวลาเราจับเวทนานะ แล้วพิจารณาเวทนา คือจับอารมณ์ความเจ็บปวดแล้วพิจารณาไป ถ้ามันเสมอกัน มันชา มันสักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่าคือมันเสมอกัน คือมันไม่แพ้ แล้วมันก็ไม่ชนะ เห็นไหม อัพยากฤต กลางๆ มันจะชาๆ เวลานั่งไปนานๆ มันจะชาหมดเลย มันไม่เจ็บไม่ปวด มันไม่เจ็บนะ แต่มันก็ไม่หาย เพราะมันชา อ้าว! จะว่ามันไม่มี มันก็มี นี่อัพยากฤต

แต่ถ้ามันพิจารณาไป พิจารณาถึงที่สุดนะ มันปล่อยเวทนา จิตมันนิ่งหมดเลย ว่างหมดเลย เวทนา มีเวทนาเพราะกูโง่ กูไปเอามันเองไง มีเวทนาเพราะเราไปเสวยไง เราไปรับรู้ไง แต่ถ้าปัญญามันไล่หมดแล้ว มันไม่มีอะไร เราโง่เอง เราโง่เอง เหมือนกับรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปหยิบมันเอง ไปรับรู้มันเอง แต่พิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันก็สงสัย เวลาที่ไหนมันคัน มันก็อยากคันมากไปเรื่อยๆ ใช่ไหม พอมันแปล๊บๆ จะเจ็บๆ อยากรับรู้ไง มันยิ่งเด่นขึ้นมาๆ

นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตสงบแล้ว แม้แต่เวทนามันยัง จับมาเล่นได้เลย พ่อเวทนา แม่เวทนา ปู่เวทนา ลูกเวทนามันเล็กน้อย ถ้าเป็นพ่อมันรุนแรง นี่ถ้ามีปัญญาแก่กล้ามันสู้ได้ ฉะนั้น เวลาคนที่ปฏิบัติเขาถึงมีสติ มหาสติ มีปัญญา มหาปัญญา แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ

ถ้าคนภาวนาไม่เป็นไม่รู้หรอกว่าลิมิตมันแค่ไหนไง อะไรคือสติ อะไรคือมหาสติ สติกับมหาสติมันแตกต่างกันอย่างไร ปัญญา มหาปัญญา มันแตกต่างกันอย่างไร

ถ้าภาวนาไปแล้วมันเป็นชั้นเป็นตอนเพราะอะไร เพราะมันมีปู่เวทนานะ เวลาลูกเวทนา หลานเวทนา เราก็ใช้สติใช้ปัญญา เวลามันเป็นปู่เป็นย่า โอ้โฮ! มันไม่ทันแล้ว มันต้องใช้มหา มหาสติ มหาปัญญาสู้กับมัน นี่มันมีชั้นมีตอนของมัน แล้วพัฒนาขึ้นไปมันจะเป็นชั้นเป็นตอน นี้คือว่าถ้ามันเป็นจริง

ถ้ามันเป็นจินตนาการมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามันเป็นจริงมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นจริงนะ นี่เป็นจริง

นี่พูดถึงอุคคหนิมิตกับจินตนาการแตกต่างกันอย่างไร

มันแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น แต่มันอยู่ที่ว่าเป็น ภาวนาเป็นก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ถ้าไม่เป็นมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นนะ พวกนี้มันเป็นประโยชน์หมดนะ เหมือนคนเราขับรถหรือคนมีธุรกิจ ทุกอย่างที่เป็นวัตถุดิบใช้ประโยชน์ได้หมดเลย แต่ถ้าคนไม่เป็นนะ วัตถุดิบ กวาดทิ้งหมดเป็นขยะ มันบอกเกะกะ ไม่เป็นประโยชน์

เราปฏิบัติกัน ทุกคนไม่อยากเจอนิมิต ทุกคนอยากจะสงบระงับ ทุกคนอยากดีไปหมดแหละ แต่เวลาคนที่ภาวนาไปแล้ว พอจิตสงบแล้วนะ ก็อยากเห็น ไม่เห็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็ไม่ได้วิปัสสนา แล้วเวลาจิตเรามันไม่สงบ สติปัฏฐาน ๔ นี่ตัวกวนเลย กายก็กวนเรา เวทนาก็กวนเรา ตัวสติปัฏฐาน ๔ เป็นตัวก่อกวน

แต่พอจิตมันสงบแล้ว ตัวสติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นหินลับปัญญา นี่แหละเป็นที่ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าเป็นนะ มันใช้ประโยชน์ได้หมดเลย ถ้าเป็น ทุกอย่างเป็นประโยชน์

ที่ว่า สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ

เป็นธรรมชาติต่อเมื่อพระอรหันต์ พระอรหันต์ จิตท่านพ้นจากโลกแล้วท่านเห็นอะไรเป็นธรรมไปหมดแหละ

แต่พวกเราเห็นเป็นธรรมไหม เห็นเป็นธรรม พยายามกดไว้ไง นี่เป็นธรรมดาๆ”...ธรรมดา เจ็บอยู่นี่ ธรรมดา มันจะเอาเขาอยู่นี่ ธรรมดา

มันธรรมดาไม่ได้หรอก ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติต่อเมื่อเพราะมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น แต่ที่มันไม่เป็นเพราะอนุสัย เพราะกิเลสเราไปกว้านไปหยิบมา เขาไม่ได้ว่าตัวสักหน่อย เข้าใจผิด ยังจะไปล่อเขาอยู่นะว่าเขาว่าตัว

เขาไม่ได้ว่าเลย เขาชื่นชมเรา แต่เขาพูดไม่ถูกหูหน่อยเดียว จะไปล่อเขานั่นน่ะ เป็นธรรมดาหรือ มันไม่ธรรมดาสิ ไม่ธรรมดาเพราะเข้าใจผิด ถ้ามันธรรมดาก็อย่างหนึ่ง

นี่พูดถึงว่า อุคคหนิมิตกับจินตนาการแตกต่างกันอย่างไร

จินตนาการคือว่าจิตมันไม่สงบ จิตมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันก็เกิดการจินตนาการ เกิดอุปาทาน เกิดอุปาทาน เกิดอะไรขึ้นมา แต่บอกจะไม่ให้มีเลย มันก็ไม่ได้ คนปฏิบัติมันต้องมีทั้งนั้นน่ะ เรามาจากมนุษย์นะ มนุษย์มันต้องมีความรู้สึกทั้งนั้นน่ะ แล้วความรู้สึกเราจะควบคุมอย่างไร เราจะดูแลอย่างไร

พอจิตสงบแล้วเราฝึกหัดพิจารณาไป มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ถ้าเป็น มันเป็นประโยชน์หมดเลย แต่ถ้าไม่เป็นนะ มันเป็นโทษหมดเลย ฉะนั้น พยายามฝึกหัดให้มันเป็นก่อน หญ้าปากคอกๆ ที่ว่าภาวนาขั้นต้นมันภาวนายาก นี่ข้อที่ ๑.

. การพิจารณากายนั้น บางครั้งสามารถแยกส่วนขยายส่วนและพิจารณาเข้าสู่ธาตุเดิมได้ บางคราวเกิดอาการขนลุกขนพอง เมื่อทำต่อเนื่องซ้ำบ่อยๆ หลายวันเข้า อาการขนลุกขนพองก็เริ่มหายไปจางไป นานๆ จะมีอาการขนลุกขนพองขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง อย่างนี้ผิดปกติไหมครับ

ถ้าเราจับกายได้นะ คำว่าจับกายได้แล้วพิจารณาเป็น มันต้องอย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ นี่สุดยอดมากเลย หลวงปู่มั่นท่านวางเสาเอกไว้เลยอย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

เราจะเห็นกายขนาดไหน ก็เพราะจิตมันสงบ ผู้รู้ไปเห็น เวลาใช้ปัญญา ก็ผู้รู้มีกำลัง เราใช้ปัญญา ทีนี้พอเราเห็นกายใช่ไหม เราจับได้ เพราะจิตมันสงบ มันจับได้ พอจับได้ก็พิจารณาไป พอพิจารณาก็ขนลุกขนพอง ทีนี้พอพิจารณาไป การพิจารณาคือการใช้พลังงาน พอใช้พลังงาน จิตมันจะเสื่อม จิตมันจะด้อยค่าไปเรื่อยๆ

คำว่าด้อยค่าถ้าเรายังมุมานะ เรายังอยากกระทำอยู่ แล้วทำไปเรื่อยๆ กำลังมันจะอ่อนไปเรื่อยๆ พออ่อนไปเรื่อยๆ นะ เดี๋ยวจะเป็นสัญญาแล้ว สัญญาคือการจำ สัญญาคือจินตนาการ สัญญาคือสมุทัย แต่ถ้าพอมันผิดพลาดอย่างนี้ปั๊บ เราต้องรีบกลับมาพุทโธ กลับมาทำความสงบของใจให้ใจมันมั่นคงขึ้นมา

มันสำคัญที่สมาธิแนบแน่น สมาธินี้มั่นคง การกระทำมันจะก้าวเดินต่อไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะทุนมันดี บริษัทใดที่สายป่านยาว มันจะมีวิกฤติอย่างไร สายป่านมันจะรักษาบริษัทนี้ไว้ได้ ถ้าบริษัทเราสายป่านสั้น เพราะเขาเอาสินค้าไปแล้วเขาไม่ชำระสัก ๒-๓ รอบก็ยุ่งแล้ว มีปัญหาแล้ว

คำว่าเอาสินค้าไป ๒-๓ รอบคือว่าพิจารณา ๒-๓ ครั้งไง แล้วพอต่อเนื่องไป สายป่านไม่มีเงินลงทุน ไม่มีเงินลงทุนไปซื้อวัตถุดิบ เราก็ต้องกลับมาหาทุน กลับมาหาทุนคือกลับมาหาสมาธิ กลับมาหาพุทโธ

อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ต้องอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธตลอดไป แล้วถ้ามันออกวิปัสสนา ถ้ามันพิจารณาแล้วมันขาด มันพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง นั่นน่ะถูกต้อง

แล้วถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันติดขัด มันติดขัด มันไม่ไปแล้ว ถ้าจิตกำลังมันอ่อนลง มันพิจารณาไปนะ หนึ่ง นึกเห็นกายก็ไม่เห็น วิบๆๆ มันจะไหว มันจะไหว มันจะเคลื่อน แต่ถ้าจิตมันดี มันน้อมมาเห็นกาย กายจะตั้งมั่น แล้วถ้ามีปัญญาดีๆ มันแยกส่วนขยายส่วน

ที่ว่ามันขยายส่วนนี่ถูกต้อง จากอุคคหนิมิตเป็นวิภาคะ ขยายส่วนแยกส่วนเพื่อเห็นการเป็นไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตาคือการเปลี่ยนแปลง ให้เห็นเปลี่ยนแปลงต่อหน้า แล้วถ้าจิตมันดี สมาธิมันดี มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แว็บๆๆ มันจะเร็วมากๆ เลย

แต่ถ้ามันไม่เป็นนะ มันเป็นภาพอยู่ใช่ไหม เราให้มันไปนะ มันก็อืด ดึงกันอยู่อย่างนั้นน่ะ บางทีมันก็ค่อย บางทีมีบางส่วนที่ย่อยสลายไป บางส่วนอยู่ บางส่วนไม่อยู่ คือมันไปไม่หมด คือกินข้าวได้แค่ครึ่งคำ ไม่เต็มคำ มันไม่ไป นี่มันเป็นการบอกว่าสมาธิอ่อน สมาธิมันเริ่มอ่อนแล้ว แล้วถ้ายังทำต่อเนื่องไปนะ เสื่อมหมด

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำ แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์คอยแนะนำมันก็ไม่เชื่อนะอาจารย์พูดเฉยๆ ผมทำนะ โอ๋ย! ผมเป็นคนทำ ผมเก่งนะ อาจารย์ไม่เคยเห็นหรอกแต่พอมันเสื่อมหมดแล้วนะเออว่ะ ท่านเตือนแล้วไม่ฟัง ท่านก็บอกแล้วไปนั่งคอตกอยู่นั่นน่ะ แล้วก็มาฟื้นฟูใหม่ ของอย่างนี้ต้องเป็นทุกคน การปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาดไม่มี ถ้าผิดพลาดแล้วเราก็แก้ไขของเราไป ฉะนั้น ก็แก้ไขไป

เขาบอกว่า ทำไมบางทีมันไปแล้ว ที่มันขนลุกขนพอง

การที่ขนลุกขนพอง วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เกิดขนลุกขนพอง เกิดปีติ เกิดความดีงาม มันเป็นของดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามันชำนาญขึ้น มันเกิดสุข การว่าขนลุกขนพองมันจะจางลง เหมือนเรา เราจะโตขึ้น เราจะโตขึ้น สิ่งที่ควรจะโตขึ้น สิ่งที่เวลามันผ่านวัยผ่านนั้นมา มันก็ผ่านมาแล้ว เป็นอะไรไป อะไรที่ผ่านมาแล้วมันผ่านไป แต่ให้มันเป็นความจริงตลอด ความจริงนี่เรารู้ได้ ความจริงมันไม่มีเหตุผลโต้แย้ง มันไม่มีสิ่งใดโต้แย้งได้ แต่ถ้ายังสงสัย มันโต้แย้งได้ทุกอย่างเลย

เวลาเราวิปัสสนาไป มันจะใช้ปัญญาใคร่ครวญหาเหตุผล ถ้ามันไม่มีสิ่งใดโต้แย้ง แล้วพิจารณาต่อเนื่องๆ ไป มันเจริญก้าวหน้าไป

ฉะนั้น พอบอกว่า เวลาขนลุกขนพองมันอ่อนลง มันซ้ำบ่อยๆ เข้ามันจะจางหายไป

จางหายไปก็หายไป เพราะปีติมันหายไป ปีติเป็นทางผ่าน มันจะเข้าไปสู่สุข ความตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ เอกัคคตารมณ์แล้วมันพิจารณาไป เวลาปล่อยวางมันก็เป็นความจริง

เวลาปล่อยวาง เราจะบอกว่า มันปล่อยวางแล้ว นี่มันปล่อยวาง ตทังคปหานชั่วคราว แล้วพอมันคลายตัวออกมา ถ้าจับได้ พิจารณาต่อ ถ้าจับไม่ได้ เข้าไปสู่ความสงบนั้น เวลามันปล่อยวาง เวลาเราพุทโธๆ พอจิตสงบ พอจิตสงบมันมีความสุขอย่างหนึ่ง จิตสงบระงับ แต่เวลาเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราพิจารณาไป นี่วิปัสสนา วิปัสสนามันสำรอกมันคาย นี่อารมณ์แตกต่างกัน

อารมณ์ของสมาธิกับอารมณ์ของการใช้ปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนมันแตกต่างกัน คนภาวนาไปมันรู้ จิตมันจะมีระดับของมันขึ้นไป แล้วถ้ามันรู้แล้ว มันรู้ตอนนั้นไง รู้ตอนที่มันเป็น แต่พอมันออกไปแล้วไม่รู้ ไม่รู้เพราะทำไม่ถูก ไอ้ที่ทำมามันฟลุก มันได้มาโดยที่เราไม่ชำนาญ ก็ต้องมาฝึก ก็ต้องมาฝึกไง กลับมาทำความสงบของใจแล้วจับมันให้ได้ ฝึกหัด พยายามฝึก พยายามทำของเรา ถ้าทำของเราบ่อยครั้งเข้า จากตทังคปหานบ่อยครั้งๆ เข้า ถึงที่สุดแล้วมันจะไปสู่สมุจเฉทปหาน

ตทังคปหานนี่รู้ มันปล่อยวางอย่างไร แล้วว่างอย่างไร แล้วคนไม่เคยเห็นสมุจเฉทปหานมันเข้าใจว่าตทังปคหานเป็นสมุจเฉทปหาน เพราะเราทำครบคำสอนไง ทฤษฎีทุกอย่างเราได้ทำสมบูรณ์ไง เออ! ทำความสงบก็ได้ทำแล้ว วิปัสสนาก็ได้วิปัสสนาแล้ว เวลามันปล่อยก็ได้ปล่อยแล้ว เวลามันขาด นึกเอาเองไง นึกเอาเอง จินตนาการเอาเอง นี่มันเป็นไป

ฉะนั้น มีครูบาอาจารย์ท่านจะให้ทำซ้ำๆๆ ทีนี้พอซ้ำแล้ว มันทำไปแล้ว ความขนลุกขนพองมันหายไป หายไป ไม่เป็นไร หายไปนั่นคืออารมณ์หยาบๆ เราจะได้อารมณ์อันละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้น ดีขึ้น แล้วมันเป็นปัจจัตตังนะ สิ่งนี้ทำไปข้างหน้ามันจะสุดยอดของมัน

ฉะนั้น เวลาขนลุกขนพอง ขนลุกขนพองจริงๆ เพราะมันสะเทือน มันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนมาก เวลาเราเข้าไปเจอหน้ามัน เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เวลาเราเห็นหน้ากิเลส แล้วเราฆ่ากิเลส แล้วยังพลิกศพกิเลสอีกด้วย

แล้วกิเลสเป็นนามธรรม กิเลส ตัวมันเป็นอย่างไร กิเลสมันหล่อไหม กิเลสมันหล่อมันสวยขนาดไหน หรือกิเลสมันแก่มันเฒ่า เคยเห็นหรือเปล่า ไม่เคยเห็น

แต่คนวิปัสสนาเห็น เห็นกิเลส แล้วชำระล้างกิเลส แล้วถ้ามันตาย จะพลิกศพกิเลส ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ยถาภูตํคือฆ่า เห็นไหม เราได้ชำระล้างกิเลสแล้ว แล้วรู้ เกิดญาณทัสสนะว่ากิเลสสิ้นแล้ว ชัดเจนมาก แล้วชัดเจนอย่างนี้ พอชัดเจนอย่างนั้นปั๊บ มันจะไปหวั่นไหวกับใคร

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกเลย แม้แต่นั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม ถ้าถาม ท่านก็จะพูดอย่างนี้ นี่ถ้าจริงนะ

ถ้าไม่จริงนะ มันก็บอกเลย ฉันก็เหมือนกัน ฉันนั่งอยู่หน้าพระพุทธเจ้า ฉันก็ไม่ถาม ไม่ถามเพราะอะไร เพราะฉันไม่รู้จะถามอะไร เพราะฉันก็ไม่รู้ว่ามีอะไรจะถาม

คำพูดคำหนึ่งของครูบาอาจารย์ท่านพูดไว้ให้เป็นเครื่องรื่นเริง พูดไว้ให้เราเป็นหลักการ ไอ้พวกคนพาลมันก็เอาคำพูดอย่างนั้นไปพูดเพื่อหาประโยชน์กับมัน คนพาลนะ สิ่งใดที่เขาทำไว้เป็นประโยชน์ สิ่งใดเขาทำไว้เป็นหลักเกณฑ์ มันควรเป็นประโยชน์ ไอ้คนพาลนั่นน่ะมันเอาไปปู้ยี่ปู้ยำจนไม่มีหลักเกณฑ์ นี่พูดถึงคนพาล แต่ถ้าเป็นบัณฑิต บัณฑิตมันสุดยอดไปหมด

. เคยฟังหลวงพ่อเทศน์เรื่องวิญญาณในขันธ์ หลวงพ่อบอกว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ คือวิญญาณในอายตนะ สิ่งที่ผมสงสัยคือ แล้ววิญญาณในปฏิจจสมุปบาทคือจิตใช่หรือไม่

นี่ผมสงสัยนะ ทีนี้ผมสงสัยก็ตอบก่อนว่า มันไม่ใช่

วิญญาณในขันธ์ ๕ หรือว่าวิญญาณในอายตนะ วิญญาณในขันธ์ ๕ คือขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ขันธ์ ๕ อารมณ์ความรู้สึกนี่ขันธ์ ๕ วิญญาณอย่างนี้เป็นวิญญาณสัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะวิญญาณอย่างนี้มันไม่เหมือนกันนะ เวลาเกิดเป็นพรหมมีขันธ์เดียว ไม่มีนะ มีขันธ์เดียว ถ้ามีขันธ์เดียว จิตมีขันธ์เดียว มันมีรูปขันธ์ มันไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ แล้วถ้าเป็นเทวดาล่ะ เทวดา หลวงตาท่านใช้คำว่าขันธ์ ๔คือรูปไม่มี มีแต่รูปทิพย์ เห็นไหม ขันธ์ ๔ แล้วถ้ามนุษย์เรามีขันธ์ ๕ แล้วสัตว์ล่ะ

คำว่าขันธ์ ๕เพราะคำว่าขันธ์มันอยู่คนละมิติ เรื่องนี้มันจะแตกต่างกัน ฉะนั้น พอเป็นมนุษย์ มนุษย์มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คืออารมณ์ความรู้สึก

ฉะนั้น วิญญาณในขันธ์ ๕ กับที่บอกว่าวิญญาณในอายตนะ อย่างนี้อนุโลมร่วมกันได้ ฉะนั้นผมสงสัยว่า ถ้าวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทเป็นจิตหรือเปล่า

วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นั่นวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันเกิดจากอะไร เกิดจากจิต แล้วมันเป็นจิตหรือเปล่าล่ะ

เขาบอกว่า วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทกับจิต อันเดียวกันหรือเปล่า

เราจะบอกว่า ไอ้นี่มันมีดเชือดโค มีดเชือดโค เรายังไม่ต้องใช้มัน ตอนนี้เราจะเชือดไก่ เราเอามีดเชือดไก่ คือเอาความรู้ของเรา เอาความเห็นของเรา เอาความจริงของเรา ยังไม่ต้องไปห่วงหรอกว่ามันเป็นปฏิจจสมุปบาทหรือไม่เป็นปฏิจจสมุปบาท อันนั้นถึงเวลาแล้วมันจะรู้ของมัน

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ถ้าคนภาวนาไปแล้วมันเป็นความชำนาญ หนึ่ง ความชำนาญ ถ้าพูดถึงว่าเป็นเจโตวิมุตติ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เจโตวิมุตติมันใช้สมาธิแล้วใช้ปัญญาไล่ไป

ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ อย่างที่ว่ามาแยกเรื่องขันธ์ อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ หลวงตา หลวงตานี่ทั้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ท่านผ่านเวทนามา สุดท้ายท่านจุดและต่อม นี่คือปัญญา คือเห็นจิตเป็นนามธรรม หลวงปู่ดูลย์ท่านเห็นจิตเป็นนามธรรม นี่พวกปัญญาวิมุตติ ทีนี้พวกปัญญาวิมุตติมันจะมีปัญญากว้างขวาง

แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ ดูหลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ พวกนี้พวกเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติคือจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นกายอย่างที่เราว่า เห็นกายแล้วพิจารณามันอยู่นี่ การเห็นกาย จิตเห็นเหมือนกัน แต่เห็นโดยสมาธิ สมาธิเป็นเจโตวิมุตติ คือเห็นเป็นอุคคหนิมิต เป็นนิมิต แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ เป็นแบบพระสารีบุตร มันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่งปั๊บ พอมาพูดถึงว่าหลวงพ่อบอกว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันไม่เหมือนกัน

มันไม่เหมือนกันเพราะมันเป็นไอเดียของเราไง เวลาพูดธรรมะมันก็อ้างอิงธรรมะของพระพุทธเจ้านี่แหละ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของธรรมะ ใครจะแสดงธรรมขนาดไหนก็แล้วแต่ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่วิทยานิพนธ์คือประสบการณ์ คือจิตที่มันเป็น คือองค์ความรู้ของแต่ละบุคคล

ใครจะมีคุณงามความดี เขาต้องมีองค์ความรู้ของเขา องค์ความรู้ของหลวงปู่ขาว นี่เจโตวิมุตติ ถ้าเวลาท่านพิจารณาไป ท่านพิจารณาจิตของท่านให้เปรียบเหมือนเมล็ดข้าว ดูสิ ดูอย่างหลวงปู่บัวท่านก็ว่าของท่านหมดแล้ว เวลาหลวงตาท่านไปแก้ ท่านพิจารณาจิตของท่านเป็นเหมือนขางของคาน คือคานที่มันรับอารมณ์ไว้ เวลามันขาด นี่วิทยานิพนธ์มันไม่เหมือนกัน วิทยานิพนธ์เป็นของใครของมัน

แล้ววิทยานิพนธ์ พูดออกมาสิ เรียนจบแล้วบอกไม่มีวิทยานิพนธ์ พูดวิทยานิพนธ์ก็บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ไปพูดวิทยานิพนธ์ของพระพุทธเจ้าหมดเลย อันนี้แสดงว่าเอ็งเรียนมาเอ็งยังไม่ได้ทำงาน ถ้าทำงานแล้วเอ็งต้องมีประสบการณ์ของเอ็ง...ไม่มี

แต่ครูบาอาจารย์ของเรามี เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านได้สนทนาธรรมกันหมดแล้ว หลวงตาท่านได้คุยมาหมดแล้ว เอาวิทยานิพนธ์มาเปิดกันเลย ของใครของมันมาเทียบกันเลย แล้วโอเค ใช่ๆๆ

แต่ไอ้พวกขี้โม้มันไม่มี มันเที่ยวไปจำของเขามา แล้วมันก็มาพูดโม้ๆ

พูดไปแล้วมันจะเข้าตัว ไอ้คนโม้ก็นั่งอยู่นี่แหละ ไอ้ขี้โม้ที่หนึ่งก็คุยอยู่นี่ไง ก็อยู่กับครูบาอาจารย์มาเยอะ ฟังมาเยอะ จำของครูบาอาจารย์มาเยอะ ก็โม้ได้เก่งหน่อยหนึ่ง

ถ้าคนมันมีความรู้จริงมันเทียบได้ ความรู้ของใครก็เป็นประโยชน์กับเราได้ใช่ไหม เพราะเรามีปัญญา เรามีปัญญา เราอยากมีปัญญา ใครมีปัญญา เราก็ไปศึกษากับเขา แล้วความรู้ของใคร เราก็มาต่อยอด เราก็มาทำประโยชน์ เราเอาความรู้ในวงกรรมฐาน ความรู้ของครูบาอาจารย์เรามา มาเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ เป็นองค์ความรู้เพื่ออนุชนรุ่นหลัง เราไม่ใช่เอามาหากิน เอามาหาผลประโยชน์

ไปหาผลประโยชน์อะไร ข้าวก็กินมื้อเดียว วันหนึ่งกิน ๕ มื้อก็ไม่ได้ กระเพาะมันก็มีอันเดียว มันไม่สนใจหรอก นี่องค์ความรู้เพื่อประโยชน์ องค์ความรู้เพื่อประโยชน์ เราเอามาเป็นองค์ความรู้ของวงกรรมฐานเรา

เราไม่ใช่เอาองค์ความรู้นั้นบอกว่าฉันเก่งอย่างนั้นๆ

ใครไปเก่ง มึงตายหมดแหละ ๑๐๐ ปีตายหมด เก่งอย่างไรก็ตาย แต่ความรู้ส่งทอดต่อไปอนุชนรุ่นหลังสิ อนุชนรุ่นหลังที่มันยังขวนขวายกันมานี่ ศากยบุตรพุทธชิโนรส สังคมที่มั่นคง ศาสนาที่มั่นคงมันอยู่ที่ไหนล่ะ

ศาสนาที่มั่นคงมันอยู่ที่หัวใจของพุทธบริษัท ๔ ถ้าบริษัท ๔ เขามีความรู้ เขามีองค์ความรู้ของเขา ศาสนวัตถุมันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ประเทศไทยจะโดนเขาทำลายหมดเลย แต่มีมนุษย์อยู่

มนุษย์จะไปสร้างวัดใหม่ มนุษย์มันจะไปสร้างอริยสัจของมันข้างหน้า มนุษย์จะไปก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา จิตใจของคนที่มีคุณธรรมมันจะไปก่อร่างสร้างศาสนาขึ้นมาเพื่อความมั่นคงของมัน องค์ความรู้ในใจอันนั้นน่ะ ศากยบุตรพุทธชิโนรสอันนี้สำคัญ เราทำเพื่อประโยชน์ตรงนั้น

ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าหลวงพ่อว่าอย่างไรๆ

หลวงพ่ออาจจะเผลอพูดไปก็ได้มั้ง อันนี้มันเป็นความชำนาญ มันเป็นความรู้ความเห็นไง

ฉะนั้น ที่ว่าวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทมันก็เป็นวิญญาณอันละเอียด แล้ววิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณเพียวๆ ที่มันเวียนว่ายตายเกิด ภวาสวะ ภพ มันเป็นวิญญาณเฉยๆ ที่ไม่มีอะไรกระทบเลย ที่มันเวียนว่ายตายเกิดกันนี่ ที่ว่าจิตหนึ่งๆ ที่นั่งกันอยู่นี่ ภาวนาไปมันจะรู้จะเห็น แล้วจะรู้เห็นอย่างนั้นมันต้องเข้าไปรู้เห็นอย่างนั้น มันถึงสำรอกมันถึงคายออกมาได้ แล้วไม่เคยรู้เคยเห็น ขี้โม้กันไปเรื่อย อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ

อันนี้พูดถึงถามเรื่องวิญญาณในขันธ์ ๕ กับวิญญาณในปฏิจจสมุปบาท หลวงพ่อไปไหนก็ไม่รู้

กูอ่านคำถามมึงไม่เป็น กูก็เลยหลงไง ก็เลยไปใหญ่เลย

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา อันนี้ถามมาด้วยความสงสัยเฉยๆ เรายังไม่ได้ไปประสบตรงนั้นก็ไม่เป็นไร ภาวนาไป แล้วไม่ต้องยึดแนวทางแบบใคร เราศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง แล้วเวลาเราปฏิบัติมันต้องเป็นความจริงของเราไง

เราต้องการความสงบระงับในใจ เราต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ในใจ เราต้องการสำรอกคายกิเลสในใจของเรา จิตหนึ่งๆ จิตดวงนั้นสำคัญมาก จิตดวงนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เสมอภาคกันหมด จิตดวงนั้นน่ะ ถ้าตรงนั้นมันรู้ได้หมดแล้วมันเป็นสังฆะ มันจะเป็นสิ่งประเสริฐ แล้วจะเป็นหลักชัยของศาสนาเพื่อประโยชน์กับลูกหลานนะ

. จิตในโลกธาตุนี้มีเกิดใหม่อีกไหมครับ หรือคำถามนี้เป็นอจินไตย

เอ็งก็รู้อยู่แล้วนี่เป็นอจินไตย เอ็งก็ยังถามมา

จิตเกิดใหม่ๆ มันมีอะไรเกิดใหม่ มันมีอะไรเกิดเก่า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไปไม่มีต้นไม่มีปลาย คำว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คำว่าอสงไขยยาวนานขนาดไหน แล้วยังไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วอันไหนเกิดใหม่อันไหนเกิดเก่า เราก็พูดกันเองอยู่ในปัจจุบันนี้ไงว่าเกิดใหม่เกิดเก่าไง เราไปคิดกันว่าของใหม่ของเก่าไง คำว่าของใหม่ของเก่าแต่การเวียนว่ายตายเกิดมันมีอะไรใหม่อะไรเก่าล่ะ

มันมีมาก มีคนที่มาหาเขาบอกว่าเคยเป็นพ่อเป็นลูกกันมา เขารับรู้ได้เลย จากพ่อ ตายไปมาเกิดเป็นลูก ระหว่างพ่อกับลูกผลัดกันเป็น แล้วอันไหนเป็นพ่อเป็นลูกจริงล่ะ

อ้าว! เราเป็นพ่อเขาชาตินี้ ชาติหน้าเราไปเป็นลูกเขาแล้ว แล้วสองคนนี้ใครเป็นพ่อเป็นลูกกันจริง มีคนมาหาเยอะ พูดเรื่องนี้ แล้วเรื่องจริงของเขาด้วย จริงของเขา เขาพิสูจน์ของเขาจนเขาเชื่อของเขา แล้วมาคุยกับเรา แล้วอันไหนใหม่อันไหนเก่า

ทีนี้คำว่าใหม่ว่าเก่า มันเหมือนกับทางบัญชีเสื่อมค่า พอเสื่อมค่าใช่ไหม พอเสื่อมค่าก็ตีราคา แล้วก็ว่าใหม่ว่าเก่า มันก็เป็นผลทางบัญชี แล้วความจริงล่ะ ขาดทุนทางบัญชี แต่ไม่ได้ขาดทุนด้วยตัวเงินจริงๆ ขาดทุนทางบัญชี นี่ก็สมมุติกันไปไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าของใหม่ของเก่า เราคิดเอง เราคิดของเราเองว่าเป็นของใหม่ของเก่า แต่ถ้าเราปฏิบัติไปนะ โอ้โฮ! เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปท่านถึงสังเวชไง ท่านสังเวชมากนะ ท่านสังเวช แล้วพอมันเห็น ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปแล้วท่านจะบอกว่า ทำไมเราโง่ได้ขนาดนี้ ทำไมเราโง่ได้ขนาดนี้ แต่ถ้าเราไม่โง่ เราก็ต้องไปอยู่จริงตามสมมุติ

เวลาเราเป็นพ่อเป็นลูกกันจริงไหม จริงนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราจะเกิดมาได้อย่างไร พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่เวลาพ่อแม่ตายไปแล้วมาเกิด มันก็มาเกิดกลับมาเป็นลูก แต่ถ้าไม่เกิดก็ไปเกิดในภพชาติอื่น อันนี้เขาเกิดนะ

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ ต้องเป็นอย่างนี้จริง...ไม่ใช่ ถ้าบอกว่าต้องเกิดอย่างนี้จริง ก็ไม่ใช่อีก เพราะอะไร เพราะมันเกิดตามกรรม อ้าว! เรามาเกิดเป็นมนุษย์กับเกิดเป็นพรหม เราจะเอาอะไร กับแล้วไปในเกิดนรก จะเอาอะไร เราเลือกได้ใช่ไหมว่าเราจะเกิดเป็นมนุษย์ เราไม่อยากไปเกิดที่ไหนเลย แต่เวลากรรมมันขับไสไป เราฝืนมันได้ไหม

ถ้าเราฝืนไม่ได้เพราะมันเวียนไป เห็นไหม บางคนมาเกิดเป็นพ่อเป็นลูกกัน แต่ถ้าไปเกิดเป็นอย่างอื่นล่ะ แล้วไปเกิดเป็นอย่างอื่น เราจะเลือกได้ไหม

ทุกคนบอกเราจะเลือกไง เราจะเลือกเกิดเป็นอย่างนี้ เราไม่เลือกเกิดเป็นอย่างนั้น แต่กรรมมันให้ผล เวลากรรมให้ผล มันลากไปแล้ว มันลากไปแล้วเราไปเกิดในสถานะ นี่จิตหนึ่งไง จิตหนึ่งที่ไปเกิดอย่างนั้นไง เวลาถ้าภาวนาไปแล้วจะไปรู้ไปเห็นอย่างนี้ แล้วมันถึงสังเวชไง มันถึงไม่อยากทำอะไรที่มันสร้างเวรสร้างกรรม แต่ถ้าสร้างก็สร้างแต่กรรมดี ทำแต่คุณงามความดี สร้างแต่กรรมดี

หลวงตาท่านพูด เราซึ้งมาก ใครจะติฉินนินทาท่านอย่างไร ท่านก็บอกว่าเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ

เราจะทำคุณงามความดีคือว่าท่านทำความดีของท่าน ท่านทำความดีของท่านในใจของท่าน จนท่านมั่นใจในตัวท่านว่าสิ้นกิเลส ท่านถึงได้มาช่วยโลก ทีนี้มาช่วยโลก เขาโจมตีกันใหญ่เลยว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ไม่ใช่อะไร

ทีนี้ความดี ความดีตรงไหนล่ะ ความดีส่วนตัวของท่าน ท่านทำเสร็จแล้ว เพราะท่านทำเสร็จแล้วท่านถึงมาสร้างความดีของโลก

ไอ้พวกเรา ความดีของเรายังไม่เสร็จ แต่จะไปสร้างความดีของโลก เราก็ไปติดโลกไง โลกก็เหยียบย่ำไง แต่ท่านสร้างความดีของท่านจบแล้ว ท่านถึงมาสร้างคุณงามความดีทางโลกเพื่อเผยแผ่ทางโลก เราก็ล่อกันเต็มที่เลย

แต่ท่านก็หัวเราะของท่าน ท่านพูดนะว่า ที่ท่านเสียใจอย่างเดียวที่ออกมาช่วยชาติ เสียใจอย่างเดียวเท่านั้นแหละ เสียใจว่าคนที่โจมตีท่านจะตกนรกอเวจีกันเยอะ ทั้งๆ ที่ท่านตั้งใจมาทำประโยชน์น่ะ ไอ้คนที่ทำประโยชน์กับท่านก็ได้ประโยชน์กับท่านไป ไอ้คนที่ไม่ทำประโยชน์กับท่าน ยังโจมตีท่าน ท่านเสียใจตรงนี้

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของเขานะ เพราะท่านไม่ได้ไปเสียกับใคร ท่านทำแต่ประโยชน์ของท่าน แต่ไอ้คนที่โจมตี ท่านบอกว่าท่านเสียดาย เพราะท่านมาทำคุณงามความดี แต่ไอ้พวกนั้นน่ะมันมาสร้างกรรมของมันเอง แล้วบอกท่านเสียใจก็เสียใจไอ้พวกนี้แหละ ไอ้พวกที่ตกนรก คือว่าเขาไม่ควรได้ผลลบไง

แต่พอเขาไม่ควรได้ผลลบ แล้วผลลบนี้ใครเป็นคนสร้างล่ะ เขาสร้างเอง เขาสร้างเอง แล้วเราไปพยายามห้ามไม่ให้เขาทำก็ไม่ได้ เพราะเขาอยากทำ แล้วเขาทำไปแล้วมันก็เป็นกรรมของเขา เพราะกรรมของเขาก็ต้องพาเกิดตามนั้น แล้วเรายังอยากเกิดเป็นมนุษย์อีก อยากเกิดเป็นมนุษย์อีก แต่กรรมมันพาไปแล้ว ทำอย่างไรล่ะ

กรรมพาไปแล้วเพราะมันรู้อยู่แก่ใจ ความลับไม่มีในโลก เรารู้ๆ อยู่ในใจของเรา มันเป็นไปตามนั้น มันเป็นไปตามนั้น

นี่พูดถึงว่าจิตดวงใหม่ๆ

จิตดวงใหม่ จิตดวงเก่า อย่าไปสนใจมัน สนใจไอ้จิตของเรานี่ ไอ้จิตดวงนี้ ไอ้ทุกข์ๆ ยากๆ นี่ เอาตรงนี้ให้ได้นะ

นี่พูดถึงว่าสอบถามการปฏิบัติ

ถ้าเป็น เขาเรียกว่าภาวนาเป็น มันจะเป็นประโยชน์ไปหมดเลย ถ้าไม่เป็น ล้มลุกคลุกคลาน แล้วถ้าไม่เป็นนะ กิเลสมันสวมเขา กิเลสมันสวมหัวใจ มันแอบอ้าง มันอ้างอิงไปหมดเลย แล้วพูดธรรมะสวยหรู พูดน่าฟัง พูดรื่นหูมาก

เวลากิเลสมันสวมเขา พูดธรรมะน่าฟังนะ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราพูดธรรมะรุนแรง พูดด้วยโทสะ พูดด้วยอารมณ์ แต่มันไม่บอกว่าอันนั้นมีเนื้อหาสาระ ไอ้พูดสวยหรู แหม! พูดด้วยความเข้าอกเข้าใจ กิเลสทั้งนั้น นี่ถ้ากิเลสมันสวมหัว ถ้าพูดถึงเวลาภาวนาไป เราทำเพื่อเรานะ

นี่เขาสอบถามเฉยๆ ไง เรื่องนิมิต เรื่องจินตนาการ เพียงแต่ว่ามันเป็นคนที่ภาวนาจะเกิดอย่างนี้เกือบทุกคน ถึงได้พูดแล้วอธิบาย เวลาอธิบาย อธิบายอย่างนี้ อธิบายต้นทาง อธิบายเวลาเราปฏิบัติแล้วเราจะเจออะไร ถ้าใครฟังมันจะเป็นประโยชน์กับคนปฏิบัติใหม่

ถ้าเรายังไม่เกิดขึ้น เรายังไม่มี เราฟังไว้ประดับสติปัญญา เผื่อเจอ เผื่อเจออย่างนี้ หลวงพ่อพูดไว้แล้ว นี่เวลาเรายังไม่เจอนะ เราก็ไม่สนใจ พอเจอนะ หลวงพ่อพูดไว้แล้วไม่ฟัง เขียนใหม่เลย หลวงพ่อตอบอีก แล้วเขาก็ถามหลวงพ่อนี่ตอบซ้ำๆ ซากๆ

ก็มันถามกูมา ก็มันถามกูมา ทำอย่างไรล่ะ

ฉะนั้น เอวัง