ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ศึกษาทำไม

๑๘ ม.ค. ๒๕๕๘

ศึกษาทำไม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องพุทโธไม่ได้เลยค่ะ

เมื่อวานงานบริษัทมีปัญหาเกี่ยวกับยื่นภาษีผิด ค่อนข้างหนักทีเดียว ปัญหาที่เกิด พนักงานปล่อยปละหน้าที่ หนูไม่เข้มแข็ง คือเจอปัญหาเกิดแล้วหนูบอกพวกเขาว่า รู้ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ล้วนเป็นเพราะเราไม่ตั้งใจ ไม่ระวัง เราประมาท ซึ่งถ้าเราตั้งใจแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดเลย แล้วปล่อยให้พวกเขาปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของตนเอง

ปัญหาเมื่อวานก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อวาน คือมีปัญหามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีคนในบริษัทรู้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ตอนนั้นเห็นปัญหาอย่างนี้ก็คิดว่าทุกอย่างมีทางแก้ พอมาแก้อีกที ผิดหนักจนแก้ยากเสียแล้ว ตกใจ กังวลไม่น้อยเลย

ตอนเช้าตื่นมาประมาณตีสี่สิบนาที ก็คิดจะปฏิบัติธรรมด้วยการสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ และอธิษฐานจิต แต่ปรากฏว่าสมาธิหาย เดินจงกรมท่องพุทโธจากใจไม่ได้เลยค่ะ หนูนั่งท่องพุทโธก็ไม่ได้ แล้วหนูก็นอน ให้พิจารณาว่าตอนนี้เป็นเวลาปฏิบัติธรรม จึงปล่อยวางทุกเรื่องให้จิตว่าง

เดือนกันยายน ๒๕๕๗ ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อ ที่หลวงพ่อสอนว่า พุทโธไม่ได้ ก็ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ และหนูก็เอามาประกอบใช้กับหลวงปู่จันทร์เรียนที่สอนว่า ก่อนทำ ให้ตั้งจิตว่าปล่อยวาง จิตว่าง พุทโธ แล้วใจมันสงบนิ่ง พอดีหลวงพ่อกับหลวงปู่สอนไล่เลี่ยกัน

ช่วงแรกปฏิบัติเพลิดเพลินมาก พอทำมา ๑ เดือนเศษๆ ก็เริ่มเสื่อม หนูก็ไม่สนใจ เพราะช่วงนี้ฟังธรรมหลวงพ่อเยอะ หลวงพ่อบอกว่าพุทโธไป อย่างอื่นไม่ต้องสนใจ ก็บังคับให้ได้ แต่วันนี้บังคับใจตัวเองไม่อยู่ พุทโธไม่ออกเลย

แล้วด้วยประสบการณ์ปฏิบัติ หนูรู้ว่าพุทโธจากใจกับพุทโธแค่ปากมันคนละเรื่องกัน พุทโธจากใจคือแค่นึก มันจะพุทโธนับไม่ถ้วนเลย แต่ถ้าแค่บังคับปากให้พุทโธ มันจะออกมาคำนึง อาจใช้ ๑ วินาที หรือนานกว่านั้นก็เป็นได้ เพราะไม่ใช่ออกจากใจ เพียงแต่ฝึกบังคับตัวเองว่า ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่าทิ้งพุทโธก็แล้วกัน

รบกวนหลวงพ่อช่วยแก้ปัญหาให้หน่อยค่ะ พยายามปล่อยวางแล้วไม่ได้ผล กราบขอบพระคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดา อินทร์ พรหม กัลยาณมิตร สัตว์โลกทั้งหลาย รวมถึงเจ้ากรรมนายเวรที่นำพาหนูมีวันนี้ ทำให้จิตใจหนูในวันนี้ไม่มีอาการโกรธแค้นอาฆาตต่อคนอื่น สัตว์ร่วมโลก เห็นเขาดีกว่าเรา ก็อนุโมทนาบุญกับเขาด้วย เห็นเขาหลงอยู่ในอาการโลภ โกรธ หลง ก็สงสารพวกเขา ไม่ได้รังเกียจแต่อย่างใด และที่สำคัญ หนูรู้ว่าหนูเป็นคนโชคดีที่สุดที่เกิดมาเจอพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อ : เขาเขียนยกย่อง มันกระดาก มันไม่กล้าอ่าน

ถาม : หนูโชคดีที่สุด ถ้าเจอปัญหา ถ้าใจมันมีธรรมะแล้ว ปัญหาทางโลกก็กลายเป็นน้อยนิด ใหญ่แค่ไหนก็ไม่สำคัญ แต่ปัญหาครั้งนี้อาจจะโดนปรับเงินเป็นแสนเป็นล้าน หรือโดนปิดบริษัทเลย ก็พยายามให้เข้าใจธรรมะให้ได้ แล้วก็กราบหลวงพ่อ ซาบซึ้งบุญคุณ

ตอบ : อันนี้พูดถึงบุญคุณนะ นี่เราพูดถึงว่าปัญหามันเกิด ปัญหามันเกิดมี ๒ ประเด็น หนึ่ง ปัญหาทางโลกกับปัญหาทางธรรม

ปัญหาทางโลกคือบริษัทของตัวไง เราเห็นอยู่แล้ว บริษัทมันมีปัญหาเรื่องบัญชี เขาบอกเขาเห็นมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็คิดว่ามันจะแก้ไขได้ ก็วางใจไง วางใจปล่อยมาๆ แต่พอตอนนี้จะมาแก้ เขาบอกมันแก้ยากแล้ว

ถ้ามันจะแก้ยาก เวลาคำว่าแก้ยากเพราะเราไปเห็นปัญหาไง แต่จริงๆ แล้วปัญหาทุกปัญหาแก้ได้ ปัญหาแก้ได้ เพราะปัญหาแก้ได้ มันก็แก้ไปตามสรรพากรมันจะว่านั่นน่ะ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร นี่พูดถึงปัญหาทางบริษัทนะ ถ้าปัญหาทางบริษัท มันเป็นปัญหาที่เราอยู่กับทางโลก การประกอบสัมมาอาชีวะมันก็มีขึ้นมีลงทั้งนั้นน่ะ คนเราเกิดมามันมีปัญหาทั้งนั้น มันมีปัญหา ถ้าปัญหา เราค่อยแก้ไขของเราไป นี่พูดถึงปัญหาทางโลกนะ

แต่ปัญหาทางโลกมันจะหนักหรือมันจะเบา มันอยู่ที่ปัญหาทางธรรมด้วย ปัญหาทางธรรมคือว่าจิตใจไง ถ้าจิตใจมันไม่วิตกกังวล จิตใจมันมีที่พึ่งอาศัย ปัญหานั้นเป็นปัญหาเล็กน้อย มันไปมองปัญหานั้น มันจะแก้ปัญหานั้นได้ แต่ถ้าจิตใจมันไม่เป็นธรรมนะ จิตใจไม่เป็นธรรม

เขาบอกเลย เวลาจิตใจเขาเป็นธรรม เขาบอกว่าเขาไม่โกรธแค้นใคร เขาไม่โกรธเกลียดใคร เพราะปัญหาที่มันเกิดขึ้นคือพนักงานในบริษัทมันทำไง ถ้ามันทำแล้วมันผิดพลาดขึ้นมา ถ้าเราไปโทษคนอื่น เราไปโทษอยู่ตลอดไป มันก็ไม่จบ

เห็นไหม ถ้าจิตใจเราดี เราไม่โกรธแค้นใคร เราไม่ผูกพยาบาทใคร ไม่อาฆาตใคร ปัญหามีขึ้นมาแล้วเราก็แก้ตามปัญหานั้นไป ถ้าปัญหาอย่างนี้ จิตใจเราเป็นธรรมอย่างนี้ เขาก็บอกว่าเป็นคนโง่ ในเมื่อมีคนทำผิดแล้ว คนทำผิดนั้นรับผิดชอบ คนทำผิดนั้นต้องเข้ามาแก้ไข ไอ้อย่างนี้มันพูดอย่างนี้มันก็พูดได้

แต่ถ้าจิตใจมันเป็นธรรม จิตใจที่เป็นธรรม ปัญหาที่มันใหญ่โตขนาดไหนก็เป็นปัญหาที่เล็กน้อย ปัญหาที่พอแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้ มันต้องแก้ไขได้ อย่างไรก็ต้องแก้ไขได้ เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ เรามีชีวิตอยู่ ชีวิตเราต้องดำเนินไป ถ้าชีวิตเราดำเนินไป สิ่งใดที่เกิดขึ้น เราต้องแก้ไขอยู่แล้ว เพราะว่าชีวิตมันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เพราะมีปัจจัยเครื่องอาศัย มันถึงมีชีวิตนี้อยู่ แล้วถ้ามีชีวิตอยู่ ชีวิตก็ต้องอาศัยกัน อาศัยปัจจัย ปัจจัยต้องอาศัยผู้ที่บริหาร เราเป็นผู้บริหาร ถ้าจิตใจเราดี ปัญหานี้เป็นปัญหาเล็กน้อยเลย ปัญหามันเบาบางลงเพราะเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง

ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง เห็นไหม ดูสิ อย่างเมื่อวานเขาถามว่าจะต้องศึกษาธรรมะไหม จะต้องปฏิบัติไหม นี่เวลาบอกว่าต้องศึกษาๆ

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษา ศึกษามาแล้วเราใช้ประโยชน์มันหรือเปล่า

เราว่าเป็นชาวพุทธทั้งนั้นน่ะ เรามีครูมีอาจารย์ ลูกศิษย์กรรมฐานทั้งนั้นน่ะ เรามีความรู้หมดแหละ แต่เวลามันเกิดปัญหาขึ้นมา ธรรมะอยู่ไหนล่ะ เอามันมาใช้หรือเปล่าล่ะ

เราศึกษาธรรมะมา เราต้องเอาธรรมะมาใช้สิ เรามียา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ต้องเอายามาใช้สิ เรามีหมอใช่ไหม หมอก็ต้องรักษาให้โรคนี้หายสิ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาจิตใจเรามีปัญหาขึ้นมา ถ้าเรามีธรรมะ ศึกษาธรรมะมาทำไม ศึกษาธรรมะเพื่อผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตไง ศึกษามีคุณธรรมในใจไง ถ้ามีคุณธรรมนะ ธรรมโอสถไง ถ้าธรรมโอสถ มันก็รักษาใจเราได้ ถ้ามันรักษาใจเราได้ ศึกษาธรรมะมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมะมาเพื่อให้มีคุณธรรม ถ้ามีคุณธรรม มันจะประกาศตัวมันเองตอนเจอปัญหา

พอเจอปัญหา ถ้ามันมีคุณธรรม มันทำให้ใจเราร่มเย็น ทำให้ใจเราไม่เดือดร้อนจนเกินไป แต่ปัญหานั้นก็ต้องแก้ ไม่ใช่ว่าใจเราร่มเย็นแล้ว ปัญหามันจะหายไปเอง มันก็ไม่หายหรอก ปัญหาต้องแก้ แต่เราแก้ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยคุณธรรมอย่างหนึ่ง

ถ้าปัญหาที่เราต้องแก้ ดูสิ เวลาเขามีความขัดแย้งกัน เขาแก้ เขาจ้างมือปืนเก็บกัน ฆ่ากัน เขาแก้อย่างนั้น แก้อย่างนั้นไม่ถูกต้อง

เพราะคนเรามันมีเวรมีกรรมต่อกัน เห็นไหม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไม่จองเวรจองกรรมต่อใคร แต่เราก็ไม่ใช่คนไม่มีหูมีตาไง คนที่เขาฉลาดเขามีหูมีตา เขาเข้าใจทุกอย่างนะ เข้าใจแล้วเขาเก็บไว้ในใจ เขาเก็บไว้ในใจแล้วเขาพิจารณาแก้ไขไปด้วยสติปัญญาของเขา

ไม่ใช่ว่า โอ๋ย! คนมีคุณธรรมนะ ตบแก้มซ้าย แล้วก็ให้แก้มขวาให้เขาตบอีก ตบแก้มซ้ายมาก็ตั้งท่าแล้ว เข้ามาก็สวนแล้ว แหม! ตบแก้มซ้ายแล้วก็ยื่นแก้มขวาให้เขาตบอีกนี่มันไม่ใช่ โดนตบมันไม่รู้ตัวหรือ เออ! เราก็รู้ตัวแล้วนะ แก้มขวาไม่ยอมให้ตบแน่ๆ ไม่มีทาง หลบเลย แหม! ตบแก้มซ้ายแล้วก็เอียงแก้มขวาให้เขาตบ มันไม่มีหรอก ถ้าเรามีปัญญา เราก็แก้ของเราได้

ถ้ามีปัญญา เห็นไหม เรามีปัญญาแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่รับรู้อะไรเลย นี่เขาบอกว่า คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วปล่อยวางๆ

เขาปล่อยวาง ปล่อยวางทิฏฐิมานะ ปล่อยวางความเจ็บปวดในใจ แต่ของอย่างนั้นเขาไม่ได้ปล่อยวางหรอก เขาต้องใช้ต้องสอยของเขา แล้วเขาใช้สอยของเขา ใช้สอยด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นคุณธรรมนะ ท่านจะประหยัดมัธยัสถ์มาก ความประหยัด ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นเครื่องหมายของปัญญาชน เป็นเครื่องหมายของคนที่มีคุณธรรม

ไอ้ที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไอ้ที่ใช้จ่ายอวดเขาว่าฉันมีมาก ใช้จ่ายโดยสุรุ่ยสุร่าย นั่นกิเลสทั้งนั้นน่ะ การทำอย่างนั้นเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันจะอวดกัน มันจะให้คนยอมรับมัน กิเลสน่ะ

แต่คุณธรรมเขาไม่ต้องการให้ใครยอมรับ เพราะอะไร เพราะเขารู้ เห็นไหม อย่างปัญหาที่เกิดขึ้น คนที่มีคุณธรรมเขารู้เขาเห็น เขาแก้ไข เขารับรู้ เขาไม่ใช่ว่าคนที่ปฏิบัติธรรมแล้วต้องไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นขอนไม้ อะไรเกิดขึ้นมาก็ไม่รับรู้ เพราะปล่อยวางๆ...มิจฉาทิฏฐิ

ศึกษาธรรมะไว้ เขาศึกษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา ศึกษาให้ฉลาด ฉลาดทั้งข้างนอกด้วย ฉลาดทั้งข้างในด้วย

ฉลาดทั้งข้างนอก เห็นไหม หลบหลีก เราปฏิบัติใช่ไหม ที่ไหนเขาไม่ปฏิบัติ เราก็หลบหลีกใช่ไหม ถ้าเขาไม่ภาวนา เราก็ไปหาภาวนาที่สงบร่มเย็นของเรา ถ้าเขามากวน เราก็หนีไปหาที่สงบ

ถ้าเขามากวนเรา เราก็จะทะเลาะกับเขาเลย พอทะเลาะแล้วจิตใจมันก็ฟุ้งซ่าน แล้วก็จะไปนั่งพุทโธ มันเสียเวลาใช่ไหม เราจะหาที่สงบสงัด เขามาก่อกวน เราก็หนีของเราไป เราไม่ชวนใครทะเลาะ

แล้วก็กรรมของสัตว์ เขาไม่เห็นถึงคุณสมบัติ เขาไม่เห็นถึงความวิเวก แต่ถ้าเมื่อใดเขาซาบซึ้งในศาสนา แล้วเขาจะมาประพฤติปฏิบัติ เขาก็จะต้องการความวิเวกอย่างนี้เหมือนกัน แต่ในปัจจุบันนี้เขาเป็นคนพาล เขาไม่รู้จักความวิเวกมันมีคุณประโยชน์อย่างไร สัปปายะ ๔ เขาไม่เห็นว่าความเป็นสัปปายะเป็นการส่งเสริมคุณธรรม

เราประพฤติปฏิบัติอยู่ เราต้องการความสงัด ความวิเวก ถ้าเขาไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เขามาก่อกวน เราหนีๆ ต่อไปถ้าจิตใจเขาเจริญขึ้นมา จิตใจเขาอยากจะประพฤติปฏิบัติ เขาจะปฏิบัติ เขาก็ต้องการสิ่งที่เขาไปทำลายคนอื่น เวลาเขาคิดได้อย่างนั้น เขาจะเสียใจของเขา แล้วเวลาเขาจะไปปฏิบัติ มันจะมีเวรมีกรรมมาก่อกวนเขาโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย นี่เวรกรรมมันให้ผลแบบนั้นน่ะ

ฉะนั้น ถ้าเราว่าเรานักปฏิบัติ เราต้องการที่สงัดที่วิเวก แล้วไปเจอสิ่งใดที่ไม่ถูกใจ เราก็จะไปโต้ตอบๆ

การโต้ตอบ มันเป็นสถานที่ สถานที่ที่ใดมีหัวหน้า มีผู้ที่ดูแลรักษา เขาให้แจ้งผู้นั้น เพราะผู้นั้นเขามีหน้าที่ เหมือนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่เขาปฏิบัติหน้าที่ แต่คนไม่มีหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ มันเสียหายไง มันไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าคนมีหน้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ เขาก็เสียหายเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีเจ้าหน้าที่ เราต้องบอกเจ้าหน้าที่เขา ให้เจ้าหน้าที่เขาไปจัดการ เราไม่ควรจะไปทำให้มันมีปัญหาขึ้นมา นี้ผู้ที่มีปัญญา จะบอกว่าถ้ามีปัญญา เขามีปัญญาอย่างนี้ ไม่ใช่ตบแก้มซ้ายแล้วก็เอียงแก้มขวาให้เขาตบ ไม่ใช่ เขาจะตบแก้มซ้าย เราหนีแล้ว กูจะไปบอกเจ้าหน้าที่จัดการให้จบ แล้วจัดการให้จบนะ

เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติของเรา แต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ เราไปวิเวกของเราคนเดียวนะ พระเราเวลาวิเวกไป มันเป็นวาระ ที่นี่มันเป็นฤดูกาล ฤดูกาลที่เวลามันแห้งแล้ง มันก็สงบสงัดไปอย่างหนึ่ง ถ้าฤดูกาลของฤดูฝน พืชพรรณธัญญาหารมันสมบูรณ์ มันมีผลไม้ มันมีอะไร สัตว์มันก็จะมากิน เห็นไหม มันอยู่ที่ฤดูกาลนะ มันอยู่ที่วาระ วาระที่ไหนมันสมควรแก่การปฏิบัติ อันนี้อันหนึ่งนะ

นี่พูดถึงว่าทางโลกไง ว่าบริษัทมันมีปัญหา ถ้าบริษัทมีปัญหา แล้วเราจะแก้อย่างไร เขาจะปรับ ปรับเป็นแสน หรือถึงปิดบริษัทไปได้เลย

ไอ้อย่างนี้มันก็อยู่ที่เวรที่กรรม คำว่าเวรกรรมไม่ใช่งอมืองอเท้านะ คำว่าเวรกรรม

ทุกอย่างหลวงพ่อยกให้เวรกรรมหมดเลย

มันมีที่มาที่ไป มีเหตุมีปัจจัย มันมีที่มาที่ไป ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้กลับไปแก้ที่เหตุนั้น เหตุมันเกิดที่ไหน ต้องไปดับที่นั่น เหตุอะไรมันเกิดขึ้น แล้วสาวหาปัญหา แล้วดับที่ปัญหา จบ

เหตุมันเกิดขึ้นแล้ววิ่งหนี ไปเถอะ อีก ๑๐๐ ชาติก็แก้ไม่ได้

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ นี่ก็เหมือนกัน เหตุมันเกิดขึ้นมา เราแก้ไข แก้ไข เราต้องหาที่มาที่ไป แล้วดับซะ ดับซะคือว่ามีสิ่งใดผิดก็ทำให้มันถูกต้องก็จบ นี่พูดถึงมันจบ

ทีนี้มันต้องมีค่าปรับ มีความเสียหายเท่าไร

อันนั้นก็อยู่ที่ความผิดมากความผิดน้อย ในเมื่อมันผิดแล้ว เราก็ต้องยอมรับความผิดนั้น เราแก้ไขสิ่งนั้นมันก็จบกันไป นี่พูดถึงเรื่องบริษัทนะ

ทีนี้กลับมาเรื่องว่าศึกษามาทำไม ศึกษามาปฏิบัติ เขาบอกว่า สิ่งที่เวลาตอนที่มีปัญหาก็คิดมากจนมันมีความวิตกกังวล มีความวิตกกังวล ตื่นมาตี ๔ เคยนั่งภาวนา สวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา ตอนนี้สมาธิมันหายหมดเลย

สมาธิมันหายอยู่แล้ว สมาธิมันหายอยู่แล้วเพราะอะไร เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ความคิดของเรามันเกิดดับ

ทีนี้คนเราคิดว่าทำสมาธิได้แล้วสมาธิอยู่กับเรา หาเงินได้บาทหนึ่งเก็บไว้ บาทมันอยู่อย่างนี้ ถ้ามันจะลดค่าเสื่อมค่า เงินบาทก็ยังเป็นเงินบาท เงินเฟื้อง เงินสตางค์สมัยโบราณก็ยังมีค่าเท่าเฟื้อง เท่าสตางค์ แต่สมัยปัจจุบันนี้เขาใช้เป็นเงินบาทกันแล้ว เงินเฟื้อง เงินสตางค์เขาไม่ใช้กันแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ว่าเป็นสมาธิ เคยได้สมาธิ

สมาธิเป็นอนิจจัง สมาธิอยู่กับเรา สมาธิมันเกิดขึ้นมา เราทำดีมันก็เป็นสมาธิ พอมันผ่านไปแล้ว สมาธิมันก็จางไป จิตมันก็คลายออกมาเป็นปกติ ถ้าจิตคลายเป็นปกตินะ เราจะทำขึ้นมา เราก็ต้องกำหนดพุทโธ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันสมควร จิตมันก็ลงสมาธิ

ทีนี้จิตมันลงสมาธิ ถ้าจิตใจเราดี เรากำหนดพุทโธมันก็กำหนดพุทโธได้เลย แต่ถ้าเราต้องบริหารจัดการใช่ไหม พอเราออกไปบริหารจัดการบริษัท บริษัทมีปัญหาขึ้นมา สมาธิหายหมดเลย ถ้าผลกระทบมันรุนแรง

เวลาปฏิบัติ ถ้าจิตใจเราดีนะ เรากำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ มันภาวนาง่าย แต่ถ้าเรากระทบรุนแรง เราก็ต้องตั้งสติมากกว่านั้น เราต้องทำให้มากกว่านั้น

นี่สมาธิหายหมดเลย มันทำสิ่งใดก็ไม่ได้เลย

ไม่ได้ก็คือไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเวลาเราไปนอนที่กลางแจ้ง ถ้าบรรยากาศดี ไปนอนกลางแจ้ง กางเต็นท์นอนมันก็ดี ถ้าลมพายุมันมา นอนไม่ได้นะ มันพัดเอาเต็นท์นี้หลุดหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตใจเราไปกระทบรุนแรง มันพัดเอาหัวใจนี้หวั่นไหวหมดเลย ถ้ามันพัดเอาหัวใจหวั่นไหว มันก็เสื่อมหมด แล้วค่อยๆ ตั้งสมาธิของเราใหม่

นี่พูดถึงว่า สมาธิทำไม่ได้เลย สมาธิหายหมดเลย แล้วก็เลยพิจารณาให้มันเป็นความว่างต่างๆ

ถ้าอย่างนี้เราใช้ปัญญาของเรา แก้ไขของเรา ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ศึกษามาแล้วทำของเราให้ได้ ถ้าทำของเราให้ได้นะ แค่จิตสงบ หาที่พึ่งที่อาศัย ถ้าจิตสงบ เหมือนกับคนเราไร้บ้านไม่มีที่พึ่งที่อาศัย เราต้องนอนกลางดินกินกลางทราย แต่ถ้าเรามีฐานะขึ้นมา เราสร้างบ้านได้ ๑ หลัง เราจะมีที่นอนที่สะดวกสบายของเรา เราจะนอนด้วยความอบอุ่น เวลาหน้าหนาวเรานอนในบ้าน เราก็มีความอบอุ่น มีพายุ มีฝน เราก็มีความอบอุ่น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำสมาธิของเราได้ เราทำความสงบของใจได้ ใจมันก็มีที่พึ่งที่อาศัย ถ้าใจมีที่พึ่งที่อาศัยแล้ว ถ้ามันมีวาสนายกขึ้นวิปัสสนา มันก็จะใช้มันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในของเรา

แต่ในเมื่อเราทำหน้าที่การงานนี้ก็เป็นหน้าที่การงานนี้ มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยกับการดำรงชีวิตนี้ ชีวิตนี้มีที่พึ่งที่อาศัย พระ เช้าต้องออกบิณฑบาต เวลาบ่ายก็ฉันน้ำร้อน ทำข้อวัตรปฏิบัติ พระก็ยังมีหน้าที่ เพราะอะไร

พระก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง พระก็เป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิต ดูสิ เวลาของประเคนไม่ประเคน ล่วงลำคอ ของไม่ประเคน กลืนล่วงลำคอทุกคำกลืน ถ้าของประเคนแล้ว มันก็มีกติกาทั้งนั้นน่ะ

ทีนี้บริษัท ๔ วางธรรมวินัยไว้ บริษัท ๔ ให้เกื้อหนุนกัน มันส่งเสริมกัน มันเจริญขึ้นไป ศาสนาก็เจริญ สังคมก็เจริญ มนุษย์อยู่ในสังคมนั้นก็มีความสุข ถ้ามีความสุขนะ ทีนี้ความสุข เรามีสติมีปัญญา เรารักษาสิ่งนี้

นี่พูดถึงว่า กำหนดพุทโธไม่ได้เลย สมาธิมันหายหมดเลย แล้วเวลาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติธรรม ถึงเวลาเขาว่าปฏิบัติธรรมแล้วต้องปฏิบัติ

เราปฏิบัติก็เพื่อธรรมโอสถ เพื่อใจของเรา

ฉะนั้น เขาบอกว่าย้อนกลับ ย้อนกลับไปเดือนกันยายนตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ นั่นน่ะ ฟังเทศน์หลวงพ่อ เวลามันภาวนาไม่ได้ หลวงพ่อบอกให้ธัมโม สังโฆ

เวลาพุทโธไม่ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เวลาภาวนาไม่ลงมันคือไม่ลงนะ ถ้าไม่ลง เราก็เปลี่ยนของเรา เห็นไหม

ศึกษามาทำไม

ศึกษามาทำไม เวลาศึกษาธรรมะ ศึกษาปริยัติ ปริยัติเขาศึกษามาให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมา ไม่ปฏิบัตินะ คนเราพอศึกษามานะ ฉันรู้หมดเลย ถ้าไปภาวนา พรุ่งนี้ฉันเป็นพระอรหันต์แล้ว

เพราะมันรู้ก่อนไง แต่เวลาไปภาวนาจริงๆ ภาวนาไม่ได้

โอ๋ย! มันรู้แนวทางหมดแหละ อ่านหนังสือนี่เข้าใจหมดเลย ทฤษฎีนี่รู้หมดเลย แล้วก็บอกว่า ถ้าปฏิบัติ ฉันก็ทำได้ ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมา ฉันก็ทำได้

พอไปทำจริงมันทำได้หรือเปล่า มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ มันมีอุปสรรคแล้ว ถ้าทำไม่ได้

นี่เขาเรียกปริยัติ ศึกษามาแล้วให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ต้องวางปริยัติไว้ก่อน ถ้าไม่วางปริยัติ ขนาดว่าไม่ศึกษาก็งง ศึกษามาแล้วเราจะเอาสิ่งนั้นมาเป็นแนวทางแล้วปฏิบัติตามนั้น มันก็เป็นจินตนาการ พอจินตนาการขึ้นมาแล้วมันก็เคลิบเคลิ้มหลงใหลไปตามมัน แล้วตอนนี้ศาสนาเป็นอย่างนั้น มันก็เลยแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน กลุ่มก้อนนี้สอนอย่างนี้ กลุ่มก้อนนั้นสอนอย่างนั้น กลุ่มก้อนๆ

แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ความจริงคือความจริงอันเดียวกัน

ถ้าความจริงอันเดียวกันนะ ไอ้กลุ่มก้อนนั้นสลายไปหมดเลย เพราะหลวงปู่มั่นบอกเลย ไก่มันยังมีชื่อ เขายังตั้งให้เลย สุนัขมันยังมีชื่อ นี่ก็ไปตั้งชื่อให้มัน แบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน พวกใครพวกมัน แต่สัจธรรมอยู่ไหน

หลวงปู่มั่นท่านเอาสัจธรรม ท่านเอาคุณธรรม ดูสิ เวลาพระมาปฏิบัติกับท่าน องค์ไหนควรให้ญัตติ ท่านให้ญัตติ องค์ไหนไม่ญัตติ ท่านไม่ให้ญัตติ ท่านบอกไม่ต้องญัตติ เพื่อกลุ่มก้อนของท่าน เพื่อประโยชน์กับกลุ่มก้อนนั้น เพราะเวลาท่านปฏิบัติแล้วท่านได้คุณงามความดีแล้วท่านต้องกลับไปอยู่ในชุมชนนั้น ชุมชนนั้นจะได้ประโยชน์กับท่าน

หลวงปู่มั่นท่านคิดอย่างนั้นน่ะ ท่านไม่เคยแบ่งแยกเลย กลุ่มก้อนใด พวกใคร ไม่แบ่งแยกเลย ขออย่างเดียว ขอให้มึงทำได้จริง เพราะถ้าทำได้จริงแล้ว ในเมื่อสังคมใดมันมียาใช่ไหม มีธรรมโอสถใช่ไหม สังคมนั้นเจ็บไข้ได้ป่วย สังคมนั้นเขาจะดูแลกัน สังคมไหนเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดดูแลเลย ต้องวิ่งไปหาสังคมอื่น ให้สังคมอื่นช่วยดูแล

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาปฏิบัติ ถ้ามันแยกเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมา ถ้าถึงความจริงแล้วนะ มันละคลายตรงนี้หมดเลย แล้วมันซาบซึ้งนะ ซาบซึ้ง ดูเวลาหลวงตาสิ หลวงตาเวลาท่านบรรลุธรรม ท่านกราบแล้ว กราบเล่า ท่านกราบซาบซึ้งในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา รู้ได้อย่างไร แล้วเวลารู้ได้อย่างไร แต่ท่านกระเสือกกระสนมาด้วยการปลุกปั้นมา ด้วยการชักนำของหลวงปู่มั่นมา เวลาท่านเข้าไปถึง ท่านกราบแล้วกราบเล่าๆ ทำไม ๒,๐๐๐ กว่าปีมันยังซาบซึ้งขนาดนั้น นี่ไง ถ้าเข้าไปถึงธรรมแล้วมันเป็นแบบนั้นน่ะ มันไม่มีกลุ่มมีก้อน

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกสาวกะด้วยกัน ศึกษามาด้วยกัน ปฏิบัติถึงธรรมแล้วมันก็ถึงธรรมเหมือนกัน แล้วถ้าถึงธรรมแล้วมันไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย

ที่มันขัดแย้ง ขัดแย้งเพราะว่าทิฏฐิมานะ แบ่งกลุ่มแบ่งก้อน ศึกษามา ศึกษามาแล้วก็ตีความกัน พอตีความ กลุ่มใครเห็นด้วย กลุ่มใครเห็นดีงามด้วย ก็ยึดกลุ่มนั้นกันไป แล้วเป็นความจริงไหมล่ะ

ถ้าความจริง มันทำลายหมด ทำลายทิฏฐิมานะหมด ถ้าทำลายทิฏฐิมานะหมดแล้ว แล้ววิธีทำลายนั้นน่ะสำคัญ วิธีทำลายนั้นเอามาสอนกัน เอามาสอนให้ผู้ที่ปฏิบัติตามไง

เขาบอกว่า เมื่อก่อนเวลาปฏิบัติพุทโธไม่ได้ ฟังเทศน์หลวงพ่อ หลวงพ่อบอกให้ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ ช่วงที่ปฏิบัติดีมันก็ดีขึ้นมา ถ้าช่วงปฏิบัติไม่ดี

การปฏิบัติดีหรือปฏิบัติไม่ดีมันเป็นประสบการณ์

เขาบอกว่า ถ้าพุทโธจากใจ

เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันพุทโธจากใจนะ มันไม่ต้องพุทโธเลย มันไหลไปเลย สติมันพร้อม แต่เวลาพุทโธจากปาก พยายามให้มันท่อง ท่องทีหนึ่งมันแฉลบแล้ว ท่องทีหนึ่งมันแฉลบ

ถ้าพุทโธจากใจ พุทโธๆ มันไหล คือว่ามันคิดอย่างอื่นไม่ได้ ใจมันยึดพุทโธไว้อย่างเดียวเลย เพราะธรรมชาติของมือหยิบของได้ทีละชิ้น ธรรมชาติของจิตมันคิดได้ทีละความคิด ทีนี้มันคิดเรื่องเดียวกันไหลไปเลย มันก็อยู่ในคำบริกรรม มันเป็นคำบริกรรม นี่มันมีที่พึ่ง มันไม่แฉลบ

แต่ถ้ามันคิด เวลาบังคับพุทโธที่ปาก ที่ปากพุทโธ แต่ใจมันยังไปหยิบอย่างอื่น มันแฉลบไปคิดอย่างอื่น มันไม่ต่อเนื่อง

เวลาปฏิบัติไป พอคนปฏิบัติมันจะรู้อย่างนี้ มันจะเข้าใจ แล้วมันจะซาบซึ้ง ซาบซึ้งถึงคำบริกรรม ซาบซึ้งถึงว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนมา ยิ่งพระปฏิบัตินะ ยิ่งซาบซึ้งถึงข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นเครื่องอยู่

จิตของเรามันเป็นนามธรรมแล้วมันเร็วมาก เวลามันไปไหน ถ้าเราไม่มีอะไรให้มันอาศัยเลย ปล่อยปละละเลย เด็ก ลูกเรา เราปล่อยตามใจมัน แล้ววันหลังจะสั่งให้มันอยู่ในอำนาจเรา มันจะฟังเราไหม

สัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ เราไม่เคยฝึกมันเลย เราปล่อยให้มันไปตามกำลังของมันเลย สักวันหนึ่งบอกว่า เฮ้ย! เอ็งมาเข้าคอก เอ็งมาอยู่ดีๆ สัตว์ตัวไหนมันจะฟังเอ็ง ไม่มีหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ไม่มีเครื่องอยู่ ใจของเรา พระที่มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่ดี ข้อวัตรปฏิบัติในวัด ถึงเวลาทำพร้อมกัน

อยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านบอกเลยนะ เวลาทำ ไม่มีการเคาะระฆัง ไม่มีการบอก พระต้องสำนึกรู้เหมือนกัน โตแล้ว เวลาจะรวมเทศน์ บอกเทศน์ รวมพระ พระทั้งวัดเลยมารวมที่ศาลา ท่านลงมาก็เทศน์เลย ทำอะไรมันจะฉับไวมาก ทำอะไร สติสัมปชัญญะพร้อมมาก

นั้นมันเป็นการบอกว่าวัดปฏิบัติเป็นอย่างนั้นน่ะ วัดปฏิบัติ เพราะอะไร เขามีสติ เขามีสติ เขามีความพร้อมเพรียง เขาหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ มาประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน นั่นล่ะมันเป็นเครื่องบอกเลยว่า ถ้ายังมีการกระทำแบบนี้ สังคมสงฆ์จะเจริญรุ่งเรืองไง สังคมสงฆ์จะมีความสามัคคีไง สังคมสงฆ์ ในการปฏิบัติมันมีเครื่องอยู่อย่างนี้ จิตใจมันไม่เร่ร่อน มันจะดี

แต่ถ้าสังคมไหนนะ ในวัดนั้นมีแต่เจ้าพ่อ นั่นก็เจ้าพ่อหนึ่ง นี่ก็เจ้าพ่อหนึ่ง เวลาจะประชุม แหม! เจ้าพ่อมาถึงต้องมีลูกศิษย์ลูกหายกขบวนกันมาเลย หลายเจ้าพ่อมารวมกันในสังฆกรรม มันก็เลยเป็นก๊กเป็นเหล่า

อันนั้นมันเป็นที่ว่าหลวงตาท่านพูด มีคนถามไง บอกว่า หลวงตาบอกว่าเหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม

ถ้าอย่างนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะไม่เคารพธรรมวินัย ถ้าเคารพธรรมวินัยนะ มันไม่มีเจ้าพ่อ เคารพกันด้วยอาวุโสภันเต ผู้ใดบวชก่อน ตามสิทธิของเขา แม้แต่การฉัน การเข้าไปนั่งในพื้นที่ ถ้าอาวุโส ต้องให้อาวุโสนั่งหน้า ภันเตนะ อาวุโสไม่อนุญาต ไปนั่งหน้า เป็นอาบัติทุกกฏ อาบัติปรับทันทีเลย เว้นไว้แต่พระอาวุโสนั้นอนุญาต แบบว่านิมนต์ให้ท่านนั่งตรงนั้น แต่ถ้าพระอาวุโสไม่ได้บอก เราไปนั่งหน้าที่สูงกว่า นั่งข้างหน้า ปรับอาบัติทันที

ถ้าไม่เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป มันจะไม่มีการแบ่งแยกอย่างนั้น มันจะเคารพกันเป็นชั้นเป็นตอน มันเคารพกันตามธรรมวินัย ตามสิทธิ์ ศาลปกครอง ศาลปกครองตามการปกครองเลย ธรรมวินัยนี้ปกครองเลย แล้วทุกคนศึกษามาด้วยกัน ทุกคนเคารพเหมือนกัน มันต้องมาเถียงกันไหม มันจะมีกลุ่มมีก้อนไหม นี่พูดถึงเวลาปฏิบัตินะ

ฉะนั้น เวลาปริยัติก็ส่วนปริยัติ เวลาปฏิบัติ ที่ศึกษามา ที่ท่องมานั่นน่ะ เขาถือหมด เขาเชื่อหมด แล้วเขาทำตามหมด แล้วมันเลยไม่มีกลุ่มมีก้อนไง มันเป็นก้อนเดียวกันไง มันเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกันหมดไง มันไม่มีกลุ่มมีก้อนไง

ถ้าไม่มีกลุ่มมีก้อน ก็บอกว่าแล้วเวลาลงอุโบสถ ลงอุโบสถกันไม่ได้ มันเป็นพระนานาสังวาส

อันนั้นมันก็เป็นนานาสังวาสจริงๆ นานาสังวาส มันก็ถือศีลต่างกัน มันก็เป็นนานาสังวาส นานาสังวาส พระพุทธเจ้าก็ให้ปฏิบัติตามนั้น นานาสังวาส ให้ต่างคนต่างลงอุโบสถ มันก็ลงอุโบสถเหมือนกัน อาวุโสภันเตก็อาวุโสภันเตเหมือนกัน

นี่พูดถึงถ้ามันมีธรรมวินัยเป็นศาสดา มันไม่มีอะไรขัดแย้ง มันทำตามนั้นแล้วจบ

แต่นี่ก็ขัดแย้งอีกอ้าว! นานาสังวาสต้องรวมกันสิ รวมกัน

นั่นก็จะไปลบหลู่ธรรมะพระพุทธเจ้า ก็นานาสังวาสมันอยู่ในธรรมวินัย นานาสังวาสมันก็มี เพราะนานาสังวาสบังคับไว้อย่างนั้น ก็วินัยมันบังคับไว้อย่างนั้น เราก็จะไปฝืน เวลาบังคับก็จะไปฝืน เวลาเขาไม่ให้ทำก็จะทำ นี่ไง เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป

แต่ถ้าไม่เหยียบล่ะ ถ้าไม่เหยียบนะ เราเคารพ นี่เครื่องหมายของคนดี กตัญญูกตเวที ความสามัคคี นี่พูดถึงความสามัคคีนะ

ฉะนั้น เขาบอกว่า เมื่อเดือนกันยายนตอนปี ๒๕๕๗ ช่วงแรกๆ ปฏิบัติเพลิดเพลินมาก โอ้โฮ! ปฏิบัติแล้วดีไง แล้วตอนนี้พอเดือนเศษๆ มันเสื่อมหมดเลย

มันเสื่อมหมดเลย สมาธิมันไม่มี คำว่าเจริญแล้วเสื่อมเวลาเราปฏิบัตินะ จิตใจเรามันสามัญสำนึกของมนุษย์ เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วยกขึ้นสู่สมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิแล้ว ความสุขสงบระงับแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา นี่ปัญญาการรู้แจ้ง การรู้แจ้งคือโลกุตตรปัญญา ถ้าปัญญารู้แจ้ง

ถ้าเราไม่รู้จักบำรุงรักษา มันเสื่อมหมดแหละ มันต้องเจริญแล้วเสื่อม เพราะมันเป็นสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะที่เป็นอนัตตาคือสภาวะที่แปรปรวน

ส่วนชีวิตเรา ความเป็นไปของเรา มันก็อยู่ในวงอนัตตาอยู่แล้ว แล้วเราเวลาปฏิบัติไป ความปฏิบัติเราก็เป็นอนัตตา ทีนี้ความเป็นอนัตตามันจะคงที่ตายตัว มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะเป็นไปได้ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ การระวังรักษา

ระวังรักษา ฉะนั้น เวลาพระปฏิบัติเรา ถ้าเวลาคนไปเห็นนะ บอกว่าหน้าบึ้งเลย แหม! ระวังตัวเต็มที่เลย

นั่นน่ะพระที่ดี พระที่เขาระวังตัวของเขา พระที่เห็นภัยไง ดูสัตว์สิ สัตว์ป่าเวลามันรักษาชีวิตมัน มันระวังนะ มันไม่ให้คนเห็นตัวมัน ถ้าเห็นตัวมันนะ มันโดนล่าทันที

นี่ก็เหมือนกัน เรามีสติมีปัญญารักษาดูแลใจของเรา ในเมื่อมันเป็นสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันยังไม่เป็นอกุปปธรรม มันไม่เป็นธรรมแท้ ธรรมแท้ที่ไม่เสื่อมสภาพ เราก็ต้องดูแลรักษา ถ้าเราดูแลรักษา เวลามันเสื่อมมันก็ต้องหาเหตุหาผล

มันเสื่อม เจริญแล้วต้องเสื่อม ถ้ามันเจริญ คนเราส่วนใหญ่เข้าใจว่าได้สมาธิแล้วเหมือนมีเงินหนึ่งบาท เงินหนึ่งบาทจะอยู่กับเราตลอดไปเลย เงินหนึ่งบาทจะไม่ใช้เลยใช่ไหม เงินหนึ่งบาทซื้อน้ำแข็งเปล่าก็หมดแล้ว เงินหนึ่งบาทมันแทบไม่มีค่าเลยตอนนี้

ทีนี้พอเงินหนึ่งบาทนะ เรามีหนึ่งบาทใช่ไหม เราเก็บบาทที่สอง สองบาท สามบาท สี่บาท ห้าบาท หกบาท เจ็ดบาท เราก็มีเงินร้อยบาท เออ! เก็บสองร้อย สามร้อย สี่ร้อย ก็มีหนึ่งพัน หนึ่งพัน สองพัน สามพัน ก็มีหนึ่งหมื่น อ้าว! สองหมื่น สามหมื่น ก็มีหนึ่งแสน นี่ไง สมาธิมันทำอย่างนี้ไง มันสะสม มันดูแล สมาธิถึงจะอยู่กับเรา

แต่ถ้าเราบอกเรามีสมาธิแล้วนะ เราก็เร่ร่อนของเรา เราก็คิดร้อยแปดไป เงินหนึ่งบาทวางไว้ เด็กมันลักไปแล้ว เงินหนึ่งบาททำตกหายไปไม่มีสักสลึง แล้วสมาธิก็หายไปแล้ว หายแน่นอน โดยธรรมชาติสมาธิเป็นแบบนี้ มันอยู่ อยู่เพราะมีเหตุปัจจัย หายไปเพราะรักษาไม่เป็น แล้วถ้ารักษาเป็น รักษาเป็นก็หาเหตุหาผล แล้วพยายามรักษาของเรา

นี่ศึกษามาทำไม ศึกษามาทำไม

ศึกษามาปฏิบัติไง ถ้าปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ที่ว่าเมื่อก่อนมันดีมาก เดี๋ยวนี้มันเสื่อมไปหมดเลย เราก็พุทโธใหม่ ถ้าพุทโธใหม่ แล้วถ้าไม่ได้ก็ปัญญาอบรมสมาธิ เราพยายามฝึกฝนของเรา ถ้าเราฝึกฝนของเราได้ มันก็เป็นของเราไปได้ ถ้าเป็นไปได้

นี่บอกว่า เวลาทางโลก หน้าที่การงานของเรา บริษัทของเรา เราก็ดูแลรักษาเพื่อบริษัทของเรา แต่เราก็รักษาใจเราเพื่อให้ใจเราร่มเย็นเป็นสุข มันจะไปแก้ไขที่บริษัทนั้นได้ง่ายขึ้น แล้วเวลาจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันงานละเอียด มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นงานส่วนตนไง

เวลาบริษัทเรามีลูกน้อง มีพนักงานหมดเลย เราก็ต้องบริหารจัดการใช่ไหม นี่เป็นบริษัท เพราะว่ามันเป็นสังคม เป็นชุมชน

แต่เวลาปฏิบัติ อารมณ์มันเกิดขึ้นร้อยแปดพันเก้าเลย เราต้องบริหารความคิดเราหมด เราทำของเราคนเดียว เราพุทโธของเราคนเดียว รักษาหัวใจของเราคนเดียว เวลามันสะอาดบริสุทธิ์มันสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจของเรา หัวใจนี้มันสำคัญ

เห็นไหม ระหว่างศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ แต่ในเมื่อเรามีหน้าที่การงานทางโลก เราก็ทำหน้าที่การงานทางโลกของเราไป แล้วถ้าเราปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบนี้ นี้ปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์ไง เพื่อประโยชน์ เห็นไหม

ฉะนั้น พอประโยชน์ เพราะว่าคำถามถามมาอย่างนี้ แล้วพอตอนหลังถามมาแล้วก็บอกว่า สิ่งที่ว่าเขามาได้ขนาดนี้เพราะว่าเขามีบุญกุศล ได้มีครูมีอาจารย์

มีครูมีอาจารย์ก็เป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วก็คือเป็นประโยชน์ ฉะนั้น เวลาคนเกิดมา ดูพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลสิ เอตทัคคะแต่ละองค์มีความชำนาญแต่ละองค์ ความชำนาญของพระแต่ละองค์ใช่ไหม ความชำนาญ แล้วอุปสรรคของพระปฏิบัติแต่ละองค์ล่ะ อุปสรรคที่แต่ละองค์มันมาแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน เพราะเขาบอกว่า ในเมื่อเขาเกิดมาแล้วเขามาพบพระพุทธศาสนา เขามีบุญมาก

ถ้าคำว่ามีบุญมากตอนนี้มันเป็นประโยชน์กับเราแล้ว แต่ในเมื่อเราดำเนินชีวิตทางโลก เราก็ต้องทำหน้าที่การงานของเรา นี่ยังดีมากนะ เพราะยังมีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าไม่มีธรรมเป็นที่พึ่ง เวลาเกิดปัญหานี้ขึ้นมา มันกระทบกระเทือนกันไป มันจะทุกข์มากกว่านี้

นี่ก็ทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่ทุกข์นี้ไม่แผดเผาเราจนเกินไปนัก เพราะเราได้ศึกษาธรรมะ สัจธรรมมันช่วยชโลมหัวใจของเรา ผ่อนคลายให้หัวใจเราไม่ทุกข์จนเกินไป แล้วถ้าปฏิบัติจริงจังๆ ขึ้นมานะ เราได้อริยทรัพย์ นั่นน่ะทรัพย์จริงๆ เลย นั่นน่ะมันไม่เสื่อม ไม่แปรสภาพ อันนั้นน่ะที่เราแสวงหากัน

แต่ในเมื่อเราอยู่ทางโลกใช่ไหม เราปฏิบัติอยู่ เราปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์ แล้วปฏิบัติ เราทำหน้าที่การงาน อันนั้นเป็นการดำรงชีวิต นี้คือผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือการเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ นี้ผลของวัฏฏะ

มนุษย์มีปัจจัยเครื่องอาศัย เทวดามีปัจจัยเครื่องอาศัยแบบเทวดา พรหมมีปัจจัยเครื่องอาศัยแบบพรหม ดำรงชีวิตอย่างไร อยู่ภพชาติอย่างนั้น กินอาหารอะไร อยู่อย่างใด นี่ในผลของวัฏฏะไง

ฉะนั้น เราเกิดเป็นมนุษย์มันเป็นผลของวัฏฏะ สถานะของมนุษย์ เราจะบอกว่า เรามาไกลมากแล้วนะ เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเรามองย้อนกลับไปในสังคมมนุษย์สิ เขาสนใจแบบเราไหม เขาขวนขวายแบบเราไหม แล้วเขาก็ทะนงตนนะว่าเขามีความสุข เขาจะบอกเขามีความสุขมากเลย เขาทะนงตนของเขานะ แต่ถ้าวันไหนเขาคิดได้นะ เขาคอตกเลย

แต่ของเรา เราพยายามของเรา ขวนขวายของเรา เรามาไกลแล้ว มาไกลคือว่าเราเปิดตาสองข้าง หลวงตาท่านใช้คำว่าเปิดตาสองข้างข้างหนึ่งคือทางโลก ข้างหนึ่งเราเปิดตาทางธรรม

แต่ทางโลกเขาเปิดตาข้างเดียว เขาพยายามขวนขวายชีวิตของเขา แต่เขาไม่เปิดตานี้ไง ตานี้คือตาใจ พยายามเปิดหัวใจของเรา หาที่พึ่งกับใจของเรา มันจะทุกข์ มันจะลำบาก เวลาโยมว่าทุกข์ๆ นะ ไปดูพระสิ พระออกพรรษา พระหายไปครึ่งวัด ไปป่าไปเขากัน เขาทุกข์ไหม เขาแบกบริขารเข้าป่าๆ ไป อยู่นี่อยู่สุขอยู่สบาย เขาเข้าไปทำไม

พระหายไปครึ่งหนึ่ง ตอนนี้อยู่ในป่าหมด ป่าเมืองกาญจน์ ไปหมดเลย แล้วโยมมาวัดนี่ทุกข์ไหม แล้วพระเราเวลาออกธุดงค์ทุกข์ไหม แล้วเขาทำอะไรกัน

เขาแสวงหาสัจธรรมไง เขาแสวงหาความจริงไง

ไม่ใช่ว่าโยมมาวัดนี่ทุกข์นะ อู้ฮู! ต้องขวนขวายมา

พระเราอยู่นี่เขาเข้าป่าไปนู่น ก็ไปแสวงหาเหมือนโยมที่มาวัดนี่แหละ แต่โยมมาวัดมาหาบุญ มาประพฤติปฏิบัติ ไอ้พระเราหาคุณธรรม นู่นน่ะเข้าป่าไปเลย ใกล้เข้าพรรษามันจะวนกลับมาหรือไม่วนกลับมา เรื่องของมัน บางทีไปเจอที่อื่นดีก็ไปอยู่นู่นเลย

ถ้ามันวนกลับมา เห็นไหม นี่ไง แสวงหาเหมือนกัน เขาก็แสวงหา เราก็แสวงหา เรามาไกลมากแล้ว เรามาไกลมากแล้ว เราต้องมั่นใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อคุณธรรมของเรา เอวัง