ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ลมละเอียด

๒๗ ธ.ค. ๒๕๕๘

ลมละเอียด

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง เรียนรู้

กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกได้มาปฏิบัติที่วัด เวลา ๘ วัน ทิ้งทุกอย่างทางโลกไว้ชั่วคราวเพื่อฝึกหัดเดินทางธรรม ให้ใจได้เรียนรู้กิเลสที่ฝังแน่นอยู่ด้วยกันมานาน ลูกขอโอกาสรายงานปฏิบัติ และกราบเรียนขอความเมตตาหลวงพ่อเทศน์สั่งสอนเจ้าค่ะ

ช่วงวันแรกๆ ที่ปฏิบัติ ลูกเห็นว่าตัวเองยังนึกมีความอยาก (ให้ใจเป็นสมาธิทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ควร ก็ทำได้เพียงแค่รู้ตัวว่ามีความอยาก และคอยเตือนตัวเองว่า เราปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติและบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหลังๆ กิเลสก็ค่อยยอมปล่อยให้มีช่วงที่ปฏิบัติ โดยไม่คาดหวังอะไร ความรู้สึกมันต่างกันจริงๆ เจ้าค่ะ

ลูกเดินจงกรมแล้วมีความปลอดโปร่งมาก นั่งสมาธิ เดินแต่ละครั้งเป็นเวลา ๑ หรือ ๒ ชั่วโมง ก็ยังมีความเพลินอยู่ ลูกจึงปฏิบัติโดยอาศัยการเดินจงกรมเป็นหลัก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรจะต้องฝึกนั่งสมาธิไปด้วยหรือเปล่าเจ้าคะ

ในวันพระ ลูกอธิษฐานเนสัชชิกเป็นครั้งแรก ช่วงตี ๒ ตี ๓ มันมีความง่วงมาก จนสติในการภาวนาไม่ค่อยดี คิดได้อย่างเดียวคือประคองตัวให้อยู่ถึงเช้า โดยไม่เอนหลังนอน เหมือนเด็กที่ไม่เป็นมวยขึ้นชกบนเวทีครั้งแรก ขอแค่ให้ผ่านพ้นยกนั้นไป

พอรุ่งเช้ากลับรู้สึกไม่ง่วงเลย (ตกลงความง่วงหายไปไหนมาพิจารณาทีหลัง นี่แค่ความง่วง เรายังเอาตัวแทบไม่รอด แล้วถ้าเป็นนาทีสุดท้ายของชีวิต เราจะตายแล้วมีความเจ็บปวดอยู่ด้วย เราจะมีสติดูจิตของเราได้อย่างไร กราบขออุบายในการฝึกเนสัชชิกด้วยเจ้าค่ะ

ในเวลาที่กวาดวัดก็มีความคิดขึ้นมาว่า ขนาดเรากวาดใบไม้ทุกวันมันก็ยังมีเต็มพื้นที่เลย แล้วกิเลสที่อยู่ในใจเราสะสมมานานแสนนานโดยที่ไม่มีการกวาดเลย มันจะฝังแน่นขนาดไหน น่ากลัวจริงๆ เจ้าค่ะ

ตอบ : นี่เขาถามมา ๔ ข้อ มาอยู่วัด ๘ วัน มาอยู่วัด ๘ วัน ได้ ๔ ข้อ ฉะนั้น พอมาอยู่วัด ๘ วันใช่ไหม ทิ้งทุกอย่างไว้เลย มาอยู่วัด ๘ วัน ถ้ามาอยู่วัด ๘ วัน มันเหมือนเราเป็นฆราวาส 

ดูสิ เวลาเขามาบวชพระ สมัยปัจจุบันนี้เขาบวช ๑๕ วัน บวช ๘ วัน บวช ๑๐ วัน บวช ๑๕ วัน เหมือนกัน คนที่ไม่มีเวลาเขาบวชพระ บวชแค่ ๕ วัน ๑๐ วัน

ไอ้นี่ของเราทิ้งงานมาเลย มาอยู่วัด ๘ วัน เราก็เหมือนกับเราเป็นนักบวชแค่ ๘ วัน ๒๔ ชั่วโมง เห็นไหม เวลามาอยู่วัด ๒๔ ชั่วโมงเลย ไม่ต้องกังวล เพราะเช้าขึ้นมา ศาลานี่มีอาหารให้ทานอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติไปเต็มที่เลย แต่เวลามาปฏิบัติจริงๆ เวลามันเหลือเฟือ เวลามันจนเราบริหารเวลาไม่ถูก

แต่ถ้าเราบริหารเวลาถูกใช่ไหม เวลาเราอยู่บ้าน เวลาเราทำงานอยู่ เราก็ห่วง เราก็กังวลว่าเราเกิดมาไม่มีวาสนา เราเกิดมามีอำนาจวาสนาน้อย เราทำสิ่งใดไม่ได้ แต่มาทำจริงๆ ก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะว่าความคุ้นชิน

จิตเดิม หัวใจดวงเดียวกัน หัวใจดวงนี้ตอนอยู่ทำหน้าที่การงาน มันรับผิดชอบหน้าที่การงาน มันก็ห่วงหาอาทรว่าเราไม่มีเวลาในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเรามีสติมีปัญญา เรามีสติปัญญาหมายถึงว่าเรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็เจียดเวลาของเราได้ เราแบ่งเวลาของเราได้ ๘ วัน พอแบ่งเวลา ๘ วัน เราก็ตั้งใจมาแล้ว ถ้าตั้งใจมาแล้ว ๘ วันนี้เราก็ทำให้เต็มที่เลย

เวลาทำหน้าที่การงานเพราะอะไร เพราะเราทำหน้าที่การงาน งานมันมีเนื้องาน งานมันเสร็จแล้วหรือว่างานไม่เสร็จ ถ้างานไม่เสร็จเราก็ต้องทำให้มันเสร็จ

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สมาธิมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่คนปฏิบัติแล้วมันจะเป็นรูปธรรม รูปธรรมคือมันจับต้องได้ มันชำนาญมาก ถ้างานการมันชัดเจน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เหมือนทำสวนทำไร่เลย 

เวลาเราพูดกับลูกศิษย์ว่าพวกเอ็งเล่นเกมๆ มึงสู้กูไม่ได้หรอกเวลากูวิปัสสนา วิปัสสนากูมันกว่าเกมมึงอีก เล่นเกมมันกดมันเห็นเป็นรูปธรรมเลย จับต้องได้ เห็น เห็นเป็นเกม เป็นการเล่นเพื่อแพ้ชนะกัน เวลาวิปัสสนาระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันขัดแย้งกัน มันต่อสู้กันอยู่ในใจ ถ้ามันมีกำลังนะ ชัดเจนยิ่งกว่าเอ็งเล่นเกมอีก 

แต่ แต่เวลาคนทำจริงมันทำอย่างนั้นไม่ได้ มันทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะอะไร มันเป็นจินตนาการหมด มันเป็นการฝัน มันเป็นการเพ้อฝัน มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริง เพราะจิตมันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริงมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง

นี่พูดถึงว่า ถ้าเราประพฤติปฏิบัติว่า สิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมก็จินตนาการกันเลย เป็นนามธรรมที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ที่ไม่มีใครจับต้องได้

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนามธรรม แต่ปฏิบัติเหมือนรูปธรรม ชัดเจน มันมีมรรคมีผล มีการกระทำ มันถึงพูดได้ถูกต้องว่า สมถกรรมฐาน การทำความสงบของใจ วิปัสสนากรรมฐานคือพิจารณาแยกแยะเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่ถ้าพูดตามความเป็นจริงจะเป็นแบบนั้น แต่ แต่นั่นเป็นครูบา-อาจารย์ที่ท่านปฏิบัติเป็นชิ้นเป็นอันไง

ไอ้อย่างพวกเรา เห็นไหม ลูกไก่ ลูกไก่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ เขาจะย้อมสีอะไรก็ได้ เดี๋ยวนี้เขาขายลูกไก่ ย้อมสีแล้วขาย โอ้โฮขายดีเลย ถ้าลูกไก่ธรรมดาขายไม่ได้ พอย้อมสีหน่อย แหมคนชอบ นี่ก็เหมือนกัน หัวใจเหมือนลูกไก่ มันอ่อนแอไง มันพึ่งตัวเองไม่ได้ไง มันก็เลยทำสิ่งใดไม่ได้เลย

ฉะนั้น เวลามาวัด ๘ วัน พอ ๘ วัน วันแรก เห็นไหม พอวันแรกพิจารณาไปมันมีความอยาก อยากเป็นสมาธิ แต่พอมีสติปัญญาเขาบอกว่าก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความอยาก ความอยากเวลามันดิ้นรน มันอยากเพราะเราทิ้งมาตั้ง ๘ วัน พอทิ้งมา ๘ วัน มันต้องได้อะไรบ้าง พอได้อะไรบ้าง มันก็พยายามแบบว่าต้องการผล พอต้องการผลมาก มันก็บีบคั้นตัวเอง แล้วมันทำอะไรมันก็ทุกข์ยากไปหมด

แต่เวลาเรา ๘ วัน มันก็เวลา ๘ วันเหมือนกัน แต่ถ้าเราวาง ๘ วันนี้ทำให้เต็มที่เลย ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราอยู่กับเหตุนี้ เราอยู่กับเหตุ เห็นไหม ตักน้ำใส่ตุ่ม ตักน้ำใส่ตุ่มมันจะเต็มไม่เต็มช่างหัวมัน ตักน้ำใส่ตุ่มมันก็เต็ม ตักน้ำใส่ตุ่มเมื่อไหร่จะเต็มเสียที อยากจะให้มันเต็มตุ่ม ทั้งเปิดทั้งปิด ทั้งโยกไปโยกมา เดี๋ยวโอ่งแตก

นี่ก็เหมือนกัน ตักน้ำใส่ตุ่ม ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิบัติที่เหตุนั้น ผลจะเป็นอย่างไรเป็นหน้าที่ของผล แล้วรักษาเหตุนั้น ตักน้ำใส่ตุ่มจะเต็มไม่เต็ม น้ำเราตักใส่ตุ่มตลอดไป ถ้ามันล้นก็คือมันล้น ถ้ามันไม่ล้นก็ไม่เป็นไร ตักใส่ไปเรื่อยๆ เราขยันหมั่นเพียรของเรา

นี่พูดถึง เขาถามว่า วันแรกเวลาปฏิบัติแล้วมันมีความอยากอยู่ แต่เวลาปฏิบัติแล้ววันหลังๆ เวลาปล่อย ปล่อยคือว่าเราปฏิบัติโดยไม่คาดหวัง

นี่มันก็รู้ เห็นไหม คาดหวังไม่คาดหวัง แต่ความรู้สึกเรามันคุมยาก ความรู้สึกของเราเองมันคุมยาก ทั้งๆ ที่เราก็รู้เหตุหมดล่ะ เรารู้วิธีการหมดล่ะ ไม่อย่างนั้นเขาเรียน ๙ ประโยค เขาจบมาเขารู้บาลีหมด แต่เวลาจะปฏิบัติจับต้นชนปลายไม่ถูก จับต้นชนปลายไม่ถูก รู้ไปหมด วิธีการเยอะมาก ทางหลากหลายมาก แต่เข้าไม่ถูกสักเส้นทางหนึ่ง จิ่มๆ เข้าไปก็เลิก จิ่มๆ เข้าไปก็เลิก จิ่มๆ เข้าไปทั้งนั้น แต่ไม่มีเส้นทางไหนเดินแล้วถึงที่สุดเลย

นี่ความรู้มากไง ความรู้มากนั่นเป็นปริยัติ เวลาศึกษาแล้ว ปริยัติเขาศึกษาให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้ววางไว้ แล้วทำความจริงของเรา นี่ข้อที่ ๑บอกว่า ถ้าเวลาเขาไม่ปฏิบัติ เขาไม่ได้คาดหวัง มันกลับดีขึ้น” เห็นไหม 

ฉะนั้น ลูกเดินจงกรมปลอดโปร่งมาก ดีมาก แล้วเดินจงกรมมันดีมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรนั่งสมาธิหรือไม่

เดินดีก็เดินไปสิ เดินดีนี่เราพูดบ่อย เวลาเราไปกราบหลวงปู่จันทร์เรียน หลวงปู่จันทร์เรียนพูดกับเรา เรางงเลยนะ เพราะธรรมดาลูกศิษย์ ถ้าเป็นลูกศิษย์ที่ดีจะเคารพครูบาอาจารย์มาก เพราะครูบาอาจารย์เป็นพ่อแม่ครูจารย์ เป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งครูบาอาจารย์ เป็นผู้หาเลี้ยง ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้

เราก็งง งง เวลาท่านอธิบายมาถึงเข้าใจไง ท่านบอกว่า หลวงปู่จันทร์เรียนท่านชอบนั่งสมาธิมาก นั่งทีหนึ่ง ๗ - ๘ ชั่วโมง นั่งทีหนึ่งนี่เป็นสิบๆ ชั่วโมง แต่เดินจงกรมสู้หลวงปู่ชอบไม่ได้ หลวงปู่ชอบท่านไม่ชอบนั่งไง เวลานั่ง นั่งเวลามันสั้นกว่า หลวงปู่จันทร์เรียนท่านถึงบอก หลวงปู่ชอบภาวนาสู้เราไม่ได้ คือนั่งสู้เราไม่ได้ แต่ถ้าเดิน หลวงปู่จันทร์เรียนก็สู้หลวงปู่ชอบไม่ได้ หลวงปู่ชอบถนัดเดินมาก เดินได้เป็นวันๆ อย่างอาจารย์สิงห์ทองเดินได้ ๗ วัน ๗ คืน เดินได้ทั้งวัน เดินได้ทั้งคืน มันอยู่ที่คนถนัดไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราถนัดในทางเดินจงกรม เราก็เดินจงกรมไป ทำไมต้องไปวิตกกังวลว่า “แล้วต้องนั่งสมาธิหรือเปล่า” 

นั่งสมาธิมันเป็นอิริยาบถ ๔ เอาไว้เวลาผ่อนคลาย เวลาหลวงตาท่านอยู่ในป่านะ เวลามันหนาว ท่านบอกว่ากลางวันเดินทั้งวันเลย เพราะกลางคืนมันเดินไม่ได้ กลางคืนมันหนาวมาก ฉะนั้น กลางคืนต้องอยู่ในกลด ฉะนั้น เอาเวลากลางวันเดินทั้งวันเลย เดินให้ร่างกายมันได้ใช้งานเต็มที่เลย แล้วกลางคืนมันเดินไม่ไหว มันได้ไปผ่อนคลายในท่านั่ง

นี่ไง นั่งหรือเดิน มันอยู่ที่ความถนัด แล้วมันอยู่ที่ว่าเราจะบริหารของเราเอง แต่จะเดินหรือจะนั่งจะยืนก็แล้วแต่ ผลของมันคือปฏิบัติแล้วได้ผล ผลของมันคือสมาธิไง เอาที่ผล อย่าไปเอาที่วิธีสิ ถ้าเป็นวิธีก็ต้องแบ่งเลย เดิน ๒ ชั่วโมง นั่งต้อง ๒ ชั่วโมง ไอ้นี่เป็นวิทยาศาสตร์ไง

เราพูดบ่อยว่าวิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์เป็นสูตรสำเร็จ กิเลสมันมีชีวิต กิเลสมันพลิกแพลง กิเลสมันกะล่อน กิเลสมันปลิ้นปล้อน อ้างธรรมะแล้วก็หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังธรรมะนั้น เอาธรรมะมาอ้าง แล้วมันก็หลบซ่อนอยู่ในนั้น นี่ไง มันถึงจะต้องมีสติปัญญาไล่เข้าไปๆ

ฉะนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จไง ไม่ใช่ว่าเดิน ๒ ชั่วโมง ต้องนั่ง ๒ ชั่วโมง เดินกี่ชั่วโมงก็ได้ถ้าเดินไหว เว้นไว้แต่เหนื่อยหรือเพลียเต็มที ไปนั่งสมาธิสัก ๒ - ๓ ชั่วโมง ให้มันผ่อนคลาย แล้วกลับมาเดินต่อ ไม่จำเป็นเดินหรือนั่ง ไม่ใช่ว่านั่งมากหรือเดินมาก อยู่ที่คนถนัด คนถนัดเขานั่งตลอดมาเลย คนเดินตลอดมาเลย ไอ้กิริยานั่งหรือกิริยาเดินเอาไว้เป็นแค่บรรเทาทุกข์ แค่เปลี่ยนอิริยาบถ แค่ให้ร่างกายมันได้พักได้บรรเทาเท่านั้นเอง แต่เราภาวนา เราจะเอาจิต เราภาวนาจะเอาความรู้สึก

ฉะนั้น กิริยาเดินกับกิริยานั่งมันเป็นธาตุ ร่างกายเป็นธาตุ มันไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตคือหัวใจ วิธีเดินหรือวิธีนั่ง นั่งเพื่อค้นคว้าหาใจ นั่งเพื่อความสงบ นั่งเพื่อปัญญาอันนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จ แล้วไม่ต้องกังวล เพราะเขาบอกว่า ลูกเดินจงกรมแล้วดีมาก แต่ไม่แน่ใจว่าต้องนั่งสมาธิหรือเปล่า

แค่นี้ล้มแล้ว นี่เวลากิเลสมันจะล่อจะหลอก ล่อแค่นี้ แค่เอาความสงสัยมายื่นให้ นิวรณธรรมกางกั้นสมาธิ ลังเล แค่ลังเลก็ผิดแล้ว ขับรถไปถึงทางเลี้ยว เอ๊ะซ้ายหรือขวา ขวาหรือซ้าย นู่นเกาะกลางถนนไง เสยเข้าไปเลย จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ตัดสินใจไม่ถูกครับ นู่นเกาะกลางถนนเสยเข้าไป วางซะ จะเลี้ยวซ้ายก็เลี้ยว จะเลี้ยวขวาก็เลี้ยว เลี้ยวไปเลย แล้วทำให้จริงจัง มันเป็นแค่กิริยา นี่พูดถึงข้อที่ ๒.

วันพระ ลูกอธิษฐานเนสัชชิก

เนสัชชิกมันเป็นศีลในศีล เห็นไหม ศีลคือศีล ๒๒๗ ศีล คือ ๒๔,๐๐๐ ข้อ มันเป็นธรรมและวินัย นี่ศีล ถ้าทำผิดแล้วปรับอาบัติ

แต่ถ้าศีลในศีล ธุดงค์ ๑๓ ธุดงควัตร เห็นไหม เนสัชชิกถือไม่นอนเป็นวัตร ถือไม่นอนเป็นวัตร เขาถือไว้ ๑ วันก็ได้ ๗ วันก็ได้ เดือนหนึ่งก็ได้ ถือแล้วตั้งสัจจะอธิษฐาน พอตั้งสัจจะอธิษฐาน สัจจะอธิษฐานคือกำลัง เพราะเราตั้งสัจจะแล้วเราทำได้สมความปรารถนา สมสัจจะนั้น เหมือนกับเราเป็นคนที่พูดได้ทำได้ มันจะทำให้จิตใจเข้มแข็ง

ฉะนั้น ถือเนสัชชิก เวลาคนโลเล คนไม่เอาไหน คนทำสิ่งใดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาถึงให้ถือเนสัชชิก อดนอนผ่อนอาหาร ให้ต่อสู้กับกิเลส มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส

แต่เวลาชำระกิเลสมันต้องศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องชำระกันด้วยสมาธิและปัญญา สมาธิคือความตั้งมั่น คือกำลังของใจ แล้วถ้ามีปัญญา ปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธินั้นฟาดฟัน เป็นดาบเพชรฆ่ากิเลส เนสัชชิกมันเป็นวิธีการ มันเป็นสิ่งที่ขัดเกลา เป็นการส่งเสริมไง ส่งเสริมให้จิตเข้มแข็ง ส่งเสริมให้การกระทำเราเข้มงวดขึ้นมา

ฉะนั้น เวลาเราอ่อนแอ เราทำสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จ ให้ถือศีลในศีล ถือสิ่งที่มันคมกล้า มันมีกำลังดีขึ้น นี่พูดถึงเขาให้อธิบายถึงว่า อุบายในการฝึกเนสัชชิกไง เนสัชชิกมันเปิดโอกาสไง เหมือนกีฬา กีฬาถ้ามันได้ลงแข่งขัน เขาพยายามจะลงแข่งขัน พยายามคัดตัวขึ้นไปเพื่อแข่งขัน 

นี่ก็เหมือนกัน เราพยายามฝึกจิตของเรา ถือเนสัชชิกต่างๆ เพื่อเปิดโอกาส ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เวลามันขัดเกลากิเลส มันส่งเสริมให้จิตใจเข้มแข็ง แล้วถึงจริงๆ แล้วมันก็เป็นมรรค ต้องเป็นมรรคอย่างเดียว

มรรค ๘ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขาดสติก็ไม่ได้ สติอ่อนก็ไม่ได้ สติไม่สมควรก็ไม่ได้ สมาธิอ่อน สมาธิกำลังเข้มแข็งเกินไปก็ไม่ได้ สมาธิแก่กล้าเกินไป มันใส ใสอยู่อย่างนั้น มันไม่เป็นไตรลักษณ์ มันไม่พิจารณา มันพิจารณาแล้วมันไม่ลง มันตกไปอีกฟากส่วนหนึ่ง มันต้องพอดีหมด ทุกอย่างพอดีหมด ถ้าพอดีหมดก็คือมรรคไง มรรค ๘ มรรค ๘ มันพ้นจากมรรค ๘ ไปไม่ได้ 

ฉะนั้น เนสัชชิกเป็นฐานรองรับ เป็นการเปิดโอกาสให้ นี่เขาถึง กรุณาอธิบายอุบายการฝึกเนสัชชิก” ฝึกเนสัชชิกก็ให้เรามีโอกาส ให้เราฝึกหัดของเราขึ้นมา นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๓.

ข้อ ๔ไอ้นี่มันเป็นปัญญา ปัญญาที่ว่าเวลาเรากวาดตาด พิจารณาเห็นใบไม้ เรากวาดทุกวันมันยังตกทุกวันเลย แล้วถ้ากิเลสของเราล่ะ กิเลสของเรา

เวลาใบไม้หลุดจากขั้ว พระที่พิจารณานะ เห็นใบไม้หลุดจากขั้ว พิจารณาตาม เป็นพระอรหันต์ พระสมัยพุทธกาลจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปถามเรื่องปัญหาปฏิบัติ ไปถึงฝนมันตกแรง ก็เลยอยู่ใต้กุฏิ พอน้ำเต็มขึ้นมา น้ำนองขึ้นมา น้ำก็หยดลงมาเป็นฟอง เป็นจุดเป็นต่อม 

นี่ปัญญามันพร้อมไง คือ คนเรามันมีมรรค คือเราฝึกหัดสติ สมาธิ ปัญญามันเข้มแข็ง แต่เรายังไม่มีทางออก ยังอั้นตู้ จะหาคนแนะนำ จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝนมันตก ตกจนน้ำนองเลย แล้วหยดน้ำฝนมันก็ตกต่อไป มันผุดขึ้นเป็นฟอง เป็นฟอง พิจารณาตาม เห็นไหม

เพราะเป็นฟอง มันเหมือนกับหัวเชื้อ ให้เห็นการเป็นไตรลักษณ์ ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแปรสภาพ เพราะมันต้องแปรสภาพอยู่แล้ว แต่มันคิดไม่ถึงไง คิดไม่ถึง จิตมันกำลังเต็มที่เห็นนะ โอ้โฮมันปิ๊ง เป็นพระอรหันต์เลยนะ เพราะมันเป็นการจุดชนวนให้ปัญญามันเกิด พอเกิด ไม่ขึ้นถามพระพุทธเจ้า กลับเลย

นี่เห็นใบไม้ร่วง พระสมัยพุทธกาลเห็นใบไม้ร่วง ใบไม้มันหลุดมา เอ๊ะใบไม้ทำไมมันหลุดจากขั้ว มันหลุดจากขั้วเพราะมันแก่ไง ใบไม้มันแก่ ใบไม้มันหมดอายุมันหลุดจากขั้ว แล้วหลุดจากขั้ว เราจะไปต่อไม่ได้หรอก ใบไม้ที่มันจะเกิด มันเกิดจากใบอ่อน เห็นไหม มันเกิดจากตุ่มจากแกน นี่พิจารณาตาม เป็นพระอรหันต์

แต่กว่าจะเป็นพระอรหันต์มันต้องมีจิตใจของเราก่อนไง มันต้องมีกำลังใจ จิตมันเป็นสมาธิ จิตมันมีปัญญา มันมีมรรคอยู่แล้ว คือมันหมุนเดินอยู่แล้ว ปัญญามันหมุนอยู่แล้ว คือเราคิดอยู่แล้ว เรามีสมาธิอยู่แล้ว แต่มันยังไม่ทะลุ มันยังไม่ถึงที่สุด พอไปยืนพิจารณา ไอ้นั่นมันเป็นเหมือนอาจารย์เลย หยดน้ำเป็นอาจารย์สอนพระเป็นพระอรหันต์ได้ ใบไม้หลุดจากขั้วสอนให้พระเป็นพระอรหันต์ได้

แต่เรานี่ฟันต้นไม้ทิ้งเลย กูกวาดทุกวัน ในวัดมันตกวันหนึ่งเป็นหมื่นๆ ใบ กูกวาดทุกวันเลย กูไม่เห็นได้อะไรเลย เพราะไม่ฉุกคิด เขาบอก ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ” ธรรมชาติเพราะเหตุนี้ ธรรมชาติเพราะเขามีสติมีปัญญา เขาพิจารณาของเขา แต่ของเราไม่ได้พิจารณา ไม่ทำสิ่งใดเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย 

แต่ถ้าอย่างนี้มันได้ประโยชน์ ถ้ามันพิจารณาของมันนะ มันพิจารณาของมัน มันได้ประโยชน์ ฉะนั้นว่า ๘ วันมันก็ได้แล้ว ๘ วันนะ ถ้า ๘ วันทำงานอยู่ที่ทำงาน ชีวิตก็เท่าเดิม ๘ วันที่เราแยกตัวออกมา แล้วเราค้นคว้าของเรา ประสบการณ์ทำมากทำน้อยแค่ไหนจะได้แค่นั้น ถ้าได้แค่นั้นมันก็จะเป็นประโยชน์กับเราแค่นั้น นี่พูดถึงผู้ที่มาปฏิบัติที่วัด จบ

ถาม : เรื่อง ลมหายใจหายไปไหน

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมนั่งสมาธิโดยกำหนดลมหายใจ หายใจเข้าก็ใช้ความคิด หายใจออกก็ใช้ความคิด มันคิดของมันวุ่นวายไปตลอด ผมพยายามตัดความคิด สะกดมันไม่ให้คิด ให้มันอยู่กับลมหายใจ แต่ก็ทำได้ไม่นาน มันก็กลับไปคิดฟุ้งอีก พอรู้ตัวก็ดึงกลับมา ดึงไปดึงมาแบบนี้อยู่ตลอด ผมเลยไปเพิ่มสติให้น้ำหนักกับคำว่า ไม่คิด” มากขึ้น พยายามดึงไปดึงมาจนกระทั่งมันดีขึ้น ที่ว่าดีขึ้นก็ตรงที่คิดเรื่องอื่นน้อยลง แต่มันก็ไปคิดอยู่ที่ความคิดว่าไม่ให้คิดเพิ่มเข้ามาอีกอย่าง

ทำไปเรื่อยๆ อีก จนมันเริ่มนิ่งลง แต่มันเหลือที่จิตไปจับอยู่ที่ความคิดว่าไม่ให้คิดกับลมหายใจสองอย่าง ทำไปเรื่อยๆ พอเริ่มไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรก ความคิดว่าไม่ให้คิดมันก็เบาลงของมันเอง พอความคิดว่าไม่ให้คิดเบาลง ลมหายใจผมก็ชัดขึ้น ชัดขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะเป็นก้อนเลยครับ สวนทางกับความคิดที่คิดว่าไม่ให้คิดมันก็เบาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไป ซึ่งหมดไปตอนไหน ผมก็ไม่รู้

แล้วต่อมาลมหายใจก็เริ่มเปลี่ยนไป จากชัดๆ เป็นก้อนๆ มันก็เริ่มละเอียด เบาบางลงเรื่อยๆ เบาลงไปจนเหมือนผมไม่มีลมหายใจ สักระยะหนึ่งมันก็กลับมาสลับกันกับความรู้ลมหายใจเบาๆ บางๆ แล้วมันก็หายไปอีก จนในที่สุดมันเหมือนผมไม่มีตัวตน มีแต่ความรับรู้ว่านี้คือเรา มีแต่รับรู้เท่านั้น แต่ไม่มีตัวตนว่าเรา แล้วมันก็เหมือนสว่างสุกใส นิ่งอยู่แบบนั้นพักหนึ่ง (ที่ว่าสว่างไม่ใช่แสงสว่างนะครับ แต่สว่างใสๆ บอกไม่ถูก ไม่รู้จะใช้คำไหนอธิบายครับแล้วมันก็กลับมาแตะรับรู้ลมหายใจอีกครั้ง แล้วลมหายใจก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรับรู้กายกลับมา

แต่ผมก็ค่อยลืมตาขึ้น ตื่นเต้นมากครับว่ามันคืออะไร แต่จะเป็นอะไรก็ช่าง ผมชอบมันมากครับ เพราะมันทำให้ผมสบาย เบา แบบที่ผมไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากนั้นผมก็ทำต่อเรื่อยมา แต่มีโอกาสที่มีอยู่อีก ๒ - ๓ ครั้งที่ได้แบบนี้อีก แต่ครั้งหลังไม่ตื่นเต้นกับมันแล้วแต่ก็ชอบมากๆ ครับ แล้วที่สำคัญมันทำให้ผมมั่นใจว่า แม้ไม่มีตัวตนนี้ของผมแล้วก็ตาม ผมก็ยังอยู่ การตายไม่ทำให้ผมหมดไปได้อย่างแน่นอน ผมพอใจ เข้าใจได้ว่าความฟุ้งซ่านวุ่นวายหายไปได้เพราะความควบคุมมันด้วยความคิดว่าไม่ให้คิด

แต่ที่ผมสงสัย อยากกราบถามหลวงพ่อก็คือว่า ลมหายใจที่หาย มันหายไปไหน หายไปได้อย่างไร แล้วทำไมเราถึงเหมือนไม่มีตัวตน แล้วตอนนั้นจริงๆ ผมอยู่ที่ไหน งงมากครับ 

กราบขอบพระคุณ

ตอบ : นี่เวลาเป็นจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ เวลาเขาเป็นสมาธิขึ้นมา เห็นไหม เขาถึงบอกว่าเขาเป็นเอง แล้วทำไมต้องเขียนมาถามเราด้วยล่ะ เขาเป็นเองไง พอเขาเป็นเอง บอกงงมากครับ งงมากครับ

เราจะบอกว่าถ้าเป็นสมาธิเป็นแบบนี้ แต่ที่พูดกัน พูดกันมาอยู่นั่นน่ะ มันไม่เป็นหรอก มันเป็นอารมณ์ว่าง คิดว่าว่างมันก็ว่าง แต่ถ้าเป็นสมาธิจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ เป็นสมาธิจริงๆ คือว่าจนที่ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น แต่มันเป็นสมาธิไง มันเป็นอิสระไง สมาธิเป็นอย่างนี้ ถ้ามีสมาธิเป็นอย่างนี้

นี้มันดีอย่างหนึ่งนะ ที่เขาบอกว่าทำได้อีก ๒ - ๓ หน ถ้าทำได้หนเดียว มันก็ทำได้หนเดียวไง ถ้าทำไม่ได้เลยล่ะ ทำได้หนหนึ่งมันทำได้หนหนึ่ง ทีนี้ถ้าทำได้แล้วมันดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่ง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความเชื่อมั่น

คนเรา เราศึกษาศาสนา เราศึกษาศาสนากัน เราศึกษาเพราะความเชื่อ เราเชื่อจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อครูบาอาจารย์เรานะ เราเชื่อมรรคผล เราเชื่อมรรคผลนิพพานต้องมีจริง นรกสวรรค์มีจริง แต่สงสัยไหม สงสัย ทุกคนสงสัยทั้งนั้น เพราะหลวงตาท่านบอกเลย ท่านจบมหาแล้วท่านจะออกปฏิบัติ มั่นใจมากว่าจะออกปฏิบัติ เวลาปฏิบัติจริงๆ เอ๊ะมรรคผลมันมีจริงหรือเปล่า ต้องมีคนมายืนยันกับเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ศึกษา เราก็ศรัทธา เราก็เชื่อทั้งนั้น แต่มันก็สงสัย มันมีความสงสัยอยู่ก้นบึ้งหัวใจ แต่ถ้าทำสมาธิได้ ถ้าทำสมาธิได้มันยืนยันไง คือเราเข้าไปสัมผัสแล้ว นี่มันเป็นจริงๆ ไง ขอให้ทำสมาธิได้เถอะ เรื่องที่เราศรัทธาที่เราเชื่อ เราเชื่ออยู่แล้ว มันเป็นเอกภาพเลย มันเป็นความจริงจังอยู่ในหัวใจเลย แต่ทีแรกก็เชื่อ เชื่อไง แต่ว่าความจริงเรายังไม่มีไง แต่ถ้าเมื่อไหร่ความจริงเรามีนะ ความเชื่อนั้น โอ้โฮมันยิ่งปักฝัง แล้วมันเอาจริงๆ นี่เชื่อมั่นแล้ว เชื่อมั่นเพราะอะไร เพราะเราทำได้จริงไง 

ฉะนั้น ทำได้จริง เริ่มต้นการปฏิบัติ ปฏิบัติมันยากอย่างนี้ เห็นไหม เวลาคิดมาก คนคิดมาก คนต่างๆ มาก คิดมากอย่างนั้นน่ะ แต่นี้มันก็มีอุบาย มันวาสนาของคนนะ อุบายว่าไม่คิดมากๆ เวลามันคิดมากก็บอกไม่คิดมากๆ ย้อนศรไปเลย ทำไปเรื่อยๆ เห็นไหม ทำไปเรื่อยๆ จนมันชัดขึ้น มันดีขึ้น มันเบาขึ้น มันเบาขึ้น เวลามันทำแล้ว พอเบาๆ บางคนก็เอ้อจิตมันละเอียดแล้ว พุทโธไม่ได้ เดี๋ยวมันหยาบเกินไป เราก็เสร็จ

มันจะดีขึ้นขนาดไหน พุทโธไปเรื่อย พุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ มันพยายามพุทโธเองแล้วมันพุทโธไม่ได้ แต่พวกเรามันสุกก่อนห่าม อยากได้ก่อนไง พุทโธๆๆ พุทโธไม่ได้แล้ว ทั้งๆ ที่มึงยังพุทโธได้ คนเรามันจะเอาอย่างนั้นทั้งนั้น แต่ถ้าเราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ จนเป็นจริงขึ้นไปนะ พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วไม่ต้องไปคิดมาก ไปคิดมากเพราะอะไร เพราะเวลาเราปฏิบัติไปแล้วเรามีเพื่อนไง 

มึงทำอะไรวะ

พุทโธ

โอ๋ยสมถะไม่ดีหรอก ต้องใช้ปัญญาดีกว่า” 

ไอ้คนนั้นก็ตอกย้ำทีหนึ่ง ไอ้คนนี้ก็ตอกย้ำทีหนึ่ง มันก็ฝังใจไปเรื่อยๆ ไอ้เราก็พุทโธอยู่เรื่อยเลย ปัญญาไม่เกิดสักที มันก็เลยจินตนาการเป็นชั้นเป็นตอน ล้มเหลวไปทั้งนั้น

แต่ถ้าเอาจริงต้องเอาจริงแบบนี้ ใครจะว่าอย่างไร ใครจะพูดอย่างไรมันเรื่องของเขา มันเรื่องของเขา เรื่องของเราคือเราจะปฏิบัติ เรื่องของเรา เราจะเอาความจริง นั่นมันเรื่องของเขา ถ้าเรื่องของเขา เขาจะพูดอย่างไรก็เรื่องของเขา สุขทุกข์มันก็ของเขา ทำถูกก็ของเขา ทำผิดก็ของเขา ไอ้เราทำเป็นจริง ถ้าจริง เห็นไหม พอมันชัดๆ ขึ้นมา มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามันดีขึ้นเรื่อยๆ มันก็ชัดเจนของมัน จะเป็นก้อนไม่เป็นก้อน เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ปล่อย ไม่ปล่อย

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างที่ว่าอัปปนาสมาธิสักแต่ว่า ลมหายใจมันหาย เวลากำหนดอานาปานสติมันจะละเอียดขึ้นๆๆ ละเอียดชัดเจนจนเอ๊อะเอ๊อะเอ๊อะละเอียดจนเวลามันจะหายนี่ทุกคนจะตกใจ ทุกคนจะกลัวตายทั้งนั้น ลมหายใจมันจะหาย อึ๊อึ๊อึ๊มันดึงออกหมดเลย แต่ถ้าคนเป็นนะ ลมหายใจหาย เชิญครับ หายเลย หายไป มันกลับไม่หาย เพราะดันเสือกไปรู้ทันมัน

ลมหายใจมันจะหายไม่หาย เรากำหนดไว้ กำหนดพุทโธไว้ หรือกำหนดลมหายใจไว้ แล้วถ้ามันจะหาย มันเบาจนสักแต่ว่า จิตมันอิสระ มันไม่พาดพิง แล้วลมหายใจมันหายไปไหนล่ะ มันไม่หายไปไหนหรอก มันอยู่ปกติของมัน แต่มันละเอียด

เวลาคนเข้าฌานสมาบัตินะ นิโรธสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืน หายใจตอนไหน หายใจตอนไหน ไม่หายใจก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แล้วมันอยู่ได้อย่างไรล่ะ ลมมันมีของมันอยู่ แต่จิตมันไม่พาดพิง จิตมันไม่พาดพิง ถ้าพูดไปแล้วเดี๋ยวต้องเข้าวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวต้องพิสูจน์กันทางการแพทย์ เดี๋ยวมันยุ่งไง

ทีนี้ลมหายใจหายไปไหน นี่ไง ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าอัปปนาสมาธิก็เป็น แต่ถ้าคนพอมันเป็นปั๊บ ลมหายใจจะหาย พุทโธจะหาย เขาให้หายเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่หายจากความอยากให้หาย ไม่ใช่หายเพราะว่าเราทำให้เผลอให้มันหาย ไม่ใช่หายเพราะว่าเรานึกว่าให้หาย กรณีอย่างนี้มันสมมุติ กิเลสมันเป็นสมมุติอยู่แล้ว แล้วเราก็ไปสมมุติซ้อนเข้าไปอีกว่ามันน่าจะหาย หรือหายอย่างนั้น เราทำของเราเอง มันไม่เป็นความจริง

ถ้ามันเป็นความจริง ความจริงมันเป็นเพราะอะไร ความจริงเพราะจิตมันเป็นอิสระ กายกับใจ อายตนะรับรู้หมด แล้วเราดูแลมัน บริกรรมมัน จนมันหดตัวเข้ามา กายก็เป็นกาย จิตก็เป็นจิต จิตเป็นอิสระ กายก็ทำหน้าที่ของมึงไปสิ ลมหายใจไม่ต้องอาศัยจมูกอย่างเดียวก็ได้ ผิวหนังก็เข้าได้ ทางส่วนไหนก็เข้าได้ ลมหายใจ ออกซิเจนเข้าร่างกายได้ทุกส่วนของร่างกาย ถ้าจิตมันไม่พาดพิง ไม่มีสิทธิ์ มันจะเป็นจะตายหรอก มันเป็นความจริงด้วย แต่เป็นความจริงของนักปฏิบัติ ไม่ใช่ความจริงของวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นโลก ถ้าความจริงของโลก โลกเป็นใหญ่ 

อันนี้ธรรมเป็นใหญ่ ข้อเท็จจริงเป็นใหญ่ ข้อเท็จจริงในการกระทำเป็นใหญ่ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าบอกว่าธรรมะมันมีอยู่แล้ว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าแค่มารู้มันเท่านั้นเอง ถ้าทำสัจธรรมขึ้นมาได้ขนาดนี้ มันเป็นจริงของมันตามข้อเท็จจริงที่เป็นสัจธรรมอย่างนั้น แต่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ ยังเข้าไม่ถึง

ฉะนั้น ที่ว่าเวลาเป็นจริง เวลาเขาเข้าฌานสมาบัติล่ะ ๗ วัน ๗ คืน ไม่ต้องกิน ไม่ต้องขี้ ไม่ต้องเยี่ยว ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่ได้หรือ ไอ้นี่จ่อมๆ เข้าไปก็ตื่นเต้นไง ทีนี้ถ้าทำไป ทำอย่างนี้ จนนาทีสุดท้ายเวลาเขาเป็น เขาบอกว่าเขาเป็นของเขา มันไม่มีตัวตน มันไม่มีตัวตน สักแต่ว่า มันไม่มีตัวตน แต่ไม่มีตัวตนก็ไม่มีตัวตนนะ ไม่ใช่ไม่มีตัวตนไม่ใช่ไม่มีกิเลสนะ 

ไม่มีตัวตนคือไม่มีสถานะทางโลก สถานะที่เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สถานะนี้มันปล่อยหมด วัตถุเป็นวัตถุ จิตเป็นจิต เราเป็นเรา แต่เป็นได้แค่ที่มีสติที่ควบคุมได้ เวลามันแผ่ซ่านออกมา มันก็กลับมาเป็นเราอย่างเดิมๆ กลับมาเป็นเรา ไม่ต้องห่วงว่าทรัพย์สมบัติเขาจะแย่งไป มันอยู่ในบัญชีเรานั่นแหละ เดี๋ยวก็ไปเบิกเอา แต่เวลาเราไม่เป็นมันเป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงไม่มีตัวตน เห็นไหม สุดยอด แล้วเวลาเขาพูด เขาบอกว่า มันสุกใส มันนิ่มนะ ความสว่างแบบนี้มันไม่ใช่สว่างแบบที่ทางโลกนะ ไม่ใช่สว่างแบบแสงอาทิตย์แสงฟงแสงไฟ ไม่ใช่นะ มันสว่างเป็นอย่างไรก็บอกไม่ถูก

นี่ผู้รู้จริงเป็นอย่างนี้ มันไม่มีหรอก มันไม่มีอยู่ ทางโลกมันไม่มีอยู่ ทางโลกก็เป็นทางโลกสิ นี่เขาบอกว่าสว่างไสวอย่างนั้น สว่างไสวอย่างนั้นก็เปิดไฟ เปิดไฟมันก็สว่าง แล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันไม่ได้อะไรขึ้นมาไง แต่ถ้าเป็นของเรา เห็นไหม มันจะกลับมาอย่างนี้

ฉะนั้น บอกว่า เวลามันเป็น มันเป็น แล้วพอมันเป็นมันรู้ได้ ถ้าคนฝึกหัดรู้ได้นะ แล้วมันก็มาแตะรับรู้ลมหายใจ เวลามันเข้าไปมันเป็นอิสระไง เวลามันมาแตะ เราก็รู้ได้ เพราะลมหายใจ เราสักแต่ว่า สักแต่ว่าอยู่กับเรา เวลามันออกมาแตะ มันแผ่ออกมา ออกมาแตะ ความรู้สึกมันออกมา มันเหมือนกับตัวชานี่แหละ มันเหมือนกับสักแต่ว่า มันปล่อยหมด เวลาออกมามันเริ่มรับรู้ รับรู้ เวลาเข้าอัปปนาสมาธินะ สักแต่ว่าเลย

เวลาจะออกจากสมาธิไง ออกจากสมาธิเหมือนออกไปรับรู้เส้นประสาท ออกไปรับรู้ความรับรู้ของร่างกาย พอออกไปรับรู้ของร่างกาย เรามีหัวใจใช่ไหม ก็ขยับมือ ความขยับมือขยับเท้านี่ใครสั่ง สมอง ถ้าทางวิทยาศาสตร์ก็บอกเลยไฟฟ้า สมองมันสั่ง สมองข้างซ้าย ข้างขวามันสั่ง เขาว่า

แต่เวลาคนมันเป็น คนเป็นจะเป็นอย่างนี้ นี่เขาพูดเอง แต่แล้วมันก็กลับมาแตะลมหายใจ” ก็เอ็งถามกูเองว่าลมหายใจหายไปไหน เวลาเอ็งออกมาแตะ เอ็งทำไมไม่บอกว่ามันออกมารับรู้ล่ะ เสร็จแล้วก็มันกลับมาแตะรับรู้ลมหายใจ แล้วลมหายใจก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น” นี่ลมหยาบ ลมละเอียด ละเอียดสุด เราหายใจ แค่ลมหายใจ หายใจหยาบๆ หายใจโดยปุถุชน มนุษย์ก็หายใจอย่างนี้ แล้วเวลาจิตที่มันละเอียดเข้าไป ธาตุขันธ์ที่ละเอียด โอ๋ยลมหายใจละเอียด ละเอียดสุด ละเอียดจนรับรู้ไม่ได้เลย จิตเป็นอิสระเลย

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์สอนเรื่องคำบริกรรม เรื่องสัจธรรม ท่านสอนให้บริกรรม ท่านสอนว่าหยาบละเอียด ท่านสอนให้เราฝึกหัด แล้วเวลามันเป็น มันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม มันมีของมันอยู่ แล้วใครฝึกก็ได้ ใครฝึกก็ได้ ฝึกถึงจุดที่มันเป็นได้ ทุกคนเป็นได้ แต่เราฝึกไม่ถึงจุดนั้น เราทำของเราไม่ถึงจุดที่ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ของมันมีอยู่ สัจจะมันเป็นอย่างนั้น แต่เราฝึกไม่ได้ เราฝึกไม่ถึง เราก็ฝึกอยู่ แต่เราฝึกไม่ถึง

ถ้าฝึกถึงก็เป็นอย่างนี้ไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนา-สมาธิ มีอยู่ของมันอยู่แล้ว แต่เราทำไม่ถึง เราทำไม่ได้ ถ้าเราทำถึง ทำได้ นี่ไง ขั้นของสมาธิ แล้วสมาธิมันก็เป็นสมาธิ เห็นไหมหลังจากนั้นผมทำต่อเรื่อยมา” นี่เขาทำมาเรื่อย เห็นไหม แล้วก็ผมมั่นใจว่า แม้ไม่มีตัวตนของผมก็ตาม แต่ผมก็ยังอยู่ การตายไม่ทำให้ผมหมดไปได้แน่นอน

เห็นไหม การตายไป การตายและการอยู่มันไม่สามารถทำให้จิตนั้นให้หวั่นไหวไปได้ ให้มันสะอาดบริสุทธิ์หรือติดลบไปไม่ได้ การเกิดและการตายก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ใจของเราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง นี่เป็นแค่สมาธิมันยังรู้ได้อย่างนี้เลย แค่สมาธิมันรับรู้ได้แล้ว มันชัดเจนแล้ว ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันแน่ใจแล้ว มันแน่ใจเรื่องสัจจะ เรื่องธรรม เรื่องมรรคเรื่องผลเลย แต่ยังทำได้ไม่ได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะแน่ใจไง แน่ใจว่ามีอยู่ไง แน่ใจว่าดวงจันทร์มีอยู่ แต่กูต้องประกอบยานอวกาศขึ้นมาให้ได้ ดวงจันทร์มีอยู่เห็นๆ เลย แต่กูยังไม่มีจรวดเลย กูต้องไปสร้างจรวดก่อน นี่ก็เหมือนกัน ผมแน่ใจเลย ผมแน่ใจแม้ตัวตนนี้ของผมแล้วก็ตาม แต่ผมก็ยังอยู่ การตายไม่ทำให้ผมหมดไปอย่างแน่นอน” นี่ความจริงมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น 

ทีนี้ย้อนกลับมาที่ความสงสัย แต่ผมก็สงสัยอยากถามหลวงพ่อว่า ลมหายใจที่หายมันหายไปไหน หายไปได้อย่างไร

มันไม่หายไปไหน ลมน่ะ ดูสิ ลม อากาศมันอยู่ของมันอย่างนั้นน่ะ แต่เรา เราเกิดมาแล้วเราต้องการออกซิเจนต่างหาก ออกซิเจน เราเป็นคนหายใจเข้าจมูก ออกซิเจนมันก็เข้าไปในปอด มันก็เข้าไปทำประโยชน์ของมัน แล้วมันก็ขับถ่าย มันก็หายใจเข้าหายใจออก มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นน่ะ ใครใช้ประโยชน์อะไรมัน

นี่ก็เหมือนกัน ลมหายใจมันหายไปไหน” มันไม่ได้หายไปไหน แต่เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะการศึกษาของเรา เราศึกษาว่าคนไม่หายใจต้องตาย เราก็เลยวิตกกังวลว่าต้องหายใจชัดเจน คือเรากลัวเราผิดพลาด เรากลัวเราจะไม่มีความรู้จะไปอธิบายให้ใครฟังว่าลมหายใจมันหายไปได้อย่างไร ก็อยากจะรู้ว่ามันหายอย่างไร ก็เลยไม่รู้ไง แล้วมันหายไปไหนล่ะ

มันมีอยู่ แต่สติปัญญาเรายังไม่รอบคอบรู้เท่า ฝึกหัดของเราไป ถ้าฝึกหัดของเราไปจนมีความชำนาญ เดี๋ยวโยมจะเป็นอาจารย์ใหญ่แล้วสอนคนได้ จะอธิบายได้หมดเลยว่าลมหายใจมันมีอย่างนี้นะ แล้วมันก็หายอย่างนี้นะ แล้วโยมก็รู้อยู่คนเดียว อธิบายอย่างใด ไอ้คนฟังบอกว่า เฮ้ยมันบ้าหรือเปล่าวะ ทั้งๆ คนอธิบายถูกนะ แต่มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตนอยู่คนเดียว ไอ้ลูกศิษย์นี่ฟังไม่รู้เรื่องหรอก แล้วไอ้คนอธิบาย ไอ้คนฟังบอกว่า เฮ้ยอาจารย์กูบ้าหรือเปล่าวะ ถ้ามันรู้จริง

นี่ไง มันหายไปไหน หายไปอย่างไร” ไม่หายไปไหน มันหายเพราะจิตมันปล่อย จิตเป็นอิสระ กายกับจิตแยกจากกัน มันเป็นอิสระของมันชั่วคราว เดี๋ยวก็ออกมา แล้วทำไมมันถึงเหมือนไม่มีตัวตน แล้วตอนนั้นจริงๆ ผมอยู่ที่ไหน

มันไม่มีตัวตน เห็นไหม ตัวตนของเรามันเป็นอัตตา ดูสิ ไอ้พวกข้าราชการใหญ่ๆ หัวโขนมันใบใหญ่ๆ มันไปไหน คนไม่ต้อนรับมันโกรธมากเลย มันมีอัตตา เวลามันเกษียณแล้วนะ เดินไปไหนไม่มีใครมองมันเลย มันทำอะไรไม่ได้

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน นี่ไง แล้วตัวตนมันหายไปไหนล่ะ ตัวตนก็คือความที่เราเคยชินไง เราเคยชินในตัวตนของเราไง ตอนเป็นสมาธิ ตัวตนมันสงบลง เราพูดบ่อยมากเวลาทำสมาธิ สมาธิคือกิเลสสงบตัวลง กิเลสสงบตัวลงถึงเป็นสมาธิได้ ถ้ายังมีกิเลสหนาแน่นอยู่เป็นสมาธิไม่ได้ เพราะอีโก้ เพราะตัวตนมันสำคัญ พอตัวตนมันสำคัญ ตัวตนนี้มันขวาง มันเข้าสงบไม่ได้

แต่พุทโธๆๆ เกลื่อนจนทุกอย่างไม่มี ทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติหมด มันก็สงบตัวลง สมาธิคือกิเลสสงบตัวลงชั่วคราว พอกิเลสมันสงบตัวลง ก็คือตัวตนเรานี่ไง ก็ตัวตนหายไปไหน ก็มันสงบลงไง ก็มันสงบลง พอสงบลง แล้วมันไปอยู่ไหนล่ะ ผมงงมากเลย

ถ้าอยากรู้ก็เป็นปุถุชน ถ้าไม่เป็นสมาธิรู้ชัดเจน อยู่กับปัจจุบันรู้ชัดเจนเลย เวลาจะเข้าสมาธินะ แล้วมันหายไปไหนล่ะ ก็มันหายไปอย่างนั้น มันถึงเข้าสมาธิได้ไง เพราะมันหายไปอย่างนั้นน่ะ แต่อยากรู้ตลอดแล้วไม่ได้อะไรเลย ขณะที่มันเป็นอย่างนั้น นี่เพราะมันสงบตัวลง 

เราจะบอกว่าละเอียด เวลาว่าละเอียดก็ยังงงนะ มันละเอียดอย่างไรหลวงพ่อ” เออสงสัยต้องเอาอากาศมาพิสูจน์กันแล้วเว้ย มันละเอียดอย่างไรล่ะ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าชำนาญแล้วมันจะรู้ ถ้าหยาบละเอียดนะ ฉะนั้น ถ้าได้สมาธิเป็นอย่างนี้

วันนี้ที่พูด พูดเพราะอะไร เพราะเขาเขียนมามันละเอียด เขาเขียนมา แสดงว่าคนนี้ชำนาญ ทำมาเยอะ พอทำมาเยอะ พอมันเป็นสิ่งที่มันเป็นจริง เขาถึงได้เขียนได้ละเอียด ไม่อย่างนั้นถ้าเป็นธรรมดาเขียนไม่ได้อย่างนี้ด้วยนะ คนที่ภาวนาเขียนไม่ได้อย่างนี้หรอกถ้าคนหัดภาวนาใหม่ๆ ไอ้นี่แสดงว่าคงไปโดนหลอกมาเยอะ คงโดนพระหลอกมาเยอะ ปัญญาก็เลยเยอะ เวลามาพิสูจน์ได้ก็เลยเขียนมาได้ละเอียด อันนี้ว่าลมหายใจละเอียดเท่านั้น

ถาม : เรื่อง กราบขอบพระคุณ

เขากราบขอบพระคุณ กราบขอบพระคุณที่ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อ แล้วกลับไปฟื้นฟูความเป็นอยู่ได้ ไม่อย่างนั้นเขาหาทางออกไม่ได้ไง ฟังเทศน์หลวงพ่อแล้วดีขึ้น ไม่อย่างนั้นเขาบอกว่าตนเองเหมือนกับเป็นคนบ้า เหมือนผีเข้าผีออก จิตใจอารมณ์มันปั่นป่วนไปหมดอย่างบอกไม่ถูกเลยค่ะ ตอนนี้ดีขึ้นแล้วค่ะ ลูกลองตั้งสติใหม่ ลูกก็จะทำตามที่ได้ฟัง จะหาทางเดินของลูกให้เจอ

ตอบ : เขาเขียนถามปัญหามาว่าทำอะไรไม่ได้เลย กลัวผิดกลัวถูกไปทั้งหมด แล้วเราพูดไปว่าถ้าเป็นฆราวาส เป็นฆราวาสเราต้องมีอาชีพ เราต้องทำสิ่งใด เราทำสิ่งใดด้วยปัญญา ด้วยที่ว่าเราไม่ผิดศีล เราไม่ได้ทำให้มันผิดศีล แต่กิเลสมันเข้ามาสอดแทรกเอง แล้วเราบอกว่าเป็นฆราวาส เราจะทำสิ่งใดเราก็ต้องหาความชอบธรรมให้ถูกต้องชอบธรรม แล้วทำตามนั้น แล้วพยายามฝึกหัดของเราไป พอมันโตขึ้นมันจะดีขึ้น ฉะนั้น ดีขึ้น เขาบอกว่าขอบคุณค่ะ เอวัง