ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เรียนธรรม

๓ เม.ย. ๒๕๕๙

เรียนธรรม

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง “จิตมีแต่เป็นปัจจุบัน

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีเรื่องราวจากการปฏิบัติ รบกวนกราบเรียนหลวงพ่อครับ จากการที่ผมพิจารณาการทำงานของขันธ์  สุขและทุกข์ทางใจล้วนมาจากสัญญาที่สังขารไปปรุงมัน ทั้งที่สัญญาเหล่านั้นมันก็มีอยู่ของมัน บางอย่างมันก็ไม่ใช่ความเป็นปัจจุบันเลย ไม่ไปยุ่ง มันก็กองอยู่ตรงนั้นแหละ แต่พอสังขารไปหยิบมาปรุง มันก็สุขและทุกข์ที่เกิดขึ้น มันถึงเป็นปัจจุบันขึ้นมา อารมณ์ที่รับจากการปรุงจึงตกไปที่จิต

ความจริงแล้วจิตก็อยู่ของมัน แต่สังขารไปทำให้มันเคลื่อนสูงๆ ต่ำๆ ผมว่าจิตมันเป็นปัจจุบันตลอดเวลา จนแทบจะเรียกว่าไม่มีอดีตและอนาคตเลย แต่สังขารนั่นแหละที่เป็นมาร ดึงอดีตดึงอนาคตมาให้จิตที่เป็นปัจจุบันอยู่ตลอด ต้องเคลื่อนสูงๆ ต่ำๆ ตามอารมณ์ที่เสวยมา เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีก สังขารมันทำงานได้ดีมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เกาะจิตเรามีมากหรือน้อยเพียงใดในความเป็นปัจจุบันของจิตขณะนั้น

ฉะนั้น จริงแล้วจิตมีแต่ความเป็นปัจจุบันเสมอ การดูแลจิตจึงต้องดูแลความเป็นปัจจุบัน ชำระกิเลสปัจจุบัน ผมเลยเน้นพิจารณาทันการทำงานของสังขารที่ส่งอาหารให้จิตเสวย ผมพิจารณาถูกหรือไม่ ขอหลวงพ่อช่วยกรุณาชี้แนะด้วยครับ

ตอบ : นี่พูดถึงเขาให้ช่วยกรุณาชี้แนะ หมายถึงว่าเขาให้เราวิจารณ์ได้ ถ้าไม่วิจารณ์ได้นะ มันก็เป็นความคิดของเขา ฉะนั้น เวลาเป็นความคิดของเขานะเพราะความคิดของเขา เราเป็นชาวพุทธไง เราเป็นชาวพุทธนะ คนที่ไม่เชื่อนับถือศาสนาก็ไม่เชื่อเรื่องมรรคเรื่องผล ไม่เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย เรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อทั้งนั้น

แต่คนที่เชื่อ เวลาคนที่เชื่อจะประพฤติปฏิบัติไง พอประพฤติปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะเราขาดครูบาอาจารย์ไง เวลาขาดครูบาอาจารย์ เราก็ปฏิบัติของเราใช่ไหม พอปฏิบัติของเรา ก็ตั้งเป็นองค์กรกันขึ้นมา พอตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา ก็ศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาโดยธรรมะ ศึกษาโดยพระไตรปิฎก ศึกษาโดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สำคัญตนว่าการศึกษานั้นเป็นการรู้ธรรม ถ้าการรู้ธรรมนะ ก็บอกว่าเป็นแนวทางปฏิบัติสติปัฏฐาน 

แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราปฏิบัติกัน เรากำหนดพุทโธ เราใช้ลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติอย่างนี้ เขาบอกว่าการปฏิบัติอย่างนี้มันเป็นสมถะมันไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่สติปัฏฐาน  เพราะเป็นการทำสมาธิ นี่เขาวิจารณ์กันร้อยแปด โลกนี้เขาวิจารณ์กันร้อยแปดเลย ใครมีมุมมองอย่างไร ใครมีความเห็นอย่างไรก็วิจารณ์ของเขาไป ก็เขามีมุมมอง มีปัญญาได้แค่นั้น เขาก็วิจารณ์ของเขาไป เพราะการวิจารณ์ของเขาไง แต่เวลาเขาไม่ได้ยืนหัวใจให้เขาเป็นกลาง แล้วค่อยๆ ศึกษาไง

เวลาศึกษา ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกบอกไว้ล่ะบอกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านแยกไว้ชัดเจนเลยนะว่าปริยัติคือการศึกษา แล้วถ้าจะปฏิบัติ เป็นฝ่ายปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงเลย ถ้าศึกษามาก็ศึกษา

นี่ศึกษามาแล้วก็บอกว่า พิจารณาของมันไป กำหนดรู้เท่ากันไป ก็บอกนี่เป็นแนวทางสติปัฏฐาน  เพราะได้ฝึกหัดใช้ปัญญา

แต่เวลาพระปฏิบัติ ใช้คำว่า “พระปฏิบัติ” ทำไมถึงใช้คำว่า “พระปฏิบัติ” ล่ะเพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติของท่านมาก่อน ท่านค้นคว้าของท่านมาก่อน ท่านค้นคว้าจนประสบความสำเร็จของท่าน ประสบความสำเร็จ เวลาท่านปฏิบัติของท่านไป ท่านค้นคว้าของท่านไป แล้วท่านต้องสั่งสอนลูกศิษย์ของท่านไปด้วย

เวลาหลวงปู่มั่นท่านทิ้งหมู่คณะมาอยู่ถ้ำสาริกา พอท่านได้สัมผัสธรรมๆ นี่เวลาในประวัติของหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าท่านได้สกิทาคามี ได้อนาคามีที่ถ้ำสาริกา ท่านเป็นห่วงเป็นใย ท่านคิดถึงพระ ท่านคิดถึงลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็กลับไปสอนที่ภาคอีสาน เวลากลับไปสอนแล้ว ไปสั่งไปสอน ไปได้ลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะเลย

หลวงปู่เกิ่ง หลวงปู่เกิ่งเป็นอุปัชฌาย์ วัดทั้งวัดเลย ญัตติจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุตเลย วัดทั้งวัด หลายวัดเขาญัตติใหม่หมด พอญัตติใหม่หมด ท่านก็สั่งสอนเป็นภาระมันก็เกิดขึ้น พอภาระมันเกิดขึ้น ท่านบอกว่า “กำลังยังไม่พอกำลังยังไม่พอ” คือท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านยังไม่สิ้นกิเลส ท่านถึงหาอุบายเอาแม่ไปส่งที่อุบลฯ แล้วบอกว่าสุดท้ายแล้วท่านก็หนีขึ้นไปเชียงใหม่ ท่านไปสำเร็จที่เชียงใหม่

เราจะบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านต้องปฏิบัติไปด้วย ค้นคว้าพยายามปฏิบัติของท่านเองด้วย แล้วต้องสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไปด้วย แล้วพอท่านค้นคว้าของท่านมาขนาดนั้น เราถึงบอกว่า ทำไมบอกว่าพระปฏิบัติ

อ้าวก็ปฏิบัติจากแนวทางของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แต่ในภาคปฏิบัติแล้วในสังคมทุกสังคมมีผู้ปฏิบัติแล้วเข้าถึงธรรม ผู้ปฏิบัติแล้วพยายามขนาดไหน แต่จิตใจยังเข้าไม่ถึงธรรม ถ้าเป็นสุภาพบุรุษก็บอกว่าเราปฏิบัติ เราขวนขวายอยู่ เราขวนขวายอยู่ แต่มันยังไม่ได้มีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าเรายอมรับสภาพแบบนั้น เราก็เป็นสุภาพบุรุษ เราซื่อสัตย์ เรามีสัตย์ ถ้าเรามีสัตย์ เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติไป

เรามีหมู่คณะเยอะ ท่านปฏิบัติ แล้วท่านพูดกับเราเอง บอกว่า “หงบเอ้ย เราปฏิบัติมันยังไม่ได้คุณธรรมสิ่งใดหรอก แต่เราก็พยายามขวนขวายของเราเพื่อให้ภพชาติมันสั้นเข้า

ให้ภพให้ชาติมันสั้นเข้า เรายังไม่สามารถตัดภพตัดชาติ แต่เราก็พยายามจะให้ภพให้ชาติสั้นเข้า” คือท่านก็ยังซื่อสัตย์กับการประพฤติปฏิบัติ ซื่อสัตย์กับคุณธรรม

อวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมไม่มีในตน แล้วแสดงออกไป มันเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม เห็นไหม ถ้าครูบาอาจารย์ท่านมีสัตย์ มีสัจจะความจริง นี่พูดถึงภาคปฏิบัติ

ทีนี้เวลาภาคปริยัติ เวลาปริยัติเวลาศึกษาไปแล้ว เขาศึกษามา แล้วเขาก็กำหนดของเขาตามแนวทางสติปัฏฐาน  ตามแนวทางในพระไตรปิฎก นั้นมันเป็นวิธีการ เขาให้ศึกษา ศึกษามาเป็นปริยัติ ศึกษามาเป็นความรู้ เป็นทางวิชาการ แล้วเวลาปฏิบัติแล้ว เวลาปฏิบัติต้องมาเริ่มต้นใหม่เลย

เวลาเริ่มต้นใหม่นะ ดูสิ โปฐิละ โปฐิละใบลานเปล่า ใบลานเปล่า เห็นไหมศึกษามา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ ก็เหมือนกับครูบาอาจารย์ องค์กรต่างๆ ที่มีคนศึกษาเยอะๆ อย่างนี้ แต่เวลาไปกราบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” การศึกษาเปล่าๆ

ทีนี้ในการศึกษาเปล่าๆ แต่เรามีครูบาอาจารย์ มีสายหลวงปู่มั่นปฏิบัติใช่ไหม เราก็พยายามจะค้นคว้า พยายามปฏิบัติไง

รู้เท่าทัน รู้ทั่วพร้อมไปหมดน่ะ แต่ไม่มีสมาธิ ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีความจริงเป็นสติปัฏฐาน  ปลอมๆ นึกเอา คาดหมายเอา จินตนาการเอา แล้วก็สำคัญตนยกตนว่าเป็นผู้มีคุณธรรม แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติปฏิบัติไม่ได้เพราะเขามีความอยาก พวกที่ปฏิบัติ พระปฏิบัตินี่ปฏิบัติไม่ได้หรอก เพราะเขามีความอยาก เขาไม่รู้จริง เขาไม่ใช้ปัญญา...นี่เขาสำคัญตนของเขาไป

แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอน โปฐิละ โปฐิละใบลานเปล่า ใบลานเปล่า เวลาโปฐิละใบลานเปล่า เวลาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า “ใบลานเปล่ามาแล้วหรือ ใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ” แต่ในปัจจุบันนี้ใบลานเปล่ามันบอกว่ามันเป็นวิปัสสนาจารย์ มันมีความรู้มีความเห็นทั้งนั้นน่ะ มันคิดเอาเอง

แต่เวลาโปฐิละเขามีสติมีปัญญา ถ้าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าต้องมีเหตุผล ก็เลยไปสำนึกได้ สำนึกได้ก็เลยไปแอบ แอบออกจากวัด หนี หนีจะไปวัดปฏิบัติ เวลาไปวัดปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เพราะพระปฏิบัติเขารู้ถึงกิเลส

อาจารย์นะ เจ้าอาวาสเป็นพระอรหันต์ อู้ฮูพระป่ามันอยู่ป่าอยู่เขา มันไม่มีการศึกษา มันจะไปสอนได้อย่างไร เรียนจบมาเป็นใบลานเปล่า เรียนจบปริยัติมาอู้ฮูร้อยประโยคเลย จะไปสอนได้อย่างไร ก็จะลดทิฏฐิไง บอกว่า “เราสอนไม่ได้เราไม่มีปัญญา” ก็ไล่ไปเรื่อย องค์ที่สองก็ไล่ รับไม่ได้ องค์ที่สามก็รับไม่ได้สุดท้ายก็เณรน้อย

พอเณร เณรก็เป็นพระอรหันต์ เวลาเป็นพระอรหันต์นะ อ้าวเณร อาจารย์บอกว่าเณรก็ลองดูก่อนไง ลองรับไว้ พอเณรรับไว้ เณรฉลาด เพราะพระอรหันต์ถ้าอย่างนั้นรับไว้ก็ได้ แต่ลดทิฏฐิก่อน เราจะเอาไม้ไผ่ ให้ห่มผ้าไปเอาไม้ไผ่

คนมีทิฏฐิมานะขนาดนั้นเป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง ต้องมาตัดไม้ไผ่ให้เณรน่ะ แต่ต้องห่มผ้าเข้าไปด้วยนะ ห่มผ้าเข้าไป ผ้าก็ต้องขาด ไปเกี่ยวกับหนามไผ่ก็ขาดหมดน่ะ ต้องห่มผ้าเข้าไป

โดยทางวิชาการ โดยหลักการ มันเป็นไปไม่ได้ที่ห่มผ้าแล้วไม่ให้หนามเกี่ยวมันเป็นไปไม่ได้หรอก คือพูดสิ่งที่เป็นไปได้ แต่คนที่มีปัญญามากก็ต้องคิดว่าเขามีปัญญา เขาก็ต้องดื้อดึง เขาก็ต้องไม่ไปใช่ไหม แต่นี่ก็ด้วยปัญญาของเขา เขาก็ยอมลงตนลงใจไป พอไปถึงเข้าใกล้ๆ กอไผ่ เณรบอกว่า “ไม่เอาแล้วล่ะ ให้กลับมา” เขาดูว่าจิตใจมันยอมลงหรือไม่ สุดท้ายแล้ว “อย่างนั้นเราจะเอาของในน้ำ ให้ห่มผ้าลงน้ำไปเลย” ก็ห่ม ก็จะไปเหมือนกัน “อ้าวไม่ต้องไป ไม่ต้องไป พอแล้วแหละ” แสดงว่าเชื่อฟัง นี่ไง คำว่า “ลงใจๆ

ถ้ามันไม่ลงใจ ปฏิบัติไปเถอะ เอ็งพูดไปอย่าง กูก็ทำของกูไปอย่างไง เอ็งบอกอย่างนี้ กูจะไปทางนู้นน่ะ เอ็งบอกอย่างนู้น กูจะไปทางนั้นน่ะ มันไม่มีทางหรอก ความคิด โธ่!

สุดท้ายพอเขาลงใจ อ้าวจะสอนแล้ว พอจะสอนนะ “ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก มีรูอยู่  รู ปิดรูซะ  รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้รูหนึ่งคือใจ คอยจับเหี้ยตัวนั้น” นี้คือทำความสงบ นี้คือสมถะ กำหนดไง กำหนดทั้งหมด

เวลาเขาคัดค้านไง ผู้ที่ใช้ปัญญาๆ เขาบอกว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ ปัญจวัคคีย์ ไม่ได้สอนสมาธิเลย

 ปีที่ปฏิบัติอยู่กับเจ้าชายสิทธัตถะนั้นทำสมาธิหรือไม่ คนที่มีสมาธิอยู่แล้วเขาไม่ต้องสอน เขาใช้ปัญญาไปเลยไง

เวลาบอกว่า “ไม่ได้ทำสมาธิเลย ไม่ได้กำหนดพุทโธเลย ไม่ต้องทำอะไรเลยพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเป็นพระโสดาบันเลย

แล้ว  ปีทำอะไรอยู่  ปีน่ะ นี่ไง คนที่ใช้สมาธิแล้วท่านก็สอนปัญญาไปเลยคนที่ยังไม่ได้สมาธิ ท่านก็ให้ทำให้ได้สมาธิก่อน พอได้สมาธิแล้วท่านถึงสอนใช้ปัญญาไป ถ้าใช้ปัญญาไป เวลายกขึ้นสู่ปัญญาอีก ยกไม่เป็นอีก

ไม่ได้สมาธิก็ไม่เคยจิตสงบเลย พอจิตสงบแล้วก็ติดในสมาธิ สมาธิคือนิพพาน แล้วก็มาพูดมาถากมาถางกัน “สมาธิก็หินทับหญ้า สมาธิมันแก้กิเลสไม่ได้

ไม่มีสมาธิ เอ็งทำอะไรไม่ได้แล้วกันแหละ

นี่มันจะย้อนกลับมาที่คำถาม เพราะคำถามอย่างนี้มันถึงพยายาม วันนี้จะมาเรียนธรรม เรียนธรรมคือเรียนสัจจะความจริง

ถ้าเราเรียนธรรมนะ เรียนธรรมโดยกิเลส เวลาเรียนธรรมโดยกิเลส พอศึกษาธรรมะแล้วว่าเข้าใจๆ นี่ก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาผู้ที่ปฏิบัติ เราไม่ได้พูดถึงคนปฏิบัตินะ คำถาม ผู้ถามมานี่เรายกย่อง เรายกย่อง เราเห็นใจ เราเห็นใจหมายความว่า เขาปฏิบัติมา เริ่มต้นปฏิบัติมันก็มีความรู้ความเห็นอย่างนี้ จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่า

สิ่งที่คำถามถามมานี่ เขาคิดได้อย่างนี้ เวลาเราเทศน์เราก็เทศน์ มนุษย์ทุกข์เพราะคิด มนุษย์มีความทุกข์เพราะความคิด เราต้องดับความคิด แล้วดับความคิดจะดับที่ไหน นี่เวลาเขาปฏิบัติไป เขาใช้ปัญญา เขาก็เห็นเหมือนกัน เห็นไหมเวลามันพิจารณาไปแล้ว สิ่งที่มันเป็นกิเลส มันเป็นความทุกข์ มันเป็นสัญญาทั้งนั้นสัญญา เพราะมีสัญญามันเทียบเคียงมามันถึงมีความทุกข์ของเขา

นี่พูดถึงว่า เขาพิจารณาอย่างนี้ถูกหรือไม่

เริ่มต้นพิจารณาก็พิจารณาอย่างนี้ เพราะกิเลส ปัญญาอย่างหยาบๆ มันก็เป็นอย่างนี้ ปัญญาอย่างหยาบส่วนใหญ่แล้วมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาเท่าทันความคิดของตน ถ้าปัญญาเท่าทันความคิดของตน คิดก็ทุกข์ไง ที่มันฟุ้งซ่าน มันคิดอยู่นี่ก็ทุกข์ไง แล้วถ้ามันเท่าทันความคิด มันก็หยุดไง ถ้าหยุดแล้วมันดีไหม ก็ดีไง แต่ความดีก็ส่วนความดี

ทีนี้มันเป็นบอกว่า ที่เขาใช้ปัญญา ที่เขาถามมานี่ เขามีความเห็นของเขา เขาบอกถูกไหม

เราจะบอกว่า ถ้าเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ มันก็มีความรู้ความเห็นแบบนี้ เหมือนกับเราฝึกหัดใหม่ๆ ก็ .ไก่ .กา เราก็หัดเขียนให้เป็นไง ถ้าเขียน .ไก่ .กาแล้ว เราผสมคำได้ต่อเนื่องไป มันก็จะเป็นคำมากขึ้นไปไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติอย่างนี้ถูกไหม ถูก ใช้ได้ไหม ได้ แต่ทีนี้ความเห็นถ้าคำว่า “ใช้ได้” แสดงว่าเราก็ต้องยอมรับใช่ไหมว่าสังขารมันเป็นมาร...ไม่ใช่

เขาบอกเลย เขาเห็นว่าสังขารมันคือมาร

เวลาถ้าความคิดหยาบๆ ก็คิดเพราะความทุกข์นี่ไง แต่สังขารมันเป็นมารที่ไหน ความคิดมันเป็นมารหรือ ไม่เป็นหรอก ความคิดไม่ใช่มาร มารคือมารกิเลสคือกิเลส

ฉะนั้น เวลาคนที่ปฏิบัติจริงๆ เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ ท่านบอกให้ทำใจให้สงบก่อน พอใจสงบมันจะรู้เลยว่าใจฟุ้งซ่านกับใจสงบมันแตกต่างกันอย่างไร ถ้าใจมันสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา

เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว เห็นไหม ใช้ปัญญา ปัญญาก็สังขารนั่นแหละ แต่มีสมาธิรองรับ สมาธิมันรองรับ มันก็เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะว่ามันไม่มีตัวตนไม่มีเราบวกเข้าไป แต่ถ้าเป็นความคิดของเรา เราคิด เรารู้เราเห็น เราอยากได้เราต้องการ เพราะตัวเราเข้าไป นี่เขาเรียกสมุทัย

สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากปลอมปนเข้าไปกับความคิด เพราะสมุทัย ตัณหาความทะยานอยากปลอมปนเข้าไปกับความคิด มันถึงได้ทุกข์ได้ยาก

ในปัจจุบันนี้ถ้าเราไม่ได้ทำสมาธิเลย มันไม่ใช่ปลอมปน มันตัวมันเองเลย ตัวมารเลย ไอ้ที่คิดๆ อยู่นี่มารทั้งนั้นน่ะ เพราะมารมันพาคิด คิดธรรมะก็ตรึกในธรรมะ มันก็มารทั้งหมด ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วมันจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความคิดมันเป็นมารไหม

เป็น เป็นตอนที่เป็นปุถุชนนี่ไง แต่เวลาเป็นพระอรหันต์นะ มันเป็นภาระ มันไม่ใช่กิเลสเลย ขันธ์  ไม่ใช่กิเลส เวลาธรรมะลึกๆ ธรรมะที่สูงส่ง รูปอันวิจิตรเสียงอันวิจิตร สรรพสิ่งในโลกนี้ สิ่งที่เป็นอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส กิเลสคือตัณหาความทะยานอยากของเราต่างหากเป็นกิเลส ความคิดก็ไม่ใช่กิเลส สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่กิเลส เพราะความคิดมันมีไง

ถ้าความคิดมันมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ ปี ท่านใช้อะไรสื่อสารกับเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับเรา นั่นน่ะ สังขารทั้งนั้นน่ะในพระไตรปิฎกผ่านจากสังขารมาทั้งนั้นน่ะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูดออกมา ใครจะจดจารึกมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดออกมา คำพูดมันผ่านอะไรออกมา มันเป็นกิเลสหรือเปล่า ไม่เป็น แต่ของเราเป็นไหม เป็น ขันธมารไง ปุถุชนนี่เขาเรียกขันธมาร ขันธ์มาร แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ขันธ์นี่ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ไง

แล้วขันธ์สะอาดบริสุทธิ์มีหรือ

ถ้ามันจะมาวิเคราะห์กันทางวิทยาศาสตร์ ถ้าขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ แล้วขันธ์ของเราล่ะ ขันธ์  มันสะอาดบริสุทธิ์ที่ไหน สะอาดบริสุทธิ์เพราะมันเป็นภาระภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เป็นเศษไง สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่นี่ มีชีวิตอยู่เพราะมันมีขันธ์ แต่อนุปาทิเสสนิพพาน เพียวๆ เลย สุดไปเลย เพราะมันทิ้งเศษส่วน ทิ้งสิ่งที่เหลือ

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม เรามีกิเลสใช่ไหม พอเราประพฤติปฏิบัติเป็นพระอรหันต์ไปแล้วเราก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ใช่ไหม เรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม แต่ใจเป็นพระอรหันต์ ธรรมธาตุอันนั้นเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แต่ชีวิตยังเหลืออยู่ ๔๕ ปีของพระพุทธเจ้า นี่เศษ เศษที่เหลือกับวัฏฏะ แต่พอตายอีกทีหนึ่งหมดเลย เศษไม่มีเหลือ ทิ้งเศษไปเลย เศษอันนั้นกับความคิดเรามันเป็นกิเลสหรือเปล่า มันไม่ได้เป็น

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า เวลาเขาพูดมันถูกไหม ถ้ามันถูก ถูกแบบตามตำรับตำราถูกแบบเริ่มต้นปฏิบัติ มันก็มีความคิดอย่างนี้ มันก็คิดของมันได้ แต่ถ้ามันเป็นความจริง คำถามไง คำถามว่า เขาถามอย่างนี้มันถูกไหม

ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน เขาบอกสัญญาที่ไม่ไปยุ่งกับมันก็กองอยู่นั่นน่ะ แต่เพราะสังขารไปหยิบมาปรุงเอง นอนมันยังฝันน่ะ เวลานอนมันยังฝันเลย แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันมีความคิดอย่างนี้ มันมีความคิดแล้วมันมีจินตนาการ มันรู้ได้ นี่จินตมยปัญญา

สิ่งที่เขาคิดอย่างนี้ถูกไหม ถูก แต่ทำซ้ำๆ ไป ใช้สติปัญญาไป

วันนี้เขียนมาถาม แล้ววันนี้เราตอบ พอเราตอบแล้วเขาต้องฟังในเว็บไซต์แล้วเขาก็ต้องไปจินตนาการ เดี๋ยวพรุ่งนี้ความคิดแปลกๆ มาเยอะแยะเลย เพราะอะไร เพราะเราเป็นคนชี้ทางให้ แต่เดิมมันคิดเอง พยายามคิดของตัวเองก็มีความสามารถเท่านี้ แต่นี้พอถามไปหาหลวงพ่อ “หลวงพ่อ สิ่งที่ถามมานี่บอกว่าถูกไหม

เราเห็นด้วย เห็นด้วยเพราะอะไร เพราะว่าเวลาเราเทศน์ เราเทศน์กับประชาชนทั่วไป เราก็เทศน์อย่างนี้ เทศน์แบบคำถามนี่ ที่ไหนมีความคิด ที่นั่นมีความทุกข์ เราก็เทศน์อย่างนี้ เพราะอะไร เพราะประชาชนเขารับรู้ได้แค่นั้น ไปเทศน์เรื่องดาวอังคาร ไปเทศน์เรื่องจักรวาล เขาไม่ต้องการ เขาไม่รู้กับเราหรอก

เวลาเราเทศน์ เราก็เทศน์อย่างนี้ เทศน์เพราะเรามีความคิด เราทำให้เราทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วเราค่อยไปพิจารณา แล้วพอพิจารณาเข้าไป เพราะมันเป็นความจริงมันไม่เป็นอย่างนี้แล้ว มันไม่เป็นอย่างนี้

เวลามันปล่อยขึ้นมา มันปล่อยขึ้นมาเพราะอะไร เพราะขันธ์มันไม่ใช่กิเลสอ้าวถ้าขันธ์มันเป็นกิเลส เวลาเราไม่คิด เราต้องไม่มีกิเลสสิ อ้าวเวลาเราเข้าสมาธิมันก็เป็นพระอรหันต์ใช่ไหม เพราะมันไม่คิดอะไรเลย แล้วเป็นไหม ไม่เป็น

กิเลสมันไม่ใช่ขันธ์ แต่มันอาศัยขันธ์ออกไปหาเหยื่อ มันอาศัยขันธ์ไปคิดทำลายคนอื่น ขันธ์  มันมีอยู่แล้วใช่ไหม เหมือนถนน แต่รถเราวิ่งไปบนถนนไงจิตนี้มันคือรถนั้น แต่รถมันจะวิ่งที่ไหน มันก็ต้องวิ่งไปบนถนนนั้น สังขาร ความคิดความปรุง ความแต่ง จิตมันวิ่งผ่าน มันอาศัยขันธ์ เห็นไหม ขันธ์ไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสมันอาศัยขันธ์นี้ออกไปทำดีทำชั่ว

แล้วเวลาจิตเราสงบแล้ว เวลาปัญญามันเกิดขึ้น มันก็เป็นสังขารนี่แหละ แต่มันมีสมาธิ สมาธิมันเป็นตัวกรอง ตัวดักกั้นไม่ให้กิเลสมันคิดตามสะดวกของมันทีนี้พอไม่มีความคิดตามสะดวกของมัน เวลามันคิดในธรรมะ มันตรึกในธรรมะ นี่ไง วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง

วิปัสสนามันก็เป็นสังขารนี่แหละ แต่สังขารที่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน

ศีล สมาธิ ปัญญาไง เพราะมันมีศีล ศีลคือความปกติของใจ ถ้ามันเป็นสมาธิแล้ว เวลามันยกขึ้นสู่วิปัสสนามันจะเกิดปัญญา แล้วปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นโดยสัมมาสมาธิ เวลามันเกิดปัญญา มันจะทะลุทะลวง คิดพิจารณาสิ่งใดมันจะทำลายหมด มันจะเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด

แต่สมาธิมันอ่อนลง สมาธิมันเริ่มกำลังน้อยลง คิดเหมือนโลกแล้ว คิดไปคิดมามันวกวน มันคิดยอกย้อน มันไปไม่ได้ ถ้ากลับมาทำความสงบ พอมีความสงบขึ้นมามันไปได้แล้ว ถ้าคนภาวนาเป็น ฉะนั้น สิ่งที่พิจารณาไปมันจะลึกกว่านี้

ทีนี้คำถามเขาถาม เราถึงชมไง ชมว่าถ้าเขาทำอย่างนี้มันเป็นแบบว่า พอเขาปฏิบัติไปแล้ว นี่เขาเรียกปัจจัตตัง คือเขารู้เขาเห็นด้วยความเป็นจริงไง ถ้าความเป็นจริง เราเรียนภาคปริยัติมา ปริยัติเป็นปริยัติ ศึกษามาขนาดไหนเป็นปริยัติ ถ้ายังไม่ได้กระทำ จะไปจำความรู้ จะไปถ่ายรูปใครมา จะไปถ่ายธรรมะใครมา ก็ของเขา ไม่ใช่ของเรา

ถ้าเป็นของของเรามันต้องเกิดจากจิต เกิดจากปัจจัตตัง เกิดจากสันทิฏฐิโกเกิดจากการกระทำนี้ ถ้ามันทำอย่างนี้ได้มันเป็นจริงไง มันเป็นจริงเพราะเขาทำแล้วเขารู้เขาเห็น พอความจริงแล้วมันเท่าทัน

บอกว่า “สิ่งที่เราทุกข์เรายากเพราะเราไปหยิบไปฉวยมันขึ้นมาเอง ถ้าอารมณ์จากการปรุงการแต่ง ปรุงแต่งแล้วก็ตกที่จิต ความจริงแม้แต่จิตมันก็อยู่ของมัน แต่สังขารไปจำ ไปทำให้มันเคลื่อนสูงๆ ต่ำๆ

สูงๆ ต่ำๆ ตัวจิตมันก็สูงๆ ต่ำๆ

เหมือนกับจะค้านเขาทุกข้อเลย

ตัวจิตมันก็สูงๆ ต่ำๆ คำว่า “สูงๆ ต่ำๆ” หมายความว่า เวลามันเข้าไปนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส เดี๋ยวก็เศร้าหมอง แม้แต่เป็นตัวจิตมันก็สูงๆ ต่ำๆ ถ้าสมาธิมันดีมันเป็นแท่งเลยนะ ใสแหนวเลย พอเวลามันเสื่อมขึ้นมามันเศร้าหมอง เห็นไหม

ตัวจิตมันก็สูงๆ ต่ำๆ เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวสมาธิมันมั่นคง สมาธิมันคลอนแคลน เดี๋ยวมันออกจากสมาธิมามันก็สูงมันก็ต่ำเหมือนกัน ค่อยๆ ทำไป

เราชมคนถามนะ ไม่ได้ติเตียนเลย ชมคนถาม แต่มาพูดให้เห็นชัดๆ ว่าในภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติมันแตกต่างกันอย่างไร ถ้าในภาคปริยัติ สิ่งที่เขียนมาสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันมีอยู่ในตำราหมดแล้ว แล้วเราก็ทำครบสมบูรณ์แล้ว พอทำครบสมบูรณ์ ทำจบกระบวนการแล้ว เราฟังมา เราฟังมาในฝ่ายปฏิบัติในอภิธรรมเขาพูด “ถ้ารู้จริงเห็นจริงแล้วเป็นพระโสดาบัน ถ้ารู้จริงเห็นจริง

เขาพูดของเขา เขาพูดกันเองว่าเป็นพระโสดาบัน เขาให้เครดิตกัน แต่คนที่ได้เครดิตแล้วเขาก็ยังงงๆ อยู่นะ เพราะมันไม่เข้าใจความเป็นโสดาบันหรอกเพราะอะไร เพราะว่ามันศึกษามา

แล้วพอเขามาฟังเทศน์เราบ้าง เขามาหาเรา เขาคุยกับเราไง เขาบอกว่า “ไอ้ที่เขาให้โสดาบันๆ มันไม่ใช่หรอก” เขาพูดเอง มีคนมาคุยกับเรา เขาบอกว่า “ในความเชื่อถือของพวกเขา เขาบอกว่าเป็นโสดาบัน ถ้าส่งอารมณ์รับอารมณ์กันได้นี่เป็นโสดาบัน” แต่พอมาฟังเทศน์เรานะ เขาบอกว่ามันไม่ใช่หรอก พอไม่ใช่แล้วเขายอมรับไง

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาๆ ศึกษามาอย่างนี้ แล้วเวลาปฏิบัติของเขาก็ปฏิบัติตาม เขาภูมิใจ ภูมิใจว่าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เขาภูมิใจ แต่ในตำราพระพุทธเจ้าบอกว่า ศึกษาไว้ แล้วออกปฏิบัติ เวลาปฏิบัติต้องวางการศึกษานั้นให้ปฏิบัติเป็นจริงขึ้นมา

เป็นจริงขึ้นมาคือเป็นขึ้นมาจากจิต ถ้าเป็นจริงขึ้นมาจากจิต ก็อย่างที่เราพูดนี่ถ้ามันเป็นสังขาร สังขารมันไม่ใช่กิเลสหรอก แต่เพราะเราทุกข์เพราะมาร เพราะมันเป็นถนนหนทาง ทางเดินของจิต มันเป็นการออกไปหาเหยื่อ ออกไปทำความทุกข์ ออกไปทำความทุกข์ร้อนกับจิต แต่จิตมันเป็นจิต แต่มันต้องอาศัยสังขารมันถึงแสดงตัวได้ ถ้าจิตมันเป็นจิต

หลวงตาท่านเปรียบว่า จิตนี้มันเหมือนน้ำใสอยู่ในแก้ว ถ้าไม่เติมสีเติมอะไรเราจะไม่รู้ว่าในแก้วมีน้ำหรือไม่มีน้ำไง จิตถ้ามันไม่มีสังขาร ไม่มีความคิด มันก็แสดงตัวไม่ได้ จิตมันก็อาศัยความคิด อาศัยนี้แสดงตัวออกมา แสดงตัวออกมาแล้วตัวจิตมันมีกิเลสไง พอแสดงออกไปแล้วมันก็แสดงตามใจของมันไง

แต่ถ้าเรามีสมาธิๆ เวลามันจะแสดง เราบิดมัน แสดงให้เป็นธรรมไง ที่ธรรมเกิดๆ ไง เพราะมีสมาธิแล้ว มีสมาธิมันจะแสดงตัวตามกิเลสไม่ได้ไง เพราะมันรู้ว่าผิด ผิดศีลผิดธรรม ถ้ามันถูก มันถูกก็เป็นมรรคไง มันก็เข้าของมันไง นี่ถ้าภาคปฏิบัติ

ฉะนั้น เขาบอกว่า “เพราะว่าสังขารมันไปจับมา มันสูงๆ ต่ำๆ สูงๆ ต่ำๆ ผมว่าจิตมันเป็นปัจจุบันตลอด

มันเป็นปัจจุบันตลอด แต่มันพึ่งตัวเองไม่ได้ มันเป็นปัจจุบันตลอด เพราะมันมีอวิชชายางเหนียว มันถึงแปะเขาไปทั่วไง จิตมันทรงตัวอยู่ไม่ได้ จิตมันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะจิตมันทรงตัวอยู่ไม่ได้ มันไม่เคยตาย แต่มันทรงตัวมันอยู่ไม่ได้พอทรงตัวอยู่ไม่ได้ มันก็มีตัณหาความทะยานอยาก ครอบครัวของมารชักนำกันไป มาศึกษาธรรมะก็ศึกษาด้วยสิ่งนี้ ศึกษาด้วยอย่างนี้ ฉะนั้น พอศึกษาแล้วเข้าใจแล้ว เราต้องทำสมาธิของเราไง

เขาบอกว่า “ผมว่าจิตนี้มันเป็นปัจจุบันตลอดเวลาจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอดีตอนาคตเลย มีแต่สังขารนี่แหละที่เป็นมาร

ตัวมันเองมันเทียบอยู่ไม่ได้ ตัวมันเป็นคือตัวอวิชชานะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสจิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ตัวจิตเดิมแท้นั่นน่ะคือตัวอวิชชา เพราะมันเป็นปัจยาการ คำว่า “ปัจยาการ” อิทัปปัจจยตากับขันธ์  คนปฏิบัติไปแล้วมันจะรู้จะเห็นไง

ทำไมถึงมีสติ มหาสติ ตัวความคิด ความปรุง ความแต่งเป็นสังขาร พอสังขารมันขาดเป็นชั้นเป็นตอน พระโสดาบัน ขันธ์  ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ สังขารไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สังขาร สังขารไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่สังขาร ในสักกายทิฏฐิ ๒๐ สังขารไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในเรา เราไม่มีในสังขารมันเป็นเราไหม ถ้ามันไม่เป็นเรา ถ้าสังโยชน์มันขาด สังโยชน์มันขาด แล้วขึ้นไปเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี มันเป็นจบที่นั่นเลย เพราะมันไม่มีปฏิฆะ ไม่มีกามราคะ ปฏิฆะ กามราคะ

ปฏิฆะ กามราคะ ถ้าพูดถึงปุถุชนนะ สิ่งที่มันเป็นกามเพราะมันต้องถูกสเปกชอบไม่ชอบ กามมันเกิดตรงนั้น ถ้าเวลามันขาดหมด พระอนาคามี จริงๆ แล้วขันธ์  มันไปขาดจบตรงนั้นเลย ถ้าจบตรงนั้นแล้ว ต่อไปอิทัปปัจจยตาเกิดตรงนู้นน่ะ แล้วอิทัปปัจจยตา ถ้าใครรู้จริงใครเห็นจริง อยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วตรงนั้นน่ะ ตรงนั้นน่ะมันไม่ใช่ขันธ์ ไม่ใช่อะไรเลย แล้วมันจะสูงๆ ต่ำๆ ไหม โอ้โฮถ้าปฏิบัติไปแล้วนะ ปฏิบัติไปมันมหาศาล ฉะนั้น เวลาเริ่มต้น เวลาปฏิบัติเริ่มต้นขอให้มันเป็นจริงเถอะ

ฉะนั้นที่ว่า “สังขารนี่แหละมันเป็นมาร

ถ้าเป็นโดยทั่วๆ ไป ถ้าเป็นโดยทั่วไปคือเป็นเราคุยกันภาษาประชาชนเนาะเราก็ว่า เออใช่ สังขารเป็นมาร ใช่ เราก็ว่าใช่ไปด้วยแหละ แต่ถ้าภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนี้เลย ถ้าปฏิบัติเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ลึกกว่านี้เยอะเลย มันทิ้งขันธ์หมด ทิ้งทุกอย่างหมดเลย มันจะเป็นอิทัปปัจจยตา มันจะเป็นตัวมันอยู่นู่น นั่นแหละจิตเดิมแท้ ตัวนั้นน่ะ ถ้าถึงตัวนั้นแล้วมันจะเป็นประโยชน์

ฉะนั้นบอกว่า “สังขารเป็นมารหรือไม่

ถ้าเราเป็นประชาชนด้วยกันบอกใช่ แต่ถ้าเราคุยกันในวงกรรมฐาน “เอ็งมีความรู้แค่นี้หรือ” หลวงตาท่านพูดไง เวลาท่านปฏิบัติของท่าน ท่านบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่นเสียไปแล้วท่านจะหาคนที่ชี้นำ แล้วตอนที่ท่านติด  เดือนนะ ท่านไปทั่วนะ คิดดูสิ ท่านไปได้สติ ได้กำลังใจจากหลวงปู่กงมา บอกว่า “ปฏิบัติไป  ปีจะจบ นี่ก็  ปีแล้ว” หลวงปู่กงมาบอก “เฮ้ย ปีมันต้องเข้าพรรษานู่น

ท่านจะไปได้กำลังใจจากผู้ที่แนะนำที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วเวลาไปฟังจากคนอื่นมานะ คนอื่นเวลาพูดไป เบี้ยหัวแตก จับต้นชนปลายไม่ได้ ท่านบอกว่า “มีความรู้แค่นี้หรือจะมาสอนเรา” เพราะจิตใจเรามันผ่านมาหมดแล้ว คำพูดอย่างนั้นน่ะเราได้ผ่านมาหมดแล้ว แล้วเขายังมาพูดถึงไอ้ปัญหาเบสิก ปัญหาพื้นๆ แล้วเอามาพูดเป็นชิ้นเป็นอันน่ะ ทุเรศ แต่คนมันเป็น มันเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงในวงกรรมฐานก่อน

เพราะเวลาเราพูด เขาลงในเว็บไซต์ คนฟังเรามันเยอะไง ตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุดก็ฟังเว็บไซต์อยู่ เดี๋ยวไอ้คนสูงสุดบอก “เออเราก็เชื่อไอ้หงบมันมานาน คราวนี้มาตอบปัญหานี่หมดเลย แสดงว่ามันก็ไม่มีกึ๋นเลยนะไอ้หงบนี่

ที่พูดอยู่นี่เพราะกลัวคนที่เขามีปัญญาเขาฟังแล้วเขาจะเสียใจ แต่ถ้าเป็นคนที่ปฏิบัติใหม่ มันก็เห็นใจว่าปฏิบัติแล้วมันก็เป็นอย่างนี้

ถ้าสังขารเป็นมารใช่ไหม ใช่

แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติเข้มข้นเขาบอกว่า มันจะเป็นมารได้อย่างไร ความคิดน่ะความคิดมันก็เป็นสสารอันหนึ่ง มันก็เป็นธาตุอันหนึ่ง มันจะเป็นกิเลสไปได้อย่างไรตัวกิเลสมันอยู่ที่จิตนั่น ตัวอวิชชานั่น เจ้าวัฏจักรนั่น แล้วมันส่งมาเป็นชั้นๆๆ นั่น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาบอกว่าสังขารนั่นแหละมันเป็นมาร

เวลาทำไปแล้ว สิ่งจริงๆ แล้ว เวลาอยู่ที่อารมณ์ที่มันเสวย เพราะมันทำแล้วไงสุดท้ายแล้วเขาบอกว่า “กิเลสมันเกาะที่จิตที่มีมากน้อยเพียงใด ในความปัจจุบันของจิตนั้น ตัวจิตต่างๆ

ค่อยๆ ทำไป เพราะคำพูดตรงว่ากิเลสมันอยู่ที่จิต แล้วว่าจิตมันเป็นปัจจุบัน...มันส่งออกหมด มันเป็นปัจจุบันไม่ได้ แต่เราพยายามจะทำให้มันเป็นปัจจุบัน

ความเป็นปัจจุบันคือมันมีสมาธิใช่ไหม พอมีสมาธิ มันก็เป็นปัจจุบัน เพราะเป็นสมาธิไง เพราะสมาธิทำให้เป็นปัจจุบัน แต่ถ้าคลายออกจากสมาธิไปแล้วมันส่งออก คือความรู้สึกมันส่งออกตลอด มันก็มีอดีตอนาคตในตัวมันเองนั่นน่ะ

ฉะนั้น เวลาอรหัตตมรรค หลวงตาท่านพูดไว้ เวลายกขึ้นให้จิตเป็นมัธยัสถ์จิตเป็นมัธยัสถ์นั่นคือตัวปัจจุบัน ขณะที่เราใช้ปัญญากันในโสดาบัน ในสกิทาคามีในอนาคามี มันยังเคลื่อนเลย เคลื่อนเพราะอะไร เพราะสังขารเกิดจากจิต เพราะจิตมันต้องส่งออกไป

แต่เวลาขึ้นไปถึงตัวอวิชชา เห็นไหม ให้จิตมันเป็นมัธยัสถ์ ให้มันเป็นกลางเป็นปัจจุบันไหม แต่ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญาจะตั้งมันได้ไหม เพราะเราตั้งไม่ได้ มันไปหมด มันไปหมด มันเป็นปัจจุบันไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบันได้ อรหัตตมรรคนู่นมันจะเริ่มเป็นปัจจุบัน อรหัตตมรรค

แต่ของเรา ไอ้นี่เราพูดกัน ไอน์สไตน์เขาตายไปร้อยกว่าปีเพิ่งพิสูจน์กัน ไอ้คลื่นโน้มถ่วงน่ะ ร้อยกว่าปีเพิ่งพิสูจน์ได้ ไอ้นี่ภาวนาไปก่อน เดี๋ยวพิสูจน์ได้ในใจของเรา ถ้าพิสูจน์ได้แล้ว โอ้โฮมันจะสุดยอดเลย วันนี้เรามาเรียนธรรมกันนะ

ฉะนั้น จริงๆ แล้วจิตนี้มันเป็นปัจจุบันเสมอ การดูแลจิตคือดูแลให้เป็นปัจจุบัน ชำระกิเลสในปัจจุบัน ผมเลยเน้นการพิจารณาการทำงานของสังขาร

ไอ้เน้นการพิจารณาการทำงานของสังขาร สังขารมันเป็นเงา สังขาร ที่ดูจิตๆดูความคิดที่เราโต้แย้งกับพวกดูจิต เขาบอกดูจิตๆ ดูความคิด

ความคิดก็คือเงาไง ความคิดเกิดจากจิต แล้วดูจิตตรงไหนล่ะ เราดูความคิดดูอารมณ์นะ อารมณ์นี้เกิดจากจิต

แล้วนี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่า “เน้นที่การพิจารณา การทำงานของสังขาร ผมพิจารณาอยู่นี่” เขาเน้นอยู่เพราะจะให้เป็นปัจจุบัน

ถ้าเริ่มต้นอย่างนี้ เราคิดว่านี่เป็นปัจจุบันแล้ว ก็เหมือนเด็ก เด็กเราบอกว่าเรามีความเร็วแค่นี้ จิตได้แค่นี้ มันก็เป็นปัจจุบันแล้ว ถ้าเป็นปัจจุบันมันก็เป็นปัจจุบันก็กับปุถุชนที่เขาไม่ได้ดูเลย เขาไม่รู้เลยปัจจุบันเป็นอย่างไร ปัจจุบันเขาดูเข็มนาฬิกานู่น ไอ้นี่ดูที่อารมณ์ อารมณ์ก็คือขันธ์  เขาเน้นพิจารณาที่สังขาร เขาบอกว่าจะให้เป็นปัจจุบัน พอมันปล่อยตรงนั้นมามันก็เป็นสมาธิ มันปล่อยมามันก็เป็นตัวจิต แล้วตัวจิตมันก็ยังหมุนในตัวมันเองนะ

นี่ไง ที่หลวงปู่ชาบอกว่า “น้ำนิ่งแต่ไหล น้ำนิ่งแต่ไหล

ไอ้เราไม่รู้เรื่องหรอก ไอ้น้ำนิ่งแต่ไหลนี่ ไอ้น้ำนิ่ง เราก็น้ำเน่าไง น้ำนิ่งก็กักไว้นั่นน่ะ รอออกซิเจนมันหมด มันจะได้เน่าไง

แต่ของหลวงปู่ชาท่านบอก “น้ำนิ่งแต่ไหล

เออเราฟังแล้วใช่ คนเป็นมันพูดอย่างไรมันก็พูดเป็นจริงๆ นะ จะพูดให้มันไม่เป็นมันก็เป็น ถ้าคนเป็น ไอ้คนไม่เป็นพูดอย่างไรมันก็ผิด ถ้าคนเป็น เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าเขาจะให้เป็นปัจจุบันเพราะจิตมันเป็นปัจจุบันอยู่แล้ว

ไอ้จิตเป็นปัจจุบันก็นิพพานมีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ด้วยวิทยาศาสตร์ ด้วยความคิด ด้วยความตรึก เราชมคนถามนะ เราชมที่ว่าเขาปฏิบัติไปแล้วเขามารู้มาเห็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่อง ไอ้ที่เขาปฏิบัติเป็นเรื่องการแผ้วถาง

เราจะพูดถึงการปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง การปฏิบัติเริ่มต้นต้องทำความสงบของใจ เหมือนกับเราจะทำไร่ไถนา เราต้องแผ้วถางที่ปลูกพืชของเรา การแผ้วถางก็ทำความสงบของใจไง

ที่เขาทำอยู่นี่คือการแผ้วถาง แผ้วถางไอ้อวิชชา แผ้วถางไอ้สติปัญญาที่มันเคยมีอยู่ แผ้วถางให้มันเวิ้งว้าง แผ้วถางให้มันสะอาดบริสุทธิ์ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวเราจะได้ปลูกมรรคปลูกผล ปลูกพืชพันธุ์ลงไปบนจิตของเรา

ที่ทำอยู่นี่มันแค่แผ้วถาง แล้วเดี๋ยวจะต้องชักน้ำเข้านาอีกนะ ยังต้องชักน้ำเข้านา ยังต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ข้าว จะปลูกข้าวพันธุ์อะไร แล้วปลูกแล้วยังต้องดูแลมันอีก โอ้โฮ!

พูดนี้ไม่ใช่พูดให้ท้อถอยนะ พอพูดแล้ว “โอ๋ยกลับบ้านดีกว่า เลิก ทำขนาดนี้ยังไม่ได้อะไรเลย เลิกดีกว่า

เราถึงบอกว่าเราชมไง เราชมถึงผู้ที่ฝึกหัด ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ แต่ถ้าเราเอามาวันนี้เรามาเรียนธรรมกัน เรียนธรรมในภาคปฏิบัติ ฉะนั้น เราเรียนธรรมในภาคปฏิบัติ ปฏิบัติไปมันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วถ้ามันรู้จริงเห็นจริง มันจะเป็นจริงขึ้นไป ถ้ามันรู้จริงเห็นจริง

กิเลสมันไพล่ไปยึดมั่นพระไตรปิฎก สาธุ พระไตรปิฎกเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านะ เราไม่ได้ดูถูกดูแคลนอะไรทั้งสิ้นเลย เรายกย่อง เราสรรเสริญ เรากราบ เราเคารพบูชาของเรา แต่วิธีการแก้กิเลส อย่าให้กิเลสมันอ้าง มันบังเงามันไปหยิบฉวยธรรมะของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงว่ามันถูก ทั้งๆ ที่มันเป็นกิเลสทั้งๆ ที่มันเป็นมาร เราถึงต้องทำความเป็นจริงของเราขึ้นมาไง

สาธุ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สุดยอด ธรรมและวินัยเวลาปฏิบัติไปแล้ว ความจริงของเรากับธรรมอันนี้มันจะเข้ากันเลย แต่ของเรากิเลสเต็มตัว มันมีแต่พญามาร แต่มันไปหยิบฉวยเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบังไว้ว่าเหมือนกันๆ แล้วอ้างแต่ธรรมะพระพุทธเจ้าไง แต่ความจริงมันไม่เกิดไง

แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนนะ สอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาแล้วพิจารณาของเราเข้าไป พอมันเป็นจริงขึ้นไป หลวงตาท่านจบมหามา ท่านปฏิบัติแล้วท่านเทียบเคียงกับธรรมะพระพุทธเจ้ากับการปฏิบัติของท่านน่ะ อันเดียวกันเลย อันเดียวกันเลย แต่ตอนปฏิบัติใหม่ๆ หลวงปู่มั่นบอกให้วางไว้ก่อนๆเห็นไหม ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ปริยัติแล้วมาปฏิบัติ

ไม่ใช่เอาปริยัติ ศึกษามารู้มาแล้วอวด “สติปัฏฐาน  ปฏิบัติโดยปัญญา พระฝ่ายปฏิบัติโง่งม พุทโธไม่มีปัญญา” ไม่ฝึกหัดใจของเรา ไม่ทำใจของเรา

ปรับพื้นที่ของเรา ที่เขาทำนี่ถูกต้อง แล้วทำของเราให้มันถูกต้องดีงามขึ้นไป

สิ่งที่ว่า “เลยมาพิจารณาว่าจะให้เป็นปัจจุบัน ก็เลยมาดูที่สังขาร

สังขารเกิดจากจิต สังขารคือเงา ตัวจิตจริงๆ คือตัวธาตุรู้ ตัวธาตุรู้

ค่อยๆ ทำไป เพราะพูดมากแล้วกลัวคนถามจะงงมาก เพราะคนถามเขาเพิ่งปฏิบัติใหม่ ปฏิบัติใหม่ใจเย็นๆ นะ แล้วค่อยๆ ทำ กลับไปปฏิบัติก่อน อย่าใจร้อน แล้วไม่ต้องเขียนมาถามตอนนี้หรอก เพราะให้มันปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจังแล้วค่อยเขียนมาใหม่

แล้วถ้าพูดว่า “หลวงพ่อลำเอียง พูดโดยที่ว่าไม่ฟังเหตุผล

อันนั้นให้เก็บความคิดนี้ไว้ก่อน แล้วไตร่ตรองดีๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้หาเหตุหาผลพอสมควรแล้วค่อยกลับมาถามใหม่เนาะ

นี่เราชื่นชมนะ ชื่นชมว่าเขาทำของเขา เขามีความรู้ความเห็นของเขา คือปัจจัตตัง คือสันทิฏฐิโกของเขา เขามีความรู้ความเห็นอย่างนี้ เขารีบเขียนมา เขาเขียนมาถามว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วก็บอกว่า “หลวงพ่อกรุณาว่ามันถูกหรือผิดอย่างไร” ถ้าทำมาอย่างนี้มันเป็นการเริ่มต้น การฝึกหัดเริ่มต้นมันเป็นอย่างนี้

เวลาเราฝึกหัดใช้ปัญญา หลวงตาท่านใช้คำว่า “วิปัสสนาอ่อนๆ” วิปัสสนาอ่อนๆ คือฝึกหัดใช้ ถ้าเราไม่ใช้ เราไม่ทำเองเลย เราก็จะไม่มีผลงานของเราไงผลงานของเราคือความรู้จริงของเรา นี่คือการปฏิบัติธรรม นี่ภาคปฏิบัติ ปฏิบัติมันต้องรู้จริงเห็นจริงจากจิตดวงนั้น แล้วจิตดวงนั้นเขาจะรู้ถูกรู้ผิดขึ้นมา แล้วจิตดวงนั้นจะทำของเรา เป็นความดีของเราขึ้นมา อันนี้จบ

ถาม : เรื่อง “กราบเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องภาวนาพุทโธระหว่างวัน

กราบนมัสการหลวงพ่อ ขอถามดังนี้

ผมเป็นฆราวาสนะครับ ผมอาศัยการภาวนาพุทโธระหว่างวัน เช่นระหว่างรอลิฟต์ ตอนเดิน ตอนไม่ได้คุยกับคนอื่น ระหว่างทานข้าว ทุกขณะเท่าที่จะทำได้ครับ เรียนถามท่านอาจารย์ว่า การทำเช่นนี้เพียงพอในการเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาได้ไหม หรือจำเป็นจะต้องภาวนาพุทโธในรูปแบบด้วย นั่งนิ่งๆ หรือเดินจงกรมเป็นหลายๆ ชั่วโมงเท่านั้นครับ

ปลผมทำระหว่างวันก็ทำทั้งวันนะครับ เรียกว่าอาจจะมีขาดช่วงบ้าง แต่พยายามทำให้ต่อเนื่องเท่าที่จะทำได้ ทำตลอดวันครับ ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : ไอ้ที่ว่าสิ่งที่เขาทำอย่างนี้มันเพียงพอหรือไม่ การใช้วิปัสสนาวิปัสสนา เวลาเดินจงกรมอยู่ คนที่สมาธิเขาดี เดินจงกรมอยู่ เห็นโครงกระดูกเดินอยู่ตรงหน้า จิตเขาสงบแล้วเขาเห็นโครงกระดูก คือเขาเห็นกาย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราสงบแล้ว ถ้าเรามีกำลัง ถ้าเราเห็นกาย เห็นเวทนาเห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี้คือยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ แต่ถ้าเราไม่เห็นกายเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง กำลังเราไม่พอ กำลังเราไม่ได้

แต่ทำอย่างนี้พอหรือไม่ เพราะเขาจะถามว่า จิตมันมีกำลังขนาดไหนถึงจะวิปัสสนาได้ แล้วเขาเป็นฆราวาส แล้วเขาพิจารณาในระหว่างวัน พุทโธในระหว่างวันได้หรือไม่

ได้หรือไม่ เรากลับมาวัดที่ใจไง กลับมาวัดที่ว่า ถ้าจิตเราจับ จับนะ จับหมายความว่า เราตั้งประเด็น ตั้งประเด็นเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม แล้วเราใช้ปัญญาไปมันทะลุไหม คือว่าปัญญามันจะแตกแขนง มันจะเต็มที่นี้วิปัสสนาได้

วิปัสสนาหรือไม่วิปัสสนา อยู่ในกระบวนการของมัน อยู่ในกระบวนการของอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าจิตมันหมุนไปได้ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจจิตนี้มันได้วิเคราะห์วิจัยออกจากอริยสัจมา มันจะเกิดการเบา เกิดการถอดการถอน นี่มันอยู่ตรงนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้ได้ ทำอย่างนี้

ฉะนั้นบอกว่า เขาเป็นฆราวาส แล้วทำอย่างนี้มันพอในการวิปัสสนาหรือไม่

การวิปัสสนามันอยู่ที่กำลังของสมาธิ กำลังของสมาธิถ้ามีเพียงพอแล้ว คนมีสมาธิดีๆ แต่ไม่เคยวิปัสสนาเลยหรือวิปัสสนาไม่เป็น เขาก็ไม่ได้ประโยชน์กับเขาอย่างเช่นฤๅษีชีไพรเขาทำสมาธิของเขาได้ เขาทำฌานสมาบัติได้ด้วย แต่เขาทำปัญญาไม่เป็น สมาธิอย่างนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ไง มันเป็นมิจฉาไง

ถ้าเป็นสัมมานะ มีสมาธิ มีกำลังแล้ว เราตั้งประเด็น กาย เวทนา จิต ธรรมถ้ามันจับแล้วมันพิจารณาของมันได้ เวลามันจับนะ เวลาปัญญาอบรมสมาธิ เราจับอารมณ์ความรู้สึกของเรา เราจับของเรา แล้วพิจารณาของเรา ใหม่ๆ ก็ไล่ตามจนเหนื่อยหอบเลย แต่พอมันปล่อย เราเห็นแล้วมันปล่อย ปล่อย มันสงบแล้ว แล้วถ้ามันเห็นอาการคือมันจับได้ จับความคิด จับต่างๆ จับที่ว่าขันธ์  ที่มันถนนหนทางที่กิเลสมันใช้สอยประโยชน์ของมัน ถ้าเราจับได้ เราไล่เท่าทันมัน วิปัสสนาเกิดตรงนี้ไง ถ้าวิปัสสนามันเกิดขึ้นมันก็เป็นไปได้ เห็นไหม

นี่พูดถึงว่า การเรียนธรรม การเรียนธรรมในภาคปฏิบัติเนาะ ต่างคนต่างขวนขวาย ต่างคนต่างกระทำ ต่างคนต่างศึกษาขึ้นมาให้เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเรียนธรรม เรียนในภาคปริยัติ เรียนแล้วให้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วเราก็เรียนตามความเป็นจริง เรียนในการประพฤติปฏิบัติ เรียนมาให้เป็นผลงานของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน เอวัง