เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ มี.ค. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะ สัจธรรม ดูสิ เราดูการเล่นกีฬาเขาต้องมีกติกาของเขา แล้วถ้ามีกติกาของเขาแล้ว กีฬาประเภทใดชนิดใดเขาก็มีกติกาแตกต่างกันไป แล้วกติกา ดูนักกีฬาเขาต้องเป็นสุภาพบุรุษ เพราะอะไร เพราะอนุชนเขาจะดูเป็นแบบอย่าง ฉะนั้น เวลานักกีฬาเขามีกติกาของเขาแล้วนะ เขาต้องแสดงตัวเป็นสุภาพบุรุษด้วย เขาต้องการจิตใจเป็นนักกีฬา ทำสิ่งใดก็ต้องให้อภัยต่อกัน เขาว่าเพราะเป็นแบบอย่างของเยาวชน นั่นคือนักกีฬานะ

แต่เราเป็นชาวพุทธ เราชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นคว้าๆ การค้นคว้ามาแล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราก้าวเดิน ศีล สมาธิ ปัญญา การมีศีล ศีลคือข้อบังคับเรา ทีนี้พอมีศีล ข้อบังคับเรา เราคิดว่าศีล ถ้าเราไม่ทำสิ่งใดเลย กิเลสมันหลอกลวง มันว่ามันสะดวกมันสบาย พอเราตั้งกติกาขึ้นมา มันติดขัด มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย แล้วกติกา ศีล ๕ ก็บอกว่าขอรับแค่ศีล ๔ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เอาไว้ก่อน ขอแค่ศีล ๔

เราไปแข่งขันกีฬาใช่ไหม เราก็ต่อรองเขาบอกว่า กติกาที่เขาสร้างไว้ เราขอต่อรองได้ไหม ถ้าเราขอต่อรองไม่ได้ เราไม่ควรต่อรองเขา เพราะอะไร เพราะมันเป็นสากล คำว่า “สากล” ทุกชาติ กีฬาประเภทใดก็แล้วแต่ เขาแข่งขันกีฬาโลก เขาต้องใช้กติกาเดียวกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันเป็นกติกาสากลของวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เทวดา อินทร์ พรหม เขารู้ของเขา เทวดา อินทร์ พรหม เวลาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาตั้งใจของเขาว่าเขาจะฟังเทศน์สิ่งใด มันเป็นผลของวัฏฏะไง มันเป็นผลของวัฏฏะ ภาษาบาลี ภาษามคธ เป็นภาษาที่ตายแล้ว เวลาภาษาที่ตายแล้ว ทำไมเวลาเทวดา อินทร์ พรหมเขามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เวลาเขาถาม เขาอยากจะฟังเทศน์กัณฑ์ใดๆ เขาพูดภาษาอะไร นั้นภาษาเป็นภาษานะ แต่เวลาสื่อกัน สื่อกันด้วยภาษาใจ

ภาษาใจ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์เทวดา อินทร์ พรหม ท่านบอกว่าเทศน์เทวดา อินทร์ พรหมสะดวกสบายกว่าเทศน์มนุษย์ เพราะเทศน์มนุษย์ เวลาเราพูด พูดปากเปียกปากแฉะเลย ปากเปียกปากแฉะแล้ว เวลาฟังเทศน์ก็บอกว่า “อู๋ย! ครูบาอาจารย์ดุมากๆ เลย” ดุมากๆ เพราะมันเป็นสัจจะเป็นความจริงไง ถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริงนะ ความจริงมันคืออะไรล่ะ

สิ่งที่เราแสวงหานี้ แสวงหานี้มันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เครื่องดำรงชีวิตมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย คำว่า “ปัจจัยเครื่องอาศัย” มันมาจากไหนๆ? มันมาจากอำนาจวาสนาของเรานั่นแหละ แต่เวลาเอาจริงเอาจังขึ้นมา เอาจริงเอาจังขึ้นมา ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ใจ ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่ใจ หัวใจเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เพราะมันมีภวาสวะ มีภพ มีสถานที่ มันมีความรู้สึกนึกคิดเกิดมาจากภวาสวะ เกิดมาจากหัวใจของเรา แล้วหัวใจนี้มันมาจากไหน หัวใจนี้มาจากไหน

เวลาสิ่งใดเป็นวัตถุ ทำลายได้ทั้งนั้นแหละ สิ่งใดที่ไม่ดี เขาจะทำสิ่งใด เขามีบริษัทที่ปรึกษาของเขา เขาทำของเขาได้ทั้งนั้นแหละ แต่จะทำลายความรู้สึกอันนี้ ไอ้ความทุกข์นี้ จะทำลายมันให้จบสิ้นกันไปเสียที ไอ้ความทุกข์ความยาก จะทำให้มันจบสิ้นไปเสียที แล้วมันทำลายที่ไหนล่ะ ไปทำลายที่เงามันไง เห็นไหม ดูจิตๆ เขายังไม่รู้จักจิต ดูจิตไปดูความคิด ไปดูที่อารมณ์ความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดจากจิต ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์ สัจธรรมเวลาสิ่งที่ทนไม่ได้ เราอึดอัดขัดข้องสิ่งใดนะ คือทนไม่ได้ สิ่งใดอึดอัดขัดข้อง ทนไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ แล้วอึดอัดขัดข้องที่ทนไม่ได้มันเกิดจากอะไรล่ะ? มันเกิดจากสมุทัย มันเกิดจากสมุทัย จากตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยควรละ สมุทัยควรละ สมุทัยคือตัวกิเลส แต่ทุกข์มันเป็นสัจจะ เป็นความจริงอันหนึ่งนะ สิ่งนั้นมันมีอยู่ มีอยู่มันก็แสดงตัวเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่มีอยู่แสดงตัวเป็นธรรมดา ถ้ามันมีอยู่แสดงตัวเป็นธรรมดามันก็ต้องหายไปไม่ได้สิ เพราะมันมีอยู่เป็นธรรมดา มันต้องมีอยู่ของมันเป็นอย่างนั้นสิ แต่ทำไมเวลาเขาทำลายอวิชชาไปแล้ว ทำไมสิ่งที่มีอยู่ธรรมดามันไม่มีล่ะ มันไม่มี มันทำลายได้อย่างไร ทุกข์ทำลายได้อย่างไร เวลาทำลาย ทำลายกำจัดทุกข์สิ้นไปจากใจเราได้อย่างไร พอสิ้นจากใจไปแล้วมันเหลืออะไร

เราบอกว่าเราจะทำลายความทุกข์ เราทำลายความรู้สึก ทำลายอารมณ์ความรู้สึก ทำลายให้หมด ไม่ให้มีอะไรเลย แล้วไม่มีอะไรแล้วสุขอยู่ไหนล่ะ สุขอยู่ไหน วิมุตติสุขอยู่ไหน ความเป็นจริงอยู่ไหน สิ่งที่อยู่ไหน เห็นไหม

สิ่งที่ทำลายไม่ได้ ของวัฏฏะเวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่ทำลายไม่ได้ ถ้ามันทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์มันก็เป็นนิพพาน นิพพานมันก็เป็นคงที่ไง สิ่งที่คงที่ เห็นไหม โลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรคงที่เลย มันแปรสภาพเป็นธรรมดา มันต้องแปรสภาพแน่นอน ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีๆๆ แต่เวลาทำลายจบสิ้นแล้วคงที่ คงที่ๆ มันนิพพานไง นิพพานคงที่ เห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้ายังมีชีวิตอยู่ สิ่งใดเป็นเศษ แค่เศษ ความรู้สึกนึกคิด ปัจจัยเครื่องอาศัยมันเศษทิ้ง ของเหลือทิ้ง แม้แต่ร่างกายต้องทิ้งมันไป

ดูสิ คนมีกิเลสหรือพระอรหันต์ เวลาตายต้องตายเหมือนกันหมด เวลาพระอรหันต์ตาย ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ลากันเสียที ลาภพลาชาติ ลาวัฏฏะ จะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว นั่นเวลาสอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่จะสิ้นชีวิตท่านไป

เราปุถุชนก็ต้องตายเหมือนกัน แต่เวลาจะตายขึ้นมา “โอ้โฮ! มรดกก็ยังไม่ได้แบ่งเลย โอ้โฮ! แล้วลูกคนนั้นมันจะรักษาได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เอ๊! แล้วตายไปมันจะไปไหนวะ ตายไปแล้ว เราทำความดีไว้เยอะนะ เราทำบุญไว้เยอะมากเลย โอ้โฮ! ของดีๆ เยอะแยะมาก แล้วมันจะมีจริงหรือเปล่าล่ะ” ความดีมันยังไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า

แต่ถ้าความชั่วนะ “โอ้โฮ! ทำบาปกรรมไว้เยอะมาก สงสัยกรรมนี้มันตามมาแน่ๆ เลย”

แต่ความดีจำไม่ได้ ความดีไม่แน่ใจ แต่บาป กลัวมัน กลัวมาก เห็นไหม เราตายไปด้วยตัณหาความทะยานอยาก เราตายไปด้วยภาระรับผิดชอบ เราตายไปด้วยที่แบกรับภาระไปไม่มีสิ้นไม่มีสุด

แต่เวลาพระอรหันต์ตายล่ะ ลาภพลาชาตินะ ลาสิ่งที่แบกภาระไว้ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ที่เป็นภาระ ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ ที่เป็นภาระต้องแบกรับไว้ ลากันเสียที ปล่อยแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว จบแล้ว แต่ของเรา เราก็คิดได้ไง อ่านตำรามาแล้ว “ลากันเสียที” อ้าว! กูก็จะลา ลาสิ ลามันก็สงสัย มันสงสัย มันแบกรับภาระไปทั้งนั้นแหละ

เวลามันมีกติกา มีศีลมีธรรม ถ้ามีศีลมีธรรม มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีล มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลมีธรรม มนุษย์ถึงต่างจากสัตว์ มนุษย์ มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเปโต มนุษย์เปรต มนุษย์เดรัจฉาน เพราะจิตใจของเขาเวลามารมันครอบงำแล้ว เขาทนของเขาไม่ได้ เขาทำลายศีลธรรมของเขาในหัวใจของเขา ศีลธรรมมันเกิดมาจากไหน ศีลธรรมมันเกิดมาจากตู้พระไตรปิฎกหรือ

ตู้พระไตรปิฎกนั้นเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลธรรมเกิดขึ้นมาจากสติที่เราตั้งใจเราขึ้นมา เราตั้งใจของเรา เราตั้งกติกาของเราขึ้นมา ศีลเป็นข้อบังคับ แล้วถ้าเราตั้งกติกาของเราขึ้นมา เราไม่ล่วงละเมิดเราก็มีศีล เห็นไหม เราไม่ล่วงละเมิด ถ้าเราไม่ล่วงละเมิด เราก็ไม่ผิดศีล ถ้าเราไม่ล่วงละเมิด เราไม่ทำให้มันเศร้าหมอง ไม่ทำให้มันด่างมันพร้อย ศีลมันก็อยู่ที่ใจเรา ใจเราเป็นคนเจตนา เป็นคนดำริ เป็นคนพยายามฝึกฝนมันขึ้นมา ศีลมันก็เกิดขึ้นมาจากใจของเรา

ถ้าศีลเกิดขึ้นมาจากใจ ศีลมันเป็นความปกติของใจ ใจที่มันดิ้นรน ใจที่มันทุกข์ยาก ใจที่มันแสวงหา แล้วมันอิ่มเต็มของมัน มันเป็นปกติของมัน มันไม่เดือดร้อนของมัน สิ่งนี้เป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์? มันเป็นความสุขของมัน ถ้ามันเป็นความปกติของใจ ศีลคือความปกติของใจ “แล้วปกติของใจแล้วจะเอาอะไรกินล่ะ คนเราเกิดมามันต้องกิน”

สิ่งที่จะกินเราทำมาหากินด้วยความไม่ทุกข์ไม่ยาก เราทำมาหากินด้วยความเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา อนาคตังสญาณ รู้ถึงอดีตอนาคต รู้ไปทุกอย่าง คนเราเกิดมามันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ชีวิตคนเกิดมาต้องมีอาหารดำรงชีวิต ท่านไม่บอกให้ทิ้งให้หมดหรอก ทิ้งให้หมดแล้วมันจะเป็นพระอรหันต์ ทิ้งให้หมดเลยมันก็ก้อนหิน

แม้แต่ก้อนหินบนภูเขา เขายังระเบิดมาทำบ้านทำเรือนเลย แล้วจิตใจของเรามันมีคุณค่า จิตใจของเรา เราสร้างสมบุญญาธิการมาขนาดนี้ เรามีครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ ท่านจะสอนให้เราทำอกุศล ทำความผิดพลาดกับเราหรือ ท่านวางธรรมให้เราทำ ท่านวางธรรมวินัยให้เราก้าวเดิน ท่านวางสิ่งนั้นให้เราฝึกหัวใจใช่ไหม ถ้าเราฝึกหัวใจ เราฝึกหัดไง เราฝึกหัดดัดแปลง

การทำอาชีพหน้าที่การงาน ถ้ามันไม่มีความกังวลในหัวใจ ครอบครัวใดก็แล้วแต่ในบ้านอบอุ่น ในบ้านมีความสุข มันอยากกลับบ้านๆ แต่ครอบครัวใดมีแต่ความทุกข์ในบ้าน มันทำงานเสร็จแล้วมันไม่อยากกลับบ้านๆ หัวใจที่มันฟุ้ง หัวใจที่มันตึงเครียด หัวใจที่มันมีความทุกข์ยาก แม้แต่ใจเรา เรายังทุกข์ แล้วมันจะไปไหนล่ะ

แต่ถ้ามันมีศีลมีธรรม มันรักษาใจของเราให้มันสงบระงับ ปกติของใจ บ้านเราอบอุ่นเราก็อยากกลับบ้าน บ้านเราอบอุ่น นี่ก็เหมือนกัน เราระลึกถึงตัวเราเอง เรามีความภูมิใจ เรามีความสุข พอนึกถึงเรา เราอยู่ในศีลในธรรม หน้าที่การงานเราก็ทำของเรา ถ้ามันประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดแล้วประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี อันนั้นก็อำนาจวาสนาของเรา

“อำนาจวาสนาที่ไหน ก็ทำมากับมือทั้งนั้นแหละ เราบริหารจัดการ อำนาจวาสนาที่ไหน ก็ทำมากับมือ เรามีปัญญาต่างหากเราถึงหาเงินหาทองได้”

คนเขามีปัญญามากกว่าเรา บางคนฉลาดกว่าเราเยอะแยะเลย แต่เขาทำแล้วเขาขาดตกบกพร่อง เขาไม่ประสบความสำเร็จของเขา เขาทำของเขามาอย่างนั้น กรรมเก่า-กรรมใหม่มันต้องให้ผลอย่างนั้น

แต่ถ้าของเรา เราก็ทำด้วยสมองนี่แหละ ด้วยมือของเรานี่แหละ ทำมาหากินของเรานี่แหละ แต่เราก็มีอำนาจวาสนา ทำสิ่งใด โอกาส จังหวะมันมาพอดีๆๆ ทุกทีเลย นั่นไงวาสนา บุญมันให้ผลอย่างนี้ บุญๆๆ แต่เป็นอามิส เพราะเป็นวัตถุธาตุ ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ พระอรหันต์ลาแล้ว ลาภพลาชาติ ไม่กลับมาแสวงหาสิ่งนี้อีก แต่ของเรา เราต้องแสวงหา เราต้องทำของเรา เพราะสิ่งนี้ มัคโค ทางอันเอก

หน้าที่การงานเราทำเลี้ยงปากเลี้ยงท้องชีวิตหนึ่งนะ แต่หัวใจเวลามันจะต้องดับขันธ์ไป มันดับขันธ์ไป ถ้ามันมีความอิ่มเต็มของมัน มีความสุขสมบูรณ์ของมัน มันก็มีความสุขของมันใช่ไหม สุคโต ปัจจุบันนี้ก็มีความสุข มีความสุขที่ไหน มีความสุขที่ว่าเราจะมั่งมีศรีสุข เราทุกข์จนเข็ญใจ แต่เรามีกุศล เรามีความคิดที่ดี เรามีความอบอุ่นในหัวใจ เราจะไปไหนนะ เราจะอยู่ปัจจุบันนี้ เราจะไปอนาคต มันพร้อมเสมอ มันไปได้ทุกที่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมือไม่มีแผลไง มือไม่มีแผลมันจับต้องสิ่งใดนะ มันไม่เจ็บไม่แสบไง ถ้ามือมันมีแผล มันจับต้องสิ่งใดนะ มันเจ็บมันแสบ

หัวใจของเรามันปกติ มันจะไปไหนก็ได้ มันจะไปไหนก็ได้ นี่ไง สิ่งที่ความอบอุ่นในหัวใจไง จะมั่งมีศรีสุขอย่างใดมันก็มีความอบอุ่น มีความสุขของเรา จะทุกข์จนเข็ญใจ ทุกข์จนเข็ญใจก็ทำมา เห็นไหม ดูพระสิ พระเขาบวชมาบางวัดเขาร่ำเขารวย เขาบอกเขารวยมา ไอ้ของเรา ดูสิ มันจน ทำให้มันจน มันจน

ศีลในศีล แม้แต่เวลาปกติเราก็มีศีล ๒๒๗ อยู่แล้ว แล้วถ้ามีศีล ๒๒๗ ศีลมันมาจากไหนล่ะ ศีลมันก็มาจากเวลาบวชไง เวลาบวชมาปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ สมณะได้ศีล ๒๒๗ มาตั้งแต่นั่น แล้วถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาก็ปลงอาบัติๆ มา แล้วพอมีศีลขึ้นมาแล้ว ศีลในศีล มาถือธุดงค์อีก ได้มาเท่าไรแล้วเราก็มักน้อย สันโดษพอมีพอได้ ไม่ต้องการสิ่งนั้นมามาก เพราะอะไร เพราะเวลาไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นั่งสมาธิภาวนาขึ้นมาแล้วมันต้องการความสงบของใจไง ถ้าความสงบของใจมันต้องธาตุขันธ์เบาไง

ธาตุขันธ์ จิตนี้อยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายคือธาตุขันธ์มันทับมันกดไง เวลานั่งสมาธิไปก็สัปหงกโงกง่วง เวลาทำสิ่งใด แล้วบอกว่าสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ก็ไม่ได้ปัจจัตตัง ไม่สันทิฏฐิโก ไม่เคยสัมผัสเสียที เราก็อยากได้สัมผัสอย่างนั้น อยากได้อริยทรัพย์ อยากได้ทรัพย์ความจริงไง ถ้าอยากได้ทรัพย์ความจริง เราก็แสวงหาด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แม้แต่เรามาทำบุญเรายังต้องขวนขวายมาๆ เพราะอะไร เพราะหัวใจ หัวใจมันลงที่ไหนก็อยากทำบุญที่นั่นน่ะ เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ เราแสวงหามาอย่างนั้น เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพระเรามีศีลมีธรรมแล้ว ก็ยังศีลในศีล ยังต้องถือธุดงค์อีก ทำให้มันไม่กดทับ คนฉลาดใช้ปัจจัย ๔ ถ้าคนไม่ฉลาดใช้ปัจจัย ๔ ดูสิ มันก็สุขสมบูรณ์ แล้วแต่ลิ้นมันต้องการ ทำด้วยความสงบ ทำด้วยความสุข ความพอใจ พอฉันเสร็จแล้วมันมีแต่ไขมัน เวลาไปนั่งก็สัปหงกโงกง่วง สัปหงกโงกง่วงเป็นทุกข์ของใคร ทุกข์ของใคร เวลาทุกข์ เวลาลิ้นได้สัมผัส พอใจในรสนั้น เวลาไปคอตกในทางจงกรม เวลาไปคอตกในการนั่งสมาธิ ไปคอตกๆ อยู่นั่นน่ะ มันไม่จิตสงบเสียที ถ้าไม่จิตสงบ

นี่ไง ศีลในศีลไง ถ้ามีปัญญาแล้วเรารู้ว่าเราทำอะไรไง อธิษฐานบารมี เรามีเป้าหมาย เรามีเป้าหมายว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกวิมุตติสุขๆ มันสุขมาก สุขที่แปลกโลก ของเรานี่สุขเวทนา-ทุกขเวทนา ต้องอาศัยสัมผัสโดยอายตนะกระทบ มันถึงมีความสุข มีความพอใจของมัน

แต่วิมุตติสุข สุขโดยตัวมันเอง แม้แต่สมาธิ จิตสงบแล้วมันไม่กระทบกระเทือนสิ่งใด ไม่สัมผัสสิ่งใดเลย มันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น มันก็มีความสุขของมันแล้ว แล้วเวลาสำรอก มันคายออกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์อย่างไร มหัศจรรย์ เหมือนเราทำงาน เราทำงาน เราจะประสบความสำเร็จแต่ละชิ้นแต่ละอัน เราภูมิใจๆ เพราะเราทำเอง เราทำของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา แล้วมันสำเร็จๆๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาวิปัสสนาไป โอ๋ย! มรรคญาณมันเคลื่อน ธรรมจักรมันเคลื่อน ปัญญามันเคลื่อน ภาวนามยปัญญา แล้วปัญญามันเคลื่อน ธรรมจักรกับกงจักรมันสู้กัน

เวลากงจักร เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไง เวลากิเลสมันยุมันแหย่น่ะชอบ นี่กงจักรไง แล้วธรรมจักรล่ะ ธรรมจักรก็นี่ไง มักน้อยสันโดษไง ถือความสงบสงัดไง

แล้วมันจะสนุกที่ไหน มันจะสงบสงัด มันกลัวผี มันจะไปสุขที่ไหนล่ะ

สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ลองได้สัมผัส ลองได้สัมผัส พอสัมผัสขึ้นมา ดูสิ พระเราอยู่ในป่าในเขา ถ้าจิตสงบนะ เทวดามาปกป้องเลย เพราะเทวดาเขาอยากได้บุญด้วย ถ้าที่ไหนนะ ดูสิ พระ ครูบาอาจารย์ของเรา วงในกรรมฐานเขารู้กัน องค์ไหนภาวนาอย่างใดในป่าในเขาแล้วมีเทวดา อินทร์ พรหม มันก็ญาติเก่านี่แหละ เคยเป็นญาติโกโหติกากัน เวลาเขาเกิดเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา แล้วญาติของเขามาปฏิบัติในป่า แล้วมันจะได้มรรคได้ผล เขามาช่วยคุ้มครองดูแล เขาอยากได้บุญกุศล เขารู้ได้อย่างไรล่ะ เขารู้ได้อย่างไร แล้วสุขอย่างไร ทำไมเทวดา อินทร์ พรหมเขารู้ล่ะ

เพราะเทวดา อินทร์ พรหม ภพชาติของเขามันเป็นทิพย์ ภพชาติของเขาคือเป็นนามธรรมล้วนๆ แต่ของเรามีกายกับใจๆ ไง ถ้าตานี้ไม่เห็น ร่างกายก็ว่าไม่มีๆ แต่ไม่รู้หรอก ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์มันทุกข์ยากขนาดไหน นี่มันเป็นไปได้ไง

พูดถึงเรื่องของศีล ถ้ากีฬาชนิดใดเขามีกฎกติกาสิ่งใด แล้วเราเล่นกีฬาชนิดนั้น เราต้องเคารพกฎกติกาเขา แล้วยังต้องแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วย ยังต้องแสดงน้ำใจนักกีฬาด้วย เพื่อเป็นอนุชนรุ่นหลัง นี่เหมือนกัน เราจะเป็นนักบวช เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็ต้องมีศีลมีธรรมของเรา ถ้าเรามีศีลมีธรรมของเรา ศีล อธิศีล เวลาจิตมันสงบแล้วเวลามันสำรอกคายสังโยชน์ไปแล้ว ไม่สีลัพพตปรามาส มันไม่ลูบคลำ

ไอ้นี่มันลูบๆ คลำๆ “เอ๊ะ! ถูกหรือผิด ผิดหรือถูก มันหนักไป เบาไปหรือเปล่า”

แต่ถ้ามันจริงขึ้นมาไม่สีลัพพตปรามาส พอดีๆๆ พอดีหมดเลย เพราะมันสมดุลของมัน มันรู้ของมัน มันสมดุลของมัน มันจะเป็นความพอดี สิ่งที่เป็นความพอดีมันก็ไม่เป็นความกังวล ไม่เป็นนิวรณธรรม ทำอะไรสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จขึ้นมา นี้คือชีวิต

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธนะ สิ่งที่แสวงหานี้เลี้ยงชีวิต เลี้ยงชีวิตนี้เพื่อร่างกายนี้ แต่ถ้าสัจธรรม หัวใจมันเรียกร้องความช่วยเหลือ หัวใจมันเรียกร้อง เรียกร้องธรรมโอสถ เรียกร้องเข้าไปสิ่งใด คนหิวกระหายได้ดื่มกินสิ่งใดก็จะมีความสุข หัวใจที่มันเรียกร้องสัจธรรม หัวใจที่มันเรียกร้องคนปลดเปลื้องมัน เราจะต้องทำของเราเอง

เราทำของเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา ทำบุญกุศลมันก็ได้อยู่แล้วแหละ สิ่งที่บุญกุศลทำแล้วก็สบายใจ นี่เป็นบุญของเรา เสร็จแล้วเป็นอามิส ถ้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก็บุญนี้จะพาส่งเราให้มีความสุขในภพในชาติพอประมาณไป แต่มันก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราก็ประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเราเพื่อหัวใจดวงนี้ เอวัง