เทศน์บนศาลา

ธรรมเปรียบเทียบ

๑๗ ส.ค. ๒๕๔๙

 

ธรรมเปรียบเทียบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๙
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ ตั้งใจ วันเวลาล่วงไปๆ ทุกคนนะ เราเกิดมามีอำนาจวาสนามาก คนเกิดเหมือนกัน แต่เกิดมาใช้ชีวิตไปวันหนึ่งๆ กับเกิดมาใช้ชีวิตเหมือนเขานั่นแหละ ดูสิ ดูแบบสัตว์ สัตว์บางตัวเป็นประโยชน์ เขาออกประชาสัมพันธ์กันจนมีชื่อเสียง สุนัขเขาเอาไปฝึกกัน มันได้เป็นร้อยเอกนะ สุนัขจรจัด สุนัขทั่วๆ ไปมันทุกข์ยากตามประสามัน เพื่อจะหาอิ่มท้องแต่ละมื้อก็เป็นความลำบากของเขา เป็นความลำบากจริงๆ

เพราะหลวงปู่มั่นท่านเคยอยู่ที่ถ้ำสาริกา เวลานกมันคุยกันไง มันกลับมานะ กลับมาจากการหาอาหารจะถามว่า “วันนี้อิ่มท้องไหม” การหากินของเราต้องเสี่ยงภัยทั้งชีวิต ชีวิตของเราเสี่ยงภัย แล้วกลับมานับพวกว่าขาดไปกี่ตัว อยู่กี่ตัว แล้วกินอิ่มหนำสำราญไหม ชีวิตของเขาดำรงอย่างนี้ นี่การดำรงชีวิตของสัตว์ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเขาหาอิ่มท้องไหม เขารักษาหาปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา เขาหาเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของเขา เราก็หาเครื่องอยู่เครื่องอาศัยเหมือนกัน

แต่เราก็มีอีกใจ ใจเรายังแสวงหาไง ธรรม ธรรมะเป็นอย่างนี้

ธรรมะกว่าจะเกิดแต่ละครั้งแต่ละคราวนะ เพราะถึงต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พวกเราเกิดมา เหมือนกับเราเกิดมา ตลาด ดูสิ ตลาดแต่ละตลาด ถ้าเขาจัดสรรตลาดกัน แล้วตลาดนั้นติดตลาด เขาจะเป็นประโยชน์กับเขา เจ้าของตลาดจะได้คุณประโยชน์มาก แล้วเขาจัดตลาดกัน บางทีมันก็ไม่ติด บางทีทำแล้วทำอีกคนไม่สนใจ

คำว่า “ตลาด” “ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน” ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่ไม่มีตลาด ไม่มีตลาดนะ แล้วไม่มีมรรคผลนิพพานด้วย มรรคผลนิพพานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมอยู่นั้นน่ะ ใครเป็นผู้แสวงหามา แล้วถ้าสิ่งนั้นไม่มีปฏิบัติไป

ดูสิ ดูอย่างกาฬเทวิล ระลึกอดีตชาติได้ ๔๐ ชาติ อนาคตได้ ๔๐ ชาติ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โลกธาตุหวั่นไหวนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด ตรัสรู้ ปรินิพพาน โลกธาตุจะหวั่นไหว หวั่นไหว แต่พวกเราไม่รู้หรอก เรารู้แต่ว่าแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อันนี้มันเป็นวาตภัยนะ แต่ขณะที่โลกธาตุหวั่นไหว หวั่นไหวด้วยเทวดา อินทร์ พรหม มีความสุข มีความรื่นเริง เหมือนกับมีตลาด ถ้าเรามีตลาด ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน เราจะมีโอกาส เห็นไหม กาฬเทวิลนอนอยู่บนพรหม เทวดาส่งข่าวกันไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนลงมาดู นี่ตลาดไม่มี คนมีเงินจะซื้อของก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน มีอำนาจวาสนา เข้าฌานสมาบัติได้ ระลึกอดีตชาติได้ แต่ไม่มีตลาด ไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

แต่เราเกิดมา เราทันนะ เราเกิดมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเกิดและการตายของธรรมชาตินะ จิตนี้ต้องเกิดต้องตายโดยธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ การเกิด การตาย พระเวสสันดร ชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร พอตายจากพระเวสสันดรไปจุติอยู่ดุสิตพร้อมที่จะลงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาพระศรีอริยเมตไตรยก็พร้อม เห็นไหม พร้อมแล้วๆ

เพราะกาลเวลาของแต่ละพุทธชาติไม่เหมือนกัน เราว่า ๕,๐๐๐ ปี ๑๐,๐๐๐ ปีนี่ยาวไกล เป็นล้านๆ ปีนะ ฟอสซิลของมนุษย์เราเป็นล้านๆ ปีอยู่ในโลกนี้ เราเกิดเราตายมา การเกิดและการตายของชีวิต มันจะเกิดกับตายไปโดยแรงขับของกิเลส อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ครอบงำจิตอยู่นี่ มันมีแรงเกิด มันมีแรงขับ มันต้องเกิดต้องตายตลอดไป

แต่ธรรมะไม่เกิดบ่อยครั้งหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้หนหนึ่งแล้ววางธรรมไว้ แล้วบอกว่ากึ่งพุทธกาลจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราเกิดไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเกิดกึ่งพุทธกาล ธรรมและวินัยเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วเรามีความใฝ่ใจ คำว่า “ใฝ่ใจ” นี่เป็นอำนาจวาสนา คนเราใฝ่ใจ ดูสิ ดูการศึกษา คนใฝ่เรียนอยากเรียน เขาเรียนอะไร เรียนไปแล้วเขาสมประโยชน์ ไม่สมประโยชน์ของเขา สมประโยชน์ไง คือเรียนจบและไม่จบ ถ้าเรียนไปแล้วเขาเปลี่ยนวิชาการ เปลี่ยนแขนงการศึกษาของเขา เขาก็เปลี่ยนของเขานะ นี่การเรียนของเขา

การใฝ่ใจคือการศึกษา เวลาธรรมของเรา เราเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พ่อแม่เราก็เป็นชาวพุทธ พาเครื่องดำเนินเป็นประเพณีนะ ประเพณีไม่ใช่กฎหมาย ประเพณีการทำบุญกุศล วันพระวันโกนพาลูกไปวัด ประเพณีการเกิด ประเพณีการมีคู่ ประเพณีของการตาย สิ่งนี้เป็นเราชาวพุทธก็ทำตามประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมทำขึ้นมาเป็นความตกผลึกของหัวใจ แล้วก็การสืบต่อกันมา

แล้วว่าสิ่งนี้เวลาเราไปศึกษา เราต้องไปศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสุตมยปัญญา เวลาศึกษาเข้าไป อริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้น ตั้งแต่ อนุปุพพิกถา ตั้งแต่เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสวรรค์ เรื่องของบุญกุศล แล้วก็เทศน์อริยสัจ เราก็ไปศึกษา ศึกษากันกัน

เวลาศึกษาธรรมะขึ้นมาประเพณีนั้นก็ผิด วัฒนธรรมอันนั้นก็ไม่ถูกต้อง สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง สุตมยปัญญานะ เวลาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าประเพณีวัฒนธรรมของคนโบราณเรานี่สังคมพุทธทำผิดหมดเลย ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต้องทำตามที่ศึกษาโดยสุตมยปัญญา

กิเลสนะ เวลามันเหมือนไก่ได้พลอย มันไปได้อะไรสิ่งใดมา มันมาสวมหัวมัน มันว่ามันแน่ มันว่ามันรู้ไง ไม่มีรู้สิ่งใดเลยนะ เราไปดูถูก ดูถูกผู้เฒ่าผู้แก่ ดูถูกประเพณีวัฒนธรรมว่าสิ่งนี้เป็นความหลง เป็นความโง่เง่า เป็นความเงอะงะ เป็นความที่ไม่ทันโลก แต่ถ้าเป็นอริยสัจ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ชาวพุทธมีปัญญา เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เศรษฐศาสตร์จะยั่งยืน...ไม่มีอะไรจะยั่งยืนหรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกโลกนี้เป็นอนิจจัง “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” โลกนี้แปรสภาพตลอดไป ความเป็นไปของโลกหมุนไปอย่างนี้ สิ่งที่เป็นความเป็นไปของโลก แล้วประเพณีวัฒนธรรมที่เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาในประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นชาวพุทธ เห็นไหม ความร่มเย็นของหัวใจ ความเกื้อกูลกัน ความเป็นไป

แต่พอเราไปศึกษาสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาการศึกษาค้นคว้า การศึกษา ถ้าศึกษาบาลี ถ้าได้บาลี ได้ภาษา ถ้าแปลบาลี จะเข้าไปถึงเนื้อของธรรม...มันเป็นทฤษฎี มันเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เราจะแปลขนาดไหน เราจะรู้ขนาดไหน เวลาเราพูดถึงอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจในปัจจุบันนี้ แล้วเราคิดถึงครั้งพุทธกาลไหม

สมัยครั้งพุทธกาล ทุกข์นี้อันเดียวกัน แต่สังคมต่างกัน ในเมื่อสังคมต่างกัน ประเพณีวัฒนธรรมต่างกัน สิ่งที่ต่างกัน เราก็เอาสังคมปัจจุบันนี้ไปจับ ดูสิ ดูแม้แต่ภาษาไทยเรา ถ้าเป็นภาษาไทยโบราณนะ อักษรก็เขียนไม่เหมือนอย่างนี้ ภาษามันจะเปลี่ยน มันจะไปตลอดเวลา นี่มีเกิดและตาย คำศัพท์ใหม่ๆ จะเกิดมาตลอดเวลา ถ้าเราใช้คำศัพท์เก่าเราจำไม่ได้แล้ว เราตีความสิ่งนั้นไม่ออกแล้ว สิ่งที่เราตีความไม่ออก เราก็ไม่เข้าใจ แต่พอเราไปศึกษาของใหม่ เราก็ตื่นเต้นนะ

สุตมยปัญญาศึกษาไว้เพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน สิ่งที่เป็นสุตมยปัญญา เราศึกษา เราว่าเรามีการศึกษา เราเป็นนักปราชญ์ แล้วเราก็มองไปประเพณีวัฒนธรรม เรามองข้ามหัวใจไง ศีลธรรมจริยธรรมที่ตกผลึกในหัวใจของปู่ ย่า ตา ยายเรามา สิ่งนี้ตกผลึกมา มันมีความสุข มันมีความทุกข์ มันมีความรื่นเริง นักขัตฤกษ์ เวลาประเพณีการเข้าพรรษา ออกพรรษา ได้ทำบุญ เห็นไหม ความอิ่มใจ ความสัมผัสของใจ ถึงจะเป็นสันทิฏฐิโกหยาบๆ นั้นมันก็เป็นศาสนา ศาสนาให้มันมีเครื่องดำเนิน เครื่องร้อยรัดเพื่อเกาะเกี่ยว ใจมีหลักไง

ถ้าใจมีหลัก เวลาเราทุกข์ เราร้อน น้ำตาไหลพราก ความทุกข์บีบคั้นใจ เราไม่มีที่พึ่งเลยนะ เราไม่มีที่พึ่ง แล้วเวลามีบุญกุศล ทาน ศีล ที่ปู่ ย่า ตา ยาย เราทำบุญกันมา เขามีที่พึ่งของเขานะ เขามีที่พึ่งของเขา เขามีหลักใจของเขา เพราะมันตกผลึกมาเป็นสังคมไง ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นผู้ชี้นำ แต่เวลาเรามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากลับไปดูถูกนะ เราดูถูกรากเหง้าของเรากันเอง ดูถูกรากเหง้าของชาวพุทธ

ชาวพุทธ สิ่งนี้ถนอมมาดำเนินมาให้เรามีโอกาส เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ใครเป็นคนสืบต่อมา ใครเป็นคนรักษามาให้เรา ก็ไม่ใช่ปู่ย่าตายายเราหรือ ไม่ใช่ภิกษุที่รักษาศาสนามานี้หรือ แล้วรักษาศาสนามาอย่างไร รักษาศาสนามาเพื่ออะไร รักษาศาสนามาเพื่อ...

เวลาเวียนตายเวียนเกิด เวลาเทวดาเขาจะหมดอายุขัย ขอให้เกิดเป็นชาวพุทธพบพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้สร้างบุญกุศล จะได้มาเกิดเป็นเทวดาอีก นี่ผู้ที่เข้าไม่ถึงธรรม เข้าไม่ถึงธรรมนะ

ธรรมแท้ๆ ธรรมที่ว่าเข้าไปชำระการเกิด ชำระการเกิดนะ เพราะถ้าสิ่งที่มีการเกิด มีภวาสวะ มีสถานที่รับ เราเปิดบัญชี ถ้าเราเปิดบัญชี ถ้าเรามีเงิน เรามีเงินฝากในบัญชีนั้น มีบุญกุศล เราจะเบิกจ่ายใช้บัญชีนั้นสมบูรณ์ได้เลย ถ้าเราเปิดบัญชี แล้วบัญชีเราตัวแดง นี่บาปอกุศล ถ้าบัญชีเราตัวแดง เราก็ต้องพยายามหามาปิดตัวแดงนั้นให้ได้ นี่ก็เหมือนกัน บาปอกุศลในหัวใจของเรา ถ้ามันมีความสุขนี่บุญกุศล เขาก็มีอย่างนี้เครื่องอย่างนี้หล่อเลี้ยงใจไง

สิ่งที่หล่อเลี้ยงใจ ส่งทอดศาสนามาถึงเรา เราจะระลึกถึงคุณไหม สิ่งที่มีคุณ เวลาภิกษุเราบวชมา ตั้งแต่บวชมา ถ้าไม่มีภิกษุ เป็นสมมุติ สมมุติสงฆ์ ภิกษุสมมุติสงฆ์ศึกษาธรรม ศึกษามาเพื่อรักษาจรรโลงไว้ แล้วจรรโลงมา ผู้ที่บวช บวชมาเพื่ออะไร เพราะเห็นภัย เห็นภัยในวัฏฏะนะ ภิกษุมาบวช เห็นภัยในวัฏฏะ เพราะขณะบวช เริ่มต้นแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอหิภิกขุ ถ้าผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” เอหิภิกขุต้องมีเหตุมีผล ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ “เธอมาเป็นภิกษุเถิดเพื่อปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์” เอหิภิกขุจนถึงภิกษุมากขึ้นมา บวชโดยถือรัตนตรัย ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็บวชโดยจตุตถกรรม การบวชอย่างนี้ต้องเป็นพิธีกรรม เป็นสมมุติสงฆ์ แต่สมมุติก็ต้องมี

ดูสิ ดูการเกิดและการตาย ถ้าผู้มีธรรมเห็นว่าเป็นสมมุติ ปฏิสนธิจิตเข้าไปในท้องของมารดา ฟักอยู่ในครรภ์ ๙ เดือน คลอดออกมาจากครรภ์ นี่ก็เหมือนกันจากคฤหัสถ์มาเป็นภิกษุจะทำอย่างไร จากคฤหัสถ์นี่ต้องกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบท เป็นสมมุติแต่ก็ต้องจริงไง ถ้าไม่จริงจะมีสถานะแยกระหว่างคฤหัสถ์กับภิกษุล่ะ คฤหัสถ์ คฤหัสถ์เป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกาสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คลุกเคล้ากัน ถ้ามันไม่มีการชักออก ความแยกออกไปชัดเจน

สงฆ์โดยสมมุติ...ถูกต้องโดยสมมุติ สังคมยอมรับ ประเพณีวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา ผู้บวชเป็นภิกษุ เคารพบูชา เคารพบูชาเพราะอะไร เพราะเป็นนักรบประกาศตนว่าเป็นนักรบ นักรบกับอะไร? นักรบกับกิเลส แต่การจรรโลงศาสนา ใครจะจรรโลงศาสนาได้มากได้น้อยอยู่ที่บุญกุศลที่เราสร้างบุญกุศลกัน เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรม เราทำบุญกุศล ดูสิ ดูอย่างโบราณเขาสร้างศาสนวัตถุ เขาจะเชิญเทวดามาเป็นผู้ปกป้องรักษา เทวดายังปกป้องรักษานะ

แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราสร้างสมสิ่งที่ทำให้เป็นบุญกุศลขึ้นมา เราก็ปกป้องศาสนา เพื่อตายเกิดไง ตายเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป ตายเกิดนะ ตายแล้วก็เกิดมาในพุทธศาสนา เคยมีศรัทธามีความเชื่อสิ่งนี้ มันก็สะสมเข้ามาให้เรามีโอกาสมากขึ้น

กรรม กรรมทำดี สิ่งที่โอกาสเราก็จะเปิดกว้าง

กรรม กรรมทำความผิดพลาด ทำความผิดทำบาปไว้มันก็หลุดออกไป พลาดออกไป

เดี๋ยวก็กลับมาเพราะอะไร เพราะมันมีกรรมดีและกรรมชั่ว ถ้ามีกรรมดีเข้ามา เราก็เข้ามาใกล้ในศาสนา ถ้าใกล้ศาสนา เห็นไหม การบวช ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า ภิกษุเคยบวชซ้ำบวชซาก เคยบวชมาแล้วชาติที่แล้วก็เคยบวช แต่ไม่ถึงที่สิ้นสุด นี่สมมุติสงฆ์ แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติเข้ามานะ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราศึกษาธรรม เวลาศึกษา เวลาประพฤติปฏิบัติต้องมีครูมีอาจารย์

ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์นะ สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติ เจ้าลัทธิต่างๆ ปฏิญาณตนทั้งนั้นเลยว่า เป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปพิสูจน์หมดแล้ว องค์ใดที่เป็นศาสดา วิธีการทำอย่างใด วิธีการเครื่องดำเนินนะ วิธีการนี่มรรคคา มรรคาทางอันเอก มัคโคที่เราจะย้อนเข้ามาชำระกิเลสในหัวใจ ไม่มีใครทำได้ เพราะเวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป ธรรมชาติของใจ ธรรมชาติของน้ำ สิ่งที่ระเหยไป สิ่งต่างๆ มันระเหยตามธรรมชาติของมัน มันยังเหือดแห้งได้นะ

ธรรมชาติของใจ เวลามีความสุขอิ่มใจ มีความสุข ทีนี้เพียงแต่ว่า มีกรรม คนมีหยาบหรือละเอียด ถ้าคนละเอียด ความสุขเขาจะประณีตมาก คนหยาบ เห็นไหม แม้แต่ของเล็กน้อยก็มีความสุขแล้ว สิ่งที่ความอิ่มใจ สิ่งสภาวะของใจที่พาตายพาเกิด ใจไม่เคยเหือดแห้ง ทุกข์ขนาดไหน สุขขนาดไหน ชั่วคราวเป็นอนิจจัง สภาวะแบบนี้ สิ่งที่ตายเกิดตายเกิด สภาวะตายเกิด สิ่งที่ตายเกิด แล้วเวียนตายเวียนเกิดสภาวะแบบนี้เกิดซ้ำเกิดซาก เกิดซากพัฒนาใจเราขึ้นมาไง พัฒนาใจของเราขึ้นมา ถ้ามีสิ่งนี้เข้ามามันจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมามีศรัทธา ย้อนกลับมา ถึงเห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าของชีวิต

เหมือนกับที่ว่า สัตว์ สัตว์บางตัวเขาก็มีอำนาจวาสนาของเขา เขาก็มีโอกาสของเขา เขาทำดีของเขา ทำดีนะ ท้าวโฆสกะ เกิดจากสุนัข สุนัขสมัยในธรรมบท สุนัข เวลาพระปัจเจกพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วสอนในชีวิตของท่าน นัดกันว่าเรานิมนต์ฉันในพรรษานั้นให้ทุกวัน แล้วถ้าทำอาหารเสร็จจะให้สุนัขตัวนี้ไปนิมนต์มา สุนัขก็ไปดึงมา คาบมา นี่ทำคุณงามความดี สุนัขทำความดีของสุนัข เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าออกพรรษาแล้วต้องจากกัน เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าถึงเวลาออกพรรษาแล้วต้องออกปลีกวิเวกไป สุนัขนั้นรักมาก หอนจนดับชีวิตเลย ตับแตกตาย ไปเกิดเป็นท้าวโฆสกะ

สุนัขหรือสัตว์โลกเขามีโอกาสของเขา ในทำดีและชั่ว โอกาสของเขามีเท่านั้น แต่มนุษย์เราเกิดเป็นคน เป็นคนมีโอกาสมีปัญญา มีโอกาสที่จะ...คน มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม สามารถเข้าถึงธรรม สามารถทำลายการเกิด ทำลายการเกิด ถ้าไม่มีการเกิดอีก เราจะมีความสุขของเรา ความสุขนะ ความสุขของเรา ที่เรามีความสุขตั้งแต่ที่เราทำบุญกุศล แล้วเรามีความชื่นชม มีความสุขในหัวใจ นี่ใจเราละเอียด การทำบุญเพื่อความสุข ไม่ใช่ทำบุญเพื่อสิ่งใดเลย

แต่ที่เขาทำกัน อย่างเขาทำกันโดยทุจริต โลกเขาทำกัน ทำบุญแล้วไม่ได้บุญ ทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้บุญมาก พระปัจเจกพุทธเจ้าจะได้บุญมาก พระอรหันต์จะได้บุญมากๆ ขึ้นมา ก็คิดแต่ว่าบุญมาก หวังผลตอบแทนไง

แต่ถ้าทำบุญของเรา ใจมันละเอียด ไม่ต้องการสิ่งใดเลย ทำบุญเพื่อบุญ ทำบุญเพื่อความสบายใจ ใจนี้มีความสบายใจ สุขอันนี้ บุญอันนี้ละเอียดมาก มีคุณค่ากับใจดวงนี้มาก ถ้าใจดวงนี้สร้างสมมาอย่างนี้ โอกาสของการจะแสวงหาในการประพฤติปฏิบัติ

เราว่าเราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นทุกข์กัน แต่ใจมันหยาบ สิ่งที่หยาบ แม้แต่ของละเอียด ของหยาบ ดูตะแกรงร่อน ถ้าตาหยาบ ตาละเอียด ตาห่าง สิ่งที่ร่อนมา นี่คุณค่าต่างกันนะ

นี่ก็เหมือนกันถ้าหัวใจมีคุณค่า มันจะย้อนกลับมาในการประพฤติปฏิบัติ ฟังสิ ในการปฏิบัติ ธรรมะ ธรรมที่ว่าสุตมยปัญญา เวลาศึกษาแล้วมันจะมีความสุข ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบนี้ เล่านิทานกัน เวลาศึกษาไป สุตมยปัญญานะต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษา คนประพฤติปฏิบัติต้องรู้แผนที่ ไม่รู้แผนที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้

แล้วผู้แก่ผู้เฒ่าสมัยปู่ ย่า ตา ยาย เขารู้แผนที่ไหม? เขารู้แผนที่ด้วยเนื้อหาสาระ ด้วยความสุขและความทุกข์ในหัวใจ ไม่ใช่รู้แผนที่โดยไก่ได้พลอย โดยการสวม โดยกิเลสมันบังเงา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นแบบนี้ ทฤษฎีต้องเป็นแบบนี้

เวลาประพฤติปฏิบัติล่ะ เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุตมยปัญญาแผนที่เครื่องดำเนิน ให้ศึกษามาเพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยภาคปฏิบัติ โคนต้นโพธิ์นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ทฤษฎีมหาศาลเลย นกแก้วนกขุนทอง นกแก้วนกขุนทองมันก็ท่องบ่นกันมา แต่ผลของมันไม่มี

ถ้าผลของมันมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับสุภัททะ สุภัททะเป็นนักปราชญ์นะ ถือตนเป็นพราหมณ์ ถือตนว่าไตรเวท ไตรเพทต่างๆ ท่องได้หมด เข้าใจได้หมดเลย การเกิดต่างๆ นี่ท่องได้ทั้งนั้น เรื่องของร่างกาย เรื่องของสิ่งที่ว่า เรื่องลักษณะของมนุษย์ ท่องได้ทั้งนั้นเลย รู้แต่เรื่องเปลือกๆ รู้แต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ รู้ลักษณะของคน...เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของสมมุติ นกมันก็รู้ ดูสิ ดูสัตว์นะ สุนัขมันรู้เลยคนไหนเป็นมิตรกับมัน คนไหนเป็นศัตรูกับมัน คนที่เป็นมิตรกับมัน มันจะไว้ใจ มันจะเข้ามาคลอเคลีย คนไหนที่เป็นภัยกับมัน มันจะวิ่งห่างไกล แม้แต่สัตว์มันก็รู้ แล้วมนุษย์รู้ได้อะไร รู้ลักษณะ รู้พรหมศาสตร์ รู้แล้วได้อะไร รู้ก็เกิดก็ตายในโลก ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

สิ่งสภาวะแบบนี้ นี่นักปราชญ์สุภัททะเข้าใจหมด ไตรเพทรู้หมด แต่ด้วยความถือทิฏฐิมานะ เป็นพราหมณ์ เป็นผู้ที่มีอายุมาก จะไม่ยอมลงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุน้อยกว่า สุดท้ายคืนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน จะมีวาสนา “ถ้าคืนนี้เราไม่เข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่มีโอกาสแล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกคืนนี้จะปรินิพพาน” เข้าไปหา แล้วก็เพราะถือว่าตัวเองมีความรู้มาก มีความรู้มาก ยึดถือมากว่าตัวเองเก่งมาก

ถ้าเก่งมากโดยสัจจะความจริง ตัวเองก็ต้องควรจะเข้าใจ ตนเองจะต้องมีความแบ่งแยกได้ว่าอะไรผิดอะไรถูกสิ แต่ไม่รู้เลยเพราะอะไร เพราะกิเลสมันครอบงำ รู้โดยกิเลสมันบังเงา โดยอวิชชาครอบงำไว้

ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ในลัทธิต่างๆ ก็ว่าของเขาสุดยอดๆ...”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะด้วยการพิสูจน์ ๑ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในลัทธิต่างๆ ทดสอบมาหมดแล้ว การทดสอบนั่นคือการพิสูจน์ พิสูจน์โดยทางโลก พิสูจน์โดยเหมือนกับเราที่ว่ายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอย่างนี้ ยังแบบว่าไม่รู้สิ่งใดเลย เราทดสอบกับเขามา เราเองเชื่อไปหมดเลย ครูบาอาจารย์องค์ไหนว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ตามเขาไปหมดเลย นี่สิ่งนี้เราหลงตาม

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์อย่างนี้บอกว่า “ไม่ใช่ ไม่รับผิดชอบ ไม่เห็นมีสิ่งใดที่จะเป็นความจริงได้เลย” จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์อย่างนี้พิสูจน์ทางโลก แล้วมาพิสูจน์สัจจะความจริงคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ขณะที่ตรัสรู้มรรคญาณมันเกิด สิ่งนี้มันยิ่งพิสูจน์ได้อย่างยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมเพราะอะไร เพราะเหมือนของที่ว่าอาหารดิบ เนื้อดิบๆ เวลามันสุกขึ้นมา จากดิบกับสุกมันต่างกันอย่างไร

การพิสูจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคนต้นโพธิ์น่ะ ที่กลับมาอาสวักขยญาณทำลายกิเลส อันนี้มันสุดยอดไง สุดยอดมันถึงเป็นการพูดโดยความองอาจกล้าหาญว่า ไม่มีหรอก

“สุภัททะเธออย่าถามให้มากไปเลย ในศาสนาต่างๆ มีมรรคไหม มรรคญาณ มัคโคทางอันเอก ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบต่างๆ ความดำริชอบ ระลึกชอบ สิ่งนี้มีไหม ถ้าสิ่งนี้ไม่มีนะ ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นไม่มีผลหรอก ไม่มี ถ้าไม่มีนะ สุภัททะเธออย่าถามให้มากไปเลย เพราะเราคืนนี้จะปรินิพพาน เธอให้ประพฤติปฏิบัติให้คืนนี้นะให้ถึงที่สุดนะ”

สุภัททะนี่พระอานนท์บวชให้ แล้วปฏิบัติคืนนั้น จนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ

สุตมยปัญญาในภาคปริยัติมีไว้ให้เป็นแบบแผน แล้วให้ปฏิบัติ ไม่ใช่สุตมยปัญญาจะเป็นผลงาน ธรรมและวินัยไม่ใช่เป็นผลของเราหรอก เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่สมบัติของเราเลย เราเรียนทฤษฎีเรียนแผนที่เครื่องดำเนินมาเพื่อปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติ ขณะที่เราศึกษา ขณะที่เรามีปัญญา นักปราชญ์เวลาเอาทฤษฎีเข้าไปมันจะกระเทือนความคิดเดิม ถ้ากระเทือนความคิดเดิม สิ่งนี้มันจะมีความขัดเกลา จะมีความสุข ก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เป็นธรรม ว่ากันไปนะ นกแก้วนกขุนทอง

เวลาออกประพฤติปฏิบัติ ออกประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติแล้วจะมีปฏิเวธ ปริยัติแล้วปฏิเวธ ไม่มี ถ้าปฏิบัติพระกรรมฐานเราเวลาออกประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อเป็นภาคปริยัติ อยู่ที่จริตอยู่ที่นิสัย ครูอาจารย์บางองค์ท่านก็นับถือปริยัติ พยายามศึกษาปริยัติเพื่อเป็นแนวทาง ครูบาอาจารย์บางองค์นะท่านปฏิบัติเลย สิ่งที่ปฏิบัติเลยเพราะอะไร เพราะปฏิบัติโดยทางตรง เข้ามาในหัวใจ

ในครั้งพุทธกาลนะ ภิกษุถ้าบวชที่อายุมาก จะบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพเจ้าบวชแต่เมื่อแก่ ข้าพเจ้าจะขอกรรมฐานแล้วเข้าป่าเลย”

แต่ถ้าศึกษาปริยัติ ศึกษาแล้วเข้ามาย้อนมาเพื่อปฏิบัติ พระนั้นจะมีโอกาส โปฐิละ ศึกษามาก ท่องจำได้เป็นนกแก้วนกขุนทองเลย มีผู้เข้ามาศึกษามหาศาลเลย ก็ถือตัวถือตนว่าตัวเองมีความรู้ มีความรู้ เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ใบลานเปล่า ใบลานเปล่า” จนสะกิดใจ จนได้ออกประพฤติปฏิบัติเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เพราะมีปริยัติแต่ไม่ปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามน้อมนำให้ปฏิบัติ

ในครั้งพุทธกาลนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเข้าหลีกเร้น ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าหลีกเร้น พระห้ามเข้าไปหา ถ้าเข้าไปหาเป็นอาบัติปาจิตตีย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกับเราปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์เวลาพูดตรัสสั่งนี่เป็นกฎหมาย นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าสั่งอะไรแล้ว ถ้าใครเข้าไปฝืนเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ในขณะที่สั่งว่า “ห้ามภิกษุเข้ามาหาเรา เราจะขอหลีกเร้น”

ในพระไตรปิฎกมีหลายคราว ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลีกเร้นในพรรษา แต่เว้นไว้ เว้นไว้แต่พระป่า เว้นไว้แต่พระปฏิบัติ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กิเลสขึ้นมาในหัวใจ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีปัญหาในการปฏิบัติให้เข้าหาเราได้ตลอดเวลา นี่ในพระไตรปิฎกก็มีนะ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เพราะอะไร เพราะประสบการณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเหมือนเราเป็นไข้ เราเป็นไข้ เราเป็นผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยมันต้องการธรรมโอสถ ต้องการยาเดี๋ยวนี้

แต่ที่ปริยัติไม่ต้อง เพราะปริยัตินี่นกแก้วนกขุนทอง ท่องกันไปท่องกันมา เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะมันไม่ใช่โรคไม่ใช่ภัย ไม่ใช่โรคไม่ใช่ภัยเพราะสิ่งนั้นเหมือนกับเราที่ว่าเตรียมภาชนะ ดูสิ เวลาเราไปโรงพยาบาล ยา เขาต้องมีภาชนะใส่ยา การท่อง การเรียนปริยัติก็คือเตรียมภาชนะ เตรียมขวด เตรียมถุง เตรียมยา แล้วก็พิมพ์ยา พิมพ์ว่ายานี้มีสรรพคุณอย่างนี้ ยานี้ควรใช้อย่างนี้ มีส่วนผสมอย่างนี้ พิมพ์แต่ซอง พิมพ์แต่ขวดยา แต่ยังไม่มียา ยังไม่จำเป็น

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ป่วยสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจ มันเป็นประสบการณ์ตรงเดี๋ยวนั้น มันต้องการยาเดี๋ยวนั้น ผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาล เราเป็นผู้ที่รักษา เราเป็นผู้ที่ต้องการให้ผู้ป่วยนี้เพราะถ้าช้ากว่านี้เขาจะขาดใจได้ เขาจะขาดใจ เขาจะตายได้ เขาจะหมดโอกาสได้ การประพฤติปฏิบัติ เวลาขณะที่มันมีอาการของใจ ใจที่มันไปสัมผัสสิ่งใด พระพุทธเจ้าอนุญาต เห็นไหม ภาคปฏิบัติ สิ่งใดก็แล้วแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งต่อให้ขึ้นเป็นปฏิบัติ ถ้ามีการปฏิบัติมันถึงจะเข้ามา

การปฏิบัติ ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่อ เราพยายามทำความสงบของใจขึ้นมา เพราะอะไร เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ การประพฤติปฏิบัติมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่การศึกษาเป็นสุตมยปัญญา คือการศึกษาทฤษฎีเป็นสุตมยปัญญา คือการเหมือนกับในสมัยปัจจุบันนี้ เขาป้อนข้อมูลนะ เขาทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันเข้าไปเก็บไว้ในนั้นน่ะ ในปัจจุบันนี่นะพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์มันจำได้ดีกว่าคนนะ

สมัยพุทธกาลท่องกันด้วยปากเปล่ามาตลอด แล้วสิ่งนี้ท่องปากเปล่า เวลาผิดถูก คนเรามีความ รู้สึกมันสะเทือนหัวใจ ถ้าเรารักษาสิ่งนี้เป็นธรรมวินัย มันจะมีความภูมิใจมันจะได้บุญกุศล ใจที่ท่องมันจะได้บุญกุศลเพราะสืบต่อพระพุทธศาสนามาถึงเรา

แต่คอมพิวเตอร์มันไม่มีหัวใจนะ เราไปกดสิ สิ่งใดมันออกหมดล่ะ มันออกมาดีกว่าคนจำอีก แล้วเราไปศึกษาปริยัติมา ถ้าเราไม่ปฏิบัติ คอมพิวเตอร์มีประโยชน์กว่าเราเพราะมันไม่กล่าวตู่ มันไม่เอากิเลสมันสวมเข้าไป มันไม่มีบิดเบือน มันไม่บิดเบือนธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เว้นไว้แต่ผู้ที่ป้อนโปรแกรมเข้าไปผิด มันก็ผิดอยู่อย่างนั้น แต่ในเมื่อสิ่งต่างๆ มันตรวจสอบได้

ในเมื่อภาคปริยัติ เราศึกษาแล้วเราต้องปฏิบัติ แล้วถ้าปฏิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นมา ถ้าเรามีปริยัติมันมีข้อมูล ความลังเลสงสัยเกิดตรงนี้ แต่ถ้าเราศึกษาแล้วเราวาง ขณะที่วางนะ ในการประพฤติปฏิบัติ สุตมยปัญญา แล้วถ้าปฏิบัติไป เห็นไหม จินตมยปัญญา การทำความสงบของใจ ความสุขของใจนะ

“ธรรมเปรียบเทียบ” ธรรมเปรียบเทียบนะ เราจะเอาแต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเปรียบเทียบ ถ้ามีการธรรมเปรียบเทียบมันจะหลอกเราตลอดไป

ถึงว่าเวลาศึกษา ขณะที่ครูบาอาจารย์ที่มีอำนาจวาสนา ท่านจะบอกว่าให้วางสิ่งนี้ไว้ก่อน สิ่งที่จะเปรียบเทียบมันจะมีโอกาสบ้าง ถ้าเปรียบเทียบเหมือนเราเตือนใจเราตลอดเวลา เราเปรียบเทียบ เห็นไหม ขั้นของปัญญานะ ถ้าเรามีการฉุกคิด เรามีการเปรียบเทียบ ปัญญาจะเกิดจากสุตมยปัญญา ถ้าเป็นจินตมยปัญญา ความสงบของใจ ถ้าความสงบของใจอยู่ที่อำนาจวาสนานะ กำหนดพุทโธๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้สร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ จะเอาอะไรไปรื้อสัตว์ล่ะ? ก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมที่มีอยู่แล้ว ที่มีอยู่แล้วไม่สามารถสื่อกับโลกได้ เป็นธรรม เป็นวิมุตติกับสมมุติ ไม่สามารถสื่อมาในสมมุติได้

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปตรัสรู้ธรรม วิมุตติสุขเกิดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถึงวางธรรมและวินัยมาสืบออกมา สืบออกมาเป็นสมมุติ เป็นสมมุติเพื่อจะให้เราย้อนก้าวเดินกลับไป

ถึงเห็นว่า จริตนิสัยของสัตว์โลก เพราะสร้างสมบุญญาธิการมามหาศาล พุทธวิสัยปัญญา จะกว้างขวางมาก วางวิธีการทำความสงบของใจไว้ถึง ๔๐ วิธีการ เพราะความสงบของใจ แล้วแต่ตรงจริต มันจะทำความสงบของใจเข้ามาได้ ถ้าไม่ตรงจริต เห็นไหม ก็ทำได้บ้าง ทำได้เพราะอะไร เพราะฝืน ฝืนขึ้นมา การฝืน เหมือนกับคน เราเอาเรือไปวิ่งบนถนน แล้วเอารถไปลงน้ำ มันเป็นการฝืนไป แต่มันก็ฝืนไปได้บ้าง ได้บ้างเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันเป็นตรง เรือวิ่งในน้ำ รถวิ่งบนบก มันจะเป็นไปได้โดยธรรมชาติของเขา

จิต ถ้าตรงจริต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางธรรมการทำสมถะถึง ๔๐ วิธีการ ๔๐ วิธีการนะ เราจะทำความสงบอย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ได้ พุทธจริต ธรรมจริต พุทธวิสัย พุทธจริต พุทโธๆ ธัมโม สังโฆ ได้ทั้งนั้น มรณานุสติ สิ่งต่างๆ ก็ได้เพื่อจะให้จิตสลดหดเข้ามา ถ้าสลดเข้ามา สิ่งที่สลดเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตสงบถึงที่สุดนะ ถ้าจิตรวมใหญ่ คนมีวาสนา มันปล่อยกายได้

การปล่อยสักแต่ว่าอย่างนี้ มันคำว่า “สักแต่ว่า” คำปล่อยสักแต่ว่า แล้วเวลาเราศึกษาธรรม ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สิ่งนี้ไม่ใช่เรา เป็นของสักแต่ว่า” ครูบาอาจารย์ถ้าประพฤติปฏิบัติไม่ถึงที่สุดนะ นี่สุตมยปัญญาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจินตนาการ จินตมยปัญญา มันให้โทษอย่างนี้ ให้โทษกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ โดยให้กิเลสมันหลอกลวง กิเลสมันหลอกลวงชักนำไปก่อน แล้วเราก็ตีค่าไปตามแต่ความเห็นของกิเลสนะ

ดูนะ ทองคำกับตะกั่วในโลกนี้ต่างกัน การเปรียบเทียบระหว่างทองคำกับตะกั่ว เราเป็นผู้รู้ใช่ไหม เราเห็นว่าทองคำมีค่ากว่าตะกั่ว แล้วทองคำสีเป็นสีทอง ตะกั่วเป็นสีขาวหรือสีดำคล้ำ สิ่งนี้เราเปรียบเทียบมันเห็นชัดเจน เพราะเราเป็นผู้เปรียบเทียบ แต่ขณะจิตของเราสำคัญมาก จิตเวลาจิตมันสงบเข้ามาได้นะ มันเปรียบเทียบเป็นนามธรรม ว่าอย่างนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะว่างได้ มันจะปล่อยได้ ปล่อยโดยกิเลสหลอก กิเลสหลอกลวงให้ปล่อยสภาวะแบบนั้น เราก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม นี่เปรียบเทียบไง ถ้าการเปรียบเทียบโดยกิเลสนะ กิเลสมันจะหลอกลวงนะ หลอกลวงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ว่างนะ

เวลาองค์หลวงปู่มั่น ท่านออกประพฤติปฏิบัติ เวลาเริ่มต้นออกประพฤติปฏิบัติ เพราะสร้างอำนาจวาสนามาเหมือนกัน เวลาเข้าไปเห็นนิมิต เห็นต่างๆ ออกมานี่ท่านตรวจสอบนะ ตรวจสอบไปแล้วมันเหมือนเดิม มันไม่ได้ทำอะไรให้กับกิเลสได้สะเทือนเลย เห็นไหม เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะว่าท่านมีปัญญา ท่านมีปัญญาของท่าน เพราะมีปัญญาถึงมีความฉุกคิด แต่เรามันโดนกิเลสหลอก พอมีความว่าง มีสิ่งต่างๆ นี่ธรรมเปรียบเทียบนะ

ถ้าเปรียบเทียบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้ถ้าเป็นจินตมยปัญญา ขณะที่เป็น สุตมยปัญญา แล้วเราการพัฒนาของจิต วุฒิภาวะของจิตที่ว่าเกิดตายเกิดตาย เกิดตายสร้างสม เกิดตายในศาสนานี่สร้างคุณงามความดีมา จิตมันก็ละเอียดเข้าไปตรงกับความใฝ่ใจ จนกว่าจะพัฒนาของใจ จนถึงกับออกประพฤติปฏิบัติ จนถึงกับการชำระจิตให้ไม่เกิด ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่เกิดอีก สิ่งนี้เป็นอำนาจวาสนา

แต่ในการเปรียบเทียบอย่างนี้ เวลาจิตมันพิสูจน์มา นี่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาสิ่งเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบ...ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมนะ ถ้าผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

อันนี้มันไม่ใช่ อันนี้ผู้ใดปฏิบัติธรรม แล้วมันสมควรแก่ธรรมไหม มันเปรียบเทียบโดยกิเลสไง ถ้าเปรียบเทียบโดยกิเลสมันก็ยอมรับสภาวะแบบนั้นว่าเป็นธรรม ถ้ายอมรับสภาวะแบบนั้นเป็นธรรม มันก็ทำให้ฉุดให้ใจนี้เตลิดเปิดเปิงออกไป มันจะจินตนาการได้มหาศาลเลย นิพพานเป็นอย่างนั้น ความเป็นไปเป็นอย่างนี้ กิเลสขาดเป็นอย่างนั้น

แล้วพอมันเสื่อมไปนะ แล้วก็งง เวลากิเลสมันอยู่กับการประพฤติปฏิบัติ มันจะทำให้เราผิดพลาดไปอย่างนี้ ดูนักกีฬานะ นักกีฬาที่เขาแข่งขัน เขาเคยแข่งกีฬาอย่างนั้น แล้วเขาไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรเลย แต่เวลาเขาเลิกเล่นกีฬานั้น เขาไปเป็นโค้ช เขาจะอบรมนักกีฬาของเขา บางทีเขาอาศัยทักษะของเขา เพราะกีฬาชนิดใดก็มีกฎกติกาของเขาใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กฎ ธรรมและวินัย เรื่องมรรคญาณ เรื่องสิ่งต่างๆ สิ่งนี้เป็นสุตมยปัญญาไง แล้วก็เอามาโค้ช เทศนาว่าการ สอนลูกศิษย์สิ่งนั้นก็เป็นสักแต่ว่า ธรรมะก็ปล่อยสภาวะแบบนี้ ใจความไปอย่างนั้น ว่ากันไปนะ เราก็เชื่อไปตามเขา

เราเชื่อเพราะอะไร เราคิดว่าเขาเคยผ่านโลกมาก่อนเรา อาบน้ำร้อนมาก่อนเรา อาบน้ำร้อนมาก่อนเรานะ แต่เราต้องพิสูจน์ในใจของเรา ว่าถ้าอาบน้ำร้อนมาก่อนเรา แล้วพิสูจน์ได้ด้วยความเป็นจริง ในกาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อย่าเชื่อเพราะเป็นอาจารย์ของเรา อย่าเชื่อเพราะเข้ากับทฤษฎี อย่าเชื่อเพราะเราคาดการณ์ได้ อย่าเชื่อทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเป็นจินตมยปัญญาโดยกิเลสเทียบเคียง ธรรมะเทียบเคียง เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ เราถึงมีโอกาสที่จะเอามาอ้างอิง

แต่ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเอาอะไรไปอ้างอิง แม้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้ายังสอนได้ด้วยอริยสัจที่ในใจของพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ขณะที่ว่ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเป็นสาวก สาวกะ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาแล้วก็อ้างอิงกันไปนะ

ธรรมเปรียบเทียบมันจะทำให้เราตกออกไปนอกลู่นอกทาง

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าใครกล่าวตู่พุทธพจน์ บิดเบือนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีภิกษุที่รู้ที่เข้าใจ สวดประกาศ ๓ หน ๓ รอบไง ถ้าไม่เปลี่ยนความเห็น เป็นสังฆาทิเสส

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติไป ความถูกต้อง ความเป็นไป มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นสัจจะความจริงแล้วไม่ลังเลสงสัย ถ้ามันเป็นความลังเลสงสัย เพราะเราปฏิบัติไปแล้ว ผู้ที่เป็นจินตมยปัญญาโดยเปรียบเทียบนี่ไม่รู้หรอก ไม่รู้ว่ามันเป็นสภาวะสิ้นสุดกระบวนการเริ่มต้นตรงไหน กระบวนการของมรรคญาณที่มันหมุนออกไปจะเป็นอย่างไร แล้วสิ้นสุดกระบวนการของเขาจะจบลงตรงไหน เพราะอะไร

เพราะตัวเองเป็นนักกีฬาที่ไม่เคยได้เหรียญรางวัลสิ่งใดๆ เลย แต่เราไปโค้ชนักกีฬาที่อื่น ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ชนะแข่งขันอย่างนั้น นักกีฬาที่เขาแข่งขันของเขา ถ้าเขามีพรสวรรค์ของเขา เขามีความเป็นไปของเขา เขาชนะก็ได้ เขาได้เหรียญก็ได้ ได้เหรียญก็เป็นของนักกีฬา ไม่ใช่ของโค้ช โค้ชคนไหนก็ไม่เคยได้เหรียญทอง โค้ชคนไหนไม่เคยมีเหรียญเลย แต่นักกีฬามีสิทธิ์ เราเป็นนักกีฬา เราเป็นนักปฏิบัติ เราประพฤติปฏิบัติของเราเข้าไป เราจะต้องมีผลงานของเรา เริ่มต้นของเราเป็นสภาวะแบบใด ถ้าเปรียบเทียบโดยกิเลสจะเป็นสภาวะแบบนั้นนะ

ถ้าเปรียบเทียบโดยธรรม ขั้นของสมาธิ เวลาทำจิตสงบมันสงบเข้ามา สงบเข้ามานะ สงบเข้ามา แม้แต่จิตสงบถ้าไม่มีอำนาจวาสนา ยังคิดว่าความสงบนี้เป็นนิพพานได้ เพราะติดในสมาธินี่ติดได้ ความติดในสภาวะแบบนี้ เวลามันเสื่อมออกมา เราต้องเป็นสุภาพบุรุษ ต้องตรวจสอบต้องทดสอบ มันจะเป็นไปไหม? มันไม่เป็นไปหรอก เพราะอะไร เพราะหินทับหญ้าไว้ หินทับหญ้านะ พอเอาหินออกหญ้าก็งอก นี่มันเป็นธรรมดาของเขา

นี่ก็เหมือนกัน จิตสงบขนาดไหน เราเอากายมาแนบไว้สิ เราเอากายมาแนบไว้กับจิต เอาสิ่งที่เป็นสุภะ เอาสิ่งที่ถูกใจ เอาสิ่งต่างๆ มาแนบไว้ เดินไปตลาด เห็นเงินทองก็อยากได้ มันฟูทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันพิสูจน์ได้อย่างนี้มันเป็นอะไร? มันเป็นหินทับหญ้า เห็นไหม แม้แต่ความสงบก็ยังติดได้เลยถ้าไม่มีอำนาจวาสนานะ

แล้วถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ จนจิตนี้สงบเข้ามา กำหนดพุทโธๆ จนจิตสงบเข้ามานะ เห็นนิมิต เห็นต่างๆ มันยิ่งลึกลับกว่านั้นนะ เพราะทองคำกับตะกั่ว ทองคำคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตะกั่วคือกิเลสในหัวใจของเราไง สิ่งนี้สิ่งที่ทองคำกับตะกั่วมันเป็นวัตถุ เวลาเปรียบเทียบจะเห็นภาพชัดเจน

แต่ขณะที่จิตมันเป็นนามธรรม จิตที่เป็นนามธรรม เวลามันคิด มันเปรียบเทียบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทองคำไง ทองคำ ธรรมระดับไหน สะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหน นี่ทองคำ ทองคำคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตะกั่วคือกิเลส คือความสกปรกของหัวใจ มันผสมกัน มันหลอมละลายเป็นอันเดียวกัน ถ้าทองคำกับตะกั่วหลอมละลายเป็นอันเดียวกัน มันจะเป็นทองคำไหม มันเป็นทองคำบริสุทธิ์ได้ไหม? ไม่ได้เลย ไม่ได้ แต่พูดนี่ถึงว่าความรู้สึกไง

ถ้าความรู้สึกเพราะอะไร เพราะความรู้สึกเรามันเหมือนทองคำกับกิเลสที่หลอมละลายกัน เพราะในหัวใจของเรา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นที่ไหน? พุทโธ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ใจ ก็ตัวใจเป็นตัวนามธรรม ตัวใจเป็นตัวที่สามารถเป็นภาชนะที่จะรับธรรมได้ ตัวใจมันก็มีกิเลสด้วย พอกิเลสเวลามันเทียบเคียงไป เปรียบเทียบเทียบเคียงไป มันก็เทียบเคียงโดยกิเลส

แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนา มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ จิตสงบขนาดไหน น้อมไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่กระทบ ที่ว่าสภาวธรรม สภาวธรรม เวลาฝนตกแดดออก มันต้องมีสภาวะคลื่นความร้อน แรงสูงต่ำมันกระทบกัน ฝนมันจะตก มันโอกาสลมพัด ความร้อนหมุนเวียน นี่ก็สภาวธรรม แต่สภาวธรรมของวัตถุ

สภาวธรรมของโลกกับสภาวธรรมของจิต

สภาวธรรมของจิต โกรธ กระทบสิ่งที่มีความโกรธ กระทบสิ่งที่พอใจ สิ่งที่รัก ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์ เพราะอะไร เพราะรักก็ต้องแสวงหา รักก็อยากได้ ทุกข์ ทุกข์เพราะอยากจะผลักไส ผลักไสก็ไม่ออก เห็นไหม นี่ก็สภาวธรรมเกิด แล้วถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่มันเวิ้งว้างกว่านั้นนะ พอเวิ้งว้างกว่านั้น เห็นไหม ธรรมเปรียบเทียบ มันก็ติดในธรรม แล้วไม่เห็นสัจจะความจริงเลย มันไปเป็นปฏิเวธะไม่ได้ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาไม่เกิด มันเกิดจินตมยปัญญา จินตมยปัญญาแก้กิเลสไม่ได้

แล้วถ้าเข้าถึงจินตมยปัญญา เทียบเคียงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบเทียบอย่างนั้น แล้วไปโค้ชเขา เที่ยวเทศนาว่าการออกไป นี่ชักคนให้หลงทาง หัวหน้าฝูงโคที่ไม่ฉลาดจะเอาโคฝูงนั้นจมอยู่ในวังน้ำวน คือจมอยู่ในวัฏฏะไง มันชำระการเกิดไม่ได้ มันจะต้องเกิดต้องตายอีก ไม่มีต้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้ามีโคที่ฉลาด เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดี ขั้นของปัญญา ขั้นของการเปรียบเทียบด้วยธรรม เปรียบเทียบโดยกิเลสมันจะอ้างเป็นผล อ้างเป็นสิ่งที่เป็นผล แล้วคำว่า “ผล” มันก็ติด เพราะเราเข้าใจว่าผล เราเข้าใจว่านี่คือเป้าหมาย ถึงเป้าหมายแล้ว มันก็นอนจมกับกิเลส

แต่ถ้าเป็นขั้นของการเปรียบเทียบโดยธรรม ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบ ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร การวิวัฒนาการของการประพฤติปฏิบัติตั้งแต่สุตมยปัญญา แล้วมันจะวิวัฒนาการเป็นจินตมยปัญญาถ้ามีการปฏิบัตินะ ถ้าไม่มีการปฏิบัติมันเป็นโลกียปัญญาตลอดไป เพียงแต่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กิเลสระหว่างทองคำกับตะกั่วมันหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะบริสุทธิ์ไปไม่ได้ เพราะกิเลสเรามันเจือไปตลอดเวลา แต่ถ้ามีอำนาจวาสนา มีครูบาอาจารย์ คอยชี้นำ มันจะเกิดโดยปัจจุบันของเขา ในปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันเพราะอะไร เพราะการมีความสงบ ถ้ามีความสงบ ระหว่างตะกั่วมันจะยุบยอบไป มันจะเป็นทองคำ

ถ้าทองคำ ขณะที่เราจะแยกตะกั่วกับทองคำออกจากกัน มันต้องมีวิธีการ คำว่า “วิธีการที่จะแยกตะกั่วกับทองคำออกจากกัน” ถ้าจินตมยปัญญา นี่เปรียบเทียบไป ฝึกปัญญา ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ขณะที่มันปล่อยวางหนหนึ่ง ปัญญามันได้ใช้ไปหนหนึ่ง จินตมยปัญญา ถ้ามันเป็นความละเอียดรอบคอบขึ้นไป มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ผลของภาวนามยปัญญามันจะเกิด เกิดเพราะมัชฌิมาปฏิปทา ระหว่าง ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ

สิ่งที่ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ จะเกิดขึ้นมา ดูอย่างความสกปรกของวัตถุต่างๆ ที่เราจะมาชำระความสะอาดให้ขึ้นมา สิ่งที่เป็นความสะอาด เราต้องรู้จักวิธีการถอด อย่างเช่น เครื่องยนต์ เราจะต้องถอดทำความสะอาด เราจะล้างอย่างไร จะถอดอย่างไร นี่ก็เหมือนกันขณะที่จิตเราสงบอย่างไร สงบมาแล้ว สิ่งนี้สิ่งที่เป็นเครื่องยนต์เราจะล้างแต่เปลือกข้างนอก มันก็สะอาดแต่เฉพาะเครื่องยนต์ข้างนอก แต่ขณะที่สิ่งที่ในเครื่องยนต์นั้นมันต้องเปิดจากภายในออกมา มันถึงจะทำความสะอาดของเขาได้

ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิด มันจะย้อนกลับเข้าไป ทวนกระแสเข้าไปในใจ สิ่งที่เป็นในใจ มันความสะอาดจากภายใน ดูสิ ดูเครื่องยนต์ เราไม่เคยถ่ายน้ำมัน เวลามันติดเครื่อง มันใช้งานออกไป มันจะดำตลอดไป สิ่งที่มันจะสึกหรอมากไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราทำความสะอาดของมัน เราถ่ายน้ำมันเครื่องทำความสะอาด แล้วเราติดเครื่องยนต์ เครื่องยนต์จะดีขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ปัญญาของเราโดยเปรียบเทียบ โดยธรรม มันก็จะปล่อยวางอย่างนี้ การปล่อยวาง ระหว่างที่มันปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหน ทำซ้ำ พิสูจน์ซ้ำ มันจะพัฒนาจากจินตมยปัญญากลายเป็น...กลายได้อย่างไร มันกลายเพราะจิตดวงเดียวกัน ความประพฤติเดียวกัน

จากความรู้สึกจากภวาสวะ ภพอันนี้ สภาวะของจิตมันพัฒนาการของมันขึ้นไป สิ่งที่พัฒนาการขึ้นไปมันถึงเป็นสุตมยปัญญา การสัญญา การเก็บข้อมูล จินตมยปัญญาคือการพิสูจน์ แล้วมันพัฒนาของมันขึ้นไปจนเป็นภาวนามยปัญญา เห็นไหม จินตมยปัญญา การเปรียบเทียบมันก็มีประโยชน์ ถ้าเปรียบเทียบแล้วเห็นโทษ เห็นประโยชน์ เห็นการแยกแยะ การที่จะแยกระหว่างตะกั่วกับทองคำออกจากกัน มันจะแยกไปของเขาบ่อยครั้งเข้า

แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ เปรียบเทียบโดยกิเลส “ธรรมเปรียบเทียบ” เวลาเราฟังธรรมนะ เราฟังธรรม ถ้าเรามีเหตุมีผลของเราในหัวใจ เราฟังครูบาอาจารย์ที่เทศนาว่าการสิ มันฟังออกนะ สิ่งที่ฟังออกเพราะอะไร เพราะเขาพูดอยู่โดยระดับเป้าหมายเท่านั้น เขาไม่ได้พูดถึงวิวัฒนาการที่มันเจริญงอกงามขึ้นไป วิวัฒนาการของจิตที่มันพัฒนาขึ้นไป มันจะพัฒนาของมันไปจนเป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญามันจะเข้าไป มันไม่ใช่เปรียบเทียบ สิ่งที่เปรียบเทียบนี่จินตมยปัญญา เพราะมันเปรียบเทียบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขณะที่เป็นภาวนามยปัญญามันเป็นธรรมของเรา มันเป็นธรรมะส่วนบุคคล มันเป็นธรรมะที่เราพัฒนาการขึ้นมา มันเป็นวิวัฒนาการของจิตมันสร้างสมขึ้นมา สิ่งที่สร้างสมขึ้นมานี่ธรรมจักร จักรที่มันเกิดขึ้นมา มัคโคนี่มันยากอย่างนี้ไง

ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ท้อใจว่าจะสอนอย่างไร สอนอย่างไร สอนถึงวิธีการปฏิบัติถึงการสิ้นของทุกข์ วิธีการปฏิบัติที่เราจะชำระเข้ามา

“ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นจะไม่มีผล” แล้วศาสนานี้มีมรรคอยู่ มรรคที่ว่าศาสนาพุทธของเรามีมรรคอยู่ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราก็ไปตะครุบเงาเอาสุตมยปัญญาเป็นมรรค จินตมยปัญญาเป็นมรรค ละเอียดขึ้นมา แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญามันเป็นมรรคขึ้นมาอย่างนี้ มรรคญาณเกิดมาอย่างนี้ มันไม่ใช่สิ่งเปรียบเทียบ มันเป็นความจริง

สิ่งที่เปรียบเทียบระหว่างตะกั่วกับทองคำ ระหว่างกิเลสกับธรรมนี่มันมีการเปรียบเทียบ แล้วปัญญามันใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะปล่อยวางมาเป็นชั้นเป็นตอน ปล่อยวาง เว้นแต่ขิปปาภิญญาก็ขาดเลย แต่ถ้าเป็นเวไนยสัตว์ อำนาจวาสนาสูงต่ำต่างกัน การถึงวิปัสสนาบ่อยครั้ง ลึกตื้นต่างกัน บางคนพิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาธรรมต่างกัน ความต่างกันนี่มันตรงกับกิเลส ตรงกับเชื้อโรค ตรงกับสิ่งที่สะสมมากับใจ ถ้าไม่ตรงกับสิ่งที่สะสมมากับใจ มันได้บ้าง ได้บ้างเพราะอะไร เพราะเราประพฤติปฏิบัติ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งใดจะตรงกับเชื้อโรคของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดตาย เราเที่ยวไปในประเทศเราสิ อาหารแต่ละพื้นถิ่นไม่เหมือนกัน ถ้าเราว่า เราจะต้องกินอาหารชนิดนี้ แล้วเราไปพื้นถิ่นอื่นที่เขาไม่มีอาหารชนิดนี้ เราก็ต้องกินประทังชีวิตไง นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติไป ถ้าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งที่ว่าสิ่งที่อาหารที่เคยสิ่งที่เราชอบใจไม่มี เราก็ต้องหาวิธีการ หาอุบายวีการ เพราะการประพฤติปฏิบัติปล่อยไม่ได้ ถ้าเราปล่อยช่วง ทิ้งช่วง ๑๐ วันภาวนาหนหนึ่ง ๑๐๐ วันพิจารณาหนหนึ่ง ไม่เคยภาวนาเลย ก็คาดหมายมรรคผล มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องต่อเนื่อง

เวลาเราจะตีเหล็ก เหล็กนั้นต้องเผาไฟจนแดงจะตีได้ รูป ขึ้นรูปอย่างไรก็ได้ เราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันเปิดโอกาส จิต จิต สถานที่ทำงาน แล้วกิเลสทำความสงบเข้ามามันจะปล่อย เปิดโอกาสให้เรา แล้วเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญเข้ามา นี่มันต้องต่อเนื่อง พยายามต่อเนื่อง การทำต่อเนื่อง การทำสม่ำเสมอ สิ่งนี้ขาดแคลน ชาวพุทธขาดแคลนมาก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขาดแคลนมากเหมือนกัน

ดูสิ เวลาในพรรษา เข้าพรรษาแล้วพระประจำถิ่น พระประจำพื้นที่ พระจะประพฤติปฏิบัติในพรรษา ๓ เดือนนะ แล้วใน ๑ ปี ๑๒ เดือนนะ แล้วจะตลอดไหม พระป่าเราถึงตลอดนะ ออกพรรษาก็ธุดงค์ เวลาได้อานิสงส์จากพรรษา สละผ้าได้ผืนหนึ่งก็ไม่สละ สิ่งต่างๆ มั่นคงแข็งแรงตลอดไปเพราะกิเลสมันเหยียบเราทุกวินาที แต่ธรรมะนานๆ สอดเข้ามาได้หนหนึ่ง แล้วถ้ามันสอดขึ้นมาได้ กว่าเราสร้างสมขึ้นมา เห็นไหม ถ้าเราสร้างสมขึ้นมาได้ ธรรมะก็เข้มแข็งขึ้นมา ธรรมะเข้มแข็งขึ้นมา กิเลสมันก็อ่อนตัวลง

ในการใช้ปัญญาของเรา ภาวนามยปัญญาจะเกิด คนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วเห็นภาวนามยปัญญา แล้วการใคร่ครวญมันจะเข้าใจ มันจะซึ้งใจ ซึ้งใจมาก แล้วพยายามจะถนอมรักษา ศีลถึงมีประโยชน์ตรงนี้ไง ศีล ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ศีลสำคัญมาก ถ้าศีลไม่สำคัญมากนะ มันเป็นพื้นฐาน ทาน ศีล ภาวนา ถ้าไม่มีทาน จิตนี้มันไม่มีสถานะ ถ้ามีศีลขึ้นมาก็ทำให้มันบริสุทธิ์ เวลาจิตสงบขึ้นมามันไม่ออกไปเป็นมิจฉา มันไม่มีสิ่งใดก่อกวน ออกประพฤติปฏิบัติในป่าในเขา สิ่งนี้มีทั้งนั้นน่ะ เทพฝ่ายดีก็มี ฝ่ายทดสอบก็มี ถ้าศีลเราบริสุทธิ์จะมีสภาวะแบบนี้ แล้วผู้ที่มีบุญกุศล จะสื่อ จะช่วยเหลือ จะเกื้อกูลเขาได้

แต่ถ้าเราอำนาจวาสนาเราเอาตัวเองรอดได้ เราก็รักษาของเรา ศีล ศีลบริสุทธิ์จะเข้าอยู่ที่ไหนก็องอาจกล้าหาญ ในการประพฤติปฏิบัติที่ไหน เมื่อไหร่ มันจะพร้อมเสมอ แต่ถ้าเรามีความผิดพลาด ศีลเราด่างพร้อย มันจะปลงอาบัติ สิ่งที่ปลงอาบัติเพื่อจะให้สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเห็นการวิวัฒนาการของจิตที่เราพัฒนาขึ้นมา มันจะถนอมรักษาสิ่งนั้นทั้งหมด การดำรงชีวิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันก็นุ่มนวล มันก็สมควร มันก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาของศาสนา

แล้วศาสนาเจริญในหัวใจของเรา ปัญญามันก็เกิดสภาวะแบบนี้ มันเป็นความจริงของใจนะ ศาสนานอกศาสนาใน เราไปมองแต่ประเพณีวัฒนธรรม สิ่งที่เขาเกื้อกูลกันมา สิ่งที่เป็นประโยชน์สังคม เห็นไหม เราเหมือนปลาเกิดในน้ำ สังคมคือน้ำ เราเป็นปลาตัวหนึ่งเกิดมา แล้วเราพัฒนาขึ้นมาจนธรรมเกิดในหัวใจของเรา วิวัฒนาการของจิตเกิดขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบนี้ แล้วก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเชื่อ เรามีอำนาจวาสนา เราสร้างสมบุญญาธิการจนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นธรรมของเรา วิวัฒนาการของจิต มรรคญาณเป็นแบบนี้ นี่ภาวนามยปัญญา

ถึงสิ้นสุดกระบวนการของภาวนามยปัญญานะ กายต้องขาดดั่งแขนขาด สมุจเฉทปหาน สักแต่ว่าไม่ได้ การสักแต่ว่า เพราะจิตสงบมันเป็นสักแต่ว่าได้ สักแต่ว่ากาย จิตนี้ปล่อยวาง แล้วก็เทียบเคียง “โอ๋ย! ว่าง นี้เป็นธรรม”...ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์เพราะสิ่งนี้เป็นจินตมยปัญญาแล้วเทียบเคียงโดยกิเลส

ถ้าเทียบเคียงโดยปัญญา โดยมรรคญาณ โดยธรรม ว่างขนาดไหน ถ้าไม่มีเหตุมีผล ไม่มีสมุจเฉทปหาน กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย สิ่งต่างๆ สิ่งนี้ต้องก้องกังวานในหัวใจ ดั่งแขนขาดเป็นอกุปปธรรม เราก็ได้แยกตะกั่วออกจากใจบางส่วน แต่กิเลสอันละเอียดในหัวใจมันก็ยังมีอยู่ในหัวใจ เราก็ต้องพัฒนาของเราขึ้นไป มรรค ๔ ผล ๔

ในการประพฤติปฏิบัติ เรามีครูมีอาจารย์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคล ๘ จำพวก เวไนยสัตว์ต้องมีการพัฒนาการเป็นบุคคล ๘ จำพวก บุคคล ๘ จำพวก เราก็ว่าคน ๘ คน แต่มันเป็นวิวัฒนาการของจิต ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคนี่ก็บุคคลที่ ๑ โสดาปัตติผลบุคคลที่ ๒ สกิทาคามรรคบุคคลที่ ๓ ระหว่างโสดามรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค วิวัฒนาการที่มันจะพัฒนาขึ้นไป มันไม่ใช่มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัตินะ

ถ้ามันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เวลานางวิสาขา เวลาพระอานนท์มันต้องเป็นพระอรหันต์โดยอัตโนมัติสิ นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เสร็จแล้วนางวิสาขาก็ตายไปในพระโสดาบันนั้นน่ะ แล้วก็ต้องเกิดอีกอย่างน้อยก็ ๗ ชาติ ดูวิวัฒนาการที่มันพัฒนาการออกไป จะมีอำนาจวาสนาขนาดไหน ก็แล้วแต่ แต่ถ้าวิวัฒนาการเกิดมาจากไหน เกิดมาจากไหน? เกิดมาจากมีสตินะ เรามีสติเทียบเคียงตลอด ตรวจสอบตลอด สติเทียบเคียง เทียบเคียง สติ ถ้ามีสติมันจะเห็นความผิดพลาดของเรา ถ้าเราขาดสตินะ มันจะเคลมว่าเป็นธรรม เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม ถ้าผู้ที่อธิษฐานมาต้องการแค่นี้ นั่นก็เป็นบุญกุศลของเขา แต่ผู้ที่เข้าใจว่านี่เป็นนิพพาน...น่าสลดสังเวชมาก เพราะมันเป็นธรรมหยาบมากนะ

โสดาบัน นางวิสาขายังมีครอบครัวนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเห็นกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย แต่อาศัยกายนี้ นี่คูหา คูหาของจิต จิตอยู่ในคูหา อยู่ในร่างกายนี้ ถ้าร่างกายนี้ จะถนอมร่างกายมาก ถนอม ถนอมรักษาไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าตายเดี๋ยวนี้เหมือนกับเราขับรถไป ไปไม่ถึง รถเราชำรุดเสียก่อน เราจะไปถึงทางได้อย่างไร เพราะเราไม่มีรถจะพาเราไป กายนี้มันก็เหมือนกัน ถ้าเราตายเสียเดี๋ยวนี้ กายนี้ จิตนี้ก็ต้องเกิดต้องตาย แล้วจิตไม่มีร่างกายอยู่ มันจะอาศัยในอะไรล่ะ ถ้ามันดับเดี๋ยวนี้นะก็เป็นเทวดาอริยบุคคล มันต้องเกิดแน่นอน มันเกิดอยู่แล้ว

ถ้ามีอำนาจวาสนาก็ยังมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็จะตรัสรู้ธรรมได้ แต่ถ้ายังไปเกิดอย่างนั้นมันก็ต้องไป นี่ทุกข์อันละเอียดในหัวใจมีนะ จะเทวดาอริยเจ้าก็แล้วแต่ สิ่งต่างๆ มันเพราะอะไร เพราะสิ่งที่บีบคั้นคือภพ คือสถานะที่เกิด จะเทวดาก็ทุกข์อย่างละเอียด จะพรหมก็ทุกข์ จะสิ่งใดก็ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะมีสิ่งบีบคั้น มีสถานะบีบคั้น มีสภาวะบีบคั้น มนุษย์ทุกข์เพราะมีปากมีท้อง ทุกข์เพราะมีกิเลสบีบคั้น สิ่งที่บีบคั้นอยู่ มันบีบคั้นอยู่ สิ่งนี้ถ้าอย่างละเอียดมันก็มีอยู่

แต่ถ้าในปัจจุบัน เรามีปัญญาเทียบเคียง ปัญญาเราเทียบเคียงแล้ว เราใช้ปัญญาของเราวิวัฒนาการขึ้นไป จากโสดาปัตติมรรค ถ้าไม่มีโสดาปัตติผล เจริญแล้วเสื่อมเป็นกุปปธรรม ถ้ามีโสดาปัตติผล โสดาปัตติผลโดยสมุจเฉทปหาน กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย โดยสัจจะความจริง จิตเป็นจิต กายเป็นกายแยกกัน แต่มีอุปาทานอันละเอียดที่มันเป็นความสัมพันธ์กันอยู่ การสัมพันธ์คือสังโยชน์ที่มันยังเกาะอยู่ ถ้าเราใช้ยกขึ้น ยกขึ้นเป็นสกิทาคามรรคเป็นบุคคลที่ ๓ บุคคลที่ ๓ แล้ววิวัฒนาการ ต้องวิปัสสนาไป ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ถ้าเป็นการเปรียบเทียบโดยกิเลส มันก็เปรียบเทียบไปสภาวะแบบนี้ให้ผิดพลาดอีกต่อไป กิเลสละเอียดจะหลอกละเอียดมาก แต่เพราะสิ่งที่เป็นพื้นฐาน การวิปัสสนาเริ่มต้นกับขั้นสุดท้าย สุดยอดในการปฏิบัติที่ต้องใช้เชาวน์ปัญญา ต้องใช้สติควบคุมมหาศาล เพราะเราไม่มีสิ่งพิสูจน์ตรวจสอบ แต่ขณะที่เป็นโสดาปัตติผล เป็นอกุปปธรรมที่มันจะไม่มีทางแปรสภาพ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นการประสบการณ์ของจิตที่มันผ่านประสบการณ์อย่างนี้มา

ในการวิปัสสนา ในสกิทาคามรรคมันก็มีการเปรียบเทียบ มีกิเลสมันจะหลอกไป เพราะกิเลสอย่างละเอียดจะหลอกไป เราก็เอาสิ่งนี้ เอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องยืนยัน เครื่องยืนยันว่าขณะที่กายกับจิตขาดจากกัน มันมีเหตุผลตอบสนอง ขณะที่เราวิปัสสนากายขึ้นมาเป็นการเทียบเคียง มันก็เอาอันนี้มาอ้างอิง อ้างอิงว่าสิ่งนี้ปล่อยแล้ว สิ่งนี้ขาดแล้วๆ...กิเลสมันจะอ้างอิงธรรมตลอดนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งนี้เป็นทองคำ แต่เพราะกิเลสเรา ตะกั่วของเรามันหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะอ้างอิง มันจะเปรียบเทียบ มันจะกล่าวตู่เป็นสภาวะแบบนั้น กิเลสเป็นอย่างนี้

อย่าไปมองคนข้างนอกนะว่าเป็นโทษเป็นภัยกับเรา ให้มองกิเลสของเราในหัวใจเรานี่เป็นโทษเป็นภัยกับเรา แม้แต่การประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นโทษเป็นภัยนะ เป็นโทษเป็นภัย ทำให้เราทุกข์ยาก การประพฤติปฏิบัติที่มันทุกข์ยากอยู่นี้เพราะกิเลสของเรา กิเลสมันต่อต้าน กิเลสมันสร้างสถานะครอบงำ กิเลสมันสร้างสภาวะให้เชื่อ ทุกอย่างที่กิเลสสร้างขึ้นมา มันจะทำให้เรายอมจำนนกับมัน ให้เราเชื่อมัน

แต่ถ้าไม่มีธรรม ไม่มีสติ เราก็เชื่อ เชื่อ เพราะในการติดในการหลง เพราะมันไม่รู้มันถึงติด และมันก็หลง พอมันติดแล้วก็หลงมันก็อ้างอิงสิ่งนั้นว่าเป็นมรรคเป็นผล สิ่งที่มันพอใจนอนจมกับกิเลสอย่างนั้นไง

ถ้าวิวัฒนาการพัฒนาการขึ้นไป มันจะปล่อย ปล่อยเหมือนกัน แต่มันไม่ขาดหรอก มันไม่ขาดเพราะอะไร เพราะกิเลส แก่นของกิเลสนะ เวลาย้อนกลับมาที่จิต การเกิดและการตายไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีต้นไม่มีปลายนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร ครูบาอาจารย์สิ้นกิเลสแล้วนะ จะไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการเกิดอีก นี่วิมุตติสุข อะไรรองรับวิมุตติสุข อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตดวงนี้เป็นผู้วิมุตติ ถ้าจิตวิมุตติ จิตมันมีอยู่ มันก็วิมุตติอย่างนั้น แล้วไม่เกิดอีก

แต่ที่จิตนี้ยังตายยังเกิด มันไม่มีต้นไม่มีปลาย คือสิ่งที่มันกลิ้งไปโดยไม่มีเหตุมีผลเลย เพียงแต่แรงขับของพลังงานของจิตของอวิชชาเท่านั้นเอง ถ้าเราพัฒนาของเราขึ้นมาจนเป็นจริตเป็นนิสัย ต้องเป็นจริตเป็นนิสัย มันถึงเข้ามาในวงจรของธรรมะนะ ถ้าเข้ามาในวงจรของธรรมะ แล้วเราวิวัฒนาการเข้ามาจนเป็นอกุปปธรรม เห็นไหม อกุปปธรรม โสดาบันย่อมเกิดอีก ๗ ชาติ แล้ววิวัฒนาการของมันในสกิทาคามรรค วิวัฒนาการพิจารณาไปอย่างไร วิปัสสนาไป

สิ่งที่เป็นโสดาปัตติผลนี่มันรองรับไว้นะ เราถึงหลง รองรับมันไม่เสื่อมจนออกไปทุกข์ยาก มันเสื่อม เสื่อมผล มันเสื่อมออกมาจากพลังงานที่จะเข้าไปทำลายสกิทาคาผล แต่ถ้ามันเสื่อมออกมามันก็มีสถานะของโสดาปัตติผลรองรับไว้ มันก็ติดสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าธรรมละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป เราต้องทำซ้ำต้องพิสูจน์ซ้ำ ต้องแยกแยะ เพราะกิเลสอันละเอียดมันก็เทียบเคียงละเอียด เทียบเคียงจนว่าสิ่งนี้เป็นนิพพานตลอด ถ้าเป็นนิพพานเพราะอะไร เพราะในกระบวนการของการทำงานนะ ถ้าเรารวบรวมทุกอย่างครบสมบูรณ์บริบูรณ์

เหมือนการสอบ ถ้าเราส่งหน่วยกิตครบ ทุกอย่างครบ ครูบาอาจารย์ตัดสินครบ เราจะผ่าน แต่ถ้าเราไม่ครบ มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม เราส่งหน่วยกิตไม่ครบ ทุกอย่างไม่พร้อม แล้วเราก็ว่า เราจะต้องได้ธรรม นี่มันเป็นไปไม่ได้ แต่กิเลสมันว่าได้ กิเลสมันสร้างสม มันหลอกลวงว่าเป็นสภาวะแบบนั้น ล้มลุกคลุกคลาน ในการประพฤติปฏิบัติจะล้มลุกคลุกคลานไปตลอด ล้มลุกคลุกคลานเพราะกิเลสมันเปรียบเทียบ อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีครูมีอาจารย์ของพวกเราที่ประพฤติปฏิบัติมา

เราฟังทั้งภาคปริยัติ คือธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วฟังทั้งภาคปฏิบัติ มันยิ่งเป็นโทษใหญ่เลย เห็นไหม นี่รู้มากยากนาน ยิ่งรู้มากกิเลสมันก็รู้ตามไปด้วย เรารู้ขนาดไหน เหมือนสวะในน้ำเลย น้ำสูง กิเลสมันก็ขึ้นสูง สวะลอยอยู่เหนือน้ำตลอดไป แล้วอวิชชามันครอบงำใจเราอยู่ มันอยู่กับเรา ขนาดรู้ขนาดไหน การประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เวลาท่านสอนสั่งสอน ท่านจะบอกเหตุ ถ้าบอกผลจะเทียบเคียงทันที ผลเป็นแบบนั้น แล้วปฏิบัติเป็นเหมือนกันเลย นี่กิเลสล้วนๆ เลย เพราะอะไร เพราะเทียบเคียงของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ของเราเลย

ถ้าเป็นของเรานะ มันสงบอย่างไร วิปัสสนาปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต ปล่อยปั๊บ เชื้อไขไม่ขาด เดี๋ยวก็ออกมาเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าปล่อยจริงนะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง กายกับจิตขาดสิ่งที่ขาด อะไรขาด? กามราคะ ปฏิฆะ ขาด อ่อนตัวลง สิ่งนี้ขาด เวิ้งว้างมาก เวิ้งว้างขนาดไหน สิ่งที่ละเอียดมันหลอกอยู่นะ วิวัฒนาการพาดขึ้นๆ พาดขึ้นด้วยการประพฤติปฏิบัติ การก้าวเดิน การประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเริ่มต้นแสนทุกข์แสนยาก แต่ขณะที่เราวิวัฒนาการ จนปัญญา ขั้นของปัญญาไม่มีที่สิ้นสุด ขั้นของปัญญามันเปรียบเทียบไป เปรียบเทียบโดยปัญญาเป็นจินตมยปัญญา แล้วจุดติดเป็นภาวนามยปัญญานะ

พอจิต เวลากายกับจิตนี้แยกออกจากกัน ถ้าเราจับกามราคะได้ ปัญญาที่มันจุดติดแล้วนะ มันจะหมุนตลอดเวลา ขณะที่เราพยายามขับไสให้การประพฤติปฏิบัติเราสืบต่อ แสนทุกข์แสนยาก แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจนถึงขั้นของกามราคะ ขณะที่เป็นน้ำป่า ปัญญาจะหมุนเร็วมาก การฝึกฝนจะติดตลอดไป เหมือนกับนักกีฬาที่เขาเป็นแชมป์ เวลาเขาแข่งขัน เขาจะมีความชำนาญมาก เขาอ่านเกมออกหมดนะ ผู้ต่อสู้ ผู้ที่เป็นนักกีฬาที่จะมาแข่งขัน เหมือนกับเด็กๆ ฝึกใหม่ จับแข่งกับแชมป์นี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญญามันหมุนแล้วนะ มันจะหมุนอย่างนั้นเลย นักกีฬานี่เป็นการเปรียบเทียบจากภายนอก แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ กิเลสที่มันละเอียดกว่ามันก็ซ้อนมาอย่างนั้น เพียงแต่ว่าในความชำนาญของจิตที่ปัญญามันหมุนแล้ว เวลาปัญญามันหมุน เห็นไหม แชมป์ ถ้าพูดถึงเคยเป็นนักกีฬาเป็นแชมป์ ประมาทก็พ่ายแพ้คู่ต่อสู้เหมือนกัน ปัญญาที่มันติดแล้ว เพียงแต่ว่าปฏิบัติยากปฏิบัติง่ายไง ขณะที่ยากนะขับไส พยายามจุดอย่างไรก็ไม่ติด พยายามทำอย่างไรนะ ทุกข์ยาก พยายามอดนอนผ่อนอาหาร

แต่ขณะที่มันถึงจุดที่ปัญญามันหมุนแล้วนะ จับกามราคะได้ หมุนมหาศาลเลย การหมุนมหาศาลมันก็เป็นการเทียบเคียงอีกอย่างหนึ่ง เทียบเคียงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมเหมือนกัน เทียบเคียงฝ่ายต่ำ เทียบเคียงโดยตะกั่ว เทียบเคียงโดยกิเลส มันก็ทำให้ติดข้อง เทียบเคียงโดยกิเลสอันละเอียด มันก็เทียบเคียงว่าเป็นธรรม เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลอก ไม่ใช่ธรรมจริง ธรรมโดยกิเลสเอามาอ้างอิง จะล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนี้

เวลาล้มลุกคลุกคลานเราก็ต้องปล่อย ปล่อยขณะที่ว่ามันว่างขนาดไหน กลับมาที่พุทโธ จิตมันจะหมุนไป จนปัญญาจะหมุนเต็มที่ แล้วเราก็ตามปัญญาจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนสิ่งต่างๆ ทุกข์ยากมาก แรงของปัญญามันจะหมุนเต็มที่เพราะมันขาดพลังงาน ขาดสมาธิ ปล่อย ปล่อยแล้วกลับมาพุทโธ ปล่อยแล้วกลับมาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สร้างสมให้หน่วยกิตครบ หน่วยกิตคือ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมากัมมันโต งานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงมันชอบ กล่อมถนอมเลี้ยงจิต ให้จิตหมุนออกมาเป็นปัญญาชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ สัมมาปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบ ถ้ามันเป็นชอบ ความชอบคือความสมดุล

นี่ไง มัชฌิมาปฏิปทาของโสดาบัน มัชฌิมาปฏิปทาของสกิทา การเปรียบเทียบความละเอียดลึกซึ้งต่างกัน มัชฌิมาของอนาคานะ ถ้าปัญญามันหมุนไปมันหมุนด้วยปัญญา เพราะปัญญามันแรงเต็มที่แล้ว สิ่งต่างๆ เพราะมันหมุนไป เพราะภาวนามยปัญญาเป็นชั้นตอนเข้ามา แต่ขาดความนุ่มนวล ขาดความสำรวม มหาสติ-มหาปัญญา ขาดตามความเป็นจริง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาจากใจที่มันเคยประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้จะเห็น

ยากอย่างขั้นเริ่มต้นก็ยากอย่างหนึ่ง ยากของขั้นในการที่ความชำนาญก็ยากด้วยความประมาทก็เป็นความยากอีกอย่างหนึ่ง นี่กิเลสมันละเอียด มันเทียบเคียงโดยละเอียด มันก็ทุกข์ไปโดยละเอียด เห็นไหม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันเป็นภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ธรรมะเทียบเคียง เป็นธรรมะความจริง เทียบเคียงคือปัญญากับกิเลสต่อสู้กัน ถึงความจริง โลกธาตุไหว ครืน! ในหัวใจนะ กามราคะขาด เพราะไม่เกิดในกามภพ

ย้อนกลับขึ้นไป ย้อนกลับขึ้นไปถึงอันละเอียด สิ่งที่ละเอียดความว่างต่างๆ เป็นความว่าง สิ่งนี้เป็นความว่าง อนาคา เรือนว่าง เรือนว่างใครเป็นคนอยู่ล่ะ เราเข้าไปในบ้านบ้านนั้นว่าง แต่เราอยู่ในบ้านนั้น นี่ก็เหมือนกัน บ้านคือร่างกาย หัวใจอยู่ในร่างกายนี้เป็นความว่าง ความว่างขนาดไหน ไอ้หัวใจตัวอวิชชา “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” เราก็เทียบเคียง จิตผ่องใสกับจิตนิพพาน...กิเลสมันก็หลอกไป นี่ธรรมะเทียบเคียง

สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม ผ่องใสคู่กับเศร้าหมอง ความอาลัยอาวรณ์ความทุกข์ของใจ สิ่งที่จับสิ่งนี้ได้ “อรหัตตมรรค” ความละเอียดของจิตเทียบเคียงมาเพื่อเป็นปัญญา ปัญญาอย่างปัญญาญาณอันละเอียด พลิกคว่ำอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชาเป็นเรือนยอด สิ่งที่ละเอียดที่สุดในหัวใจโดนทำลายลงแล้วในหัวใจของเรา นี่เป็นธรรมของเรา

ไม่ใช่ธรรมเปรียบเทียบ ธรรมเปรียบเทียบ ธรรมะเทียบเคียงเป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้เราก้าวเดินตามอำนาจของกิเลส ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นธรรมะของเรา เป็นธรรมะของบุคคลนั้น ไม่ใช่ธรรมเปรียบเทียบ

ธรรมะจริงๆ เอโก ธัมโม จิตเป็นหนึ่ง หนึ่งเป็นธรรม ธรรมสิ่งนี้เป็นธาตุ ธาตุผู้รู้ที่เป็นอวิชชาฟอกจนสะอาด เป็นอาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตดวงนี้ฟอกจนสะอาด นิพพานเป็นโดยจิต ไม่ใช่เข้านิพพาน เข้านิพพาน มีผู้เข้า มีอัตตา แต่ตัวจิตเป็นนิพพานเสียเอง เป็นสิ่งที่ไม่มีแรงขับ แล้วมันจะไม่เกิดอีกแล้ว มันไม่มีที่เกิด มันเกิดไม่ได้ มันเกิดไม่ได้เพราะเป็นอฐานะ ผู้ที่ไม่เกิดก็เป็นวิมุตติ เพราะไม่มีการเกิดก็ไม่มีการย่อยสลาย ไม่มีการพลัดพราก จะไม่มีกับจิตดวงนี้อีกแล้ว เอวัง