เทศน์บนศาลา

ที่สุดแห่งจิต

๒๙ ก.ค. ๒๕๔๘

 

ที่สุดแห่งจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจนะ เข้ามา ๑ วันพระแล้ว เข้าพรรษา เข้าพรรษาแล้วเข้าพรรษาเล่า เข้าพรรษานะ วันคืนล่วงไปๆ ทุกคน ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่ชีวิตนี้เริ่มต้นมาจากไหน

ชีวิตนี้เราเกิดมามีอำนาจวาสนา ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราจะไม่มีความคิดอย่างนี้ ความคิดไง ความคิดที่เราจะออกจากทุกข์ ความคิดที่เราเกิดมาแล้วเรามีความทุกข์ เราจะหาสิ่งที่เป็นความสุข สิ่งที่เป็นความสุขในชีวิต

ปัจจัยเครื่องอาศัยนะ เราเป็นฆราวาส เราก็ต้องหาอยู่หากิน การหาอยู่หากินเหมือนกับพระ พระเวลาบวชมีบริขาร ๘ บริขาร ๘ เป็นเครื่องอาศัย สิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยนะ การดำรงชีวิตของเรา การทำการทำงาน หน้าที่การงานเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยการดำรงชีวิต แต่เราบอกว่าเรามีความทุกข์ เราต้องทำการทำงาน มันต้องมีเวลา เราต้องทำงาน เราเหนื่อยยากมาก เห็นไหม ถ้าเราเหนื่อยยาก เราไปหมกมุ่นกับการงานนั้น การงานนั้นจะเป็นหน้าที่

แต่ถ้าเราบอกนี่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย อาศัยเฉยๆ ชีวิตนี้เกิดมามีหน้าที่มีการงาน สิ่งที่หน้าที่การงานเพราะว่าเรามีปากมีท้อง เราต้องหาอยู่หากิน แต่ถ้ามันมีกิเลสนะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันต้องการสิ่งนี้ ต้องการสะสม ต้องการมีอำนาจ ต้องมีการต่างๆ อันนั้นเป็นกิเลสนะ

แต่ถ้าเราทำตามหน้าที่ เห็นไหม เครื่องอาศัย ทุกคนต้องมีที่อาศัย สิ่งที่อาศัยนะ ชีวิตนี้ก็อาศัยไป เวลาพราหมณ์ถามพระสารีบุตร “ชีวิตนี้คืออะไร”

พระสารีบุตรตอบนะ “ชีวิตนี้คือพลังงาน”

พลังงานนี้ตั้งอยู่บนกาลเวลา ไออุ่น ชีวิตนี้คือไออุ่น ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา สิ่งที่ตั้งอยู่บนกาลเวลาคือตัวความรู้สึก สิ่งที่ความรู้สึกคือตัวใจ จิตนี้ถึงการเกิดและการตาย สิ่งที่การเกิดและการตายไม่มีที่สิ้นสุด การเกิดและการตายของจิตนี้จะเวียนไปตลอด สิ่งที่เวียนไปตลอด อะไรพาเกิด ถ้าไม่ใช่บุญกุศลพาเกิด สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลเพราะในวัฏฏะนี้กว้างไกลมาก กว้างขวางมาก วัฏฏะนี้ จิตจะไปเกิดในวัฏฏะ จิตจะเกิดระหว่างช่วงไหนก็แล้วแต่ของวัฏฏะนี้ วัฏฏะตั้งแต่พรหมลงมาสิ่งนี้เป็นวัฏฏะที่เกิดของจิต

สิ่งที่เกิดของจิตนี้ เวลาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่พระโพธิสัตว์ต้องสร้างสมบุญญาธิการ สิ่งที่สร้างสมบุญญาธิการก็เหมือนกับที่ว่าปัจจัยเครื่องอาศัย การเกิดและการตาย สิ่งที่การเกิด ปรารถนาไง สิ่งที่ปรารถนา ในเมื่อมีแรงปรารถนา มีเจตนา เพราะการกระทำสิ่งนั้น สิ่งที่กระทำคือทำคุณงามความดี สิ่งที่ทำคุณงามความดี เห็นไหม ที่สุดแห่งจิต

ถ้าที่สุดแห่งจิตมี การทำคุณงามความดีนี้เป็นการเริ่มต้นนะ “ที่สุดแห่งจิต” ถ้าที่สุดแห่งจิต จิตนี้คืออะไรล่ะ? จิตนี้คือการสะสม เหมือนกล้อง กล้องถ่ายภาพ มันมีกล้องแล้วก็มีฟิล์ม ฟิล์มที่ถ่ายภาพ สิ่งที่ถ่ายภาพเหมือนกับจิต สิ่งที่จิต จิตที่รับรู้แต่ละภพแต่ละชาติการสะสมลงอยู่ที่หัวใจนี้ ตัวจิตนี้ตัวรับสภาพตัวต่างๆ การเกิดและการตาย การสะสมมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาระลึกย้อนอดีตชาติไป บุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนอดีตชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด ต้นปลายอยู่ที่ไหนไม่เห็น เวลาจุตูปปาตญาณ ตายเกิด ตายเกิด จิตทุกดวงต้องเกิด เพราะอะไร เพราะมีพลังงานขับเคลื่อน ตัวพลังงานตัวนี้ ตัวขับเคลื่อน เวลาทำคุณงามความดี เราสร้างสมเหมือนกล้องถ่ายภาพเลย ถ่ายไปเท่าไรมันก็สะสมลงที่ฟิล์มนั้น แล้วฟิล์มนี้มันไม่มีวันหมด มันหมุนไปตลอด มันสะสมลงที่ใจจนเป็นจริต จนเป็นนิสัย

ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนา...คนเขาไม่ต้องการความทุกข์ความยาก แล้วถ้าเป็นกิเลสมองว่า การถือศีล การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นเรื่องของความทุกข์ความยาก แต่ถ้าการเป็นไปในโลกของเขา เขาไปตามโลกของเขา ไปตามรูป รส กลิ่น เสียงของเขา เขาว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข เห็นไหม เวลากิเลสมองเห็นรูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ เป็นสิ่งที่เขาปรารถนา แต่คนที่ถือศีล คนที่การประพฤติปฏิบัตินี้ คนนี้ไม่มีความสุข เห็นไหม ความเห็นของกิเลสกับความเห็นของธรรมต่างกัน

เหมือนกับกล้องถ่ายภาพ ถ่ายภาพ ภาพที่เป็นศิลปะ ภาพที่เป็นคุณงามความดีของชีวิต นี่เป็นแง่บวก มันจะสะสมลงที่ใจ แต่เวลาถ่ายภาพไป ภาพที่เป็นอาชญากรรม ภาพที่เป็นอุบัติเหตุ มันถ่ายภาพแล้วมันก็สะสมลงไปที่ฟิล์มนี้เหมือนกัน นี่สิ่งที่ภาพถ่ายนี้มันความเห็นของใจ ใจนี้ไปได้ตลอดกว้างขวางมาก ไปได้ในวัฏฏะนี้เพราะเราคิดค้นเราจินตนาการไปในวัฏฏะ เราจะวาดภาพไปได้หมดเลย มันถ่ายไปตั้งแต่อดีตอนาคต ถ่ายไปตั้งแต่ใกล้หรือไกล ถ่ายแล้วก็สะสมลงที่ใจ

เวลาเราประพฤติปฏิบัติมันถึงต้องมีวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรา พระธุดงคกรรมฐาน สิ่งนี้ต้องเป็นธุดงคกรรมฐาน มันก็เหมือนกล้องถ่ายภาพนะ มันจะถ่ายเวลาทำหน้าที่การงานของเรา เราตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์ ทำข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งที่ข้อวัตรปฏิบัติ จิตมันจะถ่ายภาพนี้ไปตลอด การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีการเริ่มต้น มันไม่ใช่ว่ามีการปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางมาจากไหน ถ้ามันปล่อยวางมา เวลาเราใส่ฟิล์ม ถ้าฟิล์มเราใส่เข้าไปในกล้อง ถ้าฟิล์มนั้นมันใส่ในแสงสว่าง เราใส่ไม่ดีฟิล์มนั้นก็ใช้ไม่ได้ ฟิล์มนั้นใช้ไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เพราะมันถ่ายแล้วมันไม่มีภาพติดออกมา แต่ถ้าเราใส่ฟิล์มของเรา เราทำถูกต้องของเขา เราใส่ฟิล์มนั้นไปถ่ายภาพ ภาพนั้นจะติดไง นี่ก็เหมือนกัน ในการเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติ ถ้าฟิล์มนั้นเราใส่โดยที่ไม่ถูกต้อง มันถ่ายภาพไม่มีภาพติดออกจากฟิล์มนั้น นี่ก็เหมือนกัน ว่าในการประพฤติปฏิบัติทำไมต้องทำให้ทุกข์ยากนัก ทำไมไม่ปล่อยวาง ปล่อยวาง

สิ่งที่ปล่อยวางเราคิดของเราเอง การศึกษาเล่าเรียนก็เหมือนกัน ในเมื่อเราศึกษาเล่าเรียน ก็เหมือนกับเราถ่ายภาพ เราถ่ายภาพ เราถ่ายไปมันก็สะสมลงไปที่ฟิล์มนั้น สะสมลงไปที่ใจนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เราศึกษาที่ไหน ตานี่เป็นเลนส์นะ เวลาถ่ายภาพขึ้นมาก็ลงไปที่จิต จิตก็เป็นตัวฟิล์ม ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถ่ายภาพออกมา แต่ปฏิกิริยาของความรู้สึกของใจล่ะ ถ้ามันต้องมีปฏิกิริยา มันต้องมีการกระทำ ถ้าจิตนั้นมีการกระทำ นั้นคือการกระทำของเรา ถ้าเรามีการกระทำนั้น ถ้าเรากระทำ สิ่งที่ทำกระทำอย่างไรล่ะ

เวลาเครื่องยนต์กลไกเขาตั้งโปรแกรมได้ เขาตั้งโปรแกรมของเขาทำให้โปรแกรมนั้นเข้ามาทำลายตัวมันเองได้ แต่ตัวจิตไม่เป็นอย่างนั้น ตัวจิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมีกิเลส คำว่า “กิเลสคือความเคยใจ” สิ่งที่เคยใจมันก็คาดหมายไปประสาอำนาจของมัน สิ่งที่การคาดหมาย แล้วยึดมั่นถือมั่นด้วยนะ ถ้าเราคาดหมายสิ่งใด เราพอใจสิ่งใด สิ่งนี้จะเป็นคุณประโยชน์กับเรา แล้วมันก็ว่าเรานี่ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติแล้วมันได้คุณประโยชน์อะไรมากับใจนั้นล่ะ

เพราะใจประพฤติปฏิบัติโดยกิเลสตัณหาไง กิเลสตั้งใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม ในการประพฤติปฏิบัติถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน สิ่งที่การกระทำของเราทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้พร้อม ถ้ากล้องนั้นพร้อม เห็นไหม แสงพอสมควร สมควรกับเลนส์นั้น เปิดหน้าเลนส์เท่าไร สิ่งต่างๆ แล้วก็มีถ่าน มีสิ่งใดพร้อมอยู่ ถ่ายภาพ ภาพนั้นจะติด ติดสิ่งที่สมควรกับว่าเราจะถ่ายภาพสิ่งใด สิ่งนั้นจะติดขึ้นมา นี่ความสมดุลของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะประพฤติปฏิบัติ เรามีความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเรา เราปรารถนา สิ่งที่ปรารถนาเพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนานะ ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ดูสิ การประพฤติปฏิบัตินะ สละทุกอย่าง การสละทานออกนั้นเพื่ออะไร? เพื่อให้จิตใจนี้อ่อนควรแก่การงาน เรายังมีสาวกสาวกะ เราเริ่มทำทานตั้งแต่ปัจจุบันนี้

ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สละทาน สิ่งที่สละทานมันเป็นวัตถุ มันเป็นของข้างนอก มันเป็นสิ่งที่เราแสวงหามาที่ว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งที่เครื่องอาศัยเราเผื่อแผ่ เราเจือจานเครื่องอาศัยให้ผู้อื่นได้อาศัยจากบุญกุศลของเรา เราสละออกไปเป็นกุศลของเรา นี่ทาน

ศีล ในการเราความปกติของใจ ศีลในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เราเวลาเทศนาว่าการจะเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของสมาธิขึ้นไปเลย สิ่งที่สมาธิเพราะจิตทำความสงบเข้ามา ศีลนี้ถือว่าทุกคนมีหน้าที่ถือศีลโดยเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว เราเป็นคฤหัสถ์เราก็มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ สิ่งนี้เป็นปกติของผู้ที่ประกาศตน เราเป็นบริษัท ๔ ศีลนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว มีอยู่แล้วเพราะอะไร

เพราะหัวใจเราเจตนามันก็เป็นศีล สิ่งที่เป็นศีล ศีลนี้เป็นศีลจากขอ เวลาขอจากครูบาอาจารย์ แต่ศีลที่เป็นความปกติของใจล่ะ สิ่งที่เป็นขอบรั้วนะ สิ่งที่กั้นหัวใจไม่ให้หัวใจออกไปตามอำนาจของมัน ถ้ามีศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจปกติ เราจะทำสมาธิขึ้นมา

สิ่งที่ทำสมาธิ ทำความตั้งมั่นของใจ เวลาประพฤติปฏิบัติ กล้องถ้าไม่มีฟิล์มมันก็ตั้งอยู่เฉยๆ กล้องถ้าไม่มีฟิล์มเราจะถ่ายขนาดไหนมันก็ไม่มีภาพขึ้นมา คือมันไม่สมประโยชน์กับมัน ต้องพร้อมใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกล้องไม่มีฟิล์ม เราก็ตั้งท่าถ่ายกล้องนั้นไป ถ่ายรูปไปต่างๆ มันก็ไม่เป็นประโยชน์หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราหาใจของเราไม่เจอ เราไม่มีความสงบของใจ เราสักแต่ว่าทำ เวลาทำ นี่มีสติไหม ถ้ามีสติในการเดินจงกรมของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรานี่ สักแต่ว่าเดิน ดูสิครูบาอาจารย์บอกสุนัขมันก็เดินได้นะ สิ่งที่เป็นไป ความเดินของเขา เขาเดินสักแต่ว่าของเขา แล้วเราล่ะ เราเดิน เดินเพื่ออะไร? เราเป็นศากยบุตร ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ค้นคว้ามาด้วยบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมไว้นี้ มรรค ๘ มรรค ๘ มรรคนี้เป็นทางเดินอันเอก ทางเดินของใจ ถ้าใจมันมีมรรคขึ้นมา มรรคมันเกิดจากอะไรล่ะ? มรรคมันมีสติ มีสมาธิ มีความดำริชอบ งานชอบ มีสติ ถ้ามีสติงานนั้นก็เป็นงานขึ้นมา

เราทำงานทางโลกนะ ถ้าเราไม่ตั้งใจทำ สักแต่ว่าทำ เวลาคนมีความชำนาญทำชำนาญขนาดไหน ทำโดยที่ว่าทำไปโดยอัตโนมัติ สิ่งนั้นมันก็ผิดพลาดได้นะ แต่ถ้าเรามีสติของเรา เราตั้งของเราขึ้นมา แล้วงานของเราเป็นงานอันละเอียด งานอันละเอียดนะ งานที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นงานทางโลกเวลาเขาทำกัน เขายังมีความผิดพลาดได้

สิ่งที่เป็นสิ่งที่ว่าจะทำหัวใจนี้ให้อิ่มเต็ม ที่สุดแห่งจิตนะ นี่ที่สุดแห่งจิต จิตนี้มันหมุนเวียนไปมันรับซับสภาวะต่างๆ มันรับไปหมด เวลาคิดออกไป จินตนาการไปขนาดไหน ความคิดเกิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลอะไรล่ะ? ให้ผลกับความเดือดร้อนของใจ ใจนี้เดือดร้อนมาก คิดถึงแต่ว่าเวลาเราต้องตายมันก็มีความตกอกตกใจในหัวใจแล้ว สิ่งที่ตกอกตกใจนะ แล้วสิ่งที่เป็นธรรมชาติมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มันต้องถึงที่สุดนะ คนเรานี่ต้องตายถึงที่สุด แล้วเราจะเอาสิ่งใดเป็นเสบียงของเราไป ถ้าเป็นชาวพุทธทำทานก็ได้เสบียงสิ่งนี้ไป สิ่งที่เป็นทานนะ เป็นอามิส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์บอกให้บริษัท ๔ ให้ปฏิบัติบูชา” สิ่งที่ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ให้เราเก็บตักตวงสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตนั้นไป ใครทำได้มากสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์กับชีวิตนั้น ใครทำได้น้อย ทำมากทำน้อยอยู่ที่เราหาเวลาของเรา เราคิดว่าเราไม่มีเวลา ทุกคนก็ไม่มีเวลา

เวลาพระปฏิบัติเวลาออกธุดงค์ ถ้าเราไปคนเดียวของเรา เวลา ๒๔ ชั่วโมง ไปอยู่กับหมู่คณะเริ่มตั้งแต่เป็น ๒ คนขึ้นไปมันก็ต้องตั้งกติกา เห็นไหม ออกบิณฑบาตตอนไหน จะทำข้อวัตรตอนไหน ถ้าหมู่คณะมีมากขึ้น เราต้องรับผิดขอบมากขึ้น สังคมเป็นแบบนั้น แล้วว่ามีเวลา ถ้าเราออกคนเดียว เราไปประสาของเราคนเดียว เราก็จะมีเวลาของเรา แม้จะทำข้อวัตรอยู่มันก็ตั้งสติได้ ทำภาวนาไปได้ จะจับไม้กวาด จะทำอะไรแล้วแต่ เราพุทโธของเราไป เราไม่ห่วงการคุยเล่น ไม่ห่วงสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นกิเลสมันต้องการ

สิ่งที่ต้องการ นี่เป็นสังคม ถ้าเราไม่ทักทาย เราไม่อยู่กับเขา เราไม่ร่วมมือกับเขา เขาก็หาว่า หาว่าเรา...หาว่าไง หาว่าเราเห็นแก่ตัว สิ่งที่เห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ตัวนี้มันเป็นที่ว่า มันมีธรรมวินัยนี้บังคับ ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราถือตามธรรมวินัยสิ ถ้าธรรมวินัยวางไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เราตั้งสติของเรา เรากำหนดของเรา เราเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ถ้าเราไม่ตั้งสติของเรา เราเป็นผู้ประมาทนะ ทำอะไรก็สักแต่ว่าทำ สิ่งที่สักแต่ว่าทำแต่จะเอาผลนะ เวลาทุกข์ก็บ่นว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ ความทุกข์นี้มันเกิดมาตลอด เหมือนกับที่ว่าสิ่งที่ไฟสุมขอน ไฟสุมขอนมีความร้อนอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีหัวใจ หัวใจน่ะมันมีความเร่าร้อนอยู่แล้ว แล้วจะเริ่มต้นที่ตรงไหน เรายังหาใจของเราไม่เจอ เราทำความสงบของใจไม่ได้ ถ้าเราทำความสงบของใจไม่ได้ เราจะเอาอะไรออกประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นจากที่ไหนล่ะ? เริ่มต้นจากตัวทุกข์นี่ ตัวสิ่งที่ความรับรู้สึก

ชีวิตเกิดจากอะไร ชีวิตเกิดที่ไหน ปฏิสนธิจิตเกิดจากไหน? ปฏิสนธิวิญญาณเกิดในครรภ์ของมารดา เกิดในครรภ์ของมารดาแล้วเจริญเติบโตออกมาด้วยอำนาจของกรรม ถ้ากรรมถึงที่สุดตัดรอนก็สิ้นชีวิตในครรภ์ของมารดา สิ่งที่สิ้นชีวิตในครรภ์ก็ได้ เกิดมาสิ้นชีวิตก็ได้ เกิดมานี่เรามีอำนาจวาสนา เราเจริญเติบโตมา สิ่งนี้ ชีวิตนี้เริ่มต้นจากตรงนี้

แล้วที่สิ้นสุดมีไหม? ที่สิ้นสุดถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติจะไม่มีที่สิ้นสุดเลย สิ่งที่ไม่สิ้นสุด เพราะคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ว่าคนเราตายแล้วสูญ ตายแล้ว แล้วกัน สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่แค่ชาติเดียว นั้นเป็นความคิด แต่ถ้าเป็นความจริงสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง เพราะความรู้สึกนี้ใครทำลายได้ ถ้าสิ่งที่ทำลายความรู้สึกนี้ได้นะ เวลาเราทุกข์ขึ้นมา เราก็ต้องผลักไสสิ่งนี้ออกไปจากใจของเรา เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์แน่นอน ทุกคนต้องปรารถนาความสุข แต่เวลามันมีความขัดอกขัดใจ ทำไมเราทำลายไม่ได้ นี้เป็นปัจจุบันนะ

แต่สิ่งนี้เวลามันออกไป เวลาเราตาย เราเคย เวลาเราเคยนอนหลับไป สิ่งนี้มันหลับไปโดยธรรมชาติ แต่เวลาตายไปจิตมันหลุดออกไป ถ้าคนเคยสลบเคยต่างๆ เวลาวูบ! หายไป สิ่งที่หายไปมันปัจจุบันนี้ไง แต่นี้มันออกไปสถานะใหม่ มันจะหายไปไหนล่ะ นี้คือตัวจิตไง ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้คอยชะล้าง

ถ้ามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคอยชะล้าง แล้วสิ่งนั้นจะอยู่ที่ไหนล่ะ สิ่งนั้นท่านก็เห็นว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชะล้าง เราต้องเห็นความสงบของใจก่อน ถ้ามีความสงบของใจ แม้แต่ใจสงบเราก็จะตื่นเต้นแล้ว นี่ความสงบของใจมันจะมีความสุขขนาดไหน

ความสุขนะ เวลาแค่ปล่อยวางมา เวลาเราถ่ายรูป เราเอาฟิล์มนี้ไปล้างมันจะได้รูปนั้นออกมา ถ้าฟิล์มมันเสีย เราไปล้างมันก็ไม่ได้รูปออกมา นี่ก็เหมือนกัน เวลาความสงบขึ้นมา นี่ฟิล์มมันเสียได้ เสียอย่างไร เสียหมายถึงว่า มันยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้เราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมนะ สิ่งที่เป็นธรรมเพราะมันปล่อยวางเฉยๆ มันว่างถึงความสงบ แต่เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธมากับอาฬารดาบส สมาบัติ ๘ สิ่งต่างๆ นี่ ความสงบของใจ

สิ่งที่ความสงบของใจนะ สิ่งที่เป็นวัตถุมันพิสูจน์กันได้ สิ่งที่เป็นนามธรรมใครจะพิสูจน์ได้? พิสูจน์ได้ต่อเมื่อผู้ที่มีบุญญาธิการ บุญญาธิการคือมันไม่เชื่อกิเลสไง แต่ถ้าไม่มีบุญญาธิการนะ เวลาสิ่งที่ประสบขึ้นมา กิเลสมันจะสวมรอยๆ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสมันจะสวมรอยจากความรู้สึกของเรา เวลามันปล่อยวาง เห็นไหม แม้แต่แค่ทำความสงบ กำหนดพุทโธๆ พุทโธขึ้นมา เวลาจิตสงบลงไป ถ้ามันสงบ ความสงบของจิตมันมีลักษณะต่างๆ กัน

สิ่งที่ความสงบ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก อจินไตยมี ๔ อย่าง ตั้งแต่พุทธวิสัย กรรม โลก ฌาน

ฌานคือความสงบ ฌาน สิ่งที่ฌานเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ความสงบ อาการแสดงออกต่างๆ กัน ขณะที่กำหนดพุทโธๆ มันสงบลงไปโดยนิ่มนวลก็ได้ จะตกเหวตกบ่อก็ได้ สิ่งต่างๆ แล้วเวลาความสงบลงไปถ้ามีอำนาจวาสนามันจะมีความสว่างผ่องใสของมัน นี่ว่างเฉยๆ ว่างโดยที่ไม่เห็นต่างๆ นี่ถ้าไม่มีสติเราก็จะเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมเพราะอะไร เพราะเราได้ลงมือลงแรงแล้ว เราได้ตั้งสติ เราได้กำหนดพุทโธๆ ตั้งสติไว้ตลอด เราคิดว่าสิ่งนี้คือการวิปัสสนา สิ่งนี้คือการชำระกิเลส สิ่งนี้เป็นสมถะนะ

เราต้องหาก่อน เห็นไหม เราเกิดมาในโลกนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่เป็นมนุษย์มีชนชาติต่างๆ สิ่งต่างๆ กัน เหมือนกัน เวลากล้องถ่ายรูปมันก็มียี่ห้อต่างๆ มีคุณภาพต่างๆ การใช้ประโยชน์ของมัน สิ่งนี้เป็นของมัน คือมันเป็นรุ่นเป็นแบบอย่างของเขา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้คือวัฏฏะ วัฏฏะมันวนมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่เหมือนกล้องตัวหนึ่ง มีร่างกายคือตัวกล้อง มีหัวใจคือตัวฟิล์ม ตัวฟิล์มตัวนี้สำคัญมาก สำคัญว่ามันต้องทำความสงบของมันขึ้นมา

ถ้าไม่ทำความสงบของมันขึ้นมานะ ในการศึกษาของผู้ที่เป็นลัทธิต่างๆ เขาบอกว่าในการประพฤติปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติไปแต่เราหวังผลไม่ได้เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันมีตัณหา มีความทะยานอยาก ในการประพฤติปฏิบัติมีตัณหาความทะยานอยาก แล้วมันจะไม่เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยมรรคไง

เขาไม่เข้าใจว่าในเมื่อเรามีกิเลส ในเมื่อทุกคนเกิดมานี่มันมีกิเลสโดยธรรมชาติ สิ่งที่กิเลสโดยธรรมชาติของหัวใจนี้มันก็เหมือนกับมีฟิล์ม มันมีภาพอยู่แล้วไง ภาพ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจิตสงบลงไป บุพเพนิวาสติญาณสาวไปในภาพอดีต เราจะลบสิ่งนี้ไม่ได้หรอก สิ่งที่มันมีอยู่แล้วโดยจริตโดยนิสัยมันมีอยู่โดยธรรมชาติ

เวลาเราศึกษา เวลาเราพิจารณาขึ้นมา มันก็เหมือนว่า กล้องนี่เราถ่ายภาพไป ถ่ายภาพไป มันซ้อนมาตลอด แต่ถ้ามันถ่ายภาพสิ่งที่เป็นอุบัติเหตุ สิ่งที่เป็นความทุกข์ความยาก สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า นี่คือกิเลส แต่ถ้ามันถ่ายแล้วมันเป็นสิ่งที่ดีนะ เราตั้งใจทำหน้าที่การงานของเรา เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้มันก็เป็นคุณงามความดี มันก็ต้องถ่ายไปก่อน ถ่ายจนกว่ามันจะสงบเข้ามา สิ่งที่สงบเข้ามา มันจะสงบเข้ามาโดยสัจจะของมัน

ถ้าเรามีสติ มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้นำตรงนี้ ชี้นำที่ว่ามันต้องทำสมถะเข้ามาก่อน ถ้าจิตนี้สงบแล้วเอาจิตนี้ออกวิปัสสนา เหมือนกับเวลาเขาตั้งโปรแกรมพวกระเบิด มันจะมีโปรแกรมของเขา มันจะสามารถจะเข้ามาทำลายตัวมันเองได้ นี้เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุ

แต่เป็นเรื่องของวิปัสสนาล่ะ การจะโปรแกรมมันก็ต้องสร้างหัวใจให้สงบขึ้นมา แล้วออกไปเราจะถอดสิ่งต่างๆ ถอดทำลายสิ่งที่เป็นตัวของกล้อง คือกาย กายกับเวทนา กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่กาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันออกไปเห็นสภาวะแบบนั้นมันก็เหมือนถ่ายภาพ ตัวมันเองถ่ายตัวมันเอง แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญโปรแกรมว่าเราจะรื้อค้นสิ่งนี้อย่างใด ถ้าเรารื้อค้นสิ่งนี้ได้ รื้อค้นคือการวิปัสสนา

เวลาองค์หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ เวลาท่านออกประพฤติปฏิบัติ ท่านทำความสงบของใจ หลวงปู่มั่นไปกับหลวงปู่เสาร์นะ เวลาออกประพฤติปฏิบัติแล้วเวลาจิตสงบเข้ามาเห็นนิมิต เห็นความเป็นไป เห็นขนาดไหนถึงที่สุดถอนออกมา มันก็ยังมีความรู้สึกต่างๆ มันไม่ได้ทำลายกิเลสนะ

เวลาไปปรึกษากับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า “ต้องให้พิจารณาของหลวงปู่มั่นเอง” เวลาท่านพิจารณาลงไป พิจารณาเข้าไปแล้วนี่มันไม่เข้าไปสะเทือนกิเลสเลย มันเป็นนิมิตไง สิ่งที่เป็นนิมิตเหมือนกับการส่งออก สิ่งที่ส่งออก เราเข้าใจว่าเราคิดส่งออกไปแล้วจะเป็นการส่งออก แม้แต่เห็นนิมิตภายในมันก็เป็นการส่งออก ส่งออกแล้วมันไม่เข้าหลักเกณฑ์ ประพฤติปฏิบัติขนาดไหนมันก็ไม่มีช่องทางออก จนถึงที่สุดนะ “หรือว่าเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์” ถึงลาใช่ไหม ลาพระโพธิสัตว์อันนั้นแล้วเริ่มวิปัสสนาใหม่ เริ่มทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบเข้ามามันจะเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม

สิ่งที่เป็นโปรแกรมมันเกิดตรงนี้ สิ่งที่หลวงปู่มั่นพิจารณาเข้ามา พอพิจารณาเข้าไปเห็นความเป็นไปของกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริงของมัน เวลาคายออกมา “อย่างนี้ถูกต้อง” มันมีความต่าง เห็นไหม ถ้ามีความต่าง ถ้ามันสงบเข้ามาเฉยๆ เห็นนิมิต เห็นต่างๆ นี่มันส่งออก สิ่งที่ส่งออก สิ่งที่เป็นนามธรรมมันละเอียด ละเอียดลึกซึ้งในหัวใจ แล้วถ้ามีอำนาจวาสนามันจะไม่หลงไปในความเห็นที่จิตมันไปเห็นภาพนิมิต เห็นการส่งออกแล้วนั่นคือวิปัสสนา

การถ่ายภาพ ภาพนี่ถ่ายเข้าไปแล้วเราเห็นเองในความเป็นไปของภาพนั้น ถ่ายออกมาแล้วมันเป็นประโยชน์หรือมันเป็นโทษ เป็นโทษหมายถึงว่ากิเลสมันไปยึด ถ้ายึดสิ่งนี้มันก็มีความผูกพัน สิ่งที่ผูกพันมันก็เป็นประพฤติปฏิบัติถ้าไม่ถึงที่สุด ไม่เข้าไปถึงการชำระกิเลส มันก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติบูชา เห็นไหม เราได้บูชา เราก็ได้สร้างสมบุญญาธิการ สร้างสมบุญบารมี ภพชาติสั้นเข้าแต่มันไม่เข้าถึงหลัก มันไม่ถึงที่สุดของจิต

ถ้าไม่ถึงที่สุดของจิตจะทำอย่างไร ถ้าไม่ถึงที่สุดของจิต เราต้องวางให้เป็นกลาง สิ่งที่เป็นกลางนี่ ความสงบของใจเข้ามาแล้วน้อมไปถ้ากำลังพอนะ กำลังพอ เราจะน้อมไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ากำลังไม่พอ กำลังไม่พอ ทำความสงบของใจเข้ามา กำลังไม่พอ เราต้องพยายามกำหนดเข้าไปให้ลึกกว่านั้น เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธินี้ ความที่สงบก็ต่างกัน สิ่งที่ต่างกันเราต้องมีความมุมานะ เราต้องมีความมั่นคงของเรา ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ จิตมันสงบเข้ามาขนาดไหนเราต้องพุทโธต่อไป เราอย่าชะล่าใจ

ถ้าจิตมันเริ่มสงบ เราจะปล่อย พอปล่อยขึ้นมา เคยสงบหนหนึ่งแล้วติดใจ เวลาติดใจขึ้นมา เวลากำหนดเฉยๆ จะให้มันสงบอย่างนี้อีกๆ แล้วมันจะไม่ได้หรอกเพราะอะไร เพราะมันมีตัณหาซ้อนตัณหา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะเห็นตัณหาคือกิเลสของเราซ้อนเข้ามาในกิเลสปัจจุบัน กิเลสโดยปัจจุบันคือมันมีกิเลสอยู่แล้ว แล้วเราไปวาดภาพคือล้อมกรอบไว้อีกชั้นหนึ่งว่าเราอยากได้สิ่งนั้น ประพฤติปฏิบัติเพื่ออยากได้สิ่งนั้น

ที่เขาบอกว่า “ปฏิบัติโดยตัณหาแล้วจะไม่ได้ผล” ถ้ามันเป็นธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติคือในปัจจุบันนี้เรามีกิเลสอยู่แล้วๆ เราประพฤติปฏิบัติไปโดยธรรมชาติ โดยกำหนดคำบริกรรมพุทโธๆ เพราะเรากำหนดพุทโธแล้วนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำหนดพุทโธๆ จิตมันไม่ส่งออกไป การส่งออกไปมันถ่ายภาพไปไม่ไกล มันถ่ายภาพในอายตนะเท่านั้น ในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย ในใจ มันอยู่กับปัจจุบันนี้ สิ่งที่ปัจจุบันนี้โดยธรรมชาติของจิต ถ้ามันมีพุทโธๆ หล่อเลี้ยง มันจะสงบเข้ามาได้ ถ้ามันสงบเข้ามาได้โดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม นี่มันจะสงบเข้ามา เราถึงอยู่ปัจจุบันไม่ให้ตัณหาซ้อนตัณหา

ถ้าตัณหาซ้อนตัณหา เวลาประพฤติปฏิบัติ อยากได้มากแล้วกำหนดพุทโธ ปากว่าพุทโธนะ แต่ใจน่ะมันหมายไปในอดีตว่าสิ่งนี้อยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ สักแต่ว่ามันเป็นอย่างนี้ไง...พูดแต่ปาก แต่หัวใจมันคิดไปในอดีต ถ้าเราปฏิบัติจนมันล้มลุกคลุกคลาน มันจะเข็ด พอสิ่งที่เข็ดมันก็ทำในปัจจุบันนะ พุทโธก็พุทโธในปัจจุบันนี้ แล้วตั้งสติให้พร้อม จิตมันจะไม่ส่งออก มันจะไม่ย้อนไปในอดีตอนาคต

นี่ทำไป พุทโธๆ มันจะสงบเข้ามาได้ มันจะเห็นขณิกสมาธิ ถ้ากำหนดพุทโธอีก พุทโธเรื่อยๆ มันจะอุปจารสมาธิ พออุปจารสมาธิ จิตสงบเข้ามาแล้วมันมีกำลังของมัน มันจะออกรู้สิ่งต่างๆ ออกรู้ที่ว่าไปเห็นนิมิตต่างๆ ถ้าเรามีสติๆ ยับยั้งไว้ กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ มันจะสงบเข้าไปอีก สงบตั้งแต่พุทโธจะเริ่มเริ่มจางลงๆ จางลงจนกำหนดพุทโธไม่ได้ กำหนดพุทโธไม่ได้ จิตสงบมันลึกเข้ามา นี่กำหนดไปเรื่อยๆ พอมันสงบเข้าไปคายออกมาเราก็พุทโธต่อไป ก็สงบเข้าไปอีก ถ้าเรามีความมุมานะอย่างนี้

ว่าอำนาจวาสนาเราไม่มี เวลาเรากำหนดไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม เราทำของเราไม่ได้...ถ้าทำอย่างนี้ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้เพียงแต่ว่าเราไม่จริง เราไม่มีความมุมานะ เราทำสักแต่ว่า แล้วพอเร่งความเพียรเข้าไป เดินจงกรมนั่งสมาธิ เราไปอ่อนแอกับการเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราทำแล้วมันไม่ได้ผล นั่งคอตกนะ

ถ้านั่งคอตกเราต้องย้อนกลับมาว่า วันนี้ตั้งแต่เช้าขึ้นมาเราตั้งสติอย่างใด ถ้าตั้งสตินะเราย้อนกลับมาตั้งแต่ตื่นนอน แล้วพยายามตั้งสติไว้ ควบคุมใจของเราให้ได้ ออกบิณฑบาตกลับมา ขณะฉันอาหารฉันอะไร วันนี้เราฉันสิ่งนี้ ฉันอาหารที่ว่าฉันแล้ว พอไปนั่งสมาธินี่มันมีอาการอืด อาการง่วงเหงาหาวนอน พรุ่งนี้เราก็ฉันให้น้อยลง ฉันอาหารเราก็เลือกของเราสิ

นี่มันจะย้อนกลับไปดูนะ กลับไปดูตั้งแต่ตื่นนอน ตั้งแต่ออกบิณฑบาต ตั้งแต่กลับมา กลับจากบิณฑบาตฉันอาหารอย่างไร ล้างบาตร เช็ดบาตร แล้วเราเข้าทางจงกรม เรานั่งสมาธิขนาดไหน ถ้ามันยังไม่ได้ผล เราทั้งผ่อนอาหาร เราทั้งไม่นอน สิ่งที่อดนอนผ่อนอาหารมันจะเข้ามาตรงนี้ เข้ามาที่ว่า เราประพฤติปฏิบัติแล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้ผล เห็นไหม เริ่มต้นให้ถูก จิตนี้ถึงที่สุดได้ ถ้าเราเริ่มต้นไม่ถูก เราหาทางเข้าไม่ได้นะ จิตนี้มาจากไหนก็งง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาย้อนอดีตชาติไป ตั้งแต่พระเวสสันดรออกไป แม้แต่เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็เห็น ก็รู้ว่าปัจจุบันนี้เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนไปอดีตชาติตั้งแต่พระเวสสันดรไป ๑๐ ชาติออกไป เห็นสภาวะจิตออกไปตลอดไป นี่ขนาดเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะชาตินี้เป็นชาติปัจจุบันนะ แล้วว่าจิตนี้มาจากไหน จิตนี้มาจากไหน

กำหนดไปดูจุตูปปตญาณ ถ้าไม่สำเร็จมันก็ต้องเกิดตายไปอย่างนี้ แต่ถ้าเกิดตายนี้ นี้คืออดีตอนาคตไม่สนใจ ย้อนกลับมาในปัจจุบัน จนอาสวักขญาณเข้ามาทำลายอวิชชาตรงนี้ นี่จิตที่สุดแห่งจิต

จิตที่สุดแห่งจิตคือจิตมันทำลายสิ่งที่เป็นอวิชชา อวิชชาคือมันไม่รู้ตัวมันเอง แม้แต่มันว่าง มันปล่อยวาง ถ้าจิตไม่เป็นอัปปนาสมาธิเข้ามา ไม่ว่างขนาดนั้นจะไปเห็นบุพเพนิวาสานุสติญาณได้อย่างไร จะไปดูจุตูปปาตญาณได้อย่างไร เห็นไหม จิตนี้สงบว่างมาก แต่ว่างมากก็ยังส่งออกไปอดีตอนาคต จนย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาจนเป็นอาสวักขยญาณ นี่มรรคเกิดอย่างนี้ แล้วมรรคทำลาย นี่จิตถึงที่สุดมันต้องปล่อยวางทั้งหมด

แต่ถ้าจิต อย่างการประพฤติปฏิบัติ ที่ว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา เรากำหนดไปแล้วมันไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เราไม่ได้สร้างบุญกุศลมา สิ่งที่บุญกุศลการสะสมมาเป็นจริตนิสัย สิ่งที่เป็นจริตนิสัย ถึงพยายามกำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ากำหนดพุทโธๆ นี่เรามีความตั้งใจของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติ งานอันเอก งานของโลกเขาปัจจัยเครื่องอาศัย งานที่ประกอบสัมมาอาชีวะแค่ปัจจัยอาศัยเท่านั้น เพราะชีวิตนี้มี เราก็ได้อาศัยสิ่งนั้น บริขาร ๘ ของเรา ของภิกษุนี่ก็เหมือนกัน ปัจจัยเครื่องอาศัยนะ ได้อาหารบิณฑบาตมา สิ่งที่ยารักษาโรคเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งหมด เอาจากบริขาร ๘ นี่ออกแสวงหาสิ่งนี้มา แล้วอาศัยชีวิตนี้ ชีวิตนี้อาศัยได้แค่นี้ การมีชีวิตอยู่ มีปัจจัยเครื่องอาศัยนี้มันก็ดำรงชีวิตได้แล้ว การดำรงชีวิตแล้ว โลกเขาจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน เวลาถึงที่สุดแล้วเขาก็ใช้แค่การดำรงชีวิตนั้นไป แล้วชีวิตนี้ไปถึงที่ไหนล่ะ? ถึงที่สุดแล้วก็ต้องพลัดพรากทุกๆ อย่าง

แต่ถ้าในการประพฤติปฏิบัติ โอกาสของเรานะ เราเกิดมาชีวิตนี้ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาเกิดมาเจอหมู่เจอคณะ หมู่คณะ เห็นไหม สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ...อาหารเป็นสัปปายะ สัปปายะของใคร ไม่ใช่กินอิ่มนอนอุ่นเป็นสัปปายะนะ กินอิ่ม กินจนท้องแตกนะ กินจนขนาดไหน มันนอนสบายไง

แต่ถ้าเราสัปปายะ กินอาหารอย่างนี้ ฉันอาหารอย่างนี้แล้วนั่งไม่โงกง่วง ฉันอาหารอย่างนี้นั่งแล้วสัปหงกงกงัน นี่สัปปายะมันอยู่ตรงนี้ต่างหากล่ะ อยู่ตรงที่เราจะเลือกเอาอาหารอันใด ขณะที่ฉันอาหารไปแล้วมันนั่งแล้วไม่เป็น เป็นไปไม่ได้ ฉันข้าวเปล่าๆ เลย

อาหาร ในพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด เห็นไหม อย่างหยาบๆ เนื้อสัตว์นี่หยาบๆ แล้วอย่างมีส่วนผสมกัน นี่อย่างกลาง แล้วอย่างละเอียด นี่เป็นพวกผักพวกหญ้า อย่างละเอียดเพราะมันไม่มีไขมัน นี่อาหารเป็นสัปปายะ

แล้วครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะนะ นี่สัปปายะ ๔ สิ่งนี้ใครเกิดมาแล้วสมบูรณ์เจอสภาวะแบบนี้ นี้คืออำนาจวาสนา แล้วเราปัจจุบันนี้มันเป็นไปไหมล่ะ? มันเป็นไป เห็นไหม ถ้าไม่เป็นไป เราจะมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติไหม

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าสิ่งที่ศาสนาเรียวแหลมไป ขนาดไปวัดไปวาเขาก็ว่าผู้ที่ไปวัดนี่มีปัญหาทั้งนั้นเลย แล้วประพฤติปฏิบัติจะมีคนติฉินนินทาทำให้เราไม่กล้าประพฤติปฏิบัติ แต่ในเมื่อเราจะทำคุณงามความดี คุณงามความดีนี้เป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่น เราตั้งใจของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดี ชีวิตนี้เกิดมาก็เท่านี้ คนจะมั่งมีศรีสุข คนจะทุกข์ยากจนเข็ญใจ ก็ต้องเกิดแล้วตายเหมือนกัน เกิดและตายโดยที่ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเขา ไม่เป็นประโยชน์กับเขาเพราะเขาไม่สนใจในชีวิตของเขา เขาไปสนใจกับปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัยถึงเวลาเขาต้องพลัดพรากสิ่งนั้นไป ปัจจัยเครื่องอาศัยก็อยู่ในโลกนี้ให้คนอื่นได้อาศัยต่อไป แต่หัวใจดวงนั้นไปตามเวรตามกรรมนะ

ทำคุณงามความดีไว้ คนเกิดมานี่คนที่ทำคุณงามความดีของเขาก็มี เขาก็จะไปเกิดในที่สมควรของเขา เห็นไหม เกิดในที่สมควรนะ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เริ่มชำระสิ่งนี้ขันธ์อย่างหยาบๆ สิ่งที่ขันธ์อย่างหยาบๆ สิ่งที่เป็นกล้องคือธาตุ ๔ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา แยกแยะสิ่งนี้ แยกแยะโปรแกรม พยายามใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ มันต้องถอดถอนถอดคลายออก เวลาจิตสงบเข้ามาวิปัสสนา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ที่ไหน ถ้าจิตไม่สงบนะ ไม่เห็นอาการของใจ

ความคิดนี้เป็นอาการของใจ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกเราจับความรู้สึกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จับความคิด จับเวลาคิดความปรุงความแต่ง สิ่งต่างๆ นี่จับ สิ่งนี้มันจะมีพร้อมของมันในตัวของมันเอง นี่โปรแกรม โปรแกรมคืออย่างนี้ไง คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ในพระไตรปิฎก ธรรมและวินัยเราไปถ่ายภาพมา เราไปซ้อนมา สิ่งที่เราไปถ่ายภาพมา มันไม่เป็นการกระทำของใจดวงนั้น

แต่ถ้าจิตสงบเข้ามาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ความคิดต่างๆ เริ่มตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ความคิดของเราที่คิดนี่ สิ่งนี้มันเป็นอาการของใจ อาการของใจคือสิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก เห็นไหม นี่อาการของใจ ถ้ามันใช้ปัญญาไล่ต้อนสิ่งนี้เข้ามา มันจะปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา กำหนดพุทโธๆ มันก็ปล่อยอาการของใจเข้ามา สิ่งที่ปล่อยอาการของใจเข้ามา ถึงเป็นสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธินี่คือตัวฟิล์ม สิ่งที่ตัวฟิล์ม เวลาเราวิปัสสนาไป ฟิล์มมันติดในอะไร ใจติดในอะไร? ติดในร่างกาย ร่างกายสักกายทิฏฐิ ทุกคนต้องมีความเห็นผิด ความเห็นผิด เห็นผิดจากใคร? เห็นผิดจากกิเลส ไม่ใช่เห็นผิดจากเรา จากเรานะ

จิต เวลาเราตรึกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาคนเราตายไปเราก็เห็น เวลาเราไปงานศพของคนอื่น เวลาเราไปงานศพ ศพเราต้องเผาต้องทำลาย ร่างกายเราก็เหมือนกัน เวลาเราคิด เราคิดได้อย่างนี้ไง แต่นี้เป็นธรรมจากสัญญา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมจากประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้าเป็นความคิดของหัวใจนะ โปรแกรมอย่างนี้มันจะแยกแยะอย่างนี้ มันถอดไง ถอดส่วนประกอบของกล้อง

นี่ก็เหมือนกัน ถอดส่วนประกอบของใจ รูป รส กลิ่น เสียง อันนี้เป็นบ่วงของมาร เวลามันปล่อยเข้ามา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ตัวกล้อง ถ้าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจิตสงบเข้ามามันจะย้อนกลับไปสิ่งนี้ นี้เป็นเจโตวิมุตตินะ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เวลาจิตสงบเข้ามามันจะเห็นอาการของธาตุขันธ์ จากเส้นผมเส้นหนึ่ง ขนเส้นหนึ่ง รูขุมขนรูหนึ่ง ถ้าจิต สภาวะ ตาของใจไปเห็นนะ แล้วมาขยายสิ่งนี้ นี่เป็นวิภาคะ มันขยายส่วน เราต้องขยาย ต้องให้วิภาคะให้เห็นความเป็นไปของมัน นี่มันเป็นไตรลักษณ์อย่างนี้

แต่ถ้าเพ่งอยู่ การเพ่งดูแล้วใช้พลังงานคือใช้ความรู้สึกของใจให้มันแยกขยาย สิ่งที่แยกขยาย นี่เจโตวิมุตติ แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินะ มันใช้สติ ใช้ความรู้สึก ใช้จิตเรานี่ใคร่ครวญ ใคร่ครวญว่า ในร่างกายของเรามีเซลล์ มีสิ่งต่างๆ มีเส้นเลือด มันส่วนประกอบขึ้นมาเป็นมนุษย์ เห็นไหม คนมันอยู่ที่ไหน ชี้ไปที่แขนก็แขน ขา ส่วนประกอบของอวัยวะ ตรงไหนเป็นคน? ไม่มีคนนะ มันประกอบขึ้นมาถึงเป็นคน สิ่งที่เป็นคน คนนี้มีประโยชน์อะไร นี่เราใช้ปัญญาใคร่ครวญอย่างนี้ คนต้องมีอาหาร ต้องมีสิ่งต่างๆ อาหาร เพราะมีธาตุไฟเผาผลาญมัน ถ้ามีธาตุไฟเผาผลาญมัน มันก็ยังเป็นประโยชน์

แต่ถ้าไม่มีธาตุไฟเผาผลาญร่างกายนี้นะ จิตออกก่อน พอจิตออกก่อน ธาตุ ๔ ลมออก ไฟออก ดินเป็นดิน น้ำออก ต้องเน่า ต้องย่อยสลายไปโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาตินะ แล้วมันมีอะไรล่ะ

จิตตั้งอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้เพราะมันเป็นปกตินี้ มีธาตุไฟอย่างนี้ มันถึงเคลื่อนไหวไง ดูสิ เวลาผู้เฒ่าผู้แก่ลุกก็โอยนั่งก็โอย เพราะอะไร เพราะมันชราคร่ำคร่า แต่เรายังมีอายุน้อยอยู่ ของนี้มันยังของใหม่อยู่ มันยังไม่ชราคร่ำคร่า ลุกก็เร็ว นั่งก็เร็ว เราคิดว่าเราจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันไม่อยู่ตลอดไปหรอก เดี๋ยวมันก็ต้องชราคร่ำคร่า สิ่งที่ชราคร่ำคร่า มันโดยสัจจะความจริงของเขา แต่เราไม่ได้ประโยชน์อะไร

แต่ถ้าใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญไป เห็นไหม เราใคร่ครวญไป นี่โปรแกรม สิ่งนี้ใคร่ครวญไป จิตจะถ่ายภาพนี้ไปตลอด ถ้าภาพในทางวิปัสสนา แล้วมันสอนไปที่จิต เวลามันวิปัสสนา มันปล่อยวาง มันวิภาคะ มันคลายตัวออก นี่มันก็ถ่ายไปด้วย กล้องวิปัสสนาไปด้วย มันก็ถ่ายของมันไปด้วย มันก็ซับลงที่จิต ซับลงที่จิต ซับลงที่ฟิล์มนั้น ฟิล์มนั้นไง

จากฟิล์มที่ถ่ายภาพข้างนอกนะ นี่เห็นกายนอก กายนอกคือกายของสัตว์โลก เห็นคนนั้นเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นคนนี้ย่อยสลายไป ไปเที่ยวป่าช้าในป่าช้าที่ซากศพ นี่กายนอก สิ่งที่กายนอก จิตมันไปถ่ายข้างนอก ถ่ายข้างนอก เห็นข้างนอก เห็นข้างนอกมาแล้วก็จินตนาการไปว่าจะเป็นสภาวะแบบนั้น นั่นเป็นกายนอกนะ กายนอกเราไปดูของคนอื่น

ขณะที่จิตสงบเข้ามาเป็นตัวจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นยกขึ้นวิปัสสนาไปเห็นสภาวะกายอย่างนี้เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง วิปัสสนาโดยปัญญาวิมุตติ พิจารณาไปโดยปัญญาเป็นธรรมารมณ์ เห็นไหม สิ่งนี้มันสะเทือนหัวใจ เพราะมันเห็นจากจิตที่สงบ จิตที่สงบเหมือนฟิล์มมันพร้อม มันถ่ายตัวมันเองแล้วซับลงที่ใจ ซับลงที่จิตนั้น ที่ฟิล์มนั้น ซับแต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ โปรแกรมมันเป็นอย่างนี้ไง

ถ้าโปรแกรมอย่างนี้มันต้องเกิดจากการกระทำ จิตนี้มันต้องมีการใคร่ครวญ มันมีการวิปัสสนา มันถึงแยกแยะ ถ้าแยกแยะสิ่งนี้มันก็สอนหัวใจ สอนหัวใจบ่อยครั้งเข้าๆ หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นคราดหมั่นไถจนสิ่งนี้ปล่อยวางบ่อยๆ สิ่งที่ปล่อยวางนี้เป็นตทังคปหาน ถ้ามันปล่อยแล้ว สิ่งนี้มันปล่อยกาย ปล่อยรูป รส กลิ่น เสียง ปล่อยหมด เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เราเข้าใจไง ถ้าเราเข้าใจนี่มันมีตัวตน มีเรานะ นี่กิเลส

กิเลส ภวาสวะคือฐานที่ตั้ง คือตัวตน นี่ภวาสวะ สิ่งที่เป็นภวาสวะทำให้สิ่งนี้บิดเบือนได้ แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป เราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป จะปล่อยวางไม่ปล่อยวางนี้มันเป็นสัจจะความจริงของอริยสัจ ไม่ใช่ของเรา สิ่งที่เราไม่มีหน้าที่บังคับบัญชาสิ่งนี้ ถึงบอก เราไม่มีหน้าที่บังคับบัญชา บังคับขู่เข็ญทำให้เป็นตามอำนาจของเรา

เรามีหน้าที่การประคอง เราสร้างมัคโคทางอันเอกของเรา เรามีหน้าที่ตั้งสติแล้วพยายามทำวิปัสสนาของเราเข้าไป มันจะปล่อยวางเป็นตทังปหาน การปล่อยวางอย่างนี้มันเป็นการปล่อยวางชั่วคราว สิ่งที่ปล่อยวางชั่วคราว เห็นไหม แบบหลวงปู่มั่นท่านวิปัสสนาไป ท่านเห็นนิมิต ท่านพิจารณาของท่านไป มันคลายออกมามันก็เป็นอันเก่า แต่พอท่านไปเห็นสภาวะตามความเป็นจริง พอพลิกเป็นวิปัสสนา เพราะพอลาพระโพธิสัตว์ พอจิตเห็นกาย พิจารณากายไป พอคลายนี่ตทังปหาน มันปล่อยวางแล้วมันคลายตัวออกมา “อย่างนี้ใช่ อย่างนี้ใช่” เพราะมันจางลงไป

สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้มันเคยเป็นความรู้สึกโดยสัญชาตญาณ เราเห็นสิ่งใดมันก็ตอบสนองในความรู้สึกตลอดไป เพราะอะไร กล้องถ่ายภาพไปๆ มันติดตลอด ติดในจิตไปตลอด ถ้าเราวิปัสสนาไป กาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริง เวลาพิจารณาไปมันปล่อยวางไป กล้องมันถ่ายไป ถ่ายไปแล้วภาพมันคนละภาพ ภาพจากการถ่ายนั้นถ่ายโดยตัณหาความทะยานอยาก โดยสัญชาตญาณของฟิล์มนั้น ของจิตนั้น

แต่วิปัสสนาไปมันเป็นอีกภาพหนึ่ง มันเป็นอีกภาพความเห็น เห็นจากสัมมาสมาธิ เห็นจากสติ สติพร้อม เห็นจากปัญญา เห็นจากความดำริ ดำริที่ไหน? ดำริจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณเห็นสภาวะตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ววางธรรมและวินัยไว้ เป็นธรรมวินัยอยู่ในศาสนา ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราออกประพฤติปฏิบัติ เราออกใคร่ครวญของเรา แล้วเกิดสภาวะตามความเป็นจริง เกิดจากการกระทำ เกิดจากโปรแกรมของใจนี้มันสามารถโปรแกรมของมันขึ้นมาได้

มันสามารถใคร่ครวญของมันขึ้นมาได้ เห็นไหม ความใคร่ครวญของมันขึ้นมาได้ มาเห็นสภาวะตามความเป็นจริงมันก็จางออก จางออก จางออกจากการกระทำ สิ่งที่การกระทำ นี่มันถ่ายลงที่ฟิล์มนี้ ฟิล์มนี้ภาพจากภายใน ภาพจากการกระทำของตัว ไม่ใช่ภาพจากวัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะคือความเป็นไปของโลกเขานี่เขาเป็นอย่างนั้น

เหมือนกันนะ เวลาสิ่งที่ว่า พูดถึงสมมุติ สมมุติมันเหมือนกัน แต่ขณะสมถะ วิปัสสนาก็ต่างกัน สิ่งที่ความเห็นจากภายในหัวใจมันก็ต่างกัน เพราะต่างกันจากความเห็นของใจ ต่างกันจากความเห็นจากภายใน ต่างจากความเห็น

วิปัสสนาแล้วสติมันไม่พลั้งเผลอ ถ้าพลั้งเผลอนะ ปล่อยวาง พอปล่อยวางนี่ชะล่าใจ พอคลายตัวออกมาสิ่งนี้จะเสื่อมหมดเลย เพราะมันเป็นตทังคปหาน ปหานชั่วคราว สิ่งที่ชั่วคราว กิเลสในเมื่อมันเป็นความเคยใจ มันเป็นพญามารนะ มารนี่ครอบคลุมใจของเรา นี่พญามาร แล้วพญามารเป็นจอมทัพ มันมีแม่ทัพนะ นางตัณหา นางอรดีเป็นแม่ทัพ แล้วมันยังมีสิ่งที่เป็นอุปาทานเป็นไพร่พลของมัน มันยังมีพวกไพร่พลจากสักกายทิฏฐิ ความเห็นของกาย สิ่งนี้เป็นไพร่พลของพญามารนะ

ที่สุดแห่งจิตอยู่ที่ไหน ถ้าที่สุดแห่งจิตมี การเริ่มต้นนี้มี เราเริ่มต้นจากต้นทาง เราจะไปถึงปลายทาง ถ้าเราเริ่มต้นจากต้นทาง เวลาวิปัสสนาไปมันเริ่มคลายตัวออก มันเริ่มเบาลง เบาลง เราเริ่มต้นจากต้นทางแล้ว ถ้าเรามีสติ เราไม่สุกเอาเผากิน ไม่เชื่อไง ไม่เชื่อความเป็นไป ไม่เชื่อสิ่งที่กิเลสเสกสรรปั้นยอขึ้นมาว่า เราประพฤติปฏิบัติมาระดับนี้ เรามีคุณธรรมในหัวใจ สิ่งที่ว่าเรามีพออยู่พอกิน สิ่งนี้เวลาประพฤติปฏิบัติไปเราเข้าใจว่ากิเลส เวลาโดนธรรม เวลาโดนสภาวะธรรมในหัวใจของเราประหัตประหารมันแล้วมันจะยอมจำนน...ไม่มีทาง

สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก เรื่องของกิเลส เรื่องของใจ สิ่งนี้เป็นนามธรรม นี้สะสมมามหาศาล สิ่งที่สะสมนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสั่งสอนสัทธิวิหาริก “ผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุด มารเอย เธอไม่ต้องตามหา เธอไม่ต้องตามหา ลูกศิษย์สัทธิวิหาริกของเรา เธอหาไม่เจอหรอก” เพราะอะไร จิตเขาถึงที่สุดไง ถ้าจิตเขาไม่ถึงที่สุดอยู่ใต้ของพญามารนะ สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่พยากรณ์ จะให้เข้าไปกระทบกับวัฏฏะกับซากอสุภะ ถ้าจิตมันไม่ถึงที่สุดมันก็จะกระทบกับซากอสุภะ

เวลาพระสมัยพุทธกาลจะไปรายงานผลกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสิ้นกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ล่วงหน้านะ ให้พระไปบอก “ไม่ต้องเข้ามา ให้แวะเข้าไปที่ป่าช้า ไปดูซากศพ” พอไปเห็นซากศพอาการกระทบมันเกิด

ชะล่าใจ ชะล่าใจว่าเราพิจารณาแล้ว สิ่งนี้ปล่อยวางแล้ว มันปล่อยวางด้วยความกดไว้นะ ถ้าจิตนี้สงบ จิตสงบได้เพราะเหตุใด จิตสงบเพราะเรามีสติ เรามีความตั้งมั่น เรามีความจงใจ สิ่งที่มีสติแล้วมีความจงใจ กำหนดพุทโธเข้ามา นี่มันกดให้กิเลสยุบยอบลง ยุบยอบลงเฉยๆ

ถ้าเรามีสติ เรามีความตั้งมั่นของเรา กิเลสมันกลัว กลัวความเพียร กลัวคนจริง กลัวการกระทำ กลัวธรรม ธรรมคือสติธรรม ปัญญาธรรม สติปัญญาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมรรค ๘ ที่วางไว้ แล้วเราทำเป็นสัมมาคือความถูกต้อง นี่กิเลสจะกลัวมาก

แต่พอเราทำขึ้นมาแล้ว กิเลสมันก็หลบหลีก หลบหลีกให้หัวใจเราปล่อยวางๆ แล้วมันก็บอกว่านี้เป็นธรรม มันจะรอให้เราประมาท ถ้าเราประมาทเมื่อไหร่ กิเลสมันคลายตัวออกมานะ เราจะน้อยเนื้อต่ำใจ ประพฤติปฏิบัติมาขนาดนี้ ตั้งใจขนาดนี้ยังทุกข์ยากขนาดนี้ เวลากิเลสมันแสดงตัวออกมานะ เราจะล้มลุกคลุกคลานเลย นี่ถึงบอกว่า อย่าประมาท

ถ้ามันประมาท เห็นไหม หนึ่ง ประมาทแล้วเราเป็นคนที่ไม่จริงจัง เราก็จะปฏิบัติแล้วจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีความจริงจังนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วในพระไตรปิฎก “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแห่งธรรม ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องถึงที่สุด” การปฏิบัติสม่ำเสมอคือการเสมอต้นเสมอปลาย สิ่งที่การปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลายนี่เราต้องตั้งสติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ วันนี้เราปฏิบัติกี่ชั่วโมง วันนี้เรานั่งขนาดไหน เราต้องทบเข้าไป ถ้ามันไม่เป็นผล ทบเข้าไป ทบเข้าไป นี่ความเพียร

สิ่งนี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๕๐๐ กว่าปี สิ่งนี้เป็นการพิสูจน์มาแล้ว สิ่งที่สืบต่อมาได้ยาวไกลขนาดนี้ต้องมีเหตุมีผลสิ แล้วครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมาก็บอกจากใจดวงของครูบาอาจารย์ว่าสิ่งนี้มันมีอยู่ ที่สุดแห่งจิตมีอยู่ ที่สุดแห่งจิตมีอยู่มันต้องปล่อยวางสิ่งนี้ได้ แต่เพราะเราล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราไม่มีกำลังใจของเรา เราก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่แอบอิง เป็นที่ยืนพิง แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติของเราเข้าไป

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินะ อาหาร อาหารบิณฑบาตมาขนาดไหน ใครจะเอาอาหารมาขนาดไหน วางไว้ ถ้าเราไม่เอาใส่ปากนะ เราไม่ได้กินหรอก นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าหัวใจ ถ้าการประพฤติปฏิบัติมันไม่เกิดจากใจของเรา มันไปถ่ายภาพของคนอื่น เวลาปริยัติถ่ายภาพแต่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ่ายแต่ธรรมวินัยไง พระไตรปิฎก ศึกษาพระไตรปิฎก ค้นคว้าพระไตรปิฎก ได้บาลีมาก็แต่ง ๙ ประโยคต้องแต่งบาลีได้ ต้องแต่งบาลี สิ่งนี้มันเป็นสมมุติ

สิ่งที่เป็นสมมุติเป็นแบบอย่าง เป็นพิมพ์เขียว แล้วย้อนกลับเข้ามานะ พระไตรปิฎกทั้งหมด ธรรมวินัยทั้งหมดชี้เข้ามาที่ใจ ชี้เข้ามาที่ใจเพราะอะไร เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้ ภาชนะที่จะใส่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือหัวใจไง หัวใจที่มีความรู้สึก สิ่งที่มีความรู้สึก สมาธิก็ความสงบของใจ สติก็เกิดจากจิต ปัญญาก็เกิดจากหัวใจที่มันใคร่ครวญออกมา มันไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่สมมุติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นกรอบ เป็นศาสดา เป็นต้นแบบ

แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันจะเกิดจากใจของเรา ถ้ามันเกิดจากใจของเรา เราถึงต้องย้อนกลับเข้ามาในหัวใจของเรา นี่ภาชนะ ภาชนะคือใจ ถ้าภาชนะได้สัมผัสอย่างนี้ สงบเข้ามาอย่างนี้ วิปัสสนาอย่างนี้มันก็ปล่อยวางเข้ามา สิ่งที่ปล่อยวาง แล้วพอปล่อยขนาดไหนเราก็ซ้ำๆ ตลอดไป นี่ขันธ์อย่างหยาบ

สิ่งที่ทำลาย เราคลายกล้องออกได้ เราปล่อยวางกล้องได้ สิ่งที่คลายออกได้ เวลาคลายออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงปล่อยวางขาดออกไป สังโยชน์ขาด เวลาโปรแกรมทำลายนะ เวลาระเบิดมันทำลายหมดเลย แต่ขณะที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำลายขนาดไหนมันเป็นนามธรรมไง ยิ่งทำลายยิ่งสะอาด ยิ่งทำลายยิ่งดี ยิ่งทำลายยิ่งบริสุทธิ์

สังโยชน์ขาดออกไป กล้องมันก็อยู่แบบเดิม ความรู้สึกอันเก่า ความรู้สึกนะ แต่สังโยชน์มันขาดออกไป ความเห็นผิดไม่มี ความเห็นผิดในกายของเรา กายนี้เป็นเรา เราเป็นกายนี้ไม่มี กายสักแต่ว่ากาย จิตสักแต่ว่าจิต ต่างอันต่างจริงโดยธรรมชาติของมัน เห็นไหม ปล่อยวางทั้งหมดเลย นี่ถ้าสมุจเฉทปหานมันจะมีอาการของใจที่ความเป็นไป นี่ขันธ์อย่างหยาบ

ขันธ์อย่างกลางก็เหมือนกัน ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราวิปัสสนาของเราเข้าไป ถึงที่สุดไง ถ้าถึงที่สุด ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ความเฉา ความสุข ความละเอียด สุขขนาดไหน สุขคู่กับทุกข์ มืดคู่กับสว่าง ความเป็นไปนะ เราปล่อยวางขนาดไหน ถ้าประมาทนะ หรือถ้าปรารถนาขนาดนี้ เวลาตายไปเกิดอีก ๗ ชาติ หรือในชาติปัจจุบันพระอานนท์เป็นพระโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ ถ้าเรานิพพานไปแล้ว วันสังคายนาเธอจะได้เป็นพระอรหันต์” นี่พระอานนท์ประพฤติปฏิบัติย้อนกลับเข้ามาอีก

นี่ก็เหมือนกัน ที่สุดแห่งจิต ถ้ามันจะมี เราวิปัสสนาเข้าไป มันจะทำลายขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างละเอียดนะ ขณะที่ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด พิจารณากายมันก็เป็นสิ่งที่เป็นอุปาทาน พิจารณาถึงขันธ์อย่างละเอียดมันก็เป็นอสุภะ

ถ้าพิจารณาจิต สิ่งนี้เป็นอาการของใจ สิ่งที่เป็นอาการของใจนี่เป็นขันธ์ ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งนี้เป็นนามธรรมนะ รูปคือความพอใจ สัญญาคือข้อมูล เวทนาความรับรู้ นี่วิญญาณ สังขารปรุงแต่ง สิ่งนี้มันมีอยู่ มันเป็นไป ถ้ามีความจงใจมันเห็นหมดล่ะ ถ้ามีความจงใจนะ เวลาปล่อยวางนี่ว่างหมดเลย หาไม่ได้ หาไม่เจอ เพราะอะไร เพราะมันประมาทเลินเล่อ ประมาทมาก ไม่คอยสังเกตใจของตัว

ถ้าสังเกตใจของตัวนะ เวลาประพฤติปฏิบัติออกมา สิ่งตรงข้าม หญิงคู่กับชาย มืดคู่กับสว่าง สิ่งตรงข้าม ถ้าเราสิ่งที่น้อมไปที่ตรงข้ามมันมีความรู้สึก นี่กิเลสชัดๆ เลย สิ่งที่กิเลสชัดๆ มันก็ย้อนกลับตรงนี้ได้ แล้วถ้ามันจับไม่ได้ล่ะ จับไม่ได้ก็ทำความสงบของใจเข้ามา กำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิทำจิตสงบเข้ามา

ถ้าจิตสงบเข้ามาต้องจับนะ นี่ต้นทาง ต้นทางหมายถึงโสดาปัตติมรรค แล้ววิปัสสนาไปจนเห็นกาย กายกับจิตแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง สิ่งนี้เป็นโสดาปัตติผล สิ่งที่เป็นโสดาปัตติผล แล้วสกิทาคามิมรรคล่ะ สกิทาคามิมรรคจะเริ่มต้นตรงไหนล่ะ ถ้างานชอบ ชอบอย่างไร ชอบมันต้องจับ ต้องขุดคุ้ย ต้องจับเห็นอาการของกาย เวทนา จิต ธรรม จิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัมมาสมาธิ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตนี้ไม่เป็นผู้กระทำ ถ้าฟิล์มนี้ สิ่งที่การจะถ่ายภาพนั้น ถ้าฟิล์มนี้ไม่สามารถซับสิ่งที่เป็นภาพมาได้ มันก็วิปัสสนาไม่ได้

ถ้าสิ่งที่ถ่ายภาพแล้วซับมาที่ฟิล์มได้ นี่ข้อมูลเกิด โปรแกรมมี สิ่งที่โปรแกรมมีเพราะอาศัยตัวจิต ถ้าตัวจิตนี้สงบเข้ามาแล้วย้อนกลับไป เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมโดยสัจจะความจริง มันก็เริ่มใคร่ครวญ ใคร่ครวญในอุบายวิธีการ อุบายวิธีการต้องใหม่ตลอดนะ ถ้าเราใช้อุบายเก่าๆ กิเลส ในการประพฤติปฏิบัติเหมือนกับเล่นกีฬา เล่นกีฬามันจะมีฝ่ายตรงข้าม กับมีเราเป็นผู้เล่นกีฬา นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจเราขณะประพฤติปฏิบัติจะมีธรรม ธรรมคือการกระทำ คือสมาธิ คือสติ นี่สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากเรา เราพยายามก่อร่างสร้างตัว

แต่กิเลสมันมีอยู่โดยดั้งเดิม กิเลส อวิชชามันอยู่ในหัวใจ สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว มันต่อต้านตลอด สิ่งที่ต่อต้าน เห็นไหม การแข่งขัน การสะสมกำลัง การจะใคร่ครวญในหัวใจมันถึงต้องมีไหวพริบ ไม่มีความนอนใจ จะต้องใคร่ครวญตลอดไป สิ่งที่ใคร่ครวญ เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาไปถ้ามันจับได้นะ

ถ้าจับไม่ได้ พยายามทำความสงบเข้ามา ค้นคว้าเข้ามา ค้นคว้าต้องเจอ สิ่งของนั้นมีอยู่ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้มีอยู่ อยู่ในหัวใจของเรา นี่กิเลสมีอยู่ ถ้าเราพยายามค้นคว้า ต้องเจอ ของมีอยู่ หาไม่เจอได้อย่างไร สิ่งนี้หาไม่เจอเพราะเราไม่รอบคอบ ถ้าเราไม่รอบคอบ การประพฤติปฏิบัติมาจากไหน

การประพฤติปฏิบัติ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดอ่อนมาก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนามธรรมนะ พระไตรปิฎกเป็นสมมุติ สมมุติเพราะเป็นบัญญัติออกมาแล้ว ขณะที่เราไปเจอเราวิปัสสนาเข้าไป เราไปเจอในปัจจุบัน สิ่งที่ปัจจุบันเป็นความจริง เป็นความจริงเพราะเราจับต้องได้จริง เราวิปัสสนาจริง เราใคร่ครวญได้จริง สิ่งที่เป็นความจริงมันก็แก้กิเลสได้จริงๆ แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว แล้ววางธรรมไว้ต่างหากล่ะ

ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณทำลายกิเลสอันนั้นขาดออกไปแล้ววางธรรมและวินัยนี้ แล้วเราไปถ่ายภาพนั้นมา แล้วเราบอกสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม มันจะมาฆ่ากิเลสของเรา มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ถ้าเราศึกษามาเป็นแบบอย่าง เป็นวิธีการ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “เราตถาคตเป็นผู้ชี้ทางต่างหาก สาวกสาวกะต้องเป็นผู้ก้าวเดินเอง เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเอง” เราถึงต้องพยายามสร้างสมของเราขึ้นมา แล้วมันวิปัสสนาขึ้นมา มันจะเป็นการกระทำของมัน

ถ้าการกระทำอย่างนี้มี นี่ใคร่ครวญไป ใคร่ครวญของเราไป นี่สติมันละเอียดเข้าไป ปัญญาละเอียดเข้าไป จากสติปัญญา สิ่งที่พิจารณาอยู่ ขันธ์อย่างกลางก็สติปัญญาใคร่ครวญไปจนถึงที่สุดมันขาด ขาดออกไปเลย สิ่งที่ขาดออกไป นี่ขันธ์อย่างละเอียดล่ะ มันก็เหมือนกัน นี่ปัญญามันคนละชั้นนะ

เวลาประพฤติปฏิบัติเราว่า “ปัญญาๆ สิ่งนี้เป็นปัญญา เราได้ใช้ปัญญาแล้ว”

ปัญญามันก็มีเป็นสติปัญญา แล้วถ้าขันธ์อย่างละเอียดมันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้าเป็นมหาสติมหาปัญญา เวลาเราล้มลุกคลุกคลานนี่เราทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย จะประพฤติปฏิบัติมีแต่แรงต้านของกิเลส จะทำลายเราต่อต้านเราตลอดไปเลย แต่ขณะที่พอเป็นมหาสติ มหาปัญญา แล้วค้นคว้าจากขันธ์อย่างละเอียดเจอ สิ่งที่ขันธ์อย่างละเอียดเจอ สิ่งนี้มันจะเหมือนกับน้ำป่าไหลแรงมาก ปัญญามันจะหมุนเต็มที่ของมัน หมุนเต็มที่ของมันจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนนะ เวลาสิ่งที่เป็นไป

เพราะสิ่งที่เวลาเราทำงาน เวลาทำงาน ฝึกฝนงาน ทำไม่เป็น เราก็น่าเบื่อหน่าย ขณะที่เราทำงานขึ้นไปจนประสบความสำเร็จเป็นชั้นตอนขึ้นไป เราก็ตื่นเต้นในงานนั้น เราก็พยายามจะทำงานนั้น แล้วกิเลส กิเลสมันก็หลอกล่อให้เราหมุนไปตามมัน จนไม่ได้พักได้ผ่อน ถึงต้องกลับมาทำความสงบของใจ นี่ขันธ์อย่างละเอียด

พญามาร แม่ทัพของพญามารคือนางตัณหา นางอรดี สิ่งที่นางตัณหา ตัณหาความทะยานอยากมันอยู่ตรงนี้ไง ขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม ขันธ์คือเรื่องของใจ ถ้าพูดถึงพิจารณากายจะเป็นอสุภะ ถ้าเป็นอสุภะ พิจารณากายมันเป็นสภาวะกาย มันเปื่อย มันเน่า มันพอง มันลอยออกไป พิจารณากายซ้ำ มันเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายอย่างนี้เป็นอสุภะนะ สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภะโดยสัญชาตญาณ

สัจจะความจริงร่างกายเรานี่ตายแล้วก็เน่าเปื่อยแน่นอน ร่างกายเราในปัจจุบันนี้เราต้องอาบน้ำ เราต้องชำระล้างตลอดไป สิ่งนี้มันขับออกมาแต่ขี้เหงื่อขี้ไคลมันขับออกมา สิ่งนี้เป็นธรรมชาตินะ แต่ถ้าเป็นอสุภะ ไม่เป็นอย่างนั้นเลย

เป็นอสุภะนะ มันเห็นจากหัวใจ จากความเห็นจากภายใน มันจะเป็นไปสภาวะของมัน พิจารณาไปมันจะปล่อยขนาดไหน มันอสุภะไง สิ่งที่เป็นอสุภะนะ มันเริ่มตั้งแต่หยาบๆ ก่อน มันจะเป็นสิ่งที่เป็นเลือดเป็นหนองไปก่อน แต่พอมันออกไปมันจะเริ่มพุพอง มันเป็นสภาวะของมัน นี้เป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะมันก็ปล่อย เห็นปั๊บ เพราะเห็นด้วยกำลังของใจ สิ่งที่เป็นกำลังของใจมี สิ่งสภาวะนี้มันจะปล่อยวางๆ ปล่อยวางก่อนนะ ปล่อยวางโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราซ้ำไปๆ ปล่อยวางมันจะละเอียดเข้าไป

ถ้ากิเลสมันสวมรอยนะ มันจะปล่อยวางๆ ปล่อยวางจนหายไปเลย จนเงียบ ว่า “นี่ว่างหมด สิ่งนี้เป็นไปแล้ว สิ่งนี้ปล่อยวางขันธ์ละเอียดแล้ว” นี้เป็นการพิจารณากายนะ ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันปล่อยวางอย่างนี้มันหลบ แล้วกิเลสหลบจะทำอย่างไรล่ะ

มันไม่มีเหตุผล มันไม่มีโปรแกรม มันไม่ได้ระเบิด ไม่ได้ทำลาย ไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าปล่อยมันก็จะคาอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราย้อนกลับเข้ามา ต้องตรวจสอบ เอาสิ่งใดมาเทียบกับใจ เอาใจเทียบ ถ้ากำลังมันมีอยู่ คนเรากินอิ่มนอนอุ่นมีความสุข นึกว่าชีวิตนี้มีความสุขมาก แต่ถ้าสิ่งที่กินอิ่มนอนอุ่นแล้วท้องมันพร่องไปมันหิวไป เวลาเกิดอาการขาดอาหารขึ้นมา ท้องขาด สิ่งที่นอนจนเบื่อหน่าย นอนจนเบื่อ มันจะเริ่มรำคาญไง นี่รำคาญ นี่มันล่ะ! มันล่ะ! สิ่งที่มัน เห็นไหม

ถ้าเป็นกิเลสมันบอก “สิ่งนี้เป็นธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นความจริง นี่ไม่ใช่กิเลสหรอก ธรรมเป็นสภาวะแบบนี้” นี่มันก็หลอกไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีความฉุกคิด เราไม่มีต่างๆ ถ้าเรามีความฉุกคิด นี่แหละภวาสวะ เป็นกามราคะด้วย ถึงพิจารณา

ถ้าหลอก ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาจับอสุภะขึ้นมาตั้งใหม่ เห็นไหม พิจารณาปล่อยขนาดไหน เราเคยปล่อย ปล่อยแล้วมันไม่เป็นไป ปล่อยขนาดนี้มันก็หลบซ่อน กิเลสหลบซ่อน พิจารณาซ้ำๆ นี่มันพิจารณาซ้ำ ความเร็วความชำนาญของมันไง พิจารณาแล้วมันจะชำนาญมาก ดึงเข้ามา ชำนาญมาก ถึงเข้ามา ถ้าเข้ามา นี่กามอยู่ที่ใจ พิจารณาขันธ์อย่างละเอียดนะ

สิ่งที่ขันธ์นี่ ฉันทะความพอใจ สิ่งที่พอใจนั่นคือตัวกาม มันพอใจตัวของมันนะ ถ้ามันพอใจมันจะเป็นกามขึ้นมา ถ้าเราจับนี้ได้ พิจารณามัน ใคร่ครวญมัน ปล่อยวางมัน ปล่อยวาง ถ้าไม่มีกำลังมันจะปล่อยวางได้อย่างไร มันต้องมีกำลังของมัน เอากำลังนี่จับ จับสภาวะแบบนี้ปล่อยสภาวะได้ เห็นไหม สิ่งนี้เคลื่อนไป เคลื่อนไปขนาดไหน ทำลายมัน! ทำลายมัน! ทำลายมัน! จนถึงที่สุดนะ ขันธ์อย่างละเอียดก็ต้องทำลายไป

สิ่งที่ทำลายขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม พอขันธ์อย่างละเอียดทำลายไป นี่นางตัณหา นางอรดี ขาดไป สิ่งที่ขาดไป จิตมันปล่อยวางขนาดไหน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกซ้อมไปนะ ฝึกซ้อมไปจนสะอาด

ฟิล์มถ่ายภาพขนาดไหนมันก็ถ่ายภาพอยู่ในฟิล์มนะ ฟิล์มถ้ามันฟิล์มหลุดไปล้างที่ไหนมันก็มีภาพ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เป็นขันธ์อย่างละเอียดมันซับมาที่ใจทั้งหมดเลย ขณะที่จิตที่มันทำกามราคะ ทำลายนางตัณหา นางอรดี ทั้งหมด มันทำลายภาพนั้นทั้งหมดเลย ฟิล์มที่ไม่มีภาพไง นี่คือตัวใจ ที่สุดแห่งจิตอยู่ที่นี่

ถ้าไม่เห็นตัวจิต จิตเดิมนี้ผ่องใส เหมือนฟิล์มผ่องใส กล้องนี้ใสไปหมดเลย ว่างหมด สิ่งที่ว่างหมด เวลาเราใส่ฟิล์ม ถ้าฟิล์มนี้ใส่ผิด ไปใส่ที่อากาศมันเข้าได้ ถ่ายแล้วจะไม่ติดภาพ การที่ถ่ายไม่ติดภาพนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเราทำสมาธิต่างหากล่ะ เราทำสมถะ จิตนี้สงบเข้ามาขนาดไหน ฟิล์มนี้ถ่ายภาพไม่ได้ มันถ่ายภาพไม่ได้เพราะมันไม่มีโปรแกรมของมัน

ความสว่าง ความว่าง แสงสว่าง จิตผ่องใสต่างกัน จิตผ่องใสโดยการทำความสงบของใจเข้ามา จิตผ่องใสโดยที่ทำสติเข้ามา มีสติเข้ามาแล้วมันผ่องใส ผ่องใสโดยสมถะ สิ่งนี้ไม่มีโปรแกรม ไม่มีการกระทำ จิตดวงนี้ไม่มีเหตุมีผลเลย แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้ามาจนเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เราทำลายฟิล์มนั้นจนไม่มีภาพเลย จิตนี้ผ่องใส โลกนี้ว่างหมด

โมฆราชบอก โลกนี้ว่างหมด สิ่งนี้ว่างหมด สิ่งที่ว่างใครเป็นคนว่าว่าง ถ้าคนว่าว่าง เราจะย้อนกลับเข้ามาเห็นความผ่องใสของตัวเอง ถ้าจิตจับความผ่องใสของจิตได้นะ นี่ที่สุดแห่งจิตอยู่ตรงนี้ ถ้าที่สุดแห่งจิตไม่มีการกระทำถึงตัวของจิต คือไม่มีการกระทำของตัวมันเอง โปรแกรมนี้ตัววิปัสสนาที่เป็นโปรแกรมแล้วทำลายอาการของใจเข้ามาตลอด อาการอย่างขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียดเข้ามา แล้วมันถึงขันธ์นะ ขันธ์คืออาการของใจ ขันธ์คือภาพที่ติดอยู่ในฟิล์มนั้น ทำลายสิ่งนี้หมดมันถึงว่างหมด

สิ่งที่ว่างหมดเพราะมันทำลายภาพ มันทำลายโดยวิปัสสนาญาณของมัน ทำลายภาพออกจากฟิล์มนั้นทั้งหมด แต่ตัวฟิล์มจะทำอย่างไรให้มันทำลายตัวมันเองล่ะ สิ่งที่ถึงที่สุดแห่งจิต คือจิตต้องทำลายจิต จิตต้องทำลายตัวมันเอง ถ้าจิตมันทำลายตัวมันเองมันจะย้อนกลับเข้ามา ความว่างขนาดไหนใครเป็นคนรู้ว่าว่าง

สิ่งที่ว่าง การจับสิ่งที่เป็นอวิชชานี้มันถึงเป็นความน่ามหัศจรรย์ เพราะสิ่งที่ใช้ปัญญาญาณ ปัญญาที่ใคร่ครวญนี้มันเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนกัน มันเป็นขันธ์ไง เป็นสังขาร เป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่ตัวจิตนี้มันไม่ได้สัมผัส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นปัจจยาการที่สืบต่อที่รวดเร็วมาก สิ่งที่จะเข้าไปจับมันก็ต้องรวดเร็วมาก

“จิตเดิมนี้ผ่องใส” ผ่องใสมันก็ครอบโลกธาตุ แล้วสิ่งที่ผ่องใสที่ไม่มีการเคลื่อนไหว จะเข้าไปจับสิ่งที่ผ่องใสนั้นได้อย่างไร สิ่งที่เข้าไปจับสิ่งที่ผ่องใส อาการถึงย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม ที่สุดแห่งจิตอยู่ตรงนี้ แล้วถ้าความผ่องใสเข้าไปจับตัวความผ่องใสอย่างนั้น เข้าไปจับตัวมันเองได้ ถ้าจะจับตัวมันเองได้ นี่มรรคญาณ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าอาสวักขยญาณเข้าไปทำลายภวาสวะ คือตัวฐาน ตัวภพ สิ่งที่ตัวฐาน ตัวภพ คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือตัวจิตที่ผ่องใส จิตที่ผ่องใสแล้วมันเข้าไปย้อนกลับเข้าไป นี่ปัญญาญาณอันนี้ละเอียดอ่อนมาก เข้าไปทำลายความสมดุลอันนั้น มัธยัสถ์สิ่งที่สมควรกับมัน ทำลายตัวมันเอง

พอทำลายตัวมันเอง สิ้นสุดกระบวนการของจิต สิ่งที่ว่าที่สุดแห่งจิตเพราะมันทำลายมัน พอทำลายมัน เห็นไหม ไม่มีสิ่งใดๆ เลย สิ่งนี้เป็นวิมุตติ สิ่งที่เป็นวิมุตติคือการกล่าวอ้างสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางธรรมและวินัยย้อนกลับมาถึงตรงนี้ ย้อนกลับเข้ามาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรมและวินัยนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้สาวกสาวกะก้าวเดิน ถ้าสาวกสาวกะก้าวเดินตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปด้วยการประพฤติปฏิบัติด้วยมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาตั้งแต่ใจดวงใดก็แล้วแต่ มัชฌิมาปฏิปทาสำหรับใจดวงนั้นไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางกรรมฐานไว้ ๔๐ ห้อง วิปัสสนา กรรมฐาน ๔๐ ห้อง คือสมถะ สิ่งที่เป็นสมถะคือต้องควบคุมจิต วิธีการควบคุมจิตเข้ามาให้เป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสิ่งที่ควบคุมให้เป็นฐานของใจ คือตัวกล้องและตัวฟิล์มนั้น ให้ ๔๐ วิธีการ ขณะที่ใช้ปัญญาญาณนี้ไม่มีขอบเขต สิ่งที่ไม่มีขอบเขตคือเวลาปัญญาแต่ละบุคคล แต่ละจริตนิสัย หยาบละเอียดต่างกัน ฉะนั้น ขณะที่ใช้ปัญญานั้นถึงต้องใช้ปัญญาจากปัจจุบันของจิตนั้น ปัจจุบันของผู้มีจริตนิสัยหยาบละเอียดต่างกันนั้น ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญเข้าไป ปัญญาของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นจะเป็นปัญญาญาณของใจดวงนั้น

ถ้าใจดวงนั้น ที่สุดแห่งจิตต้องเริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติ การทำความสงบของใจเข้ามา แล้วการวิปัสสนาก็อยู่ที่อำนาจวาสนาที่จิตนั้นจะก้าวเดินออกไป ถ้าจิตนั้นก้าวเดินออกไปตามอำนาจวาสนาให้เป็นปัจจุบันธรรม ให้เป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะได้ผลประโยชน์แล้วจะก้าวเดินไปกับใจดวงนั้น

แต่เวลาเทศนาว่าการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง จากครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติหนึ่ง สิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้นอาจเกิดจากอาการ เกิดจากใจดวงนั้นมีประสบการณ์ สิ่งที่ประสบการณ์ของใจดวงนั้น นี่ความคิดก็ต่างกัน นิสัยก็ต่างกัน แต่อาศัยครูบาอาจารย์นั้นเป็นแนวทาง แล้วในการประพฤติปฏิบัติมันต้องเกิดขึ้นจากปัจจุบันของเรา เกิดขึ้นจากการกระทำเกิดขึ้นจากการโปรแกรมให้มันระเบิดตัวมันเอง

ขณะที่โปรแกรมของใครโปรแกรมมัน สิ่งที่โปรแกรมนั้นคือการที่ปัญญาสร้างสมขึ้นมาให้มันทำลาย ถ้ามันทำลาย มันเป็นนามธรรม ยิ่งทำลาย ยิ่งสะอาด ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งเป็นมรรคญาณ ยิ่งเข้าไปทำลายตัวเอง ไม่เหมือนโลก โลกทำลายแล้วหมดสิ้นกัน สิ่งที่ทำลายคือสิ่งทำแล้วมันไม่มี แต่ขณะที่ของเรานี่ระเบิดขนาดไหน เวลามันปล่อยวาง ยกขึ้นใหม่มันก็เหมือนเดิม พิจารณากายระเบิดทำลายขนาดไหน เวลาตั้งขึ้นมามันก็เป็นกาย แต่เป็นคนละลักษณะ นี่สิ่งที่เป็นนามมันมีอยู่ไง แต่¬¬¬ขณะระเบิดทำลายจนถึงที่สุดแล้ว ตั้งก็ไม่มี ธรรมก็ไม่มี ติดก็ไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดอีกเลย สิ่งที่ไม่มีอีกเลยเกิดจากความเห็นโดยสันทิฏฐิโกจากใจดวงนั้น เห็นไหม

เวลาทำขั้นของสมถะเราต้องมีขอบเขต แต่ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตนะ ไปให้ถึงที่สุดของปัญญา ถ้าไปไม่ถึงที่สุด ไม่มีการทำลายของปัญญานั้น เราจะไม่ได้ทำลายกิเลส เราจะไม่ถึงที่สุดแห่งจิต ถ้าจะถึงที่สุดแห่งจิตเราจะต้องไปถึงขั้นสุดยอดของปัญญานั้น ให้ปัญญาไปโดยธรรมชาติของมัน ให้ปัญญานี้ใคร่ครวญไป ทำลายไป จนสุดขอบเขตกำลังของปัญญาทั้งหมด ทุ่มไปทั้งหมดเลย จนถึงที่สุด นั้นคือที่สุดแห่งจิต เอวัง