ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เสียงหายไป

๒ ม.ค. ๒๕๕๙

เสียงหายไป

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “ความปีติ”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่กำลังพยายามให้ตนเองมีสติอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงพ่อ จนวันหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกตนเองว่า ทำไมเรามีสติอยู่กับตัวเองแบบเดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้ จึงตั้งใจว่า วันนี้ให้รู้กันว่าจะเป็นอย่างไร จึงนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ระหว่างที่นั่งมีความรู้สึกว่าเสียงรอบข้างทำให้ไม่มีสมาธิ จึงสะกดจิตให้นั่งต่อไปว่า ดูสิ ถ้าทำไม่ได้ จะตายก็ให้รู้กัน

สักพักรู้สึกได้ว่าเสียงดังกล่าวหายไป ทำไมเราว่างเปล่าแบบนี้ ไม่รู้สึกปวดหลังเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นแบบว่างเปล่า แต่ปีติสุขอยู่ภายใน แต่เป็นความรู้สึกแค่ชั่วครู่ 

แต่เมื่อถอนสมาธิออกดูเวลา ข้าพเจ้าใช้เวลานั่งสมาธิไปหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และอาการก่อนนั่งสมาธิที่ง่วงและหงุดหงิด กลับหายเป็นปลิดทิ้ง ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า นี่คือสมาธิหรืออะไรเจ้าคะ ขอหลวงพ่อชี้ทางสว่างให้ด้วยเจ้าค่ะ แล้วควรทำอย่างไรต่อไป

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามอย่างนี้มันเป็นคำถาม เวลาเราตอบคำถาม เราชอบคำถามแบบนี้ คำถามแบบนี้เป็นคำถามที่ใสซื่อ ใสซื่อก็เหมือนเด็กไร้เดียงสา รู้อย่างไรก็พูดอย่างนั้น ถ้ารู้อย่างไรพูดอย่างนั้นมันตอบง่าย ตอบสบาย แล้วมันเป็นความจริง คือว่าถ้าถามอย่างนี้ถามแบบใสซื่อ แบบไร้เดียงสา คือรู้อย่างไรก็ถามอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติ เป็นการกระทำที่แบบว่ามันไม่มีลับลมคมใน อย่างนี้ดี แล้วดีเพราะมันเป็นความจริงไง

ฉะนั้น เวลาเราจะพูดความจริง ส่วนใหญ่แล้วคนไม่ค่อยกล้าพูด เพราะมันกลัวขายตัวเองไง ว่า ตัวเอง แหมเป็นนักปราชญ์ เป็นราชกวี จะพูดอะไรต้องมี ไอ้นั่นแต่งทั้งนั้น แต่ถ้าเอาจริงๆ ถามแบบนี้ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะนั่ง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงรอบข้าง รอบข้างแล้วมันรำคาญมาก” 

คำว่า รำคาญมาก” ฉะนั้น เวลาใครมาภาวนาที่วัด เห็นเราปากจัด เราเอ็ดคนนู้น เอ็ดคนนี้ เพราะเหตุนี้ เวลาเราทำอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ เราไม่ได้ทำเพื่อเรา เราทำเพื่อคนที่ปฏิบัติ เราทำเพื่อสังคมไง ฉะนั้น เวลาเราปากเปียกปากแฉะกับผู้ที่มาอยู่วัด ผู้ที่มาภาวนา ก็เพราะเหตุนี้

เขาบอกเลยนะ เวลาเขามานั่ง นั่งวิปัสสนา ระหว่างที่นั่งรู้สึกว่ามีเสียงรอบข้าง ทำให้ไม่มีสมาธิเลย รำคาญมาก เสร็จแล้วก็สะกดจิต เขาใช้คำว่า สะกดจิต” นะ เขาสะกดจิตให้นั่งต่อไป ดูสิว่ามันจะเป็นจะตายให้มันรู้กันไป

ตรงนี้สำคัญ ตรงที่มันจะเป็นจะตาย คือว่าเราไม่รับรู้ไง เสียงมันก็คือเสียง เสียงก็เป็นเสียง สิ่งที่เราพอใจ ไม่พอใจ มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น เพียงแต่ว่าความวิตกกังวลของเรา ความวิตกกังวลของเรามันไปกว้านมาไง เสียงมันจะเป็นเสียงดีหรือเสียงไม่ดีก็แล้วแต่ เราไปกว้านมา พอกว้านมามันเอามาทำลายตัวเองไง

แต่ถ้ามันมีความเพียร มีความตั้งใจ มีความตั้งใจทำของเรา เราตั้งใจของเรา โดยที่ว่าไม่มีสิ่งใดที่เข้ามาเป็นเล่ห์กล เราทำแบบใสซื่อ ทำแบบซื่อตรง กดไว้เลย สู้กับมันเลย 

แล้วเวลามันลง เห็นไหม เวลามันลง สักพักเสียงดังกล่าวหายไป ทำไมมันว่างเปล่าแบบนี้ ไม่มีความรู้สึกปวดหลังเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นแบบว่างเปล่า แต่ปีติสุขอยู่ภายใน แล้วในความรู้สึกก็แค่ชั่วครู่ แต่เวลาออกจากสมาธิไปแล้วชั่วโมงครึ่ง

ชั่วโมงครึ่งนะ ฉะนั้น สิ่งที่ชั่วโมงครึ่ง ทีนี้ถ้ามันเป็นจริง เห็นไหม มันเป็นจริงเราได้พัก เราก็ได้สัมผัส มันว่างเปล่า มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยพบไม่เคยเห็นเลย แต่มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือว่าถ้ามันมีการสะดุ้ง มีอะไร มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะเราทำความจริงไง

เวลาเสียงมันหายไป ถ้าเสียงมันหายไป เสียงมันหายไปเพราะว่าจิตมันสงบ มันปล่อยวาง มันไม่รับรู้ ถ้าไม่รับรู้นะ เสียง เห็นไหม ดูสิ ทางโลก เสียง สิ่งที่ว่าลิขสิทธิ์ทางเสียงเพลง เขาไปร้องของเขา ออกงานต้องจ่ายตังค์เขาเลย แต่ไอ้นี่เสียงมันมา มันมารบกวนเรา เสียงที่มารบกวนเรา เสียงที่รบกวน เสียงที่เราไม่พอใจ เสียงที่กระตุ้นให้เราไม่พอใจ

ฉะนั้น เวลาที่เราเทศน์บ่อยครั้งมาก รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เวลาถ้ามันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันเอามาเชิดชู เอามายกย่อง เอามาสรรเสริญ เอามาให้เราล้มลุกคลุกคลานไง แต่ถ้ามันเป็นบ่วงของมาร โอ้โฮมันรัดคอ มันอึดอัดขัดข้อง มันไม่พอใจ มันโต้แย้ง มันร้อยแปดเลย มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

แล้วเวลาเราพิจารณาของเราไปเรื่อย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราไปเรื่อย ถ้ามันเห็นแจ้งขึ้นมานะ รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม มันขาด ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง มันขาด มันขาดด้วยปัญญาก็ได้ ถ้าขาดด้วยปัญญา อย่างที่เราพูด เสียงก็เป็นว่าเสียง เราเองต่างหากหาเรื่อง เราเองต่างหากไปกว้านมันมาเอง เราเองต่างหากไม่มีสติปัญญา เราเองต่างหาก เสียงมันก็เป็นเสียง ลองเสียงที่เขาชื่นชมเราสิ เราพอใจ 

ถ้าปัญญามันไล่เข้าไป มันไล่เข้าไป แล้วมันให้เห็นว่าความโง่ของเรา ความบกพร่องของเรา ถ้าเราฉลาดแล้วนะ พอเราฉลาดเรารักษาตัวเรา เห็นไหม เสียงก็สักแต่ว่าเสียง เออมันไม่ไปแล้ว เสียงก็สักแต่ว่าเสียง

อันนี้เป็นว่า ถ้ารูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นสักแต่ว่า แต่คำว่า เป็นสักแต่ว่า” เราต้องมีสติปัญญาควบคุมดูแลหัวใจของเรานะ เพราะใจของเราเป็นธรรมชาติรู้ เป็นธรรมชาติรู้มันรู้ไปหมด รู้โดยอวิชชา ก็รู้โดยไม่มีสติสัมปชัญญะ รู้โดยไม่มีปัญญา 

ถ้ามันมีวิชชามันก็รู้ รู้แต่มีวิชชา รู้แล้วมันแยกแยะของมันได้ แต่ถ้ามันพุทโธๆ พุทโธจนมันสักแต่ว่ารู้ มันเป็นตัวมันเอง เห็นไหม มันไม่ออกรู้ เออมันไม่ออกรู้ มันเป็นขั้นตอน

ทำ ฝึกหัดทำไป แล้วทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์ ทำเป็นประโยชน์ว่าจิตของเรามันมีคุณค่า จิตของเรามีคุณค่า แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีคุณค่าในตัวมันเอง แต่เราปล่อยไง เราปล่อยให้เป็นสัญชาตญาณ เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มีความรู้สึกนึกคิด มีสติมีปัญญา เราก็ภูมิใจในความเป็นมนุษย์ไง 

แต่เวลามนุษย์มันปล่อยสถานะปัจจุบันนี่ สถานะของความเป็นมนุษย์ให้มันเป็นอิสระ จิตเป็นอิสระ จิตกับกาย เรามีกายกับใจๆ ใจถ้ามันปล่อยเข้ามามันเป็นอิสระของมัน แค่มันเป็นอิสระนะ จิตสงบ มหัศจรรย์แล้ว 

คำถามเป็นคำถามที่ใสซื่อ เพราะว่าเขาถามมาด้วยใสๆ ไง ใสๆ เป็นความจริง จะบอกว่า มันสงบไปชั่วครู่ แต่ถอนจากสมาธิไปแล้วชั่วโมงครึ่ง” ชั่วครู่ ชั่วครู่เพราะอะไร เพราะมันสุขไง ลองไม่ได้สมาธิสิ ๕ นาทีเป็น ๒ ปี แต่เวลาเป็นสมาธิ สงบไปแล้วชั่วครู่ชั่วโมงกว่า 

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นคุณสมบัติของเรา เราทำแล้วเราก็ได้ของเรา 

ฉะนั้น เขาถามต่อ แล้วอาการก่อนนั่งสมาธิที่ง่วง หงุดหงิด กลับหายเป็นปลิดทิ้ง ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า นี่คือสมาธิหรือไม่เจ้าคะ ขอให้หลวงพ่อชี้ทางด้วย

ถ้ามันง่วง หงุดหงิด สิ่งนั้นแหละนิวรณ์ นิวรณธรรมนะ ความลังเลสงสัย ความง่วงเหงาหาวนอน ความวิตกกังวล นิวรณ-ธรรมๆ นิวรณธรรมจะไปปล่อยมันอย่างไร นิวรณธรรมจะปล่อยที่นิวรณ์ สงสัยจะปล่อยที่ไม่สงสัย สงสัยแล้วคิดต่อก็สงสัย สงสัยเป็นซ้อนสงสัยต่อก็สงสัย แล้วสงสัยจะแก้สงสัยตรงไหนล่ะ 

สงสัยก็ต้องปล่อยวาง สงสัยต้องพุทโธ สงสัยแล้วต้องมาตั้งสติของเรา ความสงสัยมันวางไปเอง พอวางไปเอง บอกว่ามันง่วง หายหงุดหงิดเป็นปลิดทิ้งไปเลย

มันปลิดทิ้งเพราะว่ามันเป็นจริง แต่ที่เขาว่าว่างๆ ว่างๆ มันไม่จริง มันไม่จริงเพราะอะไร เพราะ ๑มันเสวยว่าง ๒มันยังแบบว่ามีสัญชาตญาณ มีความสัมพันธ์ นี่ความสงสัย 

แต่ถ้ามันเหมือนปลิดทิ้งเลย เหมือนปลิดทิ้งเพราะมันวางหมด มันวางหมดมันถึงเป็นสมาธิได้ ถ้ามีสมาธิได้มันมีคุณสมบัติอย่างนี้ ถ้ามันเป็นสมาธิไม่ได้ มันไม่มีคุณสมบัติอย่างนี้ คุณสมบัตินี้เพราะอะไร เพราะมันมีสติไง มีสติรู้ตัวตลอดเวลา

คำว่า ชั่วครู่” สงบชั่วครู่ มันสมบูรณ์ไหม เวลาออกมาดูเวลาชั่วโมงครึ่ง สติสมบูรณ์ไหม ถ้าใครบอกเป็นสมาธิ สมาธิใครเป็นเจ้าของ ใครเป็นเจ้าของสมาธิ 

เวลาบอกสมาธิ สมาธิเป็นสาธารณะ ในวิชาเขียนว่าสมาธิ ตามตำราเขียนว่าสมาธิ สมาธิคือชื่อของมัน แต่เวลามันเป็นกลางหัวใจ สมาธิเป็นอย่างไร 

สมาธิ เห็นไหม มันมหัศจรรย์ มันสุข มันมีความสุข โอ้โฮมันว่างเปล่า มีความสุขจากภายใน สุขอย่างนี้เงินซื้อไม่ได้ สุขอย่างนี้หาซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่มี ไปหาซื้อที่ไหนก็ไม่มี ไปหาซื้อที่สำนักปฏิบัติก็ไม่มี 

สำนักปฏิบัติมันเป็นอุปาทานหมู่ พอไปแล้ว แหมคนมันเยอะ นั่งกันเรียบร้อย สังคม โอ้ยร่มเย็น อุปาทานหมู่ แต่ถ้ามันเป็น มันเป็นส่วนตน ปัจจัตตัง เป็นเฉพาะใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นเป็นอย่างนี้ ถูกต้อง

ฉะนั้น ว่าถูกต้อง เห็นไหม ที่ว่าเสียงหายไป มันเป็นปีติ เสียงที่มันเกิดขึ้น เวลาเกิดขึ้น พออ่านปัญหานี้แล้วมันก็คิด เราก็พยายามอยู่ของเรา พยายามอยู่ของเราว่าเสียงรอบข้าง เสียงที่กระทบกระเทือนกัน เราพยายามมา ใครมาใหม่จะบอกว่า ให้ดูตามเขา ให้ดูตามเขาคือให้เก็บกิริยา อย่าทำกระทบกระเทือนคนอื่น การกระทบกระเทือนคนอื่น ทุกคนต้องการความสงัด ต้องการความสงบ ความวิเวก แล้วเราไปกระเทือนเขา

ไอ้นี่ เห็นไหม มันเป็นบาปเป็นกรรม เป็นบาปเป็นกรรมเพราะคนเขาตั้งใจเจตนาดี ทุกคนพยายามรักษาของเรา อย่าคิดว่าเรามีศักดิ์ศรี เรามีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่ทำแล้วไปกระทบกระเทือนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีเวรมีกรรมนะ มันมีเวรมีกรรมตรงไหนรู้ไหม มันมีเวรมีกรรมวันที่เอ็งปฏิบัติบ้าง วันที่เอ็งนั่งดีๆ นั่นน่ะ เสียงมันมาทันที มันมีเวรมีกรรมนะ ถ้ามีเวรมีกรรม เราไปทำอะไรไว้ เดี๋ยวเถอะเดี๋ยวเอ็งก็เจอ

แต่นี้เราพูดไว้ก่อนว่าอย่าไปทำเขา ทุกคนต้องการหาสิ่งนั้น แล้วเราเป็นผู้ควบคุมดูแล เราปากเปียกปากแฉะ เพราะเราเองเราก็ปรารถนาความสงบระงับ เราปรารถนาความดี แต่ไอ้คนที่ทำ คนที่ทำ เห็นไหม มนุษย์สองคนอยู่ด้วยกันมันมีการเมือง ถ้ามีเขา มีเขากับเรา เราก็ถือสิทธิ์ว่าเราทำได้ เราทำได้ แต่เราไม่คิดถึงน้ำใจเขาเลยหรือ น้ำใจของเขาก็เหมือนน้ำใจเรา เราก็ต้องการความสงบ ความสงัด เราก็ต้องการความวิเวก แล้วเราไปทำกระเทือนเขา สักวันหนึ่งกรรมนั้นจะย้อนกลับมา ถ้ามันไม่มีสิ่งใด ก็เสียงลมเสียงมันมาตลอด 

ฉะนั้น เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราไม่จองเวรจองกรรมใคร ให้อภัยเขานี่สุดยอดเลย ใครจะทำอะไรช่างหัวเขา เราปากเปียกปากแฉะนะ แล้วเวลาบอกว่า เหมือนกับว่าเราเที่ยวระรานคนอื่น ไม่ ไอ้ปากเปียกปากแฉะเพราะว่าเรารักษาสังคม แต่จิตใจของเรานะ จริงๆ ใครจะทำอะไรนะ เราไม่เคยไปยุ่งกับใครเลย แต่เวลาพูดโอ้โฮพูดชัดเจน พูดชัดเจนเพราะไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่ตอไม้ มีชีวิต มีปัญญา รู้ รู้ถูกรู้ผิด รู้ชั่ว รู้ดี ใครทำดีทำชั่วกับเรา เรารู้ แต่ไม่ตอบโต้ แต่พูดนะ 

เวลาพูด พูดเพื่อเหตุเพื่อผล ยกขึ้นมาให้เห็นเหตุผล ยกตัวอย่าง เวลามีดี มีชั่ว มันดีเพราะอะไร มันชั่วเพราะอะไร เราพูดอย่างนี้ แต่สังเกตได้ไหมว่าวัดไม่เคยออกไปเลย ไม่เคยไปยุ่งกับใคร ไม่เคยยุ่งกับใคร เพราะอะไร เพราะไม่จองเวรจองกรรมใคร ไม่จองเวร ไม่จองเวรหรอก แต่อย่าถามนะ พูดชัดมาก ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ ผิดเป็นอย่างนี้ ถูกเป็นอย่างนี้ ชัดเจน แต่ไม่เคยไปจองเวรจองกรรมใคร เคยไหม ไม่เคยจองเวรจองกรรมใครทั้งสิ้น

นี่พระพุทธศาสนา เวลาอย่างนี้เวลาเขาเขียนมา คำถามนี้มันเป็นคำถามแบบไร้เดียงสา แบบว่าใสซื่อ แล้วมันชัดเจน อ่านแล้ว อืมสงสารเขา โอ้โฮรู้สึกว่าเสียงรอบข้างมันทำให้ทำสมาธิไม่ได้เลย จึงใช้สะกดจิตเอา ข่ม ข่ม ข่มให้มันลง แล้วมันก็ลงจริงๆ ด้วย ลงจริงๆ ด้วยแสดงว่าคนที่ทำมา เสียงข้างๆ เอ็งน่ะ กลับเป็นสิ่งที่เขามาเป็นสะพาน มาทำให้เอ็งได้ปฏิบัติได้ ฉะนั้น อันนี้ถือว่าเราได้ประโยชน์แล้วเนาะ

คำว่า “เสียงที่หายไป มันทำไมถึงหายไปล่ะ” 

มันหายไปเพราะว่าคุณสมบัติของจิตเรา มันหายไปเพราะคุณสมบัติของสติ ของสมาธิ ของคุณสมบัติของเรา ทำให้เราสงบระงับ เขาจะก่อกวนอย่างไร อยู่ข้างนอก ไม่เข้ามาถึงใจเรา เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร มันจะเสียงดังขนาดไหน ก็ดังที่เขาทำ แต่มันไม่ดังมาถึงหูเรา ไม่ดังมาถึงใจเรา ดังอยู่แค่นั้นน่ะ 

เพราะเรารักษาจิตของเรา เรามีสติ มีสมาธิ รักษาหัวใจของเรา เห็นไหม เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เราสอนอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า เขาถามคำว่า ปีติ” แล้วใช้ว่า เสียงหายไป” เสียงหายไป มันไม่หายไปไหนหรอก มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น แต่หายไปเพราะสติ เพราะเราทำหัวใจของเราสงบได้ นี้ตอบแล้วอย่าภูมิใจเกินไปนะ เดี๋ยวพอตอบแล้ว แหมได้สมาธิแล้วทิ้งหมดเลย แล้วเอ็งจะได้เปลวไฟต่อไปนี้ ยกตูดหน่อยเดียว โอ้โฮเหลิงเลยนะ ไม่ได้ ตั้งสติแล้วภาวนาให้ดี เอ้าจบ

ถาม : อันนี้คำถามนะ ลูกได้มาปฏิบัติที่วัดหลวงพ่อ ๙ วัน ได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ได้ตั้งสัจจะภาวนา นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง ช่วงแรกจะบริกรรมพุทโธ เป็นบางช่วงที่พุทโธหลุดหาย แต่ก็ดึงกลับมาพุทโธใหม่

พอนั่งสักพักมีเวทนามา ก็พุทโธในจิตและเร็วๆ และเปล่งเสียงออกมาพุทโธๆ เพื่อให้ดับเวทนา แต่เวทนาไม่ดับก็ใช้คำบริกรรมยาวๆ ใช้บทแผ่เมตตาให้ตัวเอง ก็มีเวทนาผ่อนบ้าง สลับกับมีเวทนาหนักบ้าง มากขึ้นก็สู้ไม่ไหว จิตไม่สามารถปล่อยวางเวทนาได้ จิตเกาะอยู่กับกายก็เลยแพ้เวทนา นั่งได้หนึ่งชั่วโมงเหมือนกัน

จะใช้อุบายใดดีให้จิตได้สู้กับเวทนา หรือใช้ปัญญาคิดอย่างไรดีคะ

พักหลังกลับมาเพียรอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเวลารัดกุม จะปฏิบัติเวลาให้น้อย เน้นเดินจงกรมเป็นหลัก และนั่งสมาธิแค่ ๑๐ นาที หรือ ๕ นาทีแรก พุทโธต่อเนื่อง พอหลังจากนั้นพุทโธหลุดหายก็เกิดนิวรณ์ จะใช้อุบายอะไรดีคะเพื่อให้ไม่เกิดนิวรณ์

ตอบ : นี่คำถามก็เหมือนว่า ถ้าภาวนาที่วัดมันภาวนาดีกว่าที่บ้าน ถ้าภาวนา เห็นไหม เขาว่าทำไมต้องไปวัด ทำไมต้องไปวัด

ไปวัด เห็นไหม ไปวัดเพราะถ้าไปวัดแล้วมันเป็นสถานที่ชัยภูมิที่ดี ถ้าที่บ้านภาวนาได้ แต่ภาวนาได้เพราะที่บ้านมันใกล้งาน มันก็จะกังวลกับงาน พอเราไปวัด ไปวัดพอนั่งภาวนาก็คิดถึงว่าที่บ้านจะทำอะไรอีก จิตดวงนี้ หลวงตาเวลาอยู่กับท่าน ท่านบอกว่า ลิงตัวนี้ วันนี้หมดกล้วยไปกี่หวี” คือลิงได้กล้วยแล้วมันจะสงบนิดหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ เราใช้ปฏิบัติแล้วหัวใจของเรามันหยุดบ้างไหม ถ้ามันหยุด มันมีปัญหาไปตลอด ถ้าคนมีปัญหา ปัญหาไปตลอดล่ะ คนเรื่องมากก็เรื่องมากตลอดไป คนเรื่องน้อยก็เรื่องน้อยตลอดไป คนที่มีจุดยืน เขาก็มีจุดยืนตลอดไป ถ้าคนเรื่องมาก มันเรื่องมากทั้งนั้น 

พูดธรรมะก็พูดธรรมะไว้เป็นธรรมะเป็นสัจจะให้เราเก็บ ให้เราเป็นประโยชน์ มันเหมือนยา ยาเวลาใครเจ็บไข้ได้ป่วยเขาใช้ยาตรงกับโรคนั้น โรคก็หาย ไอ้นี่ยามัน พอไปเห็นยามาก กว้านหมดทั้งตู้เลย กินหมดเลย อยากหาย มันตายน่ะสิ นี่ยาเขาก็ใช้เฉพาะไง

นี่ก็เหมือนกัน เราทำอะไรล่ะ เราทำอะไร เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็กินยาเฉพาะโรคนั้น มีโรคสิ่งใดเราก็ไปหาหมอนั้น ไอ้นี่อยากรู้มาก มาเถอะยาอะไรดี ตุนหมดเลย เจ็บป่วยเปิดกินหมดเลย แล้วก็ไม่หาย แสดงว่าศาสนานี้ไม่มีมรรคไม่มีผลแล้วล่ะ ศาสนานี้ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ได้คิดว่าตัวเองทำผิดเลยนะ คิด คิดถึงแต่ว่ายาไม่ดี กินแล้วไม่หาย กินทั้งตู้เลย

ถ้าหาย กินเม็ดเดียวก็หาย กินทั้งตู้เลยทำไมไม่หายล่ะ คนอื่นกินเม็ดเดียวก็หาย ไม่สบาย เขากินยาเม็ดเดียวหายหมดล่ะ ไอ้เราทั้งตู้เลย กินหมดเลย ไปล้างท้องไง เขากินยาแล้วหาย เอ็งกินยาแล้วไปล้างท้อง เพราะอยากได้ อยากได้อยากดี ขวนขวายไปหมด ไม่ได้หรอก วางให้หมด ตัณหาซ้อนตัณหา คือความมันอยากเกินไปก็ไม่ได้

อยากนี่อยากทำคุณงามความดี อยากโดยสมเหตุสมผล อยากโดยพอประมาณ แล้วอยากโดยพอประมาณ เห็นไหม เพราะเราเกิดมาแล้ว เกิดมาแล้วทางโลกนะ ถ้าโยมเกิดมาแล้วมีครอบครัวก็ต้องดูแลนะ พ่อแม่ที่บ้านก็ต้องนึกถึงนะ ไปแต่วัด ไปแต่วัด โอ๋ยดูแลพระไปหมดเลย แล้วปล่อยให้พ่อแม่อยู่บ้าน ชาวบ้านเขาด่านะ พ่อแม่เราก็ต้องดูแล บ้านเราก็ต้องดูแล ดูแลแล้ว เวลาเหลือแล้ว เราถึงเจียดเป็นเวลาของตัวเอง

การมาวัดเขาเรียกว่าเป็นเวลาส่วนตัว เอาเวลาส่วนตัวมาวัดมาวา มาประพฤติปฏิบัติ แล้วปฏิบัติแล้วได้หลักได้เกณฑ์ อยู่บ้านเราก็ปฏิบัติของเราบ้าง ไม่ใช่ว่าจำเป็นก็ต้องไปวัดไปวาทุกอย่างมันมีปัญหาไปหมด ทำไมล่ะ เพราะเราเกิดมาแล้ว เรามีครอบครัวแล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบทั้งนั้น 

คำว่า รับผิดชอบ” เพราะรับผิดชอบกับครอบครัว มันก็จะรับผิดชอบกับชีวิต รับผิดชอบกับชีวิตก็รับผิดชอบกับการนั่งสมาธิภาวนา เพราะรับภาระการภาวนา ภาวนานั้นมันก็เป็นสัมมาสมาธิ มันก็เป็นความจริงขึ้นมา ทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมามันก็จบ

นี่จะเอาหมดเลย นู่นก็จะเอา นี่ก็จะเอา แล้วไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้ แล้วจะเอามากเกินไป ทำเป็นข้อเท็จจริง นั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิ ถึงเวลามาวัดได้เราก็มาวัด มาวัดเหมือนกับคนป่วย เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปเข้าอุโมงค์ ไม่แน่ใจก็ไปเข้าอุโมงค์เพื่อตรวจเช็กว่าร่างกายเรามีจุดบกพร่องไหม

มาวัดมีครูบาอาจารย์ อาจารย์ครับ หนูเป็นอย่างไรบ้างคะ นี่ถามปัญหา ก็เหมือนมาตรวจสอบกันสักทีหนึ่ง แล้วกลับไปร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง กลับไปบ้านอย่าโกหกนะ อย่ามาหลอกนะ ว่าร่างกายมันไม่ดี ก็ไปวัดก็มาถามเรื่องภาวนา ได้เก็บได้ข้อมูลแล้วเราก็ไปทำจริงจังของเรา ถ้ามีปัญหาก็มาถามอีก มันทำอย่างนี้เป็นกิจจะลักษณะ มันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ฉะนั้น สิ่งที่ทำ ทำอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถาม อยู่ที่วัดทำได้นานเลย ไปที่บ้านได้ ๕ นาที ๑๐ นาที เพราะว่ามันกังวลเกินไปไง ๕ นาที ๑๐ นาที งานมันกองอยู่ตรงหน้าแล้ว มันจะพุ่งเข้าไปหางานนู่นน่ะ ถ้าไปอยู่วัดมันไกลงานหน่อยหนึ่ง มันก็เออทนเอา อยากทำก็ไปไม่ได้หรอก 

ตอนนี้อยู่วัด ฉะนั้น คำถามที่ ๑จะใช้อุบายอย่างใดดีเพื่อให้จิตสงบได้สู้กับเวทนา หรือใช้ปัญญาคิดอย่างไรดีคะ

นี้การนั่งไปมันเหมือนเวลานั่ง เราก็นั่งของเราไป มันอยู่ที่ความตั้งใจ ความตั้งใจนะ พอประมาณ เวลาเขาบอกพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อย่าเคร่งเครียด อย่าจริงจังเกินไป อย่าจริงจัง คำว่า จริงจัง” คือเกร็ง 

แต่คำว่า ตั้งสติ” เราระลึก เราบอกให้ชัดๆ ให้กำหนดพุทโธชัดๆ คำว่า ชัดๆ” เราชัดๆ เฉพาะคำว่า พุทโธ” แต่เราไม่บีบคั้นให้มันเคร่งเครียด คำว่า ชัดๆ” คือเราทำงานชัดๆ แต่ไม่ใช่บีบคั้น ไม่ใช่ต้องการให้มันเคร่งเครียด 

ถ้ามันเคร่งเครียดขึ้นไปนะ เดี๋ยวพอเคร่งเครียดขึ้นไปเราก็ต้องผ่อนมา เคร่งเครียด เราเคร่งเครียด ทำให้จริงจังเลยนะ เผลอแวบหลับทันทีเลย เพราะมันใช้พลังงานมาก ใช้พลังงานจดจ่อมาก เผลอปั๊บ ไปแล้ว หายจ้อยเลย

แต่ถ้าเราใช้พอประมาณ แต่ให้ชัดๆ ชัดๆ คือว่าสติสมบูรณ์ไง เหมือนคนทำงานเป็นเขาตั้งสติปัญญาของเขา แล้วเขาทำเหมือนกับคนทำงานชำนาญ เหมือนไม่ได้ทำเนาะ จับฉับๆ เสร็จแล้ว เหมือนไม่ได้ทำเลย ไอ้เราอู้ฮูเพ่งเกือบตาย ผิด ทำไม่เสร็จสักอันหนึ่ง ไอ้คนทำเป็นนะ ฉับๆ เสร็จ ฉับๆ เสร็จ ไอ้เราไม่เป็นนะ โอ้โฮจดจ่อเลยนะ ทำออกมาเสีย ทำออกมาเสีย

นี่ก็เหมือนกัน เราใช้สติปัญญาของเรา ไม่ใช่เคร่งเครียดจนเกินไป แต่ชัดเจน สติชัดเจน ไม่แฉลบ ไม่วอกแวก แต่ชัดเจนกับเรา นี่มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุลพอดี ไม่ใช่มัชฌิมาตรงกลางหมอนใช่ไหม กลางหมอนเลย กลางที่นอน 

คำว่า กลาง” กลางคืออะไรล่ะ แต่สมดุลพอดีกับการกระทำของเรา นั่นมัชฌิมา ข้อที่ ๑.

ข้อที่ ๒จะใช้อุบายอย่างไรดีคะ ไม่ให้เกิดนิวรณ์

เกิดนิวรณ์ก็คือความง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัยมันเกิดอยู่แล้ว ถ้ามันเกิดอยู่แล้ว พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน ไปฟังเทศน์จากพระสารีบุตร ฟังมาจากพระอัสสชิ ได้เป็นพระโสดาบัน ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเอหิภิกขุ บวชแล้วให้ประพฤติปฏิบัติ เป็นพระโสดาบัน นั่งสัปหงกโงกง่วง นิวรณธรรมมันกั้น พระโสดาบัน พระพุทธเจ้าไปด้วยฤทธิ์เลย

โมคคัลลานะ เอาน้ำลูบหน้า

คำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ตอนที่เราตกภวังค์ เราเอาไปใช้ พยายามตรึก ตรึกเท่าไรก็หลับ ลูบหน้าลูบแล้วลูบอีก นั่งดูดาว แหงนดูเลย ก็หลับ เพราะเราไปจำมา ไม่ได้สดๆ ร้อนๆ ไม่ได้สอนไง เป็นการจำมา ทำอย่างไรก็หลับ พอเรามานั่งคิด ทำไมถึงยังหลับ ก็ทำที่พระพุทธเจ้าสอนพระโมค-คัลลานะเลย เราก็คิด เออเราคิดมากเกินไป

เราเปรียบเทียบนะ จิตเราเหมือนนกเขา เวลามันอยู่ในกรง แมวมันมามันตกใจ ถ้านกเขามันฉลาดเนาะ มันยืนเฉยๆ บนคอน แมวกินไม่ได้หรอก แต่พอแมวมามันตกใจ มันบินนะ บินไปข้างกรงใช่ไหม แมวก็ตะปบได้เลย คิดมาก คิดมาก คิดจนใจมันฟู ใจมันเหมือนนกเขาที่มันตื่น หลับอยู่ดี เวลาเราหลับแล้วเราก็มาพิจารณาว่าทำไมมันหลับอีก

เราตกภวังค์มามาก เราผ่านประสบการณ์ความลำบากมาเยอะ ลำบากทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของพระ ลำบากทั้งกิเลสมันหลอก ลำบากเพราะว่ากิเลสมันมีแรงต้าน ต่อสู้มาเยอะ ฉะนั้น เวลาคำถาม เพราะมันเคยสู้มาไง ฉะนั้น นิวรณธรรมมันก็ต้องกลับมาตรงนี้ไง กลับมาอยู่ที่ความพอดี 

เมื่อวานโยมมาก็ถาม ก็ตอบเขา เขาบอกจริง เขาบอกเขาสวดมนต์ยังหลับเลย เราบอกหลับ เพราะว่าหนึ่ง อาหาร โยมดูสิ โยมทานกี่มื้อ แล้วโยมทานอาหารเสร็จแล้ว แล้วจิตใจมันหงุดหงิด ง่วงเหงาหาวนอน ไปสวดมนต์ก็จบเลย ใช่ เขาบอกว่าใช่เลย 

นี่ก็เหมือนกัน นิวรณธรรมก็อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การใช้ชีวิตของเรา ถ้านิวรณ์จะไม่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมา ตอนนี้กินอาหารคลีนเลย ไม่ต้องเคี้ยว ดูดเอา ดูดปรื้ดจบเลย ไม่มีนิวรณ์ คือกลับไปตรงนั้น กลับไปตั้งแต่อาหารของเรา ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของเรา แล้วทบทวน 

เพราะว่าเวลาเรามีปัญหานะ เวลาปฏิบัติแล้วมันมีปัญหาจะทบทวนเลย เช้าตื่นขึ้นมากระทบอะไรบ้าง บิณฑบาตมา ในบาตรได้อะไรมา ฉันอะไร ฉันเข้าไปแล้วมันเป็นเพราะอะไรถึงได้ง่วง

เราเช็กหมดเลยนะ เช็กทั้งความเป็นอยู่ เช็กทั้งศีล เช็กทุกอย่างเลย แล้วย้อนกลับหมด เพื่อไม่ให้กิเลสมันไปเอาเรื่องนี้มาหลอก ถ้ามันเอาเรื่องนี้มาหลอกไม่ได้ เราก็สู้กับมัน นี่จบ มันก็แก้ไขตัวเองมาอย่างนี้ นี้แก้ไขตัวเองมาอย่างนี้ ๑.

ต้องมีสติปัญญา มีสติปัญญาคอยดูแล มีสติปัญญาเทียบเคียง เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนใครก็แล้วแต่ก็ฟัง แต่ท่านสอนพระองค์นั้น ไม่ได้สอนเรา ถ้าสอนเรา สิ่งคำสอนนั้นมันใช้ประโยชน์กับเราได้หรือไม่ ถ้าใช้ประโยชน์ ส่วนใดเป็นประโยชน์เก็บสิ่งนั้นมาใช้ เก็บตรงนั้นมาใช้คำเทศน์คำสอน เราต้องเก็บสิ่งใดที่มันใช้ประโยชน์กับเราได้ 

สิ่งใดใช้ประโยชน์กับเราไม่ได้ จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน เราก็วางไว้ แล้วเก็บประโยชน์สิ มันได้ประโยชน์หมดล่ะ ถ้ารู้จักแยกแยะ รู้จักใช้ มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้ เถรส่องบาตร เห็นอาจารย์ส่องบาตร มันก็ส่องบ้าง เขาส่องดูบาตรรั่ว มันส่องเป็นพิธีเฉยๆ ส่องเป็นแค่ทำให้จบ แต่เขาส่องเพื่อดูรอยร้าว

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน เขาสอนเรื่องอะไร เราต้องเข้าใจ แล้วเก็บประโยชน์มา มันจะได้ประโยชน์กับเรา เราจะเอาทั้งหมดไม่ได้ ยาทั้งตู้ไม่ได้ ทั้งตู้แล้วเราจะทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ เอ้าจบ

ถาม : อันนี้สิ ระหว่างสวดมนต์มีคำพูดผุดขึ้นมาว่า เห็นแก่ตัว เอาประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง” โยมคงสวดมนต์ต่อจนจบ หลังจากสวดมนต์ได้นำคำพูดนี้มาใคร่ครวญ และอีกหลายวันทำให้โยมเพิ่งเห็นว่าโยมทำอะไรมองแต่ตัวเอง ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา 

เหมือนเพิ่งถูกเปิดตา เห็นความเลวของตนเอง เห็นด้านของคนที่โดนกระทำ บางเรื่องโยมผ่านมานับสิบๆ ปีก็ผุดขึ้นมา โยมมีความทุกข์มาก ทุกข์จนความคิดเปลี่ยนศาสนาแวบเข้ามา เพื่อจะได้ไม่ต้องทุกข์ แต่ก็บอกตัวเองว่า หนีความจริงไม่พ้น เขาทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์ โยมค้นพบว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเราเอง

เมื่อมีอารมณ์คำพูดผุดขึ้นระหว่างสวดมนต์ ควรหยุดสวดเพื่อพิจารณาหรือไม่ เพราะโยมพิจารณาใคร่ครวญหลังสวดมนต์ มันเหมือนนับว่าไม่เป็นปัจจุบัน แต่โยมก็ยังหยิบมาพิจารณาและคาใจ ควรจะเป็นแบบไหนคะ

จะพิจารณาความทุกข์อย่างไรให้มันลดลง พิจารณาแล้วเดี๋ยวเบา เดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิม ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล

ตอบ : นี่คำถามเรื่องที่ ๒ นะ คำถามเรื่องที่ ๒ เราเอาคำพูดที่ว่าเวลาสวดมนต์ สิ่งนี้มันผุดขึ้นมา คำผุดขึ้นมา คำผุดขึ้นมาที่เราบอกธรรมเกิด ธรรมเกิดอย่างนี้ 

เวลาธรรมเกิด เรามีความคิด ความสงสัยสิ่งใดมันจะผุดขึ้นมา มันจะเกิด นี่ธรรมเกิด แล้วธรรมนี้เกิดขึ้นมาข้อนี้ สำหรับโยม โยมทุกข์มากเลย แต่สำหรับเรานะ เราบอกว่าสุดยอดมาก นี่สมบัติ อริยทรัพย์ นี่ธรรมมาเกิดมันเตือนเรา มันบอกเรา นี่ไง ธรรมเรา 

กรณีที่เราพูดบ่อย เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่าน จิตนี้ว่างหมดเลย โอ๋ยแล้วมันส่งไปเห็นภูเขาเลากาทะลุหมดเลย อู้ฮูท่านมหัศจรรย์กับจิตท่านมากเลย มหัศจรรย์ขนาดไหนนะ ธรรมกลัวท่านหลง ท่านพูดเองในเทศน์ท่านบ่อย ท่านบอกว่า ธรรมกลัวท่านหลง ธรรมผุดเลย แสงสว่างที่เกิดขึ้นเกิดจากจุดและต่อม” 

งงๆ เลยนะ ธรรมมาเตือน ท่านบอกเลยว่าธรรมกลัวหลวงตาจะหลง ก็เตือนเลย สิ่งที่เราตื่นเต้นกับความมหัศจรรย์นั้นน่ะ มันเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากจิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้คือจุดและต่อม จิตเดิมแท้ ให้ค้นหาจิตเดิมแท้ แต่ท่านไม่รู้ ท่านก็งงอยู่อย่างนั้น ท่านบอกถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ ไปถามหลวงปู่มั่นจบเลย หลวงปู่มั่นไม่อยู่ ก็ต้องค้นหาของตัวเองกว่ามันจะเข้าใจว่า อ๋อไอ้จุดและต่อมเป็นอย่างนี้เอง แล้วค่อยไปพิจารณาจุดและต่อมอีกรอบหนึ่ง

อันนี้นี่ก็เหมือนกัน เห็นแก่ตัว เอาประโยชน์เป็นที่ตั้ง” ก็มันเตือนเราไง ถ้าเตือนเรามันก็สุดยอดอยู่แล้ว สุดยอดอยู่แล้ว สุดยอด สุดยอดเพราะอะไรรู้ไหม พระฝรั่งที่มาอยู่กับเรา เขาออกจากเราไป แล้วเขาก็ไปภาวนาที่เชียงใหม่ แล้วเขาก็กลับมานะ กลับมานี่ โอ้โฮเขาบอกว่า

หลวงพ่อ เวลาผมภาวนาไป มันความคิดผุดขึ้นมาในใจผมเยอะแยะเลย ผุดขึ้นมาจนนั่งร้องไห้” พระฝรั่ง แล้วพระฝรั่งก็มาบอกนะ หลวงพ่อ ผมไม่น่าจะเลวได้ขนาดนี้เลยเนาะ ทำไมผมมันเลวได้ขนาดนี้

คือตอนทำไม่รู้ตัวไง คิดตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นพระฝรั่งองค์ที่มาอยู่กับเราน่ะ องค์นั้น แสดงว่าตอนเด็กๆ เขาคงจะเอาเรื่องอยู่ มาจากเยอรมัน เขาบอกว่าเวลาภาวนาไปมันจะไปคิดแต่ว่า ไปพิจารณา พิจารณาเห็นถึงการกระทำของตนที่ทำไว้ตั้งแต่อดีต ตั้งแต่เราเคยทำมา พอพิจารณาไป พิจารณาไปนะ นั่งร้องไห้ แล้วก็คิด เขาเล่าให้เราฟังนะ “หลวงพ่อ ทำไมผมมันเลวได้ขนาดนี้

คำว่า เราเลวได้ขนาดนี้” อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนรู้ว่าตนบกพร่อง ตนรู้ว่าตนผิดพลาด นั้นคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด คนเราที่เถียงโต้แย้งกันอยู่นี้ก็เพราะคิดว่าตัวเองถูกไง ที่มีความโต้แย้งกันอยู่นี่ก็เพราะว่าฉันถูก ฉันถูก ฉันเก่ง ฉันดี เธอแหละผิด เธอแหละผิด

แต่มันเห็นเราน่ะ เราผิด เราเห็นความผิดของเรา แล้วความผิดของเรา เอ็งจะค้นหานานกี่ปี เอ็งถึงจะเห็นความผิดของเอ็ง แล้วเวลามันผุดขึ้นมา เห็นไหม เราเป็นคนเห็นแก่ตัว แล้วเขาก็บอกว่า แล้วก็มาคิดเลยว่า เออแล้วก็มาคิดดู อืม!บางเรื่องสิบกว่าปีมันยังผุดขึ้นมา เหมือนพระฝรั่งองค์นั้นเลย 

เวลาปฏิบัติเราถึงบอกว่า เวลาปฏิบัติ เราจะปฏิบัตินะ เราจะทำความสะอาดหัวใจนะ มันจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด

ฉะนั้น สิ่งใดที่มันคาหัวใจ มันจะผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาให้เราพิจารณา ถ้าเราพิจารณาแล้ว ถ้ามันเป็นอดีต เราก็รู้ว่าเป็นความผิด เป็นความผิด อย่างเรานะ ก็ขอขมาลาโทษ อโหสิกรรมต่อกัน แต่นี่พูดเฉยๆ นะ ทำผิดไว้กับใครสิบกว่าปีแล้ว ไม่ต้องไปซื้อของขวัญให้เขานะ มันจบไปแล้ว เราสำนึกได้ เราสำนึกได้ นี่ไง เราสำนึกถึงตัวได้ มันก็เสียใจ มันอดีตไง 

ไม่ใช่ว่า นี่ไง กรณีนี้มันมีอยู่ พระองค์หนึ่งเขาบอกว่าเขาระลึกอดีตชาติได้ ว่าอดีตชาติเขาเป็นพระนั่งเกล้าฯ เป็นรัชกาลที่ ๓ เขาว่าอย่างนั้นนะ เขาว่า ไม่ใช่เราว่า เขาว่า เขาบอกเขาเป็น ร.๓ พอ ร.๓ เสร็จแล้วเขาออกจากภาวนาเขา เขาก็พยายามจะไปหาตระกูลของ ร.๓ ว่าเป็นญาติกัน เป็นญาติกัน โยมคิดว่าเขาจะเชื่อไหม

ตัวเองไปเห็นเองไง ตัวเองคิด ตัวเองนั่งไประลึกอดีตชาติ ว่าตัวเองเป็นรัชกาลที่ ๓ พอเป็นรัชกาลที่ ๓ ปั๊บ เขาก็ไปดูทะเบียนประวัติใช่ไหมว่าใครเป็นลูกเป็นหลาน ก็เขาจะไปขอแบ่งทรัพย์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทางนั้นเขาไม่รับ 

เป็นพระ ก็เป็นความเห็นส่วนตน ไอ้นี่ เห็นไหม ขนาดตัวเองรู้ ตัวเองรู้แล้วตัวเองจะไปถือสิทธิ์อะไร มันคนละภพคนละชาติ ร.๓ ท่านก็สวรรคตไปแล้ว แล้วตัวเองไปนั่งแล้วก็คิดขึ้นมาเองว่าตัวเองเป็น ร.๓ เป็น ร.๓ แล้วเขาจะไปทำคุ้นเคยกับวงศ์ตระกูลของเขา เออมันก็แปลกนะ ไม่น่าคิดได้อย่างนี้เลย

นี่พูดคำนี้ขึ้นมา เพราะเวลาเขาคิดอย่างนี้ รู้ถูกรู้ผิดแล้ว ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดว่าเชื่อนะ เรายกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แล้วมันมีอยู่จริง เดี๋ยวพูดหลังไมค์ก็ได้ มันมีอยู่จริง ที่พูดนี้พูดเป็นตัวอย่าง แต่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะว่าอะไร 

เพราะการระลึกอดีตชาติต่างๆ ถ้าเขารู้ของเขา เขาเก็บไว้ข้างใน เขาเก็บไว้ภายใน แล้วก็ธรรมสังเวช สังเวชกับวัฏฏะ สังเวชกับการเกิดและการตาย สังเวชกับชีวิต เขารู้ไว้ให้เพื่อปลงธรรมสังเวชการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

คนที่เขารู้จริงเขาเก็บไว้ในใจ แล้วมันสะเทือนหัวใจ มันสังเวช ว่าจะเวียนตายเวียนเกิดกันอีกกี่ภพกี่ชาติ ถ้าคนรู้จริงเขาจะเก็บไว้ภายใน เป็นสมบัติส่วนตน อาจจะบอกก็จะบอกแต่ผู้ที่ไว้ใจได้ ไอ้นี่พอตัวเองคิดว่าใช่แล้ว จะไปถือญาติ ร่วมญาติกับเขา โอ้ยใครจะไปเชื่ออันนั้น 

เอาอันนี้ขึ้นมาเพราะว่าเราเห็นแก่ตัว แล้วบอกว่าเราก็ย้อนคิดไปถึงว่าเรื่องตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เราคิดได้ เราสังเวชได้ เราก็คิดเตือนหัวใจของเรา เพราะอะไร เพราะถ้าเราคิดไม่ได้ เราคิดไม่ได้ เราไม่รู้ นี่ธรรมมันเกิดนะ ธรรมมันเกิดคือมันเตือนเรา เตือนเรา

นี้พอเตือนเราก็ให้เรารู้ถูกรู้ผิดใช่ไหม คนจะทำดี ทำชั่วมันก็ต้องรู้ถูกรู้ผิดจริงไหม ถ้ารู้ถูกรู้ผิดแล้ว สิ่งที่อะไรผิดก็ไม่ทำอีก สิ่งที่ผิดทำแล้วก็ขอขมาลาโทษ สิ่งที่ไปทำมาแล้วก็สาธุ ไม่ทำอีกแล้ว ต่อไปนี้มีสติมีปัญญา จะทำสิ่งที่ดีงาม 

สิ่งที่ผิดพลั้งไปแล้วเพราะกิเลส เพราะความไม่รู้ไม่เท่าทันความคิดของตน ถึงได้ทำไป รู้ไม่เท่าทันอารมณ์ของเรา อารมณ์ความคิดที่มันผุดขึ้นมา เรารู้ไม่เท่าทันมัน เราถึงได้ผิดพลาดทำลงไป แล้วตอนนี้เสียใจ เสียใจแล้วเราค่อยกลับมาพิจารณาของเราใหม่ กลับมาพิจารณาของเราคือตั้งต้นทำดีของเราใหม่ ไอ้สิ่งที่แล้วก็แล้วกันไป

ดีนะ ดี เราเห็นเป็นบวก ดี จะได้ชำระล้างกันที่ภพที่ชาตินี้ ไม่ใช่เป็นเวรเป็นกรรมบาดหมางกันไป แล้วจะต้องไปชดใช้กันอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติข้างหน้านู่น รู้แล้วสำนึกดีมาก นั้นพูดถึง เขาเห็นแล้วเขาบอกเสียใจมาก แต่เรากลับเห็นว่าเป็นคุณงามความดี อ้าวคุณงามความดีมันจะเป็นความดี

นี่เข้าคำถาม เมื่อมีอารมณ์คำพูดผุดขึ้นระหว่างสวดมนต์ ควรหยุดสวดเพื่อพิจารณาหรือไม่ เพราะโยมพิจารณาใคร่ครวญหลังสวดมนต์ มันเหมือนนับว่าไม่เป็นปัจจุบัน แต่โยมก็ยังหยิบมาพิจารณาและมันคาใจ ควรจะเป็นแบบไหนคะ

หลังสวดมนต์นี่แหละ สวดมนต์ก็สวดมนต์ให้จบไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นมันเป็นประเด็นแล้วแหละ มันเป็นประเด็นในใจเรา พอเป็นประเด็นแล้วเราก็มาพิจารณาว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เวลาเดินจงกรม ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เออธาตุขันธ์เราเป็นอย่างนี้เนาะ ถ้าเราจะปรับปรุงขึ้นมาให้เข้าสู่มรรค สู่ผล เราควรทำอย่างใด 

แต่ถ้ามันไม่เป็น มันไม่เป็น กิเลสมันหลอก กิเลสมันเชื่อไม่ได้ กิเลสมันหลอกนะ หลอกว่าเราเป็นอย่างนั้น มีพระอีกแหละ เวลาอย่างนี้เรายกตัวอย่าง มีพระองค์หนึ่งเขาทำอย่างนี้จริงๆ นะ เขานั่งภาวนาไปแล้วมันมีความคิดขึ้นมา บอกว่า

ถ้าเขาเผาตัวตายเมื่อไหร่ วันนั้นเขาจะได้เป็นพระอรหันต์” 

ก็คิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วก็ตั้งใจจะเผาจริงๆ นะ พอตั้งใจจะเผาจริงๆ พระก็ต้องไปคอยเฝ้า เขาจะเอาบริขารมาสุมตัวเอง แล้วก็จุดไฟเผาเลย พวกเราก็ต้องไปดับกัน แล้วมันดับแล้วก็พยายามคุยให้เขาได้คิด เขาก็ได้คิด เขาก็อยู่ปกติของเขา แล้วอยู่ตอนหลังนะ พระคิดว่าเรื่องนี้จะจบไป สุดท้ายแล้วเขาก็เผาตัวตาย ตายไปจริงๆ แล้วเขาบอกว่าเขาจะได้เป็นพระอรหันต์

ไม่เป็นหรอก จะได้เป็นพระอรหันต์มันต้องเป็นด้วยมรรคด้วยผล ด้วยปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันไม่ใช่เป็นเพราะไฟเผาตายหรอก ไฟเผาตาย ทุกข์ตายห่า เป็นพระอรหันต์ตรงไหน ไม่เป็นหรอก แต่เขามีความคิดอย่างนี้ขึ้นมาไง

นี่พูดถึงว่า เวลาความคิดที่มันเกิดขึ้นมา เราต้องเอามาพิจารณา ถ้ากิเลสมันผุดขึ้นมา เราก็ต้องพิจารณาว่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริงอย่างที่ว่าเนี่ย ถ้าเผาตัวเองแล้วจะเป็นพระอรหันต์ ไม่เผา ไม่เผา ไม่เป็น เป็นพระอรหันต์อย่างนี้ไม่เอา 

แต่ถ้ามันบอกว่าให้เราขวนขวายหมั่นเพียร เอ้อเอา เอา มันต้องพิจารณา เวลาความคิดมันผุดขึ้นมานี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันผุดขึ้นมาแล้วเราก็มาพิจารณาใคร่ครวญของเรา แล้วก็แก้ไขดัดแปลงตัวของเรา นี่ๆ นี่คือคุณสมบัติเลย คือประโยชน์เลยแหละ 

เวลาครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ เขาจะสอนลูกศิษย์ให้สำนึก สอนลูกศิษย์ให้เห็นดีเห็นชั่ว สอนลูกศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ บอกว่าครูบาอาจารย์ลำเอียง ลำเอียง ลำเอียงทุกทีน่ะ ฉันทำดีขนาดนี้ไม่ได้ชมเลย มีแต่ด่ากับด่า จะคิดอย่างนี้ แต่นี่คิดขึ้นได้เอง สุดยอด สุดยอด

เรากลับชมนะ ชมว่าเราได้ประเด็นมาให้ใคร่ครวญ มันมีประเด็นมาให้เราแบบว่ากิเลสมันโผล่หน้ามาเพื่อจะให้เราได้แก้ไข เราได้แก้ไขเรา เป็นประโยชน์กับเรา แต่ว่าเสียใจร้องไห้ เรื่องธรรมดา แหมเพราะเราชั่วได้ขนาดนี้เชียวหรือ แหมเราทำเขาได้ขนาดนี้เชียวหรือ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตอนทำมันไม่ได้คิดไง แต่พอรู้ว่าผิดแล้วเสียใจ 

เราทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าผิดทุกคนเสียใจทั้งนั้น แล้วเราทำกับคนรอบข้าง โอ้โฮกระเทือนนะ แต่อย่างนี้ปั๊บ ถ้ากลับบ้านไปนะ แล้วเป็นคนดีนะ ไอ้คนนั้นจะแปลกใจเลย เอ๊ะเอ๊ะจะมาทำฉันอีกหรือเปล่า ไม่ใช่ คิดได้แล้ว คิดได้แล้ว ไม่ใช่ ไม่ใช่ ธรรมะอบรมแล้ว นี่ประโยชน์สุดยอด

จะพิจารณาความทุกข์อย่างไรให้มันลดลง พิจารณาแล้วเดี๋ยวเบา เดี๋ยวกลับมาเหมือนเดิม ได้แต่แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล

เราไปยึดมันก็ทุกข์ ปล่อยมันก็จบ 

การปล่อยก็ปล่อยด้วยสติด้วยปัญญา ปล่อยแล้วเดี๋ยวก็ทุกข์อีก ธรรมดานะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นอนิจจัง มันเกิด มันดับ มันไม่มีสิ่งใดขาดแล้วดับไปเลย มันยังเกิด ยังดับอยู่ ถ้าพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ตทังคปหานของชั่วคราว

ในครัวของเรา เดี๋ยวก็ติดไฟทำอาหาร เสร็จแล้วก็ทำความสะอาด จบ เดี๋ยวเก็บล้าง เดี๋ยวจุดไฟทำอาหาร ทำอาหารกินเสร็จแล้วเดี๋ยวก็เก็บล้าง เก็บแล้วเดี๋ยวก็จุดไฟทำอาหาร

มันไม่จบหรอก ความคิดมันไม่จบ มันไม่จบเราก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุด ถึงที่สุดถ้ามันขาด จบ มันมีวันจบ ไม่ต้องห่วงว่าไม่จบ จบ ถ้าไม่จบพระพุทธเจ้าไม่สอน พระพุทธเจ้าสอนถึงวันจบสิ้น จบ แต่จบมันต้องสมุจเฉทปหาน ขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกัน อยู่คนละทวีป ไม่เข้ามาเกี่ยวกันอีกเลย จบ มันมีวันจบ แต่วันจบต้องจบด้วยความสมบูรณ์ของมัน

มันไม่สมบูรณ์มันจะจบได้อย่างไร ของไม่สมบูรณ์ ของไม่มัชฌิมา ของไม่มรรคะ ไม่สามัคคี ไม่สามารถรวมกันสมุจเฉท มันจะจบได้อย่างไร มันจะจบต่อเมื่อมันสมบูรณ์ของมัน สมควรของมัน มัชฌิมาปฏิปทา สมควรแล้วมันพิจารณาจนขาด นั่นน่ะจบ 

แต่ตอนนี้เดี๋ยวมันหนัก เดี๋ยวมันเบา มันหนัก มันเบา เราก็ต้องสู้ไป สู้ไป ตั้งสติแยกแยะ แยกแยะ ถ้ามันมีความสุข มีความดี นี่ไง เพราะเหตุนี้ครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงรักษาตัวเอง รักษา รักษา เห็นไหม มีข้อวัตรปฏิบัติ 

เพราะรักษาใจไว้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หัวใจนี้อย่าทำให้ฉันเจ็บปวดนัก หัวใจนี้อย่าทำให้ฉันลำบากนัก ดูแลหัวใจของเราให้ดี แล้วเวลาเข้าภาวนา ก็เอาหัวใจนี้ภาวนา จิตไง เอาจิตภาวนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นไป 

เพราะอย่างนี้แหละ เพราะรักษาให้มันดีตลอด ให้มันสุขตลอดไง อย่าให้มันทุกข์ ไอ้นี่เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันเสื่อม ทุกข์เพราะว่ามันปล่อยจากสติจากสมาธิไปมันก็ทุกข์ พอทุกข์ ปฏิบัติขึ้นมามันก็เข้าสู่สมาธิมา เข้าสู่ปัญญามา มันก็มีความสุข สุขเดี๋ยวมันถอยไปมันก็เสื่อม

แต่ถ้าคนเขากลัว มันทุกข์อย่างนี้เขาก็รักษาไว้ให้ดีๆ แล้วพยายามต่อเนื่องๆ ไป เพราะต่อเนื่องไปก็ต้องอยู่ในข้อวัตร พออยู่ในข้อวัตร โอ้โฮพระอะไรวะไม่พูดกับใครเลย โอ้พระอะไรวะ ทำตัวอย่างนี้ เอ้อแปลก

แต่กรรมฐานเขาชอบ พระอย่างนี้คือผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร พระอย่างนี้คือพระนักปฏิบัติ พระปฏิบัติเขาต้องมีกิริยาสำรวมระวังแบบนี้ พระอย่างนี้แหละจะเป็นพระ

นี่ไง ที่มันทุกข์มันยากเพราะเหตุนี้แหละ เขาถึงต้องสำรวม ต้องระวัง เพราะนี่ไงเดี๋ยวเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนี่ไง แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะกันไว้เลย ท่านจะส่งเสริมให้วิเวกให้สงบให้สงัดเพื่อรักษาใจ อย่าให้มันไปกว้านเอามาทุกข์ อย่าให้เอาทุกข์มาเบียดเบียนหัวใจ นี่ไง ความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าความจริงเป็นแบบนี้ นี่การประพฤติปฏิบัติไง

ฉะนั้น คำถามมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว ทำไมเดี๋ยวมันทุกข์ เดี๋ยวมันสุขอย่างนี้ มันทุกข์เหลือเกิน” 

มันทุกข์เพราะกิเลสมันบีบคั้น เราก็ต้องรักษา เพราะเราจะมาสู้กับมันไง ตัดป่าทั้งป่า ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ตัดกิเลสคือนามธรรม กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไอ้ที่ไปกว้านเอาทุกข์มาเผาเรา ดูแลรักษา ปฏิบัติมาได้ขนาดนี้มันมีบาทฐานแล้วแหละ มันทำของมันได้ แต่เวลามันเข้าไป กิเลสมันโตขึ้นเรื่อยๆ มันจะมีกำลังขึ้นเรื่อยๆ 

นี่ไง การปฏิบัติ ที่เขาบอกว่าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เอ็งเชื่อเขาไหมล่ะ ลองปฏิบัติดูสิ ถ้าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ก็ปฏิบัติไปยอมจำนนกับกิเลสไง พอเข้าไปถึงเจอกิเลส สวัสดีครับกิเลส เป็นธรรมหรือยัง กิเลสบอก เออเป็นพระอรหันต์แล้ว จบ สบาย ถ้าปฏิบัติมันง่ายรู้ง่าย มันก็เป็นแบบนั้น ปฏิบัติเข้าไปจำนนกับกิเลสไง

ถ้าปฏิบัติจะไปฆ่ามัน ดูเล่ห์เหลี่ยมมันสิ เล่ห์เหลี่ยมเล่ห์กลมันทำให้หัวปั่นอยู่นี่ ถ้าจะฆ่ามัน ถ้าไปจำนนกับมันนะ ครับจบเลย ปฏิบัติง่าย รู้ง่าย มองตากันแล้วพระอรหันต์เลย จบ นั่นเชื่อเขาไหมล่ะ ถ้าไม่เชื่อเราทำของเรา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นการยืนยันจริงจังกับใจของเรา เอวัง