เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ก.ย. ๒๕๕๘

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมนะ นี่ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นธรรมะ เป็นสัจจะเป็นความจริงไง เป็นความจริง ดูสิ วันนี้วันพระ เพราะวันนี้วันพระ คนที่มีหัวใจ คนที่ชาวพุทธ เรามีรัตนตรัย เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง หัวใจเราไม่ว้าเหว่ เราไม่ใช่คนเร่ร่อน เราเป็นคนมีบ้านมีเรือน เรามีศาสนาประจำหัวใจ ถ้าเรามีศาสนาประจำหัวใจ มันเจตนา เจตนาเราอยากทำบุญกุศลของเรา ถ้าทำบุญกุศลของเรา มันก็ต้องหาที่เราลงใจ ถ้าที่ไหนลงใจ เขาก็จะไปกันที่นั่น คำว่า “ที่ลงใจ” วันพระเราถึงขวนขวายกันมา เราทำเพื่อประโยชน์ของเรา ประโยชน์คือสัจธรรม คือบุญกุศลในหัวใจนี้

แต่คนที่เขาไม่เข้าใจ เขาไม่เข้าใจ เขาเป็นประเพณีวัฒนธรรมของเขา บ้านนอกคอกนาเขาก็ทำวัฒนธรรมประเพณีของเขา แต่วัฒนธรรมประเพณี เราบ้านนอกคอกนา เราอยู่บ้านนอก พ่อแม่พาลูกเข้าวัดเข้าวาตั้งแต่เด็กๆ นะ ถ้าเข้าวัดเข้าวาตั้งแต่เด็กๆ มันก็เป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราก็เข้าใจเรื่องศาสนาด้วยประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรม มันต้องมีวันสำคัญเขาถึงจะไปวัดไปวากัน

แต่ที่นี่ทำไมเสาร์อาทิตย์คนเต็มไปหมดเลย

เขาถามว่า ประชาชนเขามาถามประจำว่า “หลวงพ่อ เขามาทำไม”

เราก็ตอบว่า “เอ็งก็ไปถามเขาสิว่าเขามาทำไม”

เราจะบอกว่าเขามาทำไม ถ้าทางบ้านนอกคอกนาเขาก็ต้องมีเกจิอาจารย์ใช่ไหม แสดงว่าเจ้าอาวาสต้องมีของดี ถ้าของดีของเขามันก็เป็นเรื่องเครื่องรางของขลัง ถ้าไม่เรื่องของขลังก็เรื่องให้หวย แสดงว่าให้หวยเยอะมาก แล้วให้หวยลำเอียง ไม่มีรถเก๋งไม่ให้นะ ถ้าเดินมา ไม่ให้หรอก แต่ถ้ามีรถเก๋ง ให้ทุกวันเลย นี่มาเอาหวยกัน

หัวใจของคน เราจะพูดให้เห็นว่าความคิดของคนมันแตกต่างอย่างนี้ เขาถึงไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ไง ถ้าคำว่า “เรื่องอย่างนี้” มันเป็นเรื่องของฆราวาส เรื่องของความเห็นของเขา เพราะหัวใจเขาระดับนั้นใช่ไหม ถ้าหัวใจของคนที่มันพัฒนาขึ้นมา เขาก็ต้องการบุญกุศล เขาต้องมีหลักใจของเขา ถ้าหลักใจของเขา มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน อำนาจวาสนาบารมีของคนนะ นี่พูดถึงว่าของคน ถ้าคนเขาคิดอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องของคนใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นพระล่ะ ถ้าพระพูดมันน่าเกลียด ถ้าพระพูดมันน่าเกลียดเพราะว่าอะไร เพราะเรา ดูสิ เราเป็นฆราวาส เราถือศีล ๕ ถ้าใครไปจำศีลก็ศีล ๘ ถ้าบวชเณรก็ศีล ๑๐ แล้วถ้าจะบวชพระต้อง ๒๐ ขึ้น แล้วเราต้องมีสติปัญญา เราถึงบวชพระได้ แต่ถ้าเราบวชพระแล้ว เราบวชพระมาแล้วเราก็ต้องศึกษาธรรมวินัย ถ้าศึกษาธรรมวินัย มันศึกษา ศึกษาแล้วเขาศึกษาไว้ให้ประพฤติปฏิบัติ

ถ้าเขาศึกษาแล้วไม่ปฏิบัติ มันต้องการสถานะไง สถานะของความเป็นพระ เวลาคนทำผิดเขาบอกยกให้ผ้าเหลือง ใครทำผิดไม่กล้าติเตียน ถ้าพระทำผิดไม่กล้าติเตียน แล้วพระมันก็เหลิงไง พอพระมันเหลิงมันก็จะเอาแต่ใจตัว ประชาชนต้องมาดูแล ประชาชนต้องมา ไอ้อย่างนี้มันทำอย่างนี้ แล้วใครจะไปศรัทธา ว่าไม่บิณฑบาตๆ

เพราะว่าความตั้งใจของมนุษย์นะ มนุษย์เรา ดูสิ เวลาเราบวชแล้ว ทุกคนถ้าบวชโดยเห็นภัยในวัฏสงสาร บวชมาปรารถนาพ้นทุกข์นะ ถ้าบวชมาปรารถนาพ้นทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างใด ก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น แล้วให้ได้มากกว่านั้น มากกว่านั้นคือว่าเราพยายามจะตีหัวกิเลสของเรา เราพยายามจะตั้งใจเพื่อชำระล้างกิเลสของเรา

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าบิณฑบาตเป็นวัตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบิณฑบาต พระที่บวชแล้วไม่บิณฑบาตมันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ด้วยวุฒิภาวะที่ต่ำต้อย ดูสิ เขาอยู่บ้านอยู่เมืองกัน แม้แต่วัดใดก็แล้วแต่มีบ้านล้อมวัดเขาเลย เขายังไม่บิณฑบาตกัน แล้วนี่ไปอยู่วัดป่า ไปอยู่ที่วิเวก ไปอยู่ที่ห่างไกล มันจะไปบิณฑบาตที่ไหน ก็จินตนาการไง ก็เลยบอกว่าวัดนี้ “ไปดูสิ วัดนี้ไม่บิณฑบาต แล้วประชาชนไปหามากมาย ให้คนไปตรวจสอบ”

ไปตรวจสอบอะไร ไปตรวจสอบอะไร เพราะไปตรวจสอบ เพราะว่าเขาจะรู้อะไรกับเรื่องธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรวจสอบเขาก็ต้องสำนักพุทธนู่น เวลาตรวจสอบเขาก็ต้องเอาพระผู้ใหญ่มาตรวจสอบ ดูสิ เวลาคันถธุระ-วิปัสสนาธุระ คันถธุระเขาปกครองกันโดยธรรมวินัย ปกครอง มีกฎหมายปกครอง ให้อำนาจเขา วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่าน ท่านมีคุณธรรมในใจของท่าน มีพระสมัยหลวงปู่มั่น มีพระองค์หนึ่งปฏิบัติแล้วก็หลงตัวเองว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้น ทางฝ่ายปกครองเขาก็ตั้ง ๙ ประโยค ๔ องค์ มาตรวจสอบว่าเขาเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ ระหว่างทางวิชาการกับคันถธุระกับวิปัสสนาธุระ ตรวจสอบอย่างไรก็ตรวจสอบไม่ได้ มันปลิ้นไปได้เรื่อย ทั้งๆ ที่พระปฏิบัติไม่ได้ศึกษาธรรมวินัยมาถึงขนาดนั้น เขาถึง ๙ ประโยค นี่ฝ่ายปกครอง ทำอย่างไรก็ตรวจสอบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างเข้าใจ

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านลงมาจากเชียงใหม่ ท่านลงมาจากเชียงใหม่นะ เขาก็เลยเอาพระองค์นี้ไปหาหลวงปู่มั่น พอพูดจบ หลวงปู่มั่นว่า “ท่านติดสมาธิ” พระองค์นั้นก้มลงกราบ ไม่กล้าเถียงแม้แต่คำเดียว

ฉะนั้นว่า คนมาตรวจสอบ เอาอะไรมาตรวจสอบ ตรวจสอบอย่างไร ตรวจสอบที่ไหน ถ้าตรวจสอบนะ ดูสิ คนที่เขาหวังมรรคหวังผลของเขา เขาลงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ ประชาชนเรา เรายังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เรายังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นเป้าหมาย รัตนตรัยของเรา แก้วสารพัดนึก แล้วผู้ที่มาบวช ทำไมเขาจะแชเชือนกับกิจวัตรของเขา เขาไม่แชเชือนหรอก ฉะนั้น เขาไม่แชเชือน หนึ่ง คนเวลาคิดอย่างนั้น จิตใจเขาคิดได้แค่นั้นไง เวลาพูดสิ่งใดออกมามันพูดถึงความรู้ของเขาไง

นี่ไง ว่าตรวจสอบๆ เอาอะไรมาตรวจสอบ ก็ตัวเองยังไม่เข้าใจ เอาอะไรมาตรวจสอบ พระเขาบวชของเขาแล้วเขาบิณฑบาตเป็นวัตร ธรรมวินัยที่ว่าให้มากขึ้นๆ ถือธุดงค์ด้วย เราถือธุดงค์ขึ้นมาแล้วเขาไม่รับกิจนิมนต์ เออ! อันนี้พูดได้ชัด เขาไม่รับกิจนิมนต์ ไอ้เรา พระไม่บิณฑบาต พระไม่สุงสิงกับโยม แล้วถ้าโยมมาโยมก็ถวายแม่โขง โอ๋ย! เมื่อคืนดีมากเลย ได้แม่โขงมาขวดหนึ่ง ถวายแม่โขง แล้วถ้าพระไม่รับแม่โขง พระเป็นอาบัติไหม

นี่ไง ความคิดของเขาไง ความดีของโลกเขา แต่ถวายแม่โขงไม่ได้ มันผิดธรรมเนียม พระไม่รับหรอก นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาคิด เขาคิดของเขาไปอย่างนั้น ถ้าเขาไม่คิดอย่างนั้นนะ ถ้าเขาศึกษามาแล้วนะ ถ้าเขาปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าเขาลองได้ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาบ้านเรือนของเรา เวลาปล่อยให้หญ้ามันรกชัฏไปหมด ในโพรงหญ้านั้นมันมีสัตว์ร้าย มันมีงูมีเงี้ยว มีตะขาบตะเขี้ยวตะขอ เขากลัว ไอ้เราทำบ้านเราสะอาด เราได้เปิดหญ้าของเรา เราได้ทำความสะอาด งูเงี้ยวเขี้ยวขอมันจะมาอยู่ได้อย่างไร

ในหัวใจของเรามันสกปรก ในหัวใจเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เขาไม่เคยแหวกหญ้าในหัวใจของเขา เขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติ เขาไม่เคยเห็นความเป็นจริงในหัวใจของเขา แล้วงูเงี้ยวเขี้ยวขออยู่ในนั้นเขาก็หวั่นไหว เขาก็เกรงกลัว เขาก็ไม่ทำอะไร เขาก็คิดว่าพระไม่บิณฑบาต

ไม่บิณฑบาตก็เป็นความเห็นของเขาไง ความเห็นของเขา ความสะดวกสบายของเขา ดูสิ คน ภัตตามมา เขามาถวายที่วัด เขามีปิ่นโตมาถวายพร้อมเลย ไม่ต้องบิณฑบาต อู๋ย! อุดมสมบูรณ์ไปเลย เขาก็คิดว่าอย่างนั้นเป็นศักยภาพ

แต่ถ้าเวลาเรานักประพฤติปฏิบัติ เราจะเศร้าใจ เราเศร้าใจนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบอาวุธให้ ภิกขาจาร เราออกไปบิณฑบาต ออกไปบิณฑบาตนะ อรุณแล้วเราต้องครองผ้า เราต้องออกไป มันมีกิจวัตรของเรา เวลาออกไปแล้ว เวลาประชาชนบริษัท ๔ เขามีทุกข์มีสุข มีอะไร เราไปเห็นหมดล่ะ เวลาเขาทำไร่ไถนามาเพื่อเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของเรา เขามีความทุกข์ความยากของเขา เวลาเขามีศรัทธาความเชื่อของเขา เขาเอาสิ่งนั้นหุงหาอาหาร เอาข้าวปากหม้อใส่บาตรพระ

พระเวลาออกไป ครอบครัวไหนเขาก็มีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ของเขา เขามีความชื่นชมของเขา เราเห็นว่าบุญกุศลมันส่งมา ครอบครัวไหนเขาทุกข์เขายาก เขามีปัญหาของเขา เราไปเห็นสภาพอย่างนั้นของเขา เราเห็นแล้วมันสะเทือนใจไหม? มันสะเทือนใจ ถ้าสะเทือนใจ นี่เทศนาว่าการ ธรรมะเทศน์ตลอดเลย ถ้าเราออกไปบิณฑบาต เราออกไปเห็นสภาพต่างๆ มันมีสติปัญญา มันย้อนกลับมาหาเราได้เลยล่ะ นี่เขาทุกข์เขายากนะ เขาทุกข์เขายาก เขาขวนขวาย ของของเขา เขาเสียสละทำไม เราทำอะไร เดินจงกรมหรือเปล่า นั่งสมาธิภาวนาหรือเปล่า เช้าออกมาสะพายบาตรออกมา เราไปเอาของใคร เรามีสิทธิอะไร นี่ถ้าคนมันมีสติปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบอาวุธไว้ให้ แต่ตัวเอง ถ้าตัวเองไม่ทำ แล้วคิดว่าคนอื่นเขาไม่ทำ ถ้าไม่ทำมันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร

ถ้าทำแล้ว ดูสิ แม่น้ำมันมาจากตาน้ำนะ มาจากลำธารหลายสายมารวมเป็นแม่น้ำ คนเราเกิดมา วาสนาของคนไม่เหมือนกัน ถ้าวาสนาของคนไม่เหมือนกัน เวลาคนทุกข์คนจน ขอให้มีน้ำใจก็พอ ถ้ามีน้ำใจ ขอพูด วันนี้ขอพูดนะ เวลาเสร็จแล้ว โยมมาทำบุญกุศลด้วยเจตนาอันนั้น อันนั้นสะอาดบริสุทธิ์ อันนั้นบุญเต็มที่นะ แล้วโยมถวายปัจจัย เวลาถวายใบปวารณา เราจะบอกว่าเบาๆ ลงก็ได้ พวกเราเบาลงได้ แล้วคนที่อัตคัดขัดสนนะ เวลาเอาลูกเล็กเด็กแดงนะ เราขอ ปล่อยให้มันเข้ามาเลย บอกให้เข้ามาหาเรา

เราสะเทือนใจ มันเคยมีเด็กวิ่งเข้ามาหาเราไง แล้วมันวิ่งออกไปเลย “แม่ๆ เขาต้องมีบัตร เขาต้องมีบัตร” มันเห็นใบปวารณาเป็นบัตรไง “เขาต้องมีบัตรนะ หลวงพ่อถึงจะแจกทอฟฟี่”

ไม่ต้อง ไม่ต้อง ให้มันเข้ามาเถอะ ให้มันเข้ามานะ ไม่ต้องมีบัตร ไม่ต้องมีบัตร เด็กมันเข้ามามันไม่กล้า มันบอกว่าต้องมีบัตร แล้วมันก็ต้องไปหาบัตร บางคนต้องไปขอผู้ใหญ่ว่าจะมาถวายแทน เด็กมันอยาก เด็กมันอยากได้ เด็กอยากได้อยากอะไรของเขามันเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก ฉะนั้น พ่อแม่ปล่อยเขามานะ พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าเสียมารยาท เวลาเสียมารยาท เราจะล่อแต่ผู้ใหญ่ เด็กเราไม่ว่าเสียมารยาทหรอก เด็กมันไร้เดียงสา ให้เด็กมันเข้ามา

แต่เวลาเข้ามาเป็นกาลเป็นเวลา อย่างเช่นตอนนี้เราให้ออกไปก่อน ออกไปก่อนเพราะผู้ใหญ่ เราฟังธรรมนะ เราฟังธรรมเพื่อสะเทือนหัวใจของเรานะ ถ้าสะเทือนหัวใจของเรา งูเงี้ยวเขี้ยวขอในพงหญ้าในหัวใจของเรา เราไม่เคยดูแลมันเลย เราไม่เคยเห็นมันเลย แล้วเรายังปกป้องมันด้วยว่าสิ่งนี้นึกว่ามันเป็นอาหารของเรา แล้วเวลาฟังธรรมๆ เวลาพูดไปแล้วมันทิ่มมันตำใจดำเราน่ะ นี่ธรรมะ พวกเราเอาตรงนี้ ผู้ใหญ่ให้ธรรม

เงินทองมากมายมหาศาลจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยพฤติกรรมของคนได้ ธรรมะมันสามารถเข้าไปสะเทือนหัวใจของเรา มันเปลี่ยนแปลงคนได้ ธรรมโอสถมันประเสริฐตรงนี้ไง เวลาให้ธรรมเป็นทานๆ คือให้ปัญญาคน ให้ธรรมเป็นทานคือให้ปัญญา ให้ได้ฉุกคิด ถ้าคนฉุกคิดนะ ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปเลย จากชีวิตหยำเปเป็นชีวิตที่ดีขึ้นมาได้เลย สัจธรรมอันนี้สำคัญ สำคัญกว่าข้าวของเงินทอง สำคัญกว่าทุกๆ อย่างเลย

ทีนี้ถ้าเรานักประพฤติปฏิบัติเขาฟังธรรมๆ เขาต้องการฟังธรรมอันนี้เป็นประโยชน์กับเขา แต่คนที่เขาไม่เห็นประโยชน์ตรงนี้ เขาเห็นประโยชน์แต่วัตถุ ถ้าวัตถุมันก็เป็น คนมามากๆ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพระออกธุดงค์นะ อย่าไปที่ท่าน้ำ ท่าน้ำมีคนขึ้นคนลง อย่าไปต้นไม้ที่มีผล เพราะต้นไม้ที่มีผลมันมีนกกาจะมากิน แล้วมนุษย์เขาจะไปเก็บผลไม้จากต้นไม้นั้น นี่ไง เวลาพระปฏิบัติเขาให้หลบให้หลีก ให้วิเวก ให้หาที่สงบสงัด เขาไม่ต้องการอย่างนี้หรอก เขาไม่ต้องการอย่างนี้

เราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตาท่านบอกเลยนะ ทุกอย่างเราป้องกันไว้ ป้องกันไว้ให้ได้ ท่านเห็นใจนะ ถ้าธรรมดาคนเราก็อยากจะไปป่าไปเขา ไปที่บรรยากาศที่ดี ที่อากาศสดชื่นใช่ไหม แต่ในเมื่อมีครูบาอาจารย์ก็จำเป็นต้องมุดกันเข้าไปที่บ้านตาดนั่นน่ะ พอมุดไปที่บ้านตาด คนก็ศรัทธาท่านใช่ไหม ท่านบอกว่าทุกอย่างเราป้องกันให้ได้หมดเลย เว้นไว้อย่างเดียว พวกท่านต้องมีสติปัญญาเอาตัวรอดให้ได้ คือศรัทธาของเขา คือเขามาใส่บาตรนี่แหละ ตอนเช้าเขามาทำบุญของเขา ถ้าเขามาทำบุญของเขา นั้นคือสิทธิของเขา นั้นคือสมบัติของเขา เขาเป็นคนฉลาด เขาเป็นคนขวนขวาย เขาพยายามขวนขวายของเขา เขาถึงไปใส่บาตรของเขา

ฉะนั้น เวลาเขามา เราจะไปห้ามว่าห้ามมาใส่บาตรไม่ได้ ห้ามไม่ให้เขาเข้ามา บอกห้ามเข้ามานะ พระอยากจะปฏิบัติ ห้ามเข้ามาเลยนะ มาส่งอาหารเสร็จแล้วให้กลับ ท่านก็พูดไม่ได้ ท่านบอกว่าข้อนี้ท่านช่วยเราไม่ได้ ท่านเคยเทศน์บ่อยเลย ท่านบอกว่าอย่างอื่นเราป้องกันได้ เราช่วยเหลือลูกศิษย์ได้ แต่ศรัทธาไทย เราจะไปปฏิเสธเขาไม่ได้ ฉะนั้น พวกท่านต้องมีสติ ของที่ดีๆ มา เวลาฉันไปแล้วมีแต่ไขมัน แล้วไปสัปหงกโงกง่วง ท่านก็ต้องพิจารณาเอง ของมันมากมันน้อย ท่านก็ต้องพิจารณาเอง ถ้าเวลาใครอดนอนผ่อนอาหารก็ผ่อนไปเลย สิ่งที่ได้มา ได้มาเพราะศรัทธาของเขา เขาต้องเสียสละของเขา

มีคนไปติเตียน เราอยู่ที่นั่นล่ะ มาพูดกับเราเอง บอกพระบ้านตาดขี้โลภ คนหนึ่ง ๒ ถาด ๓ ถาด

เราบอกเขานะ บอกต่อไปนี้นะ ถ้าโยมมานะ ของโยมทุกพระจะปฏิเสธหมด เพราะเดี๋ยวมันจะใส่ไปในถาด มันเยอะขึ้น แล้วของโยมคนอื่นเรารับหมดเลย เว้นแต่โยมคนเดียวได้ไหม

ขณะที่โยมมาเป็นร้อยเป็นพัน แล้วพระจะมาดูแลอยู่นี่ เที่ยงยังไม่ได้ฉัน แต่ท่านจัดการของท่าน ในเมื่อเขามาทำบุญของเขา มันเป็นสิทธิของเขา เราก็รับของเขา แล้วพระเราก็ต้องกระฉับกระเฉง พระเราต้องมีสติปัญญา ได้แจกกัน เสมอภาคกัน ทุกคนได้เท่ากัน แต่ในเมื่อของมันมากขึ้นมาก็เอาถาดมาตั้งไว้ให้ใส่ถาด ใครใส่บาตรในถาดก็เอาไว้ แล้วเวลาฉันมันจะฉัน ๕ ถาด ๑๐ ถาด มันก็ไม่ใช่ มันก็ฉันเฉพาะในบาตร ที่ถาดนั้นตั้งไว้เพราะให้เขาได้ทำบุญ สิทธิเขาทำเสร็จแล้วมันเป็นสิทธิของพระ พระก็แจกโยมไป พระก็ให้โยมที่มาวัดเป็นผู้ได้ขบฉัน ได้กินอาหารเหมือนกัน ท่านทำของท่านอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าคนมีปัญญานะ

เราบอกว่า พระที่เขามาๆ เพราะว่าเขามีเจตนาของเขา พระเราไม่ให้หวย ไม่มีของดีอะไรให้ หลวงตาท่านบอกว่าถ้ามีก็มีพุทโธ พุทโธ พวกเราให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ แล้วถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันไม่ประทุษร้ายสกุล สกุลของสมณะ สมณะเป็นผู้ที่สงบระงับ สมณะเป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าสมณะเป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ภิกษุได้ภิกขาจาร ฉันอาหารนั้นแล้ว ผู้ที่ได้ฌานเข้าสู่โคนไม้ ผู้ที่ได้ฌานเข้าสู่ฌาน ผู้ที่ใช้ปัญญาๆ นี่สมณะ กิจของสมณะเป็นอย่างนั้น

ประทุษร้ายสกุล สิ่งที่ประทุษร้ายสกุล อโคจรก็ไปไม่ได้ ที่ไหนที่มันเป็นที่เจริญ พระไม่ควรไป ไม่ควรทั้งนั้น ที่อโคจร ไปเป็นอาบัติ ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ขอไม่ได้ บอกเขาไม่ได้ ได้มาเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา ไม่มีสิทธิ์ไปขอเขา จะขอได้แต่ ๗ ชั่วโคตรญาติของตัวเท่านั้น

ฉะนั้น ถ้าไม่ประทุษร้ายสกุล สกุลของสมณะ สกุลของสมณะ สกุลของพระ มันก็น่าเคารพบูชาใช่ไหม ถ้าเคารพบูชา เวลาเขามาเพราะหัวใจของเขา แต่นี่ไม่ได้คิดอย่างนั้น มันทำแปลกเรา มันทำไม่เหมือนเรา เหมือนเราก็ไปสอพลอเขาสิ เจริญพรๆ อยู่อย่างนั้นใช่ไหม แล้วจะให้เขามา เขามาอย่างไร ก็เอ็งยังเอาตัวเองรอดไม่ได้เลย แล้วเอ็งจะไปช่วยใคร นี่พระของเรา เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มันมีอย่างไรใช้อย่างนั้น มันมีอย่างไรใช้อย่างนั้น มันเป็นประโยชน์ไง ถ้ามันเป็นประโยชน์ อันนี้มันอยู่ที่นี่

เพราะว่ามันมาอย่างนี้มาตรวจสอบ จริงๆ เวลาตรวจสอบ เวลาเรื่องทางโลกนะ เรายิ้มแย้มแจ่มใส มาตรวจสอบ มาตรวจสอบได้เลย ธรรมวินัยมันเหนือกฎหมายอยู่แล้ว เราทำให้มันถูกต้องดีงามอยู่แล้ว ถ้าเขาตรวจสอบ เขาตรวจสอบอยู่แล้ว แต่เวลาคนที่เขาไปแจ้ง คนที่เขาไปบอกให้มา เรามาพูดว่าสังคมเขามองอย่างนี้ไง เราบอกว่าเราทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่เวลาเขาทำของเขา เขาสอพลอกัน คือประทุษร้ายสกุล ไม่มีสกุลรุนชาติ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น แล้วก็มั่วสุมกันอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องของสังคมโลก

แต่ถ้ามันจะเป็นพระ เรามีสติมีปัญญา เราจะเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบลง ลงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงครูบาอาจารย์ของเรา ข้อวัตรปฏิบัติเราทำ ที่เราประพฤติปฏิบัติทำมาจากไหน ตั้งแต่หลวงตาท่านก็ทำมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านทำมา หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ปรึกษากัน เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านเป็นคนเบิกทางมา ตรวจสอบมาทั้งนั้นแหละ แม้แต่สมเด็จมหาวีรวงศ์ เวลาท่านว่า พระกรรมฐานทำตัวกันอย่างไร ปกครองได้หรือปกครองไม่ได้ พระกรรมฐานจะแข็งข้อใช่ไหม พระกรรมฐานจะแข็งข้อกิเลส พระกรรมฐานพยายามจะค้นหากิเลสของตัว พระกรรมฐานพยายามจะค้นคว้าในพงหญ้านั้นหาพวกสัตว์พิษในพงหญ้านั้นในหัวใจของเรา ถ้าทำนี้จบสิ้นแล้วคือจบสิ้น

ฉะนั้น วันนี้พูดเฉยๆ นี่พูดถึงธรรมะนะ ฉะนั้น มันมีโอกาสได้พูด เราสงสารเด็กนะ เวลาเด็กๆ ถึงเวลาแล้วปล่อยมันเข้ามา แล้วไม่ต้องมีบัตร ไม่ต้องมีบัตรหรอก อะไรก็ได้ให้เข้ามา แล้วผู้ใหญ่นะ แค่น้ำใจของโยมมา เพราะน้ำใจอันนี้ ใจถึงใจไง น้ำใจอันนี้มา พระก็มีน้ำใจกับโยม แต่พระไม่ลงมาคลุกคลีกับโยม ถ้าคลุกคลีกับโยม มันก็เป็นสวนจตุจักรไง มันก็เป็นสวนลุมฯ เวลาออกกำลังกายกันไง แต่นี้เป็นวัด เป็นที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วมันมีครูบาอาจารย์ทำมาเป็นแบบอย่าง คือมันมีแบบอย่างเปรียบเทียบ ไม่ใช่ว่าเราทำอะไรเกินหน้าเกินตาใครทั้งสิ้น ทำไม่ได้ขี้ตีนหลวงปู่มั่น ทำไม่ได้ขี้เล็บของครูบาอาจารย์ที่ทำ

ฉะนั้น เรื่องของกระแส เรื่องของสังคม อันนั้นเรื่องของเขา นี่เขามาตรวจสอบ แล้วเขามาพูด เราถึงมีโอกาสได้พูด วันนี้ได้พูด อยากพูดที่สุดคือเรื่องเด็กๆ สงสาร ปล่อยมันเข้ามา แต่เวลาจะเทศน์มันต้องออกไป อยู่ไม่ได้ ปล่อยมันเข้ามา แล้วมันเข้ามานะ มันเข้ามา มันได้กำลังใจ ทอฟฟี่ไม่มีค่าหรอก แต่มันได้ทอฟฟี่แล้วมันโดดมันเต้น มันดีใจ เพราะไม่ใช่พ่อใช่แม่แล้วให้มันไง

ส่วนใหญ่เด็กๆ มันจะร้องไห้บีบคั้นเอาจากพ่อจากแม่ แล้วก็ไม่มีบุญคุณอะไรทั้งสิ้น แล้วมันไปเห็นคนแปลกหน้า แล้วได้ให้มัน มันได้ฝึกนิสัย มันได้ฝึกนิสัย มันได้รับของ มันได้ฝึกนิสัยเด็ก ไม่ใช่พ่อใช่แม่เขาก็ให้เราได้ ถ้าธรรมดามันก็มีแต่พ่อแต่แม่เท่านั้นแหละที่ต้องให้มันไง เราฝึกทางอ้อม ฝึกโดยที่ไม่ให้ใครรู้ ฝึกโดยที่ให้มันเป็นจริงไง

ฉะนั้น มันก็เป็นว่าพ่อแม่ที่ว่า “เอ๊! แล้วเราไม่เทียมหน้าเทียมตาเขา”

ไม่จำเป็น เทียมหน้าเทียมตาโดยความรู้สึก โดยหัวใจ โดยเจตนา โดยหัวใจของเรา แต่วัตถุมันเทียมหน้าเทียมตากันไม่ได้ เกิดมาด้วยเวรด้วยกรรม ดูสิ สูงต่ำดำขาวไม่เหมือนกันเลย มันเกิดจากเวรจากกรรม มันจะเลือกมาช่วงชิงกันไม่ได้

แต่หัวใจในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีน้ำใจของเรา น้ำใจเป็นนามธรรมวัดกันได้ มันเป็นความรู้สึกอันเดียวกัน แต่เวลาวิบากกรรม เราเกิดมาแล้วมันไม่เท่ากันหรอก มันไม่เท่ากัน เกิดจากการกระทำของเรา เวรกรรมมันสร้างมา อันนั้นยกให้กับเวรกรรมไป แต่ในปัจจุบันนี้ อยากพูดเรื่องนี้มามาก อยากพูดเรื่องเด็กๆ มันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไง มองก็มองว่าอ่อยเหยื่อ เลี้ยงต้อย คิดไปเรื่อย

กูจะตายอยู่แล้ว กูไปเลี้ยงต้อยที่ไหน กูอยากให้เด็กๆ มันมั่นคง อยากให้มันมีน้ำใจ ให้มันอบอุ่นมันน่ะ อย่าให้มันว้าเหว่ พ่อแม่ก็ไม่ได้กอด ไม่ได้ดูไม่ได้แล แล้วใครจะดูแลมัน เราคิดของเราตรงนี้ไง เราไม่มีลูก เราไม่มีครอบครัว แต่เราเห็นเด็กๆ แล้วเราสงสาร เราอยากให้มันอบอุ่น อยากให้มันมั่นคงเท่านั้นแหละ เอวัง